นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อาทิตย์ 05 พ.ค. 2024 4:34 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: จิตสงบย่อมอิ่มตัว
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 23 ก.ค. 2015 5:21 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4549
หลวงตามหาบัว
---------------------------------------
การกำหนดต้องทำเหมือนจิตดวงนี้เป็นนักโทษทีเดียว ไปไหนต้องถูกควบคุมด้วยสติปัญญา จะคิดปรุงเรื่องอะไรขึ้นมา สติปัญญาต้องควบคุมให้ทันกับเหตุการณ์ อาการนั้นๆ ก็ดับไปเรื่อยๆ หนัก เบา ใจก็รู้อย่างชัดเจนว่า “ตัวจิตนี้แล เป็นตัวนักโทษ” ไม่ใช่สิ่งอื่นใดทั้งนั้น
รูป ไม่ใช่โทษ และไม่ใช่สิ่งที่ให้คุณ ไม่ใช่สิ่งที่ให้โทษ เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ไม่ใช่ผู้ให้โทษ ไม่ใช่ผู้ให้คุณ เพราะไม่ใช่ตัวโทษ ไม่ใช่ตัวคุณ จิตนี้เท่านั้นเป็นผู้ไปปรุง เป็นผู้ไปแต่ง ไปหลอกลวงตัวเองให้เกิดความดีใจ เสียใจ ให้เกิดความสุข ความทุกข์ขึ้นมา ด้วยอำนาจแห่งอารมณ์ที่เกิดขึ้นจากใจนี้เท่านั้น สติปัญญาเห็นแจ้งเข้าไปโดยลำดับๆ แล้วก็ย้อนเข้ามาเห็นโทษของใจโดยถ่ายเดียว ไม่ตำหนิติชมสิ่งอื่นๆ ดังที่เคยเป็นมาอีกแล้ว สติปัญญาจดจ่ออยู่กับจิตที่กำลังเป็นนักโทษอย่างเดียว ไม่นานเกินกาล ต้องจับตัวนักโทษ คือ จิตได้ และหายห่วงโดยประการทั้งปวง
เอ้า จะคิดปรุงเรื่องอะไรขึ้นมาก็ตาม นั้นเป็นเรื่องของใจที่ว่า ปรุงเสือ ปรุงช้าง มันเป็น “สังขาร” ออกไปหลอกตัวเองทั้งมวล สติปัญญาก็รู้ทันทุกระยะ ที่นี่กระแสแห่ง “วัฏฏะ” นับวันเวลาแคบเข้ามา สุดท้ายก็จับตัวนักโทษได้ แต่ยังลงโทษมันไม่ได้ กำลังอยู่ในขั้นวินิจฉัยใคร่ครวญเพื่อโทษของมัน จนกว่าจะมีหลักฐานเหตุผลเป็นที่แน่นอน จึงจะลงโทษประหารมันได้ตามกระบิล “ธรรมาภิสมัย” นี่ถึงขั้นของสติปัญญาอันสำคัญแล้ว
ทีแรก อาศัยธาตุขันธ์เป็นที่พิจารณาซักฟอกจิตใจด้วยธาตุ ด้วยขันธ์ เป็นหินลับสติปัญญา ซักฟอกจิตใจด้วยรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เป็นหินลับปัญญา และซักฟอกจิตใจโดยเฉพาะ ด้วย “สติปัญญาอัตโนมัติ” ขั้นนี้ตามต้อนกันเฉพาะจิตอย่างเดียว ไม่ออกไปเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส เพราะรู้เรื่องรู้ราว และปล่อยวางหมดแล้ว ว่านั่นไม่ใช่ตัวเหตุตัวผล ไม่ใช่ตัวสำคัญยิ่งไปกว่าจิตใจดวงนี้ที่เป็นตัวการสำคัญมาก เป็นนักโทษที่ลือนามในวง “วัฏฏะ” นักก่อกวน นักยุ่งเหยิง วุ่นวายตัวเองอยู่ที่นี้แห่งเดียว
สติปัญญาค้นเข้ามา แล้วจดจ้องที่ตรงนั้น ไปที่ไหนก็มีแต่จิตดวงนี้แหละเป็นผู้ก่อโทษขึ้นมา คอยดูแต่นักโทษคนนี้จะแสดงตัวอะไรออกมา นอกจากจะระวังนักโทษตัวนี้จะแสดงตัวอะไรออกมาแล้ว ยังต้องมีปัญญาสอดแทรกเข้าไปว่า “อะไรเป็นเครื่องเสี้ยมสอน อะไรเป็นฉากหน้าฉากหลัง ของนักโทษนี้ จึงต้องทำโทษ ทุจริตอยู่ตลอดเวลา คิดปรุงแต่เรื่องราวหลอกลวงอยู่ไม่ขาดวรรคขาดตอน เป็นเพราะอะไร
สติปัญญาขุดค้นเข้าไปที่ตรงนั้น ไม่เพียงแต่จะตะครุบ หรือตีต้อน เฉพาะอาการของมันที่แสดงออกมาเท่านั้น ยังค้นเข้าไปในรวงรังของมันอีก มีอะไรเป็นเครื่องผลักดันอยู่ภายใน? ตัวการสำคัญคืออะไร? ต้องมีสาเหตุ ถ้าไม่มีสาเหตุ ไม่มีปัจจัย เป็นเครื่องหนุนให้จิตแสดงออกมา จิตจะออกมาเฉย ๆ ไม่ได้
ถ้าแสดงอาการออกมาเฉย ๆ ก็ต้องเป็นขันธ์ล้วน ๆ แต่นี่มันไม่เฉย ๆ นี่ จิตแสดงอาการอะไรออกมา? ปรุงเรื่องอะไรออกมา มันทำให้เกิดความดีใจ เสียใจ ทั้งนั้น แสดงว่ามันไม่ใช่อาการออกมาเฉย ๆ มันมีเหตุมีปัจจัยพาให้ออก ให้เป็นเหตุเป็นผล เป็นสุข เป็นทุกข์ ได้จริง ๆ ในเมื่อหลงมัน
ค้นเข้าไป ระยะนี้เราเห็นจิตเป็นนักโทษแล้ว เราต้องพิจารณาปล่อยวางสิ่งภายนอกทั้งหมด ภาระน้อยลงไป น้อยลงไป มีแต่เรื่องจิตกับเรื่องความปรุง ความสำคัญมั่นหมายที่เกิดขึ้นจากจิตโดยถ่ายเดียวเท่านั้น สติปัญญาหมุนติ้วๆ อยู่ในนั้น สุดท้ายก็รู้ว่ามีอะไรเป็นสาเหตุที่ให้จิตคิดปรุงขึ้นมา ให้เกิดความรัก ความชัง ความโกรธ ความเกลียด เมื่อมีอะไรมาปรากฏใจก็รู้อันนั้น พอรู้อันนั้นแล้ว “จอมสมมุติ” ที่กลมกลืนกันกับจิตก็สลายไป ทีนี้ทำลาย “วัฎฎะ” ได้แล้วด้วยสติปัญญา จิตก็หมดโทษ กลายเป็นจิตที่บริสุทธิ์ล้วนๆ ขึ้นมา เมื่อปัญหา “วัฏจักร” สิ้นสุดลงแล้ว จะตำหนิโทษจิตไม่ได้แล้ว ที่ตำหนิได้เพราะโทษยังมีอยู่ในจิต มันซ่อนอยู่ในจิต เหมือนกับโจรผู้ร้ายหรือข้าศึกเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในอุโมงค์ใด ต้องทำลายอุโมงค์นั้นด้วย จะสงวนอุโมงค์เอาไว้ เพราะความเสียดายนั้นไม่ได้
“อวิชชา” นี้เป็นจอมแห่งไตรภพที่เข้าไปแทรกอยู่ในจิต ฉะนั้นจะต้องพิจารณาทำลายลงให้หมด ถ้าจิตไม่เป็นของจริงแล้วจิตจะสลายไปพร้อม “อวิชชา” สลายตัว ถ้าเป็นของจริงตามธรรมชาติแล้ว จิตนั้นจะกลายเป็นจิต “บริสุทธิ์” ขึ้นมา เป็นของประเสริฐขึ้นมา เพราะสิ่งที่จอมปลอมทั้งหลายได้หลุดลอยไปแล้วด้วยสติปัญญา

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
---------------------------------------
มันเกิดตรงไหนก็ดับตรงนั้น ไม่รู้จักที่เกิด ไปดับที่อื่น มัน ก็ไม่ดับซี่ อุปมาเหมือนดับไฟฟ้า ดับดวงน้ีดวงนั้นก็ยังอยู่ ดับดวงนั้น ดวงอื่นยังอยู่ คนผู้ฉลาดดับท่ีหม้อแบตเตอรี่ มันก็มืดม๊ดทั่วพระนคร อันน้ีไปดับจิตดวงเดียวก็หมด ไม่ต้องไปดับตาดับหู ดับจมูกดับลิ้น ดับกายดับใจ ดับที่ใจดวงเดียวแล้วดับม๊ด เพราะท้ังหมดมันเกิดจากใจ




หลวงตามหาบัว
---------------------------------------
จิตสงบย่อมอิ่มตัว คำบริกรรมนั้นก็อิ่ม ไม่รับคำบริกรรมต่อไป มีแต่ความรู้ล้วน ๆ เด่นอยู่ภายในหัวใจ คือในหัวอกนี้แหละ นี่หัวอกตรงกลางอกเรานี้ ไม่ได้อยู่บนสมองนะ ทางภาคภาวนานี้ได้ทำเต็มกำลังความสามารถจนกระทั่งหายสงสัยในเรื่องความรู้นี้อยู่ที่ไหนแน่ ความรู้ไม่ได้อยู่บนสมอง บนสมองเป็นสถานที่ทำงานแห่งความจำทั้งหลาย เวลาเราเรียนหนังสือเรียนมาก ๆ นี้สมองทื่อไปหมดเลย เพราะความจำอยู่บนสมองไปทำงานอยู่ตรงนั้น แต่เวลาภาวนานี้ภาวนามากเท่าไร ๆ จิตของเรายิ่งสงบอยู่ภายในทรวงอกของเราตรงกลางอกนี้แหละ สงบอยู่ตรงนี้สว่างไสวอยู่ตรงนี้ แม้จะเกิดทางด้านปัญญาก็เกิดอยู่ที่จุดกลางนี้ คือเกิดอยู่ในทรวงอกของเรานี่ ซ่านอยู่ภายในนี้ สว่างไสวอยู่รอบตัวภายในหัวอกนี้ไม่ได้อยู่บนสมอง บนสมองเลยกลายเป็นอวัยวะเหมือนอวัยวะทั่ว ๆ ไปหมด ไม่ปรากฏว่าความรู้ไปหนักไปแน่นอยู่ในจุดใด แต่มาหนักแน่นอยู่ในท่ามกลางอกนี้เท่านั้น นี่เรื่องการภาวนา


เวลาจิตมีความสงบแล้วจะสว่างไสว หรือจะสงบเย็นอยู่ภายในหัวอกของเรานี้ เวลาจิตเกิดปัญญา คำว่าปัญญานี้ ปัญญาที่เราเรียนมานั้นเป็นบาทฐานแห่งปัญญาที่จะเกิดขึ้นโดยหลักธรรมชาติของตัวเอง ที่ท่านเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ในหลักธรรมชาติเป็นอย่างนั้น จะเกิดขึ้นภายในนี้แหละ อาศัยปัญญาที่เราคาดเราคิดนี้เสียก่อน สัญญาเป็นตัวหมายไป ปัญญาพิจารณาโดยจิตของเรามีความสงบเย็นพอสมควรแล้ว ก็อิ่มอารมณ์ภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสสัมพันธ์ ที่ทำให้ใจคึกคะนองก็ปล่อยตัวไป ๆ มีแต่ความสงบเย็นอยู่ภายใน นี่เรียกว่าจิตอิ่มอารมณ์

จิตอิ่มอารมณ์นี้เราพาพิจารณาทางด้านปัญญา คือ อนิจฺจํ ก็ตาม ทุกฺขํ ก็ตาม อนตฺตา ก็ตาม อสุภะอสุภังความไม่สวยไม่งามในร่างกายของเขาของเราก็ตาม เราก็พิจารณาอยู่ภายในหัวอกของเรานี้แหละ มันหากอยู่ในนี้เองไม่ได้ไปไหน นี่เรียกว่าการพิจารณาทางด้านปัญญา แล้วจะเกิดความคล่องแคล่วแกล้วกล้า ความสว่างไสว เกิดความคล่องตัวขึ้นภายในจิตใจ นี่เรียกว่าปัญญาได้เกิดกับผู้ภาวนา ทีแรกอาศัยสัญญาคาดหมายไปเสียก่อน พอคาดหมายไปหลายครั้งหลายหนปัญญาค่อยตั้งตัวได้แล้ว ก็ดำเนินโดยลำพังตัวเองไม่ต้องไปอาศัยสัญญาอารมณ์ที่ไหน เป็นปัญญาอัตโนมัติขึ้นมา

ดังที่ท่านแสดงไว้ในปัญญา ๓ ประเภท คือ สุตมยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการได้ยินได้ฟัง ๑ จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดขึ้นจากการพินิจพิจารณาไตร่ตรองของสามัญชนทั่ว ๆ ไป ๑ ภาวนามยปัญญา ๑ ส่วนภาวนามยปัญญานี้เกิดขึ้นโดยหลักธรรมชาติของตัวเอง นี้แลที่ท่านว่าปัญญาเกิด ภาวนามยปัญญานี่เป็นปัญญาเกิดขึ้นโดยหลักธรรมชาติ ท่านเรียกว่าอัตโนมัติ ปัญญาขั้นนี้แลเป็นปัญญาที่จะฆ่ากิเลส เป็นปัญญาที่เห็นมรรคเห็นผลโดยลำดับ





หลวงตามหาบัว
--------------------------------------
การบริกรรมภาวนา มีบทกรรมฐานนั้นๆเป็นเครื่องกำกับใจด้วยสติ จะระงับความคะนองของใจได้เป็นลำดับ จะปรากฏความสงบสุขขึ้นที่ใจ มีอารมณ์อันเดียว คือรู้อยู่จำเพาะใจ ปราศจากความฟุ้งซ่านใดๆ ไม่มีสิ่งมากวนใจให้เอนเอียง เป็นความสุขจำเพาะใจ ปราศจากความเสกสรรหรือปรุงแต่งใดๆทั้งสิ้น เพียงเท่านี้ ผู้ปฏิบัติจะเห็นความอัศจรรย์ในใจ ที่ไม่เคยประสบมาแต่กาลไหนๆ และเป็นความสุขที่ดูดดื่มยิ่งกว่าอื่นใดที่เคยผ่านมา

อนึ่ง พึงทราบ ผู้บริกรรมบทกรรมฐานนั้นๆ บางท่านอาจปรากฏอาการแห่งกรรมฐาน ที่ตนกำลังบริกรรมนั้นขึ้นที่ใจ ในขณะที่กำลังบริกรรมอยู่ก็ได้ เช่น ปรากฏผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้น อาการใดอาการหนึ่ง ประจักษ์กับใจเหมือนมองเห็นด้วยตาเนื้อ เมื่อปรากฏอย่างนี้ พึงกำหนดดูอาการที่ตนเห็นนั้นให้ชัดเจนติดใจ และกำหนดให้ตั้งอย่างนั้นได้นาน และติดใจเท่าไรยิ่งดี เมื่อติดใจแนบสนิทแล้วจงทำความแยบคายในใจ กำหนดส่วนที่เห็นนั้น โดยเป็นของปฏิกูลโสโครก ทั้งอาการส่วนใน และอาการส่วนนอกของกายโดยรอบ และแยกส่วนของกายออกเป็นส่วนๆ หรือเป็นแผนกๆ ตามอาการนั้นๆ โดยเป็นกองผม กองขน กองเนื้อ กองกระดูก ฯลฯ เสร็จแล้วกำหนดให้เน่าเปื่อยลงบ้าง กำหนดไฟเผาบ้าง กำหนดให้ แร้ง กา หมา กินบ้าง กำหนดให้แตกลงสู่ธาตุเดิมของเขา คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ บ้างเป็นต้น การทำอย่างนี้เพื่อความชำนาญ คล่องแคล่วของใจในการเห็นกาย เพื่อความเห็นจริงในกายว่า มีอะไรอยู่ในนั้น เพื่อความบรรเทาและตัดขาดเสียได้ซึ่งความหลงกาย อันเป็นเหตุให้เกิดราคะตัณหา คือ ความคะนองของใจ ทำอย่างนี้ได้ชำนาญเท่าไรยิ่งดี ใจจะสงบละเอียดเข้าทุกที ข้อสำคัญเมื่อปรากฏอาการของกายขึ้น อย่าปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่สนใจ และอย่ากลัวอาการของกายที่ปรากฏ จงกำหนดไว้เฉพาะหน้าทันที กายนี้เมื่อภาวนาได้เห็นจนติดใจจริงๆ จะเกิดความเบื่อหน่ายสลดสังเวชตน จะเกิดขนพองสยองเกล้า น้ำตาไหลลงทันที อนึ่ง ผู้ที่ปรากฏกายขึ้นเฉพาะหน้าในขณะภาวนา ใจจะเป็นสมาธิได้อย่างรวดเร็ว และจะทำปัญญาให้แจ้งไป พร้อมๆกันกับความสงบของใจที่ภาวนาเห็นกาย



....ถ้าหากว่าผู้ใดมุ่งที่จะปฎิบัติเพื่อเป็นการพ้น
จากทุกข์จากโทษ
ปฎิบัติเพื่อให้กิเลสมันดับ หรือให้มันขาดหลุด
ไปจากจิตจากใจ
ให้พากันเชื่อมั่นลงในหลักของกรรมฐานนี้


....ในเมื่อศึกษาในเรื่องกรรมฐานให้ชัด
ลงไปเเล้ว
เชื้อที่จะมาทำให้ไฟคือกิเลสมันกำเริบ
มันเป็นไปไม่ได้

...ถ้าหากว่าไม่สนใจในการที่จะ
พิจารณากรรมฐาน
ยังทะนุถนอมหวงกรรมฐานของเจ้าของ
ทั้งๆที่เป็นของเกิดมาตาย
ทั้งๆที่เป็นของปฎิกูล หากยังหวงเเหน
ไม่ยอมพิจารณาให้เเจ้งชัด
ตามความเป็นจริงของเขาเเล้ว

อันนี้ล่ะมันจะปิดประตูปิดช่อง
ทางมรรคผลนิพพานทีเดียว
ถ้าหากว่าเปิดอันนี้เเจ้งชัดเมื่อไหร่
เห็นประตูมรรผลเมื่อนั้น
เห็นประตูชัดทีเดียว....

คติธรรมคำสอน หลวงปู่เเบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร



หลวงตามหาบัว
--------------------------------------
"กิเลสมันเข้าแทรกได้ทุกแง่ทุกมุม" ถ้าเราเผลอ ไม่มีสติปัญญารู้เท่าทันมัน กิเลสเข้าได้ทุกแง่ทุกมุม โดยไม่อ้างกาล อ้างเวลา อ้างสถานที่อิริยาบถใด ๆ ทั้งสิ้น

มันเกิดได้ทุกระยะ ขอแต่ความเคลื่อนไหวของจิตแสดงออกโดยไม่มีสติปัญญา ก็กลายเป็นสัญญา จิตจึงกลายเป็นเรื่องของกิเลสช่วยกิเลสโดยไม่รู้ตัว

แล้วจะเป็นอรรถเป็นธรรมขึ้นมาได้อย่างไร! นอกจากเป็นกิเลสทั้งตัวของมัน แล้วเพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับเท่านั้น

จึงต้องทุ่มเทสติปัญญา ศรัทธา ความเพียร ของเราลงให้ทันกับเหตุการณ์ที่เป็นอยู่ภายในใจ
เรียนธาตุ เรียนขันธ์ เป็นบุคคลประเสริฐ เรียนอะไรจบ ก็ยังไม่พอกับความต้องการ ยังมีความหิวโหยเป็นธรรมดาเหมือนโลกทั่วไป แต่เรียนธาตุ เรียนขันธ์ เรียนเรื่องของใจ จบ ย่อมหมดความหิวโหย อิ่มตัว พอตัวอย่างเต็มที่ ประจักษ์ใจ!

เวลานี้เรายังบกพร่องใน "วิชาขันธ์" และภาคปฏิบัติใน "ขันธวิชา" คือ สติปัญญาความรู้แจ้งแทงทะลุในธาตุในขันธ์ว่าเขาเป็นอะไรกันแน่ ตามหลักความจริง

แยกแยะให้เห็นความจริงว่า อะไรจริง อะไรปลอม เรียนยังไม่จบ เรียนยังไม่เข้าใจ มันจึงวุ่นวายอยู่ภายในธาตุในขันธ์ ในจิต ไม่มีเวลาจบสิ้น
ความวุ่นวาย ไม่มีที่ไหนวุ่นไปกว่าที่ธาตุขันธ์และจิตใจ ซึ่งเกิดเรื่องเกิดราวอยู่ตลอดเวลา ที่ชำระสะสางกันยังไม่เสร็จสิ้นนี้แล

เพราะฉะนั้น การเรียนที่นี่ รู้ที่นี่ จึงเป็นการชำระคดี ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกันอยู่มากมาย มีสติปัญญาเป็นผู้พิพากษา เครื่องพิสูจน์และตัดสินไปโดยลำดับ

เอ้า เรียนให้จบ ธาตุขันธ์มีอะไรบ้าง ดังเคยพูดให้ฟังเสมอ

"รูปขันธ์" ก็ร่างกายทั้งร่าง ไม่มีอะไรยกเว้น รวมแล้วเรียกว่า "รูปขันธ์" คือ กายของเราเอง

"เวทนาขันธ์" ความสุข ความทุกข์ เฉย ๆ เกิดขึ้นภายในร่างกายและจิตใจ ท่านเรียกว่า "เวทนาขันธ์"
"สัญญาขันธ์" คือ ความจำได้หมายรู้ในสิ่งต่าง ๆ ท่านเรียกว่า "สัญญาขันธ์"

"สังขารขันธ์" คือ ความปรุงของใจ คิดดี คิดชั่ว คิดเรื่องอดีต อนาคตไม่มีประมาณ ท่านเรียกว่า "สังขารขันธ์" เป็นหมวดเป็นกอง

"วิญญาณขันธ์" ความรับทราบเวลารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย รายงานเข้าไปสู่ใจ ให้รับทราบในขณะที่สิ่งนั้น ๆ สัมผัส แล้วดับไปพร้อมตามสิ่งนั้นที่ผ่านไป

นี่ท่านเรียกว่า "วิญญาณขันธ์" ซึ่งเป็นวิญญาณในขันธ์ ๕"
"วิญญาณในขันธ์ ๕" กับ "ปฏิสนธิวิญญาณ" นั้นต่างกัน ปฏิสนธิวิญญาณ หมายถึง "มโน" หรือหมายถึงจิตโดยตรง จิตที่จะก้าวเข้าสู่ "ปฏิสนธิวิญญาณ" ในกำเนิดต่าง ๆ ท่านเรียกว่า "ปฏิสนธิวิญญาณ" คือ ใจโดยตรง

ส่วน "วิญญาณในขันธ์ ๕" นี้ มีความ เกิด ดับ ไปตามสิ่งที่มาสัมผัส สิ่งนั้นมาสัมผัสแล้วดับไป วิญญาณก็ดับไปพร้อม คือความรับทราบดับไป พร้อมขณะที่สิ่งนั้นผ่านไป

แต่ "ปฏิสนธิวิญญาณ" นั้นหมายถึงใจ ซึ่งมีความรู้อยู่โดยลำพัง แม้ไม่มีอะไรมาสัมผัสอันนี้ อันนี้ไม่ดับ!
เรียนขันธ์ ๕ เรียนทบทวนให้เป็นที่เข้าใจ เรียนให้หลายตลบทบทวนคุ้ยเขี่ยขุดค้น ค้นจนเป็นที่เข้าใจ นี่คือสถานที่ทำงานของผู้ที่จะรื้อกิเลสตัณหาอาสวะออกจากจิตใจ ที่เรียกว่า "รื้อถอนวัฏวน"

คือความหมุนเวียนแห่งจิตที่ไปเกิดในกำเนิดต่าง ๆ ไปเที่ยวจับจองป่าช้าไม่มีสิ้นสุด ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ตายก็ไปจับจองไว้แล้ว ก็เพราะเหตุแห่งความหลงในขันธ์ ความไม่รู้เรื่องของขันธ์ จึงต้องไปหายึดขันธ์

ทั้ง ๆ ที่ขันธ์ยังอยู่ ก็ยังไม่พอ ยังไปยึด ไม่หลงติดเรื่อย ๆ ไม่มีความสิ้นสุด ถ้าไม่เอาปัญญาเข้าไปพิสูจน์
พิจารณาจนกระทั่งรู้จริงและตัดได้ ท่านจึงให้เรียนธาตุขันธ์ รูปขันธ์ ก็คือตัวสัจธรรม ตัวสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง อะไร ๆ เหมือนกันหมด เป็นไวพจน์ของกันและกัน ใช้แทนกันได้
เราพิจารณาอาการใดอาการหนึ่ง ก็ถูกเรื่องของสัจธรรม ถูกเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ปกติไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้น กายก็เป็นกายอยู่อย่างนี้ รูปก็เป็นรูปอยู่เช่นนี้เอง

แต่ความวิการของธาตุขันธ์ ก็วิการไปตามเรื่องของขันธ์ ทุกขเวทนา เกิดขึ้นจากความวิการของสิ่งนั้น ที่ไม่อยู่คงที่ยืนนาน จิตก็ให้ทราบตามเรื่องของมัน ชื่อว่า "เรียนวิชาขันธ์"


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO