นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน ศุกร์ 19 เม.ย. 2024 5:29 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
 หัวข้อกระทู้: อาหารเจริญธรรม
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 11 พ.ค. 2018 5:58 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4532
"ได้อะไร ก็ไม่เหมือนกับได้ปล่อย ได้วาง ได้ปล่อย ได้วางมันจะเบา ปวดอุจจาระ ปัสสาวะ ถ้าได้ปล่อยออก ก็เบาสบาย ผิดหวังมาเป็นเดือนๆ ก็ไม่ปล่อย ไม่วาง รู้จักว่า มันทุกข์อยู่ เหมือนกับหนอน อยู่กับของเน่า แต่ไม่เบื่อความเน่า อยู่กับทุกข์ แต่ไม่เห็นทุกข์ อยู่กับทุกข์แต่ไม่รู้จกปล่อยวาง"

หลวงพ่อจันมี อนาลโย
วัดป่าแก้งใหม่ อ.สังคม จ.หนองคาย





คติธรรม คำสอน
หลวงพ่อสมบูรณ์ กนฺตสีโล
วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖
ตรงกับวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๑

"ทุกอย่างเกิดขึ้นก็ดับไป
ความเศร้าโศกเสียใจเกิดขึ้นก็หายไป
เตรียมตัวไว้ ทำใจให้ยอมรับความเป็นจริง
ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งสมมติเป็นทุกข์มาก"





ถ้าเราทำจิตใจให้อยู่กับ
"พุทโธ"
นานๆ เข้า หลายๆ วัน
หลายเดือน เป็นปีขึ้นไป
ทีหลังก็จะติด ไปไหนใจก็พุทโธๆ
อยู่เรื่อย ใจก็ติด แน่ะ

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท





ความคิดมันเกิดขึ้น ความคิดมันดับไป

เราไม่ต้องไปพูด ความจริงมันเป็นอย่างนั้น คนเกิด ไม่ต้องพูดว่าคนเกิด มันก็เกิดได้ คนแก่ไม่ต้องพูดว่าคนแก่ มันก็แก่ได้ คนตายไม่ต้องพูดว่าตาย มันก็ตายกันทั้งโลก

ของจริงจะพูดหรือไม่พูด ของจริงมันก็เป็นไปอย่างนั้น

ทำไม? มันเกิดอยู่ไม่หยุด ๆ ๆ มันเกิดมาจากจิตอันเดียวนี้ มันมาตั้งแต่เกิด มันก็ยังไม่หมดเป็น

ดูลงไปที่จิต เพ่งเข้าไปที่จิต ๆ ๆ เพราะมันเกิดจากที่นี่ทั้งนั้น

ตัวหลงก็จิตตัวนี้หลง

ทำไม จิตจึงหลง ? เพราะ จิตไม่เห็นตัวจิต

ความโลภ ความโกรธ ความหลง มันเกิดจากจิตตัวนี้

ถ้าจิตมันเห็นจิตชัดแล้ว ความโลภ ความโกรธ ความหลง จะไม่มีในจิต เพราะ ธรรมชาติจริงๆ จะไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่เราไม่เห็นจิตของเราชัด

หลวงปู่แบน ธนากโร
วัดดอยธรรมเจดีย์ ม. 3 ตำบลตองโขบ กิ่งอ.โคกศรีสุพรรณ สกลนคร





พระพุทธเจ้าท่านให้ละ "ความคิดที่เป็นบาป" แล้ว ก็ให้ละ "ความคิดที่เป็นบุญ"

อาการของจิต ในส่วนของกุศล ส่วนอกุศล เป็นสังขารทั้งหมด จะสมมุติว่าเป็นบุญ หรือ สมมุติว่าเป็น บาป จะสมมุติใดๆ

ก็สมมุติมาจากการเคลื่อนไหวจาก ความคิดของใจทั้งนั้น

พระพุทธเจ้าท่านให้ละความคิดที่เป็นบาป เป็นอกุศล แล้ว ก็ให้ละความคิดที่เป็นบุญ เป็นกุศล

ถ้าไปยึดติดในกองกุศล ในกองบุญ ในความดี ก็ยังยึดติด ในกองสังขารนั้นอยู่

พระพุทธเจ้าท่านละได้ทั้งสังขาร ที่เป็นบาป และ สังขารที่เป็นบุญ

อารมณ์ที่เป็นกุศล อารมณ์ที่เป็นอกุศล ถ้ายังค้างอยู่ในจิตในใจ อันนั้นก็เป็นอารมณ์ของใจ อารมณ์ที่เป็นกุศล ก็ให้ปล่อยวางอารมณ์ที่เป็นกุศลนั้นเสีย

หลวงปู่แบน ธนากโร
วัดดอยธรรมเจดีย์ ม. 3 ตำบลตองโขบ กิ่งอ.โคกศรีสุพรรณ สกลนคร






“อย่าไปสร้างบาปกรรม มาทับถมตนเอง”

..เราชอบเห็นสิ่งอื่นนะเป็นของดี รักคนอื่นยิ่งกว่าตนเอง รักของอย่างอื่นยิ่งกว่าตัวตน ซึ่งโลกเขาสมมุติ หรือนิยมกัน แต่ในด้านธรรมะ ท่านอยากให้เห็นไปตามหลักธรรมชาติ หรือหลักความจริงอันนี้ แต่จิตใจของเรา มีแต่อยากดึงออกไปภายนอกเรื่อยไป เพราะว่าจิตใจ ยังไม่รู้จักหน้าจักหลัง แล้วก็ไปสร้างบาปสร้างกรรมเข้ามา บาปกรรมนั้นก็จะมาทับมาถมอยู่นี่ เมื่อร่างกายนี้แตกสลายไป หอบหนักเลยนะ จะหาบหรือจะคอน หรือจะอะไรก็ไม่รู้ โน้นหละ จึงจะรู้สึกตนเอง..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง เราลืมเจตนาดั้งเดิม





“พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์”

..ฉะนั้น ท่านจึงห้ามไปกราบไปไหว้ ไปเคารพนบนอบสิ่งอื่น จิตใจเราจะแบ่งไปหลายทาง ให้ยึดถือเฉพาะในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อันนี้เพื่อแก้ไขจิตใจของเรา หมายความว่าให้ได้ผลในด้านจิตใจ ถ้าจิตใจไปยึดไปหมายสิ่งนั้น สิ่งนี้ ทำให้จิตใจแยกแยะไปหลายทาง ก็เลยรวมมาเป็นจุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ ไม่ค่อยมีกำลัง ฉะนั้น ท่านจึงไม่อยากให้ยึดถือของที่ต่ำกว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร





“มองทุกคนให้เป็นเหมือนเด็กทารก”

การแผ่เมตตานี้ไม่ได้ทำเพื่อคนอื่นนะ ทำเพื่อใจของเรา ดับไฟคือความโกรธที่ร้อนเป็นไฟอยู่ในใจ ถ้าเราให้อภัยได้ใจเราใจเย็นทันที เหมือนเวลาเกิดไฟลุกนี้เราเอาน้ำมาฉีด พอไฟดับปั๊บมันก็เย็น ช่วงที่ไฟลุกนี้มันร้อน แล้วการที่เราสวดบทแผ่เมตตาเป็นการเจริญปัญญาขั้นที่สอง ปัญญามีสามขั้น ขั้นที่หนึ่ง ก็คือการศึกษาจากผู้อื่น เช่นตอนนี้เรากำลังศึกษาจากผู้อื่น เรากำลังศึกษาด้วยการฟัง อันนี้เรียกว่า สุตตมยปัญญา การเรียนรู้ด้วยการฟังด้วยการศึกษา แล้วเราก็นำเอาสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังนี้ไปรักษาต่อไม่ให้มันลืม วิธีที่จะไม่ให้มันลืมก็ต้องไปทบทวนอยู่เรื่อยๆ ไปทำการบ้าน เห็นไหมเวลาเราไปเรียนหนังสือนี่อยู่ในห้องเรียนเราก็ฟังจากครูจากอาจารย์ เสร็จแล้วครูอาจารย์ก็ยังบอกให้เรากลับมาทำการบ้าน เพราะว่าเดี๋ยวจะลืมถ้าไม่ได้ทำการบ้าน ให้มาทบทวนจะได้ไม่ลืม ฟังแล้วเดี๋ยวลืมได้ถ้าเราไม่ไปคิดทบทวนไม่ไปคิดต่อ

ชาวพุทธเราท่านถึงสอนให้เราสวดบทแผ่เมตตากัน เพื่อกันลืมไม่ใช่อะไรหรอก เพื่อให้ไม่ลืม เพื่อให้รู้ว่าเราต้องให้อภัยเวลาที่เราโกรธใครเกลียดใครอาฆาตพยาบาทใคร เพราะการโกรธเกลียดอาฆาตพยาบาทนี้มันไม่ดี มันทำให้ใจเราทุกข์กัน ไม่ใช่คนที่เขาทำให้เราโกรธเกลียดที่ทำให้เราทุกข์ ต่อให้ใครเขาทำให้เราโกรธเท่าไหร่ ถ้าเราไม่โกรธซะอย่าง ไม่เกลียดซะอย่าง ไม่อาฆาตพยาบาทซะอย่าง ใจเราจะไม่เดือดร้อน ใจเราใจเย็นจะเฉย ใครจะด่าก็เฉย ใครจะทุบตีก็เฉย ใครจะทำร้ายก็เฉย อันนี้แหละต้องเอาไปปฏิบัติทำใจให้เฉยให้ได้ แล้วเราจะไม่มีความทุกข์ใจที่เกิดจากการกระทำของผู้อื่น ผู้อื่นจะพูดหรือจะกระทำอะไรเราจะเฉยเราจะให้อภัยเสมอ ถ้าเราให้อภัยเป็นแล้วใจเราจะเย็นเสมอ นี่คือการปฎิบัติ จะปฏิบัติได้ก็ต้องทำการบ้าน ต้องสวดต้อง ความจริงมันไม่ควรจะสวดเพราะสวดแล้วเป็นเหมือนนกแก้วกัน สวดแล้วไม่เข้าใจความหมาย สวดไปก็เป็นเหมือนนกแก้ว แก้วมันร้องแก้วจ๋าๆ แต่มันไม่รู้ว่าแก้วเป็นอะไร เวลาให้แก้วกับกล้วยมัน มันก็จะเอากล้วยทุกทีมันไม่เอาแก้ว แก้วจะวิเศษขนาดไหนมีราคาแพงขนาดไหนมันก็ไม่เอา มันเอากล้วย ถ้าพวกเราเอาแต่สวดอย่างเดียวโดยไม่เข้าใจความหมาย เวลาโกรธขึ้นมามันก็จะโกรธอย่างเดียว มันจะไม่ให้อภัย เพราะเราสวดแบบไม่เข้าใจว่าการแผ่เมตตานี้แผ่อย่างไร การให้อภัยการไม่จองเวรทำอย่างไร ก็คือการไม่ถือสาไม่เอาเรื่องเอาราวใคร เราลองเปรียบเทียบดูสิ ทำไมคนบางคนเขาทำอะไรเราไม่ถือสาเขา เด็กเล็กนี้ เด็กที่เราเลี้ยง ลูกหลานตัวเล็กๆ ไม่รู้ประสีประสาเขาทำอะไรนี้เราไม่โกรธเขาใช่ไหม เขาจะขับจะถ่ายจะเยี่ยวตรงไหนเราก็ไม่ไปโกรธเขา เพราะอะไร เพราะเรารู้ว่าเขาไม่รู้ประสีประสา

ฉะนั้นเราก็มองคนทุกคนเหมือนกับเด็กทารกสิ คนที่เขาทำอะไรผิดนี่แสดงว่าเป็นคนที่ไม่รู้ประสีประสา ไม่รู้ผิดถูกดีชั่ว ไม่รู้ว่าอะไรควรไม่ควร เช่นการไปทำร้ายผู้อื่น การไปกล่าวร้ายผู้อื่นนี้เป็นการกระทำที่ไม่ควรกระทำกัน ถ้าทำก็แสดงว่าไม่รู้ประสีประสา หรือถ้าพูดแบบชาวบ้านก็คือพ่อแม่ไม่สั่งสอน ไม่มีใครสั่งสอนไม่ให้ไปกล่าวร้ายผู้อื่นไม่ให้ไปทำร้ายผู้อื่น คำสอนพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ ห้ามเบียดเบียนผู้อื่นด้วยการกระทำทางกายหรือการกระทำทางวาจา เบียดเบียนก็คือการทำร้ายผู้อื่นด้วยการพูดหรือด้วยการกระทำ เช่นการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดประเวณี การพูดปด การพูดผรุสวาท พูดส่อเสียด อันนี้เป็นการกระทำที่คนโตแล้วจะไม่ทำกันพูดง่ายๆ แต่เด็กนี่มันยังไม่ได้เรียนรู้ไม่มีใครสอนก็จะทำกัน ดังนั้นถ้าเรามองเขาว่าเขาเป็นเหมือนเด็กทารกที่เราต้องให้ความเมตตาเอ็นดู ไปตีเขาเขาก็ไม่รู้เรื่องอะไร ต้องสอนเขาก่อน สอนเขาแล้วต่อไปถ้าเขายังจำไม่ได้ ก็ต้องตีเขาเพื่อเตือนความจำเวลาที่เขาทำผิด แต่ตีไม่ได้ตีเพื่อด้วยความอาฆาตพยาบาท ตีเพื่อสอน เด็กบางทีถ้าไม่ตีก็จะไม่รู้เรื่อง ก็ต้องตีหรือไม่เช่นนั้นก็ต้องมีมาตรการทำให้เขาเข้าใจว่าทำไม่ได้ สิ่งที่เขาทำนั้นมันเสียหาย มันไม่ถูกต้อง

อันนี้คือเรื่องของการศึกษาแล้วก็นำเอาไปทบทวนทำการบ้าน ไปซ้อมไปสมมติก่อน เราต้องสมมุติว่าถ้ามีใครมาด่าเรา มีใครมาทำร้ายเรากลั่นแกล้งเรา เราให้อภัยเขาได้หรือเปล่า ทำการบ้านไปก่อน คิดไว้ก่อน ซ้อมไว้ก่อน เรียกว่าปัญญาขั้นที่สอง ปัญญาที่ใช้ความคิดทดสอบใจดู ทดสอบใจเราเองว่าเราให้อภัยได้หรือเปล่า อันนี้เรียกว่า จินตามยปัญญา ปัญญาขั้นที่สอง คือเราต้องหมั่นทำการบ้าน หมั่นแผ่แมตตาด้วยการคิดภายในใจว่า เดี๋ยวคนนั้นจะมาด่าเราแล้ว เราจะให้อภัยเขาได้หรือเปล่า คนนั้นเขาจะมาทำร้ายเราแล้ว เราจะให้อภัยเขาได้หรือเปล่า คิดถึงคนที่เรารู้ว่าเขาไม่ชอบเราดูสิ แล้วก็คิดว่าถ้าเขามาด่าเราเขามาทำร้ายเรา เราให้อภัยเขาได้หรือเปล่า ถ้าเราให้อภัยไม่ได้ใจเราก็จะทุกข์ ถ้าเราให้อภัยได้ใจเราจะไม่ทุกข์ เราต้องการอะไร ถาม ชีวิตของเราเราต้องการความสุขหรือต้องการความทุกข์กัน ไม่มีใครต้องการความทุกข์กัน แล้วเราทำไมมาผลิตความทุกข์กันทำไม ความทุกข์มันเกิดจากการผลิตของเรานะ มันไม่ได้เกิดจากผู้อื่นเขามาผลิตให้เรา มันเกิดจากเราไปผลิตความทุกข์ขึ้นมาเอง ด้วยความอาฆาตพยาบาท ความโกรธ.

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๑

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






“ปัญญาสอนใจ”

เราจึงต้องเอาปัญญามาสอนใจเพื่อมาแก้ความหลง เวลาเห็นอะไรต้องเห็นว่ามันเป็นทุกข์ไม่ใช่เป็นสุข เพราะอะไร เพราะว่ามันไม่เที่ยง เวลาได้อะไรมา ใหม่ๆ มันก็สุข แต่เดี๋ยวสักระยะหนึ่งมันก็เปลี่ยนไป มันเสื่อมไป มันเสียไป ความสุขนั้นก็กลายเป็นความทุกข์ขึ้นมา มันไม่เป็นของเรา เราไม่สามารถไปสั่งมันไปบังคับมันให้มันเป็นไปตามความต้องการของเราได้ เวลามันจะเปลี่ยนมันก็จะเปลี่ยน เวลามันจะเสื่อมมันก็เสื่อม เวลาจะเสียมันก็เสีย เวลามันจะจากเราไปมันก็จะจากเราไป นี่คือความรู้ที่เราไม่มีกัน เราไม่มองแบบไตรลักษณ์ เรามองเพียงแต่เห็นว่าดี อยากได้ ชอบ ได้มาแล้วมีความสุข จะเห็นเพียงเท่านี้ จะไม่เห็นว่ามันเสื่อมมันต้องเปลี่ยน แล้วเราไปบังคับไปห้ามมันไม่ได้เวลาที่เขาเปลี่ยนไปเวลาที่เขาเสื่อมไป นี่เป็นปัญญา ปัญญาที่จะสอนใจไม่ให้หลงกับสิ่งต่างๆ.

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๖๐

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





"อย่าไปกลัวและอย่าไปคาดหวัง"

เพราะความกลัวเวลาที่มันจะวูบ กลัวว่าจะเป็นเหมือนกับหน้ามืด สลบไสลหรือเป็นอะไรไป ความกลัวนี้มันเลยจะทำให้ไม่กล้าที่จะนั่งสมาธิต่อไป แต่ความจริงการที่จิตจะวูบนี้มันจะเข้าสู่ความสงบ พอมันวูบแล้วมันจะสบาย มันไม่เป็นอะไรหรอก มันจะสุข จะสบาย จะนิ่ง จะเบา จะขึ้นสวรรค์ ดังนั้นไม่ต้องไปกลัว อย่าไปสนใจมันจะวูบไม่วูบ ขอให้เราอยู่กับอารมณ์ที่เราใช้ภาวนาก็แล้วกัน อยู่กับพุทโธก็พุทโธไป อยู่กับลมก็ดูลมไป อย่าไปสนใจกับอาการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะมีหลายรูปแบบด้วยกัน บางทีเกิดขนลุกซ่าขึ้นมา น้ำตาไหล เกิดแสงสว่างขึ้นมา อะไรต่างๆ เหล่านี้ มันยังไม่ใช่เป็นผลสุดท้ายที่เราต้องการ ผลสุดท้ายก็คืออยากจะให้มันวูบแล้วก็นิ่งสบาย เหมือนยกภูเขาออกจากอกไป เบาอกเบาใจ เหมือนกับขึ้นสวรรค์ทั้งเป็น ถ้ายังไม่ถึงตรงนั้น ก็ให้อยู่กับการภาวนาต่อไป อยู่กับพุทโธต่อไป อยู่กับลมหายใจต่อไป ไม่ต้องไปกลัวเรื่องวูบ เรื่องวูบนี้ไม่เป็นปัญหา ไม่เป็นพิษเป็นภัย หรือบางคนดูลมหายใจก็ดูไปจนกระทั่งรู้สึกว่าลมหายใจหมดไป ก็รู้สึกตกใจกลัว กลัวว่าไม่มีลมหายใจแล้วจะตาย ไม่ตายหรอก ลมมันละเอียด มันละเอียดจนที่เราไม่สามารถจะจับลมได้ ก็อยู่กับความว่างไป อยู่กับการไม่มีลมไป ให้สักแต่ว่ารู้ไป แล้วเดี๋ยวมันก็จะวูบเข้าสู่ความสงบเอง

นี่คือการเข้าสู่สมาธิของใจ ไม่มีอะไร ไม่มีพิษไม่มีภัยอะไร ไม่มีใครตายจากการนั่งสมาธิกัน มีแต่จะบรรลุมรรคผลนิพพานกันจากการนั่งสมาธิ ดังนั้น อย่าไปกลัว ขอให้เราภาวนาไป ทำใจไม่รู้ไม่ชี้ถึงผลที่จะเกิดขึ้น มันจะวูบก็ปล่อยมันวูบไป อย่าไปเกร็ง อย่าเล็ง อย่าไปคาด ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้อยู่กับพุทโธไป อยู่กับลมหายใจไป แล้วแต่ว่าเราจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือผูกใจ เราก็อยู่กับสิ่งนั้นไป แล้วผลมันเกิดขึ้นมาก็ปล่อยมันเกิดขึ้นไป.

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





บางคนจะทำบุญแต่ละที ก็คอยแต่จะให้มีเงินมากๆเสียก่อน เลยไม่ได้ทำสักที เห็นคนอื่นทำก็ออนซอน* กับท่าน คิดว่าเพิ่นบุญหลายหนอคนไม่รู้จักบุญ บุญไม่ใช่อย่างนั้น การละความชั่ว ละความผิดมันก็เป็นบุญแล้ว การรักษาศีล การเจริญภาวนา การฟังพระธรรมเทศนาทำให้เกิดความเฉลียวฉลาดขึ้นมา เหล่านี้ก็ทำให้เกิดบุญขึ้นได้ แล้วคนเราสมัยนี้เข้าใจว่า การทำบุญ ก็คือการให้ทานเท่านั้น เพราะส่วนมากได้ยินพระท่านเทศน์เรื่อง ทานบารมี ทานอุปบารมี ทานปรมัตถ-บารมี แต่ไม่ได้อธิบายให้เกิดความเข้าใจ
.
คนส่วนมากจึงมักเข้าใจกันว่า การทำบุญคือ การนำเอาสิ่งของไปถวายพระมากๆ คนยากจนก็เลยทำไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจภาษาบาลีดังที่กล่าว
.
ความจริงเรื่องการให้ทาน ท่านแบ่งไว้ ๓ ระดับ คือ การเสียสละสิ่งของภายนอก จัดเป็นทานบารมี การสละอวัยวะ จัดเป็นทานอุปบารมี การสละชีวิต จัดเป็นทานปรมัตถบารมี หรืออีกอย่างหนึ่งว่า ยอมเสียทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตยอมเสียชีวิตเพื่อรักษาธรรม
.
เหล่านี้ถ้าเราเข้าใจก็ไม่มีปัญหา ไม่ว่าคนรวยคนจนก็สามารถทำบุญให้ทานได้ โดยเฉพาะทานที่ไม่ต้องสิ้นเปลืองทรัพย์สินเงินทองคือ อภัยทาน ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ และทานชนิดนี้พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญด้วย ดังนั้นการสร้างคุณงามความดีมีอยู่หลายอย่าง ให้พากันเข้าใจ บางคนคิดว่าการทำบุญให้ทานได้ผลอานิสงส์มาก ก็ทุ่มเทใส่จนหมดเนื้อหมดตัว ไม่รู้เรื่อง
.
ส่วนคนรู้เรื่อง มีขนาดไหนก็ใช้ไปขนาดนั้น มันอยู่ที่การกระทำถ้าทำถูกมันเป็นบุญเป็นกุศลทุกอย่างนั้นแหละ ตัวอย่างเช่น การช่วยเขาขุดบ่อน้ำริมถนน เราผ่านไปก็ได้เห็น เขาทำอะไรก็ช่วยทำ ถามว่าได้บุญไหม ตอบว่าได้ ได้อย่างไร การช่วยเขาขุดบ่อน้ำต่อไปภายหน้าเราก็ไม่ต้องซื้อน้ำ ใครผ่านมาก็ไม่ต้องซื้อกิน เพราะเป็นน้ำสาธารณะให้ความสุขแก่มนุษย์ทั่วๆไป อย่างนี้เป็นต้น
.
อย่างเราอยู่ศาลา ก็ช่วยเขาปัดกวาด เขาถอนหญ้า เราก็ช่วยเขาทำอะไรก็ช่วย ไปอาศัยบ้านเขาอยู่ก็เหมือนกัน จะเป็น ๒ วัน๓ วัน ก็ต้องช่วยเขาทำในสิ่งที่เราทำได้ นี้เรียกว่าบุญ บุญมันอยู่ที่ใจของเรา บ้านไหนมีบุญเรารู้ได้ คนในบ้านรู้จักเคารพพ่อแม่ เคารพผู้เฒ่าผู้แก่ ทำอะไรก็มีความสุข มีความหมาย คนไม่รู้จักบุญก็วุ่นวายอยู่นั่น จะทำบุญแต่ละครั้งต้องฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ฆ่าวัว ไม่รู้จักเสียเลยจริงๆ บุญไม่ลำบากอย่างนั้นนะ ง่ายๆทำไปแล้วสบาย คิดขึ้นมาตอนไหนก็สบายใจ จะอยู่บ้านไหนเมืองไหนก็สบาย ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน ถ้าเข้าถึงธรรมะแล้วเป็นอย่างนั้น
.
หลวงปู่ชา สุภัทโท





“การอนุโมทนา”

ถาม : หากเราทำบุญ เช่น ทำโรงทานหรือร่วมทำบุญสร้างโรงพยาบาล เราสามารถบอกบุญให้ครูบาอาจารย์อนุโมทนาได้ไหมครับ จะเป็นการสมควรไหม ผมกลัวจะเป็นการนำมะพร้าวห้าวไปขายสวนหรือเปล่าครับ

พระอาจารย์ : อ๋อ ไม่ต้องไปยุ่งกับใครหรอก เราทำบุญของเรา เราก็ทำไป ไม่ต้องไปขอให้คนนั้นเขาอนุโมทนา การอนุโมทนานี้เป็นเรื่องเวลาที่มัน เขารับรู้ขึ้นมา แล้วเขาก็แสดงความยินดีกับการทำบุญของเรา ไม่ใช่ไปประกาศชาวบ้าน บอกวันนี้ผมไปทำบุญที่วัด ขอให้ชาวบ้านช่วยอนุโมทนากับผมด้วย นี่ไม่ใช่ นี่ไม่ใช่เรื่องของการอนุโมทนา การอนุโมทนาเกิดขึ้นจากการที่เรา สมมุติว่า คนๆ หนึ่งเขาเอาเงินไปทำบุญกับอีกคนหนึ่ง เขาไม่มาทำบุญกับเรา พอเรารู้นี่ เราต้องรีบอนุโมทนา อย่าไปโกรธเขา ส่วนใหญ่มันจะไปโกรธเขาถ้ามันไม่มาทำกับเรา ไปทำกับเขา อย่างนี้ นี่วิธีอนุโมทนา เพื่อจะได้แก้ปัญหาความรู้สึกไม่ดีที่เกิดจากเรา เกิดจากความอิจฉาริษยาของเรา เวลาคนอื่นเขาได้ดิบได้ดี เราไม่ได้ดิบได้ดี เราก็อิจฉาเขา เราควรแก้ด้วยการอนุโมทนาชื่นชมยินดีกับการได้ดิบได้ดีของเขา เข้าใจไหม ไม่ใช่ว่าพอทำบุญไป กลับบ้านมาก็บอกคนโน้นบอกคนนี้ แล้วก็ให้เขาอนุโมทนา เขาไม่รู้อิโหน่อิเหน่กับเราสักหน่อย เขาก็ไม่รู้ว่าอนุโมทนาแล้วเขาจะได้อะไรขึ้นมา เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เป็นการไปป่าวประกาศบอกคนนั้นคนนี้ แต่เป็นเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น แล้วจะเกิดความรู้สึกไม่ดี เราก็จะแก้ด้วยการอนุโมทนา เช่น แม่ให้เงินพี่สาว แทนที่จะให้เราอย่างนี้ เราก็อนุโมทนาไปกับแม่ว่า แม่ได้ทำบุญกับพี่สาว อย่าไปโกรธแม่เพราะแม่ไม่ให้เงินเรา อย่างนี้เข้าใจไหม.

สนทนาธรรมบนเขา

วันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต






“ต้องให้มีความเพียร”

..ฉะนั้น หลักการของท่าน จึงอยากให้มีความสงบ ให้มีสติ สังวรระมัดระวัง ดูจิตใจตัวเองให้รู้จักเรื่อง จนกว่าจิตใจจะลงสู่ธรรมะ หดจากอารมณ์ต่าง ๆ รวมลงเป็นสมาธิได้ สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ของเหลือวิสัยอะไรนะ ของง่าย ๆ แต่เราว่ายากเฉย ๆ เพราะว่า ใช้เวลานาน กว่าจะเป็น กว่าจะได้ เราก็เลยว่ายาก ใครจะว่าไม่ยาก อย่างการเรียนหนังสือนี้ ถามดูซิ คนเฒ่าคนแก่ ที่ไม่รู้หนังสือ จะมาเรียนหนังสือใหม่ ก็ยากอย่างยิ่ง แต่ถ้าเราเรียนได้แล้ว ก็เลยไม่ยาก เขียนก็ไม่ยาก พูดก็ไม่ยาก ถ้าทำใหม่ ๆ มันยากทุกอย่างนั้นหละ แต่ถึงยากก็ตาม ท่านจึงไม่ให้ลดละความอดทน คือ ขันติธรรม ให้พยายาม ให้มีความพากความเพียร สู้เข้าไปนั้นหละ..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง เราลืมเจตนาดั้งเดิม




“เป็นของไม่เหลือความสามารถ”

..ในเรื่องของโลก การทำเครื่องใช้ของสอย อย่างปัญญาทางโลก เขาทำกันมาเครื่องยนต์กลไกไฟฟ้า เรามาใช้กันอยู่นี้ จะยากขนาดไหน เขาก็ยังทำได้ ผู้ที่ไม่รู้จัก ก็ยากแสนยาก ไม่รู้ว่าจะทำยังไงด้วยซ้ำ ด้านการประพฤติปฏิบัติ ในทางจิตใจ ก็ทำนองเดียวกัน เป็นของไม่เหลือความสามารถ ถ้าเหลือความสามารถ พระพุทธเจ้าพระองค์ไม่มอบมาเป็นมรดกตกทอดให้แก่ผู้คนหรอก เพราะว่าเรื่องเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละคน ทำเวลาไหน ก็ได้เลย เป็น อกาลิโก ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ทำเมื่อไหร่ ก็เห็นเมื่อนั้น เพียงแต่ดำเนินชีวิตเข้าไปถึงนั้น ดำเนินสติเข้าไป เพราะว่าของมีอยู่กับตัวเราอยู่แล้ว ไม่ใช่ของ ได้ซื้อ ได้หา ได้สั่งมาจากประเทศอื่น เป็นของฝัง อยู่ในชีวิตจิตใจอยู่แล้ว อันนี้พูดเป็นประจำ แต่แล้วทำไมจึงจะทำไม่ได้ ปัญหามัน หรือเราไม่เห็นว่า เป็นของดิบของดี เป็นของคู่ชีวิตจิตใจ..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง เราลืมเจตนาดั้งเดิม




“ต้องอาศัยความสงบ”

..สำหรับนักประพฤติปฏิบัติ ต้องสละสลัดแก้ไขใจของเรานี้หละ ให้บริสุทธิ์ได้เท่าไหร่ยิ่งดี แต่ก่อนจะบริสุทธิ์ ก็ต้องอาศัยความสงบเสียก่อน ถ้าไม่สงบ จะไปดู มันไม่ชัดหรอก เหมือนเราจะไปดูของดิบของดี จะไปซื้อของตลาดต่าง ๆ จะวิ่งผ่านเลย จะว่าดูชัดเลย ไม่ได้นะ ดูวัวงามก็ตาม ดูแก้วแหวนแสนสิ่งก็ตาม ของซื้อของขาย ต้องมาพินิจพิจารณาใคร่ครวญดูให้มันชัด จึงรู้จักเรื่อง จะดูพอแล้ว ๆ รีบร้อนพอผ่าน ๆ มันก็ไม่ได้เรื่องเหมือนเดิมนั้นหละ ลักษณะในด้านจิตใจของเราก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีความสงบแล้ว ไม่ดูชัด ๆ พินิจพิจารณาใคร่ครวญให้รู้จักเรื่อง ก็ไม่รู้จักความจริงเหมือนกัน ตกลงก็เลยเป็นแค่เพียงสัญญา ทำให้งงอยู่เรื่อยไป นี้มันเป็นไปอย่างนั้น..

หลวงปู่ศรี มหาวีโร
เทศนา เรื่อง เราลืมเจตนาดั้งเดิม





"ให้ทราบว่าในโลกนี้ ไม่มีแก่นสารอันใด
เกิดมาแล้วก็ต้องตาย เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง
ที่จะเอาได้ ก็เป็นเรื่องของดวงจิตเท่านั้น
ฉะนั้น จึงให้รู้จักทำจิตคลายจากความชั่ว
ความเศร้าหมอง ทำจิตใจให้เป็นบุญ
เป็นกุศล เป็นจิตที่สงบผ่องใส เป็นสมาธิ"

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร





"ธรรมชาติของกิเลสตัณหา"

ถาม : พระอาจารย์ครับ ที่สุดของทุกข์ของพระพุทธเจ้าก็คงเป็นพระราหุล แล้วพระราหุลที่เป็นบุตร ถือว่าเป็นวิบากของพระพุทธเจ้าไหมครับ หรือว่าอย่างไรครับ

พระอาจารย์ : เราก็ไม่เคยคิดว่าพระพุทธเจ้าทุกข์กับพระราหุล เพราะท่านรู้ทันก่อนไง พอรู้ว่าลูกออกมาก็ไม่ไปดู ไม่ไปรับรู้ ไม่ไปยอมเห็นหน้า เพราะรู้ว่าโดยธรรมชาติของกิเลสตัณหานี้ พออะไรเป็นของตนแล้วก็จะรักจะหวงจะห่วง ก็ออกก่อนเท่านั้นเอง ท่านฉลาด ท่านถึงอุทานว่าบ่วงไง บ่วงได้เกิดขึ้นแล้ว คำว่าราหุลนี้แปลว่าบ่วง ลูกชาย พระราหุล จึงมีชื่อว่า พระราหุล แปลว่าบ่วง

ถาม : เพราะดูแล้วตลอดชีวิตท่าน ถ้าจะทุกข์ที่สุดก็ต้องพระราหุล

พระอาจารย์ : พ่อแม่ก็ต้องทุกข์กับลูกมากที่สุด คือรักลูก คือรักสิ่งไหนมากที่สุดก็จะทุกข์กับสิ่งนั้นมากที่สุด เพราะรักแล้วก็อยากจะให้เขาดี พอเขาไม่ดีก็ทุกข์แล้ว พอเขาจากเราไปก็ยิ่งทุกข์ใหญ่ แต่พระพุทธเจ้าท่านฉลาด ท่านรู้ทัน รู้ว่ามีบ่วงมาดักแล้ว เหมือนกวาง กวางที่ฉลาดเห็นบ่วง ก็ไม่ไปเหยียบบ่วง ก็ไม่ติดบ่วงไม่ติดกับ ถ้าไปดูลูกปั๊บเดี๋ยวใจอ่อน เดี๋ยวไปไม่ได้เสียแล้ว มีภาระต้องเลี้ยงลูกแล้ว ห่วงลูกห่วงเมียเสียแล้ว เลยไม่ยอมไปดู หนีไปเลยคืนนั้นไม่บอกใครด้วย ไปแบบเงียบๆ มีคนไปส่งคนเดียว นายฉันนะ อันนี้แหละเป็นนักปราชญ์ จึงทำให้ท่านหลุดพ้นจากวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ โดยที่ไม่มีใครสอน ท่านมีปัญญา มีความฉลาดมาก ท่านรู้ว่าอะไรเป็นอุปสรรค ถ้ารู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่เอื้อต่อการบำเพ็ญ พวกเรานี้ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้ามาสอนมาเป็นตัวอย่างให้เห็นนี้ ไม่มีวันที่จะหลุดได้หรอกขนาดมียังไม่หลุดเลย ยังไม่ยอมหลุดเลย.

ธรรมะบนเขา

วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๖

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต





ให้หมั่นสวดคาถาท่านพ่อลี
"อะระหัง พุทโธ อิติปิโส ภะคะวา นะมามิหัง"
เอาสัก ๓ รอบหรือ ๕ รอบ ถ้าเวลาไม่พอ เอารอบเดียวเป็นนิจศีลนะ เเล้วจึงนั่งสมาธิ๕นาทีหรือกว่านั้น
เเล้วเเต่เวลา เเล้วเเผ่บุญตามเเบบเเล้วจึงค่อยนอนนะ
ความเป็นมงคลกลับมาหาเราหมด ความดีนี้กลับมาหาเราหมด ไปที่ไหนมีเเต่ความสุข

หลวงปู่ฟัก สันติธัมโม
วัดเขาน้อยสามผาน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี





#การอดอาหารนี้_ไม่ได้เพื่อบรรลุธรรม
#การอดอาหารนี้เป็นเครื่องสนับสนุนความเพียร
#และใช้เป็นเพียงเครื่องมือเจริญสติธรรมเท่านั้น
#การอดอาหารเฉยๆโดยไม่สร้างที่เหตุปัจจัย
#คือจิตตภาวนาอย่างนี้_ไม่สามารถบรรลุธรรมได้

เรื่อง "อดอาหารเพื่อเจริญสติธรรม"

(คติธรรม หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด
เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๔๙

๐ หลวงตามหาบัวปรารภถึงเรื่องการอดอาหาร

อดอาหารนี้ไม่ได้เพื่อบรรลุธรรมหรือตรัสรู้ธรรมเพราะอดอาหารนะ การอดอาหารเป็นเครื่องหนุนกำลังความเพียร เช่นพระเรานี้ฉันแต่น้อยสติดีๆ

สติ สำคัญมากในการก้าวเดินความเพียร สติเป็นพื้นเพอันสำคัญมากทีเดียว ทีนี้เวลาเราฉันมากๆ นี้สติค่อยหลุดลุ่ยๆ เผลอบ้างไม่เผลอบ้างแล้วเผลอ ตัดทางนี้เข้าไป ทางนั้นค่อยแหลมเข้าไปๆ สติติดต่อกันไป นั่นแหละที่ท่านทำๆ ท่านอดอาหารอดเพื่อความพียร ไม่ได้อดเพื่อตรัสรู้ด้วยการอดอาหารเท่านั้น บางคนจะไม่เข้าใจ ว่าพระพุทธเจ้าทรงอดพระกระยาหาร ๔๙ วัน ไม่เห็นตรัสรู้

นี่จะเอามายันกันนะ นั่นเพื่อตรัสรู้ด้วยการอดอาหารล้วนๆ อันนี้เพื่อบรรลุหรือตรัสรู้ธรรมด้วยการภาวนา แต่มีการอดอาหารหรือวิธีการอื่นๆ เป็นเครื่องหนุนความเพียรต่างหาก ให้แยกกันอย่างนั้นซี ไอ้พวกตาบอดหูหนวกมันมุทะลุนะ มันไม่ได้ทำแต่มันอวดเก่ง พวกนี้พวกไม่ได้ทำทั้งนั้นละ พวกอวดๆ เก่งๆ นี่น่ะ ท่านผู้ทำท่านไม่ได้อวด ท่านทดสอบของท่านทุกสิ่งทุกอย่าง

เรื่องอดอาหารนี้สำหรับพวกนักภาวนานี้ดีในการหนุนความพากเพียร พออาหารน้อยลงๆ สติจะดีขึ้นๆ สตินี่สำคัญมากทีเดียว ใครอย่าปล่อยนะสตินะ ตั้งแต่พื้นเลย ล้มลุกคลุกคลาน สติไม่ดีล้มลุกคลุกคลาน สติดีค่อยตั้งได้ๆ จนกลายเป็นสติปัญญาอัตโนมัติ จากนั้นก็เป็นมหาสติมหาปัญญา เอา กิเลสมาที่นี่ ตั้งแต่เริ่มสติปัญญาอัตโนมัติ เรียกว่าก้าวเรื่อยเลย ไม่มีถอย พอถึงขั้นมหาสติมหาปัญญาแล้วขาดสะบั้น กิเลสโผล่ไม่ได้เลย








"..กาลเวลาเดือนปี เราอย่าให้ความสนใจมันมาก ให้สนใจการกระทำของตนเองให้มาก ก็เหมือนเราได้เงินเดือนคนละสองหมื่นสามหมื่น แต่มันเก็บเข้ากระปุกแค่ห้าสิบตังค์ ที่เหลือเราเอาไปใช้จ่ายไม่ได้เกิดประโยชน์ เอาไปจ่ายฟรี ไม่เป็นสาระ มันก็มีแต่หมดไปหมดไป เกิดมาเราได้ทำความดีไว้ประมาณเท่าไหร่ให้คำนวณ ถ้ามันยังได้น้อยอยู่ก็ให้เร่งมือเร่งตีนของเราให้เร็ว ๆ เข้า ก่อนจะหมดเวลา
คนเราไม่ใช่มันมีเวลามากนะ ๔๐ ปี ๕๐ ปี ๘๐ ปี ๑๐๐ ปีนี่ไม่ใช่มันมากนะ แต่ว่ามันจะมากจะน้อยมันก็ไม่สำคัญ มันสำคัญอยู่ที่การกระทำ ขวนขวายทำคุณงามความดีมันให้มาก เพื่อความเจริญ เพื่อความสุขของตนเอง ถ้ามีบุญมากอะไรมันก็ง่าย ก็เหมือนเราเก็บเงินเอาไว้มากหละ จะใช้จะซื้อหาอะไรมันก็ง่าย ถ้าไม่ทำบุญ ทำแต่บาปแต่กรรม อะไรมันก็ไม่ง่าย มันเกินเอื้อม มันสุดเอื้อม เอื้อมเท่าไหร่ก็ไม่ถึงแหละ ฉะนั้นคุณงามความดีจึงให้เร่งสั่งสมไว้.."
ธรรมะคำสอน
หลวงปู่โส อาจาโร


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO