นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน เสาร์ 27 เม.ย. 2024 1:27 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ปรารถนาพระนิพพาน
โพสต์โพสต์แล้ว: เสาร์ 21 ส.ค. 2021 8:34 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4540
“มิตร”

การมีเพื่อนดีเป็นมงคลอย่างหนึ่ง การไม่มีเพื่อนเลวก็เป็นมงคลอีกอย่างหนึ่ง ดังในพระบาลีที่แสดงไว้ว่า อเสวนา จ พาลานัง ปัณฑิตานัญจ เสวนา เอตัมมังคลมุตตมัง การไม่คบคนพาล การคบบัณฑิต เป็นมงคลอย่างยิ่ง การที่จะมีเพื่อนดีและไม่มีเพื่อนเลวได้ ต้องรู้จักแยกแยะคน เพราะคนมีทั้งดีและเลวปนกันไป ไม่ว่าหญิงหรือชาย พระพุทธองค์ทรงจำแนกมิตรไว้ ๒ ชนิด คือ มิตรเทียม กับ มิตรแท้

มิตรเทียม มีอยู่ ๔ ชนิด คือ ๑. คนปอกลอก ๒. คนดีแต่พูด ๓. คนหัวประจบ ๔. คนชวนฉิบหาย

๑. คนปอกลอก มีอยู่ ๔ ลักษณะ คือ ๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ๒. ยอมเสียน้อยโดยหวังจะเอาให้มาก ๓. เวลาตัวมีภัยจึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน ๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์

๒. คนดีแต่พูด มีอยู่ ๔ ลักษณะ คือ ๑. ดีแต่ยกของหมดแล้วมาปราศรัย ๒. ดีแต่อ้างของยังไม่มีมาปราศรัย ๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้ ๔. เมื่อเพื่อนมีกิจอ้างแต่เหตุขัดข้อง

๓. คนหัวประจบ มี ๔ ลักษณะคือ ๑. เวลาทำชั่วก็เออออ ๒. เวลาทำดีก็เออออ ๓. ต่อหน้าสรรเสริญ ๔. ลับหลังนินทา

๔. คนชวนฉิบหาย มี ๔ ลักษณะคือ ๑. คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา ๒. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน ๓. คอยเป็นเพื่อนเที่ยวดูการละเล่น ๔. คอยเป็นเพื่อนไปเล่นการพนัน

นี่คือลักษณะของเพื่อนไม่ดี ๔ จำพวก เป็นพวกที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรคบค้าสมาคมด้วย เพราะคนพวกนี้เปรียบเหมือนศัตรูในร่างเพื่อนนั่นเอง มีแต่จะนำความเดือดร้อนความหายนะมาสู่ตน ไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง

มิตรแท้ มีอยู่ ๔ ชนิด คือ ๑. มิตรอุปการะ ๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ ๓. มิตรแนะประโยชน์ ๔. มิตรมีน้ำใจ

๑. มิตรอุปการะ มีอยู่ ๔ ลักษณะ คือ ๑. เวลาเพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน ๒. เวลาเพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน ๓. เวลาเพื่อนมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้ ๔. เวลามีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก

๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีอยู่ ๔ ลักษณะ คือ ๑. บอกความลับแก่เพื่อน ๒. ปิดความลับของเพื่อน ๓. เวลามีภัยอันตรายไม่ละทิ้งกัน ๔. แม้ชีวิตก็สละให้ได้

๓. มิตรแนะประโยชน์ มีอยู่ ๔ ลักษณะ คือ ๑. จะทำชั่วเสียหายคอยห้ามปรามไว้ ๒. คอยแนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี ๓. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง ๔. บอกทางสุขทางสวรรค์ให้

๔. มิตรมีน้ำใจ มีอยู่ ๔ ลักษณะ คือ ๑. เพื่อนมีทุกข์ก็ทุกข์ไปกับเพื่อนด้วย พลอยไม่สบายใจตามไปด้วย ๒. เวลาเพื่อนมีสุขก็มีความสุขด้วยพลอยแช่มชื่นยินดีด้วย ๓. เวลาเขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ให้ ๔. เวลาเขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน

นี่คือลักษณะของเพื่อนที่ดี ถ้าได้คบกับเพื่อนที่ดีก็จะเป็นประโยชน์ เพราะเป็นเพื่อนที่พึ่งพากันได้ในยามยาก เป็นเพื่อนแท้ เป็นเพื่อนที่มีความจริงใจ การคบคนจึงควรเลือกคน หลีกเลี่ยงคนไม่ดี คนปอกลอก คนดีแต่พูด คนหัวประจบ คนชวนฉิบหาย คบแต่คนดี คือ เพื่อนอุปการะ เพื่อนร่วมสุขร่วมทุกข์ เพื่อนแนะประโยชน์ และ เพื่อนมีน้ำใจ ถ้ารู้จักแยกแยะ รู้จักเลือกคน รู้จักเลือกเพื่อนแล้ว ก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ การแสดงเห็นว่าสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้

หมายเหตุ ข้อมูลคัดมาจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม หน้า ๑๕๔–๑๕๗ โดยพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตโต)

กำลังใจ ๔, กัณฑ์ที่ ๖๙
วันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๔

#พระจุลนายก พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี








“มรรคคือเครื่องมือทำให้ใจเป็นกลาง”

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานี้ ก็เกี่ยวโยงไปถึง “อริยสัจ ๔” เพราะทุกขังก็คืออริยสัจข้อที่ ๑ ถ้าเห็นทุกข์ก็จะเห็นว่าเกิดจากสมุทัย ถ้าไม่ได้พบพระพุทธศาสนา เวลาทุกข์จะไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร จะดับได้อย่างไร ต้องมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ แล้วนำออกมาเผยแผ่ให้แก่สัตว์โลกอย่างพวกเราถึงจะรู้กัน ถ้าพวกเราศึกษาจนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วนำเอาไปปฏิบัติได้ ก็จะดับความทุกข์ต่างๆภายในใจได้ ด้วยการละความอยากต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ต่างๆภายในใจ

การที่จะละความอยากต่างๆได้ ก็ต้องเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในสิ่งต่างๆนี้เอง แต่เรามักจะไม่เห็นกัน มักจะคิดว่าจะอยู่กับเราไปตลอด เวลาได้อะไรมา ไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องเสียไปหรือต้องจากเขาไปสักวันหนึ่ง จะคิดว่าจะมีความสุขกับเขาไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่เคยคิดว่าเขาเป็นเหมือนระเบิดเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้มานี้เป็นเหมือนระเบิดเวลา รอเวลาที่จะระเบิดใส่เรา เวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือดับไป พวกเราไม่ค่อยใช้ปัญญากัน จึงถูกความหลงหลอก พอเห็นอะไรก็หลอกว่าดี เอามาเถิด จะมีความสุข ไม่เคยคิดเลยว่าเป็นระเบิดเวลา จะต้องระเบิดใส่เราสักวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว

ร่างกายของเรานี้ก็เป็นเหมือนระเบิดเวลา รอเวลาระเบิดใส่เรา เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ประสบอุบัติเหตุ ทำให้เสียอวัยวะไป ก็จะสร้างความทุกข์ให้กับเราถ้าไม่รู้ทันไม่ยอมรับความจริงว่าต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเจริญสติอยู่ทุกเวลานาที จะได้รู้ว่าจิตกำลังคิดไปในทางมรรคหรือสมุทัย ถ้าคิดไปในทางมรรคก็จะคิดว่าต้องเป็นอย่างนี้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ห้ามไม่ได้ ขณะนี้เป็นอย่างไรก็ต้องเป็น ถ้าไม่อยากให้เป็นอย่างอื่นก็จะไม่ทุกข์ เช่นนั่งอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ได้อยากที่จะลุกไปไหน ก็จะไม่ทุกข์ ถ้าอยากแล้วไปไม่ได้ก็จะทุกข์จะกระวนกระวาย ต้องเจริญสติอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีสติก็จะเจริญปัญญาไม่ได้ ใจจะลอยไปลอยมา จะไม่อยู่กับปัจจุบัน ไม่อยู่กับเหตุการณ์ จะไม่สามารถสอนใจให้ยอมรับกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้

ถ้าไม่มีสติ เวลาสัมผัสกับสิ่งที่ชอบก็จะอยากได้ สัมผัสกับสิ่งที่ไม่ชอบก็จะอยากหนีจากสิ่งนั้นไป ใจจะไม่นิ่ง จะทุกข์ทรมาน เวลาชอบก็นั่งนิ่งๆไม่ได้ ต้องขยับไปหาสิ่งที่ชอบ เวลาไม่ชอบก็นั่งนิ่งๆไม่ได้ ต้องขยับหนีสิ่งที่ไม่ชอบไป เพราะไม่มีสติคอยควบคุมใจไม่ให้ชอบหรือไม่ชอบนั่นเอง ด้วยการสอนใจให้เห็นว่าความชอบหรือไม่ชอบนี้เป็นสมุทัย เป็นภวตัณหา เป็นวิภวตัณหา ชอบก็เป็นภวตัณหาอยากได้ ไม่ชอบก็เป็นวิภวตัณหาไม่อยากได้ ถ้ามีปัญญาก็จะเห็นว่า ไม่มีอะไรทำร้ายใจได้ นอกจากใจทำร้ายใจเอง ด้วยความชอบหรือไม่ชอบ เพราะขาดเครื่องมือที่จะควบคุมใจให้นิ่ง ให้เป็นกลาง ไม่ให้ชอบหรือไม่ชอบ ก็คือ “สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป” ที่เป็น “มรรค” นี่เอง

จุลธรรมนำใจ ๒๓, กัณฑ์ที่ ๔๑๘
วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓

#พระจุลนายก พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี









“ทำบุญสืบต่อพระพุทธศาสนามีแนวไหนบ้าง”

ถาม: ขอความเมตตาจากพระอาจารย์ครับ การหล่อพระถือว่าเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาไหมครับ และถ้าได้ขึ้นว่าทำบุญสืบต่อพระพุทธศาสนามีแนวไหนบ้างครับ

พระอาจารย์: อ๋อ การจะสืบต่อพระพุทธศาสนาได้ต้องศึกษาพระธรรมคำสอน แล้วก็นำเอาพระธรรมคำสอนไปปฏิบัติจนบรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ หลังจากนั้นก็เอาความรู้ที่ได้จากการบรรลุเป็นพระอริยะนี้ไปสอนผู้อื่นต่อไป ถึงจะเป็นการสืบทอดพระศาสนา เพราะพระศาสนาไม่ได้อยู่ที่พระพุทธรูป ไม่ได้อยู่ที่โบสถ์ที่เจดีย์ แต่อยู่ที่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี









เสียงธรรมะจากภูกุ้มข้าว

ให้คุณทำใจให้เหมือนพระอาทิตย์

ใครจะว่าหรือจะชม

ก็ยังทำหน้าที่ของตนเสมอ

ไม่หยุดหย่อน...

#พระเทพมงคลวชิรมุนี
#สุภโร ภิกขุ
#พ่อแม่ครูบาอาจารย์พระญาณวิสาลเถร
#96ปีหลวงปู่หา สุภโร
#เสียงธรรมะจากภูกุ้มข้าว







การปฏิบัติอานาปานสติ เราหายใจเข้ายาว หายใจออกยาว พร้อมกับนึกในใจว่า พุท เมื่อหายใจเข้า โธ เมื่อหายใจออก พุท โธ พุท โธ เรากำหนดไปว่า จุดไหนคือจุดสัมผัสของลมหายใจเข้า หายใจออก ที่เรารู้สึกชัดเจนของลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เราก็จ้องไปที่จุดนั้น เอาสัมผัสของลมเป็นฐานที่ตั้ง อย่าเคลื่อนย้ายจุดที่เราได้อย่างชัดเจนแล้ว เมื่อชัดเจนแล้ว เช่น เราได้จุดที่ลมเข้ากระทบที่ปลายจมูก ลมออกกระทบที่ปลายจมูก ให้เราจ้องไปที่ปลายจมูก พุท โธ พุท โธ ที่ปลายจมูก จ้องเหมือนกับที่เราจ้องจะร้อยรูเข็ม จ้องแน่วแน่ลงไปอย่างนั้น ในขณะที่เราจ้องรูเข็ม ถ้าจิตเราไม่แส่ส่ายไปจุดอื่น เราก็ร้อยรูเข็มได้ แต่ถ้าขณะที่เราจ้องรูเข็ม จิตเราแส่ส่ายไปที่อื่น เราก็ร้อยผิด

การภาวนาก็เหมือนกัน ในขณะที่เรากำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์ของใจ เราก็จ้องไปในจุดที่สัมผัสของลม ความรู้สึกทุกส่วนรวมไปอยู่ที่สัมผัสลมเข้าลมออก เช่นที่ปลายจมูกนั้น ทุกส่วนความรู้สึกของเราจ้องไปที่ปลายจมูกนั้น มีความระมัดระวังกำกับจิตไว้ อย่าให้หลุดออกจากปลายจมูก เมื่อเราพยายามกำหนดอย่างนี้ ในเบื้องต้นก็อาจเผลอหลุดออกไปบ้าง เพราะความไม่คุ้นเคย แต่เราอย่าไปกังวล เมื่อหลุดออกไปกับความนึกคิดปรุงแต่ง ก็จะไปกระทบกับอารมณ์ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง เราก็ปล่อยวาง ไม่ไปให้ความหมายกับความยินดียินร้าย เมื่อมีเกิดก็มีดับ ไม่ต้องไปสนใจยินดียินร้าย เพียงแต่เมื่อเผลอ เรารู้ตัว ก็เริ่มงานใหม่ กำหนดลงที่ปลายจมูก เมื่อเผลอ หลุดออกไป รู้สึกตัว ก็เริ่มงานใหม่อีก เหมือนเมื่อล้ม ก็ลุกขึ้นยืนใหม่ โดยไม่ต้องคำนึงถึงท่าล้ม ที่สุดแล้วก็ยืนได้อย่างแข็งแรงมั่นคงได้

การกำหนดอานาปานสติแล้วหลุดออกไปเพราะสติยังไม่มั่นคง ยังเกาะเกี่ยวกับความนึกคิด เมื่อเรามีสติระลึกได้เราก็เริ่มงานใหม่ กำหนดไปที่ปลายจมูก จ้องแน่วแน่ เมื่อเราจ้องบ่อย กำกับด้วยความระมัดระวังบ่อยเข้า ความคุ้นเคย ความระมัดระวังเกิดขึ้นมามาก ความระมัดระวังแนบสนิทขึ้นมาภายในจิตในใจ สติกำกับจิตก็แนบแน่นขึ้น จนกระทั่งสติแนบแน่นกลมกลืนกับจิต เป็นปกติของจิต เมื่อจิตมีปกติที่ระมัดระวัง เราจะกำหนดอานาปานสติเป็นอารมณ์ของจิตสักเวลาเท่าไร จะอยู่ได้ต่อเนื่อง ไม่ขาดวรรคขาดตอน เพราะความระมัดระวังแนบสนิทเป็นปกติของจิต การภาวนาก็จะต่อเนื่อง ไม่ขาดวรรคขาดตอน อารมณ์เรื่องราวที่เคยครอบงำจิตก็จะจางออกไป จิตจะมีความละเอียดเข้าไป จะสัมผัสถึงความร่มเย็นเบิกบานผ่องใส ที่จะเข้ามาหล่อเลี้ยงจิตใจแทนที่อารมณ์เรื่องราวที่มาก่อกวนจิตใจก่อนนั้น นี่เราเริ่มเห็นผลจากการภาวนาแล้ว

พระอาจารย์สุธรรม สุธัมโม
๑๓ มกราคม ๒๕๖๑






"..แม้เราจะปรารถนา
พระนิพพาน ก็ควรทำบุญ
ให้ครบถ้วนด้วยความศรัทธา

เพราะเราจะทราบได้
อย่างไรว่า เราจะทำตนให้
ถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ในชาติ
นี้ หากเราเป็นคนประมาท
ไม่ทำบุญไว้ก่อน ชาติต่อ​ๆ​ไป
นั้น​ ลำบากแน่นอน.."

โอวาท​ธรรม​
หลวง​ปู่​ไม​ อิน​ทสิริ









#สู้พุทโธบ่ได้ดอก

หมดแนวนี้หมด หมดเฮานี้ โลกอันนี้ มีแต่เรื่องสมมุติทั้งนั้นแหละ สู้พุทโธบ่ได้ดอก เฮาเห็ดแนวใด๋ ก็สู้อันนี้บ่ได้ดอก ในโลกนี้

หลวงปู่คำตัน ฐิตธัมโม--/วัดป่าดานศรีสำราญ








วันนั้น-ฤกษ์นั้นยามนั้นไม่ดี นั่นเป็นความเห็นผิดทั้งหมด วันไหนๆก็ตาม ถ้าปฏิบัติดีแล้ว ได้ดีเหมือนกันหมด

หลวงพ่อวันชัย วิจิตโต







"หนังคนใครจะเอาเล่า"
..เถือหนังออกให้หมด
เป็นยังไง ลอกหนังออก
ให้หมด เป็นยังไง
คนเราน่าดูไหม

นี่แหละ
ให้พากัน พิจารณา
อันนี้จึงได้ เห็นธรรม

เมื่อเอาหนังออกแล้ว
ก็เอาเนื้อออกดู เอาเนื้อ
ออกดูแล้ว ก็เอากระดูก
ออกดู เอาทั้งหมดออกดู
ไส้น้อย ไส้ใหญ่ ตับไต
ออกมาดู

มันเป็นยังไง
มันเป็นคนหรือเป็นยังไง
ทำไมเราต้องไปหลง

นี่แหละ พิจารณา
ให้มันเห็นอย่างนี้แหละ
มันจะละสักกายทิฏฐิ
มันจะละวิจิกิจฉา ความสงสัย
จะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้
มันเลยไม่มีสีลพัตตปรามาส

โอวาทคติธรรม
- ㆍㆍ (หลวงปู่ฝั้น อาจาโร) ㆍㆍㆍ
ㆍวัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนครㆍ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 6 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO