นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อังคาร 07 พ.ค. 2024 5:24 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: กามวิถี
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 15 ก.ย. 2010 2:44 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4550
การศึกษาเรื่องของกิเลส ๑๕๐๐ ตัณหา ๑๐๘ เพื่อเข้าใจความละเอียดของธรรม

เตือนให้ไม่ประมาทกิเลสที่มีอยู่มาก เพื่อให้เห็นว่าอกุศลมีมากแค่ไหน อกุศล

ที่เก็บสะสมมาตั้งแต่อดีตจนถึงขณะนี้ กิเลสถ้าเป็นรูป คงไม่มีที่จะเก็บได้หมดแม้

จักรวาลนี้ก็ยังไม่พอ



ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑-หน้า ๔๒๔

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่ากิเลสทั้งหลาย ย่อมเป็นสภาพหยาบ, ถ้า

กิเลสเหล่านี้ มีรูปร่าง อันใคร ๆ พึงสามารถจะเก็บไว้ในที่บางแห่ง ได้ไซร้

จักรวาลก็แคบเกินไป พรหมโลกก็ต่ำเกินไป, โอกาสของกิเลสเหล่านั้น ไม่พึงมี

(ให้บรรจุ)เลย”

(ข้อความตอนหนึ่งจาก...พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท)

-----------------------------

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๕ - หน้าที่ ๖๔๙

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมดากิเลส ย่อมไม่มีความชื่นบาน เพราะขจัดคุณความดี

มีแต่จะให้ตกนรก”
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 594

ข้อความบางตอนจาก สติปัฏฐานสูตร

กถาพรรณนาตัณหาวาระ

ตัณหา ๑๐๘

[๑๒๑] พึงทราบวินิจฉัยในตัณหาวาระ (ต่อไป) :-

ตัณหาที่เป็นไปแล้วโดยชวนวิถี มีชื่อตามอารมณ์ที่คล้ายกับบิดา

(ผู้ให้เกิด) ว่า รูปตัณหา ฯลฯ ธรรมตัณหา เหมือนกับ (คน) มีชื่อตาม

บิดาในคำทั้งหลาย มีอาทิว่า เศรษฐีบุตร พราหมณบุตร เป็นต้น .

ก็ในตัณหาวาระนี้ ตัณหามี ๓ ประการอย่างนี้ คือตัณหาที่มีรูป

เป็นอารมณ์คือตัณหาในรูป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ารูปตัณหา รูปตัณหานั้น

เมื่อยินดี เป็นไปโดยความเป็นกามราคะ ชื่อว่า กามตัณหา.

เมื่อยินดี (รูป) เป็นไปอย่างนี้ว่า รูปเที่ยง คือยั่งยืน ได้แก่ติดต่อ

กันไป โดยความเป็นราคะที่เกิดร่วมกับสัสสตทิฏฐิ ชื่อว่า ภวตัณหา.

เมื่อยินดี (รูป) เป็นไปอย่างนี้ว่า รูปขาดสูญ คือ หายไป ได้แก่

ละโลกนี้ไปแล้ว จักไม่มี โดยความเป็นราคะเกิดร่วมกับอุจเฉททิฏฐิ

ชื่อว่า วิภวตัณหา.

และสัททตัณหาเป็นต้น ก็เหมือนกับรูปตัณหา ฉะนั้น จึงรวมเป็น

ตัณหาวิปริต ๑๘ ประการ. ตัณหาวิปริตเหล่านั้น แจกออกเป็น ๑๘

ในอายตนะทั้งหลายมีรูปภายในเป็นต้น (และ) แจกออกเป็น ๑๘ ใน

อายตนะทั้งหลายมีรูปภายนอกเป็นต้น จึงรวมเป็น ๓๖ ประการ. แจก

เป็นอดีต ๓๖ เป็นอนาคต ๓๖ เป็นปัจจุบัน ๓๖ ด้วยประการอย่างนี้

จึงเป็นตัณหาวิปริต ๑๐๘ ประการ.

อีกอย่างหนึ่ง ตัณหาวิปริต ๑๘ ประการ อาศัยรูปที่เป็นไปภายใน

เป็นต้น มีอาทิอย่างนี้ว่า เพราะอาศัยรูปเป็นภายใน มีตัณหาว่าเรามี

เพราะรูปนี้ (และ) ว่า เมื่อเรามี เราก็เป็นที่ปรารถนา ฉะนั้น จึง

รวมเป็นตัณหา ๓๖ แบ่งเป็นอดีต ๓๖ อนาคต ๓๖ ปัจจุบัน ๓๖

โดยประการอย่างนี้ รวมเป็นตัณหาวิปริต ๑๐๘ ดังที่พรรณนามานี้แล.

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๘ ภาค ๑ - หน้าที่ ๖๒๐

บทว่า อุปาลิ ตํ มหาวีร ความว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญผู้มีความ

เพียรใหญ่ยิ่ง คือผู้มีความเพียร เพื่อบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ในสี่-

อสงไขยแสนกัป พระอุบาลีภิกษุย่อมไหว้ คือ ย่อมกระทำความนอบน้อม

ที่พระบาท คือ ที่พระบาทยุคลของพระองค์ผู้เป็นศาสดา คือผู้พร่ำสอน

เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.

เชื่อมความว่า ข้าพระองค์นั้นบวชแล้วนมัสการอยู่ คือกระทำการ

นอบน้อมพระสัมพุทธเจ้าอยู่ และรู้ว่า พระธรรมคือโลกุตรธรรม ๙ ที่

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงแสดงแล้ว เป็นธรรมดี คือว่า เป็นธรรมงาม

จึงนมัสการพระธรรมอยู่ จักเที่ยวไปจากบ้านสู่บ้าน จากบุรีสู่บุรี คือจาก

นครสู่นคร.

บทว่า กิเลสา ฌาปิตา มยฺหํ ความว่า กิเลสทั้งหมดนับได้ ๑,๕๐๐

ซึ่งอยู่ในจิตตสันดานของข้าพระองค์ อันข้าพระองค์เผา คือทำให้ซูบซีด

เหือดแห้ง พินาศไปแล้ว ด้วยอรหัตมรรคญาณที่แทงตลอดแล้ว.

(ข้อความบางตอนจาก ... ขุททกนิกาย อปทาน อุบาลีเถราปทาน)



พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสกนิบาต เล่ม ๓๘ หน้าที่ ๑๙๗ - ๒๐๐

ยมกวรรคที่ ๒

๑. อวิชชาสูตร

(ว่าด้วยโพชฌงค์ ๗ เป็นอาหารของวิชชาวิมุตติ)

[๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่ปรากฏ ในกาลก่อน

แต่นี้ อวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงมี เพราะเหตุนั้น เราจึงกล่าวคำนี้อย่างนี้ว่า ก็เมื่อ

เป็นเช่นนั้น อวิชชา มีข้อนี้เป็นปัจจัย จึงปรากฏ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวอวิชชาว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของอวิชชา ควรจะกล่าวว่า นิวรณ์ ๕

แม้นิวรณ์ ๕ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหาร

ของนิวรณ์ ๕ ควรกล่าวว่า ทุจริต ๓

แม้ทุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหาร

ของทุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การไม่สำรวมอินทรีย์

แม้การไม่สำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไร

เป็นอาหารแห่งการไม่สำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่าความไม่มีสติสัมปชัญญะ

แม้ความไม่มีสติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไร

เป็นอาหารของความไม่มีสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การกระทำไว้ในใจโดยไม่

แยบคาย

แม้การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ควรกล่าวว่า ความไม่มีศรัทธา

แม้ความไม่มีศรัทธา เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไร

เป็นอาหารของความไม่มีศรัทธา ควรกล่าวว่า การไม่ฟังสัทธรรม

แม้การไม่ฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวไม่มีอาหาร ก็อะไร

เป็นอาหารของการไม่ฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่า การไม่คบสัปบุรุษ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการ

ไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์, การไม่ฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีศรัทธาให้

บริบูรณ์, ความไม่มีศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายให้บริบูรณ์,

การทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังความไม่มีสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์,

ความไม่มีสติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการไม่สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์, การไม่

สำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังทุจริต ๓ ให้บริบูรณ์, ทุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยัง

นิวรณ์ ๕ ให้บริบูรณ์, นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์ อวิชชานี้มีอาหาร

อย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขา เมื่อฝน

ตกหนัก ๆ อยู่ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขาลำธาร และห้วยให้เต็ม

ซอกเขา ลำธาร และห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองให้เต็ม หนองที่เต็มย่อมยังบึงให้เต็ม

บึงที่เต็มย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็มย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่

ที่เต็มย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนั้น มีอาหารอย่างนี้ และเต็ม

เปี่ยมอย่างนี้ แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การไม่คบสัปบุรุษที่บริบูรณ์

ย่อมยังการไม่ฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์ ... นิวรณ์ ๕ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังอวิชชาให้บริบูรณ์

อวิชชานี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าววิชชาวิมุตติ ว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของวิชชาวิมุตติ ควรกล่าวว่า โพชฌงค์ ๗

แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็ควรกล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็น

อาหารของโพชฌงค์ ๗ ควรกล่าวว่า สติปัฏฐาน ๔

แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหาร

ของสติปัฏฐาน ๔ ควรกล่าวว่า สุจริต ๓

แม้สุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหาร

ของสุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์

แม้การสำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไร

เป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่า สติสัมปชัญญะ

แม้สติสัมปชัญญะ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็น

อาหารของสติสัมปชัญญะ ควรกล่าวว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย

แม้การทำไว้ในใจโดยแยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร

ก็อะไรเป็นอาหารของการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ควรกล่าวว่า ศรัทธา

แม้ศรัทธา เราก็กล่าวว่าอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็นอาหารของ

ศรัทธา ควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม

แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร ก็อะไรเป็น

อาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่าการคบสัปบุรุษ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้ การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟัง

สัทธรรมให้บริบูรณ์, การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์, ศรัทธาที่

บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์, การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่

บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์, สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการ

สำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์, การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์,

สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์, สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์

ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์, โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาวิมุตติให้

บริบูรณ์ วิชชาวิมุตตินี้มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดหยาบตกลงเบื้องบนภูเขา เมื่อฝน

ตกหนัก ๆ อยู่ น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ย่อมยังซอกเขา ลำธารและห้วยให้เต็ม ซอกเขา

ลำธาร และห้วยที่เต็ม ย่อมยังหนองให้เต็ม หนองที่เต็มย่อมยังบึงให้เต็ม บึงที่เต็ม

ย่อมยังแม่น้ำน้อยให้เต็ม แม่น้ำน้อยที่เต็ม ย่อมยังแม่น้ำใหญ่ให้เต็ม แม่น้ำใหญ่ที่เต็ม

ย่อมยังมหาสมุทรสาครให้เต็ม มหาสมุทรสาครนั้นมีอาหารอย่างนี้ และเต็มเปี่ยมอย่างนี้

แม้ฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้

บริบูรณ์ ... โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาวิมุตติให้บริบูรณ์ วิชชาวิมุตตินี้

มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล.

จบอวิชชาสูตรที่ ๑.

ยมกวรรคที่ ๒



อรรถกถาอวิชชาสูตรที่ ๑

วรรคที่ ๒ อวิชชาสูตรที่ ๑ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ .-

บทว่า สาหาร ได้แก่ มีปัจจัย. บทว่า วิชฺชาวิมุตฺติ ได้แก่ ผลญาณ และ

สัมปยุตธรรมที่เหลือ. บทว่า โพชฺฌงฺคา ได้แก่ องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้คือมรรค.

จบอรรถกถาอวิชชาสูตรที่ ๑.

ข้อความโดยสรุป

อวิชชาสูตร

(ว่าด้วยโพชฌงค์ ๗ เป็นอาหารของวิชชาวิมุตติ)

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล ทั้งฝ่ายที่เป็นอกุศล และ

ฝ่ายที่เป็นกุศล โดยทรงแสดงจากผลไปหาเหตุ และ ทรงแสดงจากเหตุไปหาผล

ซึ่งสรุปได้ดังนี้

ทางฝ่ายอกุศล

-ทรงแสดงจากผลไปหาเหตุ ดังต่อไปนี้.- เพราะอวิชชาในอดีตที่ผ่าน ๆ มาอย่าง

ยาวนานในสังสารวัฏฏ์ จึงมีอวิชชาในขณะนี้ อวิชชามีนิวรณ์ ๕ เป็นอาหาร(ปัจจัย),

นิวรณ์ ๕ มีทุจริต ๓ เป็นอาหาร, ทุจริต ๓ มีการไม่สำรวมอินทรีย์เป็นอาหาร, การไม่

สำรวมอินทรีย์มีความไม่มีสติสัมปชัญญะเป็นอาหาร, ความไม่มีสติสัมปชัญญะ มีการ

กระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย เป็นอาหาร, การกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย มีความ

ไม่มีศรัทธาเป็นอาหาร, ความไม่มีศรัทธา มีการไม่ฟังสัทธรรมเป็นอาหาร, การไม่ฟัง

สัทธรรม มีการไม่คบสัปบุรุษเป็นอาหาร

-ทรงแสดงจากเหตุไปหาผล ดังต่อไปนี้.- การไม่คบสัปบุรุษ ----> การไม่ฟัง

สัทธรรม ----> การไม่มีศรัทธา---->การกระทำไว้ในในใจโดยไม่แยบคาย ---->การไม่

มีสติสัมปชัญญะ ----> การไม่สำรวมอินทรีย์ ----> ทุจริต ๓ ----> นิวรณ์ ๕ ---->

อวิชชา อวิชชาย่อมบริบูรณ์ด้วยประการอย่างนี้

ทางฝ่ายกุศล

-ทรงแสดงจากผลไปหาเหตุ ดังต่อไปนี้.- วิชชาวิมุตติ (ความหลุดพ้นด้วยปัญญา)

เกิดขึ้นได้เพราะมีโพชฌงค์ ๗ เป็นอาหาร(ปัจจัย), โพชฌงค์ ๗ มีสติปัฏฐาน ๔ เป็น

อาหาร, สติปัฏฐาน ๔ มีสุจริต ๓ เป็นอาหาร, สุจริต ๓ มีการสำรวมอินทรีย์เป็นอาหาร,

การสำรวมอินทรีย์มีสติสัมปชัญญะเป็นอาหาร, สติสัมปชัญญะมีการกระทำไว้ในใจโดย

แยบคายเป็นอาหาร, การกระทำไว้ในใจโดยแยบคายมีศรัทธาเป็นอาหาร, ศรัทธามี

การฟังสัทธรรม เป็นอาหาร, การฟังสัทธรรมมีการคบสัปบุรุษเป็นอาหาร

-ทรงแสดงจากเหตุไปหาผล ดังต่อไปนี้.- การคบสัปบุรุษ ----> การฟังสัทธรรม

----> มีศรัทธา ---->การกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ----> สติสัมปชัญญะ ----> การ

สำรวมอินทรีย์ ----> สุจริต ๓ ----> สติปัฏฐาน ๔ ---->โพชฌงค์ ๗ ---->วิชชาวิมุตติ

วิชชาวิมุตติ ย่อมบริบูรณ์ด้วยประการอย่างนี้แล.








เอาบุญมาฝากวันนี้ตั้งใจว่าจะถวายสังฆทาน
อนุโมทนาบุญกับผู้ใส่บาตรตามถนนหนทาง กรวดน้ำอุทิศบุญ เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน ให้อภัยทาน
รักษาศีล อาราธนาศีล เจริญวิปัสสนา ได้ปฏิบัติธรรม
ได้ถวายข้าวพระพุทธรูป สักการะพระธาตุ
ทำงานบ้านช่วยพ่อแม่และเจริญอาโปกสิน ศึกษาการรักษาโรค
ให้อาหารสัตว์เป็นทาน ปิดทองที่เจดีย์พระธาตุอีกเช่นเคย
และสร้างบารมีครบทั้ง 10 อย่าง ขอให้อนุโมทนาบุญด้วย




ขอเชิญร่วมทำบุญสร้างรูปเหมือนหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง ใหญ่ที่สุดในโลก


--------------------------------------------------------------------------------
โทร.๐๘๗-๕๑๔-๖๒๙๙


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Bing [Bot] และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO