นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อาทิตย์ 05 พ.ค. 2024 1:34 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ทั้งๆที่
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 20 พ.ย. 2009 8:47 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4549
ทั้ง ๆ ที่เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกัน...แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว

แต่เจตสิกแต่ละเจตสิก ก็เป็นปัจจัยเฉพาะตามลักษณะของตน ๆ

ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาจริง ๆ ฯ


ขอกล่าวถึง อารัมมณธิปติ

ซึ่งเป็นคำรวมของ อารมณ์ กับ อธิปดี

ท่านผู้ฟังทราบเรื่องของอารัมมณปัจจัยแล้ว

สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตาม ที่จิตกำลังรู้

สิ่งนั้นเป็นปัจจัยของจิตที่รู้โดยความเป็นอารมณ์

คือเป็นอารัมมณปัจจัย.


แต่สำหรับ อารัมมณธิปติปัจจัย ไม่ใช่เพียงอารมณ์ธรรมดาๆ

แต่ต้องเป็นอารมณ์ที่หนักแน่น ที่ควรได้ ไม่ควรทอดทิ้ง

หรือว่าไม่ควรดูหมิ่นด้วยอำนาจความเคารพยำเกรง

หรือด้วยอำนาจ หรือความปรารถนา.


เพราะฉะนั้น

ให้ทราบว่า โลภมูลจิต เกิดบ่อยมากในชีวิตประจำวัน

แต่ว่าจะรู้หรือไม่รู้...ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะว่าทันทีที่เห็น ก็หลงลืมสติ และเกิดความยินดีพอใจในสิ่งที่เห็น

รวมถึงความยินดีในการเห็นด้วย.......


ไม่มีท่านผู้ใดที่อยากจะไม่เห็น

หรือว่าไม่อยากจะเห็นอีกแล้ว.?




นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า

ปกติในชีวิตประจำวัน มีความยินดี มีความพอใจในสิ่งที่ปรากฏ

เพียงแต่ท่านไม่ทราบเท่านั้นเองว่า ถึงแม้จะนั่งเฉย ๆ แล้วเห็น

แม้ยังไม่ได้กระทำกรรมใด ๆทั้งสิ้น ทั้งทางกาย ทางวาจา

แต่โลภมูลจิตก็เกิดขึ้น เป็นไปในอารมณ์ที่ปรากฏทางตา ทางหู

ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจแล้ว........


แต่ว่าถ้า(อารมณ์นั้น)ไม่มีกำลัง คือไม่เป็นอารมณ์ ที่หนักแน่น

หรือว่าไม่เป็นอารมณ์ที่ควรทอดทิ้ง

ขณะนั้น หมายความว่า (อารมณ์นั้น) ไม่ใช่ อารัมมณธิปติปัจจัย

เพราะฉะนั้น ในวันหนึ่ง ๆ โลภะเกิดก็เกิดไป..แล้วก็ดับไป.........


แล้วแต่ว่าขณะใด ซึ่งปรารถนาอย่างยิ่งในอารมณ์ใด

อารมณ์นั้น เป็น อารัมมณธิปติปัจจัย.

การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่การเพ่งจ้อง

และอยากจะให้ประจักษ์ความเกิดดับของสภาพธรรม

โดยที่ไม่ได้ระลึก ตรงลักษณะของสภาพธรรม(ปรมัตถธรรม)

ตามปกติ ตามความเป็นจริง ในชีวิตประจำวัน.



เพราะฉะนั้น

ไม่ว่าจะเป็นกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรม ก็ตาม

ขณะที่ท่านมีฉันทะที่จะกระทำกุศลกรรมประเภทหนึ่งประเภทใด

ในชีวิตประจำวันของท่าน......

ก็ขอให้สังเกต และ พิจารณาในขณะที่บำเพ็ญกุศลของแต่ละท่าน

ว่า...ท่านมี ฉันทะ ความพอใจที่จะกระทำกุศลอย่างไร.

แม้แต่ในเรื่องของทาน...แต่ละท่านก็มีฉันทะต่าง ๆ กัน

และบางครั้ง.....ก็ต้องมีวิริยะเป็นปัจจัย จึงจะทำสำเร็จ.

บางขณะ แม้มีฉันทะ...ก็จริง

แต่หากฉันทะ ไม่มีกำลังพอที่จะให้การกระทำทานให้สำเร็จได้

ก็ต้องอาศัยวิริยะเป็นปัจจัย คือ เป็นหัวหน้า เป็นอธิปติ(ปัจจัย)

การกระทำทาน ในขณะนั้น ๆ จึงจะสำเร็จได้.

เพราะฉะนั้น ถ้าสติเกิดขึ้น ระลึกได้ในขณะนั้น

จะเห็นลักษณะที่เป็นอธิปติ ที่เป็นปัจจัยของกุศลจิตในขณะนั้น

ว่าอะไร(สภาพธรรมใด)...เป็นอธิปติปัจจัย

นี่เป็นฝ่ายกุศล....

ฝ่ายอกุศล ก็เช่นเดียวกัน.



ขณะที่ระลึกได้ว่าท่านมีฉันทะขณะใด

หรือว่า อาศัยวิริยะขณะใด...

ในขณะที่ท่านกำลังทำธุรกิจการงานต่าง ๆ

ซึ่งทุกคนมีอาชีพประจำอยู่ มีกิจการงานที่จะต้องกระทำอยู่

ขณะนั้น เป็นกุศลหรืออกุศล...นี่คือสิ่งที่จะต้องรู้ก่อน

ถ้าเป็นอกุศล...

หมายความว่าขณะนั้น มีฉันทะเป็นอธิปดี

หรือว่ามีวิริยะเป็นอธิปดี.



สำหรับการงานอาชีพ ซึ่งไม่ได้เป็นไปในเรื่องของกุศล

ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในสมถภาวนา

ไม่เป็นไปในการเจริญสติปัฏฐาน

ขณะนั้น...ไม่มีปัญญาเป็นอธิปดีแน่นอน

เพราะเหตุว่า ปัญญาไม่เกิดกับอกุศลจิต.



หรือแม้ กุศลจิต ซึ่งเป็นญาณวิปยุตต์

คือ ขณะที่เป็นุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา

ก็จะมีเพียง ฉันทะ หรือ วิริยะ เป็นอธิปดี

แต่จะไม่มีวิมังสะ คือ ปัญญา เป็นอธิปดี.



เพราะฉะนั้น

ก็เป็นเรื่องละเอียดในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล

ซึ่งจะได้เห็นความเป็นปัจจัย...แม้เพียงชั่วขณะจิตที่เกิดขึ้น

และถ้าพิจารณาจริง ๆ ก็จะรู้ว่าขณะที่กระทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันนั้น

ขณะนั้น ประกอบด้วยเจตสิกอะไร...หรือ เป็นปัจจัยอะไร.



เช่น โลภะ เป็น เหตุปัจจัย ไม่เป็นอธิปติปัจจัย

ฉันทะ เป็นอธิปดี หรือ เป็นอธิปติปัจจัย แต่ไม่ใช่เหตุปัจจัย

ผัสสะ ไม่ใช่เหตุปัจจัย ไม่ใช่อธิปติปัจจัย

แต่ ผัสสะ เป็น อาหารปัจจัย.

ฯลฯ


ควรทราบว่าในสมัยครั้งพุทธกาลกุลบุตรผู้มีศรัทธาเมื่อเข้ามาบวช ย่อมได้รับ

การฝึกอบรมจากอุปัชฌาย์อาจราย์ ให้ศึกษาประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย

ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระภิกษุในยุดนั้นจึงเป็นผู้สำรวม มีมรรยาท

ทางกาย ทางวาจางาม น่าเลื่อมใส แต่ยุคปัจจุบันก็ต่างกันออกไป คือท่านไม่ได้

รับการฝึกอบรม ไม่ได้ศึกษา ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ผลคือเป็นผู้มี

ความประพฤติทางกายทางวาจาที่ไม่น่าดู ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส.....



ถ้าใช้คำว่า "ผลของกรรม" จะมีนัยที่กว้างกว่า เพราะอาจหมายถึง รูป ซึ่งเกิดจากกรรม

เป็นสมุฏฐาน(ที่ตั้ง) เช่น จักขุปสาทรูป (อยู่ตรงกลางตา) โสตปสาทรูป (อยู่ตรงกลาง

หู)ก็ได้ หรืออาจจะหมายถึงนามธรรมที่เป็นชาติวิบาก เช่น จิตเห็น จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น

จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เป็นต้น แต่ถ้าใช้คำว่า "วิบาก" จะหมายถึงนามธรรม

ได้แก่ จิตและเจตสิกที่เป็นชาติวิบากเท่านั้น ซึ่งก็เป็นผลของกรรมเช่นกัน แต่ว่าไม่ใช่

รูป เป็นนามธรรมที่เกิดเพราะกรรมที่ได้กระทำลงไปแล้วเป็นปัจจัย



วิบากคือผลของกรรม เป็นชื่อของจิตเจตสิก วิบากมีทั้งวิบากดีและวิบากไม่ดี ในชีวิต

ประจำวันของเราทุกคนได้รับวิบากกันตลอดเวลาอยู่แล้ว คือตั้งแต่ตื่นเช้าขึ้นมา มีการ

เห็น การได้ยิน การรู้กลิ่น การรู้รส การรู้สิ่งที่กระทบทางกาย ทั้งหมดเป็นวิบากทั้งสิ้น

แม้ขณะที่นอนหลับสนิทก็เป็นวิบาก ฉะนั้นทุกขณะที่เราได้รับ วิบากเราก็ไม่ทราบ

ว่ามาจากเหตุ คือกรรมใด แต่รู้ได้แต่เพียงว่าเป็นวิบาก เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งเท่านั้น

ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ในโลกวิปัตติสูตรพระพุทธเจ้าทรงแสดงถึง

การพิจารณาของพระอริยะ เมื่อได้รับโลกธรรมทั้งดีและไม่ดี

การได้รับวิบาก ผลของกรรม ก็ต้องมาจากเหตุ คือ การกระทำกุศลหรืออกุศล เหตุดี

ผลก็ดี เหตุไม่ดี ผลก็ไม่ดี เพียงแต่ว่า เมื่อวิบากให้ผลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นดีหรือไม่ดี จิต

ขณะต่อไปเป็นอย่างไร จะสร้างเหตุใหม่ในทางดีหรือไม่ดีหรือเปล่า บางคนได้รับผล

กรรมที่ไม่ดีก็ทำดี บางคนก็ทำชั่ว บางคนได้รับผลของกรรมที่ดี ก็ทำชั่ว บางคนก็ทำดี

เหล่านี้เกิดจากอะไร ก็เกิดจากเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมาทั้งนั้น การสะสมมาในทางกุศล

หรืออกุศลครับ คนที่สะสมในทางที่ดี มีปัญญา เมื่อได้รับวิบากดีหรือไม่ดี ก็ไม่ทำชั่ว

ทำดี เป็นต้น ส่วนบุคคลที่สะสมมาในทางไม่ดี ก็ตรงกันข้าม ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของ

ธรรมทั้งนั้นว่า เมื่อได้รับผลวิบากดีหรือไม่ดีจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครบังคับ หรือเป็นตัว

ตนที่จะให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แต่แล้วแต่การสะสม ไม่มีใครสั่งให้ อย่าโกรธนะ เมื่อ

ได้รับแล้วจะเป็นดั่งใจ แต่ธรรมต่างหากที่สะสมในฝ่ายดีหรือไม่ดี จะเป็นการปรุงแต่ง

ให้บุคคลนั้นเป็นอย่างไรครับ ซึ่งการจะสะสมสิ่งที่ดี ก็เริ่มจากการฟังพระธรรม นี้แหละ

ก็จะเป็นปัจจัยให้ปรุงแต่งในสิ่งที่ดี และเข้าใจการอบรมปัญญาในทางดับกิเลสว่า

ทุกอย่างเป็นธรรม ให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา แม้วิบากที่ให้ผล คือ ขณะ

เห็น เป็นต้นว่าเป็นธรรม มิใช่ว่าจะทำอย่างไรเมื่อกระทบกับวิบาก เพราะก็ยังเป็นตัวตน

ที่เป็นเรา ดี หรือ ไม่ดี อยู่นั่นเองครับ ค่อยๆ อบรมด้วยการฟังพระธรรม

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 310

๖. โลกวิปัตติสูตร

[๙๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล

ย่อมหมุนไปตามโลก และโลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการ

๘ ประการเป็นไฉน คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความ

เสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ ดูก่อนภิกษุ

ทั้งหลาย โลกธรรม ๘ ประการนี้แล ย่อมหมุนไปตามโลก และ

โลกย่อมหมุนไปตามโลกธรรม ๘ ประการนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ลาภก็ดี ความเสื่อมลาภก็ดี ยศก็ดี ความเสื่อมยศก็ดี นินทาก็ดี

สรรเสริญก็ดี สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ

ย่อมเกิดขึ้นแม้แก่อริยสาวกผู้ได้สดับ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในข้อนี้

จะมีอะไรแปลกกัน มีอะไรผิดกัน มีอะไรเป็นข้อแตกต่างกัน

ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ.

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม

ของข้าพระองค์ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมูล มีพระผู้มี

พระภาคเจ้าเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึงอาศัย ข้าแต่

พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส ขอเนื้อความแห่งภาษิตนี้

แจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด ภิกษุทั้งหลายได้สดับต่อพระ-

ผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว จักทรงจำไว้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าอย่างนั้น

เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ

พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ

ทั้งหลาย ลาภย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด

ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ลาภนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า

ลาภนั้นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

ความเสื่อมลาภ... ยศ... ความเสื่อมยศ... นินทา... สรรเสริญ...

สุข... ทุกข์ ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ เขาไม่ตระหนักชัด

ไม่ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า

ทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แม้ลาภ

ย่อมครอบงำจิตของเขาได้ แม้ความเสื่อมลาภ... แม้ยศ... แม้ความ

เสื่อมยศ... แม้นินทา... แม้สรรเสริญ... แม้สุข... แม้ทุกข์ ย่อม

ครอบงำจิตของเขาได้ เขาย่อมยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้าย

ในความเสื่อมลาภ ย่อมยินดียศที่เกิดขึ้น ย่อมยินร้ายในความเสื่อมยศ

ย่อมยินดีสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในนินทา ย่อมยินดี

สุขที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมยินร้ายในทุกข์ เขาประกอบด้วยความยินดี

ยินร้ายอย่างนี้ ย่อมไม่พ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ

ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส เรากล่าวว่า ไม่พ้นไปจากทุกข์.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ลาภย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้ได้สดับ

อริยสาวกนั้น ย่อมตระหนักชัด ทราบชัดตามความเป็นจริงว่า

ลาภเกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าลาภนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความ

แปรปรวนเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภ... ยศ... ความเสื่อมยศ...

นินทา... สรรเสริญ... สุข... ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นแก่อริยสาวกผู้ได้

สดับ อริยสาวกนั้นย่อมตระหนักชัด ทราบชัดตามความจริงว่า

ทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกข์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความ

แปรปรวนเป็นธรรมดา แม้ลาภย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้ แม้

ความเสื่อมลาภ... แม้ยศ... แม้ความเสื่อมยศ... แม้นินทา... แม้

สรรเสริญ... แม้สุข... แม้ทุกข์ย่อมครอบงำจิตของท่านไม่ได้

ท่านย่อมไม่ยินดีลาภที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในความเสื่อมลาภ

ไม่ยินดียศที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในความเสื่อมยศ ไม่ยินดีความ

สรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ยินร้ายในนินทา ไม่ยินดีสุขที่เกิดขึ้น

แล้ว ไม่ยินร้ายในทุกข์ ท่านละความยินดียินร้ายได้แล้วเด็ดขาด

อย่างนี้ ย่อมพ้นไปจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์

โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า ย่อมพ้นไปจากทุกข์ ดูก่อน

ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความแปลกกัน ผิดกัน แตกต่างกัน ระหว่าง

อริยสาวก ผู้ได้สดับกับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ. ฯลฯ

ธรรมในหมู่เหล่านี้ คือ ลาภ ๑

ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา

๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ เป็นสภาพไม่เที่ยง

ไม่แน่นอน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แต่

ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรมเหล่านั้น

แล้ว พิจารณาเห็นว่า มีความแปรปรวนเป็น

ธรรมดา ธรรมอันน่าปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของ

ท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่ออนิฏฐารมย์

ท่านขจัดความยินดีและยินร้ายเสียได้จนไม่เหลือ

อยู่ อนึ่ง ท่านทราบทางนิพพานอันปราศจาก

ธุลี ไม่มีความเศร้าโศกเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อม

ทราบได้อย่างถูกต้อง.

จบ โลกวิปัตติสูตรที่ ๖

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 425

๗. อตุละ การนินทาและสรรเสริญนั่นเป็นของ

เก่า นั่นไม่ใช่เป็นเหมือนมีในวันนี้ ชนทั้งหลายย่อม

นินทาผู้นั่งนิ่งบ้าง ย่อมนินทาผู้พูดมากบ้าง ย่อม

นินทาผู้พูดพอประมาณบ้าง ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีใน

โลก คนผู้ถูกนินทาโดยส่วนเดียว หรือว่าอันเขา

สรรเสริญโดยส่วนเดียว ไม่ได้มีแล้ว จักไม่มี และ

ไม่มีอยู่ในบัดนี้ หากว่าวิญญูชนใคร่ครวญแล้วทุก ๆ

วัน สรรเสริญผู้ใด ซึ่งมีความประพฤติไม่ขาดสาย

มีปัญญา ผู้ตั้งมั่นด้วยปัญญาและศีล ใครเล่าย่อมควร

เพื่อติเตียนผู้นั้น ผู้เป็นดังแท่งทองชมพูนุท แม้เทวดา

ทั้งหลายก็สรรเสริญเขา ถึงพรหมก็สรรเสริญแล้ว.

๘. พึงรักษาความกำเริบทางกาย พึงเป็นผู้

สำรวมทางกาย พึงละกายทุจริตแล้ว พึงประพฤติ

สุจริตทางกาย พึงรักษาความกำเริบทางวาจา พึงเป็น

ผู้สำรวมทางวาจา พึงละวจีทุจริต พึงประพฤติสุจริต

ทางวาจา พึงละความกำเริบทางใจ พึงเป็นผู้สำรวม

ทางใจ พึงละมโนทุจริตแล้ว พึงประพฤติสุจริตทาง

ใจ ธีรชนทั้งหลายสำรวมทางกาย สำรวมทางวาจา

สำรวมทางใจ ธีรชนเหล่านั้นแล ชื่อว่าสำรวม

รอบคอบดีแล้ว.

จบโกธวรรคที่ ๑๗.

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓- หน้าที่ 83

ข้อความบางตอนจาก เรื่องพระโกณฑธานเถระ

" เธออย่าได้กล่าวคำหยาบกะใคร ๆ, ชนเหล่าอื่น

ถูกเธอว่าแล้ว จะพึงตอบเธอ, เพราะการกล่าวแข่งขัน

กันให้เกิดทุกข์ อาชญาตอบพึงถูกต้องเธอ, ผิเธอ

อาจยังตนไม่ให้หวั่นไหวได้ ดังกังสดาลที่ถูกกำจัด

แล้วไซร้ เธอนั่นย่อมบรรลุพระนิพพาน, การกล่าว

แข่งขันกัน ย่อมไม่มีแก่เธอ."

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒- หน้าที่ 470

ข้อความบางตอนจาก เวปจิตติสูตร

บุคคลจงสำคัญเห็นว่า ผู้นี้อดกลั้น

ต่อเราเพราะความกลัวหรือหาไม่ก็ตามที

ประโยชน์ทั้งหลายมีประโยชน์ของตนเป็น

อย่างยิ่ง ประโยชน์ยิ่งกว่าขันติไม่มี ผู้ใด

แลเป็นคนมีกำลังอดกลั้นต่อคนผู้ทุรพล

ไว้ได้ ความอดกลั้นของผู้นั้น บัณฑิต

ทั้งหลายกล่าวว่าเป็นขันติอย่างยิ่ง คน

ทุรพลจำต้องอดทนอยู่เป็นนิตย์ บัณฑิต

ทั้งหลายกล่าวกำลังของผู้ซึ่งมีกำลังอย่าง

คนพาลว่ามิใช่กำลัง ไม่มีผู้ใดที่จะกล่าว

โต้ต่อผู้มีกำลังผู้ซึงธรรมคุ้มครองแล้วได้

เลย เพราะความโกรธนั้น โทษที่ลามก

จึงมีแก่ผู้ที่โกรธตอบต่อผู้ที่โกรธ บุคคลผู้

ไม่โกรธตอบต่อผู้ที่โกรธ ย่อมชื่อว่าชนะ

สงความซึ่งเอาชนะได้ยาก ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่น

โกรธแล้ว เป็นผู้มีสติระงับไว้ได้ ผู้นั้น

ชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย

คือ ทั้งฝ่ายตนและคนอื่น คนที่ไม่ฉลาด

ในธรรม ย่อมสำคัญเห็นผู้รักษาประโยชน์

ของทั้งสองฝ่าย คือ ของตนและของคน

อื่น ว่าเป็นคนโง่ ดังนี้.



เอาบุญมาฝากได้ถวายสังฆทาน เจริญวิปัสสนา ให้ธรรมะเป็นทาน และตั้งใจว่าจะไปปฏิบัติธรรม 3 วัน ขอให้อนุโมทนาด้วย


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO