นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พฤหัสฯ. 25 เม.ย. 2024 5:46 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ทำลายกิเลส
โพสต์โพสต์แล้ว: อาทิตย์ 10 ก.ค. 2022 4:17 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4539
สังขารคือร่างกายจิตใจเรานี้ เกิดและคิดขึ้นแต่ละครั้ง ย่อมทำความทุกข์ลำบากให้แก่เรามากมาย ตกคลอดออกมาแต่ละครั้ง กว่าจะเป็นมนุษย์ได้ก็สลบไสลและแทบตาย บางรายก็ตายเสียแต่อยู่ในท้องมารดาก็มีจำนวนไม่น้อย เพราะความทุกข์ทรมานมากในการเกิดการตาย

แต่เราเข้าใจว่าการเกิดเป็นของดีมีความสุข จึงปรารถนาอยากเกิดกันเรื่อยๆ ไม่คิดอยากให้มีสิ้นสุด เนื่องจากไม่คำนึงถึงความทุกข์ที่ตามมาในขณะนั้น และความทุกข์ในการตายที่เป็นผลของความเกิด ทั้งไม่ได้คิดว่าความเกิดเป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งมวล ความจริงนับแต่เริ่มตั้งครรภ์ในท้องของมารดามา จนถึงวันตกคลอดออกมาเป็นมนุษย์ มันเป็นเรื่องความทุกข์ล้วนๆ ที่เรียกว่าสังขารเริ่มก่อกวนและเริ่มเป็นตัว “อนิจฺจา วต สงฺขารา” ซึ่งแปลได้ ๓ ประเภท คือสังขารที่คิดปรุงออกจากใจหนึ่ง สังขารที่ประชุมขึ้นเป็นร่างกายหนึ่ง และสังขารภายนอกอันได้แก่ทรัพย์สินเงินทองเป็นต้นหนึ่ง

สังขารทั้งสามประเภทนี้เป็นสิ่งที่น่ารักใคร่ชอบใจและหลงติดอยู่ ทั้งเป็นเหตุก่อทุกข์ให้แก่เจ้าของได้เสมอกัน คือ ความคิดก็ทำให้เพลิดเพลินและเศร้าโศกได้ ร่างกายก็ทำให้รักสงวนน่าเพลิดเพลินหลงใหล และคอยก่อกวนให้เราเป็นทุกข์อยู่เรื่อยๆ ทรัพย์สมบัติก็ทำให้คนลืมตัวและหยิ่ง จนทำให้ลืมความตายโดยไม่มีวันอิ่มพอ ฉะนั้นท่านจึงสอนให้สำนึกตัวอยู่เสมอ ไม่ให้หลงและเพลิดเพลินจนเกินไป สมบัติเงินทองซึ่งเป็นเครื่องประดับเกียรติและช่วยบรรเทาทุกข์ในกรณีต่างๆ เมื่อมีมาแล้วควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนและผู้เกี่ยวข้องเท่าที่ควร ไม่ควรกอดและหวงเอาไว้เฉยๆ เหมือนกรวดทราย เวลาตายไปสมบัติต่างๆ ก็ทิ้งอยู่อย่างนั้นไม่อาจติดตามไปด้วย พอช่วยบรรเทาทุกข์ในโลก ผู้ไปก็ไปตัวเปล่า ทุกข์อยู่เปล่าๆ แบบหมดที่พึ่ง คว้าหาอะไรไม่เจอ

หลวงตามหาบัว






#หลวงปู่หลอด #เล่าถึงการได้รับฟังโอวาทธรรมจากหลวงปู่มั่น

อาตมาเข้าไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ในปี พ.ศ. 2487 นั้น แต่ก่อนยังฟังเทศน์ไม่รู้เรื่อง อายตนะยังไม่รู้ ราคะ โทสะ โมหะ ยังไม่รู้เรื่องเลย มืดแปดด้าน การศึกษาน้อย ต้องศึกษาก่อน ภาวนาก็ยังไม่เป็น บวชมาตั้ง 8 ปีแล้ว มันก็จริงนะสิ แต่อาศัยความอดทน ยังไม่รู้อายตนะ

อายตนะ แปลว่า เครื่องต่อ ตาเห็นรูปมันก็ต่อแล้ว ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ภายใน 6 ภายนอก 6 รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ กายคู่กับสัมผัส ใจคู่กับอารมณ์ อารมณ์อะไรก็ดี ราคะ โทสะ โมหะ

ซึ่งในตอนที่อาตมาไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ยังพิจารณาธรรมได้ไม่แตกฉาน เพิ่งเรียนรู้ และเริ่มเข้าใจในเรื่องธรรมะ และความสงบ

ท่านสอนอยู่ 3 เรื่อง หลักๆ คือ เรื่อง อายตนะ การพิจารณากาย และ อานาปานสติ ท่านให้พิจารณาอานาปานสติกัมมัฏฐานเป็นหลักใหญ่ เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อานาปานสติ

เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค หนทางนี้หนทางเดียวคือ ทางกายนี้ เกสา โลมา นะขา ทันตา ตะโจ ก็วนไปวนมา สับไปสับมาอยู่ในนี้ตลอด เพราะเป็นของเก่า ตาก็ของเก่า หูก็ของเก่า จมูกก็ของเก่า ลิ้นก็ของเก่า กายก็ของเก่า ใจก็ของเก่า

ดูไปดูมา ฟังไปฟังมาทุกวัน ตั้งแต่มีรูปเกิดมา ใช้หกอย่างตลอดเลย

ท่านเทศน์ ย้ำหนักเลย เกี่ยวกับอายตนะ ในหนังสือว่า ไม้ชะงก หกพันง่า กะปอมก่า ขึ้นมื้อละฮ้อย ก็อายตนะ 6 กะปอม ถ้ามันออกทุกมื้อๆ กะปอมนั้นคือ ของปลอม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ของปลอม

นอกจากนั้น ท่านสอนให้พิจารณากายให้มาก เวลามีปัญหาท่านก็อธิบาย พิจารณากาย ทำให้มากๆ ตั้งสติให้มากๆ เดี๋ยวมันรู้เอง ท่านว่าอย่างนั้น

เกสา – ผม โลมา-ขน นะขา-เล็บ ทันตา-ฟัน ตะโจ-หนัง จะทำลายกิเลสตัณหา ก็เพราะพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่ใช่ธรรมดานะ มันไม่ยอมให้พิจารณาหรอก ไอ้กิเลสมันไม่ยอม

พอพิจารณากายมันผลักออกเลยไปเรื่องอื่นโน้น สติมันก็ขาดสิ ปรุงไปแต่เรื่องนั้นเรื่องนี้ พิจารณากายมันไม่ยอม ตั้งใจพิจารณากาย ความตั้งใจสู้มันไม่ได้ สู้กิเลสไม่ได้ มันเก่งกว่า

เกสา-ผม โลมา-ขน นะขา-เล็บ ทันตา-ฟัน ตะโจ-หนัง ดึงลมหายใจเข้า-ออกพุทโธ กิเลสมันเล่นงานก่อนแล้ว หาเรื่องมาแล้วอารมณ์เก่าๆ น่ะ

พวกเราต้องศึกษาทุกอย่าง ต้องศึกษาไม่ศึกษาไม่รู้ นี้เป็นหลักความจริง อย่างอายตนะ ถ้าไม่มีใครสอนก็ไม่รู้

อายตนะ คืออะไร อย่างศีล 5 ขา 2 แขน 2 หัว 1 ก็ 5 แล้วจากท้องแม่เลย จะเป็นศีลต้องเว้นวิรัติเจตนาเป็นเครื่องเว้นเหมือนๆ กับอายตนะ 6 ในโลกเหมือนกันหมด ราคะ โทสะ ก็เหมือนกัน ฝรั่งมังค่าก็เหมือนกัน อวิชชาเป็นคนตบแต่งให้

ท่านพระอาจารย์มั่นสอนเรื่องธรรมะให้ภาวนาลูกเดียว เดินจงกรม ถูกนิสัย อะไรก็เอา ถูกพุทโธก็เอา ถูกลมหายใจก็เอา แต่อย่าให้ขาดสติ ขาดสติไม่ได้

หลวงปู่หลอด







***สมถะ และวิปัสสนา***

....."หลวงพ่อคะ วิปัสสนากับสมาธิต่างกันอย่างไรคะ"

ถ้าสมาธิธรรมดาเขาเรียก "สมถภาวนา"
สำหรับ "วิปัสสนา" ต้องอาศัยสมถะเป็นพื้นฐาน ตัวสมาธิเป็นพื้นฐาน เราใช้ปัญญาใคร่ครวญขันธ์ ๕ ใช่ไหม เห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกขัง เป็น อนัตตา เป็นอย่างต่ำนะ ตัวนี้เรียกว่า "วิปัสสนาญาณ" แต่ว่าทั้ง ๓ อย่างเวลาทำต้องร่วมกันแยกกันไม่ได้เลย คือ
๑. ศีลต้องบริสุทธิ์
๒. สมาธิต้องทรงตัว
๓. ใช้ปัญญาพิจารณา

ต้องพร้อมกัน ถ้าเขาบอกว่าที่ไหนปฏิบัติเฉพาะสมถะหรือวิปัสสนา อย่าเชื่อ ทำไม่ได้เลย ถ้าไม่มีปัญญาก็รักษาศีลไม่ได้ ถ้าศีลดีครบถ้วน สมาธิก็เกิด เพราะกำลังของศีลทำให้จิตเยือกเย็น เมื่อสมาธเกิด เมื่อจิตสงบปัญญาก็เกิดทันที ปัญญาอีกตัวหนึ่งนะ
ปัญญานี่มี ๒ ขั้น ทีแรกเรียกว่าปกติปัญญา คือมีความเข้าใจว่าศีลนี่ดี การรักษาศีลเป็นเหตุให้เกิดความสงบ ก็รักษาศีลและการรักษาศีล ศีลจะทรงตัวอยู่ได้ก็
๑. เมตตา ความรัก จิตใจไม่โหดร้าย
๒. กรุณา ความสงสาร
๓.สันโดษ ยินดีเฉพาะของของเรามีอยู่ ไม่คดไม่โกงใคร

ถ้าอาการอย่างนี้ปรากฏกับจิต ศีลก็ทรงตัว เมื่อมี เมตตา มีความรัก กรุณา ความสงสาร จิตก็ไม่เดือดร้อน จิตไม่เดือดร้อนก็มีควมเยือกเย็น ทรงตัว มีสมาธิ พอจิตสงบปัญญาก็เกิดทันที เห็นว่าการเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายเป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ ตัวนี้เป็นวิปัสนาญาน มันต้องคู่กัน.....

โดยพระเดชพระคุณ
พระราชพรหมยานมหาเถระ
(หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)
วัดท่าซุงจังหวัดอุทัยธานี






#โรคที่ร้ายกาจที่สุดก็คือโรคใจ

“...รักษาสุขภาพจิตให้มันดีช่วงนี้นะ สุขภาพจิตอย่าให้เสื่อมจะเป็นภูมิป้องกันได้ดี คือ สุขภาพจิต แต่ถ้าเป็นวิบากกรรมก็ไม่มีอะไรอยู่ได้เหมือนเดิม อย่างงั้นสุขภาพจิตดี แต่ว่าวิบากกรรมเป็นตัวส่งผลมันก็เท่าเก่ามัน ไปบิณบาตรมีแต่โควิดเต็มอยู่นั่น ถ้าพูดถึงว่าโรคที่มันร้ายมันก็แค่โรคที่สัตว์โรคกลัวก็คือความตาย แต่ว่าโรคที่ร้ายกาจกว่าก็คือโรคใจ แต่ถ้าใครภาวนาสุดโต่งได้ก็ดี

สมัยที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ป่วย หลวงปู่วัน อุตตโม ช่วงนั้นประมาณได้สัก ๕ พรรษา นั่นแหละ เป็นผู้อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อยู่ ทีนี้ครูบาอาจารย์ก็ป่วย ป่วยหลายรูปนะ เหลือแต่หลวงปู่วัน อุตตโม รูปเดียว นี้ศึกษาในประวัตินะ เราจะป่วยไม่ได้ เราจะตายไม่ได้ เพราะว่าพ่อแม่ครูอาจารย์ป่วย แม้แต่อาจารย์ใหญ่ก็คือหลวงปู่มั่นก็ป่วย เราจะตายไม่ได้เราจะป่วยไม่ได้ตัดสินใจภาวนาจิตรวมใหญ่...เงียบ ตั้งแต่ช่วงเย็นที่อุปัฏฐากพ่อแม่ครูอาจารย์เสร็จแล้วจนถึงช่วงเช้า อาการที่ว่าโรคไข้กำลังเข้าไป โรคไข้ป่า หาย...เงียบไปเลย หลวงปู่วัน อุตตโม นี่ในประวัตินะ จากนั้นท่านก็เป็นผู้ที่ดูแลพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เจ็บไข้ได้ป่วย ที่ป่วยอาพาธแล้วก็กลุ่มที่ครูบาอาจารย์ที่ไปด้วยกัน

เพราะสมัยก่อนนี้ไข้ป่าตัวนั้น ถ้าจะพูดเปรียบเทียบว่ากับ covid-19 ต่างกันราวฟ้ากับดินนะ อันนั้นหนักสาหัสสากรรจ์ไม่มียารักษา สมัยก่อนนะ...ตาย ถ้าใครรอดก็เป็นภูมิป้องกันได้อย่างดี ได้อย่างดี แต่ถ้าใครไม่รอดก็หมดภูมิป้องกันเหมือนกัน นี่ในสมัยองค์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต นี่สมัยเราก็ลูกได้ถ้าจะเอาจริงเอาจังในภาคปฏิบัติเพื่อทำให้จิตใจตั้งมั่นเป็นสมาธิไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรม ๘ ต่อการเจ็บไข้ได้ป่วย ถ้าไม่ตายด้วยโรคนี้มันก็ตายด้วยโรคอื่นเท่าเก่ามันจะไปหวาดวิตกทำไม อยู่ไปเรื่อย ๆ ถึงตายมันก็ตายเท่าเก่ามัน โรคนั้นบ้างโรคนี้บ้าง โรคไหนก็น่ากลัวหมด แต่มันไม่น่ากลัวเท่าโรคใจหรอกลูก ถ้าใจมันไม่กลัวทุกอย่างมันก็ยุติ โรคที่กลัวเดี๋ยวนี้ก็คือโรคใจอย่างเดียว เพราะใจมันกลัว ใจมันกลัวเป็นกลัวตายกลัวก็เป็นโรคนั้นโรคนี่ มันก็เลยมีปัญหาของมัน อย่างงั้นโรคที่ร้ายกาจที่สุดก็คือโรคใจ...”

พระธรรมเทศนา : องค์หลวงปู่น้อย ญาณวโร
วัดป่าห้วยริน ต.หัวนาคำ อ.กระนวน จ.ขอนแก่น
๑ เมษายน ๒๕๖๕ (ตอนเย็น)
#องค์หลวงปู่น้อย_ญาณวโร #วัดป่าห้วยริน


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO