นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 29 มี.ค. 2024 12:06 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ความรู้สึกชอบ
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 09 ส.ค. 2018 4:58 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4511
"ความรู้สึกชอบ
กับ ความรู้สึกชังนี้
ตามความหมายอันแท้จริง
ของทางธรรมแล้ว ท่านถือว่า
เป็นความทุกข์เท่ากัน"

ท่านพุทธทาสภิกขุ





"คนเรานี่ เวลามีภัยคุกคาม
มีทุกข์บีบคั้น ก็ลุกขึ้น ดิ้นรนขวนขวาย
พอสุขสบาย ก็นอนต่อไป

พระพุทธศาสนา ก็จึงต้องย้ำ
ด้วยความไม่ประมาท เพราะว่า
เมื่อสบายแล้ว คนโน้มเอียงจะประมาท

ใคร ทั้งๆ ที่สุขสบาย ก็ไม่ประมาทได้
ก็คนนั้นแหละ เป็นคนที่ปฏิบัติธรรมได้ผล"

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ประยุตโต)





องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เทศน์และได้บันทึกในหนังสือปฏิปทาของพระธุดงคกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ดังนี้

".. หลักปฏิปทาที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์มั่นพาดำเนินมา ซึ่งได้สืบทอดมาถึงพวกเราเวลานี้ เป็นปฏิปทาที่ถูกต้องแม่นยำ ไม่มีเงื่อนจะให้สงสัยแม้แต่น้อย เพราะท่านดำเนินตามแบบฉบับของศาสดาที่มีไว้แล้วในตำราจริงๆ ไม่ใช่แบบแอบๆ แฝงๆ หรือแผลงๆ ไป ดังที่เห็นๆ กันทั่วๆ ไปนี้ มีลักษณะอยากเด่นอยากดัง ไม่เข้าร่องเข้ารอยอย่างนั้นไม่มี สำหรับของหลวงปู่มั่นเป็นปฏิปทาด้วยความเป็นธรรมล้วนๆ จึงไม่มีแง่ใดที่น่าสงสัย..

วิธีดำเนินทางด้านจิตตภาวนา ท่านก็ไม่ได้พาบำเพ็ญหรือปฏิบัติให้นอกเหนือไปจากหลักธรรม ที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้แล้วนั้นเลย เช่น สอนพุทโธ หรือ สอนอานาปานสติ หรืออาการ ๓๒ นับแต่กรรมฐาน ๕ ขึ้นไป จนกระทั่งถึงอาการ ๓๒ เหล่านี้มีในตำรับตำราโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่เป็นข้อสงสัย ไม่เป็นที่ให้เกิดความระแวงอะไรทั้งสิ้น

ที่ท่านพาดำเนินมาไม่ได้มีบทแปลกๆ ต่างๆ และเป็นสิ่งที่ผูกขาดบ้าง หรือเป็นอะไรขลังๆ บ้างอย่างนี้ไม่ปรากฏ ถ้าขลังก็ขลังด้วยความเป็นธรรมจริงๆ คือเอาจริงเอาจังประหนึ่งว่าขลัง ไม่ใช่ขลังแบบโลกๆ ขลังด้วยความเป็นธรรม ขลังด้วยความแน่ใจตัวเอง และทำความอบอุ่นแก่ตนเองด้วยความขลังนั้นจริงๆ นี่คือปฏิปทาที่พ่อแม่ครูอาจารย์มั่นพาดำเนินมา..

แนวทางดำเนินในสายท่านพระอาจารย์มั่น กรรมฐาน ๕ (เกศา-ผม โลมา-ขน นขา-เล็บ ทันตา-ฟัน ตโจ-หนัง โดยอนุโลมปฏิโลม) และธุดงค์ ๑๓ ท่านถือเป็นสำคัญมาก จะเรียกว่าเป็นเส้นชีวิตของพระธุดงค์สายของท่านก็ไม่ผิด ใครเข้าไปรับการอบรมกับท่าน ท่านต้องสอนกรรมฐานและธุดงควัตรให้ในเวลาไม่นานเลย.."









เรื่อง "ทำบุญควรเลือกพระผู้ทรงศีล"

(คติธรรม หลวงตามหาบัว ญาณสมปันโน)

ฉะนั้นคติโบราณที่กล่าวว่า "ทำบุญอย่าถามพระ หรือ ตักบาตรอย่าเลือกพระ" เห็นจะใช้ไม่ได้ในสมัยนี้ เพราะว่าในสมัยนี้ไม่เหมือนกับท่านในสมัยก่อนๆที่บวชเพราะมุ่งจะหนีสงสาร โดยมุ่งจะทำมรรคผลและนิพพานให้แจ้ง ท่านจึงเป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ

แต่ในสมัยนี้มีอยู่บางคนที่บวชด้วยคติ ๔ ประการ คือ

บวชเป็นประเพณี
บวชหนีทหาร
บวชผลาญข้าวสุก
บวชสนุกตามเพื่อน

ธรรมวินัยใดๆท่านไม่สนใจ เพียงแต่มีผ้าเหลืองห่มกาย ท่านก็นึกว่าตนเป็นพระและเป็นเนื้อนาบุญเสียแล้ว ซึ่งป่วยการจะกล่าวไปถึงศีลปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ แม้แต่เพียงศีล ๕ ก็ยังเอาแน่ไม่ได้ว่าท่านจะมีหรือไม่









“เออ!...ดี พระป่านี่ดี... เรียนตำราเดิมของพระพุทธเจ้าได้ดี”
พระปรารภของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ที่มีต่อข้ออรรถข้อธรรมของหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
...
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงสนิทสนมกับหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท ตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระองค์มาประทับ ณ วัดทรายงาม
หลวงปู่เจี๊ยะได้ปรนนิบัติองค์ท่านอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการเตรียมน้ำสรง และอยู่คอยรับใช้ใกล้ชิดมาโดยตลอด
ภายหลังเมื่อเสด็จกลับวัดบวรนิเวศฯ ก็มีโอกาสนำสามเณรไปฝากเรียนหนังสือที่วัดบวรนิเวศเสมอ
จนในระยะหลังที่หลวงปู่เจี๊ยะกลับมาจากอุปัฏฐากดูแลหลวงปู่มั่นนั้น ก็จะแวะพักที่วัดบวรฯ เสมอ สมเด็จฯ ก็จะจัดให้พักกุฏิลออ พร้อมพระเมตตาบอกเสมอว่า “มีโอกาส...เข้ามาพักด้วยกันใหม่นะ”

หลวงปู่เจี๊ยะยังได้เล่าไว้ว่า "...เมื่อเรามาพักที่วัดบวรฯ บ่อยๆ จึงรู้จักมักคุ้นกับพระเถระที่วัดบวรฯ หลายรูป สมเด็จพระญาณสังวรฯ สมเด็จพระสังฆราช องค์ปัจจุบันนี้ก็คุ้นกับท่านมาก ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (วิชมัย ปุญฺญาราโม) นี่ถือว่าเป็นสหธรรมิกกันเลย สนิทกับท่านมาก งานศพโยมพ่อโยมแม่ท่านไปแสดงธรรม ไปช่วยเหลือตลอด ที่คุ้นกับพระเถระผู้ใหญ่เหล่านี้ ส่วนมากสาเหตุเบื้องต้นเริ่มจากการคุยสนทนาธรรมะทางภาคปฏิบัติกัน ท่านชอบสอบถามพระป่า เกี่ยวกับเรื่องจิตตภาวนา เพื่อตรวจสอบความรู้ที่ท่านเรียนมาและในเรื่องที่เราปฏิบัติมาว่าความจริงแห่งธรรมที่เราปฏิบัติกับที่ท่านเล่าเรียน มันไปในทิวแถวแนวทางเดียวกันมั้ย"
...
นอกจากหลวงปู่เจี๊ยะยังเคยสนทนาธรรมกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ความตอนหนึ่งว่า
...ในคราวที่กลับจากท่านพระอาจารย์มั่นนั้น เข้ามากราบสมเด็จฯ ท่านที่วัดบวรฯ พระองค์ได้รับหนังสือธรรมะของหลวงพ่อสดวัดปากน้ำภาษีเจริญ พระองค์เมื่อนำมาอ่านแล้วถามเราขึ้นว่า

“เจี๊ยะ! เราอ่านหนังสือของหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ เขาเขียนว่า การเพ่งพระพุทธรูปนั้นเป็นมรรค เธอคิดว่าอย่างไร”
.
เรากราบทูลไปว่า “แล้วพระองค์พิจารณาว่าการเพ่งอย่างนั้นเป็นมรรคหรือไม่?” พระองค์ทรงนิ่ง แล้วหันมามองเรา แสดงอาการว่า พระองค์อยากทราบความคิดของเราในเรื่องนี้ จึงกราบทูลไปว่า “กระหม่อมคิดว่า ถ้าจะเป็นมรรคก็ต้องคิดพิจารณา อันนำไปสู่ภาวนามยปัญญา การเพ่งพระพุทธรูป เช่นนั้น ก็ต้องหาเหตุผลว่าเพ่งเพื่ออะไร ได้อะไร แต่การนั่งเพ่งมองเฉยๆ หาเหตุผลไม่ได้ ไม่น่าจะมีประโยชน์อะไร” กราบทูลท่านเท่านี้เราก็หยุด เพราะกลัวจะไปเฟ้อไปแบบไร้เหตุผล เป็นคำพูดที่ไม่มีที่จบ อันแสดงถึงความไม่รู้จักประมาณของคนที่พูด เดี๋ยวจะเป็นกรรมฐานดงหลงป่า ภาษาธรรมเรี่ยราด ขาดเหตุผล"
.
พระองค์จึงตรัสขึ้นว่า “เออ...ว่าต่อไปซิ...กำลังฟังอยู่ หยุดทำไม?”
.
เราจึงกราบทูลต่อไปอีกว่า “การพิจารณานั้นควรเพ่งเข้ามาภายใน ควรรู้ข้างในก่อน ไม่ควรปล่อยจิตออกจากวงกาย เวทนา จิต ธรรม สติปัฏฐานสี่ควรพิจารณาตั้งลง ณ ที่กายจิตนี้ ถ้าปล่อยให้จิตส่ายแส่ออกไปที่อื่น ในสภาวะที่ใจไม่สามารถคุ้มครองตนเองได้นั้น กระหม่อมคิดว่า ไม่ควรอย่างยิ่ง จะเป็นสมุทัยไปเสียอีก แต่ถ้าย้อนเข้ามาพิจารณาภายในกายตนเอง อันเป็นส่วนวิปัสสนา เพื่อละทิฏฐิมานะ เพื่อละอหังการ ความหลงตน อหังการ ความทะนงตนนั้น เป็นการสมควรอย่างยิ่ง เป็นมรรค กระหม่อมคิดว่า เป็นมรรคแท้”
.
“การพิจารณากาย เป็นกายานุปัสสนานั้น เธอพิจารณาอย่างไร?” พระองค์ตรัสถามด้วยความสนพระทัย ไม่ทรงแสดงอาการว่าทดสอบ แต่เป็นพระกริยาที่อยากจะสนทนาธรรม ด้วยความที่พระองค์เป็นผู้ประพฤติธรรม
.
“จะสมควรหรือ? กระหม่อม” เรากราบทูลเพราะเกรงจะไม่บังควร จะเป็นการเอามะพร้าวไปขายสวน
.
“สนทนาธรรม ไม่สมควรตรงไหน นักบวชไม่สนทนาธรรม จะสนทนาอะไรล่ะ” พระองค์ตรัสย้ำ แบบไม่ทรงถือตัว
.
กระหม่อมคิดว่า “การพิจารณากายนั้น ต้องมีสมาธิเป็นพื้นฐานก่อน การพิจารณานั้นจิตจึงจะมีกำลัง พิจารณาเพ่งตัดกายออกเป็นชิ้นๆ ซึ่งในขณะที่พิจารณาอย่างนั้น จิตดำเนินในทางสมาธิมรรค มรรคองค์อื่นๆ จะเป็นมรรคสมังคีโดยพร้อมพรั่ง เมื่อพิจารณาถึงเหตุถึงผล จิตจะเด่นดวงขึ้นมา จิตนั้นจะอยู่เหนืออริยสัจเหนือมรรค เป็นไปเพื่อความรู้แจ้ง ดับสนิทไม่มีเชื้อเหลือ”
...
“เออ!...ดี พระป่านี่ดี... เรียนตำราเดิมของพระพุทธเจ้าได้ดี” พระองค์พูดสั้นๆ เท่านั้น เราก็กราบลาไปพักที่กุฏิลออ...
.
(ที่มา: หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง)






"การต่อสู้กับกามกิเลส เป็นสงครามอันยิ่งใหญ่"

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
ภาพหลวงปู่บุญจันทร์ จันทสีโล อุปัฏฐากพระคุณเจ้าหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ณ วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่






อย่านึกว่าตนเป็นผู้วิเศษ
ผู้เก่งกล้าอะไร
ผู้ใดมีวาสนาบารมี
สร้างสมอบรมมาอย่างไร
ก็จะเป็นไปอย่างนั้นเปรียบเสมือนการปลูกต้นผลไม้
หากเราเอาเมล็ดมะม่วง
มาเพาะ ปลูก ลงดิน
รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย
บำรุงต้นไม้นั้นไปวันหนึ่งก็จะออกดอกออกช่อให้ผล
เป็นมะม่วงจะกลายเป็นมะปรางหรือมะไฟ
ก็หามิได้หรือผู้ที่ไม่เคยเพาะเมล็ดมะม่วง
ไม่เคยปลูกมะม่วง
แต่จะนั่งกระดิกเท้ารอ
ให้เกิดต้นมะม่วง
มีผลมะม่วงขึ้นมาเอง
ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน
ท่านเป็นผู้มีวาสนาบารมีธรรม
สร้างสมอบรมมาแต่บรรพชาติ
จิตจึงเกรียงไกร มีอานุภาพ
แต่ก็ควรจะประมาณตนอยู่
เพราะความรู้สิ่งเหล่านี้
ไม่ใช่จุดหมายปลายทาง
ของผู้กระทำความเพียรภาวนา
นักปราชญ์จะไม่มัวหลงงมงาย
อยู่กับความรู้ภายนอก
อันเป็นโลกียอภิญญา
จุดหมายปลายทาง
ของปวงปราชญ์ราชบัณฑิตนั้น
อยู่ที่การกำจัดอาสวกิเลส
ที่หมักดองอยู่ในกมลสันดานของเรา
ให้หมดไป สิ้นไปโดยไม่เหลือแม้แต่เชื้อต่างหาก

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO