นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 19 เม.ย. 2024 4:09 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: เตรียมเสบียง
โพสต์โพสต์แล้ว: จันทร์ 06 ม.ค. 2020 5:10 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4532
คนเกิดมา เกิดมาจากที่มืด อยู่ในท้องก็ยิ่งมืดมาก เหตุนั้นพอคลอดตกพื้นมาเห็นโลก ก็หลงโลกก็ร้องไห้ มันร้องไห้ก็เป็นการตื่นโลกนั่นแหละ เหตุนั้นมันมาจากที่มืด มันมาจากความมืด ความเกิด พระพุทธเจ้าพระอริยะเจ้า ท่านปฏิบัติท่านก็เอาเป็นหลักเอาเป็นธรรมเป็นเครื่องกำจัดกิเลส เพราะมันมาจากที่มืด เมื่อมาเห็นโลกก็ตื่น ก็เกิดความทะเยอทะยาน เมื่อตะกี้นี้ว่าให้ผู้ที่ตาเสีย ว่าดีแล้ว ตานี่แหละตัวตัณหา เรียกว่าตัณหาคือตาเห็น ตาหัน...คำเมือง คำไทยก็เรียกว่าตาเห็น ภาษาความหมายคำเดียวกัน เมื่อเห็นโลกแล้วก็เกิดตัณหาหละทีนี้ เกิดความตื่นความทะเยอทะยาน เกิดความอยาก ความหิว ความกระวนกระวาย ในกายในใจขึ้น จึงว่าความเกิด มาจากที่มืด

โอวาทธรรม องค์หลวงพ่อประสิทธิ์ ปุญญมากโร








บริกรรมพุทโธ อย่างเดียว แล้วอย่าส่งจิตไปอดีตที่ล่วงมาแล้ว อดีตที่ล่วงมาแล้วมันผ่านไปแล้ว มันคล้ายๆ​ กับว่า ถุยน้ำลายแล้วเลียกินนี่ น่าเกลียดนะ

เหตุนั่นนะ องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคห้าม-ห้ามไม่ให้สาวกคิดถึงอดีต อารมณ์อดีตอย่าค้นคว้านะ อย่าค้นคว้า มันเป็นนิวรณ์ใหญ่ทีเดียว อันตรายของสมาธินะ จะมาทับปัจจุบัน ไม่เกิดปัญญาเสียแล้ว นั่น คนไทยเขาเรียกว่าโง่เง่าเต่าตุ่นนะ นั่นประการหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง อย่าคิดถึงอนาคตข้างหน้านะ สิ่งใดยังมาไม่ถึง ไม่ควรคิดควรนึก อย่าค้นคว้านะ ใครค้นคว้า เป็นสมบัติบ้าไปเสียแล้ว นี่

เหตุนั้น ให้ละอดีตหนึ่ง อนาคตหนึ่ง อย่าให้จิตวิ่งไป อดีต-อนาคต-ปัจจุบันผสมผเสกัน จิตฟุ้งซ่าน จิตไม่ขลัง เพิก อดีต-อนาคตแล้วนั่น ธัมมะทั้งหลายจะได้มาประชุมกันในปัจจุบันทีเดียว จิตสว่าง จิตสว่าง
.
ธัมมะของหลวงปู่ หลุย จันทะสาโร










...ถ้ารู้จัก "ปล่อยวาง"
เวลา..สูญเสียอะไรไป
จะรู้สึก เฉยๆ

ไม่..เสียอกเสียใจ

ไม่..เสียดาย

ไม่..เสีย 2 ต่อ.
.............................
.
กำลังใจ31กัณฑ์301
ธรรมะบนเขา 25/2/2550
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ ชลบุรี









“ยามที่เรามีความท้อแท้”

ยามที่มีความท้อแท้ ขอให้เราเตือนสติ อย่าไปพาลยกเลิก ว่าปฏิบัติมานานแล้ว ไม่เห็นได้ผลเลย สู้ไม่ปฏิบัติดีกว่า ถ้าคิดแบบนี้แล้วก็เป็นการฆ่าตัวตาย เป็นการปิดกั้นอนาคตที่ดี ที่เจริญ ที่รุ่งเรืองไป เพราะจะถูกอำนาจของกิเลสใฝ่ต่ำ ชักจูงให้กลับไปทำในสิ่งที่ไม่ดี ถึงแม้จะมีความสุข มีความสนุก มีความเพลิดเพลิน แต่ก็เป็นความเพลิดเพลินแบบขุดหลุมฝังตัวเองเท่านั้นเอง เวลาไปเที่ยว ไปเสพอบายมุขต่างๆ ก็มีความเพลิดเพลิน แต่ในขณะเดียวกัน ก็กลายเป็นทาสของสิ่งเหล่านี้ จะต้องติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ไป ถ้าติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ก็จะถูกสิ่งเหล่านี้ดูดความเจริญ ดูดทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวเราให้หมดสิ้นไป เมื่อไม่มีทรัพยากรเหลืออยู่แล้ว และไม่มีความสามารถที่จะหามาด้วยความสุจริต ก็ต้องไปหามาด้วยความทุจริต แล้วในที่สุดก็ต้องไปใช้เวรใช้กรรมทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่จะตามมาต่อไป ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ก็จะทำให้มีกำลังจิตกำลังใจที่จะปฏิบัติ ทำคุณงามความดีต่อไป ถึงแม้จะยากลำบากเลือดตาแทบกระเด็นก็ตาม เมื่อคิดถึงผลดีที่จะตามมาต่อไป ก็จะทำให้เกิดมีกำลังใจ

การปฏิบัติความดีจะยากจะลำบากในเบื้องต้น อุปสรรคจะมาก ความทุกข์ ความยาก ความลำบากจะมีมาก แต่เมื่อปฏิบัติไปแล้วความทุกข์ ความยาก ความลำบาก จะค่อยๆ เบาบางลงไป น้อยลงไปเรื่อยๆ แล้วความสุข ความสบาย จะมีเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนเต็มครบร้อยบริบูรณ์ เป็นความสุขที่สะอาดบริสุทธิ์ เป็นความสุขที่ตั้งอยู่บนลำแข้งลำขา บนกำลังใจของเรา เกิดจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เกิดจากความสงบ ความสะอาดของจิต เป็นสิ่งที่จะอยู่คู่เคียงกับเราไปตลอดอนันตกาล ไม่ว่าจะไปที่ไหนแห่งใด ถ้ายังไม่ถึงสิ้นสุดแห่งการเวียนว่ายตายเกิด คุณธรรมความดีเหล่านี้ ความสุขเหล่านี้ ก็จะติดตัวไป ทำให้การปฏิบัติไม่ขาดตอน ไม่สูญเสีย ไม่สูญหายไป ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ทุกครั้งที่ไปเกิดในภพใหม่ ชาติใหม่ ไม่ต้องไปเริ่มต้นใหม่ เพราะพลังของจิตไปกับจิต คุณงามความดีนี้แหละคือพลังของจิต ไม่สูญสลายไป จะติดไปกับใจ เป็นนิสัย เป็นบารมี

เหมือนกับพระพุทธเจ้า ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเป็นเวลาอันยาวนาน พระบารมีเหล่านั้นที่ได้ทรงสะสมไว้ในแต่ละภพละชาติ ก็ไม่สูญหายไปไหน ก็ยังอยู่ติดอยู่กับพระทัยของพระพุทธเจ้า กลายเป็นเครื่องมือ สนับสนุนให้ได้ทรงบรรลุถึงธรรมอันสูงสุด คือได้บรรลุเป็นพระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมา เพราะได้ทรงสะสมบุญบารมีมาทุกภพทุกชาติ พวกเราก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ใครจะไปรู้ว่าหนึ่งในพวกเราที่นั่งอยู่ในศาลานี้ อาจจะกลายเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นมาในภายภาคหน้าก็ได้ เพราะพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้มาจากผู้วิเศษที่ไหน พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็มาจากปุถุชนคนมืดบอดอย่างพวกเราทั้งหลายนี่แหละ เพียงแต่ว่ามีศรัทธาความเชื่อ มีฉันทะความยินดี ความพอใจ มีวิริยะความเพียร อุตสาหะ มีขันติ ความอดทนที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีที่งาม ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงวางไว้ให้ปฏิบัติตาม เรานี่แหละต่อไปจะกลายเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระอรหันตสาวกขึ้นมา จะช้าหรือเร็วก็อยู่กับตัวเรานี่แหละ

เหมือนกับการขับรถ ถ้าขับช้าก็ไปถึงจุดหมายปลายทางช้า ถ้าขับเร็วก็ไปถึงเร็ว ฉันใดการปฏิบัติก็เป็นเช่นนั้น ถ้าปฏิบัติมากก็จะไปถึงเร็ว ถ้าปฏิบัติน้อย ก็จะไปถึงช้า วันหนึ่งมีอยู่ ๒๔ ชั่วโมง เราปฏิบัติธรรมกันมากน้อยเท่าไร ถ้าปฏิบัติอย่างพระสาวกในอดีตกาล ก็ปฏิบัติตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นมาจนกระทั่งหลับไป คืนหนึ่งท่านก็หลับไม่มาก เพียงคืนละ ๔ ชั่วโมงเท่านั้นเอง ปฏิบัติถึง ๒๐ ชั่วโมงต่อวัน จึงไม่เป็นของแปลกอะไรที่จะบรรลุธรรมได้อย่างรวดเร็ว สมัยพุทธกาลจึงปรากฏพระอรหันตสาวกขึ้นมาเป็นจำนวนมากมาย เพราะท่านปฏิบัติกันนั่นเอง ไม่เพียงแต่สักแต่ว่าฟัง แล้วก็ไม่นำเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาปฏิบัติ ผลจึงไม่ค่อยปรากฏ เหมือนในสมัยนี้ มีคนเยอะ มีคนถึง ๖๐ ล้านคนในประเทศไทย ที่นับถือพระพุทธศาสนา แต่มีสักกี่คนที่จะบรรลุเป็นพระอริยสาวกของพระพุทธเจ้า แทบจะหาไม่ค่อยได้เลยทุกวันนี้ เหมือนกับงมเข็มในมหาสมุทร เดินไปก็ไม่ค่อยเจอเท่าไร ไม่เหมือนในสมัยพุทธกาล เดินไปก็มักจะเดินชนกับพระอริยเจ้าเสมอๆ สิ่งแตกต่างกันในสมัยพุทธกาลกับในสมัยนี้ก็ไม่ได้อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่การปฏิบัติของเรานั่นแหละ

ในสมัยพุทธกาลมีการปฏิบัติกันอย่างจริงจัง เวลาฟังเทศน์ฟังธรรมก็ฟังกันอย่างจริงจัง เมื่อฟังแล้วก็นำเอาไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ไม่ได้ฟังเพื่อเป็นการสะสมบารมี การสะสมบารมีที่แท้จริงนั้น จะต้องนำไปปฏิบัติ ถ้าฟังแล้วไม่ได้เอาไปปฏิบัติ อย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการสะสมบารมี เป็นการสูญไปเปล่าๆ เสียเวลานั่งฟัง เสียเวลาของคนที่พูด เพราะไม่ได้นำไปปฏิบัติ การฟังอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เหมือนกับการรู้ทางแล้วแต่ไม่ได้เดินทางไป อย่างนี้ก็จะไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่ปรารถนาได้ ถ้าเดินแบบกระต่ายก็ไม่ดี เพราะเดินในลักษณะประมาท แล้วแต่อารมณ์ วันไหนขยันก็เดินเร็ว พอวันไหนขี้เกียจก็เถลไถล ไปเที่ยว ไปทำโน่น ทำนี่ ก็ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางสักที ต้องเอาอย่างเต่า ถึงแม้จะก้าวไปทีละก้าวอย่างช้าๆ แต่ไปแบบไม่หยุดไม่หย่อน ไม่ยอมถอยหลัง ไม่เถลไถล รู้หน้าที่ของตนว่าจะต้องเดินทาง ให้ไปถึงจุดหมายปลายทางให้ได้ ก็เดินไปด้วยความแน่วแน่มั่นคง ด้วยความพากเพียร ด้วยความอดทน แล้วในที่สุดถึงแม้จะเดินช้ากว่ากระต่าย แต่ก็ไปถึงจุดหมายปลายทางก่อนกระต่าย เพราะไม่ประมาทนั่นเอง ส่วนกระต่ายนี้ประมาท คิดว่ามีความสามารถจะไปถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไรก็ไปได้ ก็เลยผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ เลยไปไม่ถึงสักที

พวกเรามักชอบผัดไปเรื่อยๆเหมือนกับกระต่าย ว่าตอนนี้ยังอายุน้อยอยู่ ยังหาความสุขในโลกนี้ได้ ไว้รอให้มีอายุมากขึ้นไปก่อน ไว้แก่แล้ว ไม่มีกำลังวังชาที่จะออกไปเที่ยวแล้ว ค่อยเข้าวัดปฏิบัติธรรมกัน ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ก็เป็นการประมาทใน ๒ กรณีด้วยกัน คือ ๑. เรายังไม่รู้เลยว่าจะอยู่ถึงอายุแก่เฒ่าหรือไม่ อาจจะตายในขณะที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวก็ได้ ๒. เมื่อแก่เฒ่าแล้วเวลาปฏิบัติธรรมจะยากลำบาก เพราะสังขารร่างกายไม่เอื้ออำนวย นิสัยที่ได้ปลูกฝังไปในทางโลกก็จะคอยกีดขวางให้การปฏิบัติธรรมเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ถ้าเริ่มปฏิบัติธรรมเสียตั้งแต่ยังหนุ่มยังแน่นยังสาวอยู่ การปฏิบัติก็จะง่าย เพราะกำลังวังชาร่างกายก็พร้อม นิสัยทางโลกก็จะไม่มากีดขวางในการปฏิบัติ เหมือนกับการดัดไม้ ต้องดัดไม้ตอนที่ไม้ยังอ่อนอยู่ ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก จึงควรรีบเร่งปฏิบัติในขณะที่ยังมีอายุน้อยอยู่ จะได้ไม่เสียใจภายหลัง

กำลังใจ ๑๐, กัณฑ์ที่ ๑๔๙
วันที่ ๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๖
“ตั้งเป้า วางแผน”

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน









อุบาสกธรรม หมายถึง
ธรรมของอุบาสกและอุบาสิกา ที่ดี คุณสมบัติหรือองค์คุณของอุบาสก,อุบาสิกา อย่างเยี่ยม คือ การเป็นอุบาสก,อุบาสิกา จะต้องปฏิบัติธรรม 5 ประการจัดว่าเป็นอุบาสก,อุบาสิกา ที่ดี ประกอบด้วย

1. มีศรัทธา มีความเชื่อตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา มีความมั่นคงต่อพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่งอันสูงสุด ที่พึ่งอื่นไม่มี และประพฤติปฏิบัติตนตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เท่านั้น

2. มีศีล คือ การปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีตามหลักพระพุทธศาสนา เช่น การปฏิบัติตามหลักศีล 5 เป็นต้น

3. ไม่ถือมงคล ตื่นข่าว เชื่อกฏแห่งกรรม ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว คือ ต้องมุ่งหวังผลจากการกระทำและการงานที่ทำที่เป็นไปตามหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มิใช่หวังผลจาก หมอดู โชคลางและตื่นข่าวเชื่อถือต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของขลังทั้งหลาย ไม่นับถือการทรงเจ้าเข้าผี ไม่นับถือเทพเจ้าว่าเป็นที่พึ่งอันสูงสุด เป็นต้น

4. ไม่แสวงหาทักขิไณย์ภายนอก หลักคำสอนนี้ คือ ไม่แสวงหาเขตบุญนอกหลักพระพุทธศาสนา ให้หมั่นสร้างบุญในพระพุทธศาสนาเป็นหลัก ในหมั่นสั่งสมบุญในเนื้อนาบุญในพระพุทธศาสนาเป็นหลักเท่านั้น

5. กระทำความสนับสนุนในพระพุทธศาสนานี้เป็นเบื้องต้น คือ ขวนขวายในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เช่น ตักบาตรทุกเช้า ไปวัดทำบุญ ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมทุกวันพระ หรือวัดหยุด สนับสนุนการสร้างวัด ซ่อมแซมบำรุงวัด การพิมพ์หนังสือธรรม

พระธรรมคำสอน
หลวงตาศิริ อินทสิริ










“…ปลูกต้นธรรม…”

ครั้งหนึ่งหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เคยเปรียบเทียบการปฏิบัติธรรม เหมือนการปลูกต้นไม้ ท่านว่า…. ทำนี้มันยาก ต้องคอยบำรุงดูแลรักษา เหมือนกับเราปลูกต้นไม้
ศีล………………นี่คือ ดิน
สมาธิ……………นี่คือ ลำต้น
ปัญญา………….นี่คือ ดอก ผล

ออกดอกเมื่อใด ก็มีกลิ่นหอมไปทั่ว การปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน ผู้รักการปฏิบัติต้องคอยหมั่นรดน้ำ พรวนดิน ระวังรักษาต้นธรรม ตัวหนอน คือ โลภ โกรธ หลง มิให้ มากัดกินต้นธรรมได้ อย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่า ผู้รักธรรม รักการปฏิบัติจริง

โอวาทธรรมหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ











เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว

สมบัติในโลก…เป็นสมบัติอยู่ชั่วลมหายใจ พอตายแล้วก็เป็นของคนอื่น พญามัจจุราชนั้น มาแต่งตัวให้เราต่างๆ เช่น เปลี่ยนตาให้บ้าง เปลี่ยนผม เปลี่ยนฟัน เปลี่ยนหนัง เป็นต้น เขาบอกให้เราเตรียมตัว ว่าเราจะต้องถูกย้ายไปที่เมืองอื่นนะ ถ้าเขาสั่งอพยพเมื่อไร เราจะลำบาก ถ้าไม่เตรียมหาเสบียงไว้ เหตุนั้น เราต้องหาข้าวของ ไปถวายพระเจ้าพระสงฆ์ไว้ เพื่อเป็นการสะสมเสบียง

พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน…ให้เราทำบุญทำทานให้มากๆ และการที่เราพากันมารับศีล ๕ หรือศีล ๘ กาย วาจา ของเราไม่ทำชั่ว เราก็ได้บุญจากกาย วาจา

ตา – สิ่งไหนที่ไม่ดี เราอย่าไปดู
ขา – มันจะก้าวไปทางไม่ดี ต้องดึงไว้อย่าให้มันไป
หู – ฟังแต่คำที่ดี เช่น ฟังพระเทศน์ ฟังพ่อแม่ ฟังครูอาจารย์สั่งสอน เขาด่านินทา เราอย่าไปฟัง
จมูก – เราหายใจเข้าออก ก็ภาวนา “พุทโธ” ให้ไหลเข้าไปกับลมหายใจ

“ดวงจิตของเรา ถ้าดี ความดีก็แผ่ซ่านไปทั่วร่างกาย แล้วก็ซึมซาบไปถึงลูกถึงหลานด้วย”

…ท่านพ่อลี ธัมมธโร…









#มีสติระวังรักษาจิตใจเจ้าของให้อยู่กับปัจจุบันมากที่สุด

หัวใจดวงนี้ ถ้าเราไม่มีสติไม่มีปัญญารักษา ใจดวงนี้ล่ะจะถูกกิเลสขยำย่ำยี ความดีที่จะสิงสถิตย์อยู่ในจิตใจแทบจะไม่มีเลย ถูกกิเลสเอาไปทำร้ายทำลายทั้งหมด การนั่งสมาธิภาวนา การปฏิบัติด้านจิตตภาวนานี่ล่ะจะกวาดสิ่งไม่ดีออกจากจิตใจ เอาสิ่งที่ไม่ดีออก มีสติระวังรักษาจิตใจเจ้าของให้อยู่กับปัจจุบันมากที่สุด ถ้าไม่อย่างนั้นกิเลสจะเอาไปครอง เอาจิตดวงนี้ไปขยำย่ำยี บุญจะเกิดไม่ได้เลย บาปเกิดปั้บ ผลจากบาปก็เกิดปุ๊ปในจิตใจ ไม่ว่าจะยากดีมีจน โง่หรือฉลาด สิ่งเหล่านี้เข้าไปทำลายหมด

แม้จะทำบุญกิเลสก็ไม่ได้ทำด้วย เรามานั่งนี่ กิเลสก็ไม่ได้มานั่งด้วย มันก็ฟุ้งซ่านรำคาญ มันก็คิดเรื่อยเปื่อยไปเรื่อย นี่คือกิเลส กิเลสมันยอมใครเมื่อไร กิเลสมันปล่อยใครเมื่อไร มันไม่ปล่อย บุญตัวนี้ล่ะจะเข้าสู่คำสอนของพระพุทธเจ้า เข้าสู่ความเป็นพระสงฆ์ในจิตในใจ

บุญเล็ก ๆ น้อย ๆ ของเราก็ได้ทำมาแล้ว การรักษาศีลของศรัทธาญาติโยมก็ได้ทำในชีวิตประจำวันแล้ว แต่ตัวนี้อย่าให้ขาด การทำบุญอย่างหนึ่งที่ได้อานิสงส์มากก็คือการรักษาใจรักษาความดี ในขณะที่กระทำทางกายทางวาจาสวดมนต์ไหว้พระ จิตใจเราไม่เอนไม่เอียงออกนอก อยู่ในการสวดการกราบการไหว้ ใจก็จะอยู่กับการกระทำ มันตั้งเจตนาไว้แล้ว เมื่อตั้งเจตนาดี บุญก็ไหลเข้า ไหลเข้า

ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่รักษาจิตรักษาใจก็ไม่มีความหมาย ปัญญามันไม่ได้ไคร่ครวญ เราทำก็สักแต่ว่าทำ เรากราบพระเราไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าอยู่ตรงไหน พระธรรมอยู่ตรงไหน พระสงฆ์อยู่ที่ใด เราว่านะโมก็ถูกกิเลสตีออก ตีออก ถูกกิเลสฉุดกระชากลากออก ลากออก คิดดูสิ ขนาดเรากราบพระเรายังไม่ได้ตั้งใจ ในไตรสรณคมณ์ที่ว่า พุทธธัง ธัมมัง สังฆัง ทุติยัมปิ ตะติยัมปิ ยังเพื่อย้ำให้ใจเข้าถึง อาจจะครั้งแรกพุทธัง ธัมมัง สังฆัง อาจจะได้ด้วยปาก แต่ใจเราไม่ได้ไปด้วย ก็จึงมีทุติยัมปิ ครั้งที่สอง ตั้งใหม่ซิ ตั้งไปแล้วอาจจะได้แค่ทุติยัมปิ พุทธังก็ได้ แต่ทุติยัมปิ ธัมมัง เราไม่ได้ ยิ่งทุติยัมปิ สังฆัง ได้แต่ปาก แต่ใจเราไม่ได้ไปด้วย ก็ขาด พอครั้งที่สาม เราพลาดครั้งที่หนึ่ง ลืมครั้งที่สอง แล้วครั้งที่สามล่ะ ส่วนมากก็ระลึกได้เดี๋ยวเดียว

เหมือนเวลาที่เราทำบุญ ขณะที่เราประเคนของครูบาอาจารย์พระสงฆ์ ในขณะจิตที่ตั้งให้เป็นบุญ ตั้งไม่ได้นาน เพราะอะไร เพราะใจเราไม่มีธรรมรักษา ถูกกิเลสแย่งพื้นที่ ถูกกิเลสตีออก ตีออก เราจึงรักษาความดีไม่ได้ ใครรักษาใจไม่ได้ก็คือรักษาความดีไม่ได้

พระอาจารย์โสภา สุมโน











อย่าไปอยากฮู้ เรื่องของคนอื่นมันเป็นทุกข์ ให้สนใจเรื่องเจ้าของคือเรื่องกายกับใจ เบิ่งให้มันแจ้ง การภาวนากะอย่าไปมั่นไปหมาย การไปคาดไปหมายมันสิเฮ็ดให้เฮาไปติดในภพในชาติ การภาวนากะบ่สำเร็จ

โอวาทธรรม
หลวงปู่เพียร วิริโย
วัดป่าหนองกอง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี










#พระพุทธเจ้าท่านจึงบอกว่า #การทำผิดศีลทั้ง_๕_ข้อนี้เป็นอสรพิษร้ายที่สุด ท่านถึงอยากจะให้ผู้ที่จะไปนิพพานก็ดี จะไปตามสายทางของพระพุทธเจ้าของเรา ท่านไม่อยากให้เอามาใส่ เพราะสิ่งเหล่านี้พระพุทธเจ้าทั้งหมดท่านไม่เอา เพราะท่านเห็นบาปเห็นกรรม เห็นโทษของมันหมดแล้ว เห็นสิ่งที่เป็นอันตรายสุดยอดแล้ว ถ้ามนุษย์เอาเข้ามาแล้วก็จะเป็นอสรพิษ หาความเจริญในบุคคลนั้นไม่ได้ ท่านให้พิจารณาอย่างนั้น เพราะพระพุทธเจ้าท่านวางทิ้งไปหมดแล้ว เราก็ควรจะไม่เอามาใส่ใจ

ศีลทั้ง ๕ ข้อนี้เป็นรากฐานของพระนิพพาน เราจะไปสวรรค์พระนิพพาน ก็ต้องเป็นผู้มีศีลสมบูรณืในศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ เพราะฉะนั้นพากันตั้งใจ ถ้าเราจะสร้างชีวิตของเราให้เป็นคนดี สิ่งที่เป็นสิ่งชั่วร้ายที่สุดถ้ามีอยู่หัวใจคนไหน คนนั้นก็ต้องล่มจม ฉะนั้นมันไม่ได้อยู่ไกล มันอยู่ที่หัวใจของเรา ตัวนี้เป็นเจ้าของความดีความชั่ว ถ้าเราจับมันทั้งสองทางนี้เราก็จะไม่ได้ไปไหนอีก มันก็ต้องกอดคอกันตายอยู่ในโลกนี้ แล้วก็มาสร้างกรรมต่อกันอยู่อย่างนั้น

อย่างพระเทวทัตเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา พอมาอยู่ในรอยธรรมของพระพุทธเจ้า เอาผ้ากาสาวพัสตร์มาหุ้มห่อในร่างกาย ก็ยังไม่สามารถสร้างความดีได้ ขนาดแผ่นดินก็ไม่สามารถรับความชั่วของพระเทวทัตได้ หนักถึงขนาดนั้นนะ แต่พวกเรานี้แผ่นดินยังรับได้อยู่นะ แต่ส่วนพระเทวทัตนี่หนักมากเลย แผ่นดินทั้งแผ่นยังรับบาปกรรมของพระเทวทัตไม่ได้ ถึงกับต้องสูบลง อาตมาก็ไปดูอยู่สถานที่ที่เขาว่าพระเทวทัตโดนแผ่นดินสูบที่ประเทศอินเดียใก้ล ๆ กับวัดพระเชตวันมหาวิหาร ชาวเมืองเขาก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเลย เขาถือว่าเป็นแผ่นดินกาลกีณี เป็นเสี้ยนหนามของคุณงามความดี ดินสถานที่นั้นเขาไม่ใช้ประโยนชน์เลย คนอินเดีย เขาก็ไม่ไปแตะไปต้องเลย ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้เกิดขึ้นสักอย่าง เขาก็ถือกันอย่างนั้น ถือกันมาถึงในยุคเรานี้แหล่ะ อันนี้คือบาปกรรมที่คนเราสร้างมากับพระพุทธเจ้าของเราจนแผ่นดินเอาไว้ไม่ได้ แผ่นดินไม่สามารถรองรับความหนักของบาปกรรม นี่แหล่ะคนที่เขาทำลายพระพุทธเจ้าองค์นี้ก็เป็นอย่างนี้ เพราะเรานี้ดีอยู่แล้วแผ่นดินยังรองรับเราอยู่ ยังเป็นผู้มีบุญวาสนาอยู่

——————————–
หลวงปู่สรวง สิริปุญโญ
วัดศรีฐานใน อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร
รอยทางธรรม : ปฎิปทาธรรมสิริปุญโญ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Bing [Bot] และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO