นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อังคาร 19 มี.ค. 2024 9:49 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: พุธ 11 เม.ย. 2018 5:20 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4501
๗. นิพพานปัฏฐานปัญหา ๘๔

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ประเทศที่นิพพานตั้งอยู่ มีอยู่ในทิศบูรพา หรือทิศทักษิณ ทิศปัศจิม ทิศอุดร หรือข้างบน ข้างล่าง ด้านขวาง?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ประเทศที่นิพพานตั้งอยู่ ในทิศบูรพาเป็นต้นไม่มี ขอถวายพระพร."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน หากว่าโอกาสที่ตั้งแห่งนิพพานไม่มีไซร้ ถ้าอย่างนั้น นิพพานก็ไม่มี, และนิพพานที่ผู้ใดกระทำให้แจ้งความกระทำให้แจ้งของผู้นั้นก็เปล่าซิ. ข้าพเจ้าจะกล่าวเหตุในข้อนั้น; นาเป้นที่ตั้งขึ้นแห่งธัญชาติมีอยู่ ดอกไม้เป็นที่ตั้งขึ้นแห่งกลิ่นมีอยู่ กอไม้เป็นที่ตั้งขึ้นแห่งดอกไม้มีอยู่ ต้นไม้เป็นที่ตั้งขึ้นแห่งผลไม้มีอยู่ บ่อเกิดรัตนะเป็นที่ตั้งขึ้นแห่งรัตนะมีอยู่ บุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง ปรารถนาของใด ๆ ในที่ทั้งหลายนั้น บุคคลนั้น ไปในที่ทั้งหลายนั้น นำของนั้น ๆ มาฉันใด; ถ้าว่านิพพานมีอยู่ แม้โอกาสเป็นที่ตั้งขึ้นแห่งนิพพานนั้นใคร ๆ ต้องปรารถนา ฉันนั้น. เพราะเหตุซึ่งโอกาสเป็นที่ตั้งขึ้นแห่งนิพพานไม่มี ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า 'นิพพานไม่มี'ดังนี้, และนิพพานอันผู้ใดกระทำให้แจ้ง ความกระทำให้แจ้งแม้ของผู้นั้นก็เปล่า"
ถ. "ขอถวายพระพร โอกาสเป็นที่ตั้งแห่งนิพพานไม่มี, แต่นิพพานนั้นมีอยู่, บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานโดยโยนิโสมนสิการ. ขอถวายพระพร ธรรมดาไฟ ย่อมมีอยู่โอกาสที่ตั้งของไฟนั้น ย่อมไม่มี. บุคคลสีไม้สองอันเข้าแล้ว ย่อมได้ไฟฉันใด, นิพพานมีอยู่ โอกาสที่ตั้งของนิพพาน ย่อมไม่มี บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน โดยโยนิโสมนสิการฉันนั้น ขอถวายพระพร.
อีกอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างว่า แก้วทั้งเจ็ดมีอยู่ แก้วทั้งเจ็ดนั้นคือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว ขุนคลังแก้ว ขุนพลแก้ว โอกาสที่ตั้งแห่งแก้วเจ็ดประการนั้น ไม่มี แต่เมื่อบรมกษัตริย์ปฏิบัติชอบแล้ว แก้วเจ็ดประการนั้น ก็ย่อมเกิดขึ้นด้วยกำลังแห่งการปฏิบัติ ฉันใด; นิพพานมีอยู่ โอกาสที่ตั้งแห่งนิพพาน ไม่มี
บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ด้วยโยนิโสมนสิการฉันนั้น."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน โอกาสที่ตั้งแห่งนิพพานไม่มีก็ช่างเถิด ก็แต่ฐานะที่บุคคลตั้งอยู่แล้ว ปฏิบัติชอบแล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน มีอยู่หรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร ฐานะที่บุคคลตั้งอยู่แล้ว ปฏิบัติชอบแล้ว กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน มีอยู่."
ร. "ก็ฐานะนั้นเป็นไฉน พระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร ฐานะ คือ ศีล บุคคลตั้งมั่นในศีลแล้วเมื่อกระทำในใจโดยอุบายที่ชอบ ตั้งอยู่ในสกลนครและยวนนครก็ดี ในจีนนครและวิลาตนครก็ดี ในอลสันทนครก็ดี ในนิกุมพนครก็ดี ในกาสีนครและโกสลนครก็ดี ในกัสมีรนครก็ดี ในคันธารนครก็ดี บนยอดภูเขาก็ดี บนพรหมโลกก็ดี ในที่ใดที่หนึ่งก็ดี ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน.
ขอถวายพระพร บุรุษผู้ใดผู้หนึ่งมีจักษุ คือ ปัญญา ตั้งอยู่แล้วในที่ทั้งหลาย มีสกนครและยวนนครเป็นต้น ย่อมเห็นอากาศ ฉันใดบุคคลผู้ตั้งมั่นในศีลแล้ว เมื่อกระทำในใจโดยอุบายที่ชอบ ตั้งอยู่แล้วในที่ทั้งหลายมีสกนครและยวนนครเป็นต้น ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร อีกประการหนึ่ง เหมือนอย่างว่า บุรพทิศย่อมมีปรากฏแก่บุรุษผู้ตั้งอยู่ในที่ทั้งหลาย มีสกนครและยวนนครเป็นต้น ฉันใด, เมื่อบุคคลตั้งมั้นในศีล กระทำในใจโดยแยบคาย ตั้งอยู่ในที่ทั้งหลาย มีสกนครและยวนนครเป็นต้น ปฏิบัติชอบแล้ว ความกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ก็ย่อมมีปรากฏ ฉันนั้น."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน นิพพาน พระผู้เป็นเจ้าแสดงแล้ว, ความกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน พระผู้เป็นเจ้าแสดงแล้ว, คุณทั้งหลายแห่งศีล พระผู้เป็นเจ้ากระทำรอบคอบแล้ว, สัมมาปฏิบัติ พระผู้เป็นเจ้าแสดงแล้ว, ธงคือพระธรรม พระผู้เป็นเจ้ายกขึ้นแล้ว, แบบอย่างแห่งธรรม พระผู้เป็นเจ้าให้ตั้งอยู่พร้อมแล้ว, สัมมาปโยคของบุคคลผู้ประกอบทั่วดีแล้ว ไม่เป็นหมัน, พระผู้เป็นเจ้าผู้ประเสริฐเลิศแห่งหมู่ชน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้าสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๘. อนุมานปัญหา ๘๕

ลำดับนั้น พระราชามิลินท์ เสด็จเข้าไปหาพระนาคเสน ผู้มีอายุโดยสถานที่ท่านอยู่ ครั้นเสด็จเข้าไปหาแล้ว นมัสการพระนาคเสนผู้มีอายุแล้ว ประทับอยู่ ณ ที่ควรแห่งหนึ่ง. ประทับเป็นปกติแล้ว เป็นผู้ใคร่ทรงทราบ ใคร่ทรงสดับ ใคร่ทรงจดจำ ใคร่ทรงเห็นอาโลกกล่าว คือ พระญาณปรีชา ใคร่ทรงทำลายอัญญาณความไม่รู้เสีย ใคร่ทรงกระทำญาณาโลกให้เกิดขึ้น ใครทรงกระมืด คือ อวิชชาให้พินาศ เข้าไปตั้งไว้ซึ่งความรู้ยิ่งซึ่งปัญญา ซึ่งพระอุตสาหะ และซึ่งพระสติสัมปชัญญะแล้ว จึงได้ตรัสพระวาจาอันนี้กะพระนาคเสน ผู้มีอายุว่า "พระนาคเสนผู้เจริญ, พระพุทธเจ้า พระผู้เป็นเจ้าได้เห็นหรือ?"
พระเถรเจ้าถวายพระพรว่า "อาตมภาพไม่ได้เห็น ขอถวายพระพร."
ร. "ก็อาจารย์ทั้งหลายของพระผู้เป็นเจ้าได้เห็นหรือ?"
ถ. "อาจารย์ทั้งหลายของอาตมภาพก็หาได้เห็นไม่."
ร. "พระพุทธเจ้า พระผู้เป็นเจ้าก็มิได้เห็น, อาจารย์ของพระผู้เป็นเจ้าก็มิได้เห็น, ถ้าเช่นนั้น พระพุทธเจ้าก็ไม่มี, เพราะว่า พระพุทธเจ้าย่อมไม่ปรากฏในปัญหาข้อนี้."
ถ. "ขอถวายพระพร บรมกษัตริย์ผู้เป็นประถมขัตติยราชวงศ์ของบรมบพิตร มีหรือไม่?"
ร. "มีซิ สงสัยอะไร."
ถ. "ก็บรมบพิตรได้เคยทรงเห็นหรือ?"
ร. "ไม่เคยเห็น."
ถ. "ก็ชนทั้งหลายผู้สำหรับกราบทูลเตือนบรมบพิตร คือ ปุโรหิตเสนาบดี อมาตย์ผู้วินิจฉัย ได้เคยเห็นหรือ?"
ร. "ไม่เคยเห็นเหมือนกัน."
ถ. "ถ้าว่าบรมบพิตรไม่ได้เคยทรงเห็นบรมกษัตริย์ผู้เป็นประถมขัตติยราชวงศ์ และชนทั้งหลายผู้สำหรับกราบทูลเตือน ก็ไม่ได้เห็นบรมกษัตริย์ผู้เป็นประถมขัตติยราชวงศ์จะมีที่ไหน, เพราะว่า ไม่ปรากฏในปัญหาข้อนี้."
ร. "เครื่องราชูปโภคทั้งหลายที่บรมกษัตริย์ ผู้เป็นประถม
ขัตติยราชวงศ์ ได้ใช้สอยยังปรากฏอยู่ คือ เศวตฉัตร มหามกุฏ ฉลองพระบาท วาลวิชนี พระขรรค์แก้ว และที่บรรทมทั้งหลายมีราคามาก ข้าพเจ้าจึงทราบและเชื่อแน่ว่า 'บรมกษัตริย์ผู้เป็นประถม
ขัตติยราชวงศ์มีจริง."
ถ. "ขอถวายพระพร อาตมภาพทราบและเชื่อซึ่งพระผู้ทรงพระภาคเจ้าว่า 'มีจริง' เหมือนฉะนั้น, เหตุเป็นเครื่องให้อาตมภาพทราบและเชื่อแน่ว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีอยู่จริง' ฉะนี้ มีอยู่ คือ เครื่องพุทธบริโภคทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ผู้เห็น ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธนั้นได้ทรงใช้สอยมีอยู่, คือ สติปัฏฐานสี่ สัมมัปปธานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด อริยาษฏางคิกมรรคแปด, โลกทั้งเทวโลก ย่อมรู้ย่อมเชื่อแน่ว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีอยู่' ฉะนี้. ขอถวายพระพร บรมบพิตรพึงทราบโดยเหตุ โดยปัจจัย โดยนัย โดยทางอนุมานนี้ว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีอยู่' ฉะนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้า 'ทรงยังประชุมชนให้ข้ามจากสงสารกันดารเสด็จปรินิพพานแล้ว เพราะสิ้นไปแห่งอุปธิกล่าวคือเบญจขันธ์ กิเสลกรรม, บรมบพิตรธรรมิกมหาราช ควรทรงทราบโดยทรงอนุมานว่า 'พระพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่าสัตว์สองเท้า มีอยู่จริง' ด้วยประการฉะนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ขอพระผู้เป็นเจ้ากระทำอุปมา."
ถ. "ขอถวายพระพร เหมือนอย่างว่านายช่างผู้ตกแต่งพระนครอยากสร้างพระนคร ก็เลือกหาพื้นที่อันเสมอ ไม่สูงไม่ต่ำ ไม่มีกรวด และหิน ไม่มีอุปัทวะ ไม่มีโทษ น่ารื่นรมย์ก่อนแล้ว ให้กระทำพื้นที่ซึ่งไม่เสมอให้เสมอ แล้วให้ชำระตอไม้และหนามแล้ว จึงสร้างพระนครลงในพื้นที่นั้น พระนครนั้นแบ่งกำหนดโดยส่วนอย่างงาม มีคูและกำแพงขุดก่อแล้ว มีประตูหอรบและยุ้งฉางมั่นคง มีท้องสนามและถนนสี่แยก ถนนติดต่อกันสายเดียว ถนนสามแยกเป็นอันมาก มีทั้งถนนหลวง มีพื้นเสมอสะอาด มีร้านตลาดแบ่งปันตั้งไว้ดีแล้ว มีสวนเป็นที่ยินดีและสระใหญ่สระบัว บริบูรณ์ด้วยน้ำควรดื่ม ประดับแล้วด้วยสถานอันประเสริฐมีอย่างมาก เว้นจากโทษที่จะพึงติว่าไม่งามทั้งปวง, นายช่างผู้ตกแต่งพระนครนั้น ครั้นพระนครนั้นถึงแล้วซึ่งความเป็นของไพบูลย์โดยประการทั้งปวง ก็ไปเสียยังประเทศอื่น, ครั้นต่อมา พระนครนั้นแข็งแรงเจริญสุข มีอาหารบริบูรณ์เกษมสำราญมั่งคั่ง ไม่มีเหตุร้าย หาอันตรายมิได้ ขนเป็นอันมาก คับคั่งด้วยชนต่างชาติต่างภาษา คือ กษัตริย์ พราหมณ์ เวสสะ สุททะ นายช้าง นายม้า นายรถ คนเดินเท้า คนถือธนู คนถืออาวุธ ราชบุตรเข้มแข็ง ทหารผูกเกราะไล่ข้าศึกกล้าหาญ บุตรทาส บุตรอมาตย์ หมู่คนปล้ำ คนทำครัว ช่างตัดผม ช่างจาระไน ช่างดอกไม้ ช่างทอด ช่างเงิน ช่างตะกั่ว ช่างดีบุก ช่างโลหะ ช่างลูกปืน ช่างเหล็ก ช่างแก้วมณี ช่างทอผ้า ช่างหม้อ ช่างเกลือ ช่างหนัง ช่างรถ ช่างงา ช่างเชือก ช่างหวี ช่างด้าย ช่างสาน ช่างธนู ช่างสายธนู ช่างศร ช่างเขียน ช่างทำที่อาศัย ช่างย้อม คนทำงานต่าง ๆ คนทำเครื่องหอม คนเกี่ยวหญ้า คนตัดฟืน คนทำการจ้าง คนหาผัก คนหาผลไม้ คนหารากไม้ คนหุงข้าว คนทำขนม คนหาปลา คนหาเนื้อ คนทำของเมา คนฟ้อนรำ คนโลดเต้น คนเล่นกล คนขับร้อง คนเผาศพ คนเทดอกไม้ พราน หญิงแพศยา ทาสีผู้นำไปซึ่งหม้อ ชาวสกนครและชาวยวนนคร จีนนคร วิลาตนคร ชาวอุชเชนีนคร ชาวภารุนครและกัจฉกนคร ชาวกาสีนครและโกสลนคร อปรันตกนคร ชาวมคธนคร ชาวสาเกตนคร ชาวโสรัฏฐกนคร ชาวปาเฐยยกนคร ชาวโกตุมพนครและมธุรกนคร ชาวอลสันทนคร กัสมีรนคร คันธารนคร ได้เข้าไปอาศัยอยู่ในพระนครนั้น, ชนชาวต่างประเทศเห็นพระนครใหม่ ซึ่งจำแนกภูมิสถานเป็นต้นดีหาที่ติมิได้ เป็นที่น่ารื่นรมย์นั้นแล้ว ย่อมรู้โดยอนุมานว่า 'นายช่างผู้สร้างพระนครนี้ เป็นผู้ฉลาดทีเดียว' ดังนี้ ฉันใดก็ดี, พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นผู้ไม่มีผู้ใดเสมอ เป็นผู้เสมอด้วยบุคคลผู้หาใครเสมอมิได้ เป็นผู้ไม่มีบุคคลผู้เสมอเปรียบ เป็นผู้หาใคร ๆ เช่นด้วยพระองค์มิได้ เป็นผู้อันบุคคลไม่พึงชั่ง ไม่พึงนับ ไม่พึงประมาณ เป็นผู้มีพระคุณอันนับไม่ได้ เป็นผู้ถึงซึ่งความเปี่ยมแห่งพระคุณ เป็นผู้มีปัญญาเครื่องเห็นหาที่สุดมิได้ เป็นผู้มีพระเดชานุภาพหาที่สุดมิได้ เป็นผู้มีพระวิริยะหาที่สุดมิได้ เป็นผู้มีพระกำลังหาที่สุดมิได้ เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความเปี่ยมแห่งพระพุทธพล พระองค์ยังมารพร้อมด้วยเสนาให้ปราชัยแล้วทรงทำลายซึ่งข่ายคือทิฏฐิแล้ว ยังอวิชชาให้สิ้นไปแล้ว ให้วิทยาเกิดขึ้นแล้วทรงไว้ซึ่งคบเพลิงกล่าวคือพระธรรม ถึงแล้วซึ่งความเป็นผู้ตรัสรู้เญยยธรรมทั้งปวง มีสงครามอันผจญชนะแล้ว ได้ทรงสร้างพระนคร กล่าวคือ พระธรรมไว้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ขอถวายพระพร ธรรมนครของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีศีลเป็นกำแพง มีหิริเป็นคู มีญาณเป็นซุ้มประตู มีวิริยะเป็นหอรบ มีศรัทธาเป็นเสาระเนียด มีสติเป็นนายประตู มีปัญญาเป็นปราสาท มีสุตันตปิฎกเป็นท้องสนาม มีอภิธรรมปิฎกเป็นถนนสามแพร่ง มีวินัยปิฎกเป็นวินิจฉัยสภาคารสถาน มีสติปัฏฐานเป็นถนน.
อนึ่ง ร้านทั้งหลายเห็นปานนี้ เป็นของอันพระผู้มีพระภาคเจ้าเปิดไว้แล้ว ในถนนกล่าวคือ สติปัฏฐาน, คือ ร้านขายดอกไม้ ร้านขายของหอม ร้านขายผลไม้ ร้านขายยาถอนพิษ ร้านขายยาแก้โรคต่าง ๆ ร้านขายน้ำอมฤต ร้านขายแก้ว ร้านขายของทั้งปวง."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ร้านขายดอกไม้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ความจำแนกอารมณ์ทั้งหลายเป็นของอันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้รู้ผู้เห็น ผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะนั้น ได้ตรัสไว้ คือ สัญญาว่าไม่เที่ยง สัญญาว่ามิใช่ตัวตน สัญญาว่าไม่งาม สัญญาว่ามีอาทีนพ สัญญาในอันละ สัญญาในวิราคธรรม สัญญาในนิโรธธรรม สัญญาในความไม่น่าเพลิดเพลินยิ่งในโลกทั้งปวง สัญญาในความไม่น่าปรารถนาในสังขารทั้งปวง สติระลึกลมหายใจออกเข้า สัญยาในซากศพอันเน่าพองขึ้น สัญยาในซากศพที่มีสีเขียว สัญญาในซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลออกอยู่ สัญญาในซากศพที่ขาดกลางตัว สัญญาในซากศพที่สัตว์กัดกิน สัญญาในซากศพที่มีมือเท้าและศีรษะขาด สัญญาในซากศพที่เขาสับฟันบั่นเป็นท่อน ๆ สัญญาในซากศพที่มีโลหิตไหลออกอยู่ สัญญาในซากศพที่ขาดกลางตัว สัญญาในซากศพที่สัตว์กัดกิน สัญยาในซากศพที่มีมือเท้าและศีรษะขาด สัญญาในซากศพที่เหลือแต่ร่างกระดูก สัญญาในเมตตา สัญญาในกรุณา สัญญาในมุทิตา สัญยาในอุเบกขา ระลึกถึงความตาย สติไปในกายความจำแนกอารมณ์เหล่านี้แล เป็นของอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้ บุคคลผู้อยากจะพ้นจากชาติชราและมรณะ ย่อมถือเอาซึ่งอารมณ์อันใดอันหนึ่ง, ก็ย่อมพ้นจากราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ และข้ามสงสาร ห้ามเสียซึ่งกระแสแห่งตัณหา ชำระมลทินสามอย่าง ด้วยอารมณ์นั้น, ฆ่าเสียซึ่งกิเลสทั้งปวง เข้าไปแล้วสู่พระนคร คือ พระนิพพาน อันไม่มีมลทิน ไม่มีธุลี หมดจดขาวผ่อง ไม่มีความเกิด ไม่มีชรา ไม่มีมรณะ เป็นสุข เป็นของเย็น หาภัยมิได้ สูงสุดกว่าเมืองตามธรรมดา ยังจิตให้พ้นพิเศษ เพราะความเป็นพระอรหันต์. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าวว่า 'ร้านขายดอกไม้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า'.
ท่านทั้งหลาย ถือเอาราคาคือกระทำความเพียรเป็นต้นเข้าไปสู่ร้าน ซื้อเอาอารมณ์แล้วจะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงด้วยธรรมชาติเป็นที่พ้นนั้น ด้วยประการฉะนี้."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ ร้านขายของหอมแห่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ความจำแนกศีลทั้งหลายเป็นของอันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้รู้ผู้เห็นผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะนั้นได้ตรัสไว้, พุทธโอรสแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ลูบไล้ของหอมกล่าวคือศีล ยังโลกทั้งเทวโลกให้ตลบไปด้วยกลิ่นคือศีล, ย่อมฟุ้งไปในทิศใหญ่ทิศน้อยตามลมทวนลม. ความจำแนกศีลทั้งหลายเหล่านั้นเป็นไฉน? คือ ศีลกับทั้งสรณะ ศีลห้า ศีลมีองค์แปด ศีลมีองค์สิบ ปาฏิโมกขสังวรศีลอันนับเข้าในอุทเทสห้า. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าวว่า 'ร้านขายของหอมแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.' แม้พุทธพจน์นี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพดาล่วงเสียซึ่งเทพดา ก็ได้ทรงภาสิตไว้ว่า:-
'กลิ่นแห่งบุปผชาติย่อมไปทวนลมไม่ได้, กลิ่นแห่งแก่นจันทน์หรือกลิ่นแห่งกฤษณาและดอกมะลิ ก็ย่อมไปทวนลมไม่ได้ ส่วนกลิ่นของท่านผู้เป็นสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมไปทวนลมได้, เหตุว่าท่านผู้เป็นสัตบุรุษ ย่อมฟุ้งไปในทิศทั้งปวง, บรรดาคันธชาตทั้งหลายเหล่านี้ คือ แก่นจันทน์ กฤษณา ดอกบัว และดอกมะลิ คันธชาตคือศีล เป็นของไม่มีคันธชาตอื่นจะยิ่งไปกว่า. กลิ่นกฤษณา กลิ่นแก่นจันทน์เป็นของมีกลิ่นน้อย, ฝ่ายกลิ่นของท่านผู้มีศีลทั้งหลาย เป็นของอุดม ย่อมฟุ้งไปในเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย' ดังนี้."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ ร้านขายผลไม้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ผลทั้งหลาย อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ คือ โสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตตผล สุญญตผลสมาบัติ อนิมิตตผลสมาบัติ อัปปณิหิตผลสมาบัติ. บรรดาผลเหล่านั้น บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งย่อมปรารถนาผลใด บุคคลผู้นั้นให้ราคา คือ ทำความเพียรเป็นต้นแล้ว ซื้อเอาผลที่ตนปรารถนานั้น คือถ้าว่าปรารถนาโสดาปัตติผลเป็นต้น ก็ซื้อโสดาปัตติผลเป็นต้น.
ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนไม้มะม่วงของบุรุษบางคน เป็นไม้มีผลเป็นนิตย์, คนซื้อทั้งหลายยังไม่มาเพียงใด บุรุษนั้นก็ไม่ยังผลทั้งหลายให้หล่นจากต้นเพียงนั้น, ครั้นรับราคาจากคนซื้อทั้งหลายผู้มาซื้อแล้วจึงกล่าวว่า 'บุรุษผู้เจริญ ไม้มะม่วงนั้นเป็นไม้มีผลเป็นนิตย์ ท่านปรารถนาผลชนิดใด จงถือเอาผลชนิดนั้น ดิบก็มี สุกก็มี' ดังนี้ คนซื้อนั้นถ้าปรารถนาผลดิบ ก็ถือเอาผลดิบตามราคาที่ตนให้นั้น ถ้าปรารถนาผลสุก ก็ถือเอาผลสุกตามราคาที่ตนให้นั้น ฉันใด, บุคคลผู้ใดปรารถนาผลอันใด บุคคลนั้นให้ราคาคือทำความเพียรเป็นต้นแล้ว ซื้อเอาผลที่ตนปรารถนานั้น คือ ถ้าว่าปรารถนาโสดาปัตติผลเป็นต้น ก็ซื้อโสดาปัตติผลเป็นต้น ฉันนั้น. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าวว่า 'ร้านขายผลไม้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
ชนทั้งหลายให้ราคากล่าวคือ ทำความเพียรเป็นต้น แล้วก็ถือเอาผลไม้กล่าว คือ อมฤตธรรม, เพราะเหตุนั้น ชนเหล่าใดได้ซื้อผลไม้กล่าวคือ อมฤตธรรม, ชนเหล่านั้นเป็นผู้ถึงแล้วซึ่งความสุข ด้วยประการฉะนี้."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ ร้านขายยาถอนพิษของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ยาถอนพิษทั้งหลายที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปลื้องโลกทั้งเทวโลกจากพิษ คือกิเลส อันพระองค์ได้ตรัสไว้, ก็ยาถอนพิษเหล่านั้นไฉน? คืออิรยสัจสี่ อันพระองค์ได้ตรัสไว้. คือ ทุกขอริยสัจหนึ่ง ทุกขสมุทัยอริยสัจหนึ่ง ทุกขนิโรธอริยสัจหนึ่ง ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจหนึ่ง. บรรดาอริยสัจจสี่นั้น บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้เพ่งเพื่อความรู้ทั่วถึง ฟังอยู่ซึ่งอริยสัจธรรมสี่ บุคคลเหล่านั้น ย่อมพ้นจากชาติชรามรณะและโสกปริปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าว่า 'ร้านขายยาถอนพิษแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
ยาถอนพิษเหล่าใดเหล่าหนึ่งใน โลกอันบำบัดเสียซึ่งพิษทั้งหลายซึ่งจะเสมอด้วยยาถอนพิษ คือธรรม มิได้มี ภิกษุทั้งหลายเพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลาย จงดื่มยาถอนพิษคือธรรมนั้น ด้วยประการฉะนี้."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ ร้านขายยาแก้โรคต่าง ๆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร ยาแก้โรคต่าง ๆ ทั้งหลาย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแก้ไขเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย อันพระองค์ได้ตรัสไว้คือ สติปัฏฐานสี่ สัมมัปปธานสี่ อิทธิบาทสี่ อินทรีย์ห้า พละห้า โพชฌงค์เจ็ด มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ ด้วยยาแก้โรคต่าง ๆ เหล่านี้, และให้ทำซึ่งอันยังของเสีย คือโลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา อุทธัจจะ ถีนมิทธะ อหิริกะและอโนตตัปปะ สรรพกิเลสให้อาเจียนออกเสียด้วยยาแก้โรคต่าง ๆ เหล่านี้. นี้แล ขอถวายพระพรบัณฑิตกล่าวว่า 'ร้านขายยาแก้โรคต่าง ๆ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
ยาเหล่าใดเหล่าหนึ่งแก้โรคต่าง ๆ มีอยู่ในโลกมาก ซึ่งจะเสมอด้วยยาแก้โรคต่าง ๆ กล่าวคือ ธรรมย่อมไม่มี. ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงดื่มยาแก้โรคต่าง ๆ กล่าวคือธรรมนั้น. ชนเหล่าใด ดื่มยาแก้โรคต่าง ๆ กล่าวคือ ธรรมแล้ว ชนเหล่านั้น พึงเป็นผู้หาแก่และตายไม่, และชนเหล่าใด เจริญแล้ว เห็นแล้ว ชนเหล่านั้นเป็นผู้ดับแล้ว เหตุสิ้นไปแห่งอุปธิ ด้วยประการฉะนี้."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ ร้านขายน้ำอมฤตของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร น้ำอมฤตอันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้อาบโลกทั้งเทวโลกด้วยน้ำอมฤตไรเล่า, เทพดามนุษย์ทั้งหลาย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าอาบด้วยน้ำอมฤตไรเล่า ย่อมพ้นจากชาติชราพยาธิมรณะ และโสกปริเทวทุกขโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย น้ำอมฤตนั้นเป็นไฉน? น้ำอมฤตนั้นได้แก่กายคตาสติ. แม้พุทธพจน์นี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เทพดาล่วงเสียซึ่งเทพดา ได้ทรงภาสิตไว้ว่า 'ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าใดบริโภคกายคตาสติ ชนเหล่านั้นชื่อว่า บริโภคอมฤตธรรม' ฉะนี้. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าวว่า 'ร้านขายน้ำอมฤตของพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทอดพระเนตรเห็นหมู่คนผู้เจ็บแล้วได้เปิดไว้ซึ่งร้านขายน้ำอมฤต, ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงซื้อน้ำอมฤตนั้นด้วยราคาคือ ความเพียรเป็นต้นแล้ว ถือเอาน้ำอมฤตนั้นด้วยประการฉะนี้."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ ร้านขายแก้วของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร แก้วทั้งหลายอันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ พุทธโอรสทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ประดับแล้วด้วยแก้วเหล่าใดเล่า ย่อมยังโลกทั้งเทวโลกให้รุ่งเรืองโพลงแจ่มกระจ่างส่องสว่างข้างบนล้างล่างด้านขวาง. แก้วเหล่านั้นเป็นไฉน? แก้วคือศีล แก้วคือสมาธิ แก้วคือปัญญา แก้วคือวิมุตติ แก้วคือวิมุตติญาณทัสสนะ แก้วคือปฏิสัมภิทา แก้วคือโพชฌงค์.
ขอถวายพระพร แก้วคือศีลของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน? คือปาฏิโมกขสังวรศีล อินทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล ปัจจยสันนิสสิตศีล จุลลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล มัคคศีล ผลศีล, โลกทั้งเทวดาทั้งมารทั้งพรหม หมู่สัตว์ทั้งสมณะพราหมณ์ ย่อมรักใคร่ปรารถนา บุคคลผู้ประดับด้วยแก้ว คือ ศีล. ภิกษุผู้ประดับด้วยแก้ว คือ ศีล ย่อมไพโรจน์รุ่งเรืองทั่วทิศใหญ่ทิศน้อยข้างบนข้างล่างด้านขวาง, ล่วงยิ่งครอบงำแก้วทั้งปวงตั้งอยู่ในระหว่างนี้ คือข้างล่างตั้งแต่อเวจีอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้เปิดไว้ในร้านขายแก้ว. นี้แล ขอถวายพระพรบัณฑิตกล่าวว่า 'แก้วคือศีลของพระผู้มีพระภาคเจ้า.'แก้ว คือ ศีลทั้งหลายเห็นปานนี้ มีอยู่ในร้านของพระผู้มีพระภาคเจ้า, ท่านทั้งหลายจงซื้อแก้ว คือศีลนั้น ด้วยราคาคือทำความเพียรเป็นต้นแล้ว ประดับแก้วคือศีลนั้นด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร แก้ว คือ สมาธิของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน คือ สมาธิมีวิตกวิจาร, สมาธิไม่มีวิตกมีแต่สักว่าวิจาร, สมาธิไม่มีวิตกไม่มีวิจาร, สุญญตสมาธิ, อนิมิตตสมาธิ, อัปปณิหิตสมาธิ, กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก วัตถุเครื่องเศร้าหมอง คือ มานะ อุทธัจจะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา และความตรึกชั่วทั้งหลายมีอย่างต่าง ๆ ทั้งปวง มากระทบสมาธิแห่งภิกษุผู้ประดับด้วยแก้วคือสมาธิ ย่อมเรี่ยรายกระจัดกระจายไป ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เข้าไปติดอยู่ไม่ได้. ความที่สมาธิเป็นของอันกามวิตกเป็นต้นมากระทบแล้วไม่ตั้งอยู่ได้ เพราะเหตุแห่งอะไร? เพราะความที่สมาธิเป็นของบริสุทธิ์, เปรียบเหมือนน้ำในใบบัว ย่อมเรี่ยรายกระจัดกระจายไป ย่อมตั้งอยู่ไม่ได้ เข้าไปติดอยู่ไม่ได้, ความที่น้ำไม่ติดในใบบัวได้นั้น เพราะเหตุแห่งอะไร? เพราะความที่ใบบัวเป็นของบริสุทธิ ฉะนั้น. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าวว่า 'แก้ว คือ สมาธิของพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
แก้ว คือ สมาธิทั้งหลายเห็นปานนี้แล อันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เปิดไว้แล้วในร้านขายแก้ว. ความตรึกชั่วทั้งหลาย ย่อมไม่เกิดมีแก่บุคคลผู้มีระเบียบแห่งแก้ว คือ สมาธิ และจิตของบุคคลนั้น ย่อมไม่ฟุ้งซ่าน, เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงประดับ แก้วคือสมาธินั้น ด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร แก้วคือ ปัญญาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นไฉน? คือพระอริยสาวกย่อมรู้แจ้งตามเป็นอย่างไร ด้วยปัญญาไรเล่าว่า 'นี้เป็นกุศล นี้เป็นอกุศล นี้มีโทษ นี้ไม่มีโทษ, นี้ควรเสพ, นี้ไม่ควรเสพ, นี้ต่ำช้า นี้ประณีต, นี้เป็นของดำ นี้เป็นของขาว, นี้เป็นส่วนเปรียบด้วยของดำและของขาว, นี้เป็นตัวทุกข์, นี้เป็นเหตุให้ทุกข์เกิดขึ้นพร้อม, นี้เป็นธรรมที่ดับทุกข์ นี้เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมที่ดับทุกข์' ฉะนี้. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าวว่า 'แก้วคือปัญญาของพระผู้มีพระภาคเจ้า'
ภพย่อมไม่เป็นไปนายแก่บุคคลผู้มีระเบียบแห่งแก้ว คือ ปัญญา, บุคคลนั้น ย่อมถูกต้องอมฤตธรรมพลัน, และบุคคลนั้นย่อมไม่ชอบใจในภพ ด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร แก้วคือวิมุตติของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน? คือ พระอรหัต พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า แก้วคือวิมุตติ, ภิกษุผู้ถึงพระอรหัตแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เธอประดับแก้ว คือ วิมุตติแล้ว. เปรียบเหมือนบุรุษประดับพวงแก้วมุกดา และเครื่องประดับเป็นวิการแห่งแก้วมณี ทองคำ แก้วประพาฬ มีตัวอันลูบไล้ด้วยกฤษณาและแก่นจันทน์แดง ตกแต่งด้วยดอกกากะทิง ดอกบุนนาค ดอกรัง ดอกจำปา ดอกแค ดอกบัว ดอกมะลิ ย่อมไพโรจน์ส่องสว่างล่วงชนอันเหลือทั้งหลาย ด้วยอาภรณ์แล้วด้วยดอกไม้ของหอมและแก้วฉันใด, พระขีณาสพผู้ถึงพระอรหัตแล้วประดับวิมุตติรัตน์แล้ว ย่อมไพโรจน์ส่องสว่างล่วงภิกษุทั้งหลายผู้พ้นพิเศษแล้ว เพราะเปรียบเทียบด้วยวิมุตติ ฉันนั้น, ความที่พระขีณาสพผู้ประดับวิมุตติรัตน์เป็นผู้ไพโรจน์ล่วงภิกษุผู้พ้นพิเศษทั้งหลายด้วยวิมุตตินั้น เพราะเหตุแห่งอะไรเพราะเครื่องประดับ คือ วิมุตติรัตน์เป็นยอดแห่งสรรพเครื่องประดับทั้งหลาย. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าวว่า 'แก้วคือ วิมุตติของพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
ชนในเรือนย่อมแลดูท่านผู้เจ้าของเรือน ทรงระเบียบแห่งแก้วมณี, ฝ่ายโลกทั้งเทวโลกทั้งหลาย ย่อมแลดูท่านผู้ทรงระเบียบแห่งวิมุตติรัตน์ ด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร แก้วคือ วิมุตติญาณทัสสนะของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน? คือพระอริยสาวกย่อมพิจารณาซึ่งมรรคผลนิพพานทั้งหลาย และซึ่งกิเลสที่ละแล้วและกิเลสที่ยังเหลืออยู่ทั้งหลายด้วยญาณใด, ปัจจเวกขณญาณอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า แก้วคือ วิมุตติญาณทัสสนะ.
พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมตรัสรู้ ซึ่งความเป็นผู้กระทำกิจเสร็จแล้วด้วยญาณใด, พระชิโนรสทั้งหลาย ย่อมพยายามเพื่ออันได้ญาณรัตน์นั้น ด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร แก้วคือปฏิสัมภิทา ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน? ปฏิสัมภิทามีสี่ประการ คือ อัตถปฏิสัมภิทา (ปัญญาเครื่องแตกฉานในอรรถ) ธัมมปฏิสัมภิทา (ปัญญาเครื่องแตกฉานในธรรม) นิรุตติปฏิสัมภิทา (ปัญญาเครื่องแตกฉานในถ้อยคำหรือภาษา) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา (ปัญญาเครื่องแตกฉานในความเข้าใจ). ภิกษุตกแต่งด้วยแก้ว คือ ปฏิสัมภิทาเหล่านี้ ย่อมเข้าบริษัทใด ๆ ขัตติยบริษัทหรือพราหมณบริษัท หรือคฤหบดีบริษัท หรือสมณบริษัท เป็นผู้ไม่ครั่นคร้าม ไม่ขวยเขิน ไม่ตกใจ ไม่สะดุ้งกลัว ไม่สยองขน เหมือนกับทหารเป็นผู้กล้าในสงคราม มีอาวุธห้าอย่างผูกสอดแล้ว มิได้กลัวเข้าสู่สงครามด้วยรำพึงคิดว่า 'ถ้าว่าข้าศึกอยู่ไกล เราจักยิงด้วยศร ถ้าอยู่ใกล้แต่นั้น เราจักพุ่งด้วยหอก, ถ้าอยู่ใกล้แต่นั้น เราจักฟันด้วยดาบ, ถ้าอยู่ชิดเข้ามาอีก เราจักตัดด้วยกระบี่ให้เป็นสองท่อน, ถ้าอยู่ชิดกันทีเดียว เราจักแทงด้วยกริช' ฉะนี้ ฉันใด, ภิกษุผู้ประดับด้วยรัตนะ คือ ปฏิสัมภิทาสี่ เป็นผู้กล้า ไปหาบริษัทรำถึงคิดว่า 'ผู้ใดผู้หนึ่งจักถามปัญหาในอัตถปฏิสัมภิทากะเรา เราจักตอบอรรถโดยอรรถแก่เขา, คือ จักตอบปัจจัยโดยปัจจัยแก่เขา จักตอบเหตุโดยเหตุแก่เขา จักตอบนัยโดยนัยแก่เขา, จักกระทำไม่ให้เขาสงสัย จักให้เขายินดีด้วยปัญหาเวยยากรณ์. ผู้ใดผู้หนึ่งจักถามปัญหาในธัมมปฏิสัมภิทากะเรา เราจักตอบธรรมโดยธรรมแก่เขา, คือจักตอบอมตธรรมโดยอมตธรรมแก่เขา จักตอบอสังขตธรรมโดยอสังขตธรรมแก่เขา จักตอบนิพพานธรรมโดยนิพพานธรรมแก่เขา จักตอบสุญญตธรรมโดยสุญญตธรรมแก่เขา จักตอบอนิมิตตธรรมโดยอนิมิตตธรรมแก่เขา จักตอบอัปปณิหิตธรรมโดยอัปปณิปิตธรรมแก่เขา จักตอบอเนญชธรรม (ธรรม คือ ความเป็นผู้ไม่มีตัณหา) โดยอเนญชธรรมแก่เขา, ผู้ใดผู้หนึ่งจักถามปัญหาในนิรุตติปฏิสัมภิทากะเรา เราจักตอบนิรุตติโดยนิรุตติแก่เขา, คือจักตอบบทโดยบทแก่เขา จักตอบอนุบทโดยอนุบทแก่เขา จักตอบอักษรโดยอักษรแก่เขา จักตอบสนธิโดยสนธิแก่เขา จักตอบพยัญชนะโดยพยัญชนะแก่เขา จักตอบอนุพยัญชนะโดยอนุพยัญชนะแก่เขา จักตอบวรรณยุตติโดยวรรณยุตติแก่เขา จักตอบสระโดยสระแก่เขา จักตอบบัญญัติโดยบัญญัติแก่เขา จักตอบโวหารโดยโวหารแก่เขา, จักกระทำไม่ให้เขาสงสัย จักให้เขายินดีด้วยปัญหาเวยยากรณ์, ผู้ใดผู้หนึ่งจักถามปัญหาในปฏิภาณปฏิสัมภิทากะเรา เราจักตอบปฏิภาณโดยปฏิภาณแก่เขา คือ จักตอบอุปมาโดยอุปมาแก่เขา จักตอบลักษณะโดยลักษณะแก่เขา จักตอบรสโดยรสแก่เขา, จักกระทำไม่ให้เขาสงสัย จักให้เขายินดีด้วยปัญหาเวยยากรณ์ ฉันนั้นทีเดียว. นี้แล ขอถวายพระพรบัณฑิตกล่าวว่า 'แก้วคือ ปฏิสัมภิทาของพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
บุคคลใดซื้อปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว พึงถูกต้องด้วยญาณ, บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่กลัวไม่สะดุ้ง ย่อมรุ่งเรืองล่วงโลกทั้งเทวโลกทั้งหลายด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร แก้วคือโพชฌงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน? คือ สติสัมโพชฌงค์หนึ่ง ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์หนึ่ง วิริยสัมโพชฌางค์หนึ่ง ปีติสัมโพชฌงค์หนึ่ง ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์หนึ่ง สมาธิสัมโพชฌงค์หนึ่ง อุเบกขาสัมโพชฌงค์หนึ่ง. ภิกษุประดับด้วยโพชฌงค์รัตนะเจ็ดเหล่านี้ ย่อมครอบงำเสียซึ่งมืดทั้งปวงยังโลกทั้งเทวโลกให้สว่างไสว. นี้แล ขอถวายพระพร บัณฑิตกล่าวว่า 'แก้วคือโพชฌงค์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
โลกทั้วเทวโลกทั้งหลายย่อมลุกขึ้น เพื่อท่านผู้มีระเบียบแห่งโพชฌงครัตน์. เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงซื้อโพชฌงครัตน์นั้นด้วยราคา คือกระทำความเพียรเป็นต้นแล้ว ประดับโพชฌงครัตน์นั้น ด้วยประการฉะนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ร้านขายของทั้งปวงแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นไฉน?"
ถ. "ขอถวายพระพร พระพุทธวจนะมีองค์เก้า พระเจดีย์อันบรรจุพระบรมสารีริกธาต พระเจดีย์อันบรรจุบริขารซึ่งเป็นพุทธบริโภคและสังฆรัตนะ ชื่อว่าร้านขายของทั้งปวงแห่งพระผุ้มีพระภาคเจ้า. สมบัติคือชาติ สมบัติคือทรัพย์ สมบัติคืออายุ สมบัติคือความไม่มีโรค สมบัติคือวรรณ สมบัติคือปัญญา สมบัติเป็นของมนุษย์ สมบัติเป็นทิพย์ สมบัติคือนิพพาน แต่ล้วนเป็นของอันพระผู้มีพระภาคเจ้าเปิดไว้ในร้านขายของทั้งปวง. ชนเหล่าใดปรารถนาสมบัติเหล่านั้น ๆ ชนเหล่านั้นให้ราคาคือ กระทำความเพียรเป็นต้นแล้ว ซื้อเอาสมบัติที่ปรารถนาและปรารถนาแล้ว, บางพวกซื้อด้วยสมาทานศีล บางพวกซื้อด้วยอุโบสถกรรม, ย่อมได้สมบัติทั้งหลายอาศัยราคาแม้มีประมาณน้อย. เหมือนอย่างว่า ชนทั้งหลายถือเอางาถั่วเขียนและถั่วขาวในร้าน อาศัยแลกด้วยข้าวสารถั่วเขียวถั่วขาวเล็กน้อยบ้าง ซื้อด้วยราคาน้อยบ้างฉันใด, ชนทั้งหลายย่อมได้สมบัติทั้งหลายในร้านขายของทั้งปวง แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า อาศัยราคาแม้เล็กน้อย ฉันนั้น; นี้แล ขอถวายพระพรบัณฑิตกล่าวว่า 'ร้านขายของทั้งปวงแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.'
อายุ ความเป็นคนไม่มีโรค วรรณ สวรรค์ ความเป็นผู้เกิดในตระกูลสูง และนิพพานเป็นธรรมชาติไม่ตาย หาปัจจัยปรุงแต่งมิได้ มีอยู่ในร้านขายของทั้งปวง เป็นของพระชินพุทธเจ้า. ชนทั้งหลายย่อมถือเอาด้วยราคา คือกระทำความเพียรเป็นต้น น้อยหรือมาก, ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนี้ ท่านทั้งหลายจงซื้อด้วยราคา คือความเชื่อแล้ว จงเป็นผู้สำเร็จพร้อมด้วยประการฉะนี้.
ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายเห็นปานนี้ ย่อมอาศัยอยู่ในธรรมนครของพระผู้มีพระภาคเจ้าคือ ผู้ทรงพระสูตร ผู้ทรงพระวินัย ผู้ทรงพระอภิธรรม ผู้กล่าวธรรม ผู้กล่าวชาดก ผู้กล่าวทีฆนิกาย ผู้กล่าวมัชฌิมนิกาย ผู้กล่าวสังยุตตนิกาย ผู้กล่าวอังคุตตรนิกาย ผู้กล่าวขุททกนิกาย ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยศีล ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยสมาธิ ผู้ถึงพร้อมแล้วด้วยปัญญา ผู้ยินดีในการเจริญโพชฌงค์ ผู้มีปัญหาเห็นแจ้ง ผู้ประกอบประโยชน์ของตนเนือง ๆ ผู้มีอันอยู่ในป่าเป็นวัตร ผู้มีอันอยู่โคนไม้เป็นวัตร ผู้มีอันอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร ผู้มีอันอยู่ใกล้กองไม้เป็นวัตร ผู้มีอันอยู่ในป่าช้าเป็นวัตร ผู้มีอันนั่งเป็นวัตร ผู้มีอันเดินเป็นวัตร ผู้ตั้งอยู่ในผล ผู้เสขะ ผู้พร้อมเพรียงแห่งผล ผู้โสดาบัน ผู้สกทาคามี ผู้เอนาคามี ผู้อรหันต์ ผู้ได้ไตรวิชชา ผู้ได้อภิญญาหก ผู้มีฤทธิ์ ผู้ถึงบารมีในปัญญา ผู้ฉลาดในสติปัฏฐาน สัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ โพชฌงค์ มรรคอันประเสริฐ ฌานวิโมกข์ สมาบัติประกอบด้วยสุขอันละเอียด คือ รูปสมาบัติ อรูปสมาบัติ, ธรรมนครได้เป็นสถานเกลื่อนกลาดไปด้วยชนเหล่านั้น ดุจป่าไม้อ้อและป่าไม้สาละ ฉะนั้น นิพนธคาถาในศาสนานี้ก็มีอยู่ว่า:-
ท่านผู้มีราคะ โทสะ โมหะไปปราศ หาอาสวะมิได้ มิได้เป็นทาสแห่งตัณหา ไม่มีอุปาทานเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร ท่านผู้มีปัญญามั่งคง ทรงธุดงคปฏิบัติ ถือเป็นวัตรอยู่ในป่ามีผ้าครอบเศร้าหมอง จิตปองนักในที่สงัดเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้ถือนั่ง ถืออยู่ในที่ลาดปู อนึ่ง ท่านผู้ยืนและจงกรมไปมา ทรงผ้าบังสุกุลทั้งปวงเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร. ท่านผู้รู้พิเศษ สันดานดีตรง ทรงผ้าไตรจีวร มีท่อนหนังเป็นที่สี่ ยินดีในอาสนะเดียวเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร. ท่านผู้มีปัญญารักษาไว้ซึ่งตน เป็นบุคคลมักน้อยสันโดษตามประโยชน์ที่ได้และไม่ได้ทุกประการ มีอาหารน้อย มิได้ละโมภเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้มีปัญญามักเพ่งยินดีในฌาณ มีจิตสันดานสงบตั้งมั่นปรารถนาอากิญจัญญายตนสมาบัติเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้ปฏิบัติตั้งอยู่ในผล พร้อมเพียงแห่งผล เป็นเสขบุคคลหวังประโยชน์สูงสุดเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้วิมลาริยบุคคล คือตั้งต้นแต่พระโสดาบัน ถัดนั้น พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระ
ขีณาสวอรหันต์เหล่านั้นย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้ฉลาดในสติปัฏฐานยินดีในการเจริญโพชฌงค์ มีปัญญาปลงเห็นแจ่มใส ทรงจำไว้ซึ่งพระธรรม เหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้ฉลาดในอิทธิบาททั้งสี่ ยินดีในสมาธิภาวนากิจ ประกองเนืองนิตย์ซึ่งสัมมัปปธานเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้ถึงอภิญญาบารมี ยินดีในโคจรเป็นของพระพุทธบิดาสัญจรในนภากาศเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้มีจักษุทอดลงพอเหมาะ พูดไพเราะพอประมาณ มีทวารอันได้รักษาระวังทั่ว ทรมานตัวดีในธรรมอันอุดมเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ท่านผู้มีไตรวิชชาฉฬภิญญา และถึงอิทธิบารมี ปัญญาบารมีเหล่านั้น ย่อมอยู่ในธรรมนคร.
ขอถวายพระพร ภิกษุเหล่าใด ทรงไว้ซึ่งญาณอันประเสริฐ อันประมาณไม่ได้ ไม่มีกิเลสเครื่องข้อง มีคุณไม่พึงชั่ง มียศไม่พึงชั่ง มีกำลังไม่พึงชั่ง มีเดชไม่พึงชั่ง ยังธรรมจักรให้เป็นไปเนือง ๆ ได้ถึงปัญญาบารมี, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ธรรมเสนาบดีในธรรมนครแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด มีฤทธิ์ มีปฏิสัมภิทาบรรลุแล้ว มีเวสารัชชธรรมถึงแล้ว เที่ยวไปในอากาศ หาผู้เสมอยาก ยากที่ใคร ๆ จะผจญได้ยังสมุทรสาครอันรองรับแผ่นดินและแผ่นดินให้หวั่นไหว จับต้องพระจันทร์และพระอาทิตย์ได้ ฉลาดในฤทธิ์และอธิษฐานอภินิหารได้ถึงอิทธิบารมี, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ปุโรหิตในธรรมนครแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด ถือธุดงค์ เป็นผู้มีความปรารถนาน้อย ยินดีตามมีเกลียดวิญญัติและอเนสนะ เที่ยวบิณฑบาตไม่ขาด เข้าไปสู่ป่าอันสงวัดราวกะผึ้งเคล้าเกสรดอกไม้แล้ว เข้าไปสู่ป่าอันสงัดฉะนั้น มิได้ใยดีในกายและชีวิต ถึงพระอรหัต วางอารมณ์ในธุดงคคุณ, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ผู้พิพากษาในธรรมนครแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีมลทิน ไม่มีเครื่องเศร้าหมองฉลาดในจุตูปปาตญาณ ได้ถึงทิพยจักษุบารมี, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ผู้ให้พระนครรุ่งเรืองด้วยประทีปในธรรมนครแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด เป็นพหุสุตมีนิกายเป็นที่มา ๆ ถึงแล้ว ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ฉลาดในการกำหนดอักษร ที่เป็นสิถิล ธนิต ทีฆะ รัสสะ ครุ ลหุ ทรงนวังคศาสน์, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ผู้รักษาธรรมในธรรมนคร แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด รู้วินัย ฉลาดในวินัย ฉลาดในนิทานและการกล่าว ฉลาดในอาบัติ อนาบัติ ครุกาบัติ ลหุกาบัติ อาบัติเยียวยาได้ อาบัติเยียวยาไม่ได้ วุฏฐาน เทสนา นิคคหะ ปฏิกรรม โอสารณกรรม นิสสารณกรรม ปฏิสารณกรรม ได้ถึงวินัยบารมี, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ผู้ฉลาดในรูปในธรรมนคร แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้เนื่องด้วยระเบียบดอกไม้ คือ วิมุตติรัตนะอันประเสริฐ ถึงซึ่งความเป็นผู้น่าเลือกสรรเลิศ มีค่ามาก บัณฑิตกล่าวว่า ผู้ขายดอกไม้ในธรรมนคร แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ตรัสรู้สัจจะสี่ มีสัจจะสี่แทงตลอดแล้ว เห็นแล้ว มีศาสนธรรมรู้วิเศษแล้ว มีความเคลือบแคลงในสามัญญผลสี่ข้ามได้แล้ว มีความสุขเกิดแต่ผลได้เฉพาะแล้ว ย่อมจำแนกซึ่งผลเหล่านั้นแก่ผู้ปฏิบัติแม้เหล่าอื่น, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ผู้ขายผลไม้ในธรรมนคร แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ลูบไล้ของหอมเลิศ คือ ศีล ทรงคุณมากอย่างเป็นอเนก ขจัดเสียซึ่งของเหม็น กล่าวคือ กิเลส, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ผู้ขายของหอมในธรรมนคร แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด ใคร่ธรรม กล่าวแต่ถ้อยคำอันไพเราะ บันเทิงยิ่งในอภิธรรม อภิวินัย ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่รุกขมูลก็ดี ไปสู่เรือนว่างเปล่าก็ดี ย่อมดื่มรสเลิศแห่งธรรม, หยั่งลงรสเลิศแห่งธรรมด้วยกายวาจาใจ มีปฏิภาณยิ่ง มีปฏิภาณในการแสวงหาธรรม การพูดถึงความมักน้อย การพูดถึงความสันโดษ การพูดถึงความสงัดทั่ว การพูดถึงความไม่คลุกคลี การพูดถึงความปรารภความเพียร การพูดถึงศีล การพูดถึงสมาธิ การพูดถึงปัญญา การพูดถึงวิมุตติ การพูดถึงวิมุตติญาณทัศสนะ มีในที่ทั้งหลายใด ๆ แต่ที่นี้หรือแต่ที่นั้น เธอก็ไปในที่ทั้งหลายนั้น ๆ ย่อมดื่มรสแห่งการพูดนั้น, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า นักเลงดื่มในธรรมนคร แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด ประกอบตามชาคริยานุโยคตลอดเบื้องต้นแห่งราตรี และเบื้องปลายแห่งราตรี ให้คืนและวันล่วงไปด้วยการนั่ง การยืน และการเดิน ประกอบตามภาวนานุโยค ขวนขวายประโยชน์ตนเพื่อห้ามเสียซึ่งกิเลส, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า นคราภิบาลในธรรมนครแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้มีโภคทรัพย์ โดยโภคะ กล่าวคือธรรมรัตนโภคะ กล่าวคือนิกายเป็นที่มา และปริยัติธรรมและสุตะ แทงตลอด ลักษณะแห่งสระและพยัญชนะที่แสดงออกแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งแผ่ไป, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ธรรมเศรษฐีในธรรมนคร แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้แทงตลอดซึ่งการแสดงอย่างยิ่ง แสดงออกซึ่งความจำแนกด้วยอารมณ์ที่สั่งสมแล้ว ได้ถึงสิกขาคุณบารมี, ภิกษุเหล่านั้น บัณฑิตกล่าวว่า ราชบัณฑิตในธรรมนคร แห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า.
ขอถวายพระพร ธรรมนครแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า, จำแนกดีแล้ว สร้างไว้ดีแล้ว จัดแจงดีแล้ว บริบูรณ์ดีแล้ว กะแปลนดีแล้ว รักษาดีแล้ว ปกครองดีแล้ว ยากที่ปัจจามิตรจะข่มเหงได้ ด้วยประการอย่างนี้ ๆ .
ขอถวายพระพร บรมบพิตรพึงทรงทราบ โดยปัจจัย โดยเหตุ โดยนัย โดยทรงอนุมานนี้ว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้ามีจริง' ฉะนี้.
เห็นพระนครอันจำแนกดีแล้วเป็นที่รื่นรมย์แห่งใจ ก็รู้การที่นายช่างผู้สร้างเป็นผู้มีวิทยามากได้โดยอนุมาน ฉันใด, เห็นธรรมนครอันประเสริฐของพระโลกนาถ ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้ามีจริง' ฉะนี้ ฉะนั้น.
เห็นคลื่นทั้งหลายในทะเล ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'คลื่นทั้งหลายปรากฏอยู่ เพราะฉะนั้น ทะเลนั้นคงใหญ่ จักมีจริง' ฉันใด, คงรู้จักพระพุทธเจ้าผู้บรรเทาเสียซึ่งความโศก ผู้ไม่ปราชัยในที่ทั้งปวง ผู้ถึงธรรมที่สิ้นไปแห่งตัณหา ผู้พ้นจากสาครคือภพได้ โดยอนุมาน ฉันนั้น.
เห็นคลื่น กล่าวคือ ธรรมทั้งหลายในโลกทั้งเทวโลกก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'พระพุทธเจ้าเป็นอัครบุคคล จักมีจริงดุจความที่คลื่น กล่าวคือธรรมแผ่ไปทั่ว' ฉะนั้น.
เห็นภูเขาสูง ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'ภูเขานั้นสูงจักเป็นภูเขาหิมวันต์' ฉันใด, เห็นภูเขากล่าวคือธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นของเย็นไม่มีอุปธิ เป็นของสูง เป็นของไม่หวั่นไหว ประดิษฐานอยู่ด้วยดีแล้ว ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้ามีจริง' ฉะนี้ ฉันนั้น.
เห็นภูเขา กล่าวคือธรรม ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'พระพุทธเจ้านั้น จักเป็นผู้เลิศเป็นผู้แกล้วกล้ามากแท้จริง.'
มนุษย์ทั้งหลายเห็นรอยเท้าแห่งคชสาร ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'คชสารนั้นใหญ่จริง' ฉะนี้ ฉันใด, เห็นรอยพระบาทแห่งพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐผู้ให้มีแจ้ง ก้รู้ได้โดยอนุมานว่า 'พระองค์จักเป็นยิ่งจริง' ฉะนี้ ฉันนั้น.
เห็นมฤคน้อยทั้งหลายตกใจกลัว ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'มฤคน้อยเหล่านี้ตกใจน้อย เพราะสำเนียงแห่งมฤคราช' ฉะนี้ ฉันใด, เห็นเดียรถีย์ทั้งหลายมีใจกลัวมากแล้ว ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'อันพระพุทธเจ้าผู้ธรรมราชาคุกคามแล้ว' ฉะนี้ ฉันนั้น.
เห็นแผ่นดินเย็นสนิทแล้ว หรือใบไม้สดเขียวมีน้ำมาก ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'เย็นเพราะมหาเมฆ' ฉะนี้ ฉันใด, เห็นชนนี้ร่าเริงบันเทิงแล้ว ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'อันเมฆ คือ ธรรมให้เอิบอิ่มแล้ว' ฉะนี้ ฉันนั้น.
เห็นแกลบและตมแผ่นดินเป็นโคลนติดอยู่แล้ว ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'ลำน้ำเป็นของใหญ่' ฉะนี้ ฉันใด, เห็นชนนี้ ผู้เปื้อนเปรอะแล้วด้วยธุลีและเปือกตม คือ กิเลส ล้างแล้วในแม่น้ำ คือ ธรรม ทิ้งเสียแล้วในทะเล กล่าวคือธรรม, เห็นโลกนี้ทั้งเทวโลกถึงอมฤตธรรมแล้ว ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'ธรรมขันธ์เป็นของใหญ่' ฉะนี้ ฉันนั้น.
ดมของหอมอย่างสูงสุด ก็รู้ได้โดยอนุมานว่า 'กลิ่นหอมนี้ย่อมฟุ้งไป เพราะฉะนั้น ดอกไม้จักบานแล้ว' ฉะนี้ ฉันใด, กลิ่นหอมคือศีลนี้ ย่อมฟุ้งไปในโลกทั้งเทวโลก, ก็ควรรู้ได้โดยอนุมานว่า 'พระพุทธเจ้าผู้ไม่มีบุคคลอื่นยิ่งกว่า มีจริง' ฉะนี้ ฉันนั้น.
ขอถวายพระพร ผู้มีปัญญาอาจแสดงพระกำลังแห่งพระพุทธเจ้าโดยร้อยโดยพันแห่งปัจจัย โดยร้อยโดยพันแห่งเหตุ โดยร้อนโดยพันแห่งนัย โดยร้อยโดยพันแห่งอุปมาเห็นปานนี้แล. นายมาลาการผู้มีฝีมือ พึงกระทำกองแห่งชั้นดอกไม้แต่กองดอกไม้ต่าง ๆ ให้วิจิตรด้วย พยายามแห่งบุรุษเฉพาะตน ตามคำพร่ำสอนของอาจารย์ ฉันใด, พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น มีพระคุณไม่มีที่สิ้นสุด มีพระคุณอันบุคคลไม่พึงนับดุจกองดอกไม้อันวิจิตร ฉันนั้นแล. บัดนี้อาตมภาพเป็นดุจนายมาลาการผู้ร้องกรองบุปผชาติในพระชินศาสน์ จักสำแดงพระกำลังแห่งพระพุทธเจ้า โดยหนทางแห่งบุรพาจารย์บ้าง โดยกำลังแห่งความรู้ของอาตมภาพบ้าง โดยเหตุและอนุมานที่ไม่พึงนับได้บ้าง, ขอบรมบพิตรยังความพอพระหฤทัย เพื่อทรงสดับให้เกิดในปัญหานี้ ด้วยประการฉะนี้."
ร. "พระนาคเสนผู้เจริญ การสำแดงพระพุทธพละโดยเหตุและอนุมานเห็นปานนี้ ยากที่ชนเหล่าอื่นจะกระทำได้, เพระาปัญหาเวยยากรณ์อันวิจิตรอย่างยิ่งของพระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าเป็นผู้ดับความสงสัยได้แล้ว."


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO