นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อาทิตย์ 05 พ.ค. 2024 8:44 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: หายใจเข้าออก
โพสต์โพสต์แล้ว: จันทร์ 21 พ.ย. 2016 2:47 pm 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4549
จงหายใจเข้า หายใจออก อยู่อย่างนี้แหละ อย่าใส่ใจกับอะไรทั้งนั้น ใครจะยืนเอาก้นขึ้นฟ้าก็ช่าง อย่าไปเอาใจใส่ อยู่แต่กับลมหายใจเข้าออก ให้ความรู้สึกกำหนดอยู่กับลมหายใจ ทำอยู่อย่างนี้แหละ
ไม่ไปเอาอะไรอื่น ไม่ต้องคิดว่าจะเอานั่นเอานี่ ไม่เอาอะไรทั้งนั้น..ให้รู้จักแต่ลมเข้า...ลมออก...ลมเข้า...ลมออก...พุท เข้า โธ ออกอยู่กับลมหายใจอย่างนี้แหละ เอาอันนี้เป็นอารมณ์ ให้ทำอยู่อย่างนี้จนกระทั่งลมเข้าก็รู้จัก ลมออกก็รู้จัก ลมเข้าก็รู้จัก ลมออกก็รู้จัก ให้รู้จักอยู่อย่างนั้น จนจิตสงบ หมดความรำคาญ ไม่ฟุ้งซ่านไปไหนทั้งนั้น ให้มีแต่ลมออกลมเข้า ลมออกลมเข้าอยู่อย่างนั้น ให้มันเป็นอยู่อย่างนี้ ยังไม่ต้องมีจุดหมายอะไรหรอก นี่แหละเบื้องแรกของการปฏิบัติ

โอวาทธรรม....หลวงปู่ชา. สุภัทโท




"...ก็จิตนี้เองที่มันรู้มันเห็น ที่มันดับมันเกิด ก็จิตนี้เอง ก็ไม่ใช่คนอื่น ก็มันเรานี้เอง ทำเข้าไปสิ จนจิตใจมันหลุดพ้นไป เรียกว่ามันดับ อะไรมันดับ ? มันดับทุกข์ ! ภาวนาเราก็ต้องตั้งใจ ความตั้งใจเป็นของสำคัญ ทำใจอะไรก็ดีให้มีมรรคผล ต้องทำมาก ๆ..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงตาแตงอ่อน กัลยาณธัมโม






"..รักษาศีล ๘ ก็กลัวจะหิวข้าวเย็น
กลัวจะไม่ได้ทาน้ำอบหอม
กลัวไม่ได้นอนเบาะฟูกสบาย

จะนั่งสมาธิ ก็กลัวเมื่อย เลยไม่กล้าทำความดี
นี่แหละ เป็นการรักตัวเองไม่จริง
เป็นการเบียดเบียนตัวเองโดยมองไม่เห็นแล.."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์ท่านพ่อลี ธัมมธโร




"...ร่างกายตัวเรานั้น มันก็เป็นก้อนทุกข์อันหนึ่ง ถ้าไม่เห็นทุกข์อันเกิดในกายในใจเราเอง พระท่านว่าไม่เห็นธรรม ไม่เห็นโทษของการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย นี่เราเห็นทุกข์ของสังขารอย่างชัดแจ้งอย่างนี้แล้วนี่ มันเป็นทุกข์อย่างนี้ๆ..."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่หลวง กตปุญโญ



"...วันหนึ่งๆ เราควรอ่านตัวเองเสมอ ว่าวันนี้ได้มีความผิดพลาดไปในทางใดบ้าง มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ตัวของเราอย่างไรบ้าง หรือมีความเจ็บช้ำจิตใจแก่ผู้เกี่ยวข้อง เฉพาะอย่างยิ่งคือครอบครัวหรือไม่ หรือคนอื่นใดบ้าง ที่การกระทำของเรานี้ เป็นการกระทบกระเทือนแก่บุคคลเหล่านั้น เราต้องคิดเสมอ

แม้คนอื่นไม่ทราบไม่เห็นก็ตาม แต่การกระทำนั้นเป็นการกระเทือนตนเองหรือไม่ การกระเทือนตนเองก็คือความเสียหายสำหรับตนนี่เราก็ควรคิด ที่ท่านเรียกว่าหัดคิด หัดอ่าน อ่านตัวเอง คิดตัวเอง และแก้ไขตัวเองไปโดยลำดับ..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน




".. การพนันทุกชนิดนั้นเป็นอบายมุข เมื่อติดอบายมุขก็จะตกอยู่ในอบายภูมิอย่างไม่ต้องสงสัย .."
โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่ชอบ ฐานสโม




ผู้ใดชอบ...... ทำชั่ว........... คนกลัวเกลียด
เป็นเสนียด... เหล่าพงศ์..... ทั้งวงศา
ที่พ่อแม่....... กล่อมเกลี้ยง.. เลี้ยงเรามา
ก็หวังว่า....... ลูกจะดี.......... มีสกุล

โอวาทธรรมคำกลอน..
พระราชธรรมาภรณ์ (หลวงพ่อเงิน จันทสุวัณโณ)
วัดดอนยายหอม







"...ใจของคนเรานี่มันคลุกคลีอยู่แต่ด้วยเรื่องโลก ๆ ต่าง ๆ นานา และก็ทำใจไม่ให้สบาย ทำใจให้วุ่นวายเดือดร้อนกระวนกระวาย เพราะเราเข้าใจว่า เรื่องโลกนั้นเป็นสาระแก่นสาร จึงทุ่มเทจิตใจเข้าไปอย่างไม่มีการตรึกตรองพิจารณา

ถ้าเปรียบอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนแมลงเม่า เมื่อได้เห็นเปลวไฟอย่างนั้นแล้วพากันบินโถมเข้าไป ผลที่สุดก็ไหม้ลงร่วงอยู่ในกองไฟทั้งหมด..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท







หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท ตอบปัญหาธรรมสมเด็จพระสังฆราชเจ้า(ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์)

"เจี๊ยะ! เราอ่านหนังสือหลวงพ่อ... เขาเขียนว่า การเพ่งพระพุทธรูป นั้นเป็นมรรค เธอคิดว่าอย่างไร"

"แล้วพระองค์พิจารณาว่าการเพ่งแบบนั้นเป็นมรรคหรือไม่?"

พระองค์ทรงนิ่งแล้วหันมามองเรา แสดงอาการว่าพระองค์อยากทราบความคิดของเราในเรื่องนี้ จึงกราบทูลไปว่า

"กระหม่อมคิดว่า ถ้าจะเป็นมรรคก็ต้องคิดพิจารณาอันจะนำไปสู่ภาวนามยปัญญา การเพ่งพระพุทธรูปเช่นนั้น ก็ต้องหาเหตุผลว่าเพ่งเพื่ออะไร ได้อะไร แต่การนั่งเพ่งมองเฉยๆ หาเหตุผลไมได้ ไม่น่าจะมีประโยชน์อะไร"

"เออ...ว่าต่อไปสิ กำลังฟังอยู่หยุดทำไม"

"การพิจารณานั้นควรเพ่งเข้ามาภายใน ควรรู้ข้างในก่อน ไม่ควรปล่อยจิตออกจากวงกาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐานสี่ควรพิจารณาตั้งลง ณ ที่กายจิตนี้ ถ้าปล่อยให้จิตแส่ส่ายออกไปที่อื่น ในสภาวะที่ใจไม่สามารถคุ้มครองตนเองได้น้ัน กระหม่อมคิดว่าไม่ควรอย่างยิ่ง จะเป็นสมุทัยไปเสียอีก แต่ถ้าย้อนเข้ามาพิจารณาภายในกายของตนเอง อันเป็นส่วนวิปัสสนา เพื่อละทิฎฐิมานะ เพื่อละอหังการ ความหลงตน อหังการ ความทะนงตนน้้น เป็นการสมควรยิ่ง เป็นมรรค กระหม่อมคิดว่า เป็นมรรคแท้"

"การพิจารณากาย เป็นกายานุปัสสนานั้นเธอพิจารณาอย่างไร?" พระองค์ตรัสถามด้วยความสนพระทัย ไม่ทรงแสดงอาการว่าทดสอบ แต่เป็นพระกิริยาที่อยากจะสนทนาธรรม ด้วยความที่พระองค์เป็นผู้ประพฤติธรรม

"จะสมควรหรือ? กระหม่อม " เรากราบทูลเพราะเกรงจะไม่บังควร จะเป็นการเอามะพร้าวไปขายสวน

"สนทนาธรรมไม่สมควรตรงไหน นักบวชไม่สนทนาธรรม จะสนทนาอะไรล่ะ"

"กระหม่อมคิดว่า การพิจารณากายนั้น ต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐานก่อน การพิจาณานั้นจิตจึงจะมีกำลัง พิจารณาตัดกายเป็นชิ้นๆ ซึ้งในขณะที่พิจารณาอย่างนั้น จิตดำเนินในทางสมาธิมรรค มรรคองค์อื่นๆจะเป็นมัคคสมังคี โดยพร้อมพรั่ง เมื่อพิจารณาถึงเหตุถึงผล จิตจะเด่นดวงขึ้นมา จิตนั้นจะอยู่เหนืออริยสัจ เหนือมรรค เป็นไปเพื่อความรู้แจ้งดับสนิทไม่มีเชื้อเหลือ"

"เออ!....ดี พระป่า...เรียนตำราของพระพุทธเจ้าได้ดี "พระองค์พูดสั้นๆเท่านั้น เราก็กราบลาไปพักที่กุฏิลออ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO