นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อาทิตย์ 12 พ.ค. 2024 1:08 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: เรื่องราว
โพสต์โพสต์แล้ว: เสาร์ 04 ส.ค. 2012 4:29 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4555
๖. สัพพสัตตหิตจรณปัญหา ๑๖

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'พระตถาคตนำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลออกเสีย เข้าไปตั้งประโยชน์เกื้อกูลไว้แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง, ดังนี้. อนึ่ง พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่อีกว่า 'เมื่อธรรมปริยายเปรียบด้วยกองแห่งไฟ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาอยู่ โลหิตร้อนพลุ่งขึ้นแล้วจากปากภิกษุทั้งหลายประมาณหกสิบ' ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้า พระตถาคต เมื่อทรงแสดงธรรมปริยายมีกองแห่งไฟเป็นเครื่องเปรียบ นำประโยชน์เกื้อกูลของภิกษุทั้งหลายประมาณหกสิบออกเสียแล้ว เข้าไปตั้งสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลไว้แก่ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น. ถ้าว่าพระตถาคตนำสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์เกื้อกูลออกเสีย เข้าไปตั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลไว้แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ธรรมปริยายมีกองไฟเป็นเครื่องเปรียบ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาอยู่ โลหิตร้อนพลุ่งออกแล้วจากปากของภิกษุทั้งหลายประมาณหกสิบ นั้นผิด. ถ้าเมื่อธรรมปริยายมีกองไฟเป็นเครื่องเปรียบ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเทศนาอยู่ โลหิตร้อนพลุ่งออกจากปากของภิกษุทั้งหลายประมาณหกสิบจริง, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระตถาคตนำสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์เกื้อกูลออกเสีย เข้าไปตั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลไว้แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. แม้ปัญหานี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระตถาคตนำสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ออกเสีย เข้าไปตั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลไว้ แก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง, เมื่อธรรมปริยายมีกองไฟเป็นเครื่องเปรียบ พระองค์ตรัสเทศนาอยู่ โลหิตร้อนพลุ่งออกแล้วจากปากของภิกษุทั้งหลายประมาณหกสิบด้วยจริง, ก็และโลหิตนั้นจะได้พลุ่งออกจากปากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เพราะกิริยาของพระตถาคต ก็หาไม่ โลหิตนั้นพลุ่งออกจากปากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เพราะกิริยาของตนของภิกษุทั้งหลายนั่นเอง."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าพระตถาคตไม่ทรงภาสิตธรรมปริยายมีกองไฟเป็นเครื่องเปรียบ โลหิตร้อนจะพึงพลุ่งออกจากปากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นหรือ?"
ถ. "หาไม่ ขอถวายพระพร ความเร่าร้อนเกิดขึ้นแล้วในกายของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ผู้ปฏิบัติผิดแล้ว เพราะได้ฟังธรรมปริยายของพระผู้มีพระภาคเจ้า, โลหิตร้อนพลุ่งออกจากปากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เพราะความเร่าร้อนนั้น."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าอย่างนั้น โลหิตร้อนพลุ่งออกแล้วจากปากของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เพราะกิริยาของพระตถาคตนั้นเอง พระตถาคตทีเดียวเป็ฯอธิการในความที่โลหิตร้อนพลุ่งออกจากปากนั้นเพื่อความฉิบหายของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น. อุปมาเหมือนกะว่า งูเข้าไปสู่จอมปลวก, มีบุรุษผู้ต้องการฝุ่นคนใดคนหนึ่ง ทำลายจอมปลวกนำฝุ่นไป, พึงปิดโพรงแห่งจอมปลวกนั้นเสียด้วยความนำฝุ่นไป, ทีนั้นงูในจอมปลวกนั้นนั่นเทียว ไม่ได้ความหายใจ คือ หายใจไม่ได้ ตาย; งูนั้นถึงความตายเพราะกิริยาของบุรุษนั้นไม่ใช่หรือ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร งูนั้นถึงความตายเพราะกิริยาของบุรุษนั้น."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระตถาคตเป็นอธิการในความที่โลหิตเป็นของร้อนพลุ่งออกจากปากของภิกษุทั้งหลายนั้น เพื่อความฉิบหายแห่งภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ถ. "ขอถวายพระพร พระตถาคตเมื่อทรงแสดงธรรม ไม่ทรงกระทำความเอ็นดูและปฏิฆะ, พระองค์พ้นจากความเอ็นดูและปฏิฆะทรงแสดงธรรม, เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอย่างนี้ บุคคลทั้งหลายเหล่าใด เป็นผู้ปฏิบัติชอบในธรรมนั้น บุคคลเหล่านี้ย่อมตรัสรู้; ส่วนบุคคลทั้งหลายเหล่าใด เป็นผู้ปฏิบัติผิดแล้ว บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นย่อมตกไป. เปรียบเหมือนเมื่อบุรุษสั่นต้นมะม่วง หรือต้นชมพู่ หรือต้นมะทราง(น่าจะเป็นมะปรางมากกว่า-ความเห็นส่วนตัว) ผลทั้งหลายในต้นไม้อันใด ที่เป็นสาระมีขั้วมั่น ผลเหล่านั้นไม่เคลื่อนไม่หลุด คงอยู่ในต้นไม้นั้นนั่นเทียว, ส่วนผลทั้งหลายอันใด มีโคนแห่งก้านเน่า มีขั้วทรพล ผลทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมหล่นไป ฉันใด, พระตถาคต เมื่อทรงแสดงธรรม ไม่กระทำความเอ็นดูและปฏิฆะ, พระองค์พ้นแล้วจากความเอ็นดูและปฏิฆะทรงแสดงธรรม, เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่อย่างนี้ บุคคลทั้งหลายเหล่าใด เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้วในธรรมนั้น บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นย่อมตรัสรู้; ส่วนบุคคลทั้งหลายเหล่าใดที่ปฏิบัติผิดแล้ว บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นย่อมตกไป ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
อีกนัยหนึ่ง ชนชาวปรารถนาจะปลูกข้าวกล้า ย่อมไถซึ่งนา, เมื่อชาวนานั้นไถนาอยู่ หญ้าทั้งหลายไม่ใช่แสนเดียวย่อมตายไป ฉันใด;พระตถาคตจะยังสัตว์ทั้งหลายที่มีวิปัสสนาญาณ ซึ่งแก่กล้าแล้วให้ตรัสรู้พระองค์พ้นแล้วจากความเอ็นดูและปฏิฆะทรงแสดงธรรม, เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่อย่างนี้ บุคคลทั้งหลายเหล่าใด เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้วในธรรมนั้น บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นย่อมตรัสรู้; ส่วนว่าบุคคลทั้งหลายเหล่าใด ที่เป็นผู้ปฏิบัติผิดแล้ว บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น เหมือนกะหญ้าทั้งหลายที่ตายไปแล้ว ฉันนั้น.
อีกนัยหนึ่ง มนุษย์ทั้งหลายหีบอ้อยในยนต์ เหตุจะต้องการรส, เมื่อมนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้นหีบอ้อยอยู่ กิมิชาติทั้งหลายเหล่าใด ในยนต์นั้น ที่ไปแล้วในปากแห่งยนต์ กิมิชาติทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมถูกยนต์บีบ ฉันใด; พระตถาคตมีพระประสงค์จะให้สัตว์ทั้งหลายที่มีวิปัสสนาญาณในใจอันแก่กล้าแล้วตรัสรู้ ทรงบีบเฉพาะซึ่งยนต์คือธรรม, สัตว์ทั้งหลายเหล่าใด ที่ปฏิบัติผิดแล้วในธรรมนั้น สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมตายเหมือนกิมิชาติ ฉันนั้นนั่นเทียวแล ขอถวายพระพร."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ตกแล้วด้วยธรรมเทศนานั้น ไม่ใช่หรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร ช่างถากเสียดายต้นไม้อยู่ กระทำให้ตรงให้บริสุทธิ์ได้หรือไม่?
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า ช่างถากนำไม้ที่ควรเว้นออกเสีย กระทำไม้นี้ให้ตรงให้บริสุทธิ์อย่างเดียว."
ถ. "ขอถวายพระพร พระตถาคตเมื่อเสียดายบริษัท ไม่อาจเพื่อจะยังสัตว์ทั้งหลายที่ควรจะตรัสรู้ให้ตรัสรู้ได้, ต้องนำสัตว์ทั้งหลายที่ปฏิบัติผิดออกเสียแล้ว จึงให้สัตว์ทั้งหลายที่ควรตรัสรู้เหล่านี้เท่านั้น ตรัสรู้ได้ ฉันนั้นนั่นเทียว. ก็ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้ปฏิบัติผิดแล้วย่อมตกไป เพราะกรรมที่ตนกระทำแล้ว. เปรียบเหมือนต้นกล้วย ไม้ไผ่ และนางม้าอัสดร อันผลเกิดแต่ตนย่อมฆ่าเสีย ฉันใด, บุคคลทั้งหลายเหล่าใดนั้นเป็นผู้ปฏิบัติผิดแล้ว บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นอันกรรมที่ตนกระทำแล้ว ย่อมฆ่าเสียตกไป ฉันนั้น. อนึ่ง โจรทั้งหลาย ย่อมถึงความควักจักษุเสีย และเสียบด้วยหลาว ตัดศีรษะเสีย เพราะโทษผิดที่ตนกระทำแล้ว ฉันใด, บุคคลทั้งหลายเหล่าใด ปฏิบัติผิดแล้ว บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น อันโทษผิดที่ตนกระทำแล้ว ย่อมฆ่าเสีย ย่อมตกลงจากพระชินศาสนา ฉันนั้น. โลหิตร้อนพลุ่งขึ้นแล้วจากปากของภิกษุทั้งหลายประมาณหกสิบเหล่าใด โลหิตนั้นของภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจะได้พลุ่งออกเพราะกิริยาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็หาไม่ จะได้พลุ่งออกเพราะกิริยาของบุคคลทั้งหลายอื่น ก็หาไม่เลย, โลหิตนั้นพลุ่งออกเพราะโทษผิดที่ตนกระทำแล้วของตนเองโดยแท้แล. เปรียบเหมือนบุรุษ พึงให้อมฤตแก่ชนทั้งปวง, ชนทั้งหลายเหล่านั้นกินอมฤตนั้นแล้วเป็นผู้ไม่มีโรค มีอายุยืน พึงพ้นจากจัญไรทั้งปวงได้, ลำดับนั้น บุรุษคนใดคนหนึ่งกินตอมฤตนั้น ด้วยประพฤติผิดอย่าง จึงถึงความตาย; บุรุษผู้ให้อมฤตนั้น พึงถืออกุศลไม่ใช่บุญหน่อยหนึ่ง มีความให้อมฤตนั้นเป็นเหตุหรือไม่ ขอถวายพระพร"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร บุรุษผู้ให้อมฤตนั้นไม่ต้องอกุศล ไม่ใช่บุญ เพราะความให้อมฤตนั้นเป็นเหตุ ฉันใด, พระตถาคตทรงให้อมฤตเป็นธรรมทานแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลายในโลกธาตุ มีหมื่นหนึ่งเป็นประมาณ, สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดนั้น เป็นภัพพบุคคลควรตรัสรู้ สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมตรัสรู้ด้วยอมฤต คือ ธรรม, ส่วนสัตว์ทั้งหลายเหล่าใดนั้น เป็นอภัพพะไม่ควรจะตรัสรู้ สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นอันกิริยาของตน ย่อมฆ่าเสียจากอมฤต ย่อมตกไป ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาของพระผู้เป็นเจ้า สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๗. เสฏฐธัมมปัญหา ๑๗

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนวาสิฏฐโคตร ธรรมนั่นเทียวเป็นของประเสริฐสุดในชนนั้น ในทิฏฐธรรม คือ ภพเห็นประจักษ์นี้นั่นเทียวด้วย ในภพอันสัตว์พึงถึงในเบื้องหน้าพร้อมเฉพาะด้วย' ดังนี้, ส่วนคฤหัสถ์เป็นอุบาสก เป็นโสดาบัน ปิดอบายได้แล้ว มีทิฏฐิบรรลุแล้ว ทราบแจ้งศาสนาแล้วด้วยใจ ย่อมไหว้ ย่อมลุกรับภิกษุบ้าง สามเณรบ้าง ที่ยังเป็นปุถุชน ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนวาสิฏฐโคตร ธรรมนั่นเทียว เป็นของประเสริฐสุดในชนนั้น ในทิฏฐธรรมคือภพเห็นประจักษ์นี้นั่นเทียวด้วย ในภาพอันสัตว์พึงถึงในเบื้องหน้าพร้อมเฉพาะด้วย' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'คฤหัสถ์เป็นอุบาสกเป็นโสดาบัน ปิดอบายได้แล้ว มีทิฏฐิบรรลุแล้ว รู้แจ้งศาสนาแล้วด้วยใจ ย่อมไหว้ ย่อมลุกรับภิกษุบ้าง สามเณรบ้าง ที่ยังเป็นปุถุชน' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าคฤหัสถ์เป็นอุบาสก เป็นโสดบัน ปิดอบายได้แล้ว มีทิฏฐิบรรลุแล้ว รู้แจ้งศาสนาด้วยใจ ย่อมไหว้ ย่อมลุกรับ ภิกษุบ้าง สามเณรบ้าง ที่เป็นปุถุชน, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อนวาสิฏฐโคตรธรรมนั่นเทียว เป็นของประเสริฐสุดในชนนั้น ทั้งในทิฏฐิธรรมและอภิสัมปรายะ' ดังนี้ แม้นั้นก็เป็นผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ แก่มาณพผู้เหล่ากอวาสิฏฐโคตรว่า 'ดูก่อนวาสิฏฐโคตร ธรรมนั่นเทียว เป็นของประเสริฐสุดในชนนั้น ทั้งในทิฏฐิธรรมด้วย ในอภิสัมปรายะด้วย' ดังนี้, อนึ่ง คฤหัสถ์เป็นอุบาสกเป็นโสดาบัน ปิดอบายได้แล้ว มีทิฏฐิบรรลุแล้ว รู้แจ้งศาสนาด้วยใจย่อมไหว้ ย่อมลุกรับ ภิกษุและสามเณรที่เป็นปุถุชน ก็แต่ว่า เหตุในปัญหานั้นมีอยู่, เหตุนั้นอย่างไร? ธรรมทั้งหลายที่กระทำให้เป็นสมณะของสมณะยี่สิบ เพศทั้งหลายสองด้วย เหล่านี้ซึ่งเป็นเหตุให้พระสมณะเป็นผู้ควรไหว้และลุกรับและความนับถือและบูชา, ธรรมทั้งหลายที่กระทำให้เป็นสมณะของสมณะยี่สิบ และเพศทั้งหลายสองอย่างไร? คือ นิยมประเสริฐที่สุด ได้แก่ความมุ่งต่อพระนฤพานหนึ่ง นิยมเลิศ คือ นิยมในพระอรหัตหนึ่ง ความประพฤติหนึ่ง ธรรมเครื่องอยู่หนึ่ง ความสำรวมหนึ่ง ความระวังหนึ่ง ความอดทนหนึ่ง ความเป็นผู้ยินดีในธรรมอันงาม คือ ความเป็นผู้เรียบร้อยหนึ่ง ความประพฤติในความเป็นผู้เดียวหนึ่ง ความยินดียิ่งในความเป็นผู้เดียวหนึ่ง ความหลีกออกเร้นอยู่หนึ่ง หิริโอตตัปปะหนึ่ง ความเพียรหนึ่ง ความไม่ประมาทหนึ่ง ความสมาทานสิกขาหนึ่ง อุทเทสความเรียนพระบาลีหนึ่ง ปริปุจฉา ความเรียนอัฏฐกถาและฎีกาหนึ่ง ความยินดียิ่งในศีลคุณเป็นต้นหนึ่ง ความเป็นผู้ไม่มีอาลัยหนึ่ง ความเป็นผู้กระทำสิกขาบทให้บริบูรณ์หนึ่ง, ความทรงผ้ากาสาวะไว้หนึ่ง ความเป็นผู้มีศีรษะโล้นหนึ่ง; ธรรมทั้งหลายกระทำให้เป็นสมณะของสมณะยี่สิบ และเพศทั้งหลายสองเหล่านี้แล. อุบาสกโสดาบันคิดว่า 'ภิกษุมาสมาทานคุณทั้งหลายเหล่านี้ ประพฤติอยู่, ภิกษุนั้น เพราะความที่ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เป็นของไม่บกพร่อง เพราะความที่ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เป็นของเต็มบริบูรณ์แล้ว เพราะความที่ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เป็นของถึงพร้อมแล้ว เพราะความที่ธรรมมาตามพร้อมแล้ว ด้วยธรรมทั้งหลายเหล่านั้น เธอหยั่งลงสู่อเสขภูมิ อรหันตภูมิ, เธอหยั่งลงสู่ภูมิอื่นที่ประเสริฐ, เธอมาตามพร้อมแล้วด้วยพระอรหัต' จึงควรไหว้ ควรลุกรับ, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า "ภิกษุนั้นเข้าถึงความเป็นผู้เสมอด้วยพระขีณาสพทั้งหลาย, ความถึงพร้อมนั้นของเราไม่มี' จึงควรไหว้ ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นเข้าถึงบริษัทเลิศ เรามิได้เข้าถึงที่นั้นแล้ว' จึงควรไหว้ ลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นย่อมได้เพื่อจะฟังปาฏิโมกขุทเทส เราย่อมไม่ได้เพื่อจะฟังปาฏิโมกขุทเทสนั้น' จึงควรไหว้ ลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นยังกุลบุตรทั้งหลายอื่นให้บวชให้อุปสมบท ยังศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้วให้เจริญ เราย่อมไม่ได้เพื่อจะกระทำกิจทั้งสามนั้น' จึงควรไหว้ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นเป็นผู้กระทำให้บริบูรณ์ในสิกขาบททั้งหลายไม่มีประมาณ เราไม่ได้ประพฤติในสิกขาบททั้งหลายเหล่านั้น' ดังนี้ จึงควรไหว้ ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสก โสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นเข้าถึงแล้วซึ่งเพศแห่งสมณะ ตั้งอยู่ในความประสงค์ของพระพุทธเจ้า เราหลีกไปแล้วสู่ที่ไกลจากเพศนั้น' ดังนี้ จึงควรไหว้ ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ภิกษุนั้นมีขนในรักแร้รุงรังแล้ว มิได้หยอดประดับมีกลิ่นแห่งศีลฉาบทาแล้ว ส่วนเราเป็นผู้ยินดียิ่งในการประเทืองผิวและประดับ' ดังนี้ จึงควรไหว้ ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน, ก็อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ธรรมทั้งหลายที่กระทำให้เป็นสมณะยี่สิบ และเพศเหล่านั้นใด ธรรมทั้งหลายแม้ทั้งปวงเหล่านี้ ย่อมมีพร้อมแก่ภิกษุ ภิกษุนั้นนั่นเทียว ย่อมทรงธรรมทั้งหลายเหล่านั้นไว้ ยังกุลบุตรทั้งหลายแม้อื่นให้ศึกษาอยู่ในธรรมทั้งหลายเหล่านั้น นิกายเป็นที่มา และความยังกุลบุตรให้ศึกษานั้นของเราไม่มี' ดังนี้ จึงควรไหว้ ควรลุกรับภิกษุที่เป็นปุถุชน.
ขอถวายพระพร เออก็ ราชกุมารเรียนวิทยาศึกษาธรรมเนียมของกษัตริย์ในสำนักแห่งปุโรหิต, โดยสมัยอื่น ราชกุมารนั้นได้อภิเษกแล้ว จึงควรไหว้ ควรลุกรับอาจารย์ ด้วยความดำริว่า 'ปุโรหิต นี้เป็นอาจารย์ให้ศึกษาของเรา" ดังนี้ ฉันใด; อุบาสกโสดาบัน คิดว่า 'ท่านผู้ดำรงวงศ์ เป็นผู้ยังกุลบุตรให้ศึกษา ดังนี้' จึงควรไหว้ ควรลุกรับ ภิกษุที่เป็นปุถุชน ฉันนั้นนั่นเทียวแล. เออก็ บรมบพิตรจงทรงทราบความที่ภูมิของภิกษุเป็นของใหญ่ ความที่ภูมิของภิกษุเป็นของไพบูลย์ ไม่มีภูมิอื่นเสมอนั้นโดยปริยายนี้: ถ้าอุบาสกโสดาบันกระทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต, คติทั้งหลายสองเท่านั้น ไม่มีคติอื่น ย่อมมีแก่อุบาสกผู้กระทำให้แจ้งพระอรหัตนั้น คือ: อุบาสกผู้อรหันต์นั้น พึงปรินิพพานบ้าง พึงเข้าไปถึงความเป็นภิกษุบ้าง ในวันนั้นทีเดียว; เพราะว่าภูมิของภิกษุนี้ใด ภูมิของภิกษุนั้น เป็นบรรพชาไม่เขยื้อน เป็นของใหญ่บริสุทธิ์สูงยิ่ง."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาไปแล้วโดยญาณ พระผู้เป็นเจ้าผู้มีความรู้ยิ่ง มีกำลังคลี่คลายออกด้วยดีแล้ว, บุคคลอื่นนอกจากท่านผู้มีความรู้เช่นพระผู้เป็นเจ้า ไม่อาจเพื่อจะคลี่คลายปัญหานี้ออกให้แจ้งชัดอย่างนี้ได้แล."

๘. ตถาคตอเภชชปริสปัญหา ๑๘

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'พระตถาคตมีบริษัทอันใคร ๆ ให้แตกไม่ได้ ดังนี้. ก็แหละ พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่อีกว่า 'ภิกษุห้าร้อย พระเทวทัตทำลายแล้ว ประหารอันเดียว' ดังนี้. ถ้าพระตถาคตเป็นผู้มีบริษัทอันใคร ๆ ทำลายไม่ได้แล้วไซร้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ภิกษุทั้งหลายประมาณห้าร้อย พระเทวทัตทำลายแล้ว ประหารอันเดียว' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าภิกษุทั้งหลายประมาณห้าร้อย อันพระเทวทัตทำลายแล้ว ประหารอันเดียวไซร้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระตถาคตเป็นผู้มีบริษัทอันใคร ๆ ทำลายไม่ได้ดังนี้ แม้นั้นเป็นผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน ลึก ใคร ๆ ตัดสินโดยยากเป็นขอดวิเศษกว่าขอดโดยปกติ มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, ชนหมู่นี้อันอวิชชากางกั้น ปกคลุมแล้ว ปิดแล้ว หุ้มห่อแล้ว ในปัญหานี้, พระผู้เป็นเจ้าจงแสดงกำลังแห่งปรีชาญาณ ในปรัปปวาททั้งหลาย ในปัญหานี้เถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระตถาคตเป็นผู้มีบริษัทอันใคร ๆ ทำลายไม่ได้, ก็แหละ ภิกษุทั้งหลายประมาณห้าร้อย อันพระเทวทัตทำลายแล้ว ประหารอันเดียว. ก็แต่ว่า ความทำลายนั้นด้วยกำลังแห่งเหตุเครื่องทำลาย, ครั้นเมื่อเหตุเครื่องทำลายมีอยู่ ชื่อว่าของอันใคร ๆ ทำลายไม่ได้ไม่มี. เมื่อเหตุเครื่องทำลายมีอยู่ แม้มารดาย่อมแตกจากบุตร แม้บุตรย่อมแตกจากมารดา แม้บิดาย่อมแตกจากบุตร แม้บุตรย่อมแตกจากบิดา แม้พี่น้องชายย่อมแตกจากพี่น้องหญิง แม้พี่น้องหญิงย่อมแตกจากพี่น้องชาย แม้สหายย่อมแตกจากสหาย, แม้เรือทั้งลายที่ขนานด้วยต้นไม้ต่าง ๆ ย่อมแตกด้วยกำลังแห่งคลื่นประหาร แม้ต้นไม้ที่มีผลถึงพร้อมแล้วด้วยรส อันบุคคลพึงกำหนดด้วยน้ำผึ้งอันเรี่ยวแรงมีกำลังแห่งลมกระทบเฉพาะแล้วย่อมแตก แม้ทองคำมีชาติย่อมแตกด้วยโลหะ เออก็ คำที่ว่า 'พระตถาคตเป็นผู้มีบริษัทอันใคร ๆ ทำลายได้ ดังนี้ ไม่ใช่ความประสงค์ของวิญญูชนทั้งหลาย ไม่ใช่ความนึกน้อมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่ใช่ฉันทะของบัณฑิตทั้งหลาย. เออก็พระตถาคตอันบัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวสรรเสริญว่า 'พระองค์มีบริษัทอันใครทำลายไม่ได้' ดังนี้ ด้วยเหตุใด เหตุนั้น ในความกล่าวสรรเสริญนั้นมีอยู่, เหตุในความกล่าวสรรเสริญนั้นอย่างไร? คือใครไม่เคยได้ยินได้ฟังมาว่า 'เมื่อพระตถาคตยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงประพฤติจริยาในภพใดภพหนึ่ง ด้วยการหยิบฉวยทรัพย์ของใคร ๆ อันพระองค์ได้กระทำแล้วหรือ หรือด้วยการเจรจาวาจาที่ไม่น่ารัก หรือด้วยความประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น หรือด้วยความเป็นผู้ไม่มีตนเสมอ บริษัทของพระองค์แตกแล้ว' ดังนี้เลย, เพราะเหตุนั้นบัณฑิตทั้งหลายจึงกล่าวสรรเสริญว่า 'พระตถาคตเป็นผู้มีบริษัทอันใคร ๆ ทำลายไม่ได้. 'เหตุนี้ แม้บรมบพิตรพึงทรงทราบว่า 'เหตุอันหนึ่งมาแล้วโดยสูตรมีอยู่ในพุทธพจน์ มีองค์เก้าประการว่า 'บริษัทของพระตถาคตแตกแล้ว เพราะเหตุชื่อนี้ อันพระองค์ยังเป็นโพธิสัตว์กระทำแล้ว."
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า ก็เหตุนั้น มิได้ปรากฏในโลก แม้อันข้าพเจ้าก็ไม่ได้ยิน, ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาของพระผู้เป็นเจ้าสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๙. อซานโตปาปกรณอปุญญปัญหา ๑๙

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'ผู้ใดไม่รู้กระทำปาณาติบาต ผู้นั้นยังอกุศลมีกำลังกล้าให้เกิด' ดังนี้. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในวินัยบัญญัติอีกว่า 'ความไม่มีอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รู้' ดังนี้. ถ้าว่าบุคคลไม่รู้แล้ว กระทำปาณาติบาต ยังอกุศลมีกำลังกล้าให้เกิด, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ความไม่มีอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รู้, ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าว่าความไม่มีอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รู้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'บุคคลไม่รู้แล้ว กระทำปาณาติบาตยังอกุศลมีกำลังกล้าให้เกิด' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อนอันบุคคลข้ามยาก ก้าวล่วงยาก มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, ปัญหานั้นพระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ได้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ว่า 'บุคคลใดไม่รู้ กระทำปาณาติบาต บุคคลนั้นย่อมยังอกุศลมีกำลังกล้าให้เกิด,' ก็แม้ในวินัยบัญญัติ พระองค์ตรัสแล้วว่า 'ความไม่มีอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รู้' ดังนี้อีก, เนื้อความพิเศษในพระพุทธพจน์นั้นมีอยู่, เนื้อความพิเศษเป็นไฉน? เนื้อความพิเศษ คือ อาบัติที่เป็น สัญญาวิโมกข์ พ้นด้วยสัญญาก็มี;ที่เป็นโนสัญญาวิโมกข์ไม่พ้นด้วยสัญญาก็มี อาบัตินี้ใด ที่เป็นสัญญาวิโมกข์ พระผู้มีพระภาค ทรงปรารภอาบัตินั้น ตรัสแล้ว่า 'ความไม่มีอาบัติแก่ภิกษุผู้ไม่รู้' ดังนี้ ขอถวายพระพร."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาของพระผู้เป็นเจ้านี้ สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๑๐. ภิกขุคณอเปกขภาวปัญหา ๒๐

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตแล้วว่า 'ความดำริอย่างนี้ว่า 'เราจะบริหารภิกษุสงฆ์หรือ หรือว่าภิกษุสงฆ์มีตัวเราเป็นที่พำนัก' ดังนี้ มิได้มีแด่พระตถาคตเลย' ดังนี้. ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงคุณตามที่เป็นจริง ของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า เมตไตรย ได้ตรัสแล้วอย่างนี้ว่า 'พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า เมตไตรย นั้น จักบริหารภิกษุสงฆ์มิใช่พันเดียว เหมือนเราผู้ตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์มิใช่ร้อยเดียวอยู่ในกาลนี้ แม้ฉันนั้น' ดังนี้. ถ้าว่าพระผู้มีภาคได้ตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนอานนท์ ความดำริอย่างนี้ว่า 'เราจะบริหารภิกษุสงฆ์หรือ หรือว่าภิกษุสงฆ์มีตัวเราเป็นที่พำนัก' ดังนี้ มิได้มีแด่พระตถาคตเลย' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'เราบริหารภิกษุสงฆ์มิใช่ร้อยเดียว' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าว่าพระตถาคตตรัสแล้ว่า 'เหมือนเราผู้ตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์มิใช่ร้อยเดียวอยู่ในกาลนี้ แม้ฉันนั้น,' ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อนอานนท์ ความดำริว่า 'เราจะบริหารภิกษุสงฆ์หรือ หรือว่าภิกษุสงฆ์มีตัวเราเป็นที่พำนัก' ดังนี้ มิได้มีแด่พระตถาคตเลย' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ปัญหานั้นพระผู้เป็นเจ้า พึงแก้ไขให้แจ่มแจ้งเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาค แม้ได้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ว่า 'ดูก่อนอานนท์ ความดำริว่า 'เราจะบริหารภิกษุสงฆ์ดังนี้หรือ หรือว่าภิกษุสงฆ์มีตัวเราเป็นที่พำนัก'ดังนี้ อย่างนี้มิได้มีแด่พระตถาคตเลย' ดังนี้. เมื่อพระองค์ทรงแสดงคุณตามที่เป็นจริงของพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ทรงพระนามว่า เมตไตรย ได้ตรัสแล้วว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า เมตไตรยนั้น จักบริหารภิกษุสงฆ์มิใช่พันเดียว เหมือนเราบริหารภิกษุสงฆ์มิใช่ร้อยเดียวอยู่ในกาลนี้ แม้ฉันนั้น' ดังนี้. ก็ในปัญหานี้ เนื้อความหนึ่งเป็นสาวเสส มีส่วนเหลือเนื้อความหนึ่งเป็นนิรวเสสไม่มีส่วนเหลือ. พระตถาคตเจ้ามิได้ทรงดำเนินตามบริษัท. ส่วนบริษัทดำเนินโดยเสด็จพระตถาคตเจ้า. แม้วาจาว่าเรา ว่าของเรา นี้เป็นแต่สมมติ พระโองการตินี้มิใช่ปรมัตถ์. ความรักของพระตถาคตเจ้าปราศจากไปแล้ว ความเยื่อใยปราศจากไปแล้ว และความถือว่าของเรา ย่อมไม่มีแด่พระตถาคต, ก็แต่ว่าความอาศัยยึดเหนี่ยวย่อมมี. อุปมาเหมือนแผ่นดินเป็นที่อาศัยตั้งอยู่ของสัตว์ทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในพื้น สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นผู้ตั้งอยู่ในแผ่นดินโดยแท้, แต่ว่า ความเพ่งว่า 'สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ของเรา' ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่แผ่นดินใหญ่ ฉันใด; พระตถาคตเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ พึ่งพระตถาคตโดยแท้, ก็แต่ว่า ความเพ่งว่า 'สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ของเรา' ย่อมไม่มีแด่พระตถาคตเลย ฉันนั้น.
อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนมหาเมฆใหญ่ เมื่อยังฝนให้ตกเฉพาะกาล ย่อมให้ความเจริญแก่หญ้า และต้นไม้ และสัตว์ของเลี้ยง และมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมตามเลี้ยงไว้ซึ่งสันตติ, ก็สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น เป็นผู้อาศัยฝนเป็นอยู่, ก็แต่ว่า ความเพ่งว่า 'สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ของเรา' ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่มหาเมฆ ฉันใด; พระตถาคตยังกุศลธรรมให้เกิดแก่สัตว์ทั้งปวง ย่อมตามรักษาสัตว์ทั้งปวงไว้, ก็สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น เป็นผู้อาศัยพระศาสดาเป็นอยู่, แต่ว่า ความเพ่งว่า 'สัตว์ทั้งปวงเหล่านี้ ของเรา' ย่อมไม่มีแด่พระตถาคต ฉันนั้น; ซึ่งเป็นดังนั้นเพราะเหตุไร? ซึ่งเป็นดังนั้นเพราะความที่ทิฏฐิไปตามซึ่งตนพระตถาคตละเสียได้แล้ว."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาพระผู้เป็นเจ้าคลี่คลายออกได้แล้วด้วยเหตุทั้งหลายต่าง ๆ, ปัญหาลึกพระผู้เป็นเจ้ามากระทำให้ตื้นได้แล้ว, ขอดพระผู้เป็นเจ้าทำลายได้แล้ว, ชัฏพระผู้เป็นเจ้ากระทำไม่ให้เป็นชัฏแล้ว, มืดกระทำให้เป็นแสงสว่างแล้ว, ปรัปปวาททั้งหลายพระผู้เป็นเจ้าหักเสียแล้ว, จักษุของชินบุตรทั้งหลายอันพระผู้เป็นเจ้าให้เกิดขึ้นได้แล้ว."

วรรคที่สาม
๑. วัตถคุยหทัสสนปัญหา ๒๑

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระตถาคตแม้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ว่า 'ความสำรวมระวังด้วยกาย ความระวังด้วยวาจา ความระวังด้วยใจ เป็นของดีละอย่าง ๆ ความระวังในที่ทั้งปวง เป็นของดีกระทำประโยชน์ให้สำเร็จได้' ดังนี้. และพระตถาคตเจ้าเสด็จนั่งในท่ามกลางบริษัทสี่ ทรงแสดงอวัยวะที่จะพึงซ่อนในผ้าตั้งลงแล้วในฝักแก่พราหมณ์ชื่อ เสละ ต่อหน้าแห่งเทพดามนุษย์ทั้งหลาย. ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ความระวังด้วยกายเป็นของดี' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระองค์แสดงอวัยวะที่จะพึงซ่อนในผ้าตั้งลงแล้วในฝักแก่เสลพราหมณ์นั้นเป็นผิด. ถ้าว่าพระตถาคตทรงแสดงอวัยวะที่จะพึงซ่อนในผ้าตั้งลงแล้วในฝักแก่เสลพราหมณ์, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ความระวังด้วยกายเป็นของดี' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว 'ความระวังด้วยกายเป็นของดี' ดังนี้. และทรงแสดงอวัยวะที่จะพึงซ่อนในผ้าตั้งลงแล้วในฝักแก่เสล พราหมณ์.
ขอถวายพระพร ความสงสัยในพระตถาคตเกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระกายมีส่วนเปรียบด้วยอวัยวะนั้น ด้วยฤทธิ์ เพื่อจะยังบุคคลนั้นให้รู้, บุคคลนั้นเท่านั้น ย่อมเห็นปาฏิหาริย์นั้น."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ใครเล่าจักเชื่อปาฏิหาริย์นั้น บุคคลไปในบริษัท ย่อมเห็นอวัยวะที่จะพึงซ่อนนั้นแต่ผู้เดียว ด้วยปาฏิหารย์ไรเล่า, คนทั้งหลายนอกนั้นมีในที่นั่นเทียว ไม่ได้เห็น. เชิญพระผู้เป็นเจ้าอ้างเหตุในข้อนั้น ยังข้าพเจ้าให้หมายรู้ด้วยเหตุเถิด."
ถ. "ขอถวายพระพร บรมบพิตรเคยทอดพระเนตรบ้างแล้วหรือบุรุษมีพยาธิบางคน พรักพร้อมด้วยญาติและมิตรมาแวดล้อมอยู่รอบข้าง?"
ร. "เคยเห็น พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร บุรุษเสวยทุกข์ รู้สึกเจ็บโดยเวทนาใด บริษัทหรือญาติและมิตรเห็นเวทนานั้นบ้างหรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า บุรุษนั้น ย่อมเสวยทุกข์ รู้สึกเจ็บปวดแต่ตนผู้เดียว."
ถ. "ขอถวายพระพร ความสงสัยเกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลใด พระตถาคตทรงแสดงพระกายมีส่วนเปรียบด้วยอวัยวะ ที่จะพึงว่อนให้ลับในผ้า ด้วยฤทธิ์ของพระองค์ เพื่อยังบุคคลนั้นให้รู้แต่ผู้เดียว. บุคคลนั้นผู้เดียวเห็นปาฏิหาริย์นั้น ฉันนั้น ขอถวายพระพร.
อีกนัยหนึ่ง ภูตสิงบุรุษคนใดคนหนึ่ง, บริษัทนอกนั้น ย่อมเห็นความมาของภูตนั้นบ้างหรือ?"
ร. "หามิได้ บุรุษที่กระสับกระส่ายอยู่เท่านั้น ย่อมเห็นความมาของภูตนั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร บริษัทนอกนั้น ย่อมไม่เห็นความมาของภูตนั้น บุรุษที่กระสับกระส่ายอยู่เท่านั้น ย่อมเห็นความมาของภูตนั้นฉันใด, ความสงสัยในพระตถาคตเกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลใด บุคคลนั้นผู้เดียว ย่อมเห็นปาฏิหาริย์แต่ผู้เดียว ฉันนั้น."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า นาคเสน กิจที่บุคคลจะพึงกระทำโดยยาก พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงปาฏิหาริย์ที่ใคร ๆ จะพึงแสดงแม้แก่บุคคลผู้เดียวในท่ามกลางบริษัท ให้เห็นแต่ผู้เดียวไม่ได้นั้น ทรงกระทำได้แล้ว."
ถ. "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งจะได้ทรงแสดงอวัยวะที่จะพึงซ่อนแล้วนั้นหามิได้ล ก็แต่ว่า พระองค์ทรงแสดงพระฉายด้วยฤทธิ์."
ร. "เสล พราหมณ์ได้เห็นอวัยวะที่จะพึงซ่อนอันใดแล้ว จึงสันนิษฐานเข้าใจแน่ได้ เมื่อบุคคลได้เห็นพระฉาย ก็ได้ชื่อว่าเห็นอวัยวะที่จะพึงซ่อนนั้นทีเดียวนะ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร พระตถาคตทรงกระทำแม้ซึ่งกรรมอันบุคคลกระทำได้โดยยาก เพื่อจะยังสัตว์ทั้งหลายที่ควรจะตรัสรู้ให้ตรัสรู้ ถ้าว่าพระตถาคตพึงกระทำกิจที่จะพึงกระทำให้เสื่อมไปเสีย, สัตว์ทั้งหลายที่ควรตรัสรู้ได้ จะไม่พึงตรัสรู้ พระตถาคตผู้รู้ซึ่งอุบายอันบุคคลพึงประกอบเพื่อจะยังสัตว์ทั้งหลายที่ควรตรัสรู้ให้ตรัสรู้ เพราะเหตุใด, เพราะเหตุนั้น สัตว์ทั้งหลายที่ควรจะตรัสรู้ ย่อมตรัสรู้ได้ด้วยอุบายอันจะพึงประกอบใด ๆ พระตถาคตยังสัตว์ที่ควรตรัสรู้ทั้งหลายให้ตรัสรู้ด้วยอุบายที่จะพึงประกอบนั้น ๆ.
ขอถวายพระพร เหมือนหมอผู้ฉลาด เมื่อจะเยียวยารักษาคนไข้ครั้นไปดูคนไข้เห็นแจ้งประจักษ์แล้วก็วางยา โรคควรจะสำรอกออกเสีย ก็ให้สำรอกเสีย โรคควรถ่ายยา ก็ให้ถ่ายเสีย โรคควรจะชโลมยา ทายา ก็ให้ชโลมยา ทายาเสีย โดยที่ควรจะรมก็รมเสีย รักษาด้วยยานั้น ๆ เอาความหายโรคเป็นประมาณ ฉันใด; สัตว์ทั้งหลายที่ควรตรัสรู้ จะตรัสรู้ได้ด้วยอุบายที่จะพึงประกอบใด ๆ พระตถาคตก็ให้ตรัสรู้ด้วยอุบายที่จะพึงประกอบนั้น ๆ ฉันนั้นนั่นเทียวแล ขอถวายพระพร.
อีกนัยหนึ่ง สตรีที่มีครรภ์หลงแล้วย่อมแสดงอวัยวะที่ควรซ่อนไม่ควรแสดงให้ใครเห็น แก่หมอผดุงครรภ์ ฉันใด, พระตถาคตทรงแสดงพระฉายที่ไม่ควรแสดงให้ใครเห็น ควรจะซ่อนไว้ ด้วยฤทธิ์เพื่อจะยังสัตว์ทั้งหลายที่ควรจะตรัสรู้ให้ตรัสรู้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล. อาศัยยึดบุคคล โอกาสชื่อเป็นของไม่ควรแสดง ย่อมไม่มี. ถ้าว่าใคร ๆ พึงเห็นพระหฤทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจึงตรัสรู้ได้, พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงแสดงพระหฤทัยแม้แก่บุคคลนั้น ด้วยอุบายที่จะพึงประกอบ. พระตถาคตเป็นผู้รู้อุบายที่จะพึงประกอบ และฉลาดในเทศนาพระตถาคตทรงทราบอัธยาศัยของพระเถรชื่อ
นันทะ นำพระนันทเถระนั้นไปสู่พิภพของเทพดา แล้วทรงแสดงนางเทพกัญญา ด้วยทรงพระดำริว่า 'กุลบุตรนี้จักตรัสรู้ได้ด้วยอุบายเครื่องประกอบนี้' ดังนี้, กุลบุตรนั้นก็ตรัสรู้แล้วด้วยอุบายเครื่องประกอบนั้นไม่ใช่หรือ?
ขอถวายพระพร พระตถาคตดูหมิ่นติเตียนสุภนิมิตโดยปริยายมิใช่อันเดียว เกลียดสุภนิมิต ทรงแสดงนางเทพอัปสรทั้งหลายมีสีเท้าดังสีเท้านกพิลาบ เพราะความตรัสรู้ของท่านเป็นเหตุ, พระ นันทเถระตรัสรู้ด้วยอุบายนั้น ดังนี้แล, พระตถาคตเป็นผู้รู้อุบายเครื่องประกอบเป็นผู้ฉลาดในเทศนา ด้วยอุบายอย่างนี้บ้าง ขอถวายพระพร.
คำที่จะพึงกล่าวยังมีอีก พระตถาคต เมื่อพระเถระจูฬปันถกอัน พระเถระผู้พี่ชายฉุดออกเสียจากวิหาร เกิดทุกขโทมนัส พระองค์เสด็จเข้าไปใกล้แล้ว ประทานท่อนผ้าอันละเอียดให้แล้ว ด้วยหวังพระหฤทัยว่า "กุลบุตรนี้จักตรัสรู้ด้วยท่อนผ้านี้'ดังนี้, กุลบุตรนั้นก็ถึงความเป็นผู้ชำนาญในพระชินศาสนา ด้วยเหตุนั้น. พระตถาคตเป็นผู้รู้อุบายเครื่องประกอบ เป็นผู้ฉลาดในเทศนาด้วยอุบายอย่างนี้บ้าง.
คำที่จะพึงกล่าวยังมีอีก พระตถาคต เมื่อพราหมณ์โมฆราชมาทูลถามปัญหาถึงสามครั้ง พระองค์มิได้ทรงพยากรณ์ด้วยความดำริว่า 'มานะของกุลบุตรนี้จักระงับไปด้วยอุบายอย่างนี้, ความตรัสรู้จักมีเพราะความที่มานะระงับไป' ดังนี้, มานะของกุลบุตรนั้นก็ระงับไปแล้ว ด้วยเหตุนั้น, เพราะความที่มานะระงับไป พราหมณ์นั้นถึงแล้วซึ่งความเป็นผู้ชำนาญในอภิญญา หกประการ. พระตถาคตเป็นผู้รู้อุบายเครื่องประกอบ เป็นผู้ฉลาดในเทศนาด้วยอุบายอย่างนี้บ้าง ดังนี้."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาพระผู้เป็นเจ้าแก้ไขด้วยดีแล้วด้วยเหตุทั้งหลายมากหลายประการ, ชัฏพระผู้เป็นเจ้ากระทำไม่ให้เป็นชัฏแล้ว, มืดกระทำให้เป็นแสงสว่างแล้ว, ขอดทำลายแล้วปรัปปวาททั้งหลายพระผู้เป็นเจ้าหักรานเสียแล้ว, จักษุพระผู้เป็นเจ้าได้ให้เกิดขึ้นแล้วแก่ชินบุตรทั้งหลาย, เดียรถีย์ทั้งหลาย มากระทบพระผู้เป็นเจ้าผู้ประเสริฐกว่าเจ้าคณะผู้ประเสริฐแล้ว หาปฏิภาณมิได้."






เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับเพื่อนๆที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ถวายสังฆทานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ปิดทองพระ รักษาอาการป่วยของผู้อื่นกับผู้ร่วมงาน และที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา ปล่อยชีวิตสัตว์มาโดยตลอด ถวายยาแก่ภิกษุ ขัดองค์พระ จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย ให้ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ทำบุญหลายอย่างมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ถวายสังฆทานและทำบุญสร้างอาคารผู้ป่วยและกฐินกับเพื่อนๆและให้อาหารเป็นทานแก่สรรพสัตว์กับเพื่อนๆและเพื่อนคนหนึ่งและบริวารของเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนได้มีจิตเมตตาให้ทานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดและเพื่อนได้เคยสวดมนต์เย็นกับคุณแม่และที่ผ่านมาได้ทำบุญสักการะพระธาตุทำบุญปิดทองชำระหนี้สงฆ์และไหว้พระและทำบุญตามกล่องรับบริจาคตามวัดต่างๆกับเพื่อนและตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย


ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา จุดเทียนถวายพระรัตนตรัย
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปิดทองพระ ปล่อยชีวิตสัตว์ถวายยาแก่ภิกษุ ไหว้พระตามวัดต่างๆ ขัดองค์พระ ให้ความรู้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นทาน
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO