นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 19 เม.ย. 2024 7:06 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: สงบเข้าฌาน
โพสต์โพสต์แล้ว: เสาร์ 19 ต.ค. 2019 6:03 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4532
กฏแห่งกรรม

" ระมัดระวังโตจะของเด้อ กฏแห่งกรรมนี่มันแฮงอิหลีเด้ ไผเฮ็ดอิหยังไว้ สิดีฮืชั่ว กะหนีกฏแห่งกรรมบ่ได่เด้อ ย้อนว่ากฏแห่งกรรมนี่มัน เป็นธรรมมันยุติธรรมกับทุกชีวิต บ่มีไผหลีกเว้นได่ดอก มันคอยเวลามันอยู่ อย่าประมาทเนาะลูกหลานเอ้ย "

...แปลความ" ระมัดระวังตัวเองนะ กฏแห่งกรรมนี้มันแรงจริงๆนะ ใครทำอะไรไว้ จะดีหรือชั่ว ก็หนีกฎแห่งกรรมไม่ได้นะ เพราะว่ากฏแห่งกรรมนี้มันยุติธรรมกับทุกชีวิต ไม่มีใครหนีเวรกรรมได้หรอก มันคอยเวลาของมันอยู่ อย่าประมาทกันนะลูกนะเอ้ย"
.

ธรรมเทศนาหลวงปู่จื่อ พนฺธมุตโต
วัดเขาตาเงาะอุดมพร บ้านหัวหนอง ต.หนองบัวระเหว อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ









เราผู้มีโอกาสวาสนาพอประมาณ ได้อุบัติเกิดมาเป็นร่างมนุษย์มีอวัยวะสมบูรณ์ ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาแต่ ปุพเพ จ กตปุญฺญตา คือ เคยสั่งสมคุณงามความดีสืบทอดกันมาเป็นลำดับ จนปรากฏผลเป็นผู้มีคุณค่ายิ่งกว่าสัตว์ทั้งหลาย นับว่าเป็นผู้มีคุณค่าอันดับหนึ่ง อันดับต่อไป โปรดพยายามนำเอาผลกำไรอันเกิดจากกรรมดีนี้เป็นต้นทุนหมุนหาความดี ได้แก่การบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ให้มีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นภายในกาย วาจา ใจ ก็จะเพิ่มพูนความดีขึ้นไปอีกไม่มีสิ้นสุด แม้จะยังมีการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอยู่ เราก็พอมีทางหลีกเลี่ยงจากความทุกข์ได้พอประมาณ และมีโอกาสประสบสุขในวงของสัตว์ผู้มีความทุกข์เช่นเดียวกับเรา จนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง คือความพ้นทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง

แต่ผู้มีความมุ่งหน้าพยายามแก้ไขตนให้พ้นจากทุกข์ในชาติปัจจุบันนี้ จะไม่ขอมาสู่กำเนิดอันเป็นภพเกิดแล้วต้องตายในโลกทนทุกข์ทรมานนี้แล้ว ผู้นั้นโปรดมีเข็มทิศคือใจมุ่งมั่นต่อความเพียร การรักศีลก็ไม่มีสิ่งใดจะรักยิ่งไปกว่า แม้ชีวิตจิตใจก็ยอมพลีได้เพื่อศีลที่รักยิ่งนั้น ไม่ย่อมล่วงเกินฝ่าฝืนทั้งที่แจ้งและที่ลับ ทางด้านสมาธิ คือการอบรมใจเพื่อความสงบ ปราศจากข้าศึกอันเป็นเหตุที่จะบ่อนทำลายความสุขภายในใจ ก็พยายามอบรมให้เกิดมีขึ้นด้วยความเพียรไม่ลดละ

การอบรมใจเพื่อความสงบ จะกำหนดอาการส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกาย หรือจะกำหนดใจตามรู้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายก็ดี จะกำหนดธรรมบทใดบทหนึ่งมีพุทโธ เป็นต้น ที่ถูกกับจริตของตนก็ดี หรือจะกำหนดลมหายใจเข้าออกซึ่งปรากฏอยู่กับตัวทุกขณะก็ดี จงเป็นผู้มีสติรอบคอบ รอบรู้กับอาการแห่งธรรมที่ตนกำหนดพิจารณาอยู่ จนปรากฏเป็นปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรม คือจิตกับบทธรรมสัมปยุตกันอยู่ด้วยสติทุกขณะที่ทำการอบรม อย่าให้พลั้งเผลอ จนปรากฏว่าจิตกับธรรมเป็นอันเดียวกัน ไม่มีการแตกแยกจากกันแม้ขณะเดียว จะเป็นไปเพื่อความสงบ และพ้นทุกข์ไปโดยลำดับในชาตินี้โดยไม่ต้องสงสัย

หลวงปู่ใหญ่พระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด
๒๕ ธันวาคม ๒๕๐๖







วินาทีบรรลุธรรม
“เย็นวันหนึ่ง เมื่อปัดกวาดเสร็จออกจากที่พักไปสรงน้ำ ได้เห็นข้าวในไร่ชาวเขากำลังสุก
เหลืองอร่าม ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาในขณะนั้นว่า ข้าวมันงอกขึ้นมาเพราะมีอะไรเป็นเชื้อพา
ให้เกิด ใจที่พาให้เกิด-ตายอยู่ไม่หยุด ก็น่าจะมีอะไรเป็นเชื้ออยู่ภายในเช่นเดียว กันกับเมล็ด
ข้าว เชื้อนั้นถ้าไม่ถูกทำลายเสียที่ใจให้สิ้นไป จะต้องพาให้เกิดตายอยู่ไม่หยุด ก็แล้วอะไร
เป็นเชื้อของใจเล่า ถ้าไม่ใช่กิเลสอวิชชา ตัณหาอุปาทาน ท่านคิดทบทวนไปมา โดยถือ
อวิชชาเป็นเป้าหมายแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ พิจารณาย้อนหน้าถอยหลัง อนุโลมปฏิโลมด้วย
ความสนใจอยากรู้ตัวจริงแห่งอวิชชา นับแต่หัวค่ำจนดึกไม่ลดละการพิจารณา ระหว่างอวิชชา
กับ ใจ

พอจวนสว่างจึงตัดสินกันลงได้ด้วยปัญญาอวิชชาขาดกระเด็นออกจากใจไม่มีอะไร เหลือ
การพิจารณาข้าวก็มายุติกันที่ข้าวสุก หมดการงอกอีกต่อไป การพิจารณาจิตก็มาหยุดกันที่
อวิชชาดับ กลายเป็นจิตสุกขึ้นมาเช่นเดียวกับข้าวสุก จิตหมดการก่อกำเนิด เกิดในภพต่างๆ
อย่างประจักษ์ใจ สิ่งที่เหลือให้ชมอย่างสมใจคือ ความบริสุทธิ์ของจิตล้วนๆ ในกระท่อม
กลางเขา มีชาวป่าอุปัฏฐากดูแล ขณะที่จิตผ่านดงหนาป่ากิเลสวัฏฏ์ไปได้เแล้ว เกิดความ
อัศจรรย์อยู่คนเดียว ตอนอรุณรุ่งพระอาทิตย์ก็เริ่มสว่างบนฟ้า ใจก็เริ่มสว่างจากอวิชชาขึ้นสู่
ธรรมอัศจรรย์ ถึงวิมุตติหลุดพ้นในเวลาเดียวกันกับพระอาทิตย์อุทัย ช่างเป็นฤกษ์งามยาม
วิเศษเสียจริง”

หลวงปู่ขาว อนาลโย








การนอน การสงบเข้าฌาน เป็นอาหารของจิตและร่างกายอย่างหนึ่ง

สมถะ ต้องพักจิตสอบอารมณ์ ส่วนวิปัสสนา จิตเดินไตรลักษณ์ให้รู้อริยสัจ เหนื่อยแล้วพัก
เข้าจิต พักจิตหายเหนื่อยแล้ว จิตตรวจอริยสัจอีกดังนี้ ฉะนั้นให้ฉลาดการพักจิต การเดินจิต
ทั้งวิปัสสนาและสมถะ พระโยคาวจรเจ้าทิ้งไม่ได้ ชำนิชำนาญทั้งสองวิธี จีงจะเอาตัวพ้นจาก
กิเลสทั้งหลายไปได้ เป็นมหาศีล มหาสมาธิ มหาปัญญา มีศีลทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง
อย่างละเอียด พร้อมทั้งจิต เจตสิก พร้อมทั้งกรรมบท ๑๐ ไม่กระทำผิดในที่ลับและที่แจ้ง
สว่างทั้งภายในและภายนอก มีมหาสติรอบคอบหมด วิโมกข์ วิมุติ อกุปธรรม จิตบริสุทธิ์
จิตปกติ เป็นจิตพระอรหันต์ สว่างแจ้งทั้งภายนอกภายใน สว่างโร่ ปุถุชนติเตียนเกิดบาป
เพราะพระอรหันต์บริสุทธิ์ กายเป็นชาตินืพพาน วาจา ใจ เป็นชาตินิพพาน
นิพพานมี ๒ อย่าง นิพพานมีชีวิตอยู่๑ นิพพานตายแล้ว๑

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
จากบันทึกธรรมคำสอนหลวงปู่มั่น โดยหลวงปู่หลุย จันทสาโร
จากหนังสือจันทสาโรบูชา







บุญอยู่ที่ใจ แค่คิดจะทำบุญก็สุขใจ ทำความดีแล้ว ไม่ต้องหวังผลตอบแทน ทำความดีแล้ว ไม่ต้องให้ใครเห็น ทำความดีก็จารึกไว้ในใจแล้ว บุญคู่อยู่กับใจ ตายไปแล้ว ไม่ว่าไปอยู่ภพไหนๆ บุญก็จะตามติดไปเป็นเพื่อน

หลวงปู่อ่ำ ธมฺมกาโม







ดูก่อนท่านผู้แสวงหาทางอมตะ
จงสละอารมณ์โลกามิษทั้งหลาย
อันมีอวิชชาเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์
พึงรักษาจิตของตนให้บริสุทธิ์ขาวรอบ
ปราศจากบาปมลทินสิ่งเศร้าหมองทั้งหลายไปตามลำดับ
ตลอดถึงอนุสัย สังโยชน์ อาสวะทั้งหลาย
ให้ออกจากจิตตสันดานให้หมด
และอุปกิเลส ๑๖ ประการ กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด
ที่หมักหมมอยู่ในจิตตสันดานนับภพนับชาติไม่ได้
อันมีโลภ โกรธ หลง เป็นต้น
ถ้าจิตใจเราเบาบางจางหายคลายจากความโลภ โกรธ หลง
ความเห็นผิด ความอวดดีมีมานะ และความประมาท
ความยึดมั่นทั้งหลายได้มากเท่าใด
จิตใจเราก็สงบเย็นเป็นสุขในชีวิต
จิตวิญญาณของเรามีความเบากายเบาใจ
หายกังวลห่วงใยในทุกสิ่ง
จิตเข้าถึงธรรมชาติแท้ของจิตเดิม
บุคคลนั้นย่อมอยู่ในโลกไม่มีความทุกข์เลย

ครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร








"ยินดีในโลกทั้งปวงก็เท่ากับเป็นห่วงใยในการเกิดแก่เจ็บตายทั้งปวงอยู่ในตัวแล้วๆ ถ้าไม่ยินดีในโลกทั้งปวงก็ตรงกันข้าม ไฟกิเลสก็จะไม่ลุกลามพอมีน้ำจะดับขับไฟได้"

หลวงปู่หล้า เขมปัตโต










ปั ญ ญ า วิ มุ ติ -​ เ จ โ ต วิ มุ ติ

อย่างหลวงพ่อได้เขียนเรื่องปัญญาวิมุติ เจโตวิมุติ สองประโยคนี้อยู่คนละเล่มกันในหนังสือ คนละจุดกันเลย หลวงพ่อพยายามจะดึงมาเรียบเรียงเรื่องปัญญาวิมุติ เจโตวิมุติ ให้คนเข้าใจมากขึ้น

ทำไมพระองค์เจ้าจึงได้วางวิมุติ ๒ ประเภทนี้เอาไว้
พระองค์เจ้าได้ตรัสเอาไว้ชัดเจนว่า สมัยครั้งพุทธกาลนั้น ผู้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้ามี ๒ กลุ่ม กลุ่มหนึ่ง กลุ่มเจโตวิมุติ กลุ่มหนึ่ง กลุ่มปัญญาวิมุติ กลุ่มเจโตวิมุตินี้มีน้อยมากสมัยครั้งพุทธกาล ให้เทียบได้ว่ามีอยู่ ๓๐% กลุ่มปัญญาวิมุติมีอยู่ถึง ๗๐%

ลักษณะกลุ่มปัญญาวิมุติหมายถึงอะไรเขาทำอะไร
กัน คือกลุ่มนี้เขาไม่ได้ทำสมาธิสงบ แต่เป็นสมาธิตั้งใจมั่น เป็นคู่กันกับปัญญา พวกเจโตวิมุติเขาทำสมาธิสงบ เข้าฌานได้ นี่คือความแตกต่างกัน

ทีนี้จะอธิบายเรื่องกลุ่มปัญญาวิมุตินี้ก่อน ครั้งพุทธกาลกลุ่มปัญญาวิมุตินี้ ผู้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้า จะเป็นบรรดาฆราวาสญาติโยมก็ดี
พระสงฆ์ก็ดี พวกนี้สามารถจะเทศน์กันได้ บรรดาพระสงฆ์กับพระสงฆ์ด้วยกัน หรือพระสงฆ์จะเทศน์ให้ฆราวาสให้บรรลุธรรมก็ได้ ถ้าปัญญาวิมุติ การบรรลุ
ธรรมมันง่ายขึ้น ใครเทศน์ก็ได้

มันไม่เหมือนกลุ่มเจโตวิมุติ เพราะกลุ่มเจโตวิมุตินี้ ต้องเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะเทศน์ได้ เพราะกลุ่มนี้เขาทำสงบไปแล้ว มันก็จะลืมตัว ลืมตัว คือ
ติดอยู่ในสุข แม้ว่าเข้าฌาน ติดอยู่ในฌานอีก อันนี้บรรดาพระด้วยกันจะไม่เชื่อกัน พวกนี้ยิ่งมีทิฏฐิมานะ อัตตาสูง ยิ่งสงบเท่าไร ถ้ามีอภิญญาเกิดขึ้นสักอย่าง
สองอย่าง เช่นว่า จักษุญาณ โสตญาณ เกิดขึ้น ยิ่งลืมตัวกันไปใหญ่ ยึดมั่นถือมั่นว่าเราเก่งเราดี อัตตามานะโดดเด่นขึ้นมาทันทีเช่นนั้นเรียกว่า ผู้จะเทศน์กลุ่มเจโตวิมุติได้มีองค์เดียวเท่านั้น คือพระพุทธเจ้าที่จะเทศน์ได้ เพราะว่าพวกนี้เขาไม่ลงกัน ต้องใช้
อภินิหาร ใช้พลังอย่างอื่นประกอบหลายๆ ด้าน

พวกกลุ่มปัญญาวิมุตินั้น เรากันเองช่วยกันได้ ยก
ตัวอย่างได้ว่า พระสารีบุตร สมัยที่ยังเป็นฆราวาส ท่านฟังธรรมจากท่านอัสสชิ ก็สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ ไม่ต้องฟังมากมาย เมื่อฟังธรรมแล้วก็เป็นพระอริยเจ้า และก็ไปเทศน์ให้เพื่อนฟังด้วย พระโมคคัลลานะก็บรรลุธรรมได้เลยเช่นเดียวกัน นี่ก็กลุ่มปัญญาวิมุติ ไม่จำเป็นจะเป็นพระเทศน์

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มนางสามาวดีกับคนรับใช้ หรือนางทาสี ชื่อว่า นางขุชชุตตราเรียกง่ายๆว่า นางค่อม นางค่อมนี่ก็เป็น ข้าทาสบริวารของนางสามาวดี ไปเทศน์ให้เจ้านายฟังเจ้านายก็สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ นี่กลุ่ม ปัญญาวิมุติ ฆราวาสเทศน์กันเป็นพระอริยเจ้าได้มากมายในครั้งพุทธกาล นี่คือว่าไม่จำกัดการเทศน์ ไม่เหมือนกลุ่มเจโตวิมุติ

กลุ่มเจโตวิมุติต้องจำกัดว่า ต้องพระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงจะเทศน์ให้ได้ นี่อย่างหนึ่ง อย่างที่สอง จะเป็นลักษณะว่า ถึงจะเป็นสาวกด้วยกันก็ตาม แต่ก็เป็น
คู่ทรมานกันมา เหมือนกับพระยามิลินท์กับพระนาคเสน เป็นคู่ทรมานกันมา นี้อีกอย่างหนึ่ง เรียกว่ากลุ่มเจโตวิมุตินี้

หลวง​พ่อ​ทูล​ ข​ิ​ป​ฺป​ปญฺโญ​

วัด​ป่า​บ้าน​ค้อ​ อ.บ้าน​ผือ จ.อุดรธานี

ที่มา : แนวทางสู่พระโสดาบัน

" พระธรรมเทศนา "

เมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๑
ณใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Bing [Bot] และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO