นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน เสาร์ 27 เม.ย. 2024 10:57 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: มรณานุสติ
โพสต์โพสต์แล้ว: จันทร์ 31 ส.ค. 2015 5:18 pm 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4541
ศึกษาธรรมอยู่กับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
----------------------------------
ท่านพระอาจารย์ทองพูล เคยไปปฏิบัติธรรม อยู่ที่ถ้ำขาม อยู่หลายครั้งด้วยกัน ในครั้งแรกนั้น หลวงปู่สีโห เขมโก ได้พาลูกศิษย์ ไปกราบคารวะหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่ถ้ำขาม เมื่อไปถึง หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ก็ได้ให้ปฏิบัติอย่างหนัก คือ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ฟังอุบายธรรม ตลอดถึงข้อวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเลยทีเดียว องค์ท่านเอาจริงเอาจังหลายปี พิจารณาตน จนเห็นชัดว่า นี่คือรังของโรค
เพราะเหตุนี้เองที่ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จึงได้พยายามสั่งสอนลูกศิษย์ทั้งหลายให้เอากายนี้แหละ มาพิจารณา มองกายของเราแล้ว กายคนอื่นก็รู้หมด เกิดเบื่อหน่าย คลายความกำหนัด

ในขณะที่ฟังการอบรมกรรมฐานจากหลวงปู่ฝั้น อาจาโรอยู่นั้น จิตใจของอาตมา เกิดความสงบนิ่ง เยือกเย็นเหลือจะกล่าว มันมีความสุข จิตใจเบาโปร่งไปหมด เลยได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า
“..ขอให้ข้าพเจ้า จงพ้นเสียจากความทุกข์โดยเร็วไว ในชีวิตนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขออย่าได้มีอุปสรรคมาขัดขวางทางดำเนินมรรคผลของข้าพเจ้าเลย..”


หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม
------------------------------
“..การพิจารณามรณานุสติ เมื่อเราได้รับความวิเวกก็ย่อมปรากฏความตายในตัวของเรา

ตายก็มี ๒ อย่าง ตายอย่างเปิดเผย ก็เช่น ญาติพี่น้องเราตาย บิดามารดาเราตาย เพื่อนใกล้บ้านเราตาย

ตายอย่างปกปิด หมายถึง ตายวันตายเดือนตายปี เช่น วันนี้ก็ตายจากเราไปแล้ว พรุ่งนี้ก็เหมือนเกิดใหม่ สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปอย่างนี้ เรียกว่าตายปีตายเดือนตายวัน ความคร่ำคร่าความชราของเราสะกดรอยตามเรามาทุกนาทีทุกวันทุกคืน อันนี้เรียกตายอย่างปกปิด

ถ้าเราระลึกถึงความตาย ยอกย้อนกลับไปกลับมา เราจะได้เห็นความจริงว่า ตายปกปิดตายเปิดเผยจะได้แจ่มแจ้งทางใจของเรา ลดทิฏฐิมานะว่ากายนี้เป็นของเรา กายเป็นของจีรังยั่งยืนจะได้ลดความเห็นนั้นออก อันนี้เรียกว่า มรณานุสติ เป็นอารมณ์เพื่อกำจัด ราคะ โทสะ โมหะ ออกจากใจของเรา..”



หลวงตามหาบัว.. ‪#‎จิตวุ่นวาย‬
------------------------
จิตวุ่นวาย
คนที่มีนิสัยวาสนาพร้อมแล้ว คือจำพวก “อุคฆฏิตัญญู” เช่นพระยสกุลบุตร และพระสารีบุตร พระโมคคัลลาน์ เป็นต้น นี่คือท่านผู้ที่เป็น “อุคฆฏิตัญญู” ซึ่งคอยจะรู้จะเข้าใจในธรรม และบรรลุมรรคผลนิพพานได้อย่างรวดเร็วกว่าทุกๆ จำพวกที่เป็นเวไนยชน ที่ควรจะรู้หรือบรรลุธรรมตามศาสนธรรม
พระยสกุลบุตร อยู่ในบ้านอยู่ไม่ได้ เมื่อถึงกาลแล้วบ่นว่า “วุ่นวายๆ,ขัดข้องๆ” จนถึงกับออกจากบ้านหนีไปในเวลาเช้าตรู่ โดยไม่มีจุดหมายปลายทางว่าจะกลับมาอยู่บ้านอีกหรือไม่กลับ เพราะความขัดข้องวุ่นวายภายในใจ พอดีไปพบพระพุทธเจ้าซึ่งกำลังทรงจงกรมอยู่ข้างทางที่พระยสกุลบุตรเดินผ่านไป พระองค์จึงรับสั่งว่า “มาที่นี่ ที่นี่ไม่ยุ่งไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ที่นี่แสนสบาย เธอจงเข้ามาหาเราที่นี่”
พระยสกุลบุตรเข้าไป ก็ประทานพระโอวาท จนสำเร็จมรรคผลขึ้นในขณะนั้นอย่างรวดเร็ว
ถ้าอย่างนี้ก็เหมือนง่ายๆ ง่ายนิดเดียว และง่ายจนอาจลืมความทุกข์ความลำบากของผู้เป็นศาสดา ซึ่งได้สลบไสลไปถึงสามครั้ง ก่อนได้ตรัสรู้ธรรมนำมาสอนโลกที่มีนิสัยมักง่ายเป็นเจ้าเรือน พระยสกุลบุตรนั้นเหมือนกับคนเป็นโรคซึ่งคอยรับยาอยู่แล้ว ยาก็พร้อมที่จะยังโรคให้หายอยู่ด้วย พอรับประทานยาเข้าไป โรคก็หายวันหายคืนและระงับดับไปโดยลำดับจนหายขาด ไม่ยากอะไรเลย! ถ้าเป็นอย่างนี้หมอก็ไม่ต้องเรียนมากมายนัก คนไข้ก็ไม่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อนและทรมานไปนาน พอเป็นขึ้นหมอให้รับประทานยาก็หายไปเลย
นี่ถ้าเราพูดขั้นง่ายก็เป็นอย่างนี้ แต่พึงทราบในหลายแง่ของโรคที่เกิดและฝังกายฝังใจในมวลสัตว์ ว่ามีประเภทต่างๆ กัน ทั้งรักษายากทั้งรักษาง่าย เพราะมิใช่โรคหวัดแต่อย่างเดียว พอจะนัดยาแล้วก็หายไปเลยอย่างนั้น
อีกขั้นหนึ่งก็หนักลงไปกว่านี้ หนักลงไปเป็นขั้นๆ จนถึงขนาดที่กิเลสไม่ฟังเสียงธรรม โรคไม่ฟังยา ธรรมจะดี ยาจะดีวิเศษวิโส พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ และหมอ จะมีความรู้ดีเชี่ยวชาญฉลาดขนาดไหน มันก็เข้ากันไม่ได้กับกิเลสและโรคชนิดไม่รับยารับธรรม สุดท้ายก็ต้องปล่อยไปตามบุญตามกรรมไม่มีใครช่วยไว้ได้ นอกจาก “กุสลา ธมฺมา” ที่เชื่อถือกันว่ารับได้ทั้งคนตายคนเป็นไม่เลือกหน้า จนพระที่มุ่งต่อ “ธรรมาภิสมัย” ยุ่งแทบเป็นแทบตายเพราะหาเวลาบำเพ็ญ ไม่ยุ่งกับ กุสลา ธมฺมา มาติกาบังสุกุล แทบเป็นลมตาย
จิตของสัตว์โลกที่มีกิเลสเครื่องวุ่นวายสับสน ก็มักเป็นกันอย่างนี้แต่ไหนแต่ไรมาตำหนิกันไม่ลง เพราะต่างคนต่างมี
โรคที่คอยรับยาคือธรรมอยู่แล้ว เช่นประเภท “อุคฆฏิตัญญู” ถัดลงมาคือ “วิปจิตัญญู” และถัดลงมาประเภท “เนยยะ” ที่พอแนะนำสั่งสอนหรือพอฉุดลากกันไปได้ ดังเราทั้งหลายที่ได้พากันอุตส่าห์พยายามตะเกียกตะกายด้วยวิธีต่างๆ หลายครั้งหลายหน บำเพ็ญและฟังการอบรมซ้ำๆ ซากๆ ไม่ลดละท้อถอย ธรรมก็ค่อยๆ หยั่งเข้าถึงใจ ๆ เมื่อรับธรรมด้วยการปฏิบัติบำเพ็ญไม่หยุดไม่ถอย ธรรมก็เข้าถึงใจและหล่อเลี้ยงใจให้ชุ่มชื่นเบิกบานด้วยคุณธรรมในอิริยาบถต่างๆ กิเลสทั้งหลายภายในใจที่เคยหนาแน่น ก็ค่อยๆ จางออกไป เบาบางลงไป ใจค่อยดีดตัวขึ้นสู่ธรรม นำความสุขเข้าไปหล่อเลี้ยงน้ำใจไม่ขาดสาย ราวกับน้ำซับน้ำซึมไหลรินเย็นฉ่ำอยู่ตลอดเวลา ความหวังทั้งหลายก็ค่อยเต็มตื้นขึ้นมาเรื่อยๆ
ความจริงธรรมมีมากเพียงไร อำนาจใจก็มีมาก กิเลสก็มีอำนาจน้อยลง ถ้าธรรมไม่มีเลย กิเลสก็มีอำนาจเต็มที่ อยากแสดงอำนาจอย่างไรก็แสดงออกมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ความเดือดร้อนจึงมีมาก เพราะกิเลสมีมากและมีอำนาจมาก ก่อความเดือดร้อนให้แก่โลกได้มาก เมื่อธรรมแทรกซึมเข้าถึงใจมากน้อย กิเลสก็ค่อยอ่อนกำลังลงไป ธรรมก็มีอำนาจมากขึ้นไปโดยลำดับๆ
ฉะนั้นการปฏิบัติธรรมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะพยายามให้ธรรมเข้าสู่ใจอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดๆ ควรมีธรรมเป็นสรณะ เป็นที่ยึดเหนี่ยวใจอยู่เสมอ เพราะกิเลสไม่ได้มีกาล ไม่มีสถานที่ เวล่ำเวลา อดีต อนาคต ไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งใดทั้งสิ้น แต่ขึ้นอยู่กับการผลิตการกระทำของมันเท่านั้น อยู่ไหนกิเลสก็สร้างตัวให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงบนหัวใจของสัตว์โลกไม่เว้นวันเวลาเลย กิเลสจึงไม่มีขาดแคลนบนหัวใจสัตว์แต่ไหนแต่ไรมา
ถ้าเราไม่ระมัดระวังตัว มันต้องผลิตผลออกมาเรื่อยๆ ให้ได้รับความทุกข์ความลำบากไม่มีสิ้นสุดจุดหมายปลายทางเลย ความหวังในสิ่งที่พึงใจของสัตว์โลก ก็มีแต่นับวันเลือนรางหายไป เพราะกิเลสที่ตนผลิตขึ้นลบล้างไปเสียหมด
การสั่งสมธรรม การประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งเป็นคู่แข่งหรือเครื่องปราบปรามกิเลส จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเราผู้มีความหวังประจำใจ และต้องการความสงบร่มเย็นเป็นมิ่งขวัญของใจ ตลอดหน้าที่การงานที่เป็นไปเพื่อความราบรื่นดีงามสม่ำเสมอและผลที่พึงพอใจ ต้องอาศัยการอบรมการประพฤติปฏิบัติทางด้านศีลธรรม เมื่อธรรมเข้าสู่จิตใจมากน้อย ใจก็ค่อยๆ เกิดความยิ้มแย้มแจ่มใส มีรัศมีแพรวพราว เพราะมีความสงบร่มเย็นภายในตัวเป็นพื้นฐานแห่งธรรม พร้อมกับเห็นคุณค่าแห่งใจและคุณค่าแห่งความพากเพียรไปโดยลำดับ ธรรมเป็นสมบัติที่จำเป็นสำหรับผู้ต้องการความสุขความเจริญทั้งภายในและภายนอกโดยทั่วกัน จึงควรอบรมศีลธรรมให้มีขึ้นภายในจิตใจอย่าได้ลดละปล่อยวาง แม้จะยากแสนยาก ลำบากกายใจเพียงไร ก็ควรทำความดีเป็นคู่เคียงกันไป จะเป็นผู้สมหวังทั้งเบื้องหลังเบื้องหน้า ไม่ขาดทุนสูญดอกไปเปล่าจากความเป็นมนุษย์
ความยากลำบากเราไม่ต้องยึดมาเป็นอุปสรรค ที่เคยได้อธิบายมาหลายครั้งหลายหนแล้ว การแก้กิเลสจะไม่ยากได้อย่างไร เพราะกิเลสมันก่อตัวและแสนเหนียวแน่นมาแต่เมื่อไรไม่มีใครทราบได้เลย และไม่ทราบจนกระทั่งปู่ย่าตายายของมันคืออะไร โคตรแซ่ของกิเลสคืออะไร ไม่ทราบได้เลย ทราบได้แต่เพียงว่า มันเป็นโคตรแซ่ที่เหนียวแน่นแสนเอาเปรียบสัตว์โลกมาเป็นประจำ ไม่ยอมเสียเปรียบใครอย่างง่ายๆ เลยแต่ไหนแต่ไรมาเท่านั้น ฉะนั้นจงพากันผูกอาฆาตมันให้ถึงใจทีเดียว
เราจะทำลายกิเลสซึ่งฝังรากฐานลงอย่างลึกทะลุขั้วหัวใจ จะทำลายเอาอย่างใจคิดใจหวัง ให้ง่ายอย่างปอกกล้วยมันเป็นไปไม่ได้ เพราะกิเลสไม่ใช่กล้วยพอที่จะปอกแล้วเอามารับประทานเลยอย่างนั้นได้ ผู้ปฏิบัติธรรมจึงต้องเป็นผู้มีหลักใจแน่นหนามั่นคง มีความมุ่งมั่นเป็นต้น นี่คือคนมีหลักใจหรือใจมีหลัก ใจหนักแน่น พูดง่ายๆ มีเหตุมีผลประจำใจเสมอ เป็นเครื่องบังคับให้ใจดำเนินตาม หรือเดินตามเหตุผลที่พิจารณาเห็นว่าถูกต้องแล้วนั้นๆ เมื่อใจดำเนินตามหลักของเหตุผลอยู่โดยสม่ำเสมอ ความเคยชินของใจก็มีด้วย สิ่งที่จะมาก่อกวนจิตใจให้ได้รับความทุกข์ความลำบาก ก็จะมีน้อยลงเป็นลำดับด้วย ไม่กำเริบเสิบสานดังที่มันมีอำนาจสังหารโลกให้ย่อยยับทางจิตใจ และศีลธรรมอยู่ในท่ามกลางที่ใครๆ ก็ว่า “โลกเจริญๆ” อยู่เวลานี้แบบไม่ลืมหูลืมตา ดังผู้เทศน์อยู่เวลานี้เองซึ่งกำลังมืดบอดเต็มที่
นี่แหละที่ท่านสอนให้ไปอยู่ป่า หาที่สงบสงัดดังที่พระท่านอยู่กันเรื่อยมา เช่นพระในครั้งพุทธกาลมีจำนวนมากมายที่มุ่งต่อแดนพ้นทุกข์ ได้ประพฤติปฏิบัติตนด้วยวิธีที่ได้กล่าวมานี้ องค์นั้นสำเร็จมรรคผลอยู่ที่ป่านั้น องค์นี้บรรลุธรรมอยู่ที่ภูเขาลูกนั้นเรื่อยมาโดยลำดับ ข่าวของท่านมีแต่ข่าวดีวิเศษวิโส บทข่าวของเรามีแต่ความโลภโกรธหลงเต็มตัว แทบเคลื่อนย้ายตัวไปไม่ได้ เพราะมันหนักสิ่งเหล่านี้เหลือประมาณเกินกว่าจะหาบหามไปได้
ถ้าดูเผินๆ แบบคนขี้เกียจทั้งหลายสมัยจรวดดาวเทียม ก็เหมือนท่านล้างมือเปิบเอา ๆ ง่ายเหลือเชื่อ ของคนสมัยที่ไม่อยากเชื่อใคร นอกจากเชื่อตัวผู้เดียวที่กำลังจะพาจมลงเหวลึกทั้งเป็นๆ อยู่ทุกขณะไม่มีขอบเขตอยู่แล้ว แต่เหตุคือการบำเพ็ญของท่าน ท่านสละเป็นสละตายมาแทบทุกองค์ ไม่ว่าจะออกมาจากสกุลใดๆ เมื่อได้มุ่งหน้ามาประพฤติปฏิบัติธรรม ด้วยความเชื่อความเลื่อมใสต่อพระโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ต้องเป็นผู้เปลี่ยนเครื่องแบบใหม่เสียทั้งหมด จริตนิสัยใจคอที่เคยเป็นอะไรบ้าง ซึ่งไม่ดีไม่งามมาแต่ก่อน ท่านพยายามสลัดปัดทิ้งหมด เหลือแต่นิสัยดีประจำเพศความเป็นนักบวช ที่กล้าหาญต่อความเพียรเพื่อแดนพ้นทุกข์โดยถ่ายเดียว ท่านพยายามดำเนินตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเท่านั้น
เอ้า! หนักก็หนัก,เป็นก็เป็น, ตายก็ตาย, อดก็ยอมอด อิ่มก็ยอมรับว่าอิ่ม ขอให้ได้บำเพ็ญธรรมเพื่อความพ้นทุกข์สมความมุ่งหมายก็เป็นที่พอใจแล้ว สาวกท่านดำเนินอย่างนี้ แล้วก็ถ่ายทอดข้อปฏิบัติปฏิปทาเครื่องดำเนินอันดีงามนั้นมาจนถึงพวกเรา ซึ่งเป็นปฏิปทาที่ราบรื่นดีงามสม่ำเสมอควรแก่มรรคผลนิพพาน และเป็นปฏิปทาที่สามารถแก้กิเลส ถอดถอนกิเลสทุกประเภทออกจากใจได้โดยสิ้นเชิงไม่สงสัย ไม่ว่ากาลใดสมัยใด เมื่อผู้ปฏิบัติตามหลักธรรมที่พระองค์ทรงสอนไว้แล้ว ต้องได้ผลเป็นที่พอใจโดยลำดับทุกยุคทุกสมัย เพราะ “สวากขาตธรรม” ไม่ขึ้นกับโลกกับสมัย แต่ขึ้นกับความจริงอย่างเดียว
คำว่า “ที่นั่นวุ่นวาย ที่นี่วุ่นวาย” จะหมายถึงอะไร? ถ้าไม่หมายถึงใจตัวก่อเหตุนี้เท่านั้นพาให้เป็นไปต่างหาก สถานที่เขาไม่ได้วุ่นวาย นอกจากใจเป็นผู้วุ่นวายแต่ผู้เดียว ดินฟ้าอากาศเขาไม่ได้ว่าเขาเป็นทุกข์เป็นร้อนและวุ่นวายอะไร ถ้าดูแบบนักปฏิบัติธรรมเพื่อธรรมอย่างจริงใจ จะเห็นแต่ใจดวงเดียวนี้เท่านั้นดิ้นรนวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา ยิ่งกว่าหางจิ้งเหลนขาด (หางจิ้งเหลนขาดมันดิ้นริดๆ) สถานที่ใดก็เป็นสถานที่นั้นอยู่ตามสภาพของเขา ผู้ที่วุ่นวายก็คือหัวใจที่เต็มไปด้วยกิเลสเครื่องก่อกวนให้วุ่นวายนั้นเอง ขึ้นชื่อว่า “กิเลส” แล้ว ทุกประเภทต้องทำคนและสัตว์ให้อยู่เป็นปกติสุขได้ยาก ต้องลุกลี้ลุกลนกระวนกระวายส่ายแส่ไปตามความผลักดันของมันมากน้อยอยู่นั่นเอง
ที่พระพุทธเจ้าท่านว่า “จงมาสู่สถานที่นี้ ที่นี่ไม่วุ่นวาย!” คือพระองค์ไม่วุ่นวาย พระองค์ได้ชำระความวุ่นวายหมดแล้ว บรรดาสิ่งที่ทำให้วุ่นวายภายในพระทัยไม่มีเหลือแล้ว สถานที่นี้จึงไม่วุ่นวายไม่ขัดข้อง
“ยสกุลบุตร” ถ้าพูดถึงชื่อ ก็ว่า “ยส” เข้ามานี่ ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง ที่นี่ไม่เศร้าหมองขุ่นมัวไปด้วยตมด้วยโคลนคือกิเลสโสมมต่างๆ แต่ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าจะทรงทราบชื่อทราบนามของเขาหรือไม่ก็ตาม ก็หมายเอาผู้นั้นนั่นแหละ เมื่อเราทราบชื่อของท่านแล้วก็ถือเอาความว่า สถานที่นั้นก็คือสถานที่บำเพ็ญเพื่อความไม่วุ่นวายนั่นเอง สถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่เวลานั้น ก็เป็นสถานที่ที่ฆ่ากิเลส ทำลายกิเลสทั้งมวล ไม่ใช่เป็นที่สั่งสมกิเลส เป็นสถานที่ไม่วุ่นวายกับอะไรบรรดาข้าศึกเครื่องก่อกวน จึงทรงเรียกพระยสเข้ามาว่า
“มาที่นี่ ที่นี้ไม่ยุ่งเหยิง ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่เดือดร้อน” ที่นี่เป็นที่อบรมสั่งสอนธรรมเพื่อแก้ความเดือดร้อนวุ่นวายภายในใจโดยตรง จนยสกุลบุตรได้บรรลุธรรมเป็นที่พอใจในที่นั้น
ที่นั้นควรเป็นเครื่องระลึก ให้เราทั้งหลายได้คิดถึงเรื่องความวุ่นวายว่า มันอยู่ในสถานที่ใดกันแน่? ถ้าไม่อยู่ในหัวใจนี้ไม่มีในที่อื่นใด เมื่อความวุ่นวายที่ก่อกวนอยู่ภายในใจระงับดับลงไปแล้ว ด้วยความประพฤติปฏิบัติธรรมในสถานที่อันเหมาะสม ความสงบเย็นใจก็เกิดขึ้น ไปที่ใดอยู่ที่ใดก็ไม่วุ่นวาย เมื่อหัวใจไม่วุ่นวายเสียอย่างเดียว อยู่ที่ไหนก็อยู่เถอะไม่วุ่นวายทั้งสิ้น สบายไปหมด! จะอดบ้างอิ่มบ้างก็สบาย เพราะใจอิ่มธรรม ไม่หิวโหยในอารมณ์เครื่องก่อกวนให้วุ่นวาย เราสังเกตดูเผินๆ ก็ พอทราบได้ ด้วยอาการที่แสดงออกของสัตว์และบุคคล ในเวลามีความทุกข์เข้าทับถมมากน้อย เฉพาะอย่างยิ่งขณะจะตายสัตว์จะดิ้นรน คนจะอยู่เป็นปกติสุขไม่ได้ ต้องกระวนกระวายทิ้งเนื้อทิ้งตัว จนไม่มีสติประคองใจ กระทั่งตายไป
ฉะนั้นจึงมีใจดวงเดียวเป็นตัวก่อเหตุให้เกิดความวุ่นวาย แต่ใจนั้นมีสิ่งที่พาให้ก่อเหตุ ไม่ใช่เฉพาะใจเฉยๆ จะก่อเหตุขึ้นมาอย่างดื้อๆ สิ่งที่แทรกสิงอยู่นั้นคือสิ่งวุ่นวายหรือตัววุ่นวาย เมื่อเข้าไปสิงในจิตใจของผู้ใด ผู้นั้นก็ต้องวุ่นวายไปด้วยมัน การแก้กิเลสคือธรรมชาติที่ทำให้วุ่นวายนี้ จึงแก้ลงที่ใจด้วยข้อปฏิบัติ เช่น ท่านสอนให้กำหนด “พุทโธ,ธัมโม,สังโฆ” เป็นเครื่องบริกรรม หรือกำหนด “อานาปานสติ” เป็นอารมณ์ เพื่อใจได้รับความสงบระงับในขั้นเริ่มแรก ซึ่งเป็นธรรมเครื่องระงับความวุ่นวาย ต่อไปก็ตามดูใจว่ามันวุ่นวายกับเรื่องอะไร? นี่คือขั้นเริ่มแรกที่ปัญญาจะเริ่มออกก้าวเดินเพื่อค้นหาสาเหตุ คือตัวกิเลสที่ทำให้ใจวุ่นวายไม่หยุดหย่อน จนกว่าจะรู้เรื่องของมันไปโดยลำดับ ไม่ยอมถอยทัพกลับแพ้ข้าศึก ตัวแทรกซึมก่อกวนที่แอบซ่อนอยู่ภายในจิต
เช่นใจวุ่นวายกับเรื่องรูป รส กลิ่น เสียง เครื่องสัมผัส ซึ่งเข้าใจว่าอันนั้นดี อันนี้ชั่ว อันนั้นเป็นอย่างนั้น อันนี้เป็นอย่างนี้ ด้วยความสำคัญต่างๆ ปัญญา พิจารณาคลี่คลายดูให้เห็นตามความเป็นจริงในสิ่งนั้นๆ แล้วย้อนเข้ามาดูจิตใจผู้มีความสำคัญมั่นหมายในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ จนเกิดความวุ่นวายขึ้นภายในตัว ให้เห็นชัดเจนทั้งภายในภายนอก ใจก็สงบระงับลงไปได้ เป็นอรรถเป็นธรรม พอมีที่ผ่อนคลายหายทุกข์ไปได้ไม่รุนแรง
การแก้ความวุ่นวายแก้ตรงที่ความวุ่นวายมีอยู่ คือใจนี่เอง แก้ไม่หยุดไม่ถอย ใจจะฝืนเราไปที่ไหน จะต้องสงบระงับความกำเริบลงจนได้ไม่เหนือธรรมเครื่องฝึกทรมานไปได้ ปราชญ์ท่านเคยฝึกทรมานจนเห็นผลมาแล้ว จึงได้นำอุบายวิธีนั้นๆ มาสอนสัตว์โลกเช่นพวกเรา ชาวปฏิบัติธรรมทางใจ
อย่าลืม! อย่าหนีจากจุดนี้! “วัฏจักร” ก็คือจิต เรื่องเกิดเรื่องตาย เรื่องทุกข์ลำบากทั้งหมด คือจิตเป็นสำคัญ เอา! เอาลงที่นี่เลย! ตัวนี้เป็นตัวก่อเหตุ คำว่า “คือจิตนี้” ก็คือกิเลสมีอยู่ในจิตนั่นเอง จิตยังสำรอกปอกกิเลสออกไม่ได้หมด จึงต้องมีเรื่องไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นภายในจิตอยู่เสมอ ทั้งๆ ที่ไม่ต้องการให้มันเกิดแต่มันก็เกิด เพราะธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้น ทางเดินของมันอยู่ที่นั่น จึงลบล้างไม่ได้ด้วยความสำคัญ ด้วยความต้องการเฉยๆ
แต่ต้องลบล้างด้วยการปฏิบัติ กำจัดสิ่งนั้นๆ ด้วยเหตุผลที่ควร ได้แก่อรรถธรรมนี่แหละเป็นหลักใหญ่ เอ้า! บำเพ็ญลงไป คำว่า “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” “ตนเป็นที่พึ่งของตน” ดังที่เคยแสดงแล้ว ให้เด่นภายในใจและความสามารถของเราเอง อย่าหวังพึ่งใครอื่นอันเป็นการอ่อนความสามารถไม่ฟิตตัวให้เข้มแข็ง ดังธรรมท่านสอน
มนุษย์เราเกิดมาชอบอาศัยผู้อื่นอยู่เป็นนิสัย อะไรๆ ต้องพึ่งผู้อื่น อาศัยผู้อื่น ตั้งแต่เล็กจนโต ราวกับไม่มีแข้งมีขาไม่มีมือมีเท้า ไม่มีสติปัญญาใดๆ เลย มีแต่ปากกับท้อง เวลาเข้าจนตรอกจนมุมไม่มีผู้อาศัยจะไม่จมไปละหรือ? ฉะนั้นเราเป็นนักปฏิบัติธรรม ต้องหัดพึ่งตัวเองตามหลักธรรมที่สอนไว้ จะเป็นผู้ไม่จนมุมในเวลาจำเป็น พยายามสร้าง “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ” ขึ้นในตัว สติไม่มีพยายามสร้างให้มี ปัญญาไม่มีพยายามสร้างให้มี ความขี้เกียจพยายามปราบปรามมันลงไปให้สิ้นซาก อย่าให้มากีดขวางลวงใจอีกต่อไป ความขยันผลิตขึ้นมาด้วยความมีเหตุมีผล เมื่อมีเหตุมีผลความขยันมันเกิดขึ้นได้เอง
ความขี้เกียจขี้คร้านนี้ เราเคยได้เงินหมื่นเงินแสนเงินล้านจากมันบ้างไหม? ถ้าเราสร้างโลกด้วยความขี้เกียจ จะเป็นคนมั่งมีได้ไหม? ความโง่มันจะทำให้คนฉลาดแหลมคมได้ไหม? คนโง่จะทำอะไรให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยความน่าชมมีไหม? ความโง่ ความขี้เกียจอ่อนแอนำหน้า ทำอะไรทันเขาไหม? ความโง่ ความขี้เกียจ เมื่อได้เข้าเป็นอันเดียวกันแล้วทำอะไรไม่สำเร็จ ที่สำเร็จของมันคือบนหมอน “กอนแล้วนิน กินแล้วนอน!” อยู่นั่นแล นี่แหละโทษของมันเป็นอย่างนี้ แต่คุณของมันยังมองไม่เห็น อาจเป็นเพราะขรัวตาเรียนน้อยจึงไม่อาจรู้เท่าทันมัน จึงขอมอบให้ผู้เรียนมากนำไปวินิจฉัยเองจะเหมาะสมกว่า
ที่ต้องการเห็นอรรถเห็นธรรม เห็นความจริงของศาสนธรรมซึ่งมีอยู่ภายในใจเรา ดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ เราจะทำวิธีไหน? จะนำความขี้เกียจขี้คร้านนี้เข้ามาเป็นผู้นำทางเหรอ? หรือจะเอาความโง่เข้ามาเป็นเครื่องบุกเบิกทาง นอกจากมันจะเพิ่มความขี้เกียจและความโง่ขึ้นอีก หาอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้างไม่ได้เท่านั้น ไม่มีอย่างอื่นจะเป็นสารคุณของทั้งสองสิ่งนี้
เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่จะแก้สิ่งทั้งสองนี้ได้ จะต้องพยายามผลิตสิ่งนั้นขึ้นมา ความฉลาดผลิตได้ ความพยายามคิดอ่านไตร่ตรองอยู่เสมอ เป็นสิ่งที่ผลิตได้ทำได้ไม่สุดวิสัยมนุษย์เรา ทีแรกต้องพยายามพาคิดพาค้นไปก่อนเพราะยังไม่เห็นผล ก็ยังไม่มีกำลังใจดูดดื่มในงานคิดค้นไตร่ตรองเป็นธรรมดา จนกว่าผลปรากฏขึ้นมาแล้ว เรื่องความอุตส่าห์พยายาม ความบึกบึน ความเชื่อความเลื่อมใส ความดูดดื่มภายในจิต จะเป็นไปเอง เพราะผลเป็นเครื่องดึงดูดให้เป็นไป
จงนำสติปัญญาแก้ลงที่นี่ กิเลสมันอยู่ที่ใจ อย่าไปคาดไปหมายที่โน่นที่นี่ เป็นความผิดทั้งนั้น กิเลสตัวพาเป็นพาคาดพาหมายเราไม่ดูมัน คาดว่าที่นั่นจะดี ที่นี่จะดี ที่นั่นจะเป็นสุข ที่นี่จะสบาย ล้วนแต่มันหลอกเรา เมื่อไปแล้วก็อย่างว่านั่นเอง เพราะ “ตัวนี้” มันร้อน ไปไหนๆ ก็ต้องร้อน ตัวนี้มันทุกข์ ไปไหนๆ ก็ทุกข์ ถ้าไม่ดูตัวมันก่อทุกข์ก่อเหตุก่อความวุ่นวายอยู่เสมอภายในใจนี้ จะไม่เห็นที่จอดแวะ จะไม่เห็นที่แก้ไข จะไม่เห็นที่ระงับดับมันลงไปได้เลย ความสงบสุขความเย็นใจจะไม่ปรากฏ ถ้าไม่ระงับดับลงที่นี่ ด้วยการพิจารณาที่นี่ แก้มันที่ตรงนี้
มันร้อนที่จุดไหนกำหนดดูที่มันร้อนนั้น มันวุ่นวายที่ตรงไหนกำหนดดูที่มันวุ่นวายนั้น ตั้งสติจ่อเข้าไป! ที่ตรงนั้น ให้เห็นความจริงและความวุ่นวายนี้ว่า มันเกิดขึ้นมาจากอะไร? ความทุกข์เกิดขึ้นมาจากอะไร? อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดทุกข์ ค้นมันลงไปที่จิตนั้น ทุกข์นั้นมันเป็นสนามรบด้วยดีแล้วนี่ ความทุกข์เกิดขึ้นก็เอาความทุกข์เป็นเป้าหมาย กำหนดลงไป หาเหตุมันเกิดขึ้นมาจากอะไร ค้นคว้ามันอยู่ที่ตรงนั้น ค้นมันที่ตรงนั้น ความวุ่นวายกับความทุกข์มันเกี่ยวพันกันอยู่ มันเกิดขึ้นมาจากอะไร เกิดมาจากความสำคัญมั่นหมายนั้นแลไม่ใช่เกิดจากอื่น ว่าอันนั้นเป็นนั้น อันนี้เป็นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่มันไม่เป็น จิตไปสำคัญเอาเองแล้วหลงความสำคัญของตัว ก็โกยทุกข์ขึ้นมาเผาลนตนเองให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน มีเท่านี้ เรื่องสำคัญอยู่ที่ตรงนี้ เพราะฉะนั้นจึงให้ย้อนจิตเข้ามาดูที่จุดนี้
เอ้า! เป็นก็ให้รู้ ตายก็ให้รู้ ให้เห็นความจริงกับสิ่งที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้ มันทุกข์แค่ไหนให้ดูตัวทุกข์ แต่ก่อนมันยังไม่เกิด ทำไมมาเกิดในขณะนี้ แล้วมันเกิดขึ้นมาจากอะไร ตัวทุกข์มันเป็น “ทุกฺขํ” อยู่แล้วนี่ และเป็นตัว “อนิจฺจํ อนตฺตา” อยู่แล้วนี่ ดูให้ชัดด้วยปัญญาจริงๆ นี่แหละเป็นหินลับปัญญา กำหนดพิจารณาลงที่จุดนั้น แล้วความเปลี่ยนแปลงของมันจะแสดงให้เราเห็น เมื่อสติจดจ่ออยู่ที่ตรงนั้น ไม่ยอมให้จิตคิดไปทางอื่น ซึ่งเป็นการเพิ่มกิเลสขึ้นมาอีก ไม่มีสิ้นสุดยุติลงได้สักที
จงดูเฉพาะจิตที่ว่ามันเป็นทุกข์นั้นด้วยปัญญา ด้วยสติ ใคร่ครวญด้วยความละเอียดถี่ถ้วน นี่แหละชื่อว่าพิจารณาถูกต้อง และเป็นทางระงับดับทุกข์ลงได้โดยไม่ต้องสงสัย ปราชญ์ท่านดับทุกข์ท่านดับที่นี่ ผู้มีสติปัญญาท่านดับกันที่นี่ ตรงนี้แหละคือสถานที่ทำความเพียรให้เกิดปัญญา ไม่ต้องไปปรารถนาว่า ให้ทุกข์นี้ดับไปเสีย ไม่ต้องไปตั้งความอยากให้ทุกข์มันดับ ความอยากนี้เป็นสิ่งก่อกวนและเป็นสมุทัย จะเพิ่มทุกข์ขึ้นมาเมื่อมันไม่ดับอย่างใจหมาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมกับสิ่งที่ปรากฏอยู่คือความทุกข์เวลานี้ ก็คือการกำหนดให้รู้เรื่องราวรู้ราวของความทุกข์ว่าเกิดขึ้นมาจากอะไร จะเห็นความจริงทั้งทุกข์ด้วย จะเห็นความจริงทั้งสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ด้วยปัญญา นี่แหละเป็นอุบายที่จะยุติความทุกข์ได้ และเป็นอุบายที่จะระงับดับทุกข์ลงได้โดยไม่ต้องสงสัย มีจุดนี้เป็นจุดสำคัญ
ไม่ต้องไปปรารถนา ไม่ต้องไปหมาย มันจะเพิ่มทุกข์ ต้องการแต่ความจริง ให้รู้ความจริง ดูความจริงให้เห็น เมื่อทุกข์ไม่ดับมันจะตายไปด้วยกันก็ให้รู้ “มันจะไปไหนวะ?” เอายังงี้เลย เอาลงให้เด็ดถึงคราวเด็ด จิตไม่ตายไม่ต้องกลัว! เอ้า! พิจารณาในสนามรบนี้ ระหว่างขันธ์กับจิตนี่เป็นสนามรบของสติปัญญากับกิเลสที่ต่อสู้กัน สติปัญญา กิเลส นั้นเป็นอันหนึ่ง ขันธ์เป็นอันหนึ่ง มันเป็นคนละอย่างกันตามความจริง
ถ้าขันธ์ไม่ปกติจะเป็นขันธ์ใดก็ตาม จิตต้องกระเทือน ถ้าสติปัญญาไม่ทันจิตต้องกระเทือนและทุกข์ร้อนไปด้วย เพราะตามปกติจิตแล้ว ต้องยึดถือขันธ์เหล่านี้ว่าเป็นตนอย่างฝังใจ เพราะอะไร? เพราะกิเลสพาให้ฝัง การพิจารณาสิ่งเหล่านี้โดยแยกส่วนแบ่งส่วนออกไป ย่อมเป็นการถอดถอนกิเลส คือความสำคัญนั้นๆ ให้เบาบางลง จนกระทั่งความสำคัญเหล่านี้หมดไป คำว่า “นั่นเป็นเรา,นี่เป็นเรา” ก็หมดไปไม่ต้องบังคับ แต่มันหมดไปด้วยการพิจารณา นี่แหละที่ว่า “ปัญญาตัดขาด ตัดขาดอย่างนี้เอง”


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO