"..ศีล ธรรม นี่แหละคือของดี ศีล คือการนำความผิดความชั่วออกจากกาย ออกจากวาจา ธรรม ก็คือความดีที่ป้องกันไม่ให้ความผิดหวังความชั่วเกิดขึ้นใน กาย วาจา ใจ ทั้งศีล ทั้งธรรม ก็อันเดียวกันนั่นแหละ แต่เราไปแยกสมมติ เรียกไปต่างหาก กาย วาจา ใจ ของเรานี้เป็นที่ตั้งของธรรม เป็นที่เกิดของธรรม เป็นที่ดับของธรรม ความดีก็เกิดจากที่นี่ ความชั่วก็เกิดจากที่นี่ สวรรค์ก็เกิดจากที่นี่ นรกก็เกิดจากที่นี่ เราจะรักษาศีล ภาวนา ให้ทาน ก็ต้องอาศัย กาย วาจา ใจ นี้เป็นเหตุ เราจะทำความผิด ความชั่ว ไปนรกอเวจีก็ต้องอาศัยกาย วาจา ใจ นี้เป็นเหตุ เราจะรักษาศีล ทำสมาธิ ภาวนา ให้เกิดปัญญา ทำมรรค ผล นิพพาน ให้แจ้ง ให้เกิดขึ้น ก็ต้องอาศัยกาย วาจา ใจ นี้แหละ.."
โอวาทธรรมคำสอน หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋งอ.พร้าวจ.เชียงใหม่ (พ.ศ.๒๔๓๐–๒๕๒๘)
"... จงเฝ้าดูจิตของท่าน พิจารณาให้รู้เห็น ว่าความรู้สึกต่าง ๆ เกิดขึ้นและดับไปอย่างไร ความนึกคิดเกิดขึ้นและดับไปอย่างไร อย่าได้ผูกพันอยู่กับสิ่งใดเลย จงมีสติอยู่เสมอเมื่อมีอะไร ๆ เกิดขึ้นให้ได้รู้ได้เห็น
... นี่คือทางที่จะบรรลุถึงสัจจธรรมของพระพุทธองค์ จงเป็นปกติธรรมดาตามธรรมชาติ ทุกสิ่ง ทุกอย่างที่ท่านทำขณะอยู่ที่นี่เป็นโอกาสแห่งการฝึกปฏิบัติ เป็นธรรมทั้งหมด
... เมื่อท่านทำวัตรสวดมนต์อยู่พยายาม ให้มีสติ ถ้าท่านกำลังเทกระโถนหรือล้างส้วมอยู่ อย่าคิดว่าท่านกำลังทำบุญทำคุณให้กับผู้หนึ่งผู้ใด มีธรรมะอยู่ในการเทกระโถนนั้นอย่ารู้สึกว่าท่านกำลังฝึกปฏิบัติอยู่เฉพาะนั่งขัดสมาธิเท่านั้น
... พวกท่านบางคนบ่นว่าไม่มีเวลาพอ ที่จะทำสมาธิภาวนา แล้วเวลาหายใจเล่า.. มีเพียงพอไหม..!! การทำสมาธิภาวนาของท่านคือการมีสติระลึกรู้ และรักษาจิตให้เป็นปกติตามธรรมชาติในการทำทุกอิริยาบถ ..." _____________________________________ #พระธรรมคำสอน #พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) วัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี (พ.ศ.๒๔๖๑ - ๒๕๓๕)
"..ศีล ธรรม นี่แหละคือของดี ศีล คือการนำความผิดความชั่วออกจากกาย ออกจากวาจา ธรรม ก็คือความดีที่ป้องกันไม่ให้ความผิดหวังความชั่วเกิดขึ้นใน กาย วาจา ใจ ทั้งศีล ทั้งธรรม ก็อันเดียวกันนั่นแหละ แต่เราไปแยกสมมติ เรียกไปต่างหาก กาย วาจา ใจ ของเรานี้เป็นที่ตั้งของธรรม เป็นที่เกิดของธรรม เป็นที่ดับของธรรม ความดีก็เกิดจากที่นี่ ความชั่วก็เกิดจากที่นี่ สวรรค์ก็เกิดจากที่นี่ นรกก็เกิดจากที่นี่ เราจะรักษาศีล ภาวนา ให้ทาน ก็ต้องอาศัย กาย วาจา ใจ นี้เป็นเหตุ เราจะทำความผิด ความชั่ว ไปนรกอเวจีก็ต้องอาศัยกาย วาจา ใจ นี้เป็นเหตุ เราจะรักษาศีล ทำสมาธิ ภาวนา ให้เกิดปัญญา ทำมรรค ผล นิพพาน ให้แจ้ง ให้เกิดขึ้น ก็ต้องอาศัยกาย วาจา ใจ นี้แหละ.."
โอวาทธรรมคำสอน หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋งอ.พร้าวจ.เชียงใหม่ (พ.ศ.๒๔๓๐–๒๕๒๘)
เดี๋ยวนี้ คนทั้งโลกตกอยู่ในสภาพ นกไม่เห็นฟ้า หรือ ปลาไม่เห็นน้ำ ไม่รู้จักไม่เห็นโลกที่ตนกำลังจมอยู่
…. “ เดี๋ยวนี้พุทธบริษัทไม่เป็นพุทธบริษัท เพราะไม่เห็น ไม่รู้ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นจริง กลายเป็นสัตว์เสียมากกว่า คือเป็นสัตว์ เหมือนกับนกที่มองไม่เห็นฟ้า, เป็นสัตว์เหมือนกับปลาที่มองไม่เห็นน้ำ, เป็นสัตว์ที่เหมือนกับไส้เดือนที่มองไม่เห็นดิน, หรือเป็นสัตว์ที่เหมือนกับหนอนที่มองไม่เห็นคูถที่ตนจมอยู่, หรือเป็นปุถุชนคนพาลมองไม่เห็นโลก, ทุกสิ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ตัวเองจมอยู่หมักแช่อยู่ทั้งนั้น แต่มองไม่เห็น. เมื่อมองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ควรจะเรียกว่าเป็น “พุทธบริษัท” แต่ควรจะเรียกว่า..เป็นสัตว์เหมือนนก เหมือนปลา เหมือนไส้เดือน เหมือนหนอน. …. ที่ว่า นกไม่เห็นฟ้านั้น ควรจะถือว่าเป็นสํานวนสําหรับใช้ด่ากันอย่างยิ่ง; อยู่ในฟ้าก็ไม่สนใจ ไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่าฟ้า; เพราะมันถึงตาเกินไป เหมือนปลาอยู่ในน้ำ น้ำถึงตาเกินไปก็ไม่รู้จักน้ำ; และไม่มีความจําเป็นอะไรที่จะบังคับให้มันมีความเข้าใจในเรื่องน้ำ นอกไปจากว่าแหวกว่ายไปตามสะดวก รู้จักความเปลี่ยนแปลงบ้างตามสัญชาตญาณ ไม่รู้จักน้ำในความหมายอันกว้างขวาง จนเรียกว่ามองไม่เห็น ทั้งที่น้ำถึงตา, …. นี้หมายความว่า ถ้าอะไรก็ตาม มันมีถึงตาเกินไปแล้วมันก็มองไม่เห็น : เหมือนกับเราเอาอะไรมาจดเข้าที่ตา แล้วก็มองไม่เห็น ฉันใดก็ฉันนั้น. พุทธบริษัทในบางถิ่นบางแห่งบางยุคบางสมัยนั้น มีตาที่ถึงกับศาสนามากเกินไปหรืออย่างไร จึงมองไม่เห็นไปด้วย, และสูญเสียความเป็นพุทธบริษัท และเราไม่เรียกคนเหล่านี้ว่าเป็น “พุทธบริษัท” …. พุทธบริษัทนั้นต้องเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ต้องรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ทั้งด้วยตาในและด้วยตานอก ตานอกก็คือตาธรรมดา เห็นอะไรก็เข้าใจได้ลึกซึ้ง และสามารถจะส่งเข้าไปให้ตาในเห็นอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะเห็นลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นไปอีก อย่างนี้เรียกว่าเห็นอย่างยิ่ง, เห็นทั้งตานอกเห็นทั้งตาใน : เหมือนกับปลาที่มีแต่ตานอก ก็มองไม่เห็นน้ำ, แล้วก็ไม่มีตาในที่จะรู้เรื่องน้ำ …. ทีนี้ ดูคนทั้งโลก ก็พอจะมองเห็นได้ว่า ตกอยู่ในสภาพอย่างเดียวกันกับที่นกไม่เห็นฟ้า หรือปลาไม่เห็นน้ำ; คือไม่รู้จักโลก, ไม่เห็นโลกที่ตนกำลังจมอยู่ แล้วก็ไม่เห็นศาสนาของตนอย่างถูกต้องตามที่เป็นจริง, ก็เลยสูญเสียความเป็นบริษัทของศาสนาของตน; เหมือนกับที่พุทธบริษัทเรามองไม่เห็นธรรมะ หรือสิ่งทุกสิ่งตามที่เป็นจริงดังกล่าวแล้ว …. เมื่อรวมศาสนาทุกศาสนาในโลกเข้าด้วยกัน ผลก็มีว่า เจ้าของศาสนานั้นๆมองไม่เห็นศาสนาของตัว; ทํานองเดียวกับที่ปลามองไม่เห็นน้ำ, ทั้งที่น้ำเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ปลา, เป็นเครื่องคุ้มครองปลา เป็นที่อยู่อาศัยของปลา, หรือทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องอาศัยน้ำ อย่างนี้เป็นต้น …. คนไม่รู้จักศาสนากันถึงขนาดนี้ มันก็เป็นอะไรได้ไม่มากไปกว่าปลา ; ได้รับประโยชน์จากน้ำ เพียงเท่าที่ปลาได้รับประโยชน์จากน้ำ, คือได้รับประโยชน์จากศาสนาน้อยเกินไป เท่าที่ปลาได้รับประโยชน์จากน้ำ, คนเราได้รับประโยชน์จากน้ำยิ่งกว่าปลา ; เพราะเรามีอะไรๆมากกว่าปลา, หรือเหนือกว่าปลา, ข้อนี้ฉันใด คนเราควรจะได้รับประโยชน์จากพระศาสนาของตนๆ อย่างยิ่งให้ถึงที่สุด; จึงจะได้เรียกว่าเป็นพุทธบริษัท, หรือเป็นบริษัทของศาสนานั้นๆ …. นี้เป็นสิ่งที่ควรนํามารำพึงรำพัน พิจารณากันด้วยความสลดสังเวชใจ ในโอกาสที่เรารําลึกด้วยความไม่ประมาท ถึงข้อที่อายุนี้ล่วงไปๆวันหนึ่ง คืนหนึ่ง เดือนหนึ่ง ปีหนึ่ง เป็นการล่วงไป, แต่ไม่ทําอะไรให้สูงขึ้นให้ดีขึ้น หรือให้ดับทุกข์ได้มากขึ้น ; เพราะโทษที่มาตกอยู่ในสภาพที่เหมือนนกไม่เห็นฟ้า เหมือนปลาไม่เห็นน้ำ แล้วก็ทําอะไรๆ ให้ถูกต้องไม่ได้” . พุทธทาสภิกขุ ที่มา : ธรรมบรรยายชุดชุมนุมล้ออายุ หัวข้อเรื่อง “อุณหิสสวิชโยวิจยกถา” เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๐๙ บนเขาพุทธทอง กัณฑ์บ่าย จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ชุมนุมล้ออายุ เล่ม ๑” หน้า ๑๖๕-๑๖๘ ## ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม. ##
การเพ่งโทษตนเอง เป็นการฝึกตนที่ได้ผลจริง
บัณฑิตไม่มีความเพ่งโทษผู้อื่น บัณฑิตจะเพ่งโทษตนเอง การเพ่งโทษตนเองนั้น เป็นการฝึกตนเองอย่างหนึ่ง ที่จักเกิดผลจริง
การเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวิสัยของผู้ไม่ใช่บัณฑิต ผู้ที่เพ่งแต่โทษผู้อื่น ไม่เพ่งโทษตนเอง ย่อมไม่เห็นโทษของตนเอง ย่อมไม่เห็นความบกพร่องที่จะต้องแก้ไขให้ดีขึ้น
ย่อมไม่รู้ว่ามีโทษเพียงไร ในแง่ใด ไม่มีโอกาสจะแก้ไขตนเอง แต่จะมุ่งไปแก้ผู้อื่น ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์แก่ตนอย่างใด
ผู้อื่นนั้นไม่ใช่ว่าจะยอมให้แก้ เพราะถ้าเป็นผู้อื่นที่เป็นบัณฑิต ก็ย่อมแก้ตนเองอยู่แล้ว ฝึกตนเองอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ไม่เป็นบัณฑิตก็ย่อมไม่สนใจที่จะแก้ตนเองฝึกตนเองอยู่แล้ว ผู้อื่นจะไปแก้จึงเป็นไปได้ยาก
ทุกคนจะดีหรือชั่ว...สำคัญที่ตนเอง ตนเองมีความดีพอจะยอมรับความไม่ถูกต้องไม่ดีงามของตน ย่อมยินดีฝึกตน ย่อมยินดีแก้ไขตน ย่อมมีโอกาสเป็นคนดียิ่งขึ้น
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน)
|