นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อังคาร 30 เม.ย. 2024 4:21 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ละกิเลส
โพสต์โพสต์แล้ว: จันทร์ 15 ส.ค. 2016 4:59 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4543
ธรรมะ : สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

เพราะฉะนั้นจึงเท่ากับว่า มัชฌิมาปฏิปทาที่ทรงพบนั้น อันที่จริงได้ทรงเริ่มพบแล้วตั้งแต่เป็นพระราชกุมารน้อยนั้น และก็ได้ทรงแสวงหาไปในสำนักของคณาจารย์ต่างๆ ในวิธีต่างๆ ที่ได้นับถือและปฏิบัติกัน ก็ได้ทรงพิจารณาเห็นได้ไปโดยลำดับว่าไม่ใช่ทาง เพราะไม่ทำให้ได้ปัญญาที่ตรัสรู้พระธรรม อันเป็นเหตุให้ละกิเลสและกองทุกข์ได้ กิเลสก็ยังมีอยู่ กองทุกข์ก็ยังมีอยู่

แม้ว่าจะได้สมาบัติ ๗ สมาบัติ ๘ ในสำนักของท่านสองคณาจารย์นั้น ในที่สุดก็ทรงกลับไปหาวิธีที่ได้ทรงพบเองเมื่อเป็นพระราชกุมารนั้น จึงอาจจะกล่าวเหมือนอย่างว่า พระองค์เองก็ได้เป็นครูของพระองค์เองนั้นเอง ก็คือพระราชกุมารน้อยนั้นก็คือพระองค์เอง และเมื่อทรงพระเจริญ และทรงหาทางแห่งความตรัสรู้ ก็ทรงแสวงหาไปๆ ในที่สุดก็กลับไปหาพระองค์เอง คือหาวิธีแห่งสมาธิที่ทรงได้ในขณะที่เป็นพระราชกุมารดังกล่าว.





"...ท่านให้เห็นแจ้งลงไปในใจอันนี้ แล้วก็นอกใจออกไปก็ให้เห็นแจ้งในทุกสิ่ง มันไม่มีอะไรเที่ยงมั่นถาวรอยู่อย่างนั้นตลอดไป ไม่มีเลย แล้วก็ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นสุขกายสบายใจตลอดเวลา ไม่มีเลย

มีแต่ทุกข์นั่นแหละ นั่งเป็นทุกข์ในนั่ง นอนเป็นทุกข์ในนอน ยืนเป็นทุกข์ในยืน เดินไปมา เป็นทุกข์ในการเดินไปมา พูดจาปราศรัย แสดงธรรม มันก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นสุข

ที่เราสมมุติว่าอันนั้นเป็นสุข อันนี้เป็นสุข ไม่จริงทั้งนั้น ถ้ามันสุขจริง ตายแล้วทำไมมันมาเกิด มันไม่มีหรอกเรื่องสุข สุขนั้นมันเป็นความหลงของปุถุชนคนใบ้

พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านเห็นว่าเป็นเรื่องของความทุกข์ เป็นเรื่องของความไม่รู้ต่างหาก..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร





"..การที่บุคคลพยายามเอาชนะคนอื่นด้วยอำนาจ ด้วยกำลัง ด้วยพรรคพวก หรือโต้ตอบด้วยอำนาจความโกรธ หาใช่วิถีทางแห่งความชนะไม่

กลับเป็นทางแห่งการทำลายล้างผลาญ ก่อความรำคาญเดือดร้อนให้แก่ตัวเองและคนอื่นไม่รู้จบ การยกระดับจิตของตนให้สูงด้วยคุณธรรมเท่านั้น จึงเป็นหนทางของผู้ชนะอย่างแท้จริง.."

โอวาทธรรมคำสอน...
องค์หลวงปู่จันทร์ กุสโล





“ยารักษาใจ”

ถ้าเราทำตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนคือ ให้ระลึกถึงความแก่ ความเจ็บ ความตายอยู่เรื่อยๆ ให้ระลึกถึงการสูญเสีย ถึงการพลัดพรากจากกันอยู่เรื่อยๆ ถ้าเราระลึกอยู่เรื่อยๆ นี้เราจะไม่หลงงมงาย อยู่กับความสุขของลาภยศ สรรเสริญ ความสุขของตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะเรารู้ว่าไม่ช้าก็เร็ว สักวันเราจะไม่สามารถที่จะหาความสุขเหล่านี้ได้ เวลาร่างกายแก่ เวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย เป็นอัมพฤกษ์เป็นอัมพาต พิกลพิการ แขนขาขาขาดหูหนวกตาบอด หรือเวลาตายไป จะไปหาความสุขได้อย่างไรในเมื่อเครื่องมือที่เราใช้คือร่างกายของเรา มันหมดสภาพไปแล้ว หรือไม่เช่นนั้นก่อนที่ร่างกายมันจะหมดสภาพ ก่อนที่มันจะแก่ เจ็บ ตาย บางทีเงินทองมันก็หมดไปก่อนก็ได้ ยศอาจจะหมดไปก่อนก็ได้ สรรเสริญก็อาจจะหมดไปก่อนก็ได้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เราใช้เสพอยู่ก็อาจจะหมดไปก่อนก็ได้ เช่น สามีของเรา ภรรยาของเรา เขาก็เป็นรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ดีๆนี่เอง ที่เราใช้เขามาเสพ แต่พอวันดีคืนดี เขาทิ้งเราไปหรือเขาตายไปนี้ เราจะเอาอะไรมาเสพ

นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่พวกเราไม่ยอมดูกัน ไม่ยอมพิจารณากัน ถ้าเราเชื่อพระพุทธเจ้าแล้วหมั่นพิจารณาอยู่เนืองๆ ว่าเราเกิดมาแล้วย่อมมีความแก่เป็นธรรมดา ย่อมมีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ย่อมมีความตายเป็นธรรมดา ย่อมมีการพลัดพรากจากกันเป็นธรรมดา ถ้าเราพิจารณาอยู่เนืองๆ เราจะได้ไม่หลงระเริงและไม่ยึดไม่ติดอยู่กับสิ่งต่างๆ เช่น ร่างกาย เราจะเตรียมตัวเตรียมใจอยู่แบบไม่มีร่างกาย คือไม่ใช้ร่างกาย เราจะอยู่ด้วยการมาหาความสงบกัน เพราะถ้าเรามีความสงบแล้ว ความสงบนี้ไม่ต้องอาศัยร่างกาย ความสงบนี้อาศัยสติ อาศัยธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พวกเราเจริญกัน ให้เจริญสติอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาตั้งแต่ตื่นจนหลับ ถ้ามีสติแล้วเราจะสามารถดึงใจให้เข้าสู่อัปนาสมาธิได้ ให้ใจสงบวางเฉยเป็นอุบกขาได้ ให้ใจมีแต่ความสุขได้ โดยที่ไม่ต้องใช้ร่างกาย ร่างกายแก่ก็สามารถทำใจให้สงบได้ ร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยก็สามารถทำใจให้สงบได้ ร่างกายตายก็ยังสามารถทำใจให้สงบได้ ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใดเลย เพราะไม่ต้องใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือนั่นเอง

ความสุขที่เกิดจากความสงบนี้ใช้สติเป็นตัวหลัก แล้วก็ใช้ปัญญาเป็นผู้มารักษาให้อยู่ไปอย่างถาวร ขั้นต้นต้องใช้สติก่อน เพราะสตินี้ง่ายกว่าปัญญาหลายร้อยหลายพันเท่า สติเพียงแต่ระลึกคำว่า พุทโธๆไป เพียงคำเดียวนี้ก็เป็นสติขึ้นมาแล้ว

ส่วนปัญญานี้มันยากกว่า มันต้องพิจารณาให้เห็นอนิจจังว่าเป็นอย่างไรให้เห็นว่าทุกขังเป็นอย่างไร ให้เห็นว่าอนัตตาเป็นอย่างไร ถึงจะสามารถที่จะมีปัญญาได้ แต่ถ้ามีปัญญาแล้วจะสามารถรักษาความสงบ ที่เกิดจากการเจริญสติได้ให้อยู่ไปอย่างถาวร โดยที่ไม่ต้องดูแลรักษา โดยที่ไม่ต้องใช้สติคอยประคับประคอง แต่ถ้าได้ความสงบจากสติเพียงอย่างเดียว ก็ต้องคอยประคับประคองไปตลอดเวลาด้วยสติ เวลาใดเผลอปล่อยให้ความอยากมารุมเร้า ปล่อยให้ไปทำตามความอยากต่างๆ ความสงบที่ได้จากการประคับประคองด้วยสติจะหายไปหมด แล้วความทุกข์ความวุ่นวายใจต่างๆ ก็จะเข้ามาแทนที่ทันที แต่ถ้ามีปัญญาแล้วนี้ และกำจัดตัณหาต่างๆ ที่เป็นตัวก่อกวนให้เกิดความวุ่นวายใจต่างๆ ให้หมดไปได้แล้ว ไม่ต้องดูแลรักษาใจอีกต่อไป ไม่ต้องมีสติ ไม่ต้องมีปัญญา เอาเก็บไว้ในตู้ เอาเก็บไว้ในลิ้นชักได้ ถ้าจะใช้ก็ใช้เพื่อนำมาทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น
อย่างเวลาพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันตสาวกท่านแสดงธรรม ท่านต้องใช้สติปัญญาเอามาสั่งสอนพวกเรากัน แต่สำหรับใจของท่านนี้ท่านไม่ต้องใช้สติปัญญา มาควบคุมรักษาอีกต่อไป เหมือนกับโรคภัยไข้เจ็บที่อาศัยยา ในการรักษาให้หายขาด พอโรคภัยไข้เจ็บได้หายขาดจากการรับประทานยาแล้ว หลังจากนั้นก็ไม่ต้องรับประทานยาอีกต่อไป รับประทานหรือไม่รับประทานมันก็มีผลเท่ากัน คือมันไม่ได้ทำให้ร่างกายมันเป็นอะไรไปอีกต่อไป ไม่รับประทานมันก็หายอยู่แล้ว รับประทานมันก็หายอยู่แล้ว ฉันใดใจของผู้ที่ได้รับการดูแลรักษาด้วยสติปัญญา ด้วยการทำลายตัณหาความอยากให้หมดไปจากใจแล้วนั้น ใจดวงนั้นไม่ต้องมีอะไรมาปกป้องคุ้มครองดูแลรักษาอีกต่อไป

สติปัญญานี้เป็นเหมือนยารักษาใจ เมื่อใจหายจากความทุกข์ใจแล้ว ไม่ต้องกินยาอีกต่อไป ไม่ต้องมีสติไม่ต้องมีปัญญา เพราะจะทำอะไร มันก็จะไม่เกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะมันไม่ได้ทำด้วยความอยากนั่นเอง

นี่แหละคือความวิเศษของการที่เราปฏิบัติธรรมกัน เราจะได้สิ่งที่วิเศษที่ไม่มีอะไรในโลกนี้สามารถให้กับเราได้ นอกจากการปฏิบัติธรรมก็คือการดับความทุกข์ได้อย่างถาวรและรักษาความสุขที่สุขเหนือกว่าความสุขทั้งหลายให้อยู่คู่กับเราไปตลอดไม่มีวันสิ้นสุดแล้วก็จะทำให้เรานี้สามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้เขาได้หลุดพ้นจากอบายก็ดี จากการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้ก็ดี ถ้าเขามีศรัทธามีความเชื่อ แล้วน้อมนำเอาไปปฏิบัติ เขาก็จะได้รับประโยชน์ เหมือนกับที่เราได้รับประโยชน์.

ธรรมะบนเขา วันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ (ธรรมะในพรรษา ๒๕๕๘)

“ทดแทนบุญคุณ”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO