นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อาทิตย์ 05 พ.ค. 2024 7:25 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ทางตึงและทางหย่อน
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 10 ก.ค. 2015 6:56 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4549
อัตตกิลมถานุโยค ก็คือ ทางตึงและทางหย่อนนั่นเอง ถ้าเราน้อมเข้ามาพิจารณาให้เห็นในปัจจุบัน ทางตึงก็คือ ความโกรธ อันเป็นทางเศร้าหมอง กามสุขัลลิกานุโยโค ก็คือ ความดีใจ ความพอใจนี้ก็เป็นทางไม่สงบ ทางทุกข์ก็เป็นทางไม่สงบ ทางสายกลางมนุษย์เราทั้งหลายไม่ต้องการทุกข์ ต้องการแต่สุข

ความจริงสุขนั่นก็คือทุกข์อย่างละเอียดนั่นเอง ส่วนทุกข์ก็คือทุกข์อย่างหยาบ สุขและทุกข์นี้ก็เปรียบเสมือนงูตัวหนึ่ง ทางหัวมันเป็นทุกข์ ทางหางมันเป็นสุข เพราะถ้าลูบทางหัวมันมีพิษ ทางปากมันมีพิษ ไปใกล้ทางหัวมันก็กัดเอา ไปจับหางมันก็เหมือนเป็นสุข แต่ถ้าจับไม่วาง มันก็หันกลับมากัดได้เหมือนกัน เพราะทั้งทางหัวงูและหางงูก็อยู่ในงูตัวเดียวกัน

หลวงปู่ชา สุภัทโท




การบำรุงรักษาสิ่งสิ่งใดๆ ในโลก...การบำรุงรักษาตนคือใจ เป็นเยี่ยม จุดที่เยี่ยมยอดของโลกคือใจ ควรบำรุงรักษาด้วยดี ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจแล้วคือเห็นธรรม รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตนแล้วคือถึงพระนิพพาน

ใจนี้ คือสมบัติดันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป คนพลาดใจคือคนไม่สนใจปฏิบัติต่อดวงใจดวงวิเศษในร่างนี้ แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติ ก็คือผู้เกิดพลาดอยู่นั่นเอง

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต



ฟังให้ถึงใจ แล้วนำไปปฏิบัติ

ท่านอยู่ในเขาจังหวัดเชียงใหม่ สถานที่บำเพ็ญสะดวกทั้งกลางวันกลางคืน ท่านมีความ รื่นเริงในทิฏฐธรรมสุขวิหาร คือธรรมเป็นเครื่องอยู่สบายในเวลาขันธ์ยังครองตัวอยู่


การนั่งสมาธิภาวนาเป็นไปตามเวลาที่ต้องการ ไม่มีสิ่งมาเป็นอุปสรรคทำให้ขาดวรรคขาดตอน ท่านมีความสุขกายสบายใจมาก การสงเคราะห์ผู้มาเกี่ยวข้องนั้นในเวลากลางคืนก็เป็นพวกเทวดา ซึ่งมีภูมิละเอียดตามคตินิสัยอยู่แล้ว จึงไม่เป็นภาระกังวลมากในการต้อนรับ และการสงเคราะห์ด้วยธรรมที่เกี่ยวกับประชาชนก็มีบ้างเป็นบางกาล เช่น ตอนบ่าย ๆ หรือเย็น ส่วนพระของท่านเอง ถ้าวันจะมีการประชุมท่านก็นัดให้เองตามที่เห็นควร เช่น หนึ่งทุ่ม เป็นต้น โดยมากก็เป็นผู้มีภูมิจิตสูง นับแต่สมาธิขึ้นไปถึงปัญญาเป็นขั้น ๆ ทั้งเป็นผู้มุ่งมั่นต่อธรรม และฟังกันแบบบำเพ็ญเพียรเพื่อมรรคผลนิพพานในขณะฟังจริง ๆ

การแสดงธรรมแก่ผู้มีภูมิจิตภูมิธรรมต่างกันและสูงขึ้นไปตามลำดับลำดาเช่นนั้น ท่านก็แสดงธรรมไปตามลำดับภูมิ นับแต่ภูมิสมาธิขึ้นไปหาภูมิปัญญาเป็นขั้น ๆ จนถึงขั้นละเอียดสุด คือ วิมุตติหลุดพ้นแทบทุกครั้ง ผู้มีภูมิจิตนั่งฟังท่านอธิบายธรรมภาคต่าง ๆ ทำให้จิตเพลิดเพลินไปตามธรรมขั้นนั้น ๆ จนลืมตัวและลืมเวลา

ปกติท่านเทศน์สอนพระล้วน ๆ ทางภาคปฏิบัติจิตตภาวนา กว่าจะยุติก็กินเวลาไม่ต่ำกว่าสองชั่วโมงเป็นอย่างน้อย แต่ผู้ฟังมิได้สนใจกับเวล่ำเวลา ยิ่งไปกว่าสนใจไปตามกระแสธรรมที่ท่านกำลังแสดงไปเป็นระยะ ๆ ในเวลานั้น ขณะฟังถ้าจิตของผู้ฟังอยู่ในระดับใดก็ได้กำลังเพิ่มระดับเดิมของตนขึ้นเป็นลำดับในทุกครั้งที่รับการสดับธรรม

ฉะนั้นการฟังธรรมทางภาคปฏิบัติด้วยความสำรวมระวัง และทดสอบจิตไปตามขณะที่ฟัง จึงจัดเป็นความเพียรสำคัญภาคหนึ่ง ไม่ด้อยกว่าการทำความเพียรในอิริยาบถและความเพียรภาคอื่น ๆ

ท่านผู้แสดงก็มีความมุ่งหมายอยากให้ผู้ฟังได้รู้เห็นความจริงตามธรรมที่แสดงออกทุกระยะไปเช่นเดียวกัน และแสดงไปตามความคิดนึกความแสดงออกของจิต ทั้งที่เป็นฝ่ายสมุทัยและฝ่ายมรรคของผู้ฟังจริง ๆ เพื่อให้รู้ทั้งโทษและคุณที่ควรละและควรเจริญให้ยิ่งขึ้นไปในขณะที่นั่งฟังยิ่งกว่าขณะอื่นใดในเวลานั้น

ผู้มีสติจดจ่อต่อจิตซึ่งเป็นที่รวมของธรรมไม่ให้ส่งไปที่อื่น ย่อมได้รับความสงบตามขั้นสมาธิและได้อุบายต่าง ๆ ตามขั้นของปัญญาที่สามารถไตร่ตรองตามธรรมซึ่งท่านกำลังแสดงในขณะนั้น ผู้ที่ควรผ่านไปได้ในขณะฟังก็ผ่านไปเป็นพัก ๆ ฟังคราวนี้ได้อุบายอย่างหนึ่งขึ้นมา ฟังคราวหน้าได้อุบายอีกอย่างหนึ่งขึ้นมา อันเป็นการเพิ่มสติปัญญาด้วยการฟังอยู่เสมอ จิตย่อมเจริญก้าวหน้าทั้งทางสมาธิทุกขั้นและปัญญาทุกภูมิเป็นลำดับ จนสามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยการปฏิบัติและการฟังที่ผู้แสดงเป็นผู้รู้จริงเห็นจริง และแสดงถูกต้องกับจุดความจริงที่กำลังเป็นไปในผู้ปฏิบัติที่มาอบรมศึกษา

ฉะนั้นการฟังสำหรับพระธุดงคกรรมฐาน จึงถือเป็นกิจจำเป็นทางภาคปฏิบัติเช่นเดียวกับการปฏิบัติภาคอื่น ๆ เสมอมา จะห่างเหินต่อการฟังย่อมไม่ได้ เมื่อครูอาจารย์ผู้สามารถทางจิตใจมีอยู่

ด้วยเหตุนี้พระธุดงค์ผู้มุ่งอรรถธรรมอย่างแท้จริง จึงชอบแสวงหาครูอาจารย์ผู้คอยแนะนำทางจิตตภาวนาเป็นนิสัย และเคารพรักในอาจารย์มาก หวังพึ่งเป็นพึ่งตายด้วยจริง ๆ ท่านให้อุบายแนะนำอย่างไรย่อมเข้าถึงใจจริง ๆ และนำไปใคร่ครวญและปฏิบัติตามเต็มสติกำลังของตน ถ้ายังมีแง่สงสัยหรือมีข้อสงสัยที่เกิดจากการภาวนาในแง่ใดบ้างก็มาขอคำแนะนำจากท่านอีก แล้วนำไปปฏิบัติเป็นอาจิณ

ฉะนั้น ครูอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในทางจิตตภาวนามีอยู่ ณ ที่ใด พระธุดงคกรรมฐานจึงมักไปรุมล้อมอยู่กับท่าน ณ ที่นั้น ดังท่านพระอาจารย์มั่นท่านอาจารย์เสาร์เป็นตัวอย่าง

..ทั้งสององค์นี้นับว่ามีลูกศิษย์ที่เป็นพระธุดงค์จำนวนมากเป็นพิเศษในภาคอีสาน..

แต่เวลาที่พระอาจารย์มั่นพักอยู่ที่เชียงใหม่นั้น ท่านตั้งใจปลีกองค์จากหมู่คณะออกบำเพ็ญเป็นพิเศษ ไม่ต้องการความยุ่งเหยิงวุ่นวายจากภาระต่าง ๆ มีการอบรมสั่งสอนเป็นต้น เพื่อเร่งความเพียรให้ถึงจุดที่หมายและเพื่อความอยู่สบายในทิฎฐธรรม แม้เช่นนั้นก็จำต้องได้รับภาระในการอบรมสั่งสอนประชาชนและพระเณรอยู่โดยดี ดังที่รู้ ๆ กันอยู่ทั่วไปว่า ท่านมีลูกศิษย์ทั้งบรรพชิตและฆราวาสจำนวนมากมายในประเทศไทย

ก่อนหน้าที่ท่านจะปลีกจากหมู่คณะไปบำเพ็ญอย่างเด็ดเดี่ยวแต่ผู้เดียวที่เชียงใหม่ ท่านเคยพูดเสมอว่า เวลานี้กำลังท่านยังไม่เพียงพอ ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น ท่านจึงได้ปลีกออกไปตามเจตนาเดิมที่พูดไว้และบำเพ็ญเต็มกำลังจนสิ้นความสงสัยทางจิตใจทุกด้าน ดังที่เคยกล่าวผ่านมาบ้างแล้ว

..จากนั้นมาท่านไม่เคยพูดอีกเลยว่า “กำลังไม่พอ”

หนังสือประวัติ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
โดย ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน




ให้พึ่งตน พึ่งธรรม

อานนท์ ! เราได้กล่าวเตือนไว้ ก่อนแล้วมิใช่
หรือว่า “ความเป็นต่าง ๆ ความ พลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรัก ของชอบใจ ทั้งสิ้น ย่อมมี; อานนท์ ! ข้อนั้น จักได้มาแต่ไหนเล่า : สิ่งใด เกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัย ปรุงแล้ว มีความชำรุดไป เป็นธรรมดา, สิ่งนั้น อย่าชำรุด ไปเลย ดังนี้; ข้อนั้น ย่อมเป็น ฐานะที่มีไม่ได้”.
อานนท์ ! เปรียบเหมือน เมื่อต้นไม้ใหญ่ มีแก่น
เหลืออยู่ ส่วนใดเก่าคร่ำ กว่าส่วนอื่น ส่วนนั้น พึงย่อยยับ
ไปก่อน, ข้อนี้ ฉันใด;
อานนท์ ! เมื่อภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่มี ธรรมเป็น แก่นสารเหลืออยู่, สารีบุตร ปรินิพพานไปแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน.
อานนท์ ! ข้อนั้น จักได้มา แต่ไหนเล่า :
สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยปรุงแล้ว มีความ
ชำรุดไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นอย่าชำรุดไปเลย ดังนี้;
ข้อนั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีไม่ได้.
อานนท์ ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้
พวกเธอทั้งหลาย จงมีตน เป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ
ไม่เอา สิ่งอื่น เป็นสรณะ; จงมีธรรม เป็นประทีป
มีธรรม เป็นสรณะ ไม่เอา สิ่งอื่น เป็นสรณะ.
อานนท์ ! ภิกษุ มีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ
ไม่เอาสิ่งอื่น เป็นสรณะ, มีธรรมเป็น ประทีป มีธรรมเป็น
สรณะ ไม่เอาสิ่งอื่น เป็นสรณะนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ ! ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้
พิจารณา เห็นกาย ในกายเนือง ๆ อยู่,
พิจารณา เห็นเวทนา ในเวทนา ทั้งหลายเนือง ๆ อยู่,
พิจารณา เห็นจิต ในจิต เนือง ๆ อยู่,
พิจารณา เห็นธรรม ในธรรม ทั้งหลายเนือง ๆ อยู่;
มีเพียร เผากิเลส มีความรู้สึก ตัวทั่วพร้อม
มีสติ พึงกำจัด อภิชฌา และ โทมนัส ในโลกเสียได้.
อานนท์ ! ภิกษุ อย่างนี้แล ชื่อว่ามี ตนเป็นประทีป
มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่น เป็นสรณะ; มีธรรมเป็น
ประทีป มีธรรม เป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่น เป็นสรณะ เป็นอยู่.
อานนท์ ! ในกาลบัดนี้ก็ดี ในกาลล่วงไป
แห่งเราก็ดี ใครก็ตามจักต้อง มีตนเป็นประทีป มีตน
เป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่น เป็นสรณะ; มีธรรมเป็นประทีป
มีธรรมเป็นสรณะ ไม่เอา สิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่.
อานนท์ ! ภิกษุพวกใด เป็นผู้ใคร่ในสิกขา,
ภิกษุพวกนั้น จักเป็นผู้อยู่ ในสถานะอันเลิศที่สุด.
มหาวาร .สํ. ๑๙/๒๑๖/๗๓๖





# โอวาทธรรม หลวงพ่อชา สุภัทโท #

ธรรมดาตามความเป็นจริงแล้ว โลกที่เราอยู่นี้ไม่มีอะไร ทำไม ใครเลย ไม่มีอะไรจะเป็นที่วิตกวิจารณ์เลย ไม่มีอะไรที่น่าจะร้องไห้หรือหัวเราะ เพราะมันเป็นเรื่องอย่างนั้นธรรมดาๆ
แต่เราพูดธรรมดาได้ แต่มองไม่เห็นธรรมดา แต่ถ้าเรารู้ธรรมะสม่ำเสมอ ไม่มีอะไรเป็นอะไรแล้ว มันเกิดมันดับของมันอยู่อย่างนั้น เราก็สงบ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Bing [Bot] และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO