นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อังคาร 14 พ.ค. 2024 5:06 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: เรื่องราว
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 24 ส.ค. 2012 7:24 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4557
แม้พุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ทรงภาติไว้ว่า:-
“เมื่อใดบัณฑิตบรรเทาเสียซึ่งความประมาท ด้วยความไม่ประมาท, เมื่อนั้นบัณฑิตนั้นขึ้นสู่
ปราสาท คือ ปัญญา เป็นผู้ไม่มีโศก พิจารณาซึ่งหมู่สัตว์ผู้มีโศก, ผู้มีปัญญา พิจารณาซึ่งคนพาลทั้งหลายราวกะบุคคลผู้ยืนอยู่บนภูเขา แลดูซึ่งชนทั้งหลายผู้ยืนอยู่บนพื้น ฉะนั้น ดังนี้.”
อนึ่ง ภูเขาเป็นของไม่สูงขึ้น ไม่จมลง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่กระทำซึ่งอันฟูขึ้นและเสื่อมลง ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งภูเขา.
แม้นางจูฬสุภัททาอุบาสิกา ผู้ยกย่องสมณะทั้งหลายของตน ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
“สัตว์โลกสูงขึ้นด้วยลาภ, และทรุดลงด้วยเสื่อมลาภ; สมณะทั้งหลายของเรา เป็นผู้มีจิตดำรงอยู่เป็นดวงเดียว ในลาภและเลื่อมลาภ, เป็นผู้มีจิตคงที่ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการแห่งอากาศเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร อากาศอันอะไร ๆ ไม่พึงถือเอาโดยประการทั้งปวง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้อันกิเลสทั้งหลายไม่พึงถือเอาโดยประการทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่แรกแห่งอากาศ.
อนึ่ง อากาศเป็นประเทศอันหมู่ฤษีดาบสภูตและนกสัญจรไป ฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังใจให้สัญจรไปในสังขารทั้งหลาย โดยมนสิการว่า ‘อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา’ ฉะนี้ ฉันนั้น นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งอากาศ.
อนึ่ง อากาศเป็นที่ตั้งแห่งความสะดุ้งพร้อม ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังใจให้สะดุ้งในปฏิสนธิในภพทั้งปวง หาควรกระทำความยินดีไม่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งอากาศ.
อนึ่ง อากาศไม่มีที่สุดไม่มีประมาณอันบุคคลไม่พึงนับ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีศีลไม่มีที่สุด มีญาณไม่มีประมาณ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งอากาศ.
อนึ่ง อากาศเป็นประเทศไม่ติดไม่ข้องไม่ตั้งอยู่ ไม่กังวล ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ไม่ติด ไม่ข้อง ไม่ตั้งอยู่ ไม่วังวล ในตระกูล ในคณะ ในลาภ ในที่อยู่ ในเครื่องกังวล ในปัจจัยและกิเลสทั้งปวง ในที่ทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งอากาศ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ เมื่อตรัสสอนพระราหุลผู้พระโอรสของพระองค์ ก็ได้ตรัสไว้ว่า :-
“ดูก่อนราหุล อากาศไม่ได้ตั้งอยู่เฉพาะในที่ไร ๆ ฉันใด, ท่านจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ ฉันนั้น;เพราะว่าเมื่อท่านเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ ผัสสะทั้งหลาย ที่ยังใจให้เอิบอาบและไม่ยังใจให้เอิบอาบซึ่งเกิดขึ้นแล้ว ย่อมไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการแห่งพระจันทร์เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร พระจันทร์อุทัยในสุกกปักษ์ ย่อมเจริญด้วยแสงสว่างยิ่งขึ้นทุกที ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเจริญในอาจาระ ศีล คุณ วัตรปฏิบัติในนิกายเป็นที่มา และธรรมอันบุคคลพึงบรรลุ ในอารมณ์เป็นที่วังเวง ในสติปัฏฐาน ในความเป็นผู้มีทวารอันปิดในอินทรีย์ทั้งหลาย ในความเป็นผู้รู้ประมาทในโภชนะในความประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเพียรแห่งผู้ตื่นยิ่งขึ้นทุกที ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งพระจันทร์.
อนึ่ง พระจันทร์เป็นนักษัตรอันใหญ่ยิ่งชนิดหนึ่ง ฉันใด โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีฉันทะเป็นใหญ่ยิ่ง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งพระจันทร์.
อนึ่ง พระจันทร์ย่อมจรไปในราตรี ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้สงัดทั่ว ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งพระจันทร์.
อนึ่ง พระจันทร์มีวิมานเป็นธง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีศีลเป็นธง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งพระจันทร์.
อนึ่ง พระจันทร์อันโลกบวงสวงและปรารถนา ย่อมอุทัย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ผู้อันมหาชนบูชาและปรารถนา ก็ต้องเข้าไปสู่ตระกูลทั้งหลาย ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งพระจันทร์.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า:-
“แน่ะภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายเป็นผู้เรียบร้อยเหมือนด้วยพระจันทร์ จงสำรวมกาย สำรวมจิต แล้วเข้าไปสู่ตระกูลทั้งหลาย เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ อย่าคะนองในตระกูลทั้งหลาย ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์เจ็ดประการแห่งพระอาทิตย์เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร พระอาทิตย์ย่อมยังน้ำทั้งปวงให้เหือดแห้งฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังกิเลสทั้งหลายให้เหือดแห้ง ไม่ให้เหลืออยู่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งพระอาทิตย์.
อนึ่ง พระอาทิตย์ย่อมกำจัดเสียซึงความมืด ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องกำจัดเสียซึ่งความมืด คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และทุจริตทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งพระอาทิตย์.
อนึ่ง พระอาทิตย์ย่อมจรไปเนือง ๆ ฉันใด. โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องกระทำโยนิโสมนสิการเนือง ๆ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งพระอาทิตย์.
อนึ่ง พระอาทิตย์มีระเบียบแห่งรัศมี ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องเป็นผู้มีระเบียบแห่งอารมณ์ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งพระอาทิตย์.
อนึ่ง พระอาทิตย์ยังหมู่มหาชนให้ร้อนพร้อม เดินไปอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยังโลกทั้งปวงให้ร้อนพร้อมด้วยอาจาระ ศีล คุณ วัตรปฏิบัติ และฌาน วิโมกข์ สมาธิ สมาบัติ อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ สัมมัปปธาน อิทธิบาท ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งพระอาทิตย์.
อนึ่ง พระอาทิตยกลัวแต่ภัย คือ พระราหู เดินไปอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้ติดอยู่ในข่ายคือ ทุจริตทุคติกันดารปราศจากความเสมอ วิบาก วินิบาต กิเลส ผู้อันประชุมแห่งทิฏฐิสวมไว้แล้ว ผู้แล่นไปสู่ทางผิด ผู้ดำเนินไปสู่มรรคาผิด ยังใจให้สลด เพราะภัยเกิดแต่ความสลดอันใหญ่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หกแห่งพระอาทิตย์.
อนึ่ง พระอาทิตย์ ย่อมส่องให้เห็นสิ่งดีและชั่วทั้งหลาย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องแสดงอินทรีย์ พละ โพชฌางค์ สติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท โลกิยธรรม โลกุตตรธรรม ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่เจ็ดแห่งพระอาทิตย์.
แม้พระวังคีสเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“ภิกษุผู้ทรงธรรม ย่อมยังชนผู้อันอวิชชาปิดบังไว้แล้ว ให้เห็นหนทางมีประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนพระอาทิตย์อุทัย สำแดง รูปอันสะอาดและไม่สะอาด ดีและชั่ว แก่สัตว์ทั้งหลาย ฉันนั้นดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งทัาวสักกะเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร ท้าวสักกะอิ่มด้วยความสุขส่วนเดียวฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ยินดียิ่งในสุขเกิดแต่ความสงัดทั่วแห่งกายใจส่วนเดียว ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งท้าวสักกะ.
อนึ่ง ท้าวสักกะทอดพระเนตรเห็นเทพดาทั้งหลายแล้ว ทรงประคองความเห็นนั้นไว้ ยังความร่าเริงให้เกิดยิ่ง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องประคองใจซึ่งไม่หดหู่ ไม่เกียจคร้าน ในกุศลธรรมทั้งหลาย ยังความร่าเริงให้เกิดยิ่งในกุศลธรรมทั้งหลาย หมั่นสืบต่อพยายามในกุศลธรรมทั้งหลาย ฉะนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งท้าวสักกะ.
อนึ่ง ความไม่ยินดียิ่ง ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ท้าวสักกะ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ให้ความไม่ยินดียิ่งในสุญญาคารเกิดขึ้น ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งท้าวสักกะ.
แม้พระสุภูติเถระ ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
“ข้าแต่พระองค์ผู้กล้าใหญ่ เมื่อใด ข้าพระองค์บวชแล้วในศาสนาของพระองค์, เมื่อนั้น ข้าพระองค์ย่อมทรงสงเคราะห์มหาชน ด้วยวัตถุเครื่องสงเคราะห์ทั้งสี่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยึดเหนี่ยวน้ำใจ ต้องอนุเคราะห์น้ำใจของบริษัทสี่ ต้องชวนใจของบริษัทสี่ให้รื่นเริง ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ.
อนึ่ง โจรทั้งหลายย่อมไม่ตั้งซ่องสุมขึ้นในแว่นแคว้น แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ให้กามราค พยาบาท วิหิงสา วิตก เกิดขึ้นได้ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ว่า:-
“ผู้ใดยินดีแล้วในธรรมเป็นที่เข้าไประงับวิตก เป็นผู้มีสติเจริญอสุภารมณ์ในกาลทั้งปวง, ผู้นั้นแลกระทำซึ่งที่สุดแห่งกองทุกข์ ผู้นั้นตัดเครื่องผูกแห่งมาร ดังนี้.”
อนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิทรงเลียบมหาปฐพี มีมหาสมุทรเป็นที่สุดรอบ ทรงวิจารณ์การดีการชั่วทั้งหลาย ทุกวัน ๆ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องพิจารณากายกรรม วจีกรรม มโนกรรมทุกวัน ๆ ว่า ‘เมื่อเราอันบัณฑิตไม่พึงติเตียนได้ด้วยเหตุที่ตั้งสามเหล่านี้วันย่อมเป็นไปล่วงหรือหนอแล’ ดังนี้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งพระเจ้าจักรพรรดิ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ทรงภาสิตไว้ในเอกังคุตตรนิกายอันประเสริฐว่า:-
“บรรพชิตพึงพิจารณาเนือง ๆ ว่า เมื่อเราเป็นอยู่อย่างไร วันและคืนทั้งหลายเป็นไปล่วงอยู่” ดังนี้.
อนึ่ง ความรักษาทั่วในภายในและภายนอก เป็นของอันพระเจ้าจักรพรรดิทรงจัดดีแล้ว ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องตั้งไว้ซึ่งนายประตู กล่าวคือ สติ เพื่ออันรักษาทั่วซึ่งกิเลสทั้งหลายที่เป็นไปในภายในและภายนอก ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งพระเจ้าจักรพรรดิ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ทรงภาสิตไว้ว่า:-
“แน่ะภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเป็นผู้มีสติดุจนายประตู ละเสียซึ่งอกุศล ยังกุศลให้เจริญ, ละเสียซึ่งกรรมมีโทษอันบัณฑิตพึงเว้น ยังกรรมไม่มีโทษอันบัณฑิตไม่พึงเว้นให้เจริญ, ย่อมรักษาตนกระทำให้บริสุทธิ์” ดังนี้.

หัวข้อประจำจักกวัตติวรรคนั้น

แผ่นดินหนึ่ง น้ำหนึ่ง ไฟหนึ่ง ลมหนึ่ง ภูเขาหนึ่ง อากาศหนึ่ง พระจันทร์หนึ่ง พระอาทิตย์หนึ่ง ท้าวสักกะหนึ่ง พระเจ้าจักรพรรดิหนึ่ง.

กุญชร วรรคที่สี่

พระราชาตรัสถามว่า “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งปลวกเป็นไฉน?”
พระเถรเจ้าทูลว่า “ขอถวายพระพร ปลวกทำเครื่องปิดบังข้างบนปกปิดตนเที่ยวหากินอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องทำเครื่องปิดบัง กล่าวคือ ศีลสังวร ปกปิดใจเที่ยวอยู่เพื่อบิณฑาหารฉันนั้น. ขอถวายพระพร โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ย่อมเป็นผู้ก้าวล่วงภัยทั้งปวงได้ด้วยเครื่องปิดบัง คือ ศีลสังวรแล. นี้แล ต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งปลวก.
แม้คำนี้ พระอุปเสนเถระผู้บุตรวังคันตพราหมณ์ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“ผู้ประกอบความเพียร ทำใจให้มีศีลสังวรเป็นเครื่องปิดบังเป็นผู้อันโลกทาไล้ไม่ได้แล้ว ก็ย่อมพ้นรอบจากภัย ดังนี้”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งแมวเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร แมวไปสู่ถ้ำ ไปสู่โพรงไม้ หรือไปสู่ภายในเรือน ย่อมแสวงหาหนูเท่านั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรไปสู่บ้าน ไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ หรือไปสู่สุญญาคาร ก็ต้องเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วเนือง ๆ แสวงหาโภชนะ กล่าวคือ กายคตาสติอย่างเดียวฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งแมว.
อนึ่ง แม้ย่อมหากินในที่ใกล้เท่านั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้เห็นความเกิดและความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ห้าเหล่านี้อยู่ทุกอริยาบถว่า ‘รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ ๆ , ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ ๆ, ความดับไปแห่ง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณอย่างนี้ ๆ’ ดังนี้. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งแมว.
แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ทรงภาสิตไว้ว่า:-
“ขันธบัญจกไม่พึงมีไม่พึงเป็น ในที่ไกลแต่ที่นี้, ที่สุดของความมีความเป็นแห่งขันธบัญจก จักทำอะรได้, ท่านทั้งหลายประสพอยู่ในกายเป็นของตน อันเกิดข้นเฉพาะหน้า อันนำไปวิเศษ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งหนูเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร หนูวิ่งไปข้างโน้นข้างนี้ หวังต่ออาหารเท่านั้น วิ่งไปอยู่ ฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเที่ยวไปข้างโน้นข้างนี้ เป็นผู้หวังต่อโยนิโสมนสิการเท่านั้น ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ประการหนึ่งแห่งหนู.
แม้พระอุปเสนเถระวังคันตบุตร ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“ผู้มีปัญญาเห็นแจ้งกระทำความมุ่งหวังธรรมอยู่ มิได้ย่อหย่อนเป็นผู้ข้าระงับแล้ว มีสติอยู่ทุกเมื่อ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งแมลงป่องเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร แมลงป่องมีหางเป็นอาวุธ ชูหางเที่ยวไปอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีญาณเป็นอาวุธ ยกญาณขึ้นอยู่ทุกอิริยาบถ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งแมลงป่อง.
แม้พระอุปเสนเถระคันตบุตร ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ถือเอาพระขรรค์กล่าว คือ ญาณเที่ยวอยู่ย่อมพ้นจากสรรพภัยอันตราย, และผู้มีปัญญาเห็นแจ้งนั้น ยากที่ใคร ๆ จะผจญได้ในภพ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งพังพอนเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร พังพอนเมื่อเข้าใกล้งู เกลือกกายด้วยยาแล้ว จึงเข้าใกล้เพื่อจะจับงู ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรเมื่อเข้าใกล้โลกผู้มีความโกรธความอาฆาตมาก ผู้อันความทะเลาะถือเอาต่าง กล่าวแก่งแย่ง ความยินย้ายครอบงำแล้ว ก็ต้องลูบทาน้ำใจด้วยยากล่าวคือเมตตาพรหมวิหาร ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งพังพอน.
แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“ด้วยเหตุนั้น กุลบุตรควรกระทำเมตตาภาวนาแก่ตนและคนอื่น, กุลบุตรควรแผ่ไปด้วยจิตประกอบด้วยเมตตา ข้อนี้เป็นคำสั่งสอนแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” ดังนี้.
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งสุนัขจิ้งจอกแก่เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพระ สุนัขจิ้งจอกแก่ได้โภชนะแล้ว ไม่เกลียดกินจนพอต้องการ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ได้โภชนะแล้วก็มิได้เกลียด บริโภคสักว่ายังสรีระให้เป็นไปนั่นเทียว, ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ต้นแห่งสุนัขจิ้งจอกแก่.
แม้พระมหากัสสปเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“ข้าพเจ้าลงจากเสนาสนะเข้าไปบ้านเพื่อบิณฑบาต; ข้าพเจ้าบำรุงบุรุษผู้มีโรคเรื้อนผู้บริโภคอยู่นั้นโดยเคารพ. บุรุษนั้นน้อมคำข้าวไปด้วยมือของข้าพเจ้า, เมื่อข้าพเจ้าป้อนคำข้าวอยู่ บุรุษนั้นงับเอานิ้วมือของข้าพเจ้าไว้ในปากนั้น. ข้าพเจ้าอาศัยประเทศเป็นที่ตั้งแห่งฝาเรือน จักบริโภคคำข้าว; ในเมื่อคำข้าวที่ข้าพเจ้าบริโภคอยู่หรือบริโภคแล้ว ความเกลียดย่อมไม่มีแก่ข้าพเจ้า ดังนี้.”
อนึ่ง สุนัขจิ้งจอกแก่ได้โภชนะแล้ว มิได้เลือกกว่าเศร้าหมองหรือประณีต ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ได้โภชนะแล้วก็ไม่ต้องเลือกว่าเศร้าหมองหรือประณีต บริบูรณ์หรือไม่บริบูรณ์ ยินดีตามมีตามที่ได้มาอย่างไร ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์สองแห่งสุนัขจิ้งจอกแก่.
แม้พระอุปเสนวังคันตบุตรเถระ ก็ได้กล่าวไว้ว่า:-
“เรายินดีตามมีแม้ด้วยของเศร้าหมอง ไม่ปรารถนารสอื่นมาก, เมื่อเราไม่ละโมบในรสทั้งหลาย ใจของเราก็ย่อมยินดีในฌาน, ในเมื่อเรายินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ คุณเครื่องเป็นสมณะของเราย่อมเต็มรอบ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งเนื้อเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร เวลากลางวันเนื้อย่อมเที่ยวไปในป่า เวลากลางคืนย่อมเที่ยวไปในกลางแจ้ง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เวลากลางวันพึงอยู่ในป่า เวลากลางคืนอยู่ในที่แจ้ง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งเนื้อ.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ในโลมหังสนะปริยายว่า:-
“ดูก่อนสารีบุตร ราตรีทั้งหลายนั้นใด เย็นเป็นไปในเหมันตฤดู ในราตรีทั้งหลายเห็นปานนั้น ณ สมัยเป็นที่ตกแห่งน้ำค้าง เรานั้นแลสำเร็จอิริยาบถอยู่ในอัพโภกาสในราตรี สำเร็จอิริยาบถอยู่ในราวป่าในกาลวัน, ในเดือนมีในภายหลังแห่งคิมหฤดูเราสำเร็จอิริยาบถอยู่ในอัพโภกาสในกลางวัน, เราสำเร็จอิริยาบถอยู่ในราวป่าในราตรี ดังนี้.”
อนึ่ง เนื้อในเมื่อหอกหรือศรตกลงอยู่ ย่อมหลบ ย่อมหนีไป ย่อมไม่นำกายเข้าไปใกล้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ในเมื่อกิเลสทั้งหลายตกลงอยู่ ก็ต้องหลบ ต้องหนีไป ต้องไม่น้อมจิตเข้าไปใกล้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งเนื้อ.
อนึ่ง เนื้อเห็นมนุษย์ทั้งหลายย่อมหนีไปเสียทางใดทางหนึ่งด้วยคิดว่า ‘มนุษย์เหล่านั้นอย่าได้เห็นเราเลย’ ฉะนี้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร เห็นชนทั้งหลายผู้มีปกติบาดหมางกัน ทะเลาะกัน แก่งแย่งกัน วิวาทกัน ผู้ทุศีล ผู้เกียจคร้าน ผู้มีความยินดีในความคลุกคลี ก็ต้องหนีไปเสียทางใดทางหนึ่ง ด้วยคิดว่า ‘ชนเหล่านั้นอย่าได้พบเราเลย, และเราก็อย่าได้พบชนเหล่านั้นเลย’ ฉะนี้ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งเนื้อ.”
แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
“บางทีบุคคลมีความปรารถนาลามกเกียจคร้าน มีความเพียรอันละแล้ว มีพุทธวจนะสดับน้อย ผู้ประพฤติไม่ควร อย่าได้พบเราในที่ไร ๆ เลย” ดังนี้.
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สี่ประการแห่งโคเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร โคย่อมไม่ละที่อยู่ของตน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่ละกายของตนโดยโยนิโสมนสิการว่า “กายนี้ไม่เที่ยง ต้องอบกลิ่น นวดฟั้น มีความสลาย เรี่ยรายกระจัดกระจายเป็นธรรมดา’ ดังนี้ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์เป็นปฐมแห่งโค.”
อนึ่ง โคเป็นสัตว์มีแอกอันรับไว้แล้วย่อมนำแอกไปโดยง่ายและยาก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีพรหมจรรย์อันถือไว้แล้ว ประพฤติพรหมจรรย์มีชีวิตเป็นที่สุดจนถึงสิ้นชีวิต โดยง่ายและโดยยาก ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งโค.
อนึ่ง โคเมื่อสูดดมตามความพอใจ จึงดื่มกินซึ่งน้ำควรดื่ม ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องสูดดมตามความพอใจ ตามความรัก ตามความเลื่อมใส รับเอาคำพร่ำสอนของอาจารย์และอุปัชฌาย์ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งโค.
อนึ่ง โคอันบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งขับไปอยู่ ก็ย่อมทำตามถ้อยคำ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องรับโอวาทานุสาสนีของภิกษุผู้เถระผู้ใหม่ ผู้ปานกลาง และของคฤหัสถ์ผู้อุบาสก ด้วยเศียรเกล้าฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งโค.
แม้พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ ก็ได้ภาสิตไว้ว่า:-
“กุลบุตรบวชในวันนั้น มีปีเจ็ดโดยกำเนิด, แม้ผู้นั้นพร่ำสอนเรา เราก็ต้องรับไว้เหนือกระหม่อม. เราเห็นแล้ว พึงตั้งไว้ซึ่งความพอใจและความรักอันแรงกล้าในบุคคลนั้น, พึงนอบน้อมบุคคลนั้นเนือง ๆ โดยเอื้อเฟื้อในตำแหน่งอาจารย์ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งสุกรเป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร สุกรเมื่อถึงคิมหฤดูเป็นคราวเร่าร้อน ย่อมเข้าไปหาน้ำ ฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ครั้นเมื่อจิตขุ่นมัว พลั้งพลาด เหหวน เร่าร้อนด้วยโทสะ ก็ต้องเข้าไปใกล้ซึ่งเมตตาภาวนา ซึ่งเป็นของเยือกเย็น เป็นของไม่ตาย เป็นของประณีตฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งสุกร.
อนึ่ง สุกรเข้าไปใกล้น้ำตมแล้ว คุ้ยขุดดินด้วยจมูกกระทำให้เป็นปลักนอนในปลักนั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องวางกายไว้ในใจ ไปในระหว่างอารมณ์นอนอยู่ ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งสุกร.
แม้พระปิณโทลภารทวาชเถระ ก็ได้กล่าไว้ว่า:-
“ผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง เห็นความเป็นเองในกายแล้ว พิจารณาแล้ว เป็นผู้เดียวไม่มีเพื่อนที่สองนอนในระหว่างอารมณ์ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์ห้าประการแห่งช้างเป็นไฉน?”
ถ.”ขอถวายพระพร ธรรมดาช้าง เมื่อเที่ยวไป ย่อมทำลายแผ่นดิน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรก็ต้องพิจารณากายทำลายกิเลสทั้งปวงเสีย ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งช้าง.
อนึ่ง ช้างไม่เหลียวด้วยกายทั้งปวง ย่อมเพ่งดูตรงนั่นเทียว มิได้เลือกทิศน้อยทิศใหญ่ ฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องไม่เหลียวด้วยกายทั้งปวง ไม่เลือกทิศน้อยทิศใหญ่ ไม่แหงนขึ้นข้างบน ไม่ก้มลงข้างล่าง เป็นผู้เพ่งแลไกลชั่วแอก ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งช้าง.
อนึ่ง ช้างไม่ได้นอนเป็นนิตย์ ไปหาอาหารเนือง ๆ ย่อมไม่เข้าถึงซึ่งประเทศนั้นเพื่อจะอยู่ มิได้มีอาลัยในที่อาศัยแน่นอน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มิได้นอนเป็นนิตย์ มิได้มีที่อยู่ ไปเพื่อบิณฑบาต ถ้าว่าเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง เห็นมณฑปมีในประเทศอันงดงาม หรือโคนไม้ ถ้ำ เงื้อม เป็นที่ฟูใจสมควร ก็เข้าอาศัยอยู่ในที่นั้น แต่หากระทำความอาลัยในที่อาศัยแน่นอนไม่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งช้าง.
อนึ่ง ช้างลงสู่น้ำก็ลงสู่สระบัวใหญ่ ๆ ซึ่งบริบูรณ์ด้วยน้ำอันสะอาดไม่ขุ่นและเย็น ดาดาษแล้วด้วยกุมาท อุบล ปทุม ปุณฑริก เล่นอย่างช้างอันประเสริฐ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องลงสู่สระโบกขรณีอันประเสริฐ กล่าวคือ มหาสติปัฏฐาน ซึ่งเต็มแล้วด้วยน้ำ กล่าวคือ ธรรมอันประเสริฐ อันสะอาด ไม่หม่นหมอง ผ่องใส มิได้ขุ่นมัว ดาดาษด้วยดอกไม้ กล่าวคือ วิมุตติ ล้างขัดสังขารทั้งหลายด้วยญาณปรีชา เล่นอย่างโยคาวจร ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งช้าง.
อนึ่ง ช้างยกเท้าขึ้นก็มีสติ จดเท้าลงก็มีสติ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องยกเท้าขึ้นด้วยสติสัมปชัญญะ จดเท้าลงด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะในเวลาก้าวไปและก้าวกลับคู้อวัยวะเข้าและออกในที่ทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งช้าง.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพาดิเทพ ก็ได้ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า:-
‘ความสำรวมด้วยกายเป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ, ความสำรวมด้วยวาจาเป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ, ความสำรวมด้วยใจเป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ, ความสำรวมในที่ทั้งปวงเป็นคุณยังประโยชน์ให้สำเร็จ, บุคคลผู้สำรวมในที่ทั้งปวง นักปราชญ์กล่าวว่า ‘ผู้มีความละอาย มีไตรทวารรักษาแล้ว’ ดังนี้.”

หัวข้อประจำกุญชรวรรคนั้น
ปลวกหนึ่ง แมวหนึ่ง หนูหนึ่ง แมลงป่องหนึ่ง พังพอนหนึ่ง สุนัขจิ้งจอกหนึ่ง เนื้อหนึ่ง โคหนึ่ง สุกรหนึ่ง ช้างหนึ่ง เป็นสิบ ฉะนี้.


สีห วรรคที่ห้า

พระราชาตรัสถามว่า “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์เจ็ดประการแห่งราชสีห์ เป็นไฉน?”
พระเถรเจ้าทูลว่า “ขอถวายพระพร ธรรมดาราชสีห์เป็นสัตว์ขาวไม่หม่นหมอง หมดจดสะอาด ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีจิตขาว ไม่หม่นหมอง บริสุทธิ์ผุดผ่อง ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งราชสีห์.
อนึ่ง ราชสีห์มีเท้าสี่เป็นเครื่องเที่ยวไป มักเที่ยวไปด้วยลีลาศ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีอิทธิบาทสี่เป็นเครื่องเที่ยวไป ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งราชสีห์.
อนึ่ง ราชสีห์เป็นสัตว์มีผมงอกงามมีรูปอันยิ่ง ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีผม กล่าวคือศีลงาม มีรูปอันยิ่งฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งราชสีห์.
อนึ่ง ราชสีห์ย่อมไม่นอบน้อมแก่สัตว์ไร ๆ แม้เพราะต้องเสียชีวิต ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ไม่นอบน้อมแก่ใคร ๆ แม้เพราะจะต้องเสีย จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยาเป็นปัจจัยแห่งคนไข้เป็นบริขาร ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สี่แห่งราชสีห์.
อนึ่ง ราชสีห์เป็นสัตว์มีภักษามิได้ขาด ย่อมบริโภคเนื้อสัตว์ในโอกาสที่สัตว์นั้นล้มนั่นแหละจนพอต้องการ มิได้เลือกบริโภคเนื้อล่ำของสัตว์ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีภักษามิได้ขาด มิได้เลือกตระกูลทั้งหลาย มิได้ละเรือนต้นเข้าไปใกล้ตระกูลทั้งหลาย บริโภคพอยังสรีระให้เป็นไป ในโอกาสเป็นที่รับโภชนะนั่นเอง มิได้เลือกโภชนะอันเลิศ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่ห้าแห่งราชสีห์.
อนึ่ง ราชสีห์มิได้มีภักษาหารสะสมไว้ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีความบริโภคมิได้กระทำความสะสมไว้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หกแห่งราชสีห์.
อนึ่ง ราชสีห์มิได้อาหารก็ไม่ได้ดิ้นรน ถึงได้อาหารก็ไม่โลภ ไม่หมกมุ่น ไม่ทะยานกินฉันใด,โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ไม่ได้โภชนะก็ต้องไม่ดิ้นรน ถึงได้โภชนะก็ต้องไม่โลภ ไม่หมกมุ่น ไม่ทะยาน เห็นอาทีนพอยู่เป็นปกติ มีปัญญาเป็นเหตุออกไปจากภพ บริโภคอยู่ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่เจ็ดแห่งราสีห์.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงสรรเสริญพระมหากัสสปเถระก็ได้ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า:-
“แน่ะภิกษุทั้งหลาย กัสสปนี้เป็นผู้สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และมีปกติกล่าวคุณของการสันโดา ด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ ย่อมไม่ถึงความแสวงหาไม่ควร และกรรมไม่สมควร เพราะเหตุแห่งบิณฑบาต ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่ดิ้นรนถึงได้บิณฑบาตก็ไม่โลภ ไม่หมกมุ่น ไม่ทะยาน เห็นอาทีนพอยู่เป็นปกติ มีปัญญาเป็นเหตุออกไปจากภาพ บริโภคอยู่’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สามประการแห่งนกจากพราก เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร นกจากพรากย่อมไม่ละทิ้งนางนกตัวที่เป็นภริยาจนตลอดชีวิต ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็มิได้ละทิ้งความกระทำในใจโดยอุบายที่ชอบ จนตลอดชีวิต ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งนกจากพราก.
อนึ่ง นกจากพรากมีสาหร่ายและแหนเป็นภักษา ย่อมถึงความเต็มใจด้วยสาหร่ายและแหนนั้น และไม่เสื่อมจากกำลังและพรรณเพราะความเต็มใจนั้น ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องทำความเต็มใจตามลาภที่ได้ ฉันนั้น. ก็โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรเป็นผู้เต็มใจตามลาภที่ได้ ก็ไม่เสื่อมจากศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ และมิได้เสื่อมจากสรรพกุศลธรรมทั้งหลาย. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งนกจากพราก.
อนึ่ง นกจากพรากย่อมไม่เบียดเบียนสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีทัณฑะอันละทิ้งแล้ว มีศัสตราอันละทิ้งแล้ว มีความละอาย ถึงพร้อมด้วยความเอ็นดู มีปกติอนุเคราะห์ด้วยประโยชน์เกื้อกูล ในสัตว์มีชีวิตทั้งปวง ฉันนั้น. นี้แลต้องถือเอาองค์ที่สามแห่งนกจากพราก.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพดิเทพ ก็ได้ทรงภาสิตไว้ ในจักกะวากชาดกว่า:-
“ผู้ใดไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่า ไม่ผจญ ไม่ว่ากล่าว, เวรของผู้นั้น
ย่อมไม่มีกับใคร ๆ เพราะอันไม่เบียดเบียนในสัตว์ทั้งปวง’ ดังนี้.”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งนางนกเงือก เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร นางนกเงือกย่อมไม่เลี้ยงลูกทั้งหลายเพราะริษยาในผัวของตน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องหวงห้ามกิเลสทั้งหลายอันเกิดขึ้นในใจตนเสีย ใส่เข้าซึ่งกิเลสทั้งหลายในโพรงไม้ กล่าวคือ ความสำรวมโดยชอบด้วยสติปัฏฐานแล้วยังกายคตาสติให้เจริญในมโนทวาร ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งนางนกเงือก.
อนึ่ง นางนกเงือกเที่ยวหาอาหารที่ป่าใหญ่ตลอดทั้งวัน เวลาเย็นก็กลับมายังฝูงนกเพื่อความรักษาซึ่งตน ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ผู้เดียว เสพที่อันสงัดทั้งเพื่อความพ้นรอบจากสังโยชนธรรม, เมื่อไม่ได้ความยินดีในที่สงัดทั่วนั้น พึงกลับสู่สังฆมณฑล เป็นผู้อันสงฆ์รักษาแล้วอยู่ เพื่ออันป้องกันซึ่งภัย คือ ความถูกว่าได้ ฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งนางนกเงือก.
แม้คำนี้ท้าวสหัมบดีพรหม ก็ได้กราบทูลในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า:-
“เสพที่นอนที่นั่งอันสงัดทั้งหลาย, ประพฤติเพื่อความพ้นวิเศษจากสังโยชนธรรม; ถ้าไม่ถึงทับความยินดีในเสนาสนะเหล่านั้น, จงเป็นผู้มีตนอันรักษาแล้ว มีสติอยู่ในสังฆมณฑล ดังนี้”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งนกพิราบเรือนเป็นไฉน?”
ถ. ขอถวายพระพร นกพิราบเรือนเมื่ออยู่ที่เรือนของชนอื่นย่อมไม่ถือเอานิมิตหน่อยหนึ่งแห่งเข้าของ แห่งชนทั้งหลายเหล่านั้นเป็นสัตว์มัธยัสถ์หมายรู้มากอยู่ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียรเข้าไปสู่ตระกูลอื่น ก็ต้องไม่ถือเอานิมิตในเตียง ตั่ง ผ้า เครื่องประดับ เครื่องอุปโภค เครื่องบริโภค หรือโภชนะวิกัติทั้งหลายของสตรีหรือบุรุณ เป็นผู้มัธยัสถ์ เข้าไปตั้งไว้เฉพาะซึ่งความสำคัญว่าเราเป็นสมณะฉันนั้น. นี้แล ต้องถือเอาองค์หนึ่งประการแห่งนกพิราบเรือน.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ทรงภาสิตไว้ ในจูฬนารทชาดก:- ว่า
‘เข้าไปสู่ตระกูลแล้ว พึงเคี้ยวกิตแต่พอประมาณ บรรดาน้ำควรดื่มทั้งหลาย หรือโภชนะทั้งหลายพึงเคี้ยวกินแต่พอประมาณ พึงบริโภคแต่พอประมาณ, และอย่ากระทำซึ่งใจในรูป’ ดังนี้”
ร. “พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ต้องถือเอาองค์สองประการแห่งนกเค้า เป็นไฉน?”
ถ. “ขอถวายพระพร นกเค้าโกรธกาทั้งหลาย พอเวลากลางคืนก็ไปยังฝูงกาแล้วฆ่ากาเสียเป็นอันมาก ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องกระทำความยินร้ายต่ออญาณความไม่รู้เท่าเสีย เป็นผู้ ๆ เดียวนั่ง ณ ที่ลับย่ำยีอญาณ ตัดเสียตั้งแต่รากเง่า ฉันนั้น.นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่หนึ่งแห่งนกเค้า.
อนึ่ง นกเค้าเป็นสัตว์หลีกเร้นอยู่ ณ ที่ลับ ฉันใด, โยคาวจรผู้ประกอบความเพียร ก็ต้องเป็นผู้มีที่สงัดเป็นที่มารื่นรมย์ ยินดีแล้วในการหลีกเร้นอยู่ ฉันนั้น, นี้แล ต้องถือเอาองค์ที่สองแห่งนกเค้า.
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ได้ตรัสไว้ ในสังยุตตนิกายอันประเสริฐว่า:-
‘แน่ะภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีที่สงัดเป็นที่มารื่นรมย์ ยินดีในความหลีกเร้นอยู่ ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงว่า ‘อันนี้เป็นทุกข์ อันนี้เป็นสมุทัย อันนี้เป็นนิโรธ อันนี้เป็นมรรค’ ดังนี้.”





เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับเพื่อนๆที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ถวายสังฆทานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ปิดทองพระ รักษาอาการป่วยของผู้อื่นกับผู้ร่วมงาน และที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา ปล่อยชีวิตสัตว์มาโดยตลอด ถวายยาแก่ภิกษุ ขัดองค์พระ จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย ให้ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ทำบุญหลายอย่างมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ถวายสังฆทานและทำบุญสร้างอาคารผู้ป่วยและกฐินกับเพื่อนๆและให้อาหารเป็นทานแก่สรรพสัตว์กับเพื่อนๆและเพื่อนคนหนึ่งและบริวารของเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนได้มีจิตเมตตาให้ทานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดและเพื่อนได้เคยสวดมนต์เย็นกับคุณแม่และที่ผ่านมาได้ทำบุญสักการะพระธาตุทำบุญปิดทองชำระหนี้สงฆ์และไหว้พระและทำบุญตามกล่องรับบริจาคตามวัดต่างๆกับเพื่อนและตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย


ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปิดทองพระ ปล่อยชีวิตสัตว์ถวายยาแก่ภิกษุ ไหว้พระตามวัดต่างๆ ขัดองค์พระ ให้ความรู้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นทาน
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO