นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน จันทร์ 14 ก.ค. 2025 9:19 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: กายกับจิต
โพสต์โพสต์แล้ว: เสาร์ 05 ก.ค. 2025 5:12 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4984
"..เราชาวพุทธ เวลาจะเป็นจะตายก็ให้เข้าห้องพระระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แล้วกราบลงชั่วขณะหนึ่งก็เย็นใจ นั่งภาวนารำพึงถึงความตาย ความได้ความเสียความเป็นมาของตน ตลอดจนความที่จะเป็นไปข้างหน้า จะได้มีอะไรติดเนื้อติดตัวของตนไปบ้าง เวลานี้มีแต่ความหมุนเวียนไปตามอำนาจของกิเลส ความหมุนมาเพื่ออรรถเพื่อธรรม เพื่อแก้ตนเองถอดถอนตนเองให้หลุดพ้นจากสิ่งพัวพันทั้งหลายเหล่านี้มีหรือไม่มีก็ได้คำนึงในห้องพระบ้างสำหรับชาวพุทธเรา ถ้าไม่ได้คำนึงอย่างนี้แล้วก็ตายทิ้งเหมือนสัตว์นั้นแล.."

ญาณสมฺปนฺโนวาท
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)
วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี







อันใดมันผิด เราก็หยุดเสีย
ความผิดมันก็ไม่เกิดกับเรา
อันใดมันถูก เราก็รักษาเข้าไว้
ให้มันเป็นมงคลอยู่กับใจของเรา
...
หลวงพ่อชา สุภัทฺโท







#วันนี้ #วันพระ #ขอกราบบูชาธรรม #พ่อแม่ครูอาจารย์
ความประทับใจ!ครั้งแรก เมื่อพบ “#หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต" ของ "#หลวงปู่ชา_สุภัทโท"
.
หลวงปู่ชา สุภทฺโท ได้เล่าถ่ายทอดให้พระเณรได้ฟัง เมื่อครั้งพบท่านพระอาจารย์ใหญ่ "หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต" และได้ฝากเป็นศิษย์ท่าน และได้แนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องตามธรรมวินัย ดังเรื่องราวต่อไปนี้ -
.
"…ในระหว่างที่ หลวงปู่ชา สุภัทโท จำพรรษาที่วัดเขาวงกฏ หลวงปู่ชาได้ฟังเรื่องราวของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จากโยมคนหนึ่ง ซึ่งเคยไปนมัสการหลวงปู่มั่นที่สำนักวัดป่าบ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร และได้เกิดความรู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงปู่มั่น และตั้งใจว่าจะต้องไปศึกษาแนวทางการปฏิบัติจากท่านหลวงปู่มั่น
.
เมื่อออกพรรษาแล้ว…หลวงปู่ชากับคณะพระภาคกลางรวมกันสี่รูป จึงออกเดินทางย้อนกลับมาที่อุบลราชธานี พักอยู่ที่วัดก่อนอีกระยะหนึ่ง แล้วจาริกธุดงค์มุ่งหน้าไปจังหวัดสกลนคร เพื่อไปยังเสนาสนะวัดป่าบ้านหนองผือ เพื่อรับการอบรมธรรมจากหลวงปู่มั่น
.
ระหว่างการเดินทางไปสำนักหลวงปู่มั่น ได้แวะสนทนาและศึกษาตามสำนักต่างๆ ที่จาริกผ่านไปเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ และเปรียบเทียบแนวทางปฏิบัติของแต่ละสำนัก การเดินทางครั้งนั้น ผู้ร่วมทางบางคนในคณะเกิดท้อถอย เพราะมีความเหน็ดเหนื่อยและยากลำบากมาก ต้องเดินลัดเลาะป่าเขา เดินตามทางเกวียน ประกอบกับเป็นผู้ไม่คุ้นเคยต่อการเดินทางไกลนัก พระบางรูปจึงขอแยกทางกลับคืนถิ่นเดิม หลวงปู่ชากับพระอีกสองรูปที่ไม่เลิกล้มความตั้งใจ ได้ออกเดินทางต่อ ในที่สุดก็ถึงสำนักของหลวงปู่มั่น เสนาสนะวัดป่าบ้านหนองผือ
.
ก้าวแรกที่ย่างเข้าสู่สำนักป่าบ้านหนองผือ หลวงปู่ชารู้สึกประทับใจในบรรยากาศอันสงบร่มรื่นของสำนัก มองดูลานวัดสะอาดสะอ้าน กิริยามารยาทของเพื่อนบรรพชิตในวัดป่านี้เป็นที่น่าเลื่อมใส จึงเกิดความพึงพอใจยิ่งกว่าสำนักใดๆ ที่เคยเห็นเคยสัมผัสมา ยามเย็นวันแรกที่ไปถึง ได้เข้ากราบนมัสการหลวงปู่มั่นพร้อมศิษย์ของท่านเพื่อฟังธรรมร่วมกัน หลวงปู่มั่นท่านได้ปฏิสันถาร สอบถามเกี่ยวกับอายุ พรรษา และสำนักที่เคยได้ศึกษาปฏิบัติ
.
แปลกมากเมื่อมาถึงวัดป่าบ้านหนองผือ หลวงปู่มั่นท่านเทศน์อบรมเรื่องนิกายธรรมยุติกับมหานิกาย บังเอิญเป็นเรื่องที่หลวงปู่ชาสงสัยมานานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตลอดการเดินทางมาที่นี่หลวงปู่ชาก็ตั้งใจว่าจะเรียนถามถึงเรื่องสองนิกายนี้ แต่ยังไม่ได้ทันถามหลวงปู่มั่น ท่านก็เทศน์เรื่องสองนิกายก่อนเลย ทำให้หลวงปู่ชาขนลุกขนพองปลื้มปิติแปลกใจมาก เพราะท่านเพียงแต่คิดในใจท่านเท่านั้นเอง หลวงปู่มั่นท่านทำไมถึงทราบได้ ทำให้หลวงปู่ชามั่นใจในคุณธรรมปฏิบัติของหลวงปู่มั่นมากเป็นลำดับ จากนั้นท่านก็ให้โอวาทและปรารภถึงเรื่องนิกายทั้งสอง คือธรรมยุติและมหานิกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่หลวงปู่ชาสงสัยอยู่มาก
.
หลวงปู่มั่นกล่าวว่า "#การประพฤติปฏิบัตินั้น #หากถือเอาพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้วก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง" เมื่อคลายความสงสัยในเรื่องนิกายแล้ว หลวงปู่ชาได้กราบเรียนถามปัญหากับหลวงปู่มั่น ซึ่งหลวงปู่ชาถ่ายทอดบทสนทนาของท่านกับหลวงปู่มั่นให้ศิษย์ฟังว่า
.
"เกล้ากระผมเป็นผู้ปฏิบัติใหม่... ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร... มีความสงสัยมาก ยังไม่มีหลักในการปฏิบัติเลยครับ" หลวงปู่ชาถาม
.
"มันเป็นยังไง" หลวงปู่มั่นถาม
.
"ผมหาทางปฏิบัติ... ก็เลยเอาหนังสือวิสุทธิมรรคขึ้นมาอ่าน มีความรู้สึกว่า มันจะไปไม่ไหวเสียแล้ว เนื้อความในสีลานิทเทส สมาธินิทเทส ปัญญานิทเทสนั้น ดูเหมือนไม่ใช่วิสัยของ มนุษย์จะทำได้ ผมมองเห็นว่ามนุษย์ทั่วโลกนี้มันจะทำตามไม่ได้ครับ มันยาก มันลำบาก มันเหลือวิสัยจริงๆ ..." หลวงปู่ชาตอบ
.
หลวงปู่มั่นจึงกล่าวให้ฟังว่า.....
.
"ท่าน... ของนี้มันมากก็จริงอยู่ ถ้าเราจะกำหนดทุกๆ สิกขาบทในสีลานิทเทสนั้นนะมันก็ลำบาก แต่ความจริงแล้ว สีลานิทเทสก็คือสิ่งที่บรรยายออกมาจากใจของคนเรานั่นเอง ถ้าหากว่าเราอบรมจิตของเราให้มีความละอาย มีความกลัวต่อความผิดทั้งหมด เราก็จะเป็นคนที่สำรวมสังวรระวัง เพราะมีความละอายและเกรงกลัวต่อความผิด...
.
เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็จะเป็นเหตุให้เราเป็นคนมักน้อย และสติก็จะกล้าขึ้น จะยืนเดิน นั่ง นอนอยู่ที่ไหน มันจะตั้งอกตั้งใจมีสติเต็มเปี่ยมเสมอ ความระวังมันก็เกิดขึ้น...
.
อะไรทั้งหมดที่ท่านศึกษาในหนังสือน่ะ มันขึ้นต่อจิตทั้งนั้น ถ้าท่านยังไม่อบรมจิตของท่านให้มีความรู้มีความสะอาดแล้ว ท่านจะมีความสงสัยอยู่เรื่อยไป...
.
ดังนั้น ท่านจงรวมธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ที่จิต สำรวมอยู่ที่จิต อะไรที่เกิดขึ้นมา ถ้าสงสัย... ถ้ายังไม่รู้แจ้งแล้วอย่าไปทำ... อย่าไปพูด... อย่าไปละเมิดมัน" หลวงปู่มั่นแนะนำ
.
คืนนั้น.. หลวงปู่ชานั่งฟังธรรมร่วมกับศิษย์ของหลวงปู่มั่น เช่นหลวงปู่ขาว หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่มหาบัว หลวงปู่ผาง หลวงปู่แหวน จนกระทั่งถึงเที่ยงคืน จิตใจเกิดความสงบระงับเป็นสมาธิ ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทางได้อันตรธานไปสิ้น...
.
คืนที่สอง... หลวงปู่มั่นได้แสดงปกิณกธรรมต่างๆ ให้ฟังอย่างละเอียดลึกซึ้ง จนหลวงปู่ชาคลายความลังเลสงสัยในวิถีทางการปฏิบัติ มีความปลาบปลื้มปิติในธรรมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในวันที่สาม หลวงพ่อได้กราบลาหลวงปู่มั่น แล้วเดินธุดงค์ลงมาทาง อ.นาแก จ.นครพนม
.
จากการได้พบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดป่าบ้านหนองผือ เป็นประสบการณ์สำคัญที่นำวิถีชีวิตของหลวงปู่ชาเข้าสู่กระแสธรรมปฏิบัติอย่างถูกต้องและมั่นคง หลวงพ่อเล่าถึงบรรยากาศของการได้ สัมผัสหลวงปู่มั่น และสำนักป่าบ้านหนองผือแก่พระเณรในเวลาต่อมาว่า...
.
"...ที่ผมได้ความรู้ความฉลาด จนได้มาแบ่งปันพวกท่านทั้งหลายนั้น ก็เพราะผมได้ ไปกราบครูบาอาจารย์มั่น... ไปพบท่าน แล้วก็เห็นสภาพวัดวาอารามของท่าน ถึงจะไม่สวยงาม แต่ก็ สะอาดมาก พระเณรตั้งห้าสิบหกสิบขณะฟังการอบรมธรรมจากหลวงปู่มั่น ทุกรูป เงียบ ! กริบไม่มีการไอการจาม นั่งโยกเยกไม่มีเลยขนาดจะถากแก่นขนุน ก็ยังแบกเอาไปฟันอยู่โน้น.. ไกลๆ โน้น เพราะกลัวว่าจะ ก่อกวนความสงบของหมู่เพื่อน...
.
พระเณรที่นั่นพอตักน้ำทำกิจอะไรเสร็จ ก็เข้าทางจงกรม ของใครของมัน ไม่ได้ยินเสียงคุยกันอะไร อะไร นอกจากเสียงเท้าที่เดินเท่านั้นแหละ บางวันประมาณหนึ่งทุ่ม เราก็เข้าไปกราบท่านหลวงปู่มั่นเพื่อฟังธรรม ได้เวลาพอสมควรประมาณสี่ทุ่มหรือห้าทุ่มก็กลับกุฏิ เอาธรรมะที่ได้ฟังไปวิจัย... ไปพิจารณาปฏิบัติดู
.
เมื่อได้ฟังเทศน์ท่านหลวงปู่มั่นแล้ว ไม่รู้เป็นไง มันอิ่มใจ เดินจงกรมทำสมาธินี่... มันไม่เหน็ดไม่เหนื่อย มันมีกำลังมาก ออกจากที่ประชุมกันแล้วก็เงียบ ! บางครั้งอยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อนเขาเดิน จงกรมอยู่ตลอดคืนตลอดวัน จนได้ย่องไปดูว่าใคร ท่านผู้นั้นเป็นใคร ทำไมถึงเดิน ไม่หยุดไม่พัก นั่น... เพราะจิตใจมันมีกำลัง..." นี่แหละการได้อยู่ศึกษากับพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีคุณธรรมสามารถบอกสอนอบรมแนะนำให้เราปฏิบัติถูกทางตามอรรถตามธรรมเมื่อมรรคผลนิพพาน
.
หลังจากกราบลาท่านหลวงปู่มั่นออกจากสำนักหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือแล้ว หลวงปู่ชากับคณะเดินธุดงค์รอนแรมพักภาวนา ตามป่าเขามาเรื่อยๆ ตามคำแนะนำของหลวงปู่มั่น ในขณะนั้นไม่ว่าจะเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิอยู่ที่ใดก็ตามจิตของหลวงปู่ชา มีความรู้สึกราวกับว่า หลวงปู่มั่นคอยติดตามให้คำแนะนำตักเตือนอยู่ตลอดเวลา... เพื่อมิให้ประมาทในธรรมปฏิบัติ..."
.
#พระอาจารย์ชา_สุภัทโท
วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ
จ. อุบลราชธานี







* พระโสดาบันจึงไม่สงสัยในศาสนาทุก
ศาสนา ไม่สงสัยในบุญบาป ไม่สงสัยในกรรม
เวร ไม่สงสัยกรรมดี กรรมชั่วของตัวเองและ
ของคนอื่น มีความมั่นใจในการสร้างแต่ความ
ดี มั่นคงในการให้ทาน มั่นคงในการรักษาศีล
มั่นคงในการเจริญภาวนา ไม่ขี้เกียจขี้คร้าน
ไม่ท้อถอย ไม่ตัดพ้อต่อว่าใครดี ใครชั่ว ใคร
จะมาทำร้าย ร้าย ใครจะมานินทา ใครจะมา
สรรเสริญ ใครจะมากลั่นแกล้ง ใครจะทำ
อย่างไรก็ไม่หวั่น เพราะเชื่อในการทำความดี
ของตนเอง มีความมั่นใจเหมือนเพชร ย่อม
แข็งแกร่ง ย่อมเป็นหนึ่ง *

พระธรรม คำสอน !!
หลวงพ่อสนอง กตปุญโญ
วัดสังฆทาน อ.เมือง จ.นนทบุรี






"...นักภาวนาทั้งหลาย จิตยังไม่สงบ
ฌานก็ยังไม่ถึง อยากจะให้ปัญญามันเกิดขึ้น
มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถึงเกิดขึ้นก็เรียกว่า
ปัญญาโลกีย์ ความอยากให้มันเกิดขึ้นมันก็
เป็นโลกียะอยู่แล้ว พอหันมาดูตัวของตนเอง
มีแต่กิเลสหุ้มห่อทั้งตัว เรามาภาวนาต้องการ
ละกิเลสในใจตัวเอง พอภาวนาเข้าก็กลายเป็น
สั่งสมกิเลสไปในตัว การอยากรู้ อยากเห็น
อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ล้วนแต่เป็นกิเลสทั้ง
หมด พระพุทธเจ้าให้สละสิ่งทั้งหมด แล้วทำใจ
ให้เป็นกลางในสิ่งทั้งปวง แล้วพิจารณาให้รู้เท่า
ให้เข้าใจตามความเป็นจริงของสื่งนั้นๆ

ยกตัวอย่างพระอานนท์พุทธอนุชา เป็นพหูสูตร
เรียนรู้ในธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า จนจบ
สิ้น ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่ทอดทิ้งสิ่งทั้งปวง จะให้
ถึงซึ่งความเป็นกลาง เมื่อก่อนวันที่จะทำปฐม
สังคายนา ท่านพิจารณาธรรมทั้งหลายจนอ่อน
เพลียแล้วเอนศีรษะจะพักผ่อน เศียรยังไม่ถึง
หมอน ในขณะนั้นจิตของพระอานนท์ทอดธุระ
ทั้วหมดทั้งปวงไม่มีอะไรเหลือหลอ ท่านจึงได้
สำเร็จ เป็นพระอรหันต์..."

หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย







"..ขอให้โยมจำไว้ในใจว่า อารมณ์ทั้งหลายนั้น จะเป็นอารมณ์ที่พอใจก็ตาม หรืออารมณ์ที่ไม่พอใจก็ตามอารมณ์ทั้งสองอย่างนี้ มันเหมือนงูเห่า งูเห่ามันมีพิษมากถ้ามันฉกคนแล้วก็ทำให้ถึงแก่ความตายได้ อารมณ์นี้ก็เหมือนกับงูเห่าที่มีพิษร้ายนั้น อารมณ์ที่พอใจก็มีพิษมากอารมณ์ที่ไม่พอใจก็มีพิษมาก มันทำให้จิตใจของเราไม่เป็นเสรี ทำให้จิตใจไขว้เขว จากหลักธรรมของพระพุทธเจ้า วันนี้จึงขอให้โอวาทย่อๆแก่โยม ขอให้เป็นผู้มีสติอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน จะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอนก็ให้นอนด้วยสติ นั่งด้วยสติ เดินด้วยสติ ยืนด้วยสติ จะพูดก็พูดด้วยสติ จะทำอะไรๆก็ให้มีสติอยู่ด้วยทั้งนั้น เมื่อมีสติแล้ว สัมปชัญญะความรู้ตัวมันก็จะเกิดขึ้นมา สติกับสัมปชัญญะเป็นของคู่กัน เมื่อทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นพร้อมกันแล้ว ก็จะนำปัญญาให้เกิดตามทีนี้เมื่อมีทั้งสติ สัมปชัญญะปัญญาแล้ว ก็จะเป็นผู้ที่ตื่นอยู่ ทั้งกลางวันและกลางคืน.."

โอวาทธรรมคำสอน
พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี







"..ภาวนาไม่ควรดิ้นรน ทะเยอทะยานอยาก
ในสิ่งที่ตนยังไม่ได้ ไม่เห็น ควรทำไปเรื่อยๆ เฉยๆ
ถ้าอยากเห็นอยากเป็น ย่อมไม่เห็นไม่เป็นเสียอีก
เวลาจะเห็นจะเป็น มันเห็นมันเป็นของมันเองต่าง
หาก พ้นจากอดีต อนาคตแล้ว จะเป็นจะเห็น.."

ที่มา หนังสือ บันทึกธรรม หลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี
วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย








#โอวาทธรรม
#พระอาจารย์กงมา_จิรปุญฺโญ

โอวาทธรรมหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ

ชีวิตสิ้นสุดเพียงสถานีความตาย

"ธรรมดานายโคบาล ผู้ฉลาดย่อมต้อนฝูงโคของเขา ไปยังที่ซึ่งอุดมไปด้วยน้ำและหญ้า ตามวิสัยของผู้ฉลาดฉันใด ชีวิตคือความเป็นอยู่ของสรรพสัตว์ก็ฉันนั้น นับแต่คลอดออกจากครรภ์ของมารดาแล้ว ก็เดินทางไปสู่ความแก่ทุกวันทุกคืน จนเป็นเดือนเป็นปี และเป็นหลายๆ ปี"

"เมื่อถึงสถานีของความแก่แล้ว สถานีแห่งความแก่ก็ส่งไปสู่สถานีแห่งความเจ็บ มีเจ็บหลังบ้าง เจ็บเอว เจ็บตา เจ็บแข้ง เจ็บขาบ้าง แล้วสถานีนี้ก็ส่งไปยังสถานีแห่งความตาย มาสิ้นสุดเพียงสถานีของความตายนี้ทั้งนั้น"

หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ
วัดดอยธรรมเจดีย์ ต.ตองโขบ อ.ศรีสุพรรณ จ.สกลนคร






#หลวงพ่อไขข้อข้องใจ๕

#ปุจฉา : การทำสมาธิมานานปี หากยังไม่เห็นนิมิตต่างๆ อย่างผู้อื่นนั้น เป็นเพราะยังทำสมาธิไม่ถูกต้องวิธีใช่ไหม

#หลวงพ่อพุุธ : เรื่องของนิมิตมักจะเกิดขึ้นสำหรับผู้ที่มีกำลังใจอ่อน มีอารมณ์ไหวง่าย ยิ่งคนใจอ่อนอยากเห็นนิมิตง่ายๆ พอนั่งบริกรรมลง พอจิตสงบเคลิ้มๆ ไปแล้ว ส่งกระแสจิตออกข้างนอกแล้วจะเห็นภาพนิมิตต่างๆ แต่ขอบอกว่าการเห็นภาพนิมิตต่างๆ นั้น ไม่เกิดประโยชน์อันใด นอกจากจะทำให้จิตของเรามันหลง การภาวนานั้นจะมีนิมิตเกิดขึ้นก็ตาม ไม่เกิดขึ้นก็ตาม อย่าไปใฝ่ฝันในนิมิตนั้นๆ

ความมุ่งหมายของการภาวนานี้ ให้จิตสงบลงไปเพื่อจะให้รู้เห็นสภาพความเป็นจริงของจิตของเราว่ามันเป็นอย่างไร ทีแรกเห็นความฟุ้งซ่านของจิตก่อน เมื่อจิตสงบลงไปแล้ว เห็นลักษณะจิตที่สงบว่างๆ ไม่มีอะไร เราอาจจะได้รู้ความเป็นจริงของจิตดั้งเดิม ในลักษณะที่ว่าจิตเป็นธรรมชาติประภัสสร คือจิตดั้งเดิมของเรา ทีนี้ในเมื่อจิตมันอยู่ว่างๆ เป็นธรรมชาติประภัสสรนั้น มีความรู้สึกสบายไหม มีความรู้สึกทุกข์ไหม ให้มันรู้มันเห็นอันนี้ เมื่อจิตมันออกเป็นสภาวะอย่างนั้น มันรับรู้อารมณ์แล้ว มันยึดไหม มีความทุกข์ไหม ฟุ้งซ่านไหม เดือดร้อนไหม ให้รู้ให้เห็นที่ตรงนี้

เรื่องนิมิตต่างๆ นั้น จะเห็นหรือไม่เห็นไม่สำคัญ แต่ถ้าใครจะเห็นได้ก็ดี ถ้าไม่เห็นก็ไม่ต้องเสียใจ อย่าไปปรารถนาจะเห็นนิมิตเป็นภาพอะไรต่ออะไรอย่างนั้น มันเป็นเพียงทางผ่านของจิตเท่านั้น จะรู้จะเห็นก็ตาม ขอให้มีจิตสงบรู้สภาพความเป็นจริงของจิต และอารมณ์ซึ่งเกิดขึ้นกับจิต มีสติรู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในจิตพอแล้ว ปัญหาของผู้ถามนี้ โดยปกติแล้วปฏิบัติวันละ ๒๐ - ๓๐ นาที อันนี้ขอเสนอว่ายังน้อยไป ขอให้ตั้งปณิธานไว้ว่า วันหนึ่งจะนั่งสมาธิได้วันละ ๓ ครั้ง ๆ ละ ๑ ชั่วโมง ถ้าได้อย่างนั้นเป็นดีที่สุด และจิตจะสงบรู้ธรรม เห็นธรรมง่าย

#ท่านเจ้าคุณพระราชสังวรญาณ
(หลวงพ่อพุุธ ฐานิโย)

วัดวะภูแก้ว อ .สูงเนิน จ.นครราชสีมา









"..ศีล นั้นอยู่ที่ไหนมีตัวตนเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้รักษาแล้วก็รู้ว่า ผู้นั้นเป็นตัวศีล ศีลก็อยู่ที่ตนนี้ เจตนาเป็นตัวศีล เจตนาคือจิตใจ คนเราถ้าจิตใจไม่มีก็ไม่เรียกว่าคน มีแต่กายจะทำอะไรได้ ร่างกายกับจิตต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อจิตไม่เป็นศีล กายก็ประพฤติไปต่างๆ มีโทษต่างๆ ผู้มีศีลแล้วไม่มีโทษ จะเป็นปกติแนบเนียนไม่หวั่นไหว ไม่มีเรื่องหลงหา หลงขอ
คนที่หา คนที่ขอต้องเป็นทุกข์ ขอเท่าไหร่ยิ่งไม่มี ยิ่งอดอยากยากเข็ญ

กายกับจิตเราได้มาแล้ว มีอยู่แล้ว ได้มาจากบิดามารดาพร้อมบริบูรณ์ จะทำให้เป็นศีลก็รีบทำ ศีลมีอยู่ที่เราแล้ว รักษาได้ไม่มีกาล ได้ผลไม่มีกาล

ผู้มีศีลย่อมเป็นผู้องอาจกล้าหาญ ผู้มีศีลย่อมมีความสุข ผู้จักมั่งคั่งบริบูรณ์ไม่อด ไม่ยาก
ไม่จน ก็เพราะรักษาศีลให้สมบูรณ์ จิตดวงเดียวเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา
ผู้มีศีลแท้เป็นผู้หมดเวรหมดภัย.."

ภูริทตฺตธมฺโมวาท พระครูวินัยธร
(หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต)
วัดป่าสุทธาวาส
ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร








"บุญนั่นเฮ็ดบ่ยากดอก
บ่ได้ใช้เงินจักบาทก็เฮ็ดบุญได้
ใช้แค่ใจ ใช้แค่จิต สิอยู่ท่าได๋กะเฮ็ดได้
ยืนกะได้ นั่งกะได้ ย่างกะได้ นอนกะได้
ว่าตะจิตเป็นสมาธิ
ล้างถ้วย ล้างจาน ขับรถอยู่กะเฮ็ดได้บุญ
บ่ยากจักเม็ด"

โอวาทธรรมหลวงปู่ศิลา สิริจันโท


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO