นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อาทิตย์ 05 พ.ค. 2024 5:00 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: คำว่าสงบ
โพสต์โพสต์แล้ว: อาทิตย์ 16 ส.ค. 2015 8:42 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4549
# ปกิณกธรรม องค์หลวงปู่ศรี มหาวีโร #
คำว่าสงบ...สงบจากอารมณ์ภายนอก มาสังเกตดูอยู่ในปฏิกิริยา ปฏิกิริยาซึ่งแสดงออกทาง กาย วาจา และจิตใจของเรา รู้อยู่ในส่วนภายใน อันนี้เรียกว่าเป็นผู้ตั้งสติไว้


สติปัฏฐาน ๔ ทางสายพ้นทุกข์

“ภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของเหล่าสัตว์ เพื่อล่วงโสกะ (ความเศร้าโศก) และปริเทวะ (ความร่ำไรรำพัน) เพื่อดับทุกข์และโทมนัส (ความเสียใจ) เพื่อบรรลุญายธรรม (อริยมรรค) เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน ทางนี้คือ สติปัฏฐาน ๔ ประการ”

เราเป็นแต่ผู้บอกทางเท่านั้น

“พราหมณ์! ฉันใดก็ฉันนั้นแล ที่พระนิพพานก็ยังตั้งอยู่ ทางเป็นเครื่องถึงพระนิพพานก็ยังตั้งอยู่ เราผู้ชักชวนก็ยังตั้งอยู่ แต่สาวกแม้เรากล่าวสอนพร่ำสอนอยู่อย่างนี้ น้อยพวกที่ได้บรรลุนิพพานอันเป็นผลสำเร็จ ถึงที่สุดอย่างยิ่ง บางพวกไม่ได้บรรลุ พราหมณ์! ในเรื่องนี้ เราจักทำอย่างไรได้เล่า เพราะเราเป็นแต่ผู้บอกทางเท่านั้น”

ทางสายเอก ทางนี้ทางเดียว

สติปัฏฐาน (Foundation of Mindfulness) แปลว่า ข้อปฏิบัติมีสติเป็นประธาน เป็นการตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง รู้เท่าทันสภาวะของกายและใจในขณะนั้นๆ เป็นวิธีการที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นทางสายเอก หรือทางสายเดียวที่นำเราไปสู่การพ้นทุกข์

เปรียบกับการเดินทางไปสู่จุดหมายใดจุดหมายหนึ่ง สติปัฎฐานเป็นทางเดียวที่จะไปยังจุดหมายนั้นได้ ทางอื่นๆ นั้น ถ้าต่อไปจนสุดก็จะเป็นทางตัน หรือผิดทาง ไม่สามารถไปถึงจุดหมายปลายทางที่เราต้องการได้

สติในสติปัฏฐาน ไม่เหมือนกับสติที่เราใช้ในชีวิตประจำวันโดยทั่วไป สติในชีวิตประจำวันนั้นจะมีสติเพียงแวบเดียวว่ากำลังทำอะไรอยู่ เช่น เดิน กิน นั่ง นอน เป็นต้น แล้วใจก็แวบไปคิดเรื่องอื่นที่ใกล้ตัวและไกลตัว บางครั้งขณะทำงานอาจมีใจจดจ่อในสิ่งที่ทำ เช่น การสนเข็มเย็บผ้า การเขียนหนังสือ การปั้นหม้อ แต่ก็เพียงจดจ่อกับวัตถุและความคิดต่างๆ ไม่ได้จดจ่อกับกายและใจที่แสดงสภาวะเกิด-ดับในขณะนั้นให้เราดูอยู่

เมื่อพูดถึงสติในสติปัฏฐาน ก็จะต้องมีสัมปชัญญะควบคู่ไปด้วย ถ้าสติเป็นเกสรดอกไม้ สัมปชัญญะก็เป็นผีเสื้อหรือแมลงที่เคล้าเกสรดอกไม้นั้น โดยมีความเพียร เป็นกลิ่นเกสรทำให้ผีเสื้อไม่จากไปไหน

ในขณะปฏิบัติ เมื่อมีสติระลึกรู้ถึงสภาวะ หรืออารมณ์ของกายและใจ ในขณะนั้นแล้ว สัมปชัญญะจะทำให้ผู้ปฏิบัติดูสภาวะนั้นๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ความเพียรจะทำให้ผู้ปฏิบัติไม่ลดละในการติดตามดูอารมณ์ต่างๆ ที่มากระทบโดยไม่หยุดยั้ง จนเห็นการเกิด-ดับของสภาวะนั้นๆ ได้ในที่สุด

ดูกาย-ดูจิต

สติปัฏฐาน ๔ เป็นการพิจารณากายและจิตประกอบด้วย
๑ กายานุปัสสนา (Mindfulness as regards the body) การพิจารณากาย (กาย)
๒ เวทนานุปัสสนา (Mindfulness as regards feelings) การพิจารณาความรู้สึก (จิต)
๓ จิตตานุปัสสนา (Mindfulness as regards thoughts) การพิจารณาจิต (จิต)
๔ ธัมมานุปัสสนา (Mindfulness as regards ideas) การพิจารณาธรรมที่เกิดกับจิต (จิต)
------------------------------------------------------------------
“ความเพียรควรทำเสียวันนี้”
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่พระมหากัจจายนะเถระ และพระภิกษุที่วัดเชตวัน

“ผู้มีปัญญาไม่ควรคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรมุ่งหมายถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพราะว่าสิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็ละเสียแล้ว สิ่งใดที่ยังไม่มาถึง สิ่งนั้นก็ยังไม่ได้มาถึง”
“ความเพียรควรทำเสียในวันนี้แหละ ใครเล่าจะพึงรู้ว่า ความตายจะมีต่อพรุ่งนี้ เพราะว่าความผิดเพี้ยนต่อมัจจุราช ผู้มีเสนาใหญ่ ไม่มีเลย”
--------------------------------------------------------------

การดูกาย

๑) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย โดยพิจารณาว่า กายนั้นสักแต่เราเรียกว่า กาย ไม่เป็นตัวตนของเราของเขา เกิดจากขันธ์ ๕ หรือส่วนประกอบต่างๆ ที่แต่ละอย่างก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ด้วยตัวเอง ไม่มีตัวตนที่ยึดถือได้ ไม่สามารถไปบังคับบัญชาได้ มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาด้วยปัจจัยต่างๆ แบ่งเป็น ๖ ปัพพะ หรือ บท ดังนี้

๑.๑ อานาปานปัพพะ ข้อกำหนดว่าด้วยลมหายใจ หรือที่เราเรียกว่า อานาปานสติ
ลมหายใจเป็นสิ่งสำคัญที่มีติดตัวของสัตว์ทั้งหลายทุกรูปทุกนาม เมื่อเรามีสติอยู่ที่ลมหายใจ จิตจะสงบ เป็นเพื้นฐานให้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาต่อได้ การทำสมถะด้วยอานาปานสติเป็นวิธีที่สามารถบรรลุถึงฌาณ ๔* และฌาณ ๘*
--------------------------------------------------------------------------
*ฌาณ ๔ และฌาณ ๘ การทำสมาธิจนใจแน่วแน่เป็นหนึ่ง (อัปปนาสมาธิ)
ฌาณ ๔ คือ ๑. ปฐมฌาณ ๒. ทุติยฌาณ ๓. ตติยฌาณ ๔. จตุตถฌาณ รวมเรียกว่า “รูปฌาณ” หรือ ฌาณที่มีรูปเป็นอารมณ์
ฌาณ ๘ คือ รูปฌาณ ๔ บวกกับอรูปฌาณ ๔ เป็นฌาณที่มีอรูปเป็นอารมณ์ ประกอบด้วย ๑. อากาสานัญจายตนะ ๒. วิญญาณัญจายตนะ ๓. อากิญจัญญายตนะ ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ เมื่อบรรลุถึงฌาณ ๘ แล้ว ถือว่าเป็นที่สุดของการทำสมาธิ ไม่มียิ่งกว่านี้อีก
--------------------------------------------------------------------------
นอกจากนั้นการมีสติอยู่กับลมหายใจยังสามารถทำให้เราเห็นไตรลักษณ์ได้อย่างชัดแจ้ง เพราะลมหายใจมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป (อนิจจัง) ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ หายใจเข้าแล้วก็ต้องหายใจออก (ทุกขัง) ไม่มีตัวตน เราบังคับบัญาไม่ได้ (อนัตตา) เราจะบังคับว่า เราจะไม่หายใจเข้าก็ไม่ได้ หายใจเข้าแล้ว เราจะบังคับว่า จะไม่หายใจออกก็ไม่ได้ เป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวเราของเรา

พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญอานาปานสติไว้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเจริญโพชฌงค์ ๗ ไปด้วยกันกับอานาปานสติอันอาศัยวิเวท อาศัยความคลายกำหนัด และอาศัยความดับทุกข์ น้อมไปเพื่อการปล่อยวาง อานาปานสติที่ภิกษุอบรม ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”

๑.๒ อิริยาบทปัพพะ ข้อกำหนดว่าด้วยอิริยาบถ มีสติในการยืน เดิน นั่ง นอน
เมื่อยืนก็รู้สึกตัวว่ายืน เมื่อเดินก็รู้สึกตัวว่าเดิน รู้สึกถึงเท้าที่ก้าวออก ร่างกายที่เคลื่อนไหว การตึงหย่อยของเข่า ความแข็งที่เท้ากระทบพื้น รู้ว่าทุกอิริยาบถนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ตามปัจจัยต่างๆ ไม่มีตัวตนและเราไม่สามารถบังคับบัญชาได้

๑.๓ สัมปชัญญปัพพะ ข้อกำหนดว่าด้วยความรู้ตัวทุกขณะที่เคลื่อนไหว
เช่น การเหลียวซ้าย-ขวา การเหยียดแขน-คู้แขน การกิน การดื่ม เป็นการกำหนดให้ละเอียดขึ้นจากอิริยาบถปัพพะ ในการปฏิบัติ เรามีสติสัมปชัญญะรู้ตัว ถึงทุกการเคลื่อนไหว และการเกิด-ดับของการเคลื่อนไหว เช่นเดียวกับอิริยาบถปัพพะ

--------------------------------------------------------------------------
ดูเฉยๆ
ดูเฉยๆ ไม่ต้องบริกรรม ขณะดูการเกิดขึ้น – ดับไปของรูป-นาม เราไม่ต้องบริกรรมว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เพียงแต่ให้รู้ไว้ในใจเท่านั้น ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ตั้งอยู่ดับไป ไม่มีตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้
--------------------------------------------------------------------------
๑.๔ ปฏิกูลปัพพะ ข้อกำหนดว่าด้วย ความเป็นปฏิกูลที่โสโครกน่ารังเกียจของร่างกาย
พิจารณาดูอวัยวะทั้งหมด ตั้งแต่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม ปอด ลำไส้ใหญ่ สำไล้เล็ก อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร มันสมอง รวม ๓๒ อวัยวะ เป็นสิ่งที่สกปรก โสโครกทั้งสิ้น
มีทวารทั้ง ๙ เช่น ทวารหนัก ทวารเบา ปาก จมูก หู รูขุมขน เป็นที่ไหลออกแห่งสิ่งโสโครกในกาย พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบว่า ถุงยาว มีปาก ๒ ข้าง เต็มไปด้วยธัญพืชชนิดต่างๆ คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เมล็ดงา ข้าวสาร คนตาดีเปิดถุงยาวนั้นออกพิจารณาเห็นว่า “นี้เป็นข้าวสาลี นี้เป็นข้าวเปลือก นี้เป็นถั่วเหลือง นี้เป็นข้าวสาร” ฉันใด ให้พิจารณาอาการ ๓๒ ฉันนั้น

๑.๕ ธาตุปัพพะ ข้อกำหนดว่าด้วยธาตุ ๔ ผู้ปฏิบัติเจริญสติ พิจารณากายนี้ว่าประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อตายไป ธาตุลมหาย ธาตุไฟดับ ธาตุน้ำเป็นน้ำเหลืองไหลออกจากร่างกาย เหลือแต่ธาตุดิน คือกระดูกและหนัง ก็ผุพังไปตามกาลเวลา ส่วนประกอบของร่างกายเราคือ ธาตุทั้ง ๔ นี้ เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีตัวตน และบังคับบัญชาไม่ได้ เราไม่สามารถจะยึดเป็นตัวเราของเราได้ พระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบว่า
“คนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโค ผู้มีความชำนาญ เพื่อฆ่าโคแล้วแบ่งอวัยวะเป็นส่วนๆ นั่งขายอยู่หนทางสี่แพร่งใหญ่ฉันใด ให้พิจารณากายนี้ฉันนั้น”

๑.๖ นวสีวถิกาปัพพะ การเจริญสติพิจารณาซากศพ ที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งมีลักษณะต่างๆ ถึง ๙ ประการ คือ ซากศพที่ตายวันเดียว ๒-๓ วัน ซากศพที่สัตว์ต่างๆ กัดและกิน ซากศพที่เป็นกระดูกมีเนื้อติดอยู่ ที่เป็นกระดูกไม่มีเนื้อติดอยู่ ที่เป็นกระดูกมีแค่เอ็นติดอยู่ ซากกระดูกที่กระจัดกระจาย ซากกระดูกที่เกินปีหนึ่ง และซากกระดูกที่แตกละเอียดไป พิจารณาเทียบกับร่างกายของตนว่า กายของเราก็เป็นอย่างนี้เป็นธรรมดา เราไม่อาจล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ ทำให้เห็นความจริงว่า กายนี้ไม่สมควรยึดถือว่าเป็นตัวเรา ของเรา




ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นผู้สะอาด

ไตรจีวรและเครื่องอุปโภค บริโภคของท่าน ไม่มีกลิ่นเลย ถูกย้อมบ่อยๆู

ท่านเล่าว่า..ท่านเคยบวชในสำนักพระอรหันต์สามองค์แต่เมื่อชาติก่อนๆ โน้น

ท่านไม่ใคร่พยากรณ์ใครๆ เหมือนแต่ก่อน ท่านพูดแต่ปัจจุบันเพียงอย่างเดียว

นิสัยท่านชอบเก็บบริขารของเก่ามาไว้ใช้
เช่น จีวรเก่า เป็นต้น เพราะว่า..มันภาวนาดี

อัตชีวประวัติของพระครูสุทธิธรรมรังสี (หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท)





รุกขมูลธุดงควัตร

ธุดงควัตรที่ให้คุณประโยชน์แก่ผู้อยู่ศึกษาในธรรมวินัยมากสุดนั้นต้องยกให้ข้ออยู่รุกขมูลโคนไม้อยู่ป่าอยู่โคนไม้ ผู้อยู่ได้ย่อมได้จิตได้ใจดี อยู่เมืองฝางวัดร้างบนภูเขา อยู่โคนไม้ ภาวนาได้ผลดี เหตุเพราะการอยู่เช่นนั้น จิตใจมันสละจนหมด เป็นตายสละออกไปหมด เหลือรู้แต่ตัวผู้ประกอบการความเพียร

ส่วนการอดอาหารนั้นไม่เหมาะแก่จริตนิสสัย ลดอาหาร อดนอน ทำอย่างนี้พอได้ความบ้าง อดนอนวันที่ ๓ ที่ ๔ แยกเป็นแยกตายก็วันนี้ จะอาเจียนบ้าง เมาท้ายเมาหัวไม่รู้มัน น้ำตาก็ไหล ทนเอาได้ วันที่ ๖ ที่ ๗ สบายแล้วที่นี่นั่ง เดิน ยืน กายก็เบา ใจก็เบา ปัญญาก็แจ่มใส ใจก็ชัดเจน

อดนอนผ่อนอาหารนับว่าได้ประโยชน์ ผู้ข้าฯ เคยได้ทำควบกับการอยู่รุกมูลขโคนไม้ เปลี่ยนที่นอนไปทุกวัน นอนไม่ซ้ำที่ แต่ให้อยู่ในบริเวณนั้น

หากอยู่กินบริเวณกว้างขวางนัก ก็มิได้จะไปเบียดเบียนเอาที่อยู่ของภูมิรุกขเทวดา บางที่เขาก็หวงแหน บางที่เขาก็ยินดีพอใจให้อยู่ด้วย

ท่านอาจารย์แหวน (สุจิณฺโณ) เล่าว่า...

“เพิ่นครูอาจารย์มั่น (ภูริทตฺโต) ก็ชอบอยู่ รุกขมูลมากกว่าที่จะอยู่เสนาสนะนั่งร้านหรือกระต๊อบ กุฎิที่เขาชาวบ้านทำให้ บางที่เขาทำให้ท่านก็เอาแต่บริขารขึ้นอยู่ แต่ตัวท่านกลับอยู่กลดร่มเงาไม้”

เพิ่นครูอาจารย์มั่นให้เหตุผลแต่ว่า “ภาวนาดี ไม่มีกังวลอันใด”

ธรรมะประวัติหลวงปู่จาม มหาปุญโญ





"ไม่ว่าธรรมส่วนใด
ถ้าสำคัญตนว่าเสวย
เป็นอันผิดทั้งนั้น"
คติธรรมคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต





# ความดีรีบทำเสียวันนี้ #

พุทธศาสนานี้ เป็นศาสนาคู่บ้านคู่เมืองคู่โลกคู่สงสารมาตลอดกี่กัปกี่กัลป์แล้ว พระพุทธเจ้าของเราสิ้นพระชนม์ลงไปแล้ว ศาสนาก็ต่อไปอีก ๕,๐๐๐ ปีหมด คำว่าศาสนาหมด คือมนุษย์ทั้งหลายเป็นสัตว์นรกเราดีๆ นี่เอง ไม่รู้ว่าบุญว่าบาปสวรรค์นิพพานอะไรๆ ไม่อาจระลึกได้เช่นเดียวกับสัตว์ แต่การทำความชั่วนั้น ความอยากพาให้ทำเองไม่มีใครสอน ความอยากความทะเยอทะยาน ความดิ้นรนของใจนี้ เป็นอำนาจของกิเลสมันผลักมันดันออกไปให้ทำๆ สิ่งที่ทำเหล่านั้นมีแต่บาปกรรม บุญไม่มี เพราะไม่มีครูสอน กิเลสเป็นหลักธรรมชาติ ไม่มีใครสอนมันก็เป็นไปได้โดยอัตโนมัติของมัน

ตอนที่ศาสนาหมดโลกทั้งหลายนี้ ท่านบอกว่าร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ ไม่มีสถานที่ใดเป็นที่ปลงที่วางเลย นี่เรียกว่าสุญญกัป ในศาสนาท่านแสดงไว้อย่างนี้ สุญญกัปเป็นกัปที่ว่างเปล่าจากคำว่าบาปว่าบุญ ไม่ปรากฏในหัวใจของสัตว์และคำพูดของสัตว์เลย สัตว์นรกเต็มบ้านเต็มเมืองเต็มโลกเต็มสงสาร มองเห็นกันมีแต่จะกัดกัน ฉีกกัน ถ่ายเดียวเท่านั้น ไม่มีคำว่าให้อภัย มองดูเส้นหญ้าก็เป็นดาบไปเลย เพราะจิตใจเป็นฟืนเป็นไฟเป็นหอกเป็นดาบ จึงหาทางระบายออกด้วยการทำลายกัน ไม่มีที่จะทำความดีต่อกัน สุญญกัปนี้เป็นช่วงระยะที่สัตว์โลกร้อนที่สุด ไม่มีกาลใดสมัยใดจะร้อนยิ่งกว่า

หลังจากนั้นแล้วก็มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ เช่นต่อจากพระพุทธเจ้าของเรานี้ ก็จะมีพระอริยเมตไตรยท่านมาตรัสรู้ ระหว่างพุทธันดร หรือระหว่างพระพุทธเจ้าองค์นี้ กับองค์นี้จะมาต่อกัน ท่านเรียกว่าสุญญกัป แล้วอีกนานเท่าไรท่านถึงจะมาตรัสรู้ เราจะมานอนใจได้เหรอ เวลามีชีวีตอยู่ลมหายใจมีอยู่ หัวใจเราระลึกได้อยู่ว่ามีบาปมีบุญอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่วิ่งเต้นขวนขวายเสียในเวลาที่ควรนี้ จะไปรออะไรกัปนั้นกัปนี้ ให้เราย่นเข้ามาพิจารณาอย่างนี้ซิ ที่จะตักตวงผลประโยชน์ให้ได้ในเวลาเรามีชีวิตอยู่ เราก็ทำเสีย

กว่าพระอริยเมตไตรยท่านจะมาตรัสรู้ ก็ต้องผ่านสุญญกัปไปเสียก่อน สุญญกัปก็คือกองไฟใหญ่นั่นแหละ ใครจะกล้าผ่าน เพียงแต่เตาไฟเล็กๆ อยู่ครัวนี้ ใครเก่งก็ลองดูซิ สุญญกัปยิ่งเก่งกว่านี้อีก แล้วใครจะไปกล้าหาญผ่านสุญญกัปนี้ เพื่อไปหาพระอริยเมตไตรย มันควรเสี่ยงแล้วเหรอ เวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง

เทศน์อบรม ณ วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานี
วันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๓๕
(พระญาณสมฺปนฺโน หลวงตามหาบัว)


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 10 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO