นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน เสาร์ 11 พ.ค. 2024 12:11 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: เรื่องราว
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 17 ส.ค. 2012 9:03 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4554
๗. กุสลากุสลพลวาพลวปัญหา ๗๔

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน กรรมไหนมีกำลังยิ่งกว่า กุศลหรืออกุศล?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร กุศาลมีกำลังยิ่งกว่า อกุศลหาอย่างนั้นไม่."
ร. "ข้าพเจ้ายังไม่ยอมรับตามคำว่า 'กุศลมีกำลังยิ่งกว่า อกุศลหาอย่างนั้นไม่' นั้นดอก. ชนทั้งหลายในโลกนี้ เป็นผู้ยังสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป เป็นผู้ถือเอาซึ่งสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ เป็นผู้ประพฤติผิดในกามทั้งหลาย เป็นผู้มักกล่าวปด เป็นผู้ฆ่าซึ่งชาวบ้าน เป็นผู้ประทุษร้ายในหนทาง เป็นผู้หลอกลวงเขา มีปรากฏอยู่, เพราะกรรมอันเป็นบาปมีประมาณเท่านั้น ชนทั้งหลายเหล่านั้นทั้งปวง ย่อมได้ซึ่งกรรมกรณ์ คือ อันตัดมือ ตัดเท้า ตัดทั้งมือทั้งเท้า ตัดหู ตัดจมูก ตัดทั้งหูทั้งจมูก และพิลังคถาลิกะกรรมกรณ์ (คือ ผ่ากบาลศีรษะแล้ว เอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใส่ลงในกบาลศีรษะนั้น มันสมองที่เป็นอยู่ในกบาลศีรษะก็ลอยขึ้นบ้างบน) สังขมุณฑิกะกรรมกรณ์ (คือ เชือดดริมฝีปากข้างบน และหนังที่หุ้มหมวกหูทั้งสองข้าง และหลุมคอ แล้วขมวดผมทั้งหมดให้เป็นขอดในที่เดียวกันแล้วกระชากออก หนังก็หลุดออกพร้อมกับผม แล้วขัดกบาลศีระษะด้วยกรวดอันหยาบแล้วล้าง กระทำกบาลศีรษะให้เหมือนสีสังข์) ราหุมุขะกรรมกรณ์ (คือ เอาขอเกี่ยวปากไว้ให้อ้าแล้วจุดไฟไว้ในปาก แล้วเอาเหล็กหมาดสักตั้งแต่หมวดหูกระทั้งปาก โลหิตก็ไหลออกเต็มปาก) โชติมาลิกะกรรมกรณ์ (คือ พันตัวทั้งหมดด้วยผ้าชุบน้ำมันแล้วจุดไฟเผา) หัตถะปโชติกะกรรมกรณ์ (คือ พันมือทั้งสองด้วยผ้าชุบน้ำมันแล้วเอาไฟเผา) เอรกวัติกะกรรมกรณ์ (คือ เฉือนแผ่นหนังตั้งแต่คอลงไปถึงข้อเท้า แล้วผูกนักโทษนั้นไว้ด้วยเชือกแล้วกระชากมา นักโทษนั้นก็เหยียบแผ่นหนังของตนล้มลง) จีรกวาสิกะกรรมกรณ์ (คือ เฉือนแผ่นหนังตั้งแต่คอลงไปถึงสะเอว แล้วเฉือนแผ่นหนังตั้งแต่สะเอวลงไปถึงข้อเท้า สรีระมีในเบื้องต่ำของนักโทษนั้น ก็เป็นเหมือนผ้านุ่งที่ทำด้วยเปลือกไม้ เพราะแผ่นหนังมีในเบื้องบนมีอยู่) เอเณยยกะกรรมกรณ์ (คือ สอดซี่เหล็กคาบไว้ที่ข้อศอกทั้งสองและเข่าทั้งสอง แล้วค้ำไว้ด้วยหลาวเหล็ก นักโทษนั้นตั้งอยู่บนพื้นด้วยหลาวเหล็กสี่อันทีหลังเขาล้อมนักโทษนั้นนำไฟเข้าเผา ด้วยเห็นกันเหมือนว่า เผาเนื้อทราย) พลิสมังสิกะกรรมกรณ์ (คือ เอาเบ็ดเกี่ยวปากไว้ทั้งสองข้างแล้วดึงให้หนังเนื้และเอ็นหลุดออก) กหาปณะกรรมกรณ์ (คือเอาพร้าอันคมเถือสรีระทั้งสิ้นของนักโทษนั้นให้ตกลงทีละเท่าแผ่นกหาปณะ) ขาราปฏิจฉกะกรรมกรณ์ (คือ ฟันสรีระของนักโทษนั้นด้วยอาวุธให้ทั่วแล้วถูด้วยน้ำแสบ ให้หนังและเนื้อเอ็นไหลออกเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก) ปลิฆปริวัตติกะกรรมกรณ์ (คือ ให้นักโทษนั้นนอนตะแคง แล้วเอาหลาวเหล็กแทลงลงที่ช่องหูให้ทะลุออกช่องล่างติดเนื่องกับแผ่นดิน ทีหลังเขาจับเท้าทั้งสองของนักโทษนั้นเวียนไป) ปลาสปีฐกะกรรมกรณ์ (คือ ไม่เชือดผิวหนัง ทุบกระดูกทั้งหลายด้วยลูกหินบดแล้วจิกผมทั้งหลายยกขึ้น กองเนื้อเท่านั้นมีอยู่ ทีหลังเขารวบผมทั้งหลายเข้าพันกองเนื้อนั้นไว้ดุจมัดฟาง) รดด้วยน้ำมันอันร้อนบ้าง ยังสุนัขทั้งหลายให้เคี้ยวกินบ้าง เสียบบนหลาวบ้าง ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง; ชนทั้งหลายบางพวกทำบาปในราตรี ย่อมเสวยผลของบาปนั้นในราตรีนั้นเอง บางพวกกระทำบาปในราตรี ย่อมเสวยผลในกลางวัน, บางพวกกระทำในกลางวัน ย่อมเสวยผลในราตรี, บางพวกต่อสองวันสามวันล่วงไปจึงเสยผล;ชนทั้งหลายเหล่านั้น แม้ทั้งปวง ย่อมเสวยผลในทิฏฐธรรมทีเดียว. มีหรือ พระผู้เป็นเจ้าใคร ๆ ให้ทานทั้งบริวารแก่บุคคลคนหนึ่ง หรือสองคน สามคน สี่คน ห้าคน สิบคน ร้อยคน พันคน แสนคน แล้วได้เสวยโภคทรัพย์ ยศ หรือความสุขซึ่งเป็นไปในทิฏฐธรรม หรือได้เสวยโภคทรัพย์เป็นต้นนั้น ด้วยศีลหรืออุโบสถกรรม?"
ถ. "มีอยู่ ขอถวายพระพร บุรุษสี่คนให้ทาน สมาทานศีล ทำอุโบสถธรรม ถึงซึ่งยศในเทวโลกชื่อไตรทศ (ชั้นดาวดึงส์) โดยอัตภาพนั้นนั่นเอง ในทิฏฐธรรมทีเดียว."
ร. "ใครบ้าง?"
ถ. "พระเจ้ามันธาตุราชหนึ่ง พระเจ้านิมิราชหนึ่ง พระเจ้าสาธีนราชหนึ่ง คุตติลคนธรรพ์หนึ่ง."
ร. "ข้อที่พระผู้เป็นเจ้ากล่าวนั้นเป็นข้อลี้ลับ โดยพันแห่งพิภพมิใช่อันเดียว, และข้อนั้นปรากฏแก่จักษุของเราทั้งสองไม่ได้; ถ้าพระผู้เป็นเจ้าสามารถ ก็จงกล่าวในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้ายังมีพระชนม์อยู่ ณ ภพเป็นปัจจุบัน."
ถ. "ในภพเป็นปัจจุบัน ทาสชื่อปุณณกะถวายโภชนะแก่งพระสารีบุตรเถระ ได้รับที่เศรษฐีในวันนั้น ปรากฏนามว่าปุณณกเศรษฐีในกาลนั้น. นางโคปาลมาตาเทวีถวายบิณฑบาตแก่พระมหากัจจายนเถระผู้มีตนเป็นที่แปด ด้วยกหาปณะทั้งแปดที่ขายผมทั้งหลายของตนได้มา ได้ถึงที่อัครมเหสีแห่งพระเจ้าอุเทนในวันนั้น. นางสุปปิยาอุบาสิกา ถวายเนื้อล่ำด้วยเนื้อที่ขาของตนแก่ภิกษุไข้รูปใดรูปหนึ่งในวันที่สองเป็นผู้มีแผลหาย มีผิวหาโรคมิได้. นางมัลลิกาเทวีถวายก้อนขนมกุมาสค้างคืนแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เป็นอัครมเหสีแห่งพระราชาโกศลในวันนั้นเอง. นายสุมนมาลาการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยดอกมะลิแปดกำมือ ได้ถึงสมบัติใหญ่ในวันนั้นเอง. เอกสาฎกพราหมณ์บูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยผ้าห่ม ได้หมวดแปดแห่งวัตถุทั้งปวงวันนั้นเอง. ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายเหล่านั้น แม้ทั้งปวงได้เสวยโภคทรัพย์และยศซึ่งเป็นไปในทิฏฐธรรม."
ร. "พระผู้เป็นเจ้าค้นหา ได้พบชนหกคนเท่านั้นหรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร."
ร. "ถ้าอย่างนั้น อกุศลมีกำลังยิ่งกว่า กุศาลหาอย่างนั้นไม่. ก็วันเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าเห็นบุรุษทั้งหลายสิบคนบ้าง ยี่สิบคนบ้าง สามสิบคนบ้าง สี่สิบคนบ้าง ห้าสิบคนบ้าง ร้อยคนบ้าง พันคนบ้างรับอาชญาขึ้นอยู่บนหลาวทั้งหลาย เพราะผลแห่งกรรมเป็นบาป... ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า 'อกุศลมีกำลังยิ่งกว่าแน่แท้ กุศลหาอย่างนั้นไม่' ฉะนี้. อสทิสทานอันพระเจ้าโกศลทรงบริจาคในพระพุทธศาสนานี้ พระผู้เป็นเจ้าได้ยินหรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร ได้ยิน."
ร. "เออก็ พระเจ้าโกศลทรงบริจาคอสทิสทานนั้นแล้ว ย่อมได้ทรัพย์สมบัติยศและความสุขอะไร ๆ ซึ่งเป็นไปในทิฏฐธรรมอันเป็นผลของการบริจาคนั้นหรือ?"
ถ. "หามิได้ ขอถวายพระพร."
ร. "ถ้าว่าพระเจ้าโกศลทรงบริจาคทาน ไม่มีทานอื่นจะยิ่งกว่าเห็นปานนี้ ก็ไม่ได้แล้วซึ่งทรัพย์สมบัติยศและความสุข ซึ่งเป็นไปในทิฏฐธรรม อันเป็นผลของการบริจาคนั้น, ถ้าอย่างนั้น อกุศลก็เป็นของมีกำลังกว่าแท้ กุศลหาอย่างนั้นไม่."
ถ. "ขอถวายพระพร เพราะความที่อกุศลเป็นของเล็กน้อยอกุศลจึงแปรไปเร็ว เพราะความที่กุศลเป็นของมาก กุศลจึงแปรไปโดยกาลยืดยาว. คำที่อาตมภาพว่านี้ บรมบพิตรต้องทรงพิจารณาโดยอุปมา.
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนธัญชาติชื่อกุมุทภัณฑิกาในชนบทมีในที่สุดชนบทอื่นอีก เกี่ยวมาไว้ในฉางได้เดือนหนึ่งจึงแปรไป, ข้าวสาลีทั้งหลาย แปรไปโดยห้าหกเดือน; ในของสองอย่างนี้ ธัญชาติชื่อกุมุทภัณฑิกาและข้าวสาลีทั้งหลาย จะผิดกันอย่างไร แปลกกันอย่างไร?"
ร. "ผิดกัน แปลกกัน เพราะความที่แห่งธัญชาติชื่อกุมุทภัณฑิกาเป็นของที่เนื้อน้อย, และเพราะความทีแห่งข้าวสาลีทั้งหลายเป็นของมีเนื้อแน่น. ข้าวสาลีทั้งหลายเป็นของควรแด่พระราชา เป็นพระกระยาหารของพระราชา, ธัญชาติชื่อกุมุทภัณฑิกา เป็นโภชนะของทาสและกรรมกรทั้งหลาย."
ถ. "เพราะความที่แห่งอกุศลเป็นของน้อย อกุศลจึงแปรไปเร็ว เพราะความที่แห่งกุศลเป็นของมาก กุศลจึงแปรไปโดยกาลยาวฉันนั้นแล."
ร. "ในกรรมทั้งสองนั้น กรรมใด แปรไปเร็ว กรรมนั้น เป็นของมีกำลังยิ่งกว่าในโลก, เพราะเหตุนั้น อกุศลกรรมเป็นของมีกำลังยิ่งกว่า กุศลกรรมหาอย่างนั้นไม่. ทหารคนใดคนหนึ่ง เข้าไปสู่การรบใหญ่ จับศัตรูคู่ต่อสู้ที่รักแร้ได้ ฉุดมานำเข้าไปส่งนายโดยพลัน ทหารนั้นชื่อว่า เป็นผู้อาจ เป็นผู้กล้าในโลก, อนึ่ง แพทย์คนใด ถอนลูกศรออกให้โรคหายโดยพลัน แพทย์คนนั้นชื่อว่าเป็นผู้ฉลาด, คนผู้นับคำนวณใด นับคำนวณเร็ว ๆ แล้วแสดงทันที คนผู้นับคำนวณนั้น ชื่อว่าเป็นคนฉลาด, คนปล้ำใด ยกคนปล้ำคู่ต่อสู้พลันให้ล้มหงาย คนปล้ำนั้นชื่อว่าเป็นผู้สามารถ เป็นผู้กล้า ฉันใดก็ดี: สิ่งใดแปรไปเร็ว กุศลหรืออกุศลก็ตาม สิ่งนั้นเป็นของมีกำลังยิ่งกว่า ฉันนั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร กรรมแม้ทั้งสองนั้น เป็นของที่สัตว์จะต้องเสวยในสัมปรายภพ, อีกประการหนึ่ง อกุศลกรรมเป็นของที่สัตว์จะต้องเสวยผลในทิฏฐธรรมโดยขณะ เพราะความเป็นของเป็นไปกับด้วยโทษที่ควรเว้น.
ขอถวายพระพร พระราชกำหนดนี้ อันพระมหากษัตริย์ทั้งหลายในกาลก่อนทรงตั้งไว้แล้วว่า 'ผู้ใดฆ่ามนุษย์หรือสัตว์ดิรัจฉาน ผู้ใดลักฉ้อสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ ผู้ใดถึงภริยาของบุคคลอื่น ผู้ใดกล่าวปด ผู้ใดฆ่าชาวบ้าน ผู้ใดประทุษร้ายตามหนทาง ผู้ใดทำซึ่งอันล่อลวงเขา ผู้นั้น ๆ ควรปรับไหม ควรเฆี่ยน ควรตัดอวัยวะ ทำลายอวัยวะ ควรฆ่า ตามโทษานุโทษ' ฉะนี้. พระมหากษัตริย์ทั้งหลายเหล่านั้น อาศัยพระราชกำหนดนั้น ทรงพิจารณาแล้วทรงพิจารราแล้ว ให้ปรับไหมบ้าง ให้เฆี่ยนบ้าง ให้ตัดอวัยวะบ้าง ให้ทำลายอวัยวะบ้าง ให้ฆ่าบ้าง ตามโทษานุโทษ. ความกำหนดนี้ อันชนบางพวกตั้งไว้แล้วว่า 'ผู้ใดให้ทานรักษาศีลหรือทำอุโบสถกรรม ควรให้ทรัพย์หรือยศแก่ผู้นั้น' ฉะนี้ มีอยู่หรือ?
ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายพิจารณาแล้ว พิจารณาแล้ว ซึ่งความกำหนดไว้นั้น ย่อมให้ทรัพย์บ้าง ยศบ้าง แก่ผู้นั้น ราวกะให้การเฆี่ยนและจำจองแก่โจรผู้ทำโจรกรรมหรือ?"
ร. "หามิได้เลย"
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าว่า ชนทั้งหลาย พึงพิจารณาแล้วพิจารณาแล้ว ให้ทรัพย์หรือยศแก่ทายกทั้งหลายไซร้, ถึงกุศลก็พึงเป็นของอันสัตว์พึงเสวยผลในทิฏฐธรรม. ก็เพราะเหตุใด ชนทั้งหลายไม่พิจารณาแล้วว่า 'เราทั้งหลาย จักให้ทรัพย์หรือยศแก่ทายกทั้งหลาย' ดังนี้, เพราะเหตุนั้น กุศลจึงหาเป็นของอันสัตว์พึงเสวยผลในทิฏฐธรรมไม่.
ขอถวายพระพร ด้วยเหตุนี้แล อกุศลจึงเป็นของอันสัตว์พึงเสวยผลในทิฏฐธรรม, และผู้ทำอกุศลกรรมนั้น ย่อมเสวยเวทนาที่มีกำลังยิ่งกว่าในสัมปรายภพ."
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหานี้ อันใคร ๆ เว้นเสียแต่ผู้รู้เช่นด้วยพระผู้เป็นเจ้า พึงแก้ไขไม่ได้; ของที่เป็นไปในโลก อันพระผู้เป็นเจ้าให้รู้แจ้ง โดยความเป็นของข้ามขึ้นจากโลก."

๘. เปตอุททิสสผลปัญหา ๗๕

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ทายกทั้งหลายเหล่านี้ ให้ทานอุทิศถึงญาติผู้วายชนม์แล้วในกาลก่อน ด้วยตั้งจิตว่า 'ทานนี้ จงถึงแก่ญาติทั้งหลายผู้วายชนม์แล้วในกาลก่อน' ฉะนี้. ญาติทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมได้รับผลของทานอะไร ๆ บ้างหรือ?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "บางพวกได้รับ บางพวกหาได้รับไม่ ขอถวายพระพร."
ร. "พวกไหนได้รับ พวกไหนไม่ได้รับ?"
ถ. "ขอถวายพระพร สัตว์ทั้งหลายผู้เกิดในนรก ย่อมไม่ได้รับและสัตว์ทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในครรภ์ สัตว์ทั้งหลายผู้ไปในกำเนิดดิรัจฉานย่อมไม่ได้รับ;ในเปรตทั้งหลายสี่พวก เปรตทั้งหลายสามพวก คือ วันตาสิกเปรต ขุปปิปาสิกเปรต นิชฌามตัณหิกเปรต ย่อมไม่ได้รับ; ปรทัตตูปชีวีเปรตทั้งหลาย ย่อมได้รับ, แม้เปรตเหล่านั้น ระลึกถึงอยู่นั่นเทียว จึงได้รับ."
ร. "ถ้าอย่างนั้น ทานของทายกทั้งหลาย เป็นของไปปราศจากกระแส หาผลมิได้, ทานที่ทายกทั้งหลายกระทำอุทิศถึงญาติทั้งหลายผู้ตายแล้วเหล่าใด ถ้าว่าญาติทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมไม่ได้รับผล."
ถ. "ขอถวายพระพร ทานนั้นเป็นของไม่มีผล ไม่มีวิบากก็หาไม่, ทายกทั้งหลาย ย่อมเสวยผลแห่งทานนั้นแท้."
ร. "กระนั้น ก็ขอพระผู้เป็นเจ้าให้ข้าพเจ้าหมายรู้ได้โดยเหตุ."
ถ. "มนุษย์ทั้งหลายบางพวกในโลกนี้ ตกแต่งปลาเนื้อสุราภัตตาหารและของควรเคี้ยวทั้งหลายแล้ว ไปสู่ตระกูลญาติ, ถ้าว่าญาติทั้งหลายเหล่านั้น ไม่รับพร้อมซึ่งของฝากนั้นไซร้, ของฝากนั้น พึงถึงความไปปราศจากกระแสและพึงเสียหายบ้างหรือ?"
ร. "หาไม่ ของฝากก็คงเป็นของเจ้าของทั้งหลายนั่นเอง."
ถ. "ข้ออุปไมยนั้น ก็ฉันนั้นนั่นแล, ทายกทั้งหลาย ย่อมเสวยผลของทานนั้น.
ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษเข้าไปสู่ห้อง ในเมื่อช่องเป็นที่ออกข้างหน้าไม่มี จะพึงออกข้างไหน?
ร. "ต้องออกโดยช่องที่เข้าไปแล้วนั่นเองซิ."
ถ. "ข้ออุปไมยนั้น ก็ฉันนั้นนั่นแล, ทายกทั้งหลายนั่นเอง ย่อมเสวยผลของทานนั้น."
ร. "ยกไว้เถิด พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้นว่า 'ทายกทั้งหลายนั่นเอง ย่อมเสวยผลของทานนั้น', เราทั้งหลาย จะไม่กระทำเหตุนั้นให้เสียระเบียบ."

๙. กุสลากุสลมหันตามหันถภาวปัญหา ๗๖

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน หากว่าทานที่ทายกเหล่านี้ให้แล้ว ย่อมถึงแก่ญาติทั้งหลายผู้ตายแล้วในกาลก่อน, และญาติผู้บุรพเปรตชนทั้งหลาย ย่อมเสวยผลของทานนั้น, ถ้าอย่างนั้น บุคคลผู้กระทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ผู้โลภ ผู้ใจร้าย ผู้มีความดำริในใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว ฆ่ามนุษย์ทั้งหลาย กระทำกรรมชั่วร้ายแล้ว อุทิศถึงญาติผู้บุรพเปรตทั้งหลาย, ดังนี้ ผลของกรรมอันนั้นจะถึงแก่บุรพเปรตชนทั้งหลายบ้างหรือ?"
ถ. "หาไม่เลย ขอถวายพระพร."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เหตุอะไรในข้อนั้น กุศลย่อมถึงอกุศลย่อมไม่ถึง ด้วยเหตุอันใด เหตุอันนั้นเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ปัญหานั้นอันใคร ๆ ไม่ควรถามล และบรมบพิตรอย่าตรัสถามซึ่งปัญหาที่ไม่ควรถาม ด้วยเข้าพระทัยว่า 'บุคคลผู้วิสัชนามีอยู่' ดังนี้เลย; บรมบพิตรจักตรัสถามซึ่งปัญหาไม่ควรถามนั้นกะอาตมภาพบ้างหรือว่า 'เพราะเหตุไร อากาศจึงไม่มีที่หน่วงเหนี่ยว เพราะเหตุไร แม่น้ำคงคาจึงไม่ไหลขึ้นข้างบน เพราะเหตุไรมนุษย์และนกทั้งหลายเหล่านี้มีเท้าสอง เนื้อทั้งหลายมีสี่เท้า? ดังนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าไม่ได้เพ่งความเบียดเบียนถามพระผู้เป็นเจ้า, ก็แต่ข้าพเจ้าถามเพื่อประโยชน์แก่อันกำจัดเสียซึ่งความสนเท่ห์ ข้าพเจ้าถามพระผู้เป็นเจ้าด้วยคิดอย่างนี้ว่า 'มนุษย์ทั้งหลายในโลกมาก มักถือเอาโดยเบื้องซ้าย มีดวงตาคือปัญญาไปปราศแล้ว; มนุษย์เหล่านั้น จะไม่พึงได้ซึ่งความสันนิษฐานเป็นที่ตกลงว่ากระไร."
ถ. "ขอถวายพระพร กรรมเป็นบาป อันใคร ๆ ไม่อาจแบ่งปันกับด้วยบุคคลผู้ไม่ได้กระทำกรรมเป็นบาปแล้ว ผู้ไม่มีกรรมเป็นบาป มีอณูเป็นประมาณ. เปรียบเหมือนมนุษย์ทั้งหลาย นำน้ำไปด้วยเครื่องนำน้ำแม้สู่ที่ไกล, ภูเขาหินใหญ่ทึบ อันบุคคลอาจนำไปตามปรารถนาด้วยเครื่องนำไปบ้างหรือ ขอถวายพระ?"
ร. "ไม่อาจเลย."
ถ. "ข้ออุปไมย ก็ฉันนั้นนั่นแล กุศลอันบุคคลอาจแบ่งปันได้ อกุศลอันบุคคลไม่อาจแบ่งปันได้.
อีกประการหนึ่ง เหมือนอย่างประทีป อันบุคคลอาจให้โพลงด้วยน้ำมัน, ประทีปอันบุคคลอาจให้โพลงด้วยน้ำท่าได้หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่ได้ซิ."
ถ. "ข้ออุปไมย ก็ฉันนั้นนั่นแล กุศลอันบุคคลอาจแบ่งปันได้ อกุศลอันบุคคลไม่อาจแบ่งปันได้.
อีกประการหนึ่ง เหมือนอย่างว่า ชาวนาน้ำน้ำออกแต่เหมืองแล้วยังข้าวเปลือกให้สุกรอบได้, ชาวนานำน้ำออกแต่มหาสมุทร แล้วยังข้าวเปลือกให้สุกรอบได้หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่ได้ซิ."
ถ. "ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นนั่นแล กุศลอันบุคคลอาจแบ่งปันได้ อกุศลอันบุคคลไม่อาจแบ่งปันได้."
ร. "เพราะเหตุไร? กุศลอันบุคคลอาจแบ่งปันได้ อกุศลอันบุคคลไม่อาจแบ่งปันได้; พระผู้เป็นเจ้าจงยังข้าพเจ้าให้หมายรู้โดยเหตุ, ข้าพเจ้าไม่ใช่คนบอด ไม่ใช่คนมืด ฟังแล้วจักรู้แจ้ง."
ถ. "ขอถวายพระพร อกุศลเป็นของน้อย กุศลเป็นของมาก; เพราะความที่อกุศลเป็นของน้อย อกุศลจึงครอบงำผู้กระทำผู้เดียว, เพราะความที่กุศลเป็นของมาก กุศลจึงกลบโลกทั้งเทวโลก."
ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมา."
ถ. "เปรียบเหมือนหยาดน้ำหยาดเดียว เป็นของน้อย พึงตกลงบนแผ่นดิน, หยาดน้ำมัน ย่อมท่วมทับที่สิบโยชน์บ้าง สิบสองโยชน์บ้างได้หรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ไม่ได้ซิ หยาดน้ำนั้นตกลงแล้วในที่ใด ก็พึงติดอยู่ในที่นั้นเท่านั้น."
ถ. "เพราะเหตุไร ขอถวายพระพร?"
ร. "เพราะความที่หยาดน้ำหยาดเดียวเป็นของน้อยซิ."
ถ. "ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นนั่นแล อกุศลเป็นของน้อย เพราะความที่อกุศลเป็นของน้อย อกุศลจึงครอบงำบุคคลผู้กระทำผู้เดียว อันผู้กระทำไม่อาจแบ่งปัน.
อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนมหาเมฆ ยังฝนให้ตกลงกระทำพื้นแผ่นดินให้ชุ่มชื้น, มหาเมฆนั้น พึงท่วมโดยรอบบ้างหรือ ขอถวายพระพร?"
ร. "ท่วมได้ซิ มหาเมฆนั้น ยังบึงและสระใหญ่น้อย คลอง ซอก ธาร หนอง เหมือง สระบัว ทั้งหลาย ให้เต็มท่วมที่สิบโยชน์บ้างสิบสองโยชน์บ้าง."
ถ. "เพราะเหตุอะไร ขอถวายพระพร?"
ร. "เพราะความที่แห่งเมฆเป็นของใหญ่นะซิ."
ถ. "ข้ออุปไมยก็ฉันนั้นนั่นแล กุศลเป็นของมาก เพราะความที่แห่งกุศลเป็นของมาก กุศลจึงเป็นของแม้อันเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายอาจแบ่งปันได้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เพราะเหตุไร อกุศลเป็นของน้อย กุศลเป็นของมาก?"
ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง่ในโลกนี้ให้ทานสมาทานศีล กระทำอุโบสถกรรม, บุคคลนั้น เป็นผู้ร่าเริงแล้ว ร่าเริงทั่วแล้ว ยินดีแล้ว ยินดีทั่วแล้ว บันเทิงทั่วแล้ว มีใจเลื่อมใสแล้ว มีความรู้แจ้งเกิดแล้ว: ปีติของบุคคลนั้นย่อมเกิดสืบ ๆ, กุศลย่อมเจริญยิ่ง ๆ แก่บุคคลผู้มีใจปีติแล้ว; น้ำพึงเข้าไปในบ่อที่สมบูรณ์ด้วยน้ำมากโดยทางหนึ่ง พึงออกโดยทางหนึ่ง, แม้เมื่อน้ำออกอยู่ น้ำก็ย่อมเกิดขึ้นสืบ ๆ, น้ำนั้นเป็นของอันใคร ๆ ไม่อาจให้ถึงซึ่งความสิ้นไป ฉันใด: กุศลย่อมเจริญยิ่งขึ้น ๆ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร บุรุษพึงนึกถึงกุศลที่กระทำแล้ว แม้สิ้นร้อยปี, เมื่อบุรุษนั้นนึกถึงอยู่ กุศลย่อมเจริญยิ่ง ๆ, กุศลนั้น เป็นของอันบุรุษนั้นอาจเพื่อจะแบ่งปันกับด้วยชนทั้งหลาย ผู้มีความปรารถนาอย่างไร.
ขอถวายพระพร กุศลเป็นของมากกว่าด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้. ฝ่ายบุคคลผู้กระทำอกุศล เป็นผู้มีความเดือดร้อนในภายหลัง, จิตของบุคคลผู้มีความเดือดร้อน ย่อมท้อถอยหดหู่หันกลับ ย่อมไม่คลี่คลาย ย่อมเศร้าโศกเร่าร้อน เสื่อมสิ้นไป ย่อมไม่เจริญรอบ ย่อมครอบงำในจิตนั้นเท่านั้น.
ขอถวายพระพร ในเมื่อหาดทรายในแม่น้ำอันแห้ง สูงขึ้นและยุบลงขยับเขยื้อนอยู่ น้ำน้อยมาอยู่ข้างบน ย่อมเสื่อมหายไป ย่อมไม่เจริญรอบ ย่อมติดอยู่ในที่นั้นเท่านั้น ฉันใด; จิตของบุคคลผู้กระทำอกุศล ย่อมท้อถอยหดหู่หันกลับ ย่อมไม่คลี่คลาย ย่อมเศร้าโศกเร่าร้อน เสื่อมสิ้นไป ย่อมไม่เจริญรอบ ย่อมครอบงำในจิตนั้นเท่านั้น ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ขอถวายพระพร อกุศลเป็นของน้อยด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันนี้."
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๑๐. สุปินปัญหา ๗๗

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน บุรุษและสตรีทั้งหลายในโลกนี้ เห็นสุบินดีบ้างชั่วบ้าง เคยเห็นบ้าง ยังไม่เคยเห็นบ้าง เคยทำแล้วบ้าง ยังไม่เคยทำแล้วบ้าง เป็นของเกษมบ้าง เป็นไปกับด้วยภัยบ้าง มีในที่ไกล้าง มีในที่ใกล้บ้าง ย่อมเห็นสุบินทั้งหลายที่ควรพรรณนา มิใช่พันเดียว มีอย่างเป็นอันมาก. อะไรชื่อสุบินนั้นและคนชนิดไร ย่อมเห็นสุบินนั้น?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร นิมิตใด ย่อมเข้าใกล้คลองแห่งจิต นิมิตนั้น ชื่อว่าสุบิน. ชนทั้งหลายเหล่านี้หกพวก ย่อมเห็นสุบิน คือ ชนผู้ประกอบด้วยลมกำเริบ ย่อมเห็นสุบินหนึ่ง ชนผู้ประกอบด้วยดีกำเริบ ย่อมเห็นสุบินหนึ่ง ชนผู้ประกอบด้วยเสมหะกำเริบ ย่อมเห็นสุบินหนึ่ง ชนเห็นสุบินเพราะเทวดาอุปสังหรณ์หนึ่ง ชนเห็นสุบินเพราะตนเคยประพฤติมาหนึ่ง ชนเห็นสุบินเพราะนิมิตในก่อนหนึ่ง. บุคคลย่อมเห็นสุบินอันใดเพราะบุรพนิมิต สุบินอันนั้นแหละแน่ สุบินเหลือจากนั้นไม่แน่."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน บุคคลใด ย่อมเห็นสุบินเพราะบุรพนิมิต จิตของบุคคลนั้น ไปเลือกเอานิมิตเองหรือ, หรือว่านิมิตนั้น เข้าใกล้คลองแห่งจิตของบุคคลนั้น หรือว่าธรรมารมณ์อื่นมาบอกแก่จิตนั้น?"
ถ. "ขอถวายพระพร จิตของบุคคลนั้น หาไปเลือกนิมิตนั้นไม่ และธรรมารมณ์ไร ๆ อื่น ก็หาได้มาบอกแก่จิตนั้นไม่, อันที่แท้นิมิตนั้นนั่นแล เข้าใกล้คลองแห่งจิตของบุคคลนั้น. กระจกหาได้ไม่เลือกเอาเงาในที่ไหน ๆ เองไม่, อะไร ๆ อื่น ก็หาได้นำเงามาให้ขึ้นสู่กระจกไม่, อันที่แท้เงามาแต่ที่ใดที่หนึ่ง เข้าใกล้คลองแห่งกระจกฉันใดก็ดี; จิตของบุคคลนั้น หาได้ไปเลือกเอานิมิตนั้นเองไม่ ธรรมารมณ์ไร ๆ อื่น ก็หาได้มาบอกไม่, อันที่แท้ นิมิตมาแต่ที่ใดที่หนึ่งเข้าใกล้คลองแห่งจิตของบุคคลนั้น ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ร. "จิตนั้นใด ย่อมเห็นสุบิน จิตนั้น ย่อมรู้ว่า 'ผล คือ สุขเกษม หรือทุกข์ภัยจักมีอย่างนี้' ดังนี้บ้างหรือ?"
ถ. "จิตนั้น ย่อมไม่รู้เลยว่า 'ผล คือสุขเกษมหรือทุกข์ภัยจักมี'ดังนี้: ก็ในเมืองนิมิตเกิดขึ้นแล้ว บุคคลผู้เห็นสุบิน ย่อมกล่าวแก่ชนทั้งหลายอื่น ชนทั้งหลายเหล่านั้น จึงบอกเนื้อความให้."
ร. "เชิญพระผู้เป็นเจ้าแสดงเหตุ."
ถ. "ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนกระหรือไฝหรือต่อมตั้งขึ้นในสรีระเพื่อลาภ เพื่อเสื่อมลาภ เพื่อยศ เพื่อเสื่อมยศ เพื่อนินทา เพื่อสรรเสริญ หรือเพื่อสุข เพื่อทุกข์. ต่อมเหล่านี้ รู้แล้วจึงเกิดขึ้นบ้าง หรือว่า 'เราทั้งหลาย จักยังประโยชน์ชื่อนี้ให้สำเร็จฉะนี้?"
ร. "หาไม่ ต่อมเหล่านั้น ย่อมเกิดพร้อมในโอกาสเช่นใด บุคคลผู้รู้นิมิตทั้งหลาย เห็นต่อมเหล่านั้นในโอกาสนั้นแล้ว ย่อมทำนายว่า 'ผลจักมีอย่างนี้' ฉะนี้."
ถ. "จิตนั้นใด ย่อมเห็นสุบิน จิตนั้น ย่อมไม่รู้ว่า' ผล คือ สุขเกษม หรือทุกข์ภัยจักมีอย่างนี้' ดังนี้: ก็ครั้นนิมิตเกิดขึ้นแล้วบุคคลผู้เห็นสุบินนั้น กล่าวแก่ชนทั้งหลายอื่น ชนทั้งหลายเหล่านั้น จึงบอกเนื้อความให้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ร. "บุคคลใด เห็นสุบิน บุคคลนั้น หลับอยู่เห็นหรือว่าตื่นอยู่เห็น?"
ถ. "ขอถวายพระพร บุคคลนั้นใด เห็นสุบิน บุคคลนั้น หลับอยู่ย่อมไม่เห็น แม้ตื่นอยู่ก็ย่อมไม่เห็น, ก็แต่ในเมื่อความหลับหยั่งลงแล้ว ในเมื่อภวังค์ยังไม่ถึงพร้อมแล้ว บุคคลย่อมเห็นสุบินในระหว่างนั้น. จิตของบุคคลผู้ขึ้นสู่ความหลับ เป็นของถึงภวังค์แล้ว, จิตที่เป็นของถึงภวังค์แล้ว ย่อมไม่เป็นไป, จิตที่ไม่เป็นไปแล้ว ย่อมไม่รู้แจ้งซึ่งสุขและทุกข์, สุบินย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้ไม่รู้แจ้ง, ในเมื่อจิตเป็นไปอยู่บุคคลจึงเห็นสุบิน.
ขอถวายพระพร เงาในกระจกแม้ใสดี ย่อมไม่ปรากฏในเวลามัวมืดไม่สว่าง ฉันใด, ในเมื่อจิตขึ้นสู่ความหลับถึงภวังค์แล้ว ในเมื่อสรีระแม้ตั้งอยู่ จิตเป็นของไม่เป็นไป, ครั้นจิตไม่เป็นไปแล้ว บุคคลย่อมไม่เห็นสุบิน ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร สรีระ บรมบพิตรควรทรงเห็นประดุจกระจก, ความหลับ บรมบพิตรควรทรงเห็นราวกะความมืด, จิต บรมบพิตรควรทรงเห็นประหนึ่งความสว่าง.
ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง แสงแห่งพระอาทิตย์ที่มีหมอกบังเสีย ย่อมไม่ปรากฏ, รัศมีพระอาทิตย์มีอยู่ ก็ย่อมไม่เป็นไป, ครั้นรัศมีพระอาทิตย์ไม่เป็นไปแล้ว ความสว่างก็ย่อมไม่มี ฉันใด; จิตของบุคคลผู้ขึ้นพร้อมสู่ความหลับ เป็นของถึงภวังค์ จิตที่ถึงภวังค์ ย่อมไม่เป็นไป, ครั้นจิตไม่เป็นไปแล้ว บุคคลก็ย่อมไม่เห็นสุบิน ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร สรีระ บรมบพิตรควรทรงเห็นอย่างพระอาทิตย์, ความหลับ บรมบพิตรควรทรงเห็นดังความที่หมอกบังเสียฉะนั้น, จิตบรมบพิตรควรทรงเห็นเช่นรัศมีพระอาทิตย์.
ขอถวายพระพร ครั้นเมื่อสรีระของบุคคลทั้งหลายสองแม้มีอยู่จิตเป็นของไม่เป็นไปแล้ว คือ เมื่อสรีระของบุคคลผู้ขึ้นพร้อมสู่ความหลับแล้ว ถึงภวังค์แล้ว แม้มีอยู่ จิตเป็นของไม่เป็นไปแล้วหนึ่ง, ครั้นเมื่อสรีระของบุคคลผู้เข้านิโรธ แม้มีอยู่ จิตเป็นของไม่เป็นไปแล้วหนึ่ง, จิตของบุคคลผู้ตื่นอยู่ เป็นของวุ่นวายเปิดเผยปรากฏไม่เสมอ, นิมิตย่อมไม่เข้าถึงคลองแห่งจิตของบุคคลเห็นปานนั้น.
ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายผู้ปรารถนาความลับ ย่อมเว้นบุรุษผู้เปิดเผย ผู้ปรากฏ ผู้ไม่กระทำ ผู้ไม่ควรความลับ ฉันใด, เนื้อความดุจทิพย์ ย่อมไม่เข้าถึงคลองจิตแห่งบุคคลผู้ตื่นอยู่ ก็ฉันนั้นแล, เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้ตื่นอยู่ ย่อมไม่เห็นสุบิน.
ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เนื้อความดุจทิพย์ ย่อมไม่เข้าถึงคลองจิตแห่งบุคคลผู้ตื่นอยู่นั้น เปรียบเหมือนกุศลธรรมทั้งหลายที่เป็นฝ่ายปัญญาเครื่องตรัสรู้ ย่อมไม่ยังภิกษุผู้มีอาชีวะทำลายแล้ว ผู้ประพฤติไม่ควร ผู้เป็นบาปมิตร ผู้ทุศีล ผู้เกียจคร้าน ผู้มีความเพียรต่ำช้า ให้เข้าถึงคลองจิตฉะนั้น, เพราะเหตุนั้น บุคคลผู้ตื่นอยู่ ย่อมไม่เห็นสุบิน."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของความหลับมีหรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร เบื้องต้นของความหลับก็ดี ท่ามกลางของความหลับก็มี ที่สุดของความหลับก็มี."
ร. "อะไรเป็นเบื้องต้น อะไรเป็นท่ามกลาง อะไรเป็นที่สุด?"
ถ. "ขอถวายพระพร ความที่กายเกียจคร้าน ความที่กายย่อหย่อน ความที่กายมีกำลังชั่ว ความที่กายอ่อนเพลีย ความที่กายไม่ควรแก่การงาน อันใด อันนี้ เป็นเบื้องต้นแห่งความหลับ: ผู้ใดอันความหลับดุจวานรครอบงำแล้ว จิตที่เกลื่อนกล่นยังตื่นอยู่ อันนี้ เป็นท่ามกลางแห่งความหลับ; ความถึงภวังค์ เป็นที่สุดของความหลับ; บุคคลผู้เข้าถึงท่ามกลางของความหลับ อันความหลับดุจวานรครอบงำแล้วย่อมเห็นสุบิน.
ขอถวายพระพร ผู้บำเพ็ญเพียรบางคน มีจิตตั้งมั่น มีธรรมตั้งอยู่แล้ว มีปัญญาเครื่องรู้ไม่หวั่นไหว หยั่งลงสู่ป่ามีเสียงอื้ออึงละแล้ว คิดอยู่ซึ่งเนื้อความอันสุขุม, ผู้นั้นไม่หยั่งลงสู่ความหลับในป่านั้น, ผู้นั้นมีจิตตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์อันเดียว ย่อมแทงตลอดซึ่งเนื้อความอันสุขุม ฉันใด, บุคคลผู้ตื่น ไม่ถึงพร้อมความหลับ เข้าถึงเฉพาะ ซึ่งความหลับดุจวานร อันความหลับดุจวานรครอบงำแล้ว ย่อมเห็นสุบิน ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร ความตื่นอยู่ บรมบพิตรควรทรงเห็นเหมือนเสียงอื้ออึง, บุคคลผู้อันความหลับดุจวานรครอบงำ บรมบพิตรควรทรงเห็นดุจป่าอันสงัด, บุคคลผู้ตื่นอยู่ไม่ถึงพร้อมความหลับ อันความหลับดุจวานรครอบงำแล้ว ย่อมเห็นสุบิน ราวกะบุคคลผู้บำเพ็ญเพียรนั้นละเสียซึ่งเสียงอื้ออึง เว้นเสียซึ่งความหลับ เป็นผู้มีตนเป็นท่ามกลางย่อมแทงตลอดซึ่งเนื้อความอันสุขุม ฉะนั้น."
ร. "ดีแล้ว พระผู้เป็นเจ้านาคเสนผู้เจริญ ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."


วรรคที่เก้า
๑. กาลากาลมรณปัญหา ๗๘

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่ตาย ย่อมตายในกาล หรือย่อมตายในสมัยไม่ใช่กาลบ้าง?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ความตายในกาลก็มี ความตายในสมัยไม่ใช่กาลก็มี ขอถวายพระพร."
ร. "สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น พวกไหนตายในกาล พวกไหนตายในสมัยไม่ใช่กาล?"
ถ. "ขอถวายพระพร ก็ผลมะม่วงผลหว้าหรือผลไม้ชนิดอื่นดิบและสุก ซึ่งหล่นแล้วจากต้น บรมบพิตรเคยทอดพระเนตรหรือ?"
ร. "เคยเห็นซิ พระผู้เป็นเจ้า.
ถ. "ผลไม้ทั้งปวงซึ่งหล่นจากต้น ย่อมหล่นในกาลอย่างเดียวหรือว่าหล่นในสมัยไม่ใช่กาลบ้าง?"
ร. "ผลไม้ทั้งปวงที่งอมหลุดหล่น ย่อมหล่นในกาล; บรรดาผลไม้ทั้งปวงที่เหลือจากนั้น ผลไม้บางอย่างหนอนไชหล่น บางอย่างนกตีหล่น บางอย่างลมตีหล่น บางอย่างเน่าข้างในหล่น, ผลไม้ทั้งปวงเหล่านั้น ย่อมหล่นในสมัยไม่ใช่กาล."
ถ. "ขอถวายพระพร สัตว์ทั้งหลายที่กำหนดความชรากำจัดแล้วตาย ชื่อว่าย่อมตายในกาล; สัตว์ทั้งหลายอันเหลือจากนั้น บางพวกตายด้วยกรรมชักนำ บางพวกตายด้วยคติชักนำ บางพวกตายด้วยกิริยาชักนำ ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่ตายด้วยกรรมชักนำ คติชักนำ กิริยาชักนำ กำลังความชราชักนำ ก็ชื่อว่าตายในกาลเหมือนกัน; ถึงสัตว์ที่ตายในครรภ์มารดา ก็ชื่อว่าตายในกาลเหมือน, ถึงสัตว์ที่ตายในเรือนอยู่ไฟ, ที่อายุได้เดือนหนึ่งจึงตาย... ที่อายุได้ร้องปีจึงตาย ก็ชื่อว่าตายในกาลเหมือนกัน. ด้วยเหตุนี้ ธรรมดาว่าความตายในสมัยไม่ใช่กาล ไม่มีเลย; เหตุว่าสัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมตาย สัตว์เหล่านั้นทั้งปวง ชื่อว่าตายในกาลเหมือนกัน."
ถ. "ขอถวายพระพร บุคลทั้งหลายเจ็ดเหล่านี้ แม้มีอายุมากก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล คือ:-
(๑) บุคคลผู้หิวอาหาร เมื่อไม่ได้โภชนะ มีภายในอันโรค คือ ความหิวเข้าเบียดเบียนแล้ว แม้อายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล,
(๒) บุคคลผู้อยากน้ำ เมื่อไม่ได้น้ำควรดื่ม มีหทัยเหือดแห้ง แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล,
(๓) บุคคลที่งูกัดอันกำลังพิษเบียดเบียนเฉพาะแล้ว เมื่อไม่ได้ผู้แก้ไข แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล,
(๔) บุคคลผู้กินยาพิษ ครั้นอังคาพยพน้อยใหญ่เร่าร้อนอยู่ ไม่ได้ยากแก้ แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล,
(๕) บุคคลถูกไฟไหม้ เมื่อไม่ได้ของที่ดับพิษไฟ แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล,
(๖) บุคคลตกน้ำ เมื่อไม่ได้ที่อาศัย แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล,
(๗) บุคคลผู้อันหอกประหารเอาเจ็บ เมื่อไม่ได้หมอรักษา แม้มีอายุมาก ก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล.
ขอถวายพระพร บุคคลทั้งหลายเจ็ดเหล่านี้แล แม้มีอายุมากก็ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาล. อาตมภาพกล่าวโดยส่วนหนึ่งในบุคคลเจ็ดแม้เหล่านั้น.
ขอถวายพระพร กาลกิริยาย่อมมีแก่สัตว์ทั้งหลาย โดยแปดอย่างคือ:-
(๑) โดยโรคมีลมเป็นสมุฏฐาน,
(๒) โดยโรคมีดีเป็นสมุฏฐาน,
(๓) โดยโรคมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน,
(๔) โดยโรคมีสันนิบาตเป็นสมุฏฐาน,
(๕) โดยความแปรเปลี่ยนฤดู,
(๖) โดยความบริหารอริยาบถไม่เสมอ,
(๗) โดยความเพียรแห่งผู้อื่น,
(๘) โดยวิบากแห่งกรรม,
ในแปดอย่างนั้น กาลกิริยาโดยวิบากแห่งกรรมนั่นแล เป็นกาลกิริยาที่ควรได้โดยสมัย, กาลกิริยาที่เหลือจากนั้นเป็นกาลกิริยาที่ควรได้โดยกาลไม่ใช่สมัย ก็คาถาประพันธ์นี้มีอยู่ว่า:-
"สัตว์ตายด้วยความหิวอาหาร ด้วยความอยากน้ำและอันงูกัดตายด้วยยาพิษ ด้วยไฟ น้ำ หอกทั้งหลาย ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาลนั้น. สัตว์ตายด้วยลมและดี ด้วยเสมหะ ด้วยสันนิบาต และด้วยฤดูทั้งหลาย และด้วยความบริหารอริยาบถไม่เสมอ และความเพียรแห่งผู้อื่นทั้งหลาย ชื่อว่าตายในสมัยไม่ใช่กาลนั้น" ดังนี้.
ขอถวายพระพร สัตว์ทั้งหลายบางพวกตายด้วยวิบากแห่งอกุศลกรรมนั้น ๆ ที่ได้ทำไว้ในกาลก่อน. สัตว์ในโลกนี้ที่ให้เขาตายด้วยความหิวอาหารในชาติก่อน เป็นผู้อันความหิวอาหารเบียดเบียนแล้วซบเซาแล้วด้วยความหิวอาหาร ลำบากอยู่ มีหัวใจแห้งเหี่ยว ถึงความเหือดแห้งแล้ว เกรียมอยู่ไหม้อยู่ ภายใน ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง ด้วยความหิวอาหารนั่นแล สิ้นแสนปีเป็นอันมาก; ความตายนี้ของสัตว์นั้นควรได้โดยสมัย.
สัตว์ที่ให้เขาตายโดยความอยากน้ำในชาติก่อน เป็นนิชฌามตัณหิกเปรตเศร้าหมองผอมมีหัวใจแห้ง ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง ด้วยความอยากนั้นนั่นแล สิ้นแสนปีเป็นอันมาก; ความตายนี้ของสัตว์นี้ควรได้โดยสมัย.
สัตว์ที่ให้งูกัดเขาตายในชาติก่อน วนเวียนอยู่ในปากงูเหลือม แต่ปากงูเหลือม ในปากงูเห่าแต่ปากงูเห่า อันงูทั้งหลายเหล่านั้นเกินแล้วและกินแล้ว อันงูทั้งหลายนั้นแหละกัดแล้ว ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง สิ้นแสนปีเป็นอันมาก; ความตายนี้ของสัตว์นั้นควรได้โดยสมัย.
สัตว์ที่ให้ยาพิษเขากินตายในชาติก่อน มีอังคาพยพน้อยใหญ่ไหม้อยู่ มีสรีระแตกอยู่ ยังกลิ่นศพให้ฟุ้งไปอยู่ ย่อมตายเมื่อเด็กบ้าง กลางคนบ้าง แก่บ้าง ด้วยยาพิษนั่นแล สิ้นแสนปีเป็นอันมาก; ความตายนี้ของสัตว์นั้นควรได้โดยสมัย.



เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับเพื่อนๆที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ถวายสังฆทานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ปิดทองพระ รักษาอาการป่วยของผู้อื่นกับผู้ร่วมงาน และที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา ปล่อยชีวิตสัตว์มาโดยตลอด ถวายยาแก่ภิกษุ ขัดองค์พระ จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย ให้ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ทำบุญหลายอย่างมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ถวายสังฆทานและทำบุญสร้างอาคารผู้ป่วยและกฐินกับเพื่อนๆและให้อาหารเป็นทานแก่สรรพสัตว์กับเพื่อนๆและเพื่อนคนหนึ่งและบริวารของเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนได้มีจิตเมตตาให้ทานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดและเพื่อนได้เคยสวดมนต์เย็นกับคุณแม่และที่ผ่านมาได้ทำบุญสักการะพระธาตุทำบุญปิดทองชำระหนี้สงฆ์และไหว้พระและทำบุญตามกล่องรับบริจาคตามวัดต่างๆกับเพื่อนและตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย


ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปิดทองพระ ปล่อยชีวิตสัตว์ถวายยาแก่ภิกษุ ไหว้พระตามวัดต่างๆ ขัดองค์พระ ให้ความรู้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นทาน
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO