พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ถกพระธรรมกับหลวงปู่เมตตาหลวง (สิงห์ สุนทโร)

อาทิตย์ 26 ก.ค. 2009 11:58 pm

.jpg
.jpg (34.24 KiB) เปิดดู 852 ครั้ง

วันหนึ่งไม่ทราบเราคิดสนุกยังไง ไปหยอกผู้เฒ่า (หลวงปู่เมตตาหลวง)

“หลวงปู่ไปเที่ยวเทศน์สอนคนให้ละโลภ โกรธ หลง สอนศาสนาผิดแล้ว”

“ไอ้บ้า ทั้งหลายเขาสอนให้ละกิเลส โลภ โกรธ หลง ไปเอาที่ไหนมาพูดวะ ว่าสอนให้คนละกิเลส โลภ โกรธ หลง สอนศาสนาผิด ใครสอนเธอมา”

“ไม่มีใครสอน ผมคิดของผมเอง ไม่มีใครจะไปตั้งใจละกิเลส โลภ โกรธ หลงได้ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้สอนให้ละกิเลส โลภ โกรธ หลง โดยตรง แต่เวลาท่านพูดไว้ ท่านพูดไว้ในระดับหนึ่ง ที่นี้ในเมื่อใครละกิเลส โลภ โกรธ หลง ยังไม่ได้ ท่านสอนให้ใช้กิเลส โลภ โกรธ หลง ให้มันเกิดประโยชน์โดยความเป็นธรรม”

“เธอมีอะไรเป็นหลักฐาน”

“ศีล ๕ ข้อ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ กิเลส โลภ โกรธ หลงมีในใจ เอาให้มันเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนใจให้เกิดทะเยอทะยาน ในความอยากได้อยากดี อยากมีอยากเป็น สิ่งที่มนุษย์ปรารถนา มีอยู่ ๕ อย่าง ลาภ คือผลประโยชน์ ยศ คือตำแหน่งหน้าที่การงาน สรรเสริญ คือชื่อเสียงอันดีงาม-สุขกาย-สุขใจ และ อำนาจ ๕ อย่างนี้ทุกคนมีสิทธิที่จะแสวงหา แต่การแสวงหาควรจะมีขอบเขต ขอบเขตก็คือ ศีล ๕ ข้อ”

“แล้วเธอมีหลักฐานอะไรมายืนยัน”


มีทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ ๔ เป็นหลักฐานยืนยัน

อุฏฐานสัมปทา หมั่นขยันในการประกอบธุรกิจการงาน หาผลประโยชน์ นี่คือหลักฐาน คนไม่มีความโลภ ขยันไม่เป็น ทีนี้เมื่อได้ผลประโยชน์มาแล้ว...

อารักขสัมปทา หัดตระหนี่ให้มาก ๆ คนไม่ตระหนี่ก็ไม่มีโอกาสได้เป็นเศรษฐี ในเมืองพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและอำนาจ

กัลยาณมิตตา สร้างความดีกับเพื่อนบ้าน แต่คนทั้งหลายไปตีความหมายว่าคบมิตรที่ดี แต่หลวงพ่อเปลี่ยนว่า สร้างความดีกับเพื่อนบ้าน ให้เพื่อนบ้านเขารัก เคารพนับถือ บูชา จะได้เป็นกำลังช่วยรักษาชีวิตและทรัพย์สมบัติของเราให้มั่นคง

สมชีวิตา เลี้ยงตนเองและครอบครัว ตลอดทั้งบริวารให้มีความสุขตามสมควรแก่ฐานะ อันนี้คือหลักฐาน ยืนยัน

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าสอนธรรมะนี่ พระองค์สอนเป็นขั้นเป็นตอน คนที่ยังติดอยู่ในโลก ให้แสวงหาผลประโยชน์ทางโลก คนมีอินทรีย์แก่กล้า แสวงหาผลประโยชน์ทางธรรม เพื่อสวรรค์ คนที่มีอุปนิลัยสูงแสวงหาผลประโยชน์เพื่อมรรคผลนิพพาน ท่านสอนไว้เป็นขั้นตอน ดังนี้

สัมปรายิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ในภพหน้า คือสร้างบุญสร้างกุศล เพื่อสวรรค์

ปรมัตถประโยชน์ ประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน บำเพ็ญเพียรภาวนาเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน ท่านก็วางหลักเกณฑ์ของท่านไว้ดังนี้ แต่เราไม่เข้าใจคำสอนของท่านเอง ที่ว่าไม่เข้าใจคำสอนนี้ก็เพราะว่า ยังมีคนกล่าวประณามพระองค์ว่า สอนคนให้สันโดษมักน้อย โดยกล่าวตู่ว่า สอนให้งอมืองอเท้า ให้ขี้เกียจขี้คร้าน แต่แท้ที่จริง เราไม่เข้าใจคำสอนของพระองค์ต่างหาก

สิ่งใดที่พระองค์สอนมานั้นนะ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ เป็นหลักฐานในคำสอนของพระองค์ พระองค์รู้เรื่องในอดีตชาติของพระองค์ พระองค์เคยเกิดเป็นอะไร เพราะบุญกรรมอะไร ทำบาปสิ่งนี้ตายแล้วตกนรกขึ้นสวรรค์ พระองค์เคยทำสิ่งนี้มาก่อนเราแล้ว ทำบุญสิ่งนี้ตายแล้วได้ขึ้นสวรรค์มา พระพรหมในพรหมโลก ทั้ง ๓ อย่างนี้ พระองค์ได้ปฏิบัติมาแล้ว ได้ลองของมาแล้ว ไฟนรกมันร้อน พระองค์เคยเอาเท้าแหย่มาแล้ว สวรรค์มันเยือกเย็น พระองค์เคยไปสัมผัสกับสวรรค์มาแล้ว

เพราะฉะนั้นคำสอนของพระองค์ สิ่งที่เป็นบาปเป็นบุญมันเป็นสิ่งที่พระองค์ได้ลองของมาแล้วทั้งนั้น คำสอนของพระพุทธเจ้าตื่นขึ้นมาแล้วเทศน์สอนคน ไม่ใช่ชนิดที่ว่านอนหลับแล้วฝันไป ไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นสิ่งที่พระองค์ได้ทดสอบมาด้วยพระองค์เอง เพราะฉะนั้นใครยังไม่รู้แจ้งเห็นจริง เชื่อพระองค์เอาไว้ก่อน รับฟังเอาไว้ก่อน อย่าไปหัดลองของเหมือนพระองค์ ลองแล้วเราก็ไม่รู้ อย่างเรา ๆ นี่ไม่รู้หรอก เชื่อพระองค์ว่าเคยลองมาแล้วทดสอบมาแล้วทุกอย่าง

อุบายสำหรับตัดทอนกิเลสความชั่วฝ่ายบาปให้น้อยลงหรือหมดไป คนเรามีความโลภคือความอยากได้ มีความโกรธ เกิดจากความไม่พอใจ มีความหลงในสิ่งที่เราติดพัน ความโลภเป็นกิเลสที่ชั่วช้าลามกเป็นอกุศลมูล เป็นรากเหง้าของอกุศลคือความบาปทั้งปวง พระพุทธเจ้าสอนให้เราละ ละโลภ ละโกรธ ละหลง แต่ถ้าเราละไม่ได้ พยายามหักห้ามจิตใจอย่าให้ประพฤติล่วงเกินศีล ๕ ข้อ ข้อใดข้อหนึ่ง

คือไม่ล่วงเกินในสิ่งที่เป็นบาป เช่น การฆ่า เบียดเบียน ข่มเหง รังแก อิจฉาตาร้อน เป็นต้น อันนี้เราตั้งใจละเอาได้ ละการกระทำ การกระทำที่เราทำด้วยกาย วาจา และคิดด้วยใจ มูลเหตุมันเกิดจากความโลภ ความโกรธ และ ความ หลง

เพราะฉะนั้น ในหลักศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าท่านจึงให้ยึดศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติการกระทำสิ่งใดที่ไม่ผิดศีล ๕ ข้อใดข้อหนึ่ง แม้จะทำด้วยความโลภ ก็ทำลงไป แต่ขอให้เป็นการทำดี เราใช้ความโลภ ความโกรธ ความหลง ให้เป็นสิ่งกระตุ้นเตือนจิตของเราให้เกิดมีความทะเยอทะยานในความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น

สิ่งที่มนุษย์พึงประสงค์มีอยู่ ๕ อย่าง คือ

ลาภ ได้แก่ ผลประโยชน์ คือ ทรัพย์สินเงินทองและวิชาความรู้

ยศ ได้แก่ เกียรติยศ ยศถาบรรดาศักดิ์ เรามียศเป็นนาย มียศเป็นเด็กชาย เราต้องการอยากจะให้ยศของเราสูงขึ้นไป เราต้องใช้ความโลภของเราเป็นเครื่องเตือนใจของเราให้เกิดความทะเยอทะยาน ในความอยากได้ อยากดี อยากมี อยากเป็น สร้างความโกรธในสิ่งที่มันจะทำให้เราเสียประโยชน์ และสร้างคุณธรรมให้มาโกรธความโง่ เอาความโลภมากระตุ้นให้เราขยันเรียน เอาความโลภมากระตุ้นให้หมั่นขยันในการฝึกหัด คือขยันในการฟัง การถาม การคิด การขีดการเขียน สุ จิ ปุ ลิ

สุ-ฟัง ปุ-ถาม อะไรไม่เข้าใจ เราถาม ขยันถาม ลิ-ขีดเขียน คือฝึกหัดให้มันคล่องมือ เมื่อเราหมั่นเราขยัน เราเอาความโลภเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนใจ ขยันฟัง ขยันถาม ขยันเขียน ขยันคิด การถามเป็นอุบายวิธีฝึกหัดปากของเราให้มีความกล้าหาญ ฝึกหัดนิสัยของเราไม่ให้อายครู โบราณท่านกล่าวว่า อายครูไม่ได้ความรู้ อายชู้ไม่ได้อะไร

ถือหลักว่าเราต้องกล่าวอะไรที่เราไม่เข้าใจต้องขยันถาม ฟังแล้วไม่เข้าใจต้องถาม ถามมาแล้วต้องฝึกหัด คือขีดเขียนให้มันคล่องตัว แล้วก็คิดหาอุบายและเหตุผลในการกระทำนั้น ๆ ว่ามันเกิดประโยชน์อะไร เกิดคุณเกิดประโยชน์อย่างไร เป็นคุณหรือเป็นโทษ เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ถ้าเราทำดังที่กล่าวมาแล้ว ได้ชื่อว่าเราใช้ความโลภของเราถูกทาง ใช้ความโกรธของเราถูกทาง เพราะเราโกรธความโง่ โกรธความไม่มีความรู้ ในเมื่อเกลียดหรือโกรธความไม่มีความรู้ ความโง่ เราต้องขยันหมั่นเพียรในการเรียน เอาความโลภเป็นแรงกระตุ้นเตือน

สิ่งที่มนุษย์ปรารถนาในข้อต่อไป คือ ชื่อเสียงอันงาม การสร้างชื่อเสียงให้โด่งดัง หรือชื่อเสียงอันงาม ขยันเรียน มีความประพฤติสุภาพเรียบร้อย ชายประพฤติเป็นสุภาพบุรุษ หญิงประพฤติตนเป็นสุภาพสตรี เรียกว่าอยู่ในกฎเกณฑ์ที่เป็นสุภาพชนโดยยึดศีล ๕ เป็นหลัก

ในเมื่อเราประพฤติได้ดังที่กล่าวมา เราก็มีความสุขกายสุขใจ แม้ว่าเราจะปรารถนาวิชาความรู้หรือทรัพย์สมบัตินานัปการ ความมุ่งหมายอยู่ที่ความสุขกายและสุขใจ เราเกิดมาในชีวิตหนึ่ง ๆ มาเป็นคนร่วมโลกเขา เราควรจะพยายามหาความสุขกายสุขใจ ในทางที่ชอบ ด้วยหลักศีลธรรม หลักกฎหมายปกครองบ้านเมือง และหลักเหตุผล จึงจะได้ชื่อว่าปัญญาชนผู้นับถือพระพุทธศาสนา

ประการสุดท้าย คือ อำนาจ ได้แก่ ความเป็นใหญ่ การสร้างอำนาจ เราต้องพยายามสร้างตัวเอง ให้มีอำนาจบังคับตัวเองให้ได้ เวลาขี้เกียจบังคับให้มันเกิดความขยัน เวลามันอืดอาด ลุกยาก นั่งยาก ก็บังคับให้มันคล่องแคล่วว่องไว เวลามันเกิดขี้ขลาด บังคับให้มันเกิดความกล้าหาญในทางที่ชอบ มีความประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน ประพฤติอ่อนโยนนอบน้อมต่อผู้หลักผู้ใหญ่

สุภาพบุรุษเป็นผู้ประพฤติอ่อนน้อมแต่มีความเข้มแข็ง เพราะเขามีสุขภาพกายดี สุขภาพจิตก็ดี จึงเป็นผู้มีดีพร้อม เมื่อเขามีดีพร้อม เขามีอำนาจในตัวของเขาเอง เมื่อได้รับการศึกษาเล่าเรียนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ สำเร็จปริญญาโท เอก มา ในเมื่อเราไปทำธุรกิจส่วนตัว เราก็มีอำนาจในหน้าที่ของเรา เมื่อรับราชการ เราก็มีอำนาจหน้าที่ตามที่ราชการ มอบหมายให้ เรามีอำนาจที่จะทำอะไรโดยไม่มีใครขู่เข็ญบังคับ เราทำด้วยความพอใจ โดยอาศัยกติกา คือ กฎหมาย ระเบียบ ศีล ๕ เป็นเครื่องประกันความปลอดภัย...


หน้าช้าง.jpg
หน้าช้าง.jpg (16.55 KiB) เปิดดู 852 ครั้ง

พระราชสังวรญาณ (พุธ ฐานิโย)
วัดป่าสาลวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา

Re: ถกพระธรรมกับหลวงปู่เมตตาหลวง (สิงห์ สุนทโร)

จันทร์ 27 ก.ค. 2009 1:55 am

ขอบคุณครับ ช่วงแรกๆ อ่านแล้วงง
หลังๆ อ่านแล้วชอบครับ

Re: ถกพระธรรมกับหลวงปู่เมตตาหลวง (สิงห์ สุนทโร)

จันทร์ 27 ก.ค. 2009 11:50 am

เอ่อ ท่านผู้ทรงธรรมสนทนากันนี่

ลึกล้ำจังฮะ

ขอบพระคุณฮะ

Re: ถกพระธรรมกับหลวงปู่เมตตาหลวง (สิงห์ สุนทโร)

จันทร์ 27 ก.ค. 2009 7:18 pm

ท่านผู้สนทนาลึกล้ำ

ท่านผู้อ่านก็ต้องล้ำลึก


ไม่อย่างนั้นจะงงครับ :P
ตอบกระทู้