นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พฤหัสฯ. 25 เม.ย. 2024 2:57 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ความศักดิ์สิทธิ
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 10 ก.ย. 2021 7:19 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4538
การเข้าคอร์สปฎิบัติธรรมเนี่ย ถ้าผู้ที่หวังผลจริง ๆ ทำเฉพาะตามคอร์สไม่ได้หรอกนะ ทำไมถึงว่าไม่ได้ การจัดคอร์ส พอเราไปปฏิบัติ ไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรมที่นั่นที่นี่ ๕ วัน ๗ วัน ๑๐ วัน ต่างคนต่างคึกคักเลยนะ ตัวเตรียมอะไรต่ออะไรไป พอไปถึงเข้าคอร์สปุ๊บ อยู่เนสัชชิก อดหลับอดนอน อดอาหาร เอาจริงเอาจัง ทุ่มเท ๗ วันแทบจะเป็นไข้ พอกลับมาบ้านเลิกออกจากคอร์ส ทิ้งเลย นอนเลย แล้วพอไปอีกสัก ๒-๓ เดือน ไปเข้าคอร์สอีก ๔-๕ วัน โอ้ยเอาจริงเอาจัง อดหลับอดนอน อดอาหารเป็นไข้ เป็นอะไรไม่คำนึงถึง พอเลิกจากคอร์สก็ปล่อยเลย อ่อนปวกเปียกไปเลย พอทำไป เอ้ เราก็เข้าคอร์สมาบ่อยแล้ว ก็เข้าคอร์สนั่นคอร์สนี่ ยังไม่เห็นเราได้อะไรมาเลย ผลสุดท้ายก็ล้มเหลว

กิเลสมันไม่ได้มีคอร์สเลยนะ คือเราเข้าคอร์สมันเหมือนกับทำแบบไฟไหม้ฟาง ไฟไหม้ฟางลุกฮือไปแป๊บเดียวแล้วก็มอด ไม่ได้อะไรเลย แต่การปฎิบัติต้องให้ปฏิบัติแบบไฟไหม้ขอน ฝนตกแดดออกก็ลุกอยู่เรื่อย กิเลสมันไม่เคยหยุดนิ่งนะ การปฎิบัติธรรมจะหยุดนิ่งได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องไปกดดันตัวเองว่าฉันปฏิบัติแล้วจะต้องได้อย่างนั้นได้อย่างนี้ มันกดดันตัวเอง เลยมีแต่ความเครียดในการปฏิบัติ ตราบใดที่ถือว่าเป็นหน้าที่ของเรา เราต้องการความสุข เราไม่ต้องการความทุกข์ เพราะความทุกข์นี่ ตัวกิเลสเป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ตราบใดเรายังเป็นปุถุชนมีกิเลสครอบงำอยู่ในหัวใจ เราจะไม่หยุดนิ่งในการปฏิบัติ ปฏิบัติเหมือนไฟไหม้ขอนไปเรื่อย ๆ

เวลามีโอกาสเข้าคอร์ส เราก็ไปเข้าคอร์ส เหมือนกับว่าโดยปกติธรรมดา เราบังคับตัวเราเองไม่ได้ เพราะเราเคยชินไปในฝ่ายกิเลส ไปในฝ่ายความขี้เกียจขี้คร้าน ความมักง่ายอะไรต่ออะไรของเรา พอเราตั้งใจว่า เออ วันนี้เราจะไปสวดมนต์ไหว้พระนะ จะนั่งภาวนาให้ได้ครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงหนึ่ง พอถึงเวลาไปนั่ง โอ้ย นั่งภาวนาไม่ไหว จะสวดมนต์หน่อยมันขี้เกียจล้มเหลวไปเลย ไม่รู้ตัวเลย พอตั้งใจเอาจริงเอาจัง พอมีอะไรมาไอ้นั่นไอ้นี่หน่อยก็ล้มเหลวไปแบบหัวใจไม่มีกระดูกเลย มันล้มเหลวไปโดยว่าตัวเองไม่สามารถบังคับตัวเองได้ มันก็เลยล้มเหลวไปในการปฎิบัติธรรม แต่เวลาไปเข้าคอร์ส เราถือเป็นกรณีพิเศษที่จะมาฝึกเป็นตัวอย่างแก่เรา เราไปเข้าคอร์สเพราะว่าเราไม่สามารถบังคับตัวเราเองได้ เราไม่สามารถฝืนความขี้เกียจขี้คร้านของตัวเราได้ เราก็หาโอกาสไปเข้าคอร์ส พอเข้าคอร์ส หมู่คณะเขาว่าวันนี้เราไปนั่งภาวนา ไปเดินจงกรม เราจะขี้เกียจขี้คร้าน เราจะไปเหลวไหล เราอายหมู่อายเพื่อน ผลที่สุดไปฝืนไปเดินจงกรมตามเพื่อน ไปนั่งภาวนาตามเพื่อน ไปสวดมนต์ตามเพื่อน เอาหมู่เพื่อนจูงไป ๆ พอมันได้หลักได้เกณฑ์บ้าง เวลาหมดคอร์สเราก็ปฏิบัติของเราไปเรื่อย อย่าไปล้มเหลว อย่าไปเลิก คือคอร์สนี่เป็นครั้งเป็นคราวที่มาจูงเรา แต่ไม่ใช่ว่าพอเอาจริงเอาจังแค่ไปเข้าคอร์สแล้วก็ล้มเลิก เข้าคอร์สแล้วก็ล้มเลิก มันไม่ได้อะไร

เพราะฉะนั้น การปฎิบัติธรรมอย่าไปปฏิบัติแบบไฟไหม้ฟาง ให้ปฏิบัติแบบไข่ไฟไหม้ขอน ไปดูในป่าไฟไหม้ขอนไม้ ฝนตกขนาดไหนมันยังลุก มันมีขี้เถ้ากลบไว้ มันก็คุของมันอยู่เรื่อย แดดออกมันก็คุโชนของมันอยู่อย่างนั้น ไฟไหม้ขอนมันไม่ดับนะ ส่วนไฟไหม้ฟาง ลุกฮือเหมือนจะท่วมฟ้าแป๊บเดียวเท่านั้นมอด ต้องเป็นแบบนั้นแหละ

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม







“คนเรามันรักสุข เกลียดทุกข์นี่ หนักก็หนักอยู่ตรงนี้แหละ ไม่รับความจริง”

“คนเราเกิดมา นินทาก็ดี สรรเสริญก็ดี อย่าไปรับเอามาหมักไว้ในใจ ปล่อยผ่านไปเสีย”

“ตัดอดีต อนาคต ลงให้หมด จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้ในปัจจุบัน ละในปัจจุบัน ทำในปัจจุบัน แจ้งอยู่ ในปัจจุบัน”

“ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ไม่มีความเพียร ไม่มีความสำเร็จ”

“มองดูท้องฟ้า เห็นดวงดาวเต็มไปหมด การเกิด การตาย ไม่รู้ว่าอีกเท่าไหร่ เกิดแล้วตาย เกิดแล้ว ตาย…..”

โอวาทธรรมหลวงปู่แหวน สุจิณโณ









"ไม่มีวิหาร พระก็พออยู่ได้
ไม่มีพระพุทธรูป วาดเอาก็ได้
ไม่มียา พระก็พอจะอดทนเอาได้
ไม่มีจีวร ก็ใส่ขาด ๆ เอาก็ได้
แต่ไม่มีพระธรรมนี้ อยู่ไม่ได้เลยนะโยม"

พระอาจารย์ฟิลลิป ญาณธมฺโม
#พระเทพพัชรญาณมุนี

วัดป่ารัตนวัน อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา








…คนส่วนใหญ่ในโลกนี้
“ ไม่มองซีกที่จะทำให้เราทุกข์กัน “

.มองแต่ซีกที่จะทำให้เราสุขกัน
เราเลยหลงกับสิ่งต่างๆ ในโลกนี้

.พอเห็นอะไรแล้วก็อยากได้
เพราะเห็นคนอื่นเขามีแล้วเขามีความสุข
ก็อยากมีความสุขเหมือนเขา

.เห็นคนอื่นขับรถเก๋งราคาแพงๆ
ก็อยากได้แล้ว
เห็นคนอื่นมีบ้านราคาแพงๆอยู่
ก็อยากได้แล้ว
เห็นคนอื่นมีแฟนหน้าตาหล่อเหลา
มีแฟนสวยๆ ก็อยากจะได้แล้ว

.เห็นว่าเขามีความสุข
“ แต่ไม่เห็นอีกซีกเวลาที่เขาทุกข์ “
เวลาที่เขาสูญเสียสิ่งที่เขามีไป.

……………………………………….
.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๓








#ผ้าขี้ริ้วห่อทอง..

#หลวงปู่เจี๊ยะ_จุนฺโท เป็นศิษย์รุ่นหลังของ #หลวงปู่มั่น_ภูริทตฺโต ท่านได้มีโอกาสกราบหลวงปู่มั่นเป็นครั้งแรก เมื่อบวชได้ ๓ พรรษาเท่านั้น ประสบการณ์ครั้งนั้นไม่เพียงตอกย้ำศรัทธาของท่านให้มั่นคงในการปฏิบัติเท่านั้น หากยังทำให้ท่านพบคำตอบในการเจริญกรรมฐาน จนมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

หลวงปู่เจี๊ยะหรือ “#ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ของ
หลวงปู่มั่นนั้นเป็นพระที่มีกิริยาอาการไม่เหมือนใคร อยู่นิ่งไม่ค่อยได้ ชอบทำงานโดยเฉพาะการก่อสร้างและงานใช้แรง หากอยู่
ว่าง ๆ เมื่อใดเป็นต้องขยับเนื้อขยับตัวอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังชอบพูดจาโผงผาง
ส่งเสียงเอะอะ ดูอาการภายนอกแล้วก็ไม่สู้เรียบร้อย

มีเรื่องเล่าว่าคราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ไปสวดในงานแต่งงาน เมื่อถึงบ้านเจ้าภาพ แทนที่จะขึ้นบันไดตามปกติ ท่านกลับโหนตัวขึ้นทางลูกกรง พอนั่งเสร็จ ท่านก็ถามเจ้าภาพว่า “จะสวดหรือไม่สวดล่ะ เอ้า ประเคนกินกันเลย”

เวลาไปบิณฑบาต พอถึงบ้านญาติโยมที่คุ้นเคย ท่านถือวิสาสะเดินเข้าไปในบ้านเลย แล้วพูดกับเจ้าของบ้านว่า “#เฮ้ย_ชงกาแฟถ้วยซิ” ระหว่างที่จิบกาแฟก็นั่งไขว่ห้างกระดิกเท้า สูบบุหรี่ วันไหนอยากฉันอะไรก็พูดว่า “#เฮ้ย_ตำน้ำพริกกุ้งแห้งเกลือให้กูหน่อย”

วันหนึ่งท่านขาเจ็บ ต้องนั่งรถไปบิณฑบาต
พอถึงบ้านศิษย์ที่ใกล้ชิด ท่านก็สั่งทันที
“#เอ้า_เอาข้าวมาให้กูกิน” ว่าแล้วก็ตั้งบาตรแล้วนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ พอลูกศิษย์ทัก ท่าน
ก็ว่า “#ขากูเจ็บนี่หว่า”

ลูกศิษย์จึงว่า “ท่านอาจารย์ไม่ต้องมาบิณฑบาตเลย นอนอยู่เฉย ๆ เลย จะจัดไปถวายที่วัดเอง”

“ไม่ได้ เดี๋ยวเขาจะด่า หาว่าขี้เกียจบิณฑบาต” ท่านตอบ

ลูกศิษย์จึงพูดต่อหน้าท่านว่า “นั่นล่ะ เขาจะด่าหนักล่ะไปอย่างนั้น”

ท่านฟังแล้วก็ไม่ได้เคืองศิษย์แต่อย่างใด

ท่านจะไปไหนมาไหน ไม่มีพิธีรีตองมาก เรียกว่าไปง่ายมาง่าย พาหนะที่ท่านใช้เดินทางไปกรุงเทพ ฯ เป็นประจำ หาใช่รถยนต์ไม่ แต่เป็นรถสิบล้อ เวลาจะเดินทาง พร้อมเมื่อใดท่านก็ออกไปโบกรถทันที รถคันไหนที่ท่านหมายตาไว้ เป็นต้องจอดทุกคัน เพราะท่านไม่ได้โบกริมถนน แต่ยืนโบกกลางถนนเลย บางครั้งท่านรีบมาก คว้าจีวรคว้าย่ามได้ก็ออกจากวัดเลย แล้วค่อยห่มจีวรขณะที่ยืนโบกอยู่กลางถนน บางทีไม่ได้โบกเฉย ๆ ยกเท้าโบกด้วย

ลูกศิษย์เล่าว่าคราวหนึ่งมารอรับท่านที่กรุงเทพ ฯ เห็นท่านนั่งอยู่บนหลังคารถสิบล้อ พร้อมกับตะโกนว่า “หนาวโว้ย ๆ ...หนาว” ท่านว่าข้างล่างนั้นมีคนเต็ม มีผู้หญิงมาด้วย ท่านจึงขึ้นมานั่งบนหลังคา

ท่านเป็นพระที่ไม่ถือเนื้อถือตัว
#พระอาจารย์วัน_อุตฺตโม ซึ่งเป็นวิปัส
สนาจารย์ชื่อดังภาคอีสาน เล่าว่า เคยได้รับนิมนต์ไปฉันในงานพระราชทานเพลิงศพ
#หลวงปู่ฝั้น_อาจาโร ระหว่างที่ฉันอยู่บนปะรำพิธี ก็สังเกตเห็นหลวงปู่เจี๊ยะนั่งฉันปะปนกับพระหนุ่มเณรน้อยด้านล่าง หลวงปู่เจี๊ยะนั้นเป็นพระที่พระอาจารย์วันเคารพมากพอฉันเสร็จจึงมาขอขมาต่อหลวงปู่เจี๊ยะว่า “ครูอาจารย์ เกล้า ฯ ขอขมาที่นั่งสูงกว่า” พระเณรทั้งหลายตกใจกันใหญ่เพราะคิดว่าหลวงปู่เจี๊ยะเป็นพระหลวงตาธรรมดา ๆ

อีกคราวหนึ่งพระอาจารย์วันไปงานฉลองพระที่จังหวัดขอนแก่น ท่านได้รับนิมนต์ให้นั่งบนแท่นใหญ่ในพิธี พอเห็นหลวงปู่เจี๊ยะนั่งข้างล่าง ท่านก็รีบกระโดดลงมาขอขมาหลวงปู่ หลวงปู่ตอบว่า “วัน...ไป ๆ ไม่เป็นไร”

คนส่วนใหญ่มองเห็นหลวงปู่เจี๊ยะว่าเป็นพระหลวงตาธรรมดา ๆ อาจจะนึกดูหมิ่นหรือค่อนแคะอยู่ในใจด้วยก็ได้ที่เห็นอากัปกิริยาของท่านไม่เรียบร้อย แต่เขาเหล่านั้นหารู้ไม่ว่าหลวงปู่เจี๊ยะเป็นที่นับถือของพระอาจารย์องค์สำคัญ ๆ สายหลวงปู่มั่น ท่านเหล่านี้มาเยี่ยมและกราบคารวะท่านสม่ำเสมอ เช่น หลวงปู่หลุย

หลวงปู่ชอบ หลวงปู่สาม หลวงปู่ตื้อ หลวงตามหาบัว หลวงพ่อพุธ และพระอาจารย์สิงห์ทองเป็นต้น

แม้ว่าท่านจะเป็นคนโผงผาง เอะอะตึงตังอยู่เสมอ แต่ท่านนอบน้อมในธรรมยิ่งนัก บางคราวขณะที่กำลังคุยกับพระเณร ส่งเสียงดัง หรือมีเสียง เฮ ๆ เป็นระยะ ๆ แต่ทันทีมีพระเณร ผู้ใหญ่หรือเด็ก พูดเรื่องธรรมะ ท่านจะนิ่งฟัง แสดงความเคารพในธรรมจนศิษย์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า “#กิริยาในธรรมกับกิริยาในโลกของท่านต่างกันนัก”

#หลวงปู่จันทา_ถาวโร เคยถามหลวงปู่เจี๊ยะ
ว่า กิริยาอาการของหลวงปู่เป็นอย่างนี้ ท่านไม่กลัวคนตำหนิบ้างหรือ ท่านตอบว่า “อันว่ากิริยาภายนอกนั้นจะเป็นอย่างใดก็ตามเถอะ แต่ถ้าหากเรามุ่งมั่นปั้นใจจนเที่ยงดี ก็ยังดีกว่าคนที่กิริยางามแต่ใจไม่เที่ยงเพราะนิสัยวาสนาคนเรามันไม่เหมือนกัน เขาก็ยังมีคำพูดอยู่มิใช่หรือว่า แข่งอะไรก็แข่งได้ แต่แข่งวาสนาแข่งกันไม่ได้ เราจึงไม่ไปแข่งวาสนากับใคร เราเป็นอย่างนี้จึงพอใจอย่างนี้ เพราะนิสัยวาสนาเป็นมาอย่างนี้”

ในยุคที่ผู้คนติดยึดอยู่กับรูปลักษณ์ภายนอก และตัดสินคนจากสิ่งที่เห็นด้วยตานั้น หลวงปู่เจี๊ยะได้เตือนใจให้เราตระหนักว่าสิ่งสำคัญกว่าคือคุณธรรมภายใน หากเราไม่หลงเข้าใจว่าเปลือกเป็นแก่นแล้ว ก็ย่อมเรียนรู้สิ่งดี ๆ ได้มากมายจากหลวงปู่เจี๊ยะ น่าเสียดายก็ตรงที่ท่านได้ละสังขารไปแล้วตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๔๗ คงเหลือแต่เรื่องราวมากมายที่สอนใจเราและอนุชนรุ่นหลัง

#จากหนังสือลำธารริมลานธรรม
#โดยพระไพศาล_วิสาโล







#ภาวนาเพื่อละ..

#หลวงพ่อเฟื่อง_โชติโก (หรือ “ท่านพ่อเฟื่อง”) เป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดของพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร ผู้ก่อตั้งวัดอโศการาม ท่านเป็นชาวจันทบุรี
เมื่อบวชได้ ๒ พรรษา ก็ได้พบพระอาจารย์ลี (ซึ่งลูกศิษย์นิยมเรียกว่า “ท่านพ่อลี”) เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจึงติดตามพระอาจารย์ลีออกธุดงค์ตามแนวเขตป่าจันทบุรีและตราด มีช่วงหนึ่งท่านได้แยกไปธุดงค์ทางภาคเหนือ นอกจากได้พบหลวงปู่มั่นแล้ว ยังได้ไปศึกษาและปฏิบัติกับศิษย์คนสำคัญของหลวงปู่มั่นหลายท่าน อาทิ หลวงปู่สิม และหลวงปู่อ่อนสา

ช่วงที่ได้อยู่กับหลวงปู่มั่นที่อำเภอพร้าวนั้น ท่านได้เรียนรู้พระธรรมวินัยมากมาย อีกทั้งยังได้เห็นปฏิปทาของหลวงปู่มั่นและอุบายการสอนของท่านด้วย ซึ่งมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับลูกศิษย์แต่ละคน อาทิเช่น หากมีพระรูปใดป่วยแล้วขอยา หลวงปู่มั่นจะตำหนิว่า “นี่เอาอะไรเป็นสรณะที่พึ่ง เอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง หรือเอายาเป็นที่พึ่ง ถือศาสนาพุทธหรือถือศาสนายากันแน่” แต่หากพระรูปไหนป่วยแล้วไม่ยอมฉันยา ท่านก็ติเตือนอีกว่า “ยามี ทำไมไม่ยอมฉัน ทำไมทำตัวเป็นคนเลี้ยงยาก”

ภายหลังท่านได้กลับมาปฏิบัติอยู่กับพระอาจารย์ลี ที่วัดคลองกุ้ง จังหวัดจันทบุรี เมื่อพระอาจารย์ลีมรณภาพ ท่านได้ไปจำพรรษา
ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม และสอนกรรมฐานให้แก่พระเณรที่นั่น แม้ภายหลังท่านไปเป็นเจ้าอาวาสวัดธรรมสถิต อำเภอเมือง
จังหวัดระยอง แต่ท่านก็ยังไปสอนกรรมฐานที่วัดมกุฎกษัตริยารามอยู่เป็นประจำ ต่อมาได้รับนิมนต์ไปสอนกรรมฐานในต่างประเทศ โดยเฉพาะที่ฮ่องกง จนไปมรณภาพที่นั่นเมื่อ
พ.ศ. ๒๕๒๙ สิริอายุ ๗๑ ปี

หลวงพ่อเฟื่องเป็นผู้ที่พูดน้อย เว้นแต่มีเหตุ
ที่ควรพูดยาว ท่านก็จะขยายความ ทั้งนี้เพราะท่านถือตามคติพระอาจารย์ลีว่า “ถ้าจะสอนธรรมะให้เขาฟัง แต่เขาไม่ตั้งใจฟัง หรือไม่พร้อมที่จะรับ ธรรมะที่พูดไปนั้น ถึงจะดี วิเศษ
วิโสแค่ไหน ก็ยังนับว่าเป็นคำเพ้อเจ้ออยู่ เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร”

แม้ท่านจะประหยัดคำพูด แต่ถ้อยคำของท่านก็มีความลุ่มลึก ตรงถึงใจของญาติโยม ลูกศิษย์ของท่านผู้หนึ่งเล่าถึง

ประสบการณ์ครั้งแรกที่ได้พบท่าน ท่านถามว่า “#เคยทำบุญที่ไหนบ้าง” เขาตอบว่า เคยไปช่วยสร้างพระพุทธรูปที่วัดนั้น ช่วยสร้างเมรุที่วัดนี้ ช่วยทำที่นั่นที่โน่นอีกหลายแห่ง พูดจบ ท่านก็ถามต่อว่า “#ทำไมไม่ทำที่ใจล่ะ”

ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งทำอย่างที่ท่านแนะนำ คือทำสมาธิ ภาวนา แต่ทำมาหลายปีก็รู้สึกว่าอยู่กับที่ จึงบ่นให้ท่านว่า ฝึกภาวนามาหลายปีแล้ว แต่ไม่เห็นได้อะไรขึ้นมาเลย ท่านตอบทันทีว่า #เขาภาวนาเพื่อให้ละ_ไม่ใช่ภาวนาเพื่อให้เอา

อีกคนหนึ่งนั่งภาวนาหลังจากทำงานที่วัด รู้สึกเพลียมากแต่ก็ฝืนใจภาวนาเพราะเกรงใจท่าน นั่งไปได้ไม่นานรู้สึกว่าใจเหลืออยู่นิดเดียว กลัวใจจะขาด ท่านเดินผ่านมาพอดีจึงพูดขึ้นว่า “ตายเตยไม่ต้องกลัว คนเราก็ตายอยู่แล้วทุกลมหายใจ เข้า-ออก” ลูกศิษย์ได้ฟังก็เกิดกำลังใจที่จะนั่งต่อสู้ความเพลีย

อีกคราวหนึ่งท่านได้กล่าวเตือนสติลูกศิษย์ว่า “การภาวนาก็คือการฝึกตาย เพื่อเราจะได้ตายเป็น” ท่านยังกล่าวอีกว่า “ไม่ต้องกลัวหรอกการตาย ให้กลัวการเกิดดีกว่า”

กับพระภิกษุเช่นกัน หลวงพ่อพูดตรงและมีความหมายลึกซึ้ง มีพระรูปหนึ่งอยู่กับท่านมาหลายปี วันหนึ่งเข้าไปหาท่านเพื่อขอพรวันเกิด ท่านให้พรสั้น ๆ ว่า “#ให้ตายเร็วๆ” พระรูปนั้นฟังแล้วก็ใจหาย ต่อเมื่อพิจารณาถ้อยคำดังกล่าวอยู่หลายวัน จึงเข้าใจว่าท่านไม่ได้แช่ง แต่ให้พรจริง ๆ เป็นพรที่ประเสริฐด้วย นั่นคือการตายจากกิเลส หรือมีปัญญาแจ่มแจ้งจน “ตัวกู” ดับ

#ถึงความเห็นของเราจะถูก_แต่ถ้าเรายึดเข้าไว้มันก็ผิด...

เป็นคำสอนของท่านอีกข้อหนึ่ง ที่มีความหมายลึกซึ้ง และเตือนใจให้เราตระหนักถึงโทษของความยึดมั่นถือมั่นในความคิดที่ดี หรือยึดติดในความดีของตน เพราะความจริงแล้วไม่มีอะไรที่เราสามารถยึดติดถือมั่นได้แม้แต่อย่างเดียว ใช่แต่เท่านั้นการยึดมั่นในความดียังทำให้เกิดทุกข์และอาจนำไปสู่การกระทำที่ผิดก็ได้

อย่างไรก็ตามในเรื่องพระวินัย ท่านเห็นเป็นสิ่งที่ควรใส่ใจอยู่เสมอ “อย่าเห็นว่าข้อวินัยเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นเรื่องไม่สำคัญ ท่านอาจารย์มั่นเคยบอกว่า ไม้ทั้งท่อนไม่เคยเข้าตาใครหรอก แต่ขี้ผงเล็ก ๆ นั่นแหละ เข้าตาง่าย ทำให้ตาบอดได้”

ท่านมีความเห็นเกี่ยวกับพระวินัยที่น่าสนใจ คราวหนึ่งพระต่างชาติที่มาบวชกับท่านได้กลับไปเยี่ยมบ้าน โยมแม่เลี้ยงเป็นชาวคริสต์ เมื่อเห็นพระลูกชายก็อยากกอด เพราะไม่ได้พบกันมานานหลายปี แต่พระลูกชายไม่ยอมให้กอด เธอจึงโกรธมาก หาว่าพุทธศาสนาสอนให้รังเกียจผู้หญิง เมื่อเรื่องนี้ถึงหูท่าน ท่านก็อธิบายว่า “ที่พระพุทธเจ้าไม่ให้พระจับต้องผู้หญิงนั้น ไม่ใช่ว่าเพราะผู้หญิงไม่ดี แต่เป็นเพราะพระไม่ดีต่างหาก เพราะพระยังมีกิเลสจึงจับต้องกันไม่ได้”

คำอธิบายตรงไปตรงมาแบบนี้น้อยคนจะได้ฟังจากปากของพระทั่วไป เหตุผลสำคัญคงเป็นเพราะไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของพระวินัยว่าเป็นเครื่องฝึกฝนตนและขัดเกลาจิตใจสำหรับบุคคลที่ยังมีกิเลส ส่วนท่านที่พ้นกิเลสแล้วยังรักษาพระวินัยก็เพื่อเป็นแบบอย่างแก่บุคคลทั้งหลายที่ยังต้องฝึกฝนตน..

#จากหนังสือลำธารริมลานธรรม
#เขียนโดยพระไพศาล_วิสาโล









…คนส่วนใหญ่ในโลกนี้
“ ไม่มองซีกที่จะทำให้เราทุกข์กัน “

.มองแต่ซีกที่จะทำให้เราสุขกัน
เราเลยหลงกับสิ่งต่างๆ ในโลกนี้

.พอเห็นอะไรแล้วก็อยากได้
เพราะเห็นคนอื่นเขามีแล้วเขามีความสุข
ก็อยากมีความสุขเหมือนเขา

.เห็นคนอื่นขับรถเก๋งราคาแพงๆ
ก็อยากได้แล้ว
เห็นคนอื่นมีบ้านราคาแพงๆอยู่
ก็อยากได้แล้ว
เห็นคนอื่นมีแฟนหน้าตาหล่อเหลา
มีแฟนสวยๆ ก็อยากจะได้แล้ว

.เห็นว่าเขามีความสุข
“ แต่ไม่เห็นอีกซีกเวลาที่เขาทุกข์ “
เวลาที่เขาสูญเสียสิ่งที่เขามีไป.

……………………………………….
.
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๓







...สำหรับเรื่องนี้ ต้องบอกว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องของโลก เราปฏิเสธความเจริญของโลกไม่ได้ แต่ต้องอยู่อย่างมีสติ อย่าให้เทคโนโลยีเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเรา แต่ให้เป็นเครื่องหนุนเสริมในการประพฤติปฏิบัติใน ศีล สมาธิ ปัญญา ของเราให้ก้าวหน้าขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วก็จะมีการใช้ผิด ๆ อย่างที่ทุกท่านได้เห็นกันอยู่

ระยะนี้ต้องบอกว่า เป็นระยะที่คนเราพยายามจะทำความผิดให้ถูก โดยที่อ้างว่าไม่เป็นไรบ้าง มีคนชื่นชมมากกว่าตำหนิบ้าง ถ้าลักษณะอย่างนี้ แสดงว่า...สภาพจิตใจของผู้ทำนั้นหยาบมาก ไม่เห็นโทษในการกระทำของตนเองยังไม่พอ ยังไม่เห็นด้วยว่าสิ่งที่ตนเองกระทำนั้น ทำลายพระพุทธศาสนาอย่างไรอีกด้วย..!

...แต่ว่าหลายท่าน ทั้ง ๆ ที่เรียนมาสูงเสียเปล่า แต่กลับเอาตนเองเป็นสำคัญ ไม่เอาพระธรรมวินัยเป็นสำคัญ จึงมีการกระทำที่อยู่ในลักษณะของการปรามาสพระรัตนตรัย โดยเฉพาะการที่บอกว่าแสดงธรรม แต่ไม่เห็นว่าเนื้อหาธรรมะที่ชัดเจนอยู่ตรงไหน มีแต่เฮฮากัน จนกระทั่งญาติโยมก็อาจจะลืมไปแล้วว่าข้อธรรมะนั้นอยู่ตรงไหน

นี่คือสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่า มีผู้ที่พยายามจะทำสิ่งผิดให้เป็นถูก แล้วถ้านาน ๆ ไป ผิดจะกลายเป็นถูกมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วพุทธศาสนานี้จะตั้งอยู่ไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่พระภิกษุสามเณร ตลอดจนกระทั่งอุบาสก อุบาสิกา คือญาติโยมทั้งหลายต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า สิ่งใดที่สมควร สิ่งใดไม่สมควร

อย่าลืมว่าในมหาปเทส ๔ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีข้อตัดสินพระวินัยไว้ว่า สิ่งใดสมควร แต่เมื่อพิจารณาแล้วว่าไม่สมควร สิ่งนั้นย่อมไม่สมควร จะไปอ้างว่าคนส่วนใหญ่พอใจ คนส่วนน้อยไม่พอใจก็ช่างมัน จะไปอ้างว่าคนอื่นอยากด่าว่าก็ปล่อยมันทุกข์ใจของมันไปเอง เราสบายใจก็แล้วกัน ถ้าลักษณะนั้นอาตมภาพตัดสินให้แทนว่า ท่านกำลังอ้างเพื่อหานรกใส่ตัว...!

วันนี้จึงชี้แจงแสดงเหตุให้เห็นว่า แนวโน้มของพระพุทธศาสนาของเรานั้นเป็นอย่างไร พระภิกษุสามเณร ตลอดจนกระทั่งญาติโยมทั้งหลายที่เป็นพุทธบริษัท ๔ เราจะดูแล ปกป้องพระพุทธศาสนานี้ได้อย่างไร โดยเฉพาะอาตมภาพมั่นใจว่าพระพุทธศาสนานี้เป็นของจริง เป็นของแท้ ทนทานต่อการพิสูจน์ ไม่มีสิ่งภายนอกใด ๆ มาทำลายได้ ยกเว้นสนิมเหล็กที่เกิดขึ้นภายในเอง ก็คือถูกทำลายโดยพุทธบริษัททั้ง ๔ ของเราที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเอง..!

บางช่วงบางตอนของธรรมเทศนา

พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
(พระอาจารย์เล็ก ศิษย์หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
วันพุธที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๔
(ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)








บาท สองบาท ห้าบาท สิบบาท ก็เป็นบุญเป็นเจ้าภาพได้ เขียนชื่อเฮาลงไปเลย อย่าได้อายในการทำบุญ
มันกะคือเฮาไปโรงเรียนนั้นละ เวลาครูเช็คครูชื่อ เฮากะตอบรับ...มาครับ/มาค่ะ การทำบุญคือกันทำไปเรื่อย ๆ มันกะเต็มเอง อย่าดูถูกของน้อย ทำบ่อย ๆมันกะเป็นของมาก เมื่อถึงเวลามันจะส่งผลเองลูก

คำสอน หลวงปู่สวาท ปัญญาธโร
วัดโป่งจันทร์ อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี






"ทุกสิ่งทั้งหลายในโลก ไม่มีอะไรถาวร จะต้องเสื่อมโดยธรรมชาติธรรมดาทุกอย่าง ฉะนั้น จึงไม่ควรไปสนใจกับสิ่งที่ไม่ถาวรเหล่านี้ คนจะสวยจะงามก็ต้องแก่และตาย กุหลาบก็ต้องโรย ดอกบัวงามก็ต้องร่วง มะม่วงสุกหอมก็ต้องมีแมลงกิน สิ่งที่ถาวรและไม่ตายนั้น คือ ดวงจิต อย่างเดียว สิ่งนี้จึงควรสนใจและรักษาให้มาก"

ท่านพ่อลี ธมฺมธโร







ความศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์ วิชาอาคมใดๆ ก็สู้จิตใจที่มีธรรมบ่ได้ดอกเนาะ จิตใจที่มีธรรมนี่ มีอานุภาพมากกว่า คืออานุภาพแห่งความดี ความบริสุทธิ์ ความเมตตา มีค่าเหนือกว่า เวทมนต์คาถาใดๆเนาะ

โอวาทธรรม
พระราชภาวนาวชิรคุณ
[หลวงปู่จื่อ พนฺธมุตฺโต]
วัดเขาตาเงาะอุดมพร อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ







"บางท่านกล่าวว่า เราลงมือทำดีจะตาย แต่ได้รับผลไม่คุ้มค่า ข้อนี้ขอแซงว่า เราได้ระลึกถึงใจเราที่ได้ทำมาแล้ว นึกมาแล้วทุกขณะจิตบ้างหรือไม่ บางรายในอดีตเราได้นึกอิจฉาริษยาเขาด้วยใจล้วน ๆ ก็มี ได้เปล่งวาจาออกมาบ้างก็มี แต่กายยังไม่ได้ลงมือทำก็ตาม ผลของการนึกอิจฉาริษยาเขาก็สามารถตามมาหาเราได้ ผลที่วาจากล่าวอิจฉาเขาก็ดี ก็สามารถมาตัดรอนเราได้เป็นยุค ๆ เป็นสมัย ๆ ผลของความชั่ว เหตุความชั่วที่เราได้ปลูกพืชไว้ในดวงใจคือกิเลสในชาตินี้และชาติก่อนตั้งล้าน ๆ ๆ ๆ ชาติล่วงมาแล้ว มันไม่จบเกษียณได้โดยง่ายเหมือนคดีดำคดีแดงในโรงศาลภายนอก

ธรรมดาคนเราโดยมากแล้วมักจะไม่ทวนดูใจของตนเป็นส่วนมาก ในท่านผู้อื่นเหลวไหลกว่าตนทั้งนั้น โทษท่านผู้อื่นเห็นง่าย ฝ่ายตนเห็นยาก หาโขนสวมหัวตนเองหาได้ง่าย สวมให้ท่านผู้อื่นนั้นไม่อยากจะสวมให้โดยง่ายเพราะเกรงเสียเปรียบ เพราะมีกิเลสเป็นเจ้านายใหญ่โต เป็นนายคุมนักโทษอยู่ในหัวใจ..."

โอวาทธรรม
หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) ต.หนองสูงใต้ อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร
(พ.ศ. ๒๔๕๔ - ๒๕๓๙)






"ไม่มีใครรู้ตัวหรอกว่า
ถ้าจบปริญญาตรี กิเลสก็จบปริญญาตรี
ถ้าจบปริญญาโท กิเลสก็จบปริญญาโท
และถ้าจบปริญญาเอก
กิเลสก็จบปริญญาเอกด้วยเหมือนกัน"
.
หลวงปู่ชา สุภัทโท






"ความหมายของสังฆทาน"

ถาม : การบูชาชุดสังฆทานผ้าไตรจีวรจากวัดด้วยเงินสด แล้วนำมาถวายซ้ำได้หรือไม่ครับ สมควรหรือไม่ครับ

พระอาจารย์ : อันนี้มันก็แล้วแต่จะว่ากัน (หัวเราะ) คือยุคนี้บางคนก็ขี้เกียจ ก็เลยเอาง่ายๆ อยากถวายสังฆทานและก็เข้าใจคำว่าสังฆทานผิดไป คิดว่าคำว่าสังฆทานมันคือของที่ใส่กระแป๋งเหลืองๆ อย่างนี้ แล้วก็ถวายพระก็เรียกว่าเป็นสังฆทาน อันนี้ก็ไม่ใช่แล้ว

ความหมายของสังฆทานก็คือ ถวายของให้กับส่วนกลางส่วนรวม ไม่ได้ถวายให้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด ของที่จะถวายเป็นสังฆทานนี้เทียนเล่มหนึ่งก็ถวายได้ ผ้าจีวรผืนหนึ่งก็ถวายได้ หรือเงินทองก็ถวายได้เลย ไม่ต้องไปซื้อกระแป๋งมาเวียนกันให้มันเป็นเหมือนกับการเล่นลิเกไป ถวายเงินให้เป็นส่วนกลางของวัดไปเพื่อปฏิสังขรณ์ เพื่อจ่ายค่าน้ำค่าไฟ หรืออะไรต่างๆ นาๆ ก็เรียกว่าเป็นสังฆทานแล้ว คือเป็นการให้แก่ส่วนรวม ถ้าให้แก่บุคคลนี้ เรียกว่าบุคลิกทาน ที่พระพุทธเจ้าท่านเน้นว่าการถวายสังฆทานมีประโยชน์กว่าการถวายแก่บุคคล เพราะบุคคลนี้มีอายุสั้นไม่เกิน ๘๐~๙๐ ปีก็ตาย แต่ส่วนรวมนี้มันจะมีตัวตายตัวแทนกัน มีพระมาบวชกันอยู่เรื่อยๆ พระแก่ตายไปพระหนุ่มก็มีบวชเข้ามาใหม่ ก็ยังจะมีวัดมีสงฆ์อยู่เรื่อยๆให้มาทำหน้าที่ เป็นที่พึ่งของศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย ถ้าเราไปพึ่งหลวงพ่อหลวงตาองค์เดียว เดี๋ยวท่านตายไปเราก็ไม่มีที่พึ่ง อย่างพระพุทธเจ้า นี้แม่ของพระพุทธเจ้าก็อยากถวายจีวรให้กับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็บอกไปถวายเป็นสังฆทาน อย่ามาถวายเราพยายามสามครั้งพระพุทธเจ้าก็บอกสามครั้ง แล้วก็บอกเหตุผลว่าถวายให้เป็นสังฆทานจะทำให้ศาสนาอยู่ได้ถึงห้าพันปี ถ้าถวายให้เราคนเดียวนี้ อยู่ได้ ๘๐ ปีก็หมด เพราะถ้าเราตายศาสนาก็หมด เพราะถ้าถวายให้เราคนเดียวพระรูปอื่นไม่มีอะไรถวายเขาก็ไม่มาบวชกัน บวชแล้วมันไม่มีจีวรใส่ไม่มีอาหารกินก็อยู่ไม่ได้

ฉะนั้น เราต้องทำนุบำรุงส่วนรวม อย่าไปเจาะจงแต่เฉพาะบุคคล เพราะว่าบุคคลพออายุหมดเขาก็หมดไป ถ้าเราทำนุบำรุงส่วนรวม นี้ก็จะมีตัวตายตัวแทนมาเติมมาเพิ่มอยู่เรื่อยๆ สงฆ์ก็จะอยู่ต่อไปเรื่อยๆ มีการบวชพระอยู่เรื่อยๆ พระเก่าพระแก่ก็ตายไป พระบวชใหม่ก็เจริญเติบโตขึ้นมาเป็นพระเก่าพระแก่ต่อไปมันก็มีการสืบทอดกันไปเรื่อยๆ ฉะนั้น การถวายของให้แก่ส่วนรวมที่เรียกว่าสังฆทาน อันนี้จึงเป็นประโยชน์มากกว่าการถวายให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ดังนั้น การถวายสังฆทานอันนี้ไม่ได้อยู่ที่ของที่อยู่ในกระแป๋งสีเหลือง ของอะไรก็ได้ที่เป็นของสมควรแก่สมณะบริโภค นี้ถวายได้เป็นสังฆทานได้หมด เช่นศาลาหลังนี้ก็สร้างเสร็จ ก็ถวายให้เป็นของสังฆทานไป ไม่ได้เป็นของพระรูปใดรูปหนึ่ง มีไว้สำหรับทุกคนที่อยู่ในวัดนี้มาใช้ทำกิจกรรมร่วมกันได้ โบสถ์ เจดีย์ กุฎินี้ก็เป็นสังฆทานทั้งนั้น ฉะนั้น ของที่เราอยากจะถวายสังฆทาน เราก็แจ้งไปกับทางวัดว่า ขอถวายเป็นส่วนกลางไป ส่วนรวมไป ไม่ได้ถวายให้กับรูปใดรูปหนึ่ง อันนี้ก็จะไปเป็นของส่วนกลางไป ถ้าถวายให้เป็นของรูปใดรูปหนึ่งท่านก็จะเอาไปใช้ตามอัธยาศัยของท่านได้ อันนี้ก็แล้วแต่ศรัทธา จะถวายเป็นสองรูปแบบก็ได้ ส่วนหนึ่งก็ให้กับบุคคล อีกส่วนหนึ่งก็ให้กับส่วนรวมก็ได้

นี่คือความหมายของสังฆทาน จึงไม่จำเป็นที่จะต้องไปเอาเงินซื้อสังฆทานจากวัดแล้วก็เอามาถวายวัดอีกที มันก็อัฐยาย ซื้อขนมยาย ขายขนมยาย นี่แหละ มันก็วนไปเล่นยี่เกกันไปอย่างเดียว ก็เอาเงินใส่ซองไปแล้วเขียนว่าขอถวายเป็นสังฆทานก็จบ แล้วมันก็ได้เหมือนกัน
แต่สังฆทานที่ส่วนใหญ่เราถวายกับพระนี้มันไม่ได้เป็นสังฆทานหรอก เพราะว่าพระรูปไหนมารับก็เป็นของพระรูปนั้นไป เห็นไหม มันก็ไม่ได้เป็นสังฆทาน ถึงแม้มันจะเป็นกระแป๋งสีเหลืองๆ ที่เราเรียกว่ากระแป๋งสังฆทาน แต่ถวายจริงๆ มันก็เป็นของพระรูปนั้นไป แต่ถ้าตอนเช้าที่เรามาศาลาวัดญาณฯ แล้วเราเอากับข้าวกับปลาอาหารมาถวายนี้ มันเป็นสังฆทาน เพราะพระจะเก็บไว้กินคนเดียวไม่ได้ รับแล้วก็ตักแบ่งกัน องค์แรกตักหน่อยแล้วก็ส่งให้องค์ที่สอง องค์ที่สองก็ตักหน่อยแล้วก็เลื่อนไปเรื่อยๆ อย่างนี้แหละเรียกว่าสังฆทาน
สังฆทานนี้จะเป็นอาหารสดอาหารแห้งก็ได้ ส่วนใหญ่ควรจะเป็นอาหารสดจะดีกว่าเพราะอาหารแห้งพระก็จะฉันไม่ได้ ก็ต้องไปจ้างให้เขามาทำอีก รอให้ญาติโยมมาทำให้ ถ้าจะถวายอาหารให้ถวายอาหารสด อย่าไปเอามาม่าปลากระป๋องเลย เต็มไปหมดในวัดมีแต่มาม่า ปลากระป๋อง (หัวเราะ) ผ้าก็ผืนนิดเดียวจะนุ่งจะห่มก็ไม่ได้ เพราะถ้าผืนใหญ่มันแพง จะประหยัดจะถวายให้ครบชุดมีทั้งผ้า มีทั้งอาหาร มีปัจจัยสี่ครบหมด ก็เลยอย่างละนิดอย่างละหน่อย ใช้อะไรก็ไม่ได้สักอย่างเลย ซื้อเอาอย่างใดอย่างหนึ่งดีกว่า ถ้าอยากจะถวายผ้าก็ซื้อผ้าไตรไปชุดหนึ่งเลย อย่างอื่นไว้วันหลังก็ได้ เอาทีละอย่าง ถ้ามีทรัพย์น้อย วิธีที่จะมีทรัพย์มากก็หัดทำบุญทุกวัน วิธีทำบุญทุกวันก็คือ เอาเงินใส่กระปุกเงินทำบุญวันที่เราไม่ได้มาวัด เราก็เอาเงินใส่กระปุกเงิน ที่เราจะใส่บาตรแต่ไม่มีพระมาบิณฑบาตนี้เราก็ใส่กระปุกไว้ แล้วพอถึงเวลาจะมาวัด โห!! มีเงินมาทำบุญเยอะ จะซื้ออะไรก็ได้เยอะแยะเลย แต่ถ้าไม่เก็บไว้เลยไม่ใส่กระปุกเลย เอาไปเที่ยวหมดเอาไปกินหมด พอถึงเวลาจะมาทำบุญก็ทำได้นิดเดียว.

ธรรมะบนเขา
วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต








“เปลวไฟถ้ามันอยู่ในเตา มีเตาเป็นขอบเขตของไฟ ไฟนั้นก็เอาไปสร้างประโยชน์ได้เยอะแยะมากมาย แต่ถ้าเปลวไฟมันล้นเตาออกไป โดยไม่มีขอบ ไม่มีเขตกั้น ไฟนั้นมันก็สามารถเผาตัวเราได้ ก่อให้เกิดโทษ เผาอะไรให้แหลกลาญพังทลายลงได้มากมายก่ายกอง

เพราะฉะนั้น หลักสำคัญคือ ไฟนั้นมันต้องมีขอบเขต มีเตาเป็นขอบเขตคอยกั้นไว้

กิเลสก็เหมือนกัน กิเลสในหัวใจของพวกเรา ถ้าจะไม่ให้มันเป็นโทษเป็นภัยต่อเรา เราก็ต้องสร้างขอบเขตให้มันไว้ ก็คือมีศีลนี่แหละ มีความอดกลั้นเป็นขอบเขตของกิเลส ถ้ามันไม่ล้นขอบล้นเขตของศีลออกไป ไม่เกินความอดกลั้นไปแล้ว แม้เราจะเป็นปุถุชนคนมีกิเลส เราก็มีความสุข มีความร่มเย็น มีความสุขในระดับของปุถุชนได้ ในเบื้องต้นมันจะทำให้ชีวิตของพวกเรามีความสุข มีความอบอุ่นเบิกบานในความเป็นอยู่ของพวกเรา พื้นฐานชีวิตมีความอบอุ่นด้วยอำนาจของศีลแล้ว “สีเลนะ สุคะติง ยันติ” มันก็มีความสุขในสภาพนั้นได้ ชีวิตก็จะมีคุณค่า

ชีวิตที่มีคุณค่า คือต้องมีธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว มีธรรมะเป็นที่อยู่”

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม







"ความเจ็บไข้มาถึง
นี่เราจะนั่งร้องไห้อยู่ทำไม
เราก็พิจารณาว่า
มันมาสอนให้เราฉลาด
ให้เราเข้มแข็ง
ให้เรารู้จักความจริงว่า
ชีวิตมันเป็นอย่างนี้"

ท่านพุทธทาสภิกขุ








"เราห้ามตัวเองไม่ให้นินทาได้เมื่อไหร่
ค่อยมาคิดว่าเราจะไม่ถูกนินทา"

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO