นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 29 มี.ค. 2024 3:15 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ทำสมาธิ
โพสต์โพสต์แล้ว: อังคาร 20 ต.ค. 2020 5:55 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4510
“ขอพระอาจารย์แนะนำการปฏิบัติค่ะ”

...ถาม: อยากกราบขอพระอาจารย์แนะนำการปฏิบัติค่ะ

...พระอาจารย์: มีศีลแล้วใช่ไม๊ มีเนกขัมมะแล้ว ทีนี้ก็ต้องมีอุเบกขา
อุเบกขาก็เกิดจากการฝึกนั่งสมาธิ นั่งสมาธิให้จิตนิ่งให้สงบ
ก็อย่างที่ได้สอนมาที่เทศน์มานี่แหละ ขั้นต่อไปถ้าเราได้บวชแล้ว
ก็ถือว่าเราได้เนกขัมมะแล้ว เรื่องทานเราก็ไม่ต้องกังวลแล้ว เรื่องศีลเราก็รักษาไป ศีล
๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ แล้วเราก็มามุ่งมาที่การเจริญสติ ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาเลย พยายามฝึกสติ
ควบคุมใจ อย่าให้ไปคิดเรื่องราวต่างๆ ใช้คำบริกรรมพุทโธก็ได้
หรือเฝ้าดูว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ก็ได้ แล้วพอเราว่างเราก็นั่งสมาธิ นั่งหลับตา
ดูลมหายใจเข้าออกก็ได้ หรือพุทโธก็ได้ ถ้ายังดูไม่ได้ก็สวดมนต์ไปก่อนก็ได้
บางทีสติเรายังมีกำลังไม่พอที่จะดูลมหรือพุทโธได้ ก็สวดมนต์ไปภายในใจ
สวดไปเงียบๆ ไม่ต้องออกเสียง อันนี้หมายถึงตอนที่เราปฏิบัติ ตอนที่เรานั่งสมาธิ
ไม่เกี่ยวกับเวลาที่เราไปร่วมสวดมนต์กับคนอื่น
ถ้าเรานั่งแล้วเจ็บทนไม่ไหว ก็ลุกขึ้นมาเดินจงกรมก่อนก็ได้
หรือนั่งแล้วง่วงก็ลุกขึ้นมาเดิน แต่ถ้านั่งแล้วเจ็บ ถ้าเราใช้คำบริกรรมได้ ก็บริกรรมไป
เราก็อาจจะผ่านความเจ็บได้ ต่อไปความเจ็บก็จะไม่เป็นปัญหา
เวลานั่งเจอความเจ็บเราก็ว่าพุทโธพุทโธพุทโธไป เดี๋ยวใจนิ่งแล้วมันก็จะไม่เจ็บ
ทนกับความเจ็บได้ พอเราได้สมาธิแล้วเราถึงค่อยไปเจริญปัญญา
ไปพิจารณาทุกอย่างว่าเป็นไตรลักษณ์ ร่างกายไม่สวยไม่งาม มีอาการ ๓๒
เป็นซากศพ นี่คือสิ่งที่เราต้องเจริญถ้าเราต้องการจะมีปัญญา
แล้วใจของเราก็จะสู้กับกิเลสตัณหาความอยากต่างๆ ได้
..........................................
ธรรมะหน้ากุฏิ
วันที่ ๑๗ ต.ค. ๒๕๖๓
อาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี







...ชีวิตเรามันสั้นนิดเดียว
เดี๋ยวก็หมดแล้ว ..
ไม่ควรหมดไปกับงานภายนอก
“ควรคิดถึงงานภายในจิตใจ”
มาเกิดชาตินี้ ..ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงไป

.“ผลของงานภายใน จะติดไปกับใจ
แต่งานภายนอกจะไม่ติด”

. สร้างวัดใหญ่โตขนาดไหน
สวยงามขนาดไหน
เวลาตายไป..ใจก็ไม่ได้เอาไปด้วย
“อาจจะไปไม่ได้เสียด้วยซ้ำไป”
ถูกดึงไว้..ด้วยความห่วงความหวง

. ไม่รับอานิสงส์ของการสร้างวัด
เพราะอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นว่า
“เป็นวัดของฉัน”
ถ้าสร้างยังไม่เสร็จ ..จะห่วงจะกังวล
“เลยมาขวางอานิสงส์ ของการเสียสละ”
ของการทำบุญให้ทาน

.ไม่ได้ไปเกิดใหม่ ไปเสวยบุญ
“เป็นดวงวิญญาณ วนเวียนอยู่บริเวณ
ที่ก่อสร้าง”..ไม่ได้ประโยชน์อะไร.
..........................................
จุลธรรมนำใจ 9
ธรรมะบนเขา 1/5/2550
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี










...ใครมีความขัดแย้งต่อพ่อต่อแม่ไม่เห็นบุญเห็นคุณของพ่อ นั้นคือคนสร้างความจมให้แก่ตัวเอง จะเจริญขนาดไหนก็ไปเถอะ คนคนนั้นไปไม่รอด ตีตราไว้เลยว่าไปไม่รอด เศรษฐีนี้ไปไม่รอดเขียนไว้เลย ไม่เป็นอย่างอื่น...

โอวาทธรรม พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน










"คำสอนทางพระพุทธศาสนา
เปรียบเหมือน ยารักษาโรค
ท่านค้นคว้าหายา แล้ววางไว้ต่อหน้าเรา
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ
แต่ท่านบังคับให้เราทานยานั้นไม่ได้
การทานยา เป็นหน้าที่ของเราต่างหาก"

พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ









" คำสอนของพระพุทธเจ้า​นั้น​
เป็นของดีเป็นของวิเศษ​ นับว่า
เป็นแก้วรัตนมงคลของโลก

เพราะ​เหตุ​ใด​ เพราะเหตุว่า​
คำสอนของพระพุทธเจ้านั้น
สามารถที่จะชี้ช่องทางให้
พวกเราทั้งหลายพากันดำเนิน
ชีวิตไปในทางที่ถูกและทางที่
ควร หาไม่แล้ว​ ถ้าไม่มีคำสอน
ของพระพุทธเจ้า เราก็ไม่รู้​จัก
ทางนรกและทางสวรรค์

คนเรานั้นเกิดขึ้น​มาแล้ว
ก็ต้องตาย การตายนั้นมีได้
ทุกคน ไม่มีใครที่จะเหลือ
อยู่ได้แม้แต่คนเดียว

แต่ว่าการที่ตายนั้น​ ไม่ใช่
ตายเปล่า ตายแล้วเรายัง
ต้องมีภพชาติที่เราจะต้อง
ไปเกิดต่อไปอีก การที่เรา
จะต้องไปเกิดต่อไปอีกนั้น
ก็คือ​ การที่เอาใจของเรา
ไปก่อภพต่อไป

ร่างกาย​อันนี้​เพียงธาตุ​ทั้งสี่​
เมื่อมันเกิดขึ้น​มาแล้ว​ มันก็
สลายตัวไป เวลาตายนั้น
ใจได้ออกจากร่าง

เมื่อใจยังอยู่​นั้นเราเรียกว่า​
เรามีชีวิต​ พอเมื่อใจออก
จากร่างไปเมื่อไรแล้ว
ร่างของเรา​
ก็หมดความหมายในทันที

เหมือนกัน​กับท่อนไม้และ
ท่อนฟืน ท่านเปรียบไว้
อย่างนั้น เพราะอะไร​
เพราะว่าจะต้องนำเอาไป
เผา เหลือ​แต่เศษ​กระดูก​
เหลือแต่เศษดิน

แต่ใจนั้นไม่ได้เป็นเช่นนั้น​
เผาไฟไม่ไหม้​ ตกน้ำไม่ไหล​
ตกไฟไม่ไหม้​
เป็นสิ่งที่เรีย​กว่า​เป็นอมตะ​

สิ่งนี้ต่างหากที่เรียกว่่า
เป็นสิ่งประเสริฐ เรียก​ว่าใจนี้
เป็นตัวที่มีความประเสริฐ
เหตุนั้นพระพุทธเจ้า​ได้แสดง​ว่า

"มะโนพุทธัง​ ธะมาธัมมา
มะโนเสทธา มะโนธะยา"

ธรรมทั้งหลาย​ คือความนึก
ความคิดที่เป็นกุศลธรรม
อกุศล​ธรรมก็ตาม​ ธรรม
ทั้งหลายนั้นมีใจเป็นก่อน
มีใจประเสริฐ​ สำเร็จ​แล้วด้วยใจ "

โอวาทธรรม
หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร











"..ธรรมะที่พระพุทธเจ้า
ตรัสรู้นั้น เป็นธรรมะ
ที่มีอยู่ประจำโลกไม่สูญหาย

เหมือนกับน้ำ ที่มีอยู่
ในพื้นแผ่นดิน ผู้ขุดบ่อลงไป
ให้ถึงน้ำ ก็จะเห็นน้ำ ไม่ใช่ว่า
ผู้นั้นไปแต่ง ไปทำให้น้ำมีขึ้น

บุรุษนั้นลงกำลัง
ขุดบ่อเท่านั้น
ให้ลึกลงไป ให้ถึงน้ำ
น้ำก็มีอยู่แล้ว

อันนี้ฉันใด ก็ฉันนั้น
พระพุทธเจ้าของเรา
ก็เหมือนกัน
ท่านไม่ได้ไปแต่งธรรมะ
ท่านไม่ได้บัญญัติธรรมะ
บัญญัติ ก็บัญญัติ
สิ่งที่มันมีอยู่แล้ว

ธรรมะ คือ ความจริง
ที่มีอยู่แล้ว
ท่านพิจารณาเห็นธรรมะ
ท่านเข้าไปรู้ธรรม
คือ รู้ความจริงอันนั้น

ฉะนั้นจึงเรียกว่า
พระพุทธเจ้าของเรา
ท่านตรัสรู้ธรรม และ
การตรัสรู้ธรรมนี่เอง
จึงทำให้ท่านได้รับ
พระนามว่า พระพุทธเจ้า "

โอวาทธรรม
หลวงพ่อชา สุภัทโท











“ มติทางโลกเขาว่าจะดีหรือ
ไม่ดีก็ช่าง ให้มีเงินมากๆแล้ว
เป็นดี ส่วนมติทางธรรมว่า
จะมีหรือจนก็ช่างเถิด
ขอให้เป็นคนดีก็แล้วกัน

สุขในอัตตภาพร่างกาย
เป็นความสุขทางโลก สุข
ชั่วขณะหนึ่งแล้วก็จะ
ปรวนแปรไปเหมือน
ข้าวสุก พอข้ามวันก็เหม็นบูด

ส่วนสุขทางธรรมนั้น
สุขเหมือนดาวบนท้องฟ้า
เป็นสุขที่สว่างไสว
ตลอดกาลนาน..”

โอวาทธรรม
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร










ลูกศิษย์ตถาคต. ต้องเป็นอย่างนั้น. ให้อภัยกัน. ตลอดเวลา.

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน










#การเดินจงกรม

ผู้เจริญกรรมฐาน เมื่อนั่งทำสมาธิพอสมควรแล้ว ควรเดินจงกรมบ้าง เพราะการเดินจงกรมนั้น นอกจากจะบรรเทาความปวดเมื่อย เพราะการนั่งนาน และเป็นประโยชน์แก่สุขภาพตามหลักอนามัยแล้ว ยังช่วยให้โพธิปักขิยธรรมทุกหมวด อันมีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับสัมมาสมาธินั้นมีกำลังเข้มแข็ง มั่นคง กว้างขวาง หลวม โปร่ง เบา ดีกว่านั่งทำหรือนอนทำ

แม้โลกียปัญญาที่เกิดขึ้นจากการเดินจงกรม ก็เข้มแข็งคมกล้ากว่า เป็นเหตุให้วิปัสสนาเกิดขึ้น และบรรลุอริยมรรค อริยผลได้เร็วขึ้นด้วย

เมื่อเดินจงกรมถูกวิธี จนมีความชำนาญพอสมควร จะเป็นเหตุให้มีเวลาเจริญกรรมฐานได้มากขึ้น เพราะจะเดินไปไหนมาไหน หรือนั่งรถ นั่งเรือ ไปไหนๆ ก็ทำได้ เป็นการเร่งให้สัมมาสมาธิเกิดและเจริญรวดเร็วยิ่งขึ้น วิปัสสนาจึงเกิดได้เร็วขึ้นได้ และอริยมัคคสมังคีย่อมเกิดขึ้นได้ในอิริยาบถทั้ง ๔ คือ นั่ง นอน ยืน เดิน การเดินจงกรมจึงเป็นการเปิดโอกาสให้อริยมัคคสมังคีเกิดขึ้นในขณะเดินด้วย

การเดินจงกรม ก็คือ การทำสมาธิ ด้วยการลืมตา เดินไป เดินมาในเส้นทางที่กำหนดไว้ โดยมือขวาจับมือซ้าย หรือกำข้อมือซ้ายไว้หลวมๆ คว่ำมือทั้งสองไว้ที่หน้าท้อง กายและศีรษะตั้งตรง แต่ทอดสายตาลงต่ำพอสบายๆ เดินไปสุดทาง ก็หมุนตัวกลับคล้ายทหารตำรวจเดินกลับหลังหันในเวลาที่อยู่ในแถวฝึกฉะนั้น แต่ให้หันกลับทางด้านขวาครั้งหนึ่ง หันกลับด้านซ้ายครั้งหนึ่ง สลับกันไป เพื่อไม่ให้เป็นการหมุนรอบตัว เมื่อจะหันกลับทางขวามือ ต้องก้าวเท้าขวาวางปลายเท้า เฉออกไปทางขวา แล้วก้าวเท้าซ้ายไปอีกก้าวหนึ่ง โดยวางปลายเท้า ให้เฉออกไปทางขวาเช่นเดียวกัน จึงหมุนตัวกลับหลังทางขวา แล้วขยับส้นเท้าขวาให้เหมาะ จึงก้าวเท้าซ้ายเดินไปสุดทาง เมื่อจะหมุนตัวกลับทางซ้าย ก็ก้าวเท้าซ้ายวางปลายเท้าให้เฉออกไปทางซ้าย จึงก้าวเท้าขวาวางปลายเท้า เฉไปทางซ้ายเช่นเดียวกัน แล้วหมุนตัวกลับทางซ้าย แล้วขยับส้นเท้าซ้ายให้เหมาะ จึงก้าวเท้าขวาเดินต่อไป ในขณะเดินไปเดินมาอยู่ ให้รักษาสมาธิและวิธีทำสมาธิไว้เหมือนเวลานั่งทำทุกอย่าง เริ่มเดินใหม่ๆ อาจจะประคองสมาธิได้ไม่ดีเหมือนเวลานั่งทำ ก็ต้องค่อยๆ เดินช้าๆ ก่อน ครั้นชำนาญพอสมควรแล้ว จึงค่อยๆ เพิ่มความเร็วขึ้นจนเป็นที่พอใจของตน เมื่อเดินเร็วๆ จนรู้สึกว่าทำได้ง่ายๆ เป็นธรรมดาๆ ชื่อว่า เดินจงกรมเป็นแล้ว ก็จะสามารถทำสมาธิได้ทุกโอกาสที่เดินอยู่

หลวงปู่เจือ สุภโร


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO