นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อาทิตย์ 05 พ.ค. 2024 3:35 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: แสดงธรรมงาม
โพสต์โพสต์แล้ว: อังคาร 13 ต.ค. 2009 7:39 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4548
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง

งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์

บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลีในจักษุเป็นปกติ มีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรม ย่อม

เสื่อมรอบ ผู้รู้ทั่วถึงซึ่งธรรมจักมี


ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็จักไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรมครั้งนั้น

แล มารผู้มีบาปเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับไม่ว่าจะประทับที่ไหน ในที่

ตรัสรู้ใหม่ ๆ หรือว่าที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ผู้ที่คอยจะขัดขวางแล้ว ก็ติดตามที่

จะขัดขวางทุกทางที่จะกระทำได้

คำว่า "ย่อมเสื่อมรอบ" หรือ เสื่อมโดยรอบ หมายถึง เสื่อมทุกๆอย่าง คือ เสื่อมจากคุณ

ความดี เสื่อมจากบุญกุศล เสื่อมจากฌาน เสื่อมจากมรรคผล เสื่อมจากสวรรค์ เสื่อม

จากพรหมโลก เสื่อมจากพระนิพพาน เพราะฉะนั้นผู้ที่ฟังพระสัทธรรมแล้วจึงมีการ

เจริญกุศลทุกประการ จึงทำให้เกิดบนสวรรค์ เกิดบนพรหมโลก และบรรลุพระนิพพาน.

" อดทนต่อ...อกุศล " ในชีวิตประจำวันไม่ว่าจะได้รับอารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา

หรือได้รับอารมณ์ที่ไม่ดี อดทนที่จะไม่เป็นไปกับอกุศล ผู้มีปัญญาย่อมเห็นโทษ

ของอกุศล ควรน้อมกุศลธรรมเข้าสู่ตน สิ่งที่สำคัญที่สุด คืออดทนที่จะฟังพระธรรม

ให้เข้าใจ มีความจริงใจที่จะรู้ความจริงในสิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ อดทนที่จะประพฤติ

ธรรมสมควรแก่ธรรม อดทนที่จะอบรมเจริญกุศลทุกประการ

ธาตุวิภังคสูตร


[๖๗๓]

ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-


สมัยหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเสด็จจาริกไปในมคธชนบท

ทรงแวะยังพระนครราชคฤห์

เสด็จเข้าไปหานายช่างหม้อ ชื่อภัคควะ ยังที่อยู่ แล้วตรัสดังนี้ว่า


"ดูก่อนนายภัคควะ

ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่าน

เราจะขอพักอยู่ในโรงสักคืนหนึ่งเถิด"


นายภัคควะทูลว่า


"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าไม่มีความหนักใจเลย

แต่ในโรงนี้ มีบรรพชิตเข้าไปอยู่ก่อนแล้ว

ถ้าบรรพชิตนั้นอนุญาต ก็นิมนต์ท่านพักตามสบายเถิด"


[๖๗๔]

ก็สมัยนั้นแล

กุลบุตรชื่อปุกกุสาติ ออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต

อุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยศรัทธา.

ปุกกุสาติกุลบุตรนั้น เข้าไปพักอยู่ในโรงของนายช่างหม้อนั้นก่อนแล้ว.


ครั้งนั้นแล

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปหาท่านปุกกุสาติยังที่พัก

แล้วตรัสกะท่านปุกกุสาติดังนี้ว่า


"ดูก่อนภิกษุ ถ้าไม่เป็นความหนักใจแก่ท่าน

เราจะขอพักอยู่ในโรงสักคืนหนึ่งเถิด"


ท่านปุกกุสาติ ตอบว่า


"ดูก่อนท่านผู้มีอายุ โรงช่างหม้อกว้างขวาง

นิมนต์ท่านผู้มีอายุ พักตามสบายเถิด"


(๖๗๕)

ลำดับนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จเข้าไปสู่โรงช่างหม้อแล้ว

ทรงลาดสันถัดหญ้า ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ประทับนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งพระกายตรง ดำรงพระสติมั่นเฉพาะหน้า

พระองค์ประทับนั่ง ล่วงเลยราตรีไปเป็นอันมาก

แม้ท่านปุกกุสาติ ก็นั่งล่วงเลยราตรีไปเป็นอันมากเหมือนกัน.


ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระดำริดังนี้ว่า

กุลบุตรนี้ ประพฤติน่าเลื่อมใสหนอ เราควรถามดูบ้าง

ต่อนั้น พระองค์จึงตรัสถามท่านปุกกุสาติดังนี้ว่า


"ดูก่อนภิกษุ ท่านบวช อุทิศใครเล่า

หรือว่าใคร เป็นศาสดาของท่าน

หรือท่านชอบใจธรรม ของใคร"


[๖๗๖]

ท่านปุกกุสาติ ตอบว่า


"ดูก่อนท่านผู้มีอายุ มีพระสมณโคดม ผู้ศากยบุตร

เสด็จออกจากศากยราชสกุล ทรงผนวชแล้ว

ก็พระโคดมผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นแล มีกิตติศัพท์งามฟุ้งไป อย่างนี้ว่า

แม้เพราะเหตุดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

เป็นผู้ไกลจากกิเลส รู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถี ผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก อย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้

เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้แจกธรรม ดังนี้

ข้าพเจ้าบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

และพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เป็นศาสดาของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้า ชอบใจธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น"


พ.

"ดูก่อนภิกษุ

ก็เดี่ยวนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่ไหน"


ปุ

"ดูก่อนท่านผู้มีอายุ

มีพระนคร ชื่อว่าสาวัตถี อยู่ในชนบท ทางทิศเหนือ

เดี่ยวนี้ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่นั่น"


พ.

" ดูก่อนภิกษุ

ก็ท่านเคยเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นหรือ และท่านเห็นแล้วจะรู้จักไหม"


ปุ.

"ดูก่อนผู้มีอายุ

ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเลย ถึงเห็นแล้ว ก็ไม่รู้จัก"


[๖๗๗]


ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้มีพระดำริดังนี้ว่า

กุลบุตรนี้บวชอุทิศเรา เราควรจะแสดงธรรมแก่เขา.

แต่นั้น พระองค์จึงตรัสเรียกท่านปุกกุสาติว่า


"ดูก่อนภิกษุ

เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน ท่านจงพึงธรรมนี้ จงใส่ใจให้ดี

เราจักกล่าวต่อไป"


ท่านปุกกุสาติ ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

"ชอบแล้ว ท่านผู้มีอายุ"

[๖๗๖]

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสดังนี้ว่า


"ดูก่อนภิกษุ

คนเรานี้มีธาตุ ๖ มีแดนสัมผัส ๖ มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘

มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔


อันเป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว

ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตน และ กิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป

ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตน และกิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่

บัณฑิตจะเรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว ไม่พึงประมาทปัญญา

พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น

นี้ อุเทศแห่งธาตุวิภังค์หก.


[๖๗๙]

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า

" ดูก่อนภิกษุ คนเรานี้มีธาตุ ๖ นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว.

ดูก่อนภิกษุ ธาตุนี้มี ๖ อย่างนี้

คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ.


ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า

"ดูก่อนภิกษุ คนเรานี้ มีธาตุ ๖ นั้น เราอาศัยธาตุดังนี้ กล่าวแล้ว"

[๖๘๐]

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า

"ดูก่อนภิกษุ คนเรานี้มีแดนสัมผัส ๖ นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว

คือ จักษุ โสต ฆานะ ชิวหา กาย มโน เป็นแดนสัมผัส"


ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า

"ดูก่อนภิกษุ

คนเรานี้มีแดนสัมผัส นั่นเราอาศัย "อายตนะ" นี้ กล่าวแล้ว"


[๖๘๑]

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า

"ดูก่อนภิกษุ

คนเรานี้มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘ นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว"

คือ บุคคลเห็น รูป ด้วย จักษุ แล้ว

ย่อม หน่วงนึกรูป เป็นที่ตั้งแห่ง โสมนัส

หน่วงนึกรูป เป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส

หน่วงนึกรูป เป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา


ฟังเสียง ด้วยโสตแล้ว . . . ดมกลิ่น ด้วยฆานะแล้ว ...

ลิ้มรส ด้วยชิวหาแล้ว. . . ถูกต้องโผฏฐัพพะ ด้วยกายแล้ว. . .


รู้ธรรมารมณ์ ด้วยมโนแล้ว

ย่อมหน่วงนึกธรรมารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่ง โสมนัส

หน่วงนึกธรรมารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่ง โทมนัส

หน่วงนึกธรรมารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่ง อุเบกขา


นี้เป็นการหน่วงนึกโสมนัส ๖ หน่วงนึกโทมนัส ๖ หน่วงนึกอุเบกขา ๖.


ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า

"ดูก่อนภิกษุ

คนเรานี้ มีความหน่วงนึกของใจ ๑๘

นั่นเราอาศัยความหน่วงนึกนี้ กล่าวแล้ว"


[๖๘๒]

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า

" ดูก่อนภิกษุ คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ นั่นเราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว"

คือ มี ปัญญา เป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ

มี สัจจะ เป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ

มี จาคะ เป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ

มี อุปสมะ เป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจ

ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า

ดูก่อนภิกษุ คนเรานี้มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ นั้น

เราอาศัยธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจนี้ กล่าวแล้ว.


[๖๘๓]

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า

ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ พึงเพิ่มพูนจาคะ

พึงศึกษาสันติเท่านั้น นั่นเราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว.


ดูก่อนภิกษุ

อย่างไรเล่า ชื่อว่าไม่ประมาทปัญญา.!


ดูก่อนภิกษุ

ธาตุนี้ มี ๖ คือ

ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาณธาตุ.


[๖๘๔]

ดูก่อนภิกษุ

ก็ ปฐวีธาตุ เป็นไฉน คือ


ปฐวีธาตุ ภายในก็มี ภายนอกก็มี.


ก็ปฐวีธาตุภายในเป็นไฉน.?


ได้แก่ สิ่งที่แข่นแข็ง กำหนดได้มีในตน อาศัยตน

คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื้อในกระดูก

ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย

อาหารใหม่ อาหารเก่า

หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไร ๆ ที่แข่นแข็ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน

นี้เรียกว่า "ปฐวีธาตุภายใน"


ก็ ปฐวีธาตุ ทั้งภายในและภายนอก นี้แล

เป็น ปฐวีธาตุ ทั้งนั้น.!


พึงเห็น ปฐวีธาตุนั้น ด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า

นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่าย ปฐวีธาตุ

และ จะให้จิตคลายกำหนัดปฐวีธาตุได้.


[๖๘๕]

ดูก่อนภิกษุ ก็อาโปธาตุเป็นไฉน.?


คือ อาโปธาตุ ภายในก็มี ภายนอกก็มี.


ก็อาโปธาตุภายใน เป็นไฉน.?


ได้แก่สิ่งที่เอิบอาบ ซึมซาบไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน

คือ ดี เสลด น้ำเหลือง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน

น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไร ๆ

ที่เอิบอาบซึมซาบไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน

นี้เรียกว่า "อาโปธาตุภายใน"


ก็ อาโปธาตุ ทั้งภายในและภายนอก นี้แล

เป็น อาโปธาตุ ทั้งนั้น.


พึงเห็น อาโปธาตุ นั้น ด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า

นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายอาโปธาตุ

และ จะให้จิตคลายกำหนัดอาโปธาตุได้.


[๖๘๖]

ดูก่อนภิกษุ ก็เตโชธาตุ เป็นไฉน.?


คือ เตโชธาตุ ภายในก็มี ภายนอกก็มี.


ก็ เตโชธาตุภายใน เป็นไฉน.?


ได้แก่สิ่งที่อบอุ่น ถึงความเร่าร้อน กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน

คือ ธาตุที่เป็นเครื่องยังกายให้อบอุ่น ยังกายให้ทรุดโทรม ยังกายให้กระวนกระวาย

และธาตุที่เป็นเหตุให้ของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้ว ถึงความย่อยไปด้วยดี

หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไร ๆ ที่อบอุ่น ถึงความเร่าร้อน กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน

นี้เรียกว่า "เตโชธาตุภายใน"


ก็ เตโชธาตุ ทั้งภายในและภายนอก นี้แล

เป็น เตโชธาตุ ทั้งนั้น.


พึงเห็น เตโชธาตุ นั้น ด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า

นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา

ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายเตโชธาตุ

และจะให้จิตคลายกำหนัดเตโชธาตุได้.


[๖๘๗]

ดูก่อนภิกษุ ก็วาโยธาตุ เป็นไฉน.?


คือ วาโยธาตุ ภายในก็มี ภายนอกก็มี.


ก็วาโยธาตุภายใน เป็นไฉน.?


ได้แก่สิ่งที่พัดผันไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน

คือ ลมพัดขึ้นเบื้องบน ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในลำไส้

ลมแล่นไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า

หรือแม้สิ่งอื่นไม่ว่าชนิดไร ๆ ที่พัดผันไป กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน

นี้เรียกว่า "วาโยธาตุภายใน"


ก็ วาโยธาตุทั้งภายในและภายนอก นี้แล เป็น วาโยธาตุ ทั้งนั้น.


พึงเห็น วาโยธาตุ นั้น ด้วยปัญญา ชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า

นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา.

ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายวาโยธาตุ

และจะให้จิตคลายกำหนัดวาโยธาตุได้.


[๖๘๘]

ดูก่อนภิกษุ ก็ อากาสธาตุ เป็นไฉน.?


คือ อากาสธาตุภายในก็มี ภายนอกก็มี.


ก็อากาสธาตุภายใน เป็นไฉน.?


ได้แก่สิ่งที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน

คือ ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ซึ่งเป็นทางให้กลืนของที่กิน ที่ดม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม.

เป็นที่ตั้งของที่กิน ที่ดื่ม ที่เคี้ยว ที่ลิ้ม

และเป็นทางระบายของที่กิน ที่ดม ที่เคี้ยว ที่ลิ้มแล้วออกทางเบื้องล่าง

หรือแม้สิ่งอื่น ไม่ว่าชนิดไร ๆ ที่ว่าง ปรุโปร่ง กำหนดได้ มีในตน อาศัยตน

นี้เรียกว่า "อากาสธาตุภายใน"


ก็อากาสธาตุ ทั้งภายในและภายนอก นี้แล

เป็นอากาสธาตุทั้งนั้น.


พึงเห็นอากาสธาตุนั้น ด้วยปัญญาชอบ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า

นั้นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั้นไม่ใช่อัตตาของเรา.

ครั้นเห็นแล้ว จะเบื่อหน่ายอากาสธาตุ

และจะให้จิตคลายกำหนัดอากาสธาตุได้.


[๖๘๙]

ต่อนั้นสิ่งที่จะเหลืออยู่อีกก็คือ วิญญาณ อันบริสุทธิ์ ผุดผ่อง

บุคคลย่อมรู้อะไร ๆ ได้ด้วยวิญญาณนั้น

คือ รู้ชัดว่า สุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง.


ดูก่อนภิกษุ

เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมเกิดสุขเวทนา.

บุคคลนั้นเมื่อเสวยสุขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่

เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแลดับไป

ย่อม รู้ชัด ว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น

คือ ตัวสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา

ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ.


เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมเกิดทุกขเวทนา.

บุคคลนั้น เมื่อเสวยทุกขเวทนา

ย่อมรู้ชัดว่า กำลังเสวยทุกขเวทนาอยู่

เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นแล ดับไป

ย่อมรู้ชัดว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น

คือ ตัวทุกขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา

ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ.


เพราะอาศัยผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเกิดอทุกขมสุขเวทนา.

บุคคลนั้น เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า กำลังเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่

เพราะผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแล ดับไป

ย่อมรู้ชัดว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น

คือ ตัวอทุกขมสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา

ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ.


[๖๙๐]

ดูก่อนภิกษุ

เปรียบเหมือนเกิดความร้อน เกิดไฟได้ เพราะไม้สองท่อนประชุมสีกัน

ความร้อนที่เกิดแต่ไม้สองท่อนนั้น ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ

เพราะไม้สองท่อนนั้นเอง แยกกันไปเสียคนละทาง แม้ฉันใด

ดูก่อนภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล

เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา ย่อมเกิดสุขเวทนา.

บุคคลนั้น เมื่อเสวยสุขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า กำลังเสวยสุขเวทนาอยู่

เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแลดับไป

ย่อมรู้ชัดว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น

คือตัวสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนา

ย่อมดับ ย่อมเข้าสงบ.


เพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา ย่อมเกิดทุกขเวทนา.

บุคคลนั้น เมื่อเสวยทุกขเวทนา

ย่อมรู้ชัดว่า กำลังเสวยทุกขเวทนาอยู่

เพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนานั้นแล ดับไป

ย่อมรู้ชัดว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น

คือ ตัวทุกขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งทุกขเวทนา

ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ.


เพราะอาศัยผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเกิดอทุกขมสุขเวทนา.

บุคคลนั้น เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมรู้ชัดว่า กำลังเสวยอทุกขมสุขเวทนาอยู่

เพราะผัสสะ เป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนานั้นแล ดับไป

ย่อมรู้ชัดว่า ความเสวยอารมณ์ที่เกิดแต่ผัสสะนั้น

คือ ตัวอทุกขมสุขเวทนาอันเกิดเพราะอาศัยผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งอทุกขมสุขเวทนา

ย่อมดับ ย่อมเข้าไปสงบ.


อยู่อีกก็คือ อุเบกขา อัน บริสุทธิ์ ผุดผ่อง อ่อน ควรแก่การงานและผ่องแผ้ว.

[๖๙๑]

ฯลฯ

[๖๙๒]

ดูก่อนภิกษุ

เปรียบเหมือนประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมันและไส้ จึงโพลงอยู่ได้

เพราะสิ้นน้ำมันและไส้นั้น และไม่เติมน้ำมัน

และไส้อื่นย่อมเป็นประทีปหมดเชื้อ ดับไป ฉันใด

ดูก่อนภิกษุ ฉันนั้นเหมือนกันแล

บุคคลนั้นเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด

ย่อมรู้ชัดว่า กำลังเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด

เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า กำลังเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด

และรู้ชัดว่า เบื้องหน้าแต่สิ้นชีวิต เพราะตายไปแล้ว

ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดีกันแล้วในโลกนี้แล จักเป็นของสงบ.


เพราะเหตุนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้สึกอย่างนี้

ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา

อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งด้วยประการนี้.


ก็ปัญญานี้ คือความรู้ในความสิ้นทุกข์ทั้งปวง

เป็นปัญญาอันประเสริฐยิ่ง

ความหลุดพ้นของเขานั้น จัดว่าตั้งอยู่ในสัจจะ เป็นคุณไม่กำเริบ.


ดูก่อนภิกษุ เพราะสิ่งที่เปล่าประโยชน์เป็นธรรมดานั้นเท็จ

สิ่งที่ไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา ได้แก่ นิพพาน นั้นจริง

ฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะอย่างนี้

ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสัจจะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้.

ก็สัจจะนี้ คือนิพพาน มีความไม่เลอะเลือนเป็นธรรมดา

เป็นสัจจะอันประเสริฐยิ่ง.


อนึ่ง บุคคลนั่นแล ยังไม่ทราบในกาลก่อน

จึงเป็นอันพรั่งพร้อม สมาทานอุปธิเข้าไป

อุปธิเหล่านั้น เป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว

ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา

เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยการสละอย่างนี้

ชื่อว่าเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้.

ก็จาคะนี้ คือความสละคืนอุปธิทั้งปวง เป็นจาคะอันประเสริฐยิ่ง.


อนึ่ง บุคคลนั้นแล ยังไม่ทราบในกาลก่อน

จึงมีอภิชฌา ฉันทะ ราคะกล้า อาฆาต พยาบาทความคิดประทุษร้าย อวิชชา

ความหลงพร้อม และความหลงงมงาย

อกุศลธรรมนั้น ๆ เป็นอันเขาละได้แล้ว ถอนรากขึ้นแล้ว

ทำให้เหมือนตาลยอดด้วนแล้ว ถึงความเป็นอีกไม่ได้ มีความไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดา

เพราะฉะนั้น ผู้ถึงพร้อมด้วยความสงบอย่างนี้

ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยอุปสมะ อันเป็นธรรมควรตั้งไว้ในใจอย่างยิ่งประการนี้.

ก็อุปสมะนี้ คือความเข้าไปสงบราคะ โทสะ โมหะ

เป็นอุปสมะ อันประเสริฐอย่างยิ่ง.


ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า


ไม่พึงประมาทปัญญา พึงตามรักษาสัจจะ

พึงเพิ่มพูนจาคะ พึงศึกษาสันติเท่านั้น


นั่น เราอาศัยเนื้อความนี้ กล่าวแล้ว.


[๖๙๓]

ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า คนเรา มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔


อันเป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตน

และกิเลสเครื่องหมักหมมเป็นไป

ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม ไม่เป็นไปอยู่

บัณฑิตจะเรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว...นั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว.


ดูก่อนภิกษุ ความสำคัญตน มีอยู่ดังนี้ ว่า

เราเป็น เราไม่เป็น เราจักเป็น เราจักไม่เป็น

เราจักต้องเป็นสัตว์มีรูป เราจักต้องเป็นสัตว์ไม่มีรูป

เราจักต้องเป็นสัตว์มีสัญญา เราจักต้องเป็นสัตว์ไม่มีสัญญา

เราจักต้องเป็นสัตว์ไม่มีสัญญาก็มิใช่มีสัญญาก็มิใช่.

ดูก่อนภิกษุ ความสำคัญตนจัดเป็นโรค เป็นหัวผี เป็นลูกศร

ก็ท่านเรียกบุคคลว่า เป็นมุนีผู้สงบแล้ว.


เพราะล่วงความสำคัญตนได้ทั้งหมดเทียว

และ มุนีผู้สงบแล้วแล

ย่อมไม่เกิดไม่แก่ ไม่ตาย ไม่กำเริบ ไม่ทะเยอทะยาน.

แม้มุนีนั้น ก็ไม่มีเหตุที่จะต้องเกิดเมื่อไม่เกิด จักแก่ได้อย่างไร

เมื่อไม่แก่ จักตายได้อย่างไร เมื่อไม่ตาย จักกำเริบได้อย่างไร

เมื่อไม่กำเริบ จักทะเยอทะยานได้อย่างไร.

ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า คนเรา มีธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อัน

เป็นธรรมที่ผู้ตั้งอยู่แล้ว

ไม่มีกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมม เป็นไป

ก็เมื่อกิเลสเครื่องสำคัญตนและกิเลสเครื่องหมักหมมไม่เป็นไปอยู่

บัณฑิตจะเรียกเขาว่า มุนีผู้สงบแล้ว นั่นเราอาศัยเนื้อความกล่าวแล้ว.


ดูก่อนภิกษุ

ท่านจงทรงจำ "ธาตุวิภังค์ ๖" โดยย่อนี้ของเราไว้เถิด.


[๖๙๔]

ลำดับนั้นแล ท่านปุกกุสาติทราบแน่นอนว่า

พระศาสดาพระสุคต พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาถึงแล้วโดยลำดับ

จึงลุกจากอาสนะ ทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง

ซบเศียรลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า

แล้วทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า


"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

โทษล่วงเกินได้ต้องข้าพระองค์เข้าแล้ว ผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด

ซึ่งข้าพระองค์ได้สำคัญ ถ้อยคำที่เรียกพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยวาทะว่า

ดูก่อนท่านผู้มีอายุ

ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงรับอดโทษล่วงเกินแก่ข้าพระองค์

เพื่อจะสำรวมต่อไปเถิด"


[๖๙๕]

พ.

" ดูก่อนภิกษุ

เอาเถอะ โทษล่วงเกินได้ต้องเธอผู้มีอาการโง่เขลา ไม่ฉลาด

ซึ่งเธอได้สำคัญ ถ้อยคำที่เรียกเราด้วยวาทะว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ

แต่เพราะเธอเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษ แล้วกระทำคืนตามธรรม

เราขอรับอดโทษนั้นแก่เธอ

ดูก่อนภิกษุ ก็ข้อที่บุคคลเห็นโทษล่วงเกินโดยความเป็นโทษ

แล้วกระทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไปได้นั้น

เป็นความเจริญในอริยวินัย.

ปุ.

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

ขอข้าพระองค์พึงได้อุปสนบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด"

พ.

" ดูก่อนภิกษุ ก็บาตรจีวรของเธอครบแล้วหรือ"

ปุ.

"ยังไม่ครบ พระพุทธเจ้าข้า"

พ.

"ดูก่อนภิกษุ ตถาคตทั้งหลาย

จะให้กุลบุตรผู้มีบาตรและจีวรยังไม่ครบอุปสมบทไม่ได้เลย"


[๖๙๖]

ลำดับนั้น

ท่านปุกกุสาติ ยินดี อนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว

ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า

กระทำประทักษิณแล้ว หลีกไปหาบาตรจีวร.

ทันใดนั้นแล

แม่โคได้ปลิดชีพท่านปุกกุสาติ ผู้กำลังเที่ยวหาบาตรจีวรอยู่.

ต่อนั้น ภิกษุมากรูปด้วยกัน

ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ

แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พอนั่งเรียบร้อยแล้วได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า


"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

กุลบุตร ชื่อปุกกุสาติ

ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนด้วยพระโอวาทย่อ ๆ คนนั้น ทำกาละเสียแล้ว

เขาจะมีคติอย่างไร มีสัมปรายภพอย่างไร"


[๖๙๗]

พ.


"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ปุกกุสาติกุลบุตร เป็นบัณฑิต ได้บรรลุธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว

ทั้งไม่ให้เราลำบากเพราะเหตุแห่งธรรม.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ปุกกุสาติกุลบุตร เป็นผู้เข้าถึงอุปปาติกเทพ

เพราะสิ้นสัญโญชน์ อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕

เป็นอันปรินิพพานในโลกนั้น

มีความไม่กลับมาจากโลกนั้นอีก เป็นธรรมดา"



พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว

ภิกษุเหล่านั้น ต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล.


.....................จบ ธาตุวิภังคสูตร ที่ ๑๐.....................


ดูก่อนอานนท์

เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน.?

สาวกมองเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงควรใกล้ชิดติดตามศาสดา.


ท่านพระอานนท์ทูลว่า


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเหตุ

มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแบบอย่าง

มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย

ขอได้โปรดเถิด พระพุทธเจ้าข้า

เนื้อความแห่งพระภาษิตนี้

แจ่มแจ้ง เฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้น

ภิกษุทั้งหลาย พึงต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว

จักทรงจำไว้.

.
.
.

ว่าด้วยกถาวัตถุ ๑๐

[๓๕๑]


พ.

ดูก่อนอานนท์

สาวก ไม่ควรจะติดตามศาสดา เพียงเพื่อฟังสุตตะ เคยยะ

และ ไวยากรณ์ เลยนั้น เพราะเหตุไร.?


เพราะธรรมทั้งหลาย อันพวกเธอสดับแล้ว

ทรงจำแล้ว คล่องปากแล้ว เพ่งตามด้วยใจแล้ว แทงตลอดดีแล้ว

ด้วยความเห็น เป็นเวลานาน


ดูก่อนอานนท์

แต่สาวก ควรจะใกล้ชิดติดตามศาสดา เพื่อฟังเรื่องราวเห็นปานฉะนี้

ซึ่ง เป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง

เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ

เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย ส่วนเดียว

เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส

เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

.
.
.

คือ

เรื่องมักน้อย เรื่องยินดีของของตน

เรื่องความสงัด เรื่องไม่คลุกคลี

เรื่องปรารภความเพียร

เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา

เรื่องวิมุตติ

เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ.

.
.
.

ดูก่อนอานนท์

เมื่อเป็นเช่นนั้น

จะมีอุปัทวะของอาจารย์

อุปัทวะของศิษย์

อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์.


[๓๕๒]


ดูก่อนอานนท์

ก็อุปัทวะของอาจารย์ ย่อมมีได้อย่างไร.?


ดูก่อนอานนท์

ศาสดาบางท่านในโลกนี้ ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด

คือ ป่า Fคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ

ที่แจ้ง และ ลอมฟาง

เมื่อศาสดานั้น หลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่

พวกพราหมณ์ และคฤหบดี ชาวนิคม และชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา

เมื่อพวกพราหมณ์ และคฤหบดี

ชาวนิคมและชาวชนบท พากัน เข้าไปหาแล้ว

ศาสดานั้น จะปรารถนาอย่างหมกมุ่น จะถึงความวุ่นวาย

จะเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก.


ดูก่อนอานนท์

ศาสดานี้ เรียกว่า อาจารย์มีอุปัทวะ ด้วยอุปัทวะของอาจารย์

อกุศลธรรม อันลามกเศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่

มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก

เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา มรณะต่อไป ได้ฆ่าศาสดานั้นเสียแล้ว.


ดูก่อนอานนท์

อย่างนี้แล อุปัทวะของอาจารย์ย่อมมีได้.


[๓๕๓]


ดูก่อนอานนท์

ก็อุปัทวะของศิษย์ ย่อมมีได้อย่างไร.?


ดูก่อนอานนท์

สาวกของศาสดานั้นแล เมื่อเพิ่มพูนวิเวกตามศาสดานั้น

ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด

คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ

ที่แจ้ง และลอมฟาง

เมื่อสาวกนั้น หลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่

พวกพราหมณ์ และคฤหบดี ชาวนิคม และชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา

เมื่อพวกพราหมณ์ และคฤหบดี

ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว

สาวกนั้น จะปรารถนาอย่างหมกมุ่น จะถึงความวุ่นวาย

จะเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก.


ดูก่อนอานนท์

สาวกนี้ เรียกว่าศิษย์มีอุปัทวะ ด้วยอุปัทวะของศิษย์

อกุศลธรรมอันลามก เศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่

มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก

เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรามรณะต่อไป ได้ฆ่าสาวกนั้นเสียแล้ว.


ดูก่อนอานนท์

อย่างนี้แล อุปัทวะของศิษย์ย่อมมีได้.


(อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์)

[๓๕๘]


ดูก่อนอานนท์

ก็อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ย่อมมีได้อย่างไร.?


ดูก่อนอานนท์

ตถาคต อุบัติในโลกนี้ ได้เป็นผู้ไกลจากกิเลส

รู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ.

ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก

เป็นสารถี ผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก อย่างหาคนอื่นยิ่งกว่ามิได้

เป็นครูของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย

เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้แจกธรรม

ตถาคตนั้น ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด

คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ

ที่แจ้ง และ ล้อมฟาง

เมื่อตถาคตนั้น หลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่

พวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเขาไปหา

เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว

ตถาคตนั้น ย่อมไม่ปรารถนาอย่างหมกมุ่น ไม่ถึงความวุ่นวาย

ไม่เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก.


ดูก่อนอานนท์

ส่วนสาวกของตถาคตผู้ศาสดานั้นแล

เมื่อเพิ่มพูนวิเวก ตามคถาคตผู้ศาสดา ย่อมพอใจเสนาสนะอันสงัด

คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำบนภูเขา ป่าช้า ป่าชัฏ

ที่แจ้ง และลอมฟาง

เมื่อสาวกนั้นหลีกออกแล้วอย่างนั้นอยู่

พวกพราหมณ์และคฤหบดี ชาวนิคมและชาวชนบท จะพากันเข้าไปหา

เมื่อพวกพราหมณ์และคฤหบดี

ชาวนิคมและชาวชนบท พากันเข้าไปหาแล้ว

สาวกนั้น ย่อมปรารถนาอย่างหมกมุ่น

ถึงความวุ่นวาย เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมาก.


ดูก่อนอานนท์

สาวกนี้ เรียกว่า

ผู้ประพฤติพรหมจรรย์มีอุปัทวะ ด้วยอุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์

อกุศลธรรม อันลามกเศร้าหมอง เป็นเหตุเกิดในภพใหม่

มีความกระวนกระวาย มีทุกข์เป็นวิบาก

เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรามรณะต่อไป ได้ฆ่าสาวกนั้นเสียแล้ว.


ดูก่อนอานนท์

อย่างนี้แล อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ย่อมมีได้.


ดูก่อนอานนท์

ในอุปัทวะทั้ง ๓ นั้น

อุปัทวะของผู้ประพฤติพรหมจรรย์นี้

มีวิบากเป็นทุกข์

มีวิบากเผ็ดร้อนกว่าอุปัทวะของอาจารย์ และอุปัทวะของศิษย์

ทั้งเป็นไปเพื่อความตกต่ำด้วย.


ดูก่อนอานนท์

เพราะฉะนั้นแล

พวกเธอจงเรียกร้องเราด้วยความเป็นมิตร

อย่าเรียกร้องเรา ด้วยความเป็นข้าศึก

ข้อนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล

เพื่อความสุขแก่พวกเธอ

ตลอดกาลนาน.


[๓๕๕]


ดูก่อนอานนท์

ก็เหล่าสาวก ย่อมเรียกร้องศาสดา ด้วยความเป็นข้าศึก

ไม่ใช่เรียกร้องด้วยความเป็นมิตรอย่างไร.?


ดูก่อนอานนท์

ศาสดาในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล

อาศัยความเอ็นดู แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า

นี่เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ

นี้เพื่อความสุขแก่พวกเธอ.........


เหล่าสาวกของศาสดานั้น

ไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยโสตสดับ ไม่ตั้งจิตรับรู้

และประพฤติหลีกเลี่ยงคำสอนของศาสดา

ดูก่อนอานนท์ อย่างนี้แล

เหล่าสาวก ชื่อว่าเรียกร้องศาสดา ด้วยความเป็นข้าศึก

ไม่ใช่เรียกร้อง ด้วยความเป็นมิตร.

.
.
.

(ว่าด้วยมิตรปฏิบัติ)

[๓๕๖]


ดูก่อนอานนท์

ก็เหล่าสาวก ย่อมเรียกร้องศาสดา ด้วยความเป็นมิตร

ไม่ใช่เรียกร้อง ด้วยความเป็นข้าศึก อย่างไร.?


ดูก่อนอานนท์

ศาสดาในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้อนุเคราะห์ แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล

อาศัยความเอ็นดู แสดงธรรมแก่สาวกทั้งหลายว่า

นี้เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พวกเธอ

นี้เพื่อความสุขแก่พวกเธอ.........


เหล่าสาวกของศาสดานั้น

ย่อมฟังด้วยดี เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตรับรู้

และไม่ประพฤติหลีกเลียงคำสอนของศาสดา

ดูก่อนอานนท์ อย่างนี้แล

เหล่าสาวก ชื่อว่าเรียกร้องศาสดาด้วยความเป็นมิตร

ไม่ใช่เรียกร้องด้วยความเป็นข้าศึก.


ดูก่อนอานนท์

เพราะฉะนั้นแล

พวกเธอจงเรียกร้องเรา ด้วยความเป็นมิตร

อย่าเรียกร้องเรา ด้วยความเป็นข้าศึก

ข้อนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล

เพื่อความสุขแก่พวกเธอ

ตลอดกาลนาน.


ดูก่อนอานนท์

เราจักไม่ประคับประคองพวกเธอ

เหมือนช่างหม้อ ประคับประคองภาชนะดินดิบที่ยังดิบ ๆ อยู่

เราจักข่มแล้ว ๆ จึงบอก จักยกย่องแล้ว ๆ จึงบอก

ผู้ใด มีแก่นสารผืนนี้ จักตั้งอยู่.


พระผู้มีพระภาคเจ้า

ได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว

ท่านพระอานนท์

จึงชื่นชมยินดีพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล.



..................จบ มหาสูญญตสูตรที่ ๒..................


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
 หัวข้อกระทู้: Re: แสดงธรรมงาม
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 14 ต.ค. 2009 8:35 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: จันทร์ 15 ก.ย. 2008 2:57 pm
โพสต์: 212
สาธุค่ะ คุณรสมน...ขอบคุณค่ะ... :pry:


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO