นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อังคาร 16 เม.ย. 2024 2:28 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ละเอียดสุขุม
โพสต์โพสต์แล้ว: อังคาร 19 ก.ค. 2022 5:15 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4529
#เลือกคบคนดี

"..คนดีจริงๆ ทำดีได้ถูกต้องแล้ว..อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ แต่เราต้องเลือกคบคนไว้..มันเป็นกำไรชีวิต คือ #คนไหนที่รู้สึกว่าดีกว่าเราคนนั้นเราต้องเข้าไปหา.."

หลวงปู่เจริญ ราหุโล








"... การภาวนาสามารถเปลี่ยนแปลงชะตา
ชีวิตคนเราบางอย่างได้ หากบำเพ็ญภาวนา
อยู่เสมอ
... แล้วแผ่ส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร กรรมหนักก็ย่อมเบา อะไรไม่ดีก็ปัดออกอย่าทำอย่ายึด
... อะไรดีก็สั่งสมสิ่งนั้นเข้าไป ก็เรียกว่า
ปฏิบัติตนดี อายุสั้นยาวนี้ ก็เป็นไปตามกรรมของตัวเองที่ได้สร้างเอาไว้ ..."
#ไม่มีใครทำให้สั้นให้ยาวหรอก.

#โอวาทธรรม
#หลวงตามหาบัว_ญาณสัมปันโน





อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ
ประเสริฐสุดซ่อนใส่เสียในฝัก
สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก
จึงค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย

#หลวงปู่ทองมา สุตธมฺโม
แห่ง วัดถ้ำกวาง





เพียงการปฏิบัติให้รู้ทันความอยาก
แล้วละวางซะ
คือ เราจะไม่มุ่งดู
ด้วยความอยากจะเอาอะไร
แต่จะดูแค่ไม่อยากได้อะไร

เราลองทำแบบนี้ดูก็ได้
พยายามจะทำเหมือนแบบไม่ได้ทำ
นั่งไปก็ทำใจ แบบว่าไม่เอาอะไร
จะวางเฉย จะปล่อยวาง
ฝึกจิตไปอย่างนี้อย่างเดียว

ปรับผ่อนรักษาจิต
บอกจิตไม่เอาอะไร
เมื่อจิตมันปล่อยได้ วางได้
เราก็จะพบกับความเบาใจเกิดขึ้น
ความสงบใจมันก็เกิดขึ้นได้
โดยที่ไม่ต้องดิ้นรน
ทะยานอยากแสวงหา
ค้นหาอะไรที่ตรงไหน

เราลองสังเกตดูได้ว่า
ขณะที่เราปฏิบัตินี่
เรากลัวว่าจะไม่ได้อะไรจริงไหม
นั่นแหละมันคือไม่ได้อะไร
ยิ่งอยากได้ มันก็ยิ่งไม่ได้
เพราะสิ่งที่ควรได้
คือ ความละวาง
ความสละ ความปล่อย

การเจริญวิปัสสนานี้
เป้าหมายก็คือ
การสละได้ การปล่อยได้ การวางได้
เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็ลอง
มาทำเหตุเสียใหม่
ทำเหตุให้มันตรงต่อผล
คือ ทำให้มันไร้ความอยาก
ทำไปนี่ก็ฝึกหัด
การปลอดจากความอยากไว้เรื่อย ๆ
เมื่อความอยากเข้ามา
ก็ดูแลรักษา ปรับผ่อน
ให้จิตมันไร้ความอยาก

ธัมโมวาท โดย‎หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี
เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ พระนครศรีอยุธยา






การผูกเวร ก็เหมือนกับการผูกพยาบาท เมื่อต่างฝ่ายต่างผูกใจเจ็บกันอยู่ เวรก็ไม่สามารถระงับลงได้ แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลิกผูกเวรเสียด้วยการให้อภัยและแผ่เมตตาให้เสมอๆ เวรย่อมระงับลงได้ในเวลาไม่นาน การไม่ผูกเวรทำให้จิตใจเราสบาย เมื่อใดใจผูกเวร เมื่อนั้นมองไปไหนก็เห็นแต่ศัตรู แต่เมื่อใดใจของเราไม่มีเวรกับใคร มีแต่เมตตาปรานี เมื่อนั้น มองไปทางใดก็เจอแต่มิตร เพราะฉะนั้น พระเจ้าโกศล เมื่อให้โอวาทพระราชโอรส ทรงพระนามว่า ฑีฆาวุกุมาร จึงตรัสว่า

ฑีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่กาลยาว อย่าเห็นแก่กาลนั้น เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า

เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาด เพื่อความสบายใจของตนเอง จึงไม่ควรผูกเวรไว้กับใครๆ จงจำแต่ความดีที่ผู้อื่นทำแก่ตน แต่อย่าจำความร้ายที่เขาทำให้ เพราะมันไม่มีประโยชน์แก่จิตใจ

คำว่า อย่าเห็นแก่กาลยาว นั้น หมายความว่าอย่าผูกเวรเอาไว้ เพราะเวรยิ่งผูกก็ยิ่งยาว คำว่า อย่าเห็นแก่กาลสั้น นั้น หมายความว่า อย่ารีบด่วนแตกจากมิตร มีอะไรก็ค่อยๆ ผ่อนปรนกันไป ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเข้าใจผิดก็ได้ อย่าด่วนลงโทษใครง่ายเกินไป และอย่ารีบแตกจากใคร ขอให้พิจารณาเสียร้อยครั้งพันครั้ง

เรื่องประกอบ เรื่องยักษิณีชื่อกาลี

ที่เมืองสาวัตถี มีเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อบิดาสิ้นชีพแล้วก็ทำงานด้วยตนเองทั้งในบ้านและนอกบ้าน เลี้ยงมารดาอยู่ มารดาสงสารเขาจึงบอกว่าจะนำหญิงคนหนึ่งมาให้เป็นภรรยา เพื่อจักได้แบ่งเบาภาระในบ้านไปเสียบ้าง แต่ลูกชายก็ห้ามเสียหลายครั้งหลายหน เขาบอกแม่ว่ายังไม่ต้องการ แต่ฝ่ายแม่ต้องการ จึงออกจากบ้านจะไปสู่ตระกูลหนึ่ง ลูกชายจึงว่า หากแม่จะไปนำหญิงมาให้ได้จริงๆ แล้ว ก็จงไปสู่สกุลที่ลูกชอบ เขาได้บอกชื่อสกุลให้มารดา

มารดาของเขาไปสู่ขอหญิงสกุลนั้นมาให้บุตรชายแล้ว แต่หญิงนั้นเป็นหมัน หญิงผู้มารดาจึงพูดกับบุตรว่า อันตระกูลที่ไม่มีบุตรย่อมขาดสูญ เพราะฉะนั้น แม่จะไปนำหญิงอีกคนหนึ่งมาให้ภรรยาของเจ้า บุตรชายกล่าวว่า อันการจะไปนำหญิงอื่นมาอีกคนหนึ่งนั้น ไม่จำเป็น แต่มารดาก็ยังพูดอยู่บ่อยๆ

หญิงสะใภ้ได้ยินบ่อยๆ จึงคิดว่า "ธรรมดาบุตรย่อมฝืนมารดาไปได้ไม่นาน อีกสักหน่อยก็คงยอมให้นำสตรีอื่นมา หากเธอมีลูก ตัวเราก็จะลดฐานะลงมาเป็นหญิงรับใช้ อย่ากระนั้นเลย เราควรจะจัดการหาหญิงนั้นเสียเอง เพื่อจักได้อยู่ใต้อำนาจของเรา"

นางคิดดังนี้แล้ว จึงไปนำหญิงอันคุ้นเคยกับเธอจากตระกูลหนึ่งมา

ทีแรกๆ ก็ดี แต่พอนานเข้า มีจิตริษยาบ้าง ด้วยความกลัวว่าตนจะตกต่ำ หากภรรยาน้อยมีลูกบ้าง นางจึงคิดทำลายครรภ์ของภรรยาน้อย นางได้สั่งไว้ว่า เมื่อใดมีครรภ์ขอให้บอกนางแต่เนิ่นๆ

ภรรยาน้อยพาซื่อ คิดว่าเขาหวังดีกับตัว พอตั้งครรภ์ก็บอก นางเมียหลวงจึงประกอบยาใส่ลงไปในอาหาร โดยทำนองนี้ ครรภ์ของภรรยาน้อยจึงตกไป แท้งถึง 2 ครั้ง

พอครั้งที่สาม ภรรยาน้อยไปปรึกษากับเพื่อน พวกเพื่อนๆ พูดเป็นทำนองให้เฉลียวใจถึงภรรยาหลวง นางจึงระวังตัว คราวนี้ไม่ยอมบอก พยายามถนอมจนครรภ์แก่ นางเมียหลวงไม่ได้ช่องที่จะผสมยาลงไปในอาหารได้ เพราะเขาระวังตัวอยู่ จนกระทั่งครรภ์แก่ นางจึงได้โอกาส แต่ครรภ์ไม่ตก เพราะแก่เสียแล้ว แต่กลับนอนขวาง

ภรรยาน้อยได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัสจนสิ้นชีวิต ก่อนสิ้นชีพได้อธิษฐานขอจองเวรกับหญิงนั้น นางตายแล้วไปเกิดเป็นแมวตัวเมียในเรือนนั่นเอง

ฝ่ายสามีของนาง รู้ว่าภรรยาหลวงประกอบยาทำลายครรภ์ของภรรยาน้อยถึง 3 ครั้ง โกรธจัด ประหารภรรยาหลวงเสียถึงตาย นางไปเกิดเป็นแม่ไก่

พอแม่ไก่ตกไข่ แมวก็ไปกินเสียถึง 3 ครั้ง แม่ไก่ผูกพยาบาท ขอให้ได้เกิดเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งที่พอทำร้ายนางแมวได้ แม่ไก่ไปเกิดเป็นแม่เสือเหลือง ส่วนนางแมวไปเกิดเป็นแม่เนื้อ พอแม่เนื้อคลอดลูก แม่เสือเหลืองก็มากินเสียทุกครั้ง แม่เนื้อผูกพยาบาท ตายจากชาตินั้นไปเกิดเป็นนางยักษิณี แม่เสือไปเกิดเป็น หญิงชาวบ้านธรรมดา เมื่อหญิงนั้นคลอดลูก นางยักษิณีก็ปลอมแปลงตัวเป็น หญิงสหายของเธอ มากินลูกเสียทุกครั้ง

พอครั้งที่ 3 หญิงนั้นหนีไปคลอดลูกที่อื่น และนางยักษิณีก็ติดเข้าเวรส่งน้ำให้ ท้าวเวสสุวรรณเสียหลายเดือน พอออกเวรก็รีบมายังบ้านของหญิงนั้น ทราบว่า เธอไปคลอดลูกที่บ้านเดิม คือบ้านพ่อแม่ของนาง

ยักษิณี อันกำลังแห่งเวรให้อุตสาหะ แล้วรีบวิ่งไปยังบ้านนั้น เวลานั้น หญิงคู่เวรคลอดลูกแล้ว กำลังกลับมาพร้อมด้วยสามี มาถึงสระแห่งหนึ่งหน้าวัดเชตวัน สามีลงอาบน้ำในสระ นางยืนอุ้มลูกให้ดื่มนมคอยอยู่ เหลียวมาเห็นนางยักษ์กำลังวิ่งมาอย่างเร็ว จึงร้องตะโกนให้สามีขึ้นมาช่วย เมื่อเห็นว่าสามีจะขึ้นมาไม่ทัน นางยักษ์วิ่งมากระชั้นชิดแล้ว นางจึงอุ้มลูกวิ่งหนีเข้าวัดเชตวัน

เวลานั้น พระศาสดากำลังประทับแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัทในธรรมสภา เธอนำลูกไปวางไว้ใกล้บาทแห่งพระผู้มีพระภาค ละล่ำละลักทูลว่า "ขอได้โปรดเป็นที่พึ่งของเด็กคนนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า"

นางยักษ์วิ่งไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด พอถึงประตูวัดเชตวัน สุมนเทพ ผู้สิงอยู่ที่ซุ้มประตูไม่ยอมให้เข้า

พระศาสดา ทรงทราบเหตุการณ์ทั้งปวงโดยตลอด รับสั่งให้พระอานนท์ ไปนำนางยักษ์เข้ามา เมื่อหญิงนั้นเห็นนางยักษ์เข้ามาก็ตกใจกลัว ร้องขอให้พระศาสดาช่วย ศาสดาตรัสปลอบว่า

"อย่ากลัวเลย ณ ที่นี้ นางยักษ์จะทำอันตรายไม่ได้" ดังนี้ ตรัสกับนางยักษ์ว่า

"ดูก่อนยักษิณี และกุลธิดา เพราะเหตุไร เจ้าทั้งสองจึงจองเวรกันเช่นนี้ ถ้ามิได้พบพระพุทธเจ้าเช่นเรา เวรของเจ้าทั้งสองก็จะดำรงอยู่ชั่วกัปป์ เหมือนเวรของงูกับพังพอน หมีกับไม้สะคร้อ และ กากับนกเค้า เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า"

พระศาสดาทรงยังพระธรรมเทศนาให้พิสดารโดยอเนกปริยาย ในการจบเทศนา นางยักษ์ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นโสดาบัน เป็นผู้มีศีล 5 สมบูรณ์ พระศาสดารับสั่งให้หญิงนั้นส่งลูกให้ยักษิณี กุลธิดากราบทูลว่า เธอกลัว พระศาสดาตรัสว่าอย่ากลัวเลย อันตรายจากยักษิณีไม่มีแล้ว นางจึงส่งลูกให้, นางยักษ์รับเด็กมากอดจูบแล้วส่งคืนให้มารดา แล้วร้องไห้ พระศาสดาตรัสถามว่าร้องไห้ทำไม นางทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์! เมื่อก่อนนี้ ข้าพระพุทธเจ้า หากินโดยไม่เลือกทาง ก็ยังไม่สามารถหาอาหารมาให้พอเต็มท้องได้ บัดนี้ ต่อจากนี้ไป ข้าพระพุทธเจ้าจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร?"

พระศาสดารับสั่งให้หญิงนั้น นำนางยักษ์ไปเลี้ยงไว้ที่บ้าน ให้ข้าวและน้ำ กระทำอุปการะอย่างดี

ยักษิณีรู้อุปการะของหญิงนั้นแล้ว ช่วยบอกว่า ปีนี้ฝนจะตกมากให้ทำนาบนที่ดอน, ปีนี้ฝนจะตกน้อยให้ทำนาในที่ลุ่ม กุลธิดาได้ทำตามคำแนะนำของยักษิณี ได้ข้าวดีทุกปี

คนชาวบ้านทั้งหลายรู้ข่าวเข้าก็ชวนกันมาถามบ้าง ยักษิณีก็บอกให้ คนทั้งหลายได้นำข้าว น้ำ และผลไม้มาให้ยักษิณีเป็นการตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต่างมีอุปการะซึ่งกันและกันด้วยประการฉะนี้

เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ดังพรรณนามาฉะนี้

หมายเหตุ : ลำดับชาติที่ทั้งสองจองเวรกัน เมียน้อย-นางแมว-นางเนื้อ-นางยักษ์ เมียหลวง-นางไก่-นางเสือเหลือง-กุลธิดา

ทางแห่งความดี ๐๕
วศิน อินทสระ
การระงับเวรด้วยการไม่จองเวร
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 14 สิงหาคม 2545







#ทานตัดชีวิต

"ที่เมืองจีนเขามีการเรี่ยไรเพื่อหล่อพระพุทธรูปองค์ใหญ่ พระท่านก็ไปประกาศเรี่ยไร มีผู้หญิงคนหนึ่งที่มีอาชีพกวาดถนน เกิดศรัทธาอยากจะถวาย #ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเงินอยู่อีแปะเดียว #ตัดสินใจถวายร่วมด้วย

พระที่เรี่ยไรนั้นอยู่ในอารมณ์ไหนไม่รู้ เห็นว่าเงินมันน้อยเหลือเกินก็เลยโยนคืนให้

'จะเอาไปทำอะไร...ก็เอาไป บริจาคมาแค่นี้ พระองค์ใหญ่ตั้งหลายวา' ผู้หญิงคนนั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เลยเก็บอีแปะนั้นไว้

เมื่อพระท่านเรี่ยไร ได้ทองแดงทองเหลืองจำนวนมากพอที่จะหล่อพระแล้ว #ก็ปรากฏว่าหล่อไม่ติด

ครั้งแรกพอทุบเบ้าออกมาเนื้อทองแล่นไม่ทั่ว ต้องเริ่มต้นทำแบบใหม่ ครั้งที่สองก็เป็นแบบนั้นอีก ครั้งที่สามก็เป็นแบบนั้นอีก

หลวงพ่อเจ้าอาวาสท่านประสบการณ์สูง เรียกพวกลูกวัดและบรรดากรรมการวัดทั้งหมดมาสอบถาม ว่าในช่วงที่ออกไปเรี่ยไรขอทองแดง ทองเหลืองจากชาวบ้าน มีเหตุอะไรผิดปกติบ้างหรือเปล่า

ท่านก็ไล่สอบถามพระไปทีละสาย ๆ จนไปเจอพระสายนี้

บอกว่ามีหญิงคนหนึ่งที่เขากวาดถนนอยู่ #เขาบริจาคมาหนึ่งอีแปะเห็นว่ามันน้อยไปก็เลยโยนคืนให้
ปรากฏว่าหลวงพ่อเจ้าอาวาสพาพระทั้งวัดไปขอขมาแล้วขอเหรียญอีแปะนั้นคืน

เมื่อได้เหรียญอีแปะนั้นแล้ว ก็เอาใส่ลงไปเพื่อหล่อพระ ทุบแบบออกมา ปรากฏว่าเป็นองค์พระบริบูรณ์ สมบูรณ์ทุกประการ และที่อัศจรรย์ที่สุดก็คือ #อีแปะเหรียญนั้นไม่ละลาย #แต่ไปติดอยู่ตรงหน้าอกพระตรงหัวใจพอดี

หลวงพ่อเจ้าอาวาสจึงขอรายละเอียด ปรากฏว่าผู้หญิงคนนั้นเขามีอาชีพกวาดถนน เงินเดือนแทบไม่พอยาไส้


อีแปะเหรียญนั้นเขาซื้อข้าวต้มเปล่าได้ถ้วยเดียว และเป็นอาหารประจำวันของเขา #มันเป็นทานตัดชีวิตเลย

เพราะฉะนั้นอย่าคิดว่าแค่บาทเดียวนะจ๊ะ #มากพอที่พระจะปาราชิกเลย"

เก็บตกบ้านอนุสาวรีย์ ต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒

โดย พระครูวิลาศกาญจนธรรม,ดร.
(พระอาจารย์เล็ก สฺธมฺมปญฺโญ) วัดท่าขนุน







เหตุนั้นจึงควรมีความสำรวมระวัง อย่าประมาทในสิ่งที่เรามองไม่เห็น อย่าเหยียดหยามติเตียนในวัตถุทานของผู้ใด ในศีลของเขาก็ดี ในภาวนาของเขาก็ดี

เขาอาจมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นความดีแฝงอยู่ภายใน แต่ถูกปกปิดไว้ด้วยกรรมที่มองไม่เห็น ถ้าเราไปประมาทเขาเข้า กรรมนั้นอาจกลับมาเป็นโทษสนองตัวเราเองให้ได้รับผลวิบากในกาลภายหน้าได้

ท่านพ่อลี







#ท่านพ่อลีแสดงธรรมเรื่องกรรม

•••พ่อลีแสดงถึงส่วนกรรมและผลของกรรมที่บุคคลทำกรรมอันใดไว้ก็จักต้องได้รับผลของกรรมนั้นเพราะกรรมเป็นของๆตนไม่มีใครอื่นจะรับแทนกันได้

เหตุนี้ท่านจึงสอนให้เราหมั่นทำบุญกุศลไว้เพื่อใช้หนี้เวรกรรมที่เรามองไม่เห็น ให้มีการเสียสละทรัพย์ของตนบูชาพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ และเป็นทานแก่คนอื่นเป็นต้นซึ่งนับว่าเป็นบุญกุศลอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ‘ทาน’ หรือ ‘การบริจาค’

ของสิ่งใดที่จะเป็นภัยแก่จิตใจ
ให้ทำลายหรือสละสิ่งนั้นเสีย
แล้วผู้นั้นก็จะได้ความสุขเป็นการตอบแทน

การบริจาคนี้มีอยู่ ๒ อย่างคือ
การบริจาค “ทรัพย์ภายนอก”
และ “ทรัพย์ภายใน”

ทรัพย์ภายนอก
เป็นของโลกเป็นของกลางๆอย่าไปถือว่าเป็นของของเรา เพราะมันจะอยู่กับเราตลอดไปนั้นไม่ได้ มันจะต้องยักย้ายถ่ายเท เมื่อไปอยู่กับคนเขาก็ถือว่าเป็นของของเขา..

เช่นบุตรภรรยาสามีและทรัพย์สินเงินทองเหล่านี้.. ย่อมจัดว่าเป็นทรัพย์ภายนอกทั้งสิ้นใครหลงรักใคร่ยึดถือไว้ว่าเป็นของของตน..ก็ย่อมจะเป็นภัยแก่จิตใจของผู้นั้น หาความสุขมิได้ดังนี้

อีกอย่างหนึ่งทรัพย์ที่เรามีสิทธิ์อำนาจคุ้มครองเรียกว่า ‘โลกียทรัพย์’ หรือ ‘ทรัพย์ภายนอก’ ทรัพย์ที่ทำให้เราสำเร็จผลในการบำเพ็ญศาสนธรรมเรียกว่า ‘อริยทรัพย์’ หรือ ‘ทรัพย์ภายใน’ ท่านจึงกล่าวเป็นคติไว้ว่า “รักลูกก็เหมือนเชือกผูกคอรักสามีภรรยาก็เหมือนปอผูกศอกรักทรัพย์สมบัติภายนอกก็เป็นห่วงผูกข้อเท้า”

ถ้าผู้ใดติดอยู่บ่วง ๓ บ่วงนี้แล้วก็ย่อมจะกระดิกตัวไม่ไหวไปไหนไม่รอดแน่จะต้องติดอยู่ในโลกนี้เองฯ

แล้วท่านพ่อก็กล่าวสอนย้ำอีกว่า...
“สิ่งใดที่เป็นของรัก
สิ่งนั้นย่อมเป็นศัตรูแก่ดวงใจ
จึงควรละสิ่งนั้นเสีย
แล้วตนเองก็จะมีความสุข”

ฉะนั้นคนเราจึงอย่าไปเหยียดหยามดูถูก
ในคนที่เขามีปัญญาน้อยหรือฐานะกำเนิดชาติสกุลของเขาที่ตกอยู่ในความต่ำต้อย
เพราะสิ่งเหล่านี้มันขึ้นอยู่ที่กรรมแห่งบุคคล
ซึ่งทำไว้ในกาลก่อน จึงส่งผลจำแนกให้มา
เป็นในลักษณะต่างกัน

บางคนแม้จะตกไปอยู่ในสกุลที่ลำบาก
ยากเข็ญใจ.. ก็สักแต่ว่ากรรมซัดไปเท่านั้น
แต่ความดีซึ่งติดอยู่ในจิตสันดานเดิมของเขา
มีอยู่.. เขาก็อาจจะสำเร็จมรรคผลได้ในวันหนึ่ง

ที่กรรมนั้นซัดไปให้เกิดในสกุลยาก
ก็เพื่อจะทรมานเขาให้แลเห็นทุกข์เห็นโทษ
และใช้หนี้เวรเก่าของเขาให้หมดสิ้นไปก็มี
เพราะคนเราทุกคนที่เกิดมานี้ย่อมเกิดมา
แต่ผลของกรรมเก่าที่ตนกระทำไว้ทั้งสิ้น

ถ้าผู้ใดมีดวงตาญาณ
ผู้นั้นก็อาจจะรู้ชาติภพของตน
ที่กระทำกรรมอันใดไว้

ผู้ใดที่ดวงตายังมืดอยู่ด้วยอวิชชา
ผู้นั้นก็ย่อมมองไม่เห็น

เรื่องของกรรมนี้พระพุทธเจ้าท่าน
ก็ทรงสอนไว้มิให้เราประมาท

ผู้ใดทำดีก็ย่อมไม่หนีจากกรรมดี
ผู้ใดทำชั่วก็ย่อมไม่หนีจากกรรมชั่วนั้น

เหตุนั้นจึงควรมีความสำรวมระวัง
อย่าประมาทในสิ่งที่เรามองไม่เห็น
อย่าเหยียดหยามติเตียนในวัตถุทาน
ของผู้ใด ในศีลของเขาก็ดี
ในภาวนาของเขาก็ดี

เขาอาจมีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ซึ่งเป็นความดีแฝงอยู่ภายใน
แต่ถูกปกปิดไว้ด้วยกรรมที่มองไม่เห็น

ถ้าเราไปประมาทเขาเข้า
กรรมนั้นอาจกลับมาเป็นโทษสนองตัวเราเอง
ให้ได้รับผลวิบากในกาลภายหน้าได้

‘จิต’ นี้จะว่าตายก็ตาย
จะว่าไม่ตายก็ไม่ตาย

จิตที่ตายก็คือจิตที่มีอาการ
แปรเปลี่ยนไปด้วยบาปอกุศล

จิตคงที่อยู่ในสภาพเดิม
หรือเป็นจิตที่เจือด้วยบุญกุศล
ก็เป็นจิตที่ไม่ตาย

ร่างกายของเรานี้เรียกเป็น ๔ อย่าง
๑. รูป
๒. กาย
๓. สรีระ
๔. ธาตุ

กายนี้ก็ไม่ได้ตายไปไหนเป็น
แต่มันแปรเปลี่ยนไปเข้าสภาพเดิมของมัน

ธาตุดินก็ไปอยู่กับธาตุดิน
ธาตุน้ำก็ไปอยู่กับธาตุน้ำ
ธาตุไฟก็ไปอยู่กับธาตุไฟ
ธาตุลมก็ไปอยู่กับธาตุลมฯลฯ

ก่อนที่เราจะเกิดมาจริงๆนั้น
ก็คือธาตุทั้ง ๔ ไปประชุมสามัคคีกันขึ้น
และถ้าเจ้าตัวจิตวิญญาณซึ่งลอยอยู่นั้น
เข้าไปแทรกผสมเข้าเมื่อใด
ก็จะเกิดเป็นสิ่งที่มีชีวิตขึ้น
แล้วก็ค่อยๆขยายตัวเติบโตออกไปทุกทีๆ

เป็นเลวบ้างประณีตบ้าง
เป็นคนบ้างเป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง
แล้วแต่กรรมของจิตที่เป็น ‘บุญ’ หรือ ‘บาป’

‘จิต’ เป็นผู้รับผิดชอบในบุญและบาป
ทั้งหลายคือกรรมดีและกรรมชั่ว
‘ร่างกาย’ นั้นไม่ใช่เป็นผู้รับผิดชอบ.

ท่านพ่อลี ธัมมธโร







#หลวงตามหาบัว
อสุภะ. พิจารณาร่างกาย. เป็นสิ่งที่สมควรกับจิตเรา. ที่ยังหยาบอยู่มาก.
____
อุบายวิธีพิจารณาด้านปัญญาที่ท่านดำเนินเป็นลำดับมานี้ ท่านเคยกล่าวไว้ในคราวอบรมพระเณรเสมอๆ เพราะเป็นสิ่งที่ท่านเน้นหนักมาก เฉพาะอย่างยิ่งแก่นักบวช จะได้รู้จักวิธีพิจารณาอันนำมาซึ่งความสงบร่มเย็นภายในใจ ดังนี้

"...ก็เร่งทางด้านปัญญา เร่งทางกายนี้ก่อน ตอนอสุภะ นี่สำคัญอยู่มากนะ สำคัญมากจริงๆ พิจารณาอสุภะนี่มันคล่องแคล่งแกล้วกล้า มองดูอะไรทะลุไปหมด ไม่ว่าจะหญิงจะชายจะหนุ่มจะสาวขนาดไหน

เอ้า พูดให้เต็มตามความจริงที่จิตมันกล้าหาญน่ะ ไม่ต้องให้มีผู้หญิงเฒ่าๆ แก่ๆ ละ ให้มีแต่หญิงสาวๆ เต็มอยู่ในชุมนุมนั้นน่ะ เราสามารถจะเดินบุกเข้าไปในที่นั่นได้ โดยไม่ให้มีราคะตัณหาอันใดแสดงขึ้นมาได้เลย นั่นความอาจหาญของจิตเพราะอสุภะ

มองดูคนมีแต่หนังห่อกระดูก มีแต่เนื้อแต่หนังแดงโร่ไปหมด มันเห็นความสวยความงามที่ไหน เพราะอำนาจของอสุภะมันแรง มองดูรูปไหนมันก็เป็นแบบนั้นหมด แล้วมันจะเอาความสวยงามมาจากไหนพอให้กำหนัดยินดี เพราะฉะนั้น มันจึงกล้าเดินบุก เอ้า ! ผู้หญิงสาวๆ สวยๆ นั้นแหละ บุกไปได้อย่างสบายเลยถึงครามมันกล้า เพราะเชื่อกำลังของตัวเอง

แต่ความกล้านี้ก็ไม่ถูกกับจุดที่จิตอิ่มตัวในขั้นกามราคะ จึงได้ตระหนักตัวเองเมื่อจิตผ่านไปแล้ว ความกล้านี้มันก็บ้าอันหนึ่งเหมือนกัน แต่ตอนที่ดำเนินก็เรียกว่าถูกในการดำเนิน เพราะต้องดำเนินอย่างนั้น เหมือนการตำหนิอาหารในเวลาอิ่มแล้วนั่นแล จะผิดหรือถูกก็เข้าในทำนองนี้

การพิจารณาอสุภะอสุภัง พิจารณาไปจนกระทั่งว่าราคะนี้ไม่ปรากฏเลย ค่อยหมดไปๆ และหมดไปเอาเฉยๆ ไม่ได้บอกเหตุบอกผล บอกกาลบอกเวลาบอกสถานที่ บอกความแน่ใจเลยว่า ราคะความกำหนัดยินดีในรูปหญิงรูปชายนี้ได้หมดไปแล้ว ตั้งแต่ขณะนั้น เวลานั้น สถานที่นั้น ไม่บอก จึงต้องมาวินิจฉัยกันอีก ความหมดไปๆ เฉยๆ นี้ไม่เอา คือจิตมันไม่ยอมรับ

ถ้าหมดตรงไหนก็ต้องบอกว่าหมดให้รู้ชัดว่า หมดเพราะเหตุนั้น หมดในขณะนั้น หมดในสถานที่นั้น ต้องบอกเป็นขณะให้รู้ซิ ฉะนั้น จิตต้องย้อนกลับมาพิจารณาหาอุบาย วิธีต่างๆ เพื่อแก้ไขกันอีก เมื่อหมดจริงๆ มันทำไมไม่ปรากฏชัดว่าหมดไป ในขณะนั้นขณะนี้นะ

พอมองเห็นรูป มันทะลุไปเลย เป็นเนื้อเป็นกระดูกไปหมดในร่างกายนั่น ไม่เป็นหญิงสวยหญิงงาม คนสวยคนงามเลย เพราะอำนาจของอสุภะมีกำลังแรง เห็นเป็นกองกระดูกไปหมด มันจะเอาอะไรไปกำหนัดยินดีเล่าในเวลาจิตเป็นเช่นนั้น ทีนี้ก็หาอุบายพลิกใหม่ว่า

"ราคะนี้มันสิ้นไปจนไม่มีอะไรเหลือนั้น มันสิ้นในขณะใดด้วยอุบายใด ? ทำไมไม่แสดงบอกให้ชัดเจน"

จึงพิจารณาพลิกใหม่ คราวนี้เอาสุภะเข้ามาบังคับ พลิกอันที่ว่าอสุภะที่มีแต่ร่างกระดูกนั้นออก เอาหนังหุ้มห่อให้สวยให้งาม นี่เราบังคับนะ ไม่งั้นมันทะลุไปทางอสุภะทันที เพราะมันชำนาญนี่ จึงบังคับให้หนังหุ้มกระดูกให้สวยให้งาม แล้วนำเข้ามาติดแนบกับตัวเอง นี่วิธีการพิจารณาของเรา เดินจงกรมก็ให้ความสวยความงามรูปอันนั้นน่ะติดแนบกับตัว ติดกับตัวไปมาอยู่อย่างนั้น

"เอ้า มันจะกินเวลานานสักเท่าไร ? หากยังมีอยู่มันจะต้องแสดงขึ้นมา หากไม่มีก็ให้รู้ว่าไม่มี..."

เหมือนว่าหมดกามราคะ

หลังจากเอาวิธีการนี้มาปฏิบัติได้ 4 วันเต็มๆ ก็ไม่แสดงความกำหนัดยินดีขึ้นมาแต่อย่างใด ถึงจุดนี้ท่านกล่าวว่า

"...ทั้งๆ ที่รูปนี้สวยงามที่สุดมันก็ไม่แสดง มันคอยแต่จะหยั่งเข้าหนังห่อกระดูก แต่เราบังคับไว้ให้จิตอยู่ที่ผิวหนังนี่ พอถึงคืนที่ 4 น้ำตาร่วงออกมา บอกว่า "ยอมแล้วไม่เอา" คือมันไม่ยินดีนะ มันบอกว่า

"ยอมแล้ว"

ด้านทดสอบก็ว่า "ยอมอะไร ถ้ายอมว่าสิ้น ก็ให้รู้ว่าสิ้นซิ ยอมอย่างนี้ ไม่เอา ยอมชนิดนี้ ยอมมีเล่ห์เหลี่ยม เราไม่เอา"

กำหนดไป กำหนดทุกแง่ทุกมุมนะ แง่ไหนมุมใดที่มันจะเกิดความกำหนัดยินดี เพื่อจะรู้ว่าความกำหนัดยินดีมันจะขึ้นขณะใด เราจะจับเอาตัวแสดงออกมานั้นเป็นเครื่องพิจารณาถอดถอนต่อไป พอดึกเข้าไปๆ กำหนดเข้าไปๆ แต่ไม่กำหนดพิจารณาอสุภะนะ ตอนนั้นพิจารณาแต่สุภะอย่างเดียวเท่านั้น 4 วันเต็มๆ เพราะจะหาอุบายทดสอบหาความจริงมันให้ได้

พอสัก 3-4 ทุ่มล่วงไปแล้ว ในคืนที่ 4 มันก็มีลักษณะยุบยับเป็นลักษณะเหมือนจะกำหนัดในรูปสวยๆ งามๆ ที่เรากำหนดติดแนบกับตัวเป็นประจำในระยะนั้น มันมีลักษณะยุบยับชอบกล สติทันนะ เพราะสติมีอยู่ตลอดเวลานี่ พอมีอาการยุบยับก็กำหนดเสริมขึ้นเรื่อยๆ

"นั่นมันมีลักษณะยุบยับเห็นไหม จับเจ้าตัวโจรหลบซ่อนได้แล้วที่นี่ นั่นเห็นไหม มันสิ้นยังไง ถ้าสิ้นทำไมจึงต้องเป็นอย่างนี้"

กำหนดขึ้นๆ คือ คำว่า ยุบยับนั้นเป็นแต่เพียงอาการของจิต แสดงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้ทำอวัยวะให้ไหวนะ มันเป็นอยู่ภายในจิต พอเสริมเข้าๆ มันก็แสดงอาการยุบยับๆ ให้เป็นที่แน่ใจว่า

"เอ้อ นี่มันยังไม่หมด เมื่อยังไม่หมดจะปฏิบัติยังไง ?"

ทีนี้ ต้องปฏิบัติด้วยอุบายใหม่โดยวิธีสับเปลี่ยนกัน ทั้งนี้เพราะทางไม่เคยเดิน สิ่งไม่เคยรู้ จึงลำบากต่อการปฏิบัติอยู่มาก พอเรากำหนดไปทางอสุภะนี้ สุภะมันดับพึบเดียวนะ มันดับเร็วที่สุดเพราะความชำนาญทางอสุภะมาแล้ว

พอกำหนดอสุภะมันเป็นกองกระดูกไปหมดทันที ต้องกำหนดสุภะ ความสวยงามขึ้นมาแทนที่ สับเปลี่ยนกันอยู่นั้น นี่ก็เป็นเวลานานเพราะหนทางไม่เคยเดิน มันไม่เข้าใจก็ต้องทดสอบด้วยวิธีการต่างๆ จนเป็นที่แน่ใจ จึงจะตัดสินใจลงทางใดทางหนึ่งได้ที่นี้..."

หลังจากได้ลองทดสอบกำหนดอสุภะและสุภะสลับสับเปลี่ยนกันไปมาอยู่นั้น วาระสุดท้ายที่จะทำให้ท่านได้รู้ความจริงก็คือ

"เวลาจะได้ความจริง ก็นั่งกำหนดอสุภะไว้ตรงหน้า จิตกำหนดอสุภะไว้ให้ตั้งอยู่อย่างนั้น ไม่ให้เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือตั้งให้คงที่ของมันอยู่อย่างนั้นละ จะเป็นหนังห่อกระดูกหรือว่าหนังออกหมดเหลือแต่กระดูกก็ให้มันรู้อยู่ตรงหน้านั้น แล้วจิตเพ่งดูด้วยความมีสติจดจ่อ อยากรู้อยากเห็นความจริงจากอสุภะนั้นว่า

เอ้า ! มันจะไปไหนมาไหน กองอสุภะกองนี้จะเคลื่อนหรือเปลี่ยนตัวไปไหนมาไหน คือเพ่งยังไงมันก็อยู่อย่างนั้นละ เพราะความชำนาญของจิต ไม่ให้ทำลายมันก็ไม่ทำ เราบังคับไม่ให้มันทำลาย ถ้ากำหนดทำลายมันก็ทำลายให้พังทลายไปในทันทีนะ เพราะความเร็วของปัญญา แต่นี่เราไม่ให้ทำลายให้ตั้งอยู่ตรงหน้านั้นเพื่อการฝึกซ้อมทดสอบกัน หาความจริงอันเป็นที่แน่ใจ

พอกำหนดเข้าไปๆ อสุภะที่ตั้งอยู่ตรงหน้านั้นมันถูกจิตกลืนเข้ามาๆ อมเข้ามาๆ หาจิตนี้ สุดท้ายเลยรู้เห็นว่าเป็นจิตเสียเอง เป็นตัวอสุภะนั้นน่ะ จิตตัวไปกำหนดว่าอสุภะนั้นน่ะมันกลืนเข้ามาๆ เลยมาที่ตัวจิตเสียเองไปเป็น สุภะ และ อสุภะ หลอกตัวเอง จิตก็ปล่อยผลัวะทันที ปล่อยอสุภะข้างนอกว่าเข้าใจแล้วที่นี่ เพราะมันขาดจากกัน มันต้องอย่างนี้ซิ

นี่มันเป็นเรื่องของจิตต่างหาก ไปวาดภาพหลอกตัวเอง ตื่นเงาตัวเอง อันนั้น เขาไม่ใช่ราคะ อันนั้นไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ ตัวจิตนี้ต่างหากเป็นตัวราคะ โทสะ โมหะ ทีนี้พอจิตรู้เรื่องนี้ชัดเจนแล้ว จิตก็ถอนตัวจากอันนั้นมาสู่ภายใน พอจิตแย็บออกไป มันก็รู้ว่าตัวนี้ออกไปแสดงต่างหาก ทีนี้ภาพอสุภะนั้นมันก็เลยมาปรากฏอยู่ภายในจิตโดยเฉพาะ

กำหนดอยู่ภายในพิจารณาอยู่ภายในจิต ทีนี้มันไม่เป็นความกำหนัดอย่างนั้นน่ะซิ มันผิดกันมาก เรื่องความกำหนัดแบบโลกๆ มันหมดไปแล้ว มันเข้าใจชัดว่า มันต้องขาดจากกันอย่างนี้ คือมันตัดสินกันแล้วเข้าใจแล้ว ทีนี้ก็มาเป็นภาพปรากฏอยู่ภายในจิต ก็กำหนดอยู่ภายในนั้น พอกำหนดอยู่ภายใน มันก็ทราบชัดอีกว่า ภาพภายในนี้ก็เกิดจากจิต มันดับ มันก็ดับไปที่นี่ มันไมดับไปที่ไหน

พอกำหนดขึ้นมันดับไป พอกำหนดไม่นานมันก็ดับไป ต่อไปมันก็เหมือนฟ้าแลบนั่นเอง พอกำหนดพั้บขึ้นมาเป็นภาพก็ดับไปพร้อมๆ กัน เลยจะขยายให้เป็น สุภะ อสุภะ อะไรไม่ได้ เพราะความรวดเร็วของความเกิดดับ พอปรากฏขึ้นพั้บ ก็ดับพร้อมๆ

ต่อจากนั้นนิมิตภายในจิตก็หมดไป จิตก็กลายเป็นจิตว่างไปเลย ส่วนอสุภะภายนอกนั้นหมดปัญหาไปก่อนหน้านี้แล้ว เข้าใจแล้วตั้งแต่ขณะที่มันกลืนตัวเข้ามาสู่จิต มันก็ปล่อยอสุภะข้างนอกทันทีเลย รูป เสียง กลิ่น รส อะไรข้างนอกมันปล่อยไปหมด เพราะอันนี้ไปหลอกต่างหากนี่ เมื่อเข้าใจตัวนี้ชัดแล้ว อันนั้นไม่มีปัญหาอะไร มันเข้าใจทันทีและปล่อยวางภายนอกโดยสิ้นเชิง..."

ท่านเล่าถึงความอัศจรรย์ของจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้นต่อไปว่า

"...หลังจากภาพกายในดับไปหมดแล้วจิตก็ว่าง ว่างหมดทีนี้ กำหนดดูอะไรก็ว่างหมด มองดูต้นไม้ภูเขาตึกรามบ้านช่อง เห็นเป็นเพียงรางๆ เป็นเงาๆ แต่ส่วนใหญ่คือจิตนี้มันทะลุไปหมด ว่างไปหมด แม้แต่มองดูร่างกายตัวเอง มันก็เห็นแต่พอเป็นเงาๆ ส่วนจิตแท้มันทะลุไปหมด ว่างไปหมด ถึงกับออกอุทานในใจว่า

"โอ้โฮ ! จิตนี้ว่างถึงขนาดนี้เชียวนา ว่างตลอดเวลา ไม่มีอะไรเข้าผ่านในจิตเลย"

ถึงมันจะว่างอย่างนั้นมันก็ปรุงภาพเป็นเครื่องฝึกซ้อมอยู่เหมือนกัน เราจะปรุงภาพใดก็แล้วแต่เถอะ เป็นเครื่องฝึกซ้อมจิตใจให้มีความว่างช่ำชองเข้าไป จนกระทั่งแย็บเดียวว่างๆ พอปรุงขึ้นแย็บมันก็ว่างพร้อมๆ ไปหมด

ตอนนี้แหละ ตอนที่จิตว่างเต็มที่ความรู้อันนี้จะเด่นเต็มที่ที่นี่ คือ รูปก็ดี เวทนาก็ดี สัญญาก็ดี สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี มันรู้รอบหมดแล้ว แล้วปล่อยของมันหมด ไม่มีอะไรเหลือ เหลือแต่ความรู้เดียว มันมีความปฏิพัทธ์ มันมีความสัมผัสสัมพันธ์อ้อยอิ่งอยู่อย่างละเอียดสุขุมมาก ยากจะอธิบายให้ตรงกับความจริงได้ มันมีความดูดดื่มอยู่กับความรู้อันนี้อย่างเดียว

พออาการใดๆ เกิดขึ้นพั้บมันก็ดับพร้อม มันดูอยู่นี่ สติปัญญาขั้นนี้ ถ้าครั้งพุทธกาลเรียกว่า มหาสติมหาปัญญา แต่สมัยทุกวันนี้ เราไม่อาจเอื้อมพูด เราพูดว่า สติปัญญาอัตโนมัติ ก็พอตัวแล้วกับที่เราใช้อยู่ มันเหมาะสมกันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องให้ชื่อให้นามสูงยิ่งไปกว่านั้น มันก็ไม่พ้นจากความจริงซึ่งเป็นอยู่นี้เลย จิตดวงนี้ถึงได้เด่น ความเด่นอันนี้มันทำให้สว่างไปหมด..."

จากหนังสือ"หยดน้ำบนใบบัว"
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO