นวรัตน์ดอทคอม

รวบรวมสาระความรู้เกี่ยวกับวัตถุมงคล-เครื่องรางของขลัง

  • Increase font size
  • Default font size
  • Decrease font size
วันเวลาปัจจุบัน อังคาร 19 มี.ค. 2024 12:02 pm

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 
เจ้าของ ข้อความ
โพสต์โพสต์แล้ว: ศุกร์ 30 มี.ค. 2018 5:47 am 
ออฟไลน์

ลงทะเบียนเมื่อ: อาทิตย์ 07 มิ.ย. 2009 7:24 pm
โพสต์: 4501
๑๐. ภิกขุคณอเปกขภาวปัญหา ๒๐

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงภาสิตแล้วว่า 'ความดำริอย่างนี้ว่า 'เราจะบริหารภิกษุสงฆ์หรือ หรือว่าภิกษุสงฆ์มีตัวเราเป็นที่พำนัก' ดังนี้ มิได้มีแด่พระตถาคตเลย' ดังนี้. ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงคุณตามที่เป็นจริง ของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า เมตไตรย ได้ตรัสแล้วอย่างนี้ว่า 'พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า เมตไตรย นั้น จักบริหารภิกษุสงฆ์มิใช่พันเดียว เหมือนเราผู้ตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์มิใช่ร้อยเดียวอยู่ในกาลนี้ แม้ฉันนั้น' ดังนี้. ถ้าว่าพระผู้มีภาคได้ตรัสแล้วว่า 'ดูก่อนอานนท์ ความดำริอย่างนี้ว่า 'เราจะบริหารภิกษุสงฆ์หรือ หรือว่าภิกษุสงฆ์มีตัวเราเป็นที่พำนัก' ดังนี้ มิได้มีแด่พระตถาคตเลย' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'เราบริหารภิกษุสงฆ์มิใช่ร้อยเดียว' ดังนี้ นั้นเป็นผิด. ถ้าว่าพระตถาคตตรัสแล้ว่า 'เหมือนเราผู้ตถาคตบริหารภิกษุสงฆ์มิใช่ร้อยเดียวอยู่ในกาลนี้ แม้ฉันนั้น,' ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อนอานนท์ ความดำริว่า 'เราจะบริหารภิกษุสงฆ์หรือ หรือว่าภิกษุสงฆ์มีตัวเราเป็นที่พำนัก' ดังนี้ มิได้มีแด่พระตถาคตเลย' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ปัญหานั้นพระผู้เป็นเจ้า พึงแก้ไขให้แจ่มแจ้งเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาค แม้ได้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ว่า 'ดูก่อนอานนท์ ความดำริว่า 'เราจะบริหารภิกษุสงฆ์ดังนี้หรือ หรือว่าภิกษุสงฆ์มีตัวเราเป็นที่พำนัก'ดังนี้ อย่างนี้มิได้มีแด่พระตถาคตเลย' ดังนี้. เมื่อพระองค์ทรงแสดงคุณตามที่เป็นจริงของพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ทรงพระนามว่า เมตไตรย ได้ตรัสแล้วว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า เมตไตรยนั้น จักบริหารภิกษุสงฆ์มิใช่พันเดียว เหมือนเราบริหารภิกษุสงฆ์มิใช่ร้อยเดียวอยู่ในกาลนี้ แม้ฉันนั้น' ดังนี้. ก็ในปัญหานี้ เนื้อความหนึ่งเป็นสาวเสส มีส่วนเหลือเนื้อความหนึ่งเป็นนิรวเสสไม่มีส่วนเหลือ. พระตถาคตเจ้ามิได้ทรงดำเนินตามบริษัท. ส่วนบริษัทดำเนินโดยเสด็จพระตถาคตเจ้า. แม้วาจาว่าเรา ว่าของเรา นี้เป็นแต่สมมติ พระโองการตินี้มิใช่ปรมัตถ์. ความรักของพระตถาคตเจ้าปราศจากไปแล้ว ความเยื่อใยปราศจากไปแล้ว และความถือว่าของเรา ย่อมไม่มีแด่พระตถาคต, ก็แต่ว่าความอาศัยยึดเหนี่ยวย่อมมี. อุปมาเหมือนแผ่นดินเป็นที่อาศัยตั้งอยู่ของสัตว์ทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในพื้น สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ เป็นผู้ตั้งอยู่ในแผ่นดินโดยแท้, แต่ว่า ความเพ่งว่า 'สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ของเรา' ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่แผ่นดินใหญ่ ฉันใด; พระตถาคตเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ พึ่งพระตถาคตโดยแท้, ก็แต่ว่า ความเพ่งว่า 'สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ของเรา' ย่อมไม่มีแด่พระตถาคตเลย ฉันนั้น.
อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนมหาเมฆใหญ่ เมื่อยังฝนให้ตกเฉพาะกาล ย่อมให้ความเจริญแก่หญ้า และต้นไม้ และสัตว์ของเลี้ยง และมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมตามเลี้ยงไว้ซึ่งสันตติ, ก็สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น เป็นผู้อาศัยฝนเป็นอยู่, ก็แต่ว่า ความเพ่งว่า 'สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ของเรา' ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่มหาเมฆ ฉันใด; พระตถาคตยังกุศลธรรมให้เกิดแก่สัตว์ทั้งปวง ย่อมตามรักษาสัตว์ทั้งปวงไว้, ก็สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น เป็นผู้อาศัยพระศาสดาเป็นอยู่, แต่ว่า ความเพ่งว่า 'สัตว์ทั้งปวงเหล่านี้ ของเรา' ย่อมไม่มีแด่พระตถาคต ฉันนั้น; ซึ่งเป็นดังนั้นเพราะเหตุไร? ซึ่งเป็นดังนั้นเพราะความที่ทิฏฐิไปตามซึ่งตนพระตถาคตละเสียได้แล้ว."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาพระผู้เป็นเจ้าคลี่คลายออกได้แล้วด้วยเหตุทั้งหลายต่าง ๆ, ปัญหาลึกพระผู้เป็นเจ้ามากระทำให้ตื้นได้แล้ว, ขอดพระผู้เป็นเจ้าทำลายได้แล้ว, ชัฏพระผู้เป็นเจ้ากระทำไม่ให้เป็นชัฏแล้ว, มืดกระทำให้เป็นแสงสว่างแล้ว, ปรัปปวาททั้งหลายพระผู้เป็นเจ้าหักเสียแล้ว, จักษุของชินบุตรทั้งหลายอันพระผู้เป็นเจ้าให้เกิดขึ้นได้แล้ว."

วรรคที่สาม
๑. วัตถคุยหทัสสนปัญหา ๒๑

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระตถาคตแม้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ว่า 'ความสำรวมระวังด้วยกาย ความระวังด้วยวาจา ความระวังด้วยใจ เป็นของดีละอย่าง ๆ ความระวังในที่ทั้งปวง เป็นของดีกระทำประโยชน์ให้สำเร็จได้' ดังนี้. และพระตถาคตเจ้าเสด็จนั่งในท่ามกลางบริษัทสี่ ทรงแสดงอวัยวะที่จะพึงซ่อนในผ้าตั้งลงแล้วในฝักแก่พราหมณ์ชื่อ เสละ ต่อหน้าแห่งเทพดามนุษย์ทั้งหลาย. ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'ความระวังด้วยกายเป็นของดี' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระองค์แสดงอวัยวะที่จะพึงซ่อนในผ้าตั้งลงแล้วในฝักแก่เสลพราหมณ์นั้นเป็นผิด. ถ้าว่าพระตถาคตทรงแสดงอวัยวะที่จะพึงซ่อนในผ้าตั้งลงแล้วในฝักแก่เสลพราหมณ์, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ความระวังด้วยกายเป็นของดี' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว 'ความระวังด้วยกายเป็นของดี' ดังนี้. และทรงแสดงอวัยวะที่จะพึงซ่อนในผ้าตั้งลงแล้วในฝักแก่เสล พราหมณ์.
ขอถวายพระพร ความสงสัยในพระตถาคตเกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระกายมีส่วนเปรียบด้วยอวัยวะนั้น ด้วยฤทธิ์ เพื่อจะยังบุคคลนั้นให้รู้, บุคคลนั้นเท่านั้น ย่อมเห็นปาฏิหาริย์นั้น."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ใครเล่าจักเชื่อปาฏิหาริย์นั้น บุคคลไปในบริษัท ย่อมเห็นอวัยวะที่จะพึงซ่อนนั้นแต่ผู้เดียว ด้วยปาฏิหารย์ไรเล่า, คนทั้งหลายนอกนั้นมีในที่นั่นเทียว ไม่ได้เห็น. เชิญพระผู้เป็นเจ้าอ้างเหตุในข้อนั้น ยังข้าพเจ้าให้หมายรู้ด้วยเหตุเถิด."
ถ. "ขอถวายพระพร บรมบพิตรเคยทอดพระเนตรบ้างแล้วหรือบุรุษมีพยาธิบางคน พรักพร้อมด้วยญาติและมิตรมาแวดล้อมอยู่รอบข้าง?"
ร. "เคยเห็น พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร บุรุษเสวยทุกข์ รู้สึกเจ็บโดยเวทนาใด บริษัทหรือญาติและมิตรเห็นเวทนานั้นบ้างหรือ?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า บุรุษนั้น ย่อมเสวยทุกข์ รู้สึกเจ็บปวดแต่ตนผู้เดียว."
ถ. "ขอถวายพระพร ความสงสัยเกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลใด พระตถาคตทรงแสดงพระกายมีส่วนเปรียบด้วยอวัยวะ ที่จะพึงว่อนให้ลับในผ้า ด้วยฤทธิ์ของพระองค์ เพื่อยังบุคคลนั้นให้รู้แต่ผู้เดียว. บุคคลนั้นผู้เดียวเห็นปาฏิหาริย์นั้น ฉันนั้น ขอถวายพระพร.
อีกนัยหนึ่ง ภูตสิงบุรุษคนใดคนหนึ่ง, บริษัทนอกนั้น ย่อมเห็นความมาของภูตนั้นบ้างหรือ?"
ร. "หามิได้ บุรุษที่กระสับกระส่ายอยู่เท่านั้น ย่อมเห็นความมาของภูตนั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร บริษัทนอกนั้น ย่อมไม่เห็นความมาของภูตนั้น บุรุษที่กระสับกระส่ายอยู่เท่านั้น ย่อมเห็นความมาของภูตนั้นฉันใด, ความสงสัยในพระตถาคตเกิดขึ้นแล้วแก่บุคคลใด บุคคลนั้นผู้เดียว ย่อมเห็นปาฏิหาริย์แต่ผู้เดียว ฉันนั้น."
ร. "พระผู้เป็นเจ้า นาคเสน กิจที่บุคคลจะพึงกระทำโดยยาก พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงปาฏิหาริย์ที่ใคร ๆ จะพึงแสดงแม้แก่บุคคลผู้เดียวในท่ามกลางบริษัท ให้เห็นแต่ผู้เดียวไม่ได้นั้น ทรงกระทำได้แล้ว."
ถ. "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งจะได้ทรงแสดงอวัยวะที่จะพึงซ่อนแล้วนั้นหามิได้ล ก็แต่ว่า พระองค์ทรงแสดงพระฉายด้วยฤทธิ์."
ร. "เสล พราหมณ์ได้เห็นอวัยวะที่จะพึงซ่อนอันใดแล้ว จึงสันนิษฐานเข้าใจแน่ได้ เมื่อบุคคลได้เห็นพระฉาย ก็ได้ชื่อว่าเห็นอวัยวะที่จะพึงซ่อนนั้นทีเดียวนะ พระผู้เป็นเจ้า."
ถ. "ขอถวายพระพร พระตถาคตทรงกระทำแม้ซึ่งกรรมอันบุคคลกระทำได้โดยยาก เพื่อจะยังสัตว์ทั้งหลายที่ควรจะตรัสรู้ให้ตรัสรู้ ถ้าว่าพระตถาคตพึงกระทำกิจที่จะพึงกระทำให้เสื่อมไปเสีย, สัตว์ทั้งหลายที่ควรตรัสรู้ได้ จะไม่พึงตรัสรู้ พระตถาคตผู้รู้ซึ่งอุบายอันบุคคลพึงประกอบเพื่อจะยังสัตว์ทั้งหลายที่ควรตรัสรู้ให้ตรัสรู้ เพราะเหตุใด, เพราะเหตุนั้น สัตว์ทั้งหลายที่ควรจะตรัสรู้ ย่อมตรัสรู้ได้ด้วยอุบายอันจะพึงประกอบใด ๆ พระตถาคตยังสัตว์ที่ควรตรัสรู้ทั้งหลายให้ตรัสรู้ด้วยอุบายที่จะพึงประกอบนั้น ๆ.
ขอถวายพระพร เหมือนหมอผู้ฉลาด เมื่อจะเยียวยารักษาคนไข้ครั้นไปดูคนไข้เห็นแจ้งประจักษ์แล้วก็วางยา โรคควรจะสำรอกออกเสีย ก็ให้สำรอกเสีย โรคควรถ่ายยา ก็ให้ถ่ายเสีย โรคควรจะชโลมยา ทายา ก็ให้ชโลมยา ทายาเสีย โดยที่ควรจะรมก็รมเสีย รักษาด้วยยานั้น ๆ เอาความหายโรคเป็นประมาณ ฉันใด; สัตว์ทั้งหลายที่ควรตรัสรู้ จะตรัสรู้ได้ด้วยอุบายที่จะพึงประกอบใด ๆ พระตถาคตก็ให้ตรัสรู้ด้วยอุบายที่จะพึงประกอบนั้น ๆ ฉันนั้นนั่นเทียวแล ขอถวายพระพร.
อีกนัยหนึ่ง สตรีที่มีครรภ์หลงแล้วย่อมแสดงอวัยวะที่ควรซ่อนไม่ควรแสดงให้ใครเห็น แก่หมอผดุงครรภ์ ฉันใด, พระตถาคตทรงแสดงพระฉายที่ไม่ควรแสดงให้ใครเห็น ควรจะซ่อนไว้ ด้วยฤทธิ์เพื่อจะยังสัตว์ทั้งหลายที่ควรจะตรัสรู้ให้ตรัสรู้ ฉันนั้นนั่นเทียวแล. อาศัยยึดบุคคล โอกาสชื่อเป็นของไม่ควรแสดง ย่อมไม่มี. ถ้าว่าใคร ๆ พึงเห็นพระหฤทัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจึงตรัสรู้ได้, พระผู้มีพระภาคเจ้าพึงทรงแสดงพระหฤทัยแม้แก่บุคคลนั้น ด้วยอุบายที่จะพึงประกอบ. พระตถาคตเป็นผู้รู้อุบายที่จะพึงประกอบ และฉลาดในเทศนาพระตถาคตทรงทราบอัธยาศัยของพระเถรชื่อ
นันทะ นำพระนันทเถระนั้นไปสู่พิภพของเทพดา แล้วทรงแสดงนางเทพกัญญา ด้วยทรงพระดำริว่า 'กุลบุตรนี้จักตรัสรู้ได้ด้วยอุบายเครื่องประกอบนี้' ดังนี้, กุลบุตรนั้นก็ตรัสรู้แล้วด้วยอุบายเครื่องประกอบนั้นไม่ใช่หรือ?
ขอถวายพระพร พระตถาคตดูหมิ่นติเตียนสุภนิมิตโดยปริยายมิใช่อันเดียว เกลียดสุภนิมิต ทรงแสดงนางเทพอัปสรทั้งหลายมีสีเท้าดังสีเท้านกพิลาบ เพราะความตรัสรู้ของท่านเป็นเหตุ, พระ นันทเถระตรัสรู้ด้วยอุบายนั้น ดังนี้แล, พระตถาคตเป็นผู้รู้อุบายเครื่องประกอบเป็นผู้ฉลาดในเทศนา ด้วยอุบายอย่างนี้บ้าง ขอถวายพระพร.
คำที่จะพึงกล่าวยังมีอีก พระตถาคต เมื่อพระเถระจูฬปันถกอัน พระเถระผู้พี่ชายฉุดออกเสียจากวิหาร เกิดทุกขโทมนัส พระองค์เสด็จเข้าไปใกล้แล้ว ประทานท่อนผ้าอันละเอียดให้แล้ว ด้วยหวังพระหฤทัยว่า "กุลบุตรนี้จักตรัสรู้ด้วยท่อนผ้านี้'ดังนี้, กุลบุตรนั้นก็ถึงความเป็นผู้ชำนาญในพระชินศาสนา ด้วยเหตุนั้น. พระตถาคตเป็นผู้รู้อุบายเครื่องประกอบ เป็นผู้ฉลาดในเทศนาด้วยอุบายอย่างนี้บ้าง.
คำที่จะพึงกล่าวยังมีอีก พระตถาคต เมื่อพราหมณ์โมฆราชมาทูลถามปัญหาถึงสามครั้ง พระองค์มิได้ทรงพยากรณ์ด้วยความดำริว่า 'มานะของกุลบุตรนี้จักระงับไปด้วยอุบายอย่างนี้, ความตรัสรู้จักมีเพราะความที่มานะระงับไป' ดังนี้, มานะของกุลบุตรนั้นก็ระงับไปแล้ว ด้วยเหตุนั้น, เพราะความที่มานะระงับไป พราหมณ์นั้นถึงแล้วซึ่งความเป็นผู้ชำนาญในอภิญญา หกประการ. พระตถาคตเป็นผู้รู้อุบายเครื่องประกอบ เป็นผู้ฉลาดในเทศนาด้วยอุบายอย่างนี้บ้าง ดังนี้."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาพระผู้เป็นเจ้าแก้ไขด้วยดีแล้วด้วยเหตุทั้งหลายมากหลายประการ, ชัฏพระผู้เป็นเจ้ากระทำไม่ให้เป็นชัฏแล้ว, มืดกระทำให้เป็นแสงสว่างแล้ว, ขอดทำลายแล้วปรัปปวาททั้งหลายพระผู้เป็นเจ้าหักรานเสียแล้ว, จักษุพระผู้เป็นเจ้าได้ให้เกิดขึ้นแล้วแก่ชินบุตรทั้งหลาย, เดียรถีย์ทั้งหลาย มากระทบพระผู้เป็นเจ้าผู้ประเสริฐกว่าเจ้าคณะผู้ประเสริฐแล้ว หาปฏิภาณมิได้."

๒. ตถาคตผรุสวาจนัตถีติปัญหา ๒๒

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระเถระสารีบุตร ผู้ธรรมเสนาบดี แม้ภาสิตคำนี้ว่า 'พระตถาคตมีวจีสมาจารบริสุทธิ์แล้ว, พระตถาคตจะต้องรักษาวจีทุจริตอันใดด้วยคิดว่า 'บุคคลอื่นอย่าได้รู้วจีทุจริตนี้ของเราเลย' ดังนี้, วจีทุจริตนั้น ไม่มีแด่พระตถาคต, ดังนี้. ส่วนพระตถาคตทรงบัญญัติปาราชิก เพราะความผิดของพระเถระสุทิน ผู้บุตรแห่งกลันทเศรษฐี ร้องเรียกด้วยวาทะว่าโมฆบุรุษ เป็นวาจาหยาบ, พระเถระนั้น สะดุ้งแล้วด้วยความสะดุ้งอันหนัก มีความเดือดร้อนด้วยวาทะว่า โมฆบุรุษ ไม่อาจแล้วเพื่อจะแทงตลอดอริยมรรค, ถ้าว่าพระตถาคตมีวจีสมาจารบริสุทธิ์แล้ว, วจีทุจริตย่อมไม่มีแด่พระตถาคต, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระตถาคตร้องเรียกพระเถระ สุทิน ด้วยวาทะว่า โมฆบุรุษ เพราะโทษผิดของพระเถระสุทินกลันทบุตร' นั้นผิด. ถ้าว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงร้องเรียกด้วยวาทะว่า โมฆบุรุษ เพราะความผิดของพระเถระสุทินกลันทบุตร, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า พระตถาคตมีวจีสมาจารบริสุทธิ์แล้ว วจีทุจริตย่อมไม่มีแด่พระตถาคตแล้ว' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อนมาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, ปัญหานั้นพระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระเถระสามีบุตรผู้ธรรมเสนาบดี แม้ได้ภาสิตคำนี้ว่า 'ดูก่อนท่านผู้มีอายุ พระตถาคตมีวจีสมาจารบริสุทธิ์ พระตถาคตจะต้องรักษาวจีทุจริตใด ด้วยทรงดำริว่า 'บุคคลผู้อื่นอย่ารู้ทุจริตนี้ของเราเลย' ดังนี้, วจีทุจริตนั้น ย่อมไม่มีแด่พระตถาคต' ดังนี้. และพระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงบัญญัติปราราชิกเพราะโทษผิดของท่านผู้มีอายุ สุทินกลันทบุตร ทรงร้องเรียนแล้วด้วยวาทะว่า โมฆบุรุษ. ก็แลความร้องเรียกนั้น จะได้ร้องเรียกด้วยจิต อันโทษประทุษร้ายแล้ว ก็หาไม่, จะร้องเรียกด้วยเหตุคิดจะข่มกระทำอำนาจอวดอ้าง ก็หาไม่, ร้องเรียกแล้วด้วยลักษณะตามที่เป็นจริงอย่างไร. ก็ลักษณะตามที่เป็นจริงอย่างไร ในการร้องเรียกนั้นอย่างไร?
ขอถวายพระพร ความตรัสรู้อริยสัจสี่ ในอัตภาพนี้ ของบุคคลใดไม่มี, ความเป็นบุรุษของบุคคลนั้น เป็นของเปล่า, กิจอื่นที่ตนกระทำอยู่ย่อมเป็นพร้อม คือ สำเร็จโดยกิจอื่น, เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า 'โมฆบุรุษ บุรุษเปล่า' ดังนี้.
ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงร้องเรียกท่านผู้มีอายุสุทิน กลันทบุตร ด้วยคำตามเป็นจริง จะได้ทรงร้องเรียกด้วยวาทะที่ไม่จริงก็หาไม่ แม้ด้วยประการดังนี้."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน บุคคลใดด่าอยู่ ย่อมกล่าวความเป็นจริงก็ดี, ข้าพเจ้าปรับสินไหมแก่บุคคลนั้นตามโทษ, ความด่านั้นเป็นผิดทีเดียว, บุคคลนั้น อาศัยวัตถุประพฤติโวหารต่างด่าอยู่."
ถ. "ขอถวายพระพร ก็การไหว้ หรือการต้อนรับ หรือสักการะ หรือความเพิ่มให้บรรณาการแก่บุคคลแล้ว บรมบพิตรเคยได้ทรงสดับแล้วมีหรือ?"
ร. "ไม่เคยสดับเลย บุคคลผู้ผิดแล้วในท่านผู้ใดผู้หนึ่ง เพราะเหตุใดเหตุหนึ่ง เป็นผู้ควรจะขู่และคุกคาม, ราชบุรุษทั้งหลาย ย่อมตัดศีรษะของบุรุษนั้นเสียบ้าง ย่อมตีบุรุษนั้นบ้าง ย่อมจำไว้บ้าง ย่อมฆ่าเสียบ้าง ย่อมปรับบ้าง."
ถ. "ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น กิริยาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงกระทำแล้วไม่เป็นกิริยาเสียหายเลย"
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงกระทำแม้กิริยา พึงกระทำด้วยอาการเหมาะเจาะสมควร, โลกกับทั้งเทพดาย่อมกระดาก ย่อมละอายต่อพระตถาคตโดยยิ่ง แม้ด้วยการฟัง, ย่อมกระดาก ย่อมละอายต่อพระตถาคตโดยยิ่ง ด้วยการได้เห็น, ย่อมกระดาก ย่อมละอายต่อพระตถาคต ด้วยการเข้าไปหาและการนั่งใกล้ยิ่งขึ้นไปกว่าการได้เห็นนั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร หมอเยียวยา เมื่อโทษในกายหนาหนักกำเริบแล้ว ให้ยาคุมหรือเป็นไฉน?"
ร. "หาไม่ พระผู้เป็นเจ้า หมอนั้น ใคร่จะกระทำให้เป็นคนไม่มีโรค ให้ยาประจุที่ไซ้ทั้งหลาย."
ถ. "ขอถวายพระพร พระตถาคตย่อมให้ความพร่ำสอน เพื่อความระงับพยาธิ คือ กิเลสทั้งปวง ฉันนั้นนั่นเทียว. พระวาจาของพระตถาคตแม้หยาบ ก็คุมสัตว์ทั้งหลายไว้, กระทำสัตว์ทั้งหลายให้เป็นผู้อ่อน. เปรียบเหมือนน้ำแม้ร้อน ย่อมคุมสิ่งที่ควรจะคุมไว้อันใดอันหนึ่ง กระทำให้เป็นของอ่อนได้ ฉันใด, พระวาจาของพระตถาคตแม้หยาบก็มีประโยชน์ไปพร้อมแล้วด้วยพระกรุณา. อนึ่ง คำของบิดามีประโยชน์แก่บุตรทั้งหลายไปพร้อมแล้วด้วยกรุณา ฉันใด, พระวาจาของพระตถาคตถึงหยาบ ก็มีประโยชน์ไปพร้อมแล้วด้วยพระกรุณา ฉันนั้น. พระวาจาของพระตถาคตถึงหยาบ ก็เป็นเครื่องละกิเลส. มูตรโคแม้มีกลิ่นเหม็นที่ดื่มแล้ว ยาแม้มีรสเฝื่อนขมที่กินแล้ว ย่อมกำจัดพยาธิของสัตว์ทั้งหลายได้ ฉันใด, พระวาจาของพระตถาคตถึงหยาบ ก็มีประโยชน์ไปพร้อมแล้วด้วยพระกรุณา ฉันนั้น, อนึ่ง ปุยนุ่นแม้ใหญ่ ตกลงแล้วในกายของบุคคลอื่น ย่อมไม่กระทำความเสียดแทงแก่บุคคลนนฉันใด, พระวาจาของพระตถาคตถึงหยาบ ก็ไม่ให้เกิดทุกข์แก่ใคร ๆ ฉันนั้นนั่นเทียวแล ขอถวายพระพร."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาพระผู้เป็นเจ้าวินิจฉัยดีแล้ว ด้วยเหตุทั้งหลายมาก, ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๓. รุกขเจตนาเจตนปัญหา ๒๓

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระตถาคตแม้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้ว่า 'ดูก่อนพราหมณ์ ท่านเป็นผู้มีความเพียรปรารภแล้ว เป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว รู้อยู่ ถามความนอนเป็นสุขกะต้นไม้นี้ที่ไม่เจตนา ไม่ฟัง มิรู้ เพราะเหตุอะไร' ดังนี้. และตรัสแล้วอีกว่า 'แม้ต้นสะคร้อ, ได้ภาสิตแล้วในขณะนั่นเทียว อย่างนี้ว่า 'ดูก่อนพราหมณ์ภารทวาชโคตร คำแม้ของเราย่อมมี ท่านจงฟังคำเรา' ดังนี้. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าต้นไม้ไม่มีเจตนา, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ต้นสะคร้อเจรจากับด้วยพราหมณ์ภารทวาชโคตร' นั้นผิด, ถ้าว่าต้นสะคร้อเจรจากับพราหมณ์ภารทวาชโคตร, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ต้นไม้ไม่มีเจตนา' แม้นั้นก็ผิด, ปัญหานี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ทรงภาสิตพระพุทธพจน์นี้แล้วว่า 'ต้นไม้ไม่มีเจตนา' ดังนี้, และต้นสะคร้อเจรจากับด้วยพราหมณ์ภารทวาชโคตร, ก็แหละ คำนั้นท่านกล่าวแล้ว โดยสมมุติของโลก, ความเจรจาของต้นไม้ที่ไม่มีเจตนาไม่มี, เออก็คำที่ว่า "รุกโข ต้นไม้" นี้เป็นชื่อของเทพดาที่สิงอยู่ในต้นไม้นั้น, อนึ่ง คำที่ว่า 'ต้นไม้เจรจา' นั้นเป็นโลกบัญญัติ. เหมือนเกวียนเต็มแล้วด้วยข้าวเปลือก ชนย่อมกล่าวว่า 'เกวียนข้าวเปลือก' ดังนี้, ก็แต่ว่าเกวียนนั้น มิได้กระทำแล้วด้วยข้าวเปลือก, เกวียนนั้น สำเร็จแล้วด้วยไม้, ชนย่อมกล่าวว่า "ธญญสกฏํ เกวียนข้าวเปลือก" ดังนี้ ก็เพราะความที่ข้าวเปลือกเป็นของอันบุคคลบรรทุกแล้วในเกวียนนั้น ฉันใด: ต้นไม้จะเจรจาก็หาไม่, ต้นไม้เป็นของไม่มีเจตนา, ก็แต่ว่า เทพดาใดสิงอยู่ในต้นไม้นั้น คำที่ว่า "รุกโข ต้นไม้" นี้เป็นชื่อของเทพดานั้น, อนึ่ง คำที่ว่า 'ต้นไม้เจรจา' ดังนี้นั้น เป็นโลกบัญญัติ ฉันนั้นนั่นเทียว.
อีกนัยหนึ่ง บุคคลคนนมส้มอยู่ ย่อมกล่าวว่า 'เราคนเปรียง' ดังนี้, บุคคลนั้นคนวัตถุอันใดอยู่ วัตถุนั้นไม่ใช่เปรียง, บุคคลนั้นคนนมส้มนั่นเทียว ย่อมกล่าวว่า 'เราคนเปรียง' ดังนี้ ฉันใด: ต้นไม้เจรจาไม่ได้, ต้นไม้เป็นของไม่มีเจตนา, ก็แต่ว่า เทพดาใดที่สิงอยู่ในต้นไม้นั้น คำที่ว่า 'ต้นไม้' นี้เป็นชื่อของเทพดานั้น, อนึ่ง คำที่ว่า 'ต้นไม้เจรจา' ดังนั้น เป็นบัญญัติของโลก ฉันนั้นนั่นเทียว.
อีกนัยหนึ่ง ชนผู้ใคร่จะกระทำของที่ไม่มีให้สำเร็จ ย่อมกล่าวว่า 'เราจะกระทำของที่ไม่มีให้สำเร็จ,' ย่อมกล่าวของที่ไม่สำเร็จแล้วว่า 'เป็นของสำเร็จแล้ว,' วาจาอย่างนี้นั้น เป็นสมมติของโลก ฉันใด; ต้นไม้เจรจาไม่ได้, ต้นไม้เป็นของไม่มีเจตนา, ก็แต่ว่า เทพดาใดสิงอยู่ที่ต้นไม้นั้น คำที่ว่า 'ต้นไม้' นี้เป็นชื่อของเทพดานั้น, อนึ่งคำที่ว่า 'ต้นไม้เจรจา' ดังนี้นั้น เป็นบัญญัติของโลก ฉันนั้นเทียวแล.
ขอถวายพระพร ชนย่อมกล่าวโดยสมมติของโลก ฉันใด, แม้พระตถาคตทรงแสดงธรรมแก่สัตว์ทั้งหลาย ตามสมมติของโลก ฉันนั้นนั่นเทียว."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ดีละ ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๔. เทวปิณฑปาตมหัปผลภาวปัญหา ๒๔

พระราชาตรัสถามว่า"พระผู้เป็นเจ้านาคเสน คำนี้ พระเถระทั้งหลายผู้กระทำธรรมสังคายนา แม้ภาสิตแม้ว่า 'เราได้ฟังแล้วว่า พระพุทธเจ้าเสวยภัตรของนางช่างทองชื่อจุนทะ แล้วจึงประชวรหนัก มีมรณะเป็นส่วนสุด' ดังนี้. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอีกว่า 'ดูก่อนอานนท์บิณฑบาตทั้งหลายสองนี้เสมอกัน มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน, มีผลใหญ่โดยพิเศษด้วย มีอานิสงส์ใหญ่โดยพิเศษด้วย เกินกว่าบิณฑบาตทั้งหลายอื่นนั่นเทียว' ดังนี้. ถ้าว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยภัตรของนางช่างทองชื่อ จุนทะ อาพาธกล้าเกิดขึ้นแล้ว เวทนาหนักมีมรณะเป็นส่วนสุดเป็นไปแล้ว, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ดูก่อนอานนท์บิณฑบาตทั้งหลายสองเหล่านี้เสมอกัน มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน, มีผลใหญ่พิเศษด้วย มีอานิสงส์ใหญ่พิเศษด้วย เกินกว่าบิณฑบาตทั้งหลายอื่นนั่นเทียว' ดังนี้ นั้นเป็นผด. ถ้าว่าบิณฑบาตทั้งหลายแม้สองเหล่านี้เสมอกัน มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน, มีผลใหญ่พิเศษด้วย มีอานิสงส์ใหญ่พิเศษด้วย เกินกว่าบิณฑบาตทั้งหลายอื่นนั่นเทียว, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยภัตรของนายจุนทะแล้วอาพาธกล้าเกิดขึ้นแล้ว เวทนาหนักมีมรณะเป็นที่สุดเป็นไปแล้ว' แม้นั้นก็ผิด. พระผู้เป็นเจ้านาคเสน บิณฑบาตนั้นมีผลใหญ่โดยความเป็นของเป็นไปแล้วด้วยยาพิษ มีผลใหญ่โดยความเป็นของยังโรคให้เกิดขึ้นมีผลใหญ่โดยความเป็นของกระทำอายุให้พินาศไป มีผลใหญ่โดยความเป็นของนำชีวิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าไปหรือหนอ? พระผู้เป็นเจ้าจงกล่าวเหตุในข้อนั้นแก่ข้าพเจ้า เพื่อจะข่มปรัปปวาททั้งหลายเสีย. ชนนี้เป็นผู้หลงพร้อมในข้อนี้ว่า "โรคลงแดงเกิดขึ้นแล้ว เพราะอาหารที่เสวยแล้วมากเกิน ด้วยอำนาจแห่งความโลภ." ปัญหาแม้นี้สองเงื่อนมาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าพึงขยายให้แจ้งชัดเถิด.
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร คำนี้ พระเถระทั้งหลายผู้กระทำธรรมสังคายนาแม้ภาติไว้แล้วว่า 'เราได้ฟังแล้วว่า พระพุทธเจ้าเสวยภัตรของนายช่างทองชื่อจุนทะแล้ว ประชวรหนักมีมรณะเป็นที่สุด' ดังนี้. ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแล้วอีกว่า 'ดูก่อนพระอานนท์บิณฑบาตทั้งหลายสองเหล่านี้เสมอกัน มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน, มีผลใหญ่พิเศษด้วย มีอานิสงส์ใหญ่พิเศษด้วย เกินกว่าบิณฑบาตทั้งหลายอื่นนั่นเทียว: บิณฑบาตทั้งหลายสองเหล่าไหน? บิณฑบาตทั้งหลายสอง คือ: พระตถาคตเสวยบิณฑบาตใดแล้วจึงตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณ ไม่มีปัญญาอื่นยิ่งกว่า บิณฑบาตนั้นหนึ่ง, พระตถาคตเสวยบิณฑบาตใดแล้วจึงเสด็จปรินิพพานด้วยนิพพานธาตุ เป็นอนุปาทิเสสไม่มีขันธปัญจกที่กรรมกิเลสยึดมั่นเป็นส่วนเหลือ บิณฑบาตนั้นหนึ่ง, บิณฑบาตทั้งหลายสองเหล่านี้เสมอกัน มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน, มีผลใหญ่พิเศษด้วย มีอานิสงส์ใหญ่พิเศษด้วย เกินกว่าบิณฑบาตทั้งหลายอื่นนั่นเทียว.' ก็แหละบิณฑบาตนั้นมีคุณมาก มีอานิสงส์มิใช่อย่างเดียว. เทพดาทั้งหลายชื่นชมแล้ว มีใจเลื่อมใสแล้วว่า 'บิณฑบาตนี้ เป็นบิณฑบาตครั้งสุดท้ายของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้' แล้วจึงแทรกโอชาทิพย์ลงในมังสะสุกรอ่อน. ก็แหละโอชาทิพย์นั่นเป็นของแปรโดยชอบ แปรเร็ว เป็นที่ยังใจให้ยินดี มีรสมาก เกื้อกูลแก่เพลิงธาตุในพระอุทร, โรคอะไร ๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า จะเกิดขึ้นแล้วเพราะแทรกโอชาทิพย์นั้นเป็นเหตุก็หาไม่, เออก็ เมื่อพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าทุพลภาคอยู่โดยปกติแล้ว พระชนมายุสังขารสิ้นแล้ว ครั้นโรคเกิดขึ้นแล้ว จึงกำเริบยิ่งขึ้นไป. เหมือนไฟโพลงอยู่โดยปกติ เมื่อใคร หยิบเชื้ออื่นเติมเข้าไปในไฟนั้น ไฟนั้นยิ่งโพลงชัชวาลหนักขึ้น ฉันใด, เมื่อพระสรีระของพระผู้มีพระภารเจ้าทุพลภาพอยู่โดยปกติ พระชนมายุสังขารสิ้นแล้ว พระโรคเกิดขึ้นแล้ว จึงยิ่งกำเริบหนักขึ้น ฉันนั้น.
อีกนัยหนึ่ง กระแสน้ำไหลอยู่โดยปกติ ครั้นมหาเมฆตกเติมแล้วเป็นห้วงใหญ่ พาน้ำเชี่ยวหนักขึ้น ฉันใด, เมื่อพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าทุพลภาพอยู่โดยปกติ พระชนมายุสังขารสิ้นแล้ว พระโรคเกิดขึ้นแล้ว จึงยิ่งกำเริบหนักขึ้น ฉันนั้น.
อีกอย่างหนึ่ง ท้องมีวาโยธาตุกำเริบขึ้นอยู่โดยปกติ เมื่อบริโภคอาหารอื่นที่ดิบซ้ำเข้าไปยิ่งอืดหนักขึ้น ฉันใด, พระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้าทุพลภาพอยู่โดยปกติ พระชนมายุสังขารสิ้นแล้ว พระโรคเกิดขึ้นแล้ว จึงยิ่งกำเริบหนักขึ้น ฉันนั้นนั่นเทียวแล. โทษในบิณฑบาตนั้นมิได้มี, อนึ่งบัณฑิตไม่อาจเพื่อจะยกโทษแก่บิณฑบาตนั้น."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน บิณฑบาตทั้งหลายสองเหล่านั้นเสมอกัน มีผลเสมอกัน มีวิบากเสมอกัน, มีผลใหญ่พิเศษด้วย มีอานิสงส์ใหญ่พิเศษด้วย เหลือเกินกว่าบิณฑบาตทั้งหลายอื่น เพราะเหตุไร?"
ถ. "ขอถวายพระพร บิณฑบาตทั้งหลายสองเหล่านั้นเสมอกัน ฯลฯ มีผลใหญ่พิเศษด้วย มีอานิสงส์ใหญ่พิเศษด้วย เหลือเกินกว่าบิณฑบาตทั้งหลายอื่น ด้วยอำนาจความถึงพร้อมธรรม."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน บิณฑบาตทั้งหลายสองเหล่านั้นเสมอกัน ฯลฯ มีอานิสงส์ใหญ่พิเศษด้วย เหลือเกินกว่าบิณฑบาตทั้งหลายอื่นนั่นเทียว ด้วยอำนาจความถึงพร้อมธรรมทั้งหลายเหล่าไหน?"
ถ. "ขอถวายพระพร บิณฑบาตทั้งหลายสองเหล่านั้นเสมอกัน ฯลฯ มีผลใหญ่พิเศษด้วย มีอานิสงส์ใหญ่พิเศษด้วย เหลือเกินกว่าบิณฑบาตทั้งหลายอื่น ด้วยอำนาจแห่งการเข้าอนุบุพพวิหารสมาบัติทั้งหลายเก้า ทั้งอนุโลมและปฏิโลม."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ในสองวันเท่านั้น เร็วนัก พระตถาคตเจ้าอนุบุพพวิหารสมาบัติทั้งหลายเก้า เป็นอนุโลมและปฏิโลมทันหรือ?"
ถ. "ขอถวายพระพร เพียงในสองวันเท่านั้น พระตถาคตเข้าอนุบุพพวิหารสมาบัติทั้งหลายเก้า เป็นอนุโลมและปฏิโลมทัน."
ร. "น่าอัศจรรย์ น่าพิศวง ทานใดที่เป็นอสทิสทาน ไม่มีทานอื่นเหมือน และเป็ฯบรมทานทานอย่างยิ่งในพุทธเขตนี้ แม้ทานนั้นท่านไม่นับแล้ว โดยบิณฑบาตทั้งหลายสองเหล่านี้. น่าอัศจรรย์ พระผู้เป็นเจ้า น่าพิศวง พระผู้เป็นเจ้า, อนุบุพพวิหารสมาบัติทั้งหลายเก้าใหญ่เพียงไรเล่า. ทานย่อมมีผลใหญ่พิเศษ และมีอานิสงส์ใหญ่พิเศษด้วยอำนาจอนุบุพพวิหารสมาบัติเก้าประการ. ดีละ พระผู้เป็นเจ้า ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั้น สมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๕. พุทธปูชานุญญาตปัญหา ๒๕

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ได้ทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนอานนท์ ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีความขวนขวาย เพื่อจะบูชาพระสรีระของพระตถาคต' ดังนี้ และตรัสแล้วอีกว่า 'ท่านทั้งหลายจงบูชาธาตุแห่งบุคคลควรบูชานั้น ท่านทั้งหลายจักไปสู่สวรรค์แต่โลกนี้ ด้วยการกระทำบูชาอย่างนี้' ดังนี้ ถ้าพระตถาคตตรัสแล้วว่า 'ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีความขวนขวายเพื่อจะบูชาพระสรีระของพระตถาคต' ดังนี้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'ท่านทั้งหลายจงบูชาธาตุของบุคคลควรบูชานั้น, ท่านทั้งหลายจักไปสู่สวรรค์ แต่โลกนี้ ด้วยการกระทำบูชาอย่างนี้' นั้นผิด. ถ้าพระตถาคตตรัสแล้วว่า 'ท่านทั้งหลายจงบูชาธาตุของบุคคลควรบูชานั้น, ท่านทั้งหลายจักไปสู่สวรรค์แต่โลกนี้ ด้วยการกระทำบูชาอย่างนี้,' ถ้าอย่างนั้นคำที่ว่า 'ดูก่อนอานนท์ ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีความขวนขวาย เพื่อจะบูชาพระสรีระของพระตถาคต' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว พระผู้เป็นเจ้าจงขยายความให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า แม้ทรงภาสิตแล้วว่า 'ดูก่อนอานนท์ ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีความขวนขวายเพื่อจะบูชาพระสรีระของพระตถาคต' ดังนี้. และตรัสแล้วอีกว่า 'ท่านทั้งหลายจงบูชาธาตุของบุคคลควรบูชานั้น, ท่านทั้งหลายจักไปสู่สวรรค์แต่โลกนี้ ด้วยการกระทำบูชาอย่างนี้' ดังนี้. ก็แหละพุทธพจน์นี้ พระองค์หาได้ตรัสเพื่อชนทั้งหลายทั้งปวงทั่วไปไม่, พระองค์ทรงปรารภชินโอรสทั้งหลาย ตรัสพุทธพจน์นี้ว่า 'ดูก่อนอานนท์ ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีความขวนขวาย เพื่อจะบูชาพระสรีระของพระตถาคต' ดังนี้. เพราะการบูชานี้นั่นไม่เป็นการงานของชินโอรสทั้งหลาย ความพิจารณาสังขารทั่งหลาย ความทำในใจโดยแยบคายโดยอุบายที่ชอบ ความพิจารณาสติปัฏฐานเนือง ๆ การยึดอารมณ์ที่เป็นสาระ ความรบกิเลส ความประกอบประโยชน์ของตนเนือง ๆ นี้ เป็นกิจของชินโอรสทั้งหลาย. การบูชาเป็นกิจของเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายที่เหลือ.
เหมือนอย่างว่า การศึกษาศิลปะฝ่าย ช้าง ม้า รถ ธนู และกระบี่ และการเรียนมนต์สำหรับกษัตริย์ การฟังเสียง ความรู้กระทำการรบเอง และใช้ผู้อื่นให้รบ เป็นกิจของราชโอรสทั้งหลายของพระเจ้าแผ่นดิน, การไถนา การค้าขาย การเลี้ยงโค เป็นกิจของเวศย์ศูทร เป็นอันมากที่เหลืออยู่ ฉันใด. การบูชานี้นั้น ก็มิใช่การงานของชินโอรสทั้งหลาย, ความพิจารณาสังขารทั้งหลาย ความทำในใจโดยแยบคายความพิจารณาสติปัฏฐานเนือง ๆ ความยึดอารมณ์ที่เป็นสาระ ความรบกิเลส ความประกอบประโยชน์ของตนเนือง ๆ นี้ เป็นกิจของชินโอรสทั้งหลาย, การบูชาเป็นกิจของเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายที่เหลือ ฉันนั้นนั่นแล.
อีกนัยหนึ่ง ความศึกษา อิรูเพท ยชุเพท สามเพท อาถัพพณเพท และลักษณศาสตร์ รู้ลักษณะชายหญิงต่าง ๆ และรู้มหาปุริสลักษณะสามสิบสองประการ เป็นต้น เป็นกิจของพราหมณ์มาณพต้องศึกษาให้รู้, การไถนา การค้าขาย การเลี้ยงโค เป็นกิจของเวศย์ ศูทรทั้งหลายมากอันเศษ ฉันใด: บูชานี้นั้นก็ไม่ใช่การงานของชินโอรสทั้งหลาย, ความพิจารณาสังขารทั้งหลาย ความทำในใจโดยแยบคาย ความพิจารณาสติปัฏฐานเนือง ๆ ความยึดอารมณ์ที่เป็นสาระ ความรบกิเลส ความประกอบประโยชน์ของตนเนือง ๆ นี้เป็นกิจของชินโอรสทั้งหลาย, การบูชาเป็นกิจของเทพดาและมนุษย์ทั้งหลายอันเหลือนั้น ฉันนั้นนั่นเทียวแล เพราะเหตุนั้น พระตถาคตทรงดำริในพระหฤทัยว่า 'ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ จงอย่าประกอบในกิจมิใช่การงาน, ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้จงประกอบในกิจเป็นการงาน' แล้วจึงตรัสว่า 'ดูก่อนอานนท์ ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีความขวนขวาย เพื่อจะบูชาพระสรีระของพระตถาคตเถิด' ดังนี้. ถ้าพระตถาคตไม่พึงตรัสพระพุทธพจน์นี้ไซร้, ภิกษุทั้งหลายจะพึงรวบรวมแม้บาตรและจีวรของตน กระทำพุทธบูชาอย่างเดียวเท่านั้น..
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหานั้น สม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๖. ภควโต ปาทปัปปฏิกปติตปัญหา ๒๖

พระราชาตรัสว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวอยู่ว่า 'เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินอยู่ แผ่นดินใหญ่ไม่มีเจตนานี้ พื้นที่ลุ่มฟูขึ้น พื้นที่ดอนย่อมยุบลงเป็นประเทศเรียบราบเสมอกัน.' และกล่าวอยู่อีกว่า 'พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าอันสะเก็ดศิลากระทบแล้ว' ดังนี้. สะเก็ดศิลาที่ตกลงแล้วที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่กลับแล้วจากพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเหตุไร? พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าดำเนินอยู่ แผ่นดินใหญ่ไม่มีเจตนานี้ ที่ลุ่มย่อมฟูขึ้น ที่ดอนย่อมยุบลง ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันสะเก็ดศิลากระทบแล้ว, นั้นผิด. ถ้าว่าพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันสะเก็ดศิลากระทบแล้ว. ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินอยู่แผ่นดินใหญ่ที่ไม่มีเจตนานี้ พื้นที่ลุ่มย่อมฟูขึ้น พื้นที่ดอนย่อมยุบลง' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน มาถึงพระผู้เจ้าแล้วเป็นพระผู้เป็นเจ้าพึงขยายออกให้แจ้งเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร เหตุนี้มีจริง: เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จดำเนินอยู่ แผ่นดินใหญ่ที่ไม่มีเจตนานี้ พื้นที่ลุ่มฟูขึ้น พื้นที่ดอนยุบลง. และพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า อันสะเก็ดศิลากระทบแล้ว. ก็แหละสะเก็ดศิลานั้นมิได้ตกลงแล้วโดยธรรมดาของตน, สะเก็ดศิลานั้นตกลงแล้วด้วยความเพียรของพระเทวทัต.
ขอถวายพระพร พระเทวทัตผูกอาฆาตในพระผู้มีพระภาคเจ้าสิ้นแสนชาติทั้งหลายมาก, พระเทวทัตนั้นคิดจะให้ศิลาใหญ่มีขนาดเท่าเรือนยอดตกลงในเบื้องบนแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยอาฆาตนั้น, จึงปล่อยศิลานั้น, ครั้งนั้น ภูเขาทั้งหลายสองผุดขึ้นจากแผ่นดินแล้วรับศิลานั้นไว้, ครั้งนั้น กะเทาะแตกจากศิลาด้วยเขาทั้งหลายสองนั้นประหารกระทบกัน เมื่อจะตกลงโดยสถานใด หรือโดยสถานนั้น ไม่มีนิยม จึงตกลงแล้วที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ก็ภูเขาทั้งหลายสองรับศิลาแล้วอย่างไร แม้กะเทาะศิลาอันภูเขาทั้งหลายสอง พึงรับรองอย่างนั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร แม้ของที่รับแล้วในโลกนี้บางสิ่ง ย่อมรั้วออกไหลออก เข้าถึงความสิ้นไป. เหมือนน้ำอันบุคคลเอาฝ่ามือรองไว้ ย่อมรั่วออกไหลออกได้ตามระวางแห่งนิ้วมือทั้งหลาย ย่อมถึงความสิ้นไปหมดไป, น้ำนมสด เปรียง น้ำผึ้ง เนยใส น้ำมัน รสปลา รสเนื้อ ละอย่าง ๆ บุคคลเอาฝ่ามือรองไว้ ย่อมรั่วย่อมไหลซึมซาบออกได้ ตามระวางนิ้วมือทั้งหลาย ฉันใด, ภูเขาทั้งสองที่เข้าไปเพื่อจะรับรองประหารกระทบศิลาที่กลิ้งลงมา สะเก็ดแตกจากศิลาที่กลิ้งลงมานั้น กระเด็นไปตกที่หลังพระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉันนั้น.
อีกอย่างหนึ่ง ทรายที่ละเอียดสุขุมเสมอด้วยละอองธุลี บุคคลกำไว้แล้วด้วยกำมือ ย่อมรั่วไหลหมดสิ้นไป ฉันใด, ภูเขาทั้งหลายมารวมแล้วเพื่อจะรับศิลานั้น กระทบกันกับศิลาที่กลิ้งมานั้น สะเก็ดแตกแล้วแต่ศิลานั้น ตกไปไม่นิยมสถาน ตกลงแล้วที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉันนั้น.
อีกประการหนึ่ง คำข้าวที่บุคคลในโลกนี้บางคนเปิบแล้ว เมล็ดข้าวที่ร่วงออกจากปากแล้ว ย่อมกระจัดกระจายเรี่ยรายสูญไป ฉันใด. เมื่อภูเขาทั้งหลายสองมารวมกัน เพื่อจะรับศิลาที่กลิ้งลงมานั้น ประหารกระทบศิลาที่กลิ้งลงมา สะเก็ดแตกแต่ศิลานั้น กระเด็นไปตกที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉันนั้น."
ร. "ยกไว้เถิด พระผู้เป็นเจ้า ข้อซึ่งภูเขาทั้งหลายรับศิลาที่กลิ้งลงมายกไว้เถิด, ครั้นเมื่อเป็นเช่นนั้น แม้สะเก็ดก็ควรกระทำความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้า เหมือนแผ่นดินใหญ่กระทำความเคารพฉะนั้น."
ถ. "ขอถวายพระพร สภาพสิบสองอย่างเหล่านี้ ย่อมไม่กระทำความเคารพ, สภาพสิบสองอย่างเป็นไฉน? สภาพสิบสองอย่าง คือบุคคลที่กำหนัดแล้วไม่กระทำความเคารพด้วยอำนาจราคะ, บุคคลที่แค้นเคืองแล้ว ไม่กระทำความเคารพด้วยอำนาจโทสะ. บุคคลที่หลงแล้วไม่กระทำความเคารพด้วยอำนาจโมหะ, บุคคลที่ผู้อื่นยกย่องแล้วฟุ้งไปไม่กระทำความเคารพด้วยอำนาจมานะ, บุคคลไม่มีคุณพระรัตนตรัยในสันดาน คือ ไม่พิจารณาเห็นคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ย่อมไม่กระทำความเคารพ ด้วยไม่มีคุณพิเศษ, บุคคลที่กระด้างดื้อขันขึงย่อมไม่กระทำความเคารพ ด้วยความไม่มีธรรมเครื่องห้ามจะให้โอนอ่อน, บุคคลที่เลวย่อมไม่กระทำความเคารพ ด้วยความเป็นคนมีสภาพอันเลวทราม, บุคคลกระทำคำบังคับของท่านที่เป็นอิสสระ ย่อมไม่กระทำความเคารพ ด้วยความที่ตนไม่เป็นอิสสระ, บุคคลที่ไม่มีจาคะจิต ย่อมไม่กระทำความเคารพ ด้วยความเป็นคนตระหนี่, บุคคลอันใคร ๆ ให้ถึงทุกข์แล้ว ย่อมไม่กระทำความเคารพ ด้วยความเป็นผู้มุ่งจะตอบแทน ให้ผู้ให้ทุกข์แก่ตนนั้นถึงทุกข์บ้าง, บุคคลโลภแล้ว ย่อมไม่กระทำความเคารพ ด้วยความเป็นคนอันโลภครอบงำแล้ว, บุคคลมัวขวนขวายประโยชน์ของตนอยู่ ย่อมไม่กระทำความเคารพ ด้วยมุ่งจะกระทำประโยชน์ให้สำเร็จ. สภาพสิบสองอย่างเหล่านี้แล ย่อมไม่กระทำความเคารพ. ก็แหละสะเก็ดศิลานั้นแตกแล้ว เพราะศิลาสามก้อนนั้นกระทบกัน ไม่ได้กระทำความกำหนดทิศ กระเด็นไปตกที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
อีกประการหนึ่ง ละอองธุลีอันละเอียดสุขุม อันกำลังแห่งลมพัดหอบไปแล้ว ไม่กระทำความกำหนดทิศ กระจัดกระจายเรี่ยรายไปฉันใด, สะเก็ดศิลานั้นแตกแล้วเพราะศิลาสามก้อนกระทบกันมิได้กระทำนิมิตในทิศ กระเด็นลอยไปตกที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าฉันนั้น. ก็ถ้าว่าสะเก็ดศิลานั้น ไม่กระเด็นออกไปต่างแต่ศิลานั้น, ภูเขาทั้งหลายพึงผุดขึ้นรับสะเก็ดศิลาแม้นั้น. ก็สะเก็ดศิลานั้นมิได้ตั้งอยู่ที่พื้นดิน มิได้ตั้งอยู่ในอากาศ แตกแล้วด้วยเรี่ยวแรงศิลาต่อศิลากระทบกันกระเด็นลอยไปตกที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า.
อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนใบไม้เก่า ๆ อันลมบ้าหมูหอบขึ้นไม่มีความกำหนดทิศ ย่อมตกลงโดยสถานใดสถานหนึ่ง ฉันใด, สะเก็ดศิลานั้นไม่มีความกำหนดทิศ ด้วยกำลังศิลาต่อศิลากระทบกัน เมื่อจะตกสะเก็ดไปตกที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉันนั้นนั่นเทียวแล. เออก็ สะเก็ดศิลานั้นตกลงที่พระบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อความที่พระเทวทัตผู้อกตัญญู เป็นคนกระด้างจะเสวยทุกข์."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ดีละ ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสม
อย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๗. คาถาภีคีตโภชนทานกถากถนปัญหา ๒๗

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน แม้พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'โภชนะที่เราขับแล้วด้วยพระคาถาไม่ควรจะบริโภค, แน่ะพราหมณ์ ความบริโภคโภชนะที่ตนขับด้วยพระคาถานั้น ไม่เป็นธรรม คือ ไม่เป็นจารีตของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้พิจารณาเห็นรอบคอบอยู่, พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมบรรเทา คือ ห้ามเสีย ไม่เสวยโภชนะที่พระองค์ขับแล้วด้วยพระคาถา, ดูก่อนพราหมณ์เมื่อธรรมมีอยู่ คือ อาชีวปาริสุทธิธรรม หรือสุจริตธรรมสิบอย่างหรือจารีตธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีอยู่ คือ ว่าเป็นไปอยู่ ความแสวงหาเสมอด้วยเหยียดมือในโอกาสขอโดยส่วนเดียว เป็นเครื่องเลี้ยงพระชนมชีพของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ดังนี้."
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงแสดงธรรมแก่บริษัทจะตรัสอนุปุพพิกถา ตรัสทานกถาทีแรกก่อน ตรัสสีลกถาในภายหลัง, เทพดาและมนุษย์ทั้งหลายฟังภาสิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นอิสสระในโลกทั้งปวง แล้วจึงตกแต่ง แล้วจึงให้ทาน, พระสาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ย่อมบริโภคทานที่พระผู้มีพระภาคเจ้าส่งไปแล้วนั้นอีก.
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'โภชนะที่เราขับแล้วด้วยพระคาถา ไม่ควรเราจะบริโภค' ดังนี้, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสทานกถาก่อน' ดังนี้ นั้นผิด. ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสทานกถาก่อน, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'โภชนะที่เราขับแล้วด้วยพระคาถา ไม่ควรเราจะบริโภค' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด.
ข้อนั้นมีอะไรเป็นเหตุ? พระผู้เป็นเจ้า ทักขิเณยยบุคคลกล่าววิบากของบิณฑบาตแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย คฤหัสถ์เหล่านั้นฟังธรรมกถาแล้ว เป็นผู้มีจิตเลื่อมใสแล้ว ให้ทานเนือง ๆ, ทักขิเณยยบุคคลเหล่าใด บริโภคทานนั้น ทักขิเณยยบุคคคลเหล่านั้นทั้งปวง ย่อมบริโภคทานที่ทักขิเณยยบุคคลขับแล้วด้วยพระคาถา. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อน ละเอียดลึก มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าพึงจะแก้ไขขยายให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระพุทธพจน์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า 'โภชนะที่เราขับแล้วด้วยพระคาถา ไม่ควรเราจะบริโภค, แน่ะพราหมณ์ ความบริโภคโภชนะที่ตนขับด้วยพระคาถานั้น ไม่เป็นธรรม คือ ไม่เป็นจารีตของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้พิจารณาเห็นรอบคอบอยู่, พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมบรรเทา คือ ห้ามเสียไม่เสวยโภคชนะที่พระองค์ขับแล้วด้วยพระคาถา, ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อธรรมมีอยู่ คือ อาชีวปาริสุทธิธรรม หรือสุจริตธรรมสิบอย่างหรือจารีตธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีอยู่ คือ ว่าเป็นไปอยู่ ความแสวงหาเสมอด้วยเหยียดมือในอากาศขอโดยส่วนเดียว เป็นเครื่องเลี้ยงชีพพระชนมชีพของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย' ดังนี้.
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสทานกถาก่อน. ก็และความตรัสทานกถาก่อนนั้น เป็นกิริยาของพระตถาคตทั้งปวง: พระตถาคตทั้งปวงยังจิตของทายกทั้งหลายให้ยินดียิ่งแล้วในทานนั้น ด้วยตรัสทานก่อนย่อมประกอบในศีลต่อภายหลัง. เปรียบเหมือนมนุษย์ทั้งหลายให้ภัณฑะเครื่องเล่นทั้งหลายแก่ทารกรุ่นทั้งหลาย คือ ไถน้อย ๆ หม้อน้อย ๆ กังหันน้อยๆ ทะนานน้อย ๆ รถน้อยๆ ธนูน้อย ๆ, ทารกทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมประกอบในการงานของตน ๆ ต่อภายหลัง ฉันใด: พระตถาคตยังจิตของทายกทั้งหลายให้ยินดียิ่ง ด้วยทานกถาทีแรกก่อนแล้ว จึงประกอบในศีลต่อภายหลัง ฉันนั้นนั่นเทียว.
อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนหมอ ธรรมดาว่าหมอเมื่อเยียวยารักษาไข้ ยังคนเป็นไข้กระสับกระส่ายอยู่ทั้งหลาย ให้ดื่มน้ำมันเพื่อจะสมาน กระทำให้มีกำลังสี่วันห้าวันก่อนแล้ว จึงรุนยาต่อภายหลังฉันใด: พระตถาคตคราวแรกทรงยังจิตของทายกทั้งหลาย ให้ยินดียิ่งด้วยทานกถาแล้ว จึงประกอบในศีลต่อภายหลัง ฉันนั้นนั่นเทียว. จิตของทายกทานบดีทั้งหลายเป็นจิตอ่อน มีความเป็นของอ่อนสนิทแล้ว, ทายกทานบดีทั้งหลายเหล่านั้น จักตามถึงฝั่งแห่งสาคร คือ สงสาร ด้วยสะพานคือทาน ด้วยเรือคือทานนั้น ด้วยประการดังนี้, เพราะเหตุนั้น พระตถาคตทรงสั่งสอนภูมิแห่งกรรมแก่ทายกทั้งหลายเหล่านั้น, ก็แต่ว่าจะต้องทรงวิญญัติ เพราะสั่งสอนนั้นก็หาไม่."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าววิบัญญัติอันใดว่า 'วิญญัติ' ก็วิญญัติทั้งหลายเหล่านั้นมีเท่าไร?"
ถ. "ขอถวายพระพร วิญญัติมีสองคือ: กายวิญญัติ ให้เขารู้แจ้งด้วยกายหนึ่ง วจีบัญญัติ ให้เขารู้แจ้งด้วยวาจาหนึ่ง. ในวิญญัติสองเหล่านั้น กายวิญญัติที่มีโทษก็มี ที่ไม่มีโทษก็มี; วจีวิญญัติที่มีโทษก็มี ที่ไม่มีโทษก็มี. กายวิญญัติที่มีโทษอย่างไร? ในศาสนานี้ภิกษุบางองค์เข้าไปใกล้ตระกูลทั้งหลายแล้วจึงยืนอยู่ในโอกาสไม่ควรยืนเสพการยืนนั้น, กายวิญญัตินี้มีโทษ; ก็พระอริยะทั้งหลาย ย่อมไม่บริโภคโภชนะที่ภิกษุนั้นขอแล้วด้วยกายวิญญัตินั้น, ส่วนบุคคลนั้นเป็นผู้อันบัณฑิตดูหมิ่นดูแคลนติเตียน ไม่เคารพแล้ว, ในสมัย คือ ลัทธิของพระอริยะทั้งหลาย ถึงซึ่งความนับว่า 'ผู้มีอาชีวะอันทำลายแล้ว' ทีเดียว.
คำที่จะพึงกล่าวยังมีอีก: ในศาสนานี้ ภิกษุบางองค์เข้าไปใกล้ตระกูลทั้งหลายแล้วจึงยืนอยู่ในโอกาสไม่ควรยืน น้อมคอไปเพ่งแล้วดังเพ่งแห่งนกยูง ด้วยคิดว่า 'ชนทั้งหลายเหล่านี้จักเห็น ด้วยการยืนอย่างนี้,' ชนเหล่านั้นเห็นภิกษุนั้น ด้วยการยืนนั้น, กายวิญญัติแม้นี้มีโทษ; พระอริยเจ้าทั้งหลายไม่บริโภคโภชนะที่ภิกษุนั้นขอแล้วด้วยกายวิญญัตินั้น, ส่วนบุคคลนั้นเป็นผู้อันบัณฑิตดูหมิ่นดูแคลนติเตียน ไม่เคารพแล้ว ในสมัยคือลัทธิของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมถึงซึ่งความนับว่า 'ผู้มีอาชีวะทำลายแล้ว' ทีเดียว.
คำที่จะพึงกล่าวยังมีอีก; ในศาสนานี้ ภิกษุบางองค์ให้เขารู้แจ้งด้วยคางบ้าง ด้วยคิ้วบ้าง ด้วยแม่มือบ้าง, วิญญัติแม้นี้มีโทษ; พระอริยะทั้งหลาย ย่อมไม่บริโภคโภชนะที่ภิกษุนั้นขอแล้วด้วยกายวิญญัตินั้น, ส่วนบุคคลนั้นเป็นผู้อันบัณฑิตดูหมิ่นดูแคลนติเตียน ถึงซึ่งความนับว่า 'เป็นผู้มีอาชีวะทำลายแล้ว' ทีเดียว.
ขอถวายพระพร แม้พระเถระชื่อสารีบุตร เมื่อพระอาทิตย์อัสดงคตแล้ว เป็นไข้ในส่วนราตรี อันพระเถระชื่อมหาโคคัลลานะ ถามถึงเภสัชจึงเปล่งวาจา, เภสัชเกิดขึ้นด้วยวจีเภทนั้น; ครั้งนั้น พระเถระชื่อ สารีบุตร ละเภสัชนั้น ไม่อาศัยเลี้ยงชีพ เพราะกลัวแต่ความทำลายแห่งอาชีวะว่า "เภสัชนี้เกิดขึ้นแล้วด้วยวจีเภทของเรา, อาชีวะของเราอย่าแตกเลย" ดังนี้ มิใช่หรือ? วจีวิญญัติแม้อย่างนี้ เป็นไปกับด้วยโทษ; ก็พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมไม่บริโภคโภชนะที่ภิกษุนั้นขอแล้วด้วยวจีวิญญัตินั้น, ส่วนบุคคลนั้นเป็นผู้อันบัณฑิตดูหมิ่นดูแคลนติเตียนไม่เคารพแล้ว ในสมัย คือ ลัทธิของพระอริยเจ้าทั้งหลาย บุคคลนั้นย่อมถึงซึ่งความนับว่า 'มีอาชีวะทำลายแล้ว' ทีเดียว.
วจีวิญญัติอย่างไรไม่มีโทษ? ขอถวายพระพร ในศาสนานี้ ภิกษุเมื่อปัจจัยมี ขอเภสัชในตระกูลทั้งหลายที่เป็นญาติและผู้ปวารณา, วจีวิญญัตินี้ไม่มีโทษ; พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมบริโภคปัจจัยที่ภิกษุนั้นขอแล้วด้วยวจีบัญญัตินั้น, ส่วนบุคคลนั้นเป็นผู้อันบัณฑิตยกย่องชมเชยสรรเสริญแล้ว ในสมัย คือ ลัทธิของพระอริยเจ้าทั้งหลาย, เธอนั้นย่อมถึงซึ่งความนับว่า 'เป็นผู้มีอาชีวะบริสุทธิ์แล้ว' นั่นเทียว อันพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายทรงอนุมัติแล้ว.
ขอถวายพระพร พระตถาคตทรงละโภชนะของกสิภารทวาชพราหมณ์อันใดเสีย โภชนะนั้นเกิดแล้วด้วยความแค่นได้และผูกพันและฉุดคร่า และข่ม และโต้ตอบ, เพราะเหตุนั้น พระตถาคตจึงทรงห้ามบิณฑบาตนั้นเสีย ไม่อาศัยเป็นอยู่."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เมื่อพระตถาคตเสวยอยู่ เทพดาทั้งหลายแทรกโอชะทิพย์ลงในบาตรสิ้นกาลทั้งปวงหรือ หรือว่าเทพดาทั้งหลายแทรกโอชะทิพย์ลงในบิณฑบาตทั้งหลายสอง คือ มังสะสุกรอ่อนหนึ่ง มธุปายาสหนึ่ง สองอย่างเท่านั้น?"
ถ. "ขอถวายพระพร เมื่อพระตถาคตเสวยอยู่ เทพดาทั้งหลายถือโอชะทิพย์ บำรุงแทรกโอชะทิพย์ลงในคำข้าวที่ทรงยกขึ้นแล้ว และยกขึ้นแล้วสิ้นกาลทั้งปวง. เปรียบเหมือนคนครัว (คนเครื่อง) ของพระมหากษัตริย์ เมื่อพระมหากษัตริย์เสวยอยู่ คนเครื่องมือนั้นถือแกงบำรุงแทรกแกงลงในคำข้าวทุกองค์ ฉันใด, เมื่อพระตถาคตเสวยอยู่เทพดาทั้งหลายถือโอชะทิพย์ บำรุงแทรกโอชะทิพย์ลงในคำข้าวที่พระองค์ทรงยกขึ้นแล้วและทรงยกขึ้นแล้วทุก ๆ เวลา ฉันนั้นนั่นเทียวแล. แม้เมื่อพระตถาคตเสวยข้าวยวปูลกะแห้ง ที่ในเมืองเวรัญชา เทพดาทั้งหลายให้ชุ่มแล้วให้ชุ่มแล้วด้วยโอชะทิพย์น้อมเข้าไปแล้ว, เพราะเหตุนั้น พระกายของพระตถาคตจึงได้เป็นอวัยวะเจริญแล้ว."
ร. "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน เทพดาทั้งหลายเหล่าใด ถึงซึ่งความขวนขวายในการประคับประคองพระสรีรกายของพระตถาคตแล้วเนือง ๆ ลาภทั้งหลายของเทพดาทั้งหลายเหล่านั้นหนอ.
ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ข้อวิสัชนาปัญหาของพระผู้เป็นเจ้านั่นสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."

๘. ภควโตธัมมเทสนายอัปโปสุกตภาวปัญหา ๒๘

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระผู้เป็นเจ้ากล่าวว่า 'พระตถาคตทรงอบรมพระสัพพัญญุตญาณมาในระหว่างสี่อสงไขยแสนกัปป์ จึงกระทำพระสัพพัญญุตญาณให้แก่กล้าได้แล้ว เพื่อจะยกประชุมชนหมู่ใหญ่ขึ้น.' และกล่าวอีกว่า 'ภายหลังพระองค์บรรลุความเป็นสัพพัญญูแล้ว จิตของพระองค์น้อมไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย หาน้อมไปเพื่อจะทรงแสดงธรรมไม่' ดังนี้.
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน นายขมังธนู หรืออันเตวาสิกของนายขมังธนู ศึกษาความลอบยิงเพื่อประโยชน์แก่สงครามสิ้นวันทั้งหลายมาก เมื่อการรบใหญ่ถึงพร้อมแล้วกลับท้อถอยเสีย ฉันใด; พระตถาคตทรงอบรมพระสัพพัญญุตญาณมา ในระหว่างสี่อสงไขยแสนกัปป์ให้แก่กล้าแล้ว เพื่อจะยกประชุมชนหมู่ใหญ่ขึ้น, ครั้นพระองค์บรรลุความเป็นสัพพัญญูแล้ว ทรงท้อถอยในการแสดงธรรมก็ฉันนั้น.
อีกนัยหนึ่ง คนปล้ำ หรืออันเตวาสิกของคนปล้ำ ตั้งใจศึกษาการปล้ำไว้แล้วสิ้นวันทั้งหลายมาก ครั้นเมื่อการต่อสู้ของคนปล้ำถึงพร้อมแล้วพึงท้อใจ ฉันใด, พระตถาคตทรงอบรมพระสัพพัญญุตญาณมาในระหว่างสื่อสงไขกับแสนกัปป์กระทำให้แก่กล้า เพื่อจะยกประชุมชนหมู่ใหญ่ขึ้น, ครั้นเมื่อพระองค์ถึงความเป็นพระสัพพัญญูแล้ว ทรงท้อถอยในการแสดงธรรมก็ฉันนั้น.
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน พระตถาคตทรงท้อแล้ว เพราะความกลัวหรือหนอ, หรือว่าทรงท้อแล้ว เพราะความที่ธรรมไม่ปรากฏ,หรือว่าพระองค์ทรงท้อแล้ว เพราะความที่แห่งพระองค์เป็นผู้ทุพพล, หรือว่าพระองค์ทรงท้อแล้ว เพราะความที่พระองค์ไม่ใช่สัพพัญญู? อะไรเป็นเหตุในความท้อนั้น? เชิญพระผู้เป็นเจ้ากล่าวเหตุแก่ข้าพเจ้าเพื่อข้ามความสงสัยเสีย.
พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ถ้าพระตถาคตทรงอบรมพระสัพพัญญุตญาณมาในระหว่างสื่อสงไขยกับแสนกัปป์ให้แก่กล้าแล้ว เพื่อจะยกประชุมชนหมู่ใหญ่ขึ้น, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระตถาคตทรงบรรลุความเป็นสัพพัญญูแล้ว จิตของพระองค์น้อมไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย หาน้อมไปเพื่อจะแสดงธรรมไม่' ดังนี้ คำนั้นผิด. ถ้าว่าเมื่อพระองค์บรรลุความเป็นพระสัพพัญญูแล้ว จิตของพระองค์น้อมไปเพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย หาน้อมไปเพื่อจะทรงแสดงธรรมไม่, ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า 'พระตถาคตอบรมพระสัพพัญญุตญาณมาในระหว่างสี่อสงไขกับแสนกัปป์ให้แก่กล้าแล้ว เพื่อจะยกประชุมชนหมู่ใหญ่ขึ้น' ดังนี้ แม้นั้นก็ผิด. ปัญหาแม้นี้สองเงื่อนลึกอันบุคคลเปลื้องยาก มาถึงพระผู้เป็นเจ้าแล้ว, พระผู้เป็นเจ้าพึงแก้ไขขยายออกให้แจ้งชัดเถิด."
พระเถรเจ้าทูลว่า "ขอถวายพระพร พระตถาคตทรงอบรมพระสัพพัญญุตญาณมาในระวางสี่อสงไขยกับแสนกัปป์ให้แก่กล้าแล้วเพื่อจะยกชนหมู่ใหญ่ขึ้น; และครั้นพระองค์บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้วจิตของพระองค์น้อมไปแล้ว เพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อยหาน้อมไปเพื่อจะทรงแสดงธรรมไม่, ก็ความน้อมไปนั้น เหตุเห็นความที่ธรรมเป็นของลึก และละเอียด และอันบุคคลเห็นยาก และอันบุคคลตรัสรู้ตามด้วยยาก และสุขุม และแทงตลอดด้วยยาก และความที่สัตว์ทั้งหลายมีอาลัยเป็นที่มายินดี และสักกายทิฏฐิอันสัตว์ทั้งหลายยกขึ้นแล้วมั่น; ทรงดำริว่า "อะไรหนอแล อย่างไรหนอแล" ดังนี้ จิตของพระองค์น้อมไปแล้ว เพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย หาน้อมไปเพื่อจะทรงแสดงธรรมไม่; จิตนั้นมีความคิดถึงความแทงตลอดของสัตว์ทั้งหลายในพระหฤทัยอย่างเดียว.
ขอถวายพระพร อุปมาเหมือนหมอผู้ตัดผ่า เข้าไปใกล้นวชนผู้อันพยาธิมิใช่อย่างเดียวเบียดเบียนแล้ว จึงคิดอย่างนี้ว่า "พยาธิของชนนี้ จะพึงระงับได้ด้วยความเพียรอะไรหนอ หรือด้วยเภสัชขนานไหน" ดังนี้ ฉันใด; จิตของพระตถาคตเห็นชนอันพยาธิ คือ กิเลสทั้งปวงเบียดเบียนแล้ว และเห็นความที่ธรรมเป็นของลึก และละเอียด และอันบุคคลเห็นโดยยาก และอันบุคคลตรัสรู้ตามโดยยาก สุขุม มีความแทงตลอดโดยยากว่า "อะไรหนอแล อย่างไรหนอแล" ดังนี้ จิตของพระองค์น้อมไปแล้ว เพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย หาน้อมไปเพื่อจะทรงแสดงธรรมไม่; ความน้อมไปนั้น มีความคิดถึงความแทงตลอดของสัตว์ทั้งหลายในพระหฤทัยอย่างเดียว ฉันนั้นเทียว.
อุปมาเหมือนพระราชผู้กษัตริย์มุรธาภิเษกแล้ว ทอดพระเนตรเห็นนายประตู และหมู่ทหาร และหมู่สัตว์ และชาวนิคม และราชภัฏ และอมาตย์ และราชกัญญา ผู้อาศัยพระองค์เป็นอยู่ทั้งหลาย มีความดำริในพระหฤทัยเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า "เราจักสงเคราะห์ชนทั้งหลายเหล่านี้อย่างไรหนอแล" ฉันใด;พระตถาคตทอดพระเนตรเห็นความที่ธรรมเป็นของลึก และละเอียด และบุคคลเห็นโดยยาก และอันบุคคลตรัสรู้ตามโดยยาก สุขุม มีความแทงตลอดโดยยาก และความที่สัตว์ทั้งหลายมีอาลัยเป็นที่มายินดี และความที่สักกายทิฏฐิเป็นของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นถือมั่น, จึงทรงดำริว่า "จะกระทำอะไรหนอแล เราจักกระทำอย่างไรหนอแล" ดังนี้ จิตของพระองค์น้อมไปแล้ว เพื่อความเป็นผู้มีความขวนขวายน้อย หาน้อมไปเพื่อจะทรงแสดงธรรมไม่ ฉันนั้น; ความน้อมพระหฤทัยไปนั้น มีความคิดถึงความแทงตลอดของสัตว์ทั้งหลาย ในพระหฤทัยอย่างเดียว. เออก็ พระตถาคตทั้งหลายอันพรหมวิงวอนแล้วย่อมทรงแสดงธรรมอันใด ความที่พระตถาคตทั้งหลายอันพรหมวิงวอนแล้วทรงแสดงธรรมนั้น เป็นธรรมของพระตถาคตทั้งหลายทั้งปวง. ก็อะไรเป็นเหตุในข้อนั้น? โดยสมัยนั้น มนุษย์ทั้งหลายดาบสและปริพาชกทั้งหลาย สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใดชนทั้งหลายเหล่านั้นทั้งปวง เป็นผู้มีพรหมเป็นเทพดาผู้หนักในพรหมเป็นผู้มีพรหมเป็นที่ถึงในเบื้องหน้า;โลกกับทั้งเทพดาจักนอบน้อม จักเชื่อถือ จักน้อมใจตามพระตถาคตเจ้า เพราะความนอบน้อมของพรหมนั้น ผู้มีกำลัง มียศ มีชื่อเสียงโด่งดัง ผู้เยี่ยม ผู้เลิศลอย เพราะเหตุนั้น พระตถาคตทั้งหลาย ต่อพรหมวิงวอนแล้วจึงทรงแสดงธรรม.
เปรียบเหมือนพระมหากษัตริย์ หรือราชมหาอมาตย์ผู้หนึ่ง ย่อมนอบน้อมทำความเคารพแก่บุคคลใด, ประชุมชนนอกนั้น ย่อมนอบน้อมกระทำความเคารพแก่บุคคลนั้น เพราะความนอบน้อมของพระมหากษัตริย์หรือราชมหาอมาตย์นั้น ผู้มีกำลังกว่า ฉันใด;โลกกับทั้งเทวดาจักนอบน้อมแด่พระตถาคตทั้งหลายผู้อันพรหมนอบน้อมแล้ว ฉันนั้นแล. พรหมอันชาวโลกบูชาแล้ว ๆ, เพราะฉะนั้น มหาพรหมนั้นจึงทูลวิงวอนพระตถาคตเจ้าทั้งปวงเพื่อแสดงธรรม, และพระตถาคตทั้งหลายอันพรหมทูลวิงวอนแล้ว จึงทรงแสดงธรรมเพราะเหตุนั้น ขอถวายพระพร."
ร. "ดีละ พระผู้เป็นเจ้านาคเสน ปัญหาพระผู้เป็นเจ้าคลี่คลายขยายดีแล้ว เวยยากรณ์มีความเจริญนัก ข้อวิสัชนาปัญหานั้นสมอย่างนั้น, ข้าพเจ้ายอมรับรองอย่างนั้น."


ข้างบน
 ข้อมูลส่วนตัว  
 
แสดงโพสจาก:  เรียงตาม  
โพสต์กระทู้ใหม่ กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิกใหม่ และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ไปที่:  
cron
ขับเคลื่อนโดย phpBB® Forum Software © phpBB Group
Thai language by phpBBThailand.com
phpBB SEO