นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อาทิตย์ 12 พ.ค. 2024 9:00 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: เรื่องราว
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 08 ส.ค. 2012 5:53 pm 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4556
๕. อนิเกตานาลยกรณปัญหา ๓๕

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วว่า 'ธรรมชาตินี้แล คือ ความไม่ติดที่อยู่ ความไม่มีอาลัย เป็นความเห็นชอบของพระมุนี' ดังนี้. และตรัสอีกว่า 'บัณฑิตเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารอันน่ารื่นรมย์ใจ ยังภิกษุผู้เป็นพหุสูตทั้งหลายให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าพระตถาคตตรัสแล้วว่า 'ธรรมชาตินี้แล คือ ความไม่ติดที่อยู่ ความไม่มีอาลัย เป็นความเห็นชอบของพระมุนี' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'บัณฑิตเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารอันน่ารื่นรมย์ใจ ยังภิกษุผู้เป็นพหุสูตทั้งหลายให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้ เป็นผิด. ถ้าว่าพระตถาคตตรัสแล้วว่า 'บัณฑิตเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารอันน่ารื่นรมย์ใจ ยังภิกษุผู้เป็นพหุสูตทั้งหลายให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ธรรมชาตินี้แล คือ ความไม่ติดที่อยู่ ความไม่มีอาลัย เป็นความเห็นชอบของพระมุนี" แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตพระพุทธพจน์แม้นี้แล้วว่า 'ธรรมชาตินี้แล คือความไม่ติดที่อยู่ ความไม่มีอาลัย เป็นความเห็นชอบของพระมุนี' ดังนี้. และตรัสแล้วว่า 'บัณฑิตเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารอันน่ารื่นรมย์ใจ ยังภิกษุผู้เป็นพหุสูตทั้งหลายให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้.
ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์ใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ธรรมชาตินี้แล คือ ความไม่ติดที่อยู่ ความไม่มีอาลัย เป็นความเห็นชอบของพระมุนี' ดังนี้, พระพุทธพจน์นั้น เป็นคำแสดงสภาวะเป็นคำกล่าวเหตุไม่หลงเหลือ เป็นคำกล่าวเหตุไม่มีส่วนเหลือ เป็นคำกล่าวตรงไม่อ้อมค้อม เป็นคำเหมาะแก่สมณะ เป็นคำสมรูปของสมณะ เป็นคำสมส่วนแก่สมณะ เป็นคำสมควรแก่สมณะ เป็นโคจรของสมณะ เป็นที่ตั้งมั่นของสมณะ. เปรียบเหมือนเนื้อที่อยู่ในป่า เมื่อเที่ยวไปในไพรในป่า ไม่มีอาลัยในที่อยู่ ไม่ติดที่อยู่ ย่อมไปได้ตามความปรารถนาฉันใด, ภิกษุพึงเป็นผู้ไม่ติดที่อยู่ ไม่มีอาลัย คิดเห็นว่า 'ข้อนั้นแหละเป็นความเห็นชอบของพระมุนี' ฉันนั้นนั่นแล.
ขอถวายพระพร ส่วนพระพุทธพจน์ใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว่า 'บัณฑิตเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารอันน่ารื่นรมย์ใจ ยังภิกษุผู้เป็นพหุสูตทั้งหลายให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้, พระพุทธพจน์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเล็งเห็นอำนาจประโยชน์สองประการจึงตรัสแล้ว, อำนาจประโยชน์สองประการนั้น คือ อะไรบ้าง? คือ: ธรรมดาว่าวิหาร อันพระพุทธเจ้าทั้งปวงทรงสรรเสริญ ชมเชย อนุมัติ ยกย่องแล้ว, ทายกทั้งหลายเหล่านั้น ถวายวิหารทานแล้ว จักพ้นจากความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย; นี้เป็นอานิสงส์ในวิหารทานข้อที่หนึ่ง. คำที่จะพึงกล่าวยังมีอีก: เมื่อวิหารมีอยู่ ภิกษุเป็นอันมากจักเป็นผู้ปรากฏ จักเป็นผู้อันชนทั้งหลายผู้ประสงค์จะพบเห็นหาได้ง่าย, ภิกษุทั้งหลายผู้ไม่มีที่อยู่ จักเป็นผู้อันชนทั้งหลายพบเห็นได้ยาก; นี้เป็นอานิสงส์ในวิหารทานข้อที่สอง.
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเล็งเห็นอำนาจประโยชน์สองประการนี้ จึงตรัสแล้วว่า 'บัณฑิตเมื่อพิจารณาเห็นประโยชน์ของตน พึงสร้างวิหารอันน่ารื่นรมย์ใจ ยังภิกษุผู้เป็นพหุสูตให้อยู่ในวิหารนั้น' ดังนี้, พระพุทธโอรสไม่พึงกระทำความอาลัยในที่อยู่นั้น"
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๖. อุทรสํยมปัญหา ๓๖

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตแล้วว่า 'ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารอันตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมแล้วในท้อง' ดังนี้. และตรัสอีกแล้วว่า 'ดูก่อนอุทายี ก็เราแล ในกาลบางที บริโภคเสมอขอบบ้าง บริโภคยิ่งบ้าง ด้วยบาตรใบนี้' ดังนี้ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารอันตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมแล้วในท้อง' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'แน่ะอุทายี ก็เราแล ในกาลบางที บริโภคเสมอขอบบ้าง บริโภคยิ่งบ้าง ด้วยบาตรใบนี้' ดังนี้ นั้นผิด. ถ้าว่า พระตถาคตเจ้าตรัสแล้วว่า 'แน่อุทายี ก็เราแลในกาลบางที บริโภคเสมอขอบบ้าง บริโภคยิ่งบ้าง ด้วยบาตรใบนี้' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหาร อันตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมแล้วในท้อง' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาพึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ปัญหานั้นพระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้ว แม้ซึ่งพระพุทธพจน์นี้ว่า 'ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารอันตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมแล้วในท้อง' ดังนี้. และตรัสแล้วว่า 'แน่ะอุทายี ก็เราตถาคตแล ในกาลบางที บริโภคเสมอขอบ้าง บริโภคยิ่งบ้าง ด้วยบาตรใบนี้' ดังนี้. พระพุทธพจน์ใด พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า "ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารอันตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมแล้วในท้อง" ดังนี้. พระพุทธพจน์นั้นเป็นเครื่องกล่าวโดยสภาวะเป็นเครื่องกล่าวเหตุไม่เหลือ เป็นเครื่องกล่าวเหตุไม่มีส่วนเหลือ เป็นเครื่องกล่าวโดยนิปริยายโดยตรง เป็นเครื่องกล่าวเหตุที่แท้ เป็นเครื่องกล่าวเหตุตามเป็นจริง ไม่วิปริต เป็นคำของฤษีและมุนี เป็นพระพุทธพจน์ของพระผู้มีพระภาค เป็นคำของพระอรหันต์ เป็นคำของพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นพระพุทธพจน์ของพระชินพุทธเจ้า เป็นพระพุทธพจน์ของพระสัพพัญญู เป็นพระพุทธพจน์ของพระตถาคต พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า.
ขอถวายพระพร บุคลไม่สำรวมแล้วในท้อง ย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ย่อมถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ให้แล้วบ้าง ย่อมถึงภริยาของผู้อื่นบ้าง ย่อมกล่าวคำเท็จบ้าง ย่อมดื่มน้ำกระทำผู้ดื่มแล้วให้เมาบ้าง ย่อมฆ่ามารดาบ้าง ย่อมฆ่าบิดาบ้าง ย่อมฆ่าพระอรหันต์บ้าง ย่อมทำลายสงฆ์บ้าง ย่อมกระทำพระโลหิตของพระตถาคตให้ห้อขึ้น ด้วยจิตอันประทุษร้ายแล้วบ้าง.
ขอถวายพระพร พระเทวทัตไม่สำรวมท้องแล้ว ทำลายสงฆ์แล้วสร้างกรรมเป็นที่ตั้งอยู่ตลอดกัปป์ไม่ใช่หรือ? พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นเหตุทั้งหลายมีอย่างมาก แม้เหล่าอื่นเป็นปานฉะนี้แล้ว จึงตรัสแล้วว่า "ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารที่ตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงเป็นผู้สำรวมท้อง" ดังนี้.
ขอถวายพระพร บุคคลผู้สำรวมท้องแล้ว ย่อมถึงพร้อมเฉพาะคือตรัสรู้อภิสมัย คือ สัจจะสี่ กระทำสามัญญผลทั้งหลายสี่ให้แจ้งย่อมถึงความเป็นผู้ชำนาญในปฏิสัมภิทาทั้งหลายสี่ด้วย ในสมาบัติทั้งหลายแปดด้วย ในอภิญญาทั้งหลายหกด้วย บำเพ็ญสมณธรรมสิ้นเชิงด้วย.
ขอถวายพระพร ลูกนกแขกเต้าเป็นผู้สำรวมท้องแล้ว กระทำโลกให้ไหวแล้ว เพียงไรแต่พิภพชื่อดาวดึงส์ นำท้าวสักกะผู้เป็นจอมของเทวดาทั้งหลาย เข้าไปยังที่บำรุงแล้วมิใช่หรือ? พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นเหตุทั้งหลายมากอย่างแม้เหล่าอื่นเห็นปานฉะนี้ จึงตรัสแล้วว่า "ภิกษุอย่าพึงประมาทในบิณฑาหารที่ตนพึงลุกขึ้นยืนอยู่ที่ประตูเรือนรับ, ภิกษุพึงสำรวมแล้วในท้อง" ดังนี้.
ขอถวายพระพร ก็พระพุทธพจน์ใด ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า "แน่ะ อุทายี ก็เราผู้ตถาคตแล ในกาลบางคราว บริโภคเสมอขอบบาตรบ้าง บริโภคยิ่งบ้าง ด้วยบาตรใบนี้" ดังนี้, พระพุทธพจน์นั้นอันพระตถาคตมีกิจกระทำแล้ว มีกิริยาสำเร็จแล้ว สำเร็จประโยชน์แล้ว มีกาลเป็นที่สุดอยู่แล้ว ห้ามกิเลสได้แล้ว เป็นพระสัพพัญญูผู้เป็นเอง ตรัสหมายเอาพระองค์เอง.
ขอถวายพระพร ความกระทำความสบายแก่บุคคลเป็นไข้ กระสับกระส่ายอยู่ สำรอกแล้ว รุนแล้ว รมแล้ว เป็นกิริยาอันหมอพึงปรารถนาฉันใด, ความสำรวมในท้อง อันบุคคลยังมีกิเลส ยังไม่เห็นสัจจะ พึงกระทำฉันนั้นเทียวแล. กิจที่จะต้องกระทำด้วยความขัดและครู่สี และชำระให้หมดจด ย่อมไม่มีแก่แก้วมณีอันมีความสว่าง มีชาติบริสุทธิ์โดยชาติยิ่ง ฉันใด, ความห้ามในความกระทำกิริยาทั้งหลาย ย่อมไม่มีแด่พระตถาคตเจ้า ผู้บรรลุบารมีในวิสัยของพระพุทธเจ้าแล้ว ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้น สม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๗. ธัมมวินยปฏิจฉันนปัญหา ๓๗

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตไว้แล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมและวินัยที่พระตถาคตให้รู้แจ้งทั่วไปแล้ว ถ้าบุคคลเปิดแล้ว คือ บอกกล่าวเล่าเรียนอยู่แล้ว ก็จะไพโรจน์รุ่งเรือง ถ้าปิดบังไว้ มิได้บอกกล่าวมิได้แสดง ก็จะลี้ลับไปไม่รุ่งเรือง' ดังนี้. ครั้นมาภายหลังอีกเล่า ปาฏิโมกขุทเทส พระวินัยปิฎกสิ้นเชิงด้วย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปิดกำบังไว้แล้ว. ถ้าว่าพึงได้ความประกอบหรือความสมควร หรือสมัยในศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว พระวินัยบัญญัติอันบุคคลเปิดเผยแล้ว พึงงดงาม, ความศึกษา ความสำรวม ความนิยม สีลคุณ และอาจารบัญญัติ อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส มีในวินัยนั้นสิ้นเชิงเพราะเหตุไร เพราะเหตุนั้น วินัยบัญญัติอันบุคคลเปิดเผยแล้ว พึงงดงาม. ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมและวินัยที่พระตถาคตให้รู้แจ้งทั่วไปแล้ว บุคคลเปิดเผยแล้ว ย่อมไพโรจน์แจ่มแจ้งรุ่งเรือง ถ้าบุคคลไม่เปิดเผยแล้ว ก็จะลี้ลับกำบังอยู่ไม่ไพโรจน์รุ่งเรือง' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ปาฏิโมกขุทเทสและวินัยปิฏกทั้งสิ้น พระองค์ทรงปกปิดกำบังไว้' ดังนี้ นั้นผิด. ถ้าปาฏิโมกขุทเทสและวินัยปิฎกสิ้นเชิง พระองค์ปิดกำบังไว้แล้ว, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมและวินัยที่พระตถาคตให้รู้แจ้งทั่วไปแล้ว อันบุคคลเปิดเผยแล้ว ย่อมไพโรจน์รุ่งเรือง' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายออกให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคได้ทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมและวินัยที่พระตถาคตให้รู้แจ้งทั่วไปแล้ว ถ้าบุคคลเปิดเผยแล้ว ย่อมไพโรจน์ถ้าบุคคลปกปิดกำบังไว้ ย่อมไม่ไพโรจน์.' และภายหลังพระองค์ทรงปิดกำบัง พระปาฏิโมกขุทเทสและวินัยปิฎกทั้งสิ้นไว้. ก็แหละ ความปิดกำบังนั้น มิได้ทั่วไปแก่ชนทั้งหลายทั้งปวง พระองค์ทรงกระทำให้เป็นเขตแดนปิดไว้แล้ว.
ขอถวายพระพร ปาฏิโมกขุทเทส พระผู้มีพระภาคเจ้ากระทำให้เป็นเขตแดนปิดไว้แล้ว ด้วยเหตุสามประการ คือ: ทรงปิดไว้แล้วด้วยอำนาจแห่งวงศ์ของพระตถาคตทั้งหลายที่มีแล้วในกาลก่อน, ทรงปิดไว้แล้ว เพราะความที่ธรรมเป็นของหนัก, ทรงปิดไว้แล้ว เพราะความที่ภูมิของภิกษุเป็นของหนัก. พระปาฏิโมกขุทเทส พระผู้มีพระภาคเจ้ากระทำให้เป็นเขตแดนปิดไว้แล้ว ด้วยอำนาจแห่งวงศ์ของพระตถาคตทั้งหลายที่มีแล้วในกาลก่อนอย่างไร? ปาฏิโมกขุทเทสในท่ามกลางของภิกษุ ปิดแก่ชนทั้งหลายนอกนั้นนี้อันใด การปิดบังพระปาฏิโมกขุทเทสนั้น เป็นวงศ์ของพระตถาคตทั้งหลายที่มีแล้ว ในกาลก่อนทั้งปวง. เปรียบเหมือนขัตติยมายาของกษัตริย์ทั้งหลาย กษัตริย์จะแสดงได้ก็แต่ในกษัตริย์ทั้งหลายอย่างเดียว, กิริยานี้เป็นประเพณีของโลก ของกษัตริย์ทั้งหลาย ปิดแล้วแก่ชนทั้งหลายอันเหลือนอกนั้น ฉันใด; ปาฏิโมกขุทเทสควรแสดงได้ในท่ามกลางแห่งภิกษุ ปิดไว้แก่ชนทั้งหลายอันเหลือนอกนั้น อันใดนี้ นี้เป็นวงศ์ของพระตถาคตทั้งหลายที่มีแล้วในกาลก่อนทั้งปวง ฉันนั้นนั่นเทียว.
อีกนัยหนึ่ง หมู่ชนทั้งหลายย่อมเป็นไปในแผ่นดิน, หมู่ชนทั้งหลาย ย่อมเป็นไปในแผ่นดินอย่างไรนี้ คือ คนปล้ำทั้งหลาย ช่างทอง ช่างทำกระสวย คนกล่าวถ้อยคำเป็นธรรม และชนทั้งหลายที่รู้วิทยาต่าง ๆ ก็กำบังวิทยาซ่อนวิทยาของตนไว้ตามพวกตามเหล่า แสดงได้แต่พวกเดียวกัน ปิดไว้แก่ชนทั้งหลายเหลือนอกนั้น ฉันใด; ปาฏิโมกขุทเทสควรแสดงในท่ามกลางภิกษุ พระองค์ปิดไว้แก่ชนทั้งหลายอันเหลือนั้น ฉันนั้น, นี้เป็นวงศ์ของพระตถาคตทั้งหลายที่มีแล้วในกาลก่อน. ปาฏิโมกขุทเทส พระองค์กระทำแดนปิดไว้ด้วยอำนาจความเป็นวงศ์ของพระตถาคตทั้งหลายที่มีแล้วในกาลก่อนอย่างนี้. ปาฏิโมกขุทเทสพระองค์ทรงกระทำให้เป็นแดนปิดไว้ เพราะความที่ธรรมเป็นของหนักอย่างไร? ธรรมเป็นของหนักดังภาระ บุคคลผู้กระทำกิจที่จะพึงกระทำในพระปาฏิโมกขุทเทสนั้นให้บริบูรณ์ ย่อมกระทำพระอรหัตตผลวิมุตติให้บริบูรณ์ ย่อมบรรลุอรหัตตผลวิมุตตินั้น ด้วยความเป็นผู้กระทำกิจที่จะพึงกระทำ ในพระปาฏิโมกขุทเทสนั้นให้บริบูรณ์โดยลำดับ, จะได้บรรลุอรหัตตผลวิมุตตินั้น ด้วยความเป็นผู้ไม่กระทำกิจในปาฏิโมกขุทเทสนั้นให้บริบูรณ์ก็หาไม่, พระปาฏิโมกขุทเทส พระองค์ปิดไว้ด้วยพุทธประสงค์ว่า 'ธรรมเป็นแก่นสาร ธรรมประเสริฐนี้ จงอย่าเป็นของไปแล้วในมือของบุคคลทั้งหลาย ผู้ไม่กระทำกิจในปาฏิโมกขุทเทสนั้นให้บริบูรณ์ อันบุคคลไม่กระทำกิจในปาฏิโมกขุทเทสนั้นให้บริบูรณ์ทั้งหลาย อย่าได้ดูหมิ่นดูแคลนติเตียนเลย, อนึ่ง ธรรมเป็นสาระ ธรรมประเสริฐนี้ จงอย่าไปในคนชั่ว อันคนชั่วอย่าได้ดูหมิ่นดูแคลนติเตียนเลย?' พระปาฏิโมกขุทเทส พระองค์กระทำให้เป็นแดนปิดไว้แล้วเพราะความที่ธรรมเป็นของหนักอย่างนี้. พระปาฏิโมกขุทเทส พระองค์ทรงปิดไว้ด้วยทรงพระดำริว่า 'ธรรมดาว่า จันทน์แดงอันเป็นสาระประเสริฐบวร มีชาติเป็นอติชาติ กระจายเรี่ยรายไปแล้ว อันบุคคลย่อมดูหมิ่นติเตียน ฉันใด, ธรรมเป็นสาระธรรมอันประเสริฐนี้ จงอย่าเป็นของไปแล้วในมือของบุคคลทั้งหลายผู้ไม่กระทำกิจในปาฏิโมกขุทเทสให้บริบูรณ์โดยลำดับ อย่าได้เป็นของอันบุคคลดูหมิ่นดูแคลนติเตียนเลย, อนึ่ง ธรรมเป็นสารธรรมอันประเสริฐนี้ จงอย่าเป็นของไปในทุรชน อันทุรชนอย่าได้ดูหมิ่นดูแคลนนินทาติเตียนเลยฉันนั้น' ดังนี้. พระปาฏิโมกขุทเทส พระองค์ทรงกระทำให้เป็นแดนปิดไว้แล้ว เพราะความที่ธรรมเป็นของหนักอย่างนี้. พระปาฏิโมกขุทเทสพระองค์ทรงกระทำให้เป็นแดนปิดไว้แล้ว เพราะความที่ภูมิของภิกษุเป็นของหนักอย่างไร? ความเป็นภิกษุอันใคร ๆ ชั่งไม่ได้ ไม่มีประมาณหาราคามิได้ อันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะตีราคา เพื่อจะชั่ง เพื่อจะกำหนด, พระปาฏิโมกขุทเทส พระองค์ทรงปิดไว้ด้วยพระพุทธประสงค์ว่า 'บุคคลตั้งอยู่แล้วในความเป็นภิกษุ มีคุณอย่างนี้เป็นรูปนี้ จงอย่าเป็นผู้เปรียบเสมอด้วยโลก' ดังนี้, พระปาฏิโมกขุทเทส ย่อมเที่ยวอยู่คือว่า ย่อมควรในระหว่างของภิกษุทั้งหลายเท่านั้น เปรียบเหมือนผ้าหรือเครื่องลาด หรือช้าง ม้า รถ ทอง เงิน แก้วมณี แก้วมุกดา และนางแก้ว เป็นต้น ที่เป็นบวรประเสริฐในโลก ของทั้งปวงเหล่านั้นย่อมเข้าถึงพระมหากษัตริย์ คือ ย่อมควรแก่พระมหากษัตริย์ ฉันใด; สิกขาและนิกายเป็นที่มาและปริยัตติ และคุณ คือ ความสำรวมในอาจาระและศีลสังวรทั้งหลายในโลกประมาณเท่าใด คุณทั้งปวงเหล่านั้น ย่อมเป็นของเข้าถึงภิกษุสงฆ์ ฉันนั้นแท้. พระปาฏิโมกขุทเทสพระองค์ทรงกระทำให้เป็นแดนปิดไว้แล้ว เพราะความที่ภูมิของภิกษุเป็นของหนักอย่างนี้."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๘. มุสาวาทครุลหุภาวปัญหา ๓๘

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วแม้ซึ่งพระพุทธพจน์นี้ว่า 'บุคคลเป็นปาราชิกเพราะสัมปชานมุสาวาท ความเป็นผู้รู้ทั่วพร้อมกล่าวเท็จ' ดังนี้. ครั้นมาภายหลังพระองค์ตรัสแล้วว่า 'ภิกษุต้องอาบัติเบา มีวัตถุควรแสดงในสำนักแห่งบุคคลผู้เดียวได้ เพราะสัมปชานมุสาวาท' ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เหตุให้แปลกกันในสัมปชานมุสาวาทนั้นเป็นอย่างไร? อะไรเป็นเหตุกระทำให้ต่างกันในสัมปชานมุสาวาทนั้น? บุคคลขาดมูลด้วยสัมปชานมุสาวาทอันหนึ่ง และเป็นสเตกิจโฉพอเยียวยาได้ ด้วยสัมปชานมุสาวาทอันหนึ่ง สองอย่างนี้จะต้องกันอย่างไร? ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'บุคคลเป็นปาราชิก เพราะสัมปชานมุสาวาท' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ภิกษุต้องอาบัติเบา มีวัตถุควรแสดงในสำนักแห่งบุคคลผู้เดียวได้ เพราะสัมปชานมุสาวาท' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าว่าพระตถาคตตรัสแล้วว่า 'ภิกษุต้องอาบัติเบา มีวัตถุควรแสดงในสำนักแห่งบุคคลผู้เดียวได้ เพราะสัมปชานมุสาวาท,' ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'บุคคลเป็นปาราชิกเพราะสัมปชานมุสาวาท,' ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'บุคคลเป็นปาราชิกเพราะสัมปชานมนุสาวาท' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ว่า 'บุคคลเป็นปาราชิกเพราะสัมปชานมุสาวาท.' และตรัสแล้วว่า 'ภิกษุต้องอาบัติเบา มีวัตถุควรแสดงในสำนักแห่งบุคคลผู้เดียวได้ เพราะสัมปชานมุสาวาท' ดังนี้จริง. ก็แหละ พระพุทธพจน์ทั้งสองนั้น เป็นคำแสดงโทษหนักและเบาตามอำนาจวัตถุบรมบพิตรจะสำคัญเนื้อความนั้นเป็นไฉน: บุรุษในโลกนี้บางคน พึงให้ประหารแก่บุรุษอื่นด้วยฝ่ามือ, บรมบพิตรพึงปรับสินไหมอะไรแก่บุรุษผู้นั้น?"
ร. "ถ้าว่าบุรุษนั้นกล่าวแล้วว่า ข้าพเจ้าไม่ขมาโทษไซร้, ข้าพเจ้าให้ราชบุรุษปรับกหาปณะหนึ่งแก่บุรุษนั้น เพราะมิได้ขมา."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็ในโลกนี้ บุรุษนั้นนั่นเทียว พึงให้ประหารแก่บรมบพิตรด้วยฝ่ามือ, ก็สินไหมอะไร พึงปรับแก่บุรุษนั้น?"
ร. "ข้าพเจ้าพึงให้ราชบุรุษตัดมือของบุรุษผู้ประหารนั้นเสียบ้างให้ตัดเท้าของบุรุษนั้นเสียบ้าง จนถึงให้ตัดศีรษะดังตัดหน่อไม้ ให้ริบเรือนของบุรุษนั้นแม้ทั้งปวงบ้าง ให้เลิกตระกูลสองฝ่ายถึงเจ็ดชั่วตระกูล."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็เหตุอะไร เป็นเครื่องให้แปลกกันในพระราชอาชญานั้น ด้วยเหตุไร จึงปรับสินไหมกหาปณะเดียวน้อยนัก เพราะประหารบุรุษผู้หนึ่งด้วยฝ่ามือ ด้วยเหตุไรจึงลงอาชญาตัดมือ ตัดเท้า จนถึงตัดศีรษะ และริบเรือนทั้งปวง จนถึงเลิกถอนตระกูลทั้งสองฝ่าย ถึงเจ็ดชั่วตระกูล เพราะประหารบรมบพิตรด้วยฝ่ามือ ขอถวายพระพร?"
ร. "เพราะเนื่องด้วยวัตถุซิ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร สัมปชานมุสาวาท เป็นโทษหนักและเบาตามอำนาจวัตถุ ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๙. ยาจโยคปัญหา ๓๙

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ผู้ควรที่ยาจกจะพึงขอ เป็นผู้ล้างมือเตรียมไว้ทุกเมื่อ เป็นผู้ทรงสรีระกายมีในที่สุด เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า' ดังนี้. และตรัสอีกว่า 'ขันธปัญจก คือ พากุลภิกษุนี้ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา บรรดาที่มีอาพาธน้อย' ดังนี้. ก็อาพาธที่เกิดแล้วในพระสรีรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมปรากฏมากครั้ง. ถ้าว่า พระตถาคตไม่มีใครยิ่งกว่า, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ขันธปัญจก คือ พากุลภิกษุนี้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา บรรดาที่มีอาพาธน้อย' ดังนี้เป็นผิด. ถ้าว่า พระพากุลเถระเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย บรรดาที่มีอาพาธน้อย, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ผู้ควรที่ยาจกจะพึงขอ เป็นผู้ล้างมือเตรียมไว้ทุกเมื่อ เป็นผู้ทรงสรีรกายมีในที่สุด เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร จริงอยู่ พระพุทธพจน์นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ผู้ควรที่ยาจกจะพึงขอ เป็นผู้ล้างมือเตรียมไว้ทุกเมื่อ เป็นผู้ทรงสรีระกายมีในที่สุด เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า' ดังนี้. และตรัสแล้วว่า 'ขันธปัญจก คือ พากุลภิกษุนี้ เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเรา บรรดาที่มีอาพาธน้อย' ดังนี้. ก็แหละ พระพุทธพจน์นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอานิกายเป็นที่มา และมรรคที่บุคคลจะพึงเรียนซึ่งมีในภายนอก.
ขอถวายพระพร พระสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เป็นผู้ประกอบการยืนและจงกรมก็มีอยู่, พระสาวกเหล่านั้น ย่อมยังวันให้น้อมล่วงไป ด้วยการยืนและจงกรม, ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังวันและคืนให้น้อมล่วงไป ด้วยการยืน จงกรม นั่ง บรรทม; ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นใด เป็นผู้ประกอบการยืนและจงกรม ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้เอกยิ่ง ด้วยคุณพิเศษนั้น. พระสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่เป็นเอกาสนิกะ คือ ฉันหนเดียวก็มีอยู่, พระสาวกเหล่านี้ ไม่ยอมฉันโภชนะเป็นครั้งที่สอง แม้เพราะเห็นแก่ชีวิต, ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมเสวยพระกระยาหารครั้งที่สอง เพราะทรงหิว; ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นใด ที่เป็นเอกาสนิกะ ฉันหนเดียว ภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้เอกยิ่ง ด้วยคุณพิเศษนั้น. เหตุทั้งหลายเช่นนั้นมากมายอย่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาความข้อนั้นตรัสแล้ว. ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่มีใครยิ่งกว่า โดยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตตญาณทัสสนะ และโดยพระกำลัง และเวสารัชชญาณ และโดยพระพุทธธรรมสิบแปดประการ. ก็แหละพระองค์ทรงหมายเอาพระคุณธรรมนั้น ในพุทธวิสัยทั้งมวลตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราเป็นพราหมณ์ ฯลฯ เป็นผู้ไม่มีใครยิ่งกว่า' ดังนี้.
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนในหมู่มนุษย์ บุคคลผู้หนึ่งเป็นผู้มีชาติ ผู้หนึ่งเป็นผู้มีทรัพย์ ผู้หนึ่งเป็นผู้มีวิชชา ผู้หนึ่งเป็นผู้มีศิลปะ ผู้หนึ่งเป็นคนกล้าหาญ ผู้หนึ่งเป็นคนฉลาดเฉียบแหลม, ชนเหล่านั้นแม้ทุกชนิด พึงมีในโลก, พระราชานั่นแล ย่อมเป็นผู้สูงสุดกว่าชนทั้งหลายเหล่านั้น โดยแท้ ข้อนี้ฉันใด; พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมเป็นยอดเป็นใหญ่เป็นผู้ประเสริฐที่สุดของสัตว์ทั้งปวง ฉันนั้นนั่นแล. ส่วนท่านผู้มีอายุพากุละนี้ ที่เป็นผู้มีอาพาธน้อยนั้น เนื่องด้วยอภินิหาร คือ บุญกุศลที่ได้ก่อสร้างไว้โดยเฉพาะ. ท่านเป็นผู้มีอาพาธน้อย อันพระผู้มีพระภาคเจ้ายกย่องว่าเป็นผู้เลิศ ก็เพราะช่วยบำบัดพยาธินั้น ๆ เสีย."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้น สม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."


วรรคที่ห้า
๑. อิทธิยากัมมวิปากปัญหา ๔๐

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงภาสิตแล้วแม้ซึ่งพระพุทธพจน์ นี้ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขันธบัญจกนี้ใด คือ มหาโมคคัลลานะ ขันธบัญจกนั้นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของเราผู้ตถาคต บรรดาที่มีฤทธิ์' ดังนี้. ภายหลังได้ยินว่าพระเถระนั้นอันโจรทั้งหลายทุบแล้ว ด้วยตะบองทั้งหลาย มีศีรษะแตกแล้ว มีกระดูกอันโจรให้ละเอียดแล้ว แล่เนื้อและแถวแห่งเอ็นและเยื่อในกระดูกแล้ว ปรินิพพานแล้ว. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าพระมหาโมคคัลลานเถระ ถึงที่สุดแห่งฤทธิ์แล้ว, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระเถระอันโจรทั้งหลายทุบแล้วด้วยตะบองทั้งหลาย ปรินิพพานแล้ว' นั้นเป็นผิด ถ้าพระเถระอันโจรทั้งหลายทุบแล้วด้วยตะบองทั้งหลาย ปรินิพพานแล้วจริง, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระเถระถึงที่สุดแห่งฤทธิ์แล้ว' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. พระ
โมคัลลานเถระนั้น ไม่อาจแล้วเพื่อจะนำความเข้าไปทำร้านตนออกเสียด้วยฤทธิ์, พระเถระนั้นควรเพื่อจะเป็นที่พึ่งอาศัยของโลก แม้ทั้งเทพดาอย่างไรได้? ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตแล้วแม้ซึ่งพระพุทธพจน์ นี้ว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขันธบัญจก นี้ใด คือ ภิกษุชื่อมหาโมคคัลลานะ ขันธบัญจกนั้นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายที่เป็นสาวกของเราผู้ตถาคตบรรดาที่มีฤทธิ์' ดังนี้. แต่ท่านผู้มีอายุมหาโมคคัลลานะ อันโจรทั้งหลายทุบแล้วด้วยตะบอง ปรินิพพานแล้ว, ก็แลความปรินิพพาน เพราะโจรตีด้วยตะบองนั้น เพราะกรรมครอบงำถือเอา."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้วิสัยแห่งฤทธิ์ของบุคคลผู้มีฤทธิ์ แม้วิบากแห่งกรรมสองสิ่งนี้เป็นอจินไตยไม่ควรคิดไม่ใช่หรือ? บัณฑิตพึงนำสิ่งที่ไม่ควรคิดออกเสียด้วยสิ่งที่ไม่ควรคิด. อุปมาเหมือนว่าชนทั้งหลายใคร ๆ ใคร่จะบริโภคผลไม้ ย่อมทุบผลมะขวิดด้วยผลมะขวิดย่อมทุบผลมะม่วงด้วยผลมะม่วง ฉันใด, บัณฑิตพึงทุบสิ่งที่ไม่ควรคิดด้วยสิ่งที่ไม่ควรคิดนำออกเสีย ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ถ. "ขอถวายพระพร แม้สิ่งที่ไม่ควรคิดทั้งหลาย สิ่งหนึ่ง มีมาตรายิ่ง มีกำลังกว่า. เหมือนพระมหากษัตริย์ในแผ่นดิน มีชาติอันเสมอกัน, แม้พระมหากษัตริย์มีชาติอันเสมอกันเหล่านั้น พระมหากษัตริย์องค์หนึ่ง ยังพระราชอาชญาให้เป็นไป ข่มพระมหากษัตริย์ทั้งหลายทั้งปวงเสียได้ ฉันใด, อจินไตยทั้งหลายเหล่านั้น กรรมวิบากอย่างเดียว มีมาตรายิ่ง มีกำลังกว่า, กรรมวิบากอย่างเดียวยังอาชญาให้เป็นไป ข่มอจินไตยทั้งหลายทั้งปวงเสียได้, กิริยาทั้งหลายนอกนั้นย่อมไม่ได้โอกาสแห่งบุคคลอันกรรมครอบงำแล้ว."
ขอถวายพระพร เหมือนบุรุษคนหนึ่งในโลกนี้ ย่อมผิดในประการสิ่งหนึ่งนั่นเทียว, มารดาหรือบิดาก็ดี พี่หญิงพี่ชายก็ดี สขีและสหายก็ดี ย่อมเป็นที่พึ่งต้านทานแก่บุรุษนั้นไม่ได้, พระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ยังพระราชอาชญาให้เป็นไปข่มในความผิดนั้นเสียได้โดยแท้, อะไรเป็นเหตุในความข่มนั้น คือ ความเป็นบุคคลมีความผิดเป็นเหตุ; อจินไตยของไม่ควรคิดทั้งหลายนั้น กรรมวิบากอย่างเดียว มีมาตราหนัก มีกำลังกว่า, กรรมวิบากอย่างเดียว ยังอาชญาให้เป็นไปข่มอจินไตยอื่น ๆ ทั้งปวงเสียได้ ฉันนั้นนั่นเทียว, เมื่อบุคคลอันกรรมครอบงำแล้ว กิริยาอันเหลือนอกนั้น ย่อมไม่ได้โอกาส.
อีกนัยหนึ่ง ครั้นเมื่อไฟป่าตั้งขึ้นพร้อมแล้วในแผ่นดิน น้ำแม้สักพันหม้อ ย่อมไม่อาจเพื่อจะให้ไฟนั้นดับได้, ไฟอย่างเดียวยังอาชญาให้เป็นไปข่มน้ำนั้นเสียได้โดยแท้, อะไรเป็นเหตุในข้อนั้น คือ ความที่ไฟมีกำลังเป็นเหตุ ฉันใด;สิ่งที่เป็นอจินไตยทั้งหลายเหล่านั้น วิบากแห่งกรรมสิ่งเดียวมีมาตราหนัก มีกำลังกว่า, วิบากแห่งกรรมอย่างเดียวยังอาชญาให้เป็นไปข่มอจินไตยทั้งหลายอื่นทั้งปวงเสียได้, เมื่อบุคคลอันกรรมครอบงำแล้ว กิริยาอันเหลือนอกนั้น ย่อมไม่ได้โอกาส ฉันนั้นนั่นเทียวแล. เพราะเหตุนั้น เมื่อท่านผู้มีอายุมหาโมคคัลลานะอันกรรมครอบงำแล้ว อันโจรทุบอยู่ด้วยตะบองทั้งหลาย ความประมวลฤทธิ์มาจึงมิได้มีแล้ว."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."




เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับเพื่อนๆที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ถวายสังฆทานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ปิดทองพระ รักษาอาการป่วยของผู้อื่นกับผู้ร่วมงาน และที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา ปล่อยชีวิตสัตว์มาโดยตลอด ถวายยาแก่ภิกษุ ขัดองค์พระ จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย ให้ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ทำบุญหลายอย่างมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ถวายสังฆทานและทำบุญสร้างอาคารผู้ป่วยและกฐินกับเพื่อนๆและให้อาหารเป็นทานแก่สรรพสัตว์กับเพื่อนๆและเพื่อนคนหนึ่งและบริวารของเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนได้มีจิตเมตตาให้ทานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดและเพื่อนได้เคยสวดมนต์เย็นกับคุณแม่และที่ผ่านมาได้ทำบุญสักการะพระธาตุทำบุญปิดทองชำระหนี้สงฆ์และไหว้พระและทำบุญตามกล่องรับบริจาคตามวัดต่างๆกับเพื่อนและตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย


ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปิดทองพระ ปล่อยชีวิตสัตว์ถวายยาแก่ภิกษุ ไหว้พระตามวัดต่างๆ ขัดองค์พระ ให้ความรู้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นทาน
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO