นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พฤหัสฯ. 25 เม.ย. 2024 3:03 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: สติปัฏฐาน
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 20 ก.ค. 2022 4:44 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4538
"โลกนี้เป็นโลกสร้าง โลกบำเพ็ญ ปรารถนาอะไรก็สร้างเอา บำเพ็ญเอา ได้ไปจนถึงพระนิพพานโน่นล่ะ ทางต่ำก็ลงไปสุดนรกโน่นล่ะ ก็เพราะบำเพ็ญไปจากโลกนี้ ถ้าทำความดี ความดีก็ตอบสนอง ถ้าทำความไม่ดี ความไม่ดีก็ตอบสนอง เลือกเอาจะเอาอะไร จะเป็นคนใบ้คนบ้าก็เลือกเอา จะเป็นคนมั่งมีศรีสุขคนสวยคนงามก็เลือกเอา อยู่ที่ตัวเราไม่ได้อยู่ที่คนอื่น"
.
โอวาท หลวงพ่อสมบูรณ์ กันตสีโล







" ให้เป็นผู้มีราตรีเดียว....อดีตกะคืออดีตมันผ่านไปแล้ว
ดีกะบ่ย้อนมาแล้ว ชั่วกะบ่ย้อนมาแล้ว อนาคตยังมาบ่ถึง
บ่ต้องคิดนำมัน ให้เฮ็ดปัจจุบันให้ดี อนาคตบ่ต้องสงสัย.."

#พระราชภาวนาวชิรคุณ
#หลวงปู่จื่อ_พนฺธมุตฺโต





…ผู้ที่จะหลุดพ้นจากกองทุกข์ได้
จะต้องรู้ทันอนิจจัง รู้ทันอนัตตา
“ ทุกลมหายใจเข้าออก “

.รู้ทันตลอดเวลา
ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนพระอานนท์
ให้พิจารณาความตาย
ทุกลมหายใจเข้าออก

.ถ้าไม่คิดปั๊บ..
กิเลสจะเข้ามาควบคุมความคิดทันที
จะให้คิดอยากอยู่ไปนานๆ

.จะทำให้เกิดความกลัวตายขึ้นมา
เป็นความทุกข์ขึ้นมา
ความกลัวนี้เป็นความทุกข์

.เป็นความอยากที่
“สร้างความทุกข์ขึ้นมาในใจ “.
………………………………………………
กำลังใจ ๔๗ กัณฑ์ที่ ๔๐๕
๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี





#อย่าไปเหยียบย่ำซ้ำเติม_สาปแช่งใคร​

"... กรรมวิบากที่ตนทำมาแต่ก่อนนั้น มันมา
ให้ผล
เอาให้ได้ถึงซึ่งความวิบัติ อะไรขึ้นมาอย่าง
นี้นะ
แทนที่จะไปแช่งซ้ำนั้นไม่เอา ผิดธรรม เป็นกรรม

... ถ้าเห็นใครตกทุกข์ได้ยาก เกิดอุบัติเหตุ แล้วแช่งซ้ำนะ
เป็นบาป ต้องตั้งความเมตตาเอ็นดู สงสาร
ขึ้นมา
ถึงแม้ว่า เราจะรู้ว่าคนนั้น มีประวัติอันชั่วร้าย
มาก็ตาม

... แต่มันก็เป็นเรื่องของเขา อันความชั่วนั้นน่ะ
แต่ว่า
ไอ้ความเอ็นดูกรุณานี้เป็นหน้าที่ของเรา ผู้เปี่ยมไปด้วย
เมตตาธรรม กรุณาธรรม ที่จะต้องแสดงออกต่อบุคคลทุกประเภท ทั้งคนดี และคนชั่ว ..."

#โอวาทธรรมหลวงปู่เหรียญ_วรลาโภ







ความอยากที่เป็น ‘ตัณหา’ และความอยากที่เป็น ‘ฉันทะ’ แตกต่างกันอย่างไร?

ความอยากที่เกิดจากหรือเกิดพร้อมกับอวิชชา ความไม่รู้ ความไม่เห็นตามความเป็นจริง ท่านให้ชื่อว่าตัณหา ตัณหามี ๓ อย่าง กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา กามตัณหาคืออยากได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ถูกใจที่ชอบ ภวตัณหา อยากมีอยากเป็น คืออยากมีชื่อเสียง อยากมียศ อยากมีอำนาจ อยากให้เขารัก อยากให้เขาเคารพ อยากให้เขารู้จัก มันเป็นความอยากที่เกี่ยวกับอัตตา ตัวตน วิภวตัณหา คือไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากได้ เหมือนการปฏิเสธ

ตัณหาเกิดเมื่อไรความยึดมั่นถือมั่นที่ให้ชื่อว่าอุปาทานก็จะเกิดขึ้นตรงนั้น แล้วก็จะนำไปสู่ความทุกข์ พระพุทธองค์ก็ตรัสไว้ว่า ทุกข์เกิดเพราะตัณหา ตัณหาเกิดเพราะอะไร เกิดเพราะอวิชาหรือเกิดพร้อมกับอวิชชา

ความอยากที่เกิดขึ้นเพราะวิชชา ความรู้ความเห็นตามความเป็นจริง หรือไม่เกี่ยวกับอัตตาตัวตน ไม่เกิดกับความบันเทิงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เรียกว่าเป็นฉันทะ ซึ่งข้อสังเกตง่ายๆ ก็คือ ฉันทะก็จะมุ่งที่การกระทำ โดยที่ตัณหามุ่งที่ผลการกระทำ ฉันทะอยากทำให้ดี หรือว่าได้ข่าวว่ามีใครเดือดร้อน มีความทุกข์ อยากช่วยเขา อันนั้นก็เรียกว่าเป็นฉันทะ อยากทำ อยากทำสิ่งที่ดีที่งาม ที่เป็นประโยชน์ อยากฝึกตน

ฉันทะกับตัณหามันสลับกันได้ บางคนอาจจะเริ่มทำอะไรบางอย่างด้วยตัณหา อยากได้ อยากมี อยากเป็น แต่พอทำไปทำมา จิตเป็นบุญเป็นกุศลเกิดขึ้นได้ ในขณะเดียวกันบางทีอาจจะทำงานหรือว่าอาจจะปฏิบัติธรรมด้วยฉันทะ แต่ว่าเผลอไปแล้วตัณหาเข้ามาครอบงำ อยากได้สมาธิ อยากได้ฌาน อยากได้ญาณ อยากได้นั่นอยากได้นี่ พอมาปฏิบัติโดยมุ่งที่ผลของการปฏิบัติมากกว่าตัวการปฏิบัติ อันนี้ก็จะเป็นตัณหา

ตัณหากับฉันทะ สรุปง่ายๆ ว่า ตัณหานี่มุ่งที่ผลการกระทำ ฉันทะก็อยู่ที่การกระทำ ตัณหาเกิดจากอวิชชา ฉันทะเกิดจากวิชชา

พระอาจารย์ชยสาโร






#หลวงปู่บุญฤทธิ์

มองดูรอบๆ ฟังไปพร้อม นั่นก็นก นี้กา นั่นก็ปลา ในโถน้ำบนโต๊ะก็ปลาทอง

ถ้าเราพูดกะมันได้ แลมันก็พูดกะเราได้ แล้วมันก็จำความเดิมได้
ปลาทองในโถก็คงโวหารว่า

"ไม่น่าเป็นยังงี้เลย เมื่อไม่นานมาเอง เราเป็นคนมั่งมีหรูหรา" เพราะทำงานหามรุ่งหามค่ำ นอกนั้นก็งานเลี้ยงถึงเที่ยงคืน พร้อมทั้งอบายมุข บุญบาปไม่รู้จัก

สนใจจะเอาท่าเดียว เรื่องลวงเชี่ยวชาญ ลูกหลานไม่รู้จักสั่งสอน หอบสมบัติเข้าบ้านท่าเดียว
มีสารพัด อยากได้อะไรหามา....

พุทโธ ธัมโม สังโฆ ไม่รู้จักเลย

ยังไงงีบนิดเดียว มาเป็นยังงี้ เป็นปลาทอง ท่องเที่ยวอยู่ในน้ำ เสรีไม่เท่าไหร่ คนจับเอาไปเข้าร้าน ลูกหลานยังไงไม่รู้ พลัดผลูไปเจอ เลยซื้อเอาใส่ไว้ในโถนี้แหละ .....

มองดูรอบตัว ก็สมบัติเราทั้งนั้น แต่ไม่ใช่ของเรา จะใช้จะชมอะไรก็ไม่ได้ มันน่าเจ็บใจ ....

ไปไหนต่อไป...ก็ไม่ทราบได้.....
น่าทุเรศจริง
จบ.

ใบแทรกหนังสือ
พระบุญฤทธิ์ (ปณฑิโต)
Adelaide S.A.
23 ธค. 2542
ที่เมืองอาติเลต ออสเตรเลีย) ปลายปี 2542







#สติปัฏฐาน๔
#หลวงตามหาบัว

ใจ ทำไมจึงเป็นไปเพื่อความสงบไม่ได้ ลองสังเกตดูซิ วันหนึ่งๆ ถ้าเราตั้งข้อสังเกตโดยเฉพาะในหัวใจของเราแล้ว เราจะได้เห็นข้อบกพร่องของเราทั้งวัน และในขณะที่เราได้เห็นข้อบกพร่องของเราทั้งวันนั้น แสดงว่าเราก็มีข้อสมบูรณ์ขึ้นด้วยกัน เพราะเรามีสติ เราจึงเห็นข้อบกพร่องของเรา ความที่เรามีสตินั้นเอง เรียกว่าเราได้ความสมบูรณ์ขึ้นมาเป็นลำดับๆ หรือว่าสมบูรณ์ตามขั้น เริ่มจะเป็นความสมบูรณ์เป็นขั้นๆ ขึ้นไป ต้องพยายามพิจารณาอย่างนี้ เราไม่ต้องสนใจกับเรื่องอะไรทั้งนั้น ให้สังเกตดูตั้งแต่เรื่องหัวใจที่จะปรุงเรื่องอะไรขึ้นมาแล้วบังคับไว้ภายในกายกับจิตนี้ ท่านว่าสติปัฏฐาน ๔ คือฐานที่ตั้งแห่งสติ พูดง่ายๆ ถ้าจิตเราได้ตั้งอยู่กับกายนี้แล้ว สติบังคับสติไว้กับกายนี้แล้ว ปัญญาท่องเที่ยวอยู่ในสกลกายนี้แล้ว เรียกว่าได้เดินทางในองค์แห่งอริยสัจอย่างสมบูรณ์

ทุกข์ก็เป็นอันที่จะรู้เท่าทันในองค์แห่งอริยสัจนี้ สมุทัยก็เป็นอันว่าจะได้ละได้ถอนกันอยู่ในองค์แห่งอริยสัจนี้ มรรคก็เป็นอันว่าเราได้บำเพ็ญอยู่ในตัวของเรา พร้อมกับเวลาที่เราบังคับจิตใจหรือไตร่ตรองในธาตุขันธ์ของเรานี้ นิโรธะความดับไปแห่งความทุกข์จะแสดงให้เราเห็นเป็นชั้นๆ ตั้งแต่ชั้นหยาบที่สุด ชั้นกลาง จนกระทั่งถึงชั้นสูงสุด ไม่ได้นอกเหนือไปจากสติปัฏฐานทั้งสี่ เพราะเหตุนั้น สติปัฏฐานทั้งสี่ จึงเป็นทางเดินของพระอริยเจ้าทุกๆประเภท

กาย หมายถึง อวัยวะของเราทุกส่วนที่เรียกว่ากองรูป
เวทนา คือ ความสุข ความทุกข์และเฉยๆ
จิต หมายถึง เจตสิกธรรมที่ปรุงขึ้นไม่ขาดวรรคขาดตอน
ธรรม หมายถึง อารมณ์ที่เป็นเป้าหมายของใจ
นี่เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ บรรดาพระอริยเจ้าทุกๆ ประเภท ได้ถือสติปัฏฐาน ๔ เป็นอารมณ์ของใจ

การพิจารณากาย จะเป็นกายภายนอกก็ตามกายในก็ตาม โดยความเป็นของไม่เที่ยงบ้าง โดยความเป็นทุกข์บ้าง โดยความเป็นอนัตตาบ้าง โดยความเป็นของปฏิกูลโสโครกบ้าง เหล่านี้เรียกว่าพิจารณา กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน กายนี้มีทั้งกายนอกกายใน กายในหมายถึงกายของเราเอง กายนอกหมายถึงกายของสัตว์อื่นบุคคลอื่น หรือสภาพที่จะเป็นอุบายแห่งปัญญาที่เกี่ยวกับด้านวัตถุ เราจะเรียกว่ากายโดยอนุโลมก็ได้ นี่เรียกว่ากายนอก พิจารณากายนอกก็ตามกายในก็ตาม ให้เป็นไปเพื่อความเห็นโทษ ให้เป็นไปเพื่อความแก้ไข ให้เป็นไปเพื่อความฉลาด ปล่อยวางในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น เรียกว่าพิจารณาในสติปัฏฐาน การพิจารณากายทั้งหลายที่กล่าวมานี้ เพื่อให้เห็นโทษในส่วนแห่งกาย ซึ่งเป็นที่ยึดถือของอุปาทาน เมื่อได้พิจารณาเห็นชัดในส่วนแห่งกายนั้นแล้วทั้งกายนอกทั้งกายในโดยทางปัญญา ความสำคัญในกายนั้นว่าเป็นอย่างไรซึ่งเคยเป็นมาก็จะค่อยบรรเทาหรือเบาลงไป หมดความสำคัญว่ากายนั้นเป็นอะไรอีก เช่นอย่างเป็นของสวยของงาม เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นของน่ารักน่าชอบใจหรือน่ากำหนัดยินดี เหล่านี้เป็นต้น ก็จะขาดลงเพราะอำนาจของปัญญาเป็นผู้วินิจฉัยหรือตัดสิน ความสำคัญของใจซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งอุปาทานที่ไปเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ก็จะค่อยหมดไปเป็นลำดับ

เช่นอย่างองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าท่านสอนพระสาวกให้ไปอยู่ในป่าช้า ให้พิจารณาซากอสุภในป่าช้า ก็หมายถึงเรื่องกายนอกนั่นเอง การพิจารณาสภาพของตัวทั้งหมดนี้เรียกว่ากายใน การพิจารณาไม่เพียงว่าครั้งหนึ่งครั้งเดียว ต้องถือเป็นกิจจำเป็นเช่นเดียวกันกับเรารับประทานอาหารเป็นประจำวัน แต่การรับประทานอาหารนั้นเป็นเวล่ำเวลา เช่นอย่างวันหนึ่ง ๓ มื้อบ้าง ๒ มื้อบ้างหรือมื้อเดียวบ้าง แต่การพิจารณาในส่วนแห่งกาย จะเป็นกายนอกก็ตามกายในก็ตามเป็นอาจิณ ยิ่งได้ตลอดเวลายิ่งดี สำหรับผู้ปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์และเพื่อความถอดถอนอุปาทานออกจากกายที่เป็นบ่อเกิดแห่งความลุ่มหลง นี่เรียกว่าการพิจารณากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เมื่อสรุปความลงในผลแห่งกายพิจารณาแล้วก็สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ด้วย ไม่ใช่บุคคลด้วย ไม่ใช่เราด้วย ไม่ใช่เขาด้วย สักแต่ว่ากายเท่านั้นโดยทางปัญญาจริงๆ เมื่อจิตได้เห็นชัดด้วยปัญญาจริงๆอย่างนี้แล้ว ความกังวลเกี่ยวข้องในเรื่องกาย ความเสาะแสวงหาทางอารมณ์ที่เกี่ยวกับกาย ความที่เรายึดมั่นถือมั่นในส่วนกาย ทั้งหลายเหล่านี้เป็นผลอันหนึ่ง เมื่อตัวเหตุคืออุปาทานได้หมดไปแล้วเพราะอำนาจของปัญญา สิ่งเหล่านี้ก็ต้องหมดไปหรือดับไปพร้อมๆ กัน ไม่มีอันใดเหลือ

ทีนี้เราพึงทราบว่าการพิจารณาในสติปัฏฐาน ๔ นี้ เราจะต้องพิจารณากายเสียก่อน แล้วก็ต่อไปเวทนา ต่อไปจิต และต่อไปธรรมนั้น เป็นการคาดผิดไป อันนี้เป็นชื่อของส่วนแห่งสภาพซึ่งมีอยู่ด้วยกันแล้วท่านแยกออกเป็น ๔ ประเภทเท่านั้น ในประเภททั้งหมดนี้มีอยู่กายอันเดียวนี้ เวทนาก็อยู่กาย จิตก็อยู่ในกายอันนี้ ธรรมก็อยู่ในกายอันนี้ แต่ท่านแยกประเภทออกไป ฉะนั้น ความเข้าใจของเราอาจจะมีความเห็นผิดไปว่า เมื่อท่านแยกออกเป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรมแล้ว ถ้าหากเราจะพิจารณาในเวทนา หรือในจิต ในธรรม ส่วนใดส่วนหนึ่งก่อนแล้วจะเป็นการผิดอย่างนี้ นี่อาจเกิดขึ้นในความหลงผิด แต่แท้ที่จริงเวลาเราพิจารณากาย เวทนาก็แฝงอยู่ในกายนั้น ความทุกข์ไม่เลือกกาลใด จะเป็นกาลที่เรากำลังพิจารณากายอยู่ก็ตาม หรือออกจากกายนั้นแล้วก็ตาม เกิดขึ้นได้ทั้งสุขทั้งทุกข์ทั้งความเฉยๆ เช่นเป็นโอกาสหรือเป็นช่องที่เราจะควรพิจารณาในเวลาเวทนาเกิดขึ้นนั้น ให้ได้ทราบชัดว่าเวทนานี้เป็นอะไร นอกจากว่ากายนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราแล้ว เราจะเห็นว่าเวทนาที่เกิดขึ้นนี้เป็นอะไรอีกในบรรดาเวทนาทั้งสามนี้

เราก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาในเวทนาทั้งสามนี้อีก มีลักษณะเช่นเดียวกันว่า อนิจฺจํ เวทนาจะเป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม เฉยๆ ก็ตาม เกิดขึ้นทุกกาลทุกสมัยมันต้องเป็นไปกับด้วยไตรลักษณ์ทั้งนั้น ไม่มีระยะเดียวที่จะห่างจาก ไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ไป แล้วจะปฏิเสธความเป็นสัตว์เป็นบุคคลตายตัวอยู่เช่นนั้นตามสภาพของเขานี่เรียกว่าพิจารณาเวทนา เราจะพิจารณากาลใดสมัยใดไม่ขัดข้องทั้งนั้น เพราะเป็นเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ แล้วความติดในอาการทั้งสี่หรือในสภาวธรรมทั้งสี่นี้ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม นี้ เราไม่ได้เลือกติดตามกาลตามเวลาของเขา ติดได้ทุกขณะ ติดได้ทุกเวลาในสภาวธรรมทั้งสี่นี้ เพราะเหตุนั้นการที่เราจะพิจารณาแก้ไขในสภาวธรรมทั้งสี่นี้ จึงไม่จำเป็นจะต้องกำหนดเวล่ำเวลา คำว่าพิจารณาจิต จะพิจารณาอย่างไร.. จิตก็พิจารณาเจตสิกซึ่งเกิดขึ้นจากใจนั่นเอง ว่าไปสำคัญมั่นหมายในกายในเวทนาเหล่านี้ เป็นอะไรบ้าง ปรุงแต่งจะเป็น กายนอกก็ตาม กายในก็ตาม ปรุงว่าอย่างไร หมายว่าอย่างไร กำหนดพิจารณาตามกระแสของใจ สิ่งที่ไปหมายหรืออารมณ์เหล่านั้นเป็นธรรมขึ้นมาแล้วที่นี่ เรียกว่าเป้าหมายนั่นเอง อารมณ์ที่จิตพิจารณา ที่จิตจดจ่อนั้นเรียกว่าเป็นเป้าหมายของใจ เป้าหมายนั้นเองท่านเรียกว่าธรรม

ทีนี้ท่านว่าพิจารณา เวทนาใน เวทนานอก อันนี้เป็นปัญหาอันหนึ่ง ส่วนกายในกายนอกเราพอทราบกันได้ชัด เช่นอย่างกายของคนอื่นหรือเราไปเยี่ยมป่าช้า ก็แสดงว่าเราไปพิจารณากายนอก แต่เวทนาในนี้จะหมายถึงเวทนาอะไร เวทนานอกหมายถึงเวทนาอะไร เวทนานอกถ้าเราจะไปหมายคนอื่นเป็นทุกข์ทนลำบาก หากเขาไม่แสดงกิริยามารยาทอาการให้เราเห็นว่าเขาเป็นสุขหรือเป็นทุกข์แล้ว เราจะมีช่องทางหรือโอกาสพิจารณาเวทนาของเขาได้อย่างไร นี่เป็นปัญหาอยู่ แต่นี้เพื่อจะให้เป็นสิ่งสำเร็จรูปในทางด้านปฏิบัติของเรา จะถูกก็ตามผิดก็ตาม ข้อสำคัญให้ถือเอาผลประโยชน์ซึ่งเกิดขึ้นในการกระทำของตน เป็นความสุข เป็นไปเพื่อความสงบ เป็นไปเพื่อความแยบคาย เป็นไปเพื่อความเฉลียวฉลาดแล้ว ให้ถือว่านั้นเป็นของใช้ได้ เป็นการถูกกับหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นในสถานที่นี้หรือเวลานี้จะขออธิบายตามอัตโนมัติหรือความรู้โดยตนได้พิจารณาอย่างไรให้บรรดาท่านทั้งหลายฟัง

เวทนานอกนั้นหมายถึงกายเวทนา เวทนาในหมายถึงจิตเวทนา คือ เวทนาซึ่งเกิดขึ้นในส่วนแห่งกาย จะเป็นการเจ็บท้อง ปวดหัวก็ตาม เจ็บส่วนแห่งอวัยวะ หรือปวดที่ตรงไหนทุกข์ที่ตรงไหนก็ตามในส่วนแห่งอวัยวะนี้ทั้งหมดเรียกว่าเป็น เวทนานอก จะเป็นสุขทางกายก็ตาม เฉยๆ ขึ้นทางกายก็ตามจัดว่าเป็นเวทนานอกทั้งนั้น ส่วนเวทนาในนั้น หมายถึงใจได้รับอารมณ์อันใดขึ้นมาเพราะอำนาจของสมุทัยเป็นเครื่องผลักดัน เกิดความทุกข์ขึ้นมาบ้าง เกิดความสุขความรื่นเริงขึ้นมาบ้าง เฉยๆ บ้าง เรียกว่าเวทนาใน การพิจารณาเวทนานอก การพิจารณาเวทนาใน มีไตรลักษณ์เป็นเครื่องยืนยันหรือเป็นเครื่องตัดสิน เป็นเครื่องดำเนินด้วยกันทั้งนั้น แต่เมื่อเราได้พิจารณาในส่วนกายให้เห็นชัด ส่วนเวทนานอกขึ้นอยู่กับกายนี้ชัดแล้ว แม้จะพิจารณาเวทนาส่วนภายในนี้ก็ย่อมจะชัดไปได้ เพราะอำนาจของปัญญาที่มีความละเอียดเข้าไปเป็นลำดับนี่การพิจารณาสติปัฏฐานพิจารณาอย่างนี้

พิจารณาจิตตามปริยัติท่านกล่าวไว้นั้น บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายก็พอเข้าใจแล้ว กระแสของใจเรามีความเกี่ยวข้องกระดิกพลิกแพลงไปในอารมณ์อันใดคอยสังเกตความเคลื่อนไหวของใจอยู่เสมอ นี่เรียกว่าพิจารณาจิต คือพิจารณาในขณะเดียวกันนั่นเอง เวลานั่งหรือเวลายืนเวลาทำความเพียรอยู่นั้นเอง ในกาลในสมัยเดียวนั้นเองสามารถที่จะพิจารณาสติปัฏฐานทั้งสี่นี้ไปพร้อมๆ กันได้เพราะอาการทั้งสี่นี้เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นสับสนปนเปกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้มีการกำหนดว่ากายจะต้องปรากฏขึ้นก่อน แล้ว เวทนาเป็นที่สอง จิตเป็นที่สามธรรมเป็นที่สี่ ไม่ใช่อย่างนั้น เป็นสิ่งที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่ทั่วสรรพางค์ร่างกาย และจิตใจ ของเราล้วนแล้วตั้งแต่เป็นเรื่องของสติปัฏฐาน ๔ ทั้งนั้น การที่เราจะพิจารณาในส่วนสภาวะทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นมาสัมผัสกับใจของเราส่วนใดนั้นเป็นเรื่องถูกต้อง

เมื่อท่านผู้ใดเป็นผู้หักห้ามร่างกายจิตใจของตน บังคับจิตใจของตนให้ท่องเที่ยวอยู่ในสติปัฏฐานทั้งสี่นี้แล้ว เรื่องของสติก็ดี เรื่องของปัญญาก็ดี จะเป็นขึ้นในสถานที่นี้ คำว่าอริยะที่ท่านกล่าวตั้งแต่เบื้องต้นว่า โสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ก็ต้องได้อุบายไปจากธรรมทั้งสี่ประเภทนี้เอง ด้วยอำนาจของปัญญา เมื่อพิจารณาให้เห็นชัดแจ่มแจ้งตามเป็นจริงในสภาวะนี้แล้ว ควรจะได้รับผลในธรรมขั้นใดก็ต้องปรากฏขึ้นเป็นขั้นๆ ตามแต่กำลังความสามารถของตนจะพิจารณาได้ในธรรมขั้นไหน เพราะเหตุนั้นผลจึงปรากฏขึ้นว่าเป็น พระโสดาบ้าง เป็นพระสกิทาคาบ้าง เป็นพระอนาคาบ้าง เป็นพระอรหันต์บ้าง อย่างนี้

การพิจารณาสติปัฏฐานทั้งสี่ก็ดี การพิจารณาในอริยสัจธรรมทั้งสี่ก็ดี อย่าพึงทราบว่าเป็นคนละทางและอย่าพึงทราบว่าเป็นคนละประเภท เป็นคนละหน้าที่ ต่างกันตั้งแต่ชื่อเท่านั้น ในหลักธรรมชาติแล้วเป็นอันเดียวกัน กายก็ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ชาติปิ ทุกฺขา ชราปิ ทุกฺขา มรณมฺปิ ทุกฺขํ นี้เรียกว่ากาย การพิจารณาในความทุกข์ความลำบากความทรมานของกายนี้ ก็จัดเป็นกายานุปัสสนาด้วย เป็นทุกขสัจด้วย การพิจารณาถึงเรื่องเวทนา ที่เกิดขึ้นทั้งส่วนแห่งกาย ทั้งส่วนแห่งใจ ก็จัดว่าเป็นการพิจารณาเพื่อจะรื้อถอนถึงเรื่องของสมุทัยและทุกข์ทั้งหลายที่ปรากฏขึ้นเป็นตัวผลในส่วนแห่งกายก็ดี ในส่วนแห่งจิตก็ดี นี้เป็นเรื่องของทุกข์ การพิจารณาเพื่อจะรู้สาเหตุแห่งความทุกข์ที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นมาจากอะไร นี่เป็นอุบายที่จะถอนสมุทัยซึ่งเป็นรากสำคัญอยู่ภายในใจพร้อมๆ กันไปแล้ว

เพราะเหตุนั้นอริยสัจธรรมทั้งสี่ก็ดี เรื่องสติปัฏฐานธรรมทั้งสี่ก็ดี พึงทราบว่าธรรมชาตินี้เป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่ชื่อเท่านั้น ถ้าจะเทียบอุปมาแล้วก็เหมือนดังกับว่า กายของเราทั้งหมดนี้ เราให้ชื่อว่าข้างหน้าข้างหนึ่ง ข้างหลังอย่างหนึ่ง ข้างซ้ายอย่างหนึ่ง ข้างขวาอย่างหนึ่ง ข้างบนอย่างหนึ่ง ข้างล่างอย่างหนึ่ง แต่ไม่ใช่ว่าข้างบนที่ไหนนอกไปจากกาย ข้างล่างที่ไหนนอกไปจากกาย ข้างหน้าข้างหลัง ข้างซ้ายข้างขวาที่ไหนนอกไปจากกายอันนี้ ออกจากกายอันเดียวกันทั้งนั้น เพราะเหตุนั้นลักษณะอาการที่ท่านว่าในอริยสัจธรรมทั้งสี่ก็ดี สติปัฏฐานธรรมทั้งสี่ก็ดี พึงทราบว่าออกจากธรรมชาติอันเดียวนี้ เมื่อปัญญาของเราได้พิจารณาให้เห็นชัดในส่วนรูป เรียกว่ากายานุปัสสนา ให้เห็นชัดตามเป็นจริงเพราะอำนาจของปัญญา เราพิจารณาไม่หยุดยั้งแล้ว ความปล่อยวางในกายนี้ก็จะปรากฏขึ้นชัดภายในจิตใจของเรา เรียกว่าถอนอุปาทานของกายเสียได้ เมื่อพิจารณาถึงเรื่องเวทนาทั้งสามให้เห็นชัดตามเป็นจริงเช่นเดียวกับส่วนแห่งกายนี้แล้ว สติ ความจำได้หมายรู้ สังขาร ความปรุง ความคิด วิญญาณ ความรับรู้ในสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นมาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เห็นชัดเช่นเดียวกันแล้ว ความปล่อยวางในสิ่งทั้งหลายเหล่านี้จากความเป็นตน จากความเป็นเรา เป็นของเรา ก็ต้องปล่อยวางเช่นเดียวกันกับเราปล่อยวางกายเช่นนั้น

การกล่าวมาทั้งหมดนี้ หรือการพิจารณาในสภาวธรรมทั้งหลายเหล่านี้ พิจารณาตามขั้นของจิต ที่มีความเกี่ยวข้องติดมั่นพัวพันอยู่ในส่วนใด ก็ต้องคลี่คลายเปิดเผยให้จิตดูว่ามีอะไรบ้างอยู่ภายในนี้ เช่นอย่างพิจารณากาย เหตุที่จะพิจารณากาย ก็เนื่องจากว่าใจ ไปสำคัญกายนี้ว่าเป็นอะไรบ้างไม่รู้กี่ช่องกี่ทาง ไม่รู้กี่สมมุตินิยมที่ใจไปทำความหมายขึ้นจาก กาย ท่อนเดียวหรือก้อนเดียวนี้ว่าเป็นสัตว์บ้าง ว่าเป็นบุคคลบ้าง ว่าเป็นหญิง ว่าเป็นชายบ้าง ว่าเป็นของสวยของงามบ้าง ว่าเป็นที่น่ารักใคร่ชอบใจบ้าง เหล่านี้ล้วนแล้วตั้งแต่เกิดขึ้นเป็นความสำคัญที่เกี่ยวกับกายทั้งนั้น

เมื่อปัญญาได้คลี่คลายดูให้เห็นชัดว่า มีเราอยู่ที่ไหน มีเขาอยู่ที่ไหนในกายอันนี้ มีของสะอาดของสวยงามอยู่ที่ไหนมีของเที่ยงแท้ถาวรที่ไหน มีความเป็นของเที่ยงที่ไหน มีความไม่แปรอยู่ที่ไหน มีอตฺตา หิ อยู่ที่ไหนในส่วนแห่งกายนี้ ชี้แจงแสดงโดยทางปัญญาให้ใจได้เห็นชัด ก็เทียบกับว่าคลี่คลายดูสิ่งปกปิดให้ใจได้เห็นชัด ให้ใจได้หายสงสัยในสิ่งเหล่านี้ ว่าไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นไปตามจิตของตนมุ่งหวัง ว่าเป็นเราเป็นของเราเป็นต้น แล้วจิตก็จะปล่อยวางจากสภาพทั้งหลายเหล่านี้โดยอัตโนมัติของตนเอง ไม่ต้องบังคับให้ถอดให้ถอนให้ปล่อยให้วางแต่อย่างใดเพราะจิตได้เห็นชอบตามปัญญาแล้ว นี่ปล่อยวางมาอย่างนี้ การพิจารณาเวทนา ก็คลี่คลายเช่นเดียวกันกับที่ส่วนกายนี้ให้จิตได้เห็นชัด คลี่คลายดูเวทนา ทั้งสาม สุข ทุกข์ เฉยๆ คลี่คลายดูสัญญาให้ชัด คลี่คลายดูสังขารให้ชัด คลี่คลายดูวิญญาณให้ชัด โดยลักษณะเช่นเดียวกันกับคลี่คลายในส่วนกายด้วยปัญญา ให้จิตได้ตรองตามปัญญา รู้ตามปัญญาที่ชี้ช่องบอกทาง ได้เห็นอย่างแจ่มแจ้งชัดเจนแล้ว ก็ไม่ต้องบังคับให้ถอดถอนจากสิ่งทั้งหลายเหล่านี้โดยความถือว่าเป็นเราเป็นของเราเป็นต้นเสีย นี่เราก็ไม่ต้องบังคับอีกเช่นเดียวกัน

เพราะอำนาจของปัญญาได้หยั่งทราบทั่วถึงหมดแล้ว เปิดดูให้เห็นชัดไม่มีอันใดลี้ลับเพราะอำนาจของปัญญา จิตก็ถอนเข้ามาๆ กระแสของใจที่วิ่งอยู่ริก ๆ ๆ ต่อสภาวะทั้งหลายเหล่านี้ พร้อมทั้งสัญญาที่มีความสำคัญมั่นหมายในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น ก็เป็นอันถอดถอนมาพร้อมๆ กัน การเห็นโทษในสภาวธรรมทั้งหลาย เบื้องต้นก็ต้องเห็นโทษในสภาวธรรมเพราะเราไปเห็นคุณในสภาวธรรม แต่เมื่อได้พิจารณาในสภาวธรรมส่วนหยาบมี รูปเป็นต้นแล้ว ให้ชัดด้วยปัญญา สภาวะทั้งหลายเหล่านั้นก็หมดความลี้ลับ เป็นธรรมที่เปิดเผย เป็นสภาวธรรมที่เปิดเผยโดยทางปัญญา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อได้พิจารณาโดยทางปัญญาแล้ว ก็กลายเป็นธรรมที่เปิดเผยอีกเช่นเดียวกัน ยิ่งจะเห็นกระแสของใจที่เพ่นพ่านอยู่ทั้งวันทั้งคืน เป็นเรื่องที่ว่าตื่นเงาของตัวอยู่ตลอดเวลาให้ชัดขึ้นแล้วในขณะนี้ แต่ก่อนถูก รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสและความสำคัญมั่นหมายในสิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องปกปิดกำบังกระแสของใจ จึงไปเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นกลายเป็นคุณเป็นโทษไปเสียหมดโดยเราเป็นผู้บริสุทธิ์พุทโธแต่ผู้เดียว ทั้ง ๆที่เราเป็นผู้หลงต่อผู้หลงนั่นเอง ต่อเมื่อได้คลี่คลายสภาวะทั้งเป็นฝ่ายรูป ทั้งเป็นฝ่ายนาม ให้ชัดเจนด้วยปัญญาอย่างไม่มีข้อสงสัยแล้ว ก็ยิ่งจะเห็นกระแสของใจเห็นกระแสของใจชัดจนกระทั่งถึงเห็นรากฐานของอวิชชาซึ่งเกิดขึ้นจากธรรมชาติที่รู้ๆ เป็นบ่อเกิดแห่งกระแสของ ใจนี้ ชัดเจนเข้าไปเช่นเดียวกับสภาวธรรมทั้งหลายแล้วเรียกว่าเปิดเผยขึ้นอีก

คลี่คลายดูความรู้ที่เป็นเจ้าวัฏจักร เป็นความรู้ที่โกหกนี้ให้เห็นชัดด้วยปัญญา ธรรมชาติอันนี้ก็เลยกลายเป็นความเปิดเผยขึ้นมาอีกไม่มีอันใดที่เหลือหลออยู่ เมื่อธรรมชาติอวิชชาที่เป็นความรู้ลี้ลับ เป็นความรู้ที่เต็มไปด้วยโกหกมายาสาไถย ให้เห็นชัดด้วยปัญญานี้แล้ว ธรรมชาติที่ลี้ลับ ธรรมชาติที่ละเอียดที่สุดได้แก่อวิชชา คือความรู้ที่เป็นเจ้าวัฏจักรอันนี้ ได้แตกกระจายหรือเป็นธรรมที่เปิดเผยขึ้นมาแล้วนั้นแล เราจึงจะหมดปัญหาใดๆ ในเรื่องความปกปิดแห่งสภาวธรรมทั้งหลายก็ดี ในเรื่องความลุ่มหลงแห่งสภาวธรรมทั้งหลายก็ดี ไม่มีอันใดที่จะเหลือหลออยู่แล้ว จากนั้นไปแล้วธรรมชาติที่บริสุทธิ์พุทโธโดยไม่ต้องเสกสรรแต่อย่างใด ได้ปรากฏเด่นชัดขึ้นมาตามหลักธรรมชาติของตนอย่างแจ่มแจ้งแล้วนั้นเรื่องทั้งหลายจึงจะเป็นอันว่าเปิดเผยอยู่ตลอดเวลา รูป ไม่เพียงแต่ว่ารูปหญิงรูปชายรูปสัตว์รูปบุคคล รูปสภาวะทั่วๆ ไปทั่วทั้งจักรวาลนี้ กลายเป็นสิ่งที่เปิดเผยขึ้นมาพร้อมๆ กัน นามก็เหมือนกัน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทุกๆ อย่างซึ่งไม่มองเห็นด้วยตาก็กลายเป็นธรรมที่เปิดเผยขึ้นมาพร้อมๆ กัน เพราะเหตุใด เพราะบ่อเกิดแห่งความลี้ลับได้แก่อวิชชานั้น ได้ถูกเปิดเผยขึ้นมาแล้วอย่างชัดเจนด้วยอำนาจของปัญญา สภาวะทั้งหลายทั่วไปทั่วโลกธาตุนี้จึงเป็นอันว่ายุติไม่ได้เกิดเรื่องเกิดราวกับจิตใจของเราต่อไปแล้ว วัฏจักรเป็นอันว่ายุติกันลงได้ในจุดนี้เอง ต่อจากนั้นไปก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นสิ่งลี้ลับต่อใจ ดวงนี้ไปได้อีกแล้ว

ตามภาษาบาลีท่านกล่าวไว้ว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ, กตํ กรณียํ หมดกิจในพระศาสนา หมดทั้งความบำเพ็ญเพื่อใจดวงนี้ให้เจริญยิ่งขึ้นไปอย่างไรอีก หมดทั้งการละการถอนความลี้ลับหรือปิดบังอันใดต่อไปอีกไม่มี เป็นอันว่าสภาวะทั้งหลายได้เปิดเผยเสียทุกอย่าง พร้อมทั้งความบริสุทธิ์พุทโธนั้นก็ได้เปิดขึ้นมาพร้อมๆ กันกับสภาวธรรมทั้งหลายได้เปิดขึ้นมา นี่เรียกว่าธรรมเปิดเผย วัฏจักรก็ได้เปิดเผย วิวัฏจักรก็ได้เปิดเผยขึ้นในขณะเดียวกัน นี่ผลแห่งการปฏิบัติ ผลแห่งการตั้งจิต ตั้งใจ เริ่มตั้งสติ ปัญญา เริ่มจำเพาะเจาะจง เริ่มอุตส่าห์พยายามบำเพ็ญตนของตนด้วยความจำเพาะเจาะจง

ด้วยความตั้งอกตั้งใจ ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งถึงธรรมที่เปิดเผยไปเสียทั้งสิ้น ไม่มีอันใดลี้ลับในโลกธาตุนี้ แม้แต่ว่า วิวัฏฏะ ที่เรียกว่าพระนิพพานนั้นก็เป็นการเปิดเผยขึ้นมาพร้อมๆ กันเรียกว่า วุสิตํ พฺรหฺมจริยํ เพราะเหตุนั้นบรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลายให้พึง โอปนยิโก น้อมเข้ามาสู่ตัวของตัวทั้งหมด ในบรรดาธรรมทั้งหลายที่ได้อธิบายมานี้ เวลานี้เรากำลังอยู่ในความลี้ลับอันใดก็ลี้ลับเสียทั้งนั้นสำหรับเราซึ่งกำลังลุ่มหลงอยู่ รูปจะเป็นรูปชั่วก็ตามรูปดีก็ตาม มันให้เกิดได้ทั้งความดีใจและเสียใจ สิ่งเหล่านั้นจึงกลายเป็นของลี้ลับ

เพราะธรรมชาติอันหนึ่งซึ่งเป็นของใหญ่โตที่สุด แต่เราไม่มองเห็นด้วยตาและไม่สามารถที่จะรู้ได้ด้วยใจด้วย นั้นคืออวิชชาแต่มันก็อยู่กับใจนั่นเองแต่เราไม่สามารถที่จะรู้ ธรรมชาตินั้นเป็นธรรมที่ลี้ลับที่สุด สิ่งทั้งหลายซึ่งเป็นบริษัทบริวารที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาตินั้นเลยกลายเป็นของลี้ลับไปตามๆ กัน พอธรรมชาตินี้ได้ถูกเปิดเผยขึ้นแล้วด้วยปัญญาเท่านั้น สภาวธรรมทั้งหลายก็ได้เปิดเผยหมด จนกระทั่งถึงวิวัฏฏะคือพระนิพพานเสียเองก็ถูกเปิดเผยไปพร้อมๆ กัน นี่ท่านแนะการปฏิบัติเพื่อความเปิดเผยอย่างนี้ เราทำข้อวัตรปฏิบัติทุกชิ้นทุกอันก็ตามเพื่อความเปิดเผยทั้งสิ่งที่เป็นวัฏฏะ ทั้งสิ่งที่เป็นวิวัฏฏะ

ขอให้บรรดาท่านผู้ฟังทั้งหลาย ได้กำหนดพินิจพิจารณาเข้ามาสู่ตนของตนเสมอ ให้เป็นผู้มีความเป็นอยู่ด้วยสติด้วยปัญญาทุกอิริยาบถ พวกท่านทั้งหลายจะได้เห็นความเปิดเผยทั้ง วัฏจักรด้วย ทั้งวิวัฏจักรด้วย ในสนฺทิฏฺฐิโก ความเห็นเองของบรรดาท่านทั้งหลายเอง
........
ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนานี้ขอบุญญานุภาพแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ จงดลบันดาลให้บรรดาท่านทั้งหลายให้มีความเจริญงอกงาม

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน







#ที่สุดของจิต

พูดเมื่อเช้านี้ก็บอกว่าจิตเป็นของสำคัญ วันนี้ก็ต้องย้ำอีกว่าจิตเป็นของสำคัญ จิตเป็นธรรมชาติรู้ มีรู้อย่างเดียว..จิต รู้ดีรู้ชั่ว รู้เป็นคำวิพากษ์วิจารณ์ นั่นเป็นกิริยาของจิตแสดงออก ว่าเป็นเรื่องของสติบ้าง เป็นเรื่องของปัญญาบ้าง แต่จิตแท้ ๆ ไม่มีกิริยาอาการออกใช้ เป็นความรู้เท่านั้น ถ้ากิริยาแสดงออกจากจิตก็รู้ดีรู้ชั่ว รู้สุขรู้ทุกข์ รู้นินทารู้สรรเสริญ นี่เป็นกิริยาอาการออกมาแล้ว

สิ่งเหล่านี้เป็นของไม่แน่นอน เพราะเป็นกิริยา เป็นอาการของจิต มีการเกิดการดับ รับทราบแล้วก็ดับไป ๆ เช่นเดียวกับท่านเรียกว่าวิญญาณ คือความรับทราบจากอายตนะภายนอก เช่น รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส เข้ามาสัมผัสกับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ทำให้เกิดวิญญาณขึ้นมา คือรับทราบตามขณะที่สิ่งนั้นมาสัมผัส แล้วดับไปในขณะที่สิ่งนั้นผ่านไป

ความรู้อย่างนี้ท่านเรียกว่าวิญญาณ หรือเรียกว่าอาการของจิต เช่น สังขารความคิดความปรุง ก็เป็นอาการของจิต จิตเมื่อแสดงอาการแล้วก็หาประมาณไม่ได้ แต่เมื่อไม่มีอาการใด ไม่แสดงอาการใดเลย ก็มีอย่างเดียวคือรู้

แต่รู้ของเรากับรู้ของท่านผู้บริสุทธิ์นั้นผิดกันมาก รู้ของเรามีสิ่งเจือปนอยู่ภายใน รู้ของพระขีณาสพคือพระอรหันต์ท่าน ไม่มีอันใดเจือปน มีแต่ความรู้ล้วน ๆ ความรู้ล้วน ๆ ที่ไม่มีอะไรเจือปนนั้นแลเป็นความรู้ที่วิเศษ เป็นความรู้ที่อัศจรรย์ เป็นความรู้ที่ทรงไว้ซึ่งความสุขเต็มเม็ดเต็มหน่วย เต็มภูมิฐานของจิตที่บริสุทธิ์ สุขก็เต็มภูมิ คงเส้นคงวา ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนเหมือนโลกทั้งหลาย เหมือนอาการต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ในโลกซึ่งเต็มไปด้วย อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา แต่จิตนี้ไม่เป็นอย่างนั้น นี่หมายถึงจิตของท่านผู้ชำระได้บริสุทธิ์เต็มภูมิแล้ว

แต่หลักแห่งการท่องเที่ยวในวัฏสงสาร คือในภพชาติต่าง ๆ นั้น จิตเป็นหลัก จิตเป็นตัวสำคัญ จิตเป็นตัวการ ท่านจึงเรียกว่าสังสารจักร ก็คือหมายความว่าความเปลี่ยนไปตามกฎแห่งกรรม เพราะจิตอยู่ใต้อำนาจของกฎแห่งกรรม กรรมพาหมุนไปอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามกฎแห่งกรรมนั้น ๆ เนื่องจากจิตยังไม่พ้นวิสัยของกรรม

นอกจากจิตพระขีณาสพเท่านั้น นั่นท่านพ้นแล้ว ขึ้นชื่อว่าสมมุติไม่เข้าไปเกี่ยวข้องได้เลย ไม่ว่าสมมุติดีสมมุติชั่ว สมมุติประเภทใด ท่านอยู่เหนือสมมุติ คำว่าเหนือก็คือว่าไม่มีอะไรเข้าไปเกี่ยวข้องได้ จิตนั้นก็ไม่เกี่ยวข้องกับอะไร เป็นความรู้โดยหลักธรรมชาติของตนอยู่เช่นนั้นเมื่อบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว นี่เป็นที่สุดของจิต สุดที่ตรงนี้ สุดที่ตรงบริสุทธิ์

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO