นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อังคาร 30 เม.ย. 2024 1:42 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: อาทิตย์ 18 ก.พ. 2024 5:41 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4543
#โอวาทธรรม หลวงปู่จาม มหาปุญโญ

"...ศีลช่วยให้ปัญญาบริสุทธิ์ ปัญญาช่วยให้ศีลบริสุทธิ์
ศีลมีอยู่ที่ผู้ใด ปัญญาก็มีอยู่กับผู้นั้น ปัญญามีอยู่กับผู้ใด
ศีลก็มีอยู่กับผู้นั้น ปัญญาย่อมมีแก่ผู้มีศีล ศีลย่อมมีแก่
ผู้มีปัญญา ศีลและปัญญาต่างก็อาศัยกันและกัน ศีลและ
ปัญญาเป็นยอดในโลก เพราะเป็นเหตุให้บุคคลบริสุทธิ์
ประมาณว่า เอามือล้างมือ เอาเท้าล้างเท้า จึงว่าความ
เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วย ศีล สำรวมระวังตัว
ได้อยู่เสมอ ประกอบ สติ สัมปชัญญะ สันโดษ ละทุจริต
ใดๆ จนที่สุดเป็นผู้บรรเทิงใจอยู่ในธรรม

คนไม่มีศีลเหมือนบ้านเรือนไม่สะอาด คนขาดปัญญา
เหมือนบ้านเรือนไม่มีแสงสว่าง กาย วาจาต้องให้หมดจด
งดงาม ปัญญาย่อมส่องสว่างจากใจที่ตั้งมั่น คิดเป็น
คิดถูก สะอาดแล้วจึงสงบสบาย จึงส่งเสริมใจตนไปสู่
ความดับทุกข์นานาประการได้..."

#ที่มา หนังสือ บทธรรม พระจาม มหาปุญโญ หน้า๒๔๙







"ความย่อหย่อนต่อความเพียร
นี่แหละ คือความขยันต่อการเกิดตาย
และเป็นลักษณะจับจองภพชาติ
ไม่ให้บกพร่องจากใจ
ใจจึงมิได้บกพร่องจากทุกข์ตลอดมา.."
---------- -​-------- -​--------
#หลวงปู่มั่น_ภูริทัตโต
#คัดจากหนังสือประวัติ
#ท่านพระอาจารย์มั่น_ภูริทัตตเถระ
#โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว_ญาณสัมปันโน







ธรรมะอรุณสวัสดิ์...รับวันใหม่
.............................
ในส่วนที่ถือว่าเปรียบเสมือนเป็นกรอบนอก
พระพุทธเจ้าก็แสดงอย่างอื่นไว้อีก
แสดง #อิริยาบถย่อย #อิริยาบถต่างๆ
ให้ระลึกรู้การคู้ การเหยียด การก้ม การเงย
การเหลียวซ้าย แลขวา การมองอยู่
การเคี้ยว การลิ้มรส การดื่ม
การนุ่งห่ม การขับถ่าย
ให้รู้สึกตัวในขณะนั้น ๆ ที่เป็นอิริยาบถย่อยที่มีอยู่

แม้ขณะที่นั่งอยู่ มันก็มีอิริยาบถย่อย
เช่น บางคนก็ยกมือขึ้นมา
ขยับแขนขึ้นมาเกาหัวบ้าง ลูบหน้าบ้าง
บางคนก็เอี้ยวตัว บางคนก็ขยับมือ
มันมีอยู่ตลอด ขยับไปขยับมา
ถ้าไม่ตั้งหลักให้ดีก็จะขยับกันอยู่เรื่อย
เพราะว่ามันมีทุกข์
มันมีทุกข์ แต่ไม่ได้ดูเองว่าทำไมเราต้องขยับ
ที่จริงต้องให้มีเหตุผลไว้ จะได้เห็นเหตุปัจจัย

ถ้าไม่รู้ ก็นั่งนิ่ง ๆ ไปก่อน
#ถ้าจะขยับ #ต้องรู้ว่าเพราะอะไร #ทำไมต้องขยับ
มันจะบอก
ถ้าไม่ดู มันก็ไม่รู้
มันก็มีขยับกันอยู่เรื่อย ๆ

ลองนิ่ง ๆ ดู
เวลาจะขยับ ต้องรู้ก่อนว่าเพราะอะไร
#อะไรเป็นตัวกระตุ้น #เป็นตัวทำให้ต้องขยับ
#มันจะเห็นเหตุ
เช่น มันมีทุกข์
มันมีทุกข์ มันคัน หรือมันเมื่อย มันแน่น
มันก็ต้องขยับ

แต่นี้ส่วนมากเราขยับโดยที่ไม่รู้
ไม่ได้รู้เหตุผลรู้ผล
มันก็จะไปด้วยตัณหา ด้วยความรู้สึก
อยากจะเสวยความสุข อยากจะหนีทุกข์
โดยไม่เห็นทุกข์เห็นอะไร
ไปเอง ไปด้วยตัณหา

#แต่ถ้ารู้ไว้ก่อน
#มันเป็นทุกข์ #จำเป็นต้องแก้ทุกข์
#ขยับก็จะรู้ตัว #ขยับก็ขยับอย่างมีสติ

ฉะนั้นบางสำนักก็จะเน้นเรื่องอิริยาบถย่อย
ให้ลูกศิษย์ยกมือ ขยับมือ ขยับแขน
ดูความเคลื่อนไหวในอิริยาบถย่อยเป็นหลัก
ก็อยู่ในเรื่องของการปฏิบัติกรรมฐาน

#แต่ไม่ได้ให้อยู่แค่นั้น
#ฝึกอย่างนั้นเพื่อให้จิตใจมันอยู่กับตัว
ให้จิตใจมันรู้อยู่กับตัว จนจิตใจมันตื่นรู้ดี
#ก็จะเชื่อมโยงเข้าไปรู้ถึงแกนใน
#เข้าไปรู้ถึงตัวสภาวะ

แขนที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว
ตัวสภาวะจริง ๆ มันคือ
ความรู้สึกตึงบ้าง หย่อนบ้าง ไหวบ้างในเนื้อ ในกล้ามเนื้อ
มันมีอยู่
ส่วนความเป็นแขน เป็นมือ เป็นเท้า เป็น
อันนี้มันยังเป็นสมมติ
ตัวสภาวะจริง ๆ ก็จะเป็นความรู้สึกต่าง ๆ
ความไหว ความกระเพื่อม ความสะเทือน
ความรู้สึกสบาย ไม่สบาย
เป็นตัวสภาวะ เป็นแกนใน

รวมทั้งจิตใจ
เคลื่อนมืออยู่ ใจเป็นอย่างไร
ใจเป็นสภาพรู้อยู่ มีใจที่รู้อยู่
กายก็เคลื่อนไหว ใจก็รับรู้
สติก็ระลึกรู้ทั้งไหว ทั้งรู้
รู้กายที่เคลื่อนไหว รู้ใจที่รับรู้
ใจรู้สึกเป็นอย่างไร
สบายใจ ไม่สบายใจ ชอบใจ ไม่ชอบใจ
ก็หัดรู้ไป

เรียกว่าอาศัยเบื้องต้นคือกำหนดอิริยาบถย่อยอยู่
จับก็รู้ ก้มก็รู้ เงยก็รู้ ทำอะไรอยู่ก็รู้
รู้ไปจนกระทั่งลึกซึ้งเข้าไปสู่ถึงแกนใน
ก็จะไปเจอความรู้สึกในกายในใจ
นี่ก็เป็นกรรมฐานแนวทางปฏิบัติ

ธรรมบรรยาย วิถีกรรมฐาน
(ธรรมสุปฏิปันโน ๑๐)
.............................
ธัมโมวาท โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี
เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์พระนครศรีอยุธยา





จิตดั่งเดิมแท้ พุทธะอันแท้จริง
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๑๑

จิตเป็นของละเอียดมาก รู้สึกจะมีความละเอียดเหนือสิ่งใดๆ จนไม่ปรากฏร่องรอยที่ไปและมา แม้จะท่องเที่ยวอยู่ได้ทั้งวันทั้งคืน ร่องรอยของจิตที่พอจะยึดได้ว่าเป็นอย่างนั้นๆ เหมือนด้านวัตถุนี้ไม่มี ท่านเปรียบไว้เหมือนกับนกบินบนอากาศ ไม่มีร่องรอยทั้งนั้น อีกตอนหนึ่งเปรียบถึงท่านผู้บริสุทธิ์ที่ได้พรากจากร่างนี้ไปแล้ว ไม่มีร่องรอยว่าจะไปเกิดหรือไปตั้งอยู่ในสถานที่ใดอย่างนี้อีกเหมือนกัน แม้จิตจะยังมีสมมุติอยู่ภายในตัวที่เรียกว่ากฎแห่งกรรมก็ตาม แต่จิตก็ไปตามธรรมชาติของจิตที่มีความละเอียดประจำตัวอยู่แล้ว แม้จะไปสู่สถานที่ใดหรือไปเกิดในที่ใดๆ การไปของจิตนั้นก็ไม่มีใครสามารถจะทราบได้ นอกจากท่านผู้มีญาณซึ่งควรจะรู้ได้เท่านั้น

ตามธรรมชาติของจิตแล้วมีความละเอียดประจำตนอยู่เสมอเช่นนี้ จึงยากที่จะพิสูจน์ให้ทราบได้ การปฏิบัติบำเพ็ญมีการภาวนาเป็นต้น นี้แลท่านว่าเป็นทางพิสูจน์เรื่องความรู้คือใจของตัวเอง และความเคลื่อนไหวของใจว่าจะกระเพื่อมไปสู่วัตถุหรืออารมณ์ใด ไม่ว่าส่วนหยาบส่วนกลางส่วนละเอียด ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์อดีตอนาคต หรือกำลังปรากฏตัวอยู่ในปัจจุบันคือขณะนี้ จิตที่ตั้งความรู้สึกไว้จำเพาะสถานที่เกิดอารมณ์คือใจของตัวเองนี้ มีทางที่จะทราบได้ในความเคลื่อนไหวของตน

ในเบื้องต้นก็ทันบ้างไม่ทันบ้าง เพราะสติหรือปัญญาเราก็เพิ่งเริ่มฝึกหัด เริ่มตั้งหลักตั้งฐานขึ้นด้วยการพยายามคือการภาวนา ฉะนั้นท่านจึงสอนให้มีสติคอยรับทราบอยู่กับความรู้คือใจดวงนี้ ก่อนจะปรากฏภาพต่างๆ จะเป็นภาพที่มีวิญญาณหรือไม่ก็ตาม จะต้องมีความกระเพื่อมจากความรู้นี้ก่อน ถ้ายังไม่กระเพื่อมภาพก็ยังไม่ปรากฏ ขณะที่จิตกระเพื่อม ก็เป็นขณะเดียวที่จิตจะออกแสดงภาพให้ตัวรู้ตัวเห็น จะเป็นภาพที่น่าเพลิดเพลิน ภาพที่น่าเสียใจหรือภาพที่น่ากลัวก็ตาม จะต้องแสดงออกจากความกระเพื่อมของจิตเป็นสำคัญ นี่พูดถึงขณะที่เราภาวนา

ส่วนภาพที่ปรุงขึ้นภายในใจตามปรกติของคนทั่วๆ ไปนั้น เป็นเรื่องของความคิด เดี๋ยวปรากฏเรื่องนั้นปรากฏเรื่องนี้ ปรากฏคนนั้น พอเราคิดถึงคนไหนก็ปรากฏภาพคนนั้นขึ้นมาอันนี้ถือเป็นธรรมดา ไม่ค่อยมีอะไรล่อแหลมนัก โลกทั้งหลายก็คิดกันได้ ไม่มีความเสียหายจากความคิดอย่างนั้น แต่ภาพที่ปรากฏขึ้นในขณะภาวนานี้มีส่วนจะทำให้เสียได้ จะอย่างไรก็ตามภาพต้องปรากฏขึ้นในขณะที่จิตกระเพื่อมตัวออกไป ถ้ามีแต่ความรู้ล้วนๆ จะยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้นจิตเวลาอยู่เฉพาะตัวเอง คือรู้อยู่จำเพาะตัวเองจริงๆ ไม่แสดงตัวออกไปภายนอก สิ่งต่างๆ จึงไม่สามารถจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับใจนั้นได้ ดังท่านเข้าสมาธิ ขณะที่จิตเข้าอยู่ในองค์ของสมาธิคือความสงบแน่วแน่ตามหลักของสมาธิจริงๆ แล้ว จะไม่มีสิ่งใดมาเกี่ยวข้องเลยในเวลานั้น ต่อเมื่อจิตได้ถอนตัวออกมาจากจุดนั้นนั่นแล ถ้ามีเรื่องก็จะเกี่ยวข้องกัน คือมีเรื่องเกี่ยวกับภายนอกก็จะรับทราบได้เหตุได้ผลรู้เรื่องรู้ราวกันในเวลานั้น

ถ้าเทียบอุปมาก็เช่นเดียวกับเราอยู่ในบ้านของเราและปิดประตูบ้านไว้ด้วย แขกคนหรืออะไรจะมาจากที่ไหน มาอยู่ภายนอกฝาเรือนเรานั้น เราจะไม่มีทางทราบได้ เพราะขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่เรารับแขก ต่อเมื่อเราออกจากในบ้านของเรา เปิดประตูออกมานั่นแล เราจะทราบเรื่องราวทั้งหลายที่มีอยู่ภายนอก เรื่องของจิตก็ย่อมมีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกัน

ความรู้ของจิตนี้รู้สึกว่าพิสดารมากตามจริตนิสัยของผู้บำเพ็ญไม่เหมือนกัน บางรายก็ไม่ค่อยมีเรื่องแสดงภาพต่างๆ ให้เห็น เช่นเป็นคนเป็นเปรตเป็นผี หรือเรื่องคนล้มคนตายให้ปรากฏในภาวนาอย่างนี้ บางรายไม่ค่อยมี แต่บางรายพอจิตสงบแล้วแสดงขึ้นมาทันที เพราะหลักธรรมชาติที่ปรากฏเช่นนี้นั้นไม่ได้ศึกษามาจากครูจากอาจารย์ แต่จะปรากฏขึ้นกับจริตนิสัยของผู้บำเพ็ญเวลาจิตสงบแล้ว

หากนิสัยมีในทางที่จะรู้เห็นสิ่งต่างๆ ก็ต้องแสดงออกมาให้เจ้าตัวรู้ ต่อเมื่อเราได้รู้ได้เห็นสิ่งนั้นว่าแสดงอาการอย่างไรบ้างแล้วนั้น เรามีทางที่จะศึกษาปรารภหรือไต่ถามครูอาจารย์ได้ ว่าจะควรปฏิบัติต่อสิ่งนั้นอย่างไรบ้าง แต่หลักนิสัยนั้นจะไม่ได้ถาม จะไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนจากผู้ใด แต่จะปรากฏขึ้นมาให้ผู้มีนิสัยในทางนั้นรู้โดยเฉพาะตัวเอง ถ้านิสัยไม่มีก็ไม่รู้ไม่เห็น การไม่รู้ไม่เห็นก็ไม่เป็นการที่จะตัดทอนประโยชน์ของผู้บำเพ็ญในนิสัยเช่นนั้น ผู้ไม่เห็นไม่รู้ก็ไม่สนใจ แต่ผู้เห็นผู้รู้ตามนิสัยของตนก็ต้องปฏิบัติให้ถูกกับจริตของตน ถ้าไม่ถูกก็มีทางเสียได้เหมือนกัน

คำว่าจิตอันแท้จริงนั้นมีแต่รู้เท่านั้น ไม่ปรากฏว่ารู้ในลักษณะอย่างไรบ้าง เป็นธรรมชาติที่รู้ๆ อยู่เท่านั้นแล นั้นแลเป็นธรรมชาติของจิตแท้ ลักษณะที่แสดงออกเป็นสีสันวรรณะ หรือเป็นภาพต่างๆ นั้น เป็นอาการอันหนึ่งที่แสดงออกมาจากจิตซึ่งไม่ใช่จิตแท้ อาการเหล่านั้นเป็นสิ่งที่เกิด ๆ ดับๆ ตามคติธรรมดาของเขา แต่ผู้ที่รู้ในหลักธรรมชาติของตัวเองนี้จะไม่มีการขาดวรรคขาดตอนในความรู้ ไม่มีการเกิดและดับไป คือการเกิดขึ้นก็ไม่มี การดับไปก็ไม่มี มีแต่เป็นธรรมชาติที่รู้อยู่เท่านั้น นี้แลท่านเรียกว่าเป็นธรรมชาติของจิตแท้ ถ้าได้พิจารณาอบรมให้ถึงแก่นของความรู้อันแท้จริงแล้วนั้น ท่านเรียกว่าความรู้อันดั้งเดิม ความรู้อันนี้หมดการเปลี่ยนแปลง

กิริยาที่เปลี่ยนแปลงนั้น เป็นอาการอันหนึ่งซึ่งเกิดจากธรรมชาติอันดั้งเดิมนี้ต่างหาก เพราะฉะนั้นจึงมีการเกิดๆ ดับๆ มีการเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นลักษณะต่างๆ ซึ่งเอาแน่ไม่ได้ ไม่ว่าเราจะปฏิบัติธรรมขั้นต่ำขั้นกลางหรือขั้นสูง อาการอันนี้จะต้องมีไปตามๆ กัน คือเวลาใจยังมีสิ่งแวดล้อมหยาบอยู่ อาการที่แสดงอยู่ในขั้นนั้นก็ต้องแสดงอาการหยาบ ภาพก็เป็นภาพที่หยาบ อารมณ์ก็เป็นอารมณ์ที่หยาบ พออาการที่เกี่ยวข้องกับจิต ค่อยเปลี่ยนแปลงตัวเองขึ้นไป อารมณ์ก็ค่อยเปลี่ยนไปสู่ความละเอียด จนจิตเข้าสู่ความละเอียดอย่างเต็มที่ สิ่งที่เกี่ยวข้องกับจิตซึ่งไม่ใช่จิตเดิมแท้นั้น ก็ต้องแสดงอาการที่ละเอียดอย่างยิ่งเหมือนกัน แต่ทั้งสามอาการนี้เรียกว่าเป็นอาการของจิตทั้งนั้น ไม่ใช่จิตอันดั้งเดิมแท้

ผู้พิจารณาจึงต้องอาศัยอารมณ์เหล่านี้เป็นเครื่องทดสอบ ฝึกหัดสติปัญญา ถือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตนนี้เป็นเหมือนหินลับมีดโกนให้คมกล้าไปเสมอ ปัญญา สติต้องอาศัยเหล่านี้เป็นเครื่องฝึกซ้อม และรู้เท่าทันกันไปเป็นระยะๆ จนหมด ไม่มีอาการใดเหลืออยู่ แฝงอยู่ภายในจิตนั้นเลย สิ่งที่มีอยู่ตามหลักดั้งเดิมของตนก็คือความรู้ล้วนๆ นี่แลเป็นแก่นแห่งความรู้แท้ เป็นความรู้ในหลักธรรมชาติแท้ จึงไม่มีทางที่จะแปรเป็นอื่นได้

ท่านที่บำเพ็ญตั้งแต่ต้น ชำระหรือพิจารณาให้รู้สิ่งที่เกี่ยวข้องกับจิตมาเป็นชั้นๆ จนถึงธรรมชาติอันดั้งเดิมของจิตนั้นแล้ว จิตท่านเป็นอย่างนั้นแล ถึงหลักหรือถึงธรรมชาติอันไม่เปลี่ยนแปลง อันไม่หลอกลวง ท่านจึงหมดความหวั่นไหว เพราะไม่มีสิ่งที่จะมาหลอกลวงหนึ่ง ไม่มีสิ่งที่จะหลงตามสิ่งหลอกลวงนั้นหนึ่ง เหตุที่จะให้เกิดความหลอกลวงก็ไม่มี คือต้นเหตุที่จะให้เกิดความหลอกลวงก็ไม่มี ผลที่จะให้เกิดความลุ่มหลงหรือเดือดร้อนเสียใจไปตามก็ไม่มี

ท่านจึงอยู่เป็นเอกเทศอันหนึ่งโดยหลักธรรมชาติ ไม่ต้องเสกสรร ไม่ต้องระมัดระวัง คือไม่ต้องตั้งท่าตั้งทาง ไม่ต้องมีอาการใดซึ่งเป็นอาการที่จะสงวนรักษาหรือต้านทานกันกับสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย เพราะต่างอันต่างจริง ต่างอันต่างมีอยู่ตามหลักธรรมชาติของตน ทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจิต ทั้งจิตผู้รู้สิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย นี่เรียกว่าท่านผู้หมดเหตุหมดปัจจัย รู้อยู่ในหลักปัจจุบันของท่านทุกๆ ขณะ ว่าไม่มีการสืบต่อกับอารมณ์ซึ่งเป็นเหตุให้ยั่วกิเลสให้ฟุ้งขึ้นมา

หลักธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ชี้อุบายแนวทางตั้งแต่ขั้นเริ่มแรกจนถึงจุดหมายปลายทางแห่งความสมมุติและวิมุตติ คือถึงความบริสุทธิ์ของจิต ไม่มีโอวาทใดที่จะสามารถชี้ให้ถูกต้อง และผู้ปฏิบัติได้พ้นภัยไปได้จริงดังสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้า บรรดาผู้ปฏิบัติตามสวากขาตธรรม จนได้รู้แจ้งเห็นจริงถึงภูมิแห่งธรรมขั้นนี้แล้ว แม้จะไม่เป็นอันเดียวกับพระพุทธเจ้าก็ตาม เพราะต่างคนต่างบริสุทธิ์ แต่ก็เป็นเหมือนกับเป็นอันเดียวกันกับพระพุทธเจ้า เพราะความบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้ากับความบริสุทธิ์ของท่านผู้รู้ตามเห็นตามพระพุทธเจ้านั้น เป็นความบริสุทธิ์เช่นเดียวกัน ไม่มีสิ่งใดหรืออาการใดที่จะผิดแปลกกันไปแม้แต่นิดหนึ่งที่ให้ชื่อว่าสมมุติ เพราะความผิดแปลกท่านเรียกว่าสมมุติทั้งนั้น

อยู่ในสถานที่ใด เราอยู่ฉันใด ก็เหมือนพระพุทธเจ้าอยู่ฉันนั้น เรารู้อยู่ฉันใดเหมือนพระพุทธเจ้ารู้อยู่ฉันนั้น เรารู้อยู่ในขณะนี้ก็เหมือนพระพุทธเจ้ารู้อยู่ในขณะเดียวกัน ฉะนั้นการที่พระพุทธเจ้าจะนิพพานไปกี่เวลา และนิพพานอยู่ในสถานที่ใด นั่นจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับท่านผู้รู้องค์แห่งพุทธะอันแท้จริงตามเสด็จพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีกาลมีเวลา ไม่มีสถานที่ นั่นเป็นสถานที่อันหนึ่งต่างหาก ซึ่งเป็นที่ประทับหรือเป็นที่บำเพ็ญของพระพุทธเจ้าที่มีพระกายอยู่ พระกายก็เป็นสมมุติ สถานที่จึงต้องแสดงสมมุติขึ้นมา กาลเวลาจึงต้องแสดงขึ้นไปตามๆ กัน ต่อเมื่อได้ถึงขั้นแห่งความบริสุทธิ์ หมดจุดที่หมายแห่งความสมมุติแล้วนั้น ไม่ว่าสาวกองค์ใดแม้จะตรัสรู้ขึ้นในขณะนี้ก็เป็นเหมือนได้เห็นพระพุทธเจ้าในขณะนี้ ประหนึ่งคำว่านิพพานแล้วนั้นไม่ปรากฏ เพราะนั้นเป็นแต่เพียงร่างที่พรากจากกันไปเท่านั้น

ร่างของพระพุทธเจ้ากับร่างของสัตว์โลกเป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟอันเดียวกัน แต่ธรรมชาติที่รู้นั้นกับผู้ที่รู้ขึ้นในขณะนี้ไม่มีอะไรผิดแปลกกัน นี่แลการที่ว่าพระพุทธเจ้านิพพานไปนานเท่าไรหรือไม่นั้นจึงไม่เป็นปัญหา ไม่มีกาล ไม่มีสถานที่ ไม่มีบุคคล เป็นแต่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ อยู่เท่านั้น แล้วกาลเวลาไม่สามารถจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้อีก ว่าธรรมชาติที่บริสุทธิ์นี้จะตั้งอยู่ได้นานเท่าไร เพราะธรรมชาตินี้ไม่ใช่กายดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้วนี้ ใครจะให้ชื่อให้นามว่าอย่างไรก็ตาม ธรรมชาตินี้ก็คือธรรมชาตินี้อยู่นั่นแล ไม่เป็นไปตามความสมมุติชื่อเสียงที่ตั้งให้

แต่เป็นธรรมดาของโลกที่มีสมมุติจะไม่ให้ชื่อไม่ให้นาม ไม่มีกรุยหมายป้ายทางย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นหลักธรรมะที่พระองค์ท่านแสดงไว้ทุกบททุกบาทจึงเป็นกรุยหมายป้ายทางเพื่อผู้ดำเนินจะได้รู้วิธีปฏิบัติและหยิบยกขึ้นมาประพฤติปฏิบัติตามจริตนิสัยและความสามารถของตน ดังนั้นธรรมจึงต้องเป็นสมมุติไปเช่นเดียวกับโลกที่มีสมมุติ ทางเหตุก็ต้องมีสมมุติ ผลที่แสดงไปเป็นลำดับๆ ก็ต้องเป็นสมมุติแต่ละประเภทๆ จนกระทั่งถึงหลักธรรมชาติอันแท้จริงแล้วนั้น นั่นไม่เป็นปัญหา จะเอาชื่อให้มีสมมุติเหมือนโลกทั่วๆ ไปก็ตาม ไม่ตั้งชื่อให้ก็ไม่เป็นปัญหา เช่นเดียวกับเรารับประทานมีความเพียงพอกับธาตุขันธ์แล้ว จะตั้งชื่อให้ว่าอิ่มหรือไม่อิ่มก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้พอแก่การรับประทานแล้ว ย่อมจะทราบตนได้อย่างชัดเจน นั่นละท่านเรียกว่าของวิเศษคือจิตดวงนี้

พยายามเอาหลักธรรมะนี้แลเข้าไปเป็นเครื่องขัดเกลา แก้ไขดัดแปลงเข้าไปทุกระยะ ใจชอบกดขี่บังคับ ต้องอาศัยการกดขี่บังคับกันบ้าง ถ้าหากใจไม่ชอบแล้วเราก็เคยปล่อยตามอำเภอใจมาบ้างเป็นบางกาลบางเวลา ก็พอจะทราบผลว่าแสดงตัวขึ้นมาอย่างไรบ้าง เมื่อเราได้ปล่อยให้เป็นไปตามความชอบใจ โดยไม่ต้องมีการกดขี่บังคับหรือดัดแปลง ผลก็ย่อมเป็นไปตามยถากรรม ไม่เห็นปรากฏขึ้นมาเป็นที่พอใจเรา ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะปรากฏผลขึ้นมาให้เป็นที่พอใจ ก็เนื่องจากการดัดแปลงแก้ไขให้ได้อย่างใจของตัว คือบำเพ็ญเหตุให้ถูกต้องตามผลที่เราต้องการ ผลก็แสดงตัวขึ้นมาเพราะอำนาจของเหตุเป็นเครื่องเสริม

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน








บาปที่ทำแล้วมันแก้ไม่ได้
แต่นิสัยชั่ว
ที่เราประพฤติอยู่นั้นมันแก้ได้
ท่านให้แก้ตรงนี้

#หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
( #พระราชสังวรญาณ )
#วัดป่าสาลวัน
จ.นครราชสีมา


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO