นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน จันทร์ 13 พ.ค. 2024 11:59 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: เรื่องราว
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 01 มิ.ย. 2011 8:29 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4557
การต่อสู้กามกิเลสเป็นสงครามอันยิ่งใหญ่ กามกิเลสนี้ร้ายนัก มันมาทุกทิศทาง ความพอใจก็คือกิเลส ความไม่พอใจก็คือกามกิเลส กามกิเลสนี้อุปมาเหมือนแม่น้ำ ธารน้ำน้อยใหญ่ไม่มีประมาณ ไหลลงสู่ทะเล ไม่มีที่เต็ม ฉันใดก็ดี กามตัณหาที่ไม่พอดี ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นแหล่งก่อทุกข์ ก่อความเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งหมดอยู่ที่ใจ สุขก็อยู่ที่ใจ ทุกข์ก็อยู่ที่ใจ ใจนี่แหละคือตัวเหตุ ทำความพอใจให้อยู่ที่ใจนี่



กามตัณหา เปรียบเหมือนแม่น้ำไหลไปสู่ทะเล ไม่รู้จักเต็มสักที อันนี้ฉันใด ความอยากของตัณหามันไม่พอ ต้องทำความพอจึงจะดี เราจะต้องทำใจให้ผ่องใส ตั้งอยู่ในศีล ตั้งอยู่ในทาน ตั้งอยู่ในธรรม ตั้งอยู่ในสมาธิก็ดี ทุกอย่างเราทำความพอดี ความพอใจก็นำออกเสีย ความไม่พอใจก็นำออกเสีย เวลานี้เราจะพักจิต ทำกายของเรา ทำใจของเราให้รู้แจ้งในกายในใจของเรานี้ รู้ความเป็นมา วางให้หมด วางอารมณ์ วางอดีตอนาคตทั้งปวงที่ใจนี่แหละ

ในฐานะที่ท่านทั้งหลายเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จงอย่าคิดว่าเราจะทำวันเดียวสำเร็จ ค่อย ๆ ทำไป สิ่งไหนบกพร่องก็พยายามระงับสิ่งนั้น และตั้งใจว่าเราจะไม่ยอมทำสิ่งนั้น ต่อไปวันหลังมันอาจจะลืมอาจจะเผลอ ๆ คิดมาได้ ก็คิดว่า ต่อนี้ไปเราจะไม่ทำอย่างนั้น ให้ถือเป็นอธิษฐานบารมีให้ทรงตัว และมีสัจจบารมีและก็จงเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะให้สมบูรณ์แบบ เวลาจะพูด เวลาจะทำหรือเวลาจะคิด ก็คิดใคร่ครวญเสียก่อนว่าอันนี้มันดีหรือไม่ดี



พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นโลกธรรม ถ้าเราติด เราก็มีความทุกข์ ลาภที่เรามีมา ได้แล้วมันก็หมดเสื่อมไปได้ ถ้าเรายินดีในการได้ลาภ ไม่ช้ากำลังใจก็ต้องเสียใจสลดใจเมื่อลาภหมดไป คำสรรเสริญก็เช่นเดียวกัน คำสรรเสริญไม่ใช่ของดี ถ้าเราติดในคำสรรเสริญ เราก็จะมีแต่ความทุกข์ เพราะว่าไม่มีใครเขามานั่งตั้งตา นั่งสรรเสริญเราตลอดวัน คนที่เขาสรรเสริญเราได้ เขาก็ติเราได้ ฉะนั้น จงจำไว้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า นินทา ปสังสา เป็นธรรมดาของชาวโลก ชาวโลกทั้งหมดเกิดมาต้องพบนินทาและสรรเสริญ นี่ท่านมาติดลาภ ติดสรรเสริญ ก็ถือเป็นอุปกิเลสอย่างหนัก



เราต้องตั้งใจมีความเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระสงฆ์คือพระปกติ ไม่ใช่พระเดินขบวน พวกนั้นไม่ใช่พระ เป็นเปรต เป็นสัตว์นรกมาเกิด นิสัยของสัตว์นรก เกิดมาใช้ไม่ได้ ทำให้ศาสนาบรรลัย นักบวชประเภทนี้ ถ้าเราไปไหว้ เราก็เป็นเปรตด้วย เพราะจริยาเขาเสีย เมื่อเรายอมรับความเสียของเขา เราก็เสียด้วย การเคารพพระสงฆ์ควรจะนึกเอาพระอริยเจ้าเป็นสำคัญ เรายกมือไหว้นักบวช เราถือว่าเราไหว้พระอริยสงฆ์ ถ้าท่านผู้นั้นไม่บริสุทธิ์ ก็เชิญเสด็จลงนรกไปเอง เพราะยอมให้ชาวบ้านเขาไหว้ นั่นเป็นเรื่องของท่านไม่ใช่เรื่องของเรา



ถ้าจิตของเราทรงอยู่ในพรหมวิหาร 4 ศีลจะบริสุทธิ์ ไม่ต้องระมัดระวังศีล ความเป็นผู้มีเเหตุมีผล มีความเคารพในองค์สมเด็จพระทศพลก็มีพร้อมบริบูรณ์ เพราะคนที่ทรงศีลบริสุทธิ์ก็แสดงว่ามีความเคารพในพระพุทธเจ้า มีความเคารพในพระธรรม มีความเคารพในพระสงฆ์ รู้จักอายความชั่ว เกรงกลัวความชั่ว



ขอบรรดาท่านพุทธบริษัท จงพยายามใคร่ครวญถึงความตายเป็นสำคัญ เรื่องความตายก็ดี การควบคุมอารมณ์จิตให้ปราศจากความฟุ้งซ่านก็ดี ควรจะทำให้เป็นปกติ ถ้าวันใดเราเผลอจากการควบคุมอารมณ์จิต ไม่ระงับความฟุ้งซ่านก็ดี วันใดถ้าเราเผลอไป ลืมนึกถึงความตายก็ดี ก็จงประณามตนเองว่าเรานี้เลวเต็มทีแล้ว



ท่านทั้งหลายจงอย่าประมาทกับชีวิต เพราะว่าชีวิตเป็นของไม่เที่ยง แต่ความตายเป็นของเที่ยง ขอทุกท่านจงคิดไว้เสมอว่า อย่างไรก็ดีเราต้องตายแน่ สำหรับเวลาการตายของเราไม่มีแน่นอน เพราะความตายไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ท่านทั้งหลายจงประกอบแต่ความดีเข้าไว้ ถ้าใครสร้างความชั่ว ตายแล้วจะไปสู่อบายภูมิ มีนรกเป็นต้น เกิดมาเป็นคนก็จะมีแต่ความเร่าร้อน มีแต่ความลำบาก แต่ถ้าคนใดสร้างความดี คิดถึงความตาย ไม่ประมาทในชีวิต คิดไว้เสมอว่า เราจะต้องตายแน่ จงอย่าคิดว่าวันพรุ่งนี้หรือเดือนหน้า ปีหน้า เดือนโน้น เราจึงจะตาย คิดไว้เสมอว่าวันนี้เราอาจจะตายแล้วก็สร้างความดีเข้าไว้ ความดีจะส่งผลให้ท่านมีความสุขทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ



จงจำไว้ว่าอารมณ์ใดที่ประกอบไปด้วยความรัก ประกอบไปด้วยความโลภ ประกอบไปด้วยความโกรธ ประกอบไปด้วยความหลง พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นอารมณ์ของติรัจฉาน คือ มันขวางจากความดี ฉะนั้น อาการของเดรัจฉานทั้งหมด อันพึงจะผิดทางจิตก็ดี ทางวาจาก็ดี ทางกายก็ดี จงอย่ามี จงระมัดระวังกำลังใจเป็นสำคัญ อย่าเอาอารมณ์ของเดรัจฉานเข้ามาใช้ในจิต และก็จงอย่างไปเพ่งเล็งบุคคลอื่น จงอย่าสนใจกับอารมณ์ของคนอื่น จงอย่าสนใจกับจริยาของบุคคลอื่น ให้พยายามปรับปรุงใจตนเองเป็นสำคัญ และให้ทรงพรหมวิหาร 4 มีอิทธิบาท 4 ฟังแล้วก็ต้องจำ จำแล้วก็ต้องประพฤติปฏิบัติ ถ้าทำไม่ได้ จงรู้ตัวว่าเลวเกินไป คนเลวเขาไม่เรียกว่าคน เขาเรียกว่าสัตว์ในอบายภูมิ



เรามีความรู้สึกอยู่เสมอว่า เราจะต้องตายแน่ จะตายเช้า ตายสาย ตายบ่าย ตายเที่ยง ตายด้วยอาการปกติ หรือด้วยอุบัติเหตุก็ตาม ก็ขึ้นชื่อว่าจะต้องตาย เราไม่ประมาทในชีวิต ก่อนที่เราจะตาย จะกอบโกยความดีใส่กำลังใจไว้ให้มันครบ พระพุทธเจ้าทรงสอนแบบไหน ปฏิบัติให้จบให้ครบทุกประการ ให้บริบูรณ์ทั้งหมดในฐานะที่เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระบรมสุคต



ถ้าทุกคนปรับปรุงใจตนดีแล้ว มันก็ไม่มีเรื่องยุ่งกับคนอื่น ๆ ไม่สร้างคนอื่นให้มีความเร่าร้อนในการที่จะเพ่งโทษคนอื่น ต้องรู้ตัวว่าเราเลวเกินไป นี่จงรู้สึกตัวไว้เสมอ รู้สึกตัวว่าเรามันเลว เลวมากจนกระทั่งขังไว้ในใจไม่ได้ มันจึงอุตส่าห์ไหลออกมาทางวาจา ไหลมาทางกาย นี่แสดงว่าความเลวมันล้นออกมาจากจิต ในข้อนี้ต้องคิดไว้เป็นประจำ อย่าทะนงตนว่าเป็นคนดี ถ้าดีแล้ว ปากไม่เสีย กายไม่เสีย ถ้าปากเสีย กายเสีย ความเลวมันล้น มีความดีไม่ได้



สำหรับคนที่เขามาสร้างความชั่วให้สะเทือนใจเรา นั่นเขาเป็นทาสของกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม ไม่มีทางที่จะคืนตัวได้ เราจงคิดว่า คนประเภทนี้เขาไม่ใช่คน เขาคือสัตว์นรกในอบายภูมินั่นเอง เราคิดว่า ถ้าเราไปต่อล้อต่อเถียงจะกระทำตอบ เราก็จะเลวตามเขา เวลานี้จิตใจของเขาจมลงไปแล้วในนรก ถ้าเราทำตามแบบเขาบ้าง เราก็จะจมนรกเหมือนกัน มันไม่มีประโยชน์ จิตเราก็ระงับความโกรธด้วยอำนาจขันติหรืออุเบกขา เฉย เขาเลวปล่อยให้เขาเลวไปแต่ผู้เดียว เราไม่ยอมเลวด้วย



อารมณ์ของคนชั่ว คืออารมณ์ที่ชอบทำลายศีลด้วยตัวเอง หรือว่ายุชาวบ้านให้เขาทำลายศีล เมื่อเห็นบุคคลอื่นทำลายศีลแล้วดีใจว่าเขาไม่รักษาศีล ทำลายศีลเสียได้ก็ดี อารมณ์ชั่วอย่างนี้อย่าให้มี เราจะต้องควบคุมว่า เราจะไม่ทำลายศีลด้วยตัวเอง ศีลของใครมีเท่าไรรู้ไว้ด้วย เราจะไม่คิดยุยงให้คนอื่นคิดทำลายศีล เราจะไม่ดีใจในเมื่อบุคคลอื่นทำลายศีลแล้ว



ดีหรือชั่วมันอยู่ที่การควบคุมกำลงใจ ถ้าใจของเราบริสุทธิ์ผุดผ่องเสียอย่างเดียว ใครจะว่าดีหรือชั่วไม่มีความสำคัญ เขาจะประณามว่าเลวมันก็เลวไม่ได้ มันก็ต้องดีอยู่ตลอดเวลา ถ้าจิตของเราชั่ว เขาจะสรรเสริญว่าดีมันก็ดีไม่ได้เหมือนกัน นี่เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าทรงให้รักษากำลังใจเป็นสำคัญว่า ควบคุมกำลังใจให้ดีไว้แล้วมันดีเอง ไม่ต้องไปฟังคำชาวบ้านเขา การที่เราดีเพราะรอให้ชาวบ้านสรรเสริญ นั่นมันเป็นอารมณ์ของความชั่ว ก่อนที่จะคำนึงถึงวิปัสสนาญาณ ก็จงทำใจให้มีความสุขด้วยอำนาจของสมาธิจิตก่อน เมื่อจิตมีสมาธิดีแล้ว ก็ใช้ปัญญาพิจารณาให้ปรากฎ เมื่อพิจารณาไปแล้ว ถ้าหากยังเห็นไม่พอเพราะจิตมันจะซ่าน ก็ดับความรู้สึกในการพิจารณาเสีย กลับมาภาวนาและทรงจิตให้หยุดในอารมณ์เดิมก่อน ให้จิตสบายเป็นสมาธิ ทำสลับกันไป สลับกันมา



พวกเราทุกคน จงอย่าให้องค์สมเด็จพระทศพลบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องผิดหวัง คำว่าผิดหวังก็หมายความว่ากลายเป็นคนเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันพระพุทธเจ้าผิดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นพระ พระทุกองค์จงอย่าเมาใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และก็จงอย่าเมาในใบลานหรืออย่าเมาในตำรา จงใช้กำลังใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นแบบฉบับ แล้วก็ปรับกำลังใจของเราให้เท่าหรือคล้ายคลึงกำลังใจของพระองค์ที่มีพระพุทธประสงค์มาสอนเรา



พระโสดาบันมีปัญญาเพียงเล็กน้อย รู้แค่ตายเท่านั้น ยังไม่สามารถจะจำแนกแยกร่างกายว่าไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราได้ พระโสดาบันยังมีความรู้สึกว่าร่างกายเป็นเราเป็นของเรา ทรัพย์สินทั้งหลายยังเป็นเราเป็นของเรา แต่ทว่ามีความรู้สึกว่า สิ่งทั้งหลายที่เป็นเรานี้ทั้งหมด เมื่อตายแล้ว เราก็ไม่มีสิทธิที่จะเข้ามาครอบครอง หรือถ้าว่าเรายังไม่ตาย สักวันหนึ่งข้างหน้ามันก็ต้องสลายตัวไป



พระโสดาบัน ไม่สงสัยในคำสั่งและคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำสั่งก็ได้แก่ศีล คำสอนก็ได้แก่จริยาอันหนึ่งที่เราเรียกกันว่าธรรมะ เป็นความประพฤติดีประพฤติชอบ ศีล พระพุทธเจ้าสั่งให้ละตามสิกขาบทที่กำหนดไว้ให้ ธรรมะ คำสอน ทรงแนะนำว่าจงทำอย่างนี้จะมีความสุข ทั้งคำสั่งก็ดี ทั้งคำสอนก็ดี พระโสดาบันมีความเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย



ความเป็นพระโสดาบันนี้มีความสำคัญอยู่ที่ศีล ถ้าหากว่าทุกท่านมีศีลบริสุทธิ์ ก็ไม่ต้องกล่าวย้อนไปถึงการเคารพในพระรัตนตรัย ทั้งนี้เพราะว่าศีลมาจากพระรัตนตรัยทั้ง 3 ประการ การที่เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ก็แสดงว่าเป็นผู้เข้าถึงพระรัตนตรัยอยู่แล้ว ฉะนั้น ศีลของท่านทั้งหลายจึงบริสุทธิ์ ศึลจะบริสุทธิ์ได้ต้องอาศัยเมตตากับกรุณาเป็นสำคัญ และยังมีเพื่อนอีกสองเป็นฝ่ายสนับสนุน นั่นก็คือ มุทิตากับอุเบกขา



ท่านที่เข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน หรือกำลังจะเข้าถึงความเป็นพระโสดาบัน จะต้องทรงพรหมวิหาร 4 ตามปกติ เมื่อทรงพรหมวิหาร 4 แล้ว ก็เป็นปัจจัยให้ศีลบริสุทธิ์ ด้วยทรงพรหมวิหาร 4 เป็นปัจจัยระงับโทสะและพยาบาท ทำให้โทสะและพยาบาทคลายตัว แล้วก็พรหมวิหาร 4 เป็นปัจจัยให้คนใจดี พอใจในการให้ทาน แล้วก็ทานตัวนี้เป็นปัจจัยตัดโลภะคือความโลภ ให้จิตใจของท่านที่เป็นพระโสดาบัน มีอารมณ์บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีความโลภคือปรารถนาในการยื้อแย่งเขา พอใจในการหาได้ด้วยสัมมาอาชีวะ ฉะนั้น ขอบรรดาท่านพระโยคาวจรทั้งหลาย จงปรับกำลังใจของท่านให้ดีตามนี้ การเข้าสู่ความเป็นพระโสดาบันจะเป็นของไม่ยาก ไม่มีอะไรลำบากที่บรรดาท่านพุทธบริษัทจะต้องหนักใจ



ความรักที่มันเกิด เราเข้าใจว่ามันดี เข้าใจว่ามันสวย เข้าใจว่ามันสะอาด อารมณ์อย่างนี้เป็นอารมณ์ของตัณหา ดึงไปอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น นี่พระทุกองค์ เณรทุกองค์ ฆราวาสทุกท่าน จงดูตัวไว้เสมอว่า เรามีจุดบกพร่องขนาดไหน อย่าปล่อยให้กิเลสมันล้นจากใจ ถ้าจะเลวให้เลวอยู่แค่ในใจ อย่าให้มันไหลมาทางตา อย่าให้มันไหลมาทางปาก อย่าให้มันไหลมาทางกาย



จิตของเราที่ยุ่ง วาจาของเราที่เสีย กายของเราที่ไม่สำรวม ก็เพราะอาศัยจิตไม่ดี ไม่ใช้ปัญญา ไม่ใช้สัญญา สัญญาจำไว้แค่นี้ ทำจิตให้เป็นสมาธิ ปัญญามันก็เกิด ปัญญาก็พิจารณา เห็นคนเมื่อไร เห็นสัตว์เมื่อไร มีความรู้สึกทันทีว่า ร่างกายของคนและสัตว์ทั้งหมดเต็มไปด้วยความสกปรก ความผูกพันกระสันอยากได้ ปรารถนาจะสัมผัสไม่มีในจิต ให้จิตมันทรงสภาพเช่นนี้ เห็นคนเหมือนกับเห็นซากศพ เห็นคนเหมือนกับเห็นของเน่าเปื่อย เห็นคนเหมือนกับว่าเห็นสิ่งที่เขาบรรจุอุจจาระปัสสาวะไว้เต็ม เท่านี้จิตก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่ผูกพันในรูปกายใด ๆ ทั้งหมด



เราจะปักใจไว้โดยอย่างเดียว คือว่าขันธ์ 5 มันไม่เที่ยง แล้วก็จงทำจิตของเราให้เที่ยง คือเที่ยงอยู่ในอำนาจของพรหมวิหาร 4 เพียงเท่านี้ บรรดาท่านพุทธบริษัท จิตใจของท่านทั้งหลายก็จะเต็มไปด้วยความชื่นบาน มีแต่ความหรรษา เมื่อจิตเป็นเอกัคคตารมณ์แบบนี้ เราก็เห็นว่าสภาวะร่างกายนี้มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา โลกียวิสัยเป็นปัจจัยของความทุกข์ โลกุตรวิสัยเป็นปัจจัยของความสุข เราต้องการความสุขคือพระนิพพาน ถ้าพิจารณาอย่างนี้บ่อย ๆ อารมณ์ใจของบรรดาพุทธบริษัททุกท่านก็สามารถจะตัดกามฉันทะคือความรักในเพศเสียได้อย่างเด็ดขาด ความรู้สึกในเพศจะไม่มี และอีกประการหนึ่ง โทสะความพยาบาลหรือความกระทบกระทั่ง จิตที่คิดประทุษร้ายจะไม่ปรากฎแก่เรา ทั้งนี้เพราะความดีที่เราปฏิบัติตามกระแสพระสัทธรรมเทศนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อารมณ์ใจของท่านก็จะพ้นจากความทุกข์ ด้วยอำนาจของความรักและความสงสาร อย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงโปรดเรียกว่า พระอนาคามีผล



การที่คิดว่าเราเสมอกับเขา มันเป็นตัวทะเยอทะยาน การที่คิดว่าเราดีกว่าเขาเป็นการข่มขู่ คิดทะนงตนว่าตนเป็นใหญ่ ถ้าคิดว่าเราเสมอเขา มันก็เสียอีก เพราะบางคนเขามีจริยาเลว เราคิดว่าเรากับเขาเสมอกัน ก็ต้องพยายามเลวตามเขา ความเลวมันเป็นปัจจัยของความทุกข์ ไม่ใช่ปัจจัยของความสุข ถ้าหากเขาดีกว่าเรา เราดีไม่เท่าเขา แต่เราคิดว่าเราดีเท่าเขา ก็เกิดความประมาท คิดว่าเราดีแล้วก็เป็นการทำลายความดีที่เราจะพึงแสวงหาต่อไป ถ้าเราคิดว่าเลวกว่าเขา ตอนนี้เป็นการทำลายความดีของตนเอง จิตใจมันก็มีความสุขไม่ได้ เป็นอันว่าการถือตัวถือตนว่าเราเสมอเขาก็ดี เราดีกว่าเขาก็ดี เราเลวกว่าเขาก็ดี เป็นปัจจัยของความทุกข์



อย่ามองคนด้วยฐานะ อย่ามองคนด้วยศักดิ์ศรี อย่ามองคนด้วยความรู้ความสามารถ มองคนแต่เพียงว่าสภาพของเขาเป็นวัตถุเหมือนสภาพของเรา จิตใจของเราพร้อมในการเมตตาปรานีไม่ถือตน เขาจะมาในฐานะเช่นใดก็ช่าง ถือว่าเป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกันหมด การกำหนดอารมณ์อย่างนี้ เราก็สามารถจะกำจัดตัวมานะ การถือตัวถือตนเสียได้



จงวางอารมณ์เสีย ใครเขาจะยังไงก็ช่าง เขาจะดี เขาจะชั่ว เขาจะเลว เขาจะยังไงก็ตามเถอะ ไม่สนใจ เห็นหน้าคน เราคิดไว้เสมอว่า เป็นคนที่เราควรแก่การปรานี เห็นหน้าสัตว์ก็คิดว่าเป็นสัตว์ควรแก่การปรานี พยายามไม่ถือตน คนและสัตว์ก็ตาม ถือว่ามีธาตุ 4 คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เสมอกัน มีอาการ 32 เหมือนกัน มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความเปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง มีการสลายตัวไปในที่สุดเหมือนกัน สร้างอารมณ์ให้เป็นสังขารุเปกขาญาณในวิปัสสนาญาณอย่างนี้ การระงับการถือตัวถือตนย่อมเป็นของไม่ยาก



เราตั้งใจไว้เฉพาะว่า เราต้องการพระนิพพานในชาตินี้ มานั่งใคร่ครวญว่ามนุษย์โลกก็ดี เทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี เป็นดินแดนที่ไม่พ้นความทุกข์ ความทุกข์มันมีกับเราได้ทุกขณะจิต เราเป็นมนุษย์เต็มไปด้วยความร้อน ความหนาว ความหิว ความกระหาย ความปวด ความเมื่อย ป่วยไข้ มีความไม่สบาย มีความตายไปในที่สุด มีการกระทบกระทั่งกับอารมณ์ของชาวโลก เรื่องโลกมนุษย์ไม่ดี เทวโลกกับพรหมโลกก็พักความดีอยู่ชั่วคราว ไม่มีความหมาย ใจเราต้องการอย่างเดียวคือ พระนิพพาน



อวิชชา ท่านกล่าวไว้ในขันธวรรคในพระไตรปิฏกว่า ได้แก่ความมีฉันทะกับราคะ ฉันทะ มีความพอใจในความเป็นมนุษย์ แล้วก็มีความพอใจในรูปฌาน อรูปฌาน พอใจในการถือตัวถือตน พอใจในอารมณ์ฟุ้งในด้านกุศล ราคะ มีความยินดี เห็นว่ารูปฌานดี อรูปฌานดี การถือตัวถือตนบ้าง เบ่งทับคนนั้นบ้าง เบ่งทับคนนี้บ้างเป็นของดี แล้วก็อารมณ์ฟุ้ง คิดว่าเราเป็นแค่อนาคามีก็พอใจ ยังไง ๆ เราเป็นเทวดาหรือว่าพรหม เราก็มีความสุขแล้ว เรานิพพานบนนั้น ฉันทะกับราคะทั้งสองประการนี้เป็นอารมณ์ของอวิชชา ยังถือว่าเป็นความโง่ ยังไม่เห็นทุกข์ละเอียด ความจริงอารมณ์ตอนนี้ก็เข้มแข็งพอ คนที่เป็นอนาคามีแล้วนี่ จะมานั่งสอนกันละเอียดละออมันไม่เกิดประโยชน์ เพราะว่าเป็นคนรู้ มีจิตสะอาด มีอารมณ์ขุ่นมัวไปบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้น เป็นอันว่าเลิกแล้วกันไปเลยว่า อารมณ์ใจที่มันยังเนื่องอยู่ในอวิชชา จะเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันยังไม่เข้าถึงสุขที่สุดที่เรียกว่า เอกันตบรมสุข ก็รวบรวมกำลังใจใช้บารมีสิบประการ ให้เข้าถึงจุดเกณฑ์ประหัตประหารเสียทันที



นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เธอจงถือกำลังใจสังขารุเปกขาญาณเป็นอารมณ์ อะไรจะเกิดขึ้นแก่ร่างกายก็ถือว่าเฉยไว้ เขาจะชมก็เฉย เขาจะด่าก็เฉย แล้วร่างกายจะเจ็บไข็ไม่สบายก็ทำใจสบาย เฉย ๆ ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา ธรรมดามันเป็นยังไง คิดว่าร่างกายของเราเราต้องเป็นอย่างนั้น อย่าใช้อารมณ์ฝืนกฎของธรรมดา เท่านี้อารมณ์จิตของเธอจะเป็นสุข



พระอรหันต์ย่อมไม่ปรากฎเห็นว่าอะไรในโลกนี้เป็นเรา เป็นของเรา ไม่เห็นว่าอะไรในโลกนี้เป็นของดี และก็ไม่เห็นว่าอะไรในโลกนี้เป็นของเลว ทั้งนี้เพราะพระอรหันต์ยอมรับนับถือกฎแห่งความเป็นจริงว่า ธรรมดาของโลกนี้เป็นอย่างนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นกฎธรรมดาไปหมด ไม่มีอะไรเป็นเครื่องสะเทือนใจ พระอรหันต์เขาด่าก็ไม่สะเทือนใจ เขาชมก็ไม่สะเทือนใจ อะไร ๆ เกิดขึ้นมาทั้งทีก็เป็นเรื่องธรรมดา


ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่มีอะไรเกินธรรมดา ท่านสอนให้ยอมรับนับถือกฎของธรรมดา วางทุกข์เสีย ให้รู้ว่าสิ่งนี้เป็นธรรมดา อะไรก็ตามเถอะ ถ้ามันเกิดขึ้นกับเรา มันเเป็นธรรมดาของโลกทั้งนั้น ในเมื่อร่างกายเรามีอยู่ในโลกเท่านี้เอง



หลักสูตรในพระพุทธศาสนานี้ไม่มีอะไร เบื้องสูงลงมา ท่านสอนตั้งแต่ปลายผมลงมาถึงฝ่าเท้า เบื้องต่ำขึ้นไป ท่านสอนตั้งแต่ปลายเท้าถึงปลายผม มีแค่นี้ ถ้าเราไปเพ่งเล็งคนอื่นว่าคนนั้นชั่ว คนนี้ดี แสดงว่าเราเลวมาก เราควรจะดูใจของเราต่างหาก ว่าเรามันดีหรือเรามันเลว ถ้าเราดีเสียอย่างเดียว ใครเขาจะเลวร้อยแปดพันเก้าก็เรื่องของเขา ถ้าเราดีแล้วก็หาคนเลวไม่ได้ เพราะเรารู้เรื่องของคน คนมาจากอบายภูมิก็มี คนมาจากสัตว์เดรัจฉานก็มี คนมาจากมนุษย์ก็มี มาจากเทวดาก็มี มาจากพรหมก็มี มันจะเสมอกันไม่ได้ ถ้าพวกมาจากอบายภูมิสอนยาก ป่วยการสอน



คนใดก็ตามที่ประากศตนเป็นอาจารย์พระพุทธเจ้า รู้ดีเกินพระพุทธเจ้า ที่บอกของพระพุทธเจ้าไม่ดี ไม่ทันสมัย เอาอย่างโน้นดีกว่า อย่างนี้ดีกว่า ผมไม่คบด้วย พวกจัญไรนี่ไม่คบ คบยังไง มันจะไปไหนไอ้พวกนี้ โน่น อเวจีมหานรก เพราะทำคนทั้งหลายที่มีเจตนาดี ให้มีมิจฉาทิฏฐิ ปฏิบัติผิด ฟังความเห็นผิด กรรมมันมาก



ของสงฆ์ที่ตากแดดตากฝนอยู่ ถ้าจะเกิดความเสียหาย ถ้าพระองค์ใดหรือว่าหลายองค์เดินหลีกไป ไม่เก็บของที่ควรจะเก็บ ปรับอาบัติทุกเที่ยวที่ผ่าน อาบัติที่ปรับนี่ไม่ต้องรอพิพากษานะ มันล่อเลย ผ่านไปแบบไม่แยแส ไม่สนใจ เป็นโทษทันที นี่ไม่ใช่ว่าพระอรหันต์เห็นของอะไรก็โยนทิ้ง ๆ ไม่ใช่ ท่านรักษากำลังใจ ของคนอื่นที่มีศรัทธายิ่งกว่ากำลังใจของท่าน เพราะวัตถุทุกอย่างจะพึงมีได้ ก็ต้องอาศัยชาวบ้าน ชาวบ้านกว่าจะได้มาแต่ละชิ้น ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ฉะนั้น พระต้องรักษาทรัพย์สินของชาวบ้าน ให้ยิ่งกว่าชาวบ้านรักษาทรัพย์



อภิธรรมที่พระสารีบุตรท่านเทศน์ทั้ง 7 ประการ มีนิดเดียว ที่เขาสอนกันนี่มีหลายร้อยหน้า แล้วก็ 8 หน้ายก ผมว่ามันเลอะเทอะเกินไป แต่ก็ไม่ได้ตำหนิคนศึกษา เพราะสนใจธรรมก็เป็นเรื่องน่าโมทนา แต่ว่าทำกันมากเกินไป มันก็สร้างความยาก การบรรลุเข้าก็ถึงช้า เพราะในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าตรัสว่า ตุลิตะ ตุลิตัง สีฆะ สีฆัง เร็ว ๆ ไว ๆ ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มีการเนิ่นช้า จำไว้ให้ดีนะ อย่าประมาทในชีวิต



การบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ต้องมีความหวังอยู่อย่างเดียว คือความดับไม่มีเชื้อ ถ้าบวชตามประเพณีเขาเรียกว่า บวชซื้อนรก พระนี่แค่กินข้าว ไม่พิจารณาให้เป็น อาหาเรปฏิกูลสัญญา หลงในรสอาหาร กินเพื่อความอ้วนพี กินเพื่อความผ่องใสอย่างนี้ องค์สมเด็จพระพิชิตมารบอกว่า กินก้อนเหล็กที่เผาจนแดงโชนดีกว่า



บุคคลใดเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา แล้วมีศรัทธาความเชื่อปสาทะ ความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา มีจิตน้อมไปในกุศล แสดงว่าบุคคลนั้นมีบารมีเข้าถึงปรมัตถบารมี สามารถจะเข้าถึงพระนิพพานได้ในชาติปัจจุบัน



เนกขัมมบารมีจริง ๆ ก็คือ จิตระงับนิวรณ์ 5 ถ้าบวชแล้วจิตระงับนิวรณ์ 5 ไม่ได้ ท่านไม่ถือว่าเป็นอันบวชนะ ยังไม่เรียกสมมติสงฆ์ ถ้าระงับนิวรณ์ 5 ได้ ท่านเรียกว่าสมมติสงฆ์ ถ้าระงับนิวรณ์ 5 ไม่ได้ ท่านเรียกเปรตในเครื่องห่มผ้าเหลือง เพราะจิตมันจุ้นจ้าน



จิตของเราถ้าหากนิวรณ์ไม่เข้ามายุ่งเมื่อไร มันก็เป็นฌานเมื่อนั้น นี่มันก็ไม่มีอะไรยาก ถ้าเรามีกำลังใจเข้มแข็ง จะไม่ยอมเชื่อไอ้ตัวร้าย นิวรณ์นี่ ทีนี้ในเมื่อเราไม่คิดถึงเรื่องอื่น ขณะพิจารณาก็มองดูแต่ขันธ์ 5 อย่างเดียว และภาวนาก็จับเฉพาะลมหายใจเข้าออก กับคำภาวนาว่าพุทโธ อันนี้นิวรณ์มันไม่กวน จิตเข้าถึงปฐมฌานทันที



ถ้าหากว่าท่านไม่สามารถจะทรงอานาปานุสสติกรรมฐานได้ถึงปฐมฌาน ผลแห่งการเจริญวิปัสสนาญานของทานทั้งหลาย จะไม่มีผลตามต้องการ เพราะจิตมีกำลังไม่พอที่จะทำลายกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้



การเจริญพระกรรมฐานไม่ได้หมายความว่า ใช้เวลานั่งสมาธิเสมอไป ถ้าเราใช้แต่เวลาที่นั่งสมาธิ มีเวลาสงัด จิตใจของเราจึงจะกำหนดถึงพระกรรมฐาน อย่างนี้ใช้ไม่ได้ เนื้อแท้การเจริญพระกรรมฐานกองใดกองหนึ่งก็ตาม ต้องใช้อารมณ์ของเรานี้นึกถึงพระกรรมฐานเป็นปกติตลอดวัน อย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่าท่านเข้าถึงพระกรรมฐาน และพระกรรมฐานเข้าถึงท่าน



เวลาที่ปฏิบัติน่ะ ไม่ใช่มานั่งเงียบ ๆ นะ กลางวันก็ทำงานก่อสร้างด้วย เรียนหนังสือด้วย นุงนังจิปาถะ ไม่ใช่นั่งเฉพาะไม่มีงานมีการ แบบนี้พระพุทธเจ้าไม่ใช้ แบบที่เข้ากุฏิเจริญพระกรรมฐาน กินข้าวก็มีคนไปส่งข้าว ล้างชามไม่ได้ แบบนี้ไม่ใช่พระ พระพุทธเจ้าเอง ท่านก็ล้างบาตรเองเช็ดบาตรเอง ทำความสะอาดพื้นที่เอง ทำแบบนั้นก็ดีเกินพระพุทธเจ้า ก็ไปชนเอาพระเทวทัตเข้าน่ะซิ ไม่เป็นเรื่อง เรื่องของพระนี่สำรวยไม่ดี ต้องทำได้ทุกอย่าง



ถ้าถามว่า ถ้าคนเขาอยากไปนิพพานเป็นตัณหาไหม ก็เห็นจะ 99% ที่ตอบว่า คำว่าอยาก แปลว่าตัณหา ในเมื่ออยากไปนิพพานก็แสดงว่าเป็นตัณหาเหมือนกัน ก็เลยบอกว่า นี่แกเทศน์แล้ว แกเดินลงนรกไปเลยนะ แกเทศน์แบบนี้ แกเลิกเทศน์แล้วก็เดินย่องไปนรกเลย สบาย ไปเสียคนเดียวก่อนดีกว่ามาชวนชาวบ้านเขาไปอีก ถ้าต้องการไปนิพพาน เขาเรียกว่าธรรมฉันทะ มีความพอใจในธรรม เป็นอาการทรงไว้ซึ่งความดี พวกเราฟังแล้วจำไว้ด้วยนะ ถ้าใครเขาถามจะได้ตอบถูก



อารมณ์พระกรรมฐานกับอารมณ์ชาวโลกไม่เหมือนกัน มันกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไอ้การงานของชาวโลกนี่ ถ้าขยันมาก มุมานะมาก ผลงานมันสูงแล้วก็ดี แต่การเจริญพระกรรมฐาน มุมานะมากถอยหลัง แทนที่จะก้าวหน้ามันกลับลงต่ำ ใช้ไม่ได้ เพราะว่าการปฏิบัติความดีเพื่อการบรรลุในพุทธศาสนา ต้องละส่วนสุดสองอย่าง คือ หนึ่ง อัตตกิลมถานุโยค การทรมานตนที่เรียกว่าขยันเกินไป สอง กามสุขัลลิกานุโยค เวลาทรงสมาธิหรือพิจารณาวิปัสสนาญาณ มีตัวอยากประกอบไปด้วย อยากจะได้อย่างนั้น อยากจะถึงอย่างนี้ อยากจะได้ตอนโน้น อีตอนนี้มันเจ๊งทั้งสองทาง ที่ถูกคือ จะต้องวางใจเฉย ๆ ปล่อยอารมณ์ให้มันไปตามสบาย ๆ



การบำเพ็ญบารมีใด ๆ หรือสร้างความดีใด ๆ เราจะตั้งมโนปณิธานความปรารถนาหรือไม่ก็ตาม ถ้าทำความดีมากครั้งเข้า ในที่สุดความชั่วก็สลายตัวไป เราก็เข้าถึงพระนิพพานตามเจตนา หรือไม่เจตนาก็จะต้องเข้าถึง ในเมื่อความชั่วถูกตัดเป็นสมุจเฉทปหาน แต่ทว่าถ้าปราศจากอธิษฐานบารมี กว่าจะเข้าถึงจุดหมายปลายทาง ก็รู้สึกว่ามันเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา หรือไม่ค่อยจะตรงนัก ฉะนั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงแนะนำบรรดาท่านพุทธบริษัทให้มีอธิษฐานบารมี ในการที่ท่านพุทธบริษัททั้งหลายตั้งใจกล่าววาจาว่า อิมาหัง ภควา อัตตภาวัง ตุมหากัง ปริจิจชามิ แปลเป็นใจความว่า ข้าพระพุทธเจ้า ขอมอบกายถวายชีวิต แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่ก็หมายความว่า เราจะเอาชีวิตของเราเข้าแลกกับความดี ที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ทรงแนะนำไว้ อย่างนี้อาศัยเจตนาและความตั้งใจ จัดว่าเป็นอธิษฐานบารมี บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย จะเข้าถึงความดีด้วยความรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง



ถ้าบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน ทรงความดีของจิตในวันหนึ่ง 1 นาที ก็คิดว่า 10 วัน มันก็ 30 นาที 100 วัน มันก็ 300 นาที ความดีมันสะสมตัว เมื่อเวลาใกล้จะตาย อารมณ์จิตที่เราทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ได้ดีบ้าง ไม่ได้ดีบ้าง ในระยะต้นมันจะเข้าไปรวมตัวกันตอนนั้น จนกลายเป็นมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เมื่อเวลาจะตาย จิตใจจะน้อมไปในกุศล ถ้าตายจากความเป็นคน อย่างเลวก็เป็นเทวดา ถ้าจิตสามารถควบคุมอารมณ์ใจได้ถึงฌาน ก็จะเป็นพรหม



อริยสัจ เขาสอนสองอย่างเท่านั้น สำหรับอีกสองอย่าง ไม่มีใครเขาสอนหรอก อย่างนิโรธะแปลว่าดับ อันนี้มันตัวผล ไม่ต้องสอน มันถึงเอง มรรคคือปฏิปทา เข้าถึงความดับทุกข์ มันก็ทรงอยู่แล้ว คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่อริยสัจ เขาตัดสองตัว คือ ทุกข์ กับสมุทัยนี่เท่านั้น



ไอ้เรื่องการเข้าฌานนี่มันต้องคล่อง เหมือนกับเราเขียนหนังสือคล่องแคล่ว จะเขียนเมื่อไรเราก็เขียนได้ ไม่ใช่เขาบอกว่า เอ้าเข้าฌานซิ มานั่งตั้งท่าขัดสมาธิมันก็เสร็จแล้ว มันไม่ทัน เวลาเราจะตายจริงไปตั้งท่าได้เมื่อไร มันต้องคล่อง การจะทำให้คล่องมันก็มีอยู่ว่า ต้น ๆ ถ้าจิตมันเข้าถึงอารมณ์สมาธิตอนไหนก็ตาม พยายามทรงสมาธินั่นไว้ และพยายามทรงสมาธิให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ใหม่ ๆ มันก็อึดอัด ไม่ช้าก็เกิดอาการชิน มันก็ชินจนช้าไม่เป็น



เวลาจะตาย เขาเข้าฌานตายกัน คนที่เข้าฌานตาย มันไม่ตายเหมือนชาวบ้านเขา อาการตายเหมือนกัน แต่ความหนักใจของบุคคลผู้ทรงฌานไม่มี ทั้งนี้เพราะถ้าจิตทรงฌาน อารมณ์ก็เป็นทิพย์ เมื่ออารมณ์เป็นทิพย์แล้ว ก็สามารถจะเห็นในสิ่งที่เป็นทิพย์ได้ เห็นรูปที่เป็นทิพย์ ได้ยินเสียงที่เป็นทิพย์ได้ ในเมื่อเราเห็นรูปที่เป็นทิพย์ได้ ได้ยินเสียงที่เป็นทิพย์ได้ เราก็รู้สภาวะความเป็นทิพย์ของเราได้ คนที่เขาเข้าฌานตายนี่ เขาเลือกไปตามอัธยาศัย ว่าเขาจะไปจากร่างกายอันนี้ เขาจะไปอยู่ที่ไหน เขาจะไปอยู่ที่ไหนนี่รู้ก่อน คนที่ทรงฌานจริง ๆ สถานที่ที่จะพึงอยู่ได้คือพรหมโลก ถ้าหากว่าเราไม่อยากอยู่พรหม อยากจะอยู่สวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่งที่ต่ำลงมา อันนี้ก็เลือกได้



เวลาไหนที่เราฝึกหัดอิริยาบถ เดินไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลัง ไม่ต้องไปยก ๆ ย่อง ๆ ทำแบบไอ้โรคสันนิบาต ไม่ใช่นะ แบบเดินธรรมดา อิริยาบถนี่พระพุทธเจ้าต้องการอย่างเดียว อย่างเราเดินไปบินฑบาต เดินไปทำธุระ ทำกิจการงานทุกอย่าง ให้รู้อยู่ว่าเวลานี้เราทำอะไร อย่าไปฝึกอย่างค่อย ๆ ยกนิดย่างหน่อย อันนี้ใช้ไม่ได้ ให้ถืออารมณ์ปกติ เราเดินธรรมดา นี่เราก้าวเท้าซ้าย เราก้าวเท้าขวา ก้าวไปข้างหน้า หรือถอยมาข้างหลัง เหลียวซ้าย หรือเหลียวขวา ใช้สติเข้าควบคุม ทีนี้ก็อย่าลืมนะ เราต้องมีโพชฌงค์ประจำใจ แล้วก็มีอานาปานุสสติประจำอยู่ตลอดเวลา อย่าทิ้งนะ แม้แต่พระพุทธเจ้ายังไม่ทิ้ง ถ้าพวกคุณทิ้งอานาปานุสสติ แสดงว่าพวกคุณดีกว่าพระพุทธเจ้า ไปอยู่กับเทวทัตนะ



นักเจริญมหาสติปัฏฐานเขาต้องดูอารมณ์ อารมณ์ตัวใดมันเกิด ตัดตัวนั้นทันที ไม่ได้ไปนั่งไล่เบี้ย 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, ถึง 13 จนเป็นอรหันต์ ถ้าคิดแบบนี้ลงนรกมานับไม่ถ้วนแล้ว เขาต้องรวบรวมกำลังมหาสติปัฏฐานทั้งหมดทุกบรรพเข้ามาใช้ ในขณะอารมณ์นั้นเกิดทันที ไม่ใช่ว่าทำอย่างนี้ได้แล้ว ก็ทิ้งอย่างนั้นไปจับขั้นต่อไป พอใจสบายก็ทิ้งอย่างนี้ไปจับตัวโน้น อย่างนี้ลงนรกมานับไม่ถ้วน เพราะว่าไม่เข้าถึงความเป็นจริง ตกอยู่ในเขตของความประมาท



ท่านผู้ใดปฏิบัติกรรมฐาน ถ้าไม่สามารถจะทำจิตปลงให้ตกในด้าน กายคตานุสสติกรรมฐาน ทำจิตเป็นเอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์อย่างเดียว เห็นว่าร่างกายของเราก็สกปรก ร่างกายคนอื่นก็สกปรก เป็นของไม่น่ารัก ถ้าไม่สามารถผ่านกรรมฐานบทนี้ไปได้ ความเป็นพระอนาคามีไม่ปรากฎแก่ท่านแน่ ๆ



ผมบอกจุดสำคัญไว้ให้ก็ได้ว่า ทุกท่านที่บรรลุมรรคผลหรือแม้แต่ทรงฌานโลกีย์ เขาใช้จิตตานุปัสสนามหาสติปัฏฐานเป็นประจำทุกวัน พวกคุณอย่าทิ้งเชียวนะตัวนี้ ตัวที่บรรลุจริง ๆ อยู่ตรงนี้ นักปฏิบัติทุกองค์ที่บรรลุก็จับนี่เป็นเนติ เนติแปลว่าแบบแผน ถือว่าเป็นตัวอย่าง ถือว่าเป็นครูใหญ่ ใช้ดูอารมณ์ใจ ไม่ต้องไปดูอะไร เพราะว่าไอ้กิเลสมันเกิดที่ใจ เอาอารมณ์ใจเข้ามาดู สติคุม ธัมมวิจยะพิจารณา



ถ้าใครสามารถทรงฌานได้ดี เวลาเจริญวิปัสสนาญาณนี่มันรู้สึกว่าง่ายบอกไม่ถูก เมื่อฌาน 4 เต็มอารมณ์แล้ว เราจะใช้วิปัสสนาญาน ก็ถอยหลังมาถึงอุปจารสมาธิ เราจะต้องตัดตัวไหนล่ะ ตัดราคะ ความรักสวย รักงาม เราก็ยกอสุภกรรมฐานขึ้นมาเป็นเครื่องเปรียบ ยกกายคตานุสสติกรรมฐานขึ้นมาเป็นเครื่องเปรียบ เปรียบเทียบกันว่า ไอ้สิ่งที่เรารักน่ะ มันสะอาดหรือมันสกปรก กำลังของฌาน 4 นี่เป็นกำลังที่กล้ามาก ปัญญามันเกิดเอง เกิดชัด มีความหลักแหลมมาก ประเดี๋ยวเดียวมันเห็นเหตุผลชัด พอตัดได้แล้วมันไม่โผล่นะ รู้สภาพยอมรับสภาพความเป็นจริงหมด เห็นคนปั๊บ ไม่ต่างอะไรกับส้วมเดินได้ จะเอาเครื่องหุ้มห่อสีสันวรรณะขนาดไหนก็ตาม มันบังปัญญาของท่านพวกนี้ไม่ได้



พระพุทธเจ้าจึงได้บอกว่า คนที่ทรงฌาน 4 ได้ และรู้จักใช้อารมณ์ของฌาน 4 ควบคุมวิปัสสนาญานได้ ถ้ามีบารมีแก่กล้าจะเป็นพระอรหันต์ภายใน 7 วัน ถ้ามีบารมีอย่างกลาง จะเป็นพระอรหันต์ภายใน 7 เดือน มีบารมีอย่างอ่อนจะเป็นพระอรหันต์ภายใน 7 ปี บารมีเขาแปลว่ากำลังใจ มีบารมีแก่กล้าคือมีกำลังจิตเข้มข้นนั่นเอง ต่อสู้กับอารมณ์ที่เข้ามาต่อต้าน แต่ว่าถ้าบารมีมันเข้มบ้างไม่เข้มบ้าง เดี๋ยวก็จริงบ้าง เดี๋ยวก็ไม่จริงบ้าง ย่อ ๆ หย่อนๆ ตึงบ้าง หย่อนบ้าง อย่างนี้ท่านบอกภายใน 7 เดือน ทีนี้บารมีย่อหย่อน เปาะแปะ ๆ ตามอัธยาศัย ถึงก็ช่างไม่ถึงก็ช่าง ตามอารมณ์อย่างนี้ไม่เกิน 7 ปี นี่ผมพูดถึงคนที่ทรงฌาน 4 ได้ และก็ฉลาดในการใช้ฌาน 4 ควบวิปัสสนาญาณ ถ้าโง่ละก็ ดักดานอยู่นั่นแหละ กี่ชาติก็ไม่ได้เป็นพระอรหันต์



ไอ้ตัวสงบนี่ต้องระวังให้ดีนะ มันไม่ใช่ว่าง คำว่าสงบนี่ไม่ใช่ว่าง จิตของคนนี่มันไม่ว่าง คือว่ามันต้องเกาะส่วนใดส่วนหนึ่ง ถ้ามันละอกุศลมันก็ไปเกาะกุศล ไอ้จิตที่เรียกว่าสงบก็เพราะว่า สงบจากกรรมที่เป็นอกุศล คืออารมณ์ที่เป็นอกุศล อารมณ์ชั่ว สงบความปรารถนาในการเกิด อารมณ์สงบ คือ ไม่คิดว่าเราต้องการความเกิดอีก และจิตก็มีความสงบ เห็นว่าสภาพร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา ไอ้ตัวคิดว่าเรา ว่าของเรา นี่สงบไป สงบตัวยึดถือวัตถุก็ตาม สิ่งมีชีวิตก็ตาม ว่าเป็นเราเป็นของเรา นี่ตัวสงบตัวนี้นะ มีอารมณ์เป็นปกติอยู่เสมอ คิดว่าอัตภาพร่างกายนี้ไม่มีเรา ไม่มีของเรา และมันก็ไม่มีอะไรเป็นเราอีก หาตัวเราในนั้นไม่ได้



พยายามเพียรทรงตัวไว้ ทำใจว่าจะไม่ฝืนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วก็เพียรทรงไว้แต่ความดี เพียรละความชั่วอยู่ตลอดเวลา กรรมอะไรก็ตาม อารมณ์ใดก็ตาม ที่พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นอารมณ์ของความชั่ว ต้องเพียรต่อต้านมันนะ แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาหาความเป็นจริงให้พบ เมื่อพบความเป็นจริงแล้ว ก็เพียรถือมันเข้าไว้ คือทรงความเป็นจริงไว้ในใจ ยอมรับนับถือตามความเป็นจริง คิดไว้เสมอว่า ไม่มีที่ใดที่จะดีไปกว่าพระนิพพานนะ



ความจริงคนเราทุกคนไม่ต้องกลัวตาย กลัวเกิดดีกว่า ถ้าเราไม่เกิดเสียอย่างเดียว มันจะตายอย่างไรให้มันรู้ไป ถ้าไม่เกิดให้มันตายที ทีนี้เราเกิดมาเพราะตาเราเห็นรูป เราพอใจในรูป หูได้ยินเสียง พอใจในเสียง เป็นต้น ความพอใจไอ้ตัวจริง ๆ ที่เป็นตัวร้าย ที่เราจะต้องตัดคือใจ ตัดอารมณ์ของใจเสีย อย่าให้ใจมันโง่ แนะนำมัน บอกว่านี่แกไปหลงใหลใฝ่ฝันในรูป รูปนี้สวย ทรวดทรงดี ถามมันดูซิว่า มีรูปอะไรที่มีการทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงบ้าง ไม่มีการทรุดโทรม ไม่มีการเสื่อม มันมีบ้างไหม ถามใจมันดู



การเป็นพระอรหันต์ไม่เห็นยาก คือตัดความพอใจในโลกทั้งสาม มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก ตัดราคะ ความเห็นว่ามนุษย์โลกสวย เทวโลกสวย พรหมโลกสวย โลกทั้งสามไม่มีความหมายสำหรับเรา เราไม่ต้องการ สิ่งที่เราต้องการคือพระนิพพาน มีความเยือกเย็นเป็นปกติ ไม่เห็นอะไรเป็นเรา เป็นของเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรากระทบถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา มีอยู่เป็นปกติ คือว่าไม่มีการสะดุ้งหวาดหวั่นอันใด



ถ้าคนจะถึงอรหันต์ ทีนี้อารมณ์ใจมันสบายทุกอย่าง คือว่าไม่หลงในฌาน ฌานทุกอย่าง ทั้งรูปฌาน และอรูปฌาน เราพอใจ แต่คิดแต่เพียงว่า นี่เป็นบันไดก้าวขึ้นสู่อริยะเบื้องสูงเท่านั้น ไม่ใช่มานั่งหลงว่ากันทั้งวันทั้งคืน นั่งกรรมฐานตลอดวันตลอดคืน นั่นมันยังเป็นเด็กเล็ก ๆ อยู่ ที่นี้หลงในฌานไม่มี ตัวมานะถือว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขาไม่มี และอารมณ์ฟุ้งซ่านสอดส่ายไปสู่อารมณ์อกุศลไม่มี และตัวสุดท้ายก็เห็นว่าโลกทั้ง 3 โลก คือ มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก ไม่มีความหมายสำหรับเรา เห็นสภาวะของโลกทุกอย่างนี้ทั้ง 3 โลก มันเป็นแดนของความทุกข์ สิ่งที่มีความสุขที่สุดคือพระนิพพาน อันนี้ถ้าเป็นสุขวิปัสสโก ท่านจะมีความสบายมาก สบายในอารมณ์ ยอมรับนับถือกฎธรรมดา ยอมรับนับถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าว่า พระนิพพานมีจริง และพระนิพพานเป็นแดนของความสุขจริง แม้ท่านจะไม่เห็น หากว่าวิชชา 3 ก็ดี อภิญญา 6 ก็ดี ปฏิสัมภิทาญาณก็ดี นี่เขาไปที่นิพพานได้เลย จะสามารถเห็นพระนิพพานได้เท่า ๆ กับของที่มองอยู่ข้างหน้า แล้วเขาก็จะรู้สภาวะว่า ถ้าเขาทิ้งอัตภาพนี้แล้ว เขาจะไปอยู่ตรงไหน เพราะพระนิพพานไม่ได้มีสภาพสูญ เขาก็เข้าสู่จุดของเขาเลยที่พระนิพพาน เข้าที่อยู่ได้ ไปไหว้พระพุทธเจ้าได้



(คัดลอกมาจากหนังสือ รวมคำสอนธรรมปฏิบัติ ของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน เล่ม 1 )



(จากหนังสือรวมคำสอนพระสุปฏิปันโน เล่ม 1)




เอาบุญมาฝากจะถวายสังฆทานกับบิดามารดา เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ สักการะพระธาตุ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาทสร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย ฟังธรรม
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ ให้อาหารสัตว์เป็นทานเป็นประจำ กรวดน้ำอุทิศบุญ อนุโมทนากับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่รักษาศีล ฟังธรรม ให้ทาน อนุโมทนากับน้องคนหนึ่งและเพื่อนๆของน้องที่รักษาศีล ศึกษาการรักษาโรค ให้ยานพาหนะเป็นทาน ให้ที่อยู่อาศัยเป็นทาน
ที่ผ่านมาได้รักษาอาการป่วยของบิดามารดา
และตั้งใจว่าจะสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอให้อนุโมทนาบุญด้วย


ขอเชิญถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน บอกบุญ ให้อาหารสัตว์เป็นทาน สักการะพระธาตุ ฟังธรรม สวดมนต์ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน
รักษาศีล เจริญภาวนา สวดมนต์ สร้างพระสร้างเจดีย์สร้างธรรมจักรสร้างรอยพระพุทธบาท
สร้างระฆังและอัครสาวกซ้ายขวาสร้างพระสีวลีสร้างพระกัสสะปะสร้างพระอุปคุตสร้างพระองคุลีมารผสมทองคำเปลวพร้อมนำดอกไม้มาบูชาถวายพระรัตนตรัย กรวดน้ำอุทิศบุญ ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น สนทนาธรรม
ถวายข้าวพระพุทธ อนุโมทนาบุญกับผู้อื่น รักษาอาการป่วยของผู้อื่น รักษาอาการป่วยของบิดามารดา
ปิดทอง สักการะพระธาตุ กราบอดีตสังขารเจ้าอาวาสที่ไม่เน่าเปื่อย ที่วัดแจ้ง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
และสร้างบารมีให้ครบทั้ง 10 อย่างขอเชิญร่วมบุญกุศลร่วมกันนะครับ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO