นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อังคาร 19 มี.ค. 2024 9:50 am

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 06 เม.ย. 2018 5:46 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4501
๔. สมณทุสสีลคีหิทุสสีลปัญหา ๖๒

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสนอ คฤหัสถ์ทุศีลอย่างหนึ่ง สมณะทุศีลอย่างหนึ่ง ใครจะวิเศษกว่ากัน อะไรเป็นเครื่องทำให้ต่างกัน; คฤหัสถ์ทุศีล และสมณะทุศีลทั้งสองแม้เหล่านั้น มีคติเสมอ ๆ กัน, วิบากแม้ของชนทั้งหลายสองเป็นผลเสมอ ๆ กันหรือว่าเหตุหน่อยหนึ่งเป็นเครื่องกระทำต่างกันมีอยู่?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร คุณทั้งหลายสิบประการเหล่านี้ ของสมณะทุศีลเหลือเกินโดยวิเศษกว่าคฤหัสถ์ทุศีล, สมณะทุศีลนั้น ย่อมยังทักขิณาให้หมดจดวิเศษยิ่งกว่า ด้วยเหตุทั้งหลายสิบประการด้วย. คุณทั้งหลายสิบของสมณะทุศีลเกินโดยวิเศษกว่าคฤหัสถ์ทุศีลเป็นไฉน:
ขอถวายพระพร ในโลกนี้ สมณะทุศีลเป็นไปกับด้วยความเคารพในพระพุทธเจ้าหนึ่ง, เป็นไปกับด้วยความเคารพในพระธรรมหนึ่ง, เป็นไปกับด้วยความเคารพในพระสงฆ์หนึ่ง, เป็นไปกับด้วยความเคารพในสพรหมจารีทั้งหลายหนึ่ง, ย่อมพยายามพากเพียรในอุทเทส และปริปุจฉาหนึ่ง, ย่อมเป็นผู้มีการฟังมากหนึ่ง, สมณะทุศีลแม้มีศีลทำลายแล้ว ไปแล้วในบริษัทย่อมเข้าไปตั้งไว้ซึ่งอากัปปกิริยาเรียบร้อยหนึ่ง, ย่อมรักษากายิกะและเจตสิกะไว้ เพราะกลับแต่ความติเตียนหนึ่ง, จิตของสมณะทุศีลนั้น เป็นจิตมีหน้าเฉพาะต่อความเพียรหนึ่ง, ย่อมเข้าไปถึงความเป็นผู้เสวยด้วยภิกษุหนึ่ง. สมณะทุศีลแม้เมื่อกระทำบาปย่อมซ่อนประพฤติ. เหมือนสตรีเป็นไปด้วยสามี ซ่อนประพฤติกรรมอันลามก โดยอัธยาจารอันบุคคลพึงกระทำในที่ลับ ฉันใด, สมณะทุศีล แม้เมื่อกระทำบาปย่อมซ่อนประพฤติ ฉันนั้นนั่นเทียวแล. คุณทั้งหลายสิบประการ ของสมณะทุศีลเหล่านี้แล เหลือเกินโดยวิเศษกว่าคฤหัสถ์ทุศีล.
สมณะทุศีลย่อมยังทักขิณาให้หมดจดวิเศษยิ่ง ด้วยเหตุทั้งหลายสิบประการ เป็นไฉน: คือ สมณะทุศีลยังทักขิณาให้หมดจดพิเศษ แม้เพราะความเป็นผู้ทรงเกราะอันบุคคลพึงฆ่าไม่ได้บ้าง, เพราะทรงเพศของบุคคลโล้น มีความเป็นผู้เสมอด้วยฤษีบ้าง, เพราะความเป็นผู้เพิ่มเติมประชุมสงฆ์บ้าง, เพราะเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า และพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสมณะบ้าง, เพราะความเป็นผู้อยู่ในเรือนเป็นที่กำหนดมีปธานเป็นที่อาศัยบ้าง, เพราะความแสวงหาทรัพย์ ในพระชินศาสานาบ้าง, เพราะแสดงพระธรรมประเสริฐบ้าง, เพราะความเป็นผู้มีประทีป คือ ธรรมและคติในธรรม เป็นที่ถึงในเบื้องหน้าบ้าง เพราะความเป้นผู้มีทิฐิตรงโดยส่วนเดียวว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้เลิศ ดังนี้บ้าง, เพราะสมาทานอุโบสถบ้าง. สมณะผู้ทุศีลย่อมยังทักขิณาให้หมดจดวิเศษยิ่งด้วยเหตุทั้งหลายสิบประการเหล่านี้แล.
ขอถวายพระพร สมณะทุศีลแม้เป็นผู้วิบัติแล้ว ย่อมยังทักขิณาของทายกทั้งหลายให้หมดจดพิเศษได้. เหมือนน้ำแม้ขุ่น ย่อมนำเลนและตม และละออง และไคลให้ปราศจากกายได้ ฉันใด, สมณะทุศีลแม้วิบัติแล้ว ย่อมยังทักขิณาของทายกทั้งหลายให้หมดจดพิเศษได้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
อีกนัยหนึ่ง น้ำร้อน แม้อันบุคคลต้มเดือดแล้ว ย่อมยังกองแห่งไฟใหญ่อันโพลงอยู่ให้ดับได้ ฉันใด, สมณะทุศีลแม้วิบัติแล้ว ย่อมยังทักขิณาของทายกทั้งหลายให้หมดจดวิเศษได้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
อีกนัยหนึ่ง โภชนะแม้ปราศจากรส ย่อมนำความเป็นผู้ทุรพลเพราะความหิวให้ปราศได้ ฉันใด, สมณะทุศีลแม้เป็นผู้วิบัติแล้วย่อมยังทักขิณาของทายกทั้งหลายให้หมดจดวิเศษได้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล. พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นเทพดาล่วงเทพดา ได้ทรงภาสิตแม้พระพุทธพจน์นี้ไว้ในเวยยากรณ์ ชื่อทักขิณาวิภังค์ ในมัชฌิมนิกายอันประเสริฐ ดังพระราชลัญจกรว่า 'คฤหัสถ์ใดเป็นผู้มีศีลได้โภคะโดยธรรม เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสด้วยดีแล้ว เมื่อเชื่อผลแห่งกรรมอันยิ่ง ย่อมให้ทานในบุคคลทุศีลทั้งหลาย, ทักขิณานั้น ของคฤหัสถ์นั้น ย่อมหมดจดโดยวิเศษเพราะทายก ดังนี้."
ร. "เหตุน่าอัศจรรย์ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เหตุน่าพิศวงพระผู้เป็นเจ้านาคเสน, ข้าพเจ้าได้ถามปัญหาประมาณเท่านั้น, พระผู้เป็นเจ้าเมื่อแสดงด้วยเหตุทั้งหลายเป็นเครื่องอุปมา ได้กระทำปัญหานั้น ดังมีอมฤตเป็นรสหวาน เป็นของควรฟัง. เหมือนคนเครื่องหรือศิษย์ของคนเครื่องได้มังสะประมาณเท่านั้น ให้ถึงพร้อมด้วยสัมภาระทั้งหลายมีอย่างต่าง ๆ กระทำให้เป็นราชูปโภค ฉันใด, พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าได้ถามปัญหาประมาณเท่านั้น, พระผู้เป็นเจ้าแสดงแล้วด้วยเหตุทั้งหลายเป็นเครื่องอุปมา ได้กระทำปัญหานั้นให้เป็นธรรมมีอมฤตเป็นดังรสหวาน เป็นของควรฟังแล้ว ฉันนั้นนั่นเทียวแล."

๕. อุทกสัตตชีวปัญหา ๖๓

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน น้ำนี้อันบุคคลให้ร้อนอยู่ในไฟ ย่อมประพฤติซึ่งเสียงดังปี๊ป ย่อมร้องเสียงดังฉี่ฉี่ ย่อมร้องมีอย่างมาก; พระผู้เป็นเจ้านาคเสน น้ำมีชีวิต น้ำเล่นอะไร จึงร้องหรือหนอ หรือว่าน้ำอันวัตถุอื่นเบียดเบียนแล้วย่อมร้อง?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร น้ำย่อมไม่มีชีวิตเลย สภาพผู้เป็นอยู่หรือสัตว์ย่อมไม่มีในน้ำ; ก็แต่ว่าน้ำย่อมประพฤติเสียงดังปี๊ป ประพฤติเสียงดังฉี่ฉี่ ย่อมร้องมีอย่างมาก เพราะความที่กำลังแห่งความร้อนพร้อมแต่ไฟเป็นของใหญ่."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เดียรถีย์ทั้งหลายบางพวก ในโลกนี้คิดแล้วว่าน้ำมีชีวิต ห้ามแล้วซึ่งน้ำเย็น ยังน้ำให้ร้อนแล้ว บริโภคน้ำซึ่งทำให้เป็นของหลากไปเพราะความดัดแปลง เดียรถีย์ทั้งหลายเหล่านั้นย่อมติเตียน ย่อมดูหมิ่นพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายว่า 'สมณะศากยบุตรทั้งหลาย ย่อมเบียดเบียนของเป็นอยู่ มีอินทรีย์เป็นอันเดียว' ดังนี้; พระผู้เป็นเจ้า จงบรรเทาความติเตียน ความดูหมิ่น ของเดียรถีย์ทั้งหลายเหล่านั้น จงกำจัดสระสางให้ความติเตียน ความดูหมิ่นนั้นของเดียรถีย์เหล่านั้นให้สิ้นไป."
ถ. "ขอถวายพระพร น้ำย่อมไม่มีชีวิต สภาพผู้เป็นหรือสัตว์ในน้ำย่อมไม่มี; เออก็ น้ำประพฤติเสียงดังปี๊ป ประพฤติเสียงดังฉี่ฉี่ร้องหลายอย่าง เพราะความที่เรี่ยวแรงแห่งความร้อนพร้อมแต่ไฟเป็นของใหญ่.
ขอถวายพระพร น้ำขังอยู่ในบึง และสระใหญ่ และสระน้อย และเหมือง และลำธาร และซอก และบ่อ และที่ลุ่ม และสระบัว ย่อมหมดไป ย่อมถึงความสิ้นไป เพราะความที่เรี่ยวแรงแห่งลมและแดดเป็นของใหญ่, น้ำในบึงเป็นต้นเหล่านั้น ประพฤติเสียงดังปี๊ป ประพฤติเสียงดังฉี่ฉี่ ย่อมร้องหลายอย่างด้วยหรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าน้ำพึงมีชีวิตไซร้ น้ำในที่ทั้งหลายมีบึงเป็นต้นแม้เหล่านั้นพึงร้อง.
ขอถวายพระพร ด้วยเหตุแม้นี้ บรมบพิตรจงทรงทรงว่า 'สภาพผู้เป็นหรือสัตว์ในน้ำย่อมไม่มี, น้ำประพฤติเสียงดังปี๊ป ประพฤติเสียงฉี่ฉี่ย่อมร้องหลายอย่าง เพราะความที่เรี่ยวแรงแห่งความร้อนพร้อมแต่ไฟเป็นของใหญ่' ดังนี้.
ขอถวายพระพร บรมบพิตรจงทรงฟังเหตุยิ่งแม้อื่นอีก: สภาพผู้เป็นหรือสัตว์ในน้ำย่อมไม่มี, น้ำย่อมร้องเพราะความที่เรี่ยวแรงแห่งความร้อนพร้อมแต่ไฟเป็นของใหญ่. ก็น้ำเจือพร้อมแล้วด้วยข้าวสารทั้งหลาย ตั้งอยู่ในภาชนะเป็นของอันบุคคลปิดไว้แล้ว อันบุคคลยังไม่ตั้งไว้แล้วเหนือเตา, น้ำในภาชนะนั้นย่อมร้องด้วยหรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า น้ำนักเป็นของไม่กระเพื่อม สงบเรียบร้อยอยู่."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็น้ำนั้นนั่นแหละ ตั้งอยู่ในภาชนะอันบุคคลยังไฟให้โพลงขึ้นแล้ว ตั้งไว้เหนือเตาแล้ว, น้ำในภาชนะนั้นเป็นของไม่กระเพื่อม สงบเรียบร้อยอยู่หรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า น้ำนั้นย่อมกระเพื่อม ย่อมกำเริบขุ่นมัว เป็นน้ำมีคลื่นเกิดแล้ว ย่อมไปในเบื้องบนและเบื้องต่ำ ยังทิศและทิศต่าง ๆ ย่อมขึ้น ย่อมส่ายไปข้าง ๆ เป็นของมีระเบียบแห่งฟอง."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็น้ำตั้งอยู่โดยปกตินั้น ย่อมไม่กระเพื่อมสงบเรียบร้อยอยู่ เพราะเหตุไร, ก็แหละน้ำนั้นไปในไฟแล้ว ย่อมกระเพื่อม ย่อมกำเริบ ย่อมขุ่นมัว ย่อมเป็นน้ำมีคลื่นเกิดแล้ว ย่อมไปในเบื้องบนและเบื้องต่ำ ยังทิศและทิศต่าง ๆ มีระเบียบแห่งฟองเพราะเหตุไร?"
ร. "น้ำตั้งอยู่โดยปกติ ย่อมไม่กระเพื่อมซิ พระผู้เป็นเจ้าล ส่วนน้ำไปแล้วในไฟ ย่อมประพฤติเสียปี๊ป ย่อมประพฤติเสียดังฉี่ฉี่ ย่อมร้องหลายอย่าง เพราะความที่เรี่ยวแรงแห่งความร้อนพร้อมแต่ไฟเป็นของใหญ่?"
ถ. "ขอถวายพระพร ด้วยเหตุแม้นี้ บรมบพิตรจงทรงทรงว่า 'สภาพผู้เป็นอยู่หรือสัตว์ในน้ำย่อมไม่มี, น้ำร้องเพราะความที่เรี่ยวแรงแห่งความร้อนพร้อมแต่ไฟเป็นของใหญ่."
ขอถวายพระพร บรมบพิตร จงทรงสดับเหตุยิ่งแม้อื่นอีก: สภาพผู้เป็นอยู่หรือสัตว์ในน้ำย่อมไม่มี น้ำร้องเพราะความที่เรี่ยวแรงแห่งความร้อนพร้อมแต่ไฟเป็นของใหญ่ น้ำนั้นเป็นของขังอยู่ในหม้อแห่งน้ำอันบุคคลปิดไว้เสียแล้ว มีอยู่ทุก ๆ เรือนหรือ?"
ร. "มีซิ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร น้ำนั้นกระเพื่อมกำเริบขุ่นมัว เป็นน้ำมีคลื่นเกิดแล้ว ย่อมไปในเบื้องบนและเบื้องต่ำ ยังทิศและทิศต่าง ย่อมกระฉอกขั้น ย่อมส่ายไปข้างซ้ายข้างขวามีระเบียบแห่งฟองด้วยหรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า น้ำนั้นเป็นของไม่กระเพื่อม และตั้งอยู่โดยปกติ เป็นของขังอยู่ในหม้อแห่งน้ำ."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็บรมบพิตร เคยทรงสดับแล้วหรือว่า 'น้ำในมหาสมุทร ย่อมกระเพื่อม ย่อมกำเริบ ย่อมขุ่นมัว เป็นน้ำมีคลื่นเกิดแล้ว ย่อมไปในเบื้องบนและเบื้องต่ำ ยังทิศและทิศต่าง ๆย่อมกระฉอกขึ้น ย่อมกระฉอกไปข้างซ้ายข้างขวา มีระเบียบแห่งฟองน้ำเท้อขึ้นแล้ว ย่อมพระหารที่ฝั่งน้ำ ย่อมร้องหลายอย่าง."
ร. "คำนั้นข้าพเจ้าเคยฟังด้วย เคยเห็นด้วย, น้ำในมหาสมุทรพลุ่งขึ้นแล้วในอากาศ ร้อยศอกบ้าง สองร้อยศอกบ้าง."
ถ. "ขอถวายพระพร น้ำอยู่ในหม้อแห่งน้ำ ย่อมไม่กระเพื่อมย่อมไม่ร้องเพราะเหตุไร, ส่วนน้ำในมหาสมุทรย่อมกระเพื่อม ย่อมร้องเพราะเหตุไร?"
ร. "น้ำในมหาสมุทร ย่อมกระเพื่อม ย่อมร้องเพราะความที่เรี่ยวแรงแหล่งลมเป็นของใหญ่ พระผู้เป็นเจ้า, น้ำอยู่ในหม้อแห่งน้ำ อันตรายทั้งหลายบางเหล่าไม่กระทบแล้ว ย่อมไม่กระเพื่อม ย่อมไม่ร้อง."
ถ. "ขอถวายพระพร น้ำในมหาสมุทร ย่อมกระเพื่อม ย่อมร้องเพราะความที่เรี่ยวแรงแห่งลมเป็นของใหญ่ ฉันใด, น้ำย่อมร้องเพราะความที่เรี่ยวแรงแห่งความร้อนพร้อมแต่ไฟเป็นของใหญ่ ฉันนั้นแล. หุ่นแห่งกลองแห้งแล้ว ชนทั้งหลายย่อมขึงด้วยหนังแห่งโคแห้งแล้วไม่ใช่หรือ?"
ร. "อย่างนั้นซิ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร สภาพผู้เป็นอยู่หรือสัตว์ในกลองมีอยู่หรือ?"
ร. "ไม่มีเลย พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร กลองย่อมร้องเพราะเหตุอะไร?"
ร. "กลองย่อมร้องเพราะความเพียรของสตรีบ้าง ของบุรุษบ้าง สมควรแก่กลองนั้นซิ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร กลองย่อมร้องเพราะความเพียรสมควรแก่กลองนั้น ของสตรีบ้าง ของบุรุษบ้าง ฉันใด, น้ำย่อมร้องเพราะความที่เรี่ยวแรงแห่งความร้อนพร้อมแต่ไฟเป็นของใหญ่ ฉันนั้นแล. ด้วยเหตุแม้นี้ บรมบพิตรจงทรงทราบว่า 'สภาพผู้เป็นหรือสัตว์ ในน้ำไม่มี, น้ำย่อมร้องเพราะความที่เรี่ยวแรงแห่งความร้อนพร้อมแต่ไฟเป็นของใหญ่.' เหตุอันบรมบพิตรพึงตรัสถามแม้แก่อาตมภาพก่อนปัญหานั้นอาตมภาพวินิจฉัยดีแล้วอย่างนี้.
ขอถวายพระพร น้ำอันบุคคลต้มอยู่ด้วยภาชนะทั้งหลายแม้ทั้งปวงย่อมร้อง หรือว่าน้ำอันบุคคลต้มอยู่ด้วยภาชนะทั้งหลายบางชนิดนั่นเทียวย่อมร้อง?"
ร. "น้ำอันบุคคลต้มอยู่ด้วยภาชนะทั้งหลายแม้ทั้งปวง ย่อมร้องหามิได้, น้ำอันบุคคลต้มอยู่ด้วยภาชนะทั้งหลายบางชนิดนั่นเทียวย่อมร้อง."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น บรมบพิตรละสมัยลัทธิของพระองค์เสีย เป็นผู้กลับมาสู่วิสัยของอาตมภาพ, สภาพผู้เป็นอยู่หรือสัตว์ในน้ำไม่มี; ถ้าว่าน้ำอันบุคคลต้มอยู่ด้วยภาชนะทั้งหลายแม้ทั้งปวงพึงร้อง น้ำนี้ควรแล้วเพื่อจะกล่าวว่ามีชีวิต.
ขอถวายพระพร น้ำไม่เป็นสองแผนกคือ น้ำใดที่ร้องได้ น้ำนั้นมีชีวิต น้ำใดที่ร้องไม่ได้ น้ำนั้นไม่มีชีวิต. ถ้าว่าน้ำพึงเป็นอูยู่ไซร้ เมื่อคชสารใหญ่ทั้งหลายมีกายสูงขึ้นแล้ว ซับมันแล้ว เอางวงสูบขึ้นแล้วใส่ในปากให้เข้าไปยังท้อง น้ำนั้นแม้ที่แทรกอยู่ในระหว่างแห่งฟันแห่งคชสารใหญ่ทั้งหลายนั้น พึงร้อง. เรือใหญ่ทั้งหลายแม้มีร้อยแห่งศอกเป็นประมาณ เป็นของหนัก บรรทุกของหนัก บริบูรณ์ด้วยภาระมิใช่แสนเดียว ย่อมเที่ยวไปในมหาสมุทร, น้ำแม้อันเรือใหญ่ทั้งหลายเหล่านั้นแทรกอยู่ พึงร้อง. ปลาทั้งหลายมีกายประมาณร้อยโยชน์ มิใช่ปลาเดียว ใหญ่ ๆ คือ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลา
ติมิรปิงคละ จมลงแล้วในภายใน อาศัยอยู่ในมหาสมุทร เพราะความที่มหาสมุทรนั้นเป็นที่อาศัยอยู่ ท่อแห่งน้ำใหญ่ ย่อมชำระ ย่อมเป่าด้วย, น้ำแทรกอยู่ในระหว่างแห่งฟันบ้าง ในระหว่างแห่งท้องบ้าง แม้แห่งปลาทั้งหลายเหล่านั้น พึงร้อง. ก็น้ำอันเครื่องเบียดเบียนทั้งหลายใหญ่ ๆ มีอย่างนี้เป็นรูป ๆ เบียดเบียนแล้ว ย่อมไม่ร้อง เพราะเหตุใด, แม้เพราะเหตุนั้น บรมบพิตรจงทรงไว้ซึ่งปัญหานั้นอย่างนี้ว่า 'สภาพผู้เป็นหรือสัตว์ในน้ำ ย่อมไม่มี' ดังนี้."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาควรแก้ไข พระผู้เป็นเจ้าจำแนกแล้ว ด้วยวาจาเครื่องจำแนกอันเหมาะเจาะ.
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แก้วมณีใหญ่มีค่ามากมาถึงช่างแก้วมณีผู้เป็นอาจารย์ฉลาดเฉียบแหลมได้ศึกษาแล้ว พึงได้เกียรติคุณสรรเสริญชมเชย, หรือแก้วมุกดามาถึงช่างแก้วมุกดา, หรือผ้าอย่างดีมาถึงช่างทำผ้า, หรือแก่นจันทน์แดงมาถึงช่างปรุงเครื่องหอม พึงได้เกียรติคุณสรรเสริญชมเชย ฉันใด; ปัญหาควรแก้ไข พระผู้เป็นเจ้าจำแนกแล้วด้วยวาจาเครื่องจำแนกอันเหมาะเจาะ ฉันนั้นนั่นเทียวแล. ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้นสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๖. โลกนัตถิภาวปัญหา ๖๔

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมปรากฏในโลก, พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมปรากฏ, พระสาวกของพระตถาคตทั้งหลายย่อมปรากฏ, พระเจ้าจักรพรรดิทั้งหลายย่อมปรากฏ, พระเจ้าประเทศราชทั้งหลายย่อมปรากฏ, เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมปรากฏ, ชนที่มีทรัพย์ทั้งหลายย่อมปรากฏ, ชนที่ไม่มีทรัพย์ทั้งหลายย่อมปรากฏ, ชนที่ไปดีทั้งหลายย่อมปรากฏ, ชนที่ไปชั่วทั้งหลายย่อมปรากฏ, อิตถีลิงค์เป็นชัดแก่บุรุษปรากฏมี, ปุริสลิงค์เป็นชัดแก่สตรีก็ปรากฏ, กรรมอันบุคคลกระทำดีและกระทำชั่วแล้วย่อมปรากฏ, สัตว์ทั้งหลายผู้เสวยวิบากแห่งกรรมที่เป็นบุญและเป็นบาปทั้งหลายปรากฏอยู่, สัตว์ทั้งหลายที่เป็นอัณฑชะเกิดแต่ฟองเป็น ชลาพุชะ เป็นสังเสทชะ เป็นอุปปติกะก็มีอยู่ในโลก, สัตว์ทั้งหลายที่ไม่มีเท้า สองเท้า สี่เท้า เท้ามากมีอยู่, ยักษ์ทั้งหลาย ผีเสื้อทั้งหลาย กุมภัณฑ์ทั้งหลาย อสูรทั้งหลาย ทานพทั้งหลายคนธรรพ์ทั้งหลาย เปรตทั้งหลาย ปีศาจทั้งหลาย มีอยู่ในโลก, กินนรทั้งหลาย งูใหญ่ทั้งหลาย นาคทั้งหลาย สุบรรณทั้งหลาย ผู้สำเร็จทั้งหลาย วิทยาธรทั้งหลาย ย่อมมีอยู่, ช้างทั้งหลาย ม้าทั้งหลาย วัวทั้งหลาย ควายทั้งหลาย อูฐทั้งหลาย ลาทั้งหลาย แพะทั้งหลาย เจียมทั้งหลาย เนื้อทั้งหลาย สุกรทั้งหลาย สีหะทั้งหลาย เสือโคร่งทั้งหลาย เสือเหลืองทั้งหลาย หมีทั้งหลาย สุนัขป่าทั้งหลาย เสือแผ้วทั้งหลาย สุนัขทั้งหลาย สุนัขจิ้งจอกทั้งหลาย ล้วนมีอยู่, นกทั้งหลายมีอย่างมากมีอยู่, ทองคำ เงิน แก้วมุกดา แก้ว มณี สังข์ แก้วศิลา แก้วประพาฬ แก้วทับทิม แก้วลาย แก้วไพฑูรย์ เพชร แก้วผลึก กาลโลหะ ตามพะโลหะ วัฏฏโลหะ กังสะโลหะ มีอยู่, ผ้าโขมะ ผ้าโกไสย ผ้ากัปปาสิกะ ผ้าสาณะ ผ้าภังคะ ผ้ากัมพล มีอยู่ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวแดง ข้าวฟ่าง ข้าวกับแก้ ลูกเดือย ข้าวละมาน ถั่วเขียว ถั่วราชมาส งา ถั่วดำ ล้วนมีอยู่, กลิ่นแห่งราก กลิ่นแห่งแก่น กลิ่นแห่งกะพี้ กลิ่นแห่งเปลือก กลิ่นแห่งใบ กลิ่นแห่งดอก กลิ่นแห่งผล กลิ่นแห่งข้อ ล้วนมีอยู่, หญ้า และเครือเขา และกอไม้ และต้นไม้ และไม้ตายทราก และไม้เป็นเจ้าแห่งป่า และแม่น้ำ และภูเขา และสมุทร และปลา และเต่าทั้งหลาย ล้วนมีอยู่, สิ่งทั้งปวง มีอยู่ในโลก. สิ่งใดไม่มีในโลก พระผู้เป็นเจ้าจงกล่าวสิ่งนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด พระผู้เป็นเจ้า."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร สิ่งสามอย่างเหล่านี้ ย่อมไม่มีในโลก, สิ่งสามอย่าง คือ: สัตว์ที่มีเจตนาก็ดี ที่ไม่มีเจตนาก็ดี เป็นสัตว์ไม่แก่และไม่ตาย ย่อมไม่มีในโลก, ความที่สังขารทั้งหลายเป็นของเที่ยง ย่อมไม่มีในโลก, ความเข้าไปค้นได้ว่าสัตว์โดยปรมัตถ์ย่อมไม่มีในโลก. ขอถวายพระพร ของสามอย่างเหล่านี้ ย่อมไม่มีในโลก."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสม
อย่างนั้น ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๗. สติสัมโมสปัญหา ๖๕

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ความหลงลืมสติของพระอรหันต์มีหรือ?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระอรหันต์ทั้งหลายปราศจากความหลงลืมสติแล ความหลงลืมสติของพระอรหันต์ทั้งหลายย่อมไม่มี."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า ก็พระอรหันต์ต้องอาบัติหรือไม่?"
ถ. "ขอถวายพระพร ต้องซิ."
ร. "ต้องเพราะวัตถุอะไร?"
ถ. "ขอถวายพระพร ต้องเพราะทำกุฎี, ต้องเพราะสัญจริต, ต้องเพราะความสำคัญในวิกาลว่าเป็นกาล, ต้องเพราะความสำคัญในภิกษุผู้ห้ามข้าวแล้วว่าเป็นผู้ยังไม่ได้ห้ามข้าวแล้ว, ต้องเพราะสำคัญในภัตรเป็นอนติริตตะว่าเป็นอติริตตะ."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'ภิกษุทั้งหลายเหล่าใด ย่อมต้องอาบัติ ภิกษุทั้งหลายนั้น ย่อมต้องด้วยอาการทั้งหลายสอง คือ ต้องด้วยความไม่เอื้อเฟื้อบ้าง คือ ต้องด้วยความไม่รู้บ้าง.' อนาทริยะ ความไม่เอื้อเฟื้อมีแก่พระอรหันต์บ้างหรือ พระผู้เป็นเจ้า พระอรหันต์ต้องอาบัติเพราะความไม่เอื้อเฟื้อไรเล่า."
ถ. "ขอถวายพระพร หามีไม่?"
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าพระอรหันต์ต้องอาบัติ, แต่
อนาทริยะของพระอรหันต์ไม่มี, ถ้าอย่างนั้น ความหลงลืมสติของพระอรหันต์ย่อมมี ละซิ?"
ถ. "ขอถวายพระพร ความหลงลืมสติของพระอรหันต์ ย่อมไม่มี, ก็แต่ว่าพระอรหันต์ย่อมต้องอาบัติ."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า ถ้าอย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้าจงยังข้าพเจ้าให้ทราบด้วยเหตุ อะไรเป็นเหตุในความต้องนั้น?"
ถ. "ขอถวายพระพร กิเลสทั้งหลายสองประการเหล่านี้ คือ:โลกวัชชะหนึ่ง ปัณณัตติวัชชะหนึ่ง. โลกวัชชะเป็นไฉน: กรรมบถทั้งหลายที่เป็นอกุศลสิบประการ ประชุมแห่งกรรมบถเป็นอกุศลนี้ บัณฑิตย่อมกล่าวว่าโลกวัชชะ. ปัณณัตติวัชชะเป็นไฉน: กรรมอันใดไม่เหมาะ ไม่ควรแก่สมณะทั้งหลาย แต่เป็นอนวัชชะไม่มีโทษของคฤหัสถ์ทั้งหลายมีอยู่ในโลก, พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลาย ให้เป็นเขตแดนอันสาวกทั้งหลายพึงล่วงไม่ได้ ตราบเท่าสิ้นชีพเพราะกรรมนั้น.
ขอถวายพระพร วิกาลโภชน์เป็นอนวัชชะไม่มีโทษของโลก, วิกาลโภชน์นั้นเป็นสาวัชชะมีโทษในพระชินศาสนา; ความกระทำภูตคามให้กำเริบเป็นอนวัชชะของโลก, ความกระทำภูตคามให้กำเริบนั้นเป็นสาวัชชะในพระชินศาสนา, การรื่นเริงเล่นน้ำเป็นอนวัชชะของโลก, การรื่นเริงเล่นน้ำนั้นเป็นสาวัชชะในชินศาสนา; กรรมทั้งหลายเห็นปานฉะนี้ เป็นสาวัชชะในพระชินศาสนา; วัชชะนี้อันบัณฑิตย่อมกล่าวว่าเป็นปัณณัตติวัชชะ. กิเลสใดเป็นโลกวัชชะ พระขีณาสพไม่พอเพื่อจะประพฤติล่วงกิเลสนั้น, กิเลสใดที่เป็ฯปัณณัตติวัชชะ พระขีณาสพต้องกิเลสนั้นเพราะเไม่รู้.
ขอถวายพระพร การที่จะรู้กิเลสทั้งปวงมิใช่วิสัยของพระอรหันต์บางองค์, กำลังที่จะรู้กิเลสทั้งปวงย่อมไม่มีแก่พระอรหันต์โดยแท้ แม้ชื่อแม้โคตรแห่งสตรีบุรุษทั้งหลายอันพระอรหันต์ไม่รู้แล้ว, แม้ทางเดินในแผ่นดินอันพระอรหันต์นั้นยังไม่รู้สิ้นแล้ว; พระอรหันต์บางองค์พึงรู้ได้แต่วิมุตติอย่างเดียว, พระอรหันต์ที่ได้อภิญญาหกประการ พึงรู้ได้เฉพาะวิสัยของตน. พระตถาคตผู้สัพพัญญูเท่านั้น ย่อมรู้กิเลสทั้งปวง."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้น สม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๘. นิพพานอัตถิภาวปัญหา ๖๖

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน สัตว์ทั้งหลายเกิดแต่แกรรม ย่อมปรากฏในโลก, สัตว์ทั้งหลายเกิดแต่เหตุ ย่อมปรากฏ, สัตว์ทั้งหลายเกิดแต่อุตุ ย่อมปรากฏ, สิ่งใดที่ไม่เกิดแต่กรรม ไม่เกิดแต่เหตุ ไม่เกิดแต่อุตุ จงกล่าวสิ่งนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร ของทั้งหลายสองเหล่านี้ไม่เกิดแต่กรรม ไม่เกิดแต่เหตุ ไม่เกิดแต่อุตุในโลก, ของทั้งหลายสองเป็นไฉน: ของทั้งหลายสอง คือ อากาศไม่เกิดแต่กรรม ไม่เกิดแต่เหตุ ไม่เกิดแต่อุตุ, พระนิพพานไม่เกิดแต่กรรม ไม่เกิดแต่เหตุ ไม่เกิดแต่อุตุ.
ขอถวายพระพร ของสองประการเหล่านี้ ไม่เกิดแต่กรรม ไม่เกิดแต่เหตุ ไม่เกิดแต่อุตุแล."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้าจงอย่าหลู่ซึ่งพระพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว, ไม่รู้แล้วจงอย่าพยากรณ์ปัญหาเลย."
ถ. "ขอถวายพระพร อาตมภาพกล่าวปัญหาอะไร, พระองค์จึงรับสั่งกะอาตมภาพอย่างนี้ว่า 'พระผู้เป็นเจ้าจงอย่าหลู่ซึ่งพระพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้าผู้ชนะแล้ว ไม่รู้แล้วจงอย่าพยากรณ์ปัญหาเลย."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน การที่กล่าวว่า 'อากาศไม่เกิดแต่กรรม ไม่เกิดแต่เหตุ ไม่เกิดแต่ฤดู' ดังนี้ นี้ควรแล้วก่อน. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ก็มรรคเพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วแก่สาวกทั้งหลาย ด้วยเหตุทั้งหลายมิใช่ร้อยเดียว, ครั้นเมื่อเป็นเช่นนั้น พระผู้เป็นเจ้า กล่าวอย่างนี้ว่า 'พระนิพพานไม่เกิดแต่เหตุ ดังนี้."
ถ. "ขอถวายพระพร มรรคเพื่อกระทำนิพพานให้แจ้ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วแก่สาวกทั้งหลาย ด้วยเหตุทั้งหลายมิใช่ร้อยเดียวจริง, ก็แต่เหตุเพื่อความถือมั่นนิพพานอันพระองค์ไม่ตรัสแล้ว."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ในที่นี้ เราทั้งหลายจากที่มืดเข้าไปสู่ที่มืดกว่า, จากไพรเข้าไปสู่ไพรที่ทึบกว่า, จากชัฏเข้าไปสู่ชัฏที่รกกว่า, ชอบกล เหตุเพื่อทำนิพพานให้แจ้ง มีอยู่ แต่เหตุเพื่อความถือมั่นธรรม คือ นิพพานนั้นย่อมไม่มี พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่า เหตุเพื่อกระทำนิพพานให้แจ้งมีอยู่ไซร้, ถ้าอย่างนั้น เหตุเพื่อถือมั่นพระนิพพานอันบัณฑิตพึงปรารถนา.
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เหมือนบิดาของบุตรมีอยู่, เพราะเหตุนั้น บิดาแม้ของบิดาอันบัณฑิตพึงปรารถนา ฉันใด; อนึ่ง อาจารย์ของอันเตวาสิกมีอยู่, เพราะเหตุนั้น อาจารย์แม้ของอาจารย์ อันบัณฑิตพึงปรารถนา ฉันใด; อนึ่ง พืชของหน่อมีอยู่, เพราะเหตุนั้น พืชแม้ของพืชอันบัณฑิตพึงปรารถนา ฉันใด;
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าเหตุเพื่อทำนิพพานให้แจ้งมีอยู่ไซร้, ถ้าอย่างนั้น เหตุแม้เพื่อความถือมั่นพระนิพพานอันบัณฑิตพึงปรารถนาฉันนั้นนั่นแล. เหมือนกับว่า ครั้นเมื่อยอดแห่งต้นไม้ หรือเครือเขามีอยู่ เพราะเหตุนั้น แม้ท่ามกลางก็มีอยู่ โคนก็มีอยู่ ฉันใด, ถ้าเหตุเพื่อความกระทำนิพพานให้แจ้งมีอยู่, ถ้าอย่างนั้น เหตุเพื่อความถือมั่นนิพพานอันบัณฑิตพึงปรารถนา ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ถ. "ขอถวายพระพร พระนิพพานอันใคร ๆ ไม่พึงถือมั่น, เพราะฉะนั้น เหตุเพื่อความถือมั่นพระนิพพาน อันพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสแล้ว."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เชิญพระผู้เป็นเจ้าแสดงเหตุ ยังข้าพเจ้าให้ทราบด้วยเหตุ, ข้าพเจ้าพึงทราบอย่างไรว่า 'เหตุเพื่อกระทำนิพพานให้แจ้งมีอยู่ เหตุเพื่อความยึดมั่นพระนิพพานไม่มี."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น บรมบพิตรจงตั้งพระกรรณทรงสดับโดยเคารพ จงสดับให้สำเร็จประโยชน์เถิด, อาตมภาพจักกล่าวเหตุในข้อนั้น.
ขอถวายพระพร บุรุษพึงอาจเพื่อจะเข้าไปใกล้ราชบรรพตชื่อหิมวันต์ แต่ที่นี้ ด้วยกำลังอันมีอยู่โดยปกติหรือ?"
ร. "อาจซิ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็บุรุษนั้นอาจเพื่อจะนำราชบรรพตชื่อหิมวันต์ มาในที่นี้ ด้วยกำลังโดยปกติหรือ?"
ร. "ไม่พึงอาจเลย พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. ขอถวายพระพร มรรคเพื่อทำนิพพานให้แจ้ง อันพระผู้มีพระภาคเจ้าอาจเพื่อจะตรัส เหตุเพื่อความถือมั่นพระนิพพานนั้น อันพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่อาจเพื่อจะทรงแสดง ฉันนั้นนั่นแล.
ขอถวายพระพร บุรุษพึงอาจเพื่อจะข้ามมหาสมุทรด้วยเรือถึงฝั่งโน้น ด้วยกำลังอันมีอยู่โดยปกติหรือ?"
ร. "อาจซิ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร บุรุษนั้นอาจเพื่อจะนำฝั่งโน้นของมหาสมุทรมาในที่นี้ ด้วยกำลังอันมีอยู่โดยปกติหรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร มรรคเพื่อกระทำนิพพานให้แจ้ง อันพระผู้มีพระภาคเจ้าอาจเพื่อจะตรัส เหตุเพื่อความยึดมั่นพระนิพพาน อันพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่อาจเพื่อจะทรงแสดง ฉันนั้นนั่นเทียวแล; ซึ่งเป็นอย่างนี้ มีอะไรเป็นเหตุ? ซึ่งเป็นอย่างนี้ เพราะความที่ธรรมเป็นอสังขตะ."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระนิพพานเป็นอสังขตะหรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร พระนิพพานเป็นอสังขตะ พระนิพพานอันปัจจัยเหล่าไร ๆ กระทำไม่ได้แล้ว พระนิพพานเป็นธรรมชาติ อันใคร ๆ ไม่พึงกล่าวว่า พระนิพพานเกิดขึ้นแล้ว หรือว่าพระนิพพานนั้นไม่เกิดขึ้นแล้ว หรือว่าพระนิพพานนั้นเป็นของควรให้เกิดขึ้น หรือว่าพระนิพพานนั้น เป็นอดีต หรือว่าพระนิพพานนั้น เป็นอนาคต หรือว่าพระนิพพานนั้น เป็นปัจจุบัน หรือว่าพระนิพพานนั้น อันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ หรือว่านิพพานนั้น อันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยโสด หรือว่านิพพานนั้น อันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ หรือว่านิพพานนั้น อันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา หรือว่านิพพานนั้นอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยกาย."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าพระนิพพานนั้น ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นแล้ว ไม่เป็นธรรมยังไม่เกิดขึ้นแล้ว ไม่เป็นธรรมควรจะให้เกิดขึ้น ไม่เป็นอดีต ไม่เป็นอนาคต ไม่เป็นปัจจุบัน ไม่เป็นธรรม อันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ ไม่เป็นธรรมอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยโสตไม่เป็นธรรมอันบุคคลพึงรู้แจ้วด้วยฆานะ ไม่เป็นธรรมอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา ไม่เป็นธรรมอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยกาย, พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าอย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้าอ้างพระนิพพานไม่มีเป็นธรรมดา, นิพพานย่อมไม่มี."
ถ. "ขอถวายพระพร พระนิพพานมีอยู่, พระนิพพานอันบัณฑิตพึงรู้แจ้งด้วยใจ, พระอริยสาวกปฏิบัติแล้วชอบ ย่อมเห็นพระนิพพานด้วยใจ อันหมดจดวิเศษแล้ว ประณีตตรง ไม่มีกิเลสเครื่องกั้น ไม่มีอามิส."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ก็พระนิพพานนั้นเช่นไร พระนิพพานไรเล่า อันบัณฑิตทั้งหลายพึงแสดง ด้วยเหตุเครื่องอุปมาทั้งหลาย, พระนิพพานมีอยู่เป็นธรรมดา อันบัณฑิตพึงแสดงด้วยเหตุเครื่องอุปมาทั้งหลาย ด้วยประการใด ๆ ขอพระผู้เป็นเจ้ายังข้าพเจ้าให้ทราบ ด้วยเหตุทั้งหลาย ด้วยประการนั้น ๆ."
ถ. "ขอถวายพระพร ชื่อว่าลมมีหรือ?"
ร. "มีซิ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร เชิญบรมบพิตรทรงแสดงลมโดยวรรณหรือโดยสัณฐาน หรือละเอียดหรือหยาบ หรือยาวหรือสั้น."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ลมใคร ๆ ไม่อาจแสดงได้, ลมนั้นย่อมไม่เข้าถึงซึ่งความถือเอาด้วยมือหรือ หรือความขยำ, เออก็ แต่ลมมีอยู่."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าว่าลมอันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะชี้ได้, ถ้าอย่างนั้นลมไม่มี."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าทราบอยู่ ซึมทราบ ณ หฤทัยของข้าพเจ้าว่า 'ลมมีอยู่,' ก็แต่ว่า ข้าพเจ้าย่อมไม่อาจเพื่อจะชี้ลมได้."
ถ. "ขอถวายพระพร นิพพานมีอยู่, ก็แต่ว่า ใคร ๆ ไม่อาจเพื่อชี้โดยวรรณ หรือโดยสัณฐาน ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้ออุปมา พระผู้เป็นเจ้าแสดงดีแล้ว, เหตุพระผู้เป็นเจ้าแสดงออกดีแล้ว, ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๙. กัมมชากัมมชปัญหา ๖๗

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ในสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ สัตว์เหล่าไหน เป็นผู้เกิดแต่กรรม สัตว์เหล่าไหน เป็นผู้เกิดแต่เหตุ สัตว์เหล่าไหน เป็นผู้เกิดแต่ฤดู, สัตว์เหล่าไหน ไม่เกิดแต่กรรม สัตว์เหล่าไหน ไม่เกิดแต่เหตุ สัตว์เหล่าไหน ไม่เกิดแต่ฤดู?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นไปกับด้วยเจตนา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น เกิดแต่กรรม, ไฟด้วย พืชทั้งหลายทั้งปวงด้วย เป็นของเกิดแต่เหตุ, แผ่นดินด้วยภูเขาด้วย น้ำด้วย ลมด้วย ของทั้งปวงเหล่านั้น เป็นของเกิดแต่ฤดู, อากาศด้วย นิพพานด้วย สองสิ่งนี้ ไม่เกิดแต่กรรม ไม่เกิดแต่เหตุ ไม่เกิดแต่ฤดู.
ขอถวายพระพร ก็นิพพานอันใคร ๆ ไม่พึงกล่าวว่า เกิดแต่กรรมหรือว่าเกิดแต่เหตุ หรือว่าเกิดแต่ฤดู หรือว่าของเกิดขึ้นแล้ว หรือเป็นของยังไม่เกิดขึ้นแล้ว หรือว่าเป็นของควรให้เกิดขึ้น หรือว่าเป็นอดีต หรือว่าเป็นอนาคต หรือว่าเป็นปัจจุบัน หรือว่าเป็นธรรมอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ หรือว่าเป็นธรรมชาติอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยโสต หรือว่าเป็นธรรมชาติอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ หรือว่าเป็นธรรมชาติอันบุคคลพึงรู้ด้วยฆานะ หรือว่าเป็นธรรมชาติอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา หรือว่าเป็นธรรมชาติอันบุคคลพึงรู้แจ้งด้วยกาย.
ขอถวายพระพร พระอริยสาวกผู้ปฏิบัติแล้วโดยชอบนั้น ย่อมเห็นพระนิพพานใด ด้วยญาณเป็นของหมดจดพิเศษแล้ว พระนิพพานนั้นอันบัณฑิตพึงรู้แจ้งด้วยใจ."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาน่ารื่นรมย์ พระผู้เป็นเจ้าวินิจฉัยดีแล้ว สิ้นสงสัยเป็นไปแล้วส่วนเดียว วิมัติพระผู้เป็นเจ้าตัดเสียแล้ว เพราะมากระทบพระผู้เป็นเจ้า อันบวรกว่าเจ้าคณะอันประเสริฐ."


วรรคที่แปด
๑. ยักขมรณภาวปัญหา ๖๘

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ชื่อยักษ์ทั้งหลายมีในโลกหรือ?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร ชื่อยักษ์ทั้งหลายมีอยู่ในโลก."
ร. "ก็ยักษ์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเคลื่อนจากกำเนิดนั้นหรือพระผู้เป็นเจ้า?"
ถ. "ขอถวายพระพร ยักษ์ทั้งหลายเหล่านั้น ก็เคลื่อนจากกำเนิดนั้น."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ก็สรีระแห่งยักษ์ทั้งหลาย ที่ตายแล้วเหล่านั้น ย่อมไม่ปรากฏ, แม้กลิ่นแห่งทรากศพ ย่อมไม่ฟุ้งไปหรือ?"
ถ. "สรีระยักษ์ทั้งหลายที่ตายแล้ว อันใคร ๆ ย่อมเห็น, แม้กลิ่นแห่งทรากศพแห่งยักษ์ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมฟุ้งไป. สรีระแห่งยักษ์ทั้งหลายที่ตายแล้ว ย่อมปรากฏโดยเพศแห่งตั๊กแตนบ้าง ย่อมปรากฏโดยเพศแห่งหนอนบ้าง ย่อมปรากฏโดยเพศแห่งมดแดงบ้าง ย่อมปรากฏโดยเพศแห่งบุ้งบ้าง ย่อมปรากฏโดยเพศงูบ้าง ย่อมปรากฏโดยเพศแห่งแมลงป่องบ้าง ย่อมปรากฏโดยเพศแห่งตะขาบบ้าง ย่อมปรากฏโดยเพศแห่งนกบ้าง ย่อมปรากฏโดยเพศแห่งเนื้อบ้าง."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ก็ใครอื่นนอกจากบัณฑิต ผู้มีความรู้เช่นพระผู้เป็นเจ้า อันข้าพเจ้าถามแล้ว ซึ่งปัญหาอันนี้ จะพึงวิสัชนาได้."

๒. สกขาบทอปัญญาปนปัญหา ๖๙

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน อาจารย์ทั้งหลายแต่ปางก่อน ของหมอผู้เยียวยาทั้งหลายเหล่าใดนั้นได้มีแล้ว; อาจารย์ทั้งหลาย คือ: อาจารย์ชื่อ นารท หนึ่ง อาจารย์ชื่อ ธรรมมันตรี หนึ่ง อาจารย์ชื่อ อังคีรส หนึ่ง อาจารย์ชื่อ กปิละ หนึ่ง อาจารย์ชื่อ กัณฑรัคคิกามะ หนึ่ง อาจารย์ชื่อ อตุละ หนึ่ง อาจารย์ชื่อ ปุพพกัจจายนะ หนึ่ง อาจารย์ทั้งหลายเหล่านั้นแม้ทั้งปวง รู้แล้วซึ่งความเกิดขึ้นแห่งโรคด้วย โรคนิทานด้วย สภาวะด้วย สมุฏฐานด้วย ความเยียวยาด้วยกิริยาด้วย ความรักษาสำเร็จและไม่สำเร็จแล้วด้วย ทั้งปวงนั้นไม่มีส่วนเหลือ คราวเดียวทีเดียวว่า 'โรคทั้งหลายประมาณเท่านี้ จักเกิดขึ้นในกายนี้' จึงกระทำแล้วซึ่งความถือเอาเป็นหมวดโดยคราวอันเดียวผูกแล้วซึ่งด้าย. อาจารย์ทั้งหลายแม้ทั้งปวงเหล่านั้น ไม่ใช่สัพพัญญู. แต่พระตถาคตเป็นสัพพัญญู ทราบทราบกิริยาอนาคตด้วยพุทธญาณว่า 'สิกขาบทมีประมาณเท่านี้ จกเป็นสิกขาบทอันพระพุทธเจ้าพึงทรงบัญญัติ เพราะวัตถุชื่อมีประมาณเท่านี้' พระตถาคตทรงกำหนดได้แล้วไม่บัญญัติสิกขาบทโดยส่วนไม่เหลือเพื่อเหตุอะไร? ครั้นเมื่อวัตถุเกิดขึ้นแล้วและเกิดขึ้นแล้ว ครั้นเมื่อความถอยยศปรากฏแล้ว ครั้นเมื่อโทษเป็นไปพิสดารแล้ว เป็นไปกว้างขวางแล้ว ครั้นเมื่อมนุษย์โพนทนาอยู่ จึงทรงบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายแล้ว ในกาลนั้น ๆ.
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร ความบัญญัติสิกขาบทนั้น อันพระตถาคตทรงทราบแล้วว่า 'ในสมัยนี้ สิกขาบทร้อยห้าสิบถ้วน จักเป็นสิกขาบทอันพระพุทธเจ้าพึงบัญญัติ ในมนุษย์ทั้งหลายเหล่านี้,' เออก็ ความปริวิตกอย่างนี้ได้มีแล้วแด่พระตถาคตว่า 'ถ้าว่า เราพระตถาคตจักบัญญัติสิกขาบทร้อยห้าสิบถ้วน โดยคราวเดียวไซร้, มหาชนจักถึงความสะดุ้งว่า 'ในศาสนานี้ ต้องรักษามาก, การที่จะบวชในศาสนาของพระสมณโคดมกระทำได้ยากหนอแล' ชนทั้งหลายแม้ผู้ใคร่เพื่อจะบวช จักไม่บวช, ชนทั้งหลายจักไม่เชื่อคำของพระตถาคตด้วย, มนุษย์ทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อไม่เชื่อจักเป็นผู้ไปสู่อบาย; ครั้นเมื่อวัตถุเกิดขึ้นแล้วและเกิดแล้ว เราจักขอแล้วเพื่อจะแสดงธรรมครั้นเมื่อโทษปรากฏแล้ว จึงจักบัญญัติสิกขาบท."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อปริวิตกอย่างนี้ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย น่าอัศจรรย์ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ความปริวิตกของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย น่าพิศวง, พระสัพพัญญุตญาณของพระตถาคตใหญ่เพียงไรเล่า; พระผู้เป็นเจ่านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้น สมอย่างนั้น, ประโยชน์นั้นอันพระตถาคตแสดงออกดีแล้ว, ความสะดุ้งพร้อม พึงเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย เพราะฟังว่า 'ในศาสนานี้ต้องรักษามาก,' แม้บุคคลผู้หนึ่ง ไม่พึงบวชในพระชินศาสนา, ข้อวิสัชนาปัญหานั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO