นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พฤหัสฯ. 25 เม.ย. 2024 11:33 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: อาทิตย์ 04 ม.ค. 2009 2:12 am 
ออฟไลน์
ภาพประจำตัวสมาชิก

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 14 ก.ย. 2008 6:00 am
โพสต์: 6586
ถาม
การปฏิบัติทุกอิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ผลปรากฏว่าลมหายใจไม่ปรากฏเลยผลปรากฏภายในทั้งรู้ทั้งเห็น สว่างแจ่มใสเบิกบานมาก เห็นภายในเป็นสายขาวบริสุทธิ์เท่าเส้นด้ายหลอดปรากฏชัดแจ้งเจตสิกไม่เคยปรุงจิตได้เลยแม้แต่ขณะหนึ่ง ปรากฏนานเช่นนี้นานได้ถึง ๗ วัน

ตอบ
โดยธรรมชาติแห่งการปฏิบัตินี้ เราจะกำหนดรู้ลงไปได้ว่า
๑. จิตคือตัวรู้
๒. เครื่องรู้ของจิต หมายถึง อารมณ์ของจิต มีลมหายใจ เป็นต้น

เมื่อจิตมีความรู้ สติมีเครื่องระลึก เช่นอย่างในปัญหานี้ จิตกำหนดเอาลมหายใจเป็นเครื่องรู้ และสติเอาลมหายใจเป็นเครื่องระลึกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น จิตตามลมหายใจเข้าออก จนกระทั่งลมหายใจ รู้สึกละเอียดลงไป

เมื่อลมหายใจละเอียดลงไปแล้ว ปรากฏว่าลมหายใจก็หายไป ร่างกายที่มีอยู่ก็หายไป แล้วปรากฏว่ามีจิตสงบ นิ่ง ใสสะอาดบริสุทธิ์ ในที่นี้ใช้คำว่า ขาวใส บริสุทธิ์ แล้วยังแถมว่ามีเป็นเส้นเหมือนด้ายหลอด ทีนี้เส้นด้ายหลอดนี้มันก็ตรงกับว่า กระแสจิตส่งออกไปไกล ก็มองเห็นแสงไปพุ่งไปไกล ตอนนี้จิตส่งกระแสอยู่ในภายนอก

ทีนี้ความรู้สึกมันหดรวมเข้ามาอยู่ภายใน คือ จิตอยู่ในจิต สายที่มันพุ่งไปเป็นเส้นด้ายไกล ๆ นั้นก็หายไป ก็เหลือแต่จิตนิ่ง สว่าง ขาวบริสุทธิ์ เป็นหนึ่ง ซึ่งในขณะนั้นจิตอยู่ใน อัปปนาสมาธิ ถ้าหากเป็นอัปปนาสมาธิในขั้นต้น จิตจะนิ่งใสสะอาดบริสุทธ์อยู่เฉย ๆ ความรู้มีแต่เพียงจิตสงบ นิ่ง มีความสว่างเท่านั้น อันนี้เป็นสมถะหรือเป็นอัปปนา สมาธิเกิดขึ้นในขั้นสมถะภาวนา แต่ถ้าหากว่าจิตได้ผ่านการพิจารณา หรือมีความสำคัญมั่นหมาย ได้พิจารณาอารมณ์ในแง่ต่าง ๆ มาแล้ว เมื่อจิตสงบลงไปในลักษณะแห่งอัปปนาสมาธิ แม้ว่าตัวคือร่างกายจะหายขาดไปตาม แต่จิตก็มีสิ่งที่รู้อยู่

บางครั้งปรากฏการณ์อาจจะเป็นในทำนองนี้ พอจิตสงบนิ่งลงไปแล้ว จิตจะแสดงอาการลอยออกจากร่าง แล้วมาลอยอยู่เหนือร่าง ส่งกระแสลงไปดูร่างที่ตนอาศัยอยู่ ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่มองเห็น อาจจะขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุพัง ยังเหลือแต่โครงกระดูกแล้วสลายตัวไปไม่มีอะไรเหลือ แม้แต่ผืนแผ่นดินที่อาศัยอยู่ก็ไม่ปรากฏในความรู้สึก มีแต่จิตดวงเดียวล้วน ๆ และในบางครั้ง ในเมื่อสิ่งที่มองเห็นคือ ร่างกายที่ปรากฏนั้นหายไป แม้แต่จิตอยู่ในลักษณะที่สงบนิ่งเป็นปกติอยู่ก็ยังมีปรากฏขึ้นให้รู้ คล้าย ๆ กับว่า มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมันผ่านเข้ามาวนรอบในจิต แต่จิตก็นิ่งเด่นอยู่เฉย อันนี้ไปตรงกับคำถามที่ว่า จิตขาวใสบริสุทธิ์ปรากฏชัดแจ้ง

เจตสิกไม่ปรุงจิต ในขณะที่จิตนั่ง เจตสิกไม่ปรุงจิต ตามคำถามของท่านผู้นี้ หมายถึงว่า จุดนี้มันเกิดมีศีล สมาธิ ปัญญา รวมเป็นหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า อริยมรรค มัคสมังคีประชุมลงเป็นหนึ่ง ยังปรากฏการณ์ก็คือ จิตดวงสงบ นิ่งสว่าง บริสุทธิ์สะอาด ไม่หวั่นไหวในสิ่งที่ผ่านเข้ามา อาจจะมีอะไรผ่านเข้ามาอย่างละเอียด ๆ จิตก็มองเห็นสิ่งนั้นอยู่ แต่ไม่มีอาการหวั่นไหวไปตาม ท่านผู้นี้จึงเรียกว่า เจตสิกไม่ปรุง หมายถึง จิตสงบนิ่งลง อริยมรรคประชุมพร้อมแห่งอริยมรรค ถึงแม้จะเป็นขั้นต้น ๆ ก็เป็นแนวทาง

ถาม
ปรากฏทั้งรู้ทั้งเห็นเท่ากับมองเห็นด้วยสายตาภายนอก

ตอบ
อันนี้เป็นเรื่องของธรรมดา ในเมื่อสิ่งใดปรากฏขึ้นมาแล้ว ก็ทั้งรู้ทั้งเห็น ถ้าหากความรู้ ความเห็นที่มันเกิดขึ้นในขณะที่ภาวนายังมีตัวปรากฏอยู่ ถ้าเกิดนิมิตขึ้นมาดูคล้ายมองเห็นด้วยสายตาแล้วก็รู้ด้วยใจ

เพราะฉะนั้น ท่านผู้นี้จึงว่าทั้งรู้ทั้งเห็นผู้รู้ด้วยใจ และมองเห็นด้วยสายตา อันนี้เป็นนิมิตที่เกิดขึ้นในขั้นต้น ในขณะที่จิตเป็นอุปจารสมาธิ ทีนี้ถ้าหากนิมิตเกิดขึ้นในขณะที่จิตสงบละเอียดจนกระทั่งจิตนิ่งเด่นเป็นหนึ่งแล้ว มีทุกสิ่งทุกอย่างผ่านเข้ามา จิตรู้เห็นอยู่ อันนี้เป็นนิมิตที่จิตรู้ด้วยจิตโดยตรง เพราะฉะนั้น นิมิตในขั้นต้น ขั้นอุคคหนิมิต จิตรู้คล้ายกับมองเห็นนิมิตนั้นด้วยตา ขั้นปฏิภาคนิมิต จิตรู้แล้วก็มองเห็นด้วยใจ เรียกว่า ตาใจ ระดับอุคคหนิมิตนี้ จิตทั้งรู้ทั้งเห็นด้วยใจ ทั้งมองเห็นด้วยตาเนื้อ แต่ไม่ได้หลับตา แต่ประสาทรู้เห็นทางตายังไม่ขาดไป แต่ถ้าอยู่ในขั้นปฏิภาคนิมิตแล้ว มีแต่จิตรู้เห็นทางเดียว จักษุประสาทไม่เกี่ยวข้อง พึงทำความเข้าใจอย่างนี้

ถาม
กำหนดจิตมีสติปกครองรักษาจิต อารมณ์เช่นนั้นก็มีผลแบ่งอารมณ์ภายนอก

ตอบ
อันนี้มันเป็นผลที่ผู้ปฏิบัติได้ฝึกฝนอบรมจิต ทั้งขั้นบริกรรมภาวนา ขั้นการพิจารณาธรรม จนสามารถทำให้จิตมีสติ เรียกว่ามีสติสัมปชัญญะ อาการอย่างนี้มักจะเกิดขึ้นกับจิตของท่านผู้ดำเนินการปฏิบัติตามหลักของมหาสติปัฎฐาน โดยอาศัยหลักกาย เวทนา จิตธรรมการพิจารณา ก็คือ การพิจารณาอาการ ๓๒ ในแง่อสุภกัมมัฎฐานบ้าง ในแง่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม บ้าง ๓๒ นี้เป็นเครื่องของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ

ในขณะที่เรากำหนดพิจารณาดูกาย คือ อาการ ๓๒ นี้ ความจริงเราตั้งใจแต่จะดูเรื่องของกาย แต่พร้อมกันนั้นเราจะรู้เรื่องของเวทนา ของจิต ของธรรมไปด้วย เราดูกาย เราก็รู้เวทนา มันเกิดที่กาย ความทุกข์ก็เกิดที่กาย และพร้อม ๆ กันนั้น จิตธรรม มันก็ปรากฏขึ้น เพราะจิตมันเป็นผู้รู้ แล้วก็ธรรมที่จะปรากฏเป็นสิ่งกวน เรียกว่า นิวรณ์ 5 เวทนา ก็คือ สุข ทุกข์ ที่เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ภูมิจิตของท่านผู้ดำเนินตามแห่งมาสติปัฎฐาน ๔ นี้ คือ ยึดเอากาย เวทนา จิต ธรรม เป็นเครื่องรู้ เครื่องเห็น เป็นเครื่องระลึกของสติ เมื่อจิตมีสติสัมปชัญญะดีแล้ว แม้อยู่ในสมาธิ ก็จะรู้จิตกับอารมณ์แยกกันออกคนละส่วน ในเมื่อออกจากสมาธิแล้วมาอยู่ปกติธรรมดา เช่นอย่างเราคุยกันอยู่เดี๋ยวนี้ ท่านผู้นั้นก็จะรู้สึกจิตภายในมีความสงบอยู่ แต่ส่งกระแสจิตมาทำงานภายนอกรับรู้อารมณ์ได้ ในบางครั้งคล้าย ๆ กับเรารู้สึกว่าเรามีใจ ๒ ดวง ดวงหนึ่งมันนิ่งอยู่ข้างใน ดวงหนึ่งมันทำงานอยู่ข้างนอก อันนี้เป็นธรรมชาติของจิตที่ผู้ฝึกฝนอบรมมาชำนิชำนาญ มีสติสัมปชัญญะพอสมควร แล้วจะได้ผลอย่างนี้

ถาม
การปฏิบัติแบบใดที่จะทำให้มีความรู้ของตนเฉพาะภายในพร้อมทั้งพูดคุยกับคนอื่น ๆ ได้

ตอบ
อันนี้ การปฏิบัติแบบใด อย่างไร คำถามนี้ตรงกับคำถามว่า ทำอย่างไรจิตจึงสงบเป็นสมาธิได้เร็ว และจึงจะเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงได้เร็วต้องการอยากจะเป็นให้เร็วต้องทำให้มาก ๆ อย่างที่ว่าวันหนึ่งทำ 3 ครั้ง ๆ ละ 1 ชั่วโมง รับรองว่าเป็นได้เร็ว

ถาม
เวลานั่งสมาธิ รู้สึกว่าเหมือนกายจะระเบิดออก แต่เป็นเฉพาะที่ฝ่ามือ จิตเย็นสบาย โปร่ง ลมหายใจเบาขึ้น ๆ ควรจะปฏิบัติอย่างไร

ตอบ
อันนี้เป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการปฏิบัติ พอเราตั้งใจปฏิบัติแล้วความเอาใจใส่ในกายของตัวเองมันเพิ่มมากขึ้น ความเอาใจใส่ในจิตของตัวเราเอง ความเอาใจใส่กายของตัวเองมันเพิ่มมากขึ้น ความเอาใจใส่ในจิตของตัวเราเอง ความเอาใจใส่ในกายของเราเอง และความเพ่งเล็งที่จะให้จิตสงบมากเท่าไร ความเหน็ดเหนื่อยหนักในกายก็ยิ่งมีมากขึ้น

ทีนี้การภาวนาที่จะข่มจิตให้สงบนี้ โดยมีความตั้งใจข่ม แล้วบังคับจิตให้มันโน้มไปใจทางสงบ บางทีเมื่อจิตสงบลงไปจริง ๆ แล้ว จะกลายเป็นสมาธิตัวแข็ง เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะภาวนาเพื่อให้กายเบา จิตเบากันจริง ๆ แล้วอย่าไปบังคับความรู้สึกเพียงแต่ควบคุมจิตให้อยู่กับคำบริกรรมภาวนาเท่านั้น เช่น อย่างภาวนาพุทโธนี้ นึกถึงพุทโธ ๆ ๆ สติสัมปชัญญะไม่ต้องถาม

เมื่อเรานึกถึงพุทโธ ๆ เอาพุทโธไว้กับจิต เอาจิตไว้กับพุทโธ สติสัมปชัญญะมาเองโดยอัตโนมัติ หน้าที่เพียงนึกถึงพุทโธ ๆ ด้วยความรู้สึกเบา ๆ และก็อย่าไปปรารถนาให้เกิดผลใด ๆ ทั้งนี้ เมื่อทำไปพอสมควรแล้ว ผลจะเกิดขึ้นมาเอง แต่ว่าต้องทำให้มาก ๆ หน่อยนะ ๒๐ นาที ๓๐ นาที ไม่พอ

ถาม
ทำไมเมื่อออกจากสมาธิแล้วจะมีความรู้สึกแปลก ๆ เกิดขึ้น ซึ่งคาดไม่ถึง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และความรู้ที่ออกจากสมาธิใหม่ ๆ พอจะเชื่อได้หรือไม่ ว่าเป็นความจริง

ตอบ
อันนี้เป็นธรรมชาติของจิตที่ฝึกหัดสมาธิติดต่อ การทำสมาธิแต่ละครั้งๆ บางทีอาจจะไม่เกิดความสงบและความรู้จริงเห็นจริง ผู้ปฏิบัติรู้สึกเหน็ดเหนื่อย โดยเปล่าประโยชน์ไม่ได้ผลอันใด แต่ถึงกระนั้น การกระทำนั้นก็สะสมกำลังไว้ทีละเล็กทีละน้อย

ธรรมะเป็นอกาลิโก ได้จังหวะเมื่อไรก็เกิดความรู้สึกแปลก ๆ ขึ้นมาเมื่อนั้น และบางครั้งก็เกิดขึ้นมาอย่างลอย ๆ บางครั้งก็อาศัยอดีตสัญญามากระตุ้น บางครั้งก็มีเหตุการณ์ในปัจจุบันมากระตุ้นให้เกิดความรู้ขึ้นมา อันนี้เป็นธรรมชาติของจิตของผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมสมาธิมาแล้วพอสมควร

ถาม
เมื่อต้องการจะหยุดทำสมาธิ คล้ายกับมีร่าง ๒ ร่าง เหมือนมีจิตแยกกันอยู่ควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป

ตอบ
เหตุการณ์ที่ว่านี้ จะเกิดขึ้นเป็นบางครั้งบางขณะ บางทีเราทำจิตสงบลง เราอาจจะมองเห็นตัวของเราอีกร่างหนึ่งแฝงขึ้นมา มีความรู้สึกว่าเรามีกาย ๒ กาย มีจิต ๒ จิต เพราะในขณะนั้นเรารู้สึกว่ากายของเราแยกออกไปอยู่ข้างนอก ความรู้สึกของเราจึงแยกออกเป็น ๒ ส่วน ในเมื่อเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นควรจะปฏิบัติอย่างไร อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม มันจะเป็น ๒ ร่าง หรือ ๓ ร่าง หรือ ๑๐ ร่าง ก็แล้วแต่สิ่งที่ปรากฏการณ์เกิดขึ้นนั้น เพราะผลที่เกิดจากการทำสมาธิ เมื่อจิตสงบลงไปสู่อุปจารสมาธิ กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก ถ้ามันเห็นภาพหรือรูปร่างอย่างอื่น ก็จะมองเห็นรูปของตนเองปรากฏขึ้น เมื่อจิตสงบเข้าจริงจังแล้วร่างที่ ๒ หรือจิตที่ ๓ จะหายไป จะมารวมอยู่ที่จิต ๆ เดียวคือ จิตของเรา เป็นเรื่องของธรรมดา เป็นทางผ่านของการทำสมาธิ ปัญหาสำคัญ อย่าไปเอะใจหรือไปตื่นกับเหตุการณ์เหล่านั้น ให้กำหนดรู้ที่จิตที่สงบอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าไปเอะใจกับสิ่งเหล่านั้น จิตจะถอนจากสมาธิ นิมิตที่มองเห็นจะหายไป

ถาม
ขั้นตอนของสมาธิที่เราปฏิบัติได้ จะสังเกตได้ด้วยปรากฏการณ์หรือระยะเวลาที่ปรากฏการณ์นั้นเกิด

ตอบ
ขั้นของสมาธิที่ปรากฏการณ์เกิดขึ้น ความเกิดขึ้นของสมาธิมีอยู่ ๒ ลักษณะ ลักษณะอย่างหนึ่งนั้น เมื่อเราบริกรรมภาวนาหรือกำหนดพิจารณาอะไรอยู่ก็ตามเมื่อจิตเกิดมีอาการเคลิ้ม ๆ ลงไปเหมือนจะนอนหลับ แล้วจิตก็สงบวูบลงไปตั้งมั่นเป็นสมาธิ สว่างไสวขึ้น อันนี้เป็นลักษณะความสงบอีกอย่างหนึ่ง

ความสงบอย่างนี้เรียกว่า ผู้ทำสมาธินั้นยังไม่ชำนาญในการเดินจิต เราจะรู้แต่เฉพาะเรากำหนดบริกรรมภาวนา หรือพิจารณาอารมณ์ กับเมื่อตอนที่จิตสงบนิ่งแล้ว ช่วงระหว่างกลางนี้เรากำหนดไม่ได้ สมาธิจึงยังไม่พร้อมด้วยองค์ สมาธิที่พร้อมด้วยองค์นั้น ผู้ภาวนาจะต้องกำหนดรู้ไปตั้งแต่วิตก วิจาร แล้วก็เกิดปีติ เกิดสุข เกิดเอกัคคตาหรือความเป็นหนึ่งของจิต จนกระทั่งจิตวิตก วิจาร ปีติ สุข ยังเหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขา

ซึ่งเป็นสมาธิขั้นอัปปนาสมาธิ หรือขั้นสมถะสมาธิเดินตามแนวองค์ฌาน เป็นสมาธิของผู้บำเพ็ญจิตให้เป็นสมาธิชำนาญพอสมควร ถ้าชำนาญจริง ๆ แล้ว สามารถที่จะยับยั้งจิตของตัวเองให้อยู่ในฌานนั้น ๆ ตามที่ต้องการ เว้นเสียแต่จิตไปอยู่ในฌานขั้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔ นั้นแหละ

จิตจะเป็นไปโดยอัตโนมัติ เราจะทำอะไรไม่ได้ ถ้าจิตอยู่ในระหว่างฌานขั้นที่ ๑ ที่ ๒ ในตอนนี้เราสามารถประคองจิตของเราให้อยู่ในองค์ฌานนั้น ๆ ได้ คือ เราสามารถใช้ความตั้งใจอ่อน ๆ โดยที่เรานึกประคองจิตจะให้ไปอยู่ในระดับปีติ อยู่ในระดับสุข อยู่ในระดับปีติ อยู่ในระดับสุขอยู่ในระดับของความสงบก็ได้ แต่ถ้าหากถึงฌานขึ้นที่ ๓ ขั้นที่ ๔ แล้ว ทีนี้จิตเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

ถาม
เวลาสมาธิ พอจิตนิ่ง ลมหายใจจะหายไป และคำภาวนาก็หายไปพร้อมกันแล้วแต่รู้สึกเช่นนี้ แค่เดี๋ยวเดียวก็รู้สึกตัว แล้วควรจะทำอย่างไรต่อไป

ตอบ
เมื่อจิตสงบนิ่งไปแล้ว จิตจะสงบละเอียดลงไปถึงจุดที่เรียกว่า อัปปนาสมาธิ ลมหายใจทำท่าจะหายขาดไป คำภาวนาก็หายไป พอรู้สึกว่ามีอาการอย่างนี้เกิดขึ้นผู้ภาวนาตกใจ แล้วจิตก็ถอนจากสมาธิ เมื่อจิตถอนจากสมาธิแล้ว เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา ถ้ายังเสียดายความเป็นของจิตในขณะนั้นที่มันเป็นขึ้นมานั้น ให้กำหนดจิตบริกรรมภาวนาใหม่จนกว่าจิตจะสงบลงไปจนถึงขนาดลมหายใจจะขาดหายไปคำภาวนาหายไป

ถ้าตอนนี้เราไม่เกิดตกใจ หรือเอะใจขึ้นมาก่อน จิตจะสงบนิ่งละเอียดลงไปกว่านั้น ในที่สุดจิตก็จะเข้าสู่อัปปนาสมาธิ อยู่ในขั้นที่ตัวก็หายไปหมด ยังเหลือแต่จิตรู้สงบ สว่าง อย่างเดียว ร่างกายตัวตนไม่ปรากฏ แต่ถ้าไม่ทำอย่างนั้นเมื่อลมหายใจจะหายไป คำภาวนาก็หายไป แล้วก็รู้สึกตัวขึ้น ให้หาเรื่องให้จิตมาพิจารณา พิจารณาโดยเพ่งกำหนดลงที่ใดที่หนึ่ง จะเป็นบริเวณหน้าอกก็ได้หรือจะเป็นท่อนแขน ท่อนขา ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้

โดยกำหนดลงในจิตว่า เราจะลอกหนังออก แล้วก็กำหนดเถือเนื้อออก จนกระทั่งมองเห็นกระดูก คือ ว่าใจมองเห็นกระดูก ตายังไม่เห็นก่อน นึกไปให้มันเห็นกระดูก โดยกำหนดลอกหนังออกเถือเนื้อออก แล้วนึกให้มันเห็นกระดูก นึกกลับไปกลับมาอยู่อย่างนั้น แล้วเมื่อจิตน้อมใจเชื่อลงไปว่ามีกระดูกอยู่ที่ตรงนี้ ให้กำหนดบริกรรมภาวนาว่า อัฐิ ๆ ๆ แล้วก็ต้องจิตลงไปที่จุดนั้น เมื่อจิตสงบลงแล้ว จิตจะมองเห็นกระดูกในจุดที่เพ่งนั้นในทำนองนี้จะทำให้เราได้สมถกัมมัฎฐาน

มีตัวอย่าง ครูบาอาจารย์ท่านเคยให้คำแนะนำกันมา ท่านอาจารย์องค์หนึ่งภาวนา พุทโธ มาถึง ๖ ปี จิตก็สงบลงไป ทำท่าว่าลมหายใจจะหายไป คำภาวนาก็หายไป แล้วจิตก็ตื่นขึ้นมา ไม่ถึงความสงบสักที ทีนี้อาจารย์องค์นั้นก็ไปถามท่านอาจารย์อีกองค์หนึ่งว่า ทำอย่างไรจิตมันจะสงบเป็นสมาธิดี ๆ สักทีอาจารย์องค์นั้นก็ให้คำแนะนำว่า ให้เพ่งลงตรงหน้าอกให้มันเห็นกระดูก โดยลอกหนังออก เถือเนื้อออก แล้วก็จ่อจิตลงไปบริกรรมภาวนาว่า อัฐิ ๆ อาจารย์องค์นั้นไปปฏิบัติตามก็ได้สมาธิ แล้วก็ได้สมาธิเห็นกระดูกตรงหน้าอกตอนแรก ๆ ก็มองเห็นแต่กระดูกหน้าอกเพียงอย่างเดียว เมื่อได้นิมิตเห็นกระดูกตรงนั้น ลงผลสุดท้ายก็มองเห็นกระดูกทั่วตัวไปหมด มองเห็นกายทั้งหมดเป็นโครงกระดูก ในเมื่อมองเห็นกายทั้งหมดเป็นโครงกระดูกอยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้วโครงกระดูกก็พังลงไปแล้วก็สลายตัวไป หายตัวไป ยังเหลือแต่จิตสงบนิ่งเป็นสมาธิว่างอยู่อย่างเดียว

ทีนี้ในอันดับต่อไปนั้น เมื่อจิตสงบนิ่งว่างอยู่เฉย ๆ ภายหลังเมื่อจิตสงบนิ่งว่างอยู่พอสมควรแล้ว ก็เกิดความรู้อันละเอียดขึ้นมาภายในจิตแต่ไม่ทราบว่าอะไรมันมีลักษณะที่รู้ขึ้นมาแล้วก็ผ่านไปเหมือน ๆ กับขี้เมฆที่ลอยผ่านเข้าไปเรื่อย ๆ ทีนี้นึกถามดูซิ ตรงนี้เราจะเรียกว่าอะไร ตรงนี้เป็นภูมิความรู้ เป็นภูมิปัญญาของจิตอย่างละเอียดเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความจริง ความจริงที่อยู่เหนือสมมติบัญญัติ สภาวธรรม ส่วนที่เป็นสัจธรรมเกิดขึ้นในจิตของผู้ปฏิบัตินั้น มีแต่สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ ซึ่งอาจารย์มั่นท่านว่า ฐีติภูตัง ฐีติภูตัง ของท่านอาจารย์มั่นในมุตโตทัย มีความหมายว่า ฐีติ คือ ความตั้งเด่นอยู่ของจิต อยู่ในสภาพที่สงบนิ่งเป็นกิริยา ประชุมพร้อมกันของอริยมรรค ยังจิตให้บรรลุถึงความเป็นปกติภาพโดยสมบูรณ์

เมื่อจิตมีอริยมรรคประชุมพร้อม ภายในจิตมีลักษณะสงบ นิ่งสว่าง อำนาจของอริยมรรค สามารถปฏิวัติจิตไปสู่ภูมิรู้ ภูมิธรรมอย่างละเอียด ภูมิรู้ ภูมิธรรม ซึ่งเกิดขึ้นอย่างละเอียดไม่มีสมมติบัญญัตินั้น ท่านเรียกว่า ภูตัง ภูตัง หมายถึง สิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ โดยธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น แต่ไม่ทราบว่าจะเรียกว่าอะไรสงสัยต่อไป ในเมื่อเราไม่สามารถที่จะเรียกว่าอะไร ทำอย่างไรเราจึงจะรู้ว่า สิ่งนั้นคืออะไร พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกไว้ แม้แต่ท่านแสดงธรรมจักรให้ภิกษุปัญจวัคคีย์ฟัง ท่านอัญญาโกณฑัญญะ รู้ธรรม เห็นธรรม ก็รู้แต่งเพียงว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นดับไปเป็นธรรมดา

คำว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ก็ดับเป็นธรรมดา ในขณะที่ท่านอัญญาโกณฑัญญะท่านรู้เห็นอย่างนั้น ท่านไม่ได้ว่าอย่างนี้ คำว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ดับไปเป็นธรรมดา ว่า เมื่อออกจากสมาธิแล้ว ในขณะที่อยู่ในสมาธิรู้เห็นสิ่งนั้น ท่านไม่ได้ว่าอะไร เพราะจิตของท่านสงบ นิ่ง เด่น สว่างไสวอยู่ แต่สิ่งที่ผ่านเข้ามาในจิต รู้ก็ผ่านไป แต่ไม่ทราบว่าอะไร เมื่อท่านออกจากสมาธิมาแล้ว ท่านจึงรู้ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะในขณะที่ท่านรู้ ท่านไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร แต่มันก็มีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้น จิตผู้รู้ก็มีอยู่ สิ่งที่ให้จิตรู้ ก็มีอยู่ แต่เรียกชื่อไม่ถูก

ถาม
รูปคือ ร่างกาย จะเห็นเกิด- ดับได้อย่างไร ถ้าไม่ได้สมาธิถึงอัปปนา ถ้าจะเห็นก็เป็นเพียงจินตนาการหรือคิดคาดคะเนใช่ไหม

ตอบ
ใช่ ความรู้จริงเห็นจริงทั้งหลายทั้งปวงนั้น อาศัยการค้นคิดด้วยจินตา เรียกว่า จินตามยปัญญา การค้นคิดการพิจารณานี้เป็นอุบายทำให้จิตเกิดความสงบเป็นสมาธิ ทำให้สติสัมปชัญญะดีขึ้น แล้วเมื่อมีสติสัมปชัญญะดีขึ้น ประกอบกับจิตที่มีสมาธิ ก็ย่อมสามารถปฏิวัติจิตไปสู่ภูมิจิต ภูมิธรรมได้เอง

ส่วนในอัปปนาสมาธินั้น อัปปนาสมาธิในเบื้องต้น ในเมื่อจิตสงบนิ่งลงไปเพียงแค่วาจิตอยู่ในอัปปนาสมาธิ ยังไม่เคยผ่านการพิจารณาอะไรมา จิตจะสงบนิ่งอยู่เฉย ๆ แต่ถ้าหากว่าจิตเจริญวิปัสสนาขั้นละเอียด จิตอยู่ในลักษณะแห่งอัปปนาสมาธิเหมือนกันแต่ก็สามารถมีเครื่องรู้เครื่องเห็นภายในจิต

สิ่งที่จะให้จิตรู้สิ่งที่จะให้จิตระลึกนั้นมีปรากฏอยู่ แต่จิตก็อยู่ในลักษณะแห่งอัปปนาสมาธิ ทีนี้อัปปนาสมาธิในเบื้องต้นนั้นเป็นแต่เพียงปฐมจิต ปฐมวิญญาณ มโนธาตุ ในเมื่อสมาธิผ่านเข้ามาในจิตหรือจิตเป็นสมาธิบ่อย ๆ ผ่านการพิจารณาหนัก ๆ เข้าจิตนั้นจะมีพลังเมื่อออกไปรับรู้อารมณ์ภายนอก ตัวการสำคัญก็คือ สติ ที่จะรู้ตามเห็นตามความรู้สึกนึกคิดนั้น ๆ

แล้วแม้ขณะที่จิตสงบนิ่งเป็นสมาธิอย่างละเอียด ตัวสติตัวนี้จะเป็นผู้รู้ทันเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในจิตส่วนความเข้าใจอันละเอียดนั้น ขอฝากนักปฏิบัติไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ที่อาตมาว่าไปนี้อย่าเพิ่งเชื่อ เพียงแต่รับฟัง สิ่งใดที่ฟังแล้วเชื่อเลย เขาก็ว่าโง่ ในเมื่อฟังแล้วปฏิเสธว่าไม่โง่ ก็โง่อีก เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติธรรม ศึกษาธรรม ต้องพิจารณาตัดสินโดยปัญญา

ถาม
ที่ว่า วูบนั้นคือ ภวังค์ ใช่ไหมครับ

ตอบ
ใช่ วูบคือ ช่วงว่างของจิต อย่างเราภาวนา พุทโธ ๆ แล้วก็จิตทำท่าจะสงบ แล้วระหว่างที่จิตจะปล่อยพุทโธนี้ ไปถึงจุดที่สงบนิ่ง ช่วงกลางนี้มันว่าง ความว่างนี้ เรียกว่า ภวังค์ ทีนี้ ภวังค์ คือ การก้าวลงของจิต ในเมื่อจิตตกภวังค์วูบลงไป พอวูบนิ่ง ถ้านิ่งแล้วไม่มีลักษณะของความสว่าง คือ ความพร้อมของจิต ไม่พร้อมที่จะตื่น ก็เป็นการหลับไปอย่างธรรมดา เช่น อย่างวูบลงไปแล้ว หลับมืดลงไปไม่รู้อะไรทีนี้พอวูบลงไปพั้บ เกิดสว่างโพลงขึ้นมา อันนี้เรียกว่า สมาธิแบบฟลุ้ค ๆ แต่ว่าใครทำได้ก็ดี ทำหลายครั้งหลายหนแล้ว ก็ค่อยชำนาญขึ้น แล้วก็จะติดต่อกันเองอันนี้เรากำหนด ระหว่างกลางนี้ไม่ได้ ตั้งแต่วิจารกับอัปปนาสมาธิ ช่วงนี้มันว่างเรากำหนดไม่ได้ว่าจิตของเรามันผ่านอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น สมาธิอันนี้ เราเรียกได้แต่อัปปนาสมาธิเฉย ๆ

ถาม
ก่อนจะออกจากสมาธิภาวนา ควรจะปฏิบัติอย่างไรบ้าง

ตอบ
ลุกได้ต่อเมื่อเรากำหนดพิจารณาดูตั้งแต่ต้นจะนั่งสมาธิว่า เราทำอะไรได้บ้าง เริ่มต้นแต่จุดธูปเทียนไหว้พระสวดมนต์ แผ่เมตตา กำหนดอารมณ์ เครื่องบริกรรมภาวนา คืออารมณ์เป็นเครื่องรู้ เครื่องพิจารณาของจิต แล้วจิตของเราจะมีความเป็นไปอย่างไร สงบหรือไม่สงบ รู้หรือไม่รู้ ได้ผ่านสมาธิขั้นไหน อย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มีปีติไหม มีความสุขไหม มีนิมิตไหม มีความรู้อะไรเกิดขึ้นไหม จนกระทั่งถึงจุดสุดท้ายที่เราจะออกจากสมาธิ ว่าจิตของเราสงบไหม

แล้วทีนี้เมื่อเราพิจารณาดูอย่างนั้น เราก็กำหนดรู้จิตของเราอีกทีหนึ่งว่าอะไรมันเกิดขึ้น ความคิดอะไรเกิดขึ้น เราก็กำหนดรู้ความคิดอันนั้น ความคิดนี้มันดับไป เราก็ปล่อยมันไปความคิดใหม่เกิดขึ้น เราก็กำหนดรู้ เรียกว่าตามรู้ให้มันทันความคิดสำหรับผู้ที่บริกรรมภาวนาแล้วจิตไม่สงบ บริกรรมอย่างไรมันก็ไม่สงบ ก็ควรจะเปลี่ยนวิธีนี้ คือ วิธีที่จะนั่งหลับตาก็ตาม ลืมตาก็ตาม ให้ค่อยจ้องดูความคิดของเราเองว่า จะคิดอะไรขึ้นพอคิดอะไรขึ้นมาปั๊ปก็กำหนดรู้

เมื่อเราทำอย่างนี้ จะได้ประโยชน์อะไร เพราะเราดูทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความตั้งใจด้วยความมีสติ จะทำให้สติเราเด่นขึ้น มีกำลังขึ้น แล้วเราจะสามารถรู้ทันความคิดของเราเอง เมื่อเรารู้ทันความคิดของเราเอง ต่อไปเราจะคิดอะไร คิดด้วยความรู้เท่าทัน สิ่งที่เราคิดนั้น มันจะไม่สามารถดึงเอาจิตใจของเราให้ไปเกิดทุกข์ทรมาน

ความจริงคำว่า ความรู้ ตามความหมายของคำว่า รู้ ในสมาธิหรือในสมาธิปัญญานั้น ก็หมายถึงจิตสามารถรู้ทันอารมณ์ต่าง ๆ ที่เราเคยนึกคิดว่ามันวุ่นวายแต่ก่อน โดยปกติที่เรายังไม่มีสมาธิ ไม่มีสติ ปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ เราดูอะไร เราได้ยินได้ฟังอะไร ได้สัมผัสอะไรในทางตา หู จมูก กาย ใจ สิ่งที่จะพึงเกิดขึ้นมันก็มีอยู่ ๒ อย่าง คือ พอใจ ไม่พอใจ นอกจากจะเกิดความพอใจ ไม่พอใจ มันยังจะต้องปรุงแต่งไปอีก แล้วก็หาเรื่องไปเรื่อย ๆ จนตัวเองต้องเกิดทุกข์วุ่นวายขึ้นมา
แต่ถ้าเรามีสมาธิ มีสติปัญญารู้เท่าทัน เรามองดูอะไรทางตา ได้ยินอะไรทางหู ได้กลิ่นอะไรทางจมูก รู้รสทางลิ้น สัมผัสทางกายแม้แต่นึกทางใจ เรามีสติค่อยจ้องดูอยู่ ความรู้ทั้งหลายเหล่านั้นมันจะกลายเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ

เพราะอาศัยความรู้เท่าทันอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา สิ่งใดที่เรารู้เท่าทัน สิ่งนั้นไม่สามารถที่จะดึงใจของเราไปทรมานให้เกิดทุกข์ขึ้นได้ นี่คือผลที่จะบังเกิดขึ้น อันนี้มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทางกาย ถ้ามีอาการอย่างนั้น จะมีวิธีแก้ไขโดยวิธีการหนึ่งให้มันหายไป มันจะสำลักก็หาวิธีการแก้ไขการสำลักนั้นให้หายไป แล้วกำหนดจิตภาวนาไปใหม่ ไม่ต้องไปรู้หนอหรอก มันเกิดขึ้นแล้ว เราก็รู้เอง เพียงแต่รู้เท่านั้น ไม่ต้องไปหนอมัน อย่าไปกลั้น ปล่อย ถ้ามันจะสำลักก็แก้ไขสิ่งเกี่ยวข้องทางกาย หรือน้ำลายที่จะสำลัก ถ้าจะสำลัก ไม่กลืนก็บ้วนทิ้งเสีย ทีนี้ก็ภาวนากันต่อไป

ถ้ามันจะไอ ก็ไอให้มันหาย ถ้ามันจะหาวก็หาวให้มันหาย อันนี้ เป็นตัวทุกข์ที่เกิดขึ้นทางกายที่แก้ไม่ได้ ถ้าอย่างเรานั่ง นอน เราจะไปคิดว่าปวดหนอ ๆ ก็หากจิตเราไม่สงบ มันก็ไม่หายปวด ในเมื่อทนไม่ไหว ก็เปลี่ยนอิริยาบถเสียมันก็หายไป เป็นเพียงว่าเรากำหนดรู้ สามารถที่จะกำหนดจิตให้วิ่งเข้าสู่สมาธิได้อย่างฉับพลันก็ทำ แล้วมันจะหายปวด เพราะจิตเข้าสมาธิอย่างแท้จริงแล้ว จะไม่มีตัวปรากฏในความรู้สึก เพราะเวทนาเกิดจากกายเท่านั้น อุเบกขาเวทนาเกิดจากใจโดยเฉพาะ

เรื่องความทุกข์ที่เกิดทางกายนี้เราฝืนไม่ได้หรอก อย่างบางท่านปฏิบัติแล้วต้องอดอาหาร ต้องทรมานอย่างนั้นอย่างนี้ อย่าไปทำ อาตมาได้เคยอดข้าวเป็นอาทิตย์ ๆ แล้ว ก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้น พระพุทธเจ้าสอนว่า คนที่ยังมีกิเลสเป็นเชื้ออยู่แม้ทรมานตนด้วยการย่างตนบนถ่านเพลิง ด้วยการทรมานตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็ไม่สามารถทำให้หมดกิเลสไปได้ แต่กิเลสจะหมดไปด้วยเหตุผล เราจะรู้เหตุผลก็ต้องค้นคิดพิจารณา เมื่อเราคิดค้นเสร็จ รู้เหตุ รู้ผลว่าทุกข์เกิดจากอะไร สุขเกิดจากอะไร ทำอย่างไรจะเป็นทุกข์เป็นสุขก็จะปล่อยวางไปเอง

ถ้าหากเรายังไม่รู้จริงเห็นจัง แล้วเราจะไปละอย่างไร ก็ละไม่ได้หรอกกิเลสน่ะ อาตมาขอยืนยันว่า กิเลสไม่ใช่เรื่องที่จะไปละเอาได้ กิเลสที่ละได้ คือ การไม่ทำ การไม่พูด แต่ความรู้สึกทางใจนี้ เราจะละไม่ได้ ใครไม่เชื่อก็ลองพิจารณาจิตของตัวเอง

การละกิเลสทางกายก็คือ ศีล ๕ ข้อ ปฏิบัติตามศีล ในข้อที่ละเมิดด้วยการ เช่น การฆ่า การลักขโมย การประพฤติผิดในกาม การดื่มสุราเมรัย งดเว้นจากการทำ ๔ ข้อนี้ เป็นการละกิเลสทางกาย เว้นจากการพูดปด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล ถ้าเรางดเว้นเป็นการละกิเลสทางวาจา ละได้แต่กายกับวาจา แต่ส่วนทางใจนั้นต้องอาศัยอบรม ศีล สมาธิ ปัญญา ให้มีกำลังกล้าถึงขนาดประชุมเป็นองค์อริยมรรค ความประชุมพร้อมขององค์อริยมรรค ซึ่งเกิดจากศีล สมาธิ ปัญญานี้

ตัวที่เด่นชัดที่สุด คือ สติ เราภาวนาจุดมุ่งเพื่อให้เรามีสติอย่างเดียว แม้ว่าเราจะรู้อะไรมากมายสักเพียงใดก็ตาม แต่สติยังหย่อน สติยังบกพร่องอยู่ ก็ไกลจากความสำเร็จ ถ้ามีสติสัมปชัญญะพร้อมก็กลายเป็นมหาสติ ซึ่งเรียกว่า มหาสติปัฎฐาน นั่นแหละ จึงจะเกิดมีการประชุมพร้อมแห่งอริยมรรคภายในจิตของเรา ศีล สมาธิ ปัญญาก็จะเกิดเป็นเจตสิกฝังแน่นอยู่ในจิต เมื่อจิตเป็นศีล สมาธิ ปัญญา แล้วให้รวมเป็นหนึ่งของจิตเอง ทีนี้เมื่อจิตเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา โดยธรรมชาติ ของศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว ก็จะเป็นสิ่งบริสุทธิ์ สะอาด ไม่มีกิเลส แล้วจิตของเราก็จะกลับสภาพกลายเป็นไม่มีกิเลส

ถาม
ฝึกนั่งสมาธิมานานแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่หายไป นานจึงจะเกิดมีอาการทางมือโดยทำสัญญาณให้รู้ เช่น สอนให้ระวังทวาร ๖ ในขณะเดียวจิตจะคิดระลึกรู้ถึงความหมายหรือบางครั้งปวดเมื่อยกาย เพราะเดินมาก ไม่ใช่ขณะที่นั่งสมาธิก็จะมีอาการบริหารกายส่วนนั้น เป็นการผิดหรือไม่

ตอบ
การเปลี่ยนอริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ บางทีเราอาจจะบริหารร่างกายแบบฤาษีดัดตน ท่านอาจารย์ฝั้น ท่านทำแบบฤาษีดัดตน ที่มีแบบฝึกหัดอยู่ที่วัดโพธิ์ อันนี้ไม่ผิดเป็นอาการบริหารกายให้มีความคล่อง

ถาม
ในขณะที่ทำสมาธิ ถ้าเคยภาวนาเห็นทุกข์รอบกายในสมาธิแล้วเคยเกิดภาวะตัวเบา และจิตดิ่งลงไปตลอดเวลาได้ปฏิบัติโดยวางอุเบกขา ภาวนาพุทโธตลอดเวลา เป็นการถูกต้องไหม

ตอบ
อันนี้หมายถึง การบริกรรมภาวนาพุทโธ โดยธรรมชาติของการบริกรรมภาวนาแล้ว เมื่อจิตสงบลงไปเป็นอุปจารสมาธิ เมื่อจิตเป็นอุปจารสมาธิแล้ว พอเกิดปีติ เกิดความสุขขึ้นมา จิตจะปล่อยคำบริกรรมภาวนาทุกครั้งไป ในเมื่อจิตปล่อยคำบริกรรมภาวนาแล้ว จิตก็นิ่งเฉยอยู่ ตอนนี้ให้กำหนดรู้ลงที่จิต ถ้าหากจิตมีลักษณะลอยเคว้งคว้าง ก็ให้เพ่งไปที่ลมหายใจ ยึดเอาลมหายใจเข้าออกเป็นเครื่องรู้

เรื่องปล่อยวางคำภาวนานี้ จิตจะต้องวางของเขาเอง เราไม่ต้องไปวางให้เขาก็ได้

ถาม
เมื่อเห็นสีของดวงจิตในสมาธิ ในเมื่อเห็นสีของดวงจิตในสมาธิขั้นแรก ๆ เป็นสีน้ำเงิน ต่อมาเป็นสีแดง สีม่วง สีเหลือง สีขาว เราควรจะเพ่งสีในจิตหรือไม่ จำเป็นต้องหยุดภาวนาหรือไม่

ตอบ
อันนี้เป็นธรรมดาของการทำสมาธิ ในเมื่อจิตมีอาการเริ่มจะสงบลงไปในความรู้สึกจะเป็นสีม่วง สีน้ำเงิน เป็นสีแปลกต่าง ๆ สารพัดที่จิตจะปรุงแต่งขึ้นมา อันนี้เราไม่ควรจะสนใจ สี แสง เสียง ต่าง ๆ เหล่านั้น ให้จ้องอยู่กับคำบริกรรมภาวนา

ถ้าบริกรรมภาวนายังมีอยู่ ให้จ่ออยู่กับคำบริกรรมภาวนานั้น ๆ ถ้าหากคำบริกรรมภาวนาขาดหายไป ให้จ้องอยู่ที่จิตผู้รู้อันเดียวเท่านั้น ถ้าเราเกิดไปเอะใจกับแสง สี เสียง ทั้งหลาย สภาพจิตจะเปลี่ยน แล้วสมาธิจะถอน สี แสง เสียง นั้นจะหายไป ถ้าหากเราพยายามพยุงดวงจิตประคับประคองจิตอันนี้ให้อยู่ในลักษณะสงบ นิ่งเฉย สี แสง เสียง เหล่านั้นจะอยู่ให้เราดูได้นาน แล้วเราอาจจะได้ปัญญาเกิดจากสี แสง เสียง ทั้งหลายเหล่านั้นให้แก่วิปัสสนาก็ได้ เพราะอันนี้เป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ

เหตุการณ์ใด ๆ ที่ผ่านขึ้นมาในขณะทำสมาธิ จะเป็นนิมิตก็ตาม จะเป็นความรู้ก็ตามหรืออาจจะเป็นเสียงดังก็ตาม ให้ผู้ภาวนากำหนดรู้ลงที่จิตอย่างเดียว อย่าไปสนใจกับสิ่งเหล่านั้น เพราะสิ่งเหล่านั้นมันเป็นสิ่งที่จิตของเราบันดาลให้เกิดขึ้นมาเอง เมื่อจิตไปเอะใจ ไปสงสัย ไปยึดติดอยู่นั้นจิตของเราไปหลงภูมิของตัวเอง แล้วไปยึด เมื่อยึดแล้วก็แปลกใจตัวเองว่า เอ๊ะ ทำไมจึงเป็นอย่างนี้ พอเกิดเอะใจขึ้นมาแล้ว จิตก็ถอนจากสมาธิ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นก็หายไป เราเลยหมดโอกาสไม่ได้พิจารณาให้รู้จริง เห็นจริง อันนี้ให้ระวังให้มาก ที่ถามว่าจำเป็นต้องหยุดภาวนาหรือไม่ ถ้าจิตยังภาวนาอยู่ก็ให้ภาวนาต่อไป ถ้าจิตหยุดภาวนาแล้วก็กำหนดรู้จิตอย่างเดียว หรือถ้าหากจิตยังไม่หยุดภาวนาเราจะหยุดแล้วกำหนดรู้ที่จิตอย่างเดียวก็ได้ในขณะนี้

ถาม
มีอาการง่วงนอนในขณะทำสมาธิและหลับไปในที่สุด จะปรับปรุงหรือป้องกันอย่างไร

ตอบ
อันนี้ไม่ต้องปรับปรุง หรือป้องกันอย่างไร ถ้าสามารถนั่งหลับได้ ก็นั่งให้มันหลับนาน ๆ เข้ามันจะค่อย ๆ หายง่วงไปเอง การปฏิบัตินี้ทำให้เกิดสติสัมปชัญญะ

เราปฏิบัติไม่หยุด ทำให้มาก ๆ ตัวสติมีพลังขึ้น ก็สามารถขจัดความง่วงนอนได้

ถาม
ภาวนาแล้วมีอาการเคลิ้ม บางครั้งก็หลับ ควรจะปฏิบัติอย่างไรต่อไป

ตอบ
ภาวนาแล้วมีอาการเคลิ้มเหมือนจะนอนหลับ จิตมีอาการจะนอนหลับเหมือนกับจะนอนหลับอย่างธรรมดา แต่โดยธรรมชาติของจิตที่จะเป็นสมาธิ ที่ก้าวลงไปในระยะแรกนั้นคือ การนอนหลับอย่างธรรมดา มีอาการเคลิ้ม ๆ แล้วก็วูบลงไป ถ้าตกใจตื่น จิตถอน ก็มาตั้งต้นใหม่
ทีนี้ถ้าหากไม่ตื่น วูบลงไปแล้วปล่อยให้เป็นไปจนกระทั่งหยุด วูบ นิ่ง พอเกิดนิ่งพั้บ ถ้านอนหลับธรรมดาก็นิ่งลงไปเลย ทีนี้ถ้าเป็นสมาธิ พอนิ่งพั้บสว่างโพลงขึ้นมา อาการวูบนั้นเป็นอาการที่จิตจะก้าวสู่สมาธิ กำลังจะได้ผลแล้วเชิญทำต่อไป

ถาม
ทำไมจึงไม่นำพุทธพจน์มาเป็นองค์ภาวนาบ้าง เช่น นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ หรือ นิพพานํ ปรมํ สุขํ เป็นต้น

ตอบ
อันนี้มีความสงสัยเรื่องสมถะ และวิปัสสนา อันได้แก่ องค์ภาวนา ว่า พุทโธ ยุบหนอ พองหนอ เป็นต้น พุทโธก็ดี ยุบหนอพองหนอก็ดี ทั้งสองอย่างนี้เป็นอารมณ์ของสมถะกรรมฐานตามหลักสูตร ทีนี้ผู้มา ภาวนาพุทโธ ๆ ๆ ก็ดี ยุบหนอพองหนอก็ดี เป็นการปรับปรุงจิตในขั้นสมถะ

การนึกอยู่ในสิ่ง ๆ เดียว เพื่อให้จิตสงบ นิ่งลงเป็นสมาธิ เป็นปฏิปทาหรือการปฏิบัติ เป็นความตั้งใจที่จะให้จิตสงบนิ่งเป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบนิ่งลงเป็นสมาธิ ตั้งแต่อุปจารสมาธิจนกระทั่งถึงอัปปนาสมาธิ ในขั้นนี้ เรียกว่า จิตเดินอยู่ในขั้นสมถะ ทีนี้การที่จิตสงบนิ่งลงเป็นสมาธิ อันนี้เรียกว่า สมถะจิตรู้ว่าสมาธิเป็นอย่างไร หรือรู้ว่านี้เป็นสมาธิ เป็นความเห็นแจ้ง หายสงสัย รู้แจ้งเห็นจริง หายสงสัยในเรื่องของสมาธิ อันนี้เรียกว่า วิปัสสนา เข้าใจเอาอย่างนี้ง่ายดี

ถาม
การเห็นนามรูป เกิด - ดับ เห็นเป็นลักษณะอย่างไร และภูมิจิตอยู่ในขั้นไหน

ตอบ
อันนี้เป็นปัญหาที่มีความละเอียดพอสมควร การเห็นนามรูป เกิด - ดับ อันนี้จะขอนำประสบการณ์ที่เคยผ่านมาเล่าสู่ท่านทั้งหลายฟัง แต่มันจะอยู่ในลักษณะที่นามรูปเกิด- ดับหรือไม่ จะขอฝากให้ท่านทั้งหลายไว้ช่วยพิจารณา ในขณะที่เรากำหนดจิตจะทำสมาธิภาวนาลงไป พอกำหนดจิตพั้บลงไป เราจะรู้สึกว่าจิตของเรารู้ทั่วทั้งกาย และก็รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม โดยสัญญา เมื่อกายบริกรรมภาวนาลงไปแล้ว จิตของเราสงบเป็นสมาธิละเอียดลงไป ลมหายใจก็ดับ ร่างกายที่ปรากฏอยู่ก็ดับคือ จิตไม่สำคัญ มั่นหมายในลมและกาย เห็นว่ากายและลมหายใจหายไปหมด ยังเหลือแต่สภาพจิตที่สงบนิ่งเด่นอยู่ ในขณะที่จิตรู้ทั่วทั้งกายอยู่นั้น ความรู้สึกทางจิตไม่มีทางเด่น แต่เมื่อกายหายไป ลมหายใจหายไปแล้ว จิตสงบนิ่งลงไปปรากฏเด่นชัดอยู่ แต่รูปหายไปหมดแล้ว อันนี้ในลักษณะอย่างหนึ่ง

ทีนี้ในอีกลักษณะอย่างหนึ่ง เช่น พระโยคาวจรมาพิจารณากายโดยระลึกถึงความตายค้นคว้า พิจารณาไปจนกระทั่งรู้แจ้ง เห็นจริงลงไปว่ากายนี้ตายลงไปแล้ว แล้วกายของผู้ภาวนานั้นก็ปรากฏขึ้นอืด เน่าเปื่อย ผุพัง ในที่สุดยังเหลือแต่โครงกระดูก แล้วโครงกระดูกก็สลายตัวละเอียดเป็นผง ละไปหายไปในพื้นแผ่นดินทั้งหมดในที่สุดพื้นแผ่นดินก็หายลงไปด้วยยังเหลือแต่สภาพจิตเด่นสว่างไสวอยู่เท่านั้น อันนี้จิตไม่มองเห็นวัตถุ ยังเหลือแต่จิตนิ่งเด่นอยู่ สว่างไสวอยู่

อันนี้ขอให้แนวคิดเพื่อฝากเป็นปัญหาเพื่อให้นักปฏิบัติและนักศึกษาทั้งหลายนำไปคิดพิจารณา ในขณะที่ผู้ทำสมาธิภาวนาหรือพิจารณาธรรมอันใดอยู่ก็ตาม ในขณะรู้สึกว่ามีกายอยู่ รู้สึกว่ามีลมหายใจอยู่ ทั้งนามและรูปปรากฏอยู่พร้อมหน้ากัน เพราะกายปรากฏมีอยู่เวทนาก็ปรากฏมีอยู่ สุข ทุกข์ก็ยังปรากฏอยู่เช่นอย่างสุขเกิดแต่ปีติก็เป็นเวทนา เรียกว่า สุขเวทนา เมื่อจิตสงบละเอียดลงไปแล้ว กาย ลมหายใจ ปรากฏว่าหายไป ยังเหลือแต่จิต จิตไม่มีความรู้สึกว่ามีกาย กายก็คือ รูป นั้นก็ดับไปแล้ว ในเมื่อรูปดับไปแล้ว เวทนาอันเป็นสุขเป็นทุกข์ก็ดับไปด้วย อุเบกขาเวทนาก็ปรากฏเด่นชัดขึ้น ตัวนาม คือ ตัวจิตปรากฏเด่นชัดขึ้นจึงมีคำพูดว่า รูปดับ นามเกิด ส่วนท่านผู้อื่นที่มีความเข้าใจอย่างใดนั้นขอฝากเป็นการบ้านช่วยกันพิจารณา อันนี้ไม่มีข้อตัดสิน

ถาม
เมื่อมีโอปปาติกะ อาจารย์ที่สอนกัมมัฎฐานที่ล่วงลับไปแล้วมาเยี่ยม โดยเห็นในสมาธิและสัมผัสรับรู้ได้กลิ่นหอม ตลอดเวลาที่ทำสมาธิ การที่จะติดต่อพูดคุยกับท่าน ควรปฏิบัติอย่างไร

ตอบ
อันนี้ไม่มีทางที่ควรจะปฏิบัติอย่างไร และก็ไม่ควรคิดจะพูดคุยกับท่าน เพราะสิ่งเหล่านี้จิตของเราปรุงแต่ขึ้นมาเอง อย่าไปเข้าใจว่าสิ่งอื่นมาแสดงให้ปรากฏ ถ้าหากว่าท่านภาวนา พุทโธๆๆ ท่านนึกอยากจะเห็นพุทธเจ้าหรือจิตท่านผูกพันอยากจะเห็นพระพุทธเจ้า จิตสงบสว่างลงไปแล้วจะเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินมา

ถ้าหากท่านยึดอยู่ที่ครูบาอาจารย์ที่ท่านล่วงลับไปแล้ว พอจิตสงบลงเป็นสมาธิ ระหว่างอุปจารสมาธิ สว่างขึ้นมา กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก จิตยึดมั่นอยู่ในสิ่งใด สิ่งนั้นจะปรากฏเป็นตัวขึ้นมาให้ท่านเห็น พึงทำความเข้าใจว่า นิมิตทั้งหลายที่ปรากฏนั้น มันเป็นเพียงมโนภาพที่จิตของท่านสร้างขึ้นมาเอง อย่าไปเข้าใจว่าเป็นสิ่งอื่น หลวงพ่อนี้นั่งภาวนาจนมองเห็นกายตัวเองนี้แหลกเป็นผงขึ้นมาแล้ว ลืมตาขึ้นมากายก็ยังอยู่ ถ้ามันเป็นจริงแล้ว ทำไมจึงมาเทศน์ให้โยมฟังอยู่ได้ อันนี้คือข้อเท็จจริง เราอย่าไปหลงว่าเป็นสิ่งอื่นมา ถ้าหากเป็นสิ่งอื่นมาแสดงตัวให้ปรากฏกันจริง ๆ นี้ ไม่จำเป็นจะต้องนั่งอยู่ในสมาธิ บางครั้งอาตมานั่งอยู่เฉย ๆ นี้ ผีมันวิ่งผ่านไปอย่างนี้ มันถึงเป็นของจริง ในสมาธินี้มันเป็นของหลอก

ในเมื่อมาถึงตอนนี้แล้วจะนำตัวอย่างมาเล่าให้ฟัง ท่านอาจารย์ของอาตมาท่านหนึ่งชื่อ อาจารย์ทอง อโสโก ถ้ายังมีชีวิตอยู่ถึงเวลานี้ ก็อยู่รุ่นราวคราวเดียวกับท่านหลวงพ่อเทสก์ ท่านผู้นี้ไปนั่งภาวนาในกุฎิเล็ก ๆ ในสำนักท่านอาจารย์มั่น เวลาเข้าไปก็เปิดประตูลงกลอนอย่างดี พอภาวนาแล้วก็จิตสงบนิ่ง สว่างลงไปแล้วก็มีผู้หญิงสาว ๆ คนหนึ่งมานั่งอยู่ข้าง ๆ แล้วก็มาพูดจา หลวงพี่มาทนทุกข์ทรมานอย่างไร สึกไปอยู่ด้วยกันจะมีความสุข ในตอนนี้ท่านมีสติอยู่ ท่านก็กำหนดจิตรู้จิตเฉย ๆ อยู่ เสียงนี้นั้นก็ดังออกอยู่อย่างนั้นไม่หยุด ลงผลสุดท้าย ผู้ในนิมิตในฝันนั้นก็บอกว่า มาพูดวาจาด้วย ก็ไม่พูดด้วย ไม่พูดก็อย่าพูด เสร็จแล้วมันก็ลุกไป ท่านอาจารย์ทองท่านมองเห็นผู้หญิงนั้นเดินออกประตูไป เดินด้อม ๆ ออกประตูจนลับสายตา

พอมันลับสายตาไปแล้วสมาธิแตก "ฮึ พูดกับเธอซะก็ดีน้อ" เลยลุกปุ๊ปจากที่นั่งสมาธิ พอไปถึงประตู ทั้ง ๆ ที่ตัวเองนี้ เมื่อนั่งอยู่ในสมาธิ มองเห็นผู้หญิงลอดประตูออกไป แต่เมื่อตัวไปถึงแล้วต้องถอนกลอนประตูออกเอง ยังไม่ได้สติวิ่งลงไปหารอบๆ กุฏิ ส่องไฟหาดูมุมนั้นดูมุมนี้ ท่านอาจารย์มั่นท่านอยู่กุฏิ ท่านตะโกนร้องมา "ทองเอ๋ย วัวหายเห็นแล้วหรือยัง" พอได้สติขึ้นมานี้
ข้อเท็จจริงที่นำมาเล่าให้ฟังนี้มันเป็นประสบการณ์ของนักปฏิบัติ ต้องเจอกันทั้งนั้นแหละ เพราะฉะนั้น ให้ระวังกันไว้ นิมิตในขั้นนี้ อย่าเข้าใจว่าเป็นของจริงจัง เพราะเมื่อไปหลงมโนภาพ ไปหลงจิตของตัวเอง สร้างมโนภาพขึ้นมา ให้เห็นว่าเป็นจริงเป็นจัง แล้วอย่างสมมติว่า มองเห็นพระหรือผู้วิเศษก็ตาม เดินเข้าไปหา นึกว่ามันเป็นจริงเลยน้อมจิตรับ พอน้อมจิตรับสิ่งนั้นมันก็เข้ามา เลยกลายเป็นเรื่องทรงไป นี้มันเป็นทางที่เขวง่ายที่สุด

เพราะฉะนั้น ควรทำความเข้าใจว่า นิมิตหรือสิ่งที่รู้ทั้งหลายนี้ เป็นจิตของเราปรุงแต่งขึ้นมาเองทั้งนั้น ไม่ใช่สิ่งอื่นมาแสดงให้เห็น

ถาม
กรุณาอธิบาย วิธีเดินจงกรม ว่าทำอย่างไร

ตอบ
การเดินจงกรมมีหลายแบบ แต่จะพูดถึงแบบเดินจงกรมของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีฯ ท่านเจ้าพระคุณอุบาลีฯ ก่อนที่ท่านจะเดินจงกรม ท่านให้กำหนดทางเดินจงกรม โดยไม่ให้สั้นกว่า ๑๒ ศอก และไม่ให้ยาวจนเกินไป กะว่าเอาพอดี ๆ ที่เราเดินกลับไปกลับมา ถ้ากำหนดเดินจงกรมสั้น เราต้องหมุนกลับบ่อย ๆ ทำให้เกิดวิงเวียนศีรษะ แต่ถ้ายาวเกินไป การเดินไกลย่อมเกิดความเมื่อย เพราะฉะนั้น ท่านจึงให้กำหนดเอาแต่พอดี ๆ

ก่อนที่จะเดินจงกรมท่านให้อธิษฐานจิต โดยระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าพุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นต้น หรือจะสวด อิติปีโส....ถึง สุปฏิปันโน ...จนจบ แล้วก็แผ่เมตตา พอแผ่เมตตาแล้ว กำหนดจิตว่าเราจะเดินจงกรม เอามือซ้ายวางลงหน้าท้อง เอามือขวาวางทับเกาะกันไว้พอไม่ให้หลุด ทอดสายตาลงห่างจากตัวประมาณ ๔ ศอก อยู่ในท่าสำรวม แล้วก้าวเดินไปช้า ๆ ด้วยความมีสติ ถ้าบริกรรมภาวนาพุทโธ ก็บริกรรมภาวนาพุทโธอยู่ที่จิต ไม่ต้องไปสนใจกับการก้าวเดิน เพราะโดยธรรมชาติของจิต จิตอยู่ในกาย กายอยู่ในจิต จิตคิดจะทำอะไรเกี่ยวข้องกับกายย่อมรู้ทั่วกายทั้งหมด ตั้งใจว่าจะเดินก็เดินได้ตั้งใจว่าจะเดินก็เดินได้ตั้งใจว่าจะนั่งก็นั่งได้ ตั้งใจว่าจะยืนจะยืนได้ ตั้งใจว่าจะนอนก็นอนได้ เมื่อตั้งใจว่าจะเดินจงกรม ทำกิจเบื้องต้นดังที่ได้กล่าวแล้ว แล้วก็ตั้งใจเดินด้วยท่าสำรวม กำหนดรู้ที่จิตนึกบริกรรมภาวนาพุทโธ หรือจะกำหนดพิจารณาอะไรก็ได้ นี้คือ วิธีการเดินจงกรม

การเดินเป็นแต่เพียงส่วนประกอบ แต่การกำหนดจิตเป็นเรื่องสำคัญ การกำหนดจิตขณะที่เดินเรียกว่าทำสมาธิในท่าเดิน กำหนดจิตในท่านั่งเรียกว่า ทำสมาธิในท่านั่ง กำหนดจิตในเวลานอน เรียกว่าทำสมาธิในท่านอน กำหนดจิตใจเวลายืนเรียกว่าทำสมาธิในท่ายืน ใช้อารมณ์อย่างเดียวกัน

ถาม
เวลาเดินจงกรม กำหนดอานาปนสติ เดินไปนานพอสมควรรู้สึกว่าเห็นแผ่นดินที่อยู่ข้างหน้าหมุนๆ ได้ เหมือนกับน้ำในตุ่มที่ถูกมือกวน

ตอบ
อันนี้เป็นสภาวะของจิต ความหมุน ความเวียนที่แผ่นดินจะพลิกอย่างไร ก็ตามอันนี้เป็นอาการของจิตที่ปรุงขึ้น ซึ่งจิตของเราอาจจะปรุงไปต่าง ๆ อันนี้ถ้ามีอาการเกิดขึ้นในผู้ปฏิบัติ ให้กำหนดรู้ลงที่จิตเอาสิ่งนั้นเป็นเครื่องของจิตและเป็นเครื่องระลึกของสติ ประคับประคองตัวผู้รู้เอาไว้ให้ดี แล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เราจะรู้แจ้งเห็นจริงเอง

ถาม
การปฏิบัติสมถกัมมัฏฐาน จะทำให้หยุดอยู่แค่นี้ไม่ไปสู่วิปัสส- นาจริงหรือ

ตอบ
ถ้าหากผู้ปฏิบัตินั้นติดอยู่ในสมถะ ติดอยู่ในสุขของความเป็นสมถกัมมัฏฐานนั้นแล้ว ไม่พยายามทำจิตให้ก้าวขึ้นสู่ภูมิปัสสนากัมมัฏฐาน คือหมายความว่าทำจิตให้สงบนิ่งเป็นอัปปนาสมาธิ พอจิตออกจากสมาธิ ปล่อยเลย ปล่อยโอกาสไม่ตาม เรียกว่าไม่ได้ติดตามผลงาน อย่างจิตสงบนิ่งเป็นอัปปนาสมาธิ พอจิตออกมา แล้วปล่อยพรู๊ดๆ ออกมา แล้วก็เลิกทันที อันนี้จิตจะไม่มีโอกาสก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนากัมมัฏฐาน แต่ถ้าพอจิตถอนออกจากอัปปนาสมาธิหรือสมถกัมมัฏฐาน ก็เกิดความคิด ตั้งสติกำหนดตามรู้ความคิดนั้นจิตจะก้าวสู่ภูมิวิปัสสนา กัมมัฏฐานได้โดยไม่ต้องยกเอารูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มาพิจารณา

โดยธรรมชาติแล้ว เมื่อจิตถอนจากอัปปนาสมาธิ จิตจะรู้สึกว่ากายปรากฏในเมื่อกายปรากฏ จิตก็ย่อมรู้การคือรูป ในเมื่อจิตรู้กายคือรูป ในเมื่อจิตรู้กายคือรูป จิตก็ย่อมรู้เวทนาเพราะเวทนาเกิดจาก รูปคือกาย และจิตก็ย่อมจะรู้กาย เพราะความทรงจำต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางทวาร ๖ นั้น จิตย่อมจดจำเอาไว้ แล้วก็วิญญาณ เมื่อรู้สิ่งใดขึ้นมาก็เกิดรู้ขึ้นมา เรียกว่า วิญญาณ เมื่อรู้แล้วคิดปรุงแต่งในสิ่งนั้นๆ มันก็กลายเป็นตัวสังขาร

เพราะฉะนั้น การกำหนดดูรูป นาม ที่คำว่า รูปดับ นามเกิด หมายถึงว่าในขณะที่เรากำหนดรู้ รูป เวทนา สังขาร สัญญา วิญญาณ อยู่ เมื่อจิตยังไม่มีสมาธิที่ละเอียดแนบแน่น เรายังรู้สึกว่ากายยังปรากฏอยู่ลมหายใจยังมีอยู่ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิละเอียดขึ้นไปแล้ว จิตจะปล่อยวางความมีรูปคือ กาย ในเมื่อปล่อยวางความมีรูป คือกาย รูปหายไป เวทนาหายไป สัญญาหายไป รูปดับ จิตไม่ได้พัวพันกับรูป เวทนา สัญญา อารมณ์มันน้อยลง จิตจึงเด่นขึ้นมาเรียกว่า นามเกิด

ภายในจิตอันนั้น ในขั้นนี้ยังเหลือแต่สังขาร วิญญาณ แล้วจิตก็จดจ่อในสิ่งที่รู้ละเอียดอยู่อย่างนั้น จิตในตอนนี้อยู่ในอัปปนาสมาธิ อยู่ในฌานเหมือนกัน บางท่านอาจจะเข้าใจผิดว่า จิตอยู่ในขั้นอัปปนาสมาธิ จิตนี่มันจะไม่รู้เลย ย่อมจะเข้าใจอย่างนั้น แต่ความจริงแล้ว สมถะในขั้นต้นนี่เป็นแต่เพียงปฐมจิต ปฐมวิญญาณ มโนธาตุ ไม่เป็นมหาสติ จึงไม่สามารถก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ นอกจากจะฝึกหัดน้อมนึก ปรับปรุงปฏิปทาเอาเอง จนกว่าจิตจะสามารถเดินตามลำพังของตนเองได้

แต่ถ้าหากจิตผ่านการพิจารณามาอย่างช่ำชองแล้ว จิตย่อมสงบไปสู่อัปปนาสมาธิ ปรากฏว่าตัวหายไปหมดแล้ว ก็ยังมีสิ่งที่รู้ปรากฏขึ้นมาอยู่ สิ่งที่รู้อันนี้จะเรียกว่าอะไรก็เรียกไม่ได้ มันมีแต่สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่เท่านั้น อันนี้เป็นความรู้ในขั้นโลกุตระ เรียกว่าอยู่เหนือโลก ความรู้ที่มีชื่อเรียกนี้เรียกว่า ขั้นโลกีย์ ความรู้ที่ไม่มีชื่อเรียก ไม่มีสมมุติบัญญัติ เป็นความรู้ที่อยู่ในขั้นโลกุตระ ย่อมไม่มีสมมุติบัญญัติเป็นสัจธรรม

ในเมื่อท่านทำสมถะชำนิชำนาญแล้ว การต่อวิปัสสนากัมมัฏฐานนี้ การต่อวิธีง่าย ๆ ในเมื่อจิตถอนจากอัปปนาสมาธิ เกิดความคิดแล้ว ความรู้ความคิดนี้อีกอย่างหนึ่ง ถ้าไม่อย่างนั้นก่อนจะทำความสงบให้เป็นสมถะให้พิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในแง่แห่งพระไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง อนิจจัง ทุกขัง อนัตนา ด้วยความคิดเอาๆตามที่เราจำได้มา แล้วต่อไปก็ ในขณะที่ค้นคิดพิจารณาอยู่อย่างนั้น จิตอาจจะสงบก็ปล่อยให้จิตสงบไป ในเมื่อจิตสงบไปถ้าหากจิตพอมีกำลังที่จะปฏิบัติตัวไปสู่ภูมิความรู้ขั้นวิปัสสนาลงไปได้ จิตจะดำเนินความรู้ไปเอง คือมีความรู้ผุดขึ้นมาๆเอง อันนี้ขอให้คำตอบเพียงเท่านี้

ถาม
เดินจงกรมภาวนาว่า "พุทโธ" บางอาจารย์ว่าเป็นสมถะ

ตอบ
คำตอบก็เหมือนกับข้อต้น เพราะการภาวนานั้นเป็นกิริยาของจิต ยืน เดิน นั่งนอน เป็นกิริยาประกอบการปฏิบัติเป็นวิธีการ

ถาม
จะทราบได้อย่างไรว่า ทำสมถะถึงขั้นอัปปนาแล้ว

ตอบ
อันนี้ได้ตอบแล้ว สมาธิขั้นอัปปนาเรียกว่า สมถะ วิธีสังเกตก็คือว่าเมื่อจิตสงบนิ่งลงไปแล้ว นิวรณ์ ๕ หายไปหมด กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะวิจิกิจฉา ความลังเลหายไปหมด ยังเหลือแต่จิตนิ่งสว่างอย่างเดียว อันนี้ เรียกว่า จิตถึงอัปปนาสมาธิแล้ว หรือขั้นสมถะ

ถาม
บางอาจารย์ว่า การภาวนา ยุบหนอ พองหนอ ไม่มีในพระไตรปิฎก หลวงพ่อช่วยแก้ข้องใจให้ด้วย

ตอบ
อันนี้เป็นมติที่คัดค้านกันโดยวิธีการ ผู้ภาวนาถ้าหากไปยึดวิธีการเป็นใหญ่แล้ว จะมีการขัดแย้งกัน การภาวนา พุทโธ หรือ ยุบหนอ พองหนอ เป็นอุบายทำจิตให้สงบลงเป็นสมาธิได้ด้วยกันทั้ง ๒ อย่าง ถ้าหากนักภาวนาเอาข้อเท็จจริงซึ่งเกิดขึ้นกับจิตอย่างแท้จริง มาเปรียบเทียบกัน ใครจะภาวนาอย่างไหน แบบใดก็ตาม ถ้าเราเอาเรื่องความสงบของจิตเป็นสมาธิมาเปรียบเทียบกัน เราจะไม่มีการขัดแย้งกันเลย แต่ที่เรามีขัดแย้งกันอยู่นั้น เพราะเราไปติดวิธีการ

เพราะฉะนั้นนักภาวนาเพื่อแก้ข้อข้องใจดังที่กล่าวแล้วนั้น อย่าไปติดวิธีการ ให้ยึดเอาหลักความเป็นจริง หรือผลที่จะเกิดขึ้นภายในจิตจากการภาวนานั้นเป็นใหญ่ การภาวนายุบหนอ พองหนอ ก็ดี พุทโธๆๆ ก็ดี เป็นอุบายทำจิตให้สงบลงเป็นสมาธิขั้นสมถะด้วยกันทั้งนั้น

กัมมัฏฐานนี้ท่านว่ามี ๒ อย่าง
๑. สมถกัมมัฏฐาน ๒. วิปัสสนากัมมัฏฐาน

สมถกัมมัฏฐานเป็น อุบายสงบใจ จุดมุ่งหมายทำจิตให้มีสมาธิกำจัดนิวรณ์ ๕ ไม่ให้มารบกวน ในขณะที่เราปฏิบัติอยู่ในจิตอันนี้ เรียกว่า สมถกัมมัฏฐาน

ตามหลักปริยัติท่านเขียนไว้ชัดว่า กัมมัฏฐานอันใดเนื่องด้วยบริกรรมภาวนา เมื่อจิตสงบลงเป็นสมาธิอย่างแท้จริงแล้วเป็นสมถะ เพราะฉะนั้น ยุบหนอพองหนอก็ดี พุทโธ ก็ดี เป็นแต่เพียงวิธีการ ไม่ใช่สมถะหรือวิปัสสนาใดๆ ทั้งนั้น เมื่อผลเกิดขึ้นจากการภาวนาแล้วนั่นแหละ จึงจะมีสมถะหรือวิปัสสนาเกิดขึ้น

ส่วนวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น เป็นกัมมัฏฐานที่เป็นอุบายฝึกฝน จิตให้เกิดมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดขึ้น แม้แต่ด้วยวิธีการ คือน้อมจิตไปพิจารณาอะไรก็ตาม เช่น เราอาจจะพิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ว่าเป็นของปฏิกูล ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือแม้จะกำหนดอารมณ์เกี่ยวกับว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ก็ตามนั้นเป็นวิธีการ

แต่เมื่อจิตยังไม่สงบเป็นสมาธิเมื่อไรแล้ว เมื่อนั้นวิปัสสนาจะไม่เกิด เพราะฉะนั้น ทุกท่านที่มุ่งที่จะทำกัมมัฏฐาน กระทำสมถกัมมัฏฐาน หรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน ให้ได้ผลอย่างแท้จริงอย่าไปกลัวว่าจิตจะติดสมถะ สมถะ คือ สมาธิ เป็นพื้นฐานให้เกิดวิปัสสนา แต่ถ้าผู้ภาวนาไปติดสมถะติดสุขในสมาธิ ติดสุขในสมถะ จิตก็ไม่ก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนา แต่ถ้าสมถะคือสมาธิไม่มี วิปัสสนาจะเกิดขึ้นไม่ได้ นอกจากวิปัสสนานึกเท่านั้น ขอไปโปรดทำความเข้าใจอย่างนี้

ถาม
บางอาจารย์ว่านั่งภาวนา กำหนดว่าพุทโธ เป็นสมถะไม่ใช่วิปัสสนาจริงไหม

ตอบ
ความจริงภาวนา "พุทโธ" พุทโธเป็นพุทธานุสสติอยู่ในหลักวิชาการของการปฏิบัติขั้นสมถกัมมัฏฐาน แต่ถ้าผู้ภาวนา พุทโธ นั้นไม่ฉลาดเพียงพอที่จะปฏิวัติจิตของตัวเองให้ก้าวขึ้นสู่ภูมิวิปัสสนา ไปติดอยู่เพียงความสงบแค่สมถะเท่านั้น คือไปติดอยู่ด้วยปีติ และความสุข ซึ่งเกิดขึ้นในฌาน เรียกว่า ติดสมถะ ก็ไม่สามารถที่จะดำเนินจิตขึ้นไปสู่วิปัสสนา อันนี้เป็นความจริง

ในเมื่อจิตมีสมาธิติดความสุขในสมาธิ จิตก็จะถือว่า ความสุขแค่ขั้นสมาธิเป็นความเพียงพอแล้ว เป็นการติดสุข จิตก็ไม่พยายามที่จะปฏิบัติวิปัสสนาต่อไป อันนี้ขอตอบว่า ถ้าติดแล้วก็จริง ถ้าไม่ติดความสุขในสมาธิ มีความพากเพียรจะหาอุบายให้จิตเกิดภูมิวิปัสสนา ก็ไม่จริง

ถาม
คำภาวนา พุทโธ เป็นสมาธิ จะทำให้เป็นวิปัสสนาต่อไปจะทำอย่างไร

ตอบ
คำภาวนา "พุทโธ" ทำจิตให้เป็นสมาธิ ได้พูดแล้วว่า ภาวนา พุทโธ เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิเพียงแค่ขั้นอุปจารสมาธิ ไม่ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ถ้าต้องการจะให้จิตเป็นวิปัสสนาเนื่องมาจากการภาวนา พุทโธ พอทำจิตให้สงบลงไปรู้สึกว่าจิตสงบสว่างขึ้นมาแล้วน้อมจิตไปพิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ น้อมไปสู่จุดแห่งความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ซึ่งเรียกว่า พระไตรลักษณ์

หรือมิฉะนั้น ก็กำหนดรู้ที่จิตของตัวเอง เมื่ออารมณ์อันใดเกิดขึ้น ก็กำหนดรู้ความคิดอันนั้นเรื่อยไป ทีนี้เมื่อความคิดอันใดเกิดขึ้นดับไป ๆ ๆ เราเอาพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ควบคุมความคิดว่า ความคิดนี้มันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จะเจริญวิปัสสนาในสมาธิอ่อน ๆ บางครั้งเรานึกคิดแล้ว สมาธิจะถอนมาอยู่ขั้นปกติธรรมดา ก็อย่าเลิกจากการคิดพิจารณาเอาการคิดพิจารณาอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตเป็นเครื่องรู้ของจิต เป็นเครื่องระลึกของสติ เป็นเครื่องหมายแห่งความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในที่สุดจิตจะสงบลงสู่ความเป็นสมาธิ แล้วก็จะเกิดวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้นมาโดยอัตโนมัติเช่นกัน

การบริกรรมภาวนานี้ บางทีบางท่านเพียงแต่ภาวนาพอ จิตสงบไปเป็นอุปจารสมาธิ จิตของท่านผู้นั้นจะปฏิบัติตนไปสู่ภูมิวิปัสสนาโดยไม่ได้ตั้งใจ อันนี้แสดงว่าผู้นั้นเคยเจริญวิปัสสนามาก่อนแล้วตั้งแต่ชาติก่อนโน้น ถ้าท่านผู้ใดไม่เคยเจริญวิปัสสนามาก่อน จิตสงบลงไปแล้ววิปัสสนาก็ไม่เกิด เป็นแต่เพียงว่าไปสงบนิ่งสว่างอยู่เฉย ๆ ในทำนองนี้ต้องฝึกหัดค้นคิดในแง่วิปัสสนากัมมัฏฐาน ยกเอาอะไรมาพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนกว่าจะเกิดสมาธิขึ้นมาแล้ว จิตจะเกิดภูมิรู้แห่งวิปัสสนาไปเอง

ถาม
สมาธิต่อเนื่องวิปัสสนา ทำอย่างไร

ตอบ
สมาธิต่อเนื่องวิปัสสนา คำว่าวิปัสสนานี้ มีอยู่ ๒ ขั้นตอน วิปัสสนาขั้นต้น คือ วิปัสสนาที่ใช้สติปัญญา กำหนดพิจารณาเอาโดยความตั้งใจ เช่น เราจะพิจารณาให้เห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือพิจารณารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ น้อมไปสู่ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ใช้ความรู้สึกนึกคิดที่เราเรียนมาก็นึกเอา ๆ เรียกว่า การเจริญวิปัสสนาแบบใช้สติปัญญาแบบธรรมดา ๆ

การใช้สติปัญญาพิจารณา รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา โดยความรู้สึกนึกคิดเราเองนี้แหละ เป็นการปฏิบัติ เป็นการตกแต่งปฏิปทาเพื่อให้จิตสงบลงเป็นสมาธิ เมื่อจิตสงบลงเป็นสมาธิแล้ว จะเกิดวิปัสสนาได้โดยอัตโนมัติ จิตจะปฏิวัติตนไปเกิดขึ้น ท่านจะเจริญวิปัสสนาอย่างไร ท่านก็จะไม่ได้วิปัสสนา เพราะวิปัสสนามีมูลฐานเกิดขึ้นจากสมถะคือ สมาธิ ถ้าสมถะคือสมาธิไม่เกิดขึ้น ท่านก็ได้แต่วิปัสสนาแบบนึกคิดเอาเอง เป็นภาคปฏิบัติเท่านั้น ยังไม่ใช่ตัววิปัสสนาที่แท้จริง

ถาม
เมื่อภาวนาแล้ว รู้สึกว่าร่างกายคือรูป หายไปในความรู้สึก ควรจะปฏิบัติอย่างไร เพื่อจะเดินวิปัสสนา

ตอบ
ถ้าหากรูปหายไปแล้ว เวทนา สัญญา จะไม่ปรากฏเพราะเวทนา กับ สัญญามันอาศัยรูปเป็นที่เกิด ถ้าหากรูปหายไปแล้ว เวทนา สัญญา จะไม่ปรากฏ เวทนาคือ สุข ทุกข์ ไม่มี มีแต่อุเบกขา เวทนา สัญญา ความทรงจำในสิ่งต่างๆ จะไม่มี ในเมื่อรูปหายไปแล้ว จิตจะเกิดความรู้อะไรขึ้นมาไม่ได้อาศัยสัญญา

หากเป็นภูมิจิตที่เกิดขึ้นมาในส่วนละเอียด ส่วนละเอียดที่จิตมีความรู้ขึ้นมานั้นคือ สังขาร เมื่อรูป เวทนา สัญญาหายไปแล้ว ผู้ภาวนาจะมีความรู้สึกว่าสังขารยังเหลืออยู่ วิญญาณก็ยังเหลืออยู่แต่วิญญาณในลักษณะของการรู้ยิ่งเห็นจริงนั้นอยู่ในลักษณะวิญญาณเหลือแต่ตัวรู้ แต่ตัวกระทบไม่มี ถ้าหากในขณะนั้นจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นมาให้จิตรู้ จิตก็ไม่มีอาการรู้ในทางวิญญาณ เป็นแต่เพียงว่าตัวผู้รู้สามารถที่จะส่งกระแสที่จะรู้สิ่งที่ผ่านเข้ามา สิ่งที่ผ่านเข้ามาให้รู้เปรียบเหมือนว่าอยู่เอกเทศส่วนหนึ่ง จิตตัวผู้รู้ก็อยู่ในลักษณะอยู่ในเอกเทศส่วนหนึ่ง คล้ายกับว่ามันแยกออกเป็นคนละส่วน ไม่มีความสัมพันธ์กัน

ทำไมมันจึงเป็นอย่างนั้น ก็เพราะเหตุว่าความรู้หรือสิ่งที่รู้ที่มันมีปรากฏการณ์ขึ้นมานั้น จิตซึ่งเป็นตัวสังขารจิต หรือเรียกว่า สังขารธรรมมันปรากฏขึ้นมา เป็นการปรุงของจิตส่วนละเอียด ปรุงขึ้นมาด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น จึงรู้สึกเสมือนหนึ่งว่าสิ่งที่ตัวปรุงขึ้นมานั้นไม่ใช่เรื่องของตัวเอง เป็นเรื่องอื่นมาปรากฏการณ์ให้รู้ให้เห็น อันนี้เป็นลักษณะภูมิ จิตที่เกิดความรู้อย่างละเอียด มันจะมีอยู่เป็นอยู่ เหมือนอย่างที่กล่าวแล้วในเบื้องต้น เรียกว่า ฐีติ ภูตัง ของท่านอาจารย์มั่น นั่นเอง

_________________
ถ้าเราไม่อยากได้อะไรจากใคร ก็จะไม่มีอะไรให้หมางใจกัน


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO