นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พฤหัสฯ. 25 เม.ย. 2024 10:26 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: วิธีชนะ
โพสต์โพสต์แล้ว: จันทร์ 04 ต.ค. 2021 4:59 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4539
#ท่านสอนไม่ให้ใครเอาอย่างท่าน

หลวงพ่อพระอาจารย์เปลี่ยน ปญฺญาปทีโป ได้เล่าถึงปฏิปทาของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ต่อไปดังนี้..

การที่ท่านเป็นพระที่พูดจาโผงผางไม่อ้อมค้อมนี้ อจลธมฺโมภิกขุ จึงเป็นที่รู้จักในหมู่พระสายกรรมฐาน และในบรรดาประชาชนทั่วไปว่า..

“ใครหน้าบาง ก็อย่าไปนิมนต์พระอาจารย์ตื้อ เพราะนอกจากท่านจะเทศน์ตรงแล้ว ยังพูดตรงอีกด้วย ถ้าใครหน้าบางเป็นนางอายละก็ ฟังไม่ได้”

หลวงพ่อพระอาจารย์เปลี่ยน ได้เล่าต่อไปว่า..

หลวงปู่ตื้อ ท่านมีปฏิปทาที่ไม่เหมือนใคร และใครก็เอาอย่างท่านไม่ได้ เป็นลักษณะนิสัยเฉพาะองค์ท่าน หลวงปู่ไม่เคยสอนใครให้เอาอย่างท่าน แต่ท่านสอนให้ศิษย์ทุกรูปปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สอนให้ทุกคนมีความกล้าหาญ เพราะความกล้าหาญเป็นมรดกในทางธรรมของพระพุทธเจ้า อันหมายถึงว่า ถ้าเราดีจริงๆ แล้วไม่ต้องหวั่นเกรงอันตราย ไม่มีใครจะมาทำร้ายเรา ขอให้ดีจริงๆ ก็แล้วกัน

ความดีมีศีลธรรม มีคำสัตย์ มีคำจริง ไม่มีนิสัยหลอกลวงโลก ชี้ทางพระนิพพานได้จริง นี่เป็นสมบัติของพระพุทธเจ้าที่ควรจะดำเนินจิตใจของเรา

หลวงพ่อพระอาจารย์เปลี่ยน ได้ยกตัวอย่างเรื่องความกล้า และพูดตรงของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ขึ้นมาตอนหนึ่งว่า..

..ความกล้าตอนหนึ่งที่อาตมาจำได้ดี วันนั้นจะมีญาติโยมมาหาท่าน ท่านพูดว่า..

“เดี๋ยวจะมีผีมานั่งตรงนี้...” ท่านชี้ไปตรงที่ว่าง ๆ

“ดูจะมีคนมานั่งที่นี่” ..ท่านชี้ไปอีกด้านหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กัน

นั่งอยู่พักใหญ่ ๆ ก็มีโยมเดินทางมาหาท่านจริง ๆ มีผู้ชายมานั่งตรงที่ท่านบอกว่าผีจะมานั่ง พอนั่งแล้วก็ไม่กราบพระสงฆ์องค์เจ้า นั่งเฉยอยู่อย่างนั้น

ส่วนตรงที่ท่านบอกว่าจะมีคนมานั่ง ก็มีผู้ชายกับผู้หญิงมานั่ง ทั้งหมดมาด้วยกัน มารถคันเดียวกัน แต่แยกลงนั่งที่ต่าง ๆ กัน สองคนหลังกราบหลวงปู่อย่างนอบน้อม พร้อมกับพูดคุยด้วยจิตใจศรัทธาและเบิกบาน

ครั้นคนกลุ่มนั้นขอให้ท่านแสดงธรรมะ คือเทศน์ให้ฟัง ซึ่งหลวงปู่ท่านพร้อมเสมออยู่แล้วก็พูดขึ้นว่า..

เอ้า...ฟังเทศน์นะ คนนี้เขาไม่เอาพุทโธ มาถึงพระพุทธรูปก็ไม่กล้าจะกราบ มาถึงก็นั่งยังกับว่าไม่มีสัมมาคารวะ นี่เป็นผีไม่ใช่คน...”

นี่แสดงถึงความกล้าของท่าน...#ตาในเห็นอย่างไรท่านก็พูดอย่างนั้น ไม่เกรงว่าใครจะโกรธ ใครจะฟังหรือไม่ ชอบหรือไม่ชอบ ท่านไม่ใส่ใจ

หลวงปู่ตื้อมักจะพูดว่า..

“เราเทศน์เรื่องจริง เราไม่ได้เทศน์เพื่อเอาใจใคร เอาใจผู้อื่นก็เท่ากับเลี้ยงกิเลสให้อ้วนพี เรามีความจริงใจ เราไม่ได้เทศน์เอาบุหรี่เกล็ดทองของใคร”

หลวงปู่ตื้อท่านมีจิตใจหนักแน่นและเปิดเผย ท่านพูดตรง จนพระเถระผู้ใหญ่บางท่านได้ห้ามปราม แต่ท่านก็ยังคงยืนหยัดเชื่อมั่นในองค์ท่าน และเหตุผลของท่านก็เป็นจริงเช่นนั้นด้วย

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
พระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์ในยุคปัจจุบัน
โครงการหนังสือบูรพาจารย์เล่ม ๒








#ก่อนจิตจะออกจากร่าง

"เมื่อเราจะตายแล้ว เราจะตั้งจิตไว้ตรงไหนเล่า เราจะวางจิตไว้อย่างไร

นี่...จึงได้สอนให้พากันมีศีล สมาธิ ปัญญา

หัดนั่งสมาธิเพื่อพิจารณาจิตของเรา

ผู้รู้มันมีอยู่ ผู้ใดเล่าเป็นผู้รู้

ว่าผม ว่าขน ว่าเล็บ ว่าฟัน ว่าหนัง ผู้นั้นมีอยู่

ผู้รู้นั่นเราก็โอปนยิโกน้อมเข้ามาหาผู้รู้นั่นซะ ให้เห็นผู้รู้นั่นซิ

ทีนี้ เวลาเราจะดับขันธ์ไป

ก็กำหนดสติเพ่งตรงผู้รู้

เข้าถึงสมาธิ คือจิตตั้งมั่น

มันก็ไม่หวั่นไหวในทุกข์เวทนาทั้งหลาย

เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา เรื่องมันเป็นอย่างนั้น

วิญญาณก็สักแต่ว่าวิญญาณ

เราประกอบแต่สิ่งเหล่านี้

นึกถึงผู้รู้ รู้เท่าสังขาร ไม่รู้เท่าวิญญาณ

ตามแต่มันจะปรุง ตามแต่มันจะแต่ง

เราจะไปปฏิสนธิที่ไหนเล่า

เหตุนั้นจึงพากันให้พึงรู้ พึงเข้าใจ

มันรู้แล้วมันละวาง มันเป็นยังงั้น"

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร








…ความทุกข์ของเราทั้งหมดนี้
มันไม่ได้ อยู่ที่ไหนเลยนะ
“ มันอยู่ที่ความอยากของเราเท่านั้น “

.อยากได้สิ่งนั้น พอไม่ได้ก็ทุกข์
อยากให้สิ่งนั้นอยู่กับเรา
พอเขาไม่อยู่กับเรา ก็ทุกข์

.อยากให้คนนั้นเขาดีกับเรา
พอเขาไม่ดีกับเรา ก็ทุกข์
อยากให้คนนี้ที่เราไม่ชอบหายไป
เขาไม่หายไป ก็ทุกข์

.มันล้วนสรุปมาอยู่ที่
“ ความอยากของเรา “ทั้งนั้น.
………………………………………..
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๖๓








"ความดีที่จะทำให้สำเร็จการชนะนั้น
ก็ต้องใช้ปัญญาค้นหา คือ วิธีชนะ
ที่จะไม่ต้องเบียดเบียนใคร เป็นความดีชั้นตรี
ถ้าเป็นการชนะชนิดที่เกื้อกูลเขาอีกด้วย
โดยเฉพาะ ทำให้เขา ซึ่งเป็นคนไม่ดี เลิกละ
ความไม่ดีของเขา หรือกลับเป็นคนดี
ก็นับว่าเป็นความดีชั้นโท ส่วนความดีชั้นเอก
ก็คือความดี ที่ชนะความชั่วของตนเอง"

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ








"การคอยรับบุญผู้อื่น
เหมือนดื่มน้ำที่ติดก้นแก้ว
ดื่มเท่าใดก็ไม่อิ่มสักที
คนมีสติมีธรรม ปัญญาธรรม
ย่อมฉลาดที่จะสร้างบุญด้วยตนเอง
เหมือนการเติมน้ำใส่แก้ว
หิวเมื่อใด ดื่มได้อิ่มชื่นใจฉันนั้น"

หลวงตามหาบัว ญาณสันปันโน







" เมาเหล้าเมาสุรา
เป็นบ้าไปอย่างนั้น
มันก็ยังรู้เวลาที่สร่าง

เมาในรูปในโฉม ในธาตุสี่
ขันธ์ห้า ดิน น้ำ ลม ไฟ
เมาเรื่องเขา เมาเรื่องเรา
นี่ไม่มีเวลาจะจอดแวะ
ก็ไม่มีเวลาจะจอดแวะได้

หาที่ปลงที่วางก็ไม่ได้
หนักถ่วงอยู่ทั้งวันทั้งคืน
แล้วเราจะหาความสุข
ความเจริญ มรรคผล
นิพพาน มาแต่ที่ไหน.."

โอวาทธรรม
หลวงตาพระมหาบัว
ญาณสัมปันโน








หลวงปู่ขาว อนาลโย
เจอเปรตตนหนึ่ง แต่สิ่งที่หน้าแปลกคือ เปรตตนนี้ ตัวเป็นเปรตแต่หัวเป็นเสือ โยมผู้นี้สมัยมีชีวิตอยู่ชอบทำบุญ ใครชวนทำบุญก็ทำ แต่เวลาตายทำไมถึงเป็นเปรต

หลวงปู่ขาว ท่านถามเปรตว่า ตนนั้นว่า "ทำไมหรือคุณโยมจึงมาเป็นเสือ ทำบุญตั้งมากมาย ทำบุญจนจะหมดตัวอยู่แล้ว .. ? "

เปรตเสือตอบว่า "ดิฉันโกรธมาก เมื่อความโกรธ มันขึ้นมาอยู่ที่หน้าตา ดิฉันมองไม่เห็นใครเลย ด่าพระ ด่าเจ้า ด่าข้าทาสบริวาร ด่าลูกด่าหลาน ด่าผัวด่าลูก ด่าเชื้อด่าชาติ ของที่เราเคารพนับถือ มีคุณมีค่าแต่เก่าก่อน ยกขึ้นมาด่าจนหมดสิ้น

"เป็นเพราะความโกรธตัวเดียว".......ทำให้ดิฉันหมดความดี คือ "อริยทรัพย์" ตายแล้ว จึงเกิดมาเป็นเสือเสวยทุกขเวทนา เป็นเปรตเสืออยู่อย่างนี้แหละ" เจ้าค่ะ

บางคน ทำบุญทำทานกันใหญ่โตมโหฬาร แต่เสียเพราะความโกรธ ความมีโทสะ ความโกรธไปไหม้กุศลผลบุญจนหมดสิ้น เมื่อหมดบุญหมดกุศล บาปก็พลอยทวีคูณขึ้น ผลทานก็หนี ผลศีลก็ไม่มี ผลภาวนา ก็หนีเข้าป่าไปหมด ตายแล้ว ก็ไปเกิดเป็นเปรต.

หลวงปู่ขาว อนาลโย







#ศีลทำคนให้เป็นคน #ทำมนุษย์ให้เป็นเทวดา

คนไม่มีศีลก็เหมือนสัตว์ ทำอะไรไปตามกิเลสชักนำ กิเลสคือ โลภ โกรธ หลง มันคอยชวนคนให้ทำผิดตลอดเวลา

คนที่ไม่ได้ศึกษาธรรมย่อมไม่รู้จักมัน หลงเชื่อมัน ทำตามมัน มันก็พาไปพบทุกข์

คนไม่รู้ก็คิดว่าเป็นความสุข รูป รส กลิ่น เสียง พอหลงตามไปแล้ว ทีหลังจึงรู้ว่ามันเป็นสุขปลอม เป็นสุขแต่ข้างนอก ข้างในเป็นทุกข์
.
ตอนแรกๆ สนุกสนาน นานไปได้ทุกข์ยาก หนักๆ เข้า ตกนรกทั้งเป็น ตายแล้วก็ยังตกนรกอีก

คนฉลาดต้องรีบเร่งศึกษาธรรม ท่านทั้งหลายเป็นนักศึกษา ศึกษาทางโลกมากแล้ว มาศึกษาธรรมะเสียบ้างเป็นการดี ถูกต้อง

ขั้นแรกคือศีล ศีลห้านั่นแหละพอแล้ว ถือให้มันดีๆ ให้มั่นคง ให้บริสุทธิ์ พอแล้ว ท่านว่าถือตามฐานะ พวกท่านเป็นนักศึกษา ศีลห้าก็ดีแล้ว ถ้าใครถึงศีลแปด ก็ยิ่งดี ถ้าทำได้
.
#หลวงปู่ขาว_อนาลโย
เทศน์โปรดนักศึกษาสมาชิกกลุ่มอาสา ม.มหิดล
ที่วัดถ้ำกลองเพล ในวันสงกรานต์ พ.ศ. ๒๕๒๑







#เจ้ากรรมนายเวรคือใจ

" .. ดวงจิตของเรานี่เองเป็นผู้ก่อกรรมก่อเวรแล้วก่อเล่า" ไม่เบื่อสักที ก็แม่นดวงจิตของเรานี่แหละ เพราะเหตุนั้นเราจึงต้องอบรมจิตของเราให้ดี ให้ใจรู้เสีย "#ใจนี่แหละมันเป็นผู้หลงจนนับภพนับชาติไม่ได้" ภพน้อยภพใหญ่เที่ยวอยู่ในสังสารจักร์นี่

จึงให้เข้าใจเสียว่า "เจ้ากรรมนายเวรคือใจ" ตัวกรรมแม่นใจ ดวงใจอันเดียว วิญญาณอันเดียวเป็นตัวกรรม "แต่งกรรมเสียแล้วให้เวียนตายเวียนเกิดที่นี่ ไม่เลิก

#เรารู้จักแล้วเราต้องควบคุมใจ" แนะนำสั่งสอนใจ ทำใจของเราให้ผ่องแผ้ว ว่าเอาย่อ ๆ นี่แหละ กว้างขวางก็ได้ยินมาพอแฮงแล้ว เอาย่อ ๆ "ควบคุมใจ" เท่านั้นแหละ .. "

"อนาลโยวาท"
หลวงปู่ขาว อนาลโย









#ความรู้เรื่องกฐิน

จะพูดเรื่องการทอดกฐินให้ฟังสักนิด
.
นี่! ก็ใกล้จะถึงวันปวารณาออกพรรษาแล้ว
วัดใดมีพระสงฆ์จำพรรษาครบ ๕ รูป วัดนั้นก็ได้รับพระพุทธานุญาตให้รับกฐินได้ เหตุที่ต้องกำหนดให้มี ๕ รูป ก็เพราะว่า การสวดกฐินเป็นสังฆกรรม ประเภทญัตติทุติยกรรมวาจา คือ กรรมวาจามีญัตติเป็นที่สอง หนึ่งรูปเป็นผู้กรานกฐิน อีกสี่รูปจึงครบจำนวนเป็นสงฆ์ สามารถอปโลกน์กฐินได้
.
ช่วงที่กำหนดให้ทอดกฐินได้ คือ ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ไปจนถึง วันเพ็ญเดือน ๑๒ ถือเป็นช่วงจีวรกาล เป็นคราวที่ภิกษุทั้งหลายหาผ้าทำจีวรเปลี่ยนของเดิม จึงเป็นคราวที่ทายกถวายผ้าแก่สงฆ์เพื่อประโยชน์แห่งการนี้
.
พระที่จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส จะได้รับอานิสงส์จำพรรษา ๕ ประการ คือ
.
๑. เที่ยวไปโดยไม่ต้องบอกลา
๒. เที่ยวไปโดยไม่ต้องเอาจีวรไปครบสำรับมี สบง จีวร สังฆาฏิ เป็นต้น คืออยู่ปราศจากไตรจีวรได้ไม่เป็นอาบัติ
๓. ฉันคณโภชน์ คือ ฉันเป็นหมู่ นิมนต์ออกชื่อโภชนะได้ ฉันปรัมปรโภชน์ คือรับนิมนต์ที่หนึ่ง แล้วไปฉันอีกที่หนึ่งได้
๔. เก็บอติเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา ปกติจะเก็บได้ไม่เกิน ๑๐ วัน
๕. จีวรลาภอันเกิดขึ้นในที่นั้นเป็นของพวกเธอทั้งหลาย
.
ทั้งได้โอกาสเพื่อจะกรานกฐิน และได้รับอานิสงส์ ๕ ข้างต้นนั้น เรียกว่า อานิสงส์กฐิน เพิ่มออกไปอีก ๔ เดือน ตลอดฤดูเหมันต์
.
เหตุนั้น จึงมีพระพุทธานุญาตเป็นพิเศษไว้ เพื่อสงฆ์ยกผ้าอันไม่พอแจกกันให้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง รับเอาไปทำจีวรผืนใดผืนหนึ่งในไตรจีวร นิยมทำเป็นผ้าสบง ภิกษุนั้น หรือภิกษุอื่นช่วยกันทำก็ได้ ตั้งแต่ กะ ตัด เย็บ ย้อม เสร็จในวันนั้น ทำพินทุกัปปะ อธิษฐานเป็นจีวรครองเป็นจีวรกฐิน เรียกว่า กรานกฐิน แปลว่า ขึงไม้สะดึง
.
อธิบายว่า ครั้งก่อนพระไม่ชำนาญในการเย็บจีวร ต้องเอาเข้าขึงที่ไม้สะดึงเย็บ เสร็จแล้วบอกแก่ภิกษุทั้งหลายเพื่ออนุโมทนา ภิกษุเหล่านั้นอนุโมทนา ทั้งภิกษุผู้กราน ทั้งภิกษุผู้อนุโมทนา ย่อมได้อานิสงส์แห่งการกรานกฐิน เลื่อนเขตอานิสงส์จำพรรษาทั้ง ๕ ออกไปอีก ๔ เดือน ตลอดฤดูเหมันต์
.
ดังนั้น หลังออกพรรษาแล้ว ๑ เดือน จึงเป็นช่วงฤดูทอดกฐินของพวกเราชาวพุทธ ก็คือการเอาผ้าจีวรไปถวายสงฆ์นั่นเอง ถ้าเป็นผ้ากฐินมักใช้เป็นผ้าขาวสำหรับทำสบง เพื่อให้พระท่านกรานกฐินได้ เพราะท่านต้อง กะ ตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จในวันนั้น แล้วอธิษฐานใช้ผ้าสบงกฐินเป็นผ้าสบงครอง ให้สงฆ์อนุโมทนา จึงจะได้รับอานิสงส์แห่งการกรานกฐินตามที่มีพระพุทธานุญาตไว้
.
ต้องแยกแยะนะว่า ถ้าเป็นผ้ากฐิน พระท่านต้องอปโลกน์ ๔ รูป เพื่อให้สงฆ์พิจารณาว่าจะให้ผ้าแก่ท่านใดเป็นผู้กรานกฐิน โดยมากก็จะเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุด ผ้ากฐินจะต้องหนาสักนิดเพราะใช้ทำเป็นผ้าสบง หนาประมาณผ้าซันฟลอไรซ์ เบอร์หนึ่งหมื่น ส่วนผ้าจีวร กับผ้าสังฆาฏิ ก็จะบางลงมาหน่อย ถือเป็นผ้าบริวาร จะไปตัดเย็บวันอื่น ๆ ก็ได้
.
เฉพาะผ้ากฐิน ต้อง กะ ตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จในวันนั้น เพื่อให้ทันการกรานกฐิน ส่วนผ้าอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้ในการกรานกฐิน จะตัดเย็บย้อม เมื่อไหร่ก็ได้
.
ถ้าจะถวายเป็นผ้าไตรจีวรสำเร็จรูปก็ถวายได้ ถือเป็นผ้าบริวาร แต่จะเอาไปกรานกฐินไม่ได้ ต้องมีผ้าขาวแนบไปด้วยเพื่อนำไปกะ ตัด เย็บ ย้อม เป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง จึงจะกรานกฐินสำเร็จ
.
แต่บางวัดท่านอาจรับกฐินแล้ว ไม่ได้กรานกฐินก็ได้ เอาผ้าจีวรสำเร็จที่เขาถวาย ทำพินทุกัปปะ แล้วอธิษฐานใช้เป็นผ้าครองเลยก็ได้ มันก็แล้วแต่ปฏิปทาของแต่ละวัด
.
ที่พูดให้ฟังนี่เป็นปฏิปทาของพ่อแม่ครูอาจารย์ องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ท่านจะให้เอาผ้ากฐินไป กะ ตัด เย็บ ย้อม เป็นผ้าสบงให้เสร็จ พระทั้งวัดที่มีฝีมือรุมทำกันพรึ่บเดียว เพราะใคร ๆ ก็อยากเอาบุญกับท่าน แต่ผู้เย็บนี่ต้องฝีมือชั้นเซียนจริง ๆ ถึงจะได้ขึ้นจักรนะ
.
มันเริ่มตั้งแต่ กะ ตัด เย็บ ย้อม ตั้งเตาต้มแก่นขนุน เตรียมผสมสีย้อมผ้า พอเย็บเสร็จก็ย้อมสี ตากให้แห้ง แล้วเอามาตัดเศษด้ายออกให้หมด สำรวจตรวจตราความเรียบร้อยหมดจดทุกอย่างแล้ว ก็พับเก็บไว้
.
พอตอนค่ำองค์ท่านก็ให้ประชุมสงฆ์ อธิษฐานถอนผ้าสบงครองเก่าออกก่อน แล้วเอาผ้าสบงกฐินมาอธิษฐานเป็นผ้าสบงกฐินครองแทน แล้วให้สงฆ์ทั้งนั้นอนุโมทนา การกรานกฐินก็ถือว่า เสร็จพิธี ก็เห็นท่านพาทำแบบนี้ทุกครั้ง ไม่เคยเห็นองค์ท่านใช้จีวรสำเร็จรูปสักที
.
ส่วนวัดใดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป ศรัทธาญาติโยมก็อย่าไปบังคับให้ท่านต้องรับกฐิน มันจะทำให้ท่านกระอักกระอ่วนใจ ควรเลี่ยงไปเป็นทอดผ้าป่าก็ได้
.
จะเป็นการทอดกฐิน หรือทอดผ้าป่า ถ้ามีพระสงฆ์ตั้งแต่ ๔ รูป ขึ้นไปเป็นผู้รับ มันก็คือสังฆทานเหมือนกันนี่แหละ ต่างกันแค่กรรมวิธีในการรับ กับกาลเวลาที่รับเท่านั้น
.
บางคนก็อ้างสรรพคุณมาแข่งกันว่า ทอดกฐินมีอานิสงส์มากกว่าทอดผ้าป่า ก็เลยจะเอาแต่ทอดกฐิน ตั้งท่าจะทอดกฐิน ๑๐ วัด ๑๐๐ วัด ไปเจอวัดไหนมีพระสงฆ์จำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป เห็นวัดท่านขาดแคลนก็อยากจะช่วยท่าน ก็ไปบังคับให้ท่านต้องรับกฐิน
.
เพราะญาติโยมอยากจะทอดกฐิน เนื่องจากคิดว่า การทอดกฐินได้บุญเยอะกว่าทอดผ้าป่า พระท่านก็จำต้องยอมตามใจญาติโยม จำเป็นก็ต้องไปนิมนต์พระวัดอื่นมารับกฐินแทน
.
ถามว่า พระจำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป จะรับกฐินได้ไหม? ก็ตอบว่า ถ้าจะทำ มันก็ทำได้ เพียงแต่ว่า มันไม่เป็นกฐินที่ถูกต้องตามพระพุทธานุญาตเท่านั้นเอง ก็เป็นเหมือนกฐินหลอก ๆ บ้างก็ว่า เป็นกฐินของโยม ไม่ใช่กฐินของพระ ก็แล้วแต่จะว่ากันไป
.
คือมีพระจำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป ก็นิมนต์พระที่อื่นมาสวดอปโลกน์ สวดญัตติทำพิธีให้เสร็จไปก็เท่านั้น พระที่รับกฐิน ก็ไม่ได้รับอานิสงส์กฐินตามพระวินัย เพราะไม่ใช่กฐินก็ไม่จำเป็นต้องกรานกฐิน ซึ่งตามปกติพระป่า ท่านก็ไม่เอาอานิสงส์กฐินกันอยู่แล้ว
.
ถ้าพระท่านเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ถ้ามีพระจำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป โดยมากท่านก็จะไม่รับกฐิน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พระที่จำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป แล้วรับกฐิน จะไปว่าท่านไม่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ก็ว่าไม่ได้นะ!! บางทีอย่างอื่น ๆ ท่านอาจจะเคร่งครัดก็ได้
.
เรื่องรับกฐินนี่! บางทีมันก็ขึ้นอยู่กับเจตนา และ เหตุผลในความจำเป็นของแต่ละท่าน แต่ละสถานที่ด้วย จะเอาการรับกฐิน หรือไม่รับกฐิน มาเป็นเกณฑ์ตัดสินความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของพระ หาได้ไม่
.
บางที่ท่านมีพระจำพรรษาเกิน ๕ รูป ท่านไม่รับกฐินก็มี เพราะพระพุทธานุญาตให้รับกฐินนี้ ท่านให้ไว้สำหรับผู้มีความจำเป็นต้องใช้ข้ออนุญาตนั้น ๆ เฉพาะกิจเฉพาะกาล ถ้าไม่มีความจำเป็น จะไม่เอาก็ไม่เป็นไร
.
เรื่องกฐินมันเป็นเรื่องของญาติโยมจะทำกันเอง พระไปเกี่ยวข้องไม่ได้ ใครอยากทอดกฐินวัดไหน ก็ไปแจ้งความจำนงกับพระที่อยู่ในวัดนั้น บางทีพระท่านก็จำเป็นต้องอนุโลมไปตามญาติโยม เหตุผลเพราะ
๑. ท่านไม่อยากไปขัดศรัทธาของเขา
๒. ท่านไม่มีตัวเลือกมากนัก
๓. ภาระค่าใช้จ่ายที่วัดแบกรับอยู่
.
อีกทั้งพระวินัยก็ไม่ได้ถึงขั้นปรับอาบัติโดยตรง แต่ที่เป็นปัญหาคือ พระวินัยก็ไม่ได้ห้ามไว้ว่า ถ้าพระจำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป ห้ามรับกฐิน ถ้าขืนรับกฐิน จะปรับอาบัติอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไม่มีบัญญัติไว้โดยตรง
.
จึงต้องปล่อยให้อยู่ในดุลพินิจของพระท่านจะใช้มหาปเทส ๔ พิจารณากันเองตามอัธยาศัย แต่ถ้าจะให้ดี ก็ต้องเว้นข้อที่ห้าม ทำตามข้อที่อนุญาต นั่นแหละดีที่สุด
.
ถ้าพระรูปไหนคิดว่า มีพระจำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป ไม่ควรรับกฐิน ก็จงอย่ารับกฐิน
.
ถ้าพระรูปไหนคิดว่า มีพระจำพรรษาไม่ครบ ๕ รูป แต่มันมีเหตุจำเป็นต้องรับกฐิน ก็รับไป จะทนเจ็บทนปวดทางพระวินัยเอาเอง ก็ไม่ว่ากัน
.
เรื่องของปฏิปทาการปฏิบัติธรรม มันก็มีตึงมีหย่อนไม่เท่ากัน จะไปบังคับให้พระท่านทำเหมือนกันหมด มันก็สุดวิสัย บางทีเรื่องเลวร้ายหนักกว่านี้อีกมากมาย ก็ยังทำกันได้อย่างหน้าตาเฉยเลย ก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป
.
ส่วนทำแล้วจะทำให้การบำเพ็ญจิตภาวนาราบรื่นไปจนสำเร็จถึงมรรคถึงผล ได้หรือไม่ ก็ยกให้เป็นเรื่องของแต่ละท่านไปพิสูจน์ทราบเอาเอง ถ้าเถียงกันไป ก็จะทะเลาะกันเปล่า ๆ เป็นเหตุให้สงฆ์แตกแยกกัน ยิ่งเป็นกรรมหนักกว่าเข้าไปอีก
.
สุดท้ายเรื่องเล็ก ๆ ก็เลยจะกลายเป็นเรื่องใหญ่โตโดยไม่จำเป็น ต่างคนต่างทำไปเองก็แล้วกัน พระวินัยก็บอกไว้หมดแล้ว ถ้าเคารพในพระธรรมวินัย ก็รู้ได้เองว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร
.
ญาติโยมก็จงอย่าไปบังคับท่าน ให้ต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างโน้น ถ้าช่วยส่งเสริมให้พระท่านทำให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยได้ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเลิศประเสริฐที่สุด
.
ถามว่า แล้วญาติโยมได้รับอานิสงส์ไหม ตอบว่า ย่อมได้รับอานิสงส์ตามสมควรแก่กำลังศรัทธา และปัญญาของแต่ละท่าน มันก็เป็นเหมือนการถวายสังฆทาน ต่างกันแค่ว่า ทอดกฐินเป็นกาลทานมีระยะเวลาให้ทำได้แค่ ๑ เดือน หลังออกพรรษาแล้ว ไปจนถึงวันลอยกระทงเป็นวันสุดท้าย
.
ผู้ทำจึงต้องมีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะต้องทำให้เสร็จทันภายในเวลาที่กำหนด อาจต้องทุ่มเทความตั้งใจมากกว่า ส่วนการทอดผ้าป่า การถวายสังฆทาน นั้น สามารถทำได้ถวายได้ตลอดไป ไม่มีจำกัดกาลเวลา ก็ทำได้ตามอัธยาศัย
.
ถ้าคุณเอาผ้า ๑ ผืนไปถวายทอดกฐิน กับเอาไปทอดผ้าป่า หรือไปถวายสังฆทานในสงฆ์เดียวกัน ก็ถือเป็นการถวายเป็นของสงฆ์ดุจเดียวกัน จะต่างกันแค่วิธีการถวาย กับกาลเวลาเท่านั้น ในส่วนของผู้ให้ อานิสงส์จะได้มากหรือได้น้อย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิธีการถวาย หรือกาลเวลาที่ถวาย แต่ขึ้นอยู่กับใจของผู้ถวายเองต่างหาก ว่ามีศรัทธา มีปัญญามากน้อยแค่ไหน
.
จะพูดอานิสงส์ของการทอดกฐิน การทอดผ้าป่า และการถวายสังฆทาน ให้ฟัง ว่ามีอานิสงส์มากน้อยต่างกันแค่ไหนอย่างไร ฟังแล้วก็เก็บไปคิด ถ้าเห็นดีเห็นงามจึงค่อยเชื่อ ถ้าไม่เห็นดีเห็นงาม ก็ไม่ต้องเชื่อก็ได้
.
ถ้าจะถวายทานให้มีอานิสงส์มากสูงสุด ต้องประกอบด้วยองค์ ๖ ประการ

๑. ผู้รับเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ ไต่ลำดับไปตั้งแต่ ขั้นต่ำเป็น พระปุถุชน ไปจนถึงพระอริยเจ้า ๔ จำพวก ไปจนถึงพระปัจเจกพระพุทธเจ้า ไปสิ้นสุดที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเป็นสงฆ์ที่มีท่านเหล่านี้ประชุมอยู่ในสงฆ์ ก็ยิ่งมีอานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก แต่กับท่านเหล่านี้ก็ไม่รู้ว่า ใครจะได้เจอท่านเมื่อไหร่ เอาเป็นว่าโอกาสหนึ่งในล้านก็ยังยากที่จะได้เจอเลย

๒. วัตถุทานได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ได้ไปกระทำทุจริตได้มา ส่วนจะมีมาก หรือมีน้อยไม่สำคัญนัก ขึ้นอยู่กับกำลังศรัทธาและปัญญาของแต่ละคน ถ้าตั้งจิตไว้ถูก ถึงวัตถุทานน้อย ก็มีอานิสงส์มากได้ ถ้าตั้งจิตไว้ผิด แม้วัตถุทานมาก ก็มีอานิสงส์น้อยได้

๓. ผู้ให้ก็เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ เป็นเบื้องต้น ถ้ามีสมาธิ มีปัญญาประกอบด้วย ก็ยิ่งมีอานิสงส์มากขึ้นไปโดยลำดับ เป็นร้อยเท่าพันทวี

๔. ก่อนให้มีศรัทธาความเชื่อ มีปสาทะ ความเลื่อมใส มีความตั้งใจที่จะให้ ไม่หวังผลตอบแทน

๕. ขณะที่ให้ก็มีความเลื่อมใสศรัทธา มีความตั้งใจ มีความยินดีที่จะให้

๖. หลังให้แล้วก็มีศรัทธา มีปิติอิ่มเอิบใจ มีใจยินดีผ่องใสเบิกบาน ไม่นึกเสียดายในวัตถุทานที่ให้ไป

ทานที่ประกอบด้วยองค์ ๖ เช่นนี้ ไม่ว่าจะทอดกฐิน ทอดผ้าป่า หรือถวายสังฆทานธรรมดา ๆ ก็มีอานิสงส์มากทั้งสิ้น

ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเลือก ควรทอดกฐินได้ก็จงทอดกฐิน ควรทอดผ้าป่าได้ก็จงทอดผ้าป่า ควรถวายสังฆทานได้ก็ถวายสังฆทาน หรือแม้จะมีอานิสงส์ไม่สูงสุดก็ตาม แต่ช่วยคนให้พ้นทุกข์ได้ก็ถือว่าควรทำเช่นกัน อาทิ ให้ทานแก่คนทุกข์คนยาก ที่ประสบภัยพิบัติ หรือแม้แต่การช่วยชีวิตสัตว์ ถึงไม่มีอานิสงส์มาก ก็ช่วยได้ทำได้ทั้งนั้น เพื่อให้ใจมีความเสียสละที่ยิ่งใหญ่กว้างขวาง ไม่ถูกจำกัดอยู่ในวงแคบ ๆ

การถวายทานที่มีอานิสงส์มากอย่างแท้จริง คือ การถวายทานแล้วทำให้ตัวเราเกิดความปฏิบัติดี สามารถชำระกิเลสภายในใจได้ เป็นกำลังหนุนให้เกิดสติปัญญา รักษาศีล เจริญสมาธิ อบรมปัญญาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปได้ จนทำใจให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส ได้ อย่างนี้ถือว่า มีอานิสงส์สูงสุดอย่างแท้จริง

ดังนั้น จึงไม่ต้องมานั่งเถียงกันให้กิเลสมันหัวเราะเยาะ ว่า ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ถวายสังฆทาน อะไรจะมีอานิสงส์มากกว่ากัน ไม่ต้องไปอยากรู้มันหรอก แต่ละอย่างส่งผลให้ถึงพระนิพพานได้ทั้งนั้น เราอยู่ไม่ถึง ๑๐๐ ปี ก็ตายจากกันไปหมดแล้ว ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ มีโอกาสทำบุญอะไรได้ก็ทำไปเถอะ อย่ามัวเป็นบ้าเอาอานิสงส์มากให้งมงายอยู่เลย

ได้ยินใครบางคนพูดว่า ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า มันเป็นเรื่องของการถวายผ้าจีวร ไม่จำเป็นต้องไปเน้นเรื่องเงินก็ได้ พระท่านไม่ได้ต้องการเงิน เห็นหลายวัดประกาศยอดเงินกฐิน บางวัดได้เป็นสิบล้าน เลยหาเรื่องไปว่าท่านว่า ผิดวัตถุประสงค์ของการทอดกฐิน

เอ้า! ก็ญาติโยมเขามีศรัทธาที่จะถวายปัจจัย พระท่านมีความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คนเขาอยากถวาย จะไปห้ามเขาได้ที่ไหน มันจะได้ปัจจัย ได้มากได้น้อย ก็ต้องแล้วแต่ศรัทธาของญาติโยม

ถ้าพระไม่ได้เที่ยวไปบอกบุญเรี่ยไรเชิญชวนให้เขาเอาเงินมาถวาย มันก็ไม่ผิดหรอก ใครอยากถวายเงินร้อยล้านก็ถวายได้ ถวายสลึงหนึ่งก็ถวายได้ จงทำตามที่สบายใจเลย

ที่เขาบอกว่า พระท่านก็ไม่ได้ต้องการเงินหรอก เขาก็พูดถูกนะ แต่มันถูกไม่หมด ลองคิดดูว่า ถ้าทุกคนต่างเอาแต่ผ้าจีวรไปถวายพระ มันคงจะกองเท่าภูเขา พระท่านจะเอาผ้าไปใช้ทำอะไรตั้งเยอะแยะ มันก็มากเกินความจำเป็น

เพราะแต่ละวัดก็มีภาระค่าใช้จ่ายที่มันต้องใช้เงินต่างกัน ญาติโยมก็ต้องรู้จักฉลาดว่า ควรจะถวายอะไร มีประมาณมากน้อยแค่ไหนอย่างไร จึงจะเหมาะจะควรกับความจำเป็นของแต่ละวัด และเหมาะกับกำลังความสามารถของตัวเองด้วย อย่างนี้จึงเรียกว่า ถวายทานอย่างมีปัญญา ไม่ใช่มีแต่ศรัทธาที่งมงาย

การถวายผ้าจีวรเป็นหัวใจหลักของการทอดกฐิน เพราะพระท่านต้องใช้ผ้านั้นนำไป กะ ตัด เย็บ ย้อม ให้สำเร็จเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง เพื่อการกรานกฐิน ส่วนบริวารกฐินจะเป็นเงิน เป็นข้าวของเครื่องใช้จำเป็นอย่างอื่น ก็ทำได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับกำลังศรัทธา และปัญญาของญาติโยม

ได้ยอดกฐินเยอะ ๆ ก็ดี พระดีท่านก็รู้จักเอาเงินไปทำประโยชน์สงเคราะห์โลกได้อย่างมากมาย ท่านไม่ได้คิดจะเก็บสั่งสมเงินเอาไว้ แล้วตายทิ้งไปเปล่า ๆ หรอก

มีข้อควรระวัง!! สำหรับการทอดผ้าป่านิดหนึ่ง ถ้ากล่าวคำถวายเป็น ภิกขุสังฆัสสะ/ภิกขุสังโฆ พระจะไปชักบังสุกุลไม่ได้ เพราะถือว่า ถวายเป็นของสงฆ์ ถ้าจะให้พระชักบังสุกุลได้ ต้องเปลี่ยน สังฆัสสะ เป็น สีละวันตัสสะ เปลี่ยน สังโฆ เป็น สีละวา เช่นนี้ พระชักบังสุกุลก็ไม่เป็นอาบัติ และต้องไม่ถวายถึงมือ แค่เอาไปวางไว้ จึงเป็นการทอดผ้าป่าที่ถูกต้อง

พรอาจารย์วิทยา#ดอยแสงธรรม_๒๕๖๔


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO