นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อังคาร 30 เม.ย. 2024 2:03 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: กุศลทำแล้วเป็นของเรา
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 26 ส.ค. 2016 4:34 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4543
ท่านเจ้าคุณฯอุบาลี อายุมากกว่าเพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) ๑๓ – ๑๔ ปี

ท่านเจ้าคุณฯ อุบาลี เป็นเณรได้ ๗ ปี เพิ่นครูอาจารย์มั่นเป็นเณรของเพิ่นครูอาจารย์เสาร์ มาก่อน รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเป็นน้อยเป็นหนุ่ม แต่พูดถึงการได้ธรรมะของแต่ละองค์นั้นไม่เหมือนกัน

ท่านอาจารย์ตื้อ (อจลธมฺโม) ผู้ฟังมาแต่เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) มาเล่าให้ผู้ข้าฯ ฟังว่า ..

“ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯได้ธรรมะอริยธรรมตั้งแต่พระโสดาบันเรียงลำดับจนได้พระอริยชั้นสุดท้าย ตั้งแต่อยู่เขาคอก อยู่วัดสุปัฏนาราม อยู่วัดบรมนิวาส แล้ว

ไปได้พระอรหันตผลอยู่จอมยองเชียงตุง แก้ไขตนเอง ปลดเปลื้องออกไปเป็นลำดับ สุดท้ายมาติดอนัตตาอยู่ ๑๐ ปี ตอนนี้หล่ะ

ตอนที่เพิ่นติดอนัตตานี้หล่ะ เพิ่นครูอาจารย์มั่น กราบเรียนชี้แจงชี้แนะให้จึงแก้ไขโดยลำพังพ้นไปได้

ที่เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) มาช่วยเหลือบอกแนวทางให้ก็เพราะเพิ่นครูอาจารย์มั่นได้ธรรมะชั้นที่สาม แต่อยู่ถ้ำสิงโต บวชเป็นพระแล้วได้ ๑๑ ปี แปลว่าเพิ่นครูอาจารยมั่นได้ธรรมะชั้นที่สามก่อนท่านเจ้าคุณอุบาลี

แต่ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯได้ธรรมะชั้นต้นก่อนเพิ่นครูอาจารย์มั่น

แต่พอมาถึงธรรมะอริยผลชั้นสุดท้าย ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ได้ก่อน

เหตุที่ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯดำเนินมรรคปฏิปทาของเพิ่นได้ช้าก็เพราะไปติดในตัวหนังสือตำรับตำรา จนที่สุดได้อาศัยหนังสือสังขิตโตวาทของเจ้าคุณสมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัส เป็นหนังสือธรรมศึกษามาพินิจพิเคราะห์ตาม จิตใจของท่านจึงละหนีวางออกจากตำราได้ จนที่สุดเชื่อแน่ในการเดินตามไตรสิกขา และที่สุดเป็นอริยปราชญ์ผู้ถึงสุคโตได้ ได้สำเร็จมรรคผลพ้นทุกข์ไปได้

แต่เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) นั้นเหตุที่เพิ่นถือเอาอุปนิสัยที่หนักทางปฏิบัติมานานหลายภพหลายชาติ จึงแก้ไขตัวเองได้ง่าย แปลว่าเพิ่นนั่งเอาที่เดียวได้ธรรมะสามระดับ เมื่อเพิ่นมั่นใจมั่นคงชัดแจ้งในธรรมแล้วจึงเกาะเกี่ยวพร่ำสอนลูกศิษย์ลูกหาพระเณร และผู้คนที่มีนิสสัย เดินธุดงค์เลาะไปมาทางเขตอีสาน เมืองอุบล บ้านห้วยทราย เมืองเพ็ญ เมืองอุดร ถ้ำผาบิ้ง เมืองเลย บ้านค้ออุดร ท่าบ่อ หนองคาย สามผง เลาะกลับลงไปอุบล

แล้วก็หนีจากหมู่ลูกศิษย์ลูกหาพระเณรผู้คน เข้าอยู่กรุงเทพวัดสระปทุมกรุงเทพฯ เมื่อเข้าอยู่วัดสระปทุมแล้ว ก็เข้าศึกษาแก้ไขสิ่งอันที่ติดอยู่ในภายในกับท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เรียกว่าศึกษาสอบถามไล่เลียงตามหลักปริยัติ คือแก้ไขปลดเปลื้องอนัตตา

ท่านอาจารย์ตื้อ (อจลธมฺโม) ผู้เคยได้สอบถามกับเพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) บอกว่า... เพิ่นครูอาจารย์มั่นติดอนัตตาอยู่ ๑๗ ปี เพราะโทษที่ยังต้องเกี่ยวข้องกับศิษย์หาพระเณรผู้คน โปรดสอนผู้คนพระเณรให้ได้หลักใจหลักปฏิบัติในวงศ์ธรรมยุติในอริยวงศ์ เมื่อหลบหนีจากลูกศิษย์หมู่มากแล้ว ท่านเจ้าคุณอุบาลี จึงเอาขึ้นไปไว้วัดเจดีย์หลวงให้อยู่เป็นหลักทางเมืองเหนือ เมืองเชียงใหม่

แต่คนเมืองเหนือเมืองเชียงใหม่ต้องการอยากได้ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ให้อยู่เป็นหลักของพวกเขา ทีนี้ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ จึงได้ออกอุบายให้เพิ่นครูอาจารย์มั่นเทศน์ธรรมกำหราบจิตใจของผู้คนหมู่นั้น

เพิ่นครูอาจารย์มั่นจึงได้เทศน์เรื่องมูลกรรมฐาน มูลของการปฏิบัติ
แล้วท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็สำทับรับรองย้ำความมั่นใจแก่หมู่พวกชาวศรัทธาเมืองเชียงใหม่ ว่า “ท่านอาจารย์มั่น เทศน์ธรรมมุตโตทัย เป็นมุตโตทัย เป็นธรรมที่เป็นแดนเกิดของความพ้นทุกข์ได้แจ่มแจ้งดีมาก ใครปฏิบัติตามก็ได้ความเท่านั้นเอง”

เหตุที่ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ กล่าวชมเชยไว้เช่นนี้ก็เพื่อปลดเปลื้องความไม่พอใจของชาวศรัทธาออกไป เพราะเขาไม่พอใจว่าท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็มีลูกศิษย์ที่เป็นพระมหาเปรียญก็มากรูปหลายตน ทำไมเอาพระทางอีสานนักธรรมก็ไม่ได้สักนักธรรม ศึกษาเล่าเรียนก็ไม่มาก มาอยู่เป็นเค้าหลักวัด จนบางคนแสดงความไม่พอใจออกมาก็มี

แต่เมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของเพิ่นครูอาจารย์มั่นแล้ว ก็เป็นอันกำหราบจิตใจของเขาให้ลดพยศทิฐิมานะลงได้ เมื่อชาวศรัทธาเมืองเชียงใหม่วัดเจดีย์หลวงเขาเคารพเลื่อมใสศรัทธา ยินดี พออกพอใจแล้ว ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็แต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ให้ได้เป็นพระครูวินัยธร บวชพระบวชเณรได้

ส่วนภายในจิตใจของท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ของเพิ่นอาจารย์มั่น นั้นรู้ถึงกันอยู่ว่ากิจของเพิ่นครูอาจารย์มั่นยังอยู่ และท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็รู้อยู่แก่ใจภายในว่าเหมือนกับการปล่อยเสือเข้าป่า เพราะธรรมชาติของเสือต้องอยู่ป่า

เพิ่นครูอาจารย์มั่นเป็นพระธุดงคกรรมฐานก็ต้องเข้าป่าแน่นอน เหตุนี้ท่านจึงได้บอกว่า “ท่านมั่นเห็นตัวเองมาแล้ว แต่ยังไม่แจ้งในตนเอง แล้วอย่าได้กังวลกับผมนะ เพราะผมนี้อายุมากแล้ว ผมรักษากาย วาจา ใจของผมได้ถึงสุขแล้ว”

เพิ่นครูอาจารย์มั่น อยู่จำพรรษาวัดเจดีย์หลวงกับท่านอาจารย์ลี (ธมฺมธโร) วัดอโศการามอยู่รักษาวัดเจดีย์หลวง บวชให้ปลัดเกตุ คนเมืองจันท์ รูปเดียวเท่านั้น (พระปลัดเกตุ วณฺณโก) ออกพรรษาแล้วก็หนีเข้าดอยเข้าป่า ไปอยู่ แม่ริม บ้านปง เจดีย์เบี้ย เวียงป่าเป้า ปางเมี่ยง ทุ่งบวกข้าว ปางเมี่ยงแม่สายพร้าวแม่งัด แม่ทองทิพย์แม่สรวย ลงมาอยู่แม่กอยมาปลดสายบำเพ็ญบารมีกับคู่บำเพ็ญบารมีของเพิ่นให้หลุดไปได้แล้วไปได้

แล้วตัวเพิ่นครูอาจารย์มั่นจึงได้แก้ไขตนเองได้หมดจดเป็นธรรมะที่สุดแห่งอริยะเจ้า

นี้หล่ะ ท่านเจ้าคุณอุบาลีกับเพิ่นครูอาจารย์มั่นเกาะเกี่ยวเกี่ยวพันกันมาอย่างนี้ แม้ก่อนบวชก็รู้จักคุ้นเคยกันมาเป็นหมอร้องหมอลำ

ลำพื้นลำเรื่องโต้กลอนต่อสาว แม้แต่ก่อนเก่าหลายภพหลายชาติก็เกาะเกี่ยวกันมาตลอด ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เก่งปริยัติ เก่งปฏิบัติสัมภิทา ติดอยู่กับปริยัติตำรา

เพิ่นครูอาจารย์มั่นเก่งปฏิบัติ เก่งธุดงค์ แต่มาติดอยู่กับการที่ยังหมางคู่บำเพ็ญปลดปลงแก้ไขยังไม่ได้

แม้ไม่ติดในภพแต่ยังติดในวิภพคือสายบุญสายธรรมที่ได้ประกอบดีชั่วร่วมกันมา พอธุดงค์ไปปะอยู่บ้านแม่กอยจึงได้ปลดเปลื้องแก้ไขออกไปได้

ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ปฏิบัติไปแล้วมาติดอยู่กับปฏิจจสมุปบาทอวิชชาของอนัตตา

เพิ่นครูอาจารย์มั่นมาติดอยู่กับไตรลักษณญาณตัวสุดท้ายอนัตตาวิภัช”

จากหนังสือ.. ธรรมะประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ "ผู้มากมีบุญ"
วัดป่าวิเวกวัฒนาราม บ้านห้วยทราย คำชะอี จ.มุกดาหาร






ธรรมะ : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

เพราะฉะนั้นอินทรีย์พละนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งผู้ปฏิบัติธรรมก็ไม่ควรที่จะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจตัวเอง ว่ายังมีอินทรีย์มีพละน้อยปฏิบัติไม่ได้ เพราะว่าวิธีที่จะเพิ่มอินทรีย์พละให้แก่กล้าขึ้นนั้น ก็ต้องฝืนปฏิบัติอาศัยขันติ คือความอดทนนี่แหละ ทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไปโดยลำดับ แล้วจะเป็นพละอินทรีย์มาปลูกขึ้น เติบโตเจริญขึ้นในจิตใจเอง แก่กล้าขึ้นเอง แล้วการปฏิบัติก็จะดียิ่งขึ้น สะดวกยิ่งขึ้น และจะเข้าทางยิ่งขึ้น แต่ข้อสำคัญนั้น ไม่มุ่งออกไปในภายนอก แต่มุ่งเข้ามาที่ภายในคือที่จิต พร้อมทั้งกายวาจาใจนี้เอง ปฏิบัติที่จิตที่กายที่วาจาที่ใจนี้แหละ

การปฏิบัติทำสติกำหนดลมหายใจเข้าออกอันเป็นอานาปานสตินั้น ก็กำหนดที่ลมหายใจ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ และพระอาจารย์ก็ได้สอนอธิบายไปในทางต่างๆ ก็สุดแต่ใครจะเลือกปฏิบัติตามวิธีไหน ซึ่งจะได้อธิบายในโอกาสต่อไป.




" ทาน ทำแล้วเป็นของเรา
ศีล ทำแล้วเป็นของเรา
การบำเพ็ญจิตภาวนา ทำแล้วเป็นของเรา
ทาน ศีล ภาวนา ทำแล้วเป็นบารมีธรรมของเรา
ร่างกายเค้าไม่ได้อยู่ให้ใช้นาน ให้รีบใช้ประโยชน์
จากร่างกายเสีย "...

หลวงปู่แบน ธนากโร...


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Bing [Bot] และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO