นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน พฤหัสฯ. 28 มี.ค. 2024 5:42 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. 05 เม.ย. 2018 5:37 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4510
๙. คิหิปัพพชิตสัมมาปฏิปัตติปัญหา ๕๘

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระพุทธพจน์นี้อันพระผู้มีพระภาค แม้ทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราผู้ตถาคตย่อมสรรเสริญสัมมาปฏิบัติ ของคฤหัสถ์บ้าง ของบรรพชิตบ้าง, ภิกษุทั้งหลาย คฤหัสถ์ก็ดี บรรพชิตก็ดี เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้วเป็นผู้ยังญายธรรมเป็นกุศลให้บริบูรณ์ มีสัมมาปฏิบัติเป็นเหตุ' ดังนี้.
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าคฤหัสถ์นุ่งขาวบริโภคกามครอบครองที่เป็นที่นอน มีความคับแคบด้วยลูกและเมีย เสวยอยู่ซึ่งจันทน์ในเมืองกาสี ทรงระเบียบและของหอมและเครื่องลูบไล้อยู่ ยินดีเงินและทองอยู่ ผูกเกล้าอันวิจิตรด้วยแก้วมณีและทองคำ ปฏิบัติชอบแล้ว ยังญายธรรมเป็นกุศลให้บริบูรณ์, แม้บรรพชิตเป็นผู้โล้น นุ่งผ้าอันบุคคลย้อมแล้วด้วยน้ำฝาด เข้าอาศัยบิณฑาหารแห่งบุคคลอื่น ผู้ทำให้บริบูรณ์ในศีลขันธ์ทั้งหลายสี่โดยชอบ สมาทานประพฤติอยู่ในสิกขาบททั้งหลายร้อยห้าสิบ ประพฤติอยู่ในธุดงคคุณทั้งหลายสิบสามไม่เหลือปฏิบัติชอบแล้ว เป็นผู้ยังญายธรรมเป็นกุศลให้บริบูรณ์.
พระผู้เป็นเจ้า ในข้อนั้นใครจะวิเศษกว่ากัน คฤหัสถ์หรือบรรพชิตกรรม คือ ความเพียร ย่อมเป็นของไม่มีผล บรรพชาไม่มีผล ความรักษาสิกขาบทเป็นหมัน ความสมาทานคุณธรรมกำจัดกิเลสเป็นของเปล่า;ประโยชน์อะไรด้วยความประพฤติตามเป็นทุกข์ในบรรพชานั้นสุขอันบุคคลพึงได้โดยง่ายทีเดียวไม่ใช่หรือ?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราผู้ตถาคตย่อมสรรเสริญสัมมาปฏิบัติ ของคฤหัสถ์บ้าง ของบรรพชิตบ้าง, คฤหัสถ์ก็ดี บรรพชิตก็ดี เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว เป็นผู้ยังญายธรรมเป็นกุศลให้บริบูรณ์ มีสัมมาปฏิบัติเป็นเหตุ.' ข้อนั้นสมอย่างนั้น บุคคลผู้ปฏิบัติชอบแล้วทีเดียว เป็นผู้ประเสริฐสุด. แม้บรรพชิตมาคิดเสียว่า 'เราเป็นบรรพชิต' ดังนี้แล้ว ไม่พึงปฏิบัติโดยชอบ, บรรพชิตนั้นเป็นผู้ห่างเหินจากความเป็นสมณะเทียว เป็นผู้ห่างเหินจากความเป็นพราหมณ์เทียว;จะป่วยกล่าวอะไรถึงคฤหัสถ์ที่นุ่งผ้าขาว. แม้คฤหัสถ์เป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว เป็นผู้ยังญายธรรมเป็นกุศลให้บริบูรณ์ได้ แม้บรรพชิตเป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมเป็นผู้ยังญายธรรมเป็นกุศลให้บริบูรณ์ได้. เออก็ บรรพชิตเทียว เป็นอิสระ เป็นอธิบดีของสามัญ, บรรพชามีคุณมาก มีคุณเป็นอเนก มีคุณไม่มีประมาณ คุณของบรรพชาอันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะกระทำปริมาณได้.
เปรียบเหมือนราคาของแก้วมณี ซึ่งให้ความสมประสงค์อันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะกระทำปริมาณด้วยทรัพย์ได้ว่า 'มูลค่าของแก้วมณีมีประมาณเท่านี้ ๆ' ดังนี้ ฉันใด; บรรพชามีคุณมาก มีคุณเป็นอเนก มีคุณไม่มีประมาณ คุณของบรรพชาอันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะกระทำปริมาณได้ ฉันนั้น.
อีกประการหนึ่ง เปรียบด้วยคลื่นในมหาสมุทร อันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะกระทำปริมาณว่า 'คลื่นทั้งหลายในมหาสมุทรเท่านี้' ดังนี้ ฉันใด; บรรพชามีคุณมาก มีคุณเป็นอเนก มีคุณไม่มีประมาณ คุณทั้งหลายของบรรพชาอันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะกระทำปริมาณได้ ฉันนั้น. กิจอันใดอันหนึ่งของบรรพชิต ที่บรรพชิตจำต้องกระทำ กิจทั้งปวงนั้นย่อมสำเร็จฉับพลันไม่ช้า; ข้อนั้นมีอะไรเป็นเหตุ? บรรพชิตมีความปรารถนาน้อย เป็นผู้สันโดษ เป็นผู้วิเวกแล้ว เป็นผู้ไม่คลุกคลีแล้ว เป็นผู้ปรารภความเพียรแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาลัย เป็นผู้ไม่มีเรือนเป็นที่กำหนด มีศีลบริบูรณ์แล้ว มีอาจาระเป็นไปเพื่อสัลเลข เป็นผู้ฉลาดในความปฏิบัติกำจัดกิเลส; เพราะเหตุนั้น กิจอันใดอันหนึ่งของบรรพชิต ที่บรรพชิตจะต้องกระทำ กิจทั้งปวงนั้น ย่อมสำเร็จฉับพลันไม่ช้า. เปรียบเหมือนลูกศรที่ไม่มีปมเรียบขัดดีแล้ว ตรง ปราศมลทิน อันบุคคลยิงถนัดดีแล้ว ย่อมแล่นสะดวก ฉะนั้น."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้นสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."


วรรคที่เจ็ด
๑. หีนายวัตตนปัญหา ๕๙

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระศาสนาของพระตถาคตนี้ เป็นของใหญ่ เป็นสาระน่าเลือกสรร ประเสริฐสุดบวรไม่มีเครื่องเปรียบ บริสุทธิ์แล้ว ปราศจากมลทิน เป็นของขาวไม่มีโทษ, ไม่ควรแล้วเพื่อจะยังคฤหัสถ์มีประมาณเท่านั้นให้บรรพชา, ควรจะแนะนำคฤหัสถ์ไปในผลอันเดียวนั่นเทียว คฤหัสถ์นั้นไม่หวนกลับในกาลใด พึงให้บวชในกาลนั้น; ข้อนั้นมีอะไรเป็นเหตุ? ชนชั่วเหล่านี้บวชแล้ว ในพระศาสนานั้นซึ่งหมดจดวิเศษแล้วก่อน ย่อมเวียนมาเพื่อความกลับคืนเป็นคนเลว, เพราะความกลับของชนทั้งหลายเหล่านั้นมหาชนนี้ ย่อมคิดผิดอย่างนี้ว่า 'ชนทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมกลับคืนจากศาสนาใด ศาสนานั้นของพระสมณโคดมจักเป็นของเปล่าหนอ.' เหตุนี้เป็นเหตุในบรรพชานั้น."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร อุปมาเหมือนสระมีน้ำเต็มเปี่ยม น้ำสะอาดปราศจากมลทิน เย็น, ถ้าว่าผู้ใดผู้หนึ่งเศร้าหมองแล้ว มีตัวเปื้อนด้วยมลทินและเปือกตม ไปสู่สระน้ำแล้วไม่อาบ เป็นผู้เศร้าหมองอยู่นั่นเองกลับมา, ในสองอย่างนั้น มหาชนพึงติเตียนอย่างไหน จะพึงติเตียนบุคคลมีตนเศร้าหมองแล้ว หรือว่าควรจะติเตียนสระ?"
ร. "มหาชนควรจะติเตียนบุคคลผู้เศร้าหมองซิ พระผู้เป็นเจ้าบุคคลนี้ไปถึงสระแล้วหาอาบไม่ กลับเป็นคนเศร้าหมองกลับมาแล้วทำไมสระจึงจักให้บุคคลไม่อยากจะอาบนี้อาบได้เล่า, สระจะมีโทษอะไร."
ถ. "สระไม่มีโทษ ฉันใด; พระตถาคตทรงสร้างสระ คือ พระสัทธรรมอันประเสริฐ เต็มเปี่ยมแล้วด้วยน้ำ คือ วิมุตติอันประเสริฐด้วยทรงดำริว่า "บุคคลทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้เศร้าหมองแล้วด้วยมลทิน คือ กิเลส มีเจตนา มีปัญญาเครื่องรู้ บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น จักอาบลอยกิเลสทั้งปวงในสระ คือ พระสัทธรรมอันประเสริฐนี้;" ถ้าว่าบุคคลไร ๆ ไปถึงสระ คือ พระสัทธรรมอันประเสริฐนั้นแล้วไม่อาบแล้ว ทั้งกิเลสเทียวคืนกลับมา เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว, มหาชนจักติเตียนบุคคลนั้นนั่นเทียวว่า 'บุคคลนี้บรรพชาแล้วในพระชินศาสนา ไม่ได้ที่ตั้งอาศัยในศาสนานั้น เวียนมาแล้วเพื่อความเป็นคนเลว, พระชินศาสนาจักยังบุคคลผู้ไม่ปฏิบัตินี้ให้หมดจดเองอย่างไรได้ พระชินศาสนาจะมีโทษอะไร พระชินศาสนาไม่มีโทษอะไร ฉันนั้นแล.'
อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษมีพยาธิอย่างยิ่งเป็นไข้หนักเห็นหมอผู้เชือดลูกศร ผู้ฉลาดในโรคนิทาน มีเวชกรรมสำเร็จแล้วเป็นนิตย์ ไม่เปล่าแล้ว ไม่ยังหมอนั้นให้เยียวยารักษา พึงเป็นคนทั้งพยาธิกลับคืนมา, ในบุคคลสองนั้น ควรมหาชนจะติเตียนคนไหน ควรจะติเตียนคนไข้ หรือควรจะติเตียนหมอ ประการไร?"
ร. "ควรจะติเตียนคนไข้ซิ พระผู้เป็นเจ้า บุคคลไข้นี้เห็นหมอผู้เชือดลูกศร ผู้ฉลาดในโลกนิทาน ผู้มีเวชกรรมสำเร็จแล้ว เป็นนิตย์ไม่เปล่าแล้ว มิได้ให้หมอนั้นเยียวยารักษาให้หายพยาธิ เป็นคนทั้งพยาธิกลับมาแล้ว หมอจักเยียวยาคนไข้นี้ผู้ไม่ปรารถนาจะให้เยียวยารักษาเองอะไรได้ โทษอะไรของหมอเล่า พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร โทษของหมอไม่มี ฉันใด, พระตถาคตทรงเก็บโอสถ คือ อมฤตอันสามารถแล้ว ในอันจะให้พยาธิ คือ กิเลสทั้งสิ้นเข้าไประงับสิ้นเชิง ไว้ในผอบ คือ ภายในพระศาสนา ด้วยทรงดำริว่า 'บุคคลทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง อันพยาธิ คือ กิเลสเบียดเบียนแล้ว ยังมีเจตนาอยู่ มีปัญญาเครื่องรู้ บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นจักดื่มโอสถ คือ อมฤตนี้แล้ว ให้พยาธิ คือ กิเลสทั้งปวงเข้าไประงับสูญหายไป' ดังนี้; ถ้าว่าใคร ๆ ไม่ดื่มโอสถ คือ อมฤตนั้นแล้ว เป็นผู้ทั้งกิเลสทีเดียว กลับคืนมาแล้ว เวียนมาแล้ว เพื่อความเป็นคนเลว, มหาชนควรจักติเตียนบุคคลนั้นทีเดียวว่า 'บุคคลนี้บรรพชาแล้วในพระชินศาสนา ไม่ได้ที่ตั้งอาศัยในพระศาสนานั้นแล้ว เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว, พระชินศาสนาจักให้บุคคลผู้ไม่ปฏิบัตินั้น หมดจดบริสุทธิ์ไปเอง อะไรได้, พระชินศาสนาจะมีโทษอะไรเล่า พระศาสนาไม่มีโทษฉันนั้น.'
อีกประการหนึ่ง อุปมาเหมือนบุรุษที่หิวไหถึงที่เลี้ยงด้วยภัตรของบุคคลผู้มีบุญใหญ่แล้ว ไม่บริโภคภัตรนั้น เป็นคนหิวกลับมา, ในสองอย่างนั้น. ควรมหาชนจะติเตียนอย่างไหน จะติเตียนบุรุษผู้หิวมาหรือควรจะติเตียนบุญภัตรประการไร?"
ร. "ควรมหาชนจะติเตียนบุรุษผู้หิวว่า 'บุรุษนี้อันความหิวเบียดเบียนแล้ว ได้บุญภัตรแล้วไม่บริโภค หิวกลับมาแล้ว โภชนะจักเข้าปากของบุรุษนี้ ผู้ไม่บริโภคอะไรได้, โทษแห่งโภชนะอะไรเล่า."
ถ. "ขอถวายพระพร โภชนะไม่มีโทษ ฉันใด, พระตถาคตทรงเก็บโภชนะ คือ กายคตาสติ อร่อยอย่างยิ่ง ประเสริฐละเอียดบวรอย่างยิ่ง เป็นอมฤตประณีตไว้ในภายในผอบ คือ พระศาสนา ด้วยทรงดำริว่า 'บุคคลทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้มีภายในลำบากแล้วด้วยกิเลส มีใจอันตัณหาครอบงำแล้ว เป็นไปกับด้วยเจตนา มีปัญญาเครื่องรู้ บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น จักบริโภคโภชนะนี้แล้ว จักนำตัณหาทั้งปวงในกาม และรูปภพ และอรูปภพ ทั้งหลายออกเสียได้' ดังนี้; ถ้าว่าใคร ๆ ไม่บริโภคโภชนะนั้น เป็นผู้อาศัยตัณหาเทียว คืนกลับมาแล้ว เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว, ควรมหาชนจะติเตียนบุคคลนั้นนั่นเทียวได้ว่า 'บุคคลนี้บวชแล้วในพระชินศาสนา ไม่ได้ที่ตั้งอาศัยในพระศาสนานั้น เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว พระชินศาสนาจักยังบุคคลผู้ไม่ปฏิบัตินี้ ให้บริสุทธิ์หมดจดเองอะไรได้ โทษของพระชินศาสนาอะไรเล่า? พระชินศาสนาไม่มีโทษ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
ถ้าว่า พระตถาคตพึงยังบุคคลอันอาจารย์ แนะนำแล้วในผลส่วนหนึ่ง แต่ยังเป็นคฤหัสถ์ทีเดียวให้บรรพชา, บรรพชานี้ไม่ชื่อว่าเป็นไปเพื่อละกิเลส หรือไม่ชื่อว่าเป็นไปเพื่ออบรมวิสุทธิความหมดจดวิเศษ, กิจที่จะต้องกระทำในบรรพชาไม่มี.
เปรียบเหมือนบุรุษให้คนขุดสระ ด้วยการงานหลายร้อยแล้วจึงประกาศในบริษัทให้ได้ยินเนือง ๆ อย่างนี้ว่า 'ท่านผู้เจริญทั้งหลายท่านทั้งหลายใคร ๆ เป็นผู้เศร้าหมองแล้ว อย่าลงสระนี้, ท่านทั้งหลายจงลอยธุลีและเหงื่อไคลแล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว เกลี้ยงปราศจากมลทินแล้ว จงลงสระนี้; เออก็ กิจที่จะพึงกระทำด้วยสระนั้นพึงมีแก่บุรุษทั้งหลายผู้มีธุลีและเงื่อไคลอันลอยแล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ขัดเกลี้ยงแล้ว ไม่มีมลทินเหล่านั้นบ้างหรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า บุรุษทั้งหลายเหล่านั้น จะพึงเข้าไปใกล้สระนั้น เพื่อประโยชน์แก่กิจใด กิจนั้นอันบุรุษทั้งหลายเหล่านั้นกระทำเสร็จแล้วในที่อื่นนั่นเทียว, ประโยชน์อะไรด้วยสระนั้นแก่บุรุษทั้งหลายเหล่านั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าว่า พระตถาคตยังบุคคลอันอาจารย์แนะนำแล้วในผลส่วนหนึ่ง แต่ยังเป็นคฤหัสถ์ทีเดียวให้บวชแล้ว, กิจที่จะต้องกระทำในบรรพชานั้น อันชนทั้งหลายเหล่านั้นกระทำเสร็จแล้วนั่นเทียว ประโยชน์อะไรด้วยบรรพชาแก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น ข้อนี้ก็ฉันนั้นนั่นแล.
อีกประการหนึ่งเหมือนหมอผู้เชือดลูกศร บริโภคคัตรดังฤดีโดยสภาวะ ผู้ทรงไว้ซึ่งบทแห่งมนต์อันตฟังแล้ว ไม่ต้องตรึก เป็นผู้ฉลาดในโรคนิทาน เป็นผู้มีกรรมอันสำเร็จแล้วเป็นนิตย์ ไม่เปล่ารวบรวมเภสัชเป็นเครื่องระงับโรคทั้งปวง แล้วจึงประกาศในบริษัทให้ได้ยินเนือง ๆ อย่างนี้ว่า 'ผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายใคร ๆ จงอย่าเข้ามาในสำนักของเราทั้งพยาธิ และท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีพยาธิ ผู้ไม่มีโรค เข้ามาในสำนักของเรา,' เออก็ กิจที่จะต้องกระทำด้วยหมอนั้น พึงมีแก่บุคคลทั้งหลาย ผู้ไม่มีพยาธิผู้ไม่มีโรค บริบูรณ์แล้ว สบายใจอยู่ เหล่านั้นบ้างหรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า ชนทั้งหลายเหล่านั้นจะพึงเข้าไปใกล้หมอผู้เชือดลูกศรนั้น เพื่อประโยชน์แก่กิจอันใด กิจอันชนทั้งหลายเหล่านั้นกระทำเสร็จแล้วในที่อื่นนั่นเทียว, ประโยชน์อะไรด้วยหมอนั้นแก่ชนทั้งหลายเหล่านั้นเล่า."
ถ. "ขอถวายพระพร พระตถาคตถ้าพึงยังบุคลอันอาจารย์แนะนำแล้วในผลส่วนหนึ่ง แต่ยังเป็นคฤหัสถ์ทีเดียวให้บวชแล้ว, กิจที่จะต้องกระทำในบรรพชานั้น อันชนทั้งหลายเหล่านั้นกระทำเสร็จแล้วนั่นเทียว ประโยชน์อะไรด้วยบรรพชาแก่ชนทั้งหลายเหล่านั้นเล่าฉันนั้นนั่นเทียวแล.
อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษไร ๆ ให้ตกแต่งแล้วซึ่งโภชนะมีร้อยแห่งหม้อมิใช่ร้อยเดียว ประกาศให้ได้ยินเนือง ๆ ในบริษัทอย่างนี้ว่า 'ผู้เจริญทั้งหลาย ท่านทั้งหลายใคร ๆ ผู้หิวแล้ว จงอย่าเข้ามาสู่ที่เป็นที่เลี้ยงนี้ของเราเลย ท่านทั้งหลายผู้บริโภคดีแล้ว เบื่อแล้ว อิ่มแล้ว ชุ่มแล้ว บริบูรณ์แล้ว จงเข้าไปสู่ที่เป็นที่เลี้ยงนี้ของเรา' เออก็ กิจที่จะต้องกระทำด้วยโภชนะนั้น จะพึงมีแก่ชนทั้งหลายผู้บริโภคแล้ว เบื่อแล้ว อิ่มแล้ว ชุ่มแล้ว บริบูรณ์แล้ว บ้างหรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า ชนทั้งหลายเหล่านั้น 'พึงเข้าไปใกล้ที่เป็นที่เลี้ยงนั้น เพื่อประโยชน์แก่กิจใด กิจนั้นอันชนทั้งหลายเหล่านั้น กระทำเสร็จแล้วในที่อื่นนั่นเทียว, ประโยชน์อะไรด้วยที่เป็นที่เลี้ยงนั้นแก่ชนทั้งหลายเหล่านั้นเล่า."
ถ. "ขอถวายพระพร ชนทั้งหลายเหล่านั้นไม่ต้องการที่เป็นที่เลี้ยงนั้น ฉันใด, ถ้าพระตถาคตยังบุคคลอันอาจารย์แนะนำแล้วในผลส่วนหนึ่ง แต่ยังเป็นคฤหัสถ์ให้บวชแล้ว, กิจที่จะต้องกระทำในบรรพชานั้น อันชนทั้งหลายเหล่านั้นกระทำเสร็จแล้วนั่นเทียว ประโยชน์อะไรเล่าด้วยบรรพชา แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น ฉันนั้นนั่นเทียว.
ขอถวายพระพร เออก็ ชนทั้งหลายเหล่าใด เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว ชนทั้งหลายเหล่านั้น ได้ชื่อว่าแสดงคุณทั้งหลายอันใคร ๆ ชั่งไม่ได้ห้าประการ ของพระศาสนา ของพระชินพระพุทธเจ้า; แสดงคุณห้าเป็นไฉน: คือแสดงความที่ศาสนาเป็นของใหญ่โดยภูมิหนึ่ง คือ แสดงความที่ศาสนาเป็นของบริสุทธิ์แล้วปราศจากมลทินหนึ่ง คือ แสดงความที่ศาสนาเป็นที่ไม่อยู่ร่วมด้วยชนบาปทั้งหลายหนึ่ง คือแสดงความที่ศาสนาเป็นของอันบุคคลแทงตลอดโดยากหนึ่ง คือ แสดงความที่ศาสนาเป็นของอันบุคคลพึงระวังและรักษามากหนึ่ง.
ได้ชื่อว่าแสดงความที่ศาสนาเป็นของใหญ่โดยภูมิอย่างไร? ขอถวายพระพร บุรุษไม่มีทรัพย์ มีชาติเลว ไม่มีคุณวิเศษ เสื่อมแล้วจากความรู้ ได้เฉพาะแล้วซึ่งราชสมบัติใหญ่ เมื่อกาลไม่นาน
ย่อมตกต่ำ ย่อมกระจัดกระจาย ย่อมเสื่อมจากยศ ย่อมไม่อาจเพื่อจะทรงความเป็นอิสสระไว้ได้, ซึ่งเป็นอย่างนั้น มีอะไรเป็นเหตุ ซึ่งเป็นอย่างนั้น มีอะไรเป็นเหตุ ซึ่งเป็นอย่างนั้น เพราะความเป็นอิสสระเป็นของใหญ่ ฉันใด; บุคคลทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ไม่มีคุณวิเศษ มีบุญไม่ได้กระทำไว้แล้ว เสื่อมแล้วจากความรู้ ย่อมบรรพชาในพระศาสนาของพระพุทธเจ้า ผู้ชำนะแล้ว บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น ไม่อาจเพื่อจะทรงไว้ซึ่งบรรพชานั้น อันบวรสูงสุด เมื่อกาลไม่นานนั่นเทียว ตกขจัดเสื่อมจากพระชินศาสนาเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว ไม่อาจเพื่อจะทรงพระชินศาสนา, ซึ่งเป็นอย่างนี้ มีอะไรเป็นเหตุ? ซึ่งเป็นอย่างนี้ เพราะความที่ภูมิของพระชินศาสนาเป็นของใหญ่ ฉันนั้นนั่นแล. ชนทั้งหลายเหล่านั้น ชื่อว่าแสดงความที่ศาสนาเป็นของใหญ่โดยภูมิอย่างนี้.
ได้ชื่อว่าแสดงความที่ศาสนาเป็นของบริสุทธิ์แล้ว ปราศจากมลทินอย่างไร? อุปมาเหมือนน้ำเรี่ยรายอยู่บนใบบัว ย่อมกลิ้ง ย่อมขจัดไป ย่อมเข้าถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ ย่อมไม่เข่าไปทาใบบัวนั้นได้, ซึ่งเป็นอย่างนี้ มีอะไรเป็นเหตุ? ซึ่งเป็นอย่างนี้ เพราะความที่ใบบัวเป็นของบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน ฉันใด: ชนทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นผู้โอ่อวด เป็นผู้โกง เป็นผู้ลวง เป็นผู้คด เป็นผู้มีทิฏฐิไม่เสมอ บวชในพระชินศาสนา ชนทั้งหลายเหล่านั้นเมื่อกาลไม่นาน ย่อมเรี่ยรายคลาดไป กระจัดกระจายไปจากศาสนาอันบริสุทธิ์แล้ว และปราศจากมลทินและไม่มีเสี้ยนหนาม และขาวประเสริฐบวร ไม่ตั้งอยู่ได้ ไม่เข้าไปทาอยู่ได้ ย่อมเวียนไปเพื่อความเป็นคนเลว' ซึ่งเป็นอย่างนี้ มีอะไรเป็นเหตุ? ซึ่งเป็นอย่างนี้ เพราะพระชินศาสนาเป็นของบริสุทธิ์แล้ว และเป็นของปราศจากมลทิน ฉันนั้นนั่นแล. ชนทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมแสดงความที่ศาสนาเป็นของบริสุทธิ์และปราศจากมลทิน ด้วยประการอย่างนี้.
ได้ชื่อว่าแสดงความที่พระศาสนา เป็นของไม่อยู่ร่วมด้วยชนบาปทั้งหลายอย่างไร? ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนมหาสมุทร ย่อมไม่อยู่ร่มด้วยทรากศพที่ตายแล้ว ทรากศพใดที่ตายแล้วในมหาสมุทร มหาสมุทรนั้น ย่อมนำทรากศพนั้นเข้าไปสู่ฝั่งฉับพลันนั่นเทียว หรือซัดขึ้นบนบก, ซึ่งเป็นอย่างนี้ มีอะไรเป็นเหตุ? ซึ่งเป็นอย่างนี้ เพราะความที่มหาสมุทรเป็นพิภพของมหาภูตทั้งหลาย ฉันใด: ชนทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นบาป ไม่มีกิริยา มีความเพียรย่อหย่อนท้อถอยแล้ว เศร้าหมองแล้ว เป็นมนุษย์ทุรชนบวชนในพระชินศาสนา ชนทั้งหลายเหล่านั้นเมื่อกาลไม่นานทีเดียว ออกแล้วจากพระชินศาสนาเป็นพิภพของมหาภูต คือ พระชีณาสพอรหันต์ ผู้ปราศจากมลทินแล้วอยู่ร่วมไม่ได้ ย่อมเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว, ซึ่งเป็นอย่างนี้ มีอะไรเป็นเหตุ? ซึ่งเป็นอย่างนี้ เพราะพระชินศาสนาไม่เป็นที่อยู่ร่วมด้วยชนบาปทั้งหลาย ฉันนั้นนั่นแล. ชนทั้งหลายเหล่านั้นย่อมแสดงความที่พระชินศาสนาไม่เป็นที่อยู่ร่วมด้วยชนบาปทั้งหลาย ด้วยประการอย่างนี้.
ได้ชื่อว่าแสดงความที่พระศาสนา มีความแทงตลอดโดย
ยากอย่างไร? ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนคนยิงลูกศร ผู้ใดผู้หนึ่งไม่ฉลาดไม่ศึกษา ไม่มีศิลปศาสตร์ เสื่อมแล้วจากความรู้ ไม่อาจเพื่อจะยิงปลายแห่งขนทราย ย่อมคลาด ย่อมหลีกไป, ซึ่งเป็นอย่างนี้ มีอะไรเป็นเหตุ? ซึ่งเป็นอย่างนี้ เพราะความที่แห่งปลายแห่งขนทรายละเอียดสุขุม มีความยิงได้โดยยาก ฉันใด; ชนทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญาทรามเซ่อและมึนตึง หลงแล้ว มีคติเงื่อง บวชนในพระชินศาสนา ชนทั้งหลายเหล่านั้น ไม่อาจเพื่อจะแทงตลอด สัจจะทั้งสี่อันละเอียดสุขุมอย่างยิ่งนั้น เคลื่อนแล้ว หลีกไปแล้ว จากพระชินศาสนาเมื่อกาลไม่นานทีเดียว เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว ซึ่งเป็นอย่างนี้มีอะไรเป็นเหตุ? ซึ่งเป็นอย่างนี้ เพราะความที่สัจจะทั้งหลายเป็นของละเอียดสุขุมอย่างยิ่ง และมีความแทงตลอดโดยยาก ฉันนั้นนั่นแล. ชนทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมแสดงความที่พระศาสนามีความแทงตลอดโดยยาก ด้วยประการอย่างนี้.
ได้ชื่อว่าแสดงความที่พระศาสนา เป็นของต้องระวังและรักษามากอย่างไร? ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนบุรุษบางคนนั่นเทียวเข้าไปแล้วสู่ภูมิเป็นที่รบใหญ่ อันเสนาแห่งพระราชาองค์อื่นแวดล้อมแล้วโดยรอบ โดยทิศใหญ่น้อยทั้งหลาย เห็นชนมีหอกในมือเข้าไปใกล้แล้วถอยหลังกลับหนีไป, ซึ่งเป็นอย่างนี้ มีอะไรเป็นเหตุ? ซึ่งเป็นอย่างนี้เพราะความกลัวแต่การรักษาหน้าแห่งการรบ มีอย่างมาก ฉันใด; พาลชนทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ผู้กระทำบาป เป็นผู้ไม่สำรวมแล้ว เป็นผู้ไม่มีหิริ เป็นผู้ไม่มีกิริยา เป็นผู้ไม่มีขันติ เป็นผู้โยกโคลงคลอนแคลนแล้ว บวชในพระชินศาสนา พาลชนทั้งหลายเหล่านั้น ไม่อาจเพื่อจะรักษาสิกขาบทมีอย่างมาก ถอยหลับหนีไปเมื่อกาลไม่นานทีเดียวย่อมเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว, ซึ่งเป็นอย่างนี้ มีอะไรเป็นเหตุ? ซึ่งเป็นอย่างนี้ เพราะความที่พระชินศาสนาเป็นของมีความสำรวมมีอย่างมาก เป็นของต้องรักษา ฉันนั้นนั่นแล. ชนทั้งหลายเหล่านั้นย่อมแสดงความที่พระชินศาสนาเป็นของมีความสำรวมมีอย่างมาก และเป็นของต้องรักษา ด้วยประการอย่างนี้.
ขอถวายพระพร ดอกไม้ทั้งหลายในพุ่มดอกมะลิ แม้เป็น
ของอดม เกิดบนบก เป็นดอกไม้อันกิมิชาติเจาะแล้ว หน่อทั้งหลายเหล่านั้นเหี่ยวแล้ว ร่วงไปในระหว่างนั้นเทียว, แต่พุ่มแห่งมะลิก็ไม่ชื่อว่าเป็นของอันบุคคลดูหมิ่นแล้ว เพราะดอกไม้ทั้งหลายเหล่านั้นร่วงไปแล้ว, ดอกไม้ทั้งหลายเหล่าใด ที่คงเหลืออยู่ในพุ่มแห่งมะลินั้น ดอกไม้ทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมฟุ้งทั่วไปยังทิศใหญ่น้อย ด้วยกลิ่นโดยชอบ ฉันใด; ชนทั้งหลายเหล่าใดนั้น บรรพชาแล้วในพระชินศาสนา เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว, เว้นแล้วจากวรรณและกลิ่น มีอาการเหนื่อยหน่ายแล้วเป็นปกติ ไม่พอเพื่อความไพบูลย์ในพระชินศาสนา, แต่พระชินศาสนาก็ไม่ชื่อว่าเป็นของอันบัณฑิตดูหมิ่นแล้ว เพราะความที่ชนทั้งหลายเหล่านั้นเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว, ภิกษุทั้งหลายเหล่าใดที่คงเหลืออยู่ในพระชินศาสนานั้น ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมฟุ้งไปยังโลกกับทั้งเทพดาด้วยกลิ่นศีลอันประเสริฐ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
อีกประการหนึ่ง สาลีชาติชื่อกรุมพกะเกิดขึ้นแล้วในระหว่างแม้แห่งข้าวสาลีไม่มีโรคมีสีแดง ย่อมฉิบหายไปในระหว่างนั้นเทียว, แต่สาลีแดงก็ไม่มีชื่อว่าเป็นของอันบุคคลดูหมิ่นแล้ว เพราะความที่สาลีชาติชื่อกรุมพกะนั้นฉิบหายไปแล้ว, ข้าวสาลีทั้งหลายเหล่าใด ที่คงเหลืออยู่ในข้าวสาลีแดงนั้น ข้าวสาลีทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเป็นราชูปโภค ฉันใด; ชนทั้งหลายเหล่าใดนั้น บวชในพระชินศาสนาแล้วเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว ชนทั้งหลายเหล่านั้น เหมือนสาลีชาติชื่อกรุมพกะในระหว่างแห่งข้าวสาลีแดง ไม่เจริญแล้ว ไม่ถึงแล้วซึ่งความไพบูลย์ในพระชินศาสนา ย่อมเวียนมาเพื่อความเป็นคนเลวในระหว่างนั้นเทียว, แต่พระชินศาสนาก็ไม่เชื่อว่าเป็นของอันบัณฑิตดูหมิ่นแล้ว เพราะความที่ชนทั้งหลายเหล่านั้น เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว, ภิกษุทั้งหลายเหล่าใด คงเหลืออยู่ในพระชินศาสนานั้น ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้สมควรแก่พระอรหัตฉันนั้นนั่นแล. เหมือนเอกเทศแห่งแก้วมณีแม้เป็นของให้ซึ่งความสมประสงค์ เป็นของหยาบเกิดขึ้น, แต่แก้วมณีก็ไม่ชื่อว่าเป็นของอันบุคคลดูหมิ่นแล้ว เพราะความที่เอกเทศอันหยาบเกิดขึ้นแล้วในแก้วมณีนั้น, ส่วนใดที่เป็นของบริสุทธิ์แห่งแก้วมณีนั้น ส่วนนั้นเป็นของกระทำความร่าเริงแก่มหาชน ฉันใด; ชนทั้งหลายเหล่าใดนั้น บรรพชาแล้วในพระชินศาสนา เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว ชนทั้งหลายเหล่านั้น เป็นผู้หยาบดังกะเทาะไม้ในพระชินศาสนา, แต่พระชินศาสนาก็ไม่ชื่อว่าเป็นของอันบัณฑิตดูหมิ่นแล้ว เพราะความที่ชนทั้งหลายเหล่านั้น เวียนมาแล้วเพื่อความเป็นคนเลว, ภิกษุทั้งหลายเหล่าใด คงเหลืออยู่ในพระชินศาสนานั้น ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น เป็นผู้ยังความร่าเริงให้เกิดขึ้นแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลายฉันนั้นนั่นแล.
อนึ่ง เอกเทศแห่งจันทน์แดง แม้ถึงพร้อมแล้วด้วยชาติเป็นของผุมีกลิ่นน้อย, แต่จันทน์แดงไม่ชื่อว่าเป็นของอันบุคคลดูหมิ่นแล้ว เพราะเอกเทศที่ผุนั้น, ส่วนใดที่เป็นของไม่ผุ เป็นของมีกลิ่นดี ส่วนนั้นย่อมอบหอมฟุ้งออกไปโดยรอบ ฉันใด; ชนทั้งหลายเหล่าใด บรรพชาในพระชินศาสนาแล้ว เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว ชนทั้งหลายเหล่านั้น เป็นเหมือนส่วนที่ผุในระหว่างแห่งแก่นแห่งจันทน์แดง อันบุคคลพึงทิ้งเสีย ในพระชินศาสนา, แต่พระชินศาสนาก็ไม่ชื่อว่าเป็นของอันบัณฑิตดูหมิ่นแล้ว เพราะความที่บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลว, ภิกษุทั้งหลายเหล่าใด ที่คงเหลืออยู่ในพระชินศาสนานั้น ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมชโลทาโลกกับทั้งเทพดา ด้วยกลิ่นจันทน์แดง คือ ศีล อันประเสริฐ."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระชินศาสนาไม่มีโทษด้วยเหตุอันสมควรนั้น ๆ ด้วยเหตุสมอ้างนั้น ๆ พระผู้เป็นเจ้าให้ถึงแล้ว พระชินศาสนาพระผู้เป็นเจ้าแสดงแล้ว ด้วยความเป็นของประเสริฐสุด, แม้ชนทั้งหลายที่เวียนมาเพื่อความเป็นคนเลวอย่างนั้น ย่อมส่องความที่พระชินศาสนาเป็นของประเสริฐสุดทีเดียว."

๒. อรหโตกายิกเจตสิกเวทนาปัญหา ๖๐

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้าย่อมกล่าวว่า 'พระอรหันต์เสวยเวทนาเป็นไปในกายส่วนเดียว ไม่เสวยเวทนาเป็นไปในจิต' ดังนี้. จิตของพระอรหันต์อาศัยกายใดเป็นไป พระอรหันต์ไม่เป็นอิสสระ ไม่เป็นเจ้าของ ไม่ยังอำนาจให้เป็นไปในกายนั้นได้หรือหนอแล?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อที่พระอรหันต์นั้นไม่เป็น
อิสสระไม่เป็นเจ้าของ ไม่เป็นผู้ยังอำนาจให้เป็นไปในกายซึ่งเป็นไปตามจิตของตน ไม่สมควรแล้วแล, แม้นกอาศัยในรังใดก่อน นกนั้นย่อมอยู่เป็นอิสสระ เป็นเจ้าของ เป็นผู้ยังอำนาจให้เป็นไปในรังนั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร ธรรมทั้งหลายสิบเหล่านี้ประจำกาย ย่อมแล่นไปตาม ย่อมครอบงำกายทุก ๆ ภพ, ธรรมสิบประการเหล่าไหน: คือเย็น ร้อน ความอยากข้าว ความระหายน้ำ อุจจาระ ปัสสาวะ ความง่วงเหงาหาวนอน ความแก่ ความเจ็บ ความตาย.
ขอถวายพระพร ธรรมสิบประการเหล่านี้แลประจำกาย ย่อมแล่นไปตาม ย่อมครอบงำกายทุก ๆ ภพ พระอรหันต์ไม่เป็นอิสสระไม่เป็นเจ้าของ ไม่เป็นผู้ยังอำนาจให้เป็นไปในธรรมทั้งหลายสิบประการเหล่านี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน อำนาจหรือความเป็นใหญ่ไม่เป็นไปในกายของพระอรหันต์ด้วยเหตุไร? พระผู้เป็นเจ้าจงกล่าวเหตุในข้อนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด."
ถ. "สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดเหล่าหนึ่งซึ่งอาศัยแผ่นดิน สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นทั้งปวง อาศัยแผ่นดินเที่ยวไปอยู่ สำเร็จความเป็นอยู่, ขอถวายพระพร อาณาหรือความเป็นอิสสระ ของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น เป็นไปในแผ่นดินบ้างหรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร จิตของพระอรหันต์อาศัยกายเป็นไป, ก็แต่ว่าอาณาหรือความเป็นอิสสระไม่เป็นไปในกาย ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปุถุชนเสวยเวทนาทั้งในกายทั้งในจิต เพราะเหตุไร?"
ถ. "ขอถวายพระพร ปุถุชนเสวยเวทนาทั้งในกายทั้งในจิตเพราะความที่จิตไม่ได้อบรมแล้ว. มหาบพิตร โคหิวแล้ว อันความอยากรบกวนแล้ว อันเจ้าของพึงล่ามไว้ ด้วยหญ้าน้อย ๆ หรือด้วยเครือเขาทุรพลไม่มีกำลัง, เมื่อใด โคนั้นกำเริบแล้ว เมื่อนั้น โคนั้นย่อมหลีกไปกับด้วยหญ้าและเครือเขาที่ล่ามไว้แล้วนั้น ฉันใด; บรมบพิตรเวทนาเกิดขึ้นแล้ว ทำจิตของบุคคลผู้มีจิตไม่ได้อบรมแล้วให้กำเริบได้, จิตกำเริบแล้ว ย่อมคู้เข้าซึ่งกาย เหยียดออกซึ่งกายย่อมทำซึ่งความกลิ้งกลับ ฉันนั้นนั่นเทียวแล, ปุถุชนนั้นมีจิตไม่ได้อบรมแล้ว ย่อมสะดุ้งย่อมร้อง ย่อมร้องยิ่ง นำมาซึ่งความเป็นผู้ขลาดโดยแท้. เหตุนี้เป็นเหตุในข้อที่ปุถุชนต้องเสวยเวทนาทั้งในกายทั้งในจิตนี้."
ร. "พระอรหันต์ย่อมเสวยเวทนาส่วนเดียว แต่ในกาย ไม่เสวยเวทนาเป็นไปในจิต ด้วยเหตุใด เหตุนั้นเป็นอย่างไร."
ถ. "บรมบพิตร จิตของพระอรหันต์ อันพระอรหันต์ได้อบรมแล้ว ได้อบรมดีแล้ว ทรมานแล้ว ได้ทรมานดีแล้ว เชื่อฟังแล้ว ทำตามคำ, พระอรหันต์นั้นเป็นผู้อันเวทนาเป็นทุกข์ถูกต้องแล้ว ย่อมถือมั่นว่า เป็นอนิจจัง ย่อมล่ามไว้ซึ่งจิตในเสาคือสมาธิ, จิตนั้นของพระอรหันต์นั้น อันพระอรหันต์นั้นล่ามไว้แล้วที่เสาคือสมาธิแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ย่อมไม่กระสับกระส่าย เป็นจิตตั้งมั่นแล้ว ไม่ฟุ้งซ่านแล้ว, แต่ว่ากายของท่านย่อมคู้เข้า เหยียดออก กลิ้งเกลือก เพราะความแผ่ซ่านแห่งเวทนาวิการ. นี้เป็นเหตุในข้อที่พระอรหันต์เสวยเวทนาที่เป็นไปในกายอย่างเดียว ไม่เสวยเวทนาที่เป็นไปในจิตนี้."
ร. "พระนาคเสน ผู้เจริญ เมื่อกายกระสับกระส่ายอยู่ จิตย่อมไม่กระสับกระส่ายด้วยเหตุใด เหตุชื่อนั้นเป็นของอัศจรรย์ในโลก, พระผู้เป็นเจ้าจงกล่าวเหตุในข้อนั้นแก่ข้าพเจ้าเถิด."
ถ. "บรมบพิตร เมื่อต้นไม้ใหญ่ ๆ ถึงพร้อมแล้วด้วยลำต้นกิ่งและใบ เมื่อประชุมพร้อมแห่งกำลังลม กิ่งย่อมไหว, แม้ลำต้นของต้นไม้ใหญ่นั้นย่อมไหวด้วยหรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "บรมบพิตร พระอรหันต์อันเวทนาเป็นทุกข์ถูกต้องแล้วย่อมถือเอาให้เป็นอารมณ์ว่า เป็นอนิจจังมั่น เขาไปผูกล่ามจิตไว้ในหลักคือสมาธิ, จิตนั้นของพระอรหันต์นั้น อันพระอรหันต์ผูกล่ามไว้แล้วในหลักคือสมาธิแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว ย่อมไม่กระสับกระส่ายย่อมเป็นจิตตั้งมั่นแล้ว เป็นจิตไม่ฟุ้งซ่านแล้ว. กายของพระอรหันต์นั้นคู้เข้า เหยียดออก กลิ้งเกลือกไปมา เพราะความแผ่ซ่านแห่งเวทนาวิการ, ส่วนจิตของพระอรหันต์นั้นไม่หวั่นไหว ไม่กระสับกระส่ายเหมือนลำต้นไม้ใหญ่ ฉะนั้น."
ร. "น่าอัศจรรย์ละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน น่าพิศวงละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ความแสดงธรรมเป็นไปในกาลทั้งปวง เห็นปานฉะนี้อันข้าพเจ้าไม่เคยเห็นแล้ว."

๓. อภิสมยันตรายกรปัญหา ๖๑

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ในศาสนานี้คฤหัสถ์ผู้ใดผู้หนึ่งพึงเป็นผู้ต้องปาราชิกแล้ว, คฤหัสถ์นั้นพึงบวชโดยสมัยอื่น, บุคคลนั้นไม่รู้แม้ด้วยตนว่า 'เราเป็นคฤหัสถ์ เป็นผู้ต้องปาราชิกแล้ว,' ทั้งบุคคลอื่นไร ๆ ไม่บอก แม้แก่บุคคลนั้นว่า 'ท่านเป็นคฤหัสถ์ต้องปาราชิกแล้ว,' ก็ถ้าบุคคลนั้นปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น,ธรรมาภิสมัยความตรัสรู้ธรรม พึงมีแก่บุคคลนั้นบ้างหรือ?"
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร ธรรมาภิสมัยไม่มีแก่บุคคลนั้น."
ร. "เพราะเหตุไร พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร สิ่งใดเป็นเหตุแห่งธรรมาภิสมัย ของบุคคลนั้น สิ่งนั้นอันบุคคลนั้นเลิกถอนเสียแล้ว, เพราะเหตุนั้น ธรรมาภิสมัยจึงไม่มี."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'ความรำคาญย่อมมีแก่บุคคลที่รู้ เมื่อความรำคาญมีอยู่, ความห้ามธรรมาภิสมัยย่อมมี, เมื่อจิตอันธรรมดาห้ามแล้ว ธรรมาภิสมัยย่อมไม่มี.' พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ก็เมื่อบุคคลนั้นไม่รู้อยู่ไม่มีความรำคาญเกิดแล้วมีจิตสงบแล้วอยู่ ธรรมาภิสมัยย่อมไม่มีแก่บุคคลนั้น เพราะเหตุไร? ปัญหานั้นเป็นไปโดยอาการไม่เสมอ ๆ พระผู้เป็นเจ้าจงคิดแล้วจึงวิสัชนา."
ถ. "ขอถวายพระพร พืชอันให้ผลเป็นสาระ อันบุคคลหมักแล้วดี ย่อมขึ้นในนาอันเตียน อันบุคคลไถดีแล้ว มีเทือกดีหรือไม่?"
ร. "ขึ้นซิ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร พืชนั้นนั่นเทียว พึงขึ้นในพื้นศิลาบนเขาเป็นแท่งทึบหรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจา."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็พืชนั้นนั่นเทียว ย่อมขึ้นในเทือกเพื่อเหตุอะไร, ย่อมไม่ขึ้นเหนือหลังศิลาบนภูเขาเป็นแท่งทึบ เพื่อเหตุอะไร?"
ร. "เหตุในศิลาเป็นแท่งทึบ เพื่อจะงอกของพืชนั้น ย่อมไม่มี, พืชย่อมไม่ขึ้น โดยไม่มีแห่งเหตุ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร พืชนั้นย่อมขึ้นในเทือก ย่อมไม่ขึ้นในพื้นศิลาบนภูเขาเป็นแท่งทึบ ฉันใด, ธรรมาภิสมัย พึงมีแก่บุคลนั้นด้วยเหตุใด เหตุนั้นอันบุคคลนั้นเลิกถอนเสียแล้ว, ธรรมาภิสมัยย่อมไม่มีโดยไม่มีแห่งเหตุ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
อีกประการหนึ่ง ท่อนไม้ ก้อนดิน ไม้ค้อนและตะบองทั้งหลาย ย่อมเข้าถึงซึ่งอันตั้งอยู่ได้ในแผ่นดิน, ท่อนไม้ก้อนดินไม้ค้อนและตะบองทั้งหลายเหล่านั้นนั่นเทียว ย่อมเข้าถึงซึ่งอันตั้งอยู่ในอากาศได้หรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร ท่อนไม้ก้อนดิน และไม้ค้อน และตะบองทั้งหลาย ย่อมเข้าถึงซึ่งอันตั้งอยู่ได้ ในแผ่นดินอย่างเดียวด้วยเหตุใด อะไรเป็นเหตุนั้น ในความตั้งอยู่ได้นั้น, ตั้งอยู่ในอากาศไม่ได้เพราะเหตุไร?"
ร. "เหตุในอากาศ เพื่อความอาศัยตั้งอยู่แห่งท่อนไม้ ก้อนดิน ไม้ค้อน และตะบองทั้งหลายเหล่านั้นไม่มี, ท่อนไม้ ก้อนดิน ไม้ค้อนและตะบองทั้งหลายนั้น ตั้งอยู่ในอากาศไม่ได้โดยไม่มีแห่งเหตุ."
ถ. "ขอถวายพระพร ข้อนั้นฉันใด, เหตุแห่งอภิสมัยความตรัสรู้ของบุคคลนั้น อันโทษนั้นเลิกถอนเสียแล้ว, ครั้นเมื่อเลิกถอนเหตุเสียอภิสมัยย่อมไม่มี โดยอันไม่มีแห่งเหตุ ฉันนั้นนั่นเทียวแล.
อีกนัยหนึ่ง ไฟย่อมชัชวาลโพลงได้แต่บนบก, เพลิงนั้นย่อมชัชวาลโพลงได้ในน้ำด้วยหรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า เหตุในน้ำเพื่อความที่ไฟจะโพลงขึ้นไม่มี, ไฟย่อมไม่โพลงขึ้นโดยไม่มีแห่งเหตุ."
ถ. "ขอถวายพระพร เหตุในน้ำเพื่อความที่ไฟจะโพลงขึ้นไม่มี ไฟย่อมไม่โพลงขึ้นโดยไม่มีแห่งเหตุ ฉันใด, เหตุแห่งอภิสมัยของบุคคลนั้น อันโทษนั้นเลิกถอนเสียแล้ว, เมื่อเลิกถอนเหตุเสีย ธรรมาธิสมัยความตรัสรู้ธรรมย่อมไม่มี โดยอันไม่มีแห่งเหตุ ฉันนั้นนั่นเทียว."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ท่านจงคิดเนื้อความนั่นแม้อีก, จิตตสัญญัตติ ความเข้าใจในปัญหานั้น ย่อมไม่มีแก่ข้าพเจ้าว่า 'เมื่อความรำคาญไม่มี ความห้ามมรรคและผลและสวรรค์ ย่อมมีแก่บุคคลเมื่อไม่รู้' ดังนี้; เพราะฉะนั้น พระผู้เป็นเจ้าจงให้ข้าพเจ้าหมายรู้ด้วยเหตุเถิด?"
ถ. "ขอถวายพระพร เออก็ ยาพิษกล้าเกิน อันบุคคลแม้ไม่รู้เคี้ยวกินแล้ว ย่อมผลาญชีวิตเสียหรือไม่?"
ร. "ย่อมผลาญซิ."
ถ. "ขอถวายพระพร บาปอันบุคคลแม้เมื่อไม่รู้กระทำแล้ว ย่อมกระทำอันตายแก่อภิสมัย ฉันนั้นนั่นเทียว. เออก็ ไฟย่อมเผาบุคคลไม่รู้แล้วเหยียบไปหรือไม่?"
ร. "ย่อมเผาซิ."
ถ. "ขอถวายพระพร ไฟย่อมเผาบุคคลไม่รู้แล้วเหยียบไป ฉันใด, บาปอันบุคคลแม้เมื่อไม่รู้กระทำแล้ว เป็นกรรมกระทำอันตรายแก่อภิสมัย ฉันนั้นนั่นเทียวแล. เออก็ อสรพิษกัดบุคคลไม่รู้แล้ว ย่อมผลาญชีวิตเสียหรือไม่?"
ร. "ย่อมผลาญซิ."
ถ. "อสรพิษกัดบุคคลไม่รู้แล้ว ย่อมผลาญชีวิตเสีย ฉันใด, บาปอันบุคลแม้เมื่อไม่รู้กระทำแล้ว ย่อมเป็นกรรมกระทำอันตรายแห่อภิสมัย ฉันนั้นนั่นเทียวแล."
ขอถวายพระพร พระเจ้ากาลิงคราชสมณะโกลัญญะ เกลื่อนกล่นแล้วด้วยรัตนะเจ็ด ทรงรัตนะคชาธารเสด็จไปเพื่อจะทอดพระเนตรตระกูล แม้เมื่อไม่รู้ ไม่อาจแล้วเพื่อจะเสด็จโดยเบื้องบนแห่งโพธิมัณฑะประเทศเป็นที่ผ่องใสแห่งญาณชื่อโพธิ. บาปอันบุคคลแม้เมื่อไม่รู้กระทำแล้ว ย่อมเป็นกรรมกระทำอันตรายแก่อภิสมัย ด้วยเหตุใด เรื่องพระเจากาลิงคราชนี้ เป็นเหตุนั้นในความที่บาปอันผู้ไม่รู้กระทำแล้ว เป็นกรรมกระทำอันตายแก่อภิสมัยนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เหตุเป็นชินภาสิตอันใคร ๆ ไม่อาจเพื่อจะคัดค้าน, เนื้อความนั่นแหละ เป็นเนื้อความของชินภาสิตนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Bing [Bot] และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO