นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 19 เม.ย. 2024 11:46 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: เส้นทางปฏิบัติธรรม
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 23 ต.ค. 2019 5:56 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4532
ถ้าเราทำจิตให้เป็นปัจจุบันได้นะ เราจะหาทุกข์มาจากไหน นี่เรื่องเมื่อเช้าก็เอามาคิดตอนเย็น เรื่องตอนเย็นก็เอามาคิดตอนเช้า แล้วเราจะอยู่กับปัจจุบันได้ยังไง ธรรมะมันต้องลงที่ปัจจุบันนี่ เป็นปัจจุบันเท่านั้น ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต นั่นถ้าจิตเป็นปัจจุบัน มันจะลงไปสู่ความว่างเองอัตโนมัติ นั่นละธรรมถึงจะเกิดขึ้น...จิตที่มีธรรมที่แท้จริง คือ จิตปัจจุบันนี่ละ

...หลวงปู่เยื้อน ขันติพโล...







“แผนที่เส้นทางปฏิบัติธรรม ตั้งแต่เบื้องต้น ถึงปลายทางแห่งพระนิพพาน”

1. ผู้ปฏิบัติเพื่อมุ่งนิพพาน จะต้องถือศีลให้บริสุทธิ์ ข้อนี้สำคัญมาก ต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้ก่อน เรื่องอื่นใด คือ ใช้ชีวิตอยู่ในกรอบของศีลธรรมความดีงาม อะไรผิดศีล ห้ามทำโดยเด็ดขาด

2. ให้คิดถึงนิพพานทุกขณะ เหมือนนิพพานอยู่ตรงหน้า คือ ระลึกไว้เสมอว่า เราจะไปนิพพานเท่านั้น จุดเดียวที่เดียว อย่างอื่นไม่เอา ให้พุ่งตรง ตัดตรงไปเลย

3. ทำสมาธิในชีวิตประจำวัน ให้ได้ คือ ถ้าใครบริกรรมพุทโธ ก็ให้ทำไป ใครดูลมหายใจ ก็ให้ดูไป เรื่องนี้เน้นย้ำมาก ให้คุมกรรมฐานไว้ระหว่างวัน ส่วนจะใช้กรรมฐานชนิดใด ตรงนี้ใช้ได้หมด ขอให้อยู่ในหมวดกรรมฐาน 40 ไม่มีอะไรผิด จุดนี้ให้เน้นไปที่ การทำสมถะก่อน อย่าเพิ่งไปสนใจวิปัสสนาในช่วงแรกๆ ต้องฝึกให้จิต มีความตั้งมั่นก่อน ให้จิตอยู่กับกรรมฐาน ของตนตลอดเวลาทั้งวัน

ยกเว้นเวลาที่ต้องทำงานเท่านั้น เน้นว่า นี่คือการปฏิบัติเบื้องต้น ไม่ควรทำสุ่มสี่สุ่มห้า ไม่ควรทำผิดไปจากนี้

4. เมื่อทำสมาธิในชีวิตประจำวัน ไปจนจิตเข้าสู่สมาธิได้แล้ว ให้สังเกตดู ช่วงนี้จิตจะปรุงกิเลสน้อยลง เพราะจิตมันอิ่มอารมณ์ มีอารมณ์เป็นหนึ่งมากขึ้น ทำความสงบได้ง่ายขึ้น พูดง่ายๆ ว่า จิตของเรา เริ่มมีกำลังเกิดความตั้งมั่นได้ง่าย คือ ในชีวิตประจำวัน ก็ทรงอารมณ์อยู่กับกรรมฐานได้

เมื่อทำสมาธิในรูปแบบ ก็มีอารมณ์เป็นหนึ่งได้ อย่างนี้ถือว่า เริ่มใช้ได้แล้ว ตรงนี้ ให้เริ่มพัฒนาในขั้นตอนต่อไป อย่าหยุดอยู่แค่การทำสมาธิ

5. พอจิตสงบ ตั้งมั่นแล้ว คราวนี้ท่านให้เริ่มเดินปัญญาต่อไปเลย เพียงแค่สมาธิอย่างเดียวนั้น จิตจะไม่มีความกว้างขวาง จะต้องเดินปัญญาต่อ จึงจะเกิดความกว้างขวาง นี่คือ สิ่งที่พระพุทธเจ้าแนะนำเอาไว้ ต้องทำตามพระพุทธเจ้าท่านสอน

6. ให้เริ่มต้นพิจารณาร่างกาย โดยให้แยกเป็นส่วนๆ คือ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ หรือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

นี่เป็นตำหรับแท้ๆ ของพระพุทธเจ้า ให้เอามาดูเป็นส่วนๆ ดูสิ เส้นผมของเราเป็นยังไง สะอาดหรือสกปรก เหมือนกันกับขนสัตว์ ชนิดอื่นหรือเปล่า ถ้าไม่อาบน้ำมันจะเป็นอย่างไร แล้วไล่พิจารณาเรียงไปเรื่อยๆ จนครบทั้ง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง

กรรมฐาน 5 นี้ เป็นพื้นฐานทางเดินทาง ด้านปัญญา ให้หัดดูไปเรื่อยๆ เห็นชัดบ้างไม่ชัดบ้าง ก็ให้พิจารณาไป ให้เห็นว่า ที่ทำอยู่นี้คือ หินลับปัญญา

7. เมื่อทำจนชำนาญ ต่อไป ก็ลองแยกให้เป็นธาตุ 4 คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณาให้เป็น อนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกข์ขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) ทำเช่นนี้ สติปัญญาจะมากขึ้นเป็นลำดับ

8. เมื่อพิจารณาสักพัก ก็ให้ย้อนกลับมา
ทำสมาธิ เอาความสงบ เอากำลังของจิตใหม่ ต่อเมื่อจิตอยู่ในความสงบ เริ่มมีกำลังฟื้นตัว ก็กลับมาเดินไปปัญญาอีกครั้ง ให้ทำเช่นนี้สลับไป ห้ามทำอย่างหนึ่งอย่างใด เพียงอย่างเดียว ต้องมีทั้งการทำสมาธิ และเดินปัญญาสลับกันเรื่อยไป

9. เมื่อถึงจุดหนึ่ง คราวนี้ให้กำหนดเป็นอสุภะ อสุภะก็คือ กรรมฐานกองหนึ่ง ที่ทำให้เห็น ธรรมชาติของ ร่างกายคนเรา มีอยู่10 ระยะ คือ -ซากศพที่เน่าพองขึ้นอืด
-ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำ คละด้วยสีต่างๆ
-ซากศพที่มีน้ำเหลือง น้ำหนองไหลเยิ้ม (เน่าเฟะ)
-ซากศพที่ขาดออกเป็น ๒ ท่อน
-ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกินแล้ว
-ซากศพที่กระจุยกระจาย
-ซากศพที่ถูกฟันบั่นเป็นท่อนๆ
-ซากศพที่มีโลหิตไหลอาบอยู่ (จมกองเลือด)
-ซากศพที่มีหนอนคลาคล่ำ เต็มไปหมด
-ซากศพที่เหลืออยู่แต่ ร่างกระดูก หรือ เหลือแต่ท่อนกระดูก

ในการกำหนดอสุภะนี้ ให้กำหนดภาพเหล่านี้
ขึ้นมาตรงหน้าเลย ทำให้ภาพนิ่งอยู่ตรงหน้า อย่างนั้น หมั่นเอาภาพอสุภะมาตั้ง ไว้ตรงหน้าเสมอ ตอนนี้ยังไม่ต้องทำอะไร แค่ให้จิตกำหนดภาพเหล่านี้ให้ได้ก็พอ

แล้วดูไป ดูอย่างเดียว เพ่งไปเลยอย่าให้คลาด เมื่อถึงจุดที่เพียงพอ จิตมันจะรู้ของมันเอง

10. เมื่อถึงจุดที่เพียงพอ แก่ความต้องการของจิต คราวนี้ธรรมชาติจะหมุน ไปสู่ความจริง ซึ่งในขั้นตอนนี้ จะเป็นธรรมที่ละเอียดมาก จิตมันจะมีปัญญา ในเรื่องกามราคะ ถึงตอนนั้น จิตมันจะสิ้นข้อสงสัย ในเรื่องกามราคะไปเลย โดยไม่ต้องมีใครบอก
ในขั้นนี้ จะสำเร็จเป็น พระอนาคามีแล้ว

11. เมื่อทำซ้ำๆ จนบรรลุอนาคามี จิตจะไม่กลับมาเกิดอีก เพราะกามราคะมัน ขาดสะบั้นไปสิ้น จิตมันจะหมุนขึ้นสูงอย่างเดียว ไม่ลงต่ำ ไปอยู่ชั้นพรหมสุทธาวาส เวลานั้นจิตจะรู้ความจริงไปตามลำดับ

12.ทบทวนและย้ำอีกรอบว่า "เมื่อทำสมาธิ(สมถะ) ให้พักเรื่องปัญญา(วิปัสสนา)

และเมื่อเดินปัญญา(วิปัสสนา) ก็ให้พักเรื่องสมาธิ(สมถะ) ทั้งสองสิ่งนี้ จะต้องทำสลับกันไปตลอด ห้ามทิ้งอย่างหนึ่งอย่างใด และเมื่อทำสิ่งหนึ่ง ก็ไม่ต้องคิดถึงอีกสิ่ง คือ ทำความสงบ ก็ทำไป พิจารณาความจริง ก็ทำไป ห้ามนำมาปนกัน ให้ทำสลับไปอย่างนี้เรื่อยๆ ตลอดการปฏิบัติ

13. เมื่อก้าวถึงภูมิอนาคามีแล้ว จะมีภูมิของอนาคามี ที่เข้มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีความเข้มข้นอยู่ 5 ระดับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเลื่อนขึ้นไปเป็นขั้นๆ พวกที่ก้าวข้ามขั้นไปเลยก็มี แต่ส่วนใหญ่ในช่วงกึ่งพุทธกาลเช่นนี้ จะหายาก โดยมากแล้วจะไปทีละขั้น เพราะด่านกามราคะมันยากจริงๆ ไม่ใช่ของง่าย

14. ในขั้นนี้ปัญญา จะเดินอัตโนมัติ ตลอดเวลาแล้ว เห็นนิพพานอยู่ตรงหน้า ช่วงนี้ปัญญาจะฆ่ากิเลส ตลอดเวลาทุกอิริยาบถ ทั้งยืน เดิน นั่ง ฆ่ากิเลสตลอดเวลา ยกเว้นเวลานอนหลับ ตอนนั้นไม่มีคำว่า เผลอแล้ว เพราะปัญญาจะเกิดอย่างถี่ยิบ

15. สติปัญญาเดินมาก ต้องย้อนสู่สมาธิ ห้ามเดินปัญญา แต่อย่างเดียวเด็ดขาด ต้องทำสลับกันไปเช่นนี้

16. ต่อไปจะก้าวเข้าสู่ มหาสติปัญญา ถึงตรงนี้จะหมดนิมิต ที่เกี่ยวกับจิต เหมือนฟ้าแลบตลอด ไม่ต้องบังคับให้จิตทำงาน กิเลสซ่อนอยู่ตรงไหน ปัญญาจะตามไปฆ่าเชื้อที่นั่น

ส่วนใหญ่ถึงตรงนี้ ทุกข์เวทนาจะน้อยมากๆ เหลือเพียงสุขเวทนาเท่านั้น มันจะเห็นสุขเวทนาชัดเจนมาก จุดนี้เองที่มันจะเข้าไปใน ปราสาทราชวัง ไปเจอนายใหญ่ คือ อวิชชา ค้นพบอริยสัจ 4

มันจะเห็นกษัตริย์แห่งวัฏฏะ คือ ตัวอวิชชา ถึงตรงนั้นทุกสรรพสิ่ง จะว่างไปหมด ยกเว้นเพียงตัวเองที่ยังไม่ว่าง

17. เมื่อถึงจิตตะ คือ อวิชชา พอเปิดอันนี้ออก จิตมันก็จ้าขึ้น ตอนนี้ข้างนอกก็สว่าง ภายในก็สว่าง ว่างทั้งหมด

ตัวเราก็ว่าง เป็นวิมุต คือ ธรรมชาติที่แท้จริง
จิตเป็นธรรมธาตุ เป็นภาวะนิพพาน จิตไม่เคยตาย ถึงธรรมชาติแล้ว หายสงสัยล้านเปอร์เซ็นต์

18. แรกเริ่ม ธาตุขันธ์ เป็นเครื่องมือของกิเลส แต่ปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง ธาตุขันธ์จะเป็นเครื่องมือ ของธรรมทั้งหมด"

ธรรมเทศนาของ หลวงตามหาบัว










นิสัยของสัตว์โลก จะให้เหมือนกันมันไม่เหมือนกันหรอก บางท่านเป็นผู้มีตาทิพย์ ดูพรหมโลกได้ ดูนรกได้ ดูเทวดาได้ อย่างพระโมคคัลลานะ หรือพระอนุรุทธะ ตอนพระพุทธเจ้าจะเสด็จปรินิพพาน องค์อื่นจำต้องคอยถามท่านพระอนุรุทธะ ท่านมีทิพยจักษุเป็นเลิศที่สุดในบรรดาสาวก องค์อื่นไม่เทียบเท่ากับท่าน ดูแต่พระอรหันต์ยังไม่เหมือนกัน พวกเราก็ไม่ต่างกันกับท่าน บางคนจิตหยาบ บางคนละเอียด ที่เขาละเอียดเขามีพื้นฐานดีแล้ว พอเขาเจริญภาวนาเขาก็ได้เลย ตัดไปเลย

พวกเราก็ต้องพยายามบำเพ็ญความเพียรกันไป อย่าทอดทิ้งความเพียร วันหนึ่งผลสำเร็จก็ต้องเป็นของเรา ถึงจะไม่ถึงที่สุดในชาตินี้ แต่ก็จะเป็นนิสัยปัจจัยติดตัวเราไปในชาติหน้าภพหน้า ขอให้บำเพ็ญต่อไปเถอะ

หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ









“…พระพุทธเจ้าออกบวชก็มุ่งที่จะชำระล้างกิเลสที่มีอยู่ในใจขององค์ท่านให้ออกไปให้หมด ท่านเห็นอะไร ไม่ว่าต้นไม้ ใบหญ้าหรือคน ท่านก็จะตีเข้ามาหาตัวเป็นธรรมเสมอว่า โลกนี้มันเป็นโลกที่ไม่เที่ยงนะ มีกฏของไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เข้าบังคับบัญชาอยู่ตลอดเวลา แล้วมนุษย์เราแต่ละคน แต่ละคน ไม่ใช่ว่าอายุจะยืนยาวอะไรนักหนา แล้วก็บอกไม่ได้ด้วยว่า คนแก่จะต้องตายก่อนวัยเด็กเสมอไป
.
เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุทำให้เสียชีวิตลง เกิดโรคภัยไข้เจ็บเข้ามาเบียดเบียนทำให้ตายก่อนวัยอันควร ท่านจึงสอนว่าอย่าประมาทในคุณงามความดี อย่าคิดว่าทำน้อยนิดมันจะไม่ให้ผล เมื่อทำอยู่บ่อย ๆ มันก็จะติดเป็นนิสัย แล้วสิ่งเหล่านี้แหละที่จะชักนำเราให้พ้นทุกข์ไปภายในวันหนึ่งแน่นอน ”

โอวาทธรรมคำสอนพ่อแม่ครูอาจารย์
พระอารย์สุดใจ ทันตมโน
วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี
เมื่อวันที่ ๑๑ ต.ค. ๕๗ ณ








"จิตใจมั่นคงอย่างสมบูรณ์ เมื่อเป็นอิสระด้วยปัญญา"

ศรัทธาทําให้มีหลักที่ยึดเหนี่ยวให้เกิดความมั่นคงทางจิตใจในระดับหนึ่ง แต่จะมั่นจริงต้องมีปัญญา โดยเกิดความรู้เข้าใจด้วยตนเอง ศรัทธาเป็นความมั่นใจที่อาศัยหลักข้างนอก คือสิ่งภายนอก หรือสิ่งอื่นมาเป็นเครื่องยึด เหมือนมีคนมาพาคนหลับตาเดิน ถ้าเราเชื่อมั่นในคนที่จูงนําพาเราไป เราก็มี security ได้ แต่ถ้าเราลืมตา มองเห็นทางด้วยตนเอง เราจะมีความมั่นใจโดยสมบูรณ์ คือมองเห็น ทางนั้นชัดเจน รู้ว่าจะไปถึงจุดหมายนี้ได้ ต้องไปทางนี้

แม้แต่จะตาย คนที่จะตายก็ต้องการ spiritual security คือ ความมั่นคงทางจิตใจ หรือจิตลึกที่ว่านี้ คนที่ไม่มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ เวลาจะตายจิตใจก็มักฟุ้งซ่าน หวาดกลัว ไม่มีสติ แต่ถ้าเป็นคนมี ศรัทธา มีความเชื่อมั่น อย่างชาวพุทธที่ศรัทธาเชื่อมั่น ในบุญ ในกุศล เมื่อเขาได้ทําบุญกุศลไว้ หรือมีจิตศรัทธายึดอยู่กับพระรัตนตรัย พอจิตมีหลักอย่างนี้ ก็สงบได้ ใจก็มั่นคงดี

ทีนี้ ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง คือ คนที่มีปัญญาเห็นแจ้ง รู้เข้าใจหลักพระไตรลักษณ์ เข้าถึงความจริงของชีวิต และกฎธรรมชาติ อันนี้จะไปเหนือยิ่งกว่าศรัทธาอีก คือคนที่รู้เข้าใจ รู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิตแล้ว จิตยอมรับความจริงนั้น จิตใจของเขาจะสงบได้เลย แล้วก็ เป็นอิสระด้วย ส่วนคนที่อาศัยศรัทธา ยังต้องมีหลักเป็นที่ยึดเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ต้องเกาะจึงมั่น ต้องยึดจึงมั่น แต่ถ้าเป็นคนที่มีปัญญารู้แจ้งแล้ว ไม่ต้องเกาะต้องยึดอะไรเลย เป็นอิสระ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
จาก : หนังสือ ความมั่นคงทางจิตใจ


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO