การเข้าถึงสมาธิ
อย่างเช่น ปฐมฌานอย่างนี้นะที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ "ปฐมฌานมีองค์ ๕ อย่างนี้ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา" นั่นแหละ
วิตก คือ ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ เราจะเอาอะไรมาเป็นอารมณ์บัดนี้ นี่นะ เช่นอย่างว่า เราจะเพ่งลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ นี่ได้ชื่อว่าเป็น "วิตก" แล้ว พอวิตกแล้วก็วิจาร พอจับลมหายใจเข้าออกแล้วก็วิจาร วิจารดูว่า ชีวิตนี้มีอยู่แค่ลมหายใจเข้าออกนี้ล่ะ ถ้าลมหายใจเข้าออกนี้หยุดลงแปลว่า ตาย นี่คำว่า "วิจาร" นะ นั่นแหละ ก็มองเห็นได้เลยว่า อายุของคนเรามีอยู่แค่ลมหายใจเข้าออกเท่านี้เป็นเครื่องหมายว่ายังมีชิวิตอยู่ ถ้าวิจารดูชีวิตนี้มีน้อยนิดเดียวนี่
บัดนี้มาคำนึงถึงความดีของตนมีอะไรบ้างที่จะเป็นที่พึ่งที่อุ่นใจ เมื่อมาพิจารณาดูอย่างว่า ผู้ที่ครองเรือนอย่างนี้ เออ ทานตนก็ได้ให้ ศีลตนก็ได้รักษามา ไม่ได้ทำบาป อย่างนี้นะ แล้วก็ได้แสดงความเคารพกราบไหว้บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เอาเป็นที่พึ่งที่ระลึกอยู่
ได้สั่งสมบุญกุศลอยู่ พอมองเห็นว่าตนนั้นมีคุณความดีอยู่ในใจ มีบุญมีกุศล ได้สั่งสมอบรมให้เกิดมีขึ้นในใจอยู่อย่างนี้ มันก็เกิด "ปีติ" ขึ้นในบุญกุศลนั้นในความดีของตนนะ เห็นตนบริสุทธิ์อยู่ ไม่มีบาปมีโทษอย่างนี้นะ เห็นผลแห่งทาน คุณแห่งทานว่ามีประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นจริงอย่างนี้ มันก็เกิดปีติขึ้นนะ
เมื่อมันเกิดปีติขึ้นอย่างนั้นก็กระทำความรู้เท่าปีติ อย่าไปส่งเสริมปีติเอาจนว่าจิตฟุ้งซ่านไปอย่างนั้น ก็มีสติประคองจิตไว้อย่าให้มันเกิดความยินดีอย่างรุนแรงนะ ความยินดีในบุญในกุศลก็ดี ถ้ามันยินดีเกินขอบเขต มันก็จะจิตฟุ้งซ่านไปอีกแหละ จะไม่สงบอีกเหมือนกันน่ะ
ดังนั้นเมื่อมีปีติเกิดขึ้นแล้วก็มีสติสัมปชัญญะประคองจิต ประคองปีติอันนั้นไว้ไม่ให้มันเกินขอบเขตแล้วบัดนี้ ไปไปปีติมันก็สงบลงบัดนี้
เมื่อปีติสงบลงเกิดความสุขความเย็นใจขึ้นมาล่ะบัดนี้ อิ่ม..อารมณ์ต่างๆ ไม่ปรารถนาจะคิดไปทางไหนแล้ว เพราะว่าใจมันสบายแล้วนี่ ใจมันเอิบอิ่มอยู่ด้วยบุญด้วยคุณแล้วนี่ เป็นอย่างนั้น
เมื่อเพ่งความสุขอันนั้นอยู่ก็เห็นว่าความสุขอันนี้มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกันน่ะ มันเกิดขึ้นมีขึ้นได้อย่างนี้มันก็มีเสื่อมไปได้เหมือนกันน่ะ ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นสุข อิ่มเอิบใจอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา ไม่ใช่ ต้องเพ่งความสุขอันนั้นอยู่อย่างนั้น ไปๆ มาๆ ความสุขอันนั้นมันระงับลงบัดนี้ จิตมันก็เป็น "เอกัคคตา" แล้วบัดนี้
ความรู้สึกก็เปลี่ยนไปจากไอ้ความที่ว่ามีความสุขหรือความที่ว่าปีติอันนั้นก็ระงับไปบัดนี้ จิตใจก็เป็นหนึ่งอยู่เฉยๆ ล่ะบัดนี้ นี่ท่านเรียกว่า เอกัคคตา นั่น..
ผลสุดท้ายการฝึกจิตตามแนวปฐมฌานอย่างว่านี้มันก็มาลงเป็นเอกัคคตานี่ นี่ๆทำจิตให้เป็นหนึ่ง นั่น..ดังนั้นการที่เราเจริญอานาปานสตินี่
มันก็เป็นเรื่องของการบำเพ็ญปฐมฌานนั่นเองแหละ แต่เมื่อเรามีอุบายแยบคายเป็นนะ อย่างที่ว่ามานี้แหละ ให้พึงพากันสันนิษฐานเอาไว้
วิตกก็ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐานก็คือ ยกจิตขึ้นรู้ลมหายใจเข้าออกนั่นเอง วิจารก็คือวิจารถึงชีวิตเกี่ยวเนื่องอยู่ด้วยลมหายใจเข้าออก ถ้าลมหายใจหยุดลงไปเมื่อใดก็ตาย เนี่ยท่านเรียกว่าวิจารให้มันถูกทางน่ะ วิจารในพระกรรมฐานนั่นแหละ ไม่ใช่วิจารออกนอก ไปนอกเรื่อง อันนั้นวิจารไปข้างนอกไม่ถูก ต้องให้วิจารอยู่แต่ในห่วงของกรรมฐานนี้เท่านั้น จิตใจนี้มันจึงจะรวมเป็นเอกัคคตาลงได้ในตอนสุดท้ายนะ
มันไม่ใช่เป็นเรื่องลำบากยากเข็ญอะไรนักหนา แต่ขอให้มีศรัทธาก็แล้วกันนะ ขอให้มีความเชื่อมั่นในใจเลยว่า การที่เราฝึกฝนจิตโดยถูกทางอย่างนี้ มันจะมีผลดีต่อตนเอง กิเลสตัณหาอันหยาบช้าลามกต่างๆ มันจะน้อยเบาบางออกไปจากจิตใจเรื่อยๆเมื่อเรามาฝึกจิตใจลงไป จนว่าใจเป็นเอกัคคตา เป็นหนึ่งลงไปได้อย่างนี้นะ
มันก็จะอยู่ได้นานแหละการทำจิตให้เป็นเอกัคคตาลงอย่างนั้น เพราะว่า มันเป็นผู้มีศีลมาก่อนแล้ว ศีลเป็นเครื่องขจัดบาปอกุศลให้ระงับไปจากจิตใจมาแล้ว ดังนั้นเมื่อใจรวมลงเป็นหนึ่งเอกัคตา มันก็ไม่มีบาปอกุศลอะไรมารบกวนจิตใจน่ะ เพราะฉะนั้นจิตนี้ มันจึงค่อยสงบอยู่ได้นาน เมื่อจิตสงบเป็นเอกัคคตาอยู่ได้อย่างนั้น
หากว่าเมื่อบำเพ็ญฌานขึ้นที่สองต่อไป ท่านว่ามีแต่วิจารอย่างเดียว วิตกไม่มี ก็หมายความว่า มันชำนาญแล้วนี่ อย่างว่าเราจะเพ่งลมหายใจเข้าออกนี่เป็นกรรมฐาน อย่างนี้นะ
พอนั่งสมาธิเข้าไปก็เพ่งลมหายใจเลย ไม่ได้นึกเลยว่า เราจะเอาอะไรมาเป็นกรรมฐานหนออย่างนี้ ไม่ได้วิตกละ ก็เพ่งลมหายใจเข้าออกเอาเลย เมื่ออธิษฐานจิตดังกล่าวมาแล้วนั้นน่ะ วิจารไปในที่สุดก็ลงสู่เอกัคคตาของเก่านั่นแหละ นั่น ผลสุดท้ายใน "จตุตถฌานทั้งสี่"
"จตุตถฌานที่สี่" นั้นมีเอกัคคตากับอุเบกขาเท่านั้น เข้าสมาธิไปแล้วจิตเป็นเอกัคคตาแล้ว เพ่งเอกัคคตานั้นเข้าไปมากๆ เข้าไปแล้ว
ในที่สุดจิตก็เป็นอุเบกขาลงไปเลยบัดนี้ จิตเฉยลงไป มันละเอียดมากในขั้นนั้นนะ จนว่าลมหายใจไม่ปรากฏเลย แต่เพียงแค่ได้ปฐมฌานนี่ก็ยังดีแล้วนะ ก็ยังดีน่ะ เพราะฉะนั้นน่ะ พยายามบำเพ็ญไป อย่าไปนึกว่ามันเหลือวิสัย
ถ้าพูดถึงเรื่อง "ฌาน" แล้วกลัวกันก็มีบางคนน่ะ โห เรานี่ไม่มีวาสนาหรอกอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าเราตีความหมายคำว่า "ฌาน" ได้แล้วมันไม่เห็นเป็นเรื่องลำบากอะไรนะ ฌานัง แปลว่า ความเพ่ง อย่างนี้แหละ คำว่า "เข้าฌาน" เข้าฌาน ที่ท่านกล่าวไว้หมู่นั้น ก็หมายความว่า "ตั้งสติเพ่งอารมณ์เข้าไป" เพ่งลมหายใจเข้าหายใจออกนี้ เข้าไปเรื่อยๆ "สติ" ก็หยั่งลงไปน่ะดังที่แนะนำมาตอนต้นนั่นแหละ
หยั่งลงไปจนถึงสติมันหยั่งเข้าถึงจิตได้แล้วมันก็เป็นอุเบกขา มันเป็นเอกัคคตาลงได้ เมื่อจิตไม่คิดแล้วมันจะเป็นอะไร มันก็เป็นหนึ่งเท่านั้นแหละ
จิตนี้นะเมื่อมันคิดแล้วมันก็เป็นสองเป็นสามไป เออ มันเป็นอย่างนั้น เหตุนั้นจึงว่าพยายามให้จิตมันหยุดคิดนี้นะ ให้เข้าใจความหมายเอาอย่างรวบรัดอย่างนี้
หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
คนรู้ใจ ... ถึงแม้จะหาคนรู้ใจไม่ได้เลย แต่หากเรา รู้ใจตัวเองอย่างลึกซึ้ง ชีวิตก็ย่อมเป็นสุข ห่างไกลจากความทุกข์ เรารู้ใจตัวเองได้ เพราะมีสติ ทำให้รู้ทันความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ไม่ตกอยู่ในการครอบงำของอารมณ์ต่าง ๆ จึงสามารถทรงใจให้เป็นปกติ ไม่หวั่นไหว หรือขึ้นลงไปตามแรงกระทบกระแทกของ สิ่งรอบตัว สติช่วยให้ระลึกรู้ในกายและใจ จึงเกิดความรู้สึกตัวอย่างฉับไวและเห็น สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับกายและใจ อย่างที่มันเป็น … ... พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล
"...จิตนี้เป็นของไม่แน่นอน เพราะมีเครื่องหมุนจิตให้ไปในแง่ต่างๆได้ เครื่องหมุนจิตนี้คือความชั่วนั้นเอง ที่หมุนให้ไปทางต่ำ ไม่มีคุณความดีที่จะหมุนให้ไปทางสูงเลย มีแต่เหตุชั่วทั้งนั้น เราจึงคล้อยตามสิ่งที่ชั่ว สิ่งที่ไม่ดีอยู่เสมอ ทั้งๆที่เราไม่ปรารถนาความชั่ว แต่ความคล้อยตามนั้นบ่งบอกอย่างชัดเจน
เราจึงควรสังเกตุตอนนี้ ระมัดระวังตอนนี้ให้ดี ระมัดระวังในแง่ต่างๆซึ่งเป็นสิ่งไม่ดี ที่ขัดกับธรรม ความระวังเช่นนี้ท่านเรียกว่าสติ เราควรพยายามให้ระมัดระวังเสมอ ระวังให้มากขึ้น ระวังเรื่อยๆ ก็จะเป็นความเคยชินภายในตัวเอง แล้วค่อยรู้เรื่องราว มีสติเป็นพื้นฐานขึ้นมาโดยลำดับ จนกลายเป็นมหาสติมหาปัญญาขึ้นได้ จากสติปัญญาที่ล้มลุกคลุกคลาน นี่แหละท่านจึงสอนให้อบรม สอนให้บำรุงสติโดยลำดับ..."
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
"... คนที่เจริญสมาธิ แต่ไม่มีจิตตั้งมั่นในบุญกุศลอย่างแท้จริงแล้ว พญามารเขาก็ จะยิ้มเข้ามาหาล่ะ กล่าวคือขันธ์มาร ก็เจ็บปวดไปตามร่างกาย สัญญาก็วุ่นวาย สังขารก็คิดไปร้อยแปดพันประการ วิญญาณก็รู้ไปต่างๆ ดวงใจผู้นั้นก็จะพังทลาย บุญกุศลก็สูญหาย ไปหมด เหมือนข้าวหลามที่มันสุกไม่ทั่ว.. กินแล้วก็ท้องเสีย
... การทำสมาธิ ต้องอย่ากดบังคับใจให้มาก นัก และก็อย่าปล่อยให้เหลิงจนเกินไป ตอนไหนควรบังคับ ก็บังคับ ตอนไหนควรปล่อยก็ปล่อย ข้อสำคัญต้องมีวิตกวิจาร กำกับอยู่เสมอ ที่เรียกว่า คุณสมบัติ ใจของเราก็จะไม่เขว ไถลถลาก ออกนอกความดี ธรรมดาความดีแล้วก็มักจะต้องมีความชั่วเข้ามาแทรก เหมือนคนที่ร่ำรวยก็มักจะต้องมีโจรผู้ร้ายมาคอยดักปล้น ทำบุญทำกุศลก็ต้องมีพญามาร ฉะนั้นเวลานั่งต้องคอยระวังอย่าให้เป็นมิจฉาสติ และมิจฉาสมาธิได้ ..." ________________________________________
#พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ #พระอาจารย์ลี_ธมฺมธโร วัดอโศการาม ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ (พ.ศ.๒๔๔๙ - ๒๕๐๔)
#โอวาทธรรม #หลวงตามหาบัว_ญาณสัมปันโน
โอวาทธรรมหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เราต้องพิจารณาตามความเป็นจริง
กำหนดดูสิในร่างกายนี้มีอะไร หนังมันหนาขนาดไหน บางๆ เท่านั้น ผิวหนังฟังซิมันหนาแน่นที่ไหน ภายในเข้าไปนั้นเป็นอะไร ดูกันได้
เมื่อไร ถลกหนังออกดูซิดูกันได้เมื่อไร เกลื่อนไปด้วยสิ่งปฏิกูลนี้ทั้งนั้น แล้วโลกนี้น่าอยู่ที่ไหน เราจะไปฝืนใจยึดถือได้หรือมันเป็นเรื่องของกิเลสล้วนๆ
เราต้องพิจารณาตามความเป็นจริง ซึ่งความจริงนี้ก็คือธรรม พิจารณาลงให้ถึงความจริง ความจริงเป็นหลักเป็นฐานเป็นกฏเป็นเกณฑ์เห็นได้อย่างชัดเจนทั้งตาเนื้อทั้งจิตใจ ทำไมจึงไม่ยอมพิจารณาให้เห็นตามความจริงนี้ ฝืนไปทำไม
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
#คติธรรม #พระอาจารย์ไพศาล_วิสาโล
“การรู้จักตนเอง”
“เก็บเกี่ยวคุณประโยชน์จากความทุกข์” เพราะความทุกข์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต...แม้แต่เรื่องจิ๊บจ๊อย เช่น มีสิวผุดขึ้นบนใบหน้า เพื่อนร่วมงานวางแก้วไม่เป็นที่ เท่านี้ก็สามารถกวนใจได้ร้อยแปด แต่ถ้าเราย้อนกลับมามองตนเอง โดยไม่เพียงแต่รู้ว่า...นึกคิดและทำอะไรเท่านั้น หากยังเห็นลึกลงไปจนตระหนักว่าทำไมจึงมีอาการเช่นนั้น นั่นแสดงว่าเรากำลังเก็บเกี่ยวคุณประโยชน์อีกด้านหนึ่งของความทุกข์ในชีวิตประจำวันแล้ว คุณประโยชน์นั้นมีชื่อว่า “การรู้จักตนเอง”
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่าสุคะโต ชัยภูมิ
#โอวาทธรรม #หลวงปู่เทศก์_เทสรังสี
โอวาทธรรมหลวงปู่เทสก์ เทสฺรํสี
ควรจะกลัวความเกิด อย่าไปกลัวความตาย
"มนุษย์สัตว์ทั้งหลายกลัวความตาย แต่ยินดีกับความเกิด เมื่อเกิดแล้วไม่ตายไม่มี ต้องตายแน่ๆ ผู้กลัวความตายจึงต้องควรชำระโมหะ อวิชชาที่หุ้มห่อจิตอันเป็นต้นเหตุให้หมดจด จึงจะไม่เกิดไม่ตายอีก ควรจะกลัวความเกิด อย่าไปกลัวความตายเลยจึงจะถูก"
พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย วันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔
#อเหตุกจิต ๓ ประการ #หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
๑. ปัญจ ทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ตาม อายตนะ หรือทวารทั้ง ๕ มีดังนี้
ตา ไปกระทบกับรูป เกิด จักษุวิญญาณ คือการเห็น จะห้ามไม่ให้ ตา เห็นรูปไม่ได้
หู ไปกระทบเสียง เกิด โสตวิญญาณ คือการได้ยิน จะห้ามไม่ให้ หู ได้ยินเสียงไม่ได้
จมูก ไปกระทบกับกลิ่น เกิด ฆานะวิญญาณ คือการได้กลิ่น จะห้ามไม่ให้ จมูก รับกลิ่นไม่ได้
ลิ้น ไปกระทบกับรส เกิด ชิวหาวิญญาณ คือการได้รส จะห้ามไม่ให้ ลิ้น รับรู้รสไม่ได้
กาย ไปกระทบกับโผฏฐัพพะ เกิด กายวิญญาณ คือการสัมผัส จะห้ามไม่ให้ กาย รับสัมผัสไม่ได้
วิญญาณทั้ง ๕ อย่างนี้ เป็นกิริยาที่แฝงอยู่ในกายตามทวาร ทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่างๆ ที่มากระทบเป็นสภาวะแห่งธรรมชาติของมันเป็นอยู่เช่นนั้น
ก็แต่ว่า เมื่อจิตอาศัยทวารทั้ง ๕ เพื่อเชื่อมต่อรับรู้เหตุการณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบ แล้วส่งไปยังสำนักงานจิตกลางเพื่อรับรู้ เราจะห้ามมิให้เกิด มี เป็นเช่นนั้น ย่อมกระทำไม่ได้
การป้องกันทุกข์ที่จะเกิดจากทวารทั้ง ๕ นั้น เราจะต้องสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๕ ไม่เพลิดเพลินในอายตนะเหล่านั้น หากจำเป็นต้องอาศัยอายตนะทั้ง ๕ นั้น ประกอบการงานทางกาย ก็ควรจะกำหนดจิตให้ตั้งอยู่ในจิต เช่นเมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ไม่คิดปรุง ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่คิดปรุง ดังนี้ เป็นต้น
(ไม่คิดปรุงหมายความว่า ไม่ให้จิตเอนเอียงไปในความเห็นดีชั่ว)
๒. มโนทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ที่มโนทวาร มีหน้าที่ผลิตความคิดนึกต่างๆ นานา คอยรับเหตุการณ์ภายในภายนอกมากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเอาไว้ จะห้ามจิตไม่ให้คิดในทุกๆ กรณีย่อมไม่ได้
ก็แต่ว่าเมื่อจิตคิดปรุงไปในเรื่องราวใดๆ ถึงวัตถุ สิ่งของ บุคคลอย่างไร ก็ให้กำหนดรู้ว่าจิตคิดถึงเรื่องเหล่านั้น ก็สักแต่ว่าความคิด ไม่ใช่สัตว์บุคคล เราเขา ไม่ยึดถือวิจารณ์ความคิดเหล่านั้น
ทำความเห็นให้เป็นปกติ ไม่ยึดถือความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น จิตย่อมไม่ไหลตามกระแสอารมณ์เหล่านั้น ไม่เป็นทุกข์
๓. หสิตุปบาท คือ กิริยาที่จิตยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม หมายความว่าไม่อยากยิ้มมันก็ยิ้มของมันเอง กิริยาจิตอันนี้มีเฉพาะเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี
สำหรับ อเหตุกจิต ข้อ ๑ และ ๒ มีเท่ากันในพระอริยเจ้าและในสามัญชน นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อตั้งใจปฏิบัติตนออกจากกองทุกข์ควรพิจารณา อเหตุกจิต นี้ให้เข้าใจด้วย เพื่อความไม่ผิดพลาดในการบำเพ็ญปฏิบัติธรรม
อเหตุกจิต นี้ นักปฏิบัติทั้งหลายควรทำความเข้าใจให้ได้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะพยายามบังคับสังขารไปหมด ซึ่งเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมมาก เพราะความไม่เข้าใจใน อเหตุกจิต ข้อ ๑ และ ๒ นี้เอง
อเหตุกจิต ข้อ ๓ เป็นกิริยาจิตที่ยิ้มเองโดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี เพราะกิริยาจิตนี้เป็นผลของการเจริญจิตจนอยู่เหนือมายาสังขารได้แล้ว จิตไม่ต้องติดข้องในโลกมายา เพราะความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งได้แล้ว เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง
" การแนะนำสั่งสอนคนอื่น เราทำมายังไง ธรรมพระพุทธเจ้าสอนว่ายังไง พระพุทธเจ้าดำเนินมายังไง เราก็นำนั้นมาดำเนิน "
ทีนี้เขาไม่เคยดำเนินตามพระพุทธเจ้า เขาไม่เคยฟังธรรมพระพุทธเจ้า เขาก็ฟังสุ่มสี่สุ่มห้า เขาก็พูดสุ่มสีสุ่มห้า หูสุ่มสี่สุ่มห้า อย่างหูเรานี้ก็ฟังได้ง่าย เชื่อได้ง่ายล่ะซิ ไม่ได้เชื่อความจริงเชื่อแต่ความจอมปลอม สุดท้ายก็มีแต่หูปลอม เต็มโลกเต็มสงสาร หูจริงจะไม่มีนะ จำให้ดีคำนี้
โอวาทธรรม หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
|