พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

โอฆะ

พุธ 30 ก.ย. 2009 10:10 am

โอฆะ

อ่าว หรือ ห้วงน้ำ


เป็นห้วงน้ำที่ไหลวน

มีลักษณะที่ดูดสัตว์ให้จมลง....สู่ที่ต่ำ


กล่าวคือ

จมอยู่ในระหว่าง อบายภูมิ ถึง พรหมภูมิ

จนกว่าจะแหวกว่ายขึ้นมา....ไปถึง "โคตรภูญาณ"


.


โอฆะ ๔

.

กาโมฆะ

(กาม-โอฆะ)


ห้วงแห่งกาม


พาหมู่สัตว์ให้จมอยู่ใน กามคุณทั้ง ๕.


องค์ธรรม

คือ

โลภเจตสิก ใน โลภมูลจิต ๘.


.


ภโวฆะ

(ภพ-โอฆะ)


ห้วงแห่งภพ


พาหมู่สัตว์ให้จมอยู่ ในความยินดีแห่งอัตภาพของตน

ตลอดจน ความชอบใจ อยากได้ถึง รูปภพ หรือ อรูปภพ.


องค์ธรรม

คือ

โลภเจตสิก ใน ทิฏฐิคตวิปยุตตจิต ๔


.


ทิฎโฐฆะ

(ทิฏฐิ-โอฆะ)


ห้วงแห่งความเห็นผิด


พาหมู่สัตว์ให้จมอยู่ ในความเห็นผิด

เห็นผิดจากความเป็นจริง ของสภาวธรรม.


องค์ธรรม

คือ

ทิฏฐิเจตสิก ใน ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔


.


อวิชโชฆะ

(อวิชชา-โอฆะ)


ห้วงแห่งความหลง


พาหมู่สัตว์ให้ลุ่มหลง และจมอยู่ในความไม่รู้

ไม่รู้ เหตุ และ ผล ตามความเป็นจริง ของสภาวธรรม

จึงมีความ โลภ โกรธ หลง.


องค์ธรรม

คือ

โมหเจตสิก ใน อกุศลจิต ๑๒


.


โอฆะ มี ๔

แต่ องค์ธรรม มี ๒ คือ

โลภเจตสิก ทิฏฐิเจตสิก โมหเจตสิก

สิ่งใดสิ่งหนึ่ง........มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

สิ่งนั้นทั้งมวล ล้วนมีความดับไป เป็นธรรมดา.





ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ

พระตถาคต ทรงแสงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น

และ ความดับไปแห่งธรรมเหล่านั้น

พระมหาสมณะมีปกติ ตรัสอย่างนี้.





สิ่งใดสิ่งหนึ่ง

มีความเกิดขึ้น เป็นธรรมดา

สิ่งเหล่านั้น ทั้งมวล

มีความดับไป เป็นธรรมดา.





พวกเธอ จงเป็นภิกษุ มาเถิด

ธรรม อันเรากล่าวดีแล้ว

พวกเธอ จงประพฤติพรหมจรรย์

เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์ โดยชอบเถิด.





ขันติ เป็น ธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง

พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสว่า

นิพพาน เป็น ธรรมอันสูงสุด


ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่า เป็น บรรพชิต

ผู้เบียดเบียนผู้อื่น

ไม่ชื่อว่า เป็น สมณะ


การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑

การยังกุศลให้ถึงพร้อม ๑

ทำจิตใจให้ผ่องใส ๑


นี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.


การไม่กล่าวร้าย ๑

การไม่ทำร้าย ๑

ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑

ความเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ๑

ที่นั่งที่นอนอันสงัด ๑

การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑


นี้ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.





บุคคล ไม่พึงประมาท ในบิณฑบาตรที่ตนได้รับ

ควรประพฤติธรรมให้สุจริต

บุคคล ผู้ประพฤติธรรม

ย่อมอยู่เป็นสุข ทั้งในโลกนี้ และ โลกหน้า.





"ดูก่อน โคตมี

พระนางจงถวายสงฆ์เถิด


เมื่อถวายสงฆ์

จักเป็นอันพระนางได้บูชา ทั้งอาตมา และ สงฆ์


เพราะ เจตนา ๓

คือ

ก่อนถวาย ๑ กำลังถวาย ๑ โสมนัสเมื่อถวายแล้ว ๑


ความปรารถนาของนาง จักรวมเป็นอันเดียวกัน

จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล

เพื่อความสุขตลอดกาล แก่พระนาง.





ธรรม ย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

ธรรม ที่บุคคลประพฤติดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้

ผู้ประพฤติธรรม ย่อมไม่ไปทุคติ.





ภิกษุผู้ออกบวชใหม่ ๆ ด้วยศรัทธา ยังใหม่ต่อการศึกษา

ควรคบหากัลยาณมิตร

พำนักอยู่ในหมู่สงฆ์ผู้ฉลาด

ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ

เป็นผู้ฉลาด ในสิ่งที่ควร และ ไม่ควร

ไม่ควรประพฤติตน เป็นคนออกหน้าออกตา.





การถวายวิหาร แก่สงฆ์ เพื่อเร้นอยู่ เพื่อเจริญวิปัสสนา

พระพุทธเจ้าทั้งหลาย

สรรเสริญการถวายเสนาสนะแก่สงฆ์ ว่า เป็นทาน อันเลิศ.





ลำดับนั้น

พระพุทธองค์ทรงล้างพระบาทแล้ว

เหลือน้ำไว้ในภาชนะหน่อยหนึ่ง.

ตรัสกับสามเณรว่า


"ดูก่อน ราหุล เธอเห็นน้ำที่เหลืออยู่ในภาชนะนี้หรือ"

.

"เหลืออยู่เล็กน้อย พระเจ้าข้า"

.

"ดูก่อน ราหุล

สมณธรรมของผู้ที่ไม่มีคุณธรรมในการกล่าวมุสา ทั้งที่รู้อยู่

ก็มีน้อยเหมือนน้ำนี้ เช่นกัน ฉะนั้น"


จากนั้น พระผู้มีพระภาคฯ ทรงเทน้ำที่เหลืออยู่นั้นทั้งหมด

ตรัสว่า

"ดูก่อน ราหุล

สมณธรรมของผู้ไม่มีคุณธรรมในการกล่าวมุสา ทั้งที่รู้อยู่

ก็เป็นของที่เขาทิ้งเสียแล้วเหมือนกัน ฉะนั้น"


พระผู้มีพระภาคฯ ทรงคว่ำภาชนะนั้น

ตรัสว่า

"ดูก่อน ราหุล

สมณธรรมของผู้ที่ไม่มีคุณธรรมในการกล่าวมุสา ทั้งที่รู้อยู่

ก็เป็นของว่างเปล่าเหมือนกัน ฉันนั้น"


ลำดับนั้น

พระผู้มีพระภาคฯ ทรงหงายภาชนะน้ำนั้นขึ้น

ตรัสว่า

"ดูก่อน ราหุล

สมณธรรมของผู้ไม่มีคุณธรรมในการกล่าวมุสาอยู่ ทั้งที่รู้อยู่

ก็เป็นของว่างเปล่าเหมือนกัน ฉันนั้น.


"ดูก่อน ราหุล

ผู้กล่าวเท็จ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่...จะไม่ทำบาป ไม่มี

เพราะเหตุนั้นแหละ เธอพึงศึกษา ว่า

เราจักไม่กล่าวมุสา แม้เพียงเพื่อหัวเราะกันเล่น"

.

"ดูก่อน ราหุล แว่น มีประโยชน์อย่างไร.?"

.

"มีประโยชน์สำหรับส่องดูตัวเอง พระเจ้าข้า"

.

"ดูก่อน ราหุล

ฉันนั้น เหมือนกัน

เมื่อเธอจะทำกรรมใด ด้วยกาย วาจา และ ใจ

เธอพึงตรวจตราพิจารณา ว่า


กรรมใด เบียดเบียนตน และ ผู้อื่น

เป็นอกุศล มีทุกข์เป็นกำไร มีทุกข์เป็นวิบาก

กรรมนั้น เธอไม่ควรทำ

ส่วนกรรมใด ทำแล้ว ไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร มีสุขเป็นวิบาก

เธอพึงมีปีติ ปราโมทย์ ศึกษาในกุศลธรรมเหล่านั้น

ทั้งกลางวัน กลางคืนเถิด"


"ดูก่อน ราหุล

สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ในอดีต

ชำระกายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม แล้วอย่างนี้

ในอนาคต ก็จักชำระอย่างนี้

แม้ในปัจจุบัน ก็ย่อมชำระ อย่างนี้


ฉะนั้น

เธอ เมื่อจะศึกษาตามสมณพราหมณ์

ก็พึงศึกษาอย่างนี้ เหมือนกัน"

อสิพันธกบุตร กราบทูลถามว่า


ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ

พระองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

สามารถกระทำสัตว์โลกทั้งหมดเมื่อสิ้นชีพไป

ให้เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ได้หรือไม่.?


พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า


ดูก่อน นายคามณี

เราขอย้อนถามท่านก่อน ว่า

บุรุษในโลกนี้

ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม

พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ

มากไปด้วย อภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิด

หมู่มหาชนมาประชุมกันแล้ว

พึงสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือ

เดินเวียนรอบผู้นั้น ว่า

บุรุษนี้ เมื่อสิ้นชีพ พึงเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน เพราะเหตุแห่งการสรรเสริญ

เพราะเดินเวียนรอบบุรุษนั้น ได้หรือ.?


ดูก่อน นายคามณี

เปรียบเหมือนบุรุษ โยนหินก้อนใหญ่ลงในห้วงน้ำลึก

มหาชนแม้จักช่วยกันสวดวิงวอน

ประนมมือสรรเสริญ รอบสระน้ำนั้น

ขอให้ก้อนหินลอยขึ้นมา

ก้อนหินนั้น จะพึงโผล่ขึ้น พึงลอยขึ้นได้หรือไม่.?


ก็บุคคลที่ประพฤติใน อกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้น

เมื่อสิ้นชีพไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก เท่านั้น.


ถ้าบุคคลในโลกนี้ เว้นจาก อกุศลกรรมบถ ๑๐

คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร

มุสาวาท ปิสุณาวาท ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะ

ไม่มากไปด้วย อภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบ

บุคคลนั้น เมื่อสิ้นชีพไป พึงเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์

โดยไม่ต้องวิงวอนร้องขอ.





บุคคลใด มีจิตปรารถนาพระโพธิญาณ

จงอุตสาหะ อภิบาล บำรุงบิดา มารดา

ประพฤติกุศลสุจริตธรรม

จักสมปรารถนาทุกประการ.





พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ตรัสอานิสงส์แห่ง "การให้ทาน" ๕ ประการ

คือ


ย่อมเป็นที่รักใคร่ของชนหมู่มาก ๑

สัตบุรุษผู้สงบ ย่อมคบหาผู้ให้ทาน ๑

กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรไกล ๑

ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์ ๑

เมื่อสิ้นชีพแล้ว ย่อมเข้าสู่สุคติ โลกสวรรค์.


ผู้ใด ให้สิ่งที่ดีกว่าที่ตนบริโภค ชื่อว่า "ทานบดี"

ผู้ใดให้สิ่งที่เสมอกับตนบริโภค ชื่อว่า "สหายทาน"

ผู้ใดให้สิ่งที่เลวกว่าสิ่งที่ตนบริโภค ชื่อว่า "ทาสทาน"


กาลทาน ๕ ประการ คือ

ทายก ย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน ๑

ทายก ย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะเดินทาง ๑

ทายก ย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง ๑

ทายกย่อมให้ทานแก้ผู้มีศีล ๑

ทายก ย่อมให้ผลไม้ออกใหม่แก้ผู้มีศีล ๑


ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย

กาลทาน ๕ ประการนี้

ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์

ปราศจากความตระหนี่

ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้

เพราะผู้ให้ทานตามกาล

ในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง

ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีจิตผ่องใส

ทักขิณาทานนั้น จึงจะมีผลไพบูลย์

ชนเหล่าใด อนุโมทนา

หรือ ช่วยเหลือในทักขิณาทานนั้น

ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ.

.

บุญ ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในปรโลก.





พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

ตรัสสอนว่า

กุมารี ผู้ไปสู่สกุลของสามี

พึงประพฤติธรรม ๕ ประการ ดังนี้


๑ ตื่นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้

ประพฤติตนเป็นที่พอใจ และใช้ถ้อยคำไพเราะต่อสามี.


๒ ชนเหล่าใด อันเป็นที่เคารพของสามี

เช่น มารดาบิดา หรือสมณพราหมณ์ เป็นต้น

เมื่อท่านมายังเรือน

จักให้ความเคารพนับถือ ต้อนรับปฏิสันถาร.


๓ เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน ภายในเรือนของสามี.


๔ สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี ดูแลความเป็นอยู่

และการเจ็บไข้ ตามเหตุอันควร.


๕ รู้จักรักษาคุ้มครองทรัพย์ที่สามีหามาได้ มิให้พินาศไป.


ดูก่อน กุมารีทั้งหลาย เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล

มาตุคาม ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้

เมื่อสิ้นชีพไป

ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่า "มนาปกายิกา"





ความรักนั้น ย่อมเกิดด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ

เพราะเคยอยู่ร่วมกันมาก่อน

หรือ เพราะเกื้อกูลกันในปัจจุบัน

เหมือนดอกบัวเกิดในน้ำ และ เปือกตม ฉะนั้น

สามี ภรรยา

ผู้หวังจะได้พบกันทั้งในชาตินี้ และ ชาติหน้าไซร้

ทั้งคู่ พึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกัน

มีปัญญาเสมอกัน.





สัตว์โลกนี้ ถูกชาตินำไปสู่ชรา ถูกชรานำไปสู่พยาธิ

ถูกพยาธินำไปสู่มรณะ ถูกมรณะนำไปสู่ชาติ คือการเกิดอีก

พึงสำรวมกาย วาจา ใจ ให้เป็นที่พึ่งในภพหน้าเถิด.


เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ เจ้าของขนของสิ่งใดออก

สิ่งนั้นจักเป็นประโยชน์แก่เจ้าของ

เหมือนสัตว์โลก อันชรามรณะไหม้อยู่อย่างนี้

ชาวโลก พึงขนของออกด้วยการให้ทานเถิด

สิ่งที่ให้เป็นทานไปแล้ว ชื่อว่า ได้ขนออกอย่างดีแล้ว.





หลักในการใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ๕ ประการ


อริยสาวกในธรรมวินัยนี้

ย่อมใช้จ่ายทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยัน

สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ

ได้มาโดยชอบธรรม คือ


๑ เลี้ยงตน เลี้ยงมารดา บิดา บุตร ภรรยา ทาสกรรมกร

ให้เป็นสุข อิ่มหนำสำราญ.


๒ เลี้ยงมิตรสหายให้เป็นสุข อิ่มหนำสำราญ.


๓ เพื่อป้องกัน ความเดือดร้อนจากไฟ น้ำ

พระราชา โจร และ ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก.


๔ ทำพลี ๕ ประการ คือ

ญาติพลี - บำรุงญาติ

อติพลี - ต้อนรับแขก

ปุพพเปตพลี - ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย

ราชพลี - บริจาคทรัพย์ช่วยชาติ

เทวตาพลี - ทำบุญอุทิศให้เทวดา.


๕ บำเพ็ญทักษิณา

คือ การทำทาน

เพื่อวิบากที่เป็นสุขในภพหน้า.
ตอบกระทู้