นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 03 พ.ค. 2024 2:01 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: เรื่องราว
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 25 ก.ค. 2013 6:51 pm 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4546
แท้ที่จริงแล้ว อารมณ์หรือสิ่งเร้าภายนอกไม่มีผลมากนัก ที่มีผลจริงๆ ก็คือคุณภาพของใจ ถ้ามีคนมาด่าเรา เราโกรธ ก็เพราะเราไม่มีสติปัญญา ถ้าด่าคนมีปัญญาเขาก็เกิดความสงสาร คนที่ด่าผู้อื่นนี้น่าสงสารนะ เขาโกรธแล้ว ใจโดนบีบคั้นเจ็บปวดเป็นทุกข์ ถ้ามีปัญญามากกว่านั้นขึ้นไปอีก เห็นว่า เสียงเป็นสักแต่สิ่งที่กระทบหูแล้วก็ดับไป ไร้แก่นสารสาระ ไม่มีตัวตนใดๆ วางเฉยได้ ผู้ที่วางเฉยได้ทุกอารมณ์คือพระอรหันต์ พระอรหันต์ท่านมีอุเบกขาในสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏทางตา ทางจมูก ทางหู ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ฉะนั้น แท้ที่จริงแล้ว อารมณ์หรือสิ่งเร้าภายนอกไม่มีผลอะไร แต่โดยส่วนใหญ่เราไม่ได้คิดอย่างนี้ เราคิดว่า มีคนอื่นที่เบียดเบียนทำร้ายเรา คนอื่น สิ่งแวดล้อม สถานการณ์ภายนอกเป็นคนผิด เราเป็นฝ่ายถูก อาการเหล่านี้แสดงว่าเราเข้าใจเรื่องกรรมยังไม่ถูก เราชอบหาว่า ใครเป็นคนทำผิด สามีว่าเราแล้วเราเลยโกรธอย่างนี้ สามีเป็นคนผิด อย่างนี้เป็นต้น

หากเข้าใจเรื่องของกรรมแล้ว เราจะย้อนกลับมาดูที่เจตนาในใจเราเอง เรามีเจตนาในใจอย่างไร เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ดีหรือไม่ดี เป็นบวกหรือเป็นลบ ค่อยๆ ละเจตนาที่ไม่ดี ที่เห็นแก่ตัว ที่ทำร้ายคนอื่นออกไป แล้วพัฒนาให้ดีขึ้น ถ้าเหนือขึ้นไปกว่านั้น ก็เหนือทั้งดีและไม่ดี มีสติสัมปชัญญะ มีปัญญาเห็นความจริง

แท้ที่จริง ตัวเราที่ได้มานี้ เป็นสิ่งที่ได้มาจากกรรมนั่นแหละ ดังในบาลีท่านว่า กมฺมสฺสโกมฺหิ เรามีกรรมเป็นของตน กมฺมทายาโท มีกรรมเป็นทายาท กมฺมโยนิ มีกรรมเป็นกำเนิด กมฺมพนฺธุ มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กมฺมปฏิสรโณ มีกรรมเป็นที่อาศัย

ชีวิตคือตัวเรานี้ มีทั้งกรรมเก่าและกรรมใหม่ กรรมเก่าคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ พร้อมทั้งคุณภาพของใจที่เราได้มาจากกระทำในอดีต ส่วนกรรมใหม่คือสิ่งที่เรากระทำลงไปในปัจจุบัน เราอาศัยทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับรู้อารมณ์ต่างๆ แล้วเราก็ทำคืนไปทางทวาร ๓ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นการทำกรรมใหม่ กรรมที่ทำนี้เป็นของของเรานะ เราจะกระทำกรรมอันใด เป็นกรรมดีก็ตาม กรรมไม่ดีก็ตาม เราจะเป็นทายาทของกรรมนั้น

เราได้ร่างกายจิตใจมาแล้วด้วยกรรมเก่า สิ่งนี้เลือกไม่ได้ เป็นต้นทุนเดิม อยู่ที่เราจะเลือกทำกรรมใหม่อย่างไร กรรมใหม่นี้มีทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ แต่ในทางพระพุทธศาสนานั้น ท่านเน้นที่กรรมทางใจคือความคิดของเรา กรรมเก่าที่เราสะสมเอาไว้ เป็นความเคยชินของจิต เป็นบุคลิกลักษณะอุปนิสัยใจคอ จะแสดงออกมาเป็นปฏิกิริยาต่ออารมณ์เวลาที่เรารับรู้

พอเรากระทบกับอารมณ์แล้วก็มีปฏิกิริยาทางใจขึ้นมา รู้สึกพอใจ ไม่พอใจ โลภ โกรธ หลง อยากได้ อิจฉา อย่างนี้เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เกิดตามความเคยชิน ตามคุณภาพของจิต ถ้าเราฝึกสติสัมปชัญญะก็ให้เรารู้ทันลงไปว่า จิตรู้สึกอย่างนี้ๆ จิตใจเป็นอย่างนี้ๆ รู้กิเลสต่างๆ ที่จิตปรุงขึ้นมาเมื่อมีการกระทบอารมณ์ ถ้ามีสติสัมปชัญญะดี กิเลสก็ไม่ครอบงำจิต เราก็ไม่ทำตามกิเลส กรรมเก่าในกรณีนั้นก็หมดอำนาจลงไป กรรมเก่ามีอีกเยอะ กระทบอารมณ์ใหม่ ก็มีปฏิกิริยาเกิดขึ้นมาตามสมควร

ทีนี้เวลาที่กระทบอารมณ์แล้ว ถ้าเรารู้ไม่ทัน สมมติว่าได้ยินเสียงด่า เราโกรธ รู้ไม่ทันความโกรธ ความโกรธก็ครอบงำใจ ความโกรธที่ครอบงำใจเรานี้เป็นกิเลส เราก็เกิดความคิดและไปพูดไปทำอะไรบางอย่าง การคิด การพูด การกระทำนั้นเป็นกรรม ความคิดของเราเป็นมโนกรรม พูดออกไปก็เป็นวจีกรรม ทำออกไปทางกายเป็นกายกรรม เราก็จะได้รับผลของกรรมต่อไป เริ่มต้นตั้งแต่ทำกรรมก็ได้รับผลแล้ว คือจิตใจไม่ดี จิตใจสะสมความเคยชินที่จะโกรธต่อไปอีก กลายเป็นคนโกรธง่าย รุ่มร้อน คนรอบข้างก็ไม่ชอบ ส่วนผลวิบากยังไม่ต้องพูดถึงก็ได้ เอาแค่ผลที่เห็นชัดๆ นี้ก็มากมายแล้ว จิตใจเป็นทุกข์นี้นี้ก็เป็นผลในขณะที่ทำ คนอื่นไม่ชอบหน้า หรืออาจจะมีเรื่องกันจนเขาทำร้ายเอา อย่างนี้ก็เป็นผลชัดๆ ในปัจจุบัน นี้เป็นกระบวนของวงกลมกิเลส กรรม วิบาก วนเวียนไป

การที่เราทำกรรมด้วยอำนาจอวิชชา คือความไม่รู้อริยสัจ จึงก่อให้เกิดผลซับซ้อนเต็มไปหมด เรามัวแต่หลง ไม่รู้เท่าทันความคิดความรู้สึกตัวเอง จึงคิดสะเปะสะปะไปทั่ว กิเลสก็เกิดขึ้นครอบงำใจ เราไปทำตาม เกิดกรรม ในชีวิตเราดูเหมือนว่า เราเห็น ได้ยิน ดมกลิ่น เจอเรื่องนั้นเรื่องนี้เยอะแยะ สับสนไปหมด เพราะว่าเราทำกรรมสะเปะสะปะ ผลที่ออกมาจึงดูสะเปะสะปะไปด้วย อาการสะเปะสะปะมากที่สุดก็คือความคิดของเราเอง คิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปทั่ว หยุดไม่ได้ รู้ไม่ทันก็เกิดกิเลสครอบงำใจ ไปทำกรรม สิ่งที่เราได้พบเห็นจึงสะเปะสะปะไปด้วย อันนี้ก็เป็นผลของกรรมต้องยอมรับไป

ถ้าจะพัฒนากรรมให้ดี หน้าที่ของเรานั้นต้องฝึกสติสัมปชัญญะ ให้รู้เท่าทันความคิดความรู้สึกของเรา เวลาเรารู้เท่าทันความคิดความรู้สึก เราก็ไม่คิดสะเปะสะปะไป กิเลสก็ไม่ครอบงำจิต ไม่หลงใหลไปตามความรู้สึกที่เกิดขึ้น เวลาจะตัดสินใจทำอะไรก็ทำด้วยความมีสติ มีความรู้ตัว อย่างนี้กรรมก็ดีขึ้น ผลที่ได้รับก็ดีขึ้นตาม

ถ้าเราเข้าใจเรื่องของกรรมโดยถูกต้องแล้ว ไม่มีคนอื่นเลยที่จะรับผิดชอบแทนเรา มีเราเท่านั้นแหละเป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด โดยปกติเราชอบหาคนผิด ไม่ชอบรับผิด อยากให้เราเป็นฝ่ายถูก อยากได้ดีหนีร้าย เพราะจิตใจเรานั้นโดยปกติมีมูลเป็นฝ่ายอกุศล มีความหลงไปตามรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หลงไปตามเรื่องต่างๆ นี้เป็นโมหมูล รู้สึกขาดแคลน รู้สึกพร่อง ไม่เต็ม คอยแสวงหาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาถมให้เต็มส่วนที่รู้สึกขาด อยากได้นั่นอยากได้นี่ บางคนมีเยอะแล้วก็ยังรู้สึกขาดอยู่ดี ไปแสวงหามาเพิ่มอยู่เรื่อย นี้เป็นโลภมูล และอยู่บนพื้นฐานของความกลัว กลัวเขาจะว่า กลัวจะไม่มั่นคง กลัวจะไม่ปลอดภัย กลัวคนอื่นเขาจะมองอย่างนั้นอย่างนี้ กลัวนั่นกลัวนี่ไปทั่ว จนกระทั่งถึงสิ่งที่ไม่เคยเห็น เช่น กลัวผี นี้เป็นโทสมูล เมื่อมีอกุศลเป็นมูล ก็มีโอกาสไปทำกรรมไม่ดีได้มาก

ฉะนั้น ที่เราทั้งหลายได้มีโอกาสเจอพระพุทธศาสนา ที่สอนให้ฝึกสติสัมปชัญญะ ให้มารู้ทันความคิดความรู้สึกของเรา เป็นประโยชน์มหาศาลเลยนะ การมีสติจะคอยช่วยเราไม่ให้ทำสิ่งที่ผิดพลาด ถ้ายังไม่พ้นทุกข์ เราก็ได้ทำกรรมดี ได้รับผลที่ดี เป็นอยู่ก็ไม่ทุกข์มาก ตายแล้วก็ไปเกิดในภพภูมิที่ดี

เราต้องหัดรู้ทันความรู้สึก ความโกรธเกิดขึ้นก็รู้ ความโลภเกิดขึ้นก็รู้ ความอิจฉาเกิดขึ้นก็รู้ พอใจก็รู้ ไม่พอใจก็รู้ หลงคิดไปให้ก็รู้ เมื่อรู้ทันกิเลส กิเลสก็ไม่ครอบงำจิต ไม่เกิดการทำกรรม นี้ก็เป็นประโยชน์ของการมีสติ จะทำให้มีศีล มีกายวาจาดีมากขึ้น จะทำให้มีจิตเป็นปกติ ไม่หลงไปตามอำนาจของอภิชฌาและโทมนัส ต่อไปก็จะเกิดสมาธิ เกิดปัญญาเป็นลำดับไป





เพื่อให้เข้าใจเรื่องกรรมโดยถูกต้อง ก็ต้องละความเห็นผิดที่ไม่สอดคล้องกับกรรมออกไปก่อน ในสมัยพุทธกาลนั้นมีกลุ่มที่เห็นผิดเกี่ยวกับกรรมอยู่ ๓ กลุ่ม พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ติตถายตนสูตร เวลาศึกษาทำความเข้าใจเรื่องของกรรม ก็อย่าให้ไปเข้ากับความเห็นผิดเหล่านี้ ซึ่งความเห็นที่ไม่ถูกต้อง จะเป็นไปทางอกิริยา คือไม่ก่อให้เกิดการกระทำ ไม่ก่อให้เกิดจิตสำนึกในการที่จะละสิ่งที่ไม่ดี เพิ่มพูนสิ่งที่ดี ไม่ก่อให้เกิดการฝึกฝนสติสัมปชัญญะ ไม่ก่อให้เกิดการสำรวมระวังอินทรีย์ ปล่อยไปตามยถากรรม อาจจะดูเหมือนปลงได้อยู่ แต่ไม่ได้ฝึกฝนตนเองอะไร สติก็ไม่มี สัมปชัญญะก็ไม่มี ไม่มีการรักษาคุ้มครองทวาร กิเลสก็ยังเกิดขึ้นครอบงำได้มากเหมือนเดิม ลักษณะนี้เรียกว่า เกิดความเห็นผิดเกี่ยวกับกรรม จึงทำให้เกิดความประมาท ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าต้องฝึกฝนตนเอง พระพุทธเจ้าแสดงลัทธิความเห็นผิดเกี่ยวกับกรรมเอาไว้ ๓ ลัทธิด้วยกัน คือ

ลัทธิที่ ๑ ปุพเพกตเหตุวาท ความเห็นผิดคิดว่า สุขทุกข์ทั้งปวง เป็นผลของกรรมเก่าทั้งนั้น อาการที่เราไม่มีความรับผิดชอบ ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาเลย เราโยนความผิดไปที่อื่น หาคนผิดเวลามีสุข มีทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข ตัวเองดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ก็โทษกรรมเก่า การทำไม่ดีที่เกิดขึ้นก็โทษกรรมเก่า เราสะสมมาแบบนี้ เลยเป็นคนแบบนี้ เป็นคนมักโกรธเหมือนเดิม โลภมากเหมือนเดิม ขี้อิจฉาเหมือนเดิม ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเหมือนเดิม ประพฤติเบียดเบียนคนอื่นเหมือนเดิม ไม่มีการพัฒนาปรับปรุงตนเอง โทษกรรมเก่าไปเสีย จะได้ไม่ต้องทำอะไร ได้รับผลอะไรต่างๆ ก็คิดว่าเป็นกรรมเก่า ไม่พยายามขวนขวายหาวิธีป้องกัน หรือผ่อนหนักให้เป็นเบา

ลัทธิที่ ๒ อิสสรนิมมานเหตุวาท ความเห็นผิดคิดว่า สุขทุกข์ทั้งปวงเป็นผลจากการบันดาลของผู้มีอำนาจ มีความเห็นว่า มีผู้มีอำนาจที่เป็นผู้ยิ่งใหญ่ สามารถให้คุณให้โทษกับเราได้ ลักษณะของผู้มีอำนาจก็แตกต่างกัน บางคนก็นึกไปถึงผีสางเทวดา บางคนก็นึกไปถึงใครก็ไม่รู้ที่ดูลึกลับ แต่รู้สึกว่า มีผู้มีอำนาจอยู่เบื้องหลังการได้รับหรือไม่ได้รับอะไร หน้าที่เราก็ต้องไหว้ วิงวอน ทำความเคารพ สวดอ้อนวอน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่ย้อนกลับมาพัฒนาตนเอง ไม่พยายามพึ่งตนเอง ส่วนการนับถือพระพุทธศาสนานั้น ถือพระรัตนตรัยเป็นสำคัญ เราถอนตนเองออกมาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย มาทำตามคำแนะนำของท่าน ท่านสอนให้เราพึ่งตนเอง ต้องพัฒนาตนเองให้เป็นที่พึ่งได้ ทำความดีด้วยตัวเราเอง ฝึกสติสัมปชัญญะ ไม่ต้องไปหวังพึ่งผู้มีอำนาจภายนอก

ลัทธิที่ ๓ อเหตุอปัจจยวาท ความเห็นผิดคิดว่า สุขทุกข์ทั้งปวง เป็นไปแล้วแต่โชคชะตา เป็นความบังเอิญ หรืออยู่ดีๆ มันก็เกิดขึ้น เมื่อคิดอย่างนี้ก็คอยแต่โชควาสนา คอยว่าเมื่อไหร่จะฟลุ้ค ไม่มีการลงมือฝึกฝนพัฒนาตนเอง

ความเห็นผิดเกี่ยวกับกรรมทั้ง ๓ อย่างนี้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เป็นความเห็นที่มองออกไปที่สิ่งภายนอก ไม่ได้มองมาที่เราเอง ไม่เป็นไปเพื่อการเริ่มต้นพัฒนาปรับปรุงตนเอง

หากเราไม่เข้าใจเรื่องของกรรมอย่างถูกต้อง ก็อาจจะมีความเห็นโน้มเอียงไปทางที่ผิดนั้น เช่น เห็นว่า สุขทุกข์ทั้งปวงเป็นผลของกรรมเก่า มาจากกรรมเก่า เราจะทำไม่ดีก็มาจากกรรมเก่า บางคนก็ชอบโยนไปอย่างนี้ เวลาเห็นคนอื่นเขาเป็นคนดี ร่ำรวย มีความสามารถ ก็คิดว่ากรรมเก่าเขาทำมาดี เขาก็เลยได้ ทั้งที่โดยความจริงคนที่เขาเป็นคนดี ร่ำรวย มีความสามารถ เขาก็ต้องอาศัยความพากเพียรพยายามฝึกฝนในปัจจุบัน เมื่อมีความเห็นผิดคิดว่า เขาเป็นอย่างนั้นเพราะกรรมเก่า เราก็เป็นอย่างนี้เพราะกรรมเก่า ตัวเราเองก็ขี้เกียจต่อไป นอนเล่นต่อไป ประมาทต่อไปอีก ปลอบใจตัวเองไปวันๆ อย่างนั้นแหละ ไม่ได้ฝึกฝนตนเองอะไรเลย กรรมเก่ามีจริง เทวดา มาร พรหม ก็มีจริง แต่ที่เราได้รับสุขทุกข์นั้นไม่ใช่เป็นผลของกรรมเก่าทั้งหมด เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น มาจากความเพียรในปัจจุบันและสิ่งแวดล้อมต่างๆ หลายอย่าง

เทวดามีจริง แต่ไม่ใช่ว่าเทวดาจะมาช่วยเรา เทวดาที่ดีก็จะมาช่วยเฉพาะคนที่เห็นว่าสมควรจะช่วย ถ้าเราไปกราบไหว้อ้อนวอนขอร้องให้เทวดามาช่วย เทวดาองค์ไหนมา เทวดาองค์นั้นท่าทางจะไม่น่าไว้ใจ ต้องขอร้องจึงค่อยมา ในพระไตรปิฎกนั้นก็มีเรื่องเทวดามาช่วยมนุษย์บ้างเหมือนกัน แต่เทวดาเขามาเอง อย่างพระพุทธเจ้าหรือพระเถระที่ทรงคุณ เทวดาก็มาหาเอง เทวดาองค์ไหนที่ต้องขอร้องจึงค่อยมา เทวดานั้นไม่ค่อยน่าไว้ใจเท่าไหร่ อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เราหลงงมงายไป ไม่คิดพึ่งตนเอง มัวแต่ยุ่งกับเรื่องเทวดาจะมาช่วย อวิชชาก็ยังอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้สอนให้เราฝึกสติสัมปชัญญะเพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นที่พึ่งของตนเองได้ มุ่งแต่ว่าเราจะได้นั่นจะได้นี่ เทวดาจะบันดาลสิ่งนั้นสิ่งนี้ให้เรา อย่างนี้ก็ยังหลงเหมือนเดิม




ความเข้าใจเรื่องกรรมในพระพุทธศาสนา ต้องเกี่ยวเนื่องกับความพากเพียร มีการลงมือทำ ปรับปรุงแก้ไข ละสิ่งที่ไม่ดี ทำสิ่งที่ดีเพิ่มขึ้น คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น เวลาเรียกชื่อก็เรียกได้หลายชื่อ เรียกว่า เป็นกรรมวาที กิริยาวาที วิริยวาที อย่างนี้ก็ได้

กรรมวาที หมายความว่า พระพุทธศาสนาสอนเรื่องกรรม กรรมที่เราทำดีหรือไม่ดีนั้นมีผล และสอนละเอียดลงไปว่า กรรมคืออะไร เหตุเกิดของกรรมคืออะไร ความอิสระจากกรรมคืออะไร วิธีการปฏิบัติที่จะทำให้อิสระจากกรรม อยู่เหนือกรรมทำอย่างไรบ้าง กรรมเก่าคืออะไร กรรมใหม่คืออะไร จะแยกแยะให้เห็นอย่างชัดเจน อย่างนี้เรียกว่ากรรมวาที สอนให้รู้ว่า ตัวเราทั้งหลายที่นั่งกันอยู่นี้ ก็เป็นทายาทของกรรม ได้ทำกรรมเก่ามา จึงได้เป็นบุคคลนี้ รูปร่างหน้าตาอย่างนี้ ผิวพรรณอย่างนี้ มีตระกูลนี้ และมีการทำกรรมใหม่ เป็นเหตุให้วนเวียนไปเรื่อยๆ จากบุคคลนี้เปลี่ยนแปลงตามกรรม และยังสอนวิธีการที่จะหมดกรรม ไม่ต้องมาวนเวียนต่อไปอีกด้วย

พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้พึ่งสิ่งภายนอก สอนให้เราพึ่งตนเอง แต่การจะพึ่งตนเองได้นั้น เราต้องทำให้ตนเองเป็นที่พึ่งได้ เราจึงต้องมาฝึกฝนเอาตามวิธีการที่ท่านแนะนำไว้ หากเราไม่มีความรู้เลย อย่างนี้จะพึ่งตนเองนั้นยังทำไม่ได้ คนที่จะพึ่งตนเองได้นั้น คือคนที่ฝึกฝนตนเอง มีสติสัมปชัญญะ มีคุณธรรมความดีด้านต่างๆ มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ถ้าเป็นที่พึ่งได้แน่นอนจริงๆ ไม่ต้องตกไปวนเวียนฝ่ายอบายภูมิอีก เราก็ต้องฝึกฝนให้เกิดปัญญาเป็นพระโสดาบัน อย่างนี้เป็นที่พึ่งของตนได้จริง

คนที่จะเป็นที่พึ่งของตนเองได้นั้น ต้องเป็นคนที่ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ฝึกฝนสติสัมปชัญญะ คนไหนยังมีความไม่ดีอยู่มาก ยังมีการทำผิดพลาดทางกายทางวาจา ยังมีการไปเบียดเบียนผู้อื่น ในตอนต้นก็ให้ฝึกโดยละสิ่งไม่ดีออกไป ทำความดีให้มาก รู้จักทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล มีจิตใจเมตตากรุณา หวังดีต่อผู้อื่น แล้วก็ไม่หยุดอยู่แค่นั้น ให้เหนือดีขึ้นไปอีก โดยรู้กายรู้ใจให้เกิดปัญญาเห็นความจริง ละความเห็นผิดละความยึดมั่นถือมั่นไป

กิริยาวาที หมายความว่า เป็นคำสอนที่แสดงถึงสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ ชี้ลงไปให้แจ่มชัดทีเดียวว่า อันนี้ควรทำ อันนี้ไม่ควรทำ อันนี้ควรเว้น อันนี้ควรทำให้มาก เป็นการสอนที่มีเหตุผล ทำไมจึงไม่ควรคบคนพาล ทำไมจึงควรคบบัณฑิต อกุศลไม่ควรทำ กุศลควรทำ ทำไมอกุศลไม่ควรทำ ทำไมกุศลควรทำ ก็จะบอกเหตุผลรองรับเอาไว้ เพราะแท้ที่จริง ธรรมะตามความเป็นจริงเป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็นำมาบอกให้เราละสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์

วิริยวาที หมายความว่า เป็นคำสอนสรรเสริญความเพียร พอสอนเรื่องกรรมมีผล สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำเช่นนี้แล้ว ก็สรรเสริญความพากเพียรที่ถูกต้อง ไม่ใช่สรรเสริญเพียรผิด บางคนขยันมากแต่ทำผิดก็ไม่ดีนะ ท่านสอนว่า ถ้าผิดแล้วอย่าไปขยัน ถ้าผิดให้ขี้เกียจดีกว่า ถ้าถูกให้ขยัน ห้ามขี้เกียจ เราจึงต้องศึกษาให้เข้าใจว่า ท่านสอนให้เราขยันเรื่องอะไร เราก็ลงมือทำด้วยความขยันหมั่นเพียร นี้เรียกว่าวิริยวาที

ดังนั้น การเข้าใจในหลักกรรรมโดยถูกต้อง มุ่งหมายไปถึงการลงมือพัฒนากรรมใหม่ด้วยความพากเพียร ไม่หลงลืม มีการรักษาคุ้มครองทวาร มีสติ มีสัมปชัญญะ การที่จะทำกรรมนี้นะ มาจากกรรมเก่าก่อน เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้คอยรับรู้โลก กระทบอารมณ์แล้วก็เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ ความเคยชินของใจเราก็เกิดขึ้นมา เกิดความรู้สึกขึ้น หากเรารู้ไม่ทัน ความรู้สึกก็ครอบงำใจ ให้เราไปทำกรรมใหม่

หน้าที่ของเราก็คือพากเพียร รู้ทันกระบวนการทำงานเหล่านี้ ถ้ายังทำกรรมอยู่ก็ให้ทำกรรมดี ยิ่งไปกว่านั้นเราก็ฝึกที่จะไม่หลงลืม มีความรู้ตัว รู้เท่าทันความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่หลงไปทำกรรมตามกิเลส คอยรักษาคุ้มครองทวาร โดยการมีสติสัมปชัญญะเมื่อมีการรับรู้อารมณ์ ความเข้าใจเรื่องกรรมที่ถูกต้องนี้จะเกี่ยวเนื่องกับความเพียรอยู่เสมอ หากไม่เป็นไปเพื่อความเพียรก็แสดงว่า ยังมีความเข้าใจที่ผิดพลาดอยู่



เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับเพื่อนๆที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ถวายสังฆทานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ปิดทองพระ รักษาอาการป่วยของผู้อื่นกับผู้ร่วมงาน และที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา ปล่อยชีวิตสัตว์มาโดยตลอด ถวายยาแก่ภิกษุ ขัดองค์พระ ที่ผ่านมาได้จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย ให้ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ทำบุญหลายอย่างมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ถวายสังฆทานและทำบุญสร้างอาคารผู้ป่วยและกฐินกับเพื่อนๆและให้อาหารเป็นทานแก่สรรพสัตว์กับเพื่อนๆและเพื่อนคนหนึ่งและบริวารของเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนได้มีจิตเมตตาให้ทานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดและเพื่อนได้เคยสวดมนต์เย็นกับคุณแม่และที่ผ่านมาได้ทำบุญสักการะพระธาตุทำบุญปิดทองชำระหนี้สงฆ์และไหว้พระและทำบุญตามกล่องรับบริจาคตามวัดต่างๆกับเพื่อนและตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย


ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปิดทองพระ ปล่อยชีวิตสัตว์ถวายยาแก่ภิกษุ ไหว้พระตามวัดต่างๆ ขัดองค์พระ ให้ความรู้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นทาน
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO