นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน จันทร์ 14 ก.ค. 2025 7:30 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ประสบแต่ความสุข
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 02 ก.ค. 2025 4:45 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4984
"..ที่มานี่เราก็พากันมารักษาศีล ก็รักษาตัวของเรา ไม่ได้รักษาอื่น นี่กุศลอันนี้นำผลให้เรามาหลายภพหลายชาติ ผู้ที่ขี้ร้ายขี้เหร่ ก็เพราะเขาไม่ได้รักษาศีลจะดูในปัจจุบันนี้ก็ดูนั่น คนที่มาอยู่ที่วัดนี้มีกี่ร้อยกี่พันหรือกี่คน แล้วผู้ไปเที่ยวล่ะ ดูซิ โอ้โฮ นับทีซิ หมื่นหนึ่งน่ะซี่ จะเอาเสี้ยวหนึ่งก็ไม่ได้ คิดดูซี่ นี่ผู้เข้าวัดเข้าวาอย่างนี้นับซิมีกี่คน ให้พากันพึงรู้พึงเข้าใจ นัยต่อไปคืออานิสงส์การเกิดมามีสติปัญญาใครก็อยากได้ เกิดมามีสติปัญญา ของเราไม่ได้ภาวนาก็ไม่ได้ ท่านสอนให้ภาวนา เกิดมาจะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ท่านสอนให้ภาวนาพุทโธ ธัมโม สังโฆนี้ ให้ระลึกเอาในใจ พิจารณาเลือกเฟ้นหัวใจของเราใจมันมีมาก ใจดีใจชั่ว ใจสุขใจทุกข์ ใจนรกใจเปรตใจสัตว์เดรัจฉานก็มี ใจใบ้ใจบ้า ใจเสียจริตก็มี ใจคนเรามีหลายใจ ใจเทวบุตรใจเทวธิดาใจพระอินทร์ใจพระพรหมก็มี ใจท้าวพญามหากษัตริย์ก็มี ใจเศรษฐีคหบดีก็มี แน่ะ ใจคนมั่งมีศรีสุข ใจนายร้อยนายพัน นายพล ใจจอมพลก็มี จะเอาอย่างไรเล่า เลือกเอาซี่.."

อาจาโรวาท
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร
(พ.ศ.๒๔๔๒-๒๕๒๐)







โกรธ คือ กรรม
เกลียด คือ เวร
ทุกข์ คือ เจ็บ
ปลง คือ จบ
สงบ ก็คือ สุข

คำสอน
#หลวงปู่สุพจน์ ถิราจาโร
วัดเขื่อนจุฬาภรณ์ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ








"..ความจริงของความจริงมีอยู่ทุกแห่งทุกหนและทุกเวลาอกาลิโก ขอแต่ปฏิบัติให้ถึงความจริงทำจริง ต้องรู้ตามความสามารถและภูมิวาสนาของตนแน่นอน ไม่ว่าธรรมภายในคือสัจธรรม และธรรมภายนอกคือความรู้แขนงต่าง ๆ ตามภูมินิสัยวาสนาของแต่ละรายที่สร้างมา และความปรารถนาที่ตั้งไว้ไม่เหมือนกัน แต่ผลส่วนใหญ่คือมรรคผลนิพพานนั้น เมื่อถึงแล้วเหมือนกัน.."

ภูริทตฺตธมฺโมวาท
พระครูวินัยธร
(หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต)
วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
(พ.ศ.๒๔๑๓-๒๔๙๒)








พระโพธิสัตว์ทรงทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย ท่านทรงพิจารณาว่า แม้ตัวเรา พระบิดาของเรา พระชายาของเรา ก็ต้องแก่ เจ็บ ตาย เช่นนี้เหมือนกันหรือ คงจะมีธรรม อะไรสักอย่าง ที่แก้ความแก่และความตายได้ เพราะมีมีดก็ยังมีสว่างแก้ เมื่อพระองค์เห็น เพศสมณะ จึงได้เสด็จออกบรรพชาโดยคิดว่าวันหนึ่ง เราได้ค้นพบธรรมที่ไม่ตาย แล้วเราจะกลับมา โปรดพระบิดาและพระชายาของเรา

“ ความแก่ เจ็บ ตาย นั้นเป็นเทวทูต คือทูตแห่งความสว่างทำให้เราไม่หลงมัวเมาในชีวิต เทวทูตเตือนเราแล้วนะ "

หลวงพ่อขวัญชัย ธมฺมวโร
วัดนามะตูม พนัสนิคม ชลบุรี







“และก็นั่งในอิริยาบถที่เอื้อที่สุดกับการภาวนา
สําคัญที่สันหลัง ตรงแต่ไม่เกร็ง เหมือนมีอะไร
ดึงศีรษะขึ้นไปถึงเพดาน การภาวนาคือการ
ให้เวลากับตัวเอง ให้เวลากับชีวิต ชีวิตเรา
มันยุ่งเหยิงมาก เพราะฉะนั้นเราต้องแสวงหา
ความไม่ยุ่งเหยิง จะแสวงหาที่ไหน ก็แสวงหา
ภายใน จะแสวงหาภายในต้องให้เวลา
ให้เวลาทุกวัน

วางภาระหน้าที่ต่างๆ ไว้ชั่วคราว
เหมือนเราถือกระเป๋าหนักๆ ๒ ใบ เข้าไป
ในลิฟต์ เราไม่ต้องถือ วางไว้ก่อน ลิฟต์มาถึง
ที่หมายปลายทางแล้ว ชั้นไหนก็ตาม ออกจาก
ลิฟต์ก็ค่อยถือกระเป๋าต่อไป กระเป๋าใบแรก
เรียกว่าอดีต ใบที่สองก็อนาคต มันหนักมาก
วางไว้ก่อน” ...

พระอาจารย์ชยสาโร
นำสมาธิภาวนา ในวาระปฏิบัติธรรม
บ้านบุญวันอาทิตย์ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๘
ณ บ้านบุญ ปากช่อง นครราชสีมา





“วิปัสสนา” จริงๆ นั้น ก็คือการพินิจพิจารณา เมื่อจิตมีความสงบเย็นแล้วจิตย่อมมีอุบายต่างๆ ในเมื่อเราพาคิดพาพิจารณาแยกแยะธาตุขันธ์ เรื่อง“อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เราเคยได้อ่านจากตำรับตำราว่า “อนิจจังอยู่ที่ไหน ทุกขังอยู่ที่นั่น ทุกขังอยู่ที่ไหน อนัตตาก็อยู่ที่นั่น” เห็นแต่คนนั้นแก่ คนนี้ตาย เห็นแต่คนนั้นพลัดพราก ล้มหายตายจากกัน ตัวของเราก็คือตัวพลัดพราก ตัว อนิจฺจํ ทุกฺขํอนตฺตา เหมือนกัน “โอปนยิโก” น้อมเข้ามาสู่ตัวเรา ซึ่งแก่ขึ้นมาทุกวันๆ นับแต่วันตกคลอดออกมา แก่ขึ้นเรื่อยๆ แก่ขึ้นมาโดยลำดับ แปรสภาพขึ้นมาเรื่อยๆ นี้เรียกว่า “อนิจฺจํ ”
.
ความทุกข์ก็ติดแนบมาตั้งแต่วันเกิด ขณะที่ตกคลอดออกมานั้นสลบไสล ตัวของเด็กนั้นไม่รู้ตัวเลย ความทุกข์เหลือประมาณ บางรายก็ตายไปเสียตั้งแต่อยู่ในท้อง ขณะตกคลอดออกมาตายก็มี เพราะทนทุกข์ที่สาหัสไม่ไหว เรื่องความทุกข์มันติดแนบมาตั้งแต่เล็กจนกระทั่งบัดนี้ เรายังจะสงสัยเรื่อง “อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา” ที่ไหนไปอีก กองอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่กับเราอย่างสมบูรณ์อยู่แล้วตลอดเวลา
.
อนิจจัง คือ ความแปรสภาพไปทุกขณะ แม้แต่เวลานี้ นั่งอยู่สักครู่เดียวมันก็เหนื่อยแล้วล่ะ มันแปรแล้ว ธาตุขันธ์ มันแปรเป็นอย่างอื่น เกิดความทุกข์ขึ้นมาแล้ว
.
อนัตตา เราจะถือเป็นสาระแก่นสารอะไรในธาตุในขันธ์อันนี้ มันก็เป็นแต่กองดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประชุมกันอยู่อย่างธาตุเท่านั้น เรียกว่า “ธาตุสี่” ขันธ์ก็เรียกว่า “ขันธ์ห้า” คือ รูป ได้แก่ร่างกายของเรานี้ เป็นขันธ์ หมายถึงกอง หรือหมวด เป็นหมวดๆ เวทนา คือ ความสุข ความทุกข์เฉยๆ หรือความเป็นหมวด เป็นกองอันหนึ่ง สัญญา คือ ความจำได้ หมายรู้ สังขาร คือ ความคิดความปรุง วิญญาณ คือ ความรับทราบ เมื่อตาสัมผัสรูป ฯลฯ ทั้งห้านี้ ท่านเรียกว่า “ขันธ์ห้า”
.
เพราะฉะนั้น ขันธ์ห้านี้ มันมีสาระอะไรอยู่ภายในตัวของมัน พอจะไปยึดไปถือว่า “สิ่งนี้เป็นเรา” นี่หมายถึงเรื่อง “วิปัสสนา” นี่คือการแยกหาความจริง แยกให้เห็นความจริงที่มีอยู่ในตัวเราเอง แต่เราโง่ ไม่สามารถที่จะมองเห็นความจริงนี้ได้ จึงเรียกว่า “อันนั้นเป็นเรา อันนี้เป็นของเรา” พออะไรมีความเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เกิดความสลดหดหู่ เสียอกเสียใจ กลายเป็นโรคจิตขึ้นมาภายในตนก็มีแยะ เพราะความคิดปรุงเลยเถิด
.
โรคจิต ก็คือ โรควุ่นวาย โรคความทุกข์ เดือดร้อน นั่นเอง ยังไม่ถึงกับว่า“โรคจิต” จนกระทั่งถึงกับเป็นบ้า นั่นมันหนักมากไป ถึงกับไม่มีสติ มันก็เป็นบ้า
.
เมื่อพิจารณาแยกแยะดูด้วยปัญญาอย่างนี้ เราจะเห็นอุบายของปัญญา มีความสามารถที่จะตัดกิเลสออกได้เป็นตอนๆ เป็นระยะๆ จนกระทั่งสามารถตัดขาดออกได้หมดภายในขันธ์ห้า
.
ที่ว่า อันนั้นเป็นเรา อันนี้เป็นเรา จิตกับขันธ์ห้า เป็นอันเดียวกัน แยกกันไม่ออก เวลาปัญญาได้แยกแยะพินิจพิจารณาด้วยอำนาจของความฉลาด ที่ฝึกหัดมาจนชำนิชำนาญ สามารถแยกออกได้ นี่ทราบว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปก็รูป สิ่งนั้นๆ ก็เป็นสิ่งนั้นๆ แต่เราไม่ใช่สิ่งนั้นๆ มันแยกกันได้โดยลำดับๆ จนกระทั่งสามารถแยกจิตออกจากอาสวะกิเลส ที่ฝังจมอยู่ในจิตนั้นออกได้ เลยไม่มีอะไรเหลือภายในจิต นั่นแลท่านเรียกว่า “พุทโธ” แท้
.
ผลของการปฏิบัติจิตตภาวนา เมื่อถึงขั้นสุดท้ายแล้ว ได้เป็น “พุทโธ” แท้ เช่นเดียวกับ “พุทโธ” ของพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้หมายถึง “พุทโธ” ของพระพุทธเจ้าองค์นั้นแท้ แต่หมายถึง “พุทโธ” ของเรา เทียบเคียงกัน ความบริสุทธิ์นี้เสมอกันกับของพระพุทธเจ้า แต่ “พุทธวิสัย” และ “สาวกวิสัย” นี้ผิดกันไปตามอำนาจวาสนา ซึ่งนอกไปจากความบริสุทธิ์
.
ความสามารถอาจรู้ด้วยการแนะนำสั่งสอน ความเฉลียวฉลาดของพระพุทธเจ้าต้องสมภูมิพระองค์ท่าน แค่พวกสาวกก็เต็มตามภูมิของตน สำหรับความบริสุทธิ์นั้นเสมอกันท่านว่า “นตฺถิ เสยฺโยว ปาปิโย” นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าลงมา จนถึงพระสาวกองค์สุดท้ายบรรดาที่เป็นพระอรหันต์แล้ว ความบริสุทธิ์เสมอกัน ไม่มียิ่งหย่อนต่างกันเลย นี่ เหมือนกันตรงนี้
.
นี้แล คือ ผลที่เกิดจากการที่ทำจิตด้วยการภาวนา ทำไปโดยลำดับ แก้กิเลสไปโดยลำดับ จนกระทั่งหมดโดยสิ้นเชิงแล้ว เหลือแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ นั่นแลผู้ทรงความสุขอย่างยอดเยี่ยม ไม่มีอันใดเหนือกว่าความสุขประเภทนี้ ท่านเรียกว่า“โลกุตรธรรมอันสูงสุด” คือ ธรรมเหนือโลก
.
เหนือโลก คือ เหนือธาตุ เหนือขันธ์ เหนือสิ่งใดทั้งหมด ไม่มีอะไรจะยิ่งกว่าสิ่งที่บริสุทธิ์นี้ นี้คือผลที่เกิดขึ้นจากการภาวนา ซึ่งมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงทำก่อนใครในโลกสมัยนั้น และพาดำเนินมาก่อน จนถึงสมัยปัจจุบันถึงพวกเราชาวพุทธ ที่บำเพ็ญตามพระองค์อยู่เวลานี้

.........................................................................

#หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
วันที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
“ศาสนาทำให้คนต่างกับสัตว์”








“…จิตบ่มีศีลธรรมเป็นจิตบกพร่องเฮ็ดชั่วได่ง่าย ฆ่าพ่อฆ่าแม่กะได่..บุญบาปมีอีหลีๆเด้อ..คนเฮาฮู้จักแต่บุญบาปแต่บ่เคยสัมผัสเลยบ่เข่าใจ..คือเฮานั่งเบิ่งกับเข่าข่างหน่ากะฮู้วา..นี่ต้มปลา..นี่ปิ้งไก่..แต่บ่เคยลองชิมเบิ่งเลยบ่ฮู้รสชาติ..คือเฮาเห็นมูตร คูถ มีหนอนเจาะเต็มอยู่เฮาสิเข้าไปหาบ่…จิตดวงนี้มันบ่ตายเด้อมันออกจากร่างนี่กะไปสิงอยู่กับร่างใหม่..มนุษย์เฮาบ่ว่ารวยหรือจนกะกินเข่าวันละสามมื้อคือกัน..กินกะได้แค่อิ่ม..ตอนเป็นมนุษย์อยู่นี่ให้พากันสร้างไว้หลายๆกรรมดี เพราะวาตอนเป็นมนุษย์นี่คนบ่มีกะยืมกันกินได่ ขอกันกินได่ หาเก็บผัก หาปลา มากินได่..ย่างบ่ได่กะแบกกะหามกันไปนั่นมานี่ได่..แต่ข้างหน่านั่นมันขอกันกินบ่ได่ ยืมกันกินบ่ได่เป็นไปตามกรรมไผกรรมมันเด้อ..เป็นฆราวาสมีครอบครัวบ่ต้องเอาหยังหลาย..สวดมนต์ไหว้พระสุมื้อก่อนนอนแล้วกะตอนเช่าตื่นนอน..นั่งภาวนาเช่าแลงให้ได่มื้อละ 20 นาทีส่ำนี่กะเหลือกินแล้ว…เฮ็ดไปสุมื้อๆแบบนี่คือเฮากินเข่าสุมื้อ บางมื้อกะกินกับพริกกับกินเกลือ..กินไปสุมื้อๆมันสิเจอเองของดีเอง…”

#โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์

องค์หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร

วัดถ้ำสหายจันทร์นิมิต ต.ทับกุง อ.หนองแสง จ.อุดรธานี





"..สิ่งใดเป็นไปเพื่อทุกข์ เป็นไปเพื่อโทษ ก็รีบชำระสะสางให้หมดสิ้นไปจากดวงใจของเรา ให้พึงเข้าใจในสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอมิใช่ว่าเราไม่รู้ คือให้รู้ภายในจิตใจของตน อย่าส่งรู้ออกภายนอกจิตใจของตน ให้พากันดูให้พากันฟัง สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งมีอยู่ในตัวเราทุกคนครบบริบูรณ์ ขณะนี้เราอยู่ในสมถกรรมฐาน คือความสงบ วางอารมณ์ภายนอกทังหมดได้ ไม่กำหนัดรักใคร่ยินดี ใจไม่หงุดหงิด ไม่ซึมเซา ไม่ท้อแท้ และไม่งมงาย เราอยู่ในวิปัสสนากรรมฐาน ก็ตัดหมด ตัดภพ ตัดชาติทั้งหลาย อารมณ์สัญญาที่เป็นไปตามกระแสโลกตัดหมด ไม่มีเหลือ เป็นเรื่องสมมตินิยมกันเท่านั้น จิตของเราเป็นวิมุติ หลุดพ้นไปหมด เรื่องภพ เรื่องชาติ เรื่องทุกข์ เรื่องภัย ไม่มีอีกแล้ว นี้แหละเป็นข้อปฏิบัติ.."

อาจาโรวาท
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม
จ.สกลนคร
(พ.ศ.๒๔๔๒-๒๕๒๐)









วิธีทำสมาธิ และผลของสมาธิ
พูดถึงการดำเนินทางสมาธิจิตอย่างพระพุทธเจ้า พระองค์สอนให้ทำได้ถึง ๔ อิริยาบถ เช่น อาจจะเดินจงกรมทำสมาธิก็ได้อาจจะนั่งสมาธิหรือนอนทำสมาธิก็ได้ คือทั้ง ๔ อย่าง วิธีนั่งสมาธิตามที่โบราณาจารย์กล่าวไว้มีดังนี้ คือ เอาขาซ้ายวางด้านล่าง เอาขาขวาทับข้างบน มือขวาซ้อนทับลงบนมือซ้ายที่วางบนตัก อย่างพระพุทธรูปปางสมาธิ ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น ในท่าที่รู้สึกสบาย ๆ แล้วกำ หนดบริกรรมภาวนาต่อไป
ถ้าเผื่อว่านั่งขัดสมาธิแล้วเกิดไม่สบาย เพราะผู้หญิงบางคนที่ฝึกนั่งพับเพียบจนชินนั่งขัดสมาธิไม่ได้ เราก็จะนั่งพับเพียบเอาก็ได้แต่บางคนนั่งขัดสมาธิก็ดีนั่งพับเพียบก็ดีไม่สะดวก เพราะขาแข้งพิการอาจจะนั่งเก้าอี้ก็ได้เพราะจุดมุ่งหมายต้องการจะสร้างอำนาจตัวส่งหรือตัวคุ้มครอง ได้แก่ สติ ดังที่จะได้อธิบายให้ฟังต่อไป

ที่นี้พูดถึงวิธีนั่ง ถ้าเรานั่งขัดสมาธิรู้สึกว่าปกติดีแล้วเราพยายามแต่ง หาที่สบายที่สุดลองๆ กำหนดลมหายใจ เข้า -ออก ถ้ารู้สึกสบายดีแล้วหายใจเข้ากำหนดว่า พุท หายใจ ออกกำหนดว่า โธ แต่ไม่ออกเสียง พุทโธ ๆ ให้พูดอยู่ในใจ นึกพุทโธไปเรื่อยๆ ถ้ามันสบายเราก็กำหนดอย่างนั้น ถ้าเผลอไปคิดเรื่องอะไร พอรู้ตัวก็ รีบนึกถึงลมหายใจเข้าออกทันที ถ้าเผลอไปคิดอีกพอระลึกได้ก็รีบกำหนด พุทโธๆ จนว่าสติของเราจะแก่กล้าสมควรการงาน คือ การบริหารจิตต่อไป
ถ้ากำหนดที่ปลายจมูกมันเกิดไม่สบาย ก็เปลี่ยนที่ใหม่เอาตรงคอหอย ถ้าไม่สบายก็เปลี่ยนมาตรงหน้าอกยังไม่สบายก็เลื่อนต่ำลงไปคือเหนือสะดือ มาสักน้อย ที่ทำอย่างนี้เพราะเหตุใด บางทีหรือบางวันเรากำหนดต่ำก็รู้สึกว่า ร่างกายมันน้อมลงประคองไว้ไม่ค่อยจะอยู่ บางทีมันสูงเกินไป เช่นที่ปลาย จมูก คล้ายกับว่าหลังมันแอ่นลงๆ คล้ายจะหงายไปข้างหลังก็มีอันนี้ก็เป็นสาเหตุหนึ่ง
หรืออีกสาเหตุหนึ่ง ซึ่งเราผู้ทำสมาธิอำนาจตัวคุ้มครอง ตัวบังคับมันแก่กล้าแล้ว แต่เราไม่รู้ เราอาจจะเพ่งหรือสะกดตัวเองเช่น กำหนดที่ปลายจมูก มันทื่อขาไปหมดในทางเบื้องต้นนั้นแสดงให้เห็นว่า อำนาจของสติมันแรงแก่กล้า แต่เราจะสะกดหรือเพ่งตัวเองก็ให้เปลี่ยนจากจมูกเสีย ลองๆ เปลี่ยน มาตรงซอกคอ ถ้าเห็นว่าจะไอ คอแห้ง หรือน้ำลายไหล ก็ให้เปลี่ยนมาท่ามกลางอก เมื่อกำหนดที่ท่ามกลางอก ก็ยังรู้สึกว่ามันบีบคล้ายหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออาจจะไม่เต้นเลย ลมหายใจเข้าออกหมดไปเราก็เปลี่ยนเป็นเหนือสะดือ ถ้ามันอึดอัดก็ให้เปลี่ยนหาเวียนไปเวียนมา ถ้าเวียนไปเวียนมาตรงจุดไหนก็ ไม่ได้ เราก็หาวิธีผ่อนเอาเองเช่น เรากำหนดไหนที่ปลายจมูก เรากำหนดรับรู้แบบไหน ทำจิตอย่างไรจึงจะสบาย เราก็ลองคลำๆหา พอทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว มันสบายเราก็เอา ถ้าทำอย่างไรและกำหนดตรงไหนก็ไม่ได้ ต่อไปเราไม่ต้องกำหนดจุด เป็นเพียงรับรู้ หรือปรากฏว่ามีลมหายใจเข้าออกเท่านั้น จะอยู่ตรง ไหนก็แล้วแต่ แล้วก็กำหนด พุทโๆ ที่ลมหายใจเข้าออก เมื่อสบายแล้วก็ให้กำหนดแบบนั้น

ถ้ากำหนดแล้วมันไม่สบายเราก็ยังฝืนกำหนดอยู่ เช่น กำหนดที่ปลายจมูก ศรีษะมันทื่อชา มึนงง มันอาจสามารถที่จะทำให้ ประสาทพิการเป็นบ้าไปก็ได้ เพราะสะกดตัวเองอย่างการดำเนินทางจิตวิทยา เมื่อเขาสร้างกำลังตัวบังคับหรือตัวสั่ง ตัวสะกดให้พอกับความต้อง การแล้วเอาไปทดสอบทดลองกับสัตว์ จนกระทั่งเอามาสะกดคนทำการผ่าตัดได้ เราลองคิดดูความแรงของจิต ของคนละคนกันนะไม่ใช่สะกดเรา สะกด คนอื่นให้นอนหลับได้ และทำการผ่าตัดได้ มันจะแรงสักแค่ไหน บางคนที่ทำได้ดีๆ ยังสามารถใช้อำนาจตัวนี้ ไปบังคับเลือดตรงที่จะทำการผ่าตัดให้เลือดขยาย ออก ผ่าตัดแล้วไม่มีเลือดหรืออาจจะน้อยที่สุด หรืออาจไม่มีเลยก็ได้ คนที่ทำได้ดีเขาสามารถทำได้ถึงขนาดนั้น
ทีนี้เมื่อหากเรากำหนดที่ปลายจมูก เรายัง ไม่รู้อำนาจที่เรากำหนดที่เราสร้างขึ้นมาได้นี้ได้ดีสักแค่ไหน แรงแค่ไหน เผื่อเราสะกดเราเข้า อาจจะบังคับให้เลือดออกจากสมองส่วนข้างบน เลือดขึ้นมาไม่ได้ มันจะงงทื่อไปหมดเลย นี้อีกอันหนึ่ง และอีกอันหนึ่งมันอาจจะบังคับเลือดให้มารวมตรงจุดที่เรากำหนด หรือสร้างขึ้นข้างบนไปเสียหมด มันจะทื่อ ชา เหมือนกัน เพราะฉะนั้นหากในเมื่อผิดสังเกตแล้ว ให้หยุด ถ้าขืนจะเป็นอันตราย ขอให้เข้าใจเอาไว้ส่วนอื่นก็เหมือนกัน เมื่อเรากำหนดแล้วถ้าผิดสังเกตก็ให้หยุด หาวิธี แก้ไขจนกว่าจะดีได้ ทีนี้เราก็กำหนดปเรื่อยๆ คือ พุทโธๆ อยู่นั่นแหละ

เมื่อจิตของเราจมดิ่งเข้าสู่สมาธิ จะเป็นไปเพื่อภวังคตาจิต(ภวังจิต)เราก็ไม่เอา เพราะโดยจุดมุ่งหมายเราต้องการจะสร้างกำลัง ตัวบังคับ หรือ อำนาจตัวอริยมัคคุเทศก์นำเราไปสู่ความเป็นอริยะ นี้เป็นจุดประสงค์เบื้องต้น เราต้องสร้างอำนาจด้วยการกำหนด จนสามารถบังคับความรู้สึกของเราให้รับรู้ อยู่ที่ปลายจมูก หรือจุดใดจุดหนึ่งที่เรากำหนดเป็นจุดที่ตั้ง มีบริกรรมภาวนา จะเป็น พุทโธ ธัมโม สังโฆ ซึ่งเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวอีกเป็นกำลังที่สอง เมื่อกำหนด พุทโธ ๆ ให้อยู่ในอำนาจตัวนี้โดยสมบูรณ์แล้ว เมื่อกำลังตัวสั่งอำนาจตัวนำพา หรืออำนาจตัวอริยมัคคุเทศก์ มันมีอำนาจเหนือจิตแล้ว ความรู้สึกที่จะไปคิดใน เรื่องอื่น นอกเหนือไปจากตัวคุ้มครองไม่ได้ คือหมายความว่า จิตของเราไม่มีทางที่จะหนีหน้ากำลังตัวบังคับไปคิดทางอื่นได้ นอกจากเราจะบังคับให้คิด เท่านั้น มันจะกำหนดได้ พุทโๆ อยู่ตลอดเวลา เมื่อเราสามารถกกำหนดอยู่ได้อย่างนี้เต็มที่แล้ว ก็แสดงให้เห็นว่าการนั่งทำสมาธิของเราดีสมบูรณ์

ถ้าเราเหนื่อยจากวิธีนี้เราจะเปลี่ยนอิริยาบถใหม่เราก็เดินการเดินนั้น ก็แบบที่ท่านเรียกว่าเดินจงกรม การเดินจงกรมนั้นก็แล้วแต่สถานที่ถ้าสถานที่ยาวเราก็เอายาว ถ้าสั้นเราก็เอาสั้น แต่ถ้ายาวก็ประมาณ 25 ก้าว ดูเหมือนดี เพราะบางคนยาวนักไม่ค่อยดีก็เอาสั้นเข้าหน่อยแต่บางคนสั้นนักไม่ค่อยดีเวียนหัว ก็หาเอาให้พอดีๆ พอเราไปถึงทางเดินจงกรมเราก็หันหน้าไปทางเดิน จงกรมที่เราจะเดินไปอย่ามองไกลเกินไป อย่ามองใกล้เกินไป มองทอดสายตาดูประมาณ 4 ศอก ถ้าเผื่อหากว่ามันไม่ดีเราก็เอาเข้ามาใกล้หน่อย ถ้าเห็น ว่าพอดีแล้วก็ พูดว่า พุทโธ ไปเรื่อยๆ แต่ไม่หลับตาให้ลืมตา แล้วก็นึกกำหนด พุทโธ ที่ก้าวขาไป กำหนด ก้าวขาขวาว่า พุท ก้าวขาซ้ายว่า โธ เรากำหนด สัมผัสของเท้าที่ก้าวเหยียบลงพื้น พุทโธๆ พอถึงทางโน้นยืนแล้วก็หันขวาเวียนขวา พอเวียนขวาเสร็จแล้วก็ยืนตรงเดินก้าวไปอีก บริกรรม พุทโธๆ จนมาถึงทางนี้ อย่าเร็วเกินไปอย่าช้าเกินไป ให้กำหนดจนจิตของเราไม่วอกแวก เข้าไปต่ออารมณ์ได้เลย รู้สึกว่ามันรับรู้ที่บริกรรมภาวนาและขาที่เราก้าว อยู่ตลอดเวลาไม่มีวอกแวกไปทางไหนเลยแสดงให้เห็นว่าตัว "ตปธรรม" ที่เราสวร้างขึ้นมานี้มีอำนาจเหนื่อจิตพอกับความต้องการ แล้วก็เอาไปแต่งจิต คุ้มครองจิต และปฏิบัติธรรมชาติของจิตในลำดับต่อไป นี้เป็นวิธีเดินทำสมาธิ ถ้าเราเดินเหนื่อย เราก็ยืน ท่าทางแบบเดินจงกรม เช่น เอามือขวาทับมือซ้ายวางลงที่ท้องน้อย ยืนให้ตรง กำหนดลมหายใจเข้าออกที่ปลายจมูก บริกรรม พุทโธๆ ถ้าหลับตามันโยกเยกเราก็ลืมตา ทอดสายตา ประมาณ 4 ศอก ก็กำหนดพุทโธๆ เหมือนกันกับนั่งทำสมาธิ ถ้าเราสามารถบังคับให้จิตอยู่ในจุดที่ตั้งเอาไว้ หรือบริกรรมภาวนาที่เรายึด พุทโธ ๆ อยู่ ตลอดเวลาจนจิตไม่หนีหน้าของสติไปสู่อารมณ์ตามธรรมชาติได้เลย ก็เป็นอันว่าการสร้างอำนาจตัวคุ้มครองของเราพอกับความต้องการเหมือนกัน

ถ้าเหนื่อยอยากจะนอนเราก็นอนตะแคงขวา เอามือซ้อนไว้ที่แก้ม ข้างขวาเอามือซ้ายวางราบไปตามตัว ขาก็เหยียดให้ตรง ถ้าเหยียดตรงแล้วมันไม่สบาย ก็คู้เข้ามานิดๆ ให้สบายแล้วก็กำหนดลมหายใจเข้าออกที่ปลาย จมูก เช่นกัน

จากนั้น บริกรรมว่า พุทโธๆ จนจิตของเราไม่มีทางที่จะวอกแวกไปต่ออารมณ์ได้แล้ว ปกติดีแล้ว เรียบร้อยดีแล้ว ก็เป็นอันว่า อำนาจที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อต้องการที่จะนำพาจิตของเราไปสู่ความเป็นอริยบุคคล ก็สมบูรณ์แล้ว
ทีนี้เราก็มาฝึกการลุกนั่ง การลุกขึ้น นั่งลง เราจะทำแบบไหนจึงจะเหมาะสมกับเพศ วัย ฐานะ เช่น ชาย หญิง สมณเพศ พระภิกษุ สามเรณ แม่ชี วัยเราเป็นเด็กหรือคนโต กลางคนหรือคนแก่ รุ่นคุณพ่อ หรือคุณแม่ คุณตาหรือคุณยาย อาม้า อาก๋ง อะไรเหล่านี้เป็นต้น แล้วก็นึกถึงฐานะของเราว่ามีอย่างไร เราเป็นพ่อหรือเป็นแม่ เป็นศิษย์หรืออาจารย์ เป็นต้น การแสดงออกทางกายและวาจาเหมาะสมกับเพศ วัย ฐานะ แล้วหรือยัง เราต้องนึกถึงเพศ วัย ฐานะ อยู่เสมอ ว่าการแสดงออกทั้งหมดประกอบไปด้วยคุณหรือโทษจะเป็นไปเพื่อมลทินหรือเป็นหมดจด เราต้องกำ หนดรู้เสียก่อน ถ้าเป็นไปเพื่อมลทินโทษ บังคับทันที ไม่ยอมเป็นอันขาด ถ้าเป็นไปเพื่อคุณ ถึงแม้จะขัดกับอัธยาศัยของจิตก็ไม่ยอม เราจะหาอุบายให้จิตพอใจ จนได้ การดำเนินทางภายนอกเกี่ยวกับกายและวาจา ก็สบายทำอย่างนี้

ต่อจากนั้นไป เหตุการณ์ที่เราได้ประสบเช่น เขาด่าเราก็ดี เขาชมเราก็ดี หรือเห็นสิ่งที่น่าเกลียด น่ากลัว น่าชอบก็ดี ความรู้สึกของจิตมันเป็นอย่างไร เราก็เอาอำนาจส่วนนั้นเข้าไปประคองเอาไว้ แล้วก็พยายามหาเหตุผลมาแก้ต่อไป ความรู้สึกของเราก็ไวขึ้นสามารถทันเหตุการณ์ ที่มันจะวอกแวกไปต่ออารมณ์ หรือมะนจะวูบวาบไปตามเหตุการณ์ก็ดี เป็นไปไม่ได้ กำลังตัวยับยั้งประคอบไม่ได้เลย พอเราสามารถประคองจิตให้อยู่ในอำนาจได้แล้ว มันจะมีความรู้ชนิด หนึ่งขึ้นมาแก้ไขทันที บางทีอาจจะเอาตัวอย่างมาจากพระพุทธเจ้าและพระอริยเจ้า เช่น เหตุการณ์อันนี้พระพุทธเจ้าเคยประสบมาแล้วหรือยัง และพระ อริยเจ้าที่เป็นผู้พี่ของเราได้ประสบมาแล้วหรือยัง ประสบแล้วท่านทั้งหลายเหล่านั้นทำอย่างไร เราจะมีความรู้สึกไปน้อมเอาเหตุการณ์และเหตุผลทั้งหลาย ของท่านผู้เป็นอริยบุคคลเหล่านั้นมาเป็นตัวอย่างเตือนเรา แล้วความรู้สึกของเราก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปตามเหตุการณ์ เราพยายามฝึกของเราอยู่อย่างนี้

พูดถึงการเดินจงกรมและการนั่งสมาธิเราก็พยายามทำอยู่ตลอดเหมือนกัน เราก็ฝึกของเราไปเรื่อยๆ ทั้งภายนอกและภายใน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ต่อจากนั้นไปจะเกิดความอัศจรรย์หลายอย่าง มีผลพลอยได้ภายนอกบ้างและผลที่จริงทางด้านสมาธิบ้าง ส่วนผลที่แท้จริงนั้นได้แก่ ความฉุนเฉียวของจิต และความรุนแรงของจิตจะเบาบางลงหรืออาจจะหมดไป ทีนี้เราจะเห็นได้ภายในของเราเอง เช่น บางทีเราอาจจะเข้าข้างกิเลสหรือลุอำนาจเป็นไปตามกิเลส ให้ประกอบในทางที่ผิดก็ดี หากในเมื่อมีอำนาจตปธรรมส่วนนี้เข้าไปยับยั้งและประคองเอาไว้แล้ว มันจะไม่เป็นไปตามอำนาจส่วนนั้น เราจะมองเห็นได้ชัดภายใน ของเราเอง
ส่วนผลพลอยได้อย่างอื่นๆนั้น เราก็พอจะมองเห็นได้ ความสุขที่เรียกว่า "บรมสุข" ซึ่งเป็นสุขที่แท้จริงนั้นประจักษ์ขึ้นมา หรือความรู้ อย่างอื่น เช่น อภิญญาณสมาบัติ เราไม่ต้องไปขอร้อง ไม่ต้องไปฝึกมันเป็นเอง หากในเมื่อเรามีวาสนาเป็นไปในทาง "จตุปฏิสัมภิทา" แล้วมันรู้ มันแตกฉาน ขึ้นมาเอง มันสามารถเกิดขึ้นมาให้เห็นเป็นอานิสงส์เรียกว่าผลพลอยได้ มันยั สามารถหยั่งรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างอัศจรรย์ อันนี้ประจักษ์มาก ที่เล่ามานี้เป็นสายทาง "โลกุตตระ" โดยสังเขป

ยังมีสมาธิอีกประการหนึ่ง ที่ผู้ปฏิบัติโดยส่วนมากไปติดหรือหลงกัน ที่ท่านเรียกว่าภวังค์ หรือภพภายในของจิต ถ้าใครไปตกภวังค์พวกนี้แล้ว มีหวัง ไปยากเต็มที ไม่เก่งจริงๆมีหวังจมตายอยู่เพียงแค่นั้น เพราะผลของสมาธิดึงดูดจิตใจมาก ถ้าไปหลงติดอยู่แค่นี้ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นได้ ฉะนั้น จึงสมควรนำมาเล่าสู่กันฟังพอเป็นข้อสังเกตดังนี้คือ :--

เมื่อเราสร้างอำนาจตัวคุ้มครองขึ้นมาได้แล้ว เราเอาคุ้มครองจิตของเราจริงๆ เมื่อจิตของเราจำนนต่ออำนาจตัวบังคับ คือสติได้แล้ว จิตของไม่มีโอกาส ไปต่ออารมณ์สัญญาโดยลำพังของมันได้ มีหวังว่าจิตของเราจะจมดิ่งเข้าสู่สมาธิ พอจิตตกกระแสหรือรวมเข้าสู่สมาธิแล้ว เราจะเห็นผลหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น ความอิ่ม ความเบา ความเย็น ซาบซ่าน ความสว่างไสว เป็นต้น แต่ผลในที่นี้หมายถึง ผลเกิดขึ้นจากความสงบของจิต คือ จิตสงบ ฐานมี 3 ฐานด้วยกัน ได้แก่ ขณิกะ อุปจาระ อัปปนา แต่ละฐานแบ่งออกเป็น 2 ระยะ มีตอนต้นกับตอนปลายรวม 3 ฐาน จึงเป็น 6 ระยะ แต่ลักษณะของมันในเบื้องต้นฐานที่ 1 เรียกว่า ขณิกะ ภวังค์ของมันมีอยู่ 2 ฐาน คือ ฐานต้นกับฐานปลาย ฐานต้นได้แก่ ความอิ่มนี่เอง มันรู้สึกมีความอิ่มจริงๆ อิ่มจนไม่อยากหลับไม่อยากนอน ไม่อยากพูดจากับใคร มันเพลินอยู่คนเดียว แต่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าเราอยู่ในฐานไหน แท้ที่จริงก็นี่แหละคือ ฐานต้น ฐานปลายมีความเบาเข้ามาแทรกกับความอิ่ม แต่ไม่มาก ถ้าเลยเข้าไปฐานที่ 2 ได้แก่ อุปจาระ ภวังค์ของมัน ฐานต้นจะมีความเบาเหมือนจะเหาะจะลอย เหมือนไม่ได้นั่งอยู่กับพื้น คล้ายๆกับว่ามีของทิพย์ เป็นเครื่องรองรับ ลอยอยู่สักศอกสองศอกทำนองนี้ ฐานปลายจะรู้สึกมีความเย็นซาบซ่านเพิ่มเข้ามาอีก ถ้าเราสามารถสร้างสติให้สมบูรณ์ หรืออำนาจตัวสั่ง ตัวบังคับมันบังคับความรู้สึกได้ดีที่สุด บังคับให้อยู่ในอำนาจของมันตลอดเวลา มันจะสามารถดิ่งเข้าไปลึกกว่านั้นอีก เมื่อจิตเข้าสู่อัยดับที่ 3 หรือฐานที่ 3 ที่เรียกว่า อัปปนา ภวังค์เบื้องต้น จะมีความสว่างเพิ่มเข้ามานิดๆ จากความซาบซ่าน พออยู่ในอันดับชำนิชำนาญแล้ว ตอนปลายจะเกิดความสว่างไสวโล่งโปร่ง มีความเย็นซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กายเย็ยเหทือนๆยาทิพย์เข้าไปอยู่ในร่างกาย และยังมีคล้ายกับเมฆหมอกขาวๆสลัวๆทั่งสรรพางค์กายสว่างไสวรุ่งโรจน์ ที่ขาวๆจะเหมือนยาทิพย์ชะโลมตัวเรา รู้สึกสบายมาก มันเย็นซาบซ่านโปร่ง โล่งในสมอง ประสาท แม้แต่ถอนสมาธิออกมาแล้วก็ยังรู้สึกโปร่งโล่งในสมอง สิ่งที่มันมืดๆทึบๆ ในสมองของเรามันหายหมดเกลี้ยงอะไรต่ออะไร รู้สึกว่ามันตกฉานแปลกจริงๆ เพียงแค่สมาธิ 3 อันดับ ถ้าสามารถสร้างสติอย่างเดียว ไม่มีตัวอริยมัคคุเทศก์ คือ ปัญญาญาณ เพียงแค่อาศัยสติประคองจิตเข้าสู่สมาธิ 3 อันดับนี้ ยังมีอานิสงส์ถึงขนาดนี้ ลองดูซิ พวกเราทุกคนเมื่อเข้าสู่สมาธิ 3 อันดับนี้แล้วจะชอบด้วยกันทั้งสิ้น เพราะมันสบายจริงๆสบายอย่างบอกไม่ถูก เมื่อทุกคนเข้าไปถึงแล้วจะรู้สึกเองว่ามีความสุขอย่างไร แค่ไหน ถ้าใครอยากสิ้น สงสัยก็ทำดู ถ้านั่งนึกเดาเท่าไร ยิ่งไกลความจริงเป็นลำดับ แต่สมาธิ 3 อันดับนี้ จัดเป็นกามภพภายในหรือกามภพอันละเอียด

สมาธิ 3 อันดับที่กล่าวมานี้เป็นของสำคัญมาก ถ้าผู้ปฏิบัติไม่ศึกษาให้เข้าใจจริงๆแล้ว อาจจะหลงอยู่เพียงแค่นี้ เข้าใจว่าเป็นจุดสูงสุดของการบำเพ็ญ แท้ที่จริงเป็นภวังค์ในสมาธิเท่านั้น ถ้าใครไปหลงยึดมั่นถือมั่นมันก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส คือกิเลสในสมาธิ ถ้าใครรู้เท่าทันจิตทุกอย่าง ไม่ไปหลงยึดมั่นถือมั่น รู้แล้ววางเป็นวิปัสสนา แต่บางคนเข้าใจว่า ภวังค์คือการนอนหลับ เพราะจิตมันทำงานมาก จิตเหนื่อย มันก็เข้าไปพักในภวังค์ ความจริงไม่ถูก คำว่า ภวังค์ ในที่นี้ท่านหมายถึง จิตติดอยู่ในผลของสมาธิ 3 อันดับ ดังกล่าวมาแล้วนั้น คือหมายความว่า เมื่อจิตของเรา ไปเจอผลของสมาธิแล้วมันอยากจะแช่จมอยู่ ในที่นั้น

ฉะนั้นท่านจึงบอกว่า อันนี้เป็นส่วนของภพเหมือนกัน คือภพภายใน และไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เพราะจิตไม่ได้รู้แจ้งเห็นจริงตามสภาพความเป็นจริงอะไร เป็นเพียงบังคับจิตให้จมดิ่งเข้าสู่ฐานของสมาธิเท่านั้น ยังไม่ได้ชำระกิเลส แต่ถ้าใครรักษาระดับนี้ไว้ได้ก็สามารถไปสู่ฉกามาวจรสวรรค์ได้ แต่โดยส่วนมาก ผู้ปฏิบัติมักจะเอาแต่ผลของสมาธิ 3 อันดับ มาเล่าสู่กันฟัง ส่วนเรื่องการทำลายกิเลสหรือภพของจิตก็ดี หรือกิเลสมีลักษณะอย่างไร มันเกิดขึ้นได้มาเพราะ เหตุใดไม่ค่อยพูดถึง เพราะฉะนั้นผู้ทำสมาธิ ยังมีกิเลสท่วมท้นกันอยู่ เช่น มีการทะเลาะเบาะแว้งซึ่งกันและกัน เป็นต้น ก็เป็นไปตามเรื่องตามเหตุการณ์ เนื่องจากการทำสมาธิดังกล่าวยังไม่ได้ถอนกิเลส เพราะยังไม่ได้สร้างตัวอริยมัคคุเทศก์ คือตัวปัญญาญาณ จึงไม่สามารถสังหารกิลเสได้เลยแม้แต่ตัวเดียว เป็นเพียงใช้อำนาจสติข่มกันอยู่เท่านั้น

ถ้าใครต้องการพ้นทุกข์ที่แท้จริง จงศึกษาให้เข้าใจว่า อันไหนมีความหมายอย่างไร จนเข้าใจท่องแท้แน่นอนแล้วในทางปฏิบัติ ทั้งสายตรงและสายอ้อม แล้วจึงลงมือปฏิบัติตามสายตรงที่ศึกษามานั้น มีหวังสมความมุ่งมาดปรารถนาโดยไม่ต้องสงสัย ในที่สุด ยุติลงแห่งการแนะนำให้อุบายวิธืการดำเนินทางสมาธิ จิตนี้ อาตมาภาพขออัญเชิญอานุภาพอันยิ่งใหญ่ คือ พุทธานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้า ธัมมานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพของพระธรรม สังฆานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพของพระสงฆ์ อานุภาพ 3 ประการนี้ จงมาคุ้มคริงพวกท่านทั้งหลาย จงอย่าได้ประสบภัยอันตรายทั้งปวง ประสบแต่ความสุข ความเจริญ และ ความสะดวกสบาย จงเป็นไปเพื่อความสำเร็จในสิ่งที่ท่านทั้งหลายปรารถนาเอาไว้ พรทั้งหลายที่อาตมาภาพอธิษฐานมานี้จงเป็นผลสำเร็จ จงทุกถ้วนหน้ากัน เทอญฯ.

หลวงพ่อสมชาย ฐิตวิริโย
วัดเขาสุกิม จ.จันทบุรี







#บุคคลที่หนีปรากฏการณ์แต่ไม่ยอมหนี

จิตปรุงแต่งได้ชื่อว่า เป็นบุคคล​ที่โง่เขลา เบาปัญญา
คนฉลาดจะพยายามหนีจิตปรุงแต่งแต่ไม่หนีปรากฏการณ์

#โอวาธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์

#องค์หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ

วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: AdsBot [Google] และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO