นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อาทิตย์ 12 พ.ค. 2024 3:58 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: เรื่องราว
โพสต์โพสต์แล้ว: จันทร์ 25 มิ.ย. 2012 10:35 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4555
พับจดหมายใส่ซองปิดผนึกเรียบร้อยแล้ว ท่านพระครูจึงเอ่ยถามชายหนุ่มตรงหน้า "คุณว่าคุณมาตามภรรยาหรือ" ไม่ปรากฏบ่อยนักที่ท่านจะใช้คำว่า "คุณ" กับผู้ใด เพราะคำ ๆ นี้จะถูกนำมาใช้กับเฉพาะแต่กับคนที่ท่านรู้ว่าเขามีความรู้สึก "ห่างเหิน" ต่อท่านเท่านั้น ความรู้สึกดังกล่าวขึ้นอยู่กับ "คุณสมบัติทางใจ" ของแต่ละคน
ผู้ที่มาวัดป่ามะม่วงส่วนใหญ่จะมาเพราะศรัทธานับถือในท่านพระครู หากก็มีบางคนที่มาแล้วเกิดความรู้สึกไม่ยอมรับนับถือท่าน ทั้งนี้เพราะคุณสมบัติทางใจของเขาเป็นไปในทางลบ เช่นเป็นคนที่ชอบสร้างอกุศลกรรมเป็นเนืองนิตย์ จนจิตคุณเคยกับความชั่วร้าย ครั้นเมื่อมาพบบุคคลเช่นท่าน ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติทางใจตรงข้ามกับของตน จึงไม่สามารถทำใจให้ยอมรับนับถือได้
เมื่อเขามีความรู้สึกห่างเหินต่อท่านเช่นนี้ ท่านจึงต้องวางตนให้เหมาะสมกับความรู้สึกของเขาด้วย การไม่ใช้ถ้อยคำที่แสดงความเป็นกันเองให้เขาต้องอึดอัดขัดข้องใจ
"ครับ เห็นเขาว่าเธอหนีมาบวชชีที่วัดนี้"
"ทำไมถึงต้องหนีมาล่ะ" ท่านทดสอบ "คุณสมบัติทางใจ" ของบุรุษตรงหน้า
"เรามีเรื่องกันนิดหน่อยครับ เรื่องของผัวเมีย" คำตอบนั้นบอกเป็นนัย ๆ ว่า "คนเป็นพระอย่ามายุ่ง"
เอ ถ้าอย่างนั้นเห็นจะเป็นคนละคนเสียแล้ว เพราะแม่หนูคนที่ชื่อเตย เขาบอกอาตมาว่าเขายังไม่ได้แต่งงาน สงสัยคุณคงจะมาผิดวัดเสียแล้ว" ชายหนุ่มรู้สึกผิดหวัง แต่แล้วก็ถามอีกว่า
"เขาท้องหรือเปล่าครับ ภรรยาผมเขาตั้งท้องอ่อน ๆ"
"อันนี้อาตมาไม่ขอตอบ เพราะมันเป็นความลับของเขา ว่าแต่ว่าคุณเป็นสามีทำไมถึงปล่อยให้เขาหนีมาบวชล่ะ" ท่านซักไซ้เพื่อให้เขาสารภาพผิด
"ผมเรียนท่านตั้งแต่ต้นแล้วนี่ครับว่าเป็นเรื่องของผัวเมีย ท่านเป็นพระก็อยู่ส่วนพระ" นอกจากจะไม่ยอมสารภาพแล้ว เขายังใช้ถ้อยคำที่ไม่สมควรกับท่านอีกด้วย
"ถ้าอย่างนั้นอาตมาก็ต้องขอโทษที่เข้าไปยุ่งเรื่องส่วนตัวของคุณ ที่ถามเพราะอยากจะช่วยแก้ปัญหา แต่ในเมื่อคุณคิดว่าอาตมายุ่งก็ต้องขอโทษด้วย" เห็นท่านยอมรับผิด ชายหนุ่มจึงรุกอีกว่า
"ท่านอนุญาตให้เขาบวชได้ยังไง คนหนีผัวมาท่านก็ยังบวชให้ ผมว่าท่านทำไม่ถูกต้องนะครับ"
"ใครว่าอาตมาให้เขาบวชล่ะคุณ" เจ้าของกุฏิแย้ง รู้สึกสมเพชบุรุษตรงหน้าเสียนัก "กฎแห่งกรรม" ของเขาเปิดเผยให้เห็นว่าเขาไม่มี "ทุนเดิม" อยู่เลย ทุนเดิมที่หมายถึงบุญกุศล
"อ้าว ถ้าไม่ได้บวชแล้วทำไมเขาหายมาตั้งร่วมยี่สิบวัน แล้วเขามอยู่ที่นี่ในฐานะอะไร หลวงพ่อให้เขาอยู่ในฐานะอะไรไม่ทราบ" ชายหนุ่มแสดงอาการก้าวร้าวและคิดอกุศลต่อท่านเจ้าอาวาสเพราะ ฤทธิ์หึง
"คุณ อย่าคิดอะไรที่มันเป็นไปไม่ได้หน่อยเลย มโนทุจริตก็มีทุกข์มีโทษนะคุณ อาตมาไม่เคยคิดอกุศลเช่นนั้น เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ประเดี๋ยวอาตมาจะให้เด็กเขาไปเรียกแม่หนูคนนั้นมา แล้วคุณลองไปคุยกับเขา ไปถามเขาดู ไม่ต้องถามต่อหน้าอาตมาก็ได้ เพราะเดี๋ยวจะไม่กล้าพูดความจริงต่อกัน คุณลงไปรอเขานะ ให้รออยู่ข้างล่างนั่นแหละ ถ้ายังมีข้อข้องใจสงสัยค่อยขึ้นมาถามอาตมา"
"ขอผมไปรอเขาที่อื่นไม่ได้หรือข้างล่างเหม็นออกจะตายไป เหม็นตาแก่ที่นั่งหลับตาอยู่นั่น" เขาหมายถึงอาจารย์ชิต ช่วงที่มานั่งรอนายขุนทองขึ้นมารายงานท่านเจ้าของกุฏิ เขาต้องทนนั่งดมกลิ่นร้ายกาจที่โชยมาจากกายของบุรุษนั้น
"งั้นก็ไปนั่งรอที่ศาลาริมแม่น้ำก็ได้ ที่นั่นอากาศดี แล้วบอกเด็กของอาตมา ให้พาแม่หนูเตยไปหาที่นั่น" ท่านแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นให้เขา
"งั้นผมไปละ คงจะเป็นคนเดียวกับภรรยาผม" เขาว่า แล้วจึงลุกออกไปโดยมิได้ทำความเคารพ
นายขุนทองนั่งรอฟังข่าวอยู่ครั้นเห็นเขาลงมาจึงถาม
"ท่านว่ายังไงบ้างฮะพี่" คนถามอยากรู้
"จะว่ายังไงกันไม่ใช่เรื่องของแก พาฉันไปรอที่ศาลาท่าน้ำ แล้วไปตามเมียฉันให้มาพบด้วย" คนถูกถามออกคำสั่ง นายขุนทองรู้สึกขัดเคืองกับถ้อยคำและกิริยาของอีกฝ่าย แรกเห็น เขาแอบชื่นชมในใจว่า "สุดหล่อ" ครั้นได้ฟังถ้อยคำ ได้เห็นกิริยาเย่อหยิ่งจองหองของชายหนุ่ม จึงประเมินค่าบุรุษนั้นในใจ หล่อแต่รูปจูบไม่หอม"
"หลวงลุงสั่งหรือ" เขาถาม หากไม่ใช่คำสั่งของท่านพระครู เขาจะไม่ยอมไป ด้วยนึกชังน้ำหน้าคนยโสโอหัง
"ทำไมต้องให้ท่านสั่ง ฉันสั่งไม่ได้หรือไง" ชายหนุ่มถามพาล ๆ
"ได้ คุณสั่งได้ แต่ผมไม่จำเป็นต้องทำ เพราะคุณไม่ใช่เจ้านายผม แล้วผมก็ไม่ชอบให้ใครมาวางอำนาจที่กุฏิหลวงลุงของผม ขนาดรัฐมนตรีเขายังไม่วางอำนาจเลย แล้วคุณเป็นใครไม่ทราบ" ความโกรธทำให้นายขุนทองเรียกความรู้สึกความเป็นผู้ชายกลับคืนมา สายตาดูถูกดูแคลนของอีกฝ่าย ทำให้เขาต้องปิดบังซ่อนเร้นความรู้สึกที่อยากจะเป็นเอาไว้ คนทั้งสองทุ่มเถียงกันหนักขึ้นและเสียงก็ดังขึ้น ๆ ตามลำดับ อาจารย์ชิตกำลังนั่งสมาธิอยู่มีอันต้องกำหนด "เสียงหนอ เสียงหนอ" อย่างแสนจะรำคาญ กระทั่งได้ยินนายสมชายเข้าห้ามทัพ
"เรื่องอะไรกัน เกรงใจอาจารย์เขาบ้างซี"
"ผู้ชายคนนี้ มาหาเรื่องกับผมก่อน" นายขุนทอง "ฟ้อง" ศิษย์วัดรู้สึกดีใจที่เพื่อนร่วมกุฏิใช้คำว่า "ผม" แทนที่จะเป็น "หนู" อย่างเคย ทั้งซุ่มเสียงก็ฟังดูเป็นผู้ชายเฉกเช่นคนอื่นเขา
"ใครหาเรื่องใคร ฉันใช้แกดี ๆ แกก็มาพาลเอากะฉัน" คนมาตามหาเมียเถียง
"เขาใช้อะไรเอ็งก็ไปทำเสียสิขุนทอง เขาเป็นแขกหลวงพ่อนะ" ชายหนุ่มเตือนสติคนอายุน้อยกว่า แล้วถามคนเป็นแขกว่า
"คุณใช้เขาทำอะไรหรือครับ"
"ฉันให้เขาช่วยพาไปที่ศาลาท่าน้ำแล้วก็ให้ตามเมียฉันไปที่นั่น" เห็นนายสมชายเข้าข้าง ชายหนุ่มยิ่งแสดงทีท่าว่าตัวเองสำคัญและยิ่งใหญ่
"ขอโทษนะครับ ภรรยาคุณชื่ออะไรครับ ประเดี๋ยวผมจะจัดการให้"
"ชื่อเตย แต่ฉันต้องการให้นายคนนี้จัดการ"
"เอาเถอะครับ เรื่องแค่นี้ผมทำให้ได้ อย่าคิดไปเอาชนะคะคานกับเขาเลยครับ เพื่อนผมเขาเหมือนโคนันทวิศาล ถ้าพูดดี ๆ เขาทำใจขาดไปเลย แต่ถ้าพูดไม่เข้าหู ให้เอาไปฆ่าเขาก็ไม่ยอมทำให้หรอกครับ" ศิษย์วัดชี้แจง
"งั้นก็ดีละ ฉันมันคนชอบเอาชนะเสียด้วย แกพาฉันไปเดี๋ยวนี้ ไม่งั้นฉันจะขึ้นไปฟ้องหลวงพ่อ" ชายหนุ่มขู่
"ผมไม่ไป" นายขุนทองปฏิเสธเสียงดังและเฉียบขาด นายสมชายสุดจะทานทน เพราะ "ขิงก็ราข่าก็แรง" เขาจึงจำต้องขึ้นไปเล่าให้ท่านพระครูฟัง ท่านจึงบอกนายสมชายว่า
"ลงไปบอกเจ้าขุนทองมันว่า ถ้าไม่พาไป ฉันจะเป็นคนพาไปเอง พาไปทั้งขาหัก ๆ ยังงี้แหละ" ท่านรู้ว่าแม้หลานชายจะมีทิฐิมากเพียงใดก็ยังพดพูดกันรู้เรื่อง แต่คนที่มีคุณสมบัติทางใจไปในทางลบนั้น ไม่มีวันพูดกันได้เลย
เมื่อนายสมชายลงมาบอกกล่าว นายขุนทองจึงพูดกับชายผู้นั้นว่า
"ตกลงผมยอมแพ้ เชิญทางนี้" เขาลุกขึ้นเดินนำ ความรักและห่วงใยในหลวงลุงมีมากกว่าความอยากเอาชนะเจ้าหนุ่มใจอกุศลผู้นี้ "ถ้าไม่ใช่เพราะข้าห่วงหลวงลุงละก็ อย่าหวังเลยว่าข้าจะยอมแพ้เอ็ง" ชายหนุ่มคิดอย่างคั่งแค้น ขณะพาว่าที่สามีนางสาวเตยเดินไปยังท่าน้ำ ส่งเขาแล้วจึงเดินไปยังโรงครัว เพื่อบอกกล่าวบุคคลผู้เป็นต้นเหตุแห่งความยุ่งยากที่เกิดขึ้น เขาไปพบนางบุญพาน้องสาวนางบุญรับ ผู้มีคุณสมบัติ "ปากคอเราะร้าย" ไม่แพ้พี่สาว นางอาสามาเป็นคนล้างจานชามและเป็นลูกมือให้แม่ครัว เช่น ช่วยหั่นผัก ปอกหอม ปอกกระเทียม เป็นต้น
"ป้าเห็นนังเตยอยู่แถวนี้บ้างไหม" ชายหนุ่มถาม
"ตะกี้มันมากินข้าว แหม พอถูกข้าสะกิดเข้าหน่อยหายหัวไปเลย สงสัยจะไปนั่งร้องไห้อยู่หน้าโบสถ์ละมั้ง เอ็งลองตามไปดูซิ"
"ป้าไปสะกิดอะไรเขาล่ะ" นายขุนทองถาม คนที่มาวัดนี้ใช่จะเป็นคนดีไปเสียหมด ก็ดูอย่างเจ้าหนุ่มคนนั้นและยายแก่คนนี้สิ น่าสงสารหลวงลุงแท้ ๆ ที่ท่านไม่มีโอกาสเลือกสรรคนดี ๆ มาช่วยงาน เขาเคยคิดเหมือนกัน คิดว่าจะเขียนป้ายไปติดไว้ที่หน้าประตูทางเข้า เขียนว่า "วัดนี้ต้อนรับเฉพาะคนดี" ก็ว่าจะลองไปปรึกษาหลวงลุงดูเหมือนกัน ขณะเขาหันหลังกลับเพื่อจะเดินไปยังพระอุโบสถ นางบุญพายังอุตส่าห์ส่งท้ายให้ได้ยินว่า
"สงสัยจะหลงรักเมียคนอื่น อีเตยจะหาพ่อให้ลูกได้กันคราวนี้แหละ" แม้จะโกรธเคืองกับวาจากล่าวร้ายเสียดสี หากนายขุนทองก็ระงับอารมณ์ได้ เขารู้ว่าหากไปมีเรื่องกับใครเข้า คนที่จะต้องเดือดร้อนมากที่สุดก็คือหลวงลุงของเขา อีกประการหนึ่งท่านก็อยู่ในภาวะอาพาธป่วยไข้ ควรหรือที่เขาจะหาเรื่องหักอกหนักใจไปให้
นางสาวเตยกำลังนั่งสมาธิ หล่อนพยายามระงับอารมณ์โกรธขึ้งที่มีต่อนางบุญพา เมื่อชั่วโมงที่ผ่านมานี้เอง ขณะที่หล่อนนั่งรับประทานอาหารกลางวันอยู่ในโรงครัว นางบุญพาก็ด่าหมาด่าแมวประชด หล่อนอยากจะลืมถ้อยคำเสียดสีเหล่านั้น แต่ยิ่งนั่งก็ยิ่งดูเหมือนเสียงของนางบุญพาจะดังก้องอยู่ในโสตประสาท เสียงที่หล่อนไม่ปรารถนาจะได้ยินได้ฟัง "อีพวกแม่หม้ายผัวทิ้ง" นางด่าบรรดาหมาแมวที่มายุ่มย่ามอยู่แถวนั้น เพื่อรอคอยกินเศษอาหาร พรางปรายตามาทางหล่อน ครั้นไม่เห็นปฏิกิริยาตอบโต้จึงดำเนินการด่าต่อไป "พวกมึงก็ดีแต่แร่ด ๆ ไปวัน ๆ เสร็จแล้วก็ท้องไม่มีพ่อ อีพวกตูดไว ไม่เลือกว่าไทยว่าแขก ขอให้เป็นตัวผู้เป็นดิ๊ก ๆ เข้าใส่"
"โกรธหนอ โกรธหนอ" หญิงสาวกำหนดอยู่ในใจ เกิดอาการคอแข็งกินข้าวไม่ลง ในที่สุดจึงลุกเดินออกมา ตั้งใจว่าจะไปนั่งสงบสติอารมณ์ที่หน้าโบสถ์ แต่แล้วหล่อนก็นั่งอยู่ไม่ได้เลยต้องลุกขึ้นเดินจงกรม ครั้นเห็นนายขุนทองเดินมามาหา ก็เอ่ยถาม
"พี่มีธุระอะไรกับหนูหรือเปล่า หรือว่าหลวงพ่อให้มาตาม" หล่อนลืมไปแล้วว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ เพราะขะมักขะเม้นกับการปฏิบัติจนลืมวันลืมเวลา
ผัวเอ็งมารออยู่ที่ศาลาท่าน้ำ รีบไปหาเขาเร็ว ๆ เข้า" บอกแล้วก็ตั้งท่าจะเดินกลับ นางสาวเตยเห็นผิดสังเกต เพราะทุกครั้งเขาจะพูดคุยต่อล้อต่อเถียงกับหล่อน ทว่าวันนี้ดูเขาเงียบขรึมผิดปกติ จึงถาม
"วันนี้พี่ไม่สบายหรือเปล่า"
"ข้าสบายดี รีบไปหาผัวเองก่อนเถอะ ประเดี๋ยวเขาจะพาลเอากะข้าอีกหรอก"
"แสดงเขาพูดไม่ดีกับพี่ใช่ไหมล่ะ หนูพอจะรู้หรอก ผู้ชายคนนี้นิสัยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หนูชักไม่อยากแต่งงานกับเขาแล้วละ" หล่อนพูดจากใจจริง ไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับการมาของเขา ช่วงเวลาแห่งการปฏิบัติ จิตใจของหล่อนละเอียดประณีตขึ้นตามลำดับ และบัดนี้ "ปัญญา" ได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาในการมองสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริงโดยไม่เอาตัณหา อุปาทานเข้าไปเกาะเกี่ยว
"แต่เอ็งก็ต้องแต่งนะ เพราะเอ็งท้องกับเขาแล้ว นี่ถ้าเอ็งไม่ท้องไม่ไส้ ข้าก็จะไม่สนับสนุนให้เอ็งแต่งกับเขาหรอก" เห็นหญิงสาวไม่เข้าข้างหนุ่มคนรัก นายขุนทองก็อารมณ์ดีขึ้น จึงแสดงความห่วงใยออกมา
"นั่นสิ แต่พูดก็พูดเถอะนะพี่ ถ้าหนูแต่งงานกับเขาแล้ว เขายังไม่เปลี่ยนนิสัย หนูก็จะเลิกกับเขา " หนูเลี้ยงลูกเองได้ นี่หนูพูดจริง ๆ นะพี่" หล่อนพอที่จะมองเห็นอนาคต การร่วมชีวิตกับผู้ชายคนนั้นคงจะไม่ยั่งยืน หากเขายังคงเป็นเช่นที่กำลังเป็นอยู่
"เอาเถอะ นั่นเป็นเรื่องของอนาคต อย่าเพิ่งไปคิดถึงมัน รีบ ๆ ไปหาเขาเถอะ ถ้าเอ็งไม่อยากให้ข้าต้องเดือดร้อน" พูดจบคนนำข่าวมาให้ก็เดินกลับไปยังกุฏิ นางสาวเตยตั้งสติกำหนด "ขวา-ซ้าย ขวา-ซ้าย" ไปตลอดทางทุกย่างก้าว กระทั่งถึงศาลาริมน้ำ
"เตย เตยจริง ๆ นั่นแหละ" คนที่คอยอยู่ลุกเดินเข้ามาหา ครั้นถึงตัวก็เข้าโอบกอด ผู้หญิงท้องดูเปล่งปลั่งสดใส จึงดูสะสวยไปทั้งร่าง
"พี่เมธอย่าทำยังงี้ นี่มันในวัดในวานะ" นางสาวเตยว่า พลางแกะมือคนรักออกจากการโอบกอด
"ในวัดที่ไหนกัน นี่มันนอกวัด นั่งไงประตู เขาชี้ไปที่ประตูที่เขาเดินออกมาสู่ศาลาแห่งนี้
"ถึงยังงั้นก็เถอะ ฉันกำลังเข้ากรรมฐาน พี่จะมาทำยังงี้กะฉันไม่ได้ คำว่า "กรรมฐาน" ไม่เคยผ่านหูนายสุเมธ เขาจึงคิดอกุศลกับหล่อน
"อ้อ เดี๋ยวนี้เธอรังเกียจพี่เสียแล้วหรือ ทีแต่ก่อนไม่เห็นเป็นนี่นา คงเจออะไรดี ๆ เข้าล่ะซี กับสมภารหรือกับลูกศิษย์ล่ะ"
"พี่เมธ! หญิงสาวเรียกชื่อคนรักด้วยเสียงเกือบเป็นตะโกน
"พี่อย่าเอานรกมาให้ฉันได้ไหม พี่รู้หรือเปล่าว่าพูดอะไรออกมา หลวงพ่อท่านรู้นะ พี่จะพูดจะคิดยังไงท่านรู้หมดนั่นแหละ"
"อ้อ นี่เธอกำลังจะบอกพี่ว่าเขาเป็นผู้วิเศษงั้นซี" นายสุเมธพูดด้วยมีจิตริษยาในท่านพระครู
"ไม่ใช่เขานะ พี่ต้องพูดว่า "ท่าน" ถึงจะถูก นี่ฉันพูดจริง ๆ นะว่าท่านรู้ ท่านบอกว่าท่านไม่ได้เป็นผู้วิเศษ แต่ท่านก็รู้ ฉันคิดอะไร พูดอะไรกับใครท่านก็รู้หมด" แล้วหล่อนจึงเล่าเรื่องราวให้เขาฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ด้วยความมั่นใจว่าเขาจะต้องเกิดศรัทธาปสาทะบ้างไม่มากก็น้อย หากก็ต้องผิดหวังเมื่อนายสุเมธพูดว่า
"โธ่เอ๊ย จ้างพี่ก็ไม่เชื่อ อะไรจะเก่งถึงปานนั้น พี่ว่าเดาเก่งเสียมากกว่า" นางสาวเตยคร้านจะพูดต่อ "ปัญญา" ทำให้หล่อนมองชายคนรักอย่างทะลุปรุโปร่ง ชายผู้นี้ "มืดบอด" จนไม่ยอมรับว่าแสงสว่างมีอยู่ในโลก!
"ตกลง ฉันจะยังไม่กลับนะ อยากอยู่ให้สบายใจไปอีกซักสีห้าวัน" หญิงสาวพูดจากใจจริง
"อ้อ อยู่มาร่วมยี่สิบวันยังไม่พอใจหรือ สมภารวัดนี้คงเสน่ห์แรงซีนะ เธอถึงได้อยากจะอยู่ต่อ" วจีทุจริตพรั่งพรูออกมาจากมโนทุจริต นางสาวเตยสุดจะทนฟัง หล่อนรู้ว่า หากขืนดื้อดึงอยู่ตอไปก็รังแต่จะทำให้ผู้ชายคนนี้ยิ่งบาปหนักหนามากขึ้น ถึงอย่างไรเขาก็ได้ชื่อว่าเป็นพ่อของลูกในท้อง การจะทำให้เขาต้องมืดมนมากไปกว่านี้หาควรไม่
"ตกลง กลับก็กลับ งั้นให้ฉันไปลาหลวงพ่อก่อนนะ มาอาศัยข้าวน้ำท่านตั้งหลายวัน ต้องไปกราบขอบคุณท่าน"
"เธอขึ้นไปคนเดียวนะ พี่จะรออยู่ข้างล่าง อ้อ ชวนเจ้ากระเทยนั่นขึ้นไปเป็นเพื่อนด้วย" ชายหนุ่มพูด เขารู้สึกไม่ชอบท่านเอามาก ๆ ถึงกับไม่อยากขึ้นไปพบปะ อันที่จริง "กระแสบาป" ของเขาไม่อาจต้าน "กระแสบุญ" ของท่านได้ต่างหากเล่า
ครู่ใหญ่ ๆ นายขุนทองก็นำนางสาวเตยขึ้นมาพบท่านเจ้าของกุฏิ นายสมชายตามขึ้นมาด้วย เพราะไม่อยากอยู่ดูหน้าชายคนนั้น อาจารย์ชิตรู้ว่าเขาคงจะรังเกียจ จึงเลี่ยงออกไปเดินจงกรมที่หน้าโบสถ์ ชั้นล่างของกุฏิจึงมีนายสุเมธนั่งรออยู่อย่างกระสับกระส่าย
กราบท่านพระครูแล้ว นางสาวเตย ก็นั่งร้องไห้กระซิก ๆ "ร้องไห้ทำไมอีกล่ะ เขามารับแล้วไม่ใช่หรือ" ท่านถามอย่างปรานี
"หนูไม่อยากไปค่ะหลวงพ่อ อยู่ที่นี่สบายอกสบายใจดีเหลือเกิน ถึงจะถูกยายบุญพาว่ากระทบกระเทียบหนูก็ทำใจได้ ดีเสียอีกจะได้ทำแบบฝึกหัดไปในตัว" หล่อนพรรณนา
"กลับไปเถอะหนู ไปแต่งงานแต่งการให้เป็นเรื่องเป็นราว พ่อแม่เขาจะได้ไม่ต้องอับอายขายหน้า เอาเถอะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ส่วนอะไรมันจะเกิดขึ้นภายหลังก็ค่อยว่ากันใหม่" ท่านเห็นกฎแห่งกรรมของคนคู่นี้แล้วว่าจะอยู่กันไม่ยืดเพราะ "ธรรมไม่เสมอกัน"
"แต่หนูสังหรใจค่ะหลวงพ่อ สังหรณ์ใจว่าคงจะอยู่กันไม่ยืด หลวงพ่อมีความเห็นอย่างไรคะ" หล่อนถามเพราะรู้ว่าท่านต้อง "รู้"
"ในตอนนี้หลวงพ่อยังไม่มีความเห็นอะไร แต่ถ้าต่อไปในภายภาคหน้า หากหนูมีปัญหาอะไรจะปรึกษาก็มาหาหลวงพ่อได้ หลวงพ่อยินดีรับปรึกษาโดยไม่คิดมูลค่า" ท่านตั้งใจพูดตลกเพื่อคลี่คลายบรรยากาศที่แสนจะเคร่งเครียดให้คลายความเครียดลง
"เอาละ ในฐานที่หนูจะมีคู่ หลวงพ่อก็จะพูดถึงหลักธรรมของคู่ชีวิตให้ฟัง เพื่อหนูจะได้จดจำเอาไว้ประพฤติปฏิบัติ หลักธรรมของคู่ชีวิต คือธรรมที่ทำให้คู่สมรสมีชีวิตสม่ำเสมอกลมกลืนกัน อยู่ครองกันยืดยาว เราเรียกธรรมนั้นว่า "สมชีวิธรรม ๔" ซึ่งได้แก่ สมสัทธา คือมีศรัทธาเสมอกัน สมสีลา - มีศีลเสมอกัน สมจาคา - มีการเสียสละเสมอกัน และ สมปัญญา - มีปัญญาเสมอกัน คู่สมรสใดมีธรรมทั้ง ๔ นี้เหมือนกัน ก็จะอยู่ด้วยกันยืด แต่ถ้าคนหนึ่งมีศีล คนหนึ่งทุศีล ก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ จริงไหม เพราะศีลไม่เสมอกัน ข้ออื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกันนี้" คำสอนของท่านพระครูทำให้นางสาวเตยสรุปได้ในเดี๋ยวนั้นว่าหล่อนกับนายสุเมธไม่มี "ธรรม" เสมอกันสักประการเดียว ไม่ว่าจะเป็น ศรัทธา ศีล การเสียสละ หรือ ปัญญา!
"หลวงพ่อคะ หนูขอพรให้ลูกในท้องด้วยค่ะ" เมื่อพูดเรื่อง "ผัว" แล้วทำให้หล่อนไม่สบายใจ จึงเปลี่ยนมาพูดถึง "ลูก" แทน
"หลวงพ่อขออวยพร ขอให้นักปราชญ์มาเกิดนะ แต่หนูก็ต้องทำให้พรนั้นสัมฤทธิ์ผลด้วย โบราณเขาสอนไว้ ถ้าเรือนสกปรก สัตว์นรกจะมาเกิด ถ้าเรือนสะอาด นักปราชญ์มาเกิด เรือนในที่นี้ก็หมายถึงเรือนกาย เรือนวาจา และเรือนใจ หรือจะหมายถึงที่อยู่อาศัยก็ได้ ถ้าเรามีกาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์ คนที่เขาจะมาเกิดกับเราก็ต้องมาจากที่ดี แต่ถ้าเรือนสกปรก แน่นอนเหลือเกินว่า ผู้ที่จะมาเกิดนั้นจะต้องมาจากนรก เราจะรู้ได้เลยว่าลูกเรานี่เป็นนักปราชญ์หรือเป็นสัตว์นรกมาเกิด
ถ้าใครมีลูกที่มาจากนรกนะ เชื่อเถอะพ่อแม่หาความสุขไม่ได้เลย เพราะเขาจะเถียงพ่อแม่คำไม่ตกฟาก แล้วก็ขยันหาเรื่องเดือนร้อนมาให้ แต่ถ้าเป็นนักปราชญ์มาเกิด ก็จะทำให้พ่อแม่สุขสบายทั้งกายทั้งใจ แล้วก็จะนำชื่อเสียงเกียรติยศมาสู่วงศ์ตระกูล
หนูหมั่นรักษากายวาจาใจให้สะอาดหมดจดด้วยการหมั่นเจริญกรรมฐานนะหนูนะ แล้วหนูจะประสบความสุขความเจริญในชีวิต เอาละ กลับไปได้แล้ว ประเดี๋ยวคู่รักเขาจะรอนาน" ท่านพูดเพราะ "รู้" ว่านายสุเมธกำลังนั่งด่าท่านในใจ ท่านยังรู้อีกว่าไม่นานนักหรอกที่คนคู่นี้จะต้องเลิกร้างกันไป และต่างก็จะพบกับคนที่มีธรรมเสมอกับตน คือมีคุณสมบัติทางใจเหมือน ๆ กัน...
เป็นวันที่อาจารย์ชิตมาอยู่วัดป่ามะม่วงครบเดือนพอดี เขาตื่นนอนตอนตี ๔ เช่นเคย ไหว้พระสวดมนต์แล้วก็เริ่มเดินจงกรมอยู่ภายในกุฏิเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง จากนั้นจึงกำหนดนั่ง รู้สึกจิตตั้งมั่นได้เร็วกว่าทุกครั้ง อาการพอง-ยุบ ชัดเจนเป็นจังหวะ แม้จะรู้สึกปวดที่กกหูข้างขวา หากก็สามารถใช้สติข่มเวทนาได้ บัดนี้เขาไม่ต้องตั้งนาฬิกาปลุก เพราะจิตสามารถรู้ได้เองว่าถึงเวลาที่กำหนดแล้วหรือยัง เป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นได้แต่เฉพาะกับผู้ที่ฝึกจิตไว้ดีแล้วเท่านั้น
อีกสิบห้านาทีจะครบชั่วโมง บุรุษสูงวัยรู้สึกปวดที่แผลเป็นกำลัง ปวดราวกับจะไม่สามารถทานทนได้ น้ำเหลืองไหลออกมามากผิดปกติ จนเสื้อที่สวมอยู่เปียกขึ้น แล้วยังไหลเลยไปเปียกกางเกงอีกด้วย ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ทรมานนั้น เขารวบรวมสติตั้งจิตอธิษฐาน
"สาธุ ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และบารมีของท่านพระครูเจริญแห่งวัดป่ามะม่วง หากทุกขเวทนาที่ข้าพเจ้ากำลังได้รับอยู่นี้ มีสาเหตุมาจากกรรมที่ข้าพเจ้าได้เคยทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นชาตินี้หรือในอดีตชาติ ขอให้ข้าพเจ้าสามารถระลึกนึกย้อนไปถึงกรรมนั้นได้ เพื่อจะขออโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร ขอให้ข้าพเจ้าจงหมดเวรกรรมในชาติปัจจุบันด้วยเทอญ"
สิ้นคำอธิษฐาน ภาพยนตร์แห่งอดีตที่ตัวเขาเป็นผู้แสดงก็ฉายชัดขึ้นในมโนภาพ ผู้ชายอายุสามสิบกำลังขะมักเขม้นเรียนวิชาที่อาจารย์กำลังสอน คนคนนั้นคือตัวเขาเอง เมื่อสามสิบปีที่แล้วเขาได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ประเทศฟิลิปปินส์ ในสาขาวิชาการเกษตร ในหลักสูตรมีวิชา "วิธีการฆ่า" รวมอยู่ด้วย และในการเรียน นักเรียนก็ต้องลงมือฆ่าสัตว์กันคราวละหลาย ๆ ตัว สัตว์ที่จะนำมาเป็นอาหาร เช่น เป็ด ไก่ หมู และ วัว
เขาจำได้ว่ากว่าจะจบหลักสูตร ได้ฆ่าสัตว์เหล่านี้ไปนับร้อย ๆ ชีวิต โดยการใช้มีดปลายแหลมแทงที่บริเวณคอ ผลกรรมอันนี้จึงทำให้เขาเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โชคยังดีที่เขาไม่ได้นำวิชานี้มาเปิดสอนนักศึกษาในเมืองไทย มิฉะนั้นก็คงก่อกรรมทำเข็ญมากกว่านี้
เมื่อภาพยนตร์แห่งอดีตฉายจบลง เขาจึงตั้งจิตอธิษฐานแผ่เมตตาและอุทิศส่วนกุศลให้แก่สัตว์ที่ตนเคยฆ่า และคงจะได้ผล เพราะเขาได้ยินชัดเจน....เสียงที่ก้องอยู่ในโสตประสาทว่า "อโหสิ อโหสิ อโหสิ สาธุ อนุโมทามิ"
สิ้นเสียงของเจ้ากรรมนายเวร อาการปวดแผลหายวับไปราวกับไม่เคยรู้สึกเจ็บปวดเช่นนี้มาก่อน จิตของบุรุษสูงวัยรับรู้ว่าหมดเวลาของการนั่งแล้ว เขาจึงกำหนดลืมตา เอมือคลำที่ใต้กกหูข้างขวาก็ไม่ปรากฏว่ามีแผล แถมเสื้อผ้าที่เปียกชื้นก็แห้งสนิท ไม่มีกลิ่นชวนให้ขยะแขยงใด ๆ หลงเหลืออยู่ อารามดีใจเขาส่งเสียงเรียกนายสมชายและนายขุนทองดังลั่นกุฏิ
"สมชาย ขุนทอง มานี่หน่อย นายขุนทองเข้ามาก่อนเพราะอยู่ใกล้ ส่วนนายสมชายนั้นเมื่อไม่ได้ทำหน้าที่หิ้วปิ่นโตตามหลังท่านพระครูในเวลาที่ท่านออกบิณฑบาต จึงถือโอกาสนอนตื่นสาย และไม่ได้ยินเสียงเรียกของบุรุษวัยหกสิบ
"อาจารย์เรียกหนูเหรอฮะ" ชายหนุ่มถาม
"ถูกแล้ว ช่วยขึ้นไปเรียนให้หลวงพ่อทราบหน่อยว่าผมมีธุระของพบด่วน"
"ฮะ แต่หนูขออนุญาตล้างหน้าแปรงฟันก่อนได้ไหมฮะ" เขาต่อรองและแล้วก็ต้องเปลี่ยนใจเมื่อเห็นท่าทางรีบร้อนของอีกฝ่าย "ตกลงฮะ หนูจะขึ้นไปเรียนท่านเดี๋ยวนี้" เขาหายขึ้นไปอึดใจหนึ่งก็ลงมา
"หลวงลุงบอกให้ขึ้นไปได้เลยฮะ" อาจารย์ชิตจึงขึ้นไปกราบท่านพระครูสามครั้งอย่างสำนึกในบุญคุณ เขาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ท่านเจ้าของกุฏิฟัง รู้สึกปีติจนน้ำใส ๆ คลอหน่วยตาทั้งสอง
"อาตมาขออนุโมทนา โยมหมดเวรหมดกรรมแล้ว กรรมเก่าชดใช้แล้ว กรรมใหม่ก็อย่างสร้างอีก นี่อาตมาหมายเฉพาะกรรมชั่วนะ อย่าไปสร้างอีก ถ้าจะสร้างก็ขอให้เป็นกรรมดี เข้าใจหรือเปล่า"
"เข้าใจครับ ผมเข็ดแล้วครับหลวงพ่อ เข็ดจริง ๆ ไม่นึกเลยว่าเวรกรรมจะให้ผลทันตาเห็นในชาตินี้ ผมลืมไปสนิทเลยครับว่าได้ทำกรรมนี้เอาไว้ ก็มันผ่านมาตั้งสามสิบปีแล้วนี่ครับ" บุรุษสูงอายุว่า
"นั่นสิ อย่าว่าแต่สามสิบปีเลย แค่ผ่านไปเมื่อวานบางคนก็ยังลืมเสียแล้ว จริงไหม"
"จริงครับ แต่หลวงพ่อครับ ผมสงสัยเหลือเกินว่าทำไมแผลจึงหายเร็วนัก ตอนเริ่มนั่งสมาธิผมยังปวดแทบจะทนไม่ไหว แต่บทจะหายก็หายไปโดยไม่ทิ้งร่องรองอะไรไว้ แม้แต่กลิ่นก็ไม่มีเหลือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นครับ"
"ก็อาตมาเคยบอกแล้วไม่ใช่หรือว่า โรคกรรมนั้นไม่เหมือนกับโรคทั่ว ๆ ไป ถ้าเจ้ากรรมนายเวรเขายังอาฆาต หมอก็รักษาให้หายไม่ได้ แต่พอเขาอโหสิ โรคก็หายไปเอง อย่าไปสงสัยเลย เป็นเรื่องของ "กรรมวิสัย" น่ะ พระพุทธองค์ท่านตรัสห้าม เพราะเป็นอจินไตย เรื่องนี้อาตมาเคยพูดไปครั้งหนึ่งแล้ว โยมคงจำได้"
"ครับจำได้ ถ้าเช่นนั้นผมเห็นจะต้องเลิกสงสัย เพราะเดี๋ยวนี้ "เป็นผู้มีส่วนแห่งความบ้า" ดังที่พระพุทธองค์ตรัส" เขายิ้มทั้งน้ำตา
"เอาละ ใกล้เวลาอาหารเช้าแล้ว ไปเตรียมล้างหน้าล้างตากันก่อน เดี๋ยวอาตมาก็จะลงไปสรงน้ำเหมือนกัน"
"แล้วหลวงพ่อไม่ปวดขาหรือครับ เวลาเดินขึ้นเดินลงน่ะครับ"
"ปวดก็ต้องทนเอา นี่ก็โรคกรรมเหมือนกัน แต่อาตมาลงวันละครั้งเท่านั้น ตอนเย็นก็งดสรงน้ำ ใช้เช็ดตัวแทน" อาจารย์ชิตกำลังจะลงมาข้างล่าง นายสมชายก็เดินออกมาจากห้องพอดี เห็นท่าทางสดชื่นเบิกบานของอีกฝ่ายจึงเอ่ยทัก
"มาหาหลวงพ่อแต่เช้าเลย มีอะไรพิเศษหรือครับ"
"ผมหมดเวรหมดกรรมแล้ว ดูสิแผลที่กกหูก็หายสนิทเลย แถมไม่มีกลิ่นน่ารังเกียจด้วย ต้องขอขอบใจสมชายกับขุนทองที่ช่วยดูแลผมอย่างดี ต่อไปนี้ผมจะเดินไปรับประทานอาหารที่โรงครัวเอง ไม่ต้องลำบากเอามาให้ผม ขอเริ่มตั้งแต่มื้อนี้เลย" คนหายป่วยพูดจ้อย ๆ
"ผมขอแสดงความยินดีด้วยนะครับ" ศิษย์วัดแสดงมุทิตาจิต เมื่อเห็นเขาพ้นทุกข์พ้นร้อน
"งั้นเดี๋ยวคุณล้างหน้าล้างตาแล้ว จะได้ไปนำอาหารมาถวายหลวงพ่อ ขออนุญาตให้ผมไปช่วยยกด้วยคนนะ ตอนนี้ผมไม่มีกลิ่นน่ารังเกียจแล้ว" คนสูงวัยอาสา อยากทำหน้าที่นี้มานาน นับตั้งแต่ท่านพระครูได้รับอุบัติเหตุออกบิณฑบาตไม่ได้ แต่เมื่อนึกถึงกลิ่นกายที่ไม่พึงปรารถนาของตน ก็ต้องอดใจไว้
"หลวงพ่อจะลงเดี๋ยวนี้เลยหรือเปล่าครับ ผมจะได้ช่วยประคองไป" นายสมชายจึงตอบแทนท่านพระครูว่า
"คงไม่ต้องมั้งครับอาจารย์ ขนาดผมจะช่วยท่านก็ยังไม่ยอม บอกเดี๋ยวจะชดใช้กรรมไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็ต้องตามใจท่าน" ศิษย์วัดอดกระแนะกระแหนเสียมิได้
"เอาละ ๆ อย่ามัวพูดมากอยู่เลย จะทำอะไรก็รีบ ๆ ไปทำซะ ฉันจะใช้เวลาตอบจดหมายอีกสักสองสามฉบับแล้วจึงจะลงไปล้างหน้า จะได้ไม่ต้องแย่งกันใช้ห้องน้ำ" ชายหนุ่มจึงลงมาทำธุระที่ห้องน้ำใต้บันได อาจารย์ชิตกราบท่านพระครูสามครั้ง แล้วจึงตามลงมา ครั้นเห็นนายขุนทองกำลังเก็บที่นอนให้ตน จึงรีบเข้าไปช่วย
"ขอโทษที ผมรีบขึ้นไปหาหลวงพ่อ เลยยังไม่ทันได้เก็บที่หลับที่นอนให้เรียบร้อยเสียก่อน"
"ไม่เป็นไรฮะ อาจารย์คงมีเรื่องด่วนกับหลวงลุงใช่ไหมฮะ" คนถามอยากรู้
"ก็ด่วนเหมือนกัน แต่เรียบร้อยแล้ว ผมเพียงแต่จะไปกราบเรียนท่านว่าผมหายแล้ว คุณดูนี่ซี แผลใต้กกหูข้างขวาผมหายสนิทเลย อัศจรรย์เหลือเกิน" พูดพร้อมกับเอียงหน้าให้เขาดูตรงที่เคยมีแผล
"อุ๊ยจริง ๆ ด้วย แล้วกลิ่นก็หายไปด้วย อาจารย์ไปทำยังไงหรือฮะ"
"ผมก็ปฏิบัติตามที่หลวงพ่อท่านแนะนำ เป็นเพราะบารมีของท่านแท้ ๆ เทียวที่ทำให้ผมหายจากโรคร้าย เหมือนตายแล้วเกิดใหม่เลยนะนี่"
"งั้นอีกไม่นานอาจารย์ก็คงกลับไปอยู่บ้าน ใช่ไหมฮะ หนูคงคิดถึงอาจารย์แย่เลย เมื่อพูดถึงบ้าน อาจารย์วัยหกสิบรู้สึกคิดถึงภรรยาและลูก ๆ ขึ้นมาทันที ความขุ่นข้องหมองใจที่เคยมีต่อพวกเขาพลันมลายไปสิ้น
"ผมก็คงคิดถึงที่นี่เหมือนกัน โดยเฉพาะหลวงพ่อ"
"งั้นอาจารย์ก็อย่าเพิ่งกลับซีฮะ อยู่ไปอีกซักเดือนสองเดือน" ชายหนุ่มชวนให้เขาอยู่ต่อ
"ผมตั้งใจจะอยู่จนกว่าหลวงพ่อจะหายเป็นปกติ อยากช่วยแบ่งเบาภาระของท่าน เพื่อทดแทนบุญคุณที่ท่านชุบชีวิตใหม่ให้กับผม หลังจากนั้นก็ว่าจะกลับไปเยี่ยมบ้านสักพัก ใกล้เข้าพรรษาจะกลับมาบวชที่วัดนี้" ผู้สูงอายุวางแผนชีวิต
"หนูขออนุโมทนาด้วยฮ่ะ แล้วก็ดีใจที่มีคนมาช่วยงานหลวงลุง ห้องน้ำว่างแล้ว เชิญอาจารย์เถอะฮ่ะ" เมื่ออาจารย์ชิตหายเข้าไปในห้องน้ำ นายขุนทองก็จัดการกวาดถูกุฏิชั้นล่างจนสะอาดสะอ้าน ส่วนชั้นบนเป็นหน้าที่ของนายสมชาย เพราะแบ่งงานกันแล้ว
"ขุนทอง วันนี้เอ็งไม่ต้องไปช่วยข้ายกสำรับของหลวงพ่อนะ อาจารย์เขาจะจัดการเอง" นายสมชายลงมาบอกกล่าว
"ก็ดีซีพี่ แบบนี้ขุนของก๊ด ส.บ.ม."
"อะไรของเอ็งวะ ส.บ.ม. อะไร" ศิษย์วัดไม่รู้เรื่อง
"วุ๊ย พี่นี่เช้ยเชย ส.บ.ม. ก็ย่อมาจาก สบายมาก ไง" หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดเฉลย อาจารย์ชิตออกมาจากห้องน้ำและเช็ดหน้าตาแห้งแล้ว นายสมชายจึงเอ่ยชวน
"ไปกันหรือยังครับ"
"แล้วขุนทองล่ะ" บุรุษสูงวัยถาม
"สองคนก็พอฮ่ะ" หนูจะจัดถ้วยจัดจานขึ้นไปก่อน" เขาตอบ คนทั้งสองจึงเดินมุ่งหน้าไปยังโรงครัว เพื่อนำภัตตาหารมาถวายท่านพระครู
หลังอาหารเช้า อาจารย์ชิตและนายสมชาย ก็ขึ้นไปช่วยงานท่านเจ้าของกุฏิอย่างเคย จดหมายเพิ่มจำนวนมากขึ้นในแต่ละวัน และคนที่เขียนมาล้วนแต่ขอให้ท่านช่วยแก้ปัญหา ช่วยดับร้อนผ่อนทุกข์ บ้างก็พรรณนาถึงความคับแค้นใจที่สามีไปมีหญิงอื่น ไม่มีสักฉบับเดียวที่ท่านอ่านแล้วจะเกิดความชุ่มชื่นระรื่นจิต ด้วยไม่มีใครเขียนมาบอกว่า "หนูมีความสุขแล้ว หนูรวยแล้ว สามีหนูดีแล้ว ลูกหนูดีแล้ว หนูไมมีปัญหาใด ๆ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจเหมือนคนอื่นเขา เพราะลูกก็ดี ผัวก็ดี คนใช้ก็ดี" ท่านอยากจะได้รับจดหมายในทำนองนี้บ้าง หากก็ไม่มีเลย เพราะถ้าเขามีความสุขกันแล้ว เขาก็จะไม่นึกถึงท่าน คนที่จะคิดถึงท่านก็คือ คนมีทุกข์ คนมีปัญหา!
ภิกษุหนึ่งรูปกับฆราวาสสองคน เพิ่งจะช่วยกันตอบจดหมายไปได้ฉบับเดียว นายขุนทองก็ขึ้นมารายงาน
"หลวงลุงฮะ ท่านรัฐมนตรีมาขอพบฮะ"
"รัฐมนตรีไหนล่ะ" ท่านถาม เพราะวัดนี้มีรัฐมนตรีมาหลายคน อดีตรัฐมนตรีบ้าง รัฐมนตรีคนปัจจุบันบ้าง รัฐมนตรีในอนาคตบ้าง โดยเฉพาะประเภทหลังมีมากที่สุด เพราะใคร ๆ ก็ฝันอยากจะเป็นรัฐมนตรีกันทั้งนั้น
"คนที่เคยมาเลี้ยงเพลเมื่อวันที่หลวงลุงไปเผาศพป้าเน้นน่ะฮะ" หลานชายตอบ นายสมชายรีบแย้งว่า
"ไม่ใช่ป้าเน้ยหรอกขุนทอง ป้านวลศรีต่างหาก คนชื่อเน้ยเป็นลูกสาว เอ็งไปแช่งเขาซะแล้ว ระวังบาปจะกินหัวเอ็ง"
"อ้าวไหงเป็นยังงั้นไปได้ ก็หนูไม่รู้จักตัว เคยได้ยินแต่ชื่อ เลยไม่รู้ว่าเป็นคนไหนเป็นแม่คนไหนเป็นลูก จะให้ลูกตายก่อนแม่ซะแล้ว
"แต่ความจริงยังอยู่ทั้งแม่ทั้งลูกนั่นแหละ ยังไม่มีใครตายสักคน" ศิษย์วัดว่า
"มี ก็ลูกเขยเขาไงล่ะ" คราวนี้คนที่แย้งคือท่านพระครู
"อ้าว ทำไมถึงได้กลับตาลปัตรยังงั้นล่ะ" เขาถามนายสมชาย
"เห็นหลวงพ่อบอกว่าเป็นเรื่องของกรรม ข้าก็ไม่ค่อยเข้าใจซักเท่าไหร่หร็อก เอ็งอยากรู้ก็ถามหลวงพ่อเอาเอง" ศิษย์วัดจัดการโยนกลองไปให้ท่านพระครู
"มัวเถียงกันอยู่นั่นแหละ เดี๋ยวรัฐมนตรีท่านก็คอยแย่ ลงไปเรียนท่านว่าข้าให้ขึ้นมาบ้างบนนี้" ท่านเจ้าของกุฏิ ออกคำสั่ง นายขุนทองจึงลงมาข้างล่างเพื่อเรียนให้รัฐมนตรีทราบ
"ถ้าเช่นนั้นผมจะลงไปข้างล่างก่อนนะครับ เผื่อท่านจะมีอะไรจะคุยกับหลวงพ่อเป็นพิเศษ" อาจารย์ชิตพูดอย่างคนมีมารยาท
"ไม่ต้องหรอกโยม ท่านเพียงแต่จะมาบอกว่าจะมาเลี้ยงเพลในวันคล้ายวันเกิดของคุณหญิง"
"จริงหรือครับ ทำไมหลวงพ่อทราบ"
"เดี๋ยวโยมคอยดูก็แล้วกันว่าจะเหมือนที่อาตมาพูดไว้หรือเปล่า" พอดีกับรัฐมนตรีขึ้นมาถึงพร้อมผุ้ติดตามซึ่งแต่งเครื่องแบบนายตำรวจยศพันเอก คนทั้งสองกราบท่านสามครั้ง "เจริญพรท่านรัฐมนตรี อาตมาต้องขอประทานโทษ ที่ต้องให้ขึ้นมาบนนี้ เด็กเขาคงเรียนให้ท่านทราบแล้วว่าเพราะเหตุใด" ท่านหมายถึงนายขุนทอง
"ครับ เขาบอกว่าหลวงพ่อตกบันไดขาหัก ทำไมหลวงพ่อไม่ไปหาหมอล่ะครับ"
"อาตมาไม่ชอบโรงพยาบาล ขึ้นชื่อว่า "โรง" อาตมาไม่อยากเข้าสักอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม โรงพยาบาล โรงพัก โรงศาล หรือโลงศพ" ท่านพูดแล้วหัวเราะ
"ผมก็ไม่ชอบครับ ไม่ชอบสี่โรงหลัง แต่โรงแรกชอบครับ นี่ก็กำลังจะเดินทางไปเชียงใหม่ ไปนอนโรงแรมที่นั่น" นายขุนทองยกถาดเครื่องดื่มขึ้นมาบริการ เป็นกาแฟร้อนส่งกลิ่นหอมฉุย
"ทำไมเอามาแค่สองถ้วยล่ะ ท่านมากันสามคนนะ" เจ้าอาวาสวัดป่ามะม่วงบอกหลานชาย
"หลวงลุงตาฝาดมั้งฮะ ท่านมากันแค่สองคนเท่านั้น ก็หนูเห็นกะตานี่นา สงสัยจะต้องเปลี่ยนแว่นใหม่แล้วละหลวงลุงเนี่ย"
"ตาข้าไม่ฝาดหรอกขุนทอง ไปชงกาแฟมาอีกถ้วยนึง แล้วไปบอกตุ๊กตาที่นั่งอยู่ในรถของท่านรัฐมนตรีมาที่นี่ บอกหลวงพ่อเชิญมาดื่มกาแฟก่อน" รัฐมนตรีสบตากับผู้ติดตามแล้วต่างก็ทำหน้างวยงง ก็อุตส่าห์ซ่อนแม่หนูคนนั้นไว้ในรถเบ๊นซ์ มีม่านลูกไม้ปิดกระจกอย่างมิดชิด เหตุไฉนท่านจึงมองเห็น มิหนำซ้ำรถก็จอดอยู่ลานวัดโน่น
"ทำไมหลวงพ่อทราบล่ะครับ" รัฐมนตรีและผู้ติดตามถามขึ้นพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
"ทำไมอาตมาจะไม่ทราบล่ะ" ท่านพระครูถามยอกย้อน
"เด็กของผู้กำกับเขา" รัฐมนตรีรีบโยนความผิดให้คนที่ทำหน้าที่ขับรถให้ ฝ่ายนั้นโยนกลับอย่างแยบยลด้วยการตอบว่า
"ครับ เด็กของผมเอง ผมเป็นคนเลือกสรรมาให้ท่าน แล้วท่านก็โปรดปรานมากเลยครับ เป็นวาสนาของเด็ก"
"ตอนนี้ ท่านรัฐมนตรีอายุเท่าไหร่" ท่านเจ้าของกุฏิถาม
"หกสิบเอ็ดครับ"
"แล้วแม่หนูคนนั้นล่ะ" พันตำรวจเอก รีบตอบแทนเจ้านายว่า
"สิบหกครับ อายุเท่ากันนะครับหลวงพ่อ เพียงแต่ตัวเลขสับที่กัน ๖๑ กับ ๑๖" คนตอบหวังเอาใจเจ้านาย
"แบบนี้ถ้าจะว่าเป็นลูกสาวก็คงจะอ่อนเกินไป เป็นหลานสาวกำลังพอเหมาะ ท่านเล่นข้ามสองรุ่นเลยนะ" ท่านพระครูสัพยอก
"โธ่หลวงพ่อครับ ผมเป็นคนไม่ชอบขัดใจใคร เขาให้อะไรมาก็ต้องรับไว้หมด ถ้าหลวงพ่อจะว่าก็ต้องว่าผู้กำกับเขานะครับ"
"เอาละ ๆ ไม่ต้องเถียงกัน ว่าแต่ว่า ที่มานี่มีธุระอะไรกับอาตมาหรือเปล่า"
"มีครับ คือคุณหญิงเขาให้มากราบเรียนหลวงพ่อว่า วันที่ ๓๑ เดือนนี้ เขาจะมาเลี้ยงเพลครับ วันครบรอบวันเกิดเขา ทุกปีก็เลี้ยงฉลองกันที่บ้าน มาปีนี้เขาอยากจะเปลี่ยนสถานที่ เขาบอกมาคราวนั้นแล้วติดใจ หลวงพ่อเทศน์เก่ง" พอดีกับนายขุนทองขึ้นมารายงานว่าสาวน้อยแรกรุ่นดรุณีไม่ยอมมา คงจะอับอายขายหน้าที่เป็นเมียคนอายุคราวปู่คราวตา เป็นเมียลับ ๆ เสียด้วย! "งั้นผมต้องกราบลาละครับ" รัฐมนตรีเอ่ยลาเพราะห่วงว่าสาวน้อยจะรอนาน นายขุนทองตามไปส่งถึงรถ ไม่ได้คิดจะประจบประแจงรัฐมนตรี แต่เพราะติดใจในความงามของสาวแรกรุ่น หนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดตั้งจิตอธิษฐานว่า
"เจ้าประคู้ณ ชาติหน้าฟ้าใหม่ขอให้ขุนทองสวยอย่างนี้บ้างเถิ้ด"
"คนสมัยนี้เขาให้ของกำนัลกันแปลก ๆ นะโยมนะ" ท่านพระครูพูดกับอาจารย์ชิต หลังจากรัฐมนตรีและผู้ติดตามลงไปแล้ว
"ครับ แล้วพวกข้าราชการสมัยนี้ก็เอาใจเจ้านายกันเก่งเหลือเกิน บางคนรู้กระทั่งวันเกิดของเมียน้อยนาย แต่ของเมียตัวเองกลับไม่รู้"
"ยังงี้ละมังอาตมาถึงได้ยินเขาแปลงกลอนของสุนทรภู่ให้เข้ากับยุคสมัย สุนทรภู่ท่านแต่งไว้ว่า "รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี" เขามาแปลงเสียใหม่เป็น "รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้เลียขาเลียแข้งตำแหน่งดี" ท่านเจ้าของกุฏิพูดยิ้ม ๆ



เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับเพื่อนๆที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ถวายสังฆทานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ปิดทองพระ รักษาอาการป่วยของผู้อื่นกับผู้ร่วมงาน และที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา ปล่อยชีวิตสัตว์มาโดยตลอด ถวายยาแก่ภิกษุ ขัดองค์พระ ถวายเทียน ให้ความรู้สมุนไพรเพื่อสุขภาพเป็นวิทยาทาน ที่ผ่านมาคุณแม่ได้ทำบุญหลายอย่างมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้ถวายสังฆทานและทำบุญสร้างอาคารผู้ป่วยและกฐินกับเพื่อนๆและให้อาหารเป็นทานแก่สรรพสัตว์กับเพื่อนๆและเพื่อนคนหนึ่งและบริวารของเพื่อนและครอบครัวของเพื่อนได้มีจิตเมตตาให้ทานและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ตลอดและเพื่อนได้เคยสวดมนต์เย็นกับคุณแม่และที่ผ่านมาได้ทำบุญสักการะพระธาตุทำบุญปิดทองชำระหนี้สงฆ์และไหว้พระและทำบุญตามกล่องรับบริจาคตามวัดต่างๆกับเพื่อนและตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย


ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ปิดทองพระ ปล่อยชีวิตสัตว์ถวายยาแก่ภิกษุ ไหว้พระตามวัดต่างๆ ขัดองค์พระ ให้ความรู้สมุนไพรในการดูแลสุขภาพเป็นทาน
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะ


เชิญร่วมบริจาคเพื่อบูรณะพระธาตุเจดีย์ประจำปีเกิดทั่วไทย
053341623

ขอเชิญร่วมสร้างมหากุศลยิ่งใหญ่ในการบูรณะที่พักสงฆ์ร้างให้เป็นวัด
089-2183130

ร่วมสวดพุทธคุณ(เสาร์ ๕) ณ วัดจอมคีรีชัย จ.แพร่ ส ๒๓๐๖๕๕ (วิทยุออนไลน์)


ผ้าป่า เพื่อสร้างประตู บันได และทาสี พระเจดีย์สุทธิธรรมานุสรณ์ (หลวงปู่ต้น สุทธิกาโม)
โทร. 083-6679990 <O </O


วัดพระธาตุแสงรุ้งขอเชิญร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี ปี ๒๕๕๕
080-791-5482


โครงการถวายมหาสังฆทาน 9 วัด ครั้งที่ 8 ณ มหาอารามในเมืองเชียงใหม่ (25 กรกฎาคม 55)
โทร. 081-8696068


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO