นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน จันทร์ 29 เม.ย. 2024 3:05 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: แก่นธรรมพระกรรมฐาน
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 27 พ.ค. 2016 7:32 pm 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4543
แก่นธรรมพระกรรมฐาน

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสโก
วัดป่านาคำน้อย จ.อุดรธานี

หลักเกณฑ์การพิจารณาว่าจะอยู่ หรือละสังขารของพระอริยะ

ถาม “ (หลวงปู่-หลวงตาต่ออายุด้วยอิทธิบาทธรรม) ท่านดำรงขันธ์เอง หรือจะต้องมีโยมนิมนต์”

ตอบ “ก็คงทั้งสองอย่าง ความคิดคล้ายๆ กัน เมื่อญาติโยมนิมนต์ ตัวท่านก็เห็นพร้อมด้วยว่า “มีประโยชน์” ท่านก็คงรับทั้งสองอย่าง ทั้งตัวท่านด้วย ทั้งผู้นิมนต์ด้วย แต่ผู้นิมนต์ก็นิมนต์ไป ท่านพิจารณาแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร ท่านก็คงจะปล่อย.. ละขันธ์
พระพุทธเจ้าที่ท่านพูดในพระไตรปิฎกเอาไว้ ท่านให้เครื่องหมายที่แนะพระอานนท์หลายๆ อย่าง แต่พระอานนท์ก็ไม่ได้อาราธนา ไม่ได้กราบทูลพระพุทธองค์ พญามารมาอาราธนาก่อน อันนี้ก็เป็นความผิดของพระอานนท์ที่ไม่ได้อาราธนาพระพุทธเจ้า พระอานนท์ก็ไม่ได้อาราธนาจริงๆ พระพุทธเจ้าให้นิมิตเครื่องหมายว่า ผู้ที่จะดำรงยืนนานไปได้ด้วยอิทธิบาทสี่ ก็จะมีอายุยืนนานได้ ก็พูดเป็นลักษณะนัยๆ แต่พระอานนท์ก็ไม่ได้กราบทูล พอมากราบทูลก็วาระสุดท้าย จนแผ่นดินไหว ดินฟ้าอากาศหวั่นไหว วันนั้นพระอานนท์ก็เข้าไปกราบทูลพระพุทธองค์ ท่านทรงบอกว่า “วันนี้เราได้ปลงสังขารเสียแล้ว” พระอานนท์ก็เสียอกเสียใจ กราบทูลพระองค์ พระองค์ก็บอกว่า “เรากลับคำไม่ได้ เพราะเราได้ปลงสังขารแล้ว แต่ก่อนเราก็พิจารณาแล้วว่าพุทธบริษัทสี่ยังไม่เข้าใจในหลักธรรมวินัย แต่บัดนี้พวกพุทธบริษัทสี่ก็เข้าใจหลักธรรมวินัยพอสมควร ก็เป็นการเหมาะสมที่ตถาคตจะปรินิพพาน”

ถาม “การอาราธนาต้องมีรูปแบบที่ถูกต้องไหมครับ”

ท่านพระอาจารย์ “ถ้าจะว่าถูกต้อง ผู้อาราธนาควรเป็นกิจจะลักษณะ ไม่ใช่พูดแบบเลื่อนลอย ไม่ใช่พูดแบบธรรมดาๆ พูดด้วยความจริงใจ แล้วเขาไปกรบอาราธนาท่าน”

ถาม “ต้องมีดอกไม้ ธูป เทียนไหม”

ท่านพระอาจารย์ “อาตมาว่าไม่น่าจำเป็น เอาขันธ์ห้าของเรา กาย วาจา ใจ ที่บริสุทธิ์ของเราน้อมระลึกถึงก็น่าจะเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระอริยสงฆ์ขนาดนั้น ท่านไม่ถือวัตถุอย่างนั้นเป็นเครื่องหมายที่จำเป็นและสำคัญ ด้วยความจริงใจและความพร้อมก็อาราธนาท่าน แล้วแต่ทานจะพิจารณาว่าเหมาะควรไหม”

ถาม “โปรดอธิบายเรื่องอิทธิบาทสี่ครับ”

ท่านพระอาจารย์ “อิทธิบาทคือคุณเครื่องให้สำเร็จความประสงค์ ๔ อย่าง ฉันทะ ความพอใจ วิริยะ มีความพากเพียรในสิ่งนั้น จิตตะ เอาใจฝักใฝ่สิ่งนั้น วิมังสา หมั่นไตร่ตรอง สรุปแล้วก็คือหลักของใจทั้งนั้น”

ธรรมะบางตอนของ "หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสโก" เทศน์โปรดสัจจธรรม เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๒






แสงจันทร์ไม่เย็นเท่าศีล
เพราะแสงจันทร์ได้แต่เย็นตา
แต่ศีลเย็นสงบเข้าไปถึงจิตใจ...หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ





นักปฏิบัติต้องปฏิบัติอะไร? หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

คือปฏิบัติจิตนั้นเอง
คือทำจิตให้สงบ
ทำจิตให้สว่าง
ทำจิตให้บริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์ก็คือความสงบนั่นเอง
เบื้องต้นที่จะทำจิตให้สงบ
ก็ไม่มีอะไรมากมาย คือภาวนา การภาวนาก็ไม่เอาอะไรมากมายนัก
เอาพุทโธอย่างเดียวก็พอแล้ว ก่อนที่จะภาวนา
เราต้องตัดอารมณ์ข้างนอก
ออกให้หมดเสียก่อน
คือไม่ส่งอารมณ์ออกไปนอก อารมณ์ที่ส่งไปนอกไปหาปรุง หาแต่ง
ไปหาก่อหาเกิดไม่มีที่สิ้นสุด
จิตของเราไม่สงบ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะภาวนา
เราต้องตัดอารมณ์ออกให้หมด
ไม่ต้องส่งจิตไปนอก
หันมาดูจิตของเรา อยู่ในจิตของเรา
ตั้งสติอยู่ในจิต แล้วก็บริกรรม
ให้จิตเป็นผู้บริกรรมเอง
ไม่เอาอะไรมากมาย
พุทโธอย่างเดียวก็พอแล้ว
แต่ว่าให้จิตเป็นผู้บริกรรมเอง
ให้จิตเป็นผู้ว่าเอง ไม่ต้องว่ากับปาก
วิธีนั่งบริกรรม
นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งพับเพียบก็ได้
เอาตีนขวาทับตีนซ้าย
ตั้งกายให้ตรง แล้วก็หลับตา
แล้วก็ดูจิต คือผู้รู้นั้นเอง จิตผู้รู้มีประจำอยู่แล้วในคนทุกคน
ไม่ต้องไปหาที่อื่น ตั้งจิตอยู่ในจิต
ตั้งสติอยู่ในจิต ให้จิตเป็นผู้บริกรรมเอง
ไม่เอาอะไรมากมาย เอาพุทโธอย่างเดียว
แล้วบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธไป
จนจิตของเรามันสงบ ในการบริกรรมพุทโธ
ผู้บริกรรมพุทโธอยู่ตรงไหน
ตั้งสติอยู่ตรงนั้น ให้จิตเป็นผู้ว่าเอง
ไม่ต้องว่ากับปาก ตาของเราหลับ
แล้วให้จิตเป็นผู้ว่าเอง
ตั้งสติอยู่ตรงนั้นบริกรรมเรื่อยไป
เวลามันสงบเราจะรู้เอง
คือจิตมันรวม มันรวมวูบลง
แล้วก็จิตมีอารมณ์อันเดียว
นั่นมันสงบแล้ว แล้วถ้าจิตสงบแล้ว
เราไม่ต้องบริกรรมต่อไป
จิตกำหนดอยู่เฉยๆ
หมายถึงว่า จิตหลุดจากคำบริกรรมไป
นั่นจิตมันรวม จิตมันสงบ
แล้วเราก็ไม่ต้องหันมาบริกรรมอีก ความสงบอยู่ไหนก็ตั้งสติอยู่นั้น
แล้วกำหนดดูอาการของสมาธินั้นเป็นอย่างไร
แล้วก็ต้องจำให้ชัดเจน จิตของเราสงบแล้ว
นี่ให้รู้จักว่าจิตของเราสงบแล้ว
กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง
ก็ไปรวมอยู่ที่จิตที่สงบนั้นเอง ที่สูงสุดอยู่ตรงนี้ หาที่อื่นไม่พบ
จิตที่สงบนั้นคือตัวบุญ
เราต้องจำให้ชัด เวลาเรารู้ เรารู้เอง
มันผุดขึ้นมาในจิตของเรา
ให้รู้เฉพาะตน นั่นละตัวบุญที่แท้จริง
แล้วไปหาที่อื่นไม่พบหรอกบุญ
ต้องหาจากจิตจากใจของเรา
ถ้าจิตของเราสงบ บุญเกิดขึ้นแล้ว
ไม่ต้องไปหาที่อื่น หาที่อื่นก็ไม่พบ บุญกับบาปก็ประจำอยู่แล้วทุกๆคนนั่นแหละ
แต่บุญคือความสุข บาปคือความทุกข์
ทำจิตของเราให้สงบแล้ว
หมายความว่าเราทำบุญเกิดแล้ว





ปัญญากับสมาธิ

ปัญญากับสมาธิต้องมีทั้ง ๒ ส่วน ปัญญาถึงจะได้กลายจากจินตามยปัญญาจากสุตมยปัญญา มาเป็นภาวนามยปัญญา พอเป็นภาวนามยปัญญาแล้วความอยากกี่ชนิดกี่หมื่นกี่แสนชนิดโผล่ขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็จะหยุดมันได้ทุกชนิดเลย พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านบรรลุเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์ กันเพราะภาวนามยปัญญานี้เอง เวลากามตัณหาเกิดขึ้นมาท่านก็หยุดมันได้ เวลาภวตัณหาเกิดขึ้นมาท่านก็หยุดมันได้ เวลาวิภวตัณหาเกิดขึ้นมาท่านก็หยุดมันได้ ท่านจึงได้เป็นพระพุทธเจ้า ได้เป็นพระอรหันตสาวกกัน พวกเราก็ใกล้แล้ว ใกล้ที่จะได้เป็นกันแล้ว ขอให้เราทำสมถภาวนาให้ได้ผลเถิด แล้วปัญญาของพวกเรา ที่เราได้จากการได้ยินได้ฟังธรรมนี้ ได้จากการพิจารณาอยู่นี้ จะกลายเป็นภาวนามยปัญญาไปทันที แล้วก็จะสามารถทำลายตัณหาทั้งหมดให้หมดไปจากใจได้ทันที

ดังนั้นถ้ายังไม่มีสมถะความสงบ สมถภาวนา ไม่มีสมาธิก็ต้องพยายามเจริญสติให้มากๆ เพราะสตินี้เป็นเหตุที่จะทำให้จิตสงบนั่นเอง จิตรวมเป็นหนึ่งเป็นเอกัคคตารมณ์ได้ ก็อยู่ที่การดึงใจให้อยู่กับอารมณ์เดียว เช่นอยู่กับการบริกรรมพุทโธๆไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ตื่นจนหลับ หรือให้เฝ้าดูอยู่กับร่างกายให้อยู่ในปัจจุบันตลอดเวลา ไม่ให้ไปคิดถึงเรื่องราวที่ผ่านมา หรือเรื่องราวที่ยังไม่เกิดขึ้น ให้อยู่กับปัจจุบันเพียงอย่างเดียว ให้รู้เฉยๆ สักแต่ว่ารู้ ไม่ให้คิดปรุงเเต่งเรื่อยเปื่อย แล้วเวลามานั่งสมาธิใจจะรวมเข้าสู่อัปปนาจะรวมเข้าสู่เอกัคคตารมณ์ได้ สักแต่ว่ารู้ เป็นอุเบกขาได้ ได้ความสุขที่ยิ่งใหญ่กว่าความสุขทั้งหลาย

พอมีสมถะแล้วพอมีตัณหาเกิดขึ้นก็ใช้ไตรลักษณ์เข้ามาทำลายได้เลย ให้พิจารณาว่าสิ่งที่เราอยากนี้มันไม่เที่ยง มันจะทำให้เราต้องทุกข์ต่อไป เวลามันหมดไป เช่นบุหรี่ สุรา กาแฟ เครื่องดื่มต่างๆ ถ้าเราไปดื่มมันไปเสพมันแล้วพอมันหมดแล้วจะทำอย่างไร เราจะอยู่เฉยๆได้ไหม เราจะไม่เดือดร้อนได้ไหม ไม่ได้มันจะทุกข์ทันทีมันก็ต้องไปหามาเสพต่อทันที แล้วถ้าร่างกายไม่สามารถทำตามคำสั่งของใจได้ จะทำอย่างไร เวลาร่างกายเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตไปหรือเวลาไม่มีเงิทองที่จะไปซื้อสิ่งต่างๆมาเสพ จะทำอย่างไรมันก็ต้องทุกข์จนได้ แต่ถ้าเราหยุดเสพเสียตั้งแต่บัดนี้ไป ต่อไปมันไม่มีอะไรจะเสพ ก็ไม่เดือดร้อนอะไร ถ้าเรามีสมถะ มีปัญญา มีภาวนามยปัญญา พิจารณาให้เห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราต้องการนี้ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจัง เพราะมันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์เพราะว่าเวลามันหมดไปนี้ มันจะไม่มีอะไรจะให้เสพมันก็ต้องทุกข์ มันเป็นอนัตตาก็คือเราไปห้ามมันไม่ได้ ไปสั่งให้มันไม่หมดไม่ได้ สั่งให้มันมีอยู่ตลอดเวลาไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันมีเกิดมีดับมีขึ้นมามีลง มีมากขึ้นมีน้อยลง มีหมดไปในที่สุด

นี่คือการใช้ปัญญาควบคู่ไปกับสมาธิ ถ้าเรามีทั้งสมาธิมีทั้งปัญญาแล้ววิมุตติก็จะเป็นผลตามมา มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ก็จะเป็นผลตามมา ไม่ต้องไปเรียกร้องมาเอง มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ไม่ได้เป็นสิ่งที่เราจะไปปลุกขึ้นมาลากออกมาได้ เป็นสิ่งที่จะเกิดจากการมีสมถะมีวิปัสสนาภาวนา คือมีภาวนามยปัญญานี่เอง แต่ก่อนที่จะมีภาวนามยปัญญาได้ก็ต้องมีสุตมยปัญญา ต้องรู้ก่อนว่าอะไรเป็นเหตุของความทุกข์ ต้องรู้ว่าเหตุของความทุกข์ก็คือกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหานี้ พอรู้แล้วทีนี้ก็ต้องหยุดมัน ถ้าหยุดมันไม่ได้ก็แสดงว่าไม่มีกำลัง ยังไม่มีสมาธิพอ ก็ต้องกลับไปเร่งทำสมาธิให้มีกำลังให้มากๆ ให้จิตสงบได้นานๆ นั่งทีได้เป็นชั่วโมงขึ้นไป จิตสงบนิ่งเป็นอุเบกขาสักแต่ว่ารู้ มีความสุขไม่ได้นั่งแบบทรมาน ไม่ได้นั่งแบบต่อสู้กับกิเลส อย่างนั้นยังไม่ได้เรียกว่าได้ผล ต้องแบบนั่ง ๕ นาที ๑๐ นาทีก็นิ่งไปเป็นชั่วโมง อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นสมาธิ พอออกมาจากสมาธิแล้ว พอเกิดความอยากก็ถ้าปัญญาบอกว่านี่คือปัญหา นี่คือตัวการต้องหยุดมัน ก็จะหยุดมันได้ทันที เช่นอยากจะรับประทาน ถ้ายังไม่ถึงเวลารับประทานอะไรก็ไม่ให้มันรับประทาน ถ้าเรากำหนดว่า เราจะรับประทานอาหารเพียงวันละ ๑ ครั้งอย่างนี้ ของทุกอย่างที่จะผ่านเข้ามาทางปาก นอกจากน้ำเปล่า เราจะให้มันเข้ามาเพียงครั้งเดียว เปิดโอกาสให้มันเข้ามาเพื่อมาบำรุงดูแลรักษาร่างกายเท่านั้น แล้วก็จะไม่กินไปตามความอยาก กินไปตามมีตามเกิด อยากอะไรก็อย่าไปกินมันในเบื้องต้น ชอบอะไรก็อย่าไปกินมัน ไปจนกว่ามันไม่มีความอยากแล้ว ทีนี่จะกินอะไรก็ได้ จะกินอะไรก็ได้ต้องให้คนอื่นเขาจัดให้เรากิน เพราะถ้าเราจัดเองเดี๋ยวกิเลสมันก็แทรกเข้ามาอีก ความอยากมันก็แทรกเข้ามาอีก

ดังนั้นถ้าเราอยากจะต้องการทำความอยากอย่างแท้จริง ถึงเวลารับประทานอาหาร ถ้าเป็นร้านอาหารก็เอาอะไรมาก็ได้ เด็กเข้ามาถาม..พี่จะกินอะไร…เอาอะไรมาก็ได้ ๒-๓ อย่างพอจัดมาเลย อย่างนี้ถึงจะเรียกว่าตัดปัญหาเรื่องของความอยากไป แล้วพอกินเสร็จแล้ววันนั้นก็หมดแล้วเรื่องกิน เรื่องของที่จะเข้าทางปาก ของเคี้ยวของขบของฉันนี้ไม่เอาแล้ว ยกเว้นน้ำที่จะต้องคอยดื่ม น้ำก็ควรจะเป็นน้ำเปล่า เพราะมีอะไรเข้าไปเดี๋ยวมันก็เป็นรูปเสียงกลิ่นรสอีก มันก็เป็นกามตัณหาขึ้นมาอีก แต่ถ้ามีคนเขาเอามาให้เป็นกรณีพิเศษไป ไม่ได้เป็นกรณีประจำ วันดีคืนดีมีคนมาเยี่ยม หิ้วกาแฟมาให้สักถ้วยหนึ่ง ก็ดื่มไปก็ได้อย่างนี้จะไม่เป็นปัญหา แต่อย่าไปสั่งเขาพี่มาบ่อยๆ อย่าลืมเอากาแฟมานะ ถ้าอย่างนี้ก็เป็นความอยากอยู่ คือให้ของมันมาเอง อย่าให้มันมาตามใจเราคิด ถ้าเราคิดถึงมันนี้แสดงว่าใจเราอยากแล้ว แต่ถ้ามันมาโดย ที่ไม่ได้คิดถึงมัน คิดว่าเป็นบุญปากของเราไปวันนั้น เขาให้มาก็ดื่ม แต่ก็ต้องระวังถ้าครั้งหน้าเขามาแล้วไม่ได้หิ้วอะไรมา แล้วใจรู้สึกหดหู่ก็แสดงว่า ครั้งที่แล้วมันยังอยากอยู่ ถ้ามันไม่อยากแล้วมันจะรู้สึกเฉยๆ ถ้าจะให้ดีก็คือไม่อยากมันเลย ถึงแม้เคยชอบเคยอะไรมันมาพอเขาหิ้วมาให้กินก็ไม่เอา ไม่เอาแล้วเบื่อ เข็ด กินแล้วเดี๋ยวกลัวจะติดมันอีก อย่างนี้จะดีกว่า

นี่ก็คือเรื่องของการใช้เวลาให้เกิดประโยชน์กับชีวิตจิตใจของเรา คือใช้เวลามาทำลายความอยากต่างๆ ที่มีอยู่ภายในใจของเราให้หมดไป อย่าใช้เวลากับการไปสร้างลาภยศสรรเสริญ สร้างความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย ที่จะต้องถูกเวลากลืนกินไปหมดในเวลาต่อไป เรามาสร้างสิ่งที่เวลาไม่สามารถแตะต้องได้ดีกว่า มาสร้างมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ กัน ด้วยการทำทาน ด้วยการรักษาศีล ด้วยการภาวนากันอย่างต่อเนื่อง ทำให้มันมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนให้มันเต็ม ๑๐๐ ทุกขั้นตอน ทานก็เต็ม ๑๐๐ ศีลก็เต็ม ๑๐๐ ภาวนาก็เต็ม ๑๐๐ แล้วมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ก็จะเต็ม ๑๐๐ เช่นเดียวกัน

ธรรมะบนเขา วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

“เวลา”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร จ.ชลบุรี





ตัวของเราเหมือนไม้ทั้งท่อน

ไม้ทุกประประเภทที่เป็นไม้ทั้งท่อนอยู่นั้น จะสำเร็จประโยชน์อะไรไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นไม้เนื้อแข็งหรือเนื้ออ่อน ต่อเมื่อได้นำเครื่องมือมาจัดทำไม้ท่อนนั้น ๆ ให้สำเร็จรูปขึ้นมาตามความต้องการ และนำไปทำประโยชน์ได้ตามความประสงค์แล้วนั้นแล จะเป็นไม้ประเภทใดก็ได้รับประโยชน์ตามคุณภาพของตน แล้วแต่นายช่างจะนำไปทำประโยชน์อะไร คุณสมบัติของไม้ก็มีไปตามส่วนแห่งเนื้อไม้ ยิ่งเป็นนายช่างผู้ฉลาดด้วยแล้ว ก็ยังจะเสริมเนื้อไม้หรือไม้นั้น ๆ ให้ดีขึ้นตามเนื้อแท้ของตน

นี่เราก็เหมือนกันเช่นนั้น เพียงแต่รูปเป็นคนหรือเป็นพระเป็นเณรเท่านี้ก็ยังเป็นไม้ทั้งท่อนอยู่ ศาสนาที่เรียกว่าศาสนธรรมซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้นี้ เป็นเสมือนกับเครื่องมือ ส่วนเหตุแห่งศาสนาเป็นเหมือนเครื่องมือ สำหรับดัดแปลงกายวาจาใจของเรา ตามแต่ผู้จะปฏิบัติหรือดัดแปลงตนเองนั้น จะนำเอาอุบายจากโอวาทของพระพุทธเจ้าไปใช้ เพื่อสำเร็จเป็นประโยชน์ขึ้นมาทางความประพฤติ ถ้าเป็นส่วนผลก็หมายถึงความสุขที่ได้รับจากการดัดแปลงตนเอง ทั้งฝ่ายเหตุและฝ่ายผลนี้ขึ้นอยู่กับหลักธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น

การก้าวเข้ามาบวชในพระศาสนานี้ จึงเป็นเหมือนกับว่ามาดัดแปลงตนเอง เช่นเดียวกับนายช่างดัดแปลงไม้ไปตามความต้องการของตน จนสำเร็จประโยชน์ขึ้นมาตามความประสงค์ นี่เราทุก ๆ ท่านมีความมุ่งประสงค์จะให้ตนของเราที่กำลังเป็นไม้ทั้งท่อนอยู่นี้ ให้เป็นของมีคุณค่าขึ้นมาด้วยการดัดแปลง ตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่เป็นเครื่องมือ แต่ผู้ที่จะนำมาดัดแปลงนั้นก็คือเรา ครูอาจารย์ท่านนำเอาพระโอวาทของพระพุทธเจ้ามาสอนให้แล้ว ก็เหมือนกันกับยกเครื่องมือยื่นให้เรา ว่าสิ่งนั้นผิดสิ่งนี้ถูก ควรจะทำอย่างนั้น ควรจะงดอย่างนี้ นี่เป็นอุบายวิธีของท่านที่สอน

เราผู้มาศึกษาก็พยายามยึดเอาหลักที่ท่านสอน ไม่ว่าส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียด เข้ามาฝึกฝนดัดแปลงตนเองให้เป็นไปตามหลักพระโอวาทนั้น ๆ ความน่าดูในตัวของเรานี้จะเป็นของน่าดูขึ้นเป็นลำดับ ความคิดซึ่งออกมาจากใจก็จะเป็นไปเพื่อความฉลาด คิดออกมาในแง่ใดก็เป็นแง่ที่จะผลิตประโยชน์ให้เกิดขึ้นจากเราและผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่ากว้างหรือแคบ เคลื่อนไหวออกมาทางกายที่เรียกว่าการกระทำ ก็เป็นเรื่องที่จะทำประโยชน์ให้แก่ตนและส่วนรวม พูดออกมาทางวาจาก็เช่นเดียวกัน สำเร็จประโยชน์ไปเป็นลำดับ ๆ ตามกำลังแห่งจิตที่ได้รับการศึกษาอบรมจากหลักธรรมมาดัดแปลงตนเอง

หากจะปล่อยให้สำเร็จประโยชน์เอาเฉย ๆ โดยไม่เกี่ยวกับพระโอวาทซึ่งเป็นเครื่องมือแล้ว ไม่ว่าโลกไม่ว่าธรรมไม่จำเป็นจะต้องมีการงานประจำกันทั่วโลก เพราะใครอยู่ที่ไหนนึกอย่างไรก็สำเร็จขึ้นมาตามความนึกเท่านั้น โดยไม่ต้องลงมือทำ แต่เท่าที่โลกจะมีจำนวนมากน้อยเท่าไร ย่อมเป็นผู้เกี่ยวข้องกับงานด้วยกันทั้งนั้น ทั้งนี้เนื่องจากสำคัญอยู่ที่การกระทำ อันเป็นบ่อเกิดแห่งผลที่ตนพึงมุ่งหวัง

ฉะนั้นผู้บวชเป็นพระจึงชื่อว่าผู้ตั้งหน้ามาดัดแปลงตนเอง กายวาจาใจมีอยู่กับเราทุกท่าน ผู้ที่จะสังเกตสอดรู้ในเรื่องความเคลื่อนไหวผิดถูกของตน ก็คือเรื่องของสติและเรื่องของปัญญา คิดขึ้นมาได้ที่ใจดวงเดียวกันกับความเคลื่อนไหวอย่างอื่นเกิดขึ้น เรื่องของสติปัญญาคอยตามสังเกตความผิดถูกแห่งความเคลื่อนไหวของตนอยู่เสมอ นี่ชื่อว่าผู้ศึกษาผู้อบรมผู้ดัดแปลงตนเอง

เราย่อมเห็นความบกพร่องของเราเป็นลำดับ และมีทางที่จะแก้ไขกันได้ตามลำดับแห่งความบกพร่องที่ปรากฏขึ้น เนื่องมาจากการสอดส่องของใจ ย่อมจะทราบได้ซึ่งความบกพร่องของตน ถ้าไม่ทราบก็ไม่มีทางที่จะแก้ไข เมื่อทราบแล้วก็มีทางที่จะแก้ไข เพื่อความสมบูรณ์ขึ้นมาเป็นขั้น ๆ

หน้าที่ของพระที่ทำอยู่ในวัดก็ดีนอกวัดก็ดี ที่ทำเป็นประจำก็ดี ทำเป็นบางเวลาก็ดี ล้วนแล้วตั้งแต่เป็นการงานที่จะผลิตผลประโยชน์ให้เราผู้ทำด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นการทำงานทุก ๆ ชิ้นไม่ว่าจะงานภายนอกงานภายใน งานส่วนรวมหรืองานโดยลำพัง ต้องให้มีผู้คอยสอดส่องอยู่กับความเคลื่อนไหวของตนทุกระยะ นี่ชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียรประจำกับหน้าที่การงานนั้น ๆ ไม่บกพร่อง

ถ้าพระไม่สามารถจะปฏิบัติตนให้เป็นไปตามหลักแห่งสวากขาตธรรม และนำผลเป็นที่พึงพอใจเข้ามาเป็นสมบัติของตนได้แล้ว พระซึ่งเป็นผู้นำของประชาชนทั่ว ๆ ไป จะไม่สามารถนำโลกให้เป็นไปด้วยความราบรื่น ถ้าตนยังไม่สามารถดำเนินตนให้เป็นไปตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า

ฉะนั้นหลักใหญ่จึงอยู่ที่เรา ทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้นมาหรือเลวลงไป ไม่ใช่จะดีขึ้นมาหรือเลวลงไปโดยลำพังของสิ่งนั้น ๆ เท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับเรา ต้องมีส่วนดีส่วนชั่วขึ้นอยู่กับเราด้วย นี่เป็นหลักสำคัญ

ท่านกล่าวไว้ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ในธรรมะมีบทนี้เป็นยอดแห่งธรรม ที่กล่าวว่าเป็นผลของการปฏิบัติ เราทุกท่านเคยได้ยินเสมอว่า พระนิพพานเป็นความสุขอย่างยอดเยี่ยม นี่เป็นองค์ของพระพุทธเจ้าผู้ได้ทรงค้นพบและนำมาประกาศสอนโลก ให้ทราบความลึกซึ้งแห่งความสุข ที่โลกแม้จะไม่เคยเห็นก็ตาม เพื่อให้ได้ยินและเป็นที่จับจิตจับใจ เป็นเครื่องปลูกศรัทธาความเชื่อมั่น วิริยะความพากเพียร ที่จะบำเพ็ญตนไปด้วยความอดทนและขยันหมั่นเพียร

ไม่มีใครจะสามารถยกธรรมบทนี้ขึ้นมาให้โลกได้ยินได้ฟัง และไม่มีใครสามารถจะชี้ช่องทางเพื่อธรรมบทนี้ปรากฏขึ้นภายในใจได้ นอกจากพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นผู้นำพระศาสนา แม้สาวกก็ต้องได้สดับจากพระพุทธเจ้ามาก่อน ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถ นี่แสดงถึงความยอดยิ่งแห่งความสุขที่โลกปรารถนา นับแต่สัตว์ก็มีความปรารถนาด้วยกัน พระพุทธเจ้าท่านแสดงให้ทราบอย่างนี้

ความสุขที่เรา ๆ ท่าน ๆ ได้ปรากฏอยู่เหล่านี้ เป็นความสุขที่พระพุทธเจ้าเคยพบเคยเห็นและเคยเสวยมาด้วยกัน แต่ยังไม่ได้เสด็จออกทรงผนวชและยังไม่ได้ตรัสรู้ พระองค์ท่านก็ไม่สามารถจะประกาศธรรมบทนี้ให้โลกได้ยินทั่วถึงกัน เพราะพระองค์ไม่ทรงทราบว่าเป็นอย่างไร ต่อเมื่อได้บำเพ็ญเต็มพระสติกำลังความสามารถ จนได้รู้เห็นธรรมบทที่อัศจรรย์เหนือโลกนี่แล้ว จึงได้นำมาประกาศสั่งสอนบรรดาสัตว์

และคำที่ว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นี้ ไม่ใช่เป็นโมฆธรรม ไม่ใช่เป็นโมฆบุคคลผู้ประกาศเอาเฉย ๆ โดยหาหลักความจริงไม่ได้ แต่ทั้งสองคือคำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ก็หมายถึงองค์พระพุทธเจ้าท่านทรงค้นพบโดยพระองค์เองด้วย และพระองค์เป็นผู้ประกาศสอนโลกเสียเองด้วย ที่ว่าเป็นความจริงอย่างยิ่ง ทางที่จะก้าวไปเพื่อธรรมบทนี้ท่านก็ประกาศสอนไว้ ตั้งแต่ต้น ท่ามกลาง จนถึงที่สุดจุดหมายปลายทางแห่งธรรมบทนี้ที่เรียกว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ไม่มีขาดตกบกพร่องแม้แต่นิดเดียว นอกจากผู้ปฏิบัตินั้นจะมีความสามารถแค่ไหน จะสามารถดำเนินให้เป็นไปได้ตามแนวทางที่พระองค์ท่านสอน และตามผลที่พระองค์ทรงประกาศไว้หรือไม่

ปัญหาข้อนี้เราทุก ๆ ท่านอย่าได้ยกขึ้นไปให้เป็นปัญหาของท่านผู้ใด ขอให้เป็นปัญหาของเราทุกท่านที่จะขบคิดให้แตกภายในจิตใจของเรา เพราะเราเป็นผู้มุ่งอย่างนั้นด้วยกัน มีอะไรบ้างเป็นข้าศึกหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินของเราทุก ๆ วันนี้และเวลานี้ ที่ไม่ให้ได้รับความสะดวกภายในใจ เพื่อจะก้าวไปสู่ธรรมบทนั้นได้ตามความหวัง มีอะไรบ้าง ต้องทดสอบดูตัวเองในจุดนี้ ปัญหาให้ยกให้เป็นปัญหาของเรา

สิ่งที่ขัดข้องทางดำเนิน ถ้าพิจารณาดูว่าไม่ผิดแล้ว ก็คือเรื่องเราเสียเองเป็นอุปสรรคต่อตนเอง ไม่ใช่สิ่งอื่น ๆ มาเป็นอุปสรรคต่อเราเพื่อจะก้าวไปไม่ได้ อะไรเล่าที่เป็นอุปสรรคของเราเสียเอง เกิดจากเราเสียเอง และมีอยู่กับเราเสียเอง

เมื่อกล่าวรวมลงแล้วท่านเรียกว่ากิเลสอาสวะ นี่แลเป็นเครื่องผลิตอุปสรรคทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมากีดขวางทางเดินของเรา ผลิตขึ้นมาหลอกเราทุก ๆ วัน นั่งอยู่ก็หลอก นอนอยู่ก็หลอก ในอิริยาบถทั้งสี่จะมีสิ่งที่มีอยู่ภายในเรานี้แสดงเป็นภาพขึ้นมา เป็นอารมณ์ขึ้นมา หลอกลวงจิตใจให้ระเหเร่ร่อนไปตามอารมณ์นั้น ๆ ไม่มีสิ้นสุดจุดหมายปลายทาง วกกันไปเวียนกันมาอยู่ด้วยอารมณ์ของธรรมชาตินี้ผลิตขึ้นมาหลอกลวงนั่นแหละ

สิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับจิต ถ้าไม่มีอันหนึ่งภายในจิตออกรับ และแสดงเป็นเครื่องหลอกลวงขึ้นมาภายในตนแล้ว สิ่งภายนอกก็ไม่เป็นข้าศึก เช่น รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส อันนั้นเป็นแต่เพียงว่าผ่านเข้ามาสัมผัสชั่วขณะเท่านั้น แต่ธรรมชาติผู้ที่ได้รับสัมผัสนี้เป็นเรื่องสำคัญ สัมผัสแล้วแม้สิ่งที่ได้รับสัมผัสจะผ่านไปแล้วก็ตาม อารมณ์ที่ตนได้รับสัมผัสนี้จะเป็นเครื่องฝังหรือผลิตตัวขึ้นมาเสมอ เกี่ยวกับอารมณ์ที่เคยมาสัมผัสแต่ผ่านไปแล้วนั้น นี่แลเป็นอุปสรรคของใจ

เช่น มีความรักในรูป จะเป็นรูปที่มีวิญญาณก็ตามไม่มีวิญญาณก็ตาม อารมณ์ที่เป็นความรักนี้จะมีอำนาจผลักดันให้จิตปรุงขึ้นมาเสมอ เกี่ยวกับอารมณ์ที่น่ารักนี้ จนไม่เป็นอันกินอยู่หลับนอน มีแต่อารมณ์อย่างเดียวเท่านั้นผลิตตัวขึ้นมาเป็นลำดับ ๆ ทำให้จิตหลงเพลินไปตามตลอดเวลา ไม่มีเดือนปีนาทีโมงมาเป็นเครื่องบังคับตัดสินใจให้ได้ มีแต่เรื่องอันเดียวเท่านั้นที่จะผลิตออกมาหลอกตนเองอยู่เสมอ

ถ้าเกี่ยวกับเรื่องชังก็เหมือนกัน มีลักษณะเช่นเดียวกันนี้ นี่ยกขึ้นเพียงรูปเท่านั้น เพราะคำว่ารูปทุกท่านเข้าใจแล้ว หลายประเภทแห่งรูปและหลายประเภทแห่งจิต คือเจตสิกที่จะคิดเกี่ยวข้องกับรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส นี้แลที่เป็นอุปสรรค ถ้าจะให้เป็นทางเดินก็ต้องนำเรื่องเหล่านั้นเข้ามาคลี่คลายขยายดู ให้เห็นตามหลักความจริงของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ซึ่งมีความจริงประจำเขาอยู่ทุก ๆ ชิ้นทุก ๆ สิ่งที่ผ่านเข้ามาเกี่ยวข้องกับใจ และมีความจริงอยู่กับใจผู้ที่หลงงมงายไปตามนั้นอยู่ทุกระยะเหมือนกัน

ถ้าเราได้นำสติกับปัญญาเข้าไปทดสอบกัน จะทราบตามหลักความจริงทั้งข้างนอกและข้างใน แล้วปล่อยวางหรือตัดสินกันออกได้ แยกกันออกได้ โดยที่สิ่งเหล่านั้นมีอยู่ประจำโลก และใจก็เป็นธรรมชาติที่รู้ ตลอดถึงเจตสิกธรรมที่คิดอยู่กับใจ ก็เคยคิดอยู่เสมอ แต่ไม่สามารถอาจเอื้อมไปคิดสิ่งที่เป็นข้าศึกดังที่เคยเป็นมานั้น ให้มาเผาลนตนเองได้อีกต่อไป เพราะอำนาจของสติปัญญาเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ใคร่ครวญอย่างชัดเจนแล้ว ตัดสินแยกกันออกได้ นี่เป็นทางเดินเพื่อข้ามอุปสรรคที่ตนได้ผลิตขึ้นมาทำการกีดขวางตนเอง

นักปฏิบัติต้องเป็นผู้เข้มแข็งภายในจิตเสมอ อย่าทำอ่อนแอ ยกพระพุทธเจ้าซึ่งเราได้เคยกราบไหว้ระลึกถึงท่านว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ เข้าสนิทกับใจ อย่ายอมตายด้วยมายาที่ผลิตขึ้นมาจากสิ่งที่กล่าวแล้วเมื่อสักครู่นี้ นี่ไม่เคยทำผู้ใดให้ดี ความเกียจคร้านก็คือธรรมชาตินี้แลเป็นผู้สั่งงาน ความอ่อนแอก็คือธรรมชาตินี้เป็นผู้สั่งงาน ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะให้คลาดเคลื่อนหรือเหินห่างจากหลักธรรม อันจะเป็นประโยชน์แก่ตน ตั้งแต่ขั้นต่ำจนถึงขั้นสูงสุด มีธรรมชาติเหล่านี้ทั้งนั้นซึ่งเป็นของต่ำคอยฉุดลากไว้ ไม่ให้จิตก้าวเดินไปตามความต้องการที่ตั้งไว้

ธรรมที่กล่าวว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นั้นไม่ใช่ธรรมเหมือนโลกทั่ว ๆ ไป คือไม่ใช่เป็นคุณสมบัติเหมือนโลกทั่ว ๆ ไป แต่เป็นคุณสมบัติอันยิ่งยวดเหนือจากโลกทั่ว ๆ ไป ถ้าจะเทียบเป็นของมีค่ามีราคาก็หาประมาณไม่ได้ ผู้ที่จะสามารถอาจเอื้อมถึงธรรมบทนี้ ต้องเป็นผู้ตามเสด็จพระพุทธเจ้าด้วยความรู้ความเห็น ความปฏิบัติ ความรู้ความเห็นก็ให้เป็นไปตามหลักธรรมที่สอนไว้ การปฏิบัติก็ให้เป็นไปตามเข็มทิศทางเดินของธรรมที่ประกาศสอนไว้

สิ่งใดบกพร่องพยายามดัดแปลงตน อย่าเห็นว่าความบกพร่องเป็นของดี สิ่งเหล่านี้เป็นขวากเป็นหนามเครื่องกั้นกางทางเดินเพื่อสันติธรรมอันยอดเยี่ยมทั้งนั้น ผู้ปฏิบัติถ้าไม่เห็นภัยกับสิ่งเหล่านี้แล้ว จะหาทางก้าวเดินเพื่อความเจริญแก่ตนไปไม่ได้

เอ้า ทุกข์ ทุกข์เพื่อการงานซึ่งจะนำตนให้ผ่านพ้นอุปสรรค หรือสิ่งที่มารังควานจิตใจนี้อยู่ตลอดเวลา ทุกข์ก็ไม่เป็นไร เพราะเพื่อจะผ่านพ้นสิ่งเหล่านี้ หากเราเป็นผู้ไม่สามารถในวันนี้ วันหน้าความไม่สามารถอันนี้แลจะไปขวางหน้าอยู่ เดือนใดปีใดก็คือความไม่สามารถนี้แลจะเป็นผู้นำทางเดินเข้าสู่ความไม่สามารถเสมอไป แล้วจะหาผลประโยชน์อะไรไม่ได้

การทำความเพียรหมายถึงเรื่องสติกับปัญญา ให้ตามรู้กันไปเสมอกับอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับใจ การทำงานทุกชิ้นความเคลื่อนไหวของกายของวาจาที่แสดงออก จะต้องออกมาจากใจ ถ้าสติปัญญาตั้งอยู่กับใจแล้ว จะต้องทราบวาระของความคิดซึ่งแสดงออกทุก ๆ วาระ จะทุกข์จะลำบากเพื่อการสังเกตสอดรู้เรื่องของตัวเองนั้น ถือว่าเป็นงานชิ้นสำคัญ เราอย่าถือเป็นความลำบากรำคาญไปเฉย ๆ เดี๋ยวจะไปทางที่เขาเคยฉุดลากอีก แล้วจะหาทางฟื้นตัวไม่ได้

ธรรมบทที่กล่าวนี้เป็นธรรมที่ตัดสินเด็ดขาด จากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาทั้งปวง หมดภัยหมดเวรหมดทุก ๆ ประเภท นอกจากจะมีอยู่ในวาระที่ขันธ์ยังตั้งตัวอยู่นี้เท่านั้น แต่ถึงเช่นนั้นก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นกังวลถึงใจ

การท่องเที่ยวจากเกิดกับตาย เปลี่ยนภพเปลี่ยนชาติมากี่กัปกี่กัลป์นี้ เป็นงานที่รู้สึกว่าซ้ำซากจนหางานอะไรจะเสมอไม่ได้ ความทุกข์ที่เป็นไปตามภพตามชาตินั้น ๆ ก็ไม่มีอะไรจะซ้ำซากเท่าความทุกข์เหล่านี้ เราควรจะนำมาพิสูจน์และทำการเลิกรากัน ด้วยอุบายวิธีแห่งความฉลาดของเราจากหลักธรรมะมาเป็นเครื่องประกัน ยกเอาตัวของเราเป็นผู้ประกันชีวิตของตนด้วยข้อปฏิบัติ เพื่อกำจัดสิ่งที่กล่าวมานี้ซึ่งเห็นว่าเป็นภัยนี้ ให้หมดจากใจไปลำดับ จะสมว่าสวากขาตธรรมนั้นตรัสไว้ชอบ ผู้ปฏิบัติตามก็ได้ถึงธรรมที่ชอบตามพระองค์ท่าน ธรรมยังจะไม่เป็นโมฆะแก่พวกเราอยู่เฉย ๆ

การขบการฉัน การไปการมา ขอให้สติติดตามเสมออย่าปล่อยตัว ปล่อยไปหาประโยชน์อะไรไม่มี สำหรับผู้ปฏิบัติด้วยความตั้งใจมาอย่างนี้จริง ๆ แล้ว นอกนั้นไม่ใช่ธุระของพระผู้ตั้งใจปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพาน มีทางเดียวคือให้เห็นภัยในความบกพร่องของตนในจุดใด พยายามแก้ไขในจุดนั้น นี่เป็นงานอันสำคัญของพระผู้ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์จริง ๆ ไม่เช่นนั้นจะหาทางเดินไม่ได้ ตายทิ้งเปล่า ๆ ไม่เป็นประโยชน์

ทำความเพียรไม่ได้รับแม้แต่ความสงบนี้ ไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องกั้นกางนอกจากความเผอเรอเท่านั้น ถ้าเป็นไปด้วยความตั้งใจแล้วอย่างไรต้องรู้ ไม่มีอะไรจะเหนือความตั้งใจไปได้ นอกจากนั้นยังสังเกตธาตุขันธ์ของเราอีก การนอน การฉัน การเดิน เช่นเดินจงกรม สังเกตให้ดี นอนมากเป็นอย่างไร ฉันมากเป็นอย่างไร ฉันน้อยเป็นอย่างไร เดินมากเป็นอย่างไร ต้องสังเกต และความคิดที่คิดมากคิดไม่หยุดไม่ถอย หาสถานีจอดแวะไม่ได้ โดยไม่มีสติสตังตามรักษาเลยนี้ นี้เป็นภัยอย่างร้ายสำหรับผู้ปฏิบัติ นี่ละเครื่องหลอกคือความคิด

คิดซอก ๆ แซก ๆ คิดไม่หยุดไม่ถอย อารมณ์ล่วงไปแล้วกี่ปีกี่เดือนนำมาขบมาคิด คิดไปเฉย ๆ โดยไม่หาเหตุหาผลกับความคิดนั้น ๆ อย่างนี้เรียกว่าไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย นอกจากจะทำตัวให้เดือดร้อนเพราะอารมณ์ที่เคยดีใจเสียใจ กลับมาเป็นเรื่องปัจจุบันเผาตัวเองอยู่ภายในจิตนี่

ตามธรรมดาของอารมณ์ที่ดีใจเสียใจซึ่งเกี่ยวกับอดีตนั้นผ่านไปแล้ว แต่นำเข้ามาคิดในเวลานั้นมันก็กลายเป็นเรื่องปัจจุบันเข้ามา แต่ไม่ใช่ปัจจุบันธรรม มันเป็นปัจจุบันของไฟเผาจิตใจแล้วร้อน

โปรดให้พากันทำความกล้าหาญต่อการปฏิบัติ อย่าท้อแท้อ่อนแอในความเพียร ซึ่งจะเป็นผลอันยิ่งใหญ่ต่อผู้บำเพ็ญจะได้รับโดยไม่ต้องสงสัย ผู้เป็นอาจารย์เมื่อเห็นลูกศิษย์ที่มาอยู่ด้วยกันมีความขยันหมั่นเพียร เข้มแข็ง องอาจกล้าหาญรื่นเริงก็รู้สึกเบาใจ ถ้าเห็นมีความอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดในหน้าที่การงาน รู้สึกไม่สบายใจเหมือนกัน เพราะลูกศิษย์กับอาจารย์แยกกันไม่ออก เกี่ยวข้องกันอยู่เช่นนี้

สอนทุกบททุกบาทนั้นได้สอนด้วยความตั้งจิตตั้งใจ สอนด้วยความสนใจ สอนเพื่อรู้เพื่อฉลาดจริง ๆ แก่ผู้มาศึกษา ไม่ได้สอนเพื่อเล่น ๆ ไม่ได้สอนเพื่ออ่อนแอ เมื่อเห็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาแสดงขึ้น จึงเป็นที่ ๑) ไม่สบายใจ ๒) รู้สึกว่าหนักใจ ว่าที่สอนไปนั้นผลที่แสดงขึ้นมานั้นไม่ตรงกับเหตุที่สอนไป กลายเป็นเรื่องอื่นขึ้นมา ถ้าเห็นลูกศิษย์ผู้มาตั้งใจอบรมศึกษามีความขยันหมั่นเพียร ทั้งกิจนอกการใน ทั้งงานส่วนรวมและงานส่วนตัวแล้ว รู้สึกว่าเบาใจสบายจิตที่เกี่ยวข้องกับหมู่คณะ นี่เรื่องของอาจารย์ต้องเป็นอย่างนี้ไม่ว่าอาจารย์องค์ไหน

ยิ่งได้ยินได้ฟังจากลูกศิษย์ที่มาเล่าเรื่องความเป็นของจิตให้ฟัง เป็นชั้น ๆ ตามกำลังแห่งความสามารถของผู้มาปฏิบัติ มีแง่ต่าง ๆ กันด้วยแล้ว ก็ยิ่งรู้สึกว่ามีความรื่นเริงบันเทิง และพออกพอใจที่จะแนะอุบายแนวทางต่าง ๆ ให้เต็มความสามารถ อย่างไม่มีปิดบังลี้ลับ เอ้า ถึงไหนถึงกัน ถ้าหากว่าไม่สามารถจะแก้อุบายความเป็นขึ้นภายในจิตของลูกศิษย์แล้ว เรายังจะสามารถส่งไปหาครูอาจารย์ที่เราเข้าใจว่าองค์ไหนท่านจะสามารถ นั่นขนาดนั้น ถ้าหากว่าสุดวิสัยกำลังของเราที่จะสอน

เพราะธรรมที่จะมาสอนนี้ไม่ใช่ธรรมขั้นเดียว ยังรอผู้สดับตรับฟังอีกด้วย การสอนทั่ว ๆ ไปในบรรดาธรรมทั้งหลายเป็นอย่างหนึ่ง การสอนลงตามจุดของผู้ที่เป็นอยู่อย่างไรภายในใจนั้น เพื่อให้ถูกกับจุดสำคัญ ๆ ในเวลาเช่นนั้นยังมีอีก ถ้าเกี่ยวข้องกับสมาธิ เป็นสมาธิประเภทใด ก็ต้องสอนแยกออกตามประเภทของสมาธินั้น ๆ เป็นปัญญาขั้นใด ก็จะต้องสอนไปตามหลักของปัญญาที่ผู้เป็นขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกัน จนสุดความสามารถของการสอน นี่พอใจที่จะสอนหมู่เพื่อนอย่างนั้นตลอดเวลา และมีความหวังอย่างยิ่งที่จะได้ยินจากผู้ปฏิบัติ ซึ่งปรากฏผลขึ้นมาอย่างนั้น ๆ ให้ได้เป็นที่รื่นเริงจิตใจ

และคำว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นี้ จะยังมีอยู่ไหมทุกวันนี้สำหรับท่านผู้ปฏิบัติ แต่ไม่ได้หมายความว่า นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ ซึ่งเป็นธรรมของพระพุทธเจ้านั้นได้สูญไปจากโลก นี่หมายถึงผู้ปฏิบัติต่างหาก ว่าจะสามารถนำธรรมบทนั้นเข้ามาเป็นสมบัติของตนได้ไหมในปัจจุบันทุกวันนี้ อยากทราบเหลือเกิน การสอนนี้สอนเพื่อนั้นทั้งนั้นไม่ได้สอนเพื่ออื่น

แล้วจะเป็นอย่างไรเมื่อเข้าถึงจุดนั้นจริง ๆ แล้ว เราจะเห็นสภาพที่เกี่ยวข้องกับเรามากี่กัปนับไม่ถ้วนเป็นอย่างไรบ้าง และเราจะเห็นสภาพของจิตของเราเองนี้เป็นอย่างไรบ้าง ตลอดถึงความรู้ความเห็นที่เป็นขึ้นภายในจิตใจมาตลอดสาย จนกระทั่งถึงขณะที่ธรรมบทนี้ได้เข้าสวมจิตจริง ๆ แล้ว มีลักษณะต่างกันอย่างไรบ้าง อยากให้ทราบอยากให้รู้ ว่ามีความแปลกจากโลกอย่างไรบ้าง แปลกจากความเป็นของจิตที่เคยเป็นมาอย่างไรบ้าง นี่เป็นหลักสำคัญ จึงขอให้พากันตั้งอกตั้งใจปฏิบัติตัวด้วยความเข้มแข็ง

ขอยุติธรรมเทศนาเพียงเท่านี้


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO