นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อาทิตย์ 28 เม.ย. 2024 12:18 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: อาทิตย์ 01 พ.ย. 2015 8:11 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4541
ความอยากเป็นเหตุแห่งความทุกข์
ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงธรรม (สิ่ง) ที่มีตัณหาเป็นมูล ๙ อย่าง.
๙ อย่าง อย่างไรเล่า ?
๙ อย่าง คือ :-
เพราะอาศัยตัณหา จึงมี การแสวงหา (ปริเยสนา);
เพราะอาศัยการแสวงหา จึงมี การได้ (ลาโภ);
เพราะอาศัยการได้ จึงมี ความปลงใจรัก (วินิจฺฉโย);
เพราะอาศัยความปลงใจรัก
จึงมี ความกำหนัดด้วยความพอใจ (ฉนฺทราโค);
เพราะอาศัยความกำหนัดด้วยความพอใจ
จึงมีความสยบมัวเมา (อชฺโฌสานํ);
เพราะอาศัยความสยบมัวเมา
จึงมี ความจับอกจับใจ (ปริคฺคโห);
เพราะอาศัยความจับอกจับใจ
จึงมี ความตระหนี่(มจฺฉริยํ);
เพราะ อาศัยความตระหนี่
จึงมี การหวงกั้น(อารกฺโข);
เพราะ อาศัยการหวงกั้น
จึงมี เรื่องราวอันเกิด จากการหวงกั้น (อารกฺขาธิกรณํ) ;
กล่าวคือ การใช้อาวุธไม่มีคม การใช้อาวุธมีคม
การทะเลาะ การแก่งแย่ง การวิวาท
การกล่าวคำหยาบว่า “มึง ! มึง !” การพูดคำส่อเสียด
และการพูดเท็จทั้งหลาย :
ธรรมอันเป็น บาปอกุศลเป็นอเนก ย่อมเกิดขึ้นพร้อม.
ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล ชื่อว่าธรรม (สิ่ง) ที่มีตัณหาเป็นมูล ๙ อย่าง.




อธิจิตตสิกขา

บทเรียนของพระพุทธเจ้า ๓ บท สีลสิกขา จิตสิกขา ปัญญาสิกขา

สีลสิกขาเป็นการเตรียมความพร้อมจัดระเบียบกายวาจา จิตตสิกขาเป็นการเตรียมความพร้อมของจิตให้พร้อมสำหรับการเจริญปัญญา เป็นการจัดระเบียบจิตใจ ก็คือเป็นการฝึกให้จิตตั้งมั่นเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน นั่นเอง

เพราะฉะนั้นเราจะต้องมาเรียนเรื่องจิตก่อนถึงจะไปเดินปัญญาได้ ถ้าไม่เรียนเรื่องจิตก่อนจะไปเดินปัญญา ก็จะเอาจิตที่ไม่มีคุณภาพไปเจริญปัญญา มันไปไม่รอดหรอก มันก็กลายไปเป็นการเพ่งรูปเพ่งนาม เพราะไม่สามารถรู้รูปรู้นามตามความเป็นจริงได้

เพราะฉะนั้นเราจะมาฝึกจิตของเรา หัดพุทโธไป หัดหายใจไป หัดดูท้องพองยุบไป อะไรก็ได้สักอย่างหนึ่งนะ หาเครื่องอยู่ให้จิตสักอย่างหนึ่งนะ ถ้าไม่มีเครื่องอยู่เลย จู่ๆจะไปดูมันเลย ดูยาก จิตมันว่องไว มันหนีเร็ว แล้วพอหนีทีหนึ่ง ถ้าไม่มีบ้านให้จิตอยู่ จะหนีนาน หลงนาน เราก็มาพุทโธ มาหายใจ มาดูท้องพองยุบ จะขยับมือทำจังหวะตามอย่างหลวงพ่อเทียนก็ได้ อะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง หรือจะอยู่กับพุทโธๆไปเรื่อยๆก็ได้ บริกรรมเอา

ให้มีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ เพื่อที่จะรู้ทันจิต ตัวนี้ตัวสำคัญ ไม่ใช่มีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่ เพื่อให้จิตสงบ แต่มีเครื่องอยู่ให้จิตอยู่เพื่อที่จะรู้ทันจิต ถึงจะเรียกว่าจิตตสิกขา มีเครื่องอยู่ให้จิตสงบจะไม่ได้เรียนเรื่องจิต ไม่ใช่จิตตสิกขาจริง

เพราะฉะนั้นเราอยู่กับพุทโธๆแล้วเราก็คอยรู้ทันจิต จิตหนีไปคิดรู้ทัน จิตหนีไปคิดรู้ทัน หรือจิตไปเพ่งจิตนิ่งๆ ก็รู้ทัน เวลาเรารู้ลมหายใจ ถ้าคนไหนถนัด รู้ลมหายใจ แต่รู้ลมหายใจเพื่อจะรู้ทันจิต ไม่ใช่เพื่อให้จิตนิ่งอยู่กับลมหายใจ รู้พุทโธก็เพื่อรู้ทันจิต ไม่ใช่ให้จิตนิ่งอยู่กับพุทโธ ดูท้องพองยุบก็เพื่อให้รู้ทันจิต ไม่ใช่ให้จิตไปนิ่งอยู่กับท้อง เดินจงกรมยกเท้าย่างเท้านะ ก็เพื่อจะรู้ทันจิต ไม่ใช่ให้จิตไปอยู่ที่เท้า ไม่ใช่ให้จิตหลงไปเพ่ง เพราะฉะนั้นการที่เราหัดกรรมฐานสักอย่างหนึ่ง มีบ้านให้จิตอยู่แล้วรู้ทันจิตอยู่เรื่อยๆ มันจะเป็นการซ้อมรู้เวลาจิตหลงไป

จิตหลงไปคิดกับจิตหลงไปเพ่ง จิตหลงมี ๒ อัน หลงไปคิดกับหลงไปเพ่ง ก็เผลอกับเพ่งเท่านั้นเอง จิตเพ่งก็ถือว่าหลงเหมือนกัน แต่หลงแบบผู้ดีหน่อย จิตหลงไปก็หลงแบบผู้ร้าย

หลวงพ่อมีหลานคนหนึ่งนะ เล็กๆ แล้วมันบอกว่า มันเห็นแล้วล่ะว่า จิตเผลอกับจิตเพ่งเนี่ย จิตเพ่งเนี่ยเป็นจิตหลงแบบมีปัญญา เด็กใช้คำอย่างนี้นะ หลงแบบฉลาด หลงแบบคนฉลาด แต่ก็ยังหลง มันเห็นอยู่แล้วแบบนี้ยังหลงอยู่

เพราะฉะนั้นเรามาคอยรู้ทันจิตที่หลงบ่อยๆ พุทโธไปจิตหนีไปคิดรู้ทัน จิตไปเพ่งจิตรู้ทัน หายใจไปจิตหนีไปคิดรู้ทัน จิตไปเพ่งลมหายใจรู้ทัน ดูท้องพองยุบนะจิตหนีไปคิดรู้ทัน จิตไปเพ่งท้องรู้ทัน เดินจงกรมยกเท้าย่างเท้าอยู่ จิตหนีไปคิดรู้ทัน จิตไปเพ่งเท้ารู้ทัน หรือเดินจงกรมแล้วรู้ร่างกายทั้งร่างกายอยู่ จิตหนีไปคิดรู้ทัน จิตเพ่งร่างกายทั้งร่างกาย ก็รู้ทันอีก จิตเผลอก็รู้ จิตเพ่งก็รู้ ฝึกซ้อมตัวนี้ให้มากเลย เป็นพื้นฐานที่สำคัญ

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช




เมื่อแยกพันธะแห่งความเกี่ยวเนื่องจิตกับสรรพสิ่งทั้งปวงแล้ว จิตก็หมดพันธะกับเรื่องโศก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จะดีหรือเลว มันขึ้นอยู่กับจิตที่ออกไปปรุงแต่งทั้งนั้น แล้วจิตที่ขาดปัญญาย่อมเข้าใจผิด เมื่อเข้าใจผิด ก็หลงอยู่ภายใต้อำนาจของเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ทั้งทางกายและทางใจ อันโทษทัณฑ์ทางกาย อาจมีคนอื่นช่วยปลดปล่อยได้บ้าง ส่วนโทษทางใจ มีกิเลสตัณหาเป็นเครื่องรึงรัดไว้นั้นต้องรู้จักปลดปล่อยตนด้วยตนเอง ฯ
"พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านพ้นแล้วจากโทษทั้งสองทางความทุกข์จึงครอบงำไม่ได้"

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล




โอวาทธรรมหลวงปู่แหวนให้ไว้กับหลวงปู่เปลี่ยน‬ "เอามันให้ได้ มรรค ผล นิพพาน มันยังมีอยู่ ไม่ได้ไปไหน ให้ทำความสะอาดทั้งกาย วาจา ใจ ทำความสะอาดตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้ให้มันสะอาด รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นธรรมอยู่ในโลก ตา หู ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นธรรม ต้องล้างให้มันสะอาด ล้างให้หมดมลทิน

อายตนะ พวกนี้ละที่มันทำให้เราเกิดอยู่ เกิดวนเวียนอยู่ในวัฏจักร วัฏวน มันอยู่ในนั้น อยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ มันติดอยู่ที่ตา ให้ล้างตา ตามันมีแล้วดูไม่เป็น มีหูแล้วมันฟังไม่เป็น จมูกมีแล้วมันดมไม่เป็น มีลิ้นแล้วกินไม่เป็น มันไปติดรสอยู่ที่ไหน แล้ว

เวลานั่งนอน มันไปติดกุฏิ มันติดอยู่อย่างนั้น มันละไม่เป็น ใจเรามันสัมผัสอารมณ์ มันเกิดขึ้น มันทุกข์มันสุข เราไม่รู้มัน ไม่รู้จักละ ไม่รู้จักทิ้ง"

"เมื่อไม่รู้จักละ มันก็วน ก็เกิดอีก ต้องทำความมืดมัวเมาให้สว่าง อย่าไปหลง โลกก็เป็นเรื่องของโลก เสียงก็เป็นเรื่องของเสียง มันดังอยู่ในโลก เครื่องสัมผัสทุกวันนี้ มันก็มีอยู่ในโลก มันจะไปไหน เวลาร้อนมันก็ร้อน เวลาเจ็บป่วยมันก็อยู่กับเรา เวลามันคันมันก็คันอยู่กับเราอยู่อย่างนี้ มันหนาวก็ต้องหนาวห่มผ้าอยู่อย่างนี้ มันอยู่ในโลก เราจะไปติดมันทำไม

ต้องละมันให้ได้นะ ถ้าละมันไม่ได้มันก็จะเกิดอีก มรรค ผล นิพพาน ยังเต็มบริบูรณ์อยู่ตลอดเวลา ไม่เสื่อมหายไปไหน ต้องเอาจริงๆ จังๆ "

ประวัติหลวงปู่เปลี่ยน ปัญญาปทีโป


สุขเกิดด้วยการไม่เป็นหนี้ใคร‬ การไม่เป็นหนี้สินใครจะทำให้อยู่เป็นสุขสบาย แต่เราต้องรู้จักจับจ่ายเงินทองได้พอดีกับฐานะของตน จึงไม่เป็นหนี้ใคร เมื่อเห็นคนเดินเข้ามาหาเรา เราก็ไม่หวั่นไหวอะไร ว่าเขาจะมาทวงถามหนี้จากเรา เมื่อเราไม่เป็นหนี้ใคร เราก็อยู่อย่างมีความสุข
พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป




เรื่อง "การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า"

(ปกิณกธรรมของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)
(จากหนังสือ รำลึกวันวาน)
(บันทึกโดย หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ)

เรื่องนี้เกิดขึ้นที่ วัดป่าอำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร มีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นผู้อุปัฏฐากใกล้ชิด ชื่อ "คำดี" ซึ่งเป็นน้องชายของ "พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร" ท่านเป็นคนช่างพูด มักถามนั่นถามนี่กับท่านพระอาจารย์ ผู้เล่าเป็นผู้ช่วยอุปัฏฐาก ไม่ค่อยพูดจา เพราะขณะนั้นยังใหม่อยู่

วันหนึ่งท่านคำดีได้พูดปรารภขึ้นว่า "ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านี้ น่าอัศจรรย์ กระผมอ่านพุทธประวัติแล้ว ขนลุกชูชัน"

ท่านพระอาจารย์ก็รับว่า "จริงอย่างนั้น อันนี้ (หมายถึงตัวท่าน) ได้พิจารณาแล้ว และได้อ่านพุทธประวัติที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรจนาไว้เป็นแบบเล่าเรียนศึกษา พระองค์ทรงได้แย้มความมหัศจรรย์เอาไว้ตั้งแต่ทรงออกผนวชครั้งแรก จนถึงวันตรัสรู้ แต่ผู้ศึกษาไม่ซึ้งถึงพระประสงค์ของพระองค์ ว่าเป็นอย่างไร" ท่านว่า

"อันนี้ได้พิจารณาแล้ว สมเด็จฯ พระองค์ท่านเป็นจอมปราชญ์แห่งยุคสองพันกว่าปี ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ไม่มีปราชญ์ใดๆ เทียม"

ท่านพระอาจารย์มั่น ยกย่องสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส องค์นี้ว่า เป็นพระสาวกผู้ทรงไว้ซึ่งจตุปฏิสัมภิทาญาณสมบูรณ์แบบ ในยุคพุทธศาสนาผ่านมาได้ ๒,๐๐๐ กว่าปี คือ พระองค์เดียวเท่านั้น

ดูท่านพระอาจารย์จะยกย่องเอามากๆ ขนาดกล่าวว่า พระองค์ทรงรจนาหลักสูตรนักธรรมบาลี ให้กุลบุตรได้รับการศึกษา จากพระไตรปิฎกไม่ผิดเพี้ยน ทั้งย่อและพิสดารได้อย่างเข้าใจ ใช้ภาษาง่ายๆ และไพเราะมาก จะเป็นปัญญาชนหรือสามัญชนอ่าน ก็เข้าใจได้ทันที

ท่านว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงพรรณนาความตอนพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา อาการของพระมหาบุรุษปรากฏว่า ขณะที่บรรดาพระสนมทรงขับกล่อม บำเรอ ไม่ทรงเพลิดเพลิน แล้วทรงบรรทมหลับไป เมื่อตื่นบรรทม ทางเห็นอาการวิปลาสของพระสนมว่า บางคนมีพิณพาดอก บางคนตกอยู่ข้างรักแร้ เปลือยกาย สยายผม บ่นเพ้อพึมพำ น้ำลายไหล ปรากฏในพระหฤทัย เหมือนซากศพผีดิบในป่าช้า

พระอาจารย์มั่นท่านว่าขณะนั้นพระหฤทัยของพระองค์ พิจารณากิจในอริยสัจ ๔ อย่าง พระองค์ทรงแสดงไว้ว่า สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ จิตของพระองค์ก็ก้าวเข้าสู่อริยมรรค ต่อมาภายหลังทรงบัญญัติเรียกว่า อริยโสดาบันจึงตัดสินพระทัยว่า เราอยู่ที่นี่ไม่ได้แล้ว จึงเสด็จออกผนวชในคืนนั้น ต่อจากนั้นก็เสด็จเข้าสู่มคธรัฐ เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป

ท่านพระอาจารย์มั่นเล่าว่า ตอนไปทรงศึกษากับดาบสทั้งสองนั้น จิตของพระองค์ก็บรรลุมรรคที่สอง คือ "สกิทาคามี"

ผู้เล่าสงสัยขึ้นในใจว่า แล้วอย่างนั้นการบรรลุธรรมครั้งที่สองของพระพุทธเจ้า จะไม่สมกับคำว่า "ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง" ดอกหรือ แต่ไม่ทันได้เรียนถาม ท่านแถลงก่อนว่า

"ดาบสทั้งสองได้ฌานสมาบัติ ๗-๘ อรูปพรหมเท่านั้น แต่ท่านทั้งสองขาดวิปัสสนา ปัญญาญาณ ซึ่งไม่ใช่สิ่งอัศจรรย์สำหรับพระองค์ จึงเป็นครูของพระองค์ไม่ได้" ท่านพระอาจารย์ว่าอย่างนี้

ท่านพรรณนาถึงพุทธประวัติไว้หลายวาระ จะนำมากล่าวสักสองวาระ พระอาจารย์มักพูดพลางหัวเราะด้วยความชอบใจ ในพระดำรัสของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่า ทรงกดพระตาลุด้วยพระชิวหา เมื่อลมอัสสาสะ ปัสสาสะ เดินไม่สะดวก ก็เกิดเสียงดังอู้ในช่องพระกรรณทั้งสอง ทำให้เกิดทุกขเวทนากล้าจนปวดพระเศียร เสียดในพระอุทร ร้อนในพระวรกายเป็นกำลัง ก็ยังไม่สามารถจะตรัสรู้ได้ จึงทรงเปลี่ยนวาระใหม่ โดยผ่อนพระกระยาหารลงจนไม่เสวยเลย จนพระวรกายผอมโซ ซูบซีด ขุมเส้นพระโลมาเน่า ทรงลูบเส้นพระโลมาก็หลุด เพราะขุมขนเน่า มีกำลังน้อย ทรงดำเนินไปมาก็เซล้ม มีผิวดำคล้ำ จนมหาชนพากันโจษขานกันไปต่างๆ นานา
ก่อนท่านจะพูดต่อ ก็มีอาการยิ้ม หัวเราะ ออกเสียงพอเหมาะ ดูคล้ายท่านจะพอใจในพระดำรัสของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ว่า

"มหาชนบางพวกพอเห็นก็กล่าวขวัญกัน ว่าทรงดำไปบ้าง บางพวกกล่าวว่าไม่ใช่ดำ คล้ำไปบ้าง บางพวกกล่าวว่า ไม่ใช่คล้ำ พร้อยไปบ้าง อย่างนี้ จนเหลือกำลังที่บุรุษไหนจะทำได้ แต่ก็ไม่ได้ตรัสรู้ จึงได้อุปมา ๔ ข้อ ในพระหฤทัย ทรงเสวยพระกระยาหาร ทรงมีกำลัง"

ท่านพระอาจารย์ว่า ตอนพระองค์ทรงเริ่มวิปัสสนาญาณ เป็นคำรบสาม พระหฤทัยของพระองค์ก็ทรงกระทำญาณ ๓ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณ เหมือนสองวาระแรก จิตของพระองค์ก็ก้าวเข้าสู่มรรคที่สาม คือ "อนาคามีมรรค" ท่านเล่าว่า มหาบุรุษอย่างพระองค์ ทรงกระทำอะไรไม่สูญเปล่า
อา....เรื่องสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณนี้ ท่านอธิบายได้ละเอียดวิจิตรพิสดาร มาเชื่อมโยงตั้งแต่ เอเต เต ภิกขเวฯ มัชฌิมา ปฏิปทา ฯ ลฯ จนถึง ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธ ธัมมันติ ถึง อัญญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ

พระมหาบุรุษอย่างเจ้าชายสิทธัตถะ พระบารมีของพระองค์ทรงบำเพ็ญมาพอแล้ว ด้านปัญจวัคคีย์ก็เบื่อหน่าย หนีจากพระองค์ไป ความวิเวกก็เกิดขึ้น วันเพ็ญ เดือน ๖ แห่งฤกษ์วิสาขะก็มาถึง นางสุชาดาจะแก้บน จึงถวายข้าวมธุปายาสในภาชนะซึ่งเป็นถาดทองคำ เพื่อให้มั่นพระทัย พระองค์จึงอธิษฐานลอยถาดทองคำในแม่น้ำเนรัญชราว่า
"ถ้าจะได้ตรัสรู้ในวันนี้ ขอให้ถาดนี้จงลอยทวนกระแสน้ำ"

คำข้าวมธุปายาสก็มี ๔๙ คำพอดี พอจะรักษาพระวรกายของพระองค์ไปได้ตลอด ๔๙ วัน ท่านพูดอย่างนี้ เมื่อความพร้อมทุกอย่าง ความตรัสรู้ของพระองค์เป็นสัพพัญญุตัญญาณ อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ก็เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖ นี้แล โดยไม่มีใครมาแสดงอ้างว่าเป็นครูหรือเป็นศาสดาของพระองค์เลย

ท่านพระอาจารย์มั่นบอกว่า

"จู่ๆ มาถึงวันนั้น จะมาตรัสรู้เลยทีเดียวไม่ได้ พระองค์ได้พื้นฐานหลักประกันความมั่นคงแล้ว ตั้งแต่อยู่ในปราสาท วันเสด็จออกผนวชนั้นแล มิฉะนั้น เมื่อพระองค์ทรงกระทบกระทั่งต่อสัญญาอารมณ์ต่างๆ ในระหว่างทรงบำเพ็ญเพียร คงถอยหลังกลับไปเสวยราชสมบัติอีก เพราะเบื้องหลังของพระองค์ก็พร้อมอยู่ จึงถอยไม่ได้ เพราะมีหลักประกันแล้ว"ท่านอธิบายจนจบ

ผู้เล่าเฉลียวใจว่า "ถ้าอย่างนั้น ยสกุลบุตร ก็คงสำเร็จมาจากปราสาทล่ะสิ" "ยสกุลบุตร เป็นไปไม่ได้ เพราะวิสัยอนุพุทธะ ต้องฟังก่อนจึงจะรู้ได้ ไม่เหมือนสัมพุทธะอย่างพระพุทธเจ้า"

แล้วท่านยังเตือนผู้เล่าว่า "ปฏิบัติไปหากมีอะไรเกิดขึ้น จงใช้สติกับปัญญา สติกับปัญญา สติกับปัญญา" ย้ำถึง ๓ ครั้ง

"รับรองว่าไม่ผิดแน่ เพราะทุกวันนี้มีแต่ครูคือ พระธรรมวินัย ขาดครูคือ เจ้าของพระธรรมวินัย คือ บรมครู" ท่านว่าอย่างนี้



พวกโยมเห็นนักโทษที่มีอยู่มากมายในบ้านเราไหม‬ พวกเขาแขวนพระเครื่องกันมาก แต่ไม่มีใครปฏิบัติตนให้อยู่ในธรรม เมื่อไปทำอะไรที่ไม่ดี พระท่านก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้ปฏิบัตินั่นเอง และอาตมาอยากย้ำว่า ถ้าเรารักษาตนด้วยธรรมะได้ก็ไม่จำเป็นต้องแขวนพระ ดูซิอาตมาเองยังไม่แขวนพระสักองค์(หัวเราะด้วยรอย
ยิ้ม)

(ของขลัง) ไอ้ที่ว่านี้ มันก็เกิดจากพลังจิต พระคาถาที่มีพระเกจิอาจารย์
ทำการปลุกเสกลงไป ความขลังไม่ขลังจึงเกิดจากพระเกจิอาจารย์ได้ทำการอธิฐานประกอบเข้าไป เขาถึงได้เรียกกันว่าสมาธิพลังจิตอย่างหนึ่ง ใครที่นำเอาวัตถุมงคลนี้ไปใช้ไม่ดีก็เป็นบาป ใครเอาไปใช้ทางที่ดีก็เป็นประโยชน์

พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป



"..ใครจะว่าอย่างไรไม่ทราบ อาตมาคิดว่าใครไม่ดีใครมันโง่ก็จะพูดภาษาธรรมะไม่ได้ คนที่ไม่รู้จักรักษาศีลปฏิบัติธรรมชีวิตนี้เขาก็จะไม่มีความสุข อาตมาคิดว่าถ้าใครได้ลองปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจังแล้วชีวิตพวกเขาก็จะมีความสุข ใครฉลาดหรือโง่ก็ต้องเลือกกันเอาเอง.."
พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป


‎ก็เพราะคนเราเกิดขึ้นมานั้น‬ ไม่ใช่พวกเราจะเสียสละละกิเลสให้หมดไปได้ง่ายๆ เพราะกิเลสทั้งหลายนั้น เขานอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานของพวกเรามาหลายภพหลายชาติแล้ว เขาครอบงำย่ำยีมาหลายภพหลายชาติแล้ว แต่พวกเราก็ไม่สามารถที่จะแกะหรือสำรอก หรือลดละปล่อยวางกิเลสออกไปได้หมด พวกเราจึงพากันเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสารตามฐานะของตน

เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้ การที่ขัดเกลากิเลสของพวกเรามาแต่ชาติอดีตที่ผ่านมานั้น ใครจะขัดเกลาได้มากน้อยเท่าไร บุคคลใดขัดเกลาได้มาก เมื่อมาเกิดในชาตินี้กิเลสก็เบาบางจากจิตใจ บุคคลใดขัดเกลากิเลสได้น้อย กิเลสก็ยังมืดมน บุคคลใดไม่ได้ขัดเกลากิเลสเลย จึงมืดมนไม่รู้จักบุญบาป ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จิตของบุคคลเป็นคนใจดำอำมหิตทั้งหลายอยู่ในปัจจุบันนี้ มันจึงมีหลายระดับ หลายขั้นหลายตอน
พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป


ขอเชิญร่วมบุญกฐินสามัคคี ณ วัดหนองไคร้ ตำบลหนองหิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร (หลวงปู่ประสาร สุมโน) ในวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน 2558 เวลา 10.30 น.



ขอเชิญร่วมพิธีเททองหล่อหลวงพ่อปานองค์ใหญ่ 9.9 เมตร 15 พ.ย.58 เวลา 17.00 น. ทอดกฐินเวลา 10.30 น.ณ.วัดปานประสิทธาราม-วัดปีกกา


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO