นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อาทิตย์ 05 พ.ค. 2024 5:52 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: เสาร์ 08 ส.ค. 2015 10:39 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4549
ให้ฝืนความอยาก ด้วยสติปัญญา
ให้ระมัดระวังใจของตน ต้องฝืนความเสียดาย ฝืนความอยาก อยากเห็น นั่นฟังซิ อยากเห็นอยากดู อยากได้ยินได้ฟัง อยากดมกลิ่นลิ้มรส อยากสัมผัสสัมพันธ์ สิ่งที่เคยเป็นมาทั้งหลายและยังไม่เคยเป็นก็ตาม ส่วนมากเป็นสิ่งที่เคยเป็นทั้งนั้นแหละ เพราะเป็นสัญชาตญาณของจิตที่สัมปยุตด้วยกิเลส ย่อมเป็นสิ่งเกี่ยวพันกันทันทีทันใด อยากรู้อยากเห็นอยากสัมผัสสัมพันธ์
นี่ให้ระวังความอยาก ให้ฝืนความอยาก อยากดูก็ไม่ดู
ความไม่ดูความฝืนความอยากนั้นแลเป็นธรรม เครื่องกั้นกางหวงห้ามตนไม่ให้ก้าวเข้าสู่พิษภัยทั้งหลาย แล้วจิตก็ไม่เป็นอันตราย ไม่ว่าอยากดูอยากเห็น ไม่ว่าอยากได้ยินสิ่งที่เป็นภัยนั้น ให้ห้ามความอยากนั้นด้วยสติด้วยปัญญา พินิจพิจารณารู้โทษของมัน เห็นโทษของมัน และอย่าใกล้ชิดอย่าสนิทอย่าคุ้นอย่านอนใจกับสิ่งที่เคยเป็นภัย จะไม่เป็นคุณต่อผู้ใดทั้งนั้น สิ่งที่เคยเป็นคุณ-เป็นคุณ สิ่งที่เคยเป็นโทษ-เป็นโทษตามหน้าที่ของมัน ในหลักธรรมชาติเป็นเช่นนั้น ให้พากันระมัดระวังรักษา
คำสอน พระหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน




# หลักธรรมชุดศิลาจารึก ( ทาน ) พระภูริทตฺโต หลวงปู่มั่น #

ทาน คือ เครื่องแสดงน้ำใจของมนุษย์ผู้มีจิตใจสูง ผู้มีเมตตาจิต ต่อเพื่อนมนุษย์และสัตว์ผู้อาภัพ ด้วยการให้การเสียสละแบ่งปันมากน้อยตามกำลังของวัตถุเครื่องสงเคราะห์ที่มีอยู่ จะเป็นวัตถุทาน ธรรมทาน หรือวิทยาทานแขนงต่างๆ ก็ตาม ที่ให้เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยมิได้หวังค่าตอบแทนใดๆ นอกจากกุศลคือความดีที่เกิดจากทานนั้น ซึ่งจะเป็นสิ่งตอบแทนให้เจ้าของทานได้รับอยู่โดยดีเท่านั้น ตลอดอภัยทานที่ควรให้แก่กัน ในเวลาอีกฝ่ายหนึ่งผิดพลาดหรือล่วงเกิน
คนมีทานหรือคนที่เด่นในการให้ทาน ย่อมเป็นผู้สง่าผ่าเผย และเด่นในปวงชนโดยไม่นิยมรูปร่างลักษณะ ผู้เช่นนี้มนุษย์และสัตว์ตลอดเทวดาที่มองไม่เห็นก็เคารพรัก จะตกทิศใดแดนใด ย่อมไม่อดอยากขาดแคลน หากมีสิ่งหรือผู้อุปถัมภ์จนได้ ไม่อับจนทนทุกข์ แม้ในแดนมนุษย์เรานี้ก็พอเห็นได้อย่างเต็มตารู้ได้อย่างเต็มใจว่า ผู้มีทานเป็นเครื่องประดับตัวย่อมเป็นคนไม่ล้าสมัยในสังคม และบุคคลทุกชั้นไม่มีใครรังเกียจ แม้แต่คนที่มั่งมีแต่แสนตระหนี่ถี่เหนียว ก็ยังหวังต่อการสงเคราะห์ช่วยเหลือจากผู้อื่นเช่นเดียวกับมนุษย์ทั่วๆ ไป ไม่ต้องพูดถึงคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ แต่ไม่หวังให้ผู้อื่นช่วยเหลือ จะไม่มีในโลกเมืองไทยเรา
อำนาจทาน ทำให้ผู้มีใจชอบบริจาคเกิดความเคยชินต่อนิสัย จนกลายเป็นผู้มีฤทธิ์บันดาลไม่ให้อดอยาก ในภพที่เกิด กำเนิดที่อยู่นั้นๆ ฉะนั้นทานและคนที่มีใจเป็นนักให้ทานการเสียสละ จึงเป็นเครื่องและเป็นผู้ค้ำจุนหนุนโลกให้เฟื่องฟูตลอดไป โลกที่ยังมีการสงเคราะห์กันอยู่ยังจัดเป็นโลกที่มีความหมายตลอดไป ไม่เป็นโลกที่ไร้ชาติขาดกระเจิงเหลือแต่ซากคือแผ่นดินแน่ๆ
ทานจึงเป็นสาระสำคัญสำหรับตัวและโลกทั่วๆ ไป ผู้มีทานย่อมเป็นผู้อบอุ่นและหนุนโลกให้ชุ่มเย็น ไม่เป็นบุคคลและโลกที่แห้งแล้งแข่งกับทุกข์ตลอดไป

พระภูริทัตโต (หลวงปู่มั่น)
จดจารึกโดย พระธรรมวิสุทธิมงคล
(พระญาณสมฺปนฺโน หลวงตามหาบัว)
ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๔




หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาแสดงในงานครบรอบวันละสังขารหลวงปู่หล้า เขมปัตโต ณวัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ) จ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๘

แต่ก่อนหลวงพ่อเองก็เป็นเณรน้อยขององค์หลวงปู่
อยู่ที่ภูจ้อก้อ เป็นรุ่นแรกที่มาสร้างภูจ้อก้อ
เป็นรุ่นแรกก็นับว่าเป็น ก.ไก่ เลยล่ะ หรือว่าหนึ่ง

ที่ภูจ้อก้อ ปีสองพันห้าร้อย (พ.ศ. ๒๕๐๐) ที่หลวงปู่มาอยู่
แล้วหลวงพ่อเองก็เป็นเด็กเข้ามาอยู่กับองค์หลวงปู่
อายุเพียงจบ ป.สี่ อายุสิบเอ็ดสิบสองปี ก็มาอยู่ที่ภูจ้อก้อ
ปีสองพันห้า..หลวงพ่อน่ะเป็นเณรปีสองพันห้านะลูกหลานนะ
เป็นเณรกึ่งพุทธกาล จากนั้นก็ได้บวชเป็นสามเณรปีนั้นน่ะ
ปีกึ่งพุทธกาล ปีสองพันห้าร้อย จนถึงสองพันห้าร้อยแปด (พ.ศ. ๒๕๐๘)
เป็นสามเณรอยู่ ๘ ปี จากนั้นก็ได้บวชเป็นพระเมื่อครบบวช

ปีบวชปี ๐๘ แล้วก็จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ปีนั้น ๒ องค์ ไม่มีสามเณร
อยู่ด้วยกันสองที่เป็นพระ เวลาจะประเคนอันไหนโอ้..ลำบากมาก
จะต้องถึงตอนเช้าเสียก่อน มีโยมเข้ามาจึงรับประเคนได้
บางปีก็จำพรรษาสามองค์บ้าง สององค์บ้างที่หลวงปู่หล้าอยู่ที่นี่
อันนี้ก็คือประวัติ จากนั้นก็บวชปี ๐๘ ปีนี้ก็ปี ๒๕๕๘
ชีวิตของหลวงพ่อน่ะ ที่เป็นพระ ๕๐ พรรษานะคณะศรัทธาญาติโยมลูกหลาน
ไม่ใช่พระน้อยพระหนุ่มแล้วทีนี้

สมัยเป็นเณรของหลวงปู่หล้า เป็นเณร
แต่เดี๋ยวนี้พรรษา..เฉพาะพรรษาพระ ๕๐ พรรษา
เพราะฉะนั้นหลวงพ่อจึงได้นั่งหัวแถว
อายุพรรษามากกว่าทุกองค์ที่นั่งอยู่ที่นี่
แล้วก็อายุเณรอีก ๘ ปี บวชเณรอีก ๘ พรรษา
รวมแล้วชีวิตทั้งชีวิตหลวงพ่อฝากฝังไว้ในพระพุทธศาสนาเป็นเวลา ๕๘ ปี
แล้วปีนี้หลวงพ่ออายุ ๗๐ นะคณะศรัทธาญาติโยมลูกหลาน
มิใช่พระน้อยพระหนุ่ม เพราะฉะนั้นการจะปีนเขาขึ้นมาภูจ้อก้อนี่
ปีนขึ้นมาทีไรก็เหนื่อย เกือบต่อไปก็คงจะได้หามล่ะคณะศรัทธาญาติโยม

ยังถามเจ้าอาวาสอยู่เมื่อกี้นี้บอกว่า เอ๊ะ..หลวงปู่ของเราเนี่ย
ตอนที่ท่านอยู่ภูจ้อก้อนี่อายุเท่าไรวะที่ท่านหามขึ้นเขานี่
เพราะหลวงพ่ออยากจะให้คนอื่นหามแล้วนะทีนี้นะ (หัวเราะ)
เพราะหลวงพ่อปีนชักจะไม่ไหวแล้ว หลวงพ่อก็เลยถาม
ถ้าหลวงปู่..โอ้ย..หลวงปู่ท่านอายุแปดสิบอย่าได้หาม
หลวงพ่อก็คงอุตส่าห์เข้าไป เดินถึงแปดสิบนะจึงจะหาม
ถ้าหลวงปู่..ถามพระอายุหกสิบกว่าๆก็หามขึ้นแล้ว หลวงพ่อก็คิดว่า
ต่อไปนี่ก็คงจะให้พระลูกพระหลานหามแล้วนะทีนี้นะเพราะอายุ ๗๐ แล้วเนี่ย

แต่หลวงปู่ท่านมีโรคสองโรคนะในตัวของท่าน
คือ โรคไส้เลื่อนอันหนึ่ง และก็โรคหัวใจ
เพราะฉะนั้นทั้งสองโรคนี้จะปีนเขา..ไม่สะดวก
แต่หลวงพ่อก็นับว่าโชคดีทั้งสองโรคนี้ยังไม่เข้ามาเยือนขณะนี้น่ะ
แต่มีแต่โรคแก่..โรคแก่โรคเหนื่อย มันไม่เหมือนแต่ก่อนนะคณะศรัทธาญาติโยมลูกหลาน
ปีนเขาขึ้นมานี่รู้สึกอย่างมากๆเลย แต่ก็พยายามเดินขึ้นมาแบบช้าๆ นะ..ก็มาถึงได้

อันนี้ก็คือ ความตั้งใจที่อยากจะมาให้ถึงสถานที่..ที่องค์หลวงปู่ของพวกเรา
แต่ก็มาเห็นคณะศรัทธาญาติโยมลูกหลานมาพร้อมกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านท่านอาจารย์พระครู เจ้าคณะอำเภอคำชะอี ครูจำรัสน่ะ
ท่านเป็นผู้แต่งตำรากาพย์คารวะองค์หลวงปู่หล้า ฟังแล้วก็เสนาะเพราะพริ้ง
กล่าวยาวเพื่อเป็นศาสนพิธี พวกเราท่านทั้งหลายได้กล่าวรำลึกถึง
บรรยายพระคุณขององค์หลวงปู่ หลวงปู่เป็นพระอุชุฯ ญายะฯ สามีจิปะฏิฯ
คล้ายๆว่าเป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบองค์หนึ่ง
ที่ท่านอาจารย์พระครูกล่าวไปนี่ หลวงพ่อฟังไปแล้วก็ไม่ถึงกับเว่อร์
หรือว่าพูดเพ้อเจ้อ ลักษณะอย่างนั้นไม่ใช่ ฟังแล้วก็กลมกล่อม
สมกับที่พวกเราได้กราบ

เพราะองค์หลวงปู่เป็นพระมักน้อย สันโดษ
ปฏิปทาของหลวงปู่ เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน
แล้วก็เป็นผู้เคร่งในหลักพระธรรมวินัย
แล้วก็สัมมาปฏิบัติทุกอย่าง..องค์หลวงปู่พร้อม
และในเมื่อยังทรงธาตุทรงขันธ์อยู่ การอ่อนน้อมถ่อมตน
หรือว่า มีพระสงฆ์สามเณรอุบาสกอุบาสิกามาจากจตุรทิศ
ท่านก็ให้ความต้อนรับขับสู้ ถึงจะเหน็ดเหนื่อยองค์หลวงปู่ก็ยังออกมา
ต้อนรับคณะศิษยานุศิษย์ลูกหลานทุกคนโดยสม่ำเสมอ
แล้วก็แนะนำสั่งสอน แนะนำการเป็นอยู่ แนะนำภายในวัด
ควรปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเข้ามาสู่สถานที่แห่งนี้
ตลอดถึงที่พักพาอาศัย หลวงปู่เป็นผู้มีจิตใจ
เรียกว่า เมตตาต่อลูกหลานอย่างสุดซึ้ง

ในเรื่องเหล่านี้..หลวงพ่อเองถึงจะไปอยู่ ณ สถานที่ใด
หลวงพ่อก็ยังรำลึกถึงพระคุณขององค์หลวงปู่จุดนี้
เพราะองค์หลวงปู่ท่านแนะนำสั่งสอนบอกกล่าว
ให้ฝังไว้ในจิตในใจของหลวงพ่อเหมือนกัน
หลวงพ่อก็พยายามสอนศิษย์ พระที่เป็นลูกน้องของหลวงพ่อเหมือนกัน
ให้แขกทางอื่นทางไกลมาอันนี้ถือว่าเป็นญาติธรรม
เป็นญาติของพวกเรา ถ้าหากว่าพวกเราไม่มีญาติธรรมเหล่านี้
ต่อไปภายภาคหน้า พวกเราจะอยู่กันอย่างไร
เพราะฉะนั้นผู้ที่เข้ามาสู่วัดวาศาสนา ให้พวกเราถือว่า นี้คือญาติของเรา
ที่เป็นทายาทของเราต่อไปในอนาคต เพราะฉะนั้นให้พวกเรา
ดูการเป็นอยู่ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ให้ดูการเป็นอยู่ การกิน การไปมาหาสู่
ที่พักพาอาศัย สิ่งเหล่านี้ให้ดูๆ นะ

อันนี้คือ เรื่องเหล่านี้ ที่หลวงพ่อพูดไปนี้น่ะ
พวกน้องๆ ทั้งหลายที่ไปอยู่กับองค์หลวงปู่หล้า
คงจะไม่ได้ตำหนิหลวงพ่อว่า โอ้ย หลวงพ่ออินทร์พูดเกินไป
คงไม่ว่าอย่างนั้น เพราะว่าจะพูดน้อยเกินไป
พูดคล้ายกับว่าไม่เหมาะสม ควรจะพูดมากกว่านี้อีกต่างหาก
เพราะอะไร..เพราะหลวงปู่หล้าท่านมีน้ำจิตน้ำใจจริงๆ
ต่อคณะศรัทธาญาติโยมลูกหลาน

เพราะฉะนั้นขอให้พวกเราทุกๆท่านนะ พระน้องพระนุ่งทั้งหลาย
คณะศรัทธาญาติโยม ผู้ได้มาเห็นหลวงปู่แล้วก็นำธรรมคำสอน
หรือว่าน้ำจิตน้ำใจขององค์หลวงปู่มีต่อศิษยานุศิษย์นั้น
เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะฉะนั้นหลวงปู่ที่ท่านพาลูกศิษย์ลูกหาพาดำเนินน่ะ
อันนี้ก็คือด้านเป็นอยู่ ส่วนด้านจิตใจที่หลวงปู่แนะนำสั่งสอน
จะเป็นใคร มาจากที่ไหนๆ หลวงปู่จะแสดงธรรมแล้วเทศน์ให้ฟัง
เป็นที่พอใจ จับใจ ชี้แจงให้ฟัง

แต่สมัยหลวงพ่อเป็นเด็กเป็นเณรนะ ท่านไม่มีใคร ไม่มีใครมานะ
ไม่มีใครมาท่านก็สอนให้เณร หลวงพ่อนี่เป็นเณร
เวลาท่านจะเทศน์ท่านจะสอน ท่านจะให้เดินตามหลังนะ..เดินตามหลังท่าน
พอเราเดินๆบางทีเราก็ฟังไปฟังมาบางทีเราก็เบื่อๆเหมือนกันนะ ในใจนะ
เราก็จะเดินก่อนเพื่อให้ทางไป ท่านก็จับลากแขนมา
เอ้า เดินตามหลัง ! เราก็เดินตามหลังท่านก็พูดๆ อะไรให้ฟังน่ะ

เพราะเณรหัวมันจำใช่ไหม พอพูดแล้วก็จำได้แล้วไม่รู้จะพูดอะไรมากมายนักหนา
แต่หลวงปู่ท่านเป็นลักษณะ.."ปู่สอนหลาน" ท่านก็พูดๆ เรื่องนี้ให้ฟัง
แต่ตามเป็นจริงก็มีชั้นเชิง เล่ห์เหลี่ยมอยู่ในนั้น ไม่ใช่คำพูดแบบเดียวกันทั้งหมด
คราวนี้อธิบายเล่ห์เหลี่ยมอย่างนี้ให้ฟัง คราวนี้อธิบายอีกชั้นเชิงเลห์เหลี่ยมอย่างนี้ให้ฟัง
โดยมากหลวงปู่ท่านจะมีวิธีการ บอกสอนสำหรับลูกน้องของท่าน

.....................................................

นี่แหละ..ทีนี้สมัยนั้นหลวงพ่อฟังๆ แล้วก็เกิดความเบื่อเหมือนกัน
เพราะว่า ท่านสอนแบบซ้ำซาก แบบปู่สอนหลานน่ะ
แต่พอหลวงพ่อไปอยู่..เดี๋ยวนี้น่ะที่เป็นหัวหน้าขึ้นมาน่ะ
รำลึกถึงหลวงปู่เมื่อไร ยกมือท่วมหัวเลยว่างั้นเถอะ
ยกมือไหว้หลวงปู่ เพราะ..โอ้..หลวงปู่..
ถ้าหากว่า หลวงปู่ไม่สอนเราขนาดนี้
ไม่กรอกเช้ากรอกเย็นถึงขนาดนี้ เราก็คงจะไม่เป็นอย่างนี้

แต่ทุกวันนี้เราได้นำคำพูดของหลวงปู่ ธรรมเทศนาของหลวงปู่
มาแนะนำสั่งสอน มาอยู่ในจิตในใจของพวกเรา
เราก็นำธรรมคำสอนของหลวงปู่เนี่ยน่ะ
ไปบอกกล่าวลูกหลานต่ออีกทอดหนึ่ง
แล้วก็ได้ผสมผสานแนวความคิดขององค์หลวงตา (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
หรือองค์หลวงปู่เนี่ยถ้าจะว่าไปแล้วเป็นธรรมะเป็นแนวพื้นฐานสอนเด็ก

อย่างหลวงพ่อเนี่ย..วิธีการทำอย่างไรปฏิบัติตนอย่างไร
หลวงพ่อเอาจากหลวงปู่หล้าทั้งหมด แต่องค์หลวงตาเนี่ยเป็นต่อยอด
ท่านแสดงให้เรื่องสติ เรื่องปัญญา เรื่องสมาธิปัญญา
วิธีปฏิบัติ วิธีเดินมรรคเดินผล..ทำอย่างไร อันนั้นฟังจากหลวงตา
แต่วิธีเริ่มต้นอย่างวิธีปฏิบัติตนอย่างไร..หลวงปู่หล้าท่านสอน

อย่างเดินจงกรมอย่างนี้ เข้ามาทีแรกเราจะรู้ยังไงเดินจงกรมน่ะ
หลวงปู่หล้าท่านก็ว่า นี่นะ..ปรับสถานที่ให้ตรง ให้ราบให้เรียบ
ทางเดินจงกรมของหลวงปู่นี่นะ เวลาท่านทำเสร็จแล้วนี่
ท่านจะเอาขี้โคลนน่ะผสมน้ำแล้วก็มาราด เอามือลูบ
ไม่ใช่ธรรมดานะคณะศรัทธาญาติโยมลูกหลานนะ
เอามือลูบทางจงกรมของท่าน ลูบทางจงกรมเสร็จแล้วก็ให้มันแห้ง
พอมันแห้งเสร็จแล้วท่านก็ขึ้นไปเดินจงกรม ทำพูนสูงนะ
หลวงพ่อน่ะเป็นคนขุดดิน เพราะว่าท่าน..พระขุดดินไม่ได้
มีแต่หลวงพ่อเป็นเณรก็ขุด ท่านก็ใส่บุ้งกี๋ของท่าน..พูนดินขึ้นมา
ถ้าฝนตกขึ้นมาแล้วก็เอาดินมาอีก กองดินเอาไว้

ท่านทนุถนอมทางเดินจงกรมจริงๆ นะหลวงปู่หล้านะ
ท่านรักในทางเดินจงกรมของท่าน ท่านทนุถนอม ท่านดูจริงๆ
ทางเดินจงกรมของท่านเหมือนกับถ้าจะว่าไป ก็เหมือนกับวิชาอาชีพ
หรือว่าเป็นทางมรรคทางผลของท่านจริงๆ ท่านใส่ใจจริงๆ ในทางเดินจงกรม

เมื่อเสร็จแล้ว ท่านทำเป็นร่องตรงกลางนะ ทำเป็นร่องขอบๆ ไว้สักหน่อย
แต่ไม่มาก ถ้าหากว่าเป็นหลังนูนเกินไปมันจะลื่น พอท่านทุบให้มันแน่น
พอแน่นมันจะลื่น ท่านก็ทำให้เป็นแอ่งๆ สักหน่อย ให้น่าเดินดีล่ะ
จากนั้นก็ใส่ทรายเข้าไปสักหน่อย โปรยเข้าไป
จากนั้นถ้าฝนตกท่านก็ลูบทาง ว่าฝนไม่ตกไม่เป็นไรท่านก็เดินจงกรม
เดินสูงนะประมาณสัก..ทางจงกรมของหลวงปู่สูงเกือบเมตรนะ
แต่ใหญ่ ตีนใหญ่ ท่านใส่ใจในทางเดินของท่าน

เวลาท่านจะเดินจงกรม ท่านจะยืนสุดทางจงกรมข้างใดข้างหนึ่ง
เสร็จแล้วท่านก็ประนมมือ ประนมมือขึ้นระหว่างอกของท่านนะ
ท่านบอกว่า เวลาจะเดินจงกรมต้องไหว้พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ซะก่อน
ไหว้ครูซะก่อน ท่านก็ยืนสุดทางจงกรมข้างใดข้างหนึ่งท่านก็ประนมมือ
ท่านก็ว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ จบ
จากนั้นเอามือลง หรือเราจะแผ่เมตตาอีกก็ยังได้

"ข้าพเจ้าจงเป็นสุข ผู้อื่นจงเป็นสุข
ข้าพเจ้าต้องการความสุขอย่างไร
ผู้อื่น สัตว์อื่น วิญญาณอื่นทั่วไตรโลกธาตุ
ขอให้มีความสุขอย่างที่ข้าพเจ้าต้องการ
อย่างที่ข้าพเจ้าปรารถนา..ทุกๆ ดวงวิญญาณด้วยเถิด"

แผ่เมตตาซะก่อน จากนั้นก็ขาขวา "พุท" ขาซ้าย "โธ"
ขาขวาพุท ซ้ายโธ พุท-โธ, พุท-โธ, พุท-โธ
ถ้าไปถึงสุดทางจงกรม ก็เลี้ยวเอี้ยวขวา ลักษณะประทักษิณ
เลี้ยวขวาจากนั้นก็พุทโธ หรือจะเลี้ยวซ้ายก็ได้
สุดแท้แต่ความถนัดของใครเรา แต่ควรจะเลี้ยวขวาดีกว่า
เพื่อเป็นการประทักษิณ จากนั้นก็ พุท-โธ, พุท-โธ
ขาขวาพุท ขาซ้ายโธ อันนี้ก็คือ วิธีการเดินจงกรม

เดินนานไหม? บางทีท่านเดินตั้งสามสี่ห้าทุ่มนู่นน่ะ
มีกะโป๊ะ..มีต้นไม้มีท่อนไม้ขึ้นมาแล้วก็ตีไม้กระดานไว้ข้างบน
แล้วก็มีเทียนแล้วก็น้ำมันก๊าด สมัยนั้นหาเทียนยากนะ
มีแต่น้ำมันก๊าดมันไม่เปลือง ใส่เทียนเข้าในกระป๋องเข้าไป
แล้วท่านก็มีโป๊ะ ตะเกียงโป๊ะเล็กๆ เพื่อไม่ให้แมลงมันบินชนไฟ
ไฟไหม้ปีกของมัน ท่านก็มีนั่นล่ะโป๊ะเล็กๆ ครอบ จากนั้นท่านก็เดินจงกรม
บางทีสามสี่ห้าทุ่ม ท่านยังเดินจงกรมของท่านนะหลวงปู่ ท่านขยันถึงขนาดนั้น

เพราะฉะนั้นท่านจึงพิถีพิถันมากทางเดินจงกรมของท่าน
เวลาท่านจะออกจากทางเดินจงกรม ท่านก็ประนมมือซะก่อน
ไหว้พุทโธ ธัมโม สังโฆ ซะก่อน จากนั้นท่านก็ลง
จากทางเดินจงกรม ขึ้นมาท่านก็ไหว้พระ




หลวงตามหาบัว
---------------------------------------
จะเล่านิทานหลวงตาบัวบวชทีแรกให้ฟังนะ มันน่าเล่า ขบขันดี บ้านหนองแวงนี่ แต่ก่อนไม่มีบ้าน เขาอยู่ทางบ้านหนองใส มาทำนาที่นี่ เขามานิมนต์ไปทำบุญลานข้าวเขา เขาจะขนข้าวขึ้นยุ้งขึ้นฉาง เขานิยมทำบุญก่อนที่จะขนข้าวขึ้นจากลานข้าวเขา พอดีระยะนั้นเราก็บวชใหม่ด้วยได้พรรษาเดียว ฟังซิบวชได้พรรษาเดียว ปีนั้นบวชทีแรกเรียนสวดมนต์จบ เรียนปาฏิโมกข์จบ ยังไม่ได้เรียนคาถาบาลีคำเทศนาว่าการ อยู่ ๆ เขาก็มานิมนต์ไปทำบุญบ้าน เขาเรียกบ้านหนองแวง แต่ก่อนมันจะมีสักสองสามหลังคาเรือนเท่านั้นมั้ง เดี๋ยวนี้เป็นบ้านใหญ่แล้ว ทีนี้เขาก็นิมนต์ไป วัดนั้นก็อย่างนั้นล่ะซี เพราะฉะนั้นวัดนี้จึงไม่รับนิมนต์ที่ไหน ไม่รับนะ ถ้าหากว่ารับ ตอนเช้าจะเหลืองอร่ามอยู่ในท้องตลาด พระในวัดจะไม่มี มีแต่เรื่องหากิน เรื่องอรรถเรื่องธรรมจะไม่มี นี่เราตัดออกหมด วัดนี้จึงไม่รับนิมนต์ใครทั้งนั้นไปฉันที่นั่นที่นี่ หากมีความจำเป็นเป็นกรณีพิเศษเราจะเป็นผู้จัดให้เอง ถ้าธรรมดาเราไม่รับ

ทีนี้เขาก็นิมนต์ พระวัดโยธาฯ จนจะไม่มีพระติดวัด นิมนต์ไปงานนั้นไปงานนี้ ตอนเขาจะขนข้าวขึ้นบ้านขึ้นเรือนเขา เราก็ถูกนิมนต์ ท่านพระครูให้เราเป็นหัวหน้า ก็ไม่มีพระนี่ พรรษาเดียวเป็นหัวหน้า พวกนั้นก็พวกเดียวกันพรรษาเท่ากันแต่อ่อนกว่าเรา บวชวันอ่อนกว่าเรา พึ่งบวชก็มี ไปเราก็มีหนังสือพก หนังสือนี้เป็นวิชาหากิน คือมีเทศน์กัณฑ์หนึ่งอยู่ในนั้น ไปที่ไหนจำเป็นก็เอานี้มาเทศน์ กินข้าวต้มขนมเขาแล้วมา พอดีวันนั้นไปฉันเสร็จแล้วก็เทศน์ ก็เอาหนังสือนี้ออกเทศน์จบลงไปแล้ว

อยู่ ๆ เขาก็ยกขบวนกันมาอีก นี่ท่านเทศน์จบแล้วเหรอ ไอ้คนนั้นเราอยากตามฆ่ามัน มันตายแล้วยังก็ไม่รู้ ยังอยากตามฆ่าอยู่นะมันโมโห นี่ท่านเทศน์จบแล้วยัง โอ๊ย จบแล้วก็ไม่ยากแหละ ให้ท่านฉันเพลเสียก่อน ตอนนั้นฉันเพลอยู่นะ ให้ท่านฉันเพลเสียก่อนเทศน์เมื่อไรยากอะไร เราอยากฆ่าอีตานี่เหลือเกินนะ คนหนึ่งอกจะแตกแล้วไม่มีอะไรจะเทศน์ ก็เทศน์หนังสือนี้หมดไปแล้วจะเอาอะไรไปเทศน์ ก็บวชได้พรรษาเดียว นี่ที่มันโมโหมาจนกระทั่งทุกวันนี้ เห็นเป็ดเห็นไก่แถวนั้น สูอย่ามาผ่านกูนะ กูโมโหตั้งแต่ปีนั้นยังไม่ลืมนะ เห็นไก่เห็นเป็ดแถวนั้นพูดหยอกเขา กูโมโห เด็กเล็กเด็กน้อยอย่ามาผ่านนะ กูโมโหยังไม่ทันหาย กูโมโหตั้งแต่ปีนั้นละ

บ้านนี้ละ พอฉันจังหันเสร็จเรียบร้อยเขาก็มาสาย ๆ อีตาคนนั้นก็พูดอย่างนั้น จะไปยากอะไร ให้ท่านฉันเพลแล้วค่อยเทศน์เมื่อไรก็ได้ ก็แกไม่ได้เทศน์นี่ ผู้เทศน์เป็นเรานี่นะมันโมโห อยากฆ่าอีตานี่ ทีนี้เวลาฉันเพล ไม่ลืมนะ ขนมนางเล็กแผ่นเดียวฉันครึ่งหนึ่งก็ไม่หมด มันแค้นมันคับหัวอก คิดหาแต่คำเทศน์ ก็เราไม่มีอะไรจะเทศน์ บวชได้พรรษาเดียวเอง ตั้งแต่บวชมาในชีวิตของพระมีครั้งนั้น นี่ก็ถึงใจเหมือนกัน เราอะไรถ้าถึงใจถึงจริง ๆ อันนี้ก็ยังไม่ลืม เพราะฉะนั้นเห็นสัตว์อะไรวิ่งผ่านหน้า สูอย่ามาผ่านนะ กูยังโมโหไม่ถอย บ้านหนองแวง พวกเป็ดพวกไก่พวกหมูพวกหมา ผู้คน เด็กเล็กเด็กน้อย บอก สูอย่าผ่านหน้ากู ตากูกำลังแดงอยู่เดี๋ยวนี้น่ะ กูโมโห เลยถือเอาเป็นความตลกมาเรื่อย

เวลาจะตายจริง ๆ มันก็เทศน์ได้นะแปลกอยู่ คับหัวอกหมด ฉันขนมนางเล็กแผ่นเดียวครึ่งแผ่นก็ไม่หมด กลืนไม่ลง วันนั้นฉันได้เท่านั้น ฉันเพลอะไรไม่ได้เลย คิดหาแต่คำเทศน์จะเอาอะไรเทศน์ ก็ได้ภาษิตอันหนึ่งมันติดอยู่ในใจ จิตฺเต สงฺกลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา นี่ก็ไม่ลืมนะเพราะมันฝังลึก แปลว่า ถ้าจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นที่หวังได้ แล้วอีกบาลีหนึ่งก็ทับกันไป จิตฺเต อสงฺกลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา ถ้าจิตผ่องใสแล้ว สุคติเป็นที่หวังได้ จิตเป็นของสำคัญมาก ว่างั้นนะ เท่านั้นละ เราก็ได้ภาษิตนี้ขึ้นไปเทศน์ เทศน์มันจะตายจริง ๆ นั้นเป็นเดือนพฤศจิกากำลังหนาวนะ นี้เหงื่อแตกหมดเลย ขนาดนั้นมันจะลืมได้ยังไง หนาว ๆ ทำไมเหงื่อแตก คือคนมันจะตาย มันไม่ใช่เหงื่อมันยางตาย เทศน์พอผ่านไปได้ โห เกือบตายนะเทศน์

เทศน์แล้วพวกเพื่อนไปด้วยกันอายุก็เท่ากัน พวกเพื่อนกัน สมมุติว่าเราเป็นหัวหน้า คือเราบวชก่อนเพื่อนเฉย ๆ ครั้นออกมาแล้ว โอ๊ะ เทศน์เข้าท่าดีอยู่นะ เทศน์ดีนะ อยากตายเหรอเราก็ว่างั้น อย่ามาผ่านนะเวลานี้มันกำลังโมโห เอ้า เทศน์ดีจริง ๆ ยังอยากตายอยู่เหรอ รีบไปหาโลงผีมานะ เข้าท่านะ เทศน์ดีนะ เราก็เลยเดินเฉยไปเลย พอกลับมาถึงวัดนี้ไปค้นเอาหนังสือท่านเจ้าคุณอุบาลีมา ไปหาค้นเล่มไหน ๆ ท่านเทศน์กัณฑ์ไหนดี ๆ ชอบ เอากัณฑ์นั้นมาท่องเลย ท่องคล่องยิ่งกว่าปาฏิโมกข์ ทีนี้ไปไหนกูไม่ตายแหละ กูจะยกคัมภีร์นี้ขึ้นเทศน์ พอเรียนกัณฑ์เทศน์จบเรียบร้อยแล้ว ท่องเหมือนปาฏิโมกข์ ไปไหนไม่อดตายแหละที่นี่ เลยไม่ได้เทศน์อีกเทศน์กัณฑ์นั้นจนกระทั่งป่านนี้นะ หายเงียบไปเลย เทศน์กัณฑ์นั้นท่องได้เหมือนปาฏิโมกข์ นี่ละที่ว่าเราไม่ลืมนะ ฝังลึกมากจนคับหัวอกเลย จะเอาอะไรเทศน์ให้เขาฟัง ก็บวชพรรษาเดียว นี่เราไม่ลืม

คิดเทียบเข้ามา ๆ จนกระทั่งปัจจุบัน มันเลยไปขบขันอยู่นั่นละ ที่มันคับแค้นหัวอกจนจะตาย นี่เรียกว่าจนตรอกในเวลาเทศน์มีนั้นเป็นที่ฝังลึกในหัวใจ จากนั้นมาแล้วก็ไม่ได้เทศน์ ทีนี้เรียนไป ๆ มันก็รู้ เวลาจำเป็นเทศน์มันก็ถูไถไปได้ จนกระทั่งมาทุกวันนี้ จึงย้อนหลังไปคิดถึง นี่พูดถึงเรื่องสงสารสัตว์ ไม่สงสารแต่สัตว์บ้านแวงเท่านั้น บอก สูอย่ามาผ่านกูนะ กูยังโมโหไม่ถอย พวกสัตว์เขาก็วิ่งตามประสาของเขา เราเลยเอาเรื่องของเขามาเป็นเรื่องขบขัน มาโมโหให้เขา กูยังโมโหตั้งแต่โน้นยังไม่ถอย สูอย่ามาผ่านกูนะสูตายหมดนะ พูดตลกไปอย่างนั้น ขบขัน เวลาคับแคบตีบตันมันจะตายจริง ๆ นะเราไม่ลืม โธ่ ๆ ๆ ได้ภาษิตเดียว แล้วภาษิตนั้นก็เลยไม่ลืมจนกระทั่งทุกวันนี้


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO