นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 19 เม.ย. 2024 8:34 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 13 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: การทำสมาธิ
โพสต์โพสต์แล้ว: อังคาร 28 ต.ค. 2008 2:19 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 6:00 am
โพสต์: 6586
ผู้ปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา สามารถรักษาศีลให้สำรวมดีแล้ว การทำสมาธิภาวนาก็เป็นไปได้ง่าย แต่ถ้าผู้ปฏิบัติไม่สำรวมรักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว การทำสมาธิภาวนาก็จะเป็นไปได้ยาก ทำไมท่านจึงพูดไว้เช่นนั้น ? ก็เพราะว่าเรารักษาศีลให้บริสุทธิ์แล้ว ก็เท่ากับว่าเป็นการปราบกิเลสอย่างหยาบได้แล้ว ดังนั้นเมื่อเราทำสมาธิควบคู่กันไป ก็สามารถเป็นไปได้ง่าย

สำหรับการทำสมาธินั้นเราจะกำหนด “พุทโธ” เป็นอารมณ์หรือเรียกว่าเอา “พุทโธ” เป็นเป้าหมายก็ได้ หรือว่าจะกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์หรือเป้าหมายก็ได้ เป็นต้น อันนี้แล้วแต่ว่าเราจะชอบอย่างไหนหรือถูกจริตกับสิ่งใด เมื่อเรากำหนดสติของเราตั้งมั่นอยู่ที่ไหน จิตของเราก็ให้อยู่ที่นั่นเพราะสติเป็นเครื่องผูกเป็นเครื่องครอบงำเป็นเครื่องบังคับ นอกจากสติและความรู้แล้วไม่มีสิ่งไหนในโลกที่จะสามารถบังคับจิตให้สงบลงได้ เมื่อเราต้องการบำเพ็ญสมถะเราต้องเจริญสติให้มาก ๆ

การฝึกหัดทำสมาธิภาวนานี้ในตอนแรก ๆ จะทำได้ยาก มักจะมีอาการปวดเมื่อยตามแข้งตามขาหรือตามเอวตามหลัง ในตอนแรก ๆ นี้จะต้องอาศัยความอดทนและต้องอาศัยความฝืนอยู่มากพอสมควร แต่เมื่อกระทำไปประมาณ ๒-๓ อาทิตย์ ก็จะรู้สึกเคยชิน อาการปวดเมื่อยต่าง ๆ ก็จะค่อย ๆ หายไป เมื่อเรารู้สึกปวดเมื่อยแล้วท่านจึงแนะนำให้เปลี่ยนอิริยาบถ จากนั่งสมาธิไปเป็นการเดินจงกรม ซึ่งการกำหนดใจในขณะเดินจงกรมนั้นก็เหมือนกับเรากำหนดเวลาที่เรานั่งสมาธินั่นเองเพียงแต่ต่างจากการนั่งเป็นการเดินเท่านั้น

อานิสงส์ของการเดินจงกรม ๕ อย่าง

๑.ทนต่อการเดินทาง คือเดินทางได้ไกล
๒.ทนต่อการทำความเพียร คือทำความเพียรได้มาก
๓.อาหารที่บริโภคเข้าไปแล้วย่อมจะย่อยได้ง่าย
๔.อุคคหนิมิตที่เกิดขึ้นเวลาเดินจงกรมจะไม่เสื่อมง่าย
๕.การเดินจงกรมนั้นจิตก็สามารถที่จะรวมได้ และเป็นการบริหารร่างกายให้แข็งแรง โรคที่จะมาเบียดเบียนก็น้อยลง

ในบางครั้งเมื่อเราทำสมาธิได้แล้ว เมื่อจิตเริ่มรวมจะเกิดอาการต่าง ๆ เช่นมีความรู้สึกว่าเบามือทั้งสองข้าง ซาบซ่านตามร่างกาย ขนลุกขนพองคล้ายกับพบสิ่งที่น่ากลัว มีอาการตัวเบาหวิว เป็นต้น บางคนเมื่อรู้ว่าจิตเริ่มจะรวมจึงคอยดูว่าจิตจะรวมอย่างไร จิตก็รวมไม่ได้ สมาธิก็ไม่เกิด อันนี้เป็นการกระทำที่ผิด

เมื่อเรารู้ว่าจิตของเรากำลังจะรวมให้เรากำหนดผู้รู้นิ่งอยู่ สติกับใจอย่าให้เคลื่อนจากกัน อย่าให้สติเคลื่อนไหวไปกับอาการใด ๆ เมื่อสติไม่เคลื่อนไปกับอาการใดๆแล้วจิตก็รวมเอง บางครั้งก็รวมสนิทเลยเปรียบเหมือนเอาไม้ปักลงไปในน้ำที่ไหลเชี่ยว ปักให้นิ่งไว้อย่าให้เคลื่อนไปตามน้ำ อย่าให้จิตเคลื่อนจากผู้รู้

ผู้ที่สามารถทำจิตรวมได้แล้วก็ให้กำหนดจิตตามเดิม กำหนดอย่างไรที่ให้จิตรวมกันได้ก็กำหนดอย่างนั้น ถ้าจิตรวมสนิทก็อย่าเพิ่งออกจากสมาธิเสียทีเดียว ก่อนออกจากสมาธิก็ให้พิจารณาเสียก่อน เราจะได้ทราบว่าเราบริกรรมอย่างใดตั้งสติอย่างใด ละวางอารมณ์สัญญาอย่างใด จิตของเราจึงรวมได้เช่นนี้ ถ้าเราสามารถพิจารณาถึงกรรมวิธีต่าง ๆ ได้ก็จะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติในครั้งต่อไป

ขอย้ำอีกครั้งกำหนดให้แน่วแน่นิ่งอยู่กับผู้รู้ สติกับผู้รู้อย่าให้เคลื่อนไปตามอาการใด ๆ จิตก็จะรวมได้เพราะสติอย่างเดียวเท่านั้น (ถ้าขาดสติก็นั่งหลับ , เกิดอาการฟุ้งซ่าน ,จิตไม่รวม เป็นต้น) พูดตามปริยัติ “สติ” แปลว่าความระลึกได้ในกิจที่ได้กระทำ แม้คำพูดทั้งในอดีตและปัจจุบัน ในทางปฏิบัติ “สติ” แปลว่าระลึกอยู่ที่ใจไม่ให้รู้ไปตามสิ่งอื่น ถึงจะมีสัญญาอะไรก็ไม่ให้เคลื่อนไหวไปตามอาการนั้น กำหนดรู้นิ่งไว้อย่างนั้น ระลึกอยู่ที่ใจ

ใจก็หมายถึงผู้รู้ เมื่อสติกับใจบังคับกันแนบนิ่งดีแล้วจิตก็จะรวมสนิท เมื่อเรานั่งกำหนดแล้ว ขณะที่เราเบาเนื้อเบากาย ก็ให้เรานิ่งไว้อยู่กับผู้รู้ คำบริกรรมต่าง ๆ ก็ให้เลิกบริกรรมให้เอาแต่สตินิ่งไว้ ให้ระลึกแต่ผู้รู้เท่านั้น ตามธรรมดาสติมักจะส่งไปนอกชอบเล่นอารมณ์ สังขารที่ปรุงแต่งไม่ว่าจะคิดดี คิดร้าย คิดไม่ดี ไม่ร้าย เราจะต้องพยายามฝึกหัดละวางอารมณ์เหล่านี้ อย่าให้จิตส่งออกไปภายนอกให้สติอยู่ที่ผู้รู้เท่านั้น เมื่อเรานั่งสมาธิภาวนาเรากำหนดคำบริกรรมใด ๆ ก็ตาม ถ้าเราเผลอจากคำบริกรรมนั้น เมื่อเรารู้สึกว่าเราเผลอไปรับรู้อารมณ์ภายนอก ก็ให้รีบกลับมาบริกรรมอย่างเดิมตามที่เราเคยปฏิบัติมา

ถ้าในขณะทำสมาธิแล้วจิตรวมวูบลงไป เกิดเห็นร่างกายเป็นซากศพที่มีสภาพที่เหมือนกับว่าเพิ่งขุดขึ้นมาจากหลุมศพ แต่จริง ๆ แล้วร่างกายเราไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อเราถอนจิตออกมาก็จะเห็นเป็นตัวตนธรรมดา อาการที่เราเห็นเป็นซากศพเช่นนี้ ท่านเรียกว่า “อสุภนิมิต” ถ้าเราเคยได้ยินครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนในเรื่องของอสุภนิมิตแล้ว เราก็ทำความรู้เท่าทัน อสุภนิมิตนี้ถ้าเกิดบ่อย ๆ จะเป็นการดีมาก ท่านอาจารย์ใหญ่(หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)ท่านนิยมมาก ถ้าพระเณรองค์ใดได้อสุภนิมิต เห็นร่างกายเน่าเปื่อยเป็นซากศพแล้ว ท่านว่าผู้นั้นจะสามารถที่จะบรรลุธรรมได้ง่าย

อสุภนิมิตนี้ไม่ใช่เป็นของร้าย เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วเราอดกลัวไม่ได้ ก็ให้เราลืมตาเสียตั้งสติให้มั่น ขออย่างเดียวอย่าลุกขึ้นวิ่งหนี ถ้าเราเคยได้ยินได้ฟังคำแนะนำอย่างนี้แล้ว เมื่อเวลาที่เกิดอสุภนิมิตก็จะระลึกได้อยู่หรอก แต่ถ้าเราไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน เมื่อเวลาที่เกิดอสุภนิมิตขึ้นก็จะเกิดความกลัว ถ้าเราลุกวิ่งหนีก็จะทำให้เราเสียสติได้ การลุกขึ้นวิ่งหนีนี้ขอห้ามโดยเด็ดขาด การที่เกิดอสุภนิมิตนี้เรียกว่า “มีพระธรรมมาแสดงให้เราได้รู้ได้เห็น ว่าร่างกายของเราเป็นอย่างนี้ ย่อมมีความเจริญในเบื้องต้น มีความชราในเบื้องกลาง และมีการแตกสลายไปในที่สุด”

เมื่อเวลาเกิดอสุภนิมิตขึ้น ถ้าเราสามารถทนได้ นับว่าเป็นการดีมาก เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณามาก สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็นนิมิตในตัวเรา แต่บางครั้งก็เป็นนิมิตภายนอก เช่นบางครั้งเกิดเห็นเป็นพระพุทธเจ้าหรือบรรดาครูบาอาจารย์มาปรากฏให้เห็น หรือเห็นพวกวัตถุเช่นโบสถ์ วิหารหรือสิ่งต่าง ๆ นิมิตภายนอกนี้เรียกว่า “อุคคหนิมิต”

เรื่องของนิมิตเป็นเรื่องที่สำคัญ ในบางครั้งก็มาทำท่าแลบลิ้นปลิ้นตา ก็อย่าไปเข้าใจว่าเป็นเปรตเป็นผี ที่จริงแล้วเป็นเพราะว่าสังขารภายในมันฉายออกไปเพื่อหลอกใจของเราเอง มันฉายออกไปจากใจนี่แหละ อันนี้พูดเตือนสติไว้

การทำสมาธิภาวนานี้ถ้าบุคคลใดเกิดนิมิตมาก ก็อย่าได้ไปเกิดความกลัวจนกระทั่งเลิกปฏิบัติ ขอให้ปฏิบัติต่อไปโดยให้สติตั้งมั่นกำหนดรู้ อย่างที่แนะนำมาแล้ว เมื่อเราทำต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะเกิดอานิสงส์ คือถ้าเป็นคนนิสัยดุร้ายก็จะเป็นคนใจดี ถ้าเป็นคนโกรธง่ายก็จะค่อย ๆ เบาบางลง ถ้าเป็นคนปัญญาทึบเมื่อทำจิตสงบได้แล้วก็จะเป็นคนที่ฟังอะไรรู้เรื่องเข้าใจในเหตุผล ถ้าเป็นคนที่ฉลาดอยู่แล้วก็จะเพิ่มพูนปัญญาให้มากขึ้นไปอีก ท่านจึงว่ามีอานิสงส์มาก

ขณะที่เราเกิดเห็นนิมิตขึ้นมา ถ้าเราแก้ความกลัวในนิมิตได้ต่อไปก็จะสบาย เมื่อเราเกิดความกลัวขึ้น เราอย่าไปยึดถือสิ่งที่เราเห็นในนิมิตเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา ให้กำหนดรู้ว่าเป็นมาร ซึ่งพระพุทธเจ้าเรียกว่า “ขันธมาร” หรือ “กิเลสมาร”

เรื่องของนิมิตนี้จะเกิดหรือไม่เกิดไม่สำคัญ เพราะว่าที่เราทำสมาธิภาวนาก็เพื่อมุ่งให้เกิดความสงบภายในจิตใจเท่านั้น ถ้าผู้ปฏิบัติสามารถทำจิตใจของตนให้สงบเป็นอารมณ์เดียวได้พอเท่านั้น ไม่มีนิมิตเกิดขึ้นไม่เป็นไร

การเรียนบำเพ็ญสมถะจึงจำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ เราจึงต้องรู้ไว้ว่าที่แห่งไหนมีครูบาอาจารย์อยู่บ้าง เพื่อว่าในอนาคตเราจะออกปฏิบัติเราจะได้รู้ไว้ ถ้าเป็นวิปลาสแล้วจะไม่ยอมแก้ไขอะไรง่าย ๆ กลับมาหาครูบาอาจารย์ที่เคยทรมานกันนั่นแหละ ถึงว่าจะอยู่ห่างไกลก็จำเป็นต้องไปเพราะเป็นเรื่องของการปฏิบัติ เมื่อจิตใจเป็นอย่างใดมีข้อสงสัยอย่างใดจะได้ไปศึกษากับท่านเสียก่อนที่จะผิด

เมื่อทำสมาธิจนถึงขั้นได้ฌานแล้ว บางครั้งก็จะได้ถึงขั้นอภิญญาซึ่งเป็นความรู้พิเศษ ผู้ที่ปฏิบัติเกิดนิมิตมาก ๆ มักจะได้อภิญญา เมื่อเหตุการณ์ใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น ท่านมักจะรู้ล่วงหน้าก่อนเสมอ เช่นจะรู้ล่วงหน้าว่าวันนี้จะมีผู้มาหา เป็นต้น อภิญญาเกิดจากฌานสมาธิ อภิญญานี้ไม่แน่นอนมักจะเสื่อมได้ หรืออาจจะเป็นวิปลาสจะพูดไม่ตรงต่อธรรมวินัย เมื่อผู้ได้อภิญญาแล้วถ้าไม่รู้ทันก็จะเกิดความหลงได้

หลวงปู่มั่นท่านจะหลบหลีกหมู่ไปธุดงค์องค์เดียวหรือสองสามองค์เป็นอย่างมาก บรรดาหมู่คณะหรือผู้ปฏิบัติเกิดความรู้ต่าง ๆ หรือมีปัญหาที่จะต้องกราบเรียนถาม ก็จะต้องออกตามหาท่านเอง ซึ่งมิใช่เรื่องง่ายที่จะตามท่านพบเสียด้วย

บุคคลที่มีปัญญาแก่กล้า ไตรลักษณ์จะเกิดในปฐมฌานหรือทุติยฌาน ส่วนบุคคลที่มีปัญญาขนาดกลางไตรลักษณ์จะเกิดเมื่อสำเร็จฌาน ๔ แล้ว บุคคลใดที่สำเร็จฌาน ๔ ก็มักจะไม่เกิดความกำหนัดหรือที่เรียกว่า “จิตตกกระแสธรรม” มันจะเป็นของมันเอง เรียกว่าเป็นผลของฌานสมาธิก็ได้

ถึงแม้ว่าบุคคลใดจะทำสมาธิได้ดี จะได้รับความสุขขนาดไหนก็ตามหรือจะได้อภิญญาเพียงใดก็ตาม ถ้าไตรลักษณญาณไม่เกิดขึ้นแล้ว ก็ยังนับว่าเป็นมิจฉาสมาธิเป็นสมาธิที่ยังผิด ยังอยู่ในวงเขตที่ผิด ไตรลักษณ์(อนิจจัง,ทุกขัง,อนัตตา)นี้จะเป็นเครื่องตัดสินถูกหรือผิด จะเป็นสัมมาสมาธิหรือมิจฉาสมาธิ

เมื่อพิจารณาขันธ์ ๕ (รูป,เวทนา,สัญญา,สังขาร,วิญญาณ) ธาตุ ๔(ดิน,น้ำ,ลม,ไฟ) เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้วจนเกิดญาณความรู้พิเศษ เมื่อเกิดความรู้พิเศษแล้ว วิปัสนูปกิเลสหรือวิปลาสก็เกิดขึ้นไม่ได้ เมื่อสิ่งใดหรือความรู้ใดเกิดขึ้นก็จะเอาไตรลักษณ์(อนิจจัง ,ทุกขัง,อนัตตา)เป็นเครื่องตัดสิน

การพิจารณาให้ถือเอารู้รูปกายตามความเป็นจริง รู้เวทนาตามความเป็นจริง รู้จิตตามความเป็นจริง ให้ยึดถือความรู้นี้เป็นหลัก ความรู้อย่างอื่นไม่สำคัญ ถึงจะเกิดอภิญญารู้ในเหตุผลต่าง ๆ ครั้งแรก ๆ ก็อาจเป็นจริง แต่ถ้าเรายึดถือในสิ่งเหล่านี้ต่อไป ก็จะกลายเป็นเรื่องหลอกลวงเรา ท่านจึงห้ามไม่ให้เอาสิ่งนิมิตเป็นเรื่องสำคัญ

ขอให้พวกท่านจงทำกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็สามารถปฏิบัติได้เหมือนกันเมื่อตั้งใจทำแล้ว จะไร้ผลเสียเลยก็ไม่มี อย่างต่ำก็เป็นการเพิ่มบุญวาสนาบารมีของเราให้แก่กล้าขึ้น

ปภาโส.jpg


พระครูญาณทัสสี (คำดี ปภาโส)
วัดถ้ำผาปู่นิมิตร ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย

_________________
ถ้าเราไม่อยากได้อะไรจากใคร ก็จะไม่มีอะไรให้หมางใจกัน


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
 หัวข้อกระทู้: Re: การทำสมาธิ
โพสต์โพสต์แล้ว: จันทร์ 03 พ.ย. 2008 9:27 am 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 9:48 am
โพสต์: 937
ขอบพระคุณพี่รณฯมากครับ กำลังอยากศึกษาหลากหลายแนวทางอยู่ ว่าจะถูกจริตใดต่อตัวกระผม
กระทู้นี้ถูกใจนัก ;)

_________________
อันความสุขทางใจนั้นหายาก คนส่วนมากไม่ชอบแสวงหา
หวังแต่สุขเพื่อสนุกเพียงหูตา มันจึงพาชักจูงให้ยุ่งใจ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
 หัวข้อกระทู้: Re: การทำสมาธิ
โพสต์โพสต์แล้ว: จันทร์ 03 พ.ย. 2008 12:28 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 6:00 am
โพสต์: 6586
ครับผม ขอให้ตั้งใจภาวนาต่อไปนะครับ อย่าท้อ หลวงปู่ดู่บอกว่า

"ล้มแล้วต้องรีบลุก จะไปท้อไม่ได้ จะไปยอมแพ้ไม่ได้ ของข้าเสียมามากกว่าอายุแกซะอีก"

_________________
ถ้าเราไม่อยากได้อะไรจากใคร ก็จะไม่มีอะไรให้หมางใจกัน


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
 หัวข้อกระทู้: Re: การทำสมาธิ
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 05 พ.ย. 2008 1:30 am 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 15 ก.ย. 2008 2:17 am
โพสต์: 7
แล้วอาจารย์มีความเห็นยังไง
ที่เดี๋ยวนี้มีการสอนจากหลาย ๆ สำนัก (ทั้งพระและฆราวาส)
ให้เน้น...ดูจิต...อย่างเดียว ไม่ต้องมานั่งภาวนา

อยากรู้มาก ๆ เลย...มันคาใจมานานแล้วอ่ะ :?:

_________________
ทุกข์...เพราะคิดผิด


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
 หัวข้อกระทู้: Re: การทำสมาธิ
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 05 พ.ย. 2008 1:44 am 
ออฟไลน์
Administrator
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 08 ก.ย. 2008 11:37 am
โพสต์: 6391
อยากรู้เหมือน ซ้อ ด้วยกั๊บบ

_________________
089 969 9445 @ anytime
line ID navaraht


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
 หัวข้อกระทู้: Re: การทำสมาธิ
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 05 พ.ย. 2008 11:25 am 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 6:00 am
โพสต์: 6586
การดูจิตล้วนนั้น ถ้าให้พูดอย่างตรงไปตรงมาถือเป็นวิธีการที่ดีมาก ๆ อันหนึ่งครับ แต่มันมีข้อแม้อยู่ว่าผู้ที่จะ "ดู" ออก บอกได้ว่าอะไรคือจิต อะไรคือสติ อะไรคืออารมณ์ มองเห็นการทำงานของสามสิ่งนี้อย่างชัดเจน แยกออกได้ว่าบัดนี้สิ่งใดกำลังทำงานอยู่ ผู้จะทำได้อย่างนี้ต้องฝึกตัวเองมาพอสมควรครับ

ไม่ใช่ว่าไม่เคยปฏิบัติมาก่อนเลย หรือปฏิบัติมาแบบนิด ๆ หน่อย ๆ ก็หาญมานั่งดูจิตพิจารณาจิตล้วน ๆ โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องนำทางอย่างคำบริกรรมเป็นต้น การทำอย่างนี้ไม่ใช่ของง่ายครับ

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท จึงปฏิเสธแม้กระทั่งการภาวนาอย่าง "อานาปานสติ" ว่าไม่ใช่สมบัติของสาธารณชน หากต้องเป็นผู้เคยภาวนามาหนักหน่วงจนเคยสงบใหญ่มาแล้ว จนจับหลักของใจได้แล้ว จนกำหนดรู้ได้แล้วว่าอะไรคือผู้รู้ อะไรคือสติ อะไรคืออารมณ์ เห็นชัดดังนี้แล้วจึงต่อยอดด้วยการภาวนาแบบ "อานาปานสติ" หรือกำหนดดูลมหายใจเข้าออกนั่นเอง ส่วนจะกำหนดแบบมีพุทโธกำกับหรือดูลมอย่างเดียวก็ไม่ถือเป็นประมาณ

น่าทึ่งที่ว่าหลวงปู่เจี๊ยะยกย่องท่านพ่อลี ธัมมธโร อย่างที่สุด เคยบอกกับผมอย่างเอ็นดูว่า

"เปี๊ยกเอ๊ย ท่านพ่อลีน่ะเป็นทองคำทั้งองค์นะ"

ขนาดเคารพเทิดทูนยกย่องเพียงนั้น ท่านก็ยังกล้าที่จะพูดความจริงว่า "อานาปาฯ" ไม่เหมาะกับผู้ฝึกใหม่หรือผู้ไม่มีบารมีเก่าพอ ท่านค้านอย่างเต็มที่แม้ว่าผู้ที่ท่านเคารพสูงสุดจะยกย่อง "อานาปาฯ" เพียงใดก็ตาม

เพราะความจริงมันเป็นอย่างนั้น

ดูแต่พวกเราเถิด เราว่าการกำหนดลมหายใจดี ก็ดีจริงดอกมิได้เถียง แต่ดูผลการปฏิบัติของเราสิ กำหนดลมหายใจเข้าไปยังไม่ทันออกมา... กำหนดลมหายใจออกมายังไม่ทันได้เข้าไป...

เราก็หลับแล้ว...
เราก็ฟุ้งปรุงเตลิดแล้ว...


เพราะอะไร ? เพราะลมหายใจที่เข้าและออกในแต่ละคราวมันมีช่วงจังหวะที่ "ยาว" เกินไป มันละเอียดละเมียดละไมจนจิตหยาบ ๆ ของคนที่ไม่เคยฝึกมาก่อนกำหนดไม่ทัน แรก ๆ ก็ทำได้อยู่หรอก แต่สักพักก็เสีย เพราะมันฟุ้งง่าย ถีนมิทธะครอบงำง่าย เนื่องจากช่องโหว่มันเยอะ

แต่ถ้าเราภาวนาแบบใช้คำบริกรรม "ยิง" รัวแบบปืนกลอย่างต่อเนื่องไม่หยุดไม่ถอย เช่น บริกรรมว่า พุทโธ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ รัวอย่างนี้ชนิดที่เรียกว่าไม่ให้มีช่องโหว่ ไม่เปิดโอกาสให้จิตได้ฟุ้งปรุงไปคิดเรื่องอื่นใด นอกจากคิดพุทโธ

ยิ่งถ้าจะให้ได้ผลเร็ว คือไม่ว่าจะทำกิจการงานอันใดก็พุทโธรัวในใจเข้าไว้ ซักผ้า หุงข้าว ต้มแกง กวาดบ้าน นั่ง ยืน เดิน นอน กิน ดื่ม ทำ พูด ฯลฯ ทุกอิริยาบถให้มีแต่พระพุทโธรัวเป็นปืนกลอยู่ในใจ สติกับจิตก็จะแนบแน่นอยู่ตลอดหาช่องโหว่ที่จะพลั้งเผลอได้ยาก ทำบ่อย ๆ อย่างนี้ไม่นานนักเวลาเราไปนั่งภาวนาอย่างเป็นกิจจะลักษณะโอกาสที่จิตจะสงบเป็นสมาธิก็เกิดได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่ว่าคิดเตลิดทั้งวันแต่พอถึงเวลานั่งก็มานั่งเลยโดยไม่มีการเกลี่ยจิตมาก่อน หลวงปู่เจี๊ยะท่านว่าให้นั่งไปอีกร้อยปีมันก็ไม่มีทางสงบ

อย่าไปพูดถึงคนอื่นท่านอื่นที่นั่งครั้งแรกก็สงบ...
ภาวนาไม่กี่นานก็รวม...

นั่นเขา
นี่เรา !


เราผู้ฟุ้งง่าย ปรุงง่าย ต้องมีวิธีกำราบจิตที่ตรงไปตรงมาและถูกทางกับกิเลส อย่าไปปฏิบัติแบบแฟชั่นโชว์ที่ว่า วิธีนี้มาใหม่ วิธีนี้กำลังอินเทรนด์ โด่งดังในหมู่นักภาวนา ดารากำลังนิยมไปนั่ง คนดังยังไปปฏิบัติเลย ฯลฯ ถ้าเป็นอย่างนี้นั่งจนตายก็ไม่ได้ผลอะไร เพราะมันไม่ได้ไปภาวนาเพื่อเอาออก แต่มันเป็นไปเพื่อเอาเข้า

ก็เรียกว่าผิดทาง เป็นมิจฉาปฏิปทา เป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ อยากอวด สั่งสมอัตตาตัวตนให้พองโตและแน่นหนา

ทุกวันนี้มีสำนักโด่งดังเรื่องการดูจิต สำหรับท่านผู้เป็นเจ้าของสำนักเราก็ยกท่านไว้ ท่านอาจทำได้อย่างน่าทึ่งน่าอัศจรรย์นั่นก็เพราะท่านมี "ของเก่า" แต่ถ้าเราไม่มีอย่างนั้นแล้วคิดทำตามท่านเราก็จะแย่ เขามีทุนอยู่พันล้านจึงมาชักชวนเราลงทุนเปิดบริษัทใหญ่ แล้วเรามีทุนเท่าไรที่จะทำตามเขา

และไม่ใช่แค่ผมที่คิดอย่างนี้ เมื่อนำความกราบเรียนพระเถระผู้ใหญ่หลายรูปถึงวิธีการสอนตามแนวทางของท่านองค์นี้ ก็ได้รับคำตำหนิมามิใช่น้อย อาทิ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านพระอาจารย์จันทร์เรียน คุณวโร ท่านพระอาจารย์ประสิทธิ์ ปุญญมากโร ท่านพระอาจารย์สงบ มนัสสันโต ฯลฯ

ด้วยท่านเห็นว่า "การดูจิต" เป็นวิธีการที่ลัดสั้นจนเกินไป มุ่งแต่จะดูจิตโดยไม่เอากระบวนการขั้นตอนอะไรเลย ไม่ต้องสวดมนต์ ไม่ต้องนั่งสมาธิ ไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น ดูเอาเลย มองเข้าไปตรง ๆ

ไม้จะโตได้ไม่ใช่มุ่งเอาแต่แก่น เปลือกก็จำเป็น กระพี้ก็จำเป็น รากแก้วก็จำเป็น แม้รากฝอยที่ดูละเอียดยิบและเหมือนจะมีมากจนน่ารำคาญก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไม้ใหญ่เจริญเติบโตอยู่ได้อย่างมั่นคงนับร้อยปีจนเราได้เห็นและได้ใช้ประโยชน์จากมัน

ละเลยได้อย่างไร ? โดยเฉพาะผู้ฝึกใหม่

ผมรู้จักหลายคนที่ภาวนาแบบดูจิตล้วนนี้ แต่เมื่อมีเหตุให้โมโหโกรธาเป็นกำลังก็ไม่เห็นยับยั้งได้ เมื่อสังเกตอยู่นานเวลาเขาโกรธจึงบอกว่า "มองเข้าไปตรง ๆ สิ" กลับยิ่งทำให้เขาโกรธหนักเข้าไปอีกเหมือนไสฟืนเข้าใส่ไฟ

ดูจิตไม่ทันเสียแล้ว...

แต่ถ้าลองให้พิจารณาถึงตัวโกรธเวลามันทำหน้าที่ของมันขึ้นมา ว่ามีขั้นตอนอย่างไร และที่กำลังโกรธอยู่นี้มีเป้าหมายอย่างไร โกรธไปเพื่ออะไร โกรธแล้วจะได้ผลตอบแทนอะไรกลับมา ?

อย่างหลวงพ่อชาท่านสอนว่า เวลาโกรธให้ถามตัวเองว่านี้เป็นเราหรือ ? ถ้าโกรธเป็นเราเราเป็นโกรธจริง ให้เอานาฬิกามาตั้งไว้เลย เอ้า ฉันจะโกรธให้ได้ทั้งสิ้น 1 ชั่วโมงนะ น้อยกว่านี้ก็ไม่ได้ มากกว่านี้ก็ไม่ได้ เอาให้พอดี 1 ชั่วโมง ดูซิ มันจะทำได้ไหม ?

ถ้าทำไม่ได้ ก็แสดงว่าโกรธนี้ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่โกรธ มันเป็นเพียงอารมณ์อันหนึ่งที่จรเข้ามาแล้วก็จะออกไป มันเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยที่หนุนมัน เมื่อหมดเหตุมันก็ดับ ไม่มีความจำเป็นต้องไปยึดมันหรือทำตามมันเมื่อเวลามันปรากฏขึ้นในจิต และถ้าเป็นคนมักโกรธก็ให้หมั่นแผ่เมตตา

นี่คือ "กระบวนการ" ที่หล่อเลี้ยงจิตให้เติบโตอย่างช้า ๆ แต่มั่นคง

จะไปลัดสั้นแค่ดูจิตล้วนย่อมทำไม่ได้ในผู้ที่กำลังฝึกตน ยิ่งฝึกใหม่ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย นอกจากจะปฏิบัติไว้เพียงเพื่อ "คุย" กันเวลานัดเจอหรือออกทีวี นั่นก็อีกเรื่อง

ตัวของตัว ย่อมรู้ตัวเองดี

คนภาวนาเป็นแล้ว ความปรุงย่อมเบาบาง ที่ประดิษฐ์คำพูดมาก รังสรรค์กิริยาท่าทางมาก ให้ดูปล่อยวาง ดูโปร่งเบา แท้แล้วนั่นยึดมากเสียยิ่งกว่าผู้ปราศจากความปรุงแต่ง ทว่าปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติ ระวังรักษาอยู่แต่จิตไม่ให้ผิดศีลผิดธรรม ไม่ให้พลั้งเผลอจากสติ

ข้างนอกเป็นของนิดหน่อย ข้างในนี่สิที่สำคัญมาก

ท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น
จึงว่า "ติดดีนี่แก้ยากกว่าติดชั่ว"

หวังว่าคงพอเป็นแนวทางได้บ้างนะครับคุณซ้อใหญ่ฯ

_________________
ถ้าเราไม่อยากได้อะไรจากใคร ก็จะไม่มีอะไรให้หมางใจกัน


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
 หัวข้อกระทู้: Re: การทำสมาธิ
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 05 พ.ย. 2008 12:01 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 08 ก.ย. 2008 10:41 am
โพสต์: 1599
ตอนแรกติดในคำพูดของท่านพ่อลีที่ว่า

"กรรมฐาน 40 ห้อง เป็นน้องอานาปาณฯ"

และคำพูดของครูบาอาจารย์อีกหลายรูปที่สรรเสริญ อานาปาณสติ อย่างมาก

เลยคิดว่าจะต้องใข้กรรมฐานนี้แหละ ในการปฏิบัติ

แต่จำเนียรกาลผ่าน ด้วยความเพียรดุจหางอะมีบ้าของเด็กลึกลับ ก็ทำให้.....

หลับอย่างสบายฮะ คริ คริ คริ

ท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่งก็แนะนำให้เปลี่ยนกรรมฐานซะ ก็เลยเปลี่ยนมาใช้คำบริกรรม

แต่จำเนียรกาลผ่าน ด้วยความเพียรดุจหางโปรโตซัวของเด็กลึกลับ ก็ทำให้.....

หลับอย่างสบายอีกฮะ คริ คริ คริ

ชาตินี้พอคาดการณ์ได้แล้วฮะว่า ชาติหน้าจะเป็นอะไร

_________________
ชาตินี้ไม่จริง ชาติไหนก็ไม่จริง


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
 หัวข้อกระทู้: Re: การทำสมาธิ
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 05 พ.ย. 2008 12:09 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 6:00 am
โพสต์: 6586
ก้อถ้าไม่เป็นอะมีบ้า ก็คงเป็นโปรโตซัวแหละฮะ
PIC_2YD11231.gif


_________________
ถ้าเราไม่อยากได้อะไรจากใคร ก็จะไม่มีอะไรให้หมางใจกัน


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
 หัวข้อกระทู้: Re: การทำสมาธิ
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 05 พ.ย. 2008 12:16 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 08 ก.ย. 2008 12:00 pm
โพสต์: 488
ยอดเยี่ยม เยี่ยมยอด ข้าน้อยขอคารวะท่านผู้ถามและท่านผู้ตอบ จากใจจริงเป็นอย่างยิ่ง :ilu:

ซ้อเล็กฯ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
 หัวข้อกระทู้: Re: การทำสมาธิ
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 05 พ.ย. 2008 9:22 pm 
ออฟไลน์
Administrator
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 08 ก.ย. 2008 11:37 am
โพสต์: 6391
ไม่แน่ฮะ คุณเด็กลึกลับ เราอาจได้อยู่ใน "ไฟลั่ม" เดียวกัน :rbb:

_________________
089 969 9445 @ anytime
line ID navaraht


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
 หัวข้อกระทู้: Re: การทำสมาธิ
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 06 พ.ย. 2008 12:56 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 10:40 am
โพสต์: 369
:grt: ดีมากครับ สำหรับคำแนะนำของพี่รณธรรม เก่งทั้งทางโลกและทางธรรม ยังงี้ต้องเลื่อนขั้นเป็นชั้นเทพซะแล้ว (ว่าแต่ตอนนี้ได้เป็นพระครูหรือยังคร๊าบบบบ) :lcky: :lcky:


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
 หัวข้อกระทู้: Re: การทำสมาธิ
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 06 พ.ย. 2008 1:29 pm 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 6:00 am
โพสต์: 6586
ยังไม่ได้เป็นทั้ง "พระ" และ "ครู" เลยคร้าบ... :D :D

_________________
ถ้าเราไม่อยากได้อะไรจากใคร ก็จะไม่มีอะไรให้หมางใจกัน


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
 หัวข้อกระทู้: Re: การทำสมาธิ
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 12 พ.ย. 2008 12:24 pm 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 29 ก.ย. 2008 12:53 pm
โพสต์: 754
ต้องนำไปใช้ เห็นทางสว่างแล้ว :shock: :shock:

_________________
.........ถ้าเจ้าได้ทุกอย่างอย่างที่คิด
ชั่วชีวิตจะเอาของกองที่ไหน
จะได้บ้างเสียบ้างจะเป็นไร
ช่างหัวใครช่างหัวมันเท่านั้นเอง ..........


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 13 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO