นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน จันทร์ 06 พ.ค. 2024 2:33 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 07 ส.ค. 2015 5:35 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4549
๐ ในโลกนี้เป็นธาตุท้ังน้ัน ให้รู้เท่าทันกับธาตุ อย่าหลงตามธาตุ
๐ให้เห็นปัจจุบันธรรม อย่าส่งจิตอนาคตและอดีต
๐ ธาตุ ๘๔๐๐๐ ธาตุออกมากจากจิตหมด
๐ นิโรธเป็นของดับ เพราะรู้เท่าแล้ว จิตไม่เกิดยินดียินร้าย ดับไปเช่นนี้ ชื่อว่านิโรธ
๐ แสดงฌานเป็นที่พักชั่วคราวแล้วเจริญจิตต่อๆไป
๐ ให้เอากาย วาจา ใจ นี้ยกขึ้นพิจารณา อย่าเพิมอย่าเอาออก ให้เห็นเป็นปรกติ
๐ มรรค ๘ น้ัน สมาธิมรรคเป็นองค์ ๑ นอกนั้นเป็นปริยาย
๐ ให้รู้ธรรมะและอาการของธรรมถึงขั้นละเอียด แล้วก็จะรู้เองเห็นเอง
๐ ถ้าส่งจิตรู้เห็นนอกกายเป็นมิจฉาทิฎฐิ ให้รู้เห็นอยู่ในกายกับจิตนั้นเป็นสัมมาทิฎฐิ
๐ นักปฎิบัติใจต้องเด็ดเดี่ยวกล้าหาญที่สุดจึงรู้ธรรมเห็นธรรม
๐ เกิดตาย เกิดแล้วตาย ชมแต่หนังของเก่า ไม่หันไปหาที่จะพ้นทุกข์
๐ทำจิตให้เสมอ อย่าขึ้นอย่าลง อย่าไปอย่ามา ให้รู้เฉพาะปรกติของจิต
๐ แสดงฐานของธรรมะเป็นบ่อเกิดอริยสัจจ์ของจริง
๐แสดงตนดูถูกท่านว่าท่านเป็นคนโกรธ เพราะผู้พังไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะมุ่งแต่จิตของตัวเท่านั้น
๐ เกิดความรู้อย่างวิเศษแล้วย่อมหาอานิสงส์ประมาณไม่ได้
๐ อัตตาหิ...ฯลฯ เป็นของลึกลับเหลือที่สุด
๐ ให้รู้ธาตุเห็นธาตุ จิตจึงไม่ติดทางราคะ
๐ คนเราจะดีจะชั่วต้องเกิดวิบัติเสียก่อน
๐ ท่านแสดงไม่อ้างสวรรค์ นิพพาน ไม่อ้างทุคติ อ้างความเป็นไปทางปัจจุบันอย่างเดียว เพราะชั่วดีก็ปัจจุบันที่ยังเป็นชาติมนุษย์
๐ความรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นอนัตตนัย มากมายย่ิ่งกว่า ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เป็นอุบายที่จะทรมานสัตว์ พ้นวิสัยของสาวกที่จะรู้ตามเห้นตามได้ สาวกกำหนดรุ้แต่เพียง ๘๔๐๐๐เท่านี้ก้เป็นอัศจรรย์
๐ ท่านกำชับว่าอย่าให้จิตเพ่งออก ให้รู้ในตัวเห็นในตัว เมื่อรู้ในตัวแล้วรู้ทั่วไป เพราะตัวเป็นต้นเหตุ
๐ ให้แก้ปัจจุบัน เมื่อแก้ปัจจุบันได้แล้ว ภพ ๓ น้ันหลุดหมด ไม่ต้องส่งอดึต อนาคต ให้ลบอารมณฺ์ภายนอกให้หมด จึงจะเข้าอารมณ์ภายในได้ เพ่งนอกเป็นตัวสมุทัย เป็นทุกข์ และเป็นตัวมิจฉาทิฎฐิ เพ่งในเป็นตัวสัมมาทิฐ้ เพ่งในตัวเป็นสัมมาทิฐิ
๐ เล่นนิมิตก้ดี ยินดียินร้ายก้ดี เรียกว่าคุ้มเงาตน เชื่อนิมิตเป็นบ้า
โอวาทธรรมของท่านพระอาจารย์ม่ัน ภูริทตฺตเถระ
บันทึกธรรมโดย หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร พ.ศ. ๒๔๘๓ ณ วัดป่าโนนนิเวศน์ อุดรธานี




หลวงปู่อว้าน เขมโก
-------------------------------
• ปัญหาธรรม-คติธรรม คำผญาของท่านพระอาจารย์มั่น

หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เล่าให้อาตมาฟังว่า ท่านพระอาจารย์มั่นท่านจะพูดอะไร ท่านจะพูดเป็นปัญหาธรรมะ คำพูดของท่านพระอาจารย์มั่นจะพูดอย่างไรก็ต้องแปล แปลว่าอย่างไร หมายความว่าอย่างไร

“หวายซาววาหยั่งลง บ่เห็นส้น
ลึกบ่ตื้นคำเข่า หย่อนลงกะเถิง”

หวายซาววาหยั่งลง บ่เห็นส้น ปลายที่ว่าลึกนะมันลึก (เพราะ) ลึกบ่ตื้นคำเข่า หย่อนลงกะเถิง หมายความว่า การแสวงหาธรรมนั้น ถ้าเราจะซาวหา (ค้นหา) ยิ่งหาก็ยิ่งไกล ยิ่งจะไม่เห็น แต่นี่หาเข้ามา ลึกบ่ตื้นคำข้าวหย่อนถึง หาตรงที่คำข้าวหย่อนลงไปถึงนี่แหละ ตรงท่ามกลางอกนั่นแหละ แสวงหาธรรมจะไปค้นหาตามแบบตามตำรายิ่งหาก็ยิ่งไกล

นี่แหละตอนเป็นเด็ก อาตมาไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่นก็จำได้ไม่กี่คำนะ ไปก็มีหลวงตามาจากกรุงเทพฯ มาคืนแรก คืนสองหลวงตานั่นก็มาพัก ก็ขึ้นไปฟังเทศน์ท่านพระอาจารย์มั่น หลวงตานั่นมีเจตนาจะมาเที่ยวแสวงหามรรค ท่านตั้งใจจะมาจังหวัดสกลนคร อุดรธานี หนองคาย และนครพนม ถ้าไม่ได้มรรคจะกลับเข้ากรุงเทพฯ ท่านพระอาจารย์มั่นท่านบอกทางมรรคให้ หลวงตานั่นไม่เข้าใจ ท่านตบกระดานนะ เติ้มๆๆ เสียงดังคับวัดนั่นแหละ เสียงท่านพระอาจารย์มั่นนะ

ท่านพูดเสียงดัง “มคฺโค มคฺค แปลว่า ทาง ถ้าเราเดินถูกทางจึงจะเห็นถ้าเดินผิดทางแล้วจะไม่เห็น ทางพระพุทธเจ้าก็บอกแล้ว สมฺมาทิฏฺฐิ ความเห็นของเรา เห็นยังไงล่ะ ? ชอบหรือไม่ชอบ สมฺมาสงฺกปฺโป ความดำริ เรามีความดำริยังไงล่ะ ชอบหรือไม่ชอบ ท่านให้ศึกษา ถ้ามันชอบก็เรียกว่าชอบทางมรรคนั่นแหละ” ท่านพระอาจารย์มั่นอธิบายบอกทางให้ก็ไม่เข้าใจ หลวงตานั่นไม่รู้ สำคัญว่ามรรคอยู่ที่โน้น ที่นี้ ไปคารวะท่าน ท่านพูดอีกก็จำได้ตอนคารวะนี้ “จะเที่ยวหามรรคหาผล หาจนกระดูกเข้าหม้อพู้น มันก็ไม่เห็นดอก มรรคผลไม่ได้อยู่ที่โน่นที่นี่”

คำที่กล่าวเป็นภาษาอีสาน เป็นคำพังเพย คำผญา

“ไม้ซกงก หกพันง่า
กะปอมก่าแล่นขึ้น มื้อละฮ้อย
กะปอมน้อยแล่นขึ้น มื้อละพัน
ตัวใด๋มาบ่ทัน แล่นขึ้นนำคู่มื้อๆ”

ไม้ซกงก ได้แก่ ตัวของเรานี่แหละ ร่างกายของเรานี่แหละ, หกพันง่า หมายถึง อายตนะทั้ง ๖ นั่นเอง, กะปอมก่า คือ กิเลสตัวใหญ่ (คือ รัก โลภ โกรธ หลง) อันแก่กล้านั่นแหละ, แล่นขึ้น มื้อละฮ้อย (มื้อละร้อย) มันวิ่งขึ้นใจคนเราวันละร้อย, กะปอมน้อยแล่นขึ้นมื้อละพัน คือ กิเลสที่มันเล็กน้อยก็วิ่งขึ้นสู่ใจ วันละพัน, ตัวใด๋มาบ่ทัน แล่นขึ้นนำคู่มื้อๆ กิเลสที่ไม่รู้ไม่ระวัง ก็จะเกิดขึ้นทุกวันๆ

“หินก้อนล้านหนักหน่วงเสมอจิต
เอาสโนมาติดคือสิซังซากันได้
บัดเฮาเอาตาซ้ายแนเบิ่ง (เล็งดู)
คือสิหนักไปทางสโน”

นักปราชญ์เมืองอุบลราชธานีเขาเรียนสนธิ์เรียนมูลจนเขาผูกเป็นปัญหา หมอลำเขาเอาไปลำนะ ผูกเป็นปัญหาไปถามให้เขาตอบ ใครตอบได้ก็เก่ง ตอบไม่ได้ก็ไม่เก่ง เขาผูกเป็นปัญหา คือ เขาเรียนสนธิ์เรียนมูลจบ ผูกเป็นปัญหาธรรมได้ ผูกเป็นปัญหาถามคนอื่นให้เขาตอบ ถ้าเขาติด (ตอบไม่ได้) ก็ไม่เก่ง ถ้าคนไหนไม่ติดก็เก่งล่ะ

ภาษาบาลี สีลฺ ก็แปลว่า ศีล, สิลา แปลว่า หิน, หินก้อนล้านหนักหน่วงเสมอจิต จิตอันเดียวที่ไปยึดมั่นถือมั่น เรียกว่าหนักหน่วงเสมอจิต, เอาสโนมาติดคือสิซังซากันได้ สโน - มโน แปลว่าใจ ใจนี่เดี๋ยวมันก็ส่ายหาความรัก เดี๋ยวมันก็ส่ายหาความชัง มันเอียงอยู่อย่างนั้น มันไม่ตรง, บัดเฮาเอาตาซ้ายแนเบิ่ง คือสิหนักไปทางสโน ใจมันเป็นอย่างนั้น ท่านจึงให้มีสติสำรวมดูจิตดูใจของเรา ขณะเราพูด จิตของเราใจของเรามันเอียงไปทางไหนแล้ว ถ้าเอียงไปทางความรัก เอียงไปทางความชัง ก็ผิดทาง ท่านให้สำรวม

สโน สโนนี่เป็นของเบา ถ้าจะว่าตามภาษาทางนี้ เพราะสโน (ไม้โสน) มันเกิดในน้ำ ไม้สโนเขาเอามาทำจุกขวด มันไม่แตก มันอ่อน ไม้นั้นมันอ่อน ทำจุกขวดมันไม่แตก ขวดไม่แตกมันอ่อน มันนิ่ม ไม้นั้นเป็นของเบา

สโน สโนแปลศัพท์ มโน ก็แปลว่าใจ ใจของเรานี่แหละสโนนั่น แต่ใจของคนเรามันไม่ตรงเดี๋ยวก็เอียงหาความรัก เดี๋ยวก็เอียงหาความชัง คำว่าส่ายนะมันเอียง

“กล้วย ๔ หวี
จัวน้อย (สามเณรน้อย) นั่งเฝ้า
พระเจ้านั่งฉัน”

กล้วย ๔ หวี ได้แก่ ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม

จัวน้อยนั่งเฝ้า หมายถึง คนที่โง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้เท่าทัน ตามหลักของธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ นั่งเฝ้าตัวเองอยู่ ไม่รู้ว่าในตัวของตนนั้นมีอะไรบ้าง กินแล้วก็นอน

พระเจ้านั่งฉัน หมายถึง พระอริยเจ้าทั้งหลายที่รู้หลักความจริงอันประเสริฐ เมื่อภาวนาได้ที่แล้ว ก็เอาธาตุ ๔ (กล้วย ๔ หวี) มาพิจารณาตามหลักแห่งความเป็นจริง จนท่านเหล่านั้นสำเร็จคุณธรรมเบื้องสูง คือ พระอรหันต์ ท่านไม่นั่งเฝ้าอยู่เฉยๆ

ท่านพระอาจารย์มั่นมักจะสอนลูกศิษย์เป็นปริศนาธรรม เป็นต้นว่า “พระสูตร - เป็นตัวกลอง พระวินัย - เป็นหนังรัด พระปรมัตถ์ - เป็นผืนหนัง จตุทณฺฑฺ - เป็นไม้ฆ้อนตีประกาศก้องกังวาน กลองจะดังก็ต้องอาศัยหนังรัดตึง ถ้าหนังรัดหย่อนตีได้ก็บ่ดัง” (คำว่า กลอง ภาษาไทยอีสาน ออกเสียงเป็น “กอง”)

การส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนาจะให้เจริญแพร่หลายขยายกว้างไกล ก็ต้องอาศัยการศึกษาให้เข้าใจกระจ่างแจ้งในพระสูตร พระภิกษุก็ต้องมีวัตรปฏิบัติเคร่งครัดตามพระวินัย พิจารณาทำความเข้าใจให้ปรุโปร่งในพระปรมัตถ์ ทำความเข้าใจศึกษาแต่เพียงส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ได้ ถ้าทำเช่นนั้น ความเจริญของพระพุทธศาสนาในจิตใจคนจะหด เสื่อมถอยลงเหมือนตีกลองไม่ดังกังวาน เพราะสายรัดกลองหย่อนยาน

คำว่า “กลอง” ท่านหมายถึง กองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ “จตุ” แปลว่า สี่ กองรูป ขึ้นชื่อว่ารูปก็มีธาตุทั้ง ๔ ท่านยกเอามาตีความทั้งหมด ตีให้มันแตก เวทนาก็มีอยู่ในรูป สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีอยู่ในรูป ถ้าตีไปที่อื่นก็ไม่ถูกตัวกลอง (กอง) ต้องยกเอากองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ มาตี (ตีความ) ถ้าตีถูกตัวกลอง กลองจะดังก้องกังวานทั่วเมืองไทย ตีลงไปในกองรูป ให้ตีลงในธาตุทั้ง ๔ ตัวคนประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ เมื่อเข้าใจแล้วก็ไม่หลงยึดในตัวตนต่อไป “ผู้มีปัญญาจงพิจารณารู้เองเถิด”




หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
--------------------------------------
ภาวนานั้นเป็นที่รวบรวมกุศลความดีต่างๆ ที่เรากระทำมาจากการให้ทาน การรักษาศีลนั้น ให้มารวมอยู่ในจิตใจดวงนี้ในปัจจุบันนี้ นอกจากจิตใจนี้แล้ว ไม่มีอะไรจะรับไว้ซึ่งบุญซึ่งกุศลซึ่งคุณพระรัตนตรัยที่เรากระทำบำเพ็ญมา ถ้าใจไม่รับแล้ว ก็ไม่มี บุญคุณเหล่านั้น สูญหายไปเลย

คนส่วนมากทำบุญสูญหายไปเสียเป็นส่วนมาก เพราะว่าไม่รักษาจิตใจตัวเอง ทำบุญให้ทานไปแล้ว บางคนก็ให้ทานเงินหมื่นเงินแสนก็มี เมื่อให้ทานไปแล้วก็แล้วไป มีแต่จิตใจเพลิดเพลินไปกับกระแสของโลก ไม่มานั่งสงบจิต นึกน้อมถึงบุญ ถึงคุณ ถึงความดีที่ตนกระทำมา แล้วจะให้บุญคุณนั้นมาตั้งอยู่ในใจได้อย่างไรล่ะ เพราะว่าบุญก็ดี คุณก็ดี มันมีใจเป็นใหญ่เป็นประธาน ไม่ใช่บุญคุณนั้นเกิดก่อนใจนะ ใจเกิดก่อน หมายความว่าอย่างนั้น แล้วก็ใจเป็นผู้สร้างบุญคุณเหล่านั้นให้เกิดขึ้น มันถึงมีได้ ถ้าใจดวงนี้ไม่ชอบบุญชอบคุณแล้ว ไม่กราบไม่ไหว้ ไม่นึกไม่น้อมแล้ว บุญคุณนั้นก็ไม่อยู่ในใจของคนผู้นั้น

เพราะฉะนั้นเมื่อพูดมาถึงตอนนี้ ผู้ฟังทั้งหลายก็คงจะเข้าใจแล้วว่าการอบรมจิต การรักษาจิตนี้ นับว่าเป็นกิจจำเป็นในตัวของเราผู้หนึ่ง เราจะต้องตามรักษาจิตดวงนี้ทุกอิริยาบถทีเดียว ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม พูดจาปราศรัยเข้าสังคมใดๆ ก็มีสติสัมปชัญญะ ระมัดระวังสำรวมจิตใจนี้อยู่เสมอ ไม่ให้ใจของเราวอกแวกไปในทางบาปอกุศล

เพราะว่าการสังคมต่างๆ มันไม่ใช่มีแต่เรื่องดีๆ นะ เรื่องชั่วก็มีที่จะต้องได้พบ เมื่อไม่สำรวมจิตใจแล้ว ไม่นานมันก็เกิดเป็นอกุศลขึ้นมา เช่น มันโกรธ มันไม่พอใจให้ใครต่อใครขึ้นมา นั่นแสดงว่าจิตเป็นอกุศลขึ้นมาแล้ว ก็เพราะขาดการสำรวมระวัง

ดังนั้น ขอให้พากันถือเอาเป็นข้อปฏิบัติตามที่แนะนำมานี้ อย่าได้ละเลย เพราะว่าเรานับถือพระพุทธศาสนากันมานี้ แต่ละคนก็นับว่านานปีมาแล้ว แล้วสละปัจจัยไทยทาน อะไรที่เราแสวงหามาได้ มาบูชาพระพุทธศาสนานี้ ก็นับว่ามากมายทีเดียว ถ้านับรวมลงบัญชีไว้นะ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วก็อย่าให้บุญกุศลที่เราทำมานี้ มันสูญหายไปเสียเปล่า พยายามรวบรวมไว้ในจิตใจของเรานี้ให้ได้ ให้ใจมันยึดเอาบุญเอาคุณนี้ เป็นที่พึ่งทั้งกลางวันกลางคืน อย่าให้ไปยึดเอาเรื่องภายนอกนั้นมาเป็นที่พึ่งที่ระลึกอยู่โดยส่วนเดียว

ถ้าเราไม่ควบคุม ไม่น้อมนึกแล้ว มันก็จะไหลไปสู่อารมณ์ภายนอกนั้น จิตนี้นะ กระแสจิตนี้มันไปโน้มไปน้าวเอาอารมณ์ภายนอก เข้ามาวิตกวิจารอยู่ภายในนี้นะ แล้วบุญคุณความดีที่เราทำมาแต่ก่อนก็ลืมเลือนไป ใจมันไปมุ่งหมายอยู่แต่ภายนอก รายได้รายเสีย หรือว่าเรื่องอุปสรรคขัดข้อง หรืออะไรต่อมิอะไร มาวิตกวิจารอยู่ภายในนี้ แล้วบุญกุศลคุณพระรัตนตรัยไม่ทราบไปอยู่ที่ไหน

อันนี้ให้พากันระมัดระวังให้ดี ให้ทำบุญนั้นน่ะ ทำได้อยู่ แต่การที่จะมารักษาบุญให้มั่นคงไปนี้ คนส่วนใหญ่ส่วนมากไม่ค่อยเอาใจใส่ นึกว่าตนทำบุญไปแล้วต้องได้บุญอยู่วันยังค่ำ แล้วก็ปล่อยใจของตนให้เลื่อนลอยไปทั่วนี่น่ะ คนมีความเห็นอย่างนี้มีอยู่เยอะแยะ

แต่ที่จริงแล้วเห็นอย่างนั้นไม่ถูกต้อง มันผิดกับธรรมะ คือ องค์แห่งความเพียร ๔ อย่าง ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ คือ

๑.เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นภายในจิตใจ

๒.เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว

๓.เพียรทำบุญกุศลให้เกิดขึ้นในจิตใจ

๔.เพียรรักษาบุญกุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม

ความเพียร ๔ อย่างนี้ เป็นความเพียรชอบ ควรประกอบไว้ให้มีในตน พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้แล้ว



หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
---------------------------------------
บังสุกุล - จะอธิบายธรรมของตื้นๆ นี่แหละให้ฟัง ของตื้นๆ แต่หากไม่พิจารณา ก็เป็นของตื้นไป ถ้าพิจารณาแล้วก็เป็นของลึกซึ้ง
โดยส่วนมากคนเราไม่ค่อยเอามากำหนดพิจารณา เห็นเป็นเรื่องเป็นประเพณี ทำสืบๆ ต่อกันไป
ศาสนาที่ไม่ถาวร ศาสนาที่ไม่ตั้งมั่น ก็เพราะเหตุนี้เอง คนไม่ตั้งใจเอาจริงๆ จังๆ

ธรรมที่ท่านแสดงสอนไว้นั้น ล้วนแต่เป็นของจริงทั้งหมด แต่เราไม่เอาจริงเอาจัง
จะชักตัวอย่างให้ฟัง ดั่งเรากราบพระ
เราไหว้พระ กราบไม่ทราบว่ากี่หน การกราบนั้นประสงค์อะไร ไม่คิดคำนึงถึงเลย
กราบที่หนึ่งระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า ที่สองระลึกถึงคุณพระธรรม ครั้งที่สามระลึกถึงคุณพระสงฆ์
ถ้าหากว่าตั้งใจจริงๆ จังๆ นึกถึงคุณพระองค์จริงๆ นึกธรรมคำสอนของพระองค์จริงๆ
นึกถึงพระสงฆ์สาวกของท่านปฏิบัติดีแล้ว จริงๆ จังๆ สามข้อเท่านี้แหละ เป็นอันว่าถูกต้องหม๊ด
ที่เราทำไป ที่จะทำไอ้ ศีล สมาธิ ปัญญา ตั้งต้นสามอย่างนี้ถูกซะแล้ว อันนั้นก็ถูกไปหมด
ถ้าตั้งต้นทั้งสามอย่างไม่ถูก ก็เหลวไหลหมด บางคนกราบ กราบแต่มือ
กราบแต่กาย แต่ตาเหลียวล่อกแล่กๆ ไปโน่นไปนี่อะไรต่างๆ
คิดไปคิดมาก็น่าสงสาร เหมือนกับเด็กๆ ทำเล่น
เขาไม่ใช่ของเล่นๆ นะระลึกถึงคุณพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ เป็นของลึกซึ้งสุขุมมาก
ท่านที่ระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ ลึกซึ้งถึงจนกระทั่งน้ำตาตกน้ำตาไหลน้ำตาหยดย้อยออกไป
ด้วยการถึงพระคุณจริงๆ อย่างนี้แหละเป็นตัวอย่าง ชักตัวอย่างให้ฟัง
เมื่อทำเป็นแต่สักแต่ว่าทำ ไม่รู้จักความประสงค์ มันก็เป็นการเลอะเทอะเหลวไหลไปหมด

คราวนี้จะอธิบายถึงเรื่องหัวข้อธรรมที่ว่า ถ้าหากพิจารณาลึกก็เป็นของลึก
พิจารณาตื้นก็เป็นของตื้น อย่างที่ท่านนิยมนับถือกัน
เวลาคนตายชักบังสุกุล เขาเรียกชักบังสุกุล
อนิจจา วะตะสังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสะโมสุโข
พระท่านชักบังสุกุล บางทีพระก็ไม่รู้เรื่องซ้ำ
โยมก็เข้าใจว่าบังสุกุล ทำบุญบังสุกุลนั่น ชักบังสุกุลคนตาย
บังสุกุลนั้นหมายความถึง ชักบังสุกุลคนตายให้ได้บุญ ความประสงค์อย่างงั้น ตัวเองเลยเฉย ไม่คิดนึกอะไรเลย

ความเป็นจริงแล้วนั่น โบราณจารย์ท่านสอน ให้ชักบังสุกุลคนเป็นต่างหาก เอาคนตายมาเป็นพยาน
ท่านจะชักบังสุกุลอย่างนั้น ไม่ใช่ชักให้คนตาย คนตายนี้รู้เรื่องอะไร
แม้แต่ทำบุญทุกสิ่งทุกอย่าง มอบให้คนตายหม๊ด ไม่คิดว่าทำบุญเอาเรา
เราทำบุญได้บุญแล้ว อุทิศส่วนบุญให้คนตาย อุทิศไม่ใช่ทำบุญให้คนตาย อุทิศให้ต่างหาก
ทำบุญให้คนตายหมายความว่าให้คนตายทั้งหมด อุทิศส่วนบุญให้
เราทำบุญอะไร ให้ข้าว ให้ปลาอาหาร ตลอดผ้าผ่อนทุกสิ่งทุกประการ
เราทำบุญอันนั่นแหละ อานิสงส์อันนั้นแหละ ที่เราเกิดศรัทธาเลื่อมใสปลื้มปิติ แล้วทำบุญอันนั้นแหละ
แล้วอานิสงส์อันที่เราได้นั่นแหละ ส่งไปให้คนตายจึงค่อยถูก
ทำบุญให้คนตายทั้งหมด ตนเองเลยไม่เอาอะไรทั้งหมด อย่างนี้ไม่ถูก
ถ้าทำไม่ถูกเลย เลยผิดตั้งแต่เบื้องต้น
ตั้งแต่ทำบุญนี้ขึ้นไป รับศีลก็ดี สมาธิปัญญาก็ดีเลยผิดหมด

ท่านน่ะชักอนิจจา คือให้พิจารณา อนิจจา วะตะสังขารา
เป็นคำพูด ที่คนรู้จักภาษากันนี่แหละ พูดให้รู้เรื่องกันนี่แหละ
ถึงแม้ว่าแปลบาลีอันนั้นไม่ได้ ก็ให้พิจารณาให้เข้าใจ อย่างที่ว่าอธิบายอยู่เดี่ยวนี้แหละ
ถึงคราวที่ชักบังสุกุลคนตาย ก็ให้พิจารณาอย่างที่ว่านี่แหละ อนิจจา วะตะสังขารา
สังขารคือรูป นามก็ดี รูปได้แก่ตัวของเรา นามได้แก่จิตใจก็ดี อันที่มันปรุงมันแต่ง มันคิดมันนึก
ที่มันส่งส่ายคิดไปมาต่างๆ ปรุงแต่งให้เป็นโน่นเป็นนี่อะไรต่างๆ เรียกว่า สังขาร
สังขารตัวนี้แหละ มันไม่เที่ยง ไม่เที่ยงยังไง เกิดมาแล้วต้องแปรปรวน
ตั้งแต่ต้นโน่นแหละ ตั้งแต่ปฏิสนธินั่นแหละ แปรมาโดยลำดับ
จนกระทั่งคลอดออกมา เติบโตขึ้นโดยลำดับ อันนั่นเรียกว่ามันไม่เที่ยง
จนถึงที่สุด ก็แก่เฒ่าชรา มรณภาพ ถึงความตายนั่นหละ เรียกว่าตาย
นี่มันแปรอยู่อย่างนี้ แปรปรวนอยู่อย่างนี้

อันนี้สังขารจิต คิดปรุงนั่นปรุงนี่ แต่งนั่นแต่งนี่ สารพัดทุกสิ่งทุกประการ
ไม่มีเวลาพักผ่อน แม้แต่นอนก็ฝันนั่นคือสังขารนั้นแหละ ไม่หยุดไม่ยั้ง
เขาเรียกว่าสังขารเป็นของไม่เที่ยงอย่างนี้แหละ ท่านให้พิจารณาว่าเป็นของไม่เที่ยง
ท่านจะบอกว่า อนิจจาคือของไม่เที่ยง

วะตะสังขารา สังขารนี้เป็นของไม่เที่ยงหนอ
คนที่เห็นของไม่เที่ยงไม่ใช่ของง่ายๆ คำว่าลึกซึ้งนั้นแปลว่ามันไม่ใช่ของง่ายๆ
ที่เห็นสังขารรูปนามว่าเป็นของไม่เที่ยงนั้น เป็นของละเอียดที่สุด
ถ้าพูดถึงเรื่องวิปัสนาก็เป็นวิปัสนาญาณ มันเหนือกว่าสมถะไปเสียแล้ว จนวิปัสนาเป็นวิปัสนาญาณ
ถ้าพูดถึงเรื่องไอ้วิปัสนาญาณแล้ว มันเข้าถึงมรรคผลนิพพานโน่นแหละ
ไม่ใช่ของง่ายๆ มันลึกซึ้งละเอียดถึงขนาดนั้น จึงว่าเป็นของลึกละเอียด แต่เรากลับมาทำเป็นเล่นๆ เสีย
มันไกลนักไกลหนาไกลจากพระพุทธศาสนา ทำสักแต่ว่าเป็นประเพณี
ทำสักแต่ว่าทำ ไม่ได้คิดนึกและไม่รู้สึกพิจารณาอะไรทั้งหมด

อุปปาทะวะยะธัมมิโน คือมันเกิดขึ้นแล้ว มันย่อมดับไป
สังขารทั้งปวงหมด ไม่ว่าอะไรทั้งหมดล่ะ
รูปนามก็ตามเถอะ อย่างที่ว่ามานี่แหละ มันเป็นของไม่เที่ยง นี่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
คราวนี้พูดถึงเรื่องการเกิดการดับคือของไม่เที่ยงเกิดดับก็ดี
เกิดแล้วก็ดับไป เกิดนี่ก็ดับไป เกิดที่นี่ก็ดับที่นี้ ดับที่นี่ก็ไปโผล่ที่โน่น
เกิดโน่นก็ดับที่โน่นอีก เกิดดับเกิดดับอย่างนี้ตลอดเวลา
อย่างรูปกายของเราเกิดมาในโลกอันนี้ ดับก็ในโลกอันนี้ อันนี้เรียกว่าเกิดดับ
เกิดที่ไหนดับที่นั่น สังขารจิต เกิดที่จิตนั่นหละ ดับลงที่จิตนั่นหละ
มันเกิดขึ้นมาแล้ว โผล่ขึ้นมาหน่อยหนึ่งมันไม่ทันอะไรก็ดับลงไปที่นั่นหละ
เรียกว่า อุปปาทะวะยะธัมมิโน มันเป็นธรรม
ลองดูสิเห็นเป็นธรรม ไม่ใช่ของง่ายๆ เห็นสักแต่ว่าเกิดขึ้นแล้วดับไป
เกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วดับ อยู่อย่างนั้น
เราเข้าใจว่าตนว่าตัว เราเข้าใจว่าเกิดขึ้นมาเป็นตนเป็นตัว เป็นเรา เป็นเขา นี่เราเข้าใจผิดต่างหาก
มันใช่ตัวของเราเหรอ เขาเกิดขึ้นมาเอง แล้วดับลงไปเอง ไม่อยู่ในอำนาจวิสัยของเรา
เราย่อมเกิดขึ้นมาแล้ว ถือตนถือตัว ถือรูปถือนาม ว่าสดสวยงดงาม
ว่าเป็นหนุ่มเป็นแก่ สารพัดทุกอย่าง ถือเอาเสียจน ถือมั่นถือรั้นเอาเสียจริงๆจังๆ
ใครมาว่าก็โกรธ ใครมาว่าก็เกลียด ใครมาว่าก็ดุ ไม่พอใจก็โกรธเอา
ที่จริงเขาว่าความเกิดนั้นต่างหาก เขาไม่ได้ว่าเรา ทางเรานี้ไปยึดก็เลยถูกเราเสีย
ความเป็นจริงเขาว่านั้นมันเกิดขึ้นมาแล้วต่างหาก ปรากฏขึ้นมาแล้วต่างหากคนที่ว่า
เรานี่ไปเกิดไปถือเลย ถือเป็นตนเป็นตัวขึ้นมา
อุปปาทะวะยะธัมมิโน ท่านจึงว่ามันเป็นธรรมอันหนึ่งเท่านั้นน่ะ
ธรรมทั้งหลายนั่น สิ่งทั้งปวงหมดในโลกเกิดขึ้นมาเป็นธรรมทั้งหมด

นี่แหละพิจารณาให้เห็นเป็นธรรมอย่างนี้ เราเกิดขึ้นมาในโลก
เรียกว่าเกิดขึ้นมาในโลก แต่ว่าเราพิจารณาให้เห็นเป็นธรรม
ทั้งโลกที่เราเห็นกันอยู่นี้ อย่าไปเข้าใจว่าเป็นโลก ให้เข้าใจว่าเป็นธรรม จึงจะเห็นธรรม
ถ้าไม่พิจารณาให้เป็นธรรม ก็ไม่เห็นธรรมอีกแหละ
ถ้าพิจารณาเห็นเป็นทางโลก ก็เป็นไปตามโลกหมดทุกสิ่งทุกอย่าง
อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอยู่อย่างนั้น
เตสัง วูปะสะโม สุโข ความเข้าไประงับ ดับเสียซึ่งสังขารทั้งปวงเป็นสุข
ครั้นเห็นอย่างนี้ก็เป็นสุขน่ะสิ มันจะไปถืออะไร มันมีอะไรเป็นธรรมทั้งหมด มันก็เป็นสุขนะสิ
คนที่เห็นเป็นธรรมเป็นสุข คนที่เห็นเป็นโลกเป็นทุกข์
เท่านี้แหละให้พิจารณาธรรม เท่านี้แหละพิจารณากรรมฐาน
เรามาปฏิบัตินี่เพื่อปฏิบัติธรรมนี้แหละ ให้เห็นธรรมนี้แหละ ให้เห็นเป็นธรรมนี่แหละ
ถ้าเกิดมาเป็นโลกก็ยาว เราเกิดมาเป็นโลกนั่นหละ แต่ว่าให้พิจารณาเป็นธรรม ให้เป็นอนิจจัง
พิจารณาอนิจจังเท่านั้นแหละ เลยเป็นอนัตตา เลยเป็นทุกขังไปซะ
มันเกิดดับ เกิดดับ ก็เรียกว่าทุกขัง มันไม่ใช่ของเราน่ะ มันเป็นเองของมันต่างหาก
มันเป็นอนัตตา อนิจจังแล้วเป็นทุกขังอนัตตาไปพร้อมหมดในตัว
จึงว่าธรรมทั้งหลายนั้น เป็นของละเอียดลึกซึ้งสุขุมมาก

ถ้าหากว่าเข้าใจพิจารณาแล้ว แต่ละบท แต่ละบาท แต่ละถ้อยกระทงความนี้
ลึกซึ้งสุขุมมาก ถ้าหากเราพิจารณาตื้นๆ ก็เลยไม่เห็น
หรือถือเป็นธรรมเนียมขนบธรรมเนียมประเพณี
อย่างอนิจจานี้แหละเป็นต้น สวดผ้าบังสุกุลให้หน่อย
พระก็ อนิจจา วะตะสังขารา อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เท่านั้นก็พอแล้ว
เลยไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ผู้ฟังก็ไม่รู้เรื่อง พระก็ไม่รู้เรื่องด้วยกัน
ศาสนาจะตั้งมั่นอย่างไง ศาสนาจะถาวรลงไปได้ยังไง ทำเป็นประเพณี
ทำเป็นการประเพณีสืบๆ กันไปเฉยๆ เอาหละอธิบายเท่านี้แหละ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO