นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พฤหัสฯ. 25 เม.ย. 2024 12:19 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: ความกังวลใจ
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 24 พ.ค. 2018 5:01 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4538
"ความกังวลใจ
คือ ศัตรูของชีวิต

อดีตคือ ความฝัน
อนาคตคือ ความไม่แน่นอน
ปัจจุบันเท่านั้น ที่เราจะแก้ไขได้

ไม่มีใครสร้างความเดือดร้อน
ให้แก่เราได้
นอกจากตัวเราเอง"

-:- หลวงปู่จันทร์ กุสโล -:-






"เสื่อมก็จงรู้ตาม เจริญก็จงรู้ตาม
เผลอ หรือไม่เผลอ ก็จงตามรู้ทุกอาการ

จึงจัดว่าเป็นนักค้นคว้าความรู้เท่า
ในอาการเกิดๆ ดับๆ ของสิ่งเหล่านั้น
ด้วยปัญญาเสมอไป

นั่นแล จัดว่าเป็นผู้รู้เท่าทันโลก
และเรียนโลกจบ จึงจะพบของจริง"

-:- หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน -:-






"พยายามพิจารณาว่า
ในร่างกายของเรานี้ ไม่มีอะไร
มีแต่ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ประชุมกันอยู่เท่านั้น
หาสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาไม่มี

ในเมื่อฝึกฝนอบรม ให้พิจารณาจนคล่องตัว
จิตก็จะมองเห็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน คือ
เห็นว่าร่างกายนี้ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
เป็นอนัตตาทั้งนั้น"

-:- หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล -:-





"ยามเมื่อวิบัติ จะเห็นใจมิตร
ยามศึกประชิด จะเห็นใจทหาร
ยามให้ทรัพย์สาร จะเห็นใจผู้ซื่อสัตย์
ยามสมบัติพินาศ จะเห็นใจภรรยา"

-:- หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม -:-





"...ในการปฏิบัติ เราอย่าไปเอาปฏิทินมาอ้างเลย อย่าไปท้อแท้เพราะปฏิทิน อย่าไปวุ่นวายเพราะปฏิทิน บางคนก็ดูปฏิทิน โอ!..ปฏิบัติมาหลายเดือนแล้ว ก็ยังไม่ได้อะไร หรือว่าปฏิบัติมาหลายปีแล้ว ยังไม่ได้อะไร ก็ไม่ใช่ว่ามันเป็นไปไม่ได้

เหมือนกันถ้าเรามีความคิดผิดบางอย่าง เพียรเท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล หลวงพ่อชาท่านชอบเปรียบเทียบ เหมือนคนไปตกปลาในหนองที่ไม่มีปลา ขยันหมั่นเพียรเท่าไหร่ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะทำผิดที่ การปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้าเรามีมิจฉาทิฏฐิ มีความอยากได้ อยากมี อยากเป็นอะไรบางอย่าง เป็นได้ว่าจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการปฏิบัติ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นผลในการปฏิบัติ มันเหมือนหมอก มากกว่าฝน อันนี้เป็นคำอุปมา ว่าถ้าเราเดินออกจากบ้านกลางฝน ฝนตกเราก็รู้ทันที เปียกทันที แต่ถ้าเป็นหมอก บางทีเดินมาไกล ก็ไม่รู้สึกตัว กลับถึงบ้านจึงรู้ว่าผ้ามันโชกหมดเลย

มันค่อยเป็นค่อยไป ความเกิดขึ้นของความเจริญงดงามในกุศลธรรม ที่จะเทียบกับเดินกลางฝน ก็มีอยู่เป็นบางครั้งบางคราว แต่ส่วนใหญ่ จะเป็นลักษณะเดินกลางหมอกมากกว่า..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์ท่านพระอาจารย์ชยสาโร

- จากธรรมเทศนาเรื่อง เดินกลางหมอก ณ บ้านบุญ วันที่อาทิตย์ ๔ กันยายน ๒๕๕๔ อ.ปากช่อง จ. นครราชสีมา








"...จะตัดบาปตัดกรรมไม่มีวิธีอื่น เราต้องทำจิตให้สงบ ถ้าจิตเราไม่สงบแล้วมันก็ไปก่อกรรม ก่อภัย ก่อเวร พอจิตเราสงบแล้วมันก็ไม่มีกรรม ความชั่วทั้งหลายไม่มี มีแต่ความสุขความสบาย

เราต้องการความสุขความสบาย จะไปหากับทรัพย์สมบัติไม่มีหรอก มีแต่ที่ใจเราสงบ พอใจเราสงบแล้ว มันได้รับความสุขความสบาย..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร





"...พวกท่านทั้งหลายแสดงความสนใจในการบำเพ็ญภาวนา ก็พากันบำเพ็ญภาวนาไป ไม่ต้องไปห่วงไปสนใจกับวัตถุมงคล อันเป็นของภายนอกนี้

แต่สำหรับ ผู้มีจิตใจเพลิดเพลินอยู่ ยังยินดีในการเกิดตาย ในวัฏฏสงสาร ยังไม่สามารถ หันมาสู่การปฏิบัติธรรมได้ ก็ให้อาศัยวัตถุภายนอก เช่นวัตถุมงคลนี้ เป็นที่พึ่งไปก่อน อย่าไปตำหนิติเตียนอะไรเลย

ครั้นเขาเหล่านั้นประสบเหตุเภทภัยมีอันตรายแก่ตน และเกิดแคล้วคลาดด้วยคุณแห่งพระรัตนตรัยก็ดี โดยบังเอิญก็ดี ก็จะเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ในภายหลัง ซึ่งจะเป็นเหตุให้เจริญงอกงามในทางที่ถูกต้องได้เอง..."

โอวาทธรรมคำสอน..
องค์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล





ทำไมทำดีแล้วจึงไม่ได้ดี

คุณขีด : กระผมอยากทราบเรื่องกฎแห่งกรรมเพราะเป็นกุญแจของบุญและบาป คนที่ไม่รู้จักบุญและบาปก็เพราะไม่รู้จักกฎแห่งกรรม บางคนไม่เชื่อว่าบุญมีจริงบาปมีจริง แล้วบางทีทำบุญกลายเป็นได้ผลบาป ทำบาปกลายเป็นผลดี ทั้งนี้เป็นเพราะว่าไม่ทราบชัดในเรื่องกฎแห่งกรรม เพราะฉะนั้นกระผมอยากให้หลวงพ่อสมเด็จได้โปรดขยายกฎแห่งกรรมให้กว้างขวาง ให้เป็นที่รู้ชัดสักหน่อยครับว่ามีกฎอันแท้จริงอย่างไร

สมเด็จโต : กฎแห่งกรรมนี้เป็นสิ่งที่ละเอียดมาก ก็เปรียบเสมือนหนึ่งธรรมชาติของการเติบโตของผลไม้ตามฤดูกาล กรรมที่ท่านสร้างในอดีตภพย่อมนำมาสู่ท่านในปัจจุบันภพ ฉันใดก็ฉันนั้น ทีนี้กรรมเหล่านั้นที่ท่านทำไปแล้วแต่ท่านลืมไปเพราะอะไรเล่า เพราะว่ามนุษย์ที่ยึดว่าทำไมทำดีจึงไม่ได้ดี เพราะมนุษย์ผู้นั้นไม่โปร่งในขั้นสมุฏฐานของเหตุและปัจจัย

ถ้าท่านหว่านพืชชนิดใดลงดิน พืชชนิดนั้นจะขึ้นตามเหล่ากอของพืชพันธุ์นั้น กรรมใดที่ท่านสร้างมาในภพที่ท่านลืมไปแล้ว แต่กรรมนั้นยังตามเสวยตามภพชาติต่างๆ อยู่ ยกตัวอย่าง ซึ่งเปรียบง่ายๆ สมมติว่าเมื่อสองปีก่อนท่านได้ฆ่าคนตายในที่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แล้วท่านหนีไปอยู่ที่หนองคาย (เปรียบเหมือนท่านฆ่าคนตายในภพก่อน แล้วมาเกิดใหม่ในภพนี้) เรียกว่าท่านเกิดภพนี้ทั้งที่เป็นคนเดิม คือ จิตวิญญาณเดิมจากภพก่อน แต่มาอยู่ภพนี้หรือเมืองนี้

ในขณะที่ท่านหนีจากกรุงเทพฯ (ภพก่อน) ไปอยู่หนองคาย (ภพนี้) เกิดสำนึกผิดขึ้นมา จึงถือศีลทำบุญให้ทาน เป็นมิตรกับชาวบ้านที่หนองคาย ชาวบ้านที่หนองคายก็ยกย่องสรรเสริญว่าท่านเป็นคนดีมีศีลธรรมน่าเคารพนับถือ แต่กรรมที่ท่านสร้างไว้คือฆ่าคนตายที่กรุงเทพฯ เมื่อสองปีก่อนนั้น ชาวบ้านที่หนองคายไม่รู้กับท่านด้วย และตำรวจ (กรรม) นั้นก็กำลังตามหาท่านอยู่ เปรียบเสมือนการตามของภพของกรรมไปถึงที่นั่น

แม้ว่าท่านกำลังถือศีลถืออุโบสถอยู่ในโบสถ์ หรือแม้ว่าบางคนมาบวชเป็นพระเพื่อหนีคุกหนีตารางก็ตามที เมื่อตำรวจสืบพบเจอตัวท่าน แม้จะอยู่ที่วัดถือศีลหรือบวชเป็นพระอยู่ ตำรวจก็จับท่านทันทีเพื่อไปลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง คนที่หนองคายแถวที่ท่านอยู่ย่อมไม่พอใจ หรือด่าทอตำรวจที่มาจับคนดีที่ถือศีลในอุโบสถอยู่ ก็เหมือนกรรมที่ไม่ดีที่ตามมาทันท่านตอนที่ท่านกำลังทำดี ทำให้ท่านคิดว่าทำไมทำดีแล้วจึงไม่ได้ดี กลับพบเจอและได้รับแต่สิ่งที่ไม่ดี ท่านอาจลืมกรรมที่ท่านทำไว้ในภพชาติก่อนแล้ว เพราะมันผ่านมานานแล้ว ข้ามภพข้ามชาติมาจนจำไม่ได้ว่าทำกรรมไม่ดีอะไรไปบ้าง จึงทำให้คิดว่าภพนี้ชาตินี้ทำแต่ความดี แล้วทำไมไม่ได้ดี

คล้ายกันกับคนทำชั่วหรือทำไม่ดีในปัจจุบัน แต่กลับได้ดิบได้ดี เพราะภพชาติก่อนเขาเคยทำดีไว้ แล้วกรรมดีนี้ตามมาทันและส่งผลให้เขาได้ดิบได้ดี แม้ในขณะปัจจุบันเขากำลังทำกรรมไม่ดีอยู่ก็ตามที เพราะเป็นกรรมคนละส่วนกับกรรมเก่าที่เขาทำดีในภพชาติก่อน ส่วนกรรมใหม่ที่เขาทำไม่ดีในขณะนี้ยังไม่ส่งผล ต้องรอให้ผลในกาลต่อไป เปรียบเหมือนเราเพิ่งปลูกข้าวดำนาเสร็จ จะให้กล้าในนาออกดอกออกรวงข้าวในวันนี้หรือพรุ่งนี้เลยย่อมเป็นไม่ได้ จะต้องรอเดือนรอเวลาจนกว่าต้นกล้าจะครบกำหนดที่จะออกรวงให้ผลิตผลเป็นเมล็ดข้าว จึงจะเก็บเกี่ยวได้ ฉันใดก็ฉันนั้น กฎแห่งกรรมก็เช่นเดียวกันกับกฎธรรมชาติ

เช่น การปลูกพืชปลูกต้นไม้ชนิดต่างกัน ย่อมต้องจะรอการออกดอกออกผลเป็นเวลาไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นไปตามพันธุกรรมของพืชชนิดนั้นๆ ที่จะใช้เวลาไม่เท่ากันนานเป็นเดือนหรือนานเป็นปีจึงจะให้ผล เช่น ปลูกพริกย่อมให้ผลิตผลเร็วกว่าปลูกมะม่วง ปลูกข้าวย่อมให้ผลเร็วกว่าปลูกมะพร้าว เป็นต้น เช่นเดียวกันกับผลของกรรมแต่ละชนิด กรรมหนักกรรมเบา มีเจตนาหรือไม่เจตนา เป็นต้น จึงให้ผลกรรมหนักเบาต่างกันต่างเวลาตามเหตุปัจจัย

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งละเอียด กฎแห่งกรรมคือกฎแห่งธรรมชาติ ย่อมทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ท่านสร้างกรรมดีไว้ในปัจจุบันนี้ กรรมนั้นอาจจะให้ท่านเสวยผลในภพอีกภพหนึ่งก็ได้ เพราะว่ามันเป็นกงล้อแห่งกงกรรมกงเกวียนที่จะแยกแยะออกมา ชาติไหน ชาติอะไร ชาติโน้น ชาตินี้ เป็นสิ่งยาก เพราะว่ามนุษย์เราแต่ละคนที่เกิดมาในปัจจุบันชาตินี้ เกิดมาเป็นร้อยๆ พันๆ ภพชาติเป็นกงกรรมกงเวียนที่ทับถมทั้งดีและชั่ว โดยเจ้าตัวก็แยกแยะไม่ออก

ยกตัวอย่างง่ายๆ เสมือนหนึ่งท่านคิดตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น พอตกเย็นท่านมานั่งทบทวน ท่านก็แยกแยะทบทวนไม่ค่อยออกว่าเวลาไหนท่านมีอกุศลอารมณ์ เวลาไหนมีโทสจริต เวลาไหนมีเมตตาจิต เพราะว่าการเคลื่อนไหวแห่งจิตวิญญาณนี้เร็วยิ่งกว่าอณูปรมาณูทั้งหลาย เร็วยิ่งกว่าปรอท เพราะฉะนั้นจึงแยกได้ว่า ท่านสร้างกรรมใดไว้ ท่านย่อมจะต้องเสวยกรรมนั้นในภพชาติแน่นอน
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Bing [Bot] และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO