นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พุธ 30 เม.ย. 2025 11:12 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ทำความดี
โพสต์โพสต์แล้ว: อังคาร 22 เม.ย. 2025 8:38 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4905
สังคมจะอยู่ได้ ต้องใส่ใจยกย่องคนดี
ยกย่องคนดี เท่ากับยอมรับธรรมที่รักษาสังคม
.
…. “การบูชานั้น ที่จริงในภาษาบาลีก็ตรงกันกับคำไทยง่ายๆ ว่า “ยกย่อง” นั่นเอง แต่ในภาษาไทยเรามักนึกถึง “บูชา” เหมือนอย่างเอาไปขึ้นหิ้ง หรือขึ้นแท่นบูชา แล้วก็ “กราบ”
…. ในภาษาบาลี คำว่า “บูชา” นั้นมีความหมายกว้าง การยกย่องคนที่มีคุณความดีสมควรแก่ฐานะนั้นๆ ก็เรียกว่า “บูชา” ใครทำความดี ไม่ว่าเขาจะมีฐานะมีตำแหน่งอะไรหรือไม่ เราให้เกียรติที่สมควรแก่เขา ก็เรียกว่า “บูชา”
…. ขอยกตัวอย่าง ในสมัยก่อนพุทธกาล มีเรื่องมาในชาดกเล่าว่า นายคนหนึ่งเคยเป็นคนยากจน เขาขยันหมั่นเพียร สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ด้วยความสุจริต เป็นหลักเป็นฐาน มีเงินมีทองมาก สำนวนภาษาบาลีว่า พระราชาได้ทรงบูชานายคนนั้นด้วยตำแหน่ง “เศรษฐี” นี่คือการบูชา หมายถึงการยกย่องให้เกียรติที่สมควร
…. คำบาลี เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย บางทีความหมายก็แคบลงไปๆ จึงควรทำความเข้าใจกันให้ชัดเจน
…. โดยเฉพาะการบูชาคนที่ควรบูชา เป็นหลักการที่ควรนำมาย้ำกันมากเป็นพิเศษในยุคนี้ เพราะการที่เราบูชาคนควรบูชา ก็คือยกย่องคนที่มีธรรม
…. เราจะบอกว่าท่านเป็นคนมีคุณธรรม มีความดี เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ฯลฯ อะไรก็แล้วแต่ ถ้าจะพูดให้สั้นที่สุด ก็คือท่านมี “ธรรม”
…. เมื่อเราบูชาคนที่มีธรรม ก็หมายความว่าเราบูชาตัว “ธรรม” นั่นเอง เพราะ “ธรรม” นั้นมาแสดงออกที่ตัวบุคคล กลายเป็นว่าคนนั้นเป็นที่ตั้ง เป็นที่รองรับ เป็นสื่อ และเป็นที่แสดงออก ตลอดจนเป็นเหมือนตัวแทนของธรรม
…. เราต้องการจะบูชา “ธรรม” เราก็บูชาคนที่มีธรรม หรือคนผู้เป็นสื่อและเป็นที่แสดงออกตลอดจนเป็นเหมือนตัวแทนของธรรม
…. ธรรมนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะดำรงรักษาสังคมมนุษย์ ถ้าสังคมมนุษย์ไม่ยกย่องเชิดชูธรรม คือไม่ยกย่องความจริง ความถูกต้อง ความดีงามเสียแล้ว สังคมนั้นเองก็จะวิปลาส ในที่สุดก็จะอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นสังคมที่ดีจะต้องเชิดชูธรรม แต่จะเชิดชูธรรมได้อย่างไร
…. ธรรมนั้นต้องมีที่แสดงออก คือมาแสดงออกที่ตัวคน คนไหนมีธรรม เราก็ไปชวนกันยกย่องให้เกียรติ เพื่อจะส่งเสริมให้การปฏิบัติธรรมหรือการมีธรรมนั้นขยายกว้างขวางออกไป ในทางพระพุทธศาสนาจึงยกย่องสรรเสริญ และย้ำความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการบูชาคนที่ควรบูชา
เรื่องนี้ บางทีแม้แต่ทางฝ่ายพระทั่วไป ก็มองข้ามกันไปเสียคล้ายๆ ว่าไม่ค่อยเห็นความสำคัญ มองกันแต่ที่ตัวหลักธรรม ไม่ใส่ใจคนที่มีธรรม คนที่ดำรงธรรม รักษาธรรม ทรงธรรมไว้ ซึ่งที่จริงสังคมยุคนี้ควรเห็นตระหนักในความสำคัญให้มาก จึงขอย้ำ
.
สังคมไทยจะฟื้นได้ คนไทยต้องเชิดชูคนมีธรรม
…. คนที่มีธรรม ก็คือคนที่เข้าใจความจริงของสิ่งทั้งหลาย และรู้จักปฏิบัติได้ถูกต้องสอดคล้องกับความจริงของกฎธรรมชาตินั้น ข้อปฏิบัติของมนุษย์อย่างนี้ ใครมีอยู่ เริ่มตั้งแต่เป็นคนซื่อตรงต่อความจริงของกฎธรรมชาติ ความจริงเป็นอย่างไรก็ว่าอย่างนั้น เราเรียกคนนั้นว่ามี “ธรรม”
เมื่อเราไม่ได้ถือเทพเจ้าเป็นใหญ่แล้ว เราก็หันมาถือธรรมเป็นใหญ่ เราจึงบูชา “ธรรม” และในการที่จะบูชาธรรมนั้น บุคคลใดมี “ธรรม” เป็นที่แสดงออก เป็นที่รองรับ เป็นสื่อของ “ธรรม” เราก็บูชาคนนั้น เพราะฉะนั้นจึงมีพุทธภาษิต คือคำตรัสของพระพุทธเจ้า ซึ่งควรจะจำกันไว้ให้แม่น เช่นคาถาหนึ่งในธรรมบทว่า
…. “ มาเส มาเส สหสฺเสน โย ยเชถ สตํ สมํ ” เป็นต้น แปลว่า บุคคลใด ถึงจะเซ่นสรวงด้วยทรัพย์เดือนละพัน ตลอดเวลาร้อยปี ก็มีค่าไม่เท่าบูชาคนที่ฝึกตนแล้ว แม้เพียงครู่เดียว
…. หลักนี้สำคัญมาก และยังมีพุทธภาษิตทำนองนี้อีกมากมายที่ให้ความสำคัญแก่การมาช่วยกันบูชาคนที่มีธรรม เพราะเป็นประโยชน์แท้จริง เพราะเท่ากับเป็นการบูชาคือยกย่องเชิดชูความจริง บูชาความถูกต้อง และบูชาหลักการของสังคม ที่จะธำรงรักษาสังคมให้อยู่ได้ พร้อมทั้งเป็นการขยายจิตใจของคนออกไป ไม่ให้มองจ้องจะเอาแต่ประโยชน์ส่วนตัว แต่ให้ความสำคัญแก่หลักการ และมองประโยชน์ส่วนรวมของสังคม
…. การที่ไม่มัววุ่นอยู่กับเรื่องของใจที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของการจะขอผลดลบันดาลอะไรต่างๆ แล้วมาอยู่กับความจริงของกฎธรรมชาติ ทำให้ต้องใช้ปัญญาศึกษา ดังนั้น แม้แต่เพียงว่าเราเอาหลักการบูชาบุคคลที่ควรบูชามาใช้อย่างเดียว ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่สังคมจะเดินหน้าไปได้ ถ้าเราไม่ย้ายมาสู่จุดนี้ สังคมจะจมและเปลี้ยโทรมลงไปทุกที
…. ถ้าเราไม่บูชาธรรม และไม่บูชาคนที่มีธรรม เราก็จะเขวไปบูชาเทพเจ้า ถ้าไม่บูชาเทพเจ้าบนฟ้า ก็อาจจะเอาอะไรที่ไม่เข้าเรื่องมาเป็นเทพเจ้า เช่นเดี๋ยวนี้พูดกันว่า “เอาเงินเป็นเทพเจ้า” ต่อไปก็บูชา “เงิน” บูชา “ผลประโยชน์” อะไรต่อมิอะไร ก็ไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้น หลักการนี้สำคัญมาก เป็นปัจจัยใหญ่ที่จะตรึงสังคมไว้
…. ในมงคล ๓๘ ประการ พระพุทธเจ้าก็ตรัสแสดงการบูชาคนที่ควรบูชาไว้ เป็นมงคลข้อที่ ๓ หมายความว่า พระพุทธศาสนาเริ่มที่สังคมก่อน คือ เริ่มจากรอบตัวเข้ามา ให้คนอยู่ร่วมกันด้วยดี อย่างถูกต้อง
…. มงคลข้อที่ ๑ คือ “ อเสวนา จ พาลานํ ” ไม่คบคนพาล หมายความว่า ไม่เอาเยี่ยงอย่าง ไม่ตามคนพาล ไม่เอามาเข้าวงสัมพันธ์ในการเป็นอยู่และกิจการงาน แต่ก็มีข้อยกเว้น เดี๋ยวโยมจะบอกว่า “เอ๊ะ อะไร ไม่เหลียวแลคนพาลเลยหรือ?”
…. พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ไม่ควรคบคนทราม เว้นแต่จะช่วยเขา” (องฺ.ติก.๒๐/๔๖๕/๑๕๗) มีหลักอย่างนี้ หมายความว่า ถ้าเราจะคบคนพาล ก็คบเพื่อจะช่วย แต่จะไปเอาตามอย่างเขาไม่ได้
…. พร้อมกันนั้น คนที่จะช่วยคนพาลก็ต้องเตรียมตัวให้ดีด้วย เช่น ต้องแข็งจริง ต้องมั่นคง ต้องเก่ง มั่นใจว่าดึงเขาขึ้นมาได้ ไม่ใช่ว่าตัวเองอ่อนแอ จะไปช่วยเขา ตัวเองกลับโดนเขาดึงลงไปเลย ถ้าอย่างนี้ก็แย่ไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้น หลักทั่วไปจึงบอกว่า ไม่คบคนพาล และก็มาถึงข้อยกเว้นว่า นอกจากจะช่วยเขา
…. มงคลข้อที่ ๒ คือ “ ปณฺฑิตานญฺจ เสวนา ” แปลว่า คบบัณฑิต คือคบคนดี คนมีปัญญาและคุณธรรม คนที่จะชักนำไปสู่ความเจริญงอกงามในความดี
…. มงคลข้อที่ ๓ คือ “ ปูชา จ ปูชนียานํ ” แปลว่า บูชาคนควรบูชา หรือบูชาปูชนียชน
…. นั่นคือมงคล ๓๘ สามข้อแรก เป็นชุดที่หนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษย์ในสังคม โดยเฉพาะการบูชาคนที่ควรบูชานี้ เป็นข้อที่ควรจะได้เน้นกันเป็นพิเศษในสังคมปัจจุบัน เพื่อจะได้ช่วยกัน ธำรงรักษาสังคมไว้ด้วยการธำรงรักษา “ธรรม” ให้แก่สังคม
…. อย่างไรก็ตาม การดำรงรักษา “ธรรม” นั้น เป็นนามธรรมที่เรามองไม่ค่อยเห็น ถ้าเราทุกคนธำรงธรรมได้ด้วยตนเองก็ดีซิ คือเราประพฤติธรรมนั่นแหละ การธำรง “ธรรม” ไว้ ก็คือตัวเราเอง ต้องประพฤติตาม “ธรรม” นั้น
…. ทีนี้ ถ้ามีคนประพฤติ “ธรรม” อย่างจริงๆ จังๆ เป็นตัวอย่าง เราต้องช่วยกันแสดงออกให้เห็นว่า เราเป็นนักธำรง“ธรรม” เราเชิดชู“ธรรม”จริงๆ ด้วยการเชิดชูคนที่มี“ธรรม” ถ้าเราเชิดชูบุคคลที่มีธรรม บูชาคนที่ดี ก็เป็นการแสดงอย่างแน่นอนว่า เราบูชาธรรม ยกย่องความดีงามถูกต้อง ฉะนั้น หลักการบูชาปูชนียชนนี้ คิดว่าปัจจุบันเราจะต้องช่วยกันเน้นให้มากเป็นพิเศษ”
.
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
จากหนังสือ “การพัฒนาที่ดี หนีไม่พ้นธรรม” หน้า ๔๕ - ๕๓






"..คำว่าเราอันเป็นหลักใหญ่ในตัวคนก็คือใจ ใจเป็นของไม่ตาย และไม่เคยตายมาแต่กาลไหน ๆ นอกจากระเหเร่ร่อนไปเกิดในกำเนิดดี-ชั่วต่าง ๆ ตามอำนาจของวิบากกรรมดี-ชั่วที่ตนทำไว้พาให้เป็นไปเท่านั้น ยิ่งคำว่าตายแล้วสูญ นั่นไม่มีในใจดวงใด ๆ เลยทั้งใจสัตว์ใจบุคคล แม้ใจพระพุทธเจ้าและใจพระอรหันต์ผู้สิ้นกิเลสตัวพาให้เกิด-ตายแล้วก็ไม่สูญ แต่ไม่เที่ยวแสวงหาที่เกิดต่อไปเหมือนใจที่มีกิเลสเป็นเชื้อพาให้เกิด-ตายเท่านั้น เพราะใจนั้นเป็นใจ อนุปาทิเสสนิพพานของผู้สิ้นกิเลสโดยสมบูรณ์แล้ว.."

#เทศนาธรรมธรรมคำสอน
(พระครูวินัยธร)
หลวงปู่มัน ภูริทตฺโต
#อ้างอิงหนังสือประวัติหลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู
(พ.ศ.๒๔๓๑–๒๕๒๖)






...#ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความอยากใหญ่ใฝ่สูง #เป็นไปเพื่อความไม่สันโดษ #ยินดีในของที่มีอยู่ อย่างนี้เป็นไปเพื่อความเลี้ยงอันยาก เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เป็นไปเพื่อความคลุกคลีหมู่คณะทั้งหลายเหล่านี้ ท่านตรัสเป็นส่วนหนึ่งว่า #อันนี้ไม่ใช่ธรรมและไม่ใช่วินัย #ไม่ใช่สัตถุศาสน์ #คําสั่งสอนของพระศาสดาของเราตรงกันข้าม นั้นท่านว่าอันนั้นเป็นธรรมคําสอน สัตถุศาสน์ คําสอนของพระพุทธเจ้าของเรานี้อย่างนี้

...ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ #ถ้าเราสังวรสํารวมมันจะเกิดอยู่ทุกวิถีทาง มันจะเป็นธรรมะ #เป็นคุรุธรรม มันหนัก #นี่เรียกว่าปฏิบัติธรรมะ ถ้ารู้อย่างละเอียดอย่างนี้ มันก็รู้จักธรรมะ มันมากที่สุดล่ะ ไม่จนธรรมะได้พิจารณา

...ฉะนั้น ข้อวัตรปฏิบัตินี้ เพื่อให้เข้าไปรู้ไปเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น มันก็เป็นคล้ายๆ พื้นฐาน อย่างเราจะปลูกอาคารสักหลังหนึ่ง มันมีข้างบนสองชั้น สามชั้น มันก็อยู่ข้างบนโน่น #แต่พื้นฐานก็คือตัววางรากฐานนี้เอง #มันจะทรงตัวมันอยู่ได้ก็เพราะรากฐานของมันมั่นคง

..#การประพฤติปฏิบัตินี่มันรกรุงรังเหลือเกินที่ธรรมะมันจะอยู่ ฉะนั้น #เราจึงพยายามถอนอะไรออก ที่มันรกรุงรังน่ะถอนมันออก #อย่างความกําหนัดย้อมใจ #อย่างความเกียจคร้าน #อย่างความอยากใหญ่ใฝ่สูง เป็นต้น ใครมีปัญญามากเท่าไร การปฏิบัติก็ยิ่งกว้างออกไป ก็ยิ่งละเอียดออกไป

..การปฏิบัติธรรมนี้ ท่านมารวมเข้ากันเสียเป็นพระธรรมวินัย รวมกันทั้งสองอย่าง #เป็นพระธรรมวินัย #เป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้บรรลุซึ่งธรรม #บรรลุซึ่งสันติธรรม #คือความสงบระงับ ดังนั้น ข้อปฏิบัติของผู้ปฏิบัตินี้มันถึงมาก แต่ว่ามันก็ไม่มีอะไร ยุ่งยาก #ถ้าเรามีสติเต็มเปี่ยมแล้ว

...สติที่จะเต็มเปี่ยมนี้ก็เรียกว่าเราจะต้องพยายาม จะต้องฝึกเรื่อยๆ เช่น ผมเคยพูดให้ฟังว่า เราจะลงมาทําวัตร ลงโบสถ์ เข้ามานี่เราต้องกราบ มาองค์เดียว ก็ตามเถอะ มาทําอะไรก็กราบพระ เมื่อเสร็จแล้วจะกลับกุฏิก็กราบพระ เมื่อเราออกไปถึงกุฏิแล้ว เราขึ้นไปบนกุฏิแล้ว ก็นั่งกราบพระ ฝึกเสียก่อน ฝึกให้มากๆ บางคนก็รําคาญใจ ฮึ...ลุกขึ้นก็กราบ นั่งก็กราบ อะไรก็กราบ สารพัดอย่างล่ะ #อย่างนี้ฝึกสติของเรา #ให้มันมีสติจนให้มันชํานาญ ให้มันชํานาญในสิ่งทั้งหลายดังนี้

..#สตินี้มันคือความระลึกได้อยู่เสมอ #มีสติก็มีสัมปชัญญะ เริ่มจากจิตของเรานี่เอง ทําให้มันชํานาญ บางคนก็คิดว่า มันป่ามันเถื่อน ถือมั่นถือรั้นถือขลัง อะไรไป อย่างนี้ก็มี คิดอย่างนี้ก็มี #แต่ว่าทางก้าวของมันก็ต้องไปอย่างนี้ ตั้งแต่น้อยไปหาโตขึ้นมา จะต้องทําอย่างนี้

#พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท)





“... การทำจริง ย่อมได้รับผลจริงอย่างไม่ต้องสงสัย สำคัญแต่ว่า ทุกคนจะยอม “ทำจริง” หรือไม่เท่านั้น พระพุทธเจ้าสลบไปกี่ครั้ง ท่านพระอาจารย์มั่นก็สลบไปกี่ครั้ง

... ประวัติครูบาอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ภาวนาสละตาย ซวนซบสลบไปแต่ละองค์ องค์ละกี่ครั้ง
ผู้ที่มารู้จัก มากราบไหว้ในภายหลังก็เห็นแต่ตอนที่ท่าน “ผ่าน” แดนตายกันมาแล้ว

... จะมีกี่คนที่เข้าใจถึงคำที่ท่านกล่าวสั้น ๆ
กันว่า ต้องทำความพากความเพียรอย่างเต็ม
ที่ อย่างอุกฤษฎ์ ไม่ใช่ทำแบบย๊อก ๆ แย็ก ๆ แล้วก็ฝันถึงสวรรค์ นิพพานเอา ฝันก็ได้แค่ฝัน ได้แค่เงา คว้าได้แต่เงา ที่จะเป็นสมบัติของตนอย่างเต็มภาคภูมินั้นอย่าได้ฝันไป ...”
-----------------------------------------------------
#ธรรมโอวาท
#หลวงปู่ชอบ_ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ บ้านโคกมน อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
(พ.ศ. ๒๔๔๔ - ๒๕๓๘)








"..ที่ว่าฤกษ์ดียามดี ก็คืออะไรที่มันดี
อะไรที่มันเหมาะสมไม่ขัดข้องนั่นแหละอาตมาว่าดีแล้ว
อาตมาพูดอย่างนี้ ทั้งยังถืออย่างนี้มาตลอดจนทุกวันนี้
ไม่เคยเห็นมันเป็นอะไร
เมื่อเรามามองคนบางคน ตระกูลบางตระกูล โยมบางโยมก็ลำบาก
เช่น แต่งงานกัน ไม่ถึงฤกษ์หมายจริงๆ ไม่ต้องละ
พระฉันเสร็จแล้วก็ต้องนั่งคอยอยู่นั่นแหละ
คือ พอถึงฤกษ์ก็ต้องสวด ชะยันโต โพธิยา มูเล...
แต่แล้วมันก็ดีบ้างได้บ้างเสียบ้างเหมือนกัน
บางคนก็อยู่ด้วยกันเดือนสองเดือนพูดกันไม่รู้เรื่อง
หนีจากกันเสียแล้ว ทำไมฤกษ์มันไม่คุ้มล่ะ
ฤกษ์มันไปอยู่ตรงไหน อันนี้ขอให้โยมคิดกัน
เมื่อเราตัดสิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่เป็นมงคลตื่นข่าวออกไปแล้ว
มันก็ก้าวเข้าไปห้าสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว
เรานับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สูงสุดสูงส่งดีแล้ว
จะสบายจะสะดวกกันทุกอย่าง.."

สุภทฺโทวาท
พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท)
วัดหนองป่าพง ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี







“…บาปเล็กๆน้อยๆ กะอย่าไปทำ
ให้รู้จักหลีกออกเว้นออก
ฝุ่นเข้าตามันกะอันน้อยๆ นั่นล่ะ
มันกะทำให้ขัดเคืองตา
เป็นอันตรายต่อตาได้
บาปกะคือกันนั่นล่ะ
เล็กๆน้อยๆ กะเป็นโทษเป็นภัย
กับจิตกับใจคือกันนั่นล่ะ
ให้มีความละอายต่อบาป
เกรงกลัวต่อบาป มันค่อยจะดี…”

••••••••••••••••••••••••••••••••••••••

โอวาทธรรม

#หลวงปู่บุญมา สุชีโว (พระราชวชิรอุดมมงคล)
วัดสามมัคคีสิริมงคล (วัดป่าสุขเกษม) อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู






"..เราจะไปเกิดในที่ดีมันยากแล้ว บุญมันบ่ถึงเขา เราต้องทำเอา เกิดเป็นมนุษย์เป็นสัตว์อันสูงสุด ก็เป็นเพราะ ปุพเพกะตะปุญญะตา บุญหนหลังมาติดตามตนให้เกิดเป็นผู้สมบูรณ์บริบูรณ์ ครั้นเป็นผู้สมบูรณ์แล้วก็ อัตตะสัมมาปะณิธิ ให้ตั้งตนอยู่ในที่ชอบ อย่าไปตั้งตนอยู่ในที่ชั่ว รักษาศีล ให้ทาน หัดทำสมาธิอย่าให้ขาด ศีลห้ารักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ศีลแปดให้รักษา ให้พากันภาวนาอยู่ สมาธิมันไม่มีที่อื่น ให้นั่งภาวนา พทโธ ๆ ไม่ต้องร้องให้มันแรงดอก ให้มันอยู่ในใจซื่อ ๆ ดอก การภาวนาก็เป็นอริยทรัพย์ภายใน มันจะติดตามไปทุกภพทุกชาติ ติดไปสวรรค์ ลงมามนุษย์ มาตกอยู่ในที่มั่งคั่งสมบูรณ์บริบูรณ์ ไม่ยากไม่จน ทรัพย์อันนี้ติดตามไป บ่มีสูญหายดอก ตามไปจนสิ้นภพสิ้นชาติ.."

อนาลโยวาท
หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู





“... การทำสมาธิภาวนาเป็นของยากก็จริง
แต่จะเหนือความพยายามเราไม่ได้ ความพยายามกับความเพียรกับความที่มีสัจกับ
ความที่อธิฐานก็มีความหมายอันเดียวกัน

ที่มันวุ่นทั้งวันจิตใจยุ่งตลอด ทำให้อารมณ์แปรปรวนเป็นการถูกต้องแล้ว ถ้าหากว่าเป็นของทำง่าย ๆ มันก็ไม่ได้บุญมาก มันเป็นของทำยากมันจึงได้บุญมาก แต่ยากกับง่ายมันก็ขึ้นอยู่กับผู้ชอบทำผู้พยายามดังกล่าวแล้วนั้น

ที่ท่านกล่าวว่าทำกฐินร้อยกองก็ไม่เท่าภาวนารวมลงครั้งหนึ่งนั้นเป็นการถูกต้องแล้ว แต่เราจะทิ้งการให้ทานไปก็ไม่ได้อีกล่ะ ถ้าหากเรามีภพมีชาติหน้าก็กลายเป็นคนจนทรัพย์ หาด้วยน้ำพักน้ำแรงเกือบจะตาย ก็ไม่ได้เพราะ ... อานิสงส์ทานไม่ชูส่ง ...”
----------------------------------
โอวาทธรรม ::
#หลวงปู่หล้า_เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) ต.หนองสูงใต้ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร (พ.ศ. ๒๔๕๔ - ๒๕๓๙)









"..เมื่อเราได้มาฝึกหัดปฏิบัติเพื่อให้จิตใจของเรามีความฉลาดเกิดมีสติปัญญา ศรัทธาเลื่อมใส เคารพนับถือเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย คือ คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ แล้วกราบใหว้บูชาทุกวันทุกเวลาอย่างนี้เราก็พึ่งได้ เพราะที่พึ่งของเรามีแล้ว เราทำบุญให้ทานการกุศลใด ๆ ย่อมมีอานิสงส์มาก.."

ภูริทตฺตธมฺโมวาท
พระครูวินัยธร (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต)
วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร





คุณแม่ชีแก้วท่านพูดให้คุณหมอเพ็ญศรี คุณหมอก็มาพูดให้หลวงพ่อฟัง บอกว่าอาจารย์อินทร์ออกไปสร้างวัดตั้งแต่อายุยังน้อยหนุ่ม คนก็ยังไม่รู้จักมาก อายุเพียง ๓๐ กว่าปี ออกมาสร้างวัด มาด้วยมือเปล่า เพราะหลวงตาท่านไม่ได้ให้หรอกจตุปัจจัย ท่านมีแต่ให้สติปัญญาเรา เราไปศึกษาเอาสติปัญญากับท่าน ศึกษาแนวความคิดของท่าน จากนั้นก็เอามา มาอยู่วัด เราไม่ได้มีอะไร มีแต่บาตรและจีวรเท่านั้น

และเราก็ไม่ได้คิดจะสร้างถาวรวัตถุแข่งกับใคร เราทำเพียงพออยู่เรื่อย ๆ พอมีคนมากขึ้นมาก็ต่อเติม พอต่อเติมเพียงพอก็หยุดไปก่อน พอคนมามากขึ้นไปอีกก็ต่อเติมอีก เหมือนกับรังต่อรังแตน ทีแรกก็อยู่ตัวเดียวมันก็ทำรังเล็ก ๆ เฝ้าอยู่ตัวเดียว ต่อมามันมีลูกขึ้นมาก็ต้องก่อรังออกไปอีก ก็เลยเป็นรังต่อบะเร่อบะร่า รังผึ้งก็เหมือนกัน อยู่ทีแรกรังก็ไม่ใหญ่ เพราะมีไม่กี่ตัว

นี้ก็เหมือนกัน วัดของหลวงพ่อก็ลักษณะนั้น ไม่ใช่มาก็วางแผนสร้างใหญ่โตรโหฐาน มีคหบดีเป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่อย่างนั้น เราค่อยเป็นค่อยไป เราไม่ได้คิดทางด้านวัตถุ แต่เรื่องจิตภาวนาเราเน้นหนัก

เรื่องศีลสมาธิปัญญา เราเน้นหนักที่จุดนี้ ควรปฏิบัติตนอย่างไร ศีลาจารวัตรอย่างไร กฎระเบียบของพระที่มาอยู่ด้วยทำอย่างไร ถ้ามีลูกศิษย์ลูกหามาอยู่ด้วยเข้ามาบวชจะปฏิบัติตนอย่างไร หลวงพ่อเน้นหนักที่จุดนี้

แต่เรื่องภายนอกหลวงพ่อไม่ได้คิดทำอะไร ค่อยเป็นค่อยไป คุณแม่ชีแก้วท่านจึงบอกว่า ตอนออกมาแรก ๆ ท่านก็เป็นห่วง ท่านก็บอกให้เอาจตุปัจจัยถวายให้อาจารย์อินทร์ด้วยนะ ท่านไม่ได้เรียกหลวงพ่อนะ

ตอนแรกท่านก็เรียกครูบาอินทร์ พอมีอายุพรรษาท่านก็เรียกอาจารย์อินทร์ ท่านก็บอกให้เอาจตุปัจจัยของคุณแม่ไปถวายให้อาจารย์อินทร์ด้วยนะ เพื่อสร้างวัด ท่านก็ยังบอกอีกว่า ตั้งแต่แม่เกิดมายังไม่เคยให้ไม่เคยถวายจตุปัจจัยผู้ใดมากถึงขนาดนี้

เพราะอาจารย์อินทร์ออกไปสร้างวัดใหม่ ไปด้วยมือเปล่า อายุก็ยังน้อยหนุ่ม คนไม่ค่อยรู้จัก ท่านก็ให้มาแสนหนึ่ง เมื่อท่านอยู่ห้วยทราย คนถวายปัจจัยท่านมา ท่านก็เก็บหอมรอมริบ นี่คุณหมอผู้ดูแลท่านเป็นผู้เล่าให้ฟัง หลวงพ่อยังรำลึกถึงพระคุณของท่าน ที่คุณแม่เมตตาหลวงพ่อให้มา

สรุปแล้วก็คือ วัดของเราไม่ใช่เงินถุงเงินถังนะ ลูกหลานที่เพิ่งเข้ามา ใหญ่ทีหลัง พอมาถึงจุดนี้จะให้หลวงพ่อใช้เงินหรูหรา ฟู่ฟ่า โอ่อ่า หลวงพ่อยังมองกำพืดตัวเองอยู่ เพราะตัวเองมาด้วยความยากจน ลูกหลานมาด้วยความหรูหราโอ่อ่า ลูกหลานอย่าลืมตัวนะ หลวงพ่อเองก็ไม่เคยลืมตัว เพราะหลวงพ่อมาด้วยความยากจนทางด้านวัตถุ แต่ถ้าเป็นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม กิริยามารยาท ศีลาจารวัตร กฎระเบียบ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอน

หลวงพ่อจะยึดแนวแถวนั้นเป็นหลัก แต่ส่วนอื่นหลวงพ่อไม่ได้ถือว่าเป็นสำคัญ ถึงจะมีจะได้มาอย่างไรก็เก็บไว้ก่อน ก็จะใช้อะไรให้เกิดประโยชน์ จตุปัจจัยที่ได้มาโดยเป็นธรรม ถ้าได้มาโดยไม่เป็นธรรม หลวงพ่อไม่เอานะ

หลวงพ่ออินทร์ถวาย สันตุสสโก
พระธรรมเทศนา “กำพืดของตนกับคนมีพระคุณ”
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๖๒


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 10 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO