พระพุทธพจน์ - พุทธภาษิต พระธรรมเทศนา และ ธรรมะจากครูบาอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตอบกระทู้

ธรรมะสำหรับผู้ป่วยและไม่ป่วย จากคุณหมออมรา มลิลา

พุธ 06 พ.ค. 2009 4:22 pm

เป็นบทสัมภาษณ์ อาจารย์หมออมรา จาก http://dungtrin.com/mag/?26.life ฮะ เลยนำมาฝากพี่ๆให้ได้อ่านกัน

สัมภาษณ์โดย ตันหยง
วันนี้ตันหยงรู้สึกได้รับเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่คุณหมออมรา ให้ความเมตตาในการให้สัมภาษณ์กับทางคอลัมน์ธรรมะกับไลฟ์สไตล์ ตันหยงได้มาอยู่ที่ โรงอาหารของร.พ.รามา หลังจากที่คุณหมอได้เสร็จสิ้นการบรรยายธรรมะในช่วงเช้า

ตันหยง: สวัสดีค่ะคุณหมออมรา ไม่ทราบว่าคุณหมอได้บรรยายธรรมที่ร.พ.รามา เป็นระยะเวลานานเท่าไหร่แล้วคะ และรายละเอียดเป็นอย่างไรบ้างคะ รวมทั้งมีที่อื่นๆด้วยมั้ยคะ กรณีท่านที่ไม่สะดวกในเวลาดังกล่าว แต่อยากจะเข้าร่วมฟังค่ะ
life1.jpg
life1.jpg (49.73 KiB) เปิดดู 1117 ครั้ง

คุณหมออมรา: สำหรับร.พ.รามา พี่ได้บรรยายธรรมมาประมาณเกือบ ๒o ปีแล้วค่ะ แต่เริ่มจริงๆที่ร.พ.ศิริราชตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๒๒ รวมทั้งที่ร.พ.จุฬาลงกรณ์ และธนาคารแห่งประเทศไทย ตามรายละเอียดดังนี้ค่ะ

วันอาทิตย์ที่ ๒ ของเดือน
๐๘.๓๐ น. - ๑๒.๐๐ น. - ร.พ.รามาธิบดี ห้องบรรยาย ๑ อาคาร ๑ ชั้น ๒
๑๖.๐๐ น. - ๑๘.๐๐ น. - ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันอาทิตย์ที่ ๓ ของเดือน
๐๙.๐๐ น. - ๑๒.๐๐ น. - ผู้ป่วยสามัญ ตา หู คอ จมูก ชั้น ๖ อาคาร ๑ ร.พ.รามาธิบดี

วันอังคารก่อนวันพุธที่ ๓ ของเดือน
๑๖.๓๐ น. - ๑๘.๐๐ น. - ห้องบรรยายชั้น ๑๓ ห้อง ๑๓o๖ ตึกอดุลยเดชวิกรม (ใช้ลิฟท์ด้านขวา) ร.พ.ศิริราช

วันพุธที่ ๓ ของเดือน
๑๒.๐๐ น. - ๑๓.๐๐ น. - ห้องบรรยายชั้น ๒ ตึกวชิรญาณวงศ์ ร.พ.จุฬาลงกรณ์

วันศุกร์ที่ ๓ ของเดือน

๑๒.๐๐ น. - ๑๓.๐๐ น. - ธนาคารแห่งประเทศไทย อาคารพระตำหนักชั้นล่าง

ตันหยง: ได้บรรยายธรรมหลายที่จังค่ะ รวมทั้งเคยทราบมาว่า คุณหมออมราไปสอนปฏิบัติธรรมที่วัชรธรรมสถาน ของคุณหมอปิโยรส ประธานมูลนิธิดวงแก้ว เป็นเวลาหลายปีแล้ว และเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกันด้วย อยากจะขอให้คุณหมอเล่าที่มาตรงนี้สักนิดค่ะ

คุณหมออมรา: สำหรับรายละเอียดของการสอนปฏิบัติธรรมที่วัชรธรรมสถาน สามารถติดตามได้ที่เวบไซต์ของมูลนิธิดวงแก้ว

ตันหยง: ขออนุญาตเสริมค่ะ สำหรับรายละเอียดและเบอร์ติดต่อของวัชรธรรมสถาน ผู้อ่านสามารถติดตามได้จากบทสัมภาษณ์คุณหมอปิโยรสในธรรมะกับไลฟ์ไตล์ฉบับที่ ๑๙ http://dungtrin.com/mag/?19.life

จากที่ฟังมา คุณหมออมราเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนเป็นแบบอย่าง ดั่งเป็นกัลยาณมิตรรุ่นพี่ที่สามารถแนะนำและชี้แนะทางสายเอกนี้ให้กับน้องๆได้ ขอให้คุณหมอช่วยเล่าเกี่ยวกับตรงนี้สักนิดค่ะ ว่าปฏิบัติธรรมมานานเท่าไหร่แล้วคะ

คุณหมออมรา: พี่ได้ไปปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้ว จังหวัดสกลนคร หลังจากที่เรียนจบปริญญาเอกสาขาสรีรวิทยาจาก Medical College of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปีพ.ศ. ๒๕๑๒

ตันหยง: คุณหมอได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกหรือคะ ที่มาที่ไปของการเรียนต่อดังกล่าวเป็นอย่างไรคะ

คุณหมออมรา: สมัยก่อนหน้าที่จะเรียนปริญญาเอกนั้น พี่ทำงานอยู่ที่ร.พ.เด็กค่ะ แล้วก็ได้ขอลาเพื่อเรียนต่อปริญญาเอก ซึ่งสมัยนั้นเป็นช่วงที่แพทย์ไทยไปเรียนต่างประเทศกันเยอะ แต่ไม่ได้ไปด้วยทุนของรัฐบาลกัน

ตันหยง: แล้วหลังจากเรียนจบกลับมาเมืองไทยละคะ

คุณหมออมรา: พอเรียนจบปริญญาเอกกลับมาในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข** ก็ได้ชวนมาทำงานที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ

**หมายเหตุ: ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ในปีพ.ศ. ๒๕๑๒ ได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ท่านเป็นผู้ที่มีบทบาทในการสร้างรากฐานให้กับวงการวิทยาศาสตร์ในประเทศ นอกจากนี้อาจารย์สตางค์ได้ชักชวนให้นักศึกษาแพทย์ในสมัยนั้นเปลี่ยนไปเรียนสาขาวิทยาศาสตร์แทน และปัจจุบันท่านเหล่านั้นได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ อาทิ ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคนปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาเคมีอินทรีย์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๙

ตันหยง: อาจารย์หมออมราเป็นผู้ที่มีความสามารถท่านหนึ่งเชียวค่ะ ทราบมาว่าก่อนหน้าที่จะเรียนจบปริญญาเอก ก็ได้ปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศิริราชพยาบาล ทีนี้ขอย้อนกลับมาคำถามทางธรรม สาเหตุของความสนใจในการปฏิบัติภาวนาของคุณหมอคืออะไรคะ

คุณหมออมรา: พี่ไปปฏิบัติธรรมกับเพื่อนหญิงที่วัดพระอาจารย์สิงห์ทองทั้งพรรษา ในปีพ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งเป็นครั้งแรก สาเหตุก็คือตอนช่วงที่เรียนอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนชาวต่างชาติได้พูดถึงพระพุทธศาสนาในแง่การทำสมาธิและอภิญญาว่าสามารถเหาะในอากาศได้ ซึ่งเราเองเป็นชาวพุทธในประเทศไทย แต่กลับไม่ทราบเรื่องแบบนี้ วิสัยของนักวิทยาศาสตร์ก็เลยต้องการหาคำตอบค่ะ

ตันหยง: แล้วพระอาจารย์สิงห์ทองท่านสอนอะไรคุณหมอบ้างคะ

คุณหมออมรา: ตอนที่เราไปภาวนาอยู่ที่วัดของท่าน ท่านจะสอนให้มีสติรู้อยู่กับสิ่งที่เราทำตลอดเวลาที่เราลืมตาตื่น มีสติในทุกอริยาบถ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ฯลฯ

ตันหยง: ไปอยู่ป่าเพื่อไปเรียนภาวนา ซึ่งแตกต่างจากชีวิตของคุณหมอที่เกิดมาในครอบครัวที่พร้อม แสดงว่าทั้งมุ่งมั่นและศรัทธาไม่น้อยเลยนะคะ

(คุณพ่อของคุณหมอเป็นวิศวกรเครื่องกล ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้าน คุณหมออมรามีพี่น้องทั้งหมด ๓ คน ครอบครัวมีฐานะไม่ขัดสน คุณพ่อคุณแม่ก็สนใจธรรมะกันอยู่แล้ว)

คุณหมออมรา: ความอยากรู้แบบนักวิทยาศาสตร์ ทำให้เราติดตามไปเรื่อยๆว่าจะเป็นยังไงต่อค่ะ และโชคดีที่ได้เจอครูบาอาจารย์ที่ดี

ตันหยง: ได้ข่าวว่าคุณหมอมุ่งมั่นในการภาวนามาก กำลังใจที่ทำให้มีความมุมานะ ความเพียร ความอดทนเหล่านี้คืออะไรคะ ขอถามเป็นวิทยาทานให้กับน้องๆรุ่นหลังและตัวเองค่ะ

คุณหมออมรา: ต้องมีความสม่ำเสมอค่ะ แบบถ้าเราเป็นนักกีฬา แล้วโหมซ้อมเฉพาะช่วงแข่งขัน ถ้าทำแบบนั้นความก้าวหน้าของเราก็จะไม่สม่ำเสมอ แล้วเราก็จะเบื่อในที่สุด แต่ถ้าเผื่อเราทำจนเป็นนิสัยแล้ว ก็จะสามารถทำไปได้เรื่อยๆ โดยไม่ได้คาดหวังผล พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า หน้าที่ของเราคือประกอบแต่เหตุ แบบเราอยากทานมะม่วง เราก็ไปหาเม็ดมา ไป ถามเค้าว่ามะม่วงต้องใส่ปุ๋ยอย่างไร แล้วเราก็ปลูกมัน พอต้นมะม่วงโตแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของต้นมะม่วงที่เค้าจะออกผลให้เราทาน กลับกัน ถ้าเราคิดจะไปออกลูกมะม่วงเสียเอง เราก็จะทุกข์ จะเดือดร้อน จะท้อแท้ผิดหวัง

ตันหยง: ค่ะ ทำเหตุให้ถึงพร้อมนั่นเอง

คุณหมออมรา: ค่ะ ถ้าเรามีหน้าที่ทำเหตุให้พร้อม เมื่อมันพร้อมแล้ว ผลมันก็จะมาเองค่ะ

ตันหยง: ตันหยงขอกราบถามหน่อยค่ะว่า การที่คุณหมอทำอะไรที่เหมือนลำบาก เช่นการไปปฏิบัติธรรมที่ป่า ฯลฯ แล้วเคยท้อแท้กับการปฏิบัติภาวนาบ้างไหมคะ แล้วกำลังใจที่ทำให้ไม่ท้อถอยจนมีวันนี้ที่สามารถเป็นกัลยาณมิตรชี้แนะทางให้กับน้องๆได้ มีเคล็ดลับอย่างไรบ้างคะ
life2.jpg
life2.jpg (73.56 KiB) เปิดดู 1117 ครั้ง


คุณหมออมรา: พอเราท้อแท้แล้วก็มาหาสาเหตุค่ะ ว่าทำไมใจของเราเดี๋ยวก็ขึ้นๆลงๆ ก็พบว่า เมื่อเราเผลอ เราไม่ได้ตั้งใจทำจริงๆ เราไปหวังผล เราไปคอยให้มันเกิดผลขึ้น หรืออย่างเราไปทำสมาธิ แทนที่เราจะอยู่กับคำบริกรรมแต่กลับคอยกำหนดผลว่าเมื่อไหร่จิตจะรวม ฯลฯ พอเราเห็นสาเหตุแล้วว่านี่เราไปหวังผล ใจมันก็เลยกลับมาอยู่กับปัจจุบัน เช่นคำบริกรรม พุทโธ อริยาบถก้าวเดิน ถ้าเกิดเรามุ่งอยู่แบบนั้น ใจก็สบาย สงบ เบา คล้ายๆกับถ้ารู้เท่าทันใจในปัจจุบันจะเกิดความเบา สบาย เข้ามาแทนที่ความท้อแท้

ตันหยง: คำถามข้อนี้ตันหยงขอเป็นตัวแทนถาม อาจจะเป็นสิ่งที่ตัวเองประสบอยู่ และอาจจะมีท่านอื่นๆที่ประสบด้วยค่ะ ในฐานะที่ตันหยงเองก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เห็นคุณค่าของการปฏิบัติภาวนา และตั้งใจจะให้สิ่งนี้เป็นหน้าที่หลัก แต่การเป็นฆราวาส ภาระความรับผิดชอบในเรื่องต่างๆก็ค่อนข้างเยอะ เพื่อจะไม่เป็นการประมาทในชีวิต อยากจะขอให้คุณหมอแนะนำตรงนี้สักนิดค่ะ

คุณหมออมรา: คือการปฏิบัติธรรมเนี่ย ใจเป็นตัวปฏิบัติ ใจเนี่ยค่ะมันไม่ได้ไปถูกกดถ่วงด้วยภาระหน้าที่ของฆราวาสเลย ถ้าเผื่อเราวางใจของเราว่าในการที่เราทำภาระความรับผิดชอบเหล่านี้ เราทำมันแบบที่เราปฏิบัติภาวนา เราประกอบเหตุให้สมควร ถ้าเหตุปัจจัยมันถึงพร้อม ผลมันก็ย่อมเกิดขึ้น เราทำงานเรามีหน้าที่ทำเราก็ทำ อย่าไปคาดหวังผลว่าเราต้องได้กี่ขั้น ในตอนนั้นตอนนี้ แต่ทำเหตุให้เต็มที่ ถ้ากรณีเกิดผลไม่ได้แบบที่เราคาดหวัง ก็มาดูที่ใจ เรียนรู้กับการผิดหวัง ทำให้เกิดการเห็นใจผู้อื่นที่มีประสบการณ์แบบนั้น ไม่ไปซ้ำเติมเค้าเหล่านั้น

ตันหยง: คือแม้ว่าภาระความรับผิดชอบของฆราวาสจะยังมีอยู่ แต่การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของใจ

คุณหมออมรา: ค่ะ เราก็นำภาระของฆราวาสเหล่านี้ให้เป็นแบบทดสอบ แบบฝึกหัด

ตันหยง: แบบนี้ถ้าเราทำงานเยอะๆ ก็ต้องคิดเยอะๆ ก็ไปอยู่ในโลกของความคิดสิคะ

คุณหมออมรา: เราก็นำเรื่องที่เราจะวางแผนมาเป็นงานในปัจจุบันขณะนั้น หาข้อดีข้อเสียต่างๆ ทำจนกระทั่งพอใจแล้วว่าแผนของเรารอบคอบแล้ว คราวนี้ก็หยุด ไม่ต้องไปกังวล ฟุ้งซ่านไปในอดีตหรือ อนาคต อยู่กับปัจจุบัน ไม่ว่าจะทำงานทั้งทางโลกหรือทางธรรม เราก็นำหลักเดียวกันมาใช้ เพราะงานเป็นกริยา ถ้าสติเราจดจ่ออยู่กับปัจจุบันแบบนี้ มันไม่ได้เป็นปัญหาเลยค่ะที่เรามีภาระหน้าที่ ว่าไปวัดไม่ได้ เพราะตลอดเวลาที่เราทำงานเหมือนเราอยู่ในวัด คือกายและใจนี้

ตันหยง: ก็คือสร้างเหตุแห่งความเพียร สันโดษในผลคือไม่คาดหวังผล เมื่อวันหนึ่งเราสะสมเหตุพร้อม เส้นทางพระนิพพานก็ไม่ไกลเกินเอื้อม เมื่อไม่หยุดเดินเปรียบดั่งคนเดินทางไกล ที่ถ้าขยันเดินไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็ย่อมถึงเส้นชัยแบบนั้นหรือเปล่าคะ

คุณหมออมรา: ใช่ค่ะ

ตันหยง: เคยอ่านหนังสือธรรมะที่คุณหมออมราเขียนมาหลายเล่ม เช่น ผิว ความตายมาพราก ที่เป็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์และกำลังใจแก่ผู้ป่วยไข้ อยากจะขอให้เล่าเกียวกับที่มา ของหนังสือดังกล่าวสักนิดค่ะ

คุณหมออมรา: คือคนที่เป็นเจ้าภาพหาทุนพิมพ์เนี่ย เค้ารู้สึกว่าได้ฟังธรรมะเรื่องอื่นๆมาเยอะแล้ว แต่เรื่องเกี่ยวกับความเจ็บ คนตาย คนป่วยยังไม่ค่อยมี ก็เลยทำให้มีเล่มนี้ขึ้นมาค่ะ

ตันหยง: ถ้าในกรณีที่เรามีญาติหรือเพื่อนๆ ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงเจ็บป่วย สิ่งที่ดีที่สุดในการให้คำแนะนำช่วยเหลือพวกเขานั้นมีอะไรบ้างคะ เช่นสุขภาพทางกายและจิตใจควบคู่กันไป เป็นต้น

คุณหมออมรา: เริ่มต้นที่เรื่องใจก่อนนะคะ กายจะแข็งแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับใจ ถ้าใจมีหลักแล้ว กายก็จะมีเรี่ยวแรงขึ้นมา ถ้าเขารู้ว่าเขาไม่แข็งแรง เจ็บไข้ได้ป่วย ก็บอกเขาว่า การเจ็บไข้ได้ป่วยในครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้าย ถ้ามีอะไรที่ติดขัดอยากทำ ให้รีบทำให้หมด อย่าผลัดวันประกันพรุ่งไว้ ทีนี้พอเขาได้ทำภาระเหล่านั้นหมดแล้ว ใจจะรู้สึกสบายไม่กังวลกับอะไร ก็จะมาอยู่กับปัจจุบันได้ง่ายขึ้น

ตันหยง: แล้วถ้าคนป่วยมีภาระ เช่น มีลูกละคะ

คุณหมออมรา: ก็ต้องเชื่อในกรรมของพระพุทธเจ้าค่ะว่า ลูกก็มีกรรมที่ต้องกำพร้า ถ้าคนป่วยจะต้องตาย ของที่มีอยู่ก็มอบหมายและสอนให้ลูกดูแลเก็บรักษาให้ดี คือทำเท่าที่จะสามารถทำได้ ส่วนผลจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมของเขา ถ้าเขาวางใจแบบนี้ได้ใจมันก็จะเบาขึ้น ถ้าโชคดี พอใจเบาขึ้น แทนที่จะตายก็กลับหาย ก็ถือว่าเป็นโบนัส ถ้าวางใจได้มีความสงบ อาการมักจะดีขึ้น ยกเว้นแต่กรณีที่สาหัสจริงๆจนร่างกายไม่ไหว

ตันหยง: คือคนป่วยต้องเชื่อในกรรมระดับหนึ่ง จึงจะวางใจได้

คุณหมออมรา: ค่ะ แล้วก็ต้องพยายามคิดพิจารณาจนใจเห็นจริงในเรื่องของกรรมว่า ทำเหตุอย่างไรก็ต้องได้รับผลแบบนั้น ถ้าเคยไปทำให้ใครเจ็บไข้ได้ป่วย พิการ ยังไงๆก็ต้องชดใช้ค่ะ

ตันหยง: เราจะช่วยให้คนที่เจ็บป่วยนั้น เชื่อในเรื่องกรรมได้อย่างไรคะ

คุณหมออมรา: ค่ะ ส่วนหนึ่งก็คือตัวเขาเอง เราอาจจะช่วยแผ่เมตตาให้เขา ตั้งจิตว่าเราปรารถนาดีกับเขา ถ้ามีอะไรที่เราเห็นว่าเป็นคุณเป็นประโยชน์กับเขา ขอให้เขาเปิดใจรับ ถ้าโชคดีอาจจะมีตัวอย่างที่ยกขึ้นมาไปกระทบใจเขา ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาว่า เรื่องของเขาไม่ได้หนักหนาไปกว่าคนอื่นเลย มีคนที่โชคร้ายเช่นกัน ใจที่มันให้ มันนึกถึงคนอื่น มันเบาขึ้นเยอะเลย เมื่อก่อนนึกสงสารแต่ตัวเอง จนกลายเป็นความเรียกร้อง มากเข้าจนไม่มีใครอยากเข้าใกล้ แต่พอเริ่มต้นนึกถึงคนอื่น จิตใจเขาจะอ่อนโยนขึ้น

ตันหยง: ถ้ามีคนสนใจที่จะอ่านหนังสือหรือฟังซีดีของคุณหมอสามารถติดต่อได้ที่ไหนบ้างคะ

คุณหมออมรา: สามารถดูได้ที่ท้ายเล่มหนังสือ เช่น อาจารย์ขวัญตา เกิดชูชื่น อดีตอาจารย์ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นต้น

ตันหยง: การให้ธรรมะเปรียบเสมือนยาที่รักษาทางด้านจิตใจ แต่ในขณะเดียวกันก็มิใช่ว่าทุกคนจะมีจิตใจที่เข้มแข็งในการยอมรับยาขม ในขณะที่ทราบว่าตัวเองกำลังเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ทราบว่าคุณหมอมีคำแนะนำอย่างไรบ้างคะ

คุณหมออมรา: ถ้าเกิดเขายังไม่ยอมรับนะคะ เราก็อาจจะบ่ายเบนเหมือนในหนังสือ ผิว ความตายมาพราก ที่เล่าถึงอาจารย์ท่านหนึ่งว่าท่านเป็นมะเร็ง แต่ท่านไม่เคยปฏิบัติเลย เราก็พูดทำนองเช่นว่า สมาธิจะช่วยทำให้ใจคลายความเจ็บปวดจากโรคมะเร็งลงได้ เหมือนเป็นยาบรรเทาปวดตัวนึง ซึ่งก็พบว่าการทำสมาธิช่วยได้จริงๆ แต่ก่อนอาจารย์ท่านนี้ใช้ยาแก้ปวดจนคนรอบตัวกลัวว่ามันจะ over dose

ไม่ว่าอาจารย์ท่านนั้นจะทำสมาธิเพราะสาเหตุใดก็ตาม ผลก็ต้องเหมือนกันคือ ทำให้ใจอาจารย์ค่อยๆ เข้าใจ พอพูดถึงกรรมก็จะเข้าใจและนึกเชื่อมโยงเหตุการณ์ในชีวิตของอาจารย์ได้ว่า ที่อาจารย์เป็นมะเร็งแล้วมันกระจายไปในกระดูกซึ่งเจ็บปวดมากนั้น เป็นเพราะว่าสมัยเป็นเด็กอาจารย์ได้ซุกซน ไปเอาเต่าเป็นๆ มาเผากับเพื่อน อาจารย์ก็เลยนึกออกว่ากว่าเต่าจะตายมันจะเจ็บปวดและทรมานมากขนาดไหน เคยไปยิงหนังสติ๊กแม่นกพ่อนกเป็นๆ แล้วลูกนกก็หิวอยู่ในรัง เพราะพ่อแม่ตายไม่มีอาหาร ฯลฯ

พอเค้ายอมรับหลักธรรมในเรื่องของกรรม เพราะนึกถึงความเจ็บปวดของสัตว์ที่โดนทำร้ายเหล่านั้น จิตใจมันก็เบาลง คล้ายๆพอใจสามารถยอมรับแล้วก็มีกำลังใจ มีความเพียรสู้กับความเจ็บป่วยของตน เพราะคิดได้ว่าเคยไปทำกรรมกับสัตว์อื่นมาก่อนเช่นกัน

ตันหยง: แล้วถ้าในกรณีที่นำธรรมะมารักษาคนเจ็บ คนไข้ แล้วเขาก็ยังมีกรรมที่ต้องตาย ข้อดีจากการนำธรรมะมาเยียวยาก่อนที่วิญญาณจะจากไปนั้นมีอย่างไรบ้างคะคุณหมอ ขอถามในฐานะที่คุณหมอเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านนี้ ในฐานะแพทย์ และในฐานะกัลยาณธรรมท่านหนึ่ง

คุณหมออมรา: ให้เขาเข้าใจว่าใจดวงนี้ไม่ตาย ไม่เหมือนร่างกายที่พอหมดลมหายใจแล้วก็เน่าเปื่อยสลายไป ใจเป็นพลัง ซึ่งพิสูจน์ได้ในวงการจิตแพทย์สมัยใหม่ พอเขาเชื่อว่าใจนี้ไม่ตาย จะทำให้อยากเตรียมเสบียงในการเกิดใหม่ เพื่อที่จะไปดี แทนที่จะทุกข์โศกว่าจะไม่เจอกันอีกแล้ว

ตันหยง: เหมือนกับได้กำลังใจว่าเดี๋ยวก็จะได้มาเจอกันใหม่อีกนะคะ

คุณหมออมรา: ค่ะ แล้วก็ไม่ได้กลัว ไม่ได้รู้สึกว่าความตายเหมือนกับการขาดทุน ล้มละลายแต่อย่างใด เหมือนกับว่าพอเราเหนื่อยมากๆ ก็เข้านอนแล้วหลับไป เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ตื่นขึ้นมาอีก

ตันหยง: ก็คือไม่ควรประมาทในขณะที่ยังมีร่างกายแข็งแรง ยังไม่เจ็บป่วย ยังหนุ่มยังสาวแบบนั้นหรือเปล่าคะ

คุณหมออมรา: ค่ะ เราก็ควรจะหาภูมิคุ้มกันไว้ ยิ่งถ้าฝึกให้ตั้งแต่เด็กเล็กเท่าไหร่ได้ก็ยิ่งเป็นของดี เพราะจะซึมซับเป็นอุปนิสัย เค้าก็จะทำเป็นอัตโนมัติ ไม่ต้องมาบ่นว่าถึงเวลาต้องนั่งสมาธิอีกแล้วเหรอ

ตันหยง: เคยอ่านที่คุณหมอเขียนในหนังสือว่า “สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหามากคือ เวทนา ความเจ็บปวด ถ้าคนไข้เป็นมะเร็ง ความเจ็บปวดจะเป็นเรื่องใหญ่ ที่คนไข้ประท้วงว่า มันดูใจไม่ไหว เพราะเห็นแต่ปวดท่าเดียว เราก็ปลอบว่า ตรงนี้แหละสำคัญที่สุด ถ้าเราไปยึดว่าความปวดเป็นตัวเราแล้วละก็ ใจก็จะจมมิดอยู่ในความปวด จนไม่มีทางช่วยตัวเองได้ เวลาที่ใจจะเปลี่ยนภพ มันก็เหมือนเรากำลังออกเดินทาง” อยากให้ช่วยเล่าถึงตรงนี้สักนิดค่ะ ว่ามองอย่างไร เวทนาความเจ็บปวดจึงไม่ใช่เราได้คะ

คุณหมออมรา: เช่นกรณีนั่งดูฟุตบอลในทีวีแล้วกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม แล้วอยากจะเข้าห้องน้ำกระทันหัน แต่แล้วก็เพลินสามารถนั่งดูต่อได้อีก ๓๐ นาที หรือนั่งแล้วขาเป็นเหน็บ จะขยับเท้า แต่ก็กลัวว่าของนั้นจะเสีย ก็เลยทนนั่งไปได้ต่ออีก แล้วก็เพลินจนลืมความชานั้นไป พระพุทธเจ้าตรัสว่าของทุกอย่างในโลกนี้ ตกอยู่ภายใต้กฏของไตรลักษณ์ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป มันไม่มีอะไรหรอกค่ะที่คงที่อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นความเจ็บของเราก็เช่นกัน ถ้าเราเผลอมันก็หายไป แล้วเดี๋ยวมันก็เกิดขึ้นมาใหม่ ความปวดไม่มีตัวตนเป็นสาระแก่นสาร เพราะเดี๋ยวก็หายเดี๋ยวก็มี เพราะฉะนั้น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ที่เราพิจารณาอยู่เนี่ย จะเป็นคาถาหนึ่งที่ช่วยให้เราเห็นว่า เวทนาไม่ใช่เรื่องใหญ่จนเราต้องไปกลัวจนฝ่อ พอเราเริ่มเห็นแบบนี้ว่า ถ้าเราไปฝ่อกับความปวดแล้วตายในขณะนั้น เราไปไม่ดีหรอก แต่ถ้าเรามีสติ เรามองปวดได้ ใจก็จะเป็นอิสระ มีสติรู้อยู่ ทำให้เห็นตามความเป็นจริงในการเดินทางต่อถ้าจิตจะดับในขณะนั้น

ตันหยง: อย่างน้อยมีความเจ็บปวดแต่เราก็มีสติรับรู้อยู่ แบบนั้นหรือคะ

คุณหมออมรา: มันปวดอยู่ตรงร่างกายแต่มันไม่ได้ปวดที่จิตใจ ถ้ามีสติตอนจิตกำลังจะดับ อย่างน้อยก็แน่ใจได้ว่าจะเกิดมาเป็นมนุษย์อีก

ตันหยง: ที่คุณหมอเปรียบว่าในเวลาที่ใจจะเปลี่ยนภพ ก็เหมือนช่วงเวลาที่กำลังจะออกเดินทาง อยากให้ช่วยขยายตรงนี้อีกสักนิดค่ะ

คุณหมออมรา: ถ้าเราออกเดินทางเวลาโพล้เพล้ จะสว่างก็ไม่สว่าง จะมืดก็ไม่มืด มองอะไรก็ไม่ถนัด ยิ่งใจของเราตื่นกลัว หวาดหวั่น มันก็เหมือนฝนตั้งเค้าทะมึน มีลมพายุ ดีไม่ดี มีทั้งฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า และฝนกระหน่ำลงมา จนเราเปียกปอน ลื่นล้มลงไปในหลุม ในร่องที่มองไม่เห็น แข้งขาหัก เดินต่อไปไม่ได้ เมื่อจะเดินทางอย่างน้อยที่สุดต้องมีไฟฉาย คือ สติปัญญาอยู่กับใจ ให้เราเห็นหนทาง ถ้าเตรียมสติปัญญาของเราพรักพร้อม ก็เหมือนเราออกเดินทางเวลาที่ท้องฟ้าแจ่มใส มองเห็นทางชัดเจน

ตันหยง: ก็คือเตรียมพร้อมสติปัญญาของใจในการสู้กับโรคร้าย ความเจ็บปวด ความตาย ด้วยการเจริญสติภาวนานั่นเอง แล้วประโยชน์ของการฝึกภาวนามีอย่างไรบ้างคะ

คุณหมออมรา: สามารถเลือกแดนเกิดในถิ่นที่สมควร ได้รู้จักพระพุทธศาสนา มีผู้อบรมบ่มนิสัยของเราให้เป็นผู้มีคุณธรรมความดี มีอริยทรัพย์เลี้ยงตัว ภพชาติที่ไปเกิดแต่ละครั้ง ก็เป็นมรรคให้เราขวนขวายช่วยตัวเองปลดหนี้เก่า ขณะเดียวกันก็ยุติการสร้างหนี้ใหม่ ผลที่สุดก็เป็นไทแก่ตัว

ตันหยง: อนุโมทนากับคำตอบของคุณหมอด้วยค่ะ ความสำคัญของการฝึกอบรมใจให้มีสติ มีปัญญาในระยะที่จะสิ้นลมก็เพื่อที่จะคุ้มครองใจไปอุบัติในสถานที่อันเหมาะสม จะได้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิระหว่างที่ยังอยู่ในวัฏฏะตราบพระนิพพานในวันข้างหน้านั่นเอง แล้วที่ว่าการแก้ปัญหาที่ตรงเป้า คือการแก้ไขที่ตนเอง ปรับทิศทางให้ถูกต้อง ด้วยการมองเข้าตน พิจารณาตน ช่วยขยายความสักนิดค่ะ

คุณหมออมรา: เวลาที่มีปัญหาเกิดขึ้น ปกติเราจะส่งออกนอก ตำหนิไปข้างนอก ซึ่งมันไม่เป็นการแก้ปัญหา เราไปแก้เขาไม่ได้ เช่น เขามีตำแหน่งหน้าที่มากกว่า เขาก็อาจจะเยาะเย้ยเพิ่มไปอีก แต่ถ้าเรามองที่ตัวเองพิจารณาตัวเอง พิจารณาอย่างแยบคายที่ตนเอง เราก็จะเห็นช่องทางในการแก้ไขปรับปรุงตนได้

ตันหยง: แล้วที่ว่า สิ่งทั้งปวงมาแต่เหตุ ตรงนี้อยากขอความคิดเห็นของคุณหมอสักนิดค่ะ

คุณหมออมรา: สิ่งทั้งปวงมาแต่เหตุ เช่นถ้าเราเอาเม็ดมะม่วงใส่ลงไปในดิน เหตุคือเม็ดมะม่วง ผลก็คือต้นมะม่วง ถ้าเราเอาผลชมพู่มาปลูก เราก็ได้ต้นชมพู่ จะได้ต้นมะม่วงคงไม่ได้ ถ้าเราแก้ไขเหตุของเราให้ตรงกันผลก็จะเป็นดังนั้น

ตันหยง: ก็คือผลจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการสร้างเหตุอันเหมาะสมนั่นเอง แล้วที่คุณหมอได้เคยกล่าวในหนังสือ "ทางแก้ไขจุดบอดของใจ" ว่า ปกติถ้ารักษาศีลอย่างเดียว ใจยังไม่มีภูมิคุ้มกันพอ มีเบญจศีลก็ต้องมีเบญจธรรมด้วย ช่วยขยายความสักนิดค่ะ

คุณหมออมรา: คือศีลเป็นข้อห้ามอย่างเดียว บางทีการห้ามๆไปหมดทุกอย่าง ใจก็เกิดอาการเครียดว่าอันนี้ก็ห้ามทำ อันนั้นก็ทำไม่ได้ แต่ถ้าเรามีเบญจธรรม เช่น ให้มีความเมตตาต่อสัตว์อื่นว่าเค้าก็รักชีวิตเช่นเดียวกัน เค้าไม่มีสติปัญญาดั่งมนุษย์เรา ก็จะเกิดความรู้สึกว่าสัตว์เหล่านั้นก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์เหมือนกับเรา และสงสารเมตตาเค้า เบญจธรรม คือธรรมะที่เป็นข้อเสริม เช่นห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ ก็คือให้มีเมตตา ห้ามไม่ให้พูดปด ก็คือให้มีสัจจะ ห้ามไม่ให้ไปผิดศีลในภรรยาสามีคนอื่น ก็คือให้เรามองแต่คุณงามความดีของคู่ครองตน จนเห็นว่าไม่มีใครที่ดีไปกว่าคู่ครองของตน ไม่ให้ดื่มสุราของมึนเมา ก็คือให้มีสติไม่ประมาท เป็นต้น

คือศีลเป็นข้อห้าม ธรรมะเป็นข้อเสริม คล้ายๆเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้ใจเป็นปกติ

ตันหยง: ก็คือเบญจธรรมจะช่วยทำให้จิตใจเรามีความนุ่มนวลมากขึ้น ท้ายนี้ อยากจะขอพรจากคุณหมอ ฝากอะไรกับท่านผู้อ่านสักนิดค่ะ

คุณหมออมรา: เราดูแลร่างกายของเรามามากแล้ว แต่เราได้ให้อาหารใจ คือความเมตตา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เกื้อกูลกันบ้างหรือเปล่า ให้ที่พักที่ดีคือ สมาธิ สติสัมปชัญญะ เพื่อใจจะเป็นสุข มีวิหารธรรม มีธรรมะเป็นที่อยู่เครื่องอยู่ของใจ เพื่อที่จะบังแดดบังฝนให้เรา

ตันหยง: ต้องขอขอบพระคุณคุณหมออมรา มลิลามากเลยค่ะ สำหรับธรรมะที่งดงามที่ได้เมตตาแบ่งปันให้กับพวกเรากัน ก่อนจากกันวันนี้ตันหยงก็มีบทกลอนจากหนังสือ ปัจจุบันจิต ของคุณหมออมรา มลิลาค่ะ

“ตัวอยู่ตรงไหน ใจอยู่ตรงนั้น
เป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นใจปัจจุบัน
เป็นความจริง ไม่ตะครุบเงา
ฟุ้งซ่านไปในอดีต ปรุงคิดไปในอนาคต
รับข้อมูล ผัสสะที่มากระทบ
ได้เที่ยงตรง เต็มเม็ดเต็มหน่วย
การแก้ปัญหา ก็ดีวิเศษถูกต้อง”

Re: ธรรมะสำหรับผู้ป่วยและไม่ป่วย จากคุณหมออมรา มลิลา

พุธ 06 พ.ค. 2009 4:49 pm

นานๆมาที เต็มเหยียดเลยนะน้องเด็กลึกลับ :lol:
เดี๋ยวขออ่านก่อง :arrow:

Re: ธรรมะสำหรับผู้ป่วยและไม่ป่วย จากคุณหมออมรา มลิลา

พุธ 06 พ.ค. 2009 8:24 pm

แง่คิดเยอะดีครับ ขอบคุณครับ


ว่าแล้วรีบไปทำเหตุให้ถึงพร้อมดีก่าาาา :D

Re: ธรรมะสำหรับผู้ป่วยและไม่ป่วย จากคุณหมออมรา มลิลา

เสาร์ 09 พ.ค. 2009 6:09 pm

ยอดเยี่ยมครับ ขอบพระคุณมาก ๆ :grt:

Re: ธรรมะสำหรับผู้ป่วยและไม่ป่วย จากคุณหมออมรา มลิลา

อาทิตย์ 10 พ.ค. 2009 8:38 pm

ขอบคุณมากครับ สาาาธุ
ตอบกระทู้