นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 03 พ.ค. 2024 8:08 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: เรื่องราว
โพสต์โพสต์แล้ว: เสาร์ 27 ก.ค. 2013 7:33 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4547
ในการศึกษาธรรมะตอนต้นก็ต้องอาศัยเจตนาหรืออาศัยตัณหานำมา เช่น อยากฟังธรรมให้รู้เรื่อง อยากเป็นคนดี อยากมีความสุข นี้ก็เป็นตัณหา แต่ไม่เป็นไร ก็ศึกษาไป เมื่อเข้าใจแล้วก็ค่อยๆ ละความอยาก การให้ทานก็ดี การสมาทานศีลก็ดี การฝืนใจตนเองในการไม่พูดคำที่ไม่ดี ฝืนใจไม่กระทำสิ่งที่ไม่ดี หรือฝืนใจทำบางอย่างที่ทำให้จิตใจเราดีขึ้น ให้มีความสำคัญตัวน้อยลง อย่างนี้ เราก็ควรฝึกฝน หากเราปล่อยไป ไม่ฝืนทำบ้างเลย จิตใจก็ยังแข็งกระด้างอยู่เหมือนเดิม ตอนแรกละไม่ดี ไปทำดี แต่ท้ายที่สุดก็ต้องอยู่เหนือทั้งดีและไม่ดี







๑. เจตนาเป็นตัวกรรม

ข้อที่ ๑ กรรมคืออะไร

พระพุทธเจ้าตรัสว่า

เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ,

เจตยิตฺวา กมฺมํ กโรติ กาเยน วาจาย มนสา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นตัวกรรม

บุคคลคิดแล้ว จึงกระทำกรรมด้วยกาย วาจา ใจ

ตัวกรรม คือ ตัวเจตนา ตัวความจงใจที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่ง อาการที่จิตมีเจตนา คือคิดแล้วจึงกระทำกรรมทางกายก็มี ทางวาจาก็มี ทางใจก็มี เหล่านี้เป็นกรรมใหม่ เวลาเราคิดด้วยใจนั้นเป็นมโนกรรม คิดแล้วพูดออกมาทางวาจาเป็นวจีกรรม คิดแล้วกระทำทางกายเป็นกายกรรม ตัวเจตนานี่แหละเป็นตัวกรรม เป็นตัวก่อให้เกิดการกระทำที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน เมื่อมีการกระทำกรรมที่แตกต่างกัน ผลก็ย่อมแตกต่างกัน

จุดเริ่มต้นก่อนที่จะเกิดทำกรรม เกิดกิเลสขึ้นมาก่อน กิเลสที่เกิดขึ้นมานี้เกิดจากความเคยชินในใจเรา เรียกว่า กรรมเก่า ตัวกรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจที่เราได้มา เราได้กายใจมาเป็นตัวเราที่เห็นอยู่นี้ ได้ใจก็รวมถึงคุณภาพของใจด้วย คุณภาพของใจนี้ก็เป็นอุปนิสัยใจคอของเรานั่นเอง สิ่งเหล่านี้อยู่ลึก เราเลยไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ เห็นตอนมันเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว เกิดเป็นความรู้สึกในใจเรา ตัวกรรมไม่ใช่จิต แต่เป็นตัวพาจิตไปตามที่ต่างๆ ไปเกิดที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง ภาษาอภิธรรม เรียกว่า เจตสิก เจตสิกปรุงทำให้เกิดจิตชนิดนั้นๆ ขึ้นมา ใครทำกรรมชนิดไหนบ่อยๆ เคยชินแบบไหนมามาก มันก็ปรุงเจตสิกประเภทนั้นๆ ขึ้นมา พอปรุงเจตสิกเกิดขึ้นก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง เช่น โลภมูลจิต จิตที่มีความต้องการเป็นพื้นฐาน โทสมูลจิต จิตที่มีความไม่พอใจเป็นพื้นฐาน โมหมูลจิต จิตที่มีความหลงเป็นพื้นฐาน เป็นต้น

ตัวกรรมใหม่ เป็นตัวเจตนา เป็นตัวปรุงแต่ง ทำให้เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ ทางพระพุทธศาสนาให้ความสำคัญกับมโนกรรม ความเห็นอื่นๆ เขามีความเห็นว่า กายกรรมนั้นหนักที่สุด แต่พระพุทธเจ้าบอกว่า กรรมที่หนักที่สุดคือมโนกรรม เพราะกรรมทุกอย่างเกิดทางใจก่อน คนไหนเกิดความคิดความรู้สึกเป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็ทำกรรมผิดพลาดได้มากมาย จนกระทั่งถึงทำสงครามล้างเผ่าพันธุ์ก็ได้ หนักกว่ากายกรรมเยอะ ในทางตรงข้าม ถ้าเป็นฝ่ายดีก็เหมือนกัน หากทางใจเป็นสัมมาทิฏฐิ ก็จะทำความดีได้อย่างมากมาย จนกระทั่งถึงความพ้นทุกข์ก็ได้



๒. ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม

ข้อที่ ๒ เหตุเกิดแห่งกรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่า

กตโม จ ภิกฺขเว กมฺมานํ นิทานสมฺภโว

ผสฺโส ภิกฺขเว กมฺมานํ นิทานสมฺภโว

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหตุเกิดแห่งกรรม คืออะไร

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม

นิทานสมฺภโว แปลว่า เหตุเกิด, ต้นตอ, สิ่งที่ทำให้เกิด นี้แสดงถึงว่ากรรมนั้นก็ไม่ได้เป็นตัวเป็นตนเที่ยงแท้ถาวรอะไร เป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดจากเหตุเท่านั้น เป็นสิ่งที่อิงอาศัยปัจจัยเกิด เกิดแล้วก็แปรปรวนไปเหมือนสภาวะอื่นๆ

คำว่า ผัสสะเป็นเหตุเกิดของกรรม นั้นหมายความว่า เมื่อกระทบสัมผัสแล้ว จึงเกิดการทำกรรมขึ้นภายหลัง ตากระทบรูป เกิดการมองเห็นเรียกว่าจักขุวิญญาณ กระบวนการนี้เรียก จักขุสัมผัส เมื่อมีการรับรู้ทางตาแล้วก็จะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่สัมผัส ปฏิกิริยาตอบสนองนี้เกิดตามความเคยชินอันเป็นกรรมเก่า เราก็คิดและเจตนาที่จะทำทางใจบ้าง ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง นี้เป็นการทำกรรมใหม่


การที่จะเข้าใจเหตุเกิดของกรรม ต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องชีวิตสัมพันธ์กับโลก ชีวิตเรามีความสัมพันธ์กับโลก ๒ ภาคด้วยกัน

ภาคที่ ๑ รับรู้ ส่วนนี้เป็นผลของกรรมเก่าที่เราได้ทำมา ไม่มีคนอื่นเป็นคนทำให้ เรารับรู้โลกโดยอาศัยทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งเหล่านี้เป็นผลของกรรมเก่า เป็นอายตนะภายใน ไปกระทบกับอารมณ์คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เกิดการมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัสทางกาย รู้สึกทางใจ เป็นผลของกรรม โดยปกติเราชอบหาว่า คนอื่นทำให้เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แท้จริงแล้วเราเป็นคนทำเองล้วนๆ เลย เวทีนี้เป็นเวทีที่เราสร้างขึ้นมาเอง เราได้เกิดมาเป็นคนนี้ ได้รับรู้สิ่งต่างๆ ตามกรรมที่ทำมาก่อนและขึ้นอยู่กับกรรมปัจจุบันด้วย

บางทีเราเข้าใจไปแง่เดียว คือ เวลาเห็นแล้ว ได้ยินแล้ว ไปมองแต่แง่เดียวว่า การเห็น เรียกว่าจักขุวิญญาณ เป็นวิบาก เป็นผลของกรรมเก่า จริงอยู่มันเป็นผลของกรรมเก่า แต่ว่าที่มันเกิดขึ้นได้นั้น ไม่ใช่เพราะกรรมเก่าอย่างเดียว อาศัยเหตุอื่นๆ อีกมากมาย กรรมเก่าเป็นเพียงเหตุหนึ่งเท่านั้น การที่เรามีแนวคิดมุมมองเหตุเดียวผลเดียว ไม่มองแง่มุมอื่นๆ เกิดความยึดขึ้น เรียกว่าจิตเกิดมิจฉาทิฏฐิ ความจริงนั้นมีเหตุมากมายที่ทำให้เกิดการมองเห็นครั้งหนึ่งๆ เรายังตาดีอยู่ด้วย มีอารมณ์อันเป็นสิ่งภายนอกด้วย มีถนนด้วย มีเรายืนอยู่ตรงนั้นด้วย มีรถคันนั้นด้วย มีอากาศอย่างนั้นด้วย มีแสงสว่างด้วย มีเหตุอื่นๆ อีกมากมายที่ก่อให้เกิดจักขุวิญญาณนี้ ผลของกรรมนี้ เราห้ามไม่ได้ ที่จะมีประโยชน์แท้จริงคือการพัฒนากรรมใหม่ ท่านจึงสอนให้มีสติ คุ้มครองทวาร มองให้เห็นว่า สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ สิ่งนี้ควรเว้น สิ่งนี้ไม่ควรเว้น เป็นแบบกรรมวาที กิริยาวาที วิริยวาที





ภาคที่ ๒ แสดงออกหรือกระทำ โดยอาศัยทวาร ๓ คือ กาย วาจา ใจ เวลาเราสัมพันธ์กับโลก หากรู้ไม่ทัน ไม่เกิดสติปัญญา ก็เกิดกิเลส ไปทำกรรมแล้วเกิดวิบาก พระพุทธเจ้าท่านสอนให้รู้ทันตรงการรับรู้ ถ้ารู้ไม่ทันตรงการรับรู้ ก็ให้รู้เจตนาที่ก่อให้เกิดการกระทำ เพื่อควบคุมการกระทำไม่ให้เกิดความผิดพลาด ถ้าดีที่สุดเลยนะ รู้ทันผัสสะ รู้ทันเวทนา ก็ไม่เกิดตัณหา ไม่เกิดความทะยานอยากของจิต ไม่เกิดการดิ้นรนของจิต รู้เท่าทันเวทนาอยู่เหนือเวทนา สุขก็ไม่ดิ้นรน ทุกข์ก็ไม่ดิ้นรน เป็นการรู้เท่าทันกระบวนการทำงานของขันธ์ ก็จะไม่เกิดตัณหาใดๆ ขึ้นมา ไม่เกิดวงจรของกรรมเกิดขึ้น โดยส่วนใหญ่เราจะรู้ไม่เท่าทัน ขาดสติปัญญา เพราะหลงอยู่กับโลกมานาน

โลกที่เราได้มาก็เพราะกรรมที่เราทำนั่นเอง เราทำเองกับมือเลย ไม่ใช่คนอื่นทำให้ ถ้าเราอยากไปโลกอื่นที่ดี ที่สว่างไสว ที่เปิดกว้าง ดีกว่าที่เป็นอยู่นี้ เราก็สร้างกรรมใหม่ให้ดีกว่าเดิม สิ่งที่ไปเกิดในภพภูมิต่างๆ นี้คือจิต ตัวบ่งภพภูมิที่อยู่ในจิตคือความรู้สึกในจิต เราสามารถรู้ได้ตั้งแต่ตอนนี้นะ หลังจากจบชาตินี้แล้วเราจะไปภพภูมิไหน ถ้าเราไม่มีกรรมแรงๆ ที่เป็นครุกรรม ฝ่ายไม่ดี คือ ไม่ได้ฆ่าพ่อฆ่าแม่ ไม่ได้ฆ่าพระอรหันต์ หรือฝ่ายดี เราไม่ได้ทำฌาน กรรมที่จะนำเราไปเกิดก็คืออาจิณณกรรม กรรมที่มันเคยชินอยู่ในใจ จิตของเราเคยชินแบบไหน เคยชินที่จะเปิดกว้าง เคยชินที่จะเห็นอกเห็นใจคนอื่น เห็นคนอื่นเป็นเพื่อนเป็นมิตร หน้าตาเบิกบานยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ ถ้าจิตเราเป็นอย่างนี้ ก็แน่นอนว่า ชาติต่อไปเราก็ไปเกิดในภพภูมิอย่างนั้น คุณภาพของใจคือตัวกรรมเก่าเหมือนที่เราได้มาในชาตินี้นั่นแหละ

หน้าที่ของเราในชาตินี้ คือ ถ้ายังไม่หมดทุกข์ ยังไม่ได้เป็นพระอริยะเจ้าก็พยายามรักษาศีลให้ดี หมั่นทำความดีเอาไว้ ให้จิตมีเมตตา มีความเปิดกว้าง เห็นอกเห็นใจคนอื่น ไม่เห็นแก่ตัว อย่างนี้เราก็จะไปเกิดในภพภูมิที่มันเปิดกว้าง เบาสบาย ร่มเย็น ไม่เร่าร้อน แต่ในทางตรงข้าม ถ้าจิตใจของเราคับแคบ บีบตัวเข้ามา เห็นแก่ตัว มีแต่ความรู้สึกขาดแคลน อยากจะเอานั่นเอานี่อยู่เรื่อย อาการที่จิตรู้สึกขาดแคลนมันเป็นพวกเปรต เปรตหากินยากลำบาก ไม่อิ่มท้องสักที ปากนิดเดียวแต่ท้องโต มันก็รู้สึกขาดอยู่ตลอด อาการที่จิตเรารู้สึกขาดอยู่เรื่อย เห็นสิ่งนั้นก็อยากได้ เห็นสิ่งนี้ก็อยากได้ พวกนี้เป็นอาการของเปรต ถ้าเราสะสมความรู้สึกอย่างนี้ไปมากๆ สักหน่อยก็จะไปเกิดเป็นเปรต เพราะคุณภาพของจิตเราเป็นอย่างนั้น หรือหากมีจิตเร่าร้อนมีความกลัวอยู่เสมอ มีความเคียดแค้นชิงชัง มักโกรธพยาบาท ก็เป็นลักษณะของสัตว์นรก หากมีความหลงงมงายมาก หลงไปตามรูป เสียง หลงไปตามของมึนเมาต่างๆ อย่างนี้ก็เป็นลักษณะสัตว์เดรัจฉาน

ดังนั้น หากเรายังอยู่ในโลก ยังไม่ได้ออกจากโลก ก็ให้หมั่นทำกรรมดี ฝึกฝนสติสัมปชัญญะให้มากๆ หมั่นสังเกตจิตใจของตนเอง ให้มีสติรู้จิตใจตนเอง เราไม่ได้รังเกียจชิงชังสิ่งที่ไม่ดี เพราะการรังเกียจสิ่งที่ไม่ดี ก็เป็นความไม่ดีอย่างหนึ่ง ให้เรารู้เห็นโทษภัย ให้เกิดความละอาย ความเกรงกลัว ไม่ทำไปตามความหลงหรือความยินดียินร้าย

ให้คอยสังเกตจิตใจตนเอง จะรู้ได้ว่าจิตใดเป็นกุศลจริงๆ จิตใดเป็นอกุศล บางครั้งภายนอกดูเหมือนดีนะ พูดก็ดี ทำก็ดี แต่ทำเพราะอยากให้ตัวเองมีความสำคัญ อยากให้คนอื่นรู้ว่าเราเป็นคนดี นี้ก็เป็นความโลภอย่างหนึ่ง เป็นความรู้สึกขาด

เมื่อมีการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแล้ว ก็เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ เวลาจะกระทำก็เกิดความคิดทางใจเป็นมโนกรรมก่อน ทีนี้ ถ้ายังรู้ไม่ทันตอนที่คิด เราก็มีเกราะกันเอาไว้ ไม่ให้กระทำอะไรรุนแรงจนไปเบียดเบียนผู้อื่น มีศีลสิกขาบทคอยกันเอาไว้ แท้ที่จริงแล้ว เรื่องสิกขาบทนี้เป็นการกันปลายทาง แต่เป็นการปฏิบัติต้นทาง ผู้ที่ยังมีอินทรีย์อ่อน ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร ให้สมาทานสิกขาบท ปฏิบัติตามและระวังอย่าไปล่วงสิกขาบท ฝึกสติสัมปชัญญะให้มากขึ้น เมื่อสามารถรู้ทันจิตก็จะรักษาที่จิต โอกาสที่จะทำผิดพลาดก็จะลดลง

ในภาครับรู้ มีตาไปกระทบกับรูป เกิดจักขุวิญญาณ เป็นจักขุสัมผัส ตัวสัมผัสนี้เป็นเหตุเกิดของกรรม เหตุต้นตอของการทำกรรมคือผัสสะ ถ้าอยากจะรู้จักกรรมก็ดูตรงที่กระทบอารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจเป็นกรรมเก่า เป็นผลจากการสั่งสมความเคยชินของจิต เมื่อมีความรู้สึกบางอย่างครอบงำใจ เราเจตนาว่าจะทำอะไรต่อมา นี้เป็นกรรมใหม่ ช่วงแรกๆ สิ่งที่เราจะช่วยได้ดีก็คือ ทำอะไรให้ช้าลงกว่าเดิมหน่อย แต่ไม่ใช่ไปพูดช้าๆ เนิบๆ ผิดปกติอะไรนะ เช่นว่า แต่เดิมเราคิดอะไรได้ก็พูดเลย พูดมากเหลือเกิน ต่อไปเราต้องเตือนตนเองว่า อย่าไปพูดมาก ให้หยุด ไม่จำเป็นไม่ต้องพูด ถ้าแสดงความเห็นแล้วไม่เกิดผลประโยชน์อะไร ก็ไม่ต้องแสดงความเห็น ให้สังเกตจิตใจ เราก็จะเห็นเจตนาในใจได้มากขึ้น

ทางกายเราก็ทำนองเดียวกัน คำว่า ช้าลง ในที่นี้ไม่ใช่หมายความว่า ให้ไปเดินช้าๆ หรือไปทำอะไรช้าๆ อืดอาด หมายถึงว่า แต่เดิม เราเคยทำด้วยความรีบร้อน ไม่คิดหน้าคิดหลัง ต่อมาก็ให้หยุดดูความรู้สึก ดูความคิดตัวเองบ้าง จะช่วยให้มีสติระดับหนึ่ง ช่วยทำให้เราไม่กระทำผิดพลาดออกไป

ผัสสะทางทวารทั้ง ๖ เป็นดังนี้

ตากระทบกับรูป เกิดจักขุวิญญาณ คือการเห็น เป็นจักขุสัมผัส

หูกระทบเสียง เกิดโสตวิญญาณ คือได้ยิน เป็นโสตสัมผัส

จมูกกระทบกับกลิ่น เกิดฆานวิญญาณ คือดมกลิ่น เป็นฆานสัมผัส

ลิ้นกระทบกับรส เกิดชิวหาวิญญาณ คือลิ้มรส เป็นชิวหาสัมผัส

กายกระทบกับสัมผัสทางกาย เกิดกายวิญญาณ คือรู้สัมผัสทางกาย เป็นกายสัมผัส

ใจกระทบกับเรื่องที่คิดหรือความรู้สึกต่างๆ เกิดมโนวิญญาณ คือการรู้ทางใจ เป็นมโนสัมผัส

สิ่งเหล่านี้เป็นต้นตอของกรรม ซึ่งก็คือการรับรู้โลกทาง ๖ ทวาร เมื่อเกิดผัสสะแล้วก็เกิดเวทนา คือ ความรู้สึก สุขบ้าง ทุกข์บ้าง สบายใจบ้าง ไม่สบายใจบ้าง เฉยๆ บ้าง เมื่อเกิดความรู้สึกแล้ว ก็จะเกิดสังขารปรุงแต่งขึ้นมา ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง สังขารนี้มีเจตนาเป็นหัวหน้า เป็นความจงใจกระทำเพื่อตัวเรา เพราะหลงเข้าใจผิดคิดว่ามีเราแล้วก็ยึดขึ้น เจตนาจะทำเพื่อตัวเราเรียกว่า สัญเจตนา เริ่มจากคิดทางใจเรียกว่า มโนสัญเจตนา เรารู้สึกว่ามีเรา ก็ทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ อย่างนี้เป็นกรรม ส่วนพระอรหันต์นั้นไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวเรา ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ท่านทำทุกอย่างทางกาย ทางวาจา ทางใจ สอนหนังสือ บรรยายธรรม แต่ไม่มีการทำกรรมเลย เป็นแต่กิริยา สักแต่ว่ากระทำ เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่ได้ทำเพื่อตัวเรา

ความรู้สึกว่า มีตัวเรา เกิดความยึดมั่นถือมั่นแล้วก็ทำเพื่อตัวเรานี้ เป็นการก่อภพ ก่อการกระทำขึ้น เป็นกรรม เนื่องจากเกิดผัสสะแล้วเกิดความรู้สึกขึ้น เราไม่มีสติสัมปชัญญะ รู้ไม่ทัน ก็เลยปรุงแต่ง กระบวนการนี้ตามปฏิจจสมุปบาทบอกว่า เกิดตัณหา อุปาทาน แล้วเกิดกรรมภพ ไปทำกรรมวนเวียนเป็นวงจรของทุกข์ สังขารดีบ้าง ไม่ดีบ้าง มีเจตนาเป็นหัวหน้าจัดแจงปรุงแต่งการกระทำทั้ง ๓ ทวาร






เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับเพื่อนๆที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ถวายสังฆทานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ปิดทองพระ รักษาอาการป่วยของผู้อื่นกับผู้ร่วมงาน และที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา ปล่อยชีวิตสัตว์มาโดยตลอด ถวายยาแก่ภิกษุ ขัดองค์พระ ที่ผ่านมาได้จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย ให้ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ทำบุญหลายอย่างมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ถวายสังฆทานและทำบุญสร้างอาคารผู้ป่วยและกฐินกับเพื่อนๆและให้อาหารเป็นทานแก่สรรพสัตว์กับเพื่อนๆและเพื่อนคนหนึ่งและบริวารของเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนได้มีจิตเมตตาให้ทานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดและเพื่อนได้เคยสวดมนต์เย็นกับคุณแม่และที่ผ่านมาได้ทำบุญสักการะพระธาตุทำบุญปิดทองชำระหนี้สงฆ์และไหว้พระและทำบุญตามกล่องรับบริจาคตามวัดต่างๆกับเพื่อนและตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย


ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปิดทองพระ ปล่อยชีวิตสัตว์ถวายยาแก่ภิกษุ ไหว้พระตามวัดต่างๆ ขัดองค์พระ ให้ความรู้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นทาน
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO